url
stringlengths 30
33
| date
stringlengths 16
16
| title
stringlengths 2
170
| body_text
stringlengths 500
210k
| labels
stringlengths 2
867
|
---|---|---|---|---|
https://prachatai.com/print/79296 | 2018-10-25 19:35 | กกต. ชี้เดินรณรงค์หาสมาชิกพรรคเป็นเรื่องจำเป็น | เริ่ม “ปฏิบัติการเดินคารวะแผ่นดิน” ของพรรครวมพลังประชาชาติไทย นำโดย สุเทพ บอกตลอดเส้นทาง ปชช.ต้อนรับดี ยันเป็นการหาสมาชิก ปัดหาเสียง รบ. ชี้หน้าที่ 'กกต.' สอบพรรคการเมืองทำกิจกรรม ด้าน กกต. ระบุเดินรณรงค์หาสมาชิกพรรคเป็นเรื่องจำเป็น ด้าน 'ณัฐวุฒิ' ถามพรรคอื่นๆ จะไปเดินคารวะประชาชนบ้างได้ไหม ขณะที่ 'อนาคตใหม่' โวย จนท.ตามทุกฝีก้าว
ภาพจากเพจ ACT PARTY
25 ต.ค.2561 จากการเริ่ม “ปฏิบัติการเดินคารวะแผ่นดิน” วันแรก ของพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) ที่นำโดย สุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้ร่วมจัดตั้งพรรคฯ โดยเริ่มจาก ถวายบังคม และถวายสัตย์ปฏิญาณเบื้องหน้าพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 (เชิงสะพานพุทธ) และมีกำหนดเดินหลายจุดและหลายวันเพื่อรณรงค์เชิญชวนประชาชนให้มาร่วมเป็นผู้จัดตั้งพรรคและเป็นสมาชิกพรรคนั้น สร้างกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงมาตรฐานแต่ละพรรคในการจัดกิจกรรมสาธารณะว่าเป็นอย่างไร
วันนี้ (25 ต.ค.61) ข่าวสดออนไลน์ [1] รายงานว่า ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. ตอบคำถามถึงกรณีที่ว่าทาง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้เป็นหน้าที่ของกกต.พิจารณาตรวจสอบกรณีพรรครวมพลังประชาชาติไทย(รปช.)เตรียมจัดกิจกรรมหาสมาชิกพรรคภายใต้ชื่อ “ปฏิบัติการเดินคารวะแผ่นดินทั่วประเทศ” นั้น เลขาฯกกต.กล่าวว่า เรายังไม่ทราบเรื่อง แต่ตามที่ได้แจ้งว่าทุกกลุ่มที่ทำกิจกรรมในขณะนี้ได้มีการแจ้งกกต.ตามคำสั่งคสช.ที่ 13 /2561 โดยกิจกรรมที่จะทำต้องแจ้งกกต.ทราบก่อน 5 วันและให้ถือได้รับอนุญาต ซึ่งมีบางพรรคก็ขอมาแล้ว
โดยภาพรวมการเดินพบปะประชาชนของพรรคการเมืองเพื่อเชิญชวนรับสมัครสมาชิก หรือเลือกตั้งหัวหน้าพรรคนั้น เลขาธิการ กกต. ระบุว่า ต้องดูข้อกฎหมาย ซึ่งหากเป็นการหาสมาชิกพรรคก็เป็นเรื่องจำเป็น เพราะต้องมีสาขาพรรคจึงจะส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งได้ จึงต้องหาสมาชิกให้ได้ ดังนั้นต้องดูที่เจตนา เช่น บางพรรคมีการเลือกหัวหน้าพรรคก็ต้องมีกิจกรรม แต่ทั้งหมดต้องอยู่บนหลักความสงบเรียบร้อยด้วย เพราะการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองมีเรื่องของข้อกฎหมายอยู่ การคลายล็อกสุดท้ายมี 7 ข้อ นอกนั้นต้องขออนุญาต ซึ่งทุกกลุ่มที่ทำกิจกรรมในขณะนี้ได้มีการแจ้งกกต.ตามคำสั่งคสช.ที่ 13 /2561 กำหนดให้พรรคการเมืองที่จะทำกิจกรรมดังกล่าวแจ้งกกต.ทราบก่อน 5 วันและให้ถือได้รับอนุญาต โดยกกต.เพียงรับทราบเท่านั้น ไม่ได้ไปตรวจสอบหรือเป็นการบอกว่ากิจกรรมที่จะมีการดำเนินการนั้นไม่เข้าข่ายเป็นกิจกรรมทางการเมืองที่ต้องห้าม พรรคการเมืองจึงต้องระมัดระวังซึ่งทางสำนักกิจการ พรรคการเมืองของกกต.ก็จะมีการติดตามเก็บข้อมูลไว้เช่นกัน
ส่วนการพิจารณาเรื่อง ทักษิณ ชินวัตร ครอบงำพรรคเพื่อไทยนั้นอยู่ในระหว่างการตรวจสอบหลักฐาน ทั้งนี้ในส่วนของ กกต.ก็ติดตามกระแสข่าวทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นเรื่องการมีพรรคสาขา ไปจนถึงการเจรจาแบ่งพื้นที่ โดยทั้งหมดต้องขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริง และพยานหลักฐาน จึงฝากเตือนไปถึงพรรคการเมืองทุกพรรคว่า พ.ร.บ.พรรคการเมืองมีผลบังคับใช้แล้ว กรรมการบริหารพรรคต้องไปดูบทบัญญัติของกฎหมาย อย่าฝ่าฝืนกฎหมายที่จะทำให้ถูกยุบพรรค สิ่งเหล่านี้พรรคการเมืองต้องหลีกเลี่ยง ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมืองอยากเตือนไปยังทุกพรรคการเมืองว่า อย่าทำผิดกฎหมายจนต้องยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคเช่น การจูงใจให้คนเป็นสมาชิก การให้บุคคลอื่นครอบงำพรรคการเมือง จะได้ไม่ถูกไต่สวนจนพรรคมีตำหนิ หรือถูกยุบจนไม่สามารถลงสู่สนามเลือกตั้งได้ ทั้งนี้ตนอยากให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการเลือกตั้งเชิงสร้างสรรค์ เพราะ กกต.ไม่ได้มุ่งหวังเอาผิดพรรคการเมืองใด แต่ทั้งหมดอยู่ที่พฤติกรรมของพรรคการเมืองนั้น ๆ
ลุงกำนันมาแล้ว 'เดินคารวะแผ่นดิน' เริ่มพรุ่งนี้ ย้ำแจ้งกกต. ถือว่า คสช.อนุญาต [2]
'ประยุทธ์' ตั้ง 'พุทธิพงษ์' อดีตแกนนำ กปปส. เป็นโฆษกรัฐบาลแทน 'สรรเสริญ' [3]
รบ. ชี้หน้าที่ 'กกต.' สอบพรรคการเมืองทำกิจกรรม
วอยซ์ออนไลน์ [4] รายงานว่า วันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ตอบคำถามผู้สื่อข่าวถึงกรณีการทำกิจกรรมของพรรคการเมืองต่างๆ อาทิ วันนี้พรรคพลังประชาชาติไทย (รปช.) เดินทำกิจกรรมหาสมาชิกพรรคในหลายพื้นที่ของกรุงเทพฯแต่ มอบให้ พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง ซึ่งมาทำหน้าโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แทน พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด ชี้แจงแทน ซึ่ง พุทธิพงษ์ ตอบคำถามดังกล่าวแทนพล.อ.ประยุทธ์ว่า ทุกพรรคต้องปฏิบัติตามระเบียบที่วางไว้และ กกต. มีหน้าที่ชัดเจนที่จะต้องติดตามและตรวจสอบให้ทุกอย่างเป็นไปตามกรอบและระเบียบ รวมถึงข้อกฎหมายที่วางไว้ ไม่ว่าจะเป็นพรรคใดก็ตาม ซึ่งรวมถึงพรรค รปช. ด้วย ทั้งนี้ ยืนยันว่า รัฐบาลไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ ในการเข้าไปแทรกแซง หรือ จะใช้อำนาจไปสั่ง กกต.ได้ เชื่อว่า กระบวนการอำนาจของ กกต. จะเข้มแข็งพอ ที่จะตรวจสอบทุกพรรคให้เป็นไปอย่างเท่าเทียมได้
ต่อกรณีคำถามที่ว่า จะถูกวิจารณ์หรือไม่ว่าพรรคที่สนับสนุนรัฐบาลไม่ถูกดำเนินการอะไร ในขณะที่พรรคขั้วตรงข้าม เช่น พรรคเพื่อไทย กลับโดนห้ามดำเนินกิจกรรมมาตลอด นั้น พุทธิพงษ์กล่าวว่า ต้องไปดูที่ กกต. ว่า ใช้ข้อบังคับที่มีอยู่มาปฏิบัติได้เป็นไปตามกรอบหน้าที่มากน้อยเพียงใด ซึ่ง กกต. มีอำนาจเต็มและมีแนวทางที่จะตัดสิน หรือ ตรวจสอบการกระทำและกิจกรรมของแต่ละพรรคการเมือง
สุเทพ บอกตลอดเส้นทาง ปชช.ต้อนรับดี ยันเป็นการหาสมาชิก ปัดหาเสียง
ขณะที่ สุเทพ โพสต์ภาพพร้อมข้อความผ่านเฟสบุ๊กแฟนเพจ 'Suthep Thaugsuban (สุเทพ เทือกสุบรรณ) [5]' ว่า หลังจากร่วมกันกล่าวคำปฏิญาณเบื้องหน้าพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ตนในฐานะประธานคณะทำงานรณรงค์เชิญชวนประชาชนเป็นสมาชิกพรรคคณะผู้จัดตั้งพรรค และม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล หัวหน้าพรรครวมพลังประชาชาติไทย “รปช.” พร้อมคณะทำงาน ได้ปฏิบัติการเดินคารวะแผ่นดิน เพื่อเชิญชวนประชาชนให้มาร่วมกันเป็นเจ้าของพรรคด้วยการสมัครเป็นสมาชิก โดยตลอดเส้นทางจากปากคลองตลาด เข้าถนนบ้านหม้อ จนถึงห้างดิโอลด์สยาม ตนได้รับการต้อนรับจากพี่น้องประชาน ตลอดจนพ่อค้าแม่ค้าในย่านนั้นเป็นอย่างดี บ้างก็เข้ามาสวมกอด บ้างก็ขอถ่ายรูปไว้เป็นที่ระลึก บ้างก็นำมอบดอกไม้ และน้ำดื่มมามอบให้ แต่ที่สำคัญตนยังมองเห็นแววตาของความเป็นนักสู้คู่เดิม ที่พร้อมจะสู้ไปด้วยกันบนเส้นทางการเมืองร่วมกับพรรค “รปช.”ของเรา พี่น้องหลายท่านได้เตรียมเงินค่าสมัครจำนวน 365 เอาไว้รอ บางท่านได้ขอใบสมัครไปจนครบจำนวนคนในบ้าน พร้อมยืนยันว่าจะเข้าร่วมกันทั้งครอบครัว
"ปฏิบัติการเดินคารวะแผ่นดินครั้งแรกนี้ ผมยืนยันว่าไม่ใช่การออกหาเสียงแต่อย่างใด แต่เป็นการเดินเพื่อเชิญชวนประชาชนให้มาร่วมกันเป็นเจ้าของพรรคด้วยการสมัครเป็นสมาชิก และยังเป็นการรับฟังปัญหาจากพี่น้องประชาชนเท่านั้น" สุเทพ โพสต์
ณัฐวุฒิ ถามพรรคอื่นๆ จะไปเดินคารวะประชาชนบ้างได้ไหม
ด้าน ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. โพสต์ภาพพร้อมข้อความตั้งคำถามด้วยว่า ถ้าพรรคลุงกำนันเดินคารวะแผ่นดินได้ แล้วพรรคอื่นๆ จะไปเดินคารวะประชาชนบ้างได้ไหม เช่นว่าไปพบปะประชาชนตามจังหวัดโน้น ภูมิภาคนี้ แล้วก็เดินถึงบ้าน เดินกลางตลาด เคาะประตู ทักทายพูดคุย คารวะประชาชนเรื่อยไป เอาแบบพรรครปช.เขาทำ ได้บ้างหรือไม่
อนาคตใหม่ โวย จนท.ตามทุกฝีก้าว
ขณะที่วานนี้ (24 ต.ค.61)ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) โพสต์ผ่านเฟสยุ๊กแฟนเพจ Piyabutr Saengkanokkul - ปิยบุตร แสงกนกกุล [6]ข้อความถึงการลงพื้นที่ต่างจังหวัดเพื่อหาสมาชิกพรรคว่า มารับสมัครสมาชิกพรรคอนาคตใหม่ในเขตพื้นที่อีสานใต้ ตั้งแต่บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และกำลังเดินทางต่อไปยังอุบลราชธานีและอำนาจเจริญ มีพี่น้องประชาชนที่สนใจสมัครสมาชิกพรรคและต้อนรับอย่างอบอุ่น อย่างไรก็ตามการเดินทางครั้งนี้มีแขกที่ไม่ได้รับเชิญติดตามตนไปทุกที่ คือ เจ้าหน้าที่รัฐจากหลายหน่วยงาน เช่น สันติบาล และกอ.รมน. ขับรถตามไปเฝ้าสถานที่จัดงาน ไปเฝ้าศูนย์ประสานงานรับสมัครสมาชิก
“พวกเราไปกินข้าวก็ตามไป กลับที่พักก็ยังตามไปอีก ตามถ่ายรูปทุกจุด จน ณ เวลานี้ผมอยู่บนรถกำลังเดินทางไปอีกจังหวัดก็ยังมีรถสองคันติดตาม แวะปั๊ม เติมน้ำมัน เข้าห้องน้ำก็ตาม แวะร้านอาหารก็ยังแวะตามอีก บางพื้นที่ มีการกดดันไปที่ผู้จัดงานและพี่น้องประชาชนที่ต้องการมาร่วมงานด้วย” ปิยบุตร ระบุ
| ['ข่าว', 'การเมือง', 'ปฏิบัติการเดินคารวะแผ่นดิน', 'กกต.', 'สุเทพ เทือกสุบรรณ', 'พรรคอนาคตใหม่', 'ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ', 'พรรคการเมือง', 'พรรครวมพลังประชาชาติไทย', 'พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์'] |
https://prachatai.com/print/79298 | 2018-10-25 21:48 | โฆษก ทบ. เผยสั่งลงโทษทางวินัยกับนายสิบ ฐานลงโทษทหารเกณฑ์ เกินขอบเขตอำนาจแล้ว | กรณีโซเชียลฯ ระบุ ทหารเกณฑ์ถูกสิบเอกซ้อมทรมาน โฆษกกองทัพบก เผย พลทหารได้กระทำความผิดในเรื่องยาเสพติด แต่นายสิบลงโทษนั้น ถือว่าเป็นการกระทำเกินขอบเขตอำนาจ และเป็นการกระทำโดยพลการ จึงสั่งลงโทษทางวินัยขั้นรุนแรงกับนายสิบคนดังกล่าวแล้วทันที
25 ต.ค.2561 ภายหลังจากกรณีโลกโซเชียลมีเดียมีการเผยแพร่เรื่องราวของทหารเกณฑ์ ที่ถูกทำร้ายร่างกายจากนายทหารชั้นประทวน ในค่ายทหารพื้นที่จังหวัดสระบุรี โดยมีรายระเอียดระบุว่า นายทหารคนดังกล่าวชอบใช้กำลังและทรมานทหารใหม่ ซึ่งคนที่ถูกทำร้ายขณะนี่อยู่ในภาวะหวาดกลัวถึงขั้นจะหนีจากค่ายทหาร ขณะเดียวกันยังการเผยแพร่บทสนทนาของทหารที่ถูกทำร้าย โดยมีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงพฤติกรรมความรุนแรงในค่ายทหาร
ต่อมา ที่กองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบก เปิดเผยถึงกรณีดังกล่าว ระบุว่า ทหารเกณฑ์ที่ถูกสิบเอกซ้อมทรมานจนถึงขั้นคิดหนีออกจากค่ายทหาร ตามที่เพจ มีด่านบอกด้วย ระยอง ได้โพสต์ภาพและข้อมูลไว้นั้น ที่มาของเหตุการณ์เกิดขึ้นจากการที่ พลทหารได้กระทำความผิดในเรื่องยาเสพติด ซึ่งทางผู้บังคับบัญชาที่เป็นกำลังพลชั้นนายสิบ ได้ลงโทษนั้น ถือว่าเป็นการกระทำเกินขอบเขตอำนาจ และเป็นการกระทำโดยพลการ ด้วยการใช้ด้ามไม้กวาดตีบริเวณร่างกายตามที่เห็นในภาพ ซึ่งการกระทำดังกล่าวถือว่าไม่เหมาะสม ไม่เป็นไปตามระเบียบข้อกำหนดของทางราชการ
“ขณะนี้ต้นสังกัดทราบเรื่อง ได้สั่งลงโทษทางวินัยขั้นรุนแรงกับนายสิบคนดังกล่าวแล้วทันที เพราะถือเป็นความผิดขั้นรุนแรง โดยเฉพาะการขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชา เนื่องจาก ผบ.ทบ.เคยกวดขันเน้นย้ำไปแล้ว” พ.อ.วินธัย กล่าว
ล่าสุดทางผู้บังคับหน่วยได้เดินทางไปพบญาติพลทหารคนดังกล่าว เพื่อบอกเล่าข้อเท็จจริงในสิ่งที่เกิดขึ้น และยืนยันทางหน่วยจะลงโทษทางวินัยขั้นรุนแรงกับกำลังพลนายสิบคนดังกล่าวในทันที พร้อมทั้งยินดีรับผิดชอบเยียวยาสำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
ที่มา : วอยซ์ออนไลน์ [1] ข่าวสดออนไลน์ [2]และผู้จัดการออนไลน์ [3]
| ['ข่าว', 'สิทธิมนุษยชน', 'คุณภาพชีวิต', 'ความมั่นคง', 'วินธัย สุวารี', 'ทหารเกณฑ์', 'การซ้อมทรมาน'] |
https://prachatai.com/print/79297 | 2018-10-25 20:46 | ‘ประเทศกูมี’ แร็ปต้านเผด็จการ สัมภาษณ์กลุ่มแร็ปเปอร์และผู้กำกับมิวสิควิดีโอ | คุยกับ ‘Rap Against Dictatorship’ ที่บอกว่า การเมืองสำหรับพวกเขาคือการตั้งคำถามกับสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน การสนใจการเมืองคือวิธีที่จะเปลี่ยนสิ่งที่ไม่ชอบให้ดีขึ้น และเผด็จการไม่ใช่แค่เผด็จการทหาร แต่การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นก็ยังมีวิธีแบบเผด็จการ ร่วมคุยกับ ‘ธีระวัฒน์ รุจินธรรม’ ผู้กำกับเอ็มวี ผู้อยู่เบื้องหลังกลุ่มสนับสนุนประชาธิปไตยหลายกลุ่ม
หลังเพลงแร็ป ‘ประเทศกูมี’ ของกลุ่มแร็ปเปอร์ ‘Rap Against Dictatorship’ (แร็ปต้านเผด็จการ) ปล่อยมิวสิควิดีโอออกมา ยอดวิวในยูทูบก็พุ่งทะลุเกิน 600,000 ภายใน 2 วัน ด้วยเนื้อหาของเพลงที่หยิบจับสถานการณ์ทางการเมืองมาร้อยเรียงให้เข้าใจง่าย ดึงอารมณ์ร่วมของคนฟังได้ทันที พร้อมกับมิวสิควิดีโอที่นำเอาหนึ่งในภาพจำของเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ที่ถูกถ่ายโดย Neal Ulevich อย่างภาพคนฟาดเก้าอี้ใส่ศพที่ถูกแขวนคอใต้ต้นไม้และมีคนกลุ่มใหญ่มุงดู พร้อมรอยยิ้มที่ปรากฎบนหน้าของเด็กชายคนหนึ่ง ซึ่งเป็นภาพที่ได้รางวัลพูลิตเซอร์ปี 1977 มาเป็นฉากประกอบตลอดทั้งมิวสิควิดีโอ
ประชาไทสัมภาษณ์ตัวแทนของกลุ่ม Rap Against Dictatorship ถึงจุดเริ่มต้น แนวคิดหลักของโปรเจ็กต์ วิธีการทำเพลง จนถึงความหมายของการเมือง ที่เขาบอกว่า การเมืองสำหรับเขาคือการตั้งคำถามกับสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน การสนใจการเมืองคือการหาวิธีที่จะเปลี่ยนสิ่งที่ไม่ชอบให้ดีขึ้น รวมทั้งความหมายของเผด็จการไม่ใช่แค่เผด็จการทหาร แต่การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นก็ยังมีวิธีแบบเผด็จการอยู่ดี
ร่วมด้วยการสัมภาษณ์ ธีระวัฒน์ รุจินธรรม ผู้กำกับภาพแถวหน้าของไทยที่เป็นผู้กำกับมิวสิควิดีโอเพลงนี้ ผู้ริเริ่มไอเดียนำภาพจำของ 6 ตุลาเข้ามาประกอบมิวสิควิดีโอ ที่สำหรับเขาแล้วนี่คือการเปิดเผยชื่อจริงครั้งแรกหลังการทำเบื้องหลังให้กับกลุ่มสนับสนุนประชาธิปไตยหลายกลุ่ม เช่น กลุ่มพลเมืองโต้กลับ จนมาถึง Rap Against Dictatorship พร้อมตอบคำถามว่า ภาพศพและการฟาดเก้าอี้ที่ชัดเจนในช่วงสุดท้ายของมิวสิควิดีโอ เป็นการผลิตซ้ำความรุนแรงหรือไม่?
จุดเริ่มต้นของ RAD
RAD: เพลงประเทศกูมี เป็นอินโทรของ Liberate P ปล่อยมาตั้งแต่ปี 2016 แล้ว ซึ่งตอนนั้นเขาเริ่มทำเพลงการเมือง ตั้งแต่เพลง Oc(t)ygen เพลง Capitalism เพลงประเทศกูไม่มี แล้วเพลงประเทศกูมีก็ทำต่อมาเป็นอินโทร 8 บาร์ไว้ ด้วยขั้นตอนทางดนตรีมันยังไม่ลงตัวก็เลยพักโปรเจคไว้ก่อน
ปลายปี 2017 ก็มีการคุยกันระหว่างพวกเรา 4 คนคือ Liberate P, Jacoboi, ET, Hockhacker ก่อนเกี่ยวกับโปรเจค Rap Against Dictatorship แล้วก็ไปชวนคนอื่นที่สนใจมาร่วมทำ แต่โดยหลักแล้วก็จะมี 4 คน ที่เป็นคนคุมไอเดีย ทิศทางของเพลง วิธีการโปรโมต
คนที่มาร้องมีจุดร่วมคือต้านเผด็จการ แต่แนวคิดอื่นอาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน ตอนทำงานมีขัดแย้งกันทางแนวคิดบ้างไหม
ความขัดแย้งไม่มี เพราะเรารู้ว่าแต่ละคนมีแนวทางที่ไม่ตรงกันอยู่แล้ว แต่ก่อนเริ่มทำเพลง เรามีการเวิร์คช็อปภายใน เอาแร็ปเปอร์ทั้งหมดมานั่งคุยกัน แล้วทางกลุ่มก็เล่าสิ่งที่เราอยากพูด วิธีการ เนื้อหาทั้งหมด เพื่อเป็นการปรับฐานความเข้าใจทางการเมืองของแต่ละคนที่อาจจะรู้ไม่เท่ากัน เพราะในกลุ่มก็จะมีคนที่เข้าใจการเมืองอย่างลึกลงไปถึงเรื่องโครงสร้าง ไปจนถึงคนที่ไม่พอใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน แต่อาจจะยังไม่ได้มองไปถึงปัญหาเชิงโครงสร้าง ซึ่งพอเล่าแล้วเขาก็เก็ทกันมากขึ้น หลังจบเวิร์คช็อปเราก็ให้เวลาเขาตัดสินใจว่าจะเอาด้วยไหม ปรากฎว่าทุกคนก็เอาด้วยหมด เพียงแต่เนื้อหาในเพลงของแต่ละคนก็ต่างไปตามที่เขาสนใจ
เนื้อหาตั้งใจให้คนกลุ่มไหนฟัง
คนทั่วไป แต่เนื้อหามันจะไปโดนกับกลุ่มไหนมากน้อยก็ขึ้นอยู่กับคนฟัง คือเราตั้งใจทำเพลงกระแสหลัก อาจจะไม่ได้กระแสหลักขนาดนั้น แต่เราทำเพลงที่มีเนื้อหาให้คนทั่วไปที่อาจไม่มีพื้นเรื่องการเมืองมาก่อนฟังแล้วเก็ท โดยที่ไม่ต้องตีความ หรือไม่ใช่วิธีการเปรียบเทียบจนเข้าถึงยาก ก็เลยออกมาเป็นเพลงที่มีเนื้อหาที่คนฟังแล้วรู้สึกว่า เออ ตรงนี้ก็โดน ตรงนี้ก็โดน ทำให้เขารู้สึกไม่พอใจได้เลย เราทำการบ้านกันมาประมาณหนึ่งเลยว่าเนื้อหานี้ลึกไปไหม ยากไปไหม เปรียบเทียบเยอะไปไหม อะไรที่ฟังแล้วคนจะอินกับเราได้เลย เราก็จะเลือกตรงส่วนนั้นมา และจุดประสงค์เราไม่ได้ต้องการโจมตีประชาชน หรือไปด่าเขาว่าทำไมไม่ออกมาต่อต้านล่ะ แต่เรากำลังโจมตีรัฐ โจมตีระบอบเผด็จการ
แสดงว่าแม้ในทีมจะคุยกันลึกลงไปถึงปัญหาเชิงโครงสร้างแต่พอทำจริงๆ แล้วก็ไม่ได้ตั้งใจให้เพลงออกมาลึกแบบนั้น แต่ให้ฟังง่ายมากกว่า
ใช่ แต่เราก็แอบใส่อะไรบางอย่างที่ ถ้าคนที่เข้าใจลึกๆ ก็อาจจะจับจุดได้บ้าง เพราะบางอย่างเรารู้นะ แต่เราพูดไม่ได้จริงๆ หรือเราไม่จำเป็นต้องพูดในเพลงนี้เราก็จะไม่พูด เนื้อหาในเพลงถ้าเราลองไล่ฟังก็จะพบว่ามันมีความหนักเบาไม่เท่ากัน
เวลาแต่งเพลงนี้ได้มีการตกผลึกทางความคิดกับตัวเองก่อนไหม หรือคือการเอาสิ่งที่คนในสังคมเขาวิพากษ์วิจารณ์กันอยู่แล้วเข้ามาใส่ในเพลง
โดยส่วนตัว ถ้าเป็นเพลงปาร์ตี้หรือเพลงพรีเซ้นท์ตัวเองทั่วๆ ไป มันก็จะไม่ยากเท่า เพราะมันคือเรื่องที่เรารู้สึกแล้วสามารถเล่าออกมาได้เลย แต่ถ้ามันเป็นเพลงที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับอุดมการณ์การเมือง สังคม มันต้องมีการตกผลึกหรือทำความเข้าใจกับประเด็นประมาณหนึ่ง เราทำการบ้านกันค่อนข้างหนัก บางคนก็ใช้เวลากับเนื้อเพลงนานกว่าคนอื่น บางคนก็แต่งได้เลยจากสิ่งที่ตัวเองประสบ เพราะฐานการรับรู้ การประสบเรื่องทางการเมืองของแต่ละคนไม่เท่ากัน
จริงๆ มันก็เป็นเรื่องทั่วไปที่ทุกคนรู้อยู่แล้ว อย่างเนื้อท่อนหนึ่งที่บอกว่า “ปลายกระบอกจ่อที่ปลายกระเดือก” มันเป็นการเล่นคำในภาษาเพลงแร็ปนี่แหละ ซึ่งมันก็แฝงสัญลักษณ์คือ ปลายกระบอกคือปืน ส่วนปลายกระเดือกก็คือคางหรือปากเรา มันก็คือการบอกว่าเราอยู่ในยุคของการปกครองด้วยระบอบที่มีปืน มันคือเรื่องทั่วไปที่ทุกคนรับรู้ แต่การเลือกคำมาใช้ของแร็ปเปอร์ทำให้พลังของเพลงมันเยอะขึ้น และความสำคัญคือสิ่งที่ทุกคนเล่าเขาอินจริง แล้วเขาก็เชื่อในแนวคิดต่อต้านเผด็จการจริงๆ มันเลยมีพลังมากขึ้น ซึ่งเป็นข้อดีของเพลงแร็ปด้วยที่หากเราเล่าเรื่องที่เราประสบจริงๆ มันจะส่งพลังออกมาได้เยอะกว่า
แล้วการเมืองสำหรับกลุ่มคุณที่ประสบมาคืออะไร
การเมืองสำหรับเรามันคงเป็นเรื่องการตั้งคำถามกับสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน ทำไมถึงเป็นแบบนี้ ทำไมเราถึงแก้ปัญหาไม่ได้ แล้วสุดท้ายมันก็กลับไปที่การเมือง อำนาจทุกอย่างก็มาจากการเมือง ถ้าเราไม่สนใจการเมือง เราก็คงไม่สามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรได้ การสนใจการเมืองมันก็คือการหาวิธีที่จะเปลี่ยนอะไรที่เราไม่ชอบให้มันดีขึ้น เช่น เราไม่ชอบรถติด ถ้าเราไม่สนใจการเมืองเราอาจจะมองว่าปัญหารถติดเพราะตำรวจเปิดสัญญาณไฟ หรือถ้าเรามองลึกกว่านั้นรถติดเพราะผังเมืองประเทศเป็นแบบนี้ มันขึ้นอยู่กับว่าคุณเจอปัญหาแล้วคุณคิดกับปัญหานั้นแค่ไหน คุณได้แค่บ่นไป หรือพยายามหาทางออก แก้ไขปรับปรุงให้มันดียิ่งขึ้นไป
การเมืองมันอยู่รอบตัวเรา ทำไม 20 กว่าปีที่เราเดินบนฟุตปาธริมถนนแล้วฟุตปาธมันไม่ดีขึ้นสักที อิฐบนฟุตปาธก็ยังแตกอยู่ มันคือเรื่องการบริหารจัดการการเมืองหมดเลย การเมืองมันไม่ใช่แค่การออกไปชุมนุมบนถนน หรือการแบ่งฝ่ายแบ่งสี มันคือเรื่องความเป็นอยู่ เรื่องที่เราประสบอยู่ ไม่ใช่แค่นักการเมืองด้วย ในโรงเรียน ในหน่วยงาน ในบริษัท มันก็มีการเมืองภายใน ทุกคนรู้อยู่แล้ว การเข้าหาคนอื่นเพื่อผลประโยชน์บางอย่าง อันนั้นก็คือการเมือง
แต่สุดท้ายแล้วพอเราเริ่มมองปัญหาจากเรื่องใกล้ตัว คำตอบมันก็นำเราไปสู่ปัญหาเชิงโครงสร้างทางเมืองอยู่ดี
ใช่ครับ จุดร่วมของเราคือการต่อต้านระบบเผด็จการ ซึ่งมันไม่ได้หมายถึงเผด็จการจากทหารอย่างเดียวด้วย ทหารอาจจะชัดเจนที่สุดที่เอาอำนาจ เอาอาวุธปืน เอาความกลัวเข้ามาแทรกแซงวิถีชีวิตของคนปกติ แต่เราก็ยังมีเผด็จการการปกครองส่วนท้องถิ่น เผด็จการรัฐสภา ที่คนที่อยู่ในสภาเป็นพวกเดียวกันหมด ไม่มีใครค้านใคร
คนที่มองว่าการเมืองเป็นเรื่องน่าเบื่อ จะรัฐบาลเลือกตั้งหรือรัฐบาลเผด็จการชีวิตไม่ได้ดีไปกว่าเดิม คิดว่าเพลงเราจะสื่อสารกับเขาได้ไหม
ในกลุ่มก็เชื่อว่าเราสามารถสื่อสารและทำให้พวกเขารับรู้ได้ แต่เราก็ไม่ได้คาดหวังว่าคุณฟังเพลงนี้แล้วจะต้องมีพฤติกรรมเปลี่ยนไป เพราะมันต้องใช้เวลาในการเชื่ออะไรบางอย่างแล้วเปลี่ยนพฤติกรรม แต่เราทำให้คนจำนวนมากรับรู้ และพอมันเป็นกระแส มันจะเปิดความคิดพวกเขาว่าเราสามารถพูดเรื่องนี้ได้ คนที่ฟังเพลงประเทศกูมีแล้วคอมเมนต์หรือแชร์ เราก็คิดว่ามันคือการตื่นตัวแล้ว หรือถ้าเขาจะเบื่อ ไม่สนใจ อันนั้นก็เป็นสิทธิของเขา เพราะเขาอาจจะประสบอะไรบางอย่างที่ทำให้เขาไม่อยากยุ่งแล้วก็ได้ แต่บางคนที่อยู่กับความกลัวหรือไม่กล้าแล้วออกมาด่าเราที่ทำเพลงนี้ออกมา เราก็ถือว่าเขาตื่นตัวทางการเมืองแล้ว เพราะอย่างน้อยเขาก็ลุกขึ้นมาแสดงความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ นี่ก็คือการเคลื่อนไหวทางความคิดแล้วในยุคนี้
ความรู้สึกที่แต่งเพลงนี้มันคือความรู้สึกโกรธ ไม่ยอมจำนน
ทุกคนมีความโกรธ ความเบื่ออยู่แล้ว แต่เราจะถ่ายทอดยังไงให้มันมีสุนทรียะทางเพลงด้วย ให้เขาอินไปกับเรา ผมคิดว่ามันเป็นเพลงในยุคสมัย ที่ทำให้คนรุ่นใหม่ฟังแล้วมีอารมณ์ร่วมไปกับเนื้อหา คนรุ่นใหม่สำหรับเราไม่ได้หมายถึงอายุ แต่คือคนที่อยู่ร่วมกับยุคสมัย ในยุคสมัยที่เปลี่ยนไป เราเข้าใจอะไรได้เพิ่มขึ้น เราตามทันสิ่งที่เกิดขึ้นแค่ไหน เราปรับตัวเองเข้าสู่ความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยอย่างไรบ้าง นั้นแหละคือคนรุ่นใหม่
ถ้ามีการเลือกตั้งแล้ว RAD จะยังทำอะไรต่อไหม หรือในระหว่างที่กำลังจะมีการเลือกตั้ง นอกจากวิจารณ์เผด็จการแล้ว จะมีอะไรอีกไหม
การเลือกตั้งมันอาจหมายถึงการเป็นประชาธิปไตยแล้ว แต่จริงๆ การเลือกตั้งครั้งนี้เราก็รู้จากข่าว เช่น เรื่อง สว. สรรหา ที่มาจากการแต่งตั้ง ซึ่งมันก็คือวิธีการแบบเผด็จการอยู่ดี จริงๆ ก็จะมีเพลงออกมาอีก และหลังจากนี้หากมีการเลือกตั้งแล้วเราก็คงต้องคุยกันอีกทีว่ารูปแบบของกลุ่มจะเป็นยังไงต่อไป
000000
ธีระวัฒน์ รุจินธรรม (กลาง)
ไอเดีย 6 ตุลาในเอ็มวีมาได้ยังไง
ธีระวัฒน์: ไอเดีย 6 ตุลามาจากความสงสัยของเรา เราถ่ายหนังเรื่องแรกคือเรื่อง 14 ตุลา สงครามประชาชน ในบทจะมีฉากหนึ่งเขียนถึงฉาก 6 ตุลา มีการเตรียมว่าจะถ่ายฉากนี้ยังไง แต่สุดท้ายผู้กำกับคือพี่บัณฑิต (ฤทธิ์ถกล) ตัดสินใจตัดออก เพราะไม่รู้จะนำเสนอยังไง ตอนนั้นแกบอกว่าถ้านำเสนอไม่ดีจะกลายเป็นการเอาศพมาประจาน เราก็ไม่ค่อยเข้าใจเหตุผลของแกเท่าไหร่ในตอนนั้น
พอช่วงปีที่แล้วมีโอกาสไปช่วยในโครงการบันทึก 6 ตุลา ช่วยกำกับหนังเรื่องสองพี่น้อง ได้อ่านข้อมูลเกี่ยวกับ 6 ตุลามากขึ้น ล่าสุดเขาอยากให้เราช่วยหาจุดของต้นไม้แขวนคอต้นนั้น แล้วช่วงนั้นมีโจทย์ของเพลงนี้พอดี เราก็คิดวนๆ ในหัว ผสมกันไปมา สุดท้ายก็เลยออกมาเป็นฉากศพแขวนใต้ต้นไม้ มีคนอยู่รอบๆ เชียร์การทารุณศพ ปกติเราดูแต่ภาพถ่าย แต่ถ้าเราเอากล้องไปอยู่ตรงใจกลางของเหตุการณ์นั้น คนดูน่าจะมีความรู้สึกอะไรบางอย่าง ซึ่งแล้วเราคิดว่า 6 ตุลามันคืออาการทางกายภาพของความเจ็บป่วยของประเทศนี้ที่ปัจจุบันมันก็ยังไม่ล้าสมัย
ไอเดียเรื่องกล้องคืออยากเล่นเทคยาว ให้แร็ปเปอร์ผลัดมาแร็ปคนละท่อน เดินวนไปรอบๆ และเราคิดว่าการออกแบบการเคลื่อนกล้องที่วนไปรอบๆ มันคือเหตุการณ์เมืองไทยที่ไม่ไปไหน วนเป็นวงกลม คนไม่มีการเรียนรู้ ผู้มีอำนาจไม่มีการเรียนรู้ ประวัติศาสตร์จึงซ้ำรอย โดยเป็นคอนเซปต์เฉพาะคนทำ คนดูไม่จำเป็นต้องเก็ทก็ได้
และด้วยความยาว 5 นาที เราจึงต้องออกแบบให้เริ่มจากการมีแร็ปเปอร์ออกมาแร็ป โดยมีฉากหลังเป็นคนตบมือซึ่งก็ยังไม่รู้ว่าคือการตบมืออะไร อาจจะนึกว่าแค่มาสนุกกับนักร้องที่มาร้องเพลง แต่สุดท้ายพอเห็น Chair Man คนที่เอาเก้าอี้มาฟาดศพ คนดูก็จะรู้ว่ามันคือเหตุการณ์อะไร และเป็นไฮไลท์ในตอนสุดท้าย
ภาพเบื้องหลังการถ่ายทำมิวสิควิดีโอ 'ประเทศกูมี'
ภาพศพและการฟาดเก้าอี้ที่ชัดเจนในตอนสุดท้าย เป็นการผลิตซ้ำความรุนแรงรึเปล่า
อันนี้เป็นประเด็นที่ถกเถียงในใจตัวเอง แล้วเราก็เล่าคอนเซปต์นี้ให้เพื่อนที่เป็นนักวิจัยในโครงการบันทึก 6 ตุลา ว่าคิดยังไงที่เราเอาภาพความรุนแรงของ 6 ตุลากลับมาทำใหม่ มันจะเหมือนเราเอาภาพมาข่มขืนคนดูซ้ำรึเปล่า เขาก็บอกว่าบางทีภาพเหตุการณ์ความรุนแรงเราปฏิเสธไม่ได้ ยกตัวอย่างเช่น เมื่อปีสองปีที่แล้วเราเพิ่งรู้ว่าคนที่ถูกแขวนคอในเหตุการณ์ 6 ตุลา ไม่ได้มีแค่ 2 คนตามที่เคยเข้าใจกัน แต่มีถึง 5 คนเป็นอย่างต่ำ และบางคนยังไม่รู้ชื่อด้วยซ้ำ
เราก็ตกใจว่าเรื่องแบบนี้ปล่อยผ่านมาได้ยังไงตั้ง 40 กว่าปี และจากที่ฟังหลายๆ คนมา คนในยุคนั้นคิดว่ามันคือภาพความรุนแรงโหดร้ายและเขาไม่กล้ามองมันตรงๆ เราเข้าใจว่าเพราะการไม่กล้ามองตรงๆ นี่แหละที่ไปสร้างความเข้าใจผิดขึ้นมา อีกตัวอย่างคือ รูปคนถูกแขวนคอและถูกฟาดด้วยเก้าอี้ คนคิดว่าเป็น วิชิตชัย อมรกุล แต่อันที่จริงคือยังไม่รู้ว่าเขาชื่ออะไร ส่วนวิชิตชัยนั้นถูกแขวนคอในอีกภาพหนึ่ง
ประเด็นก็คือบางทีเราต้องมาเพ่งมองมันตรงๆ ว่าอะไรมันเกิดขึ้นข้างหน้า เราเลยมีความรู้สึกว่าเมื่อชั่งตวงแล้ว ประเด็นที่บอกว่าเอาความรุนแรงมาผลิตซ้ำจึงถูกตีตกไป บางทีเราก็ต้องนำเสนอความรุนแรงด้วยวิธีการที่ตรงไปตรงมาเหมือนกัน คนถึงจะรู้สึกได้ และเห็นความจริงบางอย่าง
ภาพเบื้องหลังการออกแบบการถ่ายทำ
สุดท้ายอยากฝากอะไร
อยากขอบคุณเพื่อนและน้องๆ ที่มาช่วยงานนี้ บางคนก็ไม่ประสงค์ที่จะออกนาม ถ้าไม่มีพวกเขาเหล่านี้เอ็มวีนี้ก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้
ปกติแล้วเราทำงานพาร์ทหนึ่งในอุตสาหกรรมบันเทิง แต่หลังมีการแบ่งสีเสื้อ เราก็ทำงานเคลื่อนไหวเบื้องหลังมาตลอด เราอยู่เบื้องหลังการทำงานของกลุ่มพลเมืองโต้กลับ ซึ่งเราปิดบังชื่อมาตลอด และครั้งนี้เป็นการตัดสินใจที่จะเปิดชื่อจริง เพราะมาถึงวันนี้ความกลัวทั้งหลายของเรามันหายไปแล้ว เรารู้สึกว่าถ้าคุณทำอะไรหลบๆ ซ่อนๆ ทั้งที่คุณมีความคิดหรือไอเดียเรื่องของคนเท่ากัน ประชาธิปไตยควรเป็นทางออกของประเทศนี้ เราก็ไม่มีอะไรจะต้องกลัวอีกต่อไป เลยอยากเรียกร้องศิลปินคนอื่นให้กล้าออกหน้ากันด้วย สังคมที่อยู่ภายใต้ความหวาดกลัวหรือการเซ็นเซอร์ตัวเองมันไม่เวิร์คหรอก ถ้าเราเชื่อในอะไรเราต้องกล้าต่อสู้และยืนยันในสิ่งนั้น
ทั้งนี้ Rap Against Dictatorship ยังเปิดให้คนทั่วไปสามารถรวมกิจกรรมคนละ 8 บาร์ ว่าด้วย ประเทศกูมี จนล่าสุดมีผู้ร่วมกิจกรรมจำนวนมากจนเกินสายตาที่เราจะมองเห็นแล้วด้วย
*หมายเหตุ มีการแก้ไขเนื้อหาเมื่อเวลา 10.21 น. วันที่ 26 ต.ค. 61
| ['ข่าว', 'การเมือง', 'สังคม', 'วัฒนธรรม', 'สิทธิมนุษยชน', 'ศิลปวัฒนธรรม', 'แร็ป', 'แร็ปการเมือง', 'Rap Against Dictatorship', 'แร็ปต้านเผด็จการ', '6 ตุลาคม 2519', 'ประเทศกูมี', 'มิวสิควิดีโอ', 'ธีระวัฒน์ รุจินธรรม', 'การต่อต้านเผด็จการ', 'เลือกตั้ง'] |
https://prachatai.com/print/79300 | 2018-10-25 23:25 | 14 ปี ตากใบ 'ประชาชาติ' หวังการพูดถึงนำมาซึ่งการรื้อฟื้นก้าวพ้นวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด | 'ประชาชาติ' แนะหนทางสำคัญที่จะนำการพูดถึงเหตุการณ์ตากใบกลับคืนมา อันจะเป็นการพูดถึงที่สามารถคืนศักดิ์ศรีให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบ และเป็นการพูดถึงที่จะไม่ปิดกั้นการรื้อฟื้น ที่จะนำความมาสู่ความจริงและการก้าวพ้นจากวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดของผู้สั่งการ
25 ต.ค.2561 เนื่องในวาระครบรอบเหตุการณ์สลายการชุมนุมหน้าสถานีตำรวจภูธรตากใบ จ.นราธิวาส จากนั้นมีผู้ชุมนุมถูก ‘ขน’ ขึ้นรถ วางทับซ้อนกัน จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตเกือบ 100 คน นั้น
เฟสบุ๊กแฟนเพจ 'ประชาชาติ - People's Nation [1]' โพสต์รำลึกเหตุการณ์ดังกล่าว ในหัวข้อ "14 ปีเหตุการณ์ตากใบ บาดแผลที่ต้องแปรมาสู่การสร้างหลักประกันความยุติธรรมแก่ประชาชน"
โดยมีรายละเอียดดังนี้
14 ปีเหตุการณ์ตากใบ บาดแผลที่ต้องแปรมาสู่การสร้างหลักประกันความยุติธรรมแก่ประชาชน
“เหตุการณ์ตากใบ” เป็นโศกนาฏกรรมที่สร้างบาดแผลต่อครอบครัวของผู้เสียชีวิต ผู้พิการ ผู้ถูกคุมขัง และผู้สูญหายอย่างกว้างขวาง ที่สำคัญเหตุการณ์นี้ได้สะท้อนถึงปัญหาวิกฤติและข้อบกพร่องอย่างร้ายแรงของระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมของประเทศ ที่ไม่สามารถอำนวยให้เกิดความเป็นธรรมและสร้างหลักประกันในเรื่องความยุติธรรมให้เกิดขึ้นได้ผู้สูญเสียได้ ทั้งนี้ แม้ในปี พ.ศ. 2549 อัยการได้ยกคำฟ้องประชาชน 58 คนที่รอดชีวิตและถูกดำเนินคดี และต่อมาในปี พ.ศ. 2555 ได้มีการชดเชยเยียวยาแก่ผู้สูญเสีย แต่ความทุกข์ทนและบาดแผลก็ยังคงมีอยู่กับครอบครัวและญาติมาโดยตลอด
เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 ซึ่งเป็นก่อนวันสุดท้ายเดือนรอมฎอน (อีดิลฟิฏรี) มีการชุมนุมของประชาชนที่หน้าสถานีตำรวจภูธรตากใบ อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจปล่อยตัวชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) จำนวน 6 คน ที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมดำเนินคดีในข้อหาความผิดฐานแจ้งความเท็จและยักยอกทรัพย์ แม่ทัพภาคที่ 4 ขณะนั้นได้อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 มีคำสั่งให้สลายการชุมนุมและควบคุมตัวผู้เข้าร่วมชุมนุมนำขึ้นรถยนต์บรรทุกทหารไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ในการขนย้ายผู้ชุมนุม เจ้าหน้าที่ได้ใช้วิธีการจับมัดมือเรียงคว่ำซ้อนทับกัน เป็นเหตุให้มีคนตายรวม 78 ศพ (ไม่รวมผู้เสียชีวิตอีก 7 รายจากการสลายการชุมนุมก่อนการขนย้ายผู้ที่ถูกจับกุม) และมีผู้บาดเจ็บอีกจำนวนมาก
กระบวนการยุติธรรมในชั้นศาลของเหตุการณ์นี้จบลงตรงที่ศาลจังหวัดสงขลาได้ทำการไต่สวนชันสูตรพลิกศพ และมีคำสั่งในคดีหมายเลขดำที่ ช. 16/2548 และ คดีหมายเลขแดงที่ ช.8/2552 ว่า ผู้ตายทั้ง 78 รายขาดอากาศหายใจในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติราชการตามหน้าที่ เจ้าหน้าที่ได้ปฏิบัติการตามความจำเป็นแห่งสภาพการณ์เท่าที่เอื้ออำนวย และคำสั่งนี้ถือเป็นที่สิ้นสุด ไม่สามารถอุทธรณ์ได้ ทั้งนี้ คำสั่งของศาลนำมาสู่การตั้งคำถามอย่างหนักจากสังคมว่า ได้มีการพิจารณาถึงการสั่งการจากผู้บังคับบัญชาและการปฏิบัติที่ประมาทจนทำให้ประชาชนเสียชีวิตหรือไม่ อีกทั้งคำสั่งของศาลนี้หมายความว่าไม่มีผู้ใดเลยแม้แต่คนเดียวถูกลงโทษทางอาญาจากการตายของประชาชน 78 ราย
อนึ่ง สิ่งที่ยังค้างคาอยู่ในใจของผู้คนในกรณีเหตุการณ์ตากใบ โดยเฉพาะในส่วนของครอบครัวและญาติผู้สูญเสียก็คือ ทำไมกระบวนการยุติธรรมจึงไม่สามารถสร้างความเป็นธรรมให้เกิดได้ ดังนั้น สิ่งที่ทุกฝ่าย รวมทั้ง "ประชาชาติ” จะต้องร่วมกันสร้างให้เกิดขึ้นก็คือ “ความยุติธรรมตามความเป็นจริงบนฐานการมีของส่วนร่วมของทุกภาคส่วน” ทั้งนี้ การป้องกันไม่ให้ความผิดพลาดอย่างกรณีเหตุการณ์ตากใบเกิดขึ้น ต้องกระทำในบริบทการแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้โดยรวม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในด้านที่ต้องปฏิรูปและปรับปรุงกฎหมายพิเศษต่างๆ ได้แก่ พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร กฎอัยการศึก และพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน รวมทั้งในขั้นตอนการบังคับใช้กฎหมายด้วย
ในส่วนของกระบวนการยุติธรรมต้องธำรงหลักนิติธรรมที่สามารถตรวจสอบถ่วงดุลได้เพื่อเป็นหลักประกันในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและป้องกันการใช้อำนาจโดยมิชอบ สำหรับกรณีที่การเสียชีวิตเกิดขึ้นจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐหรือการเสียชีวิตระหว่างการควบคุมของเจ้าหน้าที่รัฐ ดังเช่นกรณีเหตุการณ์ตากใบที่ทางกฎหมายเรียกว่า “คดีวิสามัญฆาตกรรม” ต้องมีกรรมการอิสระที่เป็นกลาง มีความรู้และประสบการณ์ และต้องไม่ใช่บุคคลในหน่วยงานของเจ้าหน้าที่รัฐที่ทำให้ตาย มาเป็นผู้สอบสวนหรือไต่สวนสาเหตุการตาย
14 ปีที่ผ่านมา แม้ครอบครัวและญาติผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ตากใบจะ “ไม่เคยลืม” สิ่งที่เกิดขึ้น แต่ในช่วงหลายปีมานี้ การ “พูดถึง” เหตุการณ์ตากใบดูจะค่อยๆ เลือนหายไป อีกทั้งการพูดถึงก็ถูกระมัดระวังไม่ให้เป็นการ “รื้อฟื้น” ขณะการรำลึกวันครบรอบด้วยมิติทางศาสนาผ่านการทำบุญ การละหมาดฮายัต ฯลฯ ดูจะเป็นหนทางเดียวที่ช่วยให้ครอบครัวและญาติสามารถดำรงชีวิตอยู่กับบาดแผลต่อไปได้ ทั้งนี้ การร่วมกันสร้างหลักประกันความยุติธรรมให้เกิดขึ้นแก่ประชาชน คือหนทางสำคัญที่จะนำการ “พูดถึง” เหตุการณ์ตากใบกลับคืนมา อันจะเป็นการ “พูดถึง” ที่สามารถคืนศักดิ์ศรีให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบ และเป็นการ “พูดถึง” ที่จะไม่ปิดกั้นการ “รื้อฟื้น” ใดๆ ก็ตามที่จะนำความมาสู่ความจริงและการก้าวพ้นจากวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดของผู้สั่งการ
ประทับจิต นีละไพจิตร: 13 ปีตากใบ ความยุติธรรมยังติดเพดาน [2]
12 ปี ตากใบ บาดแผลที่ยังไม่เลือน ความยุติธรรมที่ยังไม่มา [3]
วันนี้ ที่ร้านบูคู ปัตตานี ยังมีการจัดกิจกรรมเสวนาหัวข้อ “ โศกนาฏกรรมตาบา เราต่างเป็นเหยื่อร่วมกัน โดย "สหพันธนิสิตนักศึกษา นักเรียนเเละเยาวชนปาตานี PerMAS อีกด้วย
เหตุการณ์ตากใบ
เหตุการณ์ตากใบเป็นเหตุการณ์รุนแรงครั้งสำคัญที่เป็นบาดแผลของความขัดแย้งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
เช้าวันที่ 25 ตุลาคม 2547 ตรงกับวันที่สิบสองของเดือนรอมฎอน ปี ฮ.ศ.1425 ตั้งแต่ช่วงเช้า ชาวบ้านมาชุมนุมกันเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้านจำนวน 6 คนที่ถูกจับที่หน้าสถานีตำรวจตากใบ ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากตลาดและด่านตาบา ซึ่งชาวบ้านจำนวนมากนิยมมาซื้อสินค้าอย่างคึกคักมากเป็นพิเศษในช่วงเดือนรอมฎอน เมื่อเวลาผ่านไป มีชาวบ้านมาชุมนุมเพิ่มขึ้นเกือบพันคน จำนวนมากในนั้นไม่ได้ตั้งใจมาชุมนุม แต่มาดูว่าเกิดอะไรขึ้น บางคนผ่านไปผ่านมา บางคนไปตลาด แต่เมื่อเข้าไปดูเหตุการณ์แล้วออกมาไม่ได้
ประมาณบ่ายสามโมง ทหารเริ่มสลายการชุมนุม แกนนำการชุมนุมก็สลายตัวไปรวมกับผู้ชุมนุม ทหารยิงแนวราบเข้าสู่ผู้ชุมนุม และยิงแก๊สน้ำตา เมื่อทหารควบคุมสถานการณ์ได้ ทหารให้ผู้ชุมนุมชายถอดเสื้อ นอนราบและมัดมือไพล่หลัง ส่วนผู้หญิงก็ส่งกลับบ้าน
ผู้ชุมนุมชายที่ถูกกวาดจับกว่า 1,300 คนถูกขนขึ้นรถทหาร 25 คัน รถตำรวจ และรถเช่าอีกจำนวนหนึ่ง โดยการนอนราบ 4-5 ชั้น ในสภาพที่ผู้ชุมนุมต่างอ่อนเพลียเพราะถือศีลอดและตากแดดร้อนเพราะการชุมนุมมาตลอดทั้งวัน
รถที่บรรทุกผู้ชุมนุมเดินทางเป็นระยะทางกว่า 150 กิโลเมตรเป็นเวลา 5-6 ชั่วโมง จากสถานีตำรวจตากใบไปค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี มีรายงานว่า เมื่อรถคันแรกถึงค่ายประมาณหัวค่ำ ก็พบว่ามีคนตาย แต่ก็ไม่มีการแจ้งเตือนไปยังรถคันที่เหลือให้ทราบ รถคันท้ายๆ ถึงค่ายอิงคยุทธบริหารเวลาประมาณ ตี 2 ของวันถัดไป
ทั้งเหตุการณ์มีผู้เสียชีวิตไปทั้งหมด 85 คน เสียชีวิตระหว่างการขนส่งบนรถบรรทุกของทหาร 78 คน เสียชีวิตในที่ชุมนุม 6 คน และเสียชีวิตที่โรงพยาบาล 1 คน
คดีความที่เกี่ยวข้องมีทั้งหมดสามคดี
ในปี 2552 ศาลสงขลาตัดสินในคดีไต่สวนการตายว่า ผู้ชุมนุม 78 คนที่ตายระหว่างการขนย้าย ตายเพราะ ‘ขาดอากาศหายใจ’ ระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ ซึ่งเป็นการปฏิบัติราชการตามหน้าที่
ในปี 2548 ผู้ชุมนุม 59 คน ถูกสั่งฟ้องที่ศาลนราธิวาสในข้อหาร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่สิบคนขึ้นไป โดยใช้กำลังประทุษร้ายและขู่เข็ญว่าจะประทุษร้าย ต่อมาอัยการถอนฟ้องในปี 2549
ในปี 2548 ญาติผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตฟ้ององค์กรรัฐ กองทัพบก ให้จ่ายเงินชดเชย ต่อมามีการทำสัญญาให้ประณีประณอมยอมความ โดยมีเงื่อนไขให้ถอนฟ้องจำเลยอื่นๆ ทั้งหมด รวมถึงเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจสั่งการ กระทรวงกลาโหมจ่ายค่าสินไหมทดแทน 42 ล้านบาท กับญาติผู้เสียหาย 79 ราย
ต่อมาในสมัยที่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เป็น เลขาศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ได้ประกาศจ่ายเงินเยียวยาให้กับผู้เสียหายจากกรณีตากใบเพิ่มอีก โดยผู้เสียชีวิตจะได้รับการเยียวยาเพิ่มจากเดิมจนครบรายละ 7.5 ล้านบาท ส่วนผู้ที่ได้รับบาดเจ็บได้ 500,000 บาท
| ['ข่าว', 'การเมือง', 'สิทธิมนุษยชน', 'ความมั่นคง', 'ชายแดนใต้', 'วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด', 'ประชาชาติ', 'ตากใบ', 'PERMAS', 'การสลายการชุมนุม'] |
https://prachatai.com/print/79299 | 2018-10-25 22:09 | นานาทัศนะ 'มหาธีร์' เรื่องชายแดนใต้-อาเซียนไม่ประชาธิปไตย-ไม่ยอมรับ LGBT | มหาธีร์ โมฮัมหมัด นายกฯ มาเลเซียคนปัจจุบันบรรยายพิเศษที่จุฬาฯ ย้ำ แก้ปัญหา 3 จ.ใต้ ก็เป็นภารกิจของมาเลเซีย หวังร่วมไทยพัฒนาเศรษฐกิจ เปลี่ยนบทบาทอาเซียนจากผู้บริโภคเป็นผู้ผลิตแต่ไม่ก้าวก่ายการเมือง ใครไม่พร้อมกับประชาธิปไตยก็ว่ากันไป ไม่ยอมรับเรื่อง LGBT เพราะยึดถือ 'คุณค่าของเอเชีย' บทเรียนนโยบายจากประเทศพัฒนาแล้วเป็นเรื่องที่ต้องเรียนรู้ แต่อย่าบังคับให้ใครทำตาม
มหาธีร์ ขณะบรรยายที่จุฬาฯ (ที่มา: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย [1])
25 ต.ค. 2561 ที่หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาธีร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันของมาเลเซียได้ทำการบรรยายพิเศษหัวข้อ “ความสัมพันธ์มาเลเซียและไทย ในบริบทของอาเซียน” โดยมีผู้ให้ความสนใจร่วมฟังบรรยายคับคั่ง
มหาธีร์บรรยายถึงความสัมพันธ์ระหว่างราชอาณาจักรไทยและมาเลเซียที่มีมายาวนานตั้งแต่ก่อนที่มาเลเซียจะได้รับเอกราช และหลังประกาศเอกราช ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับมาเลเซียก็พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงที่มาเลเซียมีเหตุการณ์จลาจลกับกลุ่มคอมมิวนิสต์ ทางไทยก็ช่วยเหลือไว้มาก ในทางเดียวกันนั้น ปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สาม จ.ชายแดนภาคใต้ของไทยนั้นจึงเป็นหน้าที่ของมาเลเซียที่จะช่วยแก้ไขปัญหาด้วย
มหาธีร์ยังกล่าวว่า มาเลเซียและไทยสามารถร่วมมือกันเพื่อสร้างสภาพเศรษฐกิจที่ดีขึ้นระหว่างทั้งสองประเทศ โดยมาเลเซียนั้นมุ่งมีจุดยืนเป็นกลางในด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ทั้งยังพูดองค์การระดับภูมิภาคอย่างสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน ว่าเป็นองค์การที่เริ่มต้นจากการที่ชาติสมาชิกแรกเริ่มได้แก่อินโดนีเซีย ไทย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์และมาเลเซีย โดยระบุว่าเป็นการรวมกลุ่มที่มุ่งจัดการความแตกต่างระหว่างแต่ละประเทศในภูมิภาคโดยสันติวิธี อาเซียนมุ่งแสดงให้โลกเห็นว่าสามารถจัดการกับความแตกต่างได้โดยไม่ต้องรบพุ่งกัน และทำให้เอเชียตะวันออกเฉียงใต้สงบสุข
นายกรัฐมนตรีของมาเลเซียพูดเน้นย้ำในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับมาเลเซียที่มีการจัดการกับปัญหาอย่างสันติ เขายกตัวอย่างเหตุการณ์กรณีพิพาทพื้นที่ทับซ้อนระหว่างไทยและมาเลเซียในอ่าวไทยที่มีทรัพยากรธรรมชาติอย่างน้ำมันอยู่ ซึ่งในที่สุดทั้งสองฝ่ายตัดสินใจแบ่งผลผลิตน้ำมันในพื้นที่พิพาทคนละครึ่ง ซึ่งถือเป็นวิธีแก้ปัญหาที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์
ในช่วงตอบคำถามจากผู้ฟังการบรรยาย มหาธีร์ให้ความเห็นว่าประชาธิปไตยคือการตอบสนองต่อความคิด ความต้องการของประชาชน แม้ในความเป็นจริงไม่สามารถทำได้ทุกอย่าง แต่ถ้ายังทำในสิ่งที่ประชาชนต้องการ ประชาชนก็จะสนับสนุน อย่างน้อยก็ขอให้เข้าถึงประชาชน ไปพูดคุยทักทาย จับไม้จับมือพวกเขา ในส่วนมาเลเซียนั้น เขาอยากจะจำกัดวาระดำรงตำแหน่งของนายกฯ ให้เป็นได้แค่สองวาระเท่านั้น และกฎหมายใดๆ ที่ถูกมองว่าเป็นกฎหมายที่กดขี่ก็จะทบทวน แก้ไข หรือไม่ก็เลิกเสีย
มาเลย์จ่อเลิกโทษประหาร ‘แอมเนสตี้ฯ’ ขยายปมสภาพรอความตายก็ทารุณพอกัน [2]
รัฐบาลใหม่มาเลเซียยกเลิกกฎหมาย 'ต้านข่าวปลอม' ที่คนกังวลว่าจะถูกใช้ลิดรอนเสรีภาพ [3]
มหาธีร์ให้ความเห็นเรื่องปัญหาสาม จ.ชายแดนใต้ของไทยว่าแต่เดิมปัญหาดังกล่าวไม่มี เมื่อ 70 ปีที่แล้วในพื้นที่มีเพียงความแตกต่างทางศาสนา ส่วนตัวเขาไม่เชื่อว่าปัญหาดังกล่าวเกิดจากศาสนาอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของกลุ่มที่มาแสดงออกถึงความโกรธเกรี้ยวเพราะอยากได้ดินแดนของพวกเขาคืน ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นทั่วโลก ณ ขณะนี้
บีบีซี [4]รายงานว่า มหาธีร์ได้เปลี่ยนตัวหัวหน้าคณะผู้อำนวยความสะดวกก่อนที่จะมาเยือนไทยในวันที่ 24-25 ต.ค. โดยเปลี่ยนเป็นตัน สรี อับดุล ราฮิม บิน โมฮัมหมัด นูร์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจมาเลเซีย มีประสบการณ์สูงเรื่องความขัดแย้งชายแดนภาคใต้ของไทย ซึ่งเขาได้เดินทางร่วมคณะมาในครั้งนี้ และได้เข้าพบกับคณะผู้เจรจาฝ่ายไทยคณะใหม่ ที่นำโดย พล.อ.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ในวันนี้ (25 ต.ค. 2561)
ทั้งนี้ เมื่อไม่กี่วันก่อน ขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปาตานี (บีอาร์เอ็น) ประกาศให้รัฐบาลไทยเจรจาตรงกับพวกเขาซึ่งเป็นคู่ขัดแย้งหลักของรัฐบาลไทย แทนการเจรจากับกลุ่ม "มารา ปาตานี" ซึ่งมีมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการเจรจา
BRN ย้ำตัวบุคคลไม่สำคัญเท่าหลักการเจรจา หลัง รบ.ไทยเปลี่ยนหัวหน้าทีมคุย [5]
ต่อคำถามเกี่ยวกับความคาดหวังต่อไทยในฐานะประธานอาเซียนปีหน้า นายกฯ มาเลเซียคนปัจจุบันตอบว่า อาเซียนควรเปลี่ยนสถานะตัวเองจากผู้บริโภคของจากนอกภูมิภาคเป็นผู้ผลิต ประชากรอาเซียนที่มีราว 600 ล้านคนเป็นตลาดที่ใหญ่มาก หากสามารถผลิตสินค้าได้เองก็จะทำให้เงินไหลมา ไม่ใช่ไหลออกอย่างที่เป็น ถ้าจัดการกันดีๆ อาเซียนจะไปได้ไกลกว่านี้ และยังยกตัวอย่างว่า ที่ญี่ปุ่นมีรถยนต์ที่มีคุณภาพดีอย่างที่เห็น ก็เพราะเริ่มต้นจากความต้องการที่จะผลิตรถยนต์ให้ใช้เองได้
ส่วนบทเรียนจากสหภาพยุโรปที่เป็นองค์การภูมิภาคที่เป็นเอกลักษณ์นั้น มหาธีร์ระบุว่าตอนนี้อียูไม่ใช่การรวมตัวที่ดี สหราชอาณาจักรตัดสินใจออกไป และยังมีความขัดแย้งภายใน ในบริบทอาเซียนนั้นควรร่วมมือกันในทางเศรษฐกิจ แต่ทางการเมืองควรปล่อยให้แต่ละประเทศมีเส้นทางของตัวเอง ถ้าประเทศใดไม่พร้อมกับประชาธิปไตยก็ว่ากันไป ถ้ายิ่งเข้าไปแก้ไขระบบการเมือง ระบบกฎหมายในประเทศอื่นก็ยิ่งทำให้เกิดความขัดแย้งมากขึ้น ทั้งนี้ ประชาธิปไตยในปัจจุบันก็มีหลายแบบ อาเซียนต้องเรียนรู้จากพื้นที่อื่นด้วย เพียงแต่อย่ามีการบังคับให้ยอมรับระบบทั้งหลาย
ต่อคำถามเกี่ยวกับความเห็นของเขาในเรื่องความหลากหลายทางเพศในมาเลเซียนั้น มหาธีร์ตอบว่า เราไม่สามารถแยกตัวเองออกจากโลกทั้งใบที่ปัจจุบันพูดถึงความเท่าเทียมมากขึ้น ส่วนตัวเขาเป็นคนที่ยึดถือกับคุณค่าแบบเอเชีย (Asian Values) คุณค่าของมาเลเซียยังคงยืนบนฐานของศาสนา วัฒนธรรมของพวกเราเอง บางครั้งชาวเอเชียก็ยอมรับคุณค่าของตะวันตกโดยไม่ตั้งคำถาม สมมติว่าถ้าเขาแก้ผ้าเดินไปเดินมาจะต้องทำตามหรือไม่ พวกเรามีคุณค่าของพวกเราเอง ถ้าใครจะยอมรับเรื่องความหลากหลายทางเพศก็เป็นเรื่องของพวกเขา แต่อย่าบังคับคนอื่น
มหาธีร์กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันในตะวันตกมีการแต่งงานของคนเพศเดียวกัน และครอบครัวก็ไม่ได้ประกอบด้วยพ่อ แม่ และลูก แต่กลับเป็นผู้ชายสองคนที่รับลูกบุญธรรมมาชุบเลี้ยงแล้วเรียกว่าครอบครัว สถาบันของการสมรสและความเป็นครอบครัวถูกมองข้ามไปในตะวันตก แล้วทำไมเราจึงต้องเดินตาม เราต้องการที่จะคงไว้ซึ่งระบบคุณค่าของเรา เราควรมีอิสระในการไม่เปลี่ยนความคิดตามที่ใครอยากให้เปลี่ยน
ต่อคำถามเรื่องความเห็นต่อนโยบายภูมิบุตรในมาเลเซีย ที่ให้ชาวมลายูพื้นเมืองมีเอกสิทธิ์ในการเข้าถึงการศึกษาและโอกาสในการทำงานนั้นว่าจะมีการยกเลิกนโยบายดังกล่าวหรือไม่ มหาธีร์ตอบว่า ภูมิบุตรเป็นนโยบายสร้างโอกาสให้ชาวพื้นเมืองที่แต่เดิมไม่ยอมปรับตัวกับวิถีชีวิตแบบใหม่และทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ จึงต้องมีนโยบายที่ลดช่องว่างดังกล่าวลง เป็นการยืนยันสิทธิประโยชน์ (Affirmative Action) ที่รัฐบาลพยายามช่วยเหลือชนพื้นถิ่นดั้งเดิม
| ['ข่าว', 'การเมือง', 'เศรษฐกิจ', 'ต่างประเทศ', 'ความหลากหลายทางเพศ', 'LGBT', 'อาเซียน', 'มาเลเซีย', 'ไทย', 'มหาธีร์ โมฮัมหมัด', '3 จังหวัดชายแดนใต้'] |
https://prachatai.com/print/79301 | 2018-10-26 02:25 | ศาลยกฟ้องคดีระเบิดที่ชุมนุม กปปส. อนุสาวรีย์ชัยฯ ชี้โจทก์มีพิรุธ จำเลยอาจถูกซ้อม | ศาลอาญายกฟ้องคดีระเบิดที่ชุมนุม กปปส. อนุสาวรีย์ชัยฯ เหตุข้อหาครอบครองระเบิดเป็นฟ้องซ้อน ส่วนข้อหาฆ่าผู้อื่นพยานหลักฐานโจทก์มีพิรุธ และจำเลยอาจถูกทำร้ายร่างกายและข่มขู่ให้รับสารภาพ ขณะที่คดีสหพันธรัฐไท อัยการส่งฟ้องผู้ต้องหาเพิ่มเติม 1 ราย
ภาพการชุมนุมกลุ่ม กปปส. เมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 2556 (แฟ้มภาพประชาไท)
25 ต.ค.2561 วันนี้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน [1] รายงานความคืบหน้า 2 คดีทางการเมืองที่สำคัญคือ ศาลอาญายกฟ้องคดีระเบิดที่ชุมนุม กปปส. อนุสาวรีย์ชัยฯ และความคืบหน้า คดีสหพันธรัฐไท
คดีระเบิดที่ชุมนุม กปปส. อนุสาวรีย์ชัยฯ นั้น ศูนย์ทนายฯ รายงานว่า ศาลาญา ถ.รัชดาภิเษก อ่านคำพิพากษายกฟ้อง คดีระเบิดที่ชุมนุม กปปส. ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เมื่อปี 2557 เนื่องจากข้อหาครอบครองระเบิดเป็นฟ้องซ้อน ส่วนข้อหาฆ่าผู้อื่นพยานหลักฐานโจทก์มีพิรุธ และจำเลยอาจถูกทำร้ายร่างกายและข่มขู่ให้รับสารภาพ
คดีนี้ ณัฐพรรณ์ หลุ่มบางล้า และ อภิชาต พวงเพ็ชร ถูกฟ้องฐานครอบครองระเบิดและร่วมทำให้เกิดระเบิดจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย จากเหตุการณ์ระเบิดที่ชุมนุมของกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) เมื่อวันที่ 19 ม.ค. 2557
จำเลยทั้งสองถูกฟ้องร่วมกันใน 3 คดี ได้แก่ คดีระเบิดที่ชุมนุม กปปส. บริเวณ ถ.บรรทัดทอง เมื่อวันที่ 17 ม.ค. 2557 ในศาลอาญากรุงเทพใต้, คดีร่วมกันครอบครองระเบิด RGD5 จำนวน 20 ลูก ในศาลทหารกรุงเทพ, และคดีระเบิดที่ชุมนุม กปปส. ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เมื่อวันที่ 19 ม.ค. 2557 ในศาลอาญา ทั้งสามคดีใช้พยานหลักฐานคำให้การในชั้นสอบสวนชุดเดียวกัน ซึ่งจำเลยร้องเรียนว่าถูกซ้อมทรมานเพื่อบังคับให้รับสารภาพ
ส่วนความคืบหน้า คดีสหพันธรัฐไทนั้น ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่าา วันนี้ (25 ต.ค. 61) อัยการส่งฟ้องผู้ต้องหาเพิ่มเติม 1 ราย โดยรอฟังคำสั่งการยื่นประกันตัวจากศาลอีกครั้งในวันพรุ่งนี้
ขณะที่จำเลยอีก 3 ราย ศาลมีคำสั่งเลื่อนสอบคำให้การไปวันที่ 30 ต.ค. นี้ โดยเป็นการสอบคำให้การวันเดียวกับ วรรณภา (สงวนนามสกุล) หญิงขับรถจักรยานยนต์รับจ้างแม่ลูกสอง ซึ่งได้ประกันตัวไปก่อนหน้านี้
ศาลให้ประกันตัว 2 ผู้ต้องหาคดี 'เสื้อสหพันธรัฐไท' วางหลักทรัพย์รวม 2.4 แสน [2]
ทหารคุม ‘หญิงขับวิน จยย.’ คดีเสื้อสหพันธรัฐไท ส่งกองปราบฯ ศูนย์ทนายความฯ พบอีก 3 ถูกขังแล้ว [3]
| ['ข่าว', 'การเมือง', 'สหพันธรัฐไท', 'คดีระเบิดอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ', 'ณัฐพรรณ์ หลุ่มบางล้า', 'อภิชาต พวงเพ็ชร', 'การซ้อมทรมาน'] |
https://prachatai.com/print/79302 | 2018-10-26 10:07 | การลงทุนในสถาบันคลังสมองเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน | ประสบการณ์จากการทำงานพัฒนาระหว่างประเทศที่ผ่านมาพบว่า นโยบายสาธารณะจะประสบความสำเร็จก็ต่อเมื่อเป็นนโยบายที่ออกแบบและดำเนินการโดยคนทำงานในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นนโยบายระดับชาติหรือระดับภูมิภาค รวมไปถึงนโยบายระหว่างประเทศ อาทิ การขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามเป้าหมายของสหประชาชาติเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDG) [1] นโยบายหรือโครงการที่เกิดจากความหวังดีของผู้ให้ทุนสนับสนุนการพัฒนามักจะไม่ตอบโจทย์ความต้องการที่แท้จริงของประชาชนและสภาพปัญหาในพื้นที่หากการดำเนินงานปราศจากข้อมูลและการวิเคราะห์โดยคนในพื้นที่ ยิ่งไปกว่านั้น หากปราศจากผู้เชี่ยวชาญในประเทศที่คอยสอดส่องดูแลกระบวนการบริหารจัดการแล้ว โครงการที่ออกแบบและวางแผนมาเป็นอย่างดีก็อาจหลงทางและล้มเหลวได้
แม้ว่าหน่วยงานให้ทุนพัฒนาส่วนใหญ่ทั้งระดับชาติและระดับนานาชาติจะตระหนักดีว่าโครงการพัฒนาที่จะประสบความสำเร็จนั้นจะต้องเป็นโครงการที่ประชาชนกลุ่มเป้าหมายรู้สึกเป็นเจ้าของโครงการนั้นๆ แต่ผู้ให้ทุนก็มิได้เลือกที่จะลงทุนกับองค์กรในประเทศเหล่านั้นเสมอไป แม้ว่าองค์กรเหล่านั้นจะมีความสามารถทำงานวิจัยและวิเคราะห์หาแนวทางการปรับปรุงสังคมให้ดีขึ้นได้ตามความต้องการของผู้กำหนดนโยบายก็ตาม
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีตัวอย่างการลงทุนในลักษณะดังกล่าวที่ประสบความสำเร็จและก่อให้เกิดประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมต่อประเทศต่างๆในระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นสถาบันวิจัยในทวีปยุโรปที่จัดตั้งขึ้นภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง หรือในช่วงหลายทศวรรษหลังสงคราม ก็เกิดสถาบันวิจัยขึ้นในประเทศอื่นๆ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เปรู และเอธิโอเปีย ประสบการณ์ในประเทศเหล่านี้เป็นหลักฐานพิสูจน์ว่าการลงทุนในสถาบันวิจัยนโยบายสาธารณะเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าต่อประเทศ แม้แต่ประเทศจีนก็มีการลงทุนอย่างมากกับสถาบันวิจัยที่เป็นสมองของชาติมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556
ประเทศไทยก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น ในปี 2527 ด้วยการสนับสนุนของรัฐบาลและเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ได้รับทุนสนับสนุนการก่อตั้งเริ่มแรกรวมทั้งการสนับสนุนทางวิชาการจากองค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งแคนาดา (Canadian International Development Agency: CIDA) นับตั้งแต่นั้นมาทีดีอาร์ไอก็ได้เติบโตจนเป็นสถาบันวิจัยนโยบายสาธารณะแห่งหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญและได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในภูมิภาค ทั้งยังได้ทำงานวิจัยเพื่อช่วยสนับสนุนโครงการต่างๆ ของรัฐบาลไทยมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการวางนโยบายสาธารณะของประเทศ อาทิ งานวิจัยที่ว่าด้วยการเปิดเสรีการนำเข้าทองคำแท่งและการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์ทองรูปพรรณซึ่งนำไปสู่การเติบโตของตลาดการส่งออกทองรูปพรรณ งานวิจัยเรื่องการกระจายเสียงและโทรคมนาคมซึ่งนำไปสู่การก่อตั้งสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส และคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เพื่อกำกับดูแลสร้างความสมดุลและป้องกันการผูกขาดทางการตลาดในธุรกิจโทรทัศน์เคเบิ้ลและดาวเทียม งานวิจัยอื่นๆ รวมถึงการผลักดันให้มีระเบียบการประกันรถยนต์สาธารณะภาคสมัครใจเพื่อเพิ่มวงเงินคุ้มครองผู้ประสบภัยอีกเท่าตัวจากวงเงินชดเชยจากการประกันภาคบังคับ และงานวิจัยว่าด้วยเรื่องพันธบัตรป่าไม้อันจะเป็นกลไกในการสร้างสมดุลเชิงพาณิชย์และการอนุรักษ์ป่า นอกจากนี้ ทีดีอาร์ไอก็ยังมีบทบาทที่สำคัญในการคัดค้านนโยบายที่ก่อความเสียหายต่อสังคม
ตัวอย่างความสำเร็จข้างต้นทำให้หน่วยงานให้ทุนพัฒนาที่มองการณ์ไกลกลุ่มหนึ่งรวมตัวกันในปี 2551 เพื่อให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนรัฐบาลประเทศต่างๆ ที่ต้องการนำข้อมูล งานวิจัย และหลักฐานเชิงประจักษ์มาใช้เป็นเครื่องมือการพัฒนาประเทศเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Millennium Development Goals [2]) ด้วยความเชื่อที่ว่าองค์กรวิจัยนโยบายสาธารณะ หรือ สถาบันคลังสมอง (think tanks) ที่เข้มแข็งจะสามารถช่วยและสนับสนุนรัฐบาลในการกำหนดนโยบายสาธารณะที่ดีได้ ด้วยเหตุผลดังกล่าว ศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศจึงก่อตั้งกลุ่ม the Think Tank Initiative [3] (TTI) ขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อสิบปีก่อน เพื่อให้การสนับสนุนสถาบันคลังสมองที่ทำวิจัยด้านนโยบายสาธารณะในประเทศต่างๆ ตั้งแต่แถบอาฟริกาตะวันออกและตะวันตก เอเชียใต้ และละตินอเมริกา
ในทศวรรษที่ผ่านมา TTI ได้ให้การสนับสนุนองค์กรคลังสมองที่ทำวิจัยด้านนโยบายสาธารณะถึง 43 องค์กรใน 20 ประเทศ ทั้งด้านเงินทุนและความช่วยเหลือทางด้านวิชาการ ผลงานในรอบสิบปีที่ผ่านมาก็คือองค์กรคลังสมองเหล่านั้นเติบโตขึ้นอย่างเข้มแข็ง ทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และสามารถจัดทำข้อเสนอด้านนโยบายสาธารณะที่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือให้แก่ผู้กำหนดนโยบายและผู้ทำงานการพัฒนาในภาคส่วนต่าง เพราะนโยบายเหล่านั้นล้วนแต่อาศัยหลักฐานเชิงประจักษ์ที่น่าเชื่อถือ ไม่ลำเอียง
ทุนสนับสนุนจาก TTI นี้ช่วยเติมเต็มช่องว่างและทลายข้อจำกัดต่างๆ ที่เคยเป็นอุปสรรคต่อการผลิตงานวิจัยที่มีคุณภาพ ทั้งยังช่วยให้องค์กรคลังสมองเหล่านั้นสามารถวางแผนการดำเนินงานวิจัยสาธารณะในระยะยาว โดยเฉพาะอิสระในการกำหนดโจทย์วิจัยสำคัญของประเทศ การเพิ่มประสิทธิภาพการสื่อสารและสร้างศักยภาพของการเข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดและดำเนินนโยบายสาธารณะ รวมถึงโอกาสในการทำงานวิจัยที่ตอบสนองโดยตรงต่อความต้องการของประเทศ ซึ่งเป็นปัจจัยให้เกิดความยั่งยืนขององค์กร ตัวอย่างของนโยบายสาธารณะที่ดีและส่งผลต่อการพัฒนาประชากรมีหลากหลาย อาทิ การให้ความรู้ความเข้าใจสาธารณะในเรื่องรูปแบบการเลือกตั้งในประเทศกัวเตมาลา เอกวาดอร์ และเปรู (Guatemala [4], Ecuador [5], Peru [6]) รวมถึงการปรับปรุงนโยบายและโครงการควบคุมยาสูบในอาฟริกาตะวันตก (tobacco control in West Africa [7]) การใช้ปุ๋ยในอาฟริกาตะวันออก (fertilizer use in East Africa [8]) ตลอดจนเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและนโยบายการใช้พลังงานทดแทนในระดับรัฐของประเทศอินเดีย (renewable energy policy at the state level in India [9])
นอกจากเงินทุนสนับสนุนหลักแล้ว TTI ยังอำนวยความสะดวกและสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือขององค์กรคลังสมองในระดับสากลอีกด้วย หนึ่งในความร่วมมือที่โดดเด่นมากคณะหนึ่งคือกลุ่มSouthern Voice [10] ซึ่งเป็นเครือข่ายขององค์กรคลังสมองจากประเทศต่างๆรวม 49 องค์กร ที่มีบทบาทเป็นเวทีเปิดเพื่อให้มีการส่งผ่าน แลกเปลี่ยน และวิเคราะห์ข้อมูลงานวิจัยนโยบายสาธารณะในแถบประเทศซีกโลกใต้เพื่อตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)
ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 11-14 พฤศจิกายน 2561 นี้ ตัวแทนองค์กรคลังสมอง ผู้กำหนดนโยบาย ผู้ให้การสนับสนุน ทุนวิจัย และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการวิจัยนโยบายสาธารณะกว่า 200 คน จะมาร่วมประชุมแลกเปลี่ยนในงาน Think Tank Initiative Exchange [11] ที่จะจัดขึ้นในกรุงเทพฯ เพื่อร่วมเฉลิมฉลองความสำเร็จของ TTI ที่ก่อตั้งมาเกือบสิบปี เวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นครั้งนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่สามและจะเป็นครั้งสุดท้ายนี้ เป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น แสดงวิสัยทัศน์ อภิปรายถึงแผนการ และการเตรียมตัวรับมือกับความท้าทายที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต อนึ่ง จากประสบการณ์ของประเทศไทยที่ต้องรับมือกับความท้าทายที่หลากหลาย อาทิ การเปิดการค้าเสรีในช่วงปี 2530 ความพยายามในการยกเลิกกฎระเบียบว่าด้วยโทรคมนาคม และปัญหาเกี่ยวกับอุตสาหกรรมน้ำมัน ซึ่งทีดีอาร์ไอ มีบทบาทและส่วนร่วมสำคัญในนำเสนอแนวทางการรับมือกับความท้าทายเหล่านั้น ทำให้กรุงเทพฯ เหมาะอย่างยิ่งที่จะเป็นสถานที่จัดเวทีเสวนาในครั้งนี้
ไม่ว่าผลการเสวนาจะเป็นอย่างไร ความจำเป็นที่ประเทศต่างๆต้องมีสถาบันวิจัยสาธารณะก็เหมือนกับความจำเป็นของประเทศไทยในตอนที่ก่อตั้งทีดีอาร์ไอ ยิ่งกว่านั้นในอนาคต สังคมทั่วโลกจะต้องเผชิญกับความท้าทายที่ทวีความสลับซับซ้อนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การอพยพของประชากร ตลอดจนการทำงานในอนาคตที่จะเปลี่ยนแปลงไปอันเนื่องจากความปั่นป่วนทางเทคโนโลยี ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว ความต้องการข้อมูลและหลักฐานเชิงประจักษ์จากการวิจัยเพื่อหาคำตอบว่านโยบายสาธารณะใดที่สามารถรับมือกับความท้าทายเหล่านั้นได้อย่างมีประสิทธิผล จะยิ่งมีความสำคัญมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ
ในฐานะตัวกลางที่จะช่วยประสานภาครัฐและภาคประชาชนให้เข้าใจประเด็นท้าทายเหล่านี้ สถาบันคลังสมองจึงต้องมีบทบาทสำคัญในการเร่งสร้างความเจริญของสังคมให้บรรลุเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) อย่างไรก็ตาม สถาบันคลังสมองก็จำเป็นต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะการผลิตงานวิจัยนโยบายสาธารณะที่มีคุณภาพและน่าเชื่อถือ การสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงกับทุกภาคส่วนในสังคม การจัดเวทีสาธารณะเพื่อเสวนาด้านนโยบาย ทั้งนี้ก็เพื่อช่วยให้สังคมเข้าใจและตระหนักถึงความท้าทายที่กำลังเผชิญหน้ากับทุกฝ่าย ในฐานะที่สถาบันคลังสมองและภาคส่วนต่างๆของสังคมต่างมีความมุ่งมั่นร่วมกันในการพัฒนาอย่างยั่งยืน สถาบันคลังสมองจึงมีบทบาทสำคัญที่จะช่วยแสวงหาวิธีการพัฒนาที่ดีที่สุดสำหรับประเทศของตนเพื่อให้สามารถเผชิญกับอนาคตที่ไม่แน่นอน
| ['บทความ', 'การเมือง', 'สังคม', 'สถาบันคลังสมอง', 'การพัฒนาอย่างยั่งยืน', 'แอนดรู เฮิสน์', 'Think Tank Initiative', 'นิพนธ์ พัวพงศกร', 'สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย'] |
https://prachatai.com/print/79303 | 2018-10-26 10:25 | ใบตองแห้ง: เพื่อไทย(ไม่)เป็น ปชต. | พรรคเพื่อไทยเป็นประชาธิปไตยไหม? ถ้าดูการบริหารภายใน ไม่เป็นแหง “คนที่คุณรู้ว่าใคร” วางตัวหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค แคนดิเดตนายกฯ แต่ตลกร้าย พวกยึดทำเนียบยึดสนามบิน ปิดเมืองขัดขวางเลือกตั้ง แอสซิสต์รัฐประหาร กลับกล้าๆ ชี้หน้า “เพื่อไทยไม่เป็นประชาธิปไตย”
พวกหน้าซื่อตาใส คงเถียงแทนพลังประชารัฐ ว่าไม่มีใครอยู่เบื้องหลัง พรรคนกหวีดก็ไม่อยู่ใต้บารมีลุงกำนัน ผู้เลิกเล่นการเมืองไปแล้ว
ใช่เลย ต้องปรบมือชมประชาธิปัตย์ ว่าโคตรฉลาด จัดเลือกตั้งหัวหน้า เดินสายหาเสียงคึกคัก ถ้าพรรคเพื่อไทยทำบ้าง ไม่รู้จะขัดคำสั่ง คสช.ไหม แล้วถามจริง ยังมีใครทายผลเลือกตั้งไม่ถูก เด็กอมมือยังรู้ตั้งแต่ในท้องแม่
มองอีกมุมก็น่าสงสาร คุยว่าพรรคไม่มีเจ้าของ แต่ดูครรลองแล้วแหวกจารีตไม่ได้ 26 ปี ไม่มีตัวเลือกใหม่ กี่รุ่นๆ ก็ปั๊มพิมพ์เดียวกัน ไม่สามารถผลิตผู้นำ ผลิตแต่วอลเปเปอร์
ขนาดนั้นยังคุยได้ ว่าแพ้ซ้ำซากเพราะมีอุดมการณ์ ไม่ยักเสียดายโอกาส ถ้าไม่บอยคอตเลือกตั้ง ไม่หวังพึ่งอำนาจอื่นเป็นรัฐบาล ยืนหยัดแนวทางประชาธิปไตยตอนไทยรักไทย-เพื่อไทยถูกไล่ ป่านนี้ ไม่ชนะก็ใกล้เคียง ฝากทบทวนตัวเองบ้าง อย่าหวังให้คนเลือกเพียงเพราะเกลียดกลัวทักษิณ “ไม่เลือกเราเขามาแน่” วันนี้คนเกลียดแม้วเลือกลุงดีกว่า
แน่ละ เพื่อไทยดูด้อยคุณภาพ ตั้งแต่พรรคไทยรักไทย ทักษิณกวาดนักการเมืองมาเป็นฐานอำนาจ แต่ทำไมกลายเป็นตัวแทนประชาธิปไตย ข้อแรก ไทยรักไทยหาเสียงด้วยนโยบายแล้วทำให้ประชาชนเห็นผล ชีวิตนี้ดีขึ้นจริง “ประชาธิปไตยกินได้” กองทุนหมู่บ้าน 30 บาทรักษาทุกโรค “บัตรทอง” สัญลักษณ์แห่งความมีสิทธิ์มีศักดิ์ศรี ที่ไม่ใช่แค่สงเคราะห์คนจน ในทางเศรษฐกิจ “อัศวินคลื่นลูกที่สาม” ก็ทำให้ประชาชนเชื่อฝีมือ ด้วยวิธีคิดวิธีการบริหารใหม่ๆ
ข้อสอง ทักษิณทำผิดบางอย่าง แต่โค่นทักษิณด้วยรัฐประหาร คือทำผิดทั้งหมด เหมือนเผาบ้านจับหนู ฉีกรัฐธรรมนูญ 2540 ยัดเยียดรัฐธรรมนูญ 2550 ลดความเป็นประชาธิปไตย ซ้ำร้าย ไม่สามารถช่วงชิงความนิยม ได้แต่ล้มทักษิณด้วยรถถัง แล้วเอาผิดด้วยอภินิหารทางกฎหมายที่ขัดหลักความยุติธรรม เช่น ยุบพรรคตัดสิทธิย้อนหลังด้วยประกาศคณะรัฐประหาร พอรัฐประหารเสียของ พรรคพลังประชาชนกลับมาชนะ ก็แจกใบแดงคนเดียวยุบทั้งพรรค ล้มรัฐบาลที่ประชาชนเลือกมาอีก
กลุ่มชนชั้นนำที่ร่วมกันโค่นทักษิณ จึงกลายเป็นปรปักษ์กับประชาชน ที่ต้องการมีอำนาจเลือกรัฐบาล ที่ต้องการเสรีภาพประชาธิปไตย แล้วก็สร้างทักษิณให้เป็นศูนย์กลางของการ ต่อต้านอำนาจที่ไม่เป็นประชาธิปไตย
ก็ถ้าอยากตอบโต้รัฐประหาร 2549 จะให้เลือกพรรคไหนล่ะ ถ้าไม่ใช่พลังประชาชน อยากตอบโต้ความยุติธรรมสองมาตรฐาน การใช้กระสุนจริงปี”53 จะให้เลือกพรรคไหน ถ้าไม่ใช่เพื่อไทย
มาถึงการเลือกตั้งครั้งนี้ บทเรียน “นิรโทษสุดซอย” จะฝากประชาธิปไตยไว้กับเพื่อไทยเท่านั้นไม่ได้ จึงเกิดพรรคอนาคตใหม่ เป็นทางเลือกของคนรักประชาธิปไตย แต่เฉพาะหน้า เพื่อไทยก็ยังเป็นพรรคหลักอยู่ดี ด้วยฐานเสียง ตัวบุคคล กลยุทธ์ ฯลฯ
อุปสรรคสำคัญคือ ระบบเลือกตั้งบัตรใบเดียวของมีชัย ทำให้พรรคทางเลือกยากลำบาก นอกจากต้องเสียค่าสมัคร 350 เขต เมื่อขับเคี่ยวถึงโค้งสุดท้าย ในสถานการณ์ที่ 2 ขั้วต้องการเอาชนะกัน ก็มีแนวโน้มที่ประชาชนจะเลือกพรรคหลักไว้ก่อน
แต่ที่บอกว่าจะทำลายพรรคใหญ่ ก็ขำๆ กลับมีสูตรคณิตศาสตร์พิสูจน์แล้วว่าถ้าแยกพรรคกัน จะได้ ส.ส.เพิ่ม ขึ้นจริง
ทำไมเพื่อไทยยังเป็นแกนหลักฝ่ายประชาธิปไตย ทำไมเชื่อว่าทักษิณยังบงการได้ ก็ 12 ปีผ่านไป มีแต่ความพยายามโค่นทักษิณพร้อมกับทำลายประชาธิปไตย ทำให้เกิดสถานการณ์เผชิญหน้า ที่ทักษิณเป็นศูนย์กลาง แบบอยู่เฉยๆ ไม่ต้องทำอะไร ก็เป็นผู้นำประชาธิปไตย
ในทางตรงข้าม เมื่อไหร่ที่เอาอำนาจไม่เป็นประชาธิปไตยออกไป เมื่อไหร่ที่วางกติกาให้ประชาธิปไตยเติบโต ทักษิณ เพื่อไทย ก็จะมีคู่แข่งอีกเยอะ 12 ปีผ่านไป ประชาชนก้าวหน้าไปมาก ไม่เห็นต้องยึดติด
แม้แต่ในพรรคเพื่อไทย หรือในมวลชนเสื้อแดง คนที่อยากมีส่วนร่วมกำหนดทิศทางของพรรค หรืออยากทำไพรมารีโหวต ก็มีไม่ใช่น้อย แต่ในภาวะที่ถูกจำกัดความเคลื่อนไหว อนาคตไม่แน่นอน เดี๋ยวขู่ยุบๆๆ ฉุกเฉินอยู่เรื่อย ก็เอื้อให้ใช้อำนาจเฉพาะกิจ เช่นคิดกลยุทธ์แยกพรรค หรือมีข่าวว่าจะใช้กรรมการบริหารพรรคชุดเดิม หลีกเลี่ยงใบแดงยุบพรรค
สถานการณ์เผชิญหน้า เอา-ไม่เอาเผด็จการ ทำให้ทักษิณ เพื่อไทย ไม่ต้องปรับตัว ทั้งที่ควรจะปรับตัวเป็นพรรคของมวลชนมากกว่านี้ อ้าว เดี๋ยวยุบพรรคอีกทีก็ไม่ต้องทำอะไร เปลี่ยนพรรคใหม่ได้คะแนนเห็นใจล้นหลามอีก
ที่มา: ข่าวสดออนไลน์ www.khaosod.co.th [1]
| ['บทความ', 'การเมือง', 'ใบตองแห้ง', 'พรรคเพื่อไทย', 'นิรโทษสุดซอย'] |
https://prachatai.com/print/79305 | 2018-10-26 10:58 | 'ประเทศกูมี' 'ศรีวราห์' จ่อเชิญคนในเอ็มวีให้ปากคำ ด้าน RAD ชี้เนื้อเพลงคือสิ่งที่สังคมพูดกัน | 'ศรีวราห์' ชี้ เอ็มวี 'ประเทศกูมี' ของกลุ่ม Rap Against Dictatorship (RAD) เสี่ยงขัดคำสั่ง คสช. 50:50 ให้ ปอท. ตรวจสอบเนื้อหา เตือนคนทำเพลงอย่าทำสุ่มเสี่ยงจะไม่เป็นผลดีต่อตัวเองและครอบครัว ด้าน RAD ระบุเนื้อเพลงคือสิ่งที่คนในสังคมก็พูดกัน หากโดนเรียกให้ปากคำจริงก็พร้อมไปเพื่อยืนยันเจตนาบริสุทธิ์ "เราทำเพลง เราไม่ได้สร้างความไม่สงบเรียบร้อย หรือสร้างความวุ่นวายอยู่แล้ว "
26 ต.ค. 61 เว็บไซต์ข่าวมติชนออนไลน์ [1] รายงานว่า พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวถึงคลิปวิดีโอเพลง 'ประเทศกูมี' ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ยูทูบ ว่ามีเนื้อหาเข้าข่ายขัดคำสั่ง คสช. หรือไม่นั้น ตนดูคลิปดังกล่าวแล้ว พบว่า 50 : 50 ต้องขอให้ตำรวจจากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ตรวจสอบอีกครั้งว่าเนื้อหาเข้าข่ายหรือไม่ สำหรับคนที่ปรากฎในคลิปก็ต้องเชิญตัวมาให้ปากคำ ว่า มีเจตนาที่จะทำให้เกิดความวุ่นวายหรือขัดคำสั่ง คสช. ด้วยหรือเปล่า
"เตือนคนทำเพลง อย่าทำอะไรที่มันสุ่มเสี่ยงต่อกฎหมายบ้านเมือง เพราะไม่เป็นผลดีกับตัวเองและครอบครัว หากตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นกระทำผิด" พล.ต.อ.ศรีวราห์กล่าว
ผู้สื่อข่าวได้ติดต่อไปยังกลุ่ม Rap Against Dictatorship เจ้าของเพลง 'ประเทศกูมี' ซึ่งได้ชี้แจงว่า ทางส่วนเนื้อเพลงนั้นทางทีมมีการรีเสิร์ชจากสิ่งที่เป็น 'ทอล์ค ออฟ เดอะ ทาวน์' คือเป็นเนื้อหาที่ใครก็พูดกัน เช่น เสือดำ บ้านพักตุลาการ นาฬิกาข้อมือ เราเอาเรื่องนี้มาผสมผสานในเนื้อเพลง มันอาจจะดูรุนแรงขึ้นด้วยดนตรีแนวฮิปฮอป แต่ตัวกลุ่มเราตั้งใจว่าตั้งแต่ต้นว่าจะต่อสู้ตามวิถีทางกฎหมาย ไม่ทำอะไรผิดกฎหมายอยู่แล้ว
"หากโดนเรียกไปให้ปากคำจริงๆ ก็จะไป เพื่อเป็นการยืนยันเจตนาบริสุทธิ์ของเราว่าเราไม่ได้ทำผิดกฎหมาย เพราะเราเชื่อในสิ่งที่เราทำ เราทำเพลง เราไม่ได้สร้างความไม่สงบเรียบร้อย หรือสร้างความวุ่นวายอยู่แล้ว" หนึ่งในกลุ่ม Rap Against Dictatorship ระบุ
ทั้งนี้เพลง 'ประเทศกูมี' เกิดจากการรวมกลุ่มของแร็ปเปอร์ในโปรเจ็กต์ Rap Against Dictatorship ซึ่งได้ปล่อยมิวสิควิดีโอของเพลงออกมาเมื่อวันที่ 22 ต.ค. ที่ผ่านมา เนื้อหาของเพลงเป็นการหยิบจับสถานการณ์ทางการเมืองมาร้อยเรียงให้เข้าใจง่าย จนขณะนี้มียอดวิวทางยูทูบทะลุเกิน 850,000 วิว
‘ประเทศกูมี’ แร็ปต้านเผด็จการ สัมภาษณ์กลุ่มแร็ปเปอร์และผู้กำกับมิวสิควิดีโอ [2]
| ['ข่าว', 'การเมือง', 'สังคม', 'สิทธิมนุษยชน', 'คุณภาพชีวิต', 'ความมั่นคง', 'Rap Against Dictatorship'] |
https://prachatai.com/print/79304 | 2018-10-26 10:54 | ข้อโต้แย้งของนิสิตคนหนึ่งต่อการจัดประกวดดาวเดือน |
เมื่อ 2-3 ที่ผ่านมามีกระแสดราม่าเกี่ยวกับเรื่องการประกวดดาว-เดือน ดาวเทียม ของ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งหลายคนคงได้เห็นโพสต์เฟสบุ๊คล่ารายชื่อให้มีการแก้ไขรูปแบบกิจกรรมนี้ นำโดย เนติวิทย์ โชติพัฒนไพศาล ในวันที่ 20 ตุลาคม 2561 สิ่งมีหลายสำนักข่าวได้ลงข่าวเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว เช่น มติชน https://www.matichon.co.th/education/news_1190287 [1]
จากการประกาศให้มีจัดประกวดดาว-เดือน ดาวเทียม ในเพจ สโมสรนิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย “ซึ่งดาวก็คือผู้หญิงที่ทางคณะหรือภาคเล็งเห็นว่าเหมาะสมที่จะเป็นตัวแทนในการทำกิจกรรม ทั้ง ‘รูปร่างหน้าตา’ พูดจาดีมีสาระ มีอัธยาศัยดี และมีความสามารถ เดือนก็เช่นเดียวกัน ซึ่งเดือนก็จะเป็นทางฝั่งของผู้ชาย” (อ้างอิงจาก http://starpluscity.com/question/ดาวเดือนมหาลัย-คืออะไรค/ [2]) และดาวเทียม คือ กิจกรรมที่จัดขึ้นเป็นกิจกรรมล้อเลียนกับ ดาว-เดือน ซึ่งเน้นความตลกของผู้เข้าประกวดเป็นหลัก เป้าหมายของการจัดเพื่อเฟ้นหาตัวแทนนิสิตปี 1 เพื่องานสันทนาการในประเพณีสัมพันธ์ สิงห์ดำ-สิงห์แดง และงานอื่นๆในวันที่ 19 ตุลาคม 2561 ก็ได้มีกลุ่มนิสิตได้ทำการรวบรวมรายชื่อเพื่อเสนอให้มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการจัดประกวด “ดาว-เดือน” และ “ดาวเทียม” ก็มีทั้งหลายเสียงแสดงความเห็นว่าเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ต่อมามีการโพสต์ข้อความลง Facebook, Twitter ในหลายแง่มุมซึ่งประกอบไปด้วยข้อความที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย รวมไปถึงข้อความที่มีการเสียดสีด่าทอ สบประมาทว่าร้าย รวมทั้งการเบี่ยงประเด็นในข้อถกเถียงต่างๆ เป็นที่น่าตกใจว่า ในข้อความเชิงเสียดสีบางส่วนเป็นคำที่ถูกกล่าวขึ้นด้วยผู้ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในสโมสรนิสิต ในส่วนความเห็นของผมไม่เห็นด้วยกับรูปแบบกิจกรรมการประกวดรูปลักษณ์หน้าตาซึ่งเป็นสิ่งที่เรา “เลือกเกิดไม่ได้” การจัดกิจกรรมประกวดอะไรก็ตามควรเป็นสิ่งที่เลือกได้ ฝึกฝนได้เท่านั้น การจัดประกวดดาว-เดือน ดาวเทียม นิสิตส่วนมากมีส่วนร่วมกับกิจกรรมดังกล่าวน้อยมาก การจัดกิจกรรมในครั้งนี้เป็นการจัดในนามของคณะ นิสิตทุกคนมีส่วนได้ส่วนเสียหมด จึงต้องเป็นกิจกรรมที่วิพากษ์วิจารณ์ได้ มีคำกล่าวอ้างว่าการประกวดดาวเดือนในบริบทของรัฐศาสตร์ จุฬาฯไม่ได้จำกัดเฉพาะหน้าตาเท่านั้น หรือ ดาวเทียมก็ไม่ได้จำกัดเพศใดเพศหนึ่งเท่านั้นเท่านั้น และคำโต้แย้งอื่นๆผมจึงต้องขอชี้แจงดังนี้
1) ในวันพฤหัสบดีที่ 18 ตุลาคม 2561 มีการประชาสัมพันธ์การประกวดดาวเดือน และดาวเทียมแก่นิสิตชั้นปี 1 ซึ่งไม่ได้มีการชี้แจงหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนใดๆในการเสนอชื่อผู้เข้าประกวดดาวเดือน หากไม่มีการชี้แจงชัดเจน คำว่า “ดาวเดือน” ในสังคมไทยจะถูกตีความว่าเป็นเวทีการประกวด “ผู้มีความโดดเด่นที่รูปลักษณ์หน้าตา” อย่างปฏิเสธไม่ได้ ซึ่งเป็นคุณค่าที่ไม่ของนำมาตัดสินเลยเพราะแต่ละคนย่อมมีความหลากหลายแตกต่างกัน ไม่ควรตัดสินว่าใครมีสิ่งที่ติดตัวแต่กำเนิดดีกว่ากัน แม้บางคนจะกล่าวว่าการประกวดก็มีหลายหลักเกณฑ์ และบางคนก็ไม่ได้เลือกเพราะหน้าตาหรือเพศสภาพ (อย่างเดียว) แต่ท้ายที่สุดแล้วผู้คนก็ติด “กับดัก” หน้าตาและเพศสภาพอยู่ดี สามารถดูได้จากคอมเม้นต์ในโพสต์ข่าว มติชน หรือ VoiceTV ที่ได้ลงข่าวเกี่ยวกับประเด็นดาวเดือนไป สุดท้ายก็มีคอมเม้นต์สบประมาทหน้าตาหลายคอมเม้นต์ เช่น “ก็มึ_หน้าเหี้_ประกวดไม่ได้ เลยคิดจะล้มละสิ” ดังนั้นรูปแบบกิจกรรมแบบนี้ก็ไม่ควรผลิตซ้ำอีก และต้องมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการประกวดทั้งโครงสร้าง ไม่สามารถแก้หลักเกณฑ์การประกวดแค่บางข้อเพื่อขจัดปัญหานี้ได้
2) ส่วนข้อกล่าวอ้างที่ว่าไม่มีการคุยกันก่อนที่จะโพสต์ลงโซเชี่ยลนั้นไม่เป็นความจริง เนติวิทย์ ได้คุยกับทางทีมจัดงานในวันศุกร์ที่ 19 ตุลาคม ณ ห้องสโมสรนิสิต เวลาประมาณ 18.00 น.เรียบร้อยและมีการชี้แจงอธิบายจุดประสงค์ของการจัดแล้วได้ตกลงกันว่าจะมีการรวบรวมรายชื่อเกิดขึ้นซึ่งผมได้อยู่ในเหตุการณ์และร่วมรับฟังเป็นเวลากว่าครึ่งชั่วโมง แต่มีข้อวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่มีการคุยก่อน ซึ่งไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด
3) หากกล่าวว่า “ดาวเดือน” เป็นเรื่องภายในของคณะ การเผยแพร่ลงโซเชี่ยลเป็นการกระทำที่ไม่สมควร คงอาจกล่าวเช่นนั้นไม่ได้เพราะ ดาวเดือนเป็นประเด็นของสังคม และการประกวดดาวเดือน ดาวเทียมนั้นโดยทั่วไปเป็นกิจกรรมที่เผยแพร่ลงโซเชี่ยลมีเดียอยู่แล้ว จึงมีข้อสงสัยว่าทำไมกรณีจึงไม่อาจเผยแพร่ลงโซเชี่ยลมีเดียได้ แต่หากกล่าวเช่นนั้นได้ก็คงพูดได้ว่า “โซตัส” ก็เป็นเรื่องภายในของคณะได้เช่นเดียวกัน และก็ไม่สมควรเป็นประเด็นสังคมเช่นเดียวกัน
4) การประกวดดาวเทียม แม้กติกาจะเปิดให้เพศใดหรือแบบใดก็ตาม แต่แน่นอนว่ามันคือการ “ผลิตซ้ำ” มายาคติเดิม ปฏิเสธไม่ได้ว่าเวทีการประกวดดาวเทียมเกิดขึ้นมาแต่แรกเพื่อเป็นพื้นที่ให้ LGBT ซึ่งเน้นความ “ตลก” เป็นหลัก แม้จะมีคำกล่าวอ้างว่ามีการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์บางส่วน แต่โครงสร้างแบบเดิมยังคงอยู่ คำว่า "เทียม" มีความหมายเด่นชัดมากว่า ไม่จริง ไม่แท้ ซึ่งมันมีนัยว่า เวทีเป็นเวทีของผู้ที่ขาดคุณสมบัติการเป็นดาว-เดือน ซึ่งเป็นเวทีของผู้ที่เรียกว่าสมบูรณ์กว่า ในระหว่างการประชาสัมพันธ์ต่อนิสิตชั้นปี 1 ในวันที่ 18 ตุลาคม ก็มีคำพูดจากผู้เคยเข้าประกวดดาวเทียมว่า “ถึงแม้เราจะเป็นดาวเดือนไม่ได้” แสดงชัดว่า ดาวเดือนต้องเป็นฟังก์ชั่นอะไรบางอย่างที่คนอยู่เวทีดาวเทียมไร้คุณสมบัติเพราะมีคุณค่าที่ด้อยกว่า ความตลกที่ถูกสร้างนั้นมันคือความตลกที่ผู้ประกวดสร้างหรือการทำให้ผู้ประกวดเป็นวัตถุสร้างความตลกกันแน่? อาจมีคำกล่าวอ้างว่า คำศัพท์มันขึ้นอยู่กับการให้/ตัดสิน คุณค่าของแต่ละคน และคนที่มองด้านลบคือเหยียดเอง หากอ้างแบบนั้น อีกหน่อยก็คงตั้งกิจกรรมชื่ออะไรก็ได้ คำว่า ช้างน้ำ อ้วน ขี้เหร่ ก็ได้ แล้วบอกว่า “ก็แล้วแต่คนให้คุณค่า” หรือ “คิดในแง่ร้ายเอง” อย่างนั้นหรือ?
5) หลังจากมีการโพสต์รวบรวมรายชื่อขึ้น ผมคาดหวังว่าจะได้คำชี้แจงที่มีเหตุผลถึงประโยชน์และเหตุผลของการจัดประกวดจากผู้คนที่เห็นด้วยกับการประกวด แต่จนตอนนี้ไม่มีใครออกมาชี้แจงถึงประโยชน์ของการจัดงาน ผมกลับพบแต่ข้อความข่มขู่ ด่าทอ เสียดสี และคำโต้แย้งเบี่ยงประเด็นอื่นๆ เช่น “ถ้ามีการประกวดหน้าเหี้_เมื่อไรจะเข้าร่วม” ผมเข้าใจว่าสโมสรนิสิตต้องการมีนโยบายให้นิสิตในคณะมีส่วนร่วม แต่หากมีใครเสนออะไรแล้วไม่ได้รับการตอบรับด้วยเหตุผล แต่พบแต่คำเสียดสี สบประมาท ในอนาคตก็คงไม่มีใครอยากเสนออะไร และก็คงไม่อยากมีส่วนร่วมอะไรในคณะอีก แบบนี้กระบวนการประชาธิปไตยย่อมเกิดได้ยาก คนทำงานในสโมสรนิสิตควรมีคุณสมบัติ “เคารพเอื้อเฟื้อต่อหน้าที่ (service mind)” รับฟังคำวิพากษ์วิจารณ์ และตอบกลับอย่างมีเหตุผลและละมุนละมอม ไม่ใช่ด้วยการด่าทอหรือเสียดสี การโพสต์ข้อความลงโซเชี่ยลดังปรากฏให้เห็น เช่น “เล่นเกมส์เหี้_อะไรนักหนา” หรือ “ไปเกิดใหม่ก่อน” ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้มีตำแหน่งในสโมสรนิสิตหรือตำแหน่งในองค์กรต่างๆไม่ควรกระทำ หากในอนาคตได้มีโอกาสเข้าไปทำงานในหน่วยงานของรัฐหรือหน่วยงานอื่นแล้วมีประชาชนมาเรียกร้องสิทธิหรืออะไรก็ตาม คุณก็ไม่สามารถนำประชาชนไปต่อว่าในลักษณะด่าทอหรือเสียดสีได้
6) ผมยังเชื่อว่าการเสนอนโยบายใดไม่ใช่การสร้างความขัดแย้งหรือแบ่งแยกอะไร ไม่มีใครมีเจตนาที่จะสร้างสิ่งที่ไม่ดีต่อสถาบันของตน มีแต่การเสนอสิ่งใหม่ๆที่คิดว่าสามารถนำไปพัฒนาสถาบันได้ หากมีการรับฟังแล้วตอบกลับด้วยเหตุผล ก็คงไม่ได้สร้างการแบ่งแยกในคณะแต่อย่างใด ประชาธิปไตยไม่ใช่การสร้างความแตกแยกแต่เป็นกระบวนการหารือข้อตกลงร่วมกันเพื่อให้ได้ข้อตกลงที่ดีที่สุด
7) ในส่วนของคำกล่าวอ้างที่ว่า “ประชาธิปไตยสร้างความไม่เท่าเทียม” หรือ “การรวบรวมรายชื่อไม่เป็นกระบวนการที่เป็นประชาธิปไตย” ถึงแม้ประเด็นนี้จะเป็นการโต้เถียงแบบเบี่ยงประเด็น (false argument) จากกลุ่มผู้สนับสนุนการประกวด แต่ต้องขอกล่าวว่าเป็นความเข้าใจผิดอย่างมาก ประชาธิปไตยใช้หลักการ 1 สิทธิ 1 เสียง ซึ่งสร้างความเท่าเทียมอยู่แล้ว และเข้าใจผิดอย่างมากที่คิดว่ากลไกประชาธิปไตยมีแค่การ “เลือกตั้งลงคะแนนเสียง” เท่านั้น ประชาธิปไตยมีระบบกลไกการตรวจสอบ ตั้งคำถาม เสนอ คานอำนาจ เรียกร้อง รวมถึงเปลี่ยนแปลง ในส่วนของการรวบรวมรายชื่อ ถ้าคนไม่เห็นด้วย เขาก็คงไม่มาร่วมลงชื่อหรอกครับ ทุกการเคลื่อนไหวย่อมต้องมี “ตัวแทน/กระบอกเสียง” อยู่แล้วเพื่อความสะดวกในการดำเนินการ แน่นอนว่าการลงชื่อก็คือการถามและแสดงความเห็นแล้วในขั้นต้น ไม่ได้มีการข่มขู่ให้ร่วมลงชื่อ หรือ ไม่มีการด่าทอหรือเสียดสีเพื่อให้คนมาร่วมแต่อย่างใด ดังนั้นกระบวนการรวบรวมรายชื่อจึงเป็นกระบวนการ “ประชาธิปไตย” อย่างชอบธรรมอยู่แล้ว
8) คำว่าเราต้องพิจารณาบริบทของแต่ละสถานที่ด้วย แล้วบริบทนั้นมีประโยชน์ต่อนิสิตโดยรวมหรือไม่? หรือเป็นบริบทที่เอื้อประโยชน์ต่อคนไม่กี่กลุ่ม? เรื่องของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ไม่อาจจำกัดได้ด้วยบริบทใดเฉพาะแต่เป็น “คุณค่าสากล” ที่ต้องนำมาปฏิบัติทุกภาคส่วน
9) ไม่มีดาว-เดือน ดาวเทียม แล้วจะมีพื้นที่อะไรให้คนที่อยากแสดงออกได้แสดงออก? เป็นการทำลายพื้นที่การแสดงออก? มีพื้นที่มากมายครับ การประกวดอื่นๆที่ใช้ความสามารถจากการฝึกฝน ในข้อเสนอแนวทางการเปลี่ยนแปลงการประกวดดาว-เดือน ดาวเทียม ของ ธรณ์เทพ มณีเจริญ เสนอหลักการไว้ 3 แนวคิด คือ หลักธรรมาภิบาล หลักการบริหารผู้มีความสามารถสูง และ หลักวัฒนธรรมทางการเมืองแบบมีส่วนร่วม ซึ่งจะเป็นแนวทางในการสร้างกิจกรรมที่สร้างสรรค์ เหมาะสมกับโลกในศตวรรษที่ 21 เป็นการใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่าและเปิดโอกาสให้นิสิตทั่วไปได้มีส่วนร่วมอย่างทั่วถึง
สุดท้ายนี้ การประกวดดาวเดือน ดาวเทียม จะจัดขึ้นหรือจะมีการเปลี่ยนแปลงใดๆนั้นขึ้นอยู่กับมติของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่งผมขอเสนอให้มีการเปิดเวทีอภิปรายขึ้นและมีการลงประชามติต่อไปตามลำดับครับ
| ['บทความ', 'วัฒนธรรม', 'การศึกษา', 'สิทธิมนุษยชน', 'ประกวดดาวเดือน', 'นิสิตรัฐศาสตร์ จุฬาฯคนหนึ่ง'] |
https://prachatai.com/print/79306 | 2018-10-26 13:07 | การปรับหลักสูตรการผลิตครู: มุมมองเชิงปรัชญาและตรรกะแห่งวิชาชีพครู (1) | สืบเนื่องจากข่าวที่จะมีการปรับหลักสูตรครุศาสตร์ในกลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏทุกแห่ง โดยให้หันกลับไปใช้หลักสูตร 4 ปี โดยจะเริ่มต้นใช้ตั้งแต่ปีการศึกษา 2562 เป็นต้นไปนั้น ส่งผลให้เกิดวิวาทะอย่างรุนแรงว่าด้วยนโยบายการปฏิรูปหลักสูตรครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ซึ่งเดิมก็ได้เคยมีการปรับหลักสูตรจาก 4 ปีเป็น 5 ปี มาแล้วโดยเริ่มใช้หลักสูตรดังกล่าวอย่างเป็นทางการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน และในปี พ.ศ. 2562 เป็นต้นไปนี้ กระทรวงศึกษาธิการได้มีนโยบายปรับปรุงหลักสูตรครุศาสตร์เพื่อยกระดับการผลิตครูให้มีคุณภาพและเป็นไปตามอัตลักษณ์ของกลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏซึ่งเคยเป็นสถาบันการผลิตครูมาแต่เดิมโดยปรับให้เป็นหลักสูตร 4 ปี ทางกลุ่มอธิการบดีของมหาวิทยาลัยราชภัฏได้มีข้อสรุปเกี่ยวกับการปรับปรุงหลักสูตรครุศาสตร์ให้เป็นหลักสูตร 4 ปี แต่ก็มีบางส่วนจะยังคงใช้หลักสูตร 5 ปีต่อไป อนึ่ง บทความฉบับนี้มิได้ให้ข้อเสนอแนะหรือทางเลือกใดๆต่อแนวโน้มและทิศทาง การปฏิรูปหลักสูตรครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ว่าควรจะเป็น 4 ปี หรือ 5 ปี เพราะผู้เขียนมองถึงคำตอบของวิวาทะว่าด้วยหลักสูตร 4 หรือ 5 ปี รวมถึงประเด็นปัญหาเกี่ยวกับการผลิตครูทั้งด้านปริมาณและคุณภาพนั้น เป็นสิ่งที่กระทรวงศึกษาธิการต้องตระหนักถึงความสำคัญและความจำเป็นดังกล่าวอยู่แล้ว ดังจะเห็นได้จากสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ในฐานะหน่วยงานที่มีความรับผิดชอบด้านนโยบายการศึกษาได้จัดทำร่างยุทธศาสตร์การผลิตและพัฒนาครู พ.ศ. 2558-2572 โดยได้ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมสภาการศึกษาไปเมื่อ เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2558 ที่ผ่านมา ซึ่งต่อมาในปี 2559 สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาก็ได้แต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินงานตามแผนขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การผลิตและพัฒนาครูสู่การปฏิบัติ โดยมีศาสตราจารย์ ดร. พฤทธิ์ ศิริบรรณพิทักษ์ เป็นประธานกรรมการ โดยมีกิจกรรมสำคัญคือ การจัดทำแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การผลิตและพัฒนาครูสู่การปฏิบัติ พ.ศ. 2560-2564 และการศึกษาองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การผลิตและพัฒนาครู ซึ่งสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาได้มอบหมายให้ รองศาสตราจารย์ ดร. มนตรี แย้มกสิกร และคณะดำเนินการศึกษาวิจัยจนได้เอกสารชุดความรู้จำนวน 4 ชุด คือ 1) ระบบและรูปแบบการผลิตครูและระบบวิจัยของสถาบันผลิตครูที่เหมาะสมกับสังคมไทยและความเป็นสากล 2) ระบบและรูปแบบการพัฒนาครูที่เหมาะสมกับสังคมไทยและความเป็นสากล 3) ระบบการใช้ครูและการบริหารงานบุคคลของครูที่เหมาะสมกับสังคมไทย และ 4) ข้อเสนอเชิงนโยบายและกลไกการขับเคลื่อนการผลิตครู การพัฒนาครู และการบริหารงานบุคคลของครู โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิและคณะกรรมการฯ ร่วมกันพิจารณาให้ข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ และได้มีการปรับปรุงเพื่อให้ผลการศึกษามีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น และได้นำไปเผยแพร่ต่อสาธารณชนในวงกว้างเมื่อปีที่ผ่านมา (สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ, 2560)
อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ผู้เขียนต้องการนำเสนอคือ เพราะเหตุใดวิชาชีพครูหรือจะกล่าวโดยเฉพาะว่าศาสตร์ด้านครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์จึงถูกแทรกแซงในเชิงอำนาจ (authority) และเสรีภาพ (freedom) การปฏิบัติงานทางวิชาชีพอยู่ตลอดเวลา เนื่องจากอำนาจและเสรีภาพในการปฏิบัติงานเป็นตัวชี้วัดสถานภาพของวิชาชีพที่ดีมากอย่างหนึ่ง เพราะมองเห็นได้ชัดเจนและชี้วัดได้อย่างเที่ยงตรง กล่าวคือ หากวิชาชีพใดที่มีสถานภาพสูง สังคมจะให้อำนาจหรือเสรีภาพในการปฏิบัติงานด้านการให้บริการแก่สังคมสูง ไม่แทรกแซงในเชิงอำนาจและเสรีภาพ แต่ถ้าวิชาชีพใดถูกแทรกแซงในเรื่องนี้มากแสดงว่าวิชาชีพนั้นมีสถานภาพไม่สูงนัก บทความฉบับนี้ผู้เขียนจึงจะนำเสนอประเด็นว่าด้วย การแทรกแซงวิชาชีพครูหรือการแทรกแซงศาสตร์ด้านครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์โดยสาธารณะชนและปัญญาชนสาธารณะ (Public intellectuals) ประเด็นที่เสนอนี้มีจุดประสงค์สำคัญเพื่อให้นักวิชาการด้านครุศึกษา อาจารย์ในคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ครูประจำการ นักศึกษาครู และบุคคลที่เกี่ยวข้องกับวงการครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ได้หันกลับมาคิดไตร่ตรองเชิงวิพากษ์ถึงตำแหน่งแห่งที่ของตนเองผ่านมุมมองเชิงปรัชญาและตรรกะแห่งวิชาชีพครู และในฐานะที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับวิวาทะที่กล่าวถึงข้างต้น
การแทรกแซงวิชาชีพครูหรือการแทรกแซงศาสตร์ด้านครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์โดยสาธารณะชนการบริการของวิชาชีพครูคือ การจัดหลักสูตรและการเรียนการสอน โดยที่การให้บริการวิชาชีพต้องอาศัยองค์ความรู้หรือความชำนาญพิเศษกับอุดมการณ์วิชาชีพและจรรยาบรรณของวิชาชีพนั้นๆ อันเป็นที่มาของมาตรฐานด้านวิชาการ (ความรู้ความสามารถ) และด้านจริยธรรม (ความประพฤติ) ของการให้บริการวิชาชีพ และถ้าองค์ความรู้ของวิชาชีพใดไม่แข็งแกร่ง ประกอบกับการที่รัฐและสังคมไม่ให้ความสำคัญหรือไม่ปกป้องหวงแหน องค์ความรู้ดังกล่าวไว้กับผู้เชี่ยวชาญเฉพาะกลุ่มแล้ว การแทรกแซงวิชาชีพนั้นโดยรัฐหรือสาธารณะชนก็จะมีการแทรกแซงทางวิชาการและวิชาชีพด้วย นอกเหนือจากการแทรกแซงทางจริยธรรมซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ง่ายกว่าอย่างอื่นในทุกวิชาชีพ หากสมาชิกของวิชาชีพนั้นๆ ให้บริการแบบด้อยมาตรฐานด้านจรรยาบรรณ (อัครพงษ์ สัจจวาทิต, 2546)
เมื่อกล่าวถึงภารกิจแกนกลางของวิชาชีพครู หรือเมื่อพูดถึง “ครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์” ในฐานะที่เป็นศาสตร์ว่าด้วยการพัฒนาความชำนาญพิเศษของวิชาชีพครู โดยที่ครูต้องใช้องค์ความรู้ (Body of knowledge) ว่าด้วยครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์เพื่อเป็นเครื่องมือในการให้บริการเชิงวิชาชีพแก่สาธารณะชนนั้น ปรากฏว่าได้มีการแทรกแซงวิชาชีพครูโดยสาธารณะชนอย่างเต็มรูปแบบ กล่าวคือ ถ้าองค์ความรู้ด้านหลักสูตร (Curriculum) และศาสตร์การสอน (Pedagogy) เป็นความชำนาญพิเศษของวิชาชีพครู การที่วิชาชีพอื่นๆ ในสังคมมีสถาบันฝึกอบรมของตนเอง เช่น วิชาชีพตำรวจมีโรงเรียนนายร้อยตำรวจสามพราน วิชาชีพทหารมีโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รวมทั้งคณะแพทยศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ เป็นต้น คณะเหล่านี้ต่างก็ล้วนแล้วแต่มีการเรียนการสอนหรือการฝึกอบรมในเชิงวิชาชีพทั้งสิ้น เมื่อพิจารณาในเชิงปรัชญาและตรรกะแห่งวิชาชีพครูต้องถือว่าเป็นการละเมิดหรือแทรกแซงวิชาชีพครูหรือการแทรกแซงศาสตร์ด้านครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ด้วยเช่นกัน เพราะผู้ฝึกอบรมในคณะวิชาเหล่านี้ต่างก็เป็น “ครู” หรือ “อาจารย์” ทั้งสิ้น การที่สถาบันหรือคณะวิชาเหล่านี้ดำรงอยู่และยังคงมีภารกิจทั้งด้านการออกแบบหลักสูตร การจัดการเรียนการสอน และการฝึกอบรมให้แก่บุคคลในสังคมนั้นสะท้อนให้เห็นว่า 1) ในเชิงการเมืองว่าด้วยองค์ความรู้เฉพาะด้านและการเมืองระหว่างวิชาชีพ องค์ความรู้ด้านการพัฒนาหลักสูตร ศาสตร์การสอน หรือการจัดการเรียนรู้มิได้ถูกผูกขาดไว้ในกลุ่มของบัณฑิตทางครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์เหมือนอย่างการปฏิบัติงานด้านวิชาชีพของแพทย์ วิศวกร นักกฎหมาย ตำรวจ ทหาร และพยาบาล ฯลฯ ซึ่งวิชาชีพเหล่านี้เป็นวิชาชีพที่ถูกผูกขาดให้แก่บัณฑิตในสาขาวิชาเฉพาะทางเท่านั้น และอาจกล่าวได้ว่า 2) ในเชิงวิชาการและวิชาชีพ สาธารณะชนจึงสามารถเข้าไปแทรกแซงวิชาชีพครูหรือแทรกแซงศาสตร์ด้านครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ได้ตลอดเวลา ซึ่งปรากฏชัดเจนผ่านวิวาทะว่าด้วยนโยบายการปฏิรูปหลักสูตรครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ให้กลับไปเป็น 4 ปี โดยกลุ่มผู้มีอำนาจทางการเมือง นักวิชาการ และผู้กำหนดนโยบายทางการศึกษานั่นเอง
หากจะกล่าวให้ถึงที่สุดแล้วนั้น การแทรกแซงวิชาชีพครูและศาสตร์ด้านครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์โดยสาธารณะชนและปัญญาชนสาธารณะนั้นถือเป็นเรื่องปกติมากและสามารถพบเห็นได้ในวงการวิชาการ ดังกรณีหนังสือเรื่อง รอให้ถึงอนุบาลก็สายเสียแล้ว ซึ่งแปลโดย ธีระ สุมิตร และพรอนงค์ นิยมค้า (2528) ของ Masaru Ibuka ประธานกิตติมศักดิ์ผู้ก่อตั้งบริษัทโซนี่ โดยหนังสือเล่มนี้ได้นำเสนอมุมมองเชิงวิพากษ์และให้แนวคิดเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนให้แก่เด็กเล็กในระดับที่ลุ่มลึก หนังสือเรื่อง ทางสายกลางของการศึกษาไทย ของพระราชวรมุนี หรือท่าน ป. ปยุตโต (2530) ได้กล่าวถึงประเด็นทางการศึกษาในแง่มุมต่างๆ ในเชิงลึกและ มีนัยเชิงวิพากษ์ต่อระบบการศึกษา หนังสือเรื่อง การศึกษา ทุนนิยม และโลกานุวัตร ของ รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ (2544) ซึ่งกล่าวถึงสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดปัญหาทางการศึกษาของไทย คือ การบริหารและการควบคุมระบบราชการ จนทำให้เกิดลักษณะของการผูกขาดทางการศึกษา ประกอบกับการที่ภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาในประเทศน้อยจนเกินไป ผู้เขียนหนังสือมีจุดยืนว่าการปล่อยให้ระบบตลาดทำงานหรือการปล่อยให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับการศึกษาของประเทศเพิ่มขึ้น จะมีผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นต่อคุณภาพการศึกษาไทย หนังสือเรื่อง ไชลด์เซ็นเตอร์: สำนวนซ้ำซากของการศึกษาไทย ของ พิพัฒน์ พสุธารชาติ (2547) ซึ่งกล่าวถึงคำว่า “ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง” ว่าเป็นคำที่บรรดานักวิชาการด้านครุศึกษาและอาจารย์คณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ซึ่งมีหน้าที่ผลิตนักศึกษาครูโดยตรงนั้นยอมรับคำนี้โดยปราศจากการตั้งคำถามใดๆ ทำไมงานเขียนทางวิชาการที่อาจารย์ครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์เสนอต่อสาธารณะชน เพื่อมุ่งวิพากษ์วิจารณ์แนวการสอนดังกล่าวอย่างลุ่มลึกและมีเหตุผล(ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ตาม) จึงไม่เกิดขึ้นอย่างเพียงพอ จนทำให้คำว่า “การสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง” ได้กลายมาเป็นคำยอดนิยมหรือสำนวนที่ใช้ซ้ำซาก (Cliché) ของวงการศึกษาและศาสตร์ด้าน ครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ในสังคมไทย ซึ่งสำนวนซ้ำซากเหล่านี้ยังปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนในปัจจุบันผ่านคำว่า การเรียนการสอนแบบ Active Learning อีกด้วย
ล่าสุด หนังสือเรื่อง วิถีสร้างการเรียนรู้เพื่อศิษย์ในศตวรรษที่ 21 ของ วิจารณ์ พานิช (2555) ซึ่งกล่าวถึง ทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 บทบาทของครูในศตวรรษที่ 21 ที่ครูต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองโดยสิ้นเชิงเพื่อให้เป็น “ครูเพื่อศิษย์ ในศตวรรษที่ 21” ไม่ใช่ครูเพื่อศิษย์ในศตวรรษที่ 19 หรือ 20 และเสนอว่า ครูต้องฝึกฝนตนเองให้มีทักษะในการเป็นโค้ช และเป็นคุณอำนวย (Facilitator) ในการเรียนรู้แบบ Project-based Learning โรงเรียนในศตวรรษที่ 21 ต้องเลิกเน้นสอนหันมาเน้นเรียน ซึ่งต้องเน้นทั้งการเรียนของนักเรียนและของครู ผ่านกระบวนการ Professional Learning Communities (PLC) ซึ่งเป็น การรวมตัวกันของครูประจำการเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การทำหน้าที่ครู ตัวอย่างเหล่านี้สะท้อนถึงการแทรกแซงวิชาชีพครูหรือการแทรกแซงทางวิชาการและองค์ความรู้ด้านครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์โดยตรงและอย่างชัดเจน ถึงแม้จะเป็นการไม่ยินยอมหรือยินยอม/เชื้อเชิญโดยตรงจากวงการวิชาชีพครูหรือศาสตร์ด้านครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์เองก็ตาม
นอกจากนี้ยังมีนักวิชาการและนักการศึกษาที่มีชื่อเสียงอีกหลายท่านที่วิพากษ์วิจารณ์และเสนอแนะแนวคิดเกี่ยวกับการศึกษา รวมถึงนัยต่อวิชาชีพครูและศาสตร์ด้านครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ เช่น ศาสตราจารย์ นพ. ประเวศ วะสี ศาสตราจารย์ นพ. จรัส สุวรรณเวลา ศาสตราจารย์ ดร. พจน์ สะเพียรชัย ศาสตราจารย์ ดร. ปรัชญา เวสารัชช์ ศาสตราจารย์ นพ. เกษม วัฒนชัย ศาสตราจารย์ นพ. วิจารณ์ พานิช ศาสตราจารย์ ดร. สิปปนนท์ เกตุทัต ศาสตราจารย์ ดร. วิทย์ วิศทเวทย์ ศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ ณ นคร ศาสตราจารย์ ดร. เจตนา นาควัชระ ศาสตราจารย์ ดร. นิธิ เอียวศรีวงศ์ และ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ (ส. ศิวรักษ์) บุคคลเหล่านี้มิใช่บัณฑิตทางครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ดังนั้นหากวิเคราะห์ ในเชิงปรัชญาและตรรกะแห่งวิชาชีพครูต้องถือว่าบุคคลเหล่านี้คือ ปัญญาชนสาธารณะ (Public intellectuals) ที่ทำการแทรกแซงวิชาชีพครูหรือการแทรกแซงศาสตร์ด้านครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์โดยตรงทั้งทางด้านจริยธรรม วิชาการ และอาชีพ เพราะท่านเหล่านี้มิใช่แต่เพียงวิพากษ์วิจารณ์และเสนอแนะเชิงจริยธรรมและวิชาการเท่านั้น หากแต่ยังทำการสอนซึ่งเป็น การแทรกแซงวิชาชีพครูหรือการแทรกแซงศาสตร์ด้านครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ในฐานะวิชาชีพอีกด้วย
อย่างไรก็ตามหากมองบทบาทของท่านเหล่านี้ในฐานะที่เป็นปัญญาชนสาธารณะ บุคคลเหล่านี้เป็นปัญญาชนที่เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงแบบถอนรากถอนโคน (Transformative intellectuals) ซึ่งมีบทบาททั้งในเชิงวิชาการ รวมถึงบทบาททางสังคม และเศรษฐกิจการเมืองอีกด้วย ปัญญาชนสาธารณะเหล่านี้เป็น “ครู” ซึ่งไม่เพียงแต่ทำหน้าที่สอนเนื้อหาเท่านั้น แต่ยังมีบทบาทสำคัญในการช่วยให้ผู้เรียนตระหนักถึงลัทธิความเชื่อและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจการเมืองที่แฝงอยู่ในหลักสูตร การเรียนการสอน และระบบการศึกษา รวมถึงสนับสนุนให้ผู้เรียนร่วมกันเชื่อมโยงประสบการณ์ส่วนตนกับประเด็นทางการเมืองวัฒนธรรม โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญคือการเสริมพลังอำนาจให้แก่ผู้เรียนเพื่อเป็นพลเมืองที่มีความคิดเชิงวิพากษ์ (critical citizen)
จากมุมมองความเป็นปัญญาชนสาธารณะของนักวิชาการและสาธารณะชนที่มิใช่บัณฑิตทางครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์เหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า การแทรกแซงวิชาชีพครูหรือการแทรกแซงศาสตร์ด้านครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ หรือแม้แต่การแทรกแซงประเด็นทางการศึกษาก่อให้เกิดผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษาที่สัมพันธ์กับสังคม และเศรษฐกิจการเมืองมากกว่าที่วิชาชีพครูหรือศาสตร์ด้านครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์จะสามารถกระทำได้ด้วยตนเองโดดๆ สิ่งนี้คือสถานะและสภาพจริงที่เป็นอยู่ของศาสตร์ด้านครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ที่นักวิชาการด้านครุศึกษา อาจารย์ในคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ครูประจำการ นักศึกษาครู และบุคคลที่เกี่ยวข้องกับวงการครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์จำต้องคิดวิเคราะห์และไตร่ตรองเชิงวิพากษ์อย่างจริงจัง เพื่อที่จะหาทางแก้ไขและพัฒนาร่วมกันต่อไป
ผู้เขียนจะนำเสนอประเด็นว่าด้วยการแทรกแซงวิชาชีพครูหรือการแทรกแซงศาสตร์ด้านครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์โดยรัฐในบทความฉบับต่อไป
แหล่งข่าวสำหรับการอ้างอิง https://www.dailynews.co.th/education/671922 [1]
https://www.khaosod.co.th/around-thailand/news_1699928 [2]
อ้างอิงพิพัฒน์ พสุธารชาติ. (2547). ไชลด์เซ็นเตอร์: สำนวนซ้ำซากของการศึกษาไทย. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ศยาม. พระราชวรมุนี (ประยุทธ์ ปยุตโต). (2530). ทางสายกลางของการศึกษาไทย. กรุงเทพฯ: คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์. (2544). การศึกษา ทุนนิยม และโลกานุวัตร. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์คบไฟ จำกัด. วิจารณ์ พานิช. (2555). วิถีสร้างการเรียนรู้เพื่อศิษย์ในศตวรรษที่ 21. กรุงเทพฯ: มูลนิธิสดศรี- สฤษดิ์วงศ์. สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ. (2560). ระบบและรูปแบบการผลิต ครูและระบบวิจัยของสถาบันผลิตครูที่เหมาะสมกับสังคมไทยและความเป็นสากล. กรุงเทพฯ: พริกหวานกราฟฟิค จำกัด. อัครพงษ์ สัจจวาทิต. (2546). ตรรกะแห่งวิชาชีพ. กรุงเทพฯ: ข้าวฟ่างอิบุกะ, มาซารุ เขียน ธีระ สุมิตร และพรอนงค์ นิยมค้า แปล. (2528). รอให้ถึงอนุบาลก็สาย เสียแล้ว. กรุงเทพฯ: หมอชาวบ้าน
เกี่ยวกับผู้เขียน: ออมสิน จตุพร เป็นอาจารย์ประจำสาขาวิชาสังคมศาสตร์และพื้นฐานการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
หมายเหตุ: จากบทความเดิมชื่อ "วิวาทะว่าด้วยนโยบายปรับหลักสูตรการผลิตครูของคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์: เหลียวหลังแลหน้าผ่านมุมมองเชิงปรัชญาและตรรกะแห่งวิชาชีพครู (1)"
| ['บทความ', 'การเมือง', 'การศึกษา', 'นโยบายการผลิตครู', 'ออมสิน จตุพร', 'การปรับหลักสูตรครุศาสตร์', 'การแทรกแซงวิชาชีพครู'] |
https://prachatai.com/print/79307 | 2018-10-26 13:26 | นศ.มช. จัดวงถกอนาคตการศึกษาไทยภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 | ชมรมประชาธิปไตย ม.เชียงใหม่ จัดงานเสวนา 'อนาคตการศึกษาไทยภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20' ย้ำบริบทของอนาคตการศึกษาขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นผู้ควบคุมอำนาจ และการผลิตซ้ำทางสังคมเชิงนโยบายหรือการตีความผ่านการสอนในห้องเรียน
เมื่อวันที่ 24 ต.ค. ที่ผ่านมา ชมรมประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดงานเสวนาวิชาการ 86 ปีประชาธิปไตย ตอน อนาคตการศึกษาไทยภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ณ ห้องประชุมอาคารกิจกรรมนักศึกษา มหาวิทยาลัยเชียง(อ.มช) เพื่อเสวนาแลกเปลี่ยน โดยมี อรรถพล อนันตวรสกุล ผู้ช่วยศาสตราจารย์จากคณะคุรุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดร.ออมสิน จตุพร อาจารย์จากคณะศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมด้วย อรรถพล ประภาสโนบล ครูจากกลุ่มพลเรียน ผู้อยู่ในแวววงการศึกษา ร่วมเสวนา ในประเด็น การปฏิรูปการศึกษาไทยภายใต้รัฐบาลในช่วง 10 ที่ผ่านมา การสอดแทรกเนื้อหาความเป็นพลเมืองและการสร้างประชาธิปไตยในระบบการศึกษา สถานศึกษาไทย การพัฒนาการการศึกษาไทยภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มีความสอดคล้องกับโลกในศตวรรษที่ 21 มากแค่ไหน
การศึกษาภายใต้การเปลี่ยนผ่านทางการเมืองในรอบ 10 ปี
ครูจากกลุ่มพลเรียน กล่าวว่า ระบบการศึกษาต้องการให้เด็กเป็น Active Learner แต่ไม่ต้องการให้เด็กเป็น Active Citizens กล่าวอีกนัยคือต้องการให้นักเรียนแสดงออกในบริบทของการเรียนแต่ไม่ต้องแสดงออกทางการเมือง และนักเรียนที่กล้าตั้งคำถามจะกลายเป็นบุคคลที่ถูกมองว่าเป็นอาชญากรรมทางสังคม
ออมสิน กล่าวว่า พื้นที่ของการศึกษาขั้นพื้นฐานที่เด็กไทยทุกคนได้รับมันเป็นการพยายามส่งผ่านแก่ผู้เรียนในด้านนโยบายผ่านตัวกลางคือหลักสูตรการศึกษาวิชาสังคมศึกษา เพื่อเพิ่มความเป็นไทยให้ความสำคัญกับสถาบัน
การสอดแทรกเนื้อหาความเป็นพลเมือง-การสร้างประชาธิปไตย
อรรถพล อนันตวรสกุล กล่าวว่า การศึกษาคือกระจกสะท้อนสังคมเป็นอย่างไร มองการศึกษาจึงควรมองไปถึงการศึกษาด้านอำนาจที่มองคนเป็นเครื่องมือในการศึกษา ซึ่งอำนาจที่รัฐพยามแทรกแซงมักนำมาซึ่งความรุนแรงเชิงโครงสร้างในรูปแบบของนโยบายการศึกษา หรืออาจเป็นการตีความของผู้สอนภายในห้องเรียนว่าตีความในรูปแบบใด หรือพยามทำให้ผู้เรียนเป็นพลเมืองดีเพียงตามบริบทที่รัฐมีความต้องการอยากให้เป็น
ขณะที่ ออมสิน กล่าวว่า พื้นที่ของการศึกษาขั้นพื้นฐานที่เด็กไทยทุกคนได้รับเป็นการพยามส่งผ่านแก่ผู้เรียนในด้านนโยบายผ่านตัวกลางคือหลักสูตรการศึกษาวิชาสังคมศึกษา เพื่อเพิ่มความเป็นไทยให้ความสำคัญกับสถาบัน
การเเช่เเข็งทางการเมืองกับการเเช่เเข็งทางความคิดของคนรุ่นใหม่
ผู้ร่วมเสวนาทั้งสามท่าน เสนอมุมมองในมุมมองโครงสร้างต่างๆ เช่น ในมุมมองของยุทธศาสตร์ชาติ กรอบเเนวคิดที่ว่านี้ ต้องการสร้างประเทศไทยให้มีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน พยามทำตามนโยบายการผลิตซ้ำทางสังคม การผลิตซ้ำทางวาทกรรมการศึกษา อย่างเช่นโครงการ สานพลังประชารัฐ ที่รัฐร่วมมือกับภาคธุรกิจเพื่อต้องการเอื้อผลประโยชน์บางอย่างในรูปแบบของระบบการศึกษา มองในระบบของโรงเรียน การผลิตซ้ำทางความคิดที่ต้องการให้สังคมมีความสงบ การส่งเสริมให้เด็กตั้งคำถาม เป็นเพียงเเค่กรอบที่วางไว้ ดังเช่นสุภาษิตที่ว่า "เดินตามหลังผู้ใหญ่หมาไม่กัด" โดยที่ไม่มีการตั้งคำถาม หรือหากมีการตั้งคำถามกับระบบ จะมีคนบอกว่า "มือไม่พายเอาเท้าราน้ำ"
ซึ่งจากการการเสวนาอาจสรุปได้ว่าบริบทของอนาคตการศึกษาขึ้นอยู่กับโครงสร้างที่ว่าใครเป็นผู้ควบคุมอำนาจ และการผลิตซ้ำทางสังคมเชิงนโยบายหรือการตีความผ่านการสอนในห้องเรียน
| ['ข่าว', 'การเมือง', 'การศึกษา', 'ยุทธศาสตร์ชาติ', 'ชมรมประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่', 'อรรถพล อนันตวรสกุล', 'ออมสิน จตุพร', 'อรรถพล ประภาสโนบล'] |
https://prachatai.com/print/79309 | 2018-10-26 16:52 | มุมมอง 'ความตาย' ในทัศนะ 'คนรุ่นใหม่' | หลายคนอาจมองว่า ‘ความตาย’ กับ “วัยหนุ่มสาว” น่าจะยังเป็นเรื่องห่างไกลกัน หากในความจริง วัยนี้ก็ไม่ต่างจากวัยอื่น มีโอกาสอยู่ในสถานการณ์เฉียดตายได้เช่นเดียวกัน
ภาพ “Death Café” หรือ “มรณานุสติคาเฟ่” ร้านกาแฟกลางซอยอารีย์สัมพันธ์ 1 กรุงเทพ
ดังกรณีของ “ปูเป้” ปริญลดา ศรีภัทราพันธุ์ อดีตผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองระยะสุดท้าย ซึ่งตรวจพบในวัยเพียง 17 ปี ในช่วงเวลาที่ควรใช้ชีวิตวัยเด็กอย่างสนุกสนาน แต่กลับต้องเข้าออกโรงพยาบาลเพื่อทำเคมีบำบัดนับเดือนนับปี และนั่นคือจุดพลิกผัน ทำให้ “ความตายเป็นเรื่องใกล้ตัว” สำหรับเธอ
เมื่อเวลาเฉียดตายผ่านพ้นไป วันนี้ ปูเป้ในวัย 28 กลายเป็นสาวที่มีชีวิตชีวาสดใส แต่ก็ไม่เคยลืมความเจ็บปวดและทรมานในอดีตเมื่อครั้งมะเร็งคุกคามชีวิต ส่งผลให้เธอมุ่งทำงานเชิงสังคมเพื่อให้ช่วงเวลาใกล้ตายในอดีต สร้างประโยชน์ให้ผู้คนในวัยเดียวกันที่กำลังเผชิญหน้าภาวะใกล้ตาย โดยเข้าไปให้คำปรึกษากับผู้ป่วยวัยหนุ่มสาว
“ปูเป้” ปริญลดา ศรีภัทราพันธุ์ อดีตผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองระยะสุดท้าย
“ความตายในความคิดของปูเป้ไม่ใช่เรื่องน่ากลัวอีกต่อไปแล้ว จึงอยากส่งกำลังใจให้ผู้ป่วยคนอื่นๆ ด้วย ด้วยการเปิดเพจ ‘ปริญลดา สาวสู้มะเร็ง’ เพื่อเป็นจุดเชื่อมต่อผู้ป่วยกับเป้ในฐานะที่ผ่านประสบการณ์มาแล้ว และจากการทำงานหลายปีกับผู้ป่วย พบว่า วัยรุ่นสามารถรับได้กับความตายมากกว่าคนแก่ อาจเพราะชีวิตยังไม่มีภาระให้ต้องคิดมาก”
ผู้ป่วยนับร้อยคนที่ปูเป้เข้าไปคลุกคลี ให้กำลังใจ ข้อมูลข่าวสารที่เธอให้กับคนไข้ก็คือการให้เขาเตรียมตัวตายเพื่อจากไปอย่างสงบ โดยเริ่มต้นพูดคุยเพื่อดูทิศทาง แนวคิด และทัศนคติ เพราะบางครอบครัวก็ไม่ได้เปิดใจเสมอไป พร้อมมอบ “สมุดเบาใจ” ให้ทุกคนได้แสดงเจตนาล่วงหน้าเกี่ยวกับ การเลือกรับการรักษาในช่วงสุดท้ายของชีวิต หรือ Living will ตาม พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 มาตรา 12 ให้เขาเรียนรู้ว่าหากจะตายอย่างสงบ ต้องทำเป็นลายลักษณ์อักษรไว้ว่าต้องการรักษาในช่วงลมหายใจสุดท้ายอย่างไร ซึ่งบางคนก็ทำได้ทัน แต่กับบางคนความตายก็มาถึงเร็วเกินกว่าจะเตรียมตัว
ปูเป้บอกว่าเมื่อทำไประยะหนึ่ง ก็พบสิ่งที่ขาดในสังคมไทยคือ ระบบการดูแลประคับประคอง (Palliative Care) มีเพียงไม่กี่โรงพยาบาลเท่านั้นที่มีระบบนี้ หรือบางโรงพยาบาลมีแต่ก็ไม่พอ อาทิโรงพยาบาลรามาธิบดี มีเพียง 6 เตียง และมีเงื่อนไขว่าเฉพาะกรณีต้องตายภายใน 3 วันด้วย ขณะเดียวกันหมอที่เรียนมาทางด้านนี้ก็มีน้อยมาก
การรักษาแบบประคับประคองเพื่อให้ผู้ป่วยเดินไปสู่ความตายอย่างสงบ เป็นช่วงเวลาอ่อนไหวจึงต้องใช้ทักษะความรู้ แต่การทำงานอาสาของเธอที่ผ่านมายังช่วยไม่ได้อย่างที่ตั้งใจไว้ ปูเป้จึงเลือกเส้นทางใหม่คือไปเรียนหลักสูตรการดูแลประคับประคองที่สหรัฐอเมริกา
เธอหวังว่า 2 ปีที่ได้ร่ำเรียนอย่างจริงจัง จะกลับมาเป็นส่วนสำคัญทำให้ประเทศไทยมีระบบนี้อย่างจริงจังและถูกต้องตามหลักวิชา
“การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายในไทยตอนนี้ คือรักษาไม่ได้ก็จบกันไป ไม่มีระบบรองรับว่าจะดูแลกันต่ออย่างไร เพราะหลายรายไม่ได้ตายทันที ขณะที่หลายประเทศมีโรงพยาบาลที่ดูแลประคับประคองโดยเฉพาะจำนวนมาก”
เมื่อความตายสำหรับปูเป้ คือการเตรียมตัวและวางแผน ครอบครัวของเธอทำเป็นตัวอย่างแล้ว ทั้งพ่อแม่และตนเองจะเขียนหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อแสดงความประสงค์ว่า เมื่อลมหายใจสุดท้ายใกล้เข้ามาจะให้รักษาแค่ไหนอย่างไร แม้แต่การจัดงานศพก็เขียนไว้เพื่อไม่ให้เป็นภาระคนข้างหลัง
“ภาพวาระสุดท้ายของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ไม่เสมอไปที่ต้องมีพระมาสวด ไม่เสมอไปที่ต้องตายที่บ้าน การตายที่บ้านกลับยิ่งยุ่งกว่าสำหรับเป้ เพราะมีขั้นตอนมากกว่าตายที่โรงพยาบาล และถึงเวลานั้นก็ไม่จำเป็นต้องห้อมล้อมไปด้วยคนเยอะแยะ อยากอยู่อย่างสงบๆ กับตัวเองมากกว่า เพราะเราเกิดมาคนเดียวและตายคนเดียว”
ผศ.ดร.วีรณัฐ โรจนประภา แห่งมูลนิธิบ้านอารีย์ ผู้ก่อตั้ง “Death Café”
ร้านกาแฟตื่นรู้ ‘มรณานุสติคาเฟ่’
คนยุค 4.0 “เข้าใจ” ความหมายของความตายได้ไม่ยาก หากชีวิตถึงจุดพลิกผันเช่นเดียวกับปูเป้ หรือไม่ก็ต้องสร้างแหล่งเรียนรู้ใหม่ๆ ที่โดนใจคนกลุ่มนี้
“Death Café” หรือ “มรณานุสติคาเฟ่” ร้านกาแฟกลางซอยอารีย์สัมพันธ์ 1 กรุงเทพ เป็นอีกจุดที่กำลังเป็นที่กล่าวถึงในหมู่วัยเด็กไปจนถึงหนุ่มสาว
เมื่อย่างเท้าเข้ามาภายในก็จะพบว่ามีสัญลักษณ์แห่งความตายให้เห็นมากมายในพื้นที่พอเหมาะ มีโครงกระดูกจำลอง ตั้งวางปะปนกับโต๊ะเก้าอี้ของร้านและโรงศพที่ให้ลูกค้าเข้าไปนอนได้ด้วย
ผศ.ดร.วีรณัฐ โรจนประภา แห่งมูลนิธิบ้านอารีย์ ผู้ก่อตั้ง “Death Café” เล่าที่มาที่ไปว่า การทำร้านนี้เพราะสนใจค้นหาเครื่องมือทางพุทธศาสนามาใช้ลดสถิติคอรัปชั่นและคุณแม่วัยใส ซึ่งจากการวิจัยร่วม 6-8 เดือน พบรากของ 2 ปัญหานี้มาจากความโลภ โกรธ หลง จึงคิดว่าน่าจะมีเครื่องมือทางศาสนาพุทธที่นำมาใช้ได้ โดยไม่ใช่วิธีการเดิมที่พูดถึง “นรกหรือสวรรค์” บ่อยๆ เพราะไม่ “ปัง” แล้ว จับต้องไม่ได้ในยุคโลกาภิวัฒน์และยุคไอทีที่ผู้คนต้องสู้กับความโลภซึ่งอยู่ตรงหน้า จึงคิดหาเครื่องมือที่เหมาะสมและการศึกษา ทำให้ไปพบเครื่องมือทางพุทธศาสนาอย่างหนึ่ง นั่นคือ “มรณานุสติ”หรือความตาย ซึ่งเป็นเรื่องแน่นอนที่ใครๆ เถียงไม่ได้ พระพุทธเจ้ายังตรัสสอนไว้ว่า เมื่อนึกถึงความตายแล้วจะคลายความโลภ โกรธ ความยึดมั่นถือมั่น ทำให้ไม่รู้จะทุจริตไปทำไม อันจะส่งผลให้สถิติอาชญากรรมก็จะลดลงไปด้วย
ขณะเดียวกันก็นำเรื่อง ไทยแลนด์ 4.0 มาวิเคราะห์ ก็พบว่าเป็นสังคมเชิงสัญลักษณ์ด้วยความเร็วของอินเตอร์เน็ต ทำให้คนไม่อดทนไม่อยากใช้เวลาสื่อสารนาน เช่น สัญลักษณ์สีเสื้อ เพื่อแสดงออกทางการเมือง กระเป๋าแบรนด์เนมแสดงออกถึงสถานภาพทางสังคม รถหรูแสดงออกถึงความสำเร็จในชีวิต ดังนั้นจึงนำสัญลักษณ์แห่งความตายมาประกอบในนิทรรศการของเราให้คนเรียนรู้แบบ Experience
วิถีแห่งคาเฟ่ เป็นคำตอบของยุคสมัย หนุ่มสาวมักมาหาแรงบันดาลใจจากร้านกาแฟหรือขายของออนไลน์ที่คาเฟ่ จึงบูรณาการระหว่างคำสอนทางพุทธศาสนาและวิถีแห่งคาเฟ่เข้าด้วยกัน เกิดเป็น “มรณานุสติคาเฟ่” เมื่อต้นปีที่ผ่านมา เพื่อให้เป็นสถานที่เรียนรู้แบบสร้างประสบการณ์เรื่องความตาย เช่น ให้ทดลองลงไปในโรงศพจริง เพื่อให้รู้ว่าสุดท้ายทุกคนต้องนอนในนั้นและเอาอะไรติดตัวไปไม่ได้เลย ให้ทดลองใส่ชุดคนแก่เพื่อเรียนรู้ว่าคนแก่มีสภาพเป็นอย่างไร เป็นต้น นอกจากนี้ ก็มีเรื่องประกอบอื่นๆ ที่ให้คำแนะนำไปพร้อมกัน เช่น การทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขฯ (Living Will)
“ถือว่าผลตอบรับดีตรงตามเป้าหมายที่ต้องการ ทำให้ทุกคนนึกถึงความตายทุกขณะ และพูดเรื่องความตายได้เสมอ ไม่เป็นอัปมงคลอย่างที่เราถูกบ่มเพาะกันมาหลายสิบปี ตอนนี้สารที่เราต้องการส่งไป คนนับล้านทั่วโลกได้รับไปแล้ว”
ผศ.ดร.วีรณัฐ หวังว่าผู้รับสาร 10 ล้านคน อาจจะมีซัก 10,000 คนที่นึกถึงความตาย เท่ากับช่วยลดคดีได้ 10,000 คดี ลดการกินเหล้าได้ 100 คน และลดสถิติอุบัติเหตุ 100 คดี และแน่นอนว่าวัยรุ่นที่มามรณานุสติคาเฟ่จำนวนไม่น้อย พ่อแม่พามาเพราะลูกดื้อและชวนลูกมานอนในโรงศพ พอปิดฝาโลงเด็กร้องไห้เพราะเหมือนตัวเองใกล้ตาย เกิดความกลัวและคิดได้ว่า “แม่ต่างหากที่รักเค้ามากกว่าเพื่อน” นี่คือความสำเร็จของคาเฟ่แห่งนี้
ขณะเดียวกัน สารที่ส่งไปว่า ‘ความตายเป็นเรื่องพูดกันได้’ ทำให้หลายคนคลี่คลายความเชื่อที่ถูกฝังหัวมานานว่าเป็นคำต้องห้ามทางพระพุทธศาสนา ซึ่งมรณานุสติคาเฟ่ช่วยให้เขาเข้าใจในสิ่งที่ถูกต้อง
“เราจุดประกายให้คนคุ้นเคยว่า ความตายไม่ใช่เรื่องอัปมงคล แต่ไม่ใช่ทำงานเดียวแล้วจะประสบผลสำเร็จ ต้องมีงานต่อเนื่องที่ขยายผลให้ได้มากขึ้น ต้องวิจัยต่อไปเพื่อทำให้ไปสู่กลุ่มเป้าหมายที่ชัดขึ้น”
ซึมซับกับความตาย..ไม่ได้น่ากลัว
วัยรุ่นหลายคนที่มา “มรณานุสติคาเฟ่” ต่างประทับใจกับนิทรรศการมีชีวิต ทำให้เขาตระหนักว่าความตายอยู่ใกล้ตัวทุกขณะ และใช้ชีวิตอย่างระมัดระวัง
“โอม” วสุ ประภากุลธวัช
“โอม” วสุ ประภากุลธวัช กราฟฟิกดีไซเนอร์และอินทีเรีย อายุ 28 ปี บอกว่า เขาตระหนักแล้วว่าชีวิตคนนั้นแสนสั้น ไม่แน่นอน พรุ่งนี้จะมีชีวิตหรือไม่ก็ไม่อาจรู้ได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับแรงกระทบของแต่ละคนที่มากน้อยต่างกันตามการเลี้ยงดูและประสบการณ์
“สำหรับผมแล้วจะใช้ชีวิตอย่างระมัดระวังมากขึ้นตามอายุของผม ซึ่งความคิดเรื่องความตาย มันมักจะเข้มขึ้นตามวัย”
“แทน” บรรณวิชญ์ สมบุญ นักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล อายุ 20 ปี
ขณะที่ “แทน” บรรณวิชญ์ สมบุญ นักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล อายุ 20 ปี ทดลองเข้าไปนอนในโรงศพและปิดฝาโลงนาน 3 นาที เค้าบอกว่ากลัวความตายขึ้นมาทันที และการได้อยู่ในนั้นทำให้ได้อยู่กับตัวเองอย่างที่ไม่เคยทำมาก่อน การที่คิดได้ว่าความตายมาใกล้ตัว ทำให้จะต้องทำสิ่งที่อยากทำให้สำเร็จ
“ตี้หลุง” วิสิฐศักดิ์ ผิวผ่อง อายุ 30 ปีข้าราชการ
ส่วน “ตี้หลุง” วิสิฐศักดิ์ ผิวผ่อง อายุ 30 ปีข้าราชการ บอกว่า เลือกมานั่งสงบที่นี่ เพราะช่วยให้ได้คิดหาทางออกของปัญหาต่างๆ และทำให้เขากลับไปใช้ชีวิตอย่างมีสติมากขึ้น ซึ่งแม้เขาเองจะเป็นคนหนึ่งที่เข้าวัดบ่อยๆ ทำให้สบายใจ แต่ปัญหายังอยู่ ดังนั้น การมรณานุสติช่วยให้ได้อยู่กับตัวเอง ได้ความสงบ ใจเย็น เห็นปลายทางที่ทุกคนต้องเจอเหมือนกันหมดนั่นคือความตาย และทำให้เขา “จะทำดีในทุกๆวัน” ที่ยังมีชีวิตอยู่
เชิญผู้สนใจร่วมงาน “สร้างสุขที่ปลายทาง ปีที่ 2” วันที่ 1-2 พฤศจิกายน 2561 ณ โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ แจ้งวัฒนะ กทม. พบกิจกรรมที่น่าสนใจ อาทิ ภาพยนตร์สั้น “ความสุขครั้งสุดท้าย”, ปาฐกถา “สร้างสุขที่ปลายทาง ภารกิจร่วมของทุกภาคส่วน”, เสวนา “การรับมือกับความตายในสังคมยุค 4.0”, เสวนา “ชัวร์ก่อนแชร์ : Living Will คือการุณยฆาตจริงหรือ?”,ปาฐกถา “การเตรียมชีวิตอย่างเป็นสุข” โดย ดร.ประมวล เพ็งจันทร์, การแสดง “ดนตรีภาวนา” โดย ศิลปิน คุณธเนศ วรากุลนุเคราะห์, เวิร์คชอป “สมุดเบาใจ: การแสดงเจตนาล่วงหน้าในวาระสุดท้ายของชีวิต”, นิทรรศการ “เตรียมชีวิตสู่การตายดี” ฯลฯ ลงทะเบียนร่วมงานได้ที่ โทร 085 399 9855 หรือดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทาง www.thailivingwill.in.th [1] หรือ เฟซบุ๊ก : สุขปลายทาง
| ['ข่าว', 'สังคม', 'คุณภาพชีวิต', 'ความตาย', 'ปริญลดา ศรีภัทราพันธุ์', 'Death Café', 'มรณานุสติคาเฟ่', 'วีรณัฐ โรจนประภา'] |
https://prachatai.com/print/79311 | 2018-10-26 18:10 | ‘ประเทศกูมี’ ขึ้นอันดับหนึ่งเทรนด์ทวิตเตอร์ ด้าน ปอท. ชี้อาจเข้าข่ายผิด พ.ร.บ. คอมฯ | แฮชแท็ก ‘ประเทศกูมี’ ติดที่หนึ่งเทรนด์ทวิตเตอร์ ยอดวิวพุ่งเกินล้าน คนดังแห่ให้กำลังใจ คนส. เรียกร้องเจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามกฎหมาย ยุติการข่มขู่หรือเรียกสอบปากคำ ฝ่ายรัฐบาลและคนไม่เห็นด้วยชี้ ประเทศเสียหาย เพลงล้างสมอง ด้านปอท. ระบุอาจเข้าข่ายความผิด พ.ร.บ. คอมฯ นำเข้าข้อมูลเท็จ เตรียมแจ้งผู้เสียหาย-เชิญศิลปินมาให้ข้อมูล
วันนี้ (26 ต.ค 61) มิวสิควิดีโอเพลง 'ประเทศกูมี' ของกลุ่มแร็ปเปอร์ 'Rap Against Dictatorship' ปล่อยได้ 5 วัน ยอดวิวในยูทูบแตะ 1,300,000 วิวและมีท่าทีว่าจะพุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่เช้าวันนี้ พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้ระบุว่ามิวสิควิดีโอนั้นเสี่ยงขัดคำสั่ง คสช. โดยจะให้ตำรวจจากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ตรวจสอบเนื้อหา เชิญคนที่ปรากฎในคลิปมาให้ปากคำ พร้อมเตือนคนทำเพลงอย่าทำสุ่มเสี่ยงจะไม่เป็นผลดีต่อตัวเองและครอบครัว
แฮชแท็ก ‘ประเทศกูมี’ ติดที่หนึ่งเทรนด์ทวิตเตอร์ คนดังแห่แสดงกำลังใจ
ท่าทีดังกล่าวได้นำไปสู่การถกเถียงในโลกโซเชียลอย่างเผ็ดร้อนจากทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับเพลง แฮชแท็กคำว่า 'ประเทศกูมี' ติดเทรนด์อันดับหนึ่งในไทยของทวิตเตอร์อย่างรวดเร็ว และมีนักการเมือง นักวิชาการ และคนดังออกมาทวีตถึงเพลงนี้ เช่น จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรมว.ศึกษาธิการ ได้โพสต์ข้อความผ่านทวิตเตอร์ว่า ชอบเพลง “ประเทศกูมี” ครับ เพลง “ประเทศกูมี” ไม่ดียังไง ทำไมถึงว่าขัดคสช. น่าสนใจ แต่ถึงยังไงผมก็ยังชอบเพลงนี้ ร้องเป็นแต่เพลงแหล่ แร็ปไม่เป็น ไม่งั้นจะหัดร้องบ้าง"
ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ทวีตว่า เพลง #ประเทศกูมี สะท้อนความหวังและความสิ้นหวังของคน ‘รุ่นใหม่’ ในสังคมไทย ที่ต่างไปจากระเบียบสังคมที่คนรุ่นก่อนคุ้นเคย เข้าใจได้ที่หลายคนจะตื่นตระหนก แต่อย่าตกใจจนพาลปิดหูคนอื่นในสังคมที่พร้อมจะฟังเสียงเช่นนี้ละกัน
สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด ทวีตว่า คงไม่ใช่ขัดคำสั่ง คสช แต่แมร่งขัดใจ ฟังแล้วจี๊ด #ประเทศกูมี
วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง ผู้กำกับหนังรุ่นเก๋า ออกมาทวีตว่า น้องๆชาวแร็ปเปอร์เขายังกล้าทำ Rap Against Dictatorship แต่พวกเราชาวคนทำหนังยังไม่มีใครกล้าทำ Film Against Dictatorship กันบ้างเลย #ประเทศกูมี
คนส. เรียกร้องเจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามกฎหมาย ยุติการข่มขู่หรือเรียกให้มาสอบปากคำ
เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) ออกแถลงการณ์ถึงกรณีที่เกิดขึ้นว่า สะท้อนให้เห็นถึงการไม่ยอมรับในหลักการว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนซึ่งได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ อีกทั้งยังไม่เป็นผลดีต่อการสร้างบรรยากาศเพื่อนำสู่การเลือกตั้งทั่วไปที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 และเห็นว่าเพลงและภาพประกอบของกลุ่มศิลปิน Rap Against Dictatorship เป็นการใช้ศิลปะเพื่อกระตุ้นความรู้สึกนึกคิดตามหน้าที่ของศิลปินในอารยะประเทศ และประเด็นที่พวกเขาหยิบยกขึ้นมาเปรียบเปรยล้วนเป็นประเด็นที่สังคมติดตามให้ความสนใจมาโดยตลอด
คนส. ได้เรียกร้องให้ พล.ต.อ. ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องยุติการข่มขู่ คุกคาม หรือพยายามเรียกตัวกลุ่มศิลปิน Rap Against Dictatorship มาให้ข้อมูล ปากคำ ตลอดจนการคุกคามในรูปแบบอื่นๆ พร้อมกับเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติตามกฎหมาย มากกว่าปฏิบัติตามลมปากของผู้มีอำนาจที่ใช้อำนาจตามอำเภอใจ พร้อมกันนี้ คนส. ระบุว่า จะร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ในการปกป้องสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกของกลุ่มศิลปิน Rap Against Dictatorship ทั้งในแง่มุมกฎหมาย กระบวนการยุติธรรม และการเคลื่อนไหวทางสังคมอย่างถึงที่สุด
ฝ่ายรัฐบาลและคนไม่เห็นด้วยชี้ ประเทศเสียหาย เพลงล้างสมอง
ขณะที่ฝ่ายรัฐบาล พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีนี้ว่า รัฐบาลรู้สึกเสียใจในเรื่องนี้ เพราะคิดว่าเยาวชนน่าจะใช้ความรู้ความสามารถด้านดนตรีในทางที่เป็นประโยชน์ต่อบ้านเมือง ต่อแผ่นดินเกิดของตัวเองมากกว่านี้ รวมถึงเป็นตัวอย่างที่ดีแก่เยาวชนคนอื่น ไม่อยากให้คนคิดว่าทำแบบนี้แล้วเท่ เป็นเรื่องดี หรือเป็นเรื่องสนุก .ไม่แน่ใจว่าเยาวชนที่ทำคลิปดังกล่าว ทำเพราะความตั้งใจของตัวเองหรือมีใครอยู่เบื้องหลังหรือไม่ และขอฝากเตือนไปว่า คนที่เสียหายที่สุดไม่ใช่รัฐบาล แต่คือประเทศไทย
ศศิวิมล อยู่คงแก้ว ภรรยา พล.ร.ต.อาภากร อยู่คงแก้ว ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ กองเรือยุทธการ หรือ ผบ.หน่วยซีล ที่เดินทางไปร่วมภารกิจช่วยเหลือน้องทีมหมูป่าที่ถ้ำหลวง และยังเป็นแอดมินเพจเฟซบุ๊ก Thai NavySEAL ที่ได้รับความนิยมอย่างสูงในช่วงช่วยเหลือทีมหมูป่า โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊ก “Sasivimon Youkongkaew” [1] ที่มีผู้ติดตามกว่า 3 พันคน ตั้งค่าเข้าถึงเป็นสาธารณะ พูดถึงเพลง ประเทศกูมี ว่า “ประเทศกูมี” เรื่องราวดีๆมากมาย ทำไมไม่เอามาพูดว่ะ ฟังแล้วเดือด มันล้างสมองด้วยเสียงเพลง เกมการเมืองยุค 4.0
หลังโพสต์นี้ถูกเผยแพร่ออกไป มีผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมาก โดยเชื่อมโยงกับกลุ่มคนเสียผลประโยชน์ ทั้งยังวิจารณ์ว่าคนรุ่นใหม่ คิดว่าเป็นขบถแล้วเท่
โดยศศิวิมล ได้ตอบกลับผู้ที่เข้ามาแสดงความคิดเห็นด้วยว่า “วิธีสื่อสารแบบนี้มัน impact มากค่ะ ใช้นักร้องแร๊พ ดึงกลุ่มวัยรุ่นที่ไม่รู้อดีตของประเทศชาติ พอฟังแล้วก็คล้อยตามไปด้วย และ “เวลาเห็นคนรุ่นใหม่คิดสร้างสรรค์สิ่งดีๆเพื่อสังคมและประเทศชาติ พี่ดีใจทุกครั้ง มันก็อยู่ที่คนรุ่นเราด้วยที่จะใส่อะไรเข้าไปในสมองเขา”
อย่างไรก็ตามล่าสุด โพสต์ดังกล่าวถูกลบออกไปจากเฟซบุ๊กของ ศศิวิมล แล้ว
ปอท. ชี้อาจเข้าข่ายผิด พ.ร.บ. คอมฯ นำเข้าข้อมูลเท็จ เตรียมแจ้งผู้เสียหาย-เชิญศิลปินมาให้ข้อมูล
เว็บไซต์ข่าวสดรายงานว่า เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 26 ต.ค. พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ ผู้กำกับกองกำกับการ 3 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ในฐานะรองโฆษก บก.ปอท. กล่าวถึงกรณีการแพร่คลิปเพลงแร็พ ‘ประเทศกูมี’ ว่า เบื้องต้น พ.ต.อ.ไพบูลย์ น้อยหุ่น รักษาการแทนผู้บังคับการ ปอท. ได้สั่งการให้ฝ่ายสอบสวนประชุมพิจารณาว่าเข้าข่ายข้อกฎหมายใด และให้ฝ่ายสืบสวนตรวจสอบว่าผู้ปรากฎในคลิปเป็นใคร เพราะว่าเนื้อหาค่อนข้างให้ร้ายประเทศไทย ทำให้ประเทศเสียหายอยู่หลายเรื่อง
จากการตรวจสอบน่าจะเข้าข่ายความผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (2) “นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ” เพราะความเสียหายที่ปรากฎในเนื้อเพลงอาจกระทบกระเทือนกับเศรษฐกิจ อาจทำให้นักลงทุนขาดความเชื่อมั่น ส่วนจะเข้าข้อกฎหมายอื่นใดขอให้ฝ่ายสอบสวนพิจารณา
“หากพิจารณาแล้วเข้าความผิดตามมาตรา 14 (2) ในเรื่องการร้องทุกข์กล่าวโทษก็จะแจ้งให้บุคคลที่ได้รับความเสียหายเข้ามาร้องทุกข์กล่าวโทษ และจะต้องเชิญกลุ่มศิลปินที่อยู่ในคลิปเข้ามาให้ข้อมูลเพิ่มเติมประกอบการพิจารณา ส่วนกรอบระยะเวลาดำเนินการเรื่องนี้จะดำเนินการอย่างเร็วที่สุด เนื่องจากเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยค่อนข้างมาก และผู้บังคับบัญชาสั่งการลงมา” พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ กล่าว
พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้แม้กลุ่มศิลปิน หรือผู้ที่เกี่ยวข้องชี้แจงว่าเนื้อหาของเพลงเป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วไม่ได้พาดพิงถึงบุคคลใดนั้น หากมีการดำเนินคดี ก็เป็นสิทธิของพวกเขาที่จะให้การว่ารู้สึกอย่างไร ข้อเท็จจริงในส่วนของเขาเป็นอย่างไร แต่เจ้าหน้าที่ก็ต้องรวบรวมพยานหลักฐานว่าผิดหรือไม่
สำหรับภาพที่ปรากฎในมิวสิควิดีโอในบางส่วนที่มีการฟาดหุ่นซึ่งแขวนอยู่บนต้นไม้ ซึ่งคล้ายกับเหตุการณ์ประวัติศาสตร์เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ที่นักศึกษมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถูกสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรงโดยรัฐบาลในขณะนั้นจะเข้าข่ายเรื่องการก่อความรุนแรงหรือไม่ พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ กล่าวว่า ยังไม่สามารถระบุได้ แต่จากภาพรวม อาจเข้าข่ายความผิดใน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์
ทั้งนี้ พ.ต.อ.ศิริวัฒน์กล่าวอีกว่า สำหรับผู้ที่ส่งต่อโพสต์ก็อาจเข้าข่ายความผิด มาตรา 14 (5) ซึ่งจะมีโทษอัตราเดียวกันกับผู้โพสต์ คือ จำคุก 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท ได้เช่นกัน โดยหลังการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวอย่างเข้มงวดก็มีจำนวนผู้กระทำผิดที่ลดลง
แถลงการณ์เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) เรื่อง “การคุกคามสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของพลเมือง กรณีกลุ่มศิลปิน Rap Against Dictatorship”
ตามที่มีการเสนอข่าวว่า พล.ต.อ. ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล จะเรียกกลุ่มศิลปิน Rap Against Dictatorship ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ ปอท. ตรวจสอบว่าเพลงดังกล่าวเนื้อหาเข้าข่ายขัดคำสั่ง คสช. หรือไม่ และจะเชิญตัวมาให้ปากคำว่ามีเจตนาที่จะทำให้เกิดความวุ่นวายหรือขัดคำสั่ง คสช. ด้วยหรือไม่นั้น รวมถึงการห้ามแชร์คลิปเพลงดังกล่าว สะท้อนให้เห็นถึงการไม่ยอมรับในหลักการว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนซึ่งได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 อีกทั้งยังไม่เป็นผลดีต่อการสร้างบรรยากาศเพื่อนำสู่การเลือกตั้งทั่วไปที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562
คนส. เห็นว่าการสื่อความเห็นของกลุ่มศิลปิน Rap Against Dictatorship ในบทเพลงและภาพประกอบนั้น เป็นการใช้ศิลปะเพื่อกระตุ้นความรู้สึกนึกคิดตามหน้าที่ของศิลปินในอารยประเทศ และประเด็นที่พวกเขาหยิบยกขึ้นมาเปรียบเปรยล้วนเป็นประเด็นที่สังคมติดตามให้ความสนใจมาโดยตลอด ไม่สมควรที่ พล.ต.อ. ศรีวราห์ จะก้าวล่วงใช้อำนาจอย่างครอบจักรวาลเพียงเพราะเป็นความเห็นส่วนตัว ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบก็ควรจะได้พิจารณาด้วยว่าคำสั่งการนั้นเป็นคำสั่งที่เหมาะสมและถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ เพราะสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตเป็นสิทธิที่ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 แล้ว ไม่ควรจะมีอำนาจอื่นใดเหนือบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ
คนส. ขอเรียกร้องให้ พล.ต.อ. ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องยุติการข่มขู่ คุกคาม หรือพยายามเรียกตัวกลุ่มศิลปิน Rap Against Dictatorship มาให้ข้อมูล ปากคำ ตลอดจนการคุกคามในรูปแบบอื่นๆ พร้อมกับเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติตามกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ที่ได้คุ้มครองสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นโดยสุจริต มากกว่าปฏิบัติตามลมปากของผู้มีอำนาจที่ใช้อำนาจตามอำเภอใจ
พร้อมกันนี้ คนส. จะร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ในการปกป้องสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกของกลุ่มศิลปิน Rap Against Dictatorship ทั้งในแง่มุมกฎหมาย กระบวนการยุติธรรม และการเคลื่อนไหวทางสังคมอย่างถึงที่สุด
ด้วยความเชื่อมั่นในสิทธิและเสรีภาพของพลเมืองเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.)26 ตุลาคม 2561
อ้างอิงจาก ข่าวสด1 [2], ข่าวสด2 [3], มติชน [4]
| ['ข่าว', 'การเมือง', 'สังคม', 'วัฒนธรรม', 'สิทธิมนุษยชน', 'ประเทศกูมี', 'Rap Against Dictatorship', 'เทรนด์ทวิตเตอร์', 'เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง', 'คสช.'] |
https://prachatai.com/print/79312 | 2018-10-26 18:27 | เจ้าฟ้าชายซาอุฯ ประณามผู้สังหาร 'จามาล คาชอกกี' ต่อสาธารณะเป็นครั้งแรกแล้ว | เจ้าฟ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน รัชทายาทของซาอุดิอาระเบียกกล่าวถึงกรณีการฆาตกรรม จามาล คาชอกกี เป็นครั้งแรกในงานประชุมด้านธุรกิจ โดยประณามผู้ก่อเหตุและบอกว่าเป็นเรื่องไม่ชอบธรรม แต่ชาติตะวันตกและนักธุรกิจหลายคนก็ยังคงมีข้อกังขาเพราะทางการตุรกีระบุว่าผู้ก่อเหตุเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงระดับสูงของซาอุฯ
โมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน อัล ซาอุด (ที่มา:kremlin.ru [1])
25 ต.ค. 2561 เจ้าฟ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน รัชทายาทของซาอุดิอาระเบียกล่าวถึงกรณีของจามาล คาชอกกี ต่อสาธารณะเป็นครั้งแรกหลังจากที่เงียบมาเป็นเวลา 3 สัปดาห์ โดยพระองค์กล่าวว่าการฆาตกรรมจามาล คาชอกกี ผู้เป็นนักข่าววอชิงตันโพสต์ในรั้วสถานกงสุลซาอุฯ นั้นถือเป็น "อาชญากรรมโหดร้ายที่ไม่ควรจะได้รับความชอบธรรม"
ซัลมานกล่าวถึงกรณีนี้ในงานประชุมปฏิบัติการเรื่องการลงทุนแห่งอนาคตที่กรุงริยาร์ด ประเทศซาอุฯ เขาบอกอีกว่าผู้ที่กระทำผิดทั้งหมดควรถูกนำมาลงโทษและ "ความยุติธรรมจะได้รับชัยชนะ"
อย่างไรก็ตามกรณีการหายตัวไปของนักข่าววอชิงตันโพสต์เชื้อสายซาอุฯ ที่กลายเป็นผู้ลี้ภัยในสหรัฐฯ หลังจากซัลมานขึ้นมามีอำนาจนั้น มีการตั้งปมว่ารัฐบาลซาอุฯ เองอาจจะมีส่วนเกี่ยวข้อง รวมถึงก่อนหน้านี้ประเทศตะวันตกต่างพากันประณามซาอุฯ ในเรื่องที่พวกเขาอ้างว่าคาชอกกีเสียชีวิตจากการชกต่อย ทั้งนี้เมื่อวันที่ 24 ต.ค. ที่ผ่านมาประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ยังกล่าวให้สัมภาษณ์ต่อสื่อวอลล์สตรีทเจอนัลว่า ซัลมาน อจจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของคาชอกกี
คาชอกกีหายตัวไปตั้งแต่วันที่ 2 ต.ค. ที่ผ่านมาหลังจากที่เขาเดินทางไปที่สถานกงสุลซาอุฯ ในตุรกี ในช่วงกลางเดือนที่ผ่านมา ทางการตุรกีเปิดเผยหลักฐานที่มีความเป็นไปได้ว่าคาชอกกีอาจจะถูกทารุณกรรมและสังหารภายในสถานกงสุลซึ่งเป็นความรับผิดชอบของทางการซาอุฯ โดยที่ทางการตุรกีเปิดเผยรายชื่อผู้ที่มีส่วนในการสังหารคาชอกกีเป็นเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำตัวของซัลมาน
อย่างไรก็ตามซัลมานออกมาแสดงท่าทีล่าสุดโดยการประกาศว่าจะมีการปรับโครงสร้างหน่วยงานความมั่นคงแห่งชาติของซาอุฯ และจะทำงานร่วมกับตุรกีในการ "เข้าถึงผลลัพธ์" ของคดีนี้ ซัลมานกล่าวอีกว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น "เป็นเรื่องที่สร้างความเจ็บปวดอย่างมากสำหรับชาวซาอุฯ ทุกคน" และ "พวกเขาจะไม่สามารถแบ่งแยกพวกเราได้ตราบใดที่ยังคงมีพระราชาธิบดีซัลมาน บิน อับดุลลาซิซ และมกุฎราชกุมาร โมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน กับประธานาธิบดีตุรกีที่มีชื่อว่า เออร์โดกัน (เรเซป ตอยยิบ เออร์โดกัน)"
กระนั้นในช่วงสัปดาห์นี้ประเทศตะวันตกและประเทศตุรกีก็ยังคงกังขาต่อทางการซาอุฯ โดยเมื่อวันที่ 23 ต.ค. ที่ผ่านมา เรเซป ตอยยิบ เออร์โดกัน ประธานาธิบดีตุรกีกล่าวประณาม "คนระดับสูง" ของซาอุฯ ว่าสั่งฆ่าคาชอกกี สื่อเดอะการ์เดียนตั้งข้อสังเกตว่าการกล่าวเปิดงานครั้งล่าสุดของซัลมานได้รับเสียงสนับสนุนนิยมชมชอบน้อยกว่าพิธีเข้ารับตำแหน่งรัชทายาทเมื่อปี 2560 โดยกรณีคาชอกกีทำให้ผู้นำธุรกิจต่างชาติจำนวนมากพากันบอยคอตต์งานประชุม
มีผู้เข้าร่วมงานประชุมบางส่วนที่แสดงออกถึงความรังเกียจต่อฝ่ายซาอุฯ อย่างเปิดเผย มีรายหนึ่งพูดถึงคดีฆาตกรรมที่เกิดขึ้นว่าคนพวกนี้ "ทำให้พวกเรากลับไปอยู่ยุคหิน" นอกจากนี้ยังมีนักธุรกิจชาวซาอุฯ ที่แสดงความคิดเห็นว่าความพยายามปกป้องพรรคพวกตนเองของซัลมานจะไม่เป็นผล เพราะประเทศอื่นคงไม่เชื่อ "นิยาย" ของพวกเขา
เรียบเรียงจากMohammed bin Salman calls Khashoggi murder a 'heinous crime', The Guardian [2], Oct. 25, 2018
Khashoggi death: Saudi prince may have been involved, Trump says, The Guardian [3], Oct 24, 2018
| ['ข่าว', 'การเมือง', 'ต่างประเทศ', 'อาชญากรรม', 'ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ', 'โมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน', 'จามาล คาชอกกี', 'คดีฆาตกรรมจามาล คาชอกกี', 'การอุ้มหาย', 'เรเซป ตอยยิบ เออร์โดกัน', 'ซาอุดิอาระเบีย', 'ตุรกี'] |
https://prachatai.com/print/79313 | 2018-10-26 18:33 | ถางป่าทำสวนทุเรียนในมาเลเซีย เสี่ยงกระทบเสือโคร่งมลายูใกล้สูญพันธุ์ | สื่อมาเลเซียกินีรายงานเรื่องที่การทำไร่ทุเรียนมูซังคิงในมาเลเซียเป็นเหตุทำให้เกิดการถางป่าในเมืองเราบ์ รัฐปะหัง ของมาเลเซีย ส่งผลให้เสือโคร่งมลายูเสี่ยงต่อการเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์มากขึ้น
เสือโคร่งมลายูในสวนสัตว์ซินซินนาติ สหรัฐฯ (ที่มา:วิกิพีเดีย [1])
ในรัฐปะหัง ของประเทศมาเลเซียกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ชาวสิงคโปร์และชาวจีนนิยมเดินทางไป "ทัวร์ทุเรียน" ส่งผลให้เกิดความต้องการทุเรียนมูซังคิงสูงขึ้น และทำให้เกิดไร่ทุเรียนเพิ่มขึ้นตามมา
มีการคาดการณ์ว่าบริษัทที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับรัฐบาลปะหังจะตัดไม้บนภูเขาฮูลูเซมปัมราว 12.13 ตารางกิโลเมตร หรือราว 7580 ไร่
สิตี สุไรดาห์ อบิดิน จากองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลก (WWF) ประจำมาเลเซีย ก็เปิดเผยว่าพื้นที่ดังกล่าวถูกวางไว้ให้เป็นพื้นที่ๆ เป็นที่อยู่อาศัยของเสือ และตั้งอยู่ในเขตที่ติดกับพื้นที่คุ้มครองที่มีเสืออาศัยอยู่ ซึ่งเสือโคร่งมลายูหรือ Malayan Tiger จัดอยู่ในสถานะมีความเสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์ (critically endangered) โดยมีเหลืออยู่เพียงน้อยกว่า 300 ตัวเท่านั้น ซึ่งการถางป่าบนฮูลูเซมปัมจะส่งผลกระทบต่อการเดินทางเคลื่อนย้ายของสัตว์ป่า
แต่กรมป่าไม้ของปะหังก็ระบุว่าโครงการนี้ไม่จำเป็นต้องขออนุญาตจากทางกรม รายงานข่าวระบุอีกว่าความต้องการทุเรียนในจีนทำให้ราคาพุ่งสูงขึ้น นำมาซึ่งการขยายตัวของสวนทุเรียนระดับใหญ่ๆ ในมาเลเซียในช่วงปีที่แล้วจนถึงตอนนี้ อีกทั้งยังมีการนำเข้าทุเรียนสดเพิ่มขึ้นร้อยละ 26 ต่อปีในช่วงสิบปีที่่ผ่านมา จนกระทั่งในปี 2559 มีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มสูงขึ้นถึง 1,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 36,000 ล้านบาท)
อนาคตทุเรียนไทยภายใต้ความท้าทาย ราคาดีปีนี้อีก 5 ปีอยู่ตรงไหน [2]
อย่างไรก็ตามความต้องการของทุเรียนนี้ก็ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมเช่นเดียวกับความต้องการของน้ำมันปาล์มที่ก่อให้เกิดการทำลายที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์อย่างลิงอุรังอุตัง การเปลี่ยนให้เป็นพื้นที่เพาะปลูกทุเรียนก็ชวนให้กังวลว่าจะเป็นการทำลายประชากรเสือที่ใกล้จะสูญพันธุ์เช่นกัน
นอกจากรายงานเรื่องเสือแล้ว ชาวบ้านเชื้อชาติเทเมียร์ในรัฐกลันตันก็กำลังต่อสู้กับเจ้าของสวนทุเรียนในเรื่องสิทธิที่ดินทำกินที่ชาวเทเมียร์อ้างว่าเป็นที่ดินบรรพบุรุษของพวกเขา ชาวเทเมียร์ทำการปิดถนนเพื่อไม่ให้คนตัดไม้และคนทำสวนปาล์มเข้าไปได้ขณะที่สวนทุเรียนเป็นสิ่งใหม่ที่พวกเขากังวล ส่วนทางการรัฐกลันตันบอกว่าที่ดินดังกล่าวไม่ได้เป็นของชาวบ้านเทเมียร์
มีบริษัทสวนทุเรียนมูซังคิงผ้องร้องดำเนินคดีกับกลุ่มนักกิจกรรมเทเมียร์ในเรื่องการปิดถนนและเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีมาเลเวียเข้ามาแทรกแซงในเรื่องนี้ โดยคดีที่พวกเขาฟ้องร้องจะมีการไต่สวนภายในวันที่ 28 ต.ค. ที่จะถึนี้
เรียบเรียงจาก
Musang King durian plantations putting Malayan tigers at risk, says report, Malaysiakini [3], Oct. 24, 2018
| ['ข่าว', 'เศรษฐกิจ', 'ต่างประเทศ', 'สิ่งแวดล้อม', 'อาเซียน', 'เสือโคร่งมลายู', 'ทุเรียนมูซังคิง', 'สวนทุเรียน', 'การตัดไม้', 'ที่อยู๋อาศัยสัตว์ป่า', 'สัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์', 'จากองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลก'] |
https://prachatai.com/print/79314 | 2018-10-26 22:21 | 'พุทธิพงษ์' แจง #ตู่โป๊ะแตก ปัดหลุดเม้นต์เพจตัวเอง โยงกระบวนการตั้งใจทำเพจปลอม | โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แจงปม #ตู่โป๊ะแตก ยันไม่ใช่ พล.อ.ประยุทธ์ เล่นอย่างแน่นอน คงไม่มีเวลาไปคอมเม้นต์ พร้อมโยงกระบวนการตั้งใจทำเพจปลอม
26 พ.ค.2561 ภายหลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช. เปิดเฟสบุ๊กแฟนเพจ 'ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chan-o-cha' ไปเมื่อกลางเดือนที่ผ่านมา ยอดการกดถูกใจจนถึงขณะนี้กว่า 4 แสนแล้วนั้น อย่างไรก็ตามวันนี้มีประเด็นที่เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์เนื่องจากปรากฏภาพที่มีผู้บันทึกว่าเพจดังกล่าวได้แสดงความเห็นตอบใต้โพสต์ของตัวเอง ในลักษณาว่า ให้ พล.อ.ประยุทธ์ ช่วยเหลือกรณี พานทองแท้ ชินวัตร บุตรชาย ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในคดีร่วมฟอกเงินโอมรับเช็คกรุงไทย 10 ล้านบาท เพราะหวั่นว่าจะหลบหนีออกนอกประเทศ นั้น
ภาพที่มีการเผยแพร่ ระบุว่า เพจลืมสลับบัญชีเพื่อแสดงความเห็น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ข้อความแสดงความเห็นของเพจที่กล่าวถึงนั้นไม่ปรากฏอยู่แล้ว มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าลบไปไม่นานหลังโพสต์
'พุทธิพงษ์' แจง 'ประยุทธ์' ไม่ได้เม้นต์ โยงกระบวนการตั้งใจทำเพจปลอม
ล่าสุด ข่าวสดออนไลน์ [1] รายงานว่า พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า ไม่ใช่ พล.อ.ประยุทธ์ เล่นอย่างแน่นอน อยู่ดีๆ นายกฯ จะไปเล่นได้อย่างไร ท่านคงไม่มีเวลาไปคอมเม้นต์ และเป็นเรื่องที่ไม่มีทางเป็นอย่างนั้นแน่นอน ทีมงานไม่มีใคร มีแค่ท่านนายก ตน และคนเพียงไม่กี่คนในการตอบคอมเม้นต์ ซึ่งเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ท่านตอบแค่เพียงเรื่องการแก้ไขปัญหาของประชาชน
“เป็นกระบวนการตั้งใจทำเพจปลอม ความคิดปกติเป็นไปไม่ได้ที่ทีมงานจะนำแอคเคาท์เข้าไปโพสต์เรื่อง โอ๊ค พานทองแท้ ขอให้ดูความเป็นจริงมันเป็นไปไม่ได้ ขอให้ชั่งน้ำหนักในการพิจารณาด้วย” พุทธิพงษ์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทั้งนี้ในเฟซบุ๊กของ พล.อ.ประยุทธ์ มีการเข้าไปคอมเม้นต์วิพากษ์วิจารณ์ถึงกรณีดังกล่าวจำนวนมาก จนถึงขั้นติด #ลุงตู่โป๊ะแตก เต็มโลกโซเชียล
เพจคาราโอเกะชั้นใต้ดินนำไปล้อ
ผู้สื่อข่าวตรวจสอบเฟสบุ๊กแฟนเพจที่ใช้ชื่อเพจเหมือนเพจของ พล.อ.ประยุทธ์ พบมีเฟจที่ใช้ชื่อและตั้งภาพโปรไฟล์เหมือนกันอยู่ 1 เพจ เพียงแต่มีจุดต่างที่ คำว่า "Chan-o-cha" ที่เป็นจริง 4 แสนไลก์นั้น ใช้คำว่า "Chan-o-cha" ขณะที่เพจหลักร้อยใช้ "Chan-O-cha" เป็นตัว o ใหญ่ ขณะที่เพจที่ปรากฏเป็นการแสดงความเห็นอันเป็นที่มาของคำว่า "ตู่โป๊ะแตก" นั้น ใช้ "Chan-o-cha" เช่นเดียวกับเพจจริงของ พล.อ.ประยุทธ์ นั่นเอง
ตัวอย่างเพจที่ใช้ชื่อคล้ายเพจอย่างเป็นทางการของ พล.อ.ประยุทธ์
นอกจากนี้ยังมีผู้เผยแพร่การแจ้งเตือนของระบบเฟสบุ๊กหากเพจที่เราติดตามและตั้งค่าให้มีการแจ้งเตือนหากมีการเคลื่อนไหว เช่น โพสต์ หรือแสดงความเห็น ซึ่งปรากฏพบการแจ้งเตือน เนื่องจากเพจ พล.อ.ประยุทธ์ ได้แสดงความเห็นด้วย
ภาพการแจ้งเตือนในเฟสบุ๊ก
อย่างไรก็ตามผู้สื่อข่าวประชาไทตั้งข้อสังเกตตามที่มีผู้ใช้เฟสบุ๊กตั้งไว้ว่าอาจเป็นผู้ดูแลหรือแอดมินเพจที่ลืมสลับจากบัญชีส่วนตัวของแอดมินกับเพจ ทำให้แสดงความเห็นปรากฏว่าเป็นความเห็นของเพจแทนได้หรือไม่ ซึ่งจากการทดสอบก็สามารถเกิดข้อผิดพลาดดังกล่าวได้ แต่ไม่ได้สรุปว่าข้อความที่เกิดขึ้นจากเพจประยุทธ์ฯ จะมาจากสาเหตุนี้
ภาพตัวอย่างกระบวนการสลับแอคเคาท์ของแอดมินเพจ กับตัวเพจ
ภาพนี่หากคอมเม้นท์จะปรากฏเป็นชื่อเพจคอมเม้นต์
ตัวอย่างกระบวนการสลับบัญชี
ภาพนี่หากคอมเม้นท์จะปรากฏเป็นชื่อแอคเคาท์ของแอดมินเพจ เป็นผู้คอมเม้นต์
| ['ข่าว', 'การเมือง', 'ไอซีที', 'ตู่โป๊ะแตก', 'เฟสบุ๊กแฟนเพจ', 'ประยุทธ์ จันทร์โอชา', 'พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์', 'เพจปลอม', 'พานทองแท้'] |
https://prachatai.com/print/79315 | 2018-10-26 22:58 | ทนายวิญญัติ ชี้ ตร.จ่อใช้ พ.ร.บ.คอมฯ ม.14 เล่นงานแร็ป 'ประเทศกูมี' ผิดเจตนารมณ์ของ กม. | หลัง ปอท. จ่อเอาผิดแร็ปเปอร์กลุ่ม RAD ในเพลง 'ประเทศกูมี' ด้วย พ.ร.บ.คอมฯ ม.14 (2) 'ทนายวิญญัติ' ชี้ผิดวัตถุประสงค์และเจตนารมณ์ของกฎหมาย ที่มุ่งใช้การนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จกับอาชญากรไซเบอร์ ถามหากเพลงนี้เข้าข่ายเป็นความเท็จ ขัดต่อความจริง ขัดความรู้สึกของประชาชน เพลง 'คืนความสุขให้ประเทศไทย' ก็ต้องผิดด้วยใช่หรือไม่
26 ต.ค.2561 ความคืบหน้ากลังการเผยแพร่มิวสิควิดีโอเพลง 'ประเทศกูมี' ของกลุ่มแร็ปเปอร์ 'Rap Against Dictatorship [1]' หรือ RAD ทางยูทูบมา 3 วัน ก่อนที่จะสิ้นวันนี้ยอดวิวเกิน 3 ล้านแล้ว อย่างไรก็ตาม วันนี้ พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รองโฆษก บก.ปอท. ระบุว่า เบื้องต้น พ.ต.อ.ไพบูลย์ น้อยหุ่น รักษาการแทนผู้บังคับการ ปอท. ได้สั่งการให้ฝ่ายสอบสวนประชุมพิจารณาว่าเข้าข่ายข้อกฎหมายใด และให้ฝ่ายสืบสวนตรวจสอบว่าผู้ปรากฎในคลิปเป็นใคร เพราะว่าเนื้อหาค่อนข้างให้ร้ายประเทศไทย ทำให้ประเทศเสียหายอยู่หลายเรื่อง จากการตรวจสอบน่าจะเข้าข่ายความผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (2) “นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ” นั้น
ข่าวสดออนไลน์ [2]รายงานว่า วิญญัติ ชาติมนตรี เลขาธิการสมาพันธ์กฎหมายเพื่อสิทธิและเสรีภาพ กล่าวถึง การขยับของ บก.ปอท. ต่อเพลงแร็พ ประเทศกูมี น่าจะเข้าข่ายความผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (2) ดังกล่าว ถือว่าผิดวัตถุประสงค์และเจตนารมณ์ของกฎหมาย ที่มุ่งใช้การนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จกับอาชญากรไซเบอร์ จึงจำเป็นที่ต้องมีการพิสูจน์ข้อเท็จจริง ไม่ใช่แค่ความรู้สึก
กลุ่ม RAD ผู้ทำเพลง ประเทศกูมี และประชาชนที่ตอบรับ ก็เนื่องจากมองว่าเห็นสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจริงในประเทศ ซึ่งไม่ได้เข้าข่ายทำให้ประเทศนี้วุ่นวายตื่นตระหนก กระทบความมั่นของรัฐแต่อย่างใด ความมั่นคงนี้ไม่ใช่ของคณะบุคคลในแวดวงคสช. ที่ยึดอำนาจเข้ามา ก็ถือเป็นบุคคลสาธารณะ ที่ย่อมวิพากษ์วิจารณ์ได้
การจะใช้ พ.ร.บ.คอมพ์มาตรา 14 (2) ดำเนินคดี จึงเข้าข่ายการฟ้องปิดปาก ปิดหู ปิดตา ประชาชน ซึ่งการจะทำความเข้าใจวงการเพลงแร็พหรือฮิพฮอพ ต้องย้อนดูยังจุดกำเนิด อันถือเป็นการบอกเล่าเนื้อหาสะท้อนสังคมและการเมืองอย่างตรงไปตรงมา
"อาจเป็นความจริงอีกด้านหนึ่งก็ได้ เหมือนที่คนเชื้อสายแอฟริกันทำกัน ถ้าเช่นนั้นเพลง คืนความสุขให้ประเทศไทย ผมก็มีความคิดว่าเพลงนี้เข้าข่ายเป็นความเท็จ ขัดต่อความจริง ขัดความรู้สึกของประชาชน ก็ต้องผิดด้วยใช่หรือไม่" วิญญัติ กล่าว
| ['ข่าว', 'การเมือง', 'สิทธิมนุษยชน', 'ไอซีที', 'พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์', 'ประเทศกูมี', 'Rap Against Dictatorship', 'คืนความสุขให้ประเทศไทย', 'แร็ป', 'วิญญัติ ชาติมนตรี'] |
https://prachatai.com/print/79316 | 2018-10-26 23:15 | ใบตองแห้ง: ประเทศ Ku มี | ปู่ดอน ปรมัตถ์วินัย พูดถึงกรณี ผบ.ทบ.ไม่รับประกันจะไม่เกิดรัฐประหาร ว่ากระทรวงการต่างประเทศคงไม่ต้องชี้แจงอะไร ต่างชาติทราบดี ไม่ใช่เรื่องใหม่ รัฐประหารมีมาทุกยุคทุกสมัย ถ้าบ้านเมืองสงบ ก็ไม่มีรัฐประหาร
ไม่รู้ปู่ดอนได้ดู MV เพลงแร็ป “ประเทศกูมี” แล้วหรือยัง น่าเปิดดูบ้าง จะได้ตอบเป็นภาษาแร็ปว่า รัฐประหารคือสิ่งที่ประเทศ Ku มี แถมยังเป็นสิ่งที่ประเทศ Ku ภาคภูมิใจ รัฐประหารคือวิธีแก้ปัญหาแบบไทยๆ ไม่สงบก็ทำรัฐประหาร พูดอย่างนี้ไม่ผิด ใครจะเอาผิดถือว่าแจ้งความเท็จ
coup d’état เป็นภาษาฝรั่งเศส แต่รัฐประหารกลายเป็นประเพณีการปกครองประจำประเทศไทย จนพูดได้ว่า “ประเทศกูมีรัฐประหาร” เหนือชาติใดในโลก เพราะเขาเลิกกันหมดแล้ว แต่ประเทศ Ku อยู่ได้เกิน 4 ปี “ประเทศที่มีกฎหมายแต่ใช้ปืนล้มกระดาน ประเทศที่คนยังสุขสำราญแต่ใช้ชีวิตอยู่ในกะลา”
coup d’état ไม่เพียงผสมกลมกลืนกับศีลธรรมจรรยาแบบไทยๆ หากยังเข้ากันได้ดีกับวัฒนธรรมบริโภคนิยม การตลาด CSR สังคมดราม่า กระทั่งเป็นลุงดิจิทัลได้
พูดอีกอย่าง รัฐประหารใช้ต้นทุนความเบาปัญญาของสังคมไทย ทั้งที่มีมาแต่ดั้งเดิม และที่เพิ่มพูนโดยสังคมบริโภคฉาบฉวย เฮโลสาระพา ตามสื่อโฆษณา ตามกระแส ตามดาราเซเลบส์ และเน็ตไอดอล
ปัดโธ่ แค่โพสต์ข้อความทื่อๆ ว่ารักชาติเท่าชีวิต ก็แห่ตื้นตันน้ำตาไหล ไม่ใช่พวกโตมากับละครหลังข่าว โฆษณาฟาสต์ฟู้ด จะเชื่อง่ายปานนั้นเรอะ
ไม่ใช่คนไทยไม่มีความคิด แต่ประเทศนี้คนมีความคิดต้องแกล้งหลับ หรืออยู่เฉยๆ คนไทยโตมาโดยถูกอบรมบ่มสอนให้ “อยู่เป็น” ใต้อำนาจ ตั้งแต่อำนาจครู ถึงอำนาจรัฐ มีความคิดของตัวเองได้ แต่ต้องรู้จักท่องอาขยาน อย่าต่อต้าน ไม่งั้นจะถูก “แจกเก้าอี้” ใช้ใจกลางกรุงเป็นทุ่งสังหาร ตั้งแต่ 6 ตุลาถึงพฤษภา 53 ไม่มีวันได้รับความยุติธรรม เพื่อให้หลาบจำ ทีหลังอย่าหือ
อย่างไรก็ดี รัฐประหาร คสช. ได้ใช้ต้นทุนของสังคมศีลธรรมบริโภคไปจนจะหมดสิ้นแล้ว ข้ออ้างความดี อ้างกฎหมาย ธรรมาภิบาล หิริโอตตัปปะ ฯลฯ ย้อนแย้งเป็นตรรกะวิบัติ ความเป็นจริงที่อยู่ได้ 4 ปี (แล้วนะ) ก็คือคนไม่เห็นทางออก ไม่อยากเดือดร้อน และต้องทำมาหากิน
ตรรกะวิบัติที่สะท้อนใน “ประเทศกูมี” ถือเป็นเอกลักษณ์ ประเทศอื่นไม่มี หรือมีบางอย่าง แต่ประเทศนี้มีทุกอย่าง ยกเว้นสามัญสำนึก
ประเทศที่พล่ามศีลธรรม ประเทศที่กฎหมายไม่สู้พระธรรม ประเทศที่เขียนรัฐธรรมนูญให้กองทัพลบ ประเทศที่กฎยืดได้ ประเทศที่คนแสร้งพูดจงทำดี ประเทศที่รัฐบาลไม่มีใครกล้าลบหลู่ ประเทศที่มีกฎหมายไว้ให้ตำรวจข่มขู่ ประเทศที่คนมีความคิดต้องแสร้งว่าหลับอยู่ ประเทศที่บอกให้อยู่เฉยๆ ถ้าไม่อยากนอนเรือนจำ ประเทศที่เสรีที่บอกว่า Ku เลือกได้ แต่เลือกนายกฯ ต้องให้ทหารมาเลือกให้ ฯลฯ
ซึ่งคนฟังเติมได้ยาวเหยียด เช่น ประเทศที่ลุงรักหมาแต่ต้องล่ามเชือกไว้ ประเทศที่มีคนป่วยมากมาย แต่ยกตนเป็นคนดี ไล่สั่งสอนคนอื่น ประเทศที่ใครทนฟังเสียงระฆังกลางดึกไม่ได้ ก็กลายเป็นเปรตกับหมา ประเทศที่คลั่งเพราะสงสัยคนฆ่าแมวควักไส้ แต่ไม่สงสัยกระสุนจริงฆ่าคน ประเทศที่ประกาศสิทธิมนุษยชนเป็นวาระแห่งชาติ แต่ทหารจับคนไปขังได้ไม่ต้องขอหมายศาล ประเทศที่ซื้อไม้ล้างป่าช้า ด้วยความศรัทธาเหมือนพระเครื่อง ประเทศที่ควักปืนขู่คู่กรณีไม่ผิดวินัย เพราะนอกเวลาราชการ ประเทศที่นักบินปกป้องสิทธิอันชอบธรรม โดยเอาผู้โดยสารเป็นตัวประกัน ประเทศที่อำนวยความยุติธรรม ด้วยการให้เบี้ยประชุม ฯลฯ
ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าระบอบ คสช.จะอยู่ยั้งยืนยงอีกนานเท่าไหร่ ประเทศนี้จะมีรัฐประหารอีกไหม เพราะคนไทยหยวนยอม เอาประโยชน์เฉพาะหน้าไว้ก่อน ต้องการความสงบ อยากทำมาหากิน ทั้งๆ ที่ฝืดเคือง ยางพาราสามกิโลร้อย ก็อาจจะยอมให้สืบทอดอำนาจ ดีกว่าให้พรรคฝ่ายประชาธิปไตยได้เสียงข้างมาก ต้องตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย เดี๋ยวบ้านเมืองวุ่นวายอีก ก็อยู่ในหม้อต้มต่อไปดีกว่า
แต่ที่แน่ๆ เมื่อไร้ตรรกะเหตุผล ศีลธรรม ความเชื่อถือ ความศรัทธาต่างๆ ก็ล่มสลาย ทุกคนรู้แก่ใจว่าประเทศนี้อำนาจเป็นใหญ่ ต้องยอมตาม หรือเข้าหาอำนาจได้ยิ่งมีประโยชน์ ไม่ว่าอำนาจปืน อำนาจกฎหมาย ประเทศนี้ไม่ต้องมีหลักเกณฑ์การอยู่ร่วมกัน เอาอำนาจชี้ขาด เอาประโยชน์ไว้ก่อนเป็นสำคัญ แต่ปากต้องยกย่องความดีงาม เพราะขายได้
ย้อนแย้งขนาดนี้ ประเทศ Ku จะมีอนาคตอย่างไร ก็ไม่รู้เหมือนกัน
เผยแพร่ครั้งแรกใน: ข่าวสดออนไลน์ https://www.khaosod.co.th [1]
| ["'ใบตองแห้ง' ออนไลน์", 'การเมือง', 'วัฒนธรรม', 'สิทธิมนุษยชน', 'ประเทศกูมี', 'ใบตองแห้ง', 'ดอน ปรมัตถ์วินัย'] |
https://prachatai.com/print/79317 | 2018-10-26 23:35 | iLaw: 7 เรื่องจริง ที่ประเทศกูมี |
วันนี้ (26 ตุลาคม 2561) พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยถึงกรณีการเผยแพร่เพลง "ประเทศกูมี" ทางเว็บไซต์ยูทูปว่า ได้มอบหมายให้กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) พิจารณาเนื้อหาของเพลงว่าเข้าข่ายขัดคำสั่ง คสช. หรือไม่ ส่วนคนที่อยู่ในคลิปจะต้องเชิญตัวมาให้ปากคำว่า มีเจตนาทำให้เกิดความวุ่นวายหรือขัดคำสั่ง คสช.หรือไม่
ต่อมา พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รองโฆษก บก.ปอท. กล่าวว่า มิวสิควิดีโอ “ประเทศกูมี” น่าจะเข้าข่ายความผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(2) “นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ” เพราะความเสียหายที่ปรากฎในเนื้อเพลงอาจกระทบกระเทือนกับเศรษฐกิจ อาจทำให้นักลงทุนขาดความเชื่อมั่น สำหรับผู้ที่ส่งต่อโพสต์ก็อาจเข้าข่ายความผิด มาตรา 14(5) ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯด้วยเช่นกัน
เพลง “ประเทศกูมี” โดยกลุ่มศิลปิน RAP AGAINST DICTATORSHIP เผยแพร่ทางเว็บไซต์ยูทูปตั้งแต่วันที่ 22 ตุลาคม 2561 โดยวันที่ 26 ตุลาคม 2561 เวลา 11.00 น. มีผู้เข้าชมประมาณ 800,000 ครั้ง และเพิ่มสูงขึ้นเกิน 2,000,000 ครั้งในเวลา 19.00 น. ของวันเดียวกัน เนื้อหา “ประเทศกูมี” ว่าด้วยการนำข้อเท็จจริงของสังคมการเมืองไทยร่วมสมัยมาร้อยเรียงเป็นบทเพลง โดยขับร้องออกมาในสไตล์ Rap กล่าวได้ว่าเพลง “ประเทศกูมี” นั้นเปิดบาดแผลของสังคมไทยที่พยายามซุกซ่อนมานานกว่าสี่ปี ไม่ว่าจะเป็นการแบ่งแยกขั้วทางการเมือง การใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุม การบังคับใช้กฎหมายอย่างไม่เป็นธรรมและการจำกัดเสรีภาพของประชาชน รวมถึงเสียดสีผู้มีอำนาจ นอกจากนี้บรรยากาศในมิวสิควิดีโอยังปรากฏภาพคล้ายเหตุการณ์นองเลือด 6 ตุลา 2519 อีกด้วย
แม้เนื้อหาเพลงไม่ได้กล่าวถึง คสช.หรือระบุชื่อบุคคลหนึ่งบุคคลใดโดยตรง แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า บางเนื้อความก็เป็นข้อเท็จจริงที่มีการถกเถียงในสังคมและสร้างความหวั่นไหวต่อ คสช.มาตลอด
1) ประเทศที่เสือดำหน้าคะมำเพราะ rifleเดือนกุมภาพันธ์ 2561 เจ้าหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร จับกุมเปรมชัย กรรณสูตร ประธานบริหารและกรรมการ บมจ.อิตาเลียนไทยฯ และพวก พร้อมซากเสือดำ ซึ่งเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง จนนำไปสู่การฟ้องร้องดำเนินคดีตามกฎหมาย ต่อมามีการเผยแพร่เสียงระหว่างการจับกุมในลักษณะต่อรองการจับกุม และท่าทีพินอบพิเทาของเจ้าหน้าที่รัฐในชุดสีกากี ที่มีต่อเปรมชัยก็ทำให้เรื่องราวของเสือดำตกอยู่ภายใต้กระแสการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักหน่วงจากประชาชน ขณะเดียวกันความไม่พอใจในเรื่องดังกล่าว นำไปสู่การแสดงออกของประชาชนอย่างการเรียกร้องที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2561
โดยกลุ่มทีชาล่าจัดกิจกรรม “รวมพลคนพันธุ์เสือดำ” ที่หอศิลป์ฯ เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับ “เสือดำ” ที่ถูกล่าสังหารในทุ่งใหญ่นเรศวร ภายในงานยังจำลองเหตุการณ์การสังหารเสือดำและแจกหน้ากากเสือดำให้แก่ประชาชนที่มาร่วมงาน โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบประมาณสิบนายคอยสังเกตการณ์ ผู้จัดงานระบุว่า "งานดังกล่าวสามารถจัดได้เนื่องจากเป็นการใช้พื้นที่หอศิลป์ฯ ซึ่งได้รับอนุญาตอย่างถูกต้อง แต่เจ้าหน้าที่ขอให้พูดในเรื่องเสือดำเท่านั้น ไม่เลยเถิดไปวิพากษ์วิจารณ์ คสช."
2) ประเทศที่นาฬิกา รมต. เป็นของศพเดือนธันวาคม 2561 เพจ CSI LA เผยแพร่ภาพนาฬิกาข้อมือของพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รวมทั้งสิ้น จำนวน 25 เรือน ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นนาฬิกาแบรนด์หรูราคาระหว่าง 400,000-3,600,00 บาท แต่ทรัพย์สินดังกล่าวกลับไม่ปรากฎในบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินที่ได้รายงานไว้ต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ในตอนที่เข้ารับตำแหน่งทางการเมืองเมื่อเดือนตุลาคม 2557
ช่วงเวลานั้น ชายเจ้าของเพจ Headache Stencil ที่ก่อนหน้าเขาจะ โพสต์ภาพกราฟิตีหรือสติกเกอร์ตามที่สาธารณะต่างๆ แต่ละภาพมีเนื้อหาเกี่ยวกับ คสช. และความไม่ชอบธรรมบางอย่างในสังคมไทย ครั้งนี้เขาก็ไม่พลาดที่จะออกมาแสดงความคิดเห็นเรื่องนาฬิกา เขาพ่นกราฟิตีนาฬิกาปลุกหน้าพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่สะพานลอยย่านซอยสุขุมวิท 39 เป็นเหตุให้เขาถูกติดตามจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ตลอด 24 ชั่วโมง จนต้องหลบออกจากที่พักไปอาศัยอยู่ที่จังหวัดอื่นชั่วคราว หลังจากนั้น ภาพดังกล่าวก็ถูกลบออกโดยใช้สีขาวทากลบทับ ท้ายที่สุด เขาและเพื่อนเข้าพบตำรวจสน.พระโขนง และยินยอมเสียค่าปรับจำนวน 3,000 บาทจากการพ่นกราฟิตีในที่สาธารณะ
วันที่ 3 มกราคม 2561 เอกชัย หงส์กังวาน นักเคลื่อนไหวเดินทางมาที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อมอบนาฬิกาให้กับ พล.อ.ประวิตร แต่เจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบกว่าสิบนายควบคุมตัวเขาไปไว้ที่อาคารสำนักงานข้าราชการพลเรือน กพ. และให้ยื่นเรื่องร้องเรียนที่ศูนย์ดำรงธรรม ต่อมาวันที่ 19 มกราคม 2561 เอกชัยเดินทางมามอบนาฬิกาให้กับ พล.อ.ประวิตร อีกครั้งระหว่างที่รอมีชายรายหนึ่งเข้ามาจะทำร้ายเอกชัย แต่ก็ห้ามปรามได้ทัน จากการตรวจสอบพบว่า ชายคนดังกล่าวพกพามีดพับใส่กระเป๋ามาด้วย ทั้งนี้ก่อนหน้านี้เอกชัยเคยมารอพบพล.อ.ประวิตรหลายครั้ง
วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2561 ที่สกายวอล์ค อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ธัชพงศ์ และพวกรวมสี่คน นักกิจกรรมจากศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อสังคมนิยมประชาธิปไตย หรือ YPD ร่วมกันทำกิจกรรมตามใจป้อม ใส่หน้ากากเป็นรูปเคนท์ เจิ้ง นักแสดงชาวฮ่องกงที่มีใบหน้าคล้ายกับพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ต่อมาถูกตำรวจจับกุมและกล่าวหาว่า ละเมิดมาตรา 10 ไม่แจ้งการชุมนุมก่อนเริ่มการชุมนุม ตามพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ ก่อนที่ 6 กุมภาพันธ์ 2561ที่สกายวอล์กบีทีเอส ช่องนนทรีย์ ธัชพงศ์ แสดงละครใบ้คัดค้านการคอร์รัปชัน แต่ยังไม่ทันได้เริ่มตำรวจก็ควบคุมตัวเขาไปที่สน.ยานนาวา อ้างว่า การกระทำของเขาอาจเข้าข่ายผิดพ.ร.บ.ชุมนุมฯ แต่ยังไม่มีการตั้งข้อหา
3) ประเทศที่มีสภาเป็นห้องนั่งเล่นของนักรบ
ปัจจุบันประเทศไทยมี “สภานิติบัญญัติแห่งชาติ” หรือ “สนช.” คอยทำหน้าที่ออกกฎหมาย และคอยตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล สมาชิก สนช. มีจำนวน 266 คน ทั้งหมดมาจากการแต่งตั้งของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. และนายกรัฐมนตรี จากสมาชิกทั้งหมดทหารมีสัดส่วนมากที่สุดคือ 142 คน คิดเป็นร้อยละ 58 ของทั้งสภา
ตั้งแต่รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ถึง 26 ตุลาคม 2561 สนช. ออกกฎหมายไปแล้วอย่างน้อย 300 ฉบับ แต่ละฉบับได้รับความเห็นชอบอย่างเอกฉันท์ เช่น พ.ร.บ.ขึ้นเงินเดือนทหาร ศาลและองค์กรอิสระ ฯลฯ และมีกฎหมายอย่างน้อย 19 ฉบับ เช่น พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณสามฉบับ ซึ่ง สนช. ใช้เวลาพิจารณาอย่างรวดเร็วเพียงแค่วันเดียวเสร็จ นอกจากนี้ สนช. ยังมีอำนาจเห็นชอบบุคคลให้เป็นองค์กรอิสระ เช่น คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ศาลรัฐธรรมนูญ ฯลฯ
ย้อนกลับไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2560 ยังปรากฎข่าวฉาวของสภาแห่งนี้ว่ามีสมาชิก สนช. อย่างน้อยเจ็ดคน ขาดการลงมติในที่ประชุมสภาเกินกำหนดซึ่งจะต้องถูกให้ออกจากตำแหน่ง แต่สุดท้ายสมาชิก สนช. ทั้งเจ็ดคน ก็ยังสามารถนั่งในสภาต่อไปได้จนถึงทุกวันนี้
4) ประเทศที่เขียนรัฐธรรมนูญให้กองทัพใช้ตีนลบรัฐธรรมนูญ คือ กฎหมายหมายสูงสุดของประเทศ การเข้ามาบริหารประเทศของ คสช. ก็ด้วยการฉีกรัฐธรรมนูญ 2550 แล้วทำการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ในยุค คสช. การร่างรัฐธรรมนูญคืออุตสาหกรรมที่สร้างรายได้ให้กับคนจำนวนมาก ปัจจุบันรัฐธรรมนูญ 2560 คือกฎหมายสูงสุดที่ คสช. ทิ้งไว้ให้กับคนไทยทั้งประเทศ
กว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญ 2560 ได้ต้องใช้เวลาถึงสามปี ช่วงแรก คสช. ใช้เวลาร่างรัฐธรรมนูญประมาณหนึ่งปีกว่า ด้วยการแต่งตั้งคน 35 คน ทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญ แต่งตั้งคน 250 คน เป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ทำหน้าที่เห็นชอบรัฐธรรมนูญ แต่สุดท้ายเมื่อร่างรัฐธรรมนูญเสร็จ สปช. ที่ถูก คสช. แต่งตั้งมาคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ แล้วเริ่มร่างกันใหม่
ช่วงที่สองของการร่างรัฐธรรมนูญ คสช. ตั้ง 21 คน เป็นคนร่างรัฐธรรมนูญ และแต่งตั้ง 220 คน เป็นสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ทำหน้าที่เสนอความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกนับไปออกเสียงประชามติและผ่านความเห็นชอบจากประชาชนส่วนใหญ่ แม้การออกเสียงประชามติครั้งนี้จะถูกกังขาถึงความไม่บริสุทธิ์และความไม่ยุติธรรม เพราะมีประชาชนอย่างน้อย 195 คน ถูกตั้งข้อหาดำเนินคดีจากการรณรงค์ไม่เห็นชอบ และตรวจสอบจับตาการลงประชามติ
อย่างไรก็ตามหลังจากรัฐธรรมนูญผ่านประชามติแล้ว ยังถูกแก้ไขเพิ่มเติมอีกถึง 4 ครั้ง คือหนึ่ง ใช้ ม.44 กำหนดให้เรียนฟรี 15 ปี จากที่เดิมเขียนไว้ 12 ปี สอง ใช้ ม.44 กำหนดให้รัฐอุปถัมภ์ทุกศาสนาจากเดิมให้สนับสนุนแค่พุทธศาสนา นิกายเถรวาท สาม แก้ไขให้ ส.ว.มีสิทธิเลือกนายกฯ ร่วมกับ ส.ส. และยัง แก้ไขร่างรัฐธรรมนูญตามข้อสังเกตพระราชทาน
5) ประเทศที่ 4 ปี แล้วไอ้สัส แม่งยังไม่เลือกตั้งรัฐบาล คสช. บริหารประเทศยาวนานเกินสี่ปี หากเปรียบเทียบกับรัฐบาลจากการเลือกตั้งไม่มีรัฐบาลไหนสามารถทำได้ เพราะถูกจำกัดวาระให้ไม่เกินสี่ปี ทั้งนี้ คสช. เริ่มต้นบริหารประเทศด้วยคำสัญญาว่า “ขอเวลาอีกไม่นาน” อย่างไรก็ตามคำสัญญาที่ว่าจะคืนอำนาจให้ประชาชนด้วยการเลือกตั้งกลับถูกเลื่อนแล้วเลื่อนอีก ตลอดการยึดอำนาจ คสช. เลื่อนเลือกตั้งไปแล้วห้าครั้ง และสัญญารอบล่าสุดที่จะเลือกตั้งเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ก็ยังไม่มีความแน่นอนว่าจะเป็นไปตามสัญญาหรือไม่ เพราะ คสช. ยังมีอำนาจพิเศษตามมาตรา 44 ในเลื่อนเลือกตั้งได้ และอำนาจพิเศษนี้จะอยู่ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะตั้งรัฐบาลใหม่ได้
และเมื่อมีกลุ่มนักเคลื่อนไหวออกมาเรียกร้องการเลือกตั้ง สิ่งที่ คสช. กระทำคือ การใช้กฎหมายปราบปรามการใช้เสรีภาพของผู้เรียกร้อง นับตั้งแต่เดือนมกราคม 2561 กลุ่มคนอยากเลือกตั้งได้ออกมาเรียกร้องให้ คสช. จัดการเลือกตั้งภายในเดือนพฤศจิกายน 2561 มีการจัดชุมนุมทั้งหมดไม่น้อยกว่าหกครั้ง และ คสช.ก็ดำเนินคดีผู้จัดการชุมนุมและผู้เข้าร่วมชุมนุมในทุกครั้งต่างกรรมต่างวาระเช่น ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116, พ.ร.บ.ชุมนุมฯ และคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 เป็นต้น
6) ประเทศที่มีความสามารถเสกกฎหมายกลายเป็นข้ออ้างหลังรัฐประหาร คสช. ใช้อำนาจพิเศษออกประกาศหรือคำสั่งเพื่อควบคุมสถานการณ์ทางการเมือง จำนวนมาก นับถึงวันที่ 21 กันยายน 2561 คสช. ออกประกาศ 128 ฉบับ ออกคำสั่ง 213 ฉบับ และออกคำสั่งหัวหน้า คสช. 194 ฉบับ รวมแล้วมีจำนวนมากถึง 535 ฉบับ ในจำนวนนี้มีการออกคำสั่งจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนโดยตรงอย่างน้อย 35 ฉบับ คำสั่งที่สำคัญ คือ คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 เป็นเครื่องมือให้อำนาจทหารเข้าปราบปรามผู้เห็นต่างได้แทนกฎอัยการศึก ให้ทหารมีอำนาจเรียกบุคคลมารายงานตัวและคุมขังได้เจ็ดวันหรือที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่า เป็นการปรับทัศนคติ
ในข้อ 12 ของคำสั่งนี้ยังสั่งห้ามการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปด้วย ซึ่งกลายเป็นข้ออ้างที่เจ้าหน้าที่รัฐนำมาใช้ในการแทรกแซงหรือจำกัดเสรีภาพการแสดงออกมาตลอดกว่าสามปีนับแต่มีการประกาศใช้ โดยมีประชาชนไม่น้อยกว่า 421 คนถูกดำเนินคดีฐานฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ข้อนี้ เนื้อหาการแสดงออกส่วนใหญ่ที่ถูกห้ามจะเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบต่ออำนาจเบ็ดเสร็จของ คสช. อย่างมีนัยสำคัญ เช่น การแสดงความคิดเห็นต่อเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ
7) ประเทศที่รัฐบาลไม่มีใครกล้าลบหลู่ตลอดเวลากว่าสี่ปีที่ผ่านมา คสช. ใช้กฎหมายทั้งที่มีการบัญญัติใช้ไว้ก่อนหน้ารัฐประหารและตราขึ้นใหม่โดย คสช.ในการปราบปรามการใช้เสรีภาพการแสดงออกของประชาชน จากการเก็บข้อมูลพบว่า มีผู้ถูกกล่าวหาว่า หมิ่นประมาทพระกษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ไม่น้อยกว่า 94 คน, ยุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ไม่น้อยกว่า 91 คน และชุมนุมทางการเมืองตามประกาศ คสช.ที่ 7/2557 และคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ไม่น้อยกว่า 421 คน
ในส่วนของการวิพากษ์วิจารณ์ คสช. ก็มีตั้งแต่วิจารณ์การทำงานและผลงานของ คสช., การคอร์รัปชั่น, คำพิพากษาคดีจำนำข้าวของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ไปจนถึงการแชร์ภาพกระเป๋าของนราพร จันทร์โอชา ภรรยาหัวหน้า คสช. ข้อกฎหมายหลักที่นำมาใช้คือ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เช่น คดีพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ของวัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทย จากการวิจารณ์บ้านเมืองในยุค คสช.และการให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.ประวิตร กรณีทหารไปตามถ่ายรูปยิ่งลักษณ์ ชินวัตรว่า ไม่ให้เกียรติและเหยียดหยามทางเพศ คดีนี้ศาลชั้นต้นยกฟ้อง หรือคดียุยงปลุกปั่นประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ของ 8 แอดมินเพจเรารักพลเอกประยุทธ์ ที่มีการโพสต์ภาพเสียดสีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และการโพสต์ภาพวิพากษ์วิจารณ์แนวขำขันต่อกรณีข้อกล่าวหาการคอร์รัปชั่นในโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์
อาจกล่าวได้ว่า การบังคับใช้กฎหมายอย่างหนักหน่วง ของ คสช.ที่มีต่อผู้เห็นต่างที่วิพากษ์วิจารณ์ ทำให้ คสช.กลายเป็นสถาบันที่แตะต้องไม่ได้โดยปริยาย
เผยแพร่ครั้งแรกใน: iLaw: โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน [1]
| ['บทความ', 'การเมือง', 'วัฒนธรรม', 'สิทธิมนุษยชน', 'iLaw', 'โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน', 'ประเทศกูมี'] |
https://prachatai.com/print/79318 | 2018-10-26 23:57 | “เหยื่อ” สองตลบในสื่อออนไลน์ |
“หากอยากรู้ว่าประชากรของประเทศไหนมีคุณภาพอย่างไร ให้ศึกษาจากสิ่งที่พวกเขาอ่าน”
ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาหลังจากที่สื่อออนไลน์เจ้าหนึ่งนำเสนอข่าวผู้โดยสารร้องเรียนกัปตันที่ระบุว่าเป็นต้นเหตุให้เที่ยวบินดีเลย์กว่า 2 ชม. จนตนเองต้องเสียสละที่นั่งให้แก่นักบินเพื่อให้เที่ยวบินนี้เดินทางได้ กระแสสังคมที่โหมกระหน่ำโจมตีนักบินในโลกออนไลน์ ประกอบการช่วงชิงข้อมูลข่าวสารที่เน้น ‘ความไว’จนแทบไม่มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงและค้นหาต้นสายปลายเหตุของเรื่องราวที่แท้จริงนั้น ส่งผลให้นักบินได้กลายเป็น 'จำเลย' ของสังคมไปโดยปริยาย
แต่นั้นแหละไม่อาจปฏิเสธได้ว่าภาพติดลบในสายตาของคนในสังคมทั่วไปเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เหตุการณ์ดังกล่าวยิ่งเหมือนการเติมเชื้อไฟให้แก่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแม้ว่าจะมีการชี้แจงจากนักบินหลายท่านในโลกออนไลน์ แต่ดูเหมือนว่าไม่อาจทัดทานกระแสสที่สังคมได้พิพากษาความผิดนี้ให้แก่กลุ่มนักบินไปเรียบร้อยแล้ว
และเมื่อวันพุธที่ผ่านมาไทยรัฐออนไลน์นำเสนอข่าวเกี่ยวกับรายได้ของนักบินและลูกเรือ ยิ่งเป็นไฟที่โหมกระหน่ำเข้าไปอีก โดยไทยรัฐระบุว่า
ในปี 2560 รายได้เฉลี่ยของนักบินอยู่ที่ 6.01 ล้านบาทต่อปี เมื่อหารเฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ประมาณ 5 แสนบาทลูกเรือมีรายได้เฉลี่ยในปี 2560 อยู่ที่ 3.05 ล้านบาทต่อปี เฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ 2.54 แสนบาท
ข่าวนี้เท่ากับเป็นการสาดน้ำมันลงไปในกองเพลิงที่กำลังโหมกระหน่ำนักบินอยู่ในกระแสความสนใจของชาวเน็ตไทยอีก
“แล้วผมจะชี้แจงภรรยาที่บ้านยังไง ต้องถูกข้อหาซุกเงินอีกเท่าตัว” กัปตันณเดช ใจเพชร
“สรรพากรด้วย ต้องตามมาถึงบ้านแน่ๆ มันเท่ากับว่าเรายื่นแบบเสียภาษีเท็จอ่ะพี่” นักบินเสือ ใจเสาะ
“สรรพากรกูไม่กลัว กูกลัวเมียมากกว่า” กัปตันณเดช แจง
“อยากมีรายได้เข้าซองเงินเดือนอย่างที่ไทยรัฐนำเสนอจังค่ะ ดิฉันจะเอาไปใช้หนี้สินที่กู้ยืมจากธนาคารมาให้หมด” แอร์โฮสเตสหน้าใสคนหนึ่ง
“เพื่อนคนนอกโทรมาเมื่อกี้ ดูอิจฉาตาร้อนมากค่ะ สะใจๆ ว่าแต่จะมีคนมายืมเงินไหมคะ” ป้าแอร์คนนึงดูมีอารมณ์ขัน
คลื่นกระแทกจากข่าวนี้ ดูเหมือนทีท่าทางฝั่งนักบินจะกลัวความสับสนของทางบ้านมากกว่า ในขณะที่ลูกเรือกลับอยากให้มีรายได้แบบที่ไทยรัฐออนไลน์เสนอ เพราะเอาเข้าจริงๆแล้ว ในส่วนของลูกเรือรายได้ต่ำกว่าที่ไทยรัฐออนไลน์เสนอเกินกว่าครึ่ง!!! โดยเฉพาะฐานเงินเดือนที่อยู่ในระดับไม่กี่หมื่น ในขณะที่รายได้หลักผูกติดกับเบี้ยเลี้ยง นั่นหมายถึง “ไม่บิน ก็ไม่ได้”
โดยเฉลี่ยลูกเรือมีรายได้เพียงหลักหมื่นปลายๆ รวมต่อหัวต่อปี มีรายได้ประมาณเฉียดล้านบาท (แล้วแต่อายุงาน) นั่นหมายถึงรายได้ในส่วนลูกเรือต่ำกว่าที่ไทยรัฐออนไลน์เสนอถึง 60-70%
มาดูรายได้ของนักบินตัวเป็นๆ กันครับ
นักบินในประเทศไทยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม
1. กลุ่มนักบินผู้ช่วย หรือ Co-pilot
1.1 นักบินผู้ช่วยใหม่ รายได้เฉลี่ยประมาณ 100,000 บาท/เดือน
1.2 นักบินผู้ช่วยอายุงาน 5-10 ปี รายได้เฉลี่ยประมาณ 150,000 บาท/เดือน
2. กลุ่มกัปตัน
2.1 กัปตันทั่วไป อายุงานต่ำกว่า 10 ปี รายได้เฉลี่ยประมาณ 2-250,000 บาท/เดือน
2.2 กัปตันทั่วไป อายุงานมากกว่า 10 ปี รายได้เฉลี่ยประมาณ 2.5-350,000 บาท/เดือน
2.3 กัปตันนักบริหารมากประสบการณ์ รายได้เฉลี่ยประมาณ ???,???,??? บาท/เดือน
เราลองมาคำนวนกันเล่นๆนะครับ
ตามที่ไทยรัฐออนไลน์รายงานตัวเลขรายได้ในครั้งแรกจากสายข่าวภายใน ระบุว่า
ปี 2560 ผลตอบแทนพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน 18,551 ล้านบาท ซึ่งมีพนักงานทั้งหมด 6,081 คน ไทยรัฐออนไลน์เฉลี่ยให้ พนักงานต้อนรับมีรายได้ต่อหัวต่อปีอยู่ที่ 3.05 ล้านบาท หรือเฉลี่ยอยู่ที่ 254,000 คนต่อเดือน
แต่ในความเป็นจริงปัดให้เป็นเลขกลมๆคิดง่ายๆ ให้พนักงานต้อนรับมีรายได้เฉลี่ยที่เดือนละ 1 แสนบาทต่อเดือน ดังนั้นพนักงานต้อนรับจะมีรายได้เพียงแค่ 1,200,000 บาท/คน/ปี คูณกับจำนวนพนักงานต้อนรับ 6,081 คน เป็นงบประมาณในปี 2560 เท่ากับ 7,298 ล้านบาทต่อปีเท่านั้น!!!
ต่างจากตัวเลขที่ไทยรัฐออนไลน์นำเสนอครั้งแรกถึง 11,000 ล้านบาทต่อปี
ภายหลังไทยรัฐออนไลน์ได้แก้ไขข่าวของตัวเอง โดยการปรับลดตัวเลขของพนักงานต้อนรับเหลือ 8,250 ล้านบาทต่อปี
ในส่วนของนักบิน ไทยรัฐออนไลน์เสนอข่าวในครั้งแรกว่า ผลตอบแทนนักบินในปี 2560 อยู่ที่ 8,250 ล้านบาทต่อปี ต่อจำนวนนักบินทั้งหมด 1,371 คน จึงทำให้นักบินมีรายได้เฉลี่ยต่อหัว / ปีตามที่ไทยรัฐรายงานที่ 6.01 ล้านบาทต่อปี หรือเฉลี่ยต่อเดือนที่ 5 แสนบาทต่อเดือนนั้น
หากเราเจาะลงไปที่รายละเอียดตามที่แจกแจงข้างต้นว่า นักบินแยกออกเป็น 5 กลุ่ม แต่ละกลุ่มมีรายได้ไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับตำแหน่งงานและอายุงาน เราลองไปดูจำนวนนักบินต่อกลุ่มโดยสังเขปกันนะครับ
นักบินตามที่ไทยรัฐรายงานมีจำนวนทั้งหมด 1,371 คน แยกเป็น นักบินผู้ช่วยหรือ Co-pilot จำนวน 685 คน กัปตัน 686 คน แยกเป็น
- นักบินผู้ช่วยใหม่ที่มีอายุงานต่ำกว่า 10 ปี จำนวน 342 คน มีรายได้ต่อปีประมาณ 1.2 ล้านบาทต่อปีต่อคน รวม 410,400,000 บาทต่อปี
- นักบินผู้ช่วย ที่มีอายุงานมากกว่า 5 ปี จำนวน 343 คน มีรายได้ต่อปีประมาณ 1.8 ล้านบาทต่อปีต่อคน รวม 617,400,000 บาทต่อปี
- กัปตันใหม่ อายุงานน้อยกว่า 10 ปี จำนวน 320 คน (คิดที่สูงสุด 250,000 บาทต่อเดือน) มีรายได้ต่อปีประมาณ 3 ล้านบาท รวม 960 ล้านบาทต่อปี
- กัปตันอาวุโส อายุงานมากกว่า 10 ปี จำนวน 320 คน (350,000 บาทต่อเดือน) มีรายได้ต่อปี 4.2 ล้านบาท รวม 1,344 ล้านบาทต่อปี
- กัปตันนักบริหารมากประสบการณ์ เป็นจำนวนที่เหลือ
รวมรายได้ต่อปีของนักบินโดยประมาณ 3,331.8 ล้านบาทต่อปี ต่างจากที่ไทยรัฐนำเสนอครั้งแรกถึง 4,918.2 ล้านบาท!!! (ครั้งแรกไทยรัฐนำเสนอที่ 8,250 ล้านบาท)
ในขณะที่ไทยรัฐออนไลน์ได้ทำการแก้ไข ผลตอบแทนนักบินในปี 2560 ใหม่ภายหลังเป็น 6,319 ล้านบาท ซึ่งก็แตกต่างจากจำนวนที่คำนวนแบบแยกหมวดหมู่โดยประมาณถึง 3 พันล้านบาท!!!
ตัวเลขและที่มาของรายได้นักบินข้างต้น ถูกแก้ไขถึง 2 ครั้ง ไทยรัฐควรจะออกมาชี้แจงอย่างโปร่งใสถึงที่มาของตัวเลขเหล่านี้เพื่อป้องกันความสับสนของสังคม และหากที่มาของรายได้นักบินจากแหล่งข่าวของไทยรัฐถูกต้อง จะเกิดประเด็นใหม่ว่า งบประมาณผลตอบแทนด้านรายได้นักบิน/ลูกเรือของบริษัท หักลบกับรายรับโดยประมาณการ ส่วนต่างหลักหลายพันล้านหายไปอยู่ที่ใด ใครอมเงินที่ควรจะเป็นรายได้นี้
อนึ่ง เราลองไปดูเงินเดือนของสายการบินต่างๆที่จ่ายให้นักบิน (ตัวเลขนี้ไม่อัพเดท น่าจะหลายปีที่ผ่านมา แต่อันดับล่างๆไม่มีความเปลี่ยนแปลงมากนัก)
1. สายการบินหางฟ้าบูติก 490,000 ต่อเดือน
2. สายการบินหางแดงน้องใหม่มาแรง 483,000 ต่อเดือน
3. สายการบินหัวสิงห์ 478,080 ต่อเดือน
4. สายการบินหางแดง 460,000 ต่อเดือน
5. สายการบินยิ้มได้ 400,000 ต่อเดือน
6. สายการบินสีเหลือง 379,000 ต่อเดือน
7. สายการบินหางม่วง 365,000 ต่อเดือน
มีข้อเท็จจริงบางอย่างที่ไทยรัฐอาจจะไม่ทราบว่า เหตุใดสายการบินอันดับสุดท้ายไม่ปรับรายได้นักบินมานานนับสิบปี ในขณะที่สายการบินอื่นทั้ง 6 สายการบินปรับรายได้นักบินตลอดเวลาตามการแข่งขันของตลาดศึกชิงตัวนักบิน จึงทำให้รายได้ของนักบินของสายการบินโลว์คอสท์อื่นๆถีบตัวสูงขึ้นตามความต้องการของตลาด?
คำตอบ คือสัญญาผูกมัดนักบินที่ถูกเรียกว่าสัญญาทาส!!! นักบินผู้ช่วยมีสัญญาผูกพันกับสายการบิน 8 ปี หากออกก่อนต้องจ่ายค่าปรับเป็นจำนวนเงินสูงถึง 8 ล้านบาท โดยมีการลดหย่อนตามจำนวนปี (การลงทุนอยู่ที่ประมาณ 2 ล้านบาท ++) ปัจจุบันมีการขยายสัญญาจาก 8 ปี เป็น 10 ปี โดยไม่มีเหตุผล
ส่วนกัปตันมีสัญญาหนี้ผูกพัน 8 ปี คิดค่าปรับเป็นจำนวนเงินสูงถึง 12 ล้านบาท โดยมีการลดหย่อนเป็นขั้นบันได (การลงทุนมีเพียงค่าฝึกอบรมในชั้นเรียน, ฝึกใน Simulator และค่าครูฝึกบิน คิดเป็นจำนวนเงินน้อยกว่าฝึกนักบินใหม่มาก)
นี่คือสัญญาทาสที่ทำให้นักบินใหม่และกัปตันใหม่ไม่สามารถลาออกหรือเปลี่ยนงาน (ตามที่ชาวเน็ตไทยชอบพูดประชดว่า “ไม่พอใจก็ลาออกไป”) นักบินเหล่านี้ติดสัญญาทาสคิดเป็นจำนวนปีได้สูงถึง 16-18 ปี!!!!
ดังนั้น กลไกตลาด (ตลาดนักบิน) จึงทำงานเฉพาะ 6 สายการบินข้างต้น ในขณะที่สายการบินอันดับสุดท้ายมีการปรับรายได้น้อยมากหรือแทบไม่ต้องปรับเลยก็สามารถที่จะ Oprerate ได้ตามปกติ
ดังนั้น การนำเสนอข่าวสารของไทยรัฐออนไลน์จึงอาจเกิดจากข้อเท็จจริงที่คลาดเคลื่อน หรือมีแหล่งข่าวภายในที่จงใจให้ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนเพื่อหวังผลบางประการจากสังคมที่กำลังมีอคติกับกลุ่มนักบิน และลูกเรือ
กระแสข่าวช่วงที่ผ่านมาทำให้เราควรหันมาตั้งคำถามกับการทำงานของสื่อไทยในปัจจุบันว่า การให้คุณค่าของการทำงานข่าว พวกเขายึดถืออะไรเป็นหลัก ระหว่างการนำเสนอข้อเท็จจริงอย่างตรงไปตรงมาทั้งสองด้านเพื่อให้สังคมรับรู้ กับการนำเสนอเพื่อเรียกยอดไลค์และคอมเมนต์จากสังคมเท่านั้น
ย้อนเวลากลับไปในยุคแรกของนักหนังสื่อพิมพ์ข่าวสารไทย นักหนังสือพิมพ์รุ่นแรกๆของสยามประเทศอย่างก.ศ.ร.กุหลาบ, เทียนวรรณ, กุหลาบ สายประดิษฐ์, กรุณา กุศลาสัยเหล่านี้ล้วนเป็นนักเขียนนักหนังสือพิมพ์ที่กล้าจะนำเสนอข้อเท็จจริง วิพากษ์สังคมเพื่อให้สังคมมีความก้าวหน้าทัดเทียมกับโลกตะวันตก ต่างกับในปัจจุับนที่สื่อกลายมาเป็นเครื่องมือของคนบางกลุ่ม หรือกลายเป็นเครื่องมือในการสร้างรายได้ของกลุ่มนายทุนด้วยการนำเสนอข่าวที่เพื่อให้เป็นกระแสสังคมเรีกยยอดไลค์และโฆษณาแทนการนำเสนอความจริงอย่างรอบด้าน เพื่อให้สังคมเข้าใจและรับรู้ข้อเท็จจริงในเรื่องต่างๆ
อดคิดไม่ได้ว่าหากเรื่องนี้เกิดขึ้นในยุค ก.ศ.ร.กุหลาบ ยุคเทียนวรรณ หรือยุคกุหลาบ สายประดิษฐ์ ระหว่างรายได้ของกัปตันเรือกลไฟฝรั่งเศสที่เทียบท่าราชวรดิษฐ์ กับการแก้ไขปัญหาการกระจายรายได้ของรัฐไทยที่กระจุกตัวในหมู่ชนชั้นนำกับประชาชนทั้งประเทศ ผมเชื่อว่าปรมาจารย์ของนักหนังสือพิมพ์ที่ได้รับการยกย่องในอดีต น่าเลือกที่จะสนใจวิพากษ์วิจารณ์การกระจายรายได้ของรัฐไทยที่มีปัญหามากกว่า คงจะไม่มีนักเขียนปากคมคนไหนไปสนใจว่ากัปตันเรือกลไฟฝรั่งเศสหรืออังกฤษ คนไหนรายได้ดีกว่ากัน เพราะมันคงไม่ได้ทำให้ปากท้องของคนไทยดีขึ้นหรอครับ
| ['บทความ', 'เศรษฐกิจ', 'สังคม', 'สิทธิมนุษยชน', 'กัปตันปาร์ค ชาตง', 'สื่อออนไลน์', 'ไทยรัฐ'] |
https://prachatai.com/print/79319 | 2018-10-27 09:17 | การจ้างงาน ‘ฟรีแลนซ์’ กำลังคุกคามคนทำงานสื่อมวลชนในยุโรป |
ยุโรปถือเป็นภูมิภาคที่มีการจ้างงานและสวัสดิการให้กับคนทำงานดีที่สุดของโลก ตามหนึ่งในหลักการของ European Pillar of Social Rights (EPSR) ระบุไว้ว่า "คนงานมีสิทธิที่จะได้ค่าจ้างที่ยุติธรรมเพื่อสร้างมาตรฐานการครองชีพที่ดี ความยากลำบากจากการทำงานจะต้องได้รับการป้องกัน" แต่ปัจจุบันปัญหา 'การจ้างงานไม่มั่นคง' กำลังคุกคามภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะการจ้างงาน ‘แรงงานฟรีแลนซ์’ (freelance worker) ในหลายอุตสาหกรรมซึ่งรวมถึงภาคสื่อมวลชน กำลังมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น
ดัชนีเสรีภาพสื่อมวลชนโลกปี 2561 (2018 World Press Freedom index) ที่ตีพิมพ์ในเดือน เม.ย. 2561 ระบุว่ายุโรปเป็นภูมิภาคที่สัดส่วนมาตรฐานด้านเสรีภาพลดลงมากที่สุดเมื่อเทียบกับทุกภูมิภาค ซึ่งหนึ่งในปัญหาใหญ่ที่ผู้สื่อข่าวในยุโรปกำลังเผชิญก็คือการจ้างงานที่ไม่มั่นคงและค่าแรงที่ต่ำ
มีงานศึกษาและสำรวจหลายชิ้นที่ระบุว่าการจ้างงานฟรีแลนซ์ ซึ่งมีลักษณะของการเป็น ‘แรงงานรับจ้างตนเอง’ (self-employed) เพิ่มมากขึ้นในแวดวงสื่อมวลชน ส่งผลให้ ‘ช่องว่างของรายได้และความมั่นคง’ ระหว่างผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์และผู้สื่อข่าวที่เป็นพนักงานประจำ ถ่างมากขึ้นด้วย
"การทำงานแบบนี้กลายเป็นงานอดิเรก มันไม่ใช่อาชีพที่มีค่าตอบแทนตามความเป็นจริง" - ผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์ชาวอังกฤษท่านหนึ่งกล่าว
สหราชอาณาจักร เมื่อปี 2559 เว็บไซต์ Journalism.co.uk ได้ทำแบบสำรวจผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์จำนวน 310 คน มากกว่า 2 ใน 3 ระบุว่าการประกอบอาชีพผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์นี้เป็นรายได้หลักของตนเพียงอย่างเดียว ประมาณร้อยละ 40 เป็นกลุ่มคนยุค 'มิลเลเนียม' คือมีอายุระหว่าง 18-34 ปี และอีก 1 ใน 3 มีอายุระหว่าง 35-44 ปี ผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์ส่วนใหญ่ระบุในแบบสอบถามว่ามีความกังวลใจเรื่องความไม่มั่นคงในการทำงานและรายได้ที่ต่ำ
ทั้งนี้ค่ามัธยฐานของรายได้ผู้ประกอบอาชีพนักหนังสือพิมพ์ (ทั้งผู้สื่อข่าวและกองบรรณาธิการที่เป็นพนักงานประจำ) จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติเมื่อปี 2558 อยู่ที่ 31,294 ปอนด์ต่อปี (ประมาณ 1.32 ล้านบาทต่อปี) แต่ผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์ผู้ตอบแบบสอบถามของ Journalism.co.uk เมื่อปี 2559 ร้อยละ 10 ระบุว่าพวกเขามีรายได้ระหว่าง 30,000-39,000 ปอนด์ต่อปี (ประมาณ 1.27-1.65 ล้านบาทต่อปี) ร้อยละ 21 มีรายได้ 10,000-19,999 ปอนด์ (ประมาณ 422,000-845,000 บาทต่อปี) และร้อยละ 33.9 มีรายได้ไม่ถึง 10,000 ปอนด์ต่อปี (ประมาณ 422,000 บาทต่อปี)
แผนภูมิแสดงรายได้ของผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์ในสหราชอาณาจักรเมื่อปี 2558 จากการสำรวจของ Journalism.co.uk
ข้อมูลนี้สอดคล้องกับงานวิจัยของสหภาพสื่อมวลชนแห่งสหราชอาณาจักรและไอร์แลนด์ (NUJ) ที่เผยแพร่เมื่อปี 2558 ระบุว่ากว่าร้อยละ 50 ของผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์ได้รับความยากลำบากเนื่องจากรายได้ที่ต่ำ และเกือบร้อยละ 90 ระบุว่าพวกเขาไม่ได้รับการขึ้นค่าแรงในรอบปีที่ผ่านมา
แม้ผู้ตอบแบบสอบถามของ Journalism.co.uk ประมาณร้อยละ 60 จะเป็นผู้หญิง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงสัดส่วนเพศหญิงที่มีอยู่มากในภาคสื่อมวลชนของสหราชอาณาจักร แต่กระนั้นพวกเธอก็ยังต้องเผชิญกับปัญหา ‘ช่องว่างรายได้ระหว่างเพศ’ (gender pay gap) อีกเช่นเคย เมื่อโดยเฉลี่ยแล้วผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์ผู้หญิงที่ตอบแบบสอบถาม มีรายได้ประมาณ 10,000-19,999 ปอนด์ต่อปี (ประมาณ 422,000-845,000 บาทต่อปี) เทียบกับผู้ชายที่มีรายได้ประมาณ 20,000-30,000 ปอนด์ต่อปี (ประมาณ 845,000 บาท-1.27 ล้านบาทต่อปี)
ส่วนข้อมูลจากอีกแหล่งเมื่อปี 2560 ระบุว่าว่าร้อยละ 14 ของผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์มีรายได้น้อยกว่า 5,700 ยูโรต่อปี (ประมาณ 214,000 บาทต่อปี) ขณะที่ร้อยละ 2 มีรายได้มากกว่า 85,000 ยูโรต่อปี (ประมาณ 3.2 ล้านบาทต่อปี) รวมทั้งรายได้ผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์ลดลงอย่างมากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานี้
เยอรมนี มีการศึกษาของมหาวิทยาลัยลุดวิก แมกซิมิเลียน แห่งมิวนิค (Ludwig Maximilian University of Munich: LMU Munich) พบว่าผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์แม้จะมีการศึกษาสูงแต่กลับได้ค่ารับตอบแทนต่ำกว่าผู้สื่อข่าวที่เป็นพนักงานประจำ โดยร้อยละ 83 ของผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์ในเยอรมนีมีการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย (ตัวเลขนี้เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 91 ในหมู่ผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์ผู้หญิง) ส่วนผู้สื่อข่าวที่เป็นพนักงานประจำมีเพียงร้อยละ 74.1 เท่านั้น และ 1 ใน 3 ของผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์ทำอาชีพนี้ควบคู่ไปกับการทำอาชีพอื่น
เบลเยียม งานวิจัยของสมาคมนักข่าวเบลเยียม (Association des journalistes professionnels: AJP) ระบุว่าในภูมิภาคที่พูดภาษาฝรั่งเศสของเบลเยียม ผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์ได้รับค่าตอบแทนต่ำมาก อย่างรายงานข่าวในหนังสือพิมพ์รายวันพวกเขาได้ค่าเรื่องเพียง 20 ยูโร (ประมาณ 750 บาท) รายงานขนาดยาวที่ตีพิมพ์หลายตอนได้ค่าเรื่องประมาณ 120-150 ยูโร (ประมาณ 4,500-5,600 บาท) ส่วนรายงานข่าวผ่านรายการทีวีได้ชิ้นละประมาณ 125 ยูโร (ประมาณ 4,700 บาท) นอกจากนี้การสำรวจผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์ที่พูดภาษาดัตช์ในเขตฟลามส์ (Flanders - เขตปกครองทางตอนเหนือของเบลเยียม) เมื่อปี 2560 พบว่าค่าจ้างผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์ยิ่งต่ำลงลดลง ในนิตยสารเฉพาะทางและเว็บไซต์ต่างๆ เช่น หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นหรือสื่อด้านการท่องเที่ยว นอกจากนี้ยังพบว่าผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์ยังถูกใช้งานแบบอาสาสมัคร (ไม่ได้รับเงินตอบแทน) อีกด้วย
สเปน เกือบร้อยละ 45 ของผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์มีรายได้น้อยกว่า 1,000 ยูโรต่อเดือน (ประมาณ 37,500 บาทต่อเดือน) ซึ่งตัวเลขนี้ยังมีเรื่องช่องว่างรายได้ระหว่างเพศแฝงอยู่ โดยร้อยละ 51 ของผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์ผู้หญิงได้ค่าแรงต่ำมาก เมื่อเทียบกับผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์ผู้ชายที่ร้อยละ 26 ทั้งนี้สถานีโทรทัศน์ในสเปนสเปนจ่ายเงินระหว่าง 200-400 ยูโร (ประมาณ 7,500-15,000) ต่อสกู้ปข่าวหนึ่งชิ้น
ฝรั่งเศส จากการสำรวจของสหภาพแรงงานผู้สื่อข่าวแห่งชาติ (Snj-CGT) พบว่ามีผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์ประมาณ 6,500 คน ที่มีบัตรสื่อมวลชน (press cards) แม้ผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์จำนวนหนึ่งจะไม่ผ่านเกณฑ์รับรองอย่างเป็นทางการ แต่กระนั้นจำนวนนี้ก็เป็นสัดส่วนถึง 1 ใน 4 ของผู้ถือบัตรสื่อมวลชนในฝรั่งเศส โดยปี 2560 ที่ผ่านมาร้อยละ 66 ของได้รับอนุญาตถือบัตรสื่อมวลชนรายใหม่เป็นผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์ ข้อมูลที่น่าสนใจอีกหนึ่งประการก็คือกว่าร้อยละ 57 ของผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์มีอายุเกิน 35 ปีขึ้นไปแล้ว
ผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์ที่มีบัตรสื่อมวลชนมีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนที่ 1,969 ยูโร (ประมาณ 74,000 บาท) เทียบกับผู้สื่อข่าวที่เป็นพนักงานประจำที่ 3,549 ยูโร (ประมาณ 133,000 บาท) ทั้งนี้รายได้เฉลี่ยต่อเดือนของผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์ (ที่มีบัตรสื่อมวลชน) ลดลงจากปี 2543 ที่เคยได้อยู่ที่ 2,058 ยูโร (ประมาณ 77,000 บาท) นอกจากนี้พบว่ายังมีผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์อีกจำนวนมากที่ไม่มีบัตรสื่อมวลชน บางคนต้องทำงานมากกว่า 70 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เพื่อแลกกับรายได้เพียงหลักร้อยยูโร
อิตาลี สถาบันคุ้มครองทางสังคมสื่อมวลชนแห่งชาติ (INPGI) ระบุว่าผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์มีถึงร้อยละ 65 ของผู้สื่อข่าวทั้งหมดในประเทศ ข้อมูลในปี 2558 พวกเขามีรายได้เฉลี่ยต่อปี 11,241 ยูโร (ประมาณ 420,000 บาท) ซึ่งเป็นตัวเลขเพียง 1 ใน 5 เมื่อเทียบกับผู้สื่อข่าวที่เป็นพนักงานประจำ และผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์ประมาณร้อยละ 83 ยังมีรายได้เฉลี่ยต่อปีน้อยกว่า 10,000 ยูโร (ประมาณ 370,000 บาท) ด้วยซ้ำ
ข้อมูลประกอบการเขียน
Exploitation of freelance journalists is a threat to our democracy (Renate Schroeder, Director of the European Federation of Journalists, Europeanjournalists.org, 30 April 2018) [1]How much do freelance journalists really earn? (Journalism.co.uk, 28 July 2016) [2]
| ['รายงานพิเศษ', 'แรงงาน', 'ต่างประเทศ', 'ฟรีแลนซ์', 'แรงงานชั่วคราว', 'การจ้างงานไม่มั่นคง', 'ยุโรป', 'สื่อมวลชน', 'อังกฤษ', 'เยอรมนี', 'ฝรั่งเศส', 'สเปน', 'เบลเยียม', 'อิตาลี', 'ผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์'] |
https://prachatai.com/print/79323 | 2018-10-27 10:28 | ผู้พิพากษาไทยลงมติครั้งประวัติศาสตร์ ถอดถอนกรรมการตุลาการ | ผู้พิพากษาไทยลงมติครั้งประวัติศาสตร์ 3,165 จากทั้งหมด 4,635 เสียง ให้ถอดถอน ‘ชำนาญ รวิวรรณพงษ์’ พ้นตำแหน่งกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมผู้ทรงคุณวุฒิ หลังถูกกล่าวหาว่าแทรกแซงการพิจารณาคดีของศาลชั้นต้นในศาล จ.ฉะเชิงเทรา
ที่มาภาพประกอบ: Legal Justice League by pixbymaia (CC BY-NC-ND 2.0) [1]
เมื่อวันที่ 26 ต.ค. 2561 ที่ผ่านมา เว็บไซต์ข่าวสด [2] รายงานว่าที่สำนักงานศาลยุติธรรมชั้น 12 อาคารศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก นายวรวิทย์ ทองมาลา เลขานุการศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง เป็นประธานการตรวจนับคะแนนการ ถอดถอน นายชำนาญ รวิวรรณพงษ์ ประธานแผนกคดีล้มละลายในศาลฎีกา ออกจากตำแหน่งกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมผู้ทรงคุณวุฒิ (ก.ต.) หลังถูกกล่าวหาว่าแทรกแซงการพิจารณาคดีของศาลชั้นต้นในศาลจังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งผลการนับคะแนนปรากฎว่า เห็นชอบให้ถอดถอน 3,165 คะแนน ไม่เห็นชอบให้ถอดถอน 193 คะแนน บัตรเสีย 190 บัตร
นายสุริยัณห์ หงษ์วิลัย โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวว่าสำนักงานศาลยุติธรรม ได้ตรวจนับคะแนนจากผู้พิพากษาทั่วประเทศที่ส่งบัตรคืนกลับมาเพื่อร่วมยื่น ถอดถอน ทั้งสิ้น 3,548 คนจากผู้พิพากษาทั้งหมด 4,635 คน หากผลการนับคะแนน เกิน 2,318 คนหรือกึ่งหนึ่งของผู้พิพากษาทั่วประเทศ จะมีผลทำให้นายชำนาญ ต้องพ้นจากตำแหน่ง ก.ต.ทันที โดยจะมีผลตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวว่าจํานวนคะแนนเสียงที่ลงมติเห็นชอบให้ ถอดถอน ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของข้าราชการตุลาการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ ดังนั้น นายชํานาญ ต้องพ้นจากตําแหน่งก.ต. ตามพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 มาตรา 42 นับตั้งแต่วันที่ 26 ต.ค. 2561 เป็นต้นไป อันเป็นวันที่นับคะแนนเสร็จสิ้น ตามระเบียบคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมว่าด้วยการเข้าชื่อและการลงมติ เพื่อถอดถอนกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมผู้ทรงคุณวุฒิ พ.ศ. 2544 ข้อ 17
นายสืบพงษ์ ศรีพงษ์กุล อธิบดีผู้พิพากษาภาค 2 ตัวเเทนผู้เข้าชื่อร้อง ถอดถอน ก.ต. กล่าวว่าเป็นชัยชนะของศาลยุติธรรมที่มุ่งปกป้องความเป็นอิสระของศาล ไม่ใช่ชัยชนะของศาลจังหวัดฉะเชิงเทราหรือผู้เข้าร่วมถอดถอน
"ครั้งนี้ถือเป็นครั้งเเรก การลงคะเเนนเสียง 3,165 คะเเนนซึ่งเป็นเสียงส่วนใหญ่ของผู้พิพากษา ทำให้เห็นว่าศาลยุติธรรมให้ความสำคัญกับหลักความเป็นอิสระ ประชาชนจะได้มั่นใจว่าจะได้รับการพิจารณาที่เที่ยงธรรม ปราศจากการเเทรกเเซง เเม้จะเป็นผู้พิพากษาด้วยกันเองก็ต้องถูกลงโทษ" นายสืบพงษ์ระบุ
นายสืบพงษ์ กล่าวถึงกรณีโดนนายชำนาญ เเจ้งความเอาผิดว่าเข้าใจว่าขั้นตอนอยู่ในชั้นพนักงานสอบสวน ซึ่งยังไม่มีการทำหนังสือเชิญหรือออกหมายเรียกมายังตน ซึ่งตนไม่หวั่นวิตกเเละเชื่อมั่นว่าเราทำในสิ่งที่ถูกต้องตามกฎหมายเเละระเบียบ
| ['ข่าว', 'การเมือง', 'สังคม', 'คุณภาพชีวิต', 'ชำนาญ รวิวรรณพงษ์', 'ผู้พิพากษา', 'กรรมการตุลาการศาลยุติธรรมผู้ทรงคุณวุฒิ', 'กระบวนการยุติธรรม'] |
https://prachatai.com/print/79320 | 2018-10-27 09:33 | เสวนาสมาคมนักข่าวชี้ พ.ร.บ.ความมั่นคงไซเบอร์ เสี่ยงละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชน | สมาคมนักข่าวฯ เปิดวงเสวนา ‘อันตรายกฎหมายไซเบอร์...?’ ชำแหละ (ร่าง) พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. ... ชี้หลากหลายประเด็นสุ่มเสี่ยงละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชนพร้อมเรียกร้องให้ปรับแก้
เมื่อวันที่ 26 ต.ค. 2561 ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย มีการจัดกิจกรรมราชดำเนินเสวนาในหัวข้อ “อันตรายกฎหมายไซเบอร์...?” โดยมีวิทยากรคือ นายไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ ผู้ทรงคุณวุฒิคณะกรรมการเตรียมการไซเบอร์แห่งชาติ นายเจษฎา ศิวรักษ์ หัวหน้ากลุ่มวิชาการ คณะทำงานความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ฯ สมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ รศ.คณาธิป ทองรวีวงศ์ ผู้อำนวยการสถาบันกฎหมายสื่อดิจิทัล มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต และนางสุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธฮ. หรือ ETDA) โดยมีนายศักดิ์ชัย พฤฒิภัค กรรมการบริหารสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย เป็นผู้ดำเนินรายการ เพื่อทำความเข้าใจและวิเคราะห์ปัญหาของ (ร่าง) พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. ... ที่กำลังได้รับความสนใจและมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมไทยอยู่ในขณะนี้
นายไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ ผู้ทรงคุณวุฒิคณะกรรมการเตรียมการไซเบอร์แห่งชาติ กล่าวว่า (ร่าง) พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. ... มีต้นแบบมาจากกฎหมาย Cyber Security Act 2018 ของสิงคโปร์ แต่เมื่อถูกนำมาปรับใช้ในการเขียนกฎหมายของไทยกลับพบปัญหา ได้แก่ 1.แม้เจตนารมณ์ของกฎหมาย ทั้งของสิงคโปร์รวมถึงของไทยเองตั้งไว้ว่าเน้นคุ้มครอง “โครงสร้างพื้นฐาน” (Infrastructure) ทางไซเบอร์ที่เกี่ยวข้องกับบริการ เช่น ผู้ให้บริการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต หรือผู้ให้บริการสาธารณูปโภคต่างๆ จากการโจมตีของผู้ไม่หวังดี
แต่เมื่อมาระบุในตัวบทแล้วของไทยกลับรวมไปถึง “เนื้อหา” (Content) ที่ปรากฏบนโลกออนไลน์ด้วย เช่น ในมาตรา 56 (2) ที่มีคำว่า “ความมั่นคงของรัฐ” กับ “ความสงบเรียบร้อยของประชาชน” ซึ่งจุดนี้สามารถถูกตีความได้อย่างกว้างขวาง ผู้ถืออำนาจรัฐอาจสั่งการให้เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (กปช.) ดำเนินการบางอย่างกับเนื้อหาที่ตนเห็นว่าไม่เหมาะสมได้ จึงขอเสนอว่าขอให้เพิ่มคำว่า “ระบบคอมพิวเตอร์” เข้าไปด้วยจะดีกว่าเพื่อให้เกิดความชัดเจน
2.กฎหมายฉบับนี้ให้อำนาจเลขาฯ กปช. ไว้ยิ่งใหญ่มาก คือการที่มีคำสั่งใดๆ ออกมาแล้วผู้ได้รับผลกระทบไม่สามารถอุทธรณ์ได้ ในขณะที่กฎหมายแบบเดียวกันของสิงคโปร์ไม่ปิดช่องทางดังกล่าว โดยกฎหมายของสิงคโปร์กำหนดให้ผู้รับผิดชอบมีอำนาจ 2 ส่วน ส่วนแรกคือสั่งการให้ผู้ให้บริการต่างๆ ปรับปรุงหลักเกณฑ์การรักษาความปลอดภัยไซเบอร์ รวมถึงเรียกข้อมูลการให้บริการมาตรวจสอบได้ กับส่วนที่สองคืออย่างไรก็ตามหากข้อมูลนั้นเป็นข้อมูลส่วนบุคคลแล้วผู้ให้บริการมีสัญญารักษาความลับของลูกค้า ผู้ให้บริการสามารถปฏิเสธไม่ให้ข้อมูลส่วนนี้ก็ได้
แต่เมื่อมาดู (ร่าง) พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. ... ของไทย ในมาตรา 46 ที่ให้อำนาจเลขาฯ กปช. ของไทยเรียกดูข้อมูล ได้ระบุไว้ว่าไม่อาจยกเอาหน้าที่ตามกฎหมายอื่นหรือตามสัญญามาปฏิเสธการขอข้อมูลดังกล่าวได้ ซึ่งกรณีกฎหมายสิงคโปร์นั้นการขอข้อมูลในรอบแรกผู้ให้บริการสามารถปฏิเสธได้ แต่ถ้าฝ่ายรัฐมีข้อมูลที่เชื่อได้ว่าบุคคลดังกล่าวเกี่ยวข้องกับการทำอันตรายต่อความปลอดภัยไซเบอร์จริงๆ ก็จะมีมาตรการขั้นถัดไป ที่สำคัญคือฝ่ายเอกชนผู้ให้บริการในสิงคโปร์สามารถอุทธรณ์คำสั่งของเลขา กปช. ของสิงคโปร์ได้ด้วย
“ผมคิดว่าทุกคน เราอาจจะแชทหาแฟน กิ๊ก หรือใครก็ตาม หรือมีความชอบส่วนตัวแบบแปลกๆ ชอบดูอะไรแปลกๆ เราไม่อยากให้ใครมาเห็นข้อมูลเรา เวลาทุกครั้งที่มีการเรียกจ้อมูลไปก็ต้องไม่สบายใจแน่นอนว่าข้อมูลตรงนั้นจะเป็นข้อมูลที่มันเกี่ยวข้องไหม ดังนั้นกฎหมายสิงคโปร์หรือกฎหมายทั่วโลกจะคุ้มครองเรื่องความเป็นส่วนตัว กฎหมายฉบับนี้มันมีความเหลื่อมล้ำกับกฎหมายข้อมูลส่วนบุคคลพอสมควร” นายไพบูลย์ กล่าวนายไพบูลย์ กล่าวต่อไปว่า 3. (ร่าง) พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. ... ของไทย มีบทลงโทษกรณีขัดคำสั่งเลขา กปช. ในทุกกรณี ต่างจากกฎหมายของสิงคโปร์ที่ระบุว่าต้อง “ไม่ปฏิบัติตามโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร” ทั้งที่เป็นหลักการสำคัญในการออกกฎหมาย 4.ในมาตรา 57 ที่ให้อำนาจเลขาฯ กปช. ออกคำสั่งให้หน่วยงานหรือบุคคลต่างๆ ปฏิบัติตามได้เพียงแค่ “มีเหตุอันควรสงสัยว่า” ทั้งที่ในการออกกฎหมายอื่นๆ ทั่วไป อำนาจลักษณะนี้จะใช้ได้ก็ต่อเมื่อ “มีเหตุอันเชื่อได้ว่า” ซึ่งข้อความหลังนี้จะมีน้ำหนักและความชัดเจนที่มากกว่า
และ 5.ในมาตรา 58 ที่ให้อำนาจเลขาฯ กปช. เข้าถึงระบบหรืออุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับไซเบอร์ซึ่งหน่วยงานหรือบุคคลใดครอบครองอยู่และดำเนินการได้หลายอย่าง เช่นในข้อ (2) ทำสำเนา สกัดคัดกรอง โดยยังใช้คำว่า “มีเหตุอันควรสงสัยว่า” เช่นเดียวกับมาตรา 57 โดยที่ไม่ต้องขอหมายศาล ส่วนในข้อ (4) ที่ให้อำนาจยึดอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับไซเบอร์ แม้ข้อนี้จะใช้คำว่า “มีเหตุอันเชื่อได้ว่า” แต่ก็ยังน่ากังวลเพราะเป็นคำสั่งที่ไม่สามารถอุทธรณ์ได้ และเรื่องนี้จริงๆ แล้วควรจะมีศาลเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ต่อให้เป็นเรื่องเร่งด่วนอย่างน้อยก็ต้องรายงานให้ศาลรับทราบ
นายเจษฎา ศิวรักษ์ หัวหน้ากลุ่มวิชาการ คณะทำงานความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ฯ สมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า หากเทียบกับหลักการของกลุ่มประเทศที่อยู่ในองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ซึ่งในปี 2555 OECD มีรายงานแนะนำให้ “ในการออกกฎหมายในเรื่อง Cyber Security ต้องคำนึงถึงไม่เพียงแต่ความมั่นคงของชาติอย่างเดียว แต่ต้องคำนึงถึงภาคประชาชน ภาคสังคมและภาคเศรษฐกิจด้วย” แต่ร่างกฎหมายไทยเปิดมาก็เจอหลักการความมั่นคงของชาติกับความสงบเรียบร้อยเสียแล้ว
นายเจษฎา กล่าวต่อไปว่า ในการออกกฎหมายความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของ OECD นั้นเน้นความร่วมมือของหลายหน่วยงาน เพราะภัยคุกคามไซเบอร์มีทั้งมุมกว้างและมุมลึก เช่น อินเตอร์เน็ตถือเป็นไซเบอร์ แต่การที่ระบบอินเตอร์เน็ตล่มอาจเกิดจากการลอบวางระเบิดโครงข่ายสัญญาณโทรคมนาคมซึ่งเป็นโครงสร้างที่ไม่ใช่ไซเบอร์ก็ได้ จึงไม่สร้างหน่วยงานใหม่แต่พยายามประสานการทำงานของหน่วยงานต่างๆ ทั้งรัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องเข้าด้วยกัน “ภาคเอกชนของโทรคมนาคมโดนโจมตีทางไซเบอร์อยู่ทุกวันอยู่แล้ว แต่เขาก็มีมาตรการรับมืออยู่เพราะถ้าเน็ตเวิร์คเขาล่มชื่อเสียงเขาก็ไปก่อน สิ่งที่เขากลัวคือพอหน่วยงานรัฐตั้งมาใหม่แต่ประสบการณ์ไม่มี ไม่ออกกฎอะไรก็ไม่รู้ เขาจะทำอย่างไร หลายปีที่ผ่านมาโอเปอเรเตอร์มือถือ 3 เจ้าถูกโจมตีไหม ก็โดนอยู่ทุกวันโดนเป็นปกติ แต่เขาก็รู้วิธีการรับมือ เรื่องนี้เป็นส่วนหนึ่งที่เขาเน้น” นายเจษฎา ระบุ
หัวหน้ากลุ่มวิชาการ คณะทำงานความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ฯ สมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวอีกว่า งานความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์เป็นงานที่มีต้องอาศัยความร่วมมือกันระหว่างประเทศ จึงต้องสร้างกลไกที่เอื้อต่อความร่วมมือนี้ด้วย รวมถึงต้องระวังเรื่อง “เสรีภาพบนอินเตอร์เน็ต” เพราะหากออกกฎหมายเพื่อลดทอนเสรีภาพนี้โดยไม่สมเหตุสมผล จะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของภาคธุรกิจบนอินเตอร์เน็ตได้
รศ.คณาธิป ทองรวีวงศ์ ผู้อำนวยการสถาบันกฎหมายสื่อดิจิทัล มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต กล่าวว่า ในทางสากลแม้สิทธิ 2 ประเภทคือสิทธิในการแสดงความคิดเห็นและสิทธิความเป็นส่วนตัวจะสามารถถูกจำกัดโดยกฎหมายได้ แต่การออกกฎหมายมาจำกัดสิทธิดังกล่าวต้องมีขอบเขตไม่กว้างเกินไปและมีการตรวจสอบถ่วงดุล ซึ่งเมื่อมาดู (ร่าง) พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. ... พบการออกกฎหมายที่สามารถตีความได้กว้างขวางมากเช่น มาตรา 43 ว่าด้วยอำนาจของ กปช. ในการกำหนดว่าหน่วยงานผู้ให้บริการใดจะถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ ในข้อ (8) ระบุว่า “ด้านอื่นตามที่ กปช. ประกาศกำหนดเพิ่มเติม” จะกระทบต่อผู้ประกอบการอย่างกว้างขวางหรือไม่ อาทิ เมื่อมีเหตุมัลแวร์ (Malware = โปรแกรมที่สร้างขึ้นเพื่อจุดประสงค์ในทางมิจฉาชีพต่างๆ) ระบาดในระบบคอมพิวเตอร์ ทุกคนตั้งแต่เจ้าของธุรกิจขนาดใหญ่จนถึงพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์รายย่อยๆ สามารถถูกกำหนดให้เป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศตามกฎหมายนี้ได้ทั้งสิ้น ทำให้อาจเป็นภาระเกินสมควรได้
หรือมาตรา 57 - 58 ที่เป็นเรื่องของการ “สอดแนม” ในทางสากลก็อนุญาตให้ทำได้ภายใต้ขอบเขตที่ชัดเจนทั้งตัวบุคคลที่ถูกสอดส่อง ข้อมูลอะไรบ้างที่สามารถเข้าถึงได้ มาตรการที่ใช้ต้องไม่กว้างขวางเกินไป และต้องจำกัดเวลาที่อนุญาตให้ทำได้ เพื่อป้องกันการที่รัฐจะนำไปสอดส่องการแสดงความคิดเห็นของประชาชนแบบวงกว้าง ดังกรณีที่เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน (Edward Snowden) เคยออกมาเปิดโปงถึงความพยายามของหน่วยงานรัฐบาลสหรัฐอเมริกาที่ต้องการกระทำการดังกล่าว
รศ.คณาธิป ยังกล่าวอีกว่า แม้ร่างกฎหมายล่าสุดจะเขียนนิยามความมั่นคงไซเบอร์ไว้ที่ระบบสารสนเทศจึงไม่น่าจะครอบคลุมถึงเนื้อหา เช่น การโพสต์ข้อความโจมตีรัฐบาล แต่สุดท้ายก็ต้องขึ้นอยู่กับการตีความ อย่างไรก็ตามที่น่ากังวลมากไม่แพ้กันคือแม้กฎหมายจะไม่มีโทษโดยตรงกับเรื่องดังกล่าว แต่อาจเข้าข่ายปรากฏการณ์ “Chilling Effect” ที่ประชาชนกลัวได้รับผลกระทบจากกฎหมายในทางอ้อม จนไม่กล้าแสดงความคิดเห็นเลยก็ได้ เช่น การเข้ามาสอดส่องพฤติกรรมบนโลกออนไลน์ของประชาชน แล้วเก็บข้อมูลไปเอาผิดในเรื่องอื่นๆ ได้
“ในอเมริกามีกรณีหน่วยงานรัฐไปตรวจสอบนาย A เพื่อหาข้อเท็จจริงการเลี่ยงภาษี รวมถึงนาย B และนาย C ที่เป็นลูกค้าของนาย A ด้วย ก็เก็บข้อมูลมาทั้งหมด วันแรกดำเนินคดีนาย A ก่อนตามที่ขอหมายศาลไว้ แต่ข้อมูลทั้งหมดยังทำสำเนาเก็บไว้อยู่ วันดีคืนดีก็มาไล่ดู คนนั้นเกี่ยวกับเรื่องนี้ คนนี้เกี่ยวกับเรื่องนั้น แต่ศาลสหรัฐบอกว่า 1.เจ้าหน้าที่ทำสำเนาข้อมูลกว้างเกินไป คุณจะจัดการนาย A ก็ต้องเอาเฉพาะจ้อมูลที่เกี่ยวกับนาย A และ 2.การเก็บข้อมูลไว้เรื่อยๆ และเอามาใช้ดำเนินคดีเรื่องอื่นๆ ภายหลัง ถือว่าไม่สอดคล้องกับหลักสิทธิเสรีภาพ” รศ.คณาธิป ยกตัวอย่าง
นางสุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธฮ. หรือ ETDA) กล่าวชี้แจงข้อกังวลต่างๆ ดังต่อไปนี้ 1.กรณีไม่ให้อุทธรณ์ แม้ (ร่าง) พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. ... จะไม่ระบุการอุทธรณ์ไว้อย่างกฎหมายอื่นๆ แต่การทำงานของ กปช. ยังอยู่ภายใต้กฎหมายอย่างน้อย 2 ฉบับ คือ พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 กรณี กปช. ใช้อำนาจแล้วมีผู้ไม่เห็นด้วยจึงสามารถร้องเรียนได้ กับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 กรณี กปช. ใช้อำนาจโดยมิชอบ อย่างไรก็ตามโดยส่วนตัวอยากให้เขียนไว้ดีกว่าเรื่องการอุทธรณ์เพื่อให้ประชาชนเกิดความสบายใจ แต่ก็ขึ้นกับในชั้นกฤษฎีกาว่าจะแก้ไขหรือไม่ 2.กรณีไม่ผ่านศาล เรื่องนี้เข้าใจคนร่างกฎหมายที่เห็นว่าภัยคุกคามทางไซเบอร์เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว คลิกเดียวเพียงเสี้ยววินาทีก็อาจสร้างความเสียหายได้เป็นวงกว้าง การขอศาลอาจไม่ทันการ แต่โดยส่วนตัวก็กังวลในการใช้กฎหมายเช่นกัน เรื่องนี้น่าจะไปหาทางแก้ไขวิธีปฏิบัติว่าจะทำอย่างไร
3.การเรียกข้อมูลกรณีภัยร้ายแรง (มาตรา 56) ที่มีคำว่า “ความมั่นคงของรัฐ” กับ “ความสงบเรียบร้อยของประชาชน” เรื่องนี้ก็น่ากังวลหลังมีบทเรียนจาก พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ที่แม้เจตนาดีแต่การบังคับใช้ในประเด็นความมั่นคงถูกตีความก้าวล่วงไปถึงเรื่องเนื้อหาด้วย ก็ต้องฝากให้ทางกฤษฎีกานำไปปรับแก้ด้วย 4.การป้องกันความเสี่ยงทางไซเบอร์ที่ใช้ถ้อยคำ “มีเหตุอันควรสงสัยว่า” แทนที่จะใช้ “มีเหตุอันเชื่อได้ว่า” ก็เป็นปัญหาจริงในการใช้ถ้อยคำ ก็เป็นอีกเรื่องที่ไม่ว่ากฤษฎีกาหรือสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต้องนำข้อนี้ไปพิจาณา
และ 5.การเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล ในเจตนารมณ์ของกฎหมาย ข้อมูลที่ กปช. เข้าถึงและจัดเก็บได้ต้องเป็นข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับภัยคุกคามไซเบอร์เท่านั้น อย่างไรก็ตามหากอ่านตามตัวอักษรก็อาจตีความตามที่หลายฝ่ายกังวลกรณีการเก็บข้อมูลอย่างกว้างขวางของประชาชนได้ ดังนั้นต้องปรับแก้ให้ชัดเจนกว่าที่เป็นอยู่ นอกจากนี้ในบทเฉพาะกาลที่ให้ สพธฮ. ทำหน้าที่ กปช.ไปพลางจนกว่าจะมีการจัดตั้งสำนักงาน กปช. เป็นทางการ ก็ยืนยันว่าจะรีบดำเนินการให้เร็วที่สุดเพื่อให้แยกหน่วยงาน กปช. ออกจาก สพธอ.
“เราขอบคุณที่ให้เกียรติ ETDA ว่าเป็นหน่วยงานที่ขยันขันแข็งแล้วดูน่าจะไว้วางใจได้ เราก็หนักใจที่พลังไม่พอจะคัดค้านมติ ก.พ.ร. (สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ) เราเป็นหน่วยงานรัฐก็ต้องเคารพ อย่างไรก็ตามเสียงสะท้อนนี้มาจากภาคปฏิบัติ ทุกคนมีส่วนร่วมเสนอข้อคิดเห็น น่าจะเป็นสิ่งที่ดี ซึ่ง ETDA ก็ประสบเหมือนกันคือทำอย่างไรให้ ETDA ทำเรื่อง E - Commerce ทำเรื่อง Innovation ทำเรื่องใดๆ ที่ไปข้างหน้า ณ วันนี้ที่เรามารับผิดชอบหลายเรื่องทำให้เราเหมือนต้องคอยระวังหลัง เพราะงาน Cyber Security เป็นงานที่คอยระวังหลังว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็แก้ปัญหา ฉะนั้นพลังของ ETDA ก็ไม่มากพอ” นางสุรางคณา กล่าว
| ['ข่าว', 'การเมือง', 'สังคม', 'สิทธิมนุษยชน', 'คุณภาพชีวิต', 'ไอซีที', 'พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์', 'สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย', 'สื่อมวลชน'] |
https://prachatai.com/print/79321 | 2018-10-27 09:52 | เอธิโอเปียแต่งตั้งผู้หญิงเป็นประธานาธิบดีเป็นครั้งแรก ภายใต้สังคมที่ยังกดขี่ผู้หญิง | นายกฯ ฝ่ายซ้ายเอธิโอเปียแต่งตั้งผู้หญิงเป็นประธานาธิบดีเอธิโอเปียเป็นครั้งแรก หลังจากที่ก่อนหน้านี้แต่งตั้งให้ผู้หญิงเข้าดำรงตำแหน่งครึ่งหนึ่งของคณะรัฐมนตรี ผู้คนมองว่าการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้อาจจะส่งผลดีกับประเด็นเรื่องความเท่าเทียมทางเพศในประเทศที่ยังคงกดขี่ผู้หญิงอยู่มาก
ซาห์ล-เวิร์ก ซิวเด ประธานาธิบดีหญิงคนแรกของเอธิโอเปีย ที่มาภาพ: wikimedia.org [1]
27 ต.ค. 2561 หนึ่งสัปดาห์หลังจากที่ อาบีย์ อาห์เหม็ด นายกรัฐมนตรีของเอธิโอเปียแต่งตั้งให้มีคณะรัฐมนตรีครึ่งหนึ่งเป็นผู้หญิง ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนแปลงแบบยกเครื่องสำหรับการเมืองเอธิโอเปีย เมื่อวันที่ 25 ต.ค. 2561 อาห์เหม็ดก็ก้าวไปอีกขั้นในเรื่องความเท่าเทียมทางเพศด้วยการแต่งตั้งให้ ซาห์ล-เวิร์ก ซิวเด เป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรกของเอธิโอเปีย
สื่อนิวยอร์กไทม์ระบุว่า ซิวเด เป็นนักการทูตมากประสบการณ์ที่มีตำแหน่งในสหประชาชาติและทำงานด้านปฏิบัติการรักษาสันติภาพในแอฟริกา อีกทั้งก่อนหน้านี้เอธิโอเปียยังเคยแต่งตั้งให้ผู้หญิงเป็นผู้นำรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมและมีการยกเลิกหน่วยงานข่าวกรองลับที่เคยเป็นองค์กรขอรัฐซึ่งสร้างความหวาดกลัวให้ผู้คนจากนั้นจึงมีการจัดตั้งกระทรวงสันติภาพขึ้นมาแทน ถึงแม้ว่าตำแหน่งประธานาธิบดีในเอธิโอเปียจะเป็นตำแหน่งในเชิงพิธีกรรมเสียส่วนใหญ่ แต่เซลัม มิวเซ ที่ปรึกษาด้านเพศสภาพและสื่อในแอดดิสอาบาบา เมืองหลวงของเอธิโอเปียก็กล่าวว่า การแต่งตั้งซิวเดเป็นประธานาธิบดีในครั้งนี้มีน้ำหนักในเชิงสัญลักษณ์อยู่ ในสังคมชายเป็นใหญ่อย่างเอธิโอเปีย การมีผู้นำหญิงไม่เพียงแค่เป็นการวางมาตรฐานให้กับอนาคตเท่านั้นแต่ยังทำให้การที่ผู้หญิงเป็นผู้ตัดสินใจในประเด็นทางสาธารณะกลายเป็นเรื่องปกติทั่วไปด้วย
"พวกเราต้องการผู้นำที่องอาจผู้ที่มองผู้หญิงไปไกลกว่าแค่เป็นแม่หรือเป็นพี่สาวน้องสาว แต่เป็นแรงบันดาลใจ และเป็นผู้ที่ทำให้คนอื่นๆ กลายเป็นแบบอย่างแก่ผู้อื่นได้" มิวเซกล่าว
อาห์เหม็ดเป็นนักการเมืองจากพรรคประชาธิปไตยโอโรโมหรือ โอดีพี (ODP) และเป็นประธานของรัฐบาลผสมฝ่ายซ้ายของเอธิโอเปีย (EPRDF) เขาเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตั้งแต่เดือน เม.ย. 2561 ที่ผ่านมา การแต่งตั้งผู้หญิงเป็นประธานาธิบดีเป็นเพียงหนึ่งในความพยายามเปลี่ยนแปลงเอธิโอเปียซึ่งนิวยอร์กไทม์ระบุว่ามีลักษณะคล้ายจีนที่เน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจแต่จำกัดปราบปรามกลุ่มต่อต้านทางการเมือง
เจสัน มอสลีย์ ผู้ช่วยนักวิจัยจากศูนย์แอฟริกันศึกษา มหาวิทยาลัยอ็อกฟอร์ดกล่าวว่า นอกจากจะมีเรื่องของการคำนึงถึงตัวแทนทางการเมืองที่เท่าเทียมทางเพศแล้วการปฏิรูปล่าสุดของเอธิโอเปียยังเป็นการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ภายในพรรครัฐบาลที่พยายามสั่นคลอนอำมาตยาธิปไตยภายในพรรค มอสลีย์บอกอีกว่าถึงแม้เอธิโอเปียจะมีการพัฒนาแต่วัฒนธรรมโดยทั่วไปยังคงเป็นอนุรักษ์นิยม ส่วนใหญ่ยังเป็นชนบท และผู้หญิงไม่มีโอกาสเท่าเทียมกับผู้ชาย
ถึงแม้ว่าการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันจะไปสะกิดแผลเก่าให้เสี่ยงต่อการเกิดความรุนแรงระหว่างเชื้อชาติในพื้นที่ต่างๆ ของเอธิโอเปีย แต่ก็เป็นไปได้ที่การนำคนที่ไม่ใช่วงในทางการเมืองเข้าสู่ตำแหน่งอย่างซิวเดก็อาจจะทำให้การเมืองผ่อนคลายขึ้นจากการถูกวิจารณ์เรื่องเล่นพวกทางกลุ่มเชื้อชาติหรือกลุ่มการเมือง
ซิวเดเคยเป็นเอกอัครราชทูตของเอธิโอเปียประจำเซเนกัลและจิบูติมาก่อน เธอยังเคยทำงานเป็นประธานสร้างสันติภาพในสาธารณรัฐแอฟริกากลางภายใต้ยูเอ็นมาก่อน และช่วงก่อนเป็นประธานาธิบดีไม่นานนี้เธอก็ได้เป็นผู้แทนของสหประชาชาติในสหภาพแอฟริกาด้วย
ซิวเด กล่าวในสุนทรพจน์เข้ารับตำแหน่งว่าเธอคือ "ผลผลิตของประชาชนผู้ต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมและเสรีภาพทางการเมืองในประเทศนี้" และจะทำงานรับใช้ประชาชนเหล่านี้ ซิวเดสัญญาว่าเธอจะทำงานเกี่ยวกับประเด็นของผู้หญิงด้วย
มีงานวิจัยระบุว่าในเอธิโอเปียคุณภาพชีวิตของผู้หญิงยังแย่กว่าผู้ชาย ในขณะที่ผู้หญิงครึ่งหนึ่งเป็นแรงงานของประเทศแต่ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้รับค่าจ้าง นอกจากนี้ยังคงมีปัญหาเรื่องการบังคับขลิบในผู้หญิงและการแต่งงานกับเด็กเกิดขึ้นในเฉพาะพื้นที่ชนบทร้อยละ 80 ของประเทศ
เรียบเรียงจาก
Ethiopia Appoints Its First Female President, New York Times, 25-10-2018https://www.nytimes.com/2018/10/25/world/africa/sahlework-zewde-ethiopia-president.html [2]
Sahle-Work Zewde becomes Ethiopia's first female president, BBC, 25-10-2018https://www.bbc.com/news/world-africa-45976620 [3]
| ['ข่าว', 'ต่างประเทศ', 'เอธิโอเปีย', 'ซาห์ล-เวิร์ก ซิวเด', 'อาบีย์ อาห์เหม็ด', 'สตรีนิยม', 'ความเท่าเทียม', 'พรรคประชาธิปไตยโอโรโม', 'ฝ่ายซ้าย'] |
https://prachatai.com/print/79322 | 2018-10-27 10:13 | 'สมาพันธ์เกษตรปลอดภัย' เตรียมยื่นข้อมูลให้ กก.วัตถุอันตรายพิจารณาใหม่ | กรมวิชาการเกษตร จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นร่างประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เกี่ยวกับสารเคมี 3 ชนิด พาราควอต คลอร์ไพรีฟอส และไกลโฟเซต 'สมาพันธ์เกษตรปลอดภัย' ระบุตรวจสอบข้อมูลพบหลักฐานสำคัญ เตรียมยื่นข้อมูลเสนอคณะกรรมการวัตถุอันตราย เพื่อพิจารณาตัดสินใหม่ให้สามารถใช้สารเคมีดังกล่าวได้ต่อไป
เมื่อวันที่ 25 ต.ค. พ.ศ. 2561 ที่ผ่านมานายวราวุธ ชูธรรมธัช รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประธานการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นร่างประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เกี่ยวกับสารเคมี 3 ชนิด ใน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1) เรื่องกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการผลิต นำเข้า ส่งออก มีไว้ครอบครองของ 3 สารเคมี 2) การแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พรบ. วัตถุอันตรายและที่แก้ไขเพิ่มเติม 3) กำหนดฉลากและภาชนะบรรจุ ทั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมประชุมเพื่อแสดงความคิดเห็นประมาณ 250 คน ทั้งผู้แทนภาครัฐ ผู้แทนภาคเอกชน ผู้แทนกลุ่มสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ องค์กรอิสระ เกษตรกรและผู้ที่สนใจ โดยกลุ่มเกษตรกรกว่า 50 รายเตรียมนำผลสรุปร่างฯ พร้อมหลักฐานสำคัญ ยื่นเสนอต่อคณะกรรมการวัตถุอันตราย เพื่อพิจารณาต่อไปภายในเดือน พ.ย. 2561
รมต.รับตั้งกรรมการร่วมศึกษายกเลิก ‘พาราควอต’ ประชาชนฮึ่มให้เวลา 3 สัปดาห์ [1]เครือข่ายแบนสารพิษโวย ก.เกษตรไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลต่อทะเบียนสารพิษ 3 ชนิด [2]จับผิดรายงาน คกก.วัตถุอันตราย ไม่แบนพาราควอต ประชาสังคมจ่อฟ้อง ชี้ผลประโยชน์ทับซ้อน [3]
นายสุกรรณ์ สังข์วรรณะ เลขาธิการสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย สรุปสาระสำคัญของการจัดประชุมฯ ว่า “ร่างประกาศฯ ของกรมวิชาการเกษตรนำเสนอในครั้งนี้ มีความเป็นไปได้ยากในเชิงปฏิบัติทั้งในแง่เวลาและงบประมาณ รวมถึงจำกัดสิทธิเสรีภาพของเกษตรกร อาทิ กรอบเวลาในการอบรมเกษตรกรทั่วประเทศ จำนวนกว่า 20 ล้านรายในระยะเวลา 90 วันหลังจากประกาศฯ อนุมัติ เป็นสิ่งที่กรมฯ ดำเนินการจริงได้ยากด้วยระยะเวลาที่น้อยแต่ผู้ที่ต้องอบรมมีจำนวนมาก หากกรมฯ ไม่สามารถปฏิบัติได้ ก็จะทำให้มีกลุ่มคนที่ต่อต้านสารเคมีเกษตรออกมาเรียกร้องให้แบนอีก ทั้งนี้การไม่สามารถปฏิบัติได้ตามระเบียบที่ออกมา บทลงโทษจะตกอยู่ที่เกษตรกร การแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ฯ ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล ไม่มีความเหมาะสม ขาดองค์ความรู้ด้านเกษตรกรรม ทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในการอบรมพนักงานเจ้าหน้าที่ดังกล่าว ทั้งที่ในความเป็นจริง ควรเป็นบุคลากรของกรมวิชาการเกษตรเอง
สำหรับแนวทางการดำเนินงานต่อไปของภาคเกษตรกร จะนำข้อมูล ผลวิเคราะห์ และการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่รวบรวมได้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้สารเคมีเกษตร นำยื่นต่อคณะกรรมการวัตถุอันตรายโดยเร็วที่สุด เพื่อนำไปสู่การพิจารณาตัดสินใหม่ให้สามารถ 'ใช้สารเคมีได้อย่างเหมาะสม' เนื่องจากไม่เชื่อมั่นในกรมวิชาการเกษตรว่า จะนำส่งข้อมูลและความคิดเห็นจากกลุ่มเกษตรกรและผู้เกี่ยวข้องในครั้งนี้ให้คณะกรรมการวัตถุอันตราย
ด้าน นางสาวอัญชุลี ลักษณ์อำนวยพร ประธานเครือข่ายอาสาคนรักแม่กลอง และหนึ่งในคณะกรรมการแก้ไขปัญหาสารเคมีฯ ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า “คณะทำงานฯ ได้ตรวจสอบพบหลักฐานสำคัญหลายประการเกี่ยวกับการกล่าวอ้างถึงผลกระทบสารเคมี โดยข้อมูลดังกล่าวขาดข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ และปราศจากผลวิจัยที่ชัดเจน เช่น ไม่มีหลักฐานการนำส่งตัวอย่างไปตรวจสอบสารตกค้างมาพิสูจน์ รับรองผลการศึกษา จึงได้รวบรวมหลักฐานต่างๆ เตรียมยื่นเพิ่มเติมเสนอต่อคณะกรรมการวัตถุอันตรายต่อไป”
“ควรมีหลักการและแนวทางปฏิบัติที่เป็นในทิศทางเดียวกันในสารเคมีทุกชนิด โดยให้ความสำคัญต่อการปฏิบัติและใช้สารเคมีของเกษตรกรเป็นหลัก คำนึงถึงความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติจริง เพื่อยกระดับเกษตรปลอดภัยของประเทศไทยให้เป็นระบบอย่างยั่งยืน” นายสุกรรณ์ กล่าวสรุป
อนึ่งก่อนหน้านี้ 'มูลนิธิชีววิถี' (BIOTHAI)ได้ออกมาตั้งข้อสังเกตการเคลื่อนไหวของ 'สมาพันธ์เกษตรปลอดภัย' ว่าเป็นองค์กรที่เพิ่งจัดตั้งขึ้นหลังจากการมีข้อเสนอให้มีการแบนพาราควอต โดยผู้ก่อตั้งมักปรากฎตัวและทำกิจกรรมร่วมกับ 'สมาคมอารักขาพืช' ซึ่งเป็นสมาคมการค้าที่จัดตั้งขึ้นโดยบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายพาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส รายใหญ่ในประเทศไทย (คลิ๊กอ่านเพิ่มเติมในสำนักข่าวอิศรา) [4]
| ['ข่าว', 'สังคม', 'คุณภาพชีวิต', 'สิ่งแวดล้อม', 'สมาพันธ์เกษตรปลอดภัย', 'คณะกรรมการวัตถุอันตราย', 'สารเคมีทางการเกษตร', 'พาราควอต', 'คลอร์ไพรีฟอส', 'ไกลโฟเซต'] |
https://prachatai.com/print/79324 | 2018-10-27 10:55 | กองทัพเรือแจงพลทหารผูกคอฆ่าตัวตาย ระบุเป็นโรคซึมเศร้า | โฆษกกองทัพเรือเปิดเผยถึงกรณีพลทหารรายหนึ่งของกองทัพเรือผูกคอตายที่ค่ายทหารในพื้นที่ จ.จันทบุรี แพทย์พบว่ามีอาการทางจิตเวช เป็นโรคซึมเศร้า ก่อนเป็นทหารก็มีอาการอยู่แล้ว ต้องได้รับยาอย่างต่อเนื่อง เจ้าตัวไม่สามารถเข้าเวรยามได้ต้องเข้ารักษาตัว เคยกินยาเกินขนาดจนต้องรักษาตัวที่ห้องไอซียู เมื่อหายดีแล้วก็กลับไปรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลกองร้อยพยาบาล ขณะรักษาตัวก็ได้ให้เพื่อนพลทหารคอยดูแล แต่มีช่วงเวลาหนึ่งที่เพื่อนพลทหารทำธุระส่วนตัวเพียงครู่เดียว กลับมาพบผูกคอเสียชีวิตแล้ว
เมื่อวันที่ 26 ต.ค. 2561 ที่ผ่านมา เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ [1] รายงานว่า พล.ร.ท.เดชดล ภู่สาระ โฆษกกองทัพเรือ เปิดเผยถึงกรณีพลทหารรายหนึ่ง ของกองทัพเรือผูกคอตายที่ค่ายทหารในพื้นที่ จ.จันทบุรี ว่าทางกองทัพเรือขอแสดงความเสียใจกับญาติของพลทหารคนดังกล่าว และจะดูแลในเรื่องสิทธิกำลังพลให้ดีที่สุด โดยจากการตรวจสอบเบื้องต้นผู้ที่เสียชีวิตชื่อพลทหารเรวัต เพชรเรือง สังกัดอยู่ที่กองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่1 กองพลนาวิกโยธิน โดยประวัติได้รับการรักษาที่กองร้อยพยาบาล ซึ่งจากการตรวจอย่างละเอียดของทางแพทย์ก็พบว่ามีอาการทางจิตเวช หรือโรคซึมเศร้า ซึ่งก่อนที่จะมาเข้ารับราชการทหารก็มีอาการอยู่แล้ว และต้องได้รับยาอย่างต่อเนื่อง และในการกินยาเพื่อรักษาหากกินไม่ต่อเนื่องก็จะทำให้อาการกลับมาอีก
พล.ร.ท.เดชดล กล่าวว่า ทางต้นสังกัดของพลทหารเรวัต คือ ฉก.นย.182 บ้านหาดเล็ก อ.คลองใหญ่ จ.ตราด ซึ่งเป็นหน่วยที่ต้องออกภาคสนาม ทราบว่าพลทหารเรวัฒน์ ป่วยโรคซึมเศร้า และต้องได้รับยาอย่างต่อเนื่อง ทำให้พลทหารเรวัต ไม่สามารถเข้าเวรยามได้ ต้องเข้ารักษาตัว ซึ่งก่อนหน้านั้นได้รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลสนาม พลทหารเรวัฒน์ เคยกินยาเกินขนาด ต้องเข้ารับการรักษาตัวอยู่ที่ห้อง ไอซียู โรงพยาบาลสิริกิติ์ เมื่อหายดีแล้วก็กลับไปรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลกองร้อยพยาบาล ซึ่งในขณะรักษาตัวที่กองร้อยพยาบาล ก็ได้ให้เพื่อนพลทหารคอยดูแล แต่มีช่วงเวลาหนึ่งที่เพื่อนพลทหารทำธุระส่วนตัวเพียงครู่เดียว พลทหารเรวัฒน์หายไป จนมาพบผูกคอเสียชีวิตแล้ว
“โรคซึมเศร้าทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการจิตตก น้อยใจ หรืออาจจะมีการคิดและเข้าใจผิด สุดท้ายคิดฆ่าตัวตาย กำลังพลคนไหนป่วยเป็นโรคนี้บ้าง ทางหน่วยก็ไม่ทราบ จนอาการปรากฏ เมื่อพบแล้วทางต้นสังกัด จะส่งไปรักษาทุกคน ซึ่งการรักษาพยาบาลทุกครั้ง จะมีหลักฐานต่างๆไม่ว่าจะเป็นการส่งไปรักษาที่โรงพยาบาล การส่งกลับมารักษาที่กองร้อยพยาบาล “พล.ร.ท.เดชดล กล่าว
| ['ข่าว', 'สังคม', 'คุณภาพชีวิต', 'พลทหารเรวัต เพชรเรือง', 'กองทัพเรือ', 'ฆ่าตัวตาย', 'โรคซึมเศร้า', 'ทหารเกณฑ์'] |
https://prachatai.com/print/79325 | 2018-10-27 12:49 | ชาวบ้านหนองปรือกันยาง จ.ฉะเชิงเทรา ทำประชาคมรับรองหนุ่มวัย 38 ปี ทำบัตรประชาชน | ชาวบ้านหนองปรือกันยาง อ.ท่าตะเกียบ จ.ฉะเชิงเทรา จัดเวทีประชาคมรับรองหนุ่มวัย 38 ปี ว่าเป็นคนไทยจริง หลังเข้ากรุงหางานทำแล้วทำบัตรหายมานานกว่า 20 ปี ปลัดอำเภอชี้เลือกใช้วิธีทำประชาคมให้ชาวบ้านช่วยกันรับรองเพราะมีความน่าเชื่อถือว่าเป็นตัวจริง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อวันที่ 17 ต.ค. 2561 ที่ผ่านมาชาวบ้านหนองปรือกันยาง ต.ท่าตะเกียบ อ.ท่าตะเกียบ จ.ฉะเชิงเทรา ได้จัดเวทีประชาคมหมู่บ้านเพื่อรับรองว่านายบุญชู น้ำคำ อายุ 38 ปี เป็นคนไทยที่เกิดและโตอยู่ที่บ้านหนองปรือกันยางจริง ซึ่งการทำประชาคมครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของการขอทำบัตรประชาชนให้กับนายบุญชู หลังจากถูกนายจ้างยึดบัตรประชาชนตัวจริงและใช้ชีวิตแบบคนไร้สิทธิมากว่า 20 ปี
นายบุญชู กล่าวว่าเคยทำบัตรประชาชนตอนอายุ 16 ปี จากนั้นเดินทางเข้ากรุงเทพมหานครไปหางานทำทันที ซึ่งตอนนั้นนายจ้างต้องการคนรับรองก่อนเข้าทำงานแต่ตนหาคนรับรองไม่ได้ นายจ้างจึงยึดบัตรประชาชนไว้เป็นประกันแทน อย่างไรก็ดีเมื่อทำงานได้ไม่กี่เดือนตนก็ออกจากงานมาและไม่ได้ขอรับบัตรประชาชนคืนมาด้วย โดยคิดว่าคงไม่เป็นไรเดี๋ยวไปทำใหม่ก็คงได้ จากนั้นตลอด 20 ปีที่ผ่านมาก็ตระเวนรับจ้างไปเรื่อย สุดท้ายมาทำอาชีพเก็บขยะที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา
นายบุญชู กล่าวว่าในระยะหลังๆ มานี้เริ่มรู้สึกว่าการไม่มีบัตรประชาชนเป็นอุปสรรคกับการใช้ชีวิต ไม่มีสิทธิได้รับสวัสดิการของรัฐ ไม่สามารถทำธุรกรรมอะไรได้ แม้แต่จะเดินทางก็ลำบากจะซื้อตั๋วรถทัวร์หรือรถไฟก็ต้องใช้บัตร เคยประสบอุบัติเหตุจักรยานยนต์ชนสุนัขจนสลบ เข้าโรงพยาบาลเสียเงินคืนละ 1,500 บาท จึงอยากจะทำบัตรประชาชนอีกโดยเคยเดินทางมาขอทำบัตรในปี 2558 แต่ขณะนั้นปลัดอำเภอคนเก่าบอกว่าต้องเอาผู้ใหญ่บ้านมารับรอง แต่ผู้ใหญ่บ้านคนก่อนไม่ว่าง สุดท้ายจึงทำบัตรไม่สำเร็จ
ด้าน น.ส.อิสรา เจียมวิทยานุกูล ประชาชนชาว อ.หาดใหญ่ จิตอาสาผู้ผลักดันการทำบัตรประชาชนให้นายบุญชูในครั้งนี้ กล่าวว่าตนได้รู้จักนายบุญชูเมื่อครั้งที่นายบุญชูมาเป็นจิตอาสาช่วยเก็บขยะในงานคอนเสิร์ตรักษ์ป่าต้นน้ำผาดำ เมื่อวันที่ 10 มี.ค. 2561 เมื่อพูดคุยกันจึงได้ทราบว่านายบุญชูไม่มีบัตรประชาชน จึงพยายามผลักดันขอทำบัตรประชาชนให้นายบุญชู และเขียนเรื่องราวถ่ายทอดผ่านเฟสบุ๊กส่วนตัวและได้รับความสนใจจากชาวโซเชียลอย่างมาก เรื่องราวดังกล่าวได้ทราบถึงนายปิยะนันท์ มูลตรีมา ปลัดอำเภอท่าตะเกียบ และได้ติดต่อประสานมาว่ายินดีให้การช่วยเหลือ อย่างไรก็ดี ในตอนแรกคิดว่านายบุญชูเคยมีเลขประจำตัว 13 หลักแล้ว และระบบของกรมการปกครองก็น่าจะเชื่อมโยงออนไลน์กัน จึงคิดว่าน่าจะทำบัตรประชาชนที่ไหนก็ได้ จึงติดต่อขอทำบัตร ณ ที่ว่าการ อ.หาดใหญ่ก่อน เพื่อที่นายบุญชูจะได้ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเดินทางมาทำบัตรที่ อ.ท่าตะเกียบ
อย่างไรก็ดี ด้วยปัญหาบางประการ ทางอำเภอหาดใหญ่ไม่ยอมทำบัตรให้ สุดท้ายจึงต้องเดินทางมาทำบัตรที่ อ.ท่าตะเกียบในที่สุด โดยการเดินทางครั้งนี้ได้รับเงินบริจาคจากผู้อ่านในเฟสบุ๊กเพื่อช่วยเหลือค่าเดินทางรวมแล้วประมาณหมื่นกว่าบาท ซึ่งหลังจากหักค่าใช้จ่ายต่างๆ แล้ว เงินที่เหลือจะได้นำไปเปิดบัญชีเงินฝากให้แก่นายบุญชูต่อไป เพราะที่ผ่านมานายบูญชูไม่เคยมีบัญชีเงินฝากธนาคารเลยสักครั้งในชีวิต
นายปิยะนันท์ มูลตรีมา ปลัดอำเภอท่าตะเกียบ กล่าวว่าการทำบัตรประชาชนมีหลายกรณี คือ 1.เคยแจ้งเกิด มีสูจิบัตรและเคยทำบัตรมาก่อนแล้วแต่อาจปล่อยทิ้งร้างมานาน ข้อมูลในการทำบัตร เอกสารหลักฐานของราชการจึงยังพอสืบค้นได้ รวมทั้งอาศัยข้อมูลแวดล้อม เช่น เคยเรียนหนังสือ มีญาติหรือบุคลคลผู้น่าเชื่อถือรับรอง ตรงนี้เจ้าหน้าที่สามารถใช้ดุลพินิจทำบัตรให้ได้ แต่หากไม่มีหลักฐานเหล่านี้มาเข้าองค์ประกอบและไม่สามารถเชื่อมโยงได้ ก็จะเกิดความลำบากใจของเจ้าหน้าที่ ทั้งนี้ในกรณีของนายบุญชูเคยทำบัตรมาแล้ว มีเลขประจำตัว 13 หลัก ส่วนญาติหรือบุคคลที่น่าเชื่อถือที่จะมารับรองตัวตนให้นั้น ตนเลือกใช้วิธีการทำประชาคมหมู่บ้าน เพราะจะได้ให้ชาวบ้านหลายๆ คนช่วยกันยืนยันตัวตนว่าเป็นนายบุญชูตัวจริงไม่ใช่คนอื่นมาสวมสิทธิซึ่งจะมีความน่าเชื่อถือมากกว่า
2. เคยแจ้งเกิดแต่ไม่เคยทำบัตรเลย ก็จะคล้ายกรณีที่ 1 แต่ความน่าเชื่อถือจะอ่อนกว่าเพราะยังไม่เคยทำบัตร ตรงนี้ถ้าเอกสารหลักฐานที่นำมาแสดงยังไม่สามารถทำให้เชื่อถือได้ว่าเป็นบุคคลที่เคยแจ้งเกิดจริงหรือไม่ เจ้าหน้าที่สามารถใช้การพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ ก็คือการตรวจ DNA ว่าตัวบุคคลที่ขอทำบัตรประชาชนมีความเชื่อมโยงกับญาติที่มารับรองหรือไม่ จะสบายใจกันทั้ง 2 ฝ่าย
“การตรวจ DNA หลักๆ จะเชื่อมโยงกับสายข้างบน คือ บิดา มารดา ปู ย่า ตา ยาย หรือพี่น้องกัน ถ้ามี DNA สอดคล้องกัน ก็จะเป็นหลักฐานประกอบการพิจารณา ตรงนี้สำหรับคนที่ไม่มีเงิน เรามีโครงการของกรมการปกครองที่ให้ลงทะเบียนเพื่อตรวจ DNA หรือถ้ามีใครกำลังพอ ก็สามารถขอให้สำนักทะเบียนทำหนังสือส่งเรื่องไปโรงพยาบาลเพื่อขอตรวจพิสูจน์ DNA ได้” นายปิยะนันท์ กล่าว
นายปิยะนันท์ กล่าวทิ้งท้ายว่าอยากให้เข้าใจมุมของเจ้าหน้าที่ว่าต้องแบกรับอยู่ 2 อย่าง คือ งานบริการและงานความมั่นคง ในกรณีที่กระบวนการที่ไม่ยุ่งยาก มีหลักฐานพร้อมก็สามารถบริการได้ แต่หากมีอะไรที่ติดขัดหรือหลักฐานขาดไปก็ต้องพิจารณาเรื่องความมั่นคงด้วย เพราะถ้ามีปัญหาขึ้นมา คนที่รับผิดโดยตรงก็คือตัวเจ้าหน้าที่ ดังนั้นจึงต้องหาหลักฐานเข้ามาประกอบ ซึ่งหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ก็เป็นหลักฐานที่ช่วยยืนยันให้สบายใจทั้ง 2 ฝ่าย แต่กรณีที่ตรวจ DNA แบบนี้ สายข้างบนก็ต้องมีหลักฐานหรือมีบัตรประชาชน ถ้าพ่อไทยหรือแม่ไทยและยังมีชีวิตอยู่ การพิสูจน์ DNA ก็เป็นแนวทางที่ดีกว่า แต่ถ้าสายบนก็ไม่มีเอกสารมาพิสูจน์ การทำบัตรประชาชนก็จะยุ่งยากเข้าไปอีก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากการทำประชาคมไปเมื่อวันที่ 17 ต.ค. 2561 วันต่อมานายบุญชูได้เดินทางไปทำบัตรประชาชน ณ ที่ว่าการ อ.ท่าตะเกียบ และได้บัตรประชาชนจากมือ น.ส.กมลชญา ประเสริฐสิน นายอำเภอท่าตะเกียบในที่สุด
| ['ข่าว', 'สังคม', 'สิทธิมนุษยชน', 'คุณภาพชีวิต', 'คนไทยไร้สิทธิ', 'ประชาคมเพื่อขอทำบัตรประชาชน', 'บัตรประชาชน'] |
https://prachatai.com/print/79327 | 2018-10-27 18:45 | RAD ยืนยันยังปลอดภัย ไม่มีการเข้าจับกุมจาก จนท.รัฐ ตามข่าวลือ | แร็ปเปอร์กลุ่ม 'Rap Against Dictatorship' หรือ 'RAD' เจ้าของเพลง 'ประเทศกูมี' โพสต์เฟสบุ๊คระบุสมาชิกยังปลอดภัยดีกันทุกคน ขณะนี้ยังไม่มีการเข้าจับกุมใดๆ จากเจ้าหน้าที่รัฐตามที่มีการลือกัน วันนี้ (27 ต.ค.) ยังมีกระแสในโลกโซเชียลอย่างต่อเนื่อง ขึ้นชาร์ตอันดับ 1 iTunes Thailand Charts ยูทูปทะลุ 8 ล้านวิว รองโฆษก ปอท. เผยยังไม่แจ้งข้อหาระบุเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ระบุมีข้อมูลนักร้อง-คนแต่งเพลง 'อภิสิทธิ์' ชี้ยิ่งรัฐบาลเพ่งเล็งยิ่งทำยอดวิวพุ่ง
27 ต.ค. 2561 แร็ปเปอร์กลุ่ม 'Rap Against Dictatorship' หรือ 'RAD' เจ้าของเพลง 'ประเทศกูมี' โพสต์ผ่าน เฟสบุ๊คแฟนเพจของกลุ่ม [1] เมื่อเวลาประมาณ 12.30 น. ระบุว่าสมาชิกของกลุ่มยังปลอดภัยดีกันทุกคน ขณะนี้ยังไม่มีการเข้าจับกุมใดๆ จากเจ้าหน้าที่รัฐตามที่มีการลือกัน
สวัสดีครับพวกเรายังปลอดภัยดีกันทุกคนนะครับขณะนี้ ยังไม่มีการเข้าจับกุมใดๆ จาก จนท.รัฐ ตามที่มีการลือกัน
แต่แน่นอนครับ สำหรับเรา ที่เป็นเพียงประชาชนตัวเล็กๆ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเราเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา มันสร้างความกังวลใจ ให้พวกเราทุกคนเป็นอย่างมาก
แต่มีอยู่สิ่งหนึ่ง ที่ทำให้พวกเรายังมีกำลังใจที่จะสู้ต่อ นั่นคือกำลังใจจาก ประชาชนด้วยกัน ที่คอยส่งให้ ทั้งผ่าน Social Networks และ สื่อรูปแบบอื่นๆ
แม้ว่าหลายๆคน จะไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาของเพลงเรา และ มีความเชื่อทางการเมืองที่ต่างกันโดยสิ้นเชิง แต่พวกท่านก็ยังช่วยปกป้องเสรีภาพในการวิจารณ์ของพวกเราไว้ พวกเราได้อ่านทุกข้อความที่ท่านเขียน และ ขอขอบคุณทุกท่านจากใจจริง
เราเชื่อว่า เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นเครื่องยืนยันที่ชัดเจนว่า ไม่ว่าเรา-ประชาชน จะมีความแตกต่างกันแค่ไหน แต่พวกเราก็สามารถต่อสู้กับความไม่ถูกต้องร่วมกันได้
ขอขอบคุณทุกคนอีกครั้งครับ
All People UniteRAD
ทั้งนี้ในโลกโซเชียลพบว่าทั้งวันนี้ (27 ต.ค.) ยังมีกระแสพูดถึงเพลงประเทศกูมีอย่างต่อเนื่อง เว็บไซต์ blognone [2] รายงานเมื่อเวลา 13.47 น. ว่าล่าสุดเพลงประเทศกูมี ทำสถิติแซงเพลงฮิตหลายเพลงในชาร์ต iTunes Thailand Charts ขึ้นเป็นอันดับ 1 แล้ว
ส่วน MV เพลงประเทศกูมีถูกเผยแพร่บน YouTube ตั้งแต่วันที่ 22 ต.ค. 2561 จนถึงตอนนี้มีคนดูแล้วกว่า 8 ล้านครั้งแล้ว (ยอดเมื่อ 27 ต.ค. 2561 เวลา 18.54 น.) นอกจากนี้แฮชแท็ก #ประเทศกูมี ยังขึ้นเป็นอันดับ 1 บน Twitter ประเทศไทยด้วยอย่างรวดเร็ว
รองโฆษก ปอท. เผยยังไม่แจ้งข้อหาระบุเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ระบุมีข้อมูลนักร้อง-คนแต่งเพลง
เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ [3] รายงานว่าพ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ ผกก.กก.3 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ในฐานะรองโฆษก บก.ปอท. กล่าวถึงการตรวจสอบกรณีคลิปเพลงแร็พ “ประเทศกูมี” ที่มีการเผยแพร่ในสังคมออนไลน์ ว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน จะต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ เมื่อวานนี้ พ.ต.อ.ไพบูลย์ น้อยหุ่น รรท.ผบก.ปอท. ได้สั่งการให้ตรวจสอบเนื้อหาของเพลงว่าเข้าข่ายความผิดใดบ้าง จากการตรวจสอบเบื้องต้น บก.ปอท.มีข้อมูลของบุคคลในคลิป ทั้งนักร้อง คนแต่งเพลง แต่ไม่ขอเปิดเผยรายละเอียด ยืนยันว่ายังอยู่ในประเทศไทย ไม่ได้หลบหนี ขณะนี้ยังไม่มีการเชิญบุคคลที่อยู่ในคลิปเพลงมาสอบสวน เจ้าหน้าที่ตำรวจขอรวบรวมพยานหลักฐานอื่นๆให้ครบถ้วนก่อน ถ้าหากพบว่าเข้าข่ายมีความผิดจึงจะเชิญมาสอบสวนและรับทราบข้อกล่าวหา
รองโฆษก บก.ปอท. กล่าวอีกว่า จากการพิจารณาคลิปเพลงดังกล่าวอาจจะเข้าข่ายความผิด พรบ.คอมพิวเตอร์ แต่ทั้งนี้ก็ต้องรอให้พนักงานสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานให้แน่นหนา จึงจะสามารถแจ้งข้อกล่าวหาได้ โดยส่วนตัวไม่อยากให้มีการแชร์หรือส่งต่อ ยอมรับว่าเรื่องนี้มีทั้งคนชอบและไม่ชอบ
'อภิสิทธิ์' ย้อนถามผิดกฎหมายประเด็นไหน ชี้รัฐบาลเพ่งเล็งยิ่งทำยอดวิวพุ่ง
ข่าวสดออนไลน์ [4] รายงานว่าที่ สวนปาล์ม ศาลาภิรมย์ ศาลาแปดเหลี่ยม สวนลุมพินี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงเพลงแร็พประเทศกูมี ที่กำลังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในขณะนี้ว่า บังเอิญตนเป็นคนที่ฟังเพลงแร็พสากลอยู่แล้ว จึงเข้าใจแนวทางของเพลงแนวนี้ซึ่งเป็นเช่นนี้ โดยเป็นความพยายามสะท้อนสังคม แต่ไม่ทราบว่าที่เป็นเรื่องขึ้นมาในขณะนี้ ที่ผิดกฎหมายนั้นเป็นประเด็นอะไร
“ความจริงการวิพากษ์วิจารณ์สังคมนั้นทำได้ แต่ขอให้อยู่บนพื้นฐานข้อเท็จจริง ส่วนรูปแบบจะเหมาะสมหรือไม่ คนจะชอบหรือไม่ ผมเข้าใจความหลากหลาย เพราะแต่ละคนมีความหลากหลายทางความคิด ผมเองฟังเพลงแร็พสากลอยู่แล้ว ก็ดูว่าเป็นเรื่องค่อนข้างปกติ ส่วนใครจะชอบหรือไม่ชอบเป็นสิทธิของแต่ละคน แต่ไม่มีใครมีสิทธิทำผิดกฎหมาย
แต่ผมยังงงอยู่ว่าเรื่องที่บอกว่าทำผิดกฎหมาย คือประเด็นอะไร และอย่างที่ผมบอก คนที่ฟังเพลงแร็พสากลเขามองเรื่องอย่างนี้เป็นปกติ แต่ผมขอย้ำว่าไม่มีใครมีสิทธิทำผิดกฎหมาย เพราะถ้าบอกว่าใครวิพากษ์วิจารณ์สังคมตัวเองแล้วเป็นผลกระทบต่อความมั่นคงมั่น คงไม่ใช่
แต่ความเหมาะสมนั้นเป็นความคิดของแต่ละคน เราไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยกับสิ่งที่เขาพูด สิ่งที่เค้าร้องหรือสิ่งที่เขาได้แร็พ แล้วไปถึงขั้นจำกัดสิทธิ ถ้าเค้าไม่ได้ทำผิดกฎหมาย มันก็ไม่ถูกต้อง ดังนั้นต้องว่ากันไปตามข้อเท็จจริง ส่วนคนที่กล่าวหาว่าทำผิดกฎหมาย ก็ต้องอธิบายว่ามันเป็นอย่างไร”นายอภิสิทธิ์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่าการที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และรัฐบาลมองว่าเพลง “ประเทศกูมี” เกิดขึ้นมาเพื่อตีรวนนั้น นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ทุกฝ่ายมีสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็น รัฐบาลก็มีสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็น ส่วนตนกลับมองว่าไปทำให้คนเปิดดูแล้วเพลงนี้มากขึ้น ทำให้ยอดวิวสูงขึ้น
โฆษกสามมิตรแนะเจ้าของเพลงประเทศกูมี-ผู้มีอำนาจหันหน้าหารือ อย่ารีบใช้กฎหมายฟัน
สำนักข่าวไทย [5] รายงานว่านายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกกลุ่มสามมิตร กล่าวถึงเพลงประเทศกูมีว่าอยากให้มองเจตนาของคนทำเพลงนี้ว่ามีเจตนาพิเศษอะไรหรือไม่ หากไม่มีก็น่าจะทำความเข้าใจกันได้ อย่าทำอะไรให้บ้านเมืองขัดแย้ง อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะเป็นสิทธิเสรีภาพของศิลปินที่สามารถทำได้ แต่ต้องคำนึงถึงความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับภาพลักษณ์ของประเทศชาติด้วย ซึ่งเท่าที่ได้รับฟังนั้นมีถ้อยคำที่พอรับได้ที่เป็นข้อเท็จจริงตามสถานการณ์ในสังคม แต่บางถ้อยคำก็ทำให้ประเทศเสียหายเพราะมีการบิดเบือน
“บางถ้อยคำทำให้ประเทศเสียหายต้องคำนึงถึงส่วนนี้ด้วย ไม่ใช่นึกจะทำอะไรก็ทำโดยไม่สนใจผลกระทบต่อประเทศเลย ถ้าเป็นผมจะทำเพลงประเทศกูดีมากกว่า เพราะประเทศไทยมีอะไรดีๆ เยอะแยะ เป็นสยามเมืองยิ้ม มีสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงาม มีวัฒนธรรมประเพณีอันดีงาม ขนาดคนต่างชาติยังรักประเทศไทย เดินทางมาเที่ยวถึงปีละ 37 ล้านคน” นายธนกร
นายธนกร กล่าวอีกว่าแม้ว่าบ้านเมืองของเราจะมีความขัดแย้งกัน แต่ลึกๆ แล้วคนไทยรักกัน และคนไทยทุกคนก็รักประเทศ เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ เพราะฉะนั้นเรื่องนี้ศิลปินคนทำเพลงกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องน่าจะหาทางออกโดยการมาทำความเข้าใจกัน ดีกว่าการใช้กฏหมายมาดำเนินการ ทั้งนี้หากมองแล้วมีเจตนาพิเศษที่จะทำให้ประเทศเสียหายแล้วยังไม่แก้ไขนั้นค่อยใช้วิธีตามกฏหมายดำเนินการ เพราะประเทศจะมีการเลือกตั้งแล้ว อยากให้บรรยากาศดี อย่าให้สังคมขัดแย้ง
| ['ข่าว', 'การเมือง', 'สังคม', 'วัฒนธรรม', 'คุณภาพชีวิต', 'Rap Against Dictatorship', 'RAD', 'เพลงประเทศกูมี', 'อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ', 'ประเทศกูมี'] |
https://prachatai.com/print/79326 | 2018-10-27 18:20 | ใบตองแห้ง: ระบอบตู่ระบอบแม้ว | ยิ่งใกล้เลือกตั้ง ก็ยิ่งปลุกกระแสเกลียดชังทักษิณ โดยเฉพาะเมื่อทักษิณให้สัมภาษณ์ว่า ถ้าพรรคฝ่ายประชาธิปไตยได้เกิน 300 เสียง รัฐบาลทหารก็จะไม่สามารถสืบทอดอำนาจได้
เท่านั้น ก็แค้นคั่งจะให้สั่ง กกต.ยุบพรรคเพื่อไทย ยุบหมดเลยไหม พรรคไหนประกาศไม่เอาคสช.สืบทอดอำนาจ ถือเป็นภัยความมั่นคงของชาติ
พวกที่เคยยึดทำเนียบยึดสนามบินปิดเมืองขัดขวางเลือกตั้ง ออกบัตรเชิญรัฐประหาร 2 ครั้ง ก็ออกมาแหกปาก ทักษิณไม่ใช่ประชาธิปไตย เคยใช้อำนาจในทางที่ผิด ฯลฯ เออ มีใครคิดว่าทักษิณเป็นทรูโด หรือโอบามา? แต่เทียบกับการเอาปืนรถถังยึดอำนาจ ปิดกั้นสิทธิเสรีภาพ บังคับประชาชนให้ทำตามคำสั่ง อะไรเลวร้ายกว่ากันเห็น ๆ
ทั้งหมดก็เป็นแค่การปลุกผี ในสังคมโง่เขลา ยิ่งอยู่ใต้เผด็จการนาน ๆ ยิ่งโง่ลง ยิ่งรับข่าวสารผ่านสื่อสังคมออนไลน์ยิ่งเบาปัญญา เอาแต่ดราม่าฟูมฟาย ปลุกความเกลียดชังทักษิณ เพื่อให้ยอมรับการสืบทอดอำนาจอย่างหนา ๆ ได้ยินคำขู่รัฐประหาร ยังบอกว่าเป็นคำเตือนด้วยความหวังดี ฉะนั้นทุกคนต้องทำตัวดี ๆ อย่าให้ทหารท่านไม่พอใจ
ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 ทักษิณไม่มีทางกลับมาครองอำนาจได้ เพราะพรรคเพื่อไทยไม่มีทางใหญ่กว่าพรรค ส.ว. 250 เสียง แต่นั่นกลับทำให้คนชั้นกลางสมองกลวงดีอกดีใจ ดีแล้วไง ความไม่เป็นประชาธิปไตยช่วยให้สกัดทักษิณได้ รัฐประหารไม่เสียของ ไม่ต้องเป็นประชาธิปไตยไปเลยดีที่สุด เพราะเลือกตั้งทีไรแพ้ทักษิณทุกที ยุบพรรคก็ทำอะไรไม่ได้ ต้องตั้ง ส.ว.มาเลือกกันเองดื้อ ๆ อย่างนี้ แล้วบอกว่าเป็นกติกา
นี่น่าจะเป็นสิ่งที่เรียกว่าความเป็นไทย ศีลธรรมจรรยา หิริโอตตัปปะ คุณสมบัติของคนดี
การปลุกผีทักษิณ มึนชาคนเกลียดชังให้ยอมรับการสืบทอดอำนาจ แบบไม่เอานายกฯ คนนอก แต่ถ้าหัวหน้า คสช.เป็น 1 ใน 3 แคนดิเดทนายกฯ ของพรรคการเมืองไม่เห็นเป็นไร ถือเป็นความชอบธรรม พรรคประชาธิปัตย์ยังยอมรับ
ยิ่งไปกว่านั้น ยังทำให้คนหน้ามืดเห็นแต่ “ระบอบทักษิณ” ไม่เห็น “ระบอบประยุทธ์” ซึ่งสี่ปีผ่านไป ได้สถาปนาระบอบทหารและราชการเป็นใหญ่ ผนึก “ทุนนิยมประชารัฐ” ครอบงำประเทศไทย ประชาชนต้องอยู่ในวินัย เชื่อฟังข้าราชการ ทหาร ตำรวจ ภายใต้กฎระเบียบที่ปั๊มออกมามากมาย พร้อมกับสร้างภาพข้าราชการดี เก่ง เข้มแข็ง บังคับใช้กฎหมายรุนแรง ประชาชนโต้แย้งไม่ได้ ไม่ว่าทำเกินเหตุหรือมีเลศนัย ราชการถูกเสมอ
ซึ่งว่าโดยปรากฏการณ์ คนจำนวนมากก็ไม่ชอบรัฐทหารราชการเป็นใหญ่ เช่นที่ฮือต้านกฎหมายความมั่นคงไซเบอร์ ขึ้นทะเบียนหมาแมว ค่าปรับใบขับขี่ ฯลฯ รวมทั้งไม่พอใจภาพที่รัฐกับกลุ่มทุนผนึกกันแนบแน่น แต่ไม่ยักสำนึกว่านี่คือระบอบที่ คสช.สถาปนาขึ้น ซึ่งถ้าสืบทอดอำนาจได้ ก็จะยิ่งเข้มแข็งไปยาว ๆ กระทั่งสิ่งที่คนเคยคัดค้านเป็นผลในยุคนี้ ก็อาจคัดค้านไม่ได้ เช่นกฎหมายความมั่นคงไซเบอร์ ถ้าผ่าน 3 วาระ ก็อ้างได้ว่ามีเสียงข้างมากในสภา
สิ่งที่ทักษิณพูด ถ้าลบหน้าทักษิณออกไป ถ้าเป็นนักวิชาการนกหวีดกลับใจ เรียกร้องให้พรรคการเมืองผนึกกัน อย่ายอมให้สืบทอดอำนาจ ไม่ให้ตั้งรัฐบาลสำเร็จ บังคับให้ “ติดกับ” จนกว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ เอาอำนาจแต่งตั้งออกไป กระจายอำนาจให้ประชาชน ฯลฯ ผู้คนอาจยอมรับก็ได้
หรือไม่งั้น ก็อาจชี้หน้าว่า นักวิชาการคนนั้นโดนทักษิณซื้อไปแล้ว นี่แหละประเทศไทย
เผยแพร่ครั้งแรกใน: ข่าวหุ้นธุรกิจ www.kaohoon.com/content/258585 [1]
| ["'ใบตองแห้ง' ออนไลน์", 'การเมือง', 'ใบตองแห้ง', 'ประยุทธ์ จันทร์โอชา', 'ทักษิณ ชินว้ตร'] |
https://prachatai.com/print/79328 | 2018-10-27 19:00 | เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์: โขง-เลย-ชี-มูล กับแนวรบที่มีพลังของขบวนการนิเวศวัฒนธรรมอีสาน | การยืนหยัดต่อสู้ของชาวบ้านเพื่อคัดค้านการสร้างเขื่อนราษีไศลและเขื่อนหัวนาที่กั้นแม่น้ำมูลในเขตอำเภอราษีไศล อำเภอกันทรารมย์และอำเภอใกล้เคียง จังหวัดศรีสะเกษ เขื่อนปากมูลปิดกั้นปากแม่น้ำมูลที่อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี เขื่อนหนองหานกุมภวาปีปิดกั้นหนองหานกุมภวาปีก่อนไหลลงลำปาวที่อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี เขื่อนเหล่านี้คือองค์ประกอบย่อยหรือโครงการย่อยของโครงการโขง-ชี-มูล แม้จะไม่สำเร็จในแง่ที่เขื่อนยังคงเดินหน้าก่อสร้้างต่อไปจนเสร็จสิ้น แต่สำเร็จในแง่ที่มันได้ทำลายกรอบคิดตัวแบบการบริหารจัดการน้ำแบบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาของรัฐศูนย์กลางจนระส่ำระสาย ต้องเผชิญกับปัญหาการบริหารจัดการน้ำที่ไร้ประสิทธิภาพเพราะไหลไปไม่ถึงไร่นาของเกษตรกร และเกิดการลุกลามบานปลายมาที่ชาวบ้านในลุ่มแม่น้ำชีที่เขื่อนร้อยเอ็ดและเขื่อนยโสธร-พนมไพรได้ลุกขึ้นมาต่อสู้คัดค้านให้รัฐจ่ายค่าชดเชย ค่าเสียหายและค่าฟื้นฟูวิถีชีวิตและระบบนิเวศจากการเก็บกักน้ำแล้วทำให้ที่นาของชาวบ้านเกิดน้ำท่วมขังจนได้รับความเสียหายซ้ำซากทำการเพาะปลูกไม่ประสบผลสำเร็จ และพื้นที่สาธารณประโยชน์ที่มีลักษณะแบนราบลุ่มต่ำริมแม่น้ำที่เรียกกันว่าบุ่งและทามถูกน้ำท่วมขังผิดฤดูกาลจนทำให้ระบบนิเวศของป่าบุ่งป่าทามที่เหมาะสมแก่การเจริญพันธุ์ของสัตว์น้ำหลากหลายชนิดและทำการเกษตรตามฤดูกาลที่ชาวบ้านใช้หาอยู่หากินดำรงวิถีชีวิตเกิดความเสียหายขึ้น
แนวผันน้ำโขง-เลย-ชี-มูล จากเอกสารโครงการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment : SEA) โครงการบริหารจัดการน้ำโขง-เลย-ชี-มูล โดยแรงโน้มถ่วง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
โครงการย่อยเหล่านี้ของโครงการโขง-ชี-มูลเป็นโครงการเฉพาะในส่วนของการใช้น้ำภายในประเทศเท่านั้น ในส่วนของโครงการที่ต้องผันน้ำจากแม่น้ำโขงเข้ามาเพื่อพัฒนาพื้นที่เกษตรชลประทานในภาคอีสานถูกระงับเอาไว้ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อปี 2537 โดยให้กลับไปศึกษารายละเอียดและติดตามผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากโครงการในส่วนของการใช้น้ำภายในประเทศ ตลอดจนจัดทำข้อเสนอแผนงานป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเสียก่อน แล้วค่อยเสนอต่อ ครม. เพื่อพิจารณาอนุมัติใหม่อีกครั้งหนึ่ง
ตลอดเวลาอันยาวนานที่หน่วยงานราชการด้านแหล่งน้ำยังคงมุ่งมั่นผลักดัน “โครงการโขง-ชี-มูลใหม่” เพื่อต้องการผันน้ำจากแม่น้ำโขงเข้ามาให้ได้ แต่การยืนหยัดต่อสู้ของชาวบ้านหลายพื้นที่ตามที่ได้กล่าวมาทำให้ข้อเสนอเรื่องการผันน้ำจากแม่น้ำโขงเข้ามายังผืนแผ่นดินอีสานไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะว่าหน่วยงานราชการด้านแหล่งน้ำยังแก้ไขปัญหาผลกระทบและความเสียหายที่เกิดขึ้นกับวิถีชีวิต ระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมในส่วนของโครงการโขง-ชี-มูลที่ถูกอนุมัติให้ใช้น้ำภายในประเทศไม่เสร็จสิ้น ก็เนื่องด้วยความพยายามปัดความรับผิดชอบตลอดมาว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมดไม่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างโครงการใด ๆ จนนำมาซึ่งการไม่ยอมรับค่าชดเชย ค่าเสียหายและค่าฟื้นฟูที่ชาวบ้านเรียกร้องเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของมูลค่าโครงการ
ต้นเหตุที่รัฐศูนย์กลางยังดื้อรั้นต้องการผลักดันการผันน้ำจากแม่น้ำโขงเข้ามาให้ได้ ก็เพราะมีความคิดระนาบเดียวมาตลอดทุกยุคสมัยว่าจะต้องหาน้ำมาป้อนพื้นที่การเกษตรที่มีอยู่ทั้งหมดให้ได้ เพราะเห็นว่าพื้นที่การเกษตรในภาคอีสานปัจจุบันที่มีอยู่ประมาณ 58 ล้านไร่ ถูกพัฒนาเป็นพื้นที่เกษตรชลประทานแล้ว 7 ล้านไร่ และถ้าใช้น้ำในลุ่มน้ำภายในประเทศจากลุ่มแม่น้ำชี ลุ่มแม่น้ำมูลและลุ่มแม่น้ำสาขาใหญ่น้อยอื่น ๆ ให้เต็มศักยภาพจะทำให้พื้นที่เกษตรชลประทานเพ่ิมเป็น 13 ล้านไร่ ยังเหลือพื้นท่ี่เกษตรน้ำฝนหรือพื้นที่เกษตรนอกเขตชลประทานอีกประมาณ 45 ล้านไร่ ดังนั้น จึงต้องผันน้ำโขงเข้ามาเพื่อป้อนน้ำให้กับพื้นที่นอกเขตชลประทานที่เหลือทั้งหมดให้ได้ แต่ลืมคิดไปอย่างหนึ่งว่าตัวแบบของการบริหารจัดการน้ำในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาที่สร้างระบบเครือข่ายเชื่อมโยงระหว่างลุ่มแม่น้ำต่าง ๆ สามารถทำงานได้ดีก็เพราะภูมิประเทศส่วนใหญ่มีลักษณะลุ่มต่ำแบนราบสามารถส่งน้ำไปถึงไร่นาด้วยระบบแรงโน้มถ่วงได้ แต่ภาคอีสานไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ เพราะภูมิประเทศถูกแบ่งเป็น 4 เขตภูมินิเวศใหญ่ ได้แก่
(1) ภูมินิเวศเทือกเขา เช่น เทือกเขาภูพาน เทือกเขาพนมดงรักและเทือกเขาเพชรบูรณ์ ที่แยกภาคอีสานออกจากภาคตะวันออกและภาคกลางตามลำดับ รวมถึงที่ราบบนเทือกเขาที่มีลักษณะ “ภูหลังแป” และที่ราบเชิงเขาทั้งหลายด้วย
(2) ภูมินิเวศแอ่งหรือที่ราบลุ่มต่ำของแอ่งโคราชและแอ่งสกลนคร คือพื้นที่ริมแม่น้ำสาขาน้อยใหญ่ทั้งหลายของภาคอีสาน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีภูมินิเวศย่อยเป็นทุ่ง บุ่ง ทาม กุด หนอง ริมแม่น้ำสาขาน้อยใหญ่ทั้งหลายในภาคอีสาน
(3) ภูมินิเวศที่ราบลอนคลื่นสลับโคก/เนิน ทัั้งที่ยังคงมีสภาพป่าโคกอุดมสมบูรณ์และที่กำลังเสื่อมโทรมและเสื่อมโทรมไปแล้วจากการถูกใช้เป็นพื้นที่ปลูกพืชเศรษฐกิจ เช่น อ้อย มันสำปะหลัง ยางพารา เป็นต้น ซึ่งเป็นพื้นที่ที่สูงกว่าพื้นที่แอ่งโคราชและสกลนครในข้อ (2) เพราะมีลักษณะเป็นภูเขาหรือเนินเขาเตี้ย ๆ สลับที่ราบ
(4) ภูมินิเวศริมแม่น้ำโขงตลอดแนวชายแดนไทย-ลาว จากจังหวัดเลยไปจนถึงอุบลราชธานี
คำถามสำคัญก็คือเราจะบริหารจัดการน้ำทั้ง 4 ภูมินิเวศดังกล่าวด้วยรูปแบบเดียวกันได้หรือไม่ ? เพราะมีข้อเท็จจริงให้ต้องตระหนักดังนี้ ประการแรก-โดยวิถีการผลิต, ภูมินิเวศเหล่านี้มีความต้องการน้ำ รูปแบบการใช้น้ำและกิจกรรมการผลิตที่ต่างกัน เช่น ภูมินิเวศเทือกเขาเหมาะแก่พืชเศรษฐกิจสำหรับที่สูง ภูมินิเวศแอ่งเหมาะแก่การปลูกข้าวและรักษาแหล่งน้ำเพื่อดำรงวิถีชาวประมง ภูมินิเวศที่ราบลอนคลื่นสลับโคก/เนินเหมาะแก่การปลูกอ้อยและมันสำปะหลัง เป็นต้น ประการที่สอง-โดยวิถีของฤดูน้ำธรรมชาติ, ภูมินิเวศเหล่านี้เกี่ยวเนื่องกับการเป็นพื้นที่เติมน้ำ (Recharge area) พื้นที่ส่งผ่านน้ำ (Transmission area) และพื้นที่ใช้น้ำ (Discharge area) ที่สร้างความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ระบบและวงจรของน้ำผิวดินและน้ำใต้ดินหรือน้ำบาดาลแตกต่างกัน และยังอาจส่งผลต่อการควบคุมเกลือใต้ดินไม่ให้ผุดขึ้นมาแพร่กระจายอยู่บนผิวดินในระดับรุนแรงเกินไปได้อีกด้วยหากยังสามารถมีน้ำธรรมชาติหรือน้ำฝนเติมลงไปใต้ดินอย่างสม่ำเสมอ และประการที่สาม-โดยวิถีของกฎแรงโน้มถ่วง, ภูมินิเวศเหล่านี้ไม่สามารถส่งน้ำด้วยระบบแรงโน้มถ่วงที่น้ำสามารถไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำได้เหมือนกันหมด แต่รูปแบบการบริหารจัดการน้ำด้วยการผันน้ำเข้ามาทั้งจากแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาขาใหญ่น้อยในภาคอีสานที่รัฐศูนย์กลางได้วางแผนพัฒนามาตลอดทุกยุคสมัยโดยยึดการบริหารจัดการน้ำในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นตัวแบบนั้นล้วนเป็นรูปแบบหรือโครงการพัฒนาที่ไม่ตอบสนองหรือสอดคล้องกับภูมินิเวศในแต่ละเขตพื้นที่ ดังที่เคยล้มเหลวมาแล้วจากโครงการโขง-ชี-มูล
แนวผันน้ำที่โง่เขลา
ประตูกั้นน้ำห้วยหลวงที่บ้านดอนคง ต.วัดหลวง อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย มีระดับท้องน้ำอยู่ที่ 151 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง (เมตร รทก.) และมีระดับกักเก็บน้ำที่ 160 เมตร รทก. โดยสร้างประตูระบายน้ำปิดกั้นปากห้วยหลวงห่างจากแม่น้ำโขงเข้ามาประมาณ 1 กิโลเมตร และสร้างสถานีสูบน้ำจากแม่น้ำโขงเข้าสู่ประตูกั้นน้ำห้วยหลวง ต่อจากนั้นก็จะผันน้ำเข้าคลองสาย A และสู่เขื่อนหนองหานกุมภวาปีที่อำเภอกุมภวาปี จ.อุดรธานี อีกทอดหนึ่ง แต่น้ำทั้งหมดไม่สามารถไหลเข้ามาด้วยแรงโน้มถ่วงของโลกได้ เพราะระดับเก็บกักน้ำของประตูกั้นน้ำห้วยหลวงอยู่ในจุดที่ต่ำกว่าระดับท้องน้ำของเขื่อนหนองหานกุมภวาปีถึง 6 เมตร จึงต้องทำการสูบน้ำด้วยไฟฟ้าส่งเข้ามาตามคลองสาย A ซึ่งเป็นการสูบน้ำหลายทอดเพื่อลำเลียงน้ำจากที่ที่ต่ำกว่าไปสู่ที่ที่สูงกว่าตามแนวคลองผันน้ำสาย A ซึ่งมีความยาวกว่า 60 กิโลเมตร ด้วยการสร้างสถานีสูบน้ำตามแนวคลองสาย A ไว้เป็นช่วง ๆ เพื่อเพิ่มแรงดันน้ำให้การไหลขึ้นสู่เขื่อนหนองหานกุมภวาปีไม่สะดุดหรือติดขัด และค่าไฟฟ้าทั้งหมดจากการสูบน้ำหลายทอดดังกล่าวจะถูกนำไปเรียกเก็บกับเกษตรกรที่ต้องการใช้น้ำ เหตุที่ต้องเลือกแนวผันน้ำประตูกั้นน้ำห้วยหลวง-เขื่อนหนองหานกุมภวาปีตามคลองผันน้ำสาย A ก็เพราะมีแรงผลักดันจากนักการเมืองใหญ่ในจังหวัดอุดรธานีซึ่งเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการป้อนโครงการโขง-ชี-มูลเข้าสู่นโยบาย “เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า” ในยุครัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ซึ่งเป็นแนวผันน้ำไหลผ่านจังหวัดอุดรธานีที่เป็นฐานคะแนนเสียงใหญ่ในการเลือกตั้ง แต่เป็นแนวผันน้ำที่มีการใช้กระแสไฟฟ้าสำหรับสูบน้ำสูงมาก และเป็นค่าไฟฟ้าที่จะเอามารวมคิดเป็นค่าสูบน้ำของเกษตรกร จึงทำให้เกษตรกรในพื้นที่โครงการจำนวนไม่น้อยกว่า 29 หมู่บ้าน ต้องแบกรับภาระค่ากระแสไฟฟ้าเพื่อการสูบน้ำจากแม่น้ำโขงเข้าสู่ประตูกั้นน้ำห้วยหลวงและเข้าสู่เขื่อนหนองหานกุมภวาปีด้วยความโง่เขลาของนักการเมืองที่ร่วมกันผลักดันโครงการนี้
โครงการโขง-เลย-ชี-มูล โดยระบบแรงโน้มถ่วง
รัฐศูนย์์กลางใช้เวลา 14 ปี นับตั้งแต่สร้างประตูกั้นน้ำห้วยหลวงแล้วเสร็จเมื่อปี 2545 จนมาถึงการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นโครงการโขง-เลย-ชี-มูลเมื่อปี 2559 จึงรู้ว่าแนวผันน้ำจากประตูกั้นน้ำห้วยหลวงสู่เขื่อนหนองหานกุมภวาปีตามโครงการโขง-ชี-มูลเป็นแนวผันน้ำที่โง่เขลาสร้างความล้มเหลวขึ้น ถึงแม้ว่าจะไม่ได้เอ่ยยอมรับออกมาทางวาจาหรือทางลายลักษณ์อักษร แต่การผลักดัน “โครงการโขง-เลย-ชี-มูล โดยระบบแรงโน้มถ่วง” หรือ “โครงการโขง-ชี-มูลใหม่” ที่ยังต้องการผันน้ำโขงเข้ามาสร้างเครือข่ายระบบชลประทานด้วยแรงโน้มถ่วงก็เท่ากับเป็นการยอมรับไปในตัวว่าโง่เขลาและล้มเหลว คำถามคือ ถ้าเช่นนั้นก็แสดงว่าโครงการโขง-เลย-ชี-มูล โดยระบบแรงโน้มถ่วงซึ่งเป็นแนวผันน้ำที่สามารถส่งน้ำโดยระบบแรงโน้มถ่วงได้ เพราะมีความลาดชันจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำลดหลั่นลงมาเป็นลำดับ คือโครงการใหม่ที่ฉลาดกว่าจนสามารถนำไปสู่ความสำเร็จอย่างแน่นอนใช่ไหม ?
แท้ที่จริงแล้วแนวผันน้ำสายนี้ก็เป็นแนวผันน้ำสายหนึ่งในโครงการโขง-ชี-มูลมาแต่เดิม แต่ไม่ถูกเลือกใช้ในช่วงเวลานั้นด้วยเหตุผลทางคะแนนเสียงของพรรคการเมืองตามที่กล่าวไป ดังนั้น คำตอบจึงไม่ได้อยู่ที่ว่ารัฐศูนย์กลางได้แก้ไขความผิดพลาดด้วยการเปลี่ยนแนวผันน้ำเก่าที่โง่เขลาด้วยการใช้วิธีดึงน้ำขึ้นที่สูงจากแม่น้ำโขงเข้าสู่ประตูกั้นน้ำห้วยหลวงและเข้าสู่เขื่อนหนองหานกุมภวาปีและกระจายน้ำตามแรงโน้มถ่วงลงสู่ลำปาวและลุ่มแม่น้ำชีและมูลต่อไปด้วยการผลักดันแนวผันน้ำใหม่ที่ฉลาดกว่าตามโครงการโขง-เลย-ชี-มูล โดยระบบแรงโน้มถ่วงแล้ว ประชาชนอย่างเราจึงควรปล่อยมันผ่านไปหรือลืมความโง่เขลาที่สร้างความล้มเหลวนั้นไปเสีย อย่าได้จดจำรำลึกอันใดอีก แต่คำตอบอยู่ตรงที่ตราบใดที่รัฐศูนย์กลางยังคงมุ่งส่งออกการพัฒนา นโยบายและกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมทั้งหลายด้วยแนวคิดการใช้อำนาจศูนย์กลางชี้เป็นชี้ตายหรือใช้อำนาจบาตรใหญ่ต่อประชาชนในพื้นที่ที่ถูกพัฒนาเสมือนว่าประชาชนและพื้นที่เหล่านั้นเป็นอาณานิคมภายในของตน จะกดขี่ข่มเหงอย่างใดก็ได้โดยไม่แยแสหรือมุ่งมั่นเอาใจใส่ว่าโครงการพัฒนาเหล่านั้นจะสร้างผลกระทบให้เกิดแก่วิถีชีวิต สังคม สิ่งแวดล้อมและสุขภาพอนามัยของประชาชนหรือไม่อย่างไร ไม่เว้นแม้กระทั่งโครงการโขง-เลย-ชี-มูลที่อาจจะฉลาดกว่าในแง่ที่เป็นแนวผันน้ำที่สามารถส่งน้ำตามแรงโน้มถ่วงได้ แต่ก็ยังโง่เขลาอยู่ดีในแง่ที่การกักเก็บน้ำที่ฝืนฤดูกาลของน้ำตามธรรมชาติจะก่อให้เกิดผลกระทบอย่างกว้างขวางและรุนแรงต่อชีวิตและสิ่งแวดล้อมจนสะเทือนไปถึงห่วงโซ่อาหารและระบบนิเวศตลอดเส้นทางผันน้ำโขง-เลย-ชี-มูล ตราบนั้น, ไม่ว่าจะเป็นโครงการผันน้ำโขงที่โง่เขลาหรือโครงการผันน้ำโขงที่ฉลาดกว่าเดิม ขบวนการนิเวศวัฒนธรรมอีสานยังคงเป็นแนวรบที่มีพลังในการต่อต้านการพัฒนา นโยบายและกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมอยู่เสมอ
| ['บทความ', 'สังคม', 'วัฒนธรรม', 'คุณภาพชีวิต', 'สิ่งแวดล้อม', 'เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์', 'โขง-เลย-ชี-มูล', 'นิเวศวัฒนธรรมอีสาน', 'โครงการโขง-ชี-มูล'] |
https://prachatai.com/print/79331 | 2018-10-28 11:32 | สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 22-28 ต.ค. 2561 | ชมรมเรือท่องเที่ยวเกาะสิมิลันร้องขอความเป็นธรรม/นายจ้างรับมือแรงงานสูงวัย ใช้ 'เออร์ลี่รีไทร์' ลดต้นทุนเงินเดือน/การบินไทยเล็ง 'ปรับทัศนคติ' พนักงาน/ขยายเกษียณอายุราชการไป 63 ปี ไม่น่าทันรัฐบาลนี้/ไต้หวันบุกรวบแก๊งแรงงานไทยค้ายาเสพติด รวบ 52 คนงานจาก 16 โรงงาน ทั้งเสพและค้า/กรมการจัดหางานระบุ อายุ 20-24 ปี ว่างงานมากสุด สาขาพาณิชย์ว่างงานมากสุด ตามด้วยศึกษาศาสตร์และสังคมศาสตร์
บุกจับ 23 แรงงานต่างด้าวคาไซต์งานบนเกาะสมุย พบปลอมแปลงเอกสาร-หลบหนีเข้าเมือง
28 ต.ค. 2561 ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจาก พ.ต.อ.วัชนะ บวรบุญ ผกก.ตม.จว.สุราษฎร์ธานี โดยได้รับรายงานจาก ร.ต.อ.เทอดศักดิ์ ธวัชร์วรกุล รอง สว.ตม.จว.สุราษฎร์ธานี ว่า ได้สนธิกำลังร่วมกับ พ.ต.อ.ธงชนะ หาญกิตติกาญจนา ผกก.สภ.กะปาง ภ.จว.นครศรีธรรมราช รรท.ผกก.สภ.บ่อผุด อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี พ.ต.ต.ปริญญา รักษาแก้ว สวป.สภ.บ่อผุด ร.ท.อดุลย์ พรหมบุตร หน.ชป.กกล.รส.มทบ.45 พื้นที่เกาะสมุย ได้ร่วมกันนำกำลังเจ้าหน้าที่เข้าทำการควบคุมไซต์งานก่อสร้างที่กำลังก่อสร้างโรงแรมหรูแห่งหนึ่งในพื้นที่หมู่ 4 ต.บ่อผุด อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี
โดยพบว่ามีแรงงานต่างด้าวสัญชาติพม่า ทั้งหญิงและชาย จำนวน 23 คน สวมใส่เสื้อสีแดง และสีน้ำเงินกำลังทำงานก่อสร้าง โดยมี นายสันติ ผาชัน อายุ 37 ปี ภูมิลำเนา จ.สกลนคร เป็นหัวหน้าควบคุมคนงาน เจ้าหน้าที่ตำรวจ และทหารได้กระจายกำลังเข้าทำการตรวจสอบเอกสารของแรงงานต่างด้าว พบว่า แรงงานทั้งหมดมีการปลอมแปลงเอกสารในการทำงาน และในแรงงาน จำนวน 7 คน ลักลอบหลบหนีเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต
จากการสอบถาม นายสันติ ผาชัน หัวหน้าควบคุมคนงานให้การรับสารภาพว่า เป็นผู้ควบคุมดูแลคนงานทั้งหมด ทางเจ้าหน้าที่ชุดจับกุมจึงได้แจ้งข้อกล่าวหา นายสันติ ในข้อกล่าวหาให้ที่พักพิงปิดบังซ่อนเร้นแก่บุคคลต่างด้าว ซึ่งรู้ว่าเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายให้รอดพ้นจากการจับกุม และแจ้งข้อกล่าวหา 23 แรงงานต่างด้าว ลักลอบทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาต นำตัวส่งพนักงานสอบสวน สภ.บ่อผุด ดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การจับกุมในครั้งนี้เป็นการบูรณาการร่วม ตามนโยบายของ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. และ พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ หักพาล รรท.สตม. ตามนโยบายมาตรการการปฏิบัติการ x ray out law foriegner
ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 28/10/2561 [1]
'เทสโก้ โลตัส' ชี้แจงข่าวลือ หลังโลกออนไลน์กุข่าวปลดพนักงาน-ปิดสาขา
จากกรณี สมาชิกเว็บไซต์พันทิป หมายเลข สมาชิกหมายเลข 4902841 ได้ตั้งกระทู้ เทสโก้ โลตัสจ้างพนักงานออก พร้อมระบุว่า "เทสโก้ โลตัส จ้างพนักงานออกทั้งประเทศ คนที่ออกจะทำอะไรต่อ คนที่เหลืออยู่จะทนแรงกดดันไหวไหม" ซึ่งกระทู้ดังกล่าวได้รับความสนใจเป็นจำนวนมาก
ล่าสุด ฝ่ายสื่อสารองค์กรเทสโก้โลตัส ขอชี้แจงว่า ข้อมูลเรื่องพนักงาน 30-50% ถูกจ้างให้ลาออกนั้นไม่เป็นความจริง ข้อมูลเรื่องสาขาจำนวน 43 สาขาถูกปิดนั้นก็ไม่เป็นความจริง หากแต่เป็นข่าวเก่าเกี่ยวกับเทสโก้ในสหราชอาณาจักร (อังกฤษ) ตั้งแต่ปี 2558 ที่ถูกนำมาแชร์ต่อกันโดยคลาดเคลื่อนจาดความเป็นจริง
ทั้งนี้ เทสโก้โลตัส ให้บริการลูกค้าในประเทศไทยมานานกว่า 24 ปี โดยมุ่งมั่นที่จะมอบสินค้าคุณภาพสูงในราคาที่เอื้อมถึง ควบคู่ไปกับการสนับสนุนเศรษฐกิจ สังคม และชุมชนไทยมาโดยตลอด
เมื่อเร็วๆ นี้ บริษัทได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจเพื่อให้ตอบรับกับความต้องการของลูกค้าที่มีความเปลี่ยนแปลงไปได้ดียิ่งขึ้น และเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน ดังนั้นจึงต้องการปรับโครงสร้างทีมงานให้สอดคล้องกับรูปแบบธุรกิจใหม่
ทั้งนี้ โครงสร้างทีมงานใหม่ของเราจะมุ่งเน้นไปที่ส่วนงานที่มีความสำคัญสำหรับลูกค้าที่เป็นกลุ้มเป้าหมายของเรา และโครงสร้างทีมใหม่นี้จะลดขั้นตอนต่างๆ เพื่อให้การทำงานของเพื่อนพนักงานง่ายขึ้น
จากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ส่งผลให้บริษัท จำเป็นต้องยกเลิกบางตำแหน่งเพื่อให้เหมาะสมกับโครงสร้างทีมงานใหม่ บริษัทได้พิจารณาตัดสินใจเรื่องนี้อย่างรอบคอบ และคำนึงถึงพนักงาน โดยได้พยายามจัดทำข้อเสนอที่ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ และให้ความช่วยเหลืออย่างดีแก่พนักงานที่ได้รับผลกระทบจากการปรับเปลี่ยนนี้ อีกทั้งยึดหลักการปฏิบัติต่อพนักงานทุกท่านอย่างเป็นธรรมอีกด้วย
ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 27/10/2561 [2]
รมว.แรงงาน เผย แรงงานต่างด้าวได้รับสิทธิ ทั้ง 7 กรณี เหมือนผู้ประกันตน กรณีประสบอันตราย เจ็บป่วย คลอดบุตร
พล.ต.อ. อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 กำหนดให้ลูกจ้างซึ่งเป็นแรงงานต่างด้าว หากต้องการจะขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมต้องมีใบอนุญาตการทำงาน (Work permit) และมีหนังสือเดินทาง (Passport) โดยตัวเลขแรงงานต่างด้าวที่อยู่ในระบบประกันสังคมที่ถูกต้องตามกฎหมาย ณ กันยายน 2561 ที่ผ่านมา มีจำนวน 1,211,894 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกันตนสัญชาติพม่า จำนวน 789,372 คน สัญชาติกัมพูชา จำนวน 266,454 คน สัญชาติลาว จำนวน 50,877 คน และสัญชาติอื่น ๆ จำนวน 105,191 คน ซึ่งแรงงานต่างด้าวที่ขึ้นทะเบียนถูกต้องจะได้รับความคุ้มครอง จากสำนักงานประกันสังคมทั้ง 7 กรณี เหมือนผู้ประกันตนในระบบทุกประการ ได้แก่ กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย กรณีคลอดบุตร กรณีทุพพลภาพ กรณีเสียชีวิต กรณีสงเคราะห์บุตร กรณีชราภาพ และกรณีว่างงาน
อย่างไรก็ตาม กระทรวงแรงงานและสำนักงานประกันสังคมมีเจตนารมณ์ที่ดี ที่จะให้แรงงานต่างด้าวได้เข้ามาทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย จึงขอความร่วมมือนายจ้างที่มีแรงงานต่างด้าวทั้ง 3 สัญชาติ ได้แก่ ลาว กัมพูชา เมียนมา ขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งนี้ยังได้รับความดูแลจากกองทุนประกันคมและกองทุนเงินทดแทนอย่างเท่าเทียมกัน
ที่มา: สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น, 26/10/2561 [3]
กรมการจัดหางานระบุ อายุ 20-24 ปี ว่างงานมากสุด สาขาพาณิชย์ว่างงานมากสุด ตามด้วยศึกษาศาสตร์และสังคมศาสตร์
นางเพชรรัตน์ สินอวย รองปลัดกระทรวงแรงงาน รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า แม้จะพบว่า สถานการณ์การว่างงานไม่ได้เป็นที่น่ากังวล โดยได้สั่งการให้กรมการจัดหางานวางแนวทางช่วยเหลือให้ผู้ว่างงานหลายช่องทางทั้งศูนย์ที่นี่มีงานทำ (Job Ready Center) ที่ตั้งขึ้นเพื่อหางานให้กับผู้จบปริญญาตรี พร้อมทั้งให้คำปรึกษา พัฒนาทักษะฝีมือ แนะแนวอาชีพ และจับคู่ตำแหน่งงาน (Matching) ซึ่งปัจจุบันเปิดให้บริการ 11 แห่งทั่วประเทศ คือ จังหวัดเชียงใหม่ พิษณุโลก พระนครศรีอยุธยา ปราจีนบุรี นครราชสีมา ขอนแก่น ชลบุรี ระยอง สุราษฎร์ธานี สงขลา และกรุงเทพมหานคร หรือหางานผ่านทาง LINE JOBS ,Job fair, Mobile App รวมทั้งตู้งาน (Job Box) ที่ตั้งกระจายอยู่ทุกจุดทั่วประเทศ ได้เช่นกัน
นางเพชรรัตน์ กล่าวว่าอัตราการว่างงานในเดือนกันยายน 2561 ที่มีคนว่างงานประมาณ 3.73 แสนคน ถือว่า ปัญหาการว่างงานนั้นไม่ได้รุนแรง และน่ากังวล เพราะหากนำอัตราการว่างงานในเดือนกันยายน 2561 มาเปรียบเทียบกับอัตราการว่างงานในช่วงเดียวกันของปี 2560 จะพบว่ามีคนว่างงานลดลงประมาณ 7 หมื่นคน คือ จาก 4.43 แสนคน เป็น 3.73 แสนคน และที่ช่วงต้นปี 2561 มีอัตราการว่างงานสูงในร้อยละ 1.3-1.2 ก่อนที่จะปรับตัวลดลงมาทรงตัวอยู่ที่ร้อยละ 1.0 นั้น หากพิจารณาในรายละเอียดจะพบว่า การว่างงานในเดือนกันยายน 2561 จะเป็นผู้ที่ไม่เคยทำงานมาก่อน 1.78 แสนคน และเป็นผู้ที่เคยทำงานมาก่อน 1.95 แสนคน ซึ่งเป็นผู้ว่างงานที่มาจากภาคการผลิตมากที่สุด รองลงมาเป็นภาคบริการ และภาคเกษตร โดยเหตุผลของการว่างงานพบว่า เป็นการลาออกจากงานมากที่สุดประมาณ 1 แสนคน รองลงมาเป็นนายจ้างปิดกิจการ ประมาณ 3 หมื่นคน และหมดสัญญาจ้างประมาณ 2 หมื่นคน ดังนั้น จากข้อมูลเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าปัญหาการว่างงานนั้นไม่ได้รุนแรง และน่ากังวล และเมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อนๆ จะพบว่า อัตราการว่างงานปี 2561 ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นมามีแนวโน้มต่ำกว่าปี 2559 – 2560
สำหรับช่วงอายุที่มีผู้ว่างงานมากที่สุด คือ 20-24 ปี ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ผู้ว่างงานคือแรงงานกลุ่มที่เพิ่งจบการศึกษา โดยเฉพาะในระดับอุดมศึกษา โดยสาขาวิชาที่ว่างงานมากที่สุดคือพาณิชยศาสตร์ คิดเป็นร้อยละ 20.2 รองลงมา คือ ศึกษาศาสตร์ คิดเป็นร้อยละ 17.1 และสังคมศาสตร์ คิดเป็นร้อยละ 11.7 โดยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่พร้อมจะทำงานแต่เหตุผลที่ไม่หางานทำเพราะหางานมาแล้วแต่หาไม่ได้ ร้อยละ 79.1 รองลงมาคือ ไม่สามารถหางานที่เหมาะสมได้ร้อยละ 14.6 สะท้อนให้เห็นว่าผู้สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรีส่วนใหญ่ยังขาดคุณสมบัติตามที่ตลาดแรงงานต้องการ และส่วนหนึ่งว่างงานเพราะเลือกงาน ขณะที่ผู้ว่างงานในระดับปริญญาตรีอีกกลุ่มหนึ่งนั้น เป็นกลุ่มที่เคยทำงานมาก่อน จำนวน 22,525 คน หรือร้อยละ 19.59 ว่างงานมาแล้วโดยเฉลี่ย 1-2 เดือน หรือร้อยละ 29.14 โดยเคยทำงานในอาชีพเสมียนทั่วไปมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 13.69 รองลงมาคือ พนักงานขายในร้านค้า คิดเป็นร้อยละ 11.42 และผู้จัดการภัตตาคารและร้านอาหาร คิดเป็นร้อยละ 8.80 โดยสาเหตุที่ออกจากงานส่วนใหญ่มาจากการลาออกเอง คิดเป็นร้อยละ 59.45 รองลงมาคือ เลิก/หยุด/ปิดกิจการ คิดเป็นร้อยละ 8.97 สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน
ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 27/10/2561 [4]
ก.แรงงาน มอบเงินช่วยแรงงานไทยเสียชีวิตในเกาหลีใต้
พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบเงินสิทธิประโยชน์ทดแทนจากสำนักงานประกันสังคม ประกอบด้วย ค่าจัดการศพ 40,000 บาท เงินสงเคราะห์กรณีเสียชีวิต 26,564.60 บาท เงินบำเหน็จชราภาพ 54,850.10 บาท รวมทั้งสิ้น 121,414.70 บาท แก่นายวีระพงษ์ โสบันเทา สามีของน.ส.รัติกาล พลบูรณ์ ชาวหนองบัวลำภู ที่เสียชีวิตด้วยโรคหอบหืด หลังลักลอบไปทำงานอย่างผิดกฎหมายที่ประเทศเกาหลีใต้ พร้อมกับสามี ตั้งแต่วันที่ 17 พ.ค.2561 โดยใช้วีซ่าท่องเที่ยว หลังได้รับการชักชวนผ่านเฟซบุ๊ก เสียค่าใช้จ่ายคนละ 55,000 บาท เพื่อทำงานในภาคเกษตร รายได้วันละประมาณ 2,000 บาท ต่อมา น.ส.รัติกาล ป่วยด้วยโรคหอบหืดและพักรักษาตัวในโรงพยาบาลของประเทศเกาหลีใต้ จนเสียชีวิตเมื่อวันที่ 18 ต.ค. 2561 ที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตามเนื่องจากลักลอบไปทำงานผิดกฎหมายจึงทำให้ไม่ได้รับสิทธิใด ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลเองกว่า 1 ล้านบาท และค่าทำศพประมาณ 6 แสนบาท โดยกงสุลสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโซล จึงได้เจรจาเพื่อขอลดหย่อนค่ารักษาพยาบาลจากประมาณ 1ล้านบาท คงเหลือ 3 แสนบาท และช่วยดำเนินการด้านฌาปนากิจศพน.ส.รัติกาล เมื่อวันที่ 25 ต.ค.2561 และจัดการตั๋วเครื่องบินให้กับนายวีระพงษ์กลับประเทศไทยพร้อมกับอัฐิของ น.ส.รัติกาล ช่วงบ่ายวันนี้ (26 ต.ค.) ก่อนเดินทางมารับเงินข่วยเหลือ เนื่องจากก่อนไปเกาหลี ผู้ตายได้ทำงานในระบบของไทยและลาออกจากงานยังไม่พ้น 6 เดือน นับจากออกจากงาน จึงยังอยู่ในความคุ้มครอง 6 เดือน ตาม มาตรา 38 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม
พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวด้วยว่า หลังจากเกาหลีใต้เปิดโอกาสให้แรงงานไทยที่ลักลอบไปทำงานผิดกฎหมายได้กลับไทยโดยไม่ติดแบล็คลิสต์ จนถึงวันนี้มีแรงงานไทยประสงค์เดินทางกลับแล้วกว่า 1,000 คน จากผีน้อยทั้งหมด 1.2 แสนคน และจะเปิดโอกาสให้เดินทางกลับจนถึงสินเดือน มี.ค.ปีหน้า โดยแรงงานไทยที่กลับไทย ไม่ต้องห่วงกระทรวงแรงงานมีอาชีพรองรับ
ที่มา: สำนักข่าวไทย, 26/10/2561 [5]
ไต้หวันบุกรวบแก๊งแรงงานไทยค้ายาเสพติด รวบ 52 คนงานจาก 16 โรงงาน ทั้งเสพและค้า
เรดิโอไต้หวันอินเตอร์เนชั่นแนล รายงานว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจไต้หวัน บุกเข้าทลายแก๊งค้ายาเสพติดแรงงานไทย ในนิคมอุตสาหกรรมหนานกัง จ.หนานโถว ภาคกลางของไต้หวัน เมื่อวันที่ 23 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยมีหัวหน้าเป็นแรงงานไทยชื่อ "จิราวัฒน์" (ออกเสียงชื่อตามเสียงภาษาจีน) กลุ่มเป้าหมายคือคนงานไทยที่ต้องทำงานหามรุ่งหามค่ำ จำหน่ายแอมเฟตามิน ทำกำไรอย่างมหาศาล เจ้าหน้าที่ตำรวจไต้หวันได้ติดตามขยายผลของคดีมานานกว่า 3 เดือน ในที่สุดจึงบุกเข้าทลายแก๊งดังกล่าว รวบตัวคนงานไทย 52 คน จาก 16 โรงงาน ซึ่งพัวพันทั้งการเสพและค้ายาเสพติด นอกจากนี้ ยังรวบระดับหัวหน้าได้อีก 11 คน
เจ้าหน้าที่ตำรวจไต้หวันสืบสวนพบว่า แรงงานไทยจำนวนมากติดยาเสพติด ตอนแรกเสพเพียงเพื่อให้มีกำลังวังชา ทำงานกะดึก หรือสังสรรค์กับเพื่อนฝูง จึงติดยา แก๊งค้ายาเสพติดดังกล่าวจึงอาศัยจเงื่อนไขนี้ เจาะเข้าสู่แรงงานกลุ่มนี้ ส่งสายไปจำหน่ายยาเสพติดตามโรงงานต่าง ๆ จนขยายเป็นอาณาจักรค้ายาเสพติด แบ่งงานกันทำ ทำให้มีคนงานไทยจาก 16 โรงงาน จำนวน 52 คน เข้าพัวพันการค้ายาเสพติดในครั้งนี้
แรงงานไทยที่ติดยาแล้ว หากหยุดเสพแอมเฟตามิน ก็จะอยู่ในสภาพจิตใจไม่ปกติ ไม่มีสมาธิ เข้าทำงานไม่ปกติ ทำให้รายได้ลดลง แต่ก็ต้องเสพยาต่อไป จึงต้องไปกู้ยืมเงินจากแก๊งค้ายาเพื่อเอามาซื้อเสพต่อ กลายเป็นวัฏจักรอันเลวร้าย และก็ทำลายฝันที่เคยตั้งไว้ก่อนมาไต้หวันด้วย ได้ไม่คุ้มเสีย
เจ้าหน้าที่ตำรวจย้ำว่า ตอนนี้ได้กวาดล้างจนเกือบหมดแล้ว ต่อไปจะให้ความสำคัญกับการกวาดล้างยาเสพติดในนิคมอุตสาหกรรมด้วย และจะสืบขยายผลไปยังแหล่งต้นตอที่แท้จริง เพื่อทำลายแก๊งค้ายาให้ราบคาบ
ที่มา: Radio Taiwan International, 24/10/2561 [6]
กทม.รายได้อู่ฟู้ คาดปลายปีนี้ เจียด 2.7 พัน ล.จากรายได้ 7.89 พัน ล.จ่ายโบนัส ขรก.-ลูกจ้าง 9 หมื่นคน
แหล่งข่าวจากศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการจัดสรรเงินรางวัล หรือโบนัส ของกรุงเทพมหานคร ประจำปี 2561 เตรียมอนุมัติอัตราการจัดสรรเงินรางวัลประจำปี 2561 ตามที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการกรุงเทพมหานคร (ก.ก.) ได้รวบรวมคะแนนและจัดลำดับการให้เงินรางวัลของหน่วยงานต่างๆ โดยคาดว่าจะใช้เงินในการจ่ายโบนัส ประมาณ 2,700 ล้านบาท
โดย แนวทางการจ่ายเงินรางวัล หรือโบนัสประจำปี 2561 แก่ข้าราชการและบุคลากรของ กทม. ที่ปัจจุบันมีอยู่ 90,000 คน แบ่งเป็นข้าราชการประมาณ 30,000 คน ข้าราชการครู 10,000 คน และเป็นลูกจ้างประมาณ 50,000 คน คาดว่า เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ 2562 และเป็นขวัญกำลังใจให้กับบุคลากรของ กทม.
“คาดว่า อัตราการจัดสรรเงินรางวัลประจำปี 2561 ในอัตรา 1.5 เท่าของเงินเดือน ขณะที่ลูกจ้างชั่วคราว จะได้รับอัตราจัดสรรเงินรางวัล 1 เท่าของเงินเดือน เนื่องจากลูกจ้างชั่วคราวมีภาระงานและความรับผิดชอบไม่เท่ากับข้าราชการและลูกจ้างประจำ เพราะปี 2561 นี้ กทม.จัดเก็บรายได้ 86,400 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการที่ได้ตั้งไว้ 78,500 ล้านบาท คิดเป็น 10.11 เปอร์เซ็นต์ เป็นเงิน 7,932.73 ล้านบาท”
อย่างไรก็ตาม สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เคยมีข้อทักท้วงไปยัง กทม.เกี่ยวกับนำเงินสะสมออกมาจ่ายโบนัสให้กับข้าราชการและบุคลากร เพราะตามหลักเกณฑ์การใช้เงินสะสมต้องเกิดจากกรณีฉุกเฉิน หรือมีความจำเป็น และกรณีเร่งด่วนเท่านั้น ทำให้ กทม.ไม่สามารถนำเงินสะสมมาจ่ายได้ ดังนั้นคณะผู้บริหาร กทม. จึงได้มอบหมายให้ทั้ง 50 สำนักงานเขต เร่งจัดเก็บภาษีอย่างเข้มงวดให้ได้ตามเป้า รวมทั้งจัดเก็บภาษีรายใหม่ให้ครบถ้วน เพื่อจะได้มีเงินเหลือจ่ายเป็นโบนัสให้กับข้าราชการและบุคลากรทุกคน
มีรายงานว่า ที่ผ่านมา อัตราการจัดสรรเงินรางวัล ปี 2558 กำหนดในอัตรา 0.5-1 เท่า ซึ่งหน่วยงานสังกัด กทม. มีทั้งสิ้น 77 หน่วยงาน และ ที่ผ่านมาส่วนราชการสังกัด กทม. บางแห่งมีผลการประเมินอยู่ในระดับดีถึงระดับดีมาก
ขณะที่ปี 2559 กำหนดผลการประเมินดีเด่น ระดับคะแนน 90-100 คะแนน จะได้รับอัตราจัดสรรเงินรางวัล 1 เท่าของเงินเดือน ผลการประเมินเป็นที่ยอมรับได้ ระดับคะแนน 81-89 คะแนน จะได้รับอัตราจัดสรรเงินรางวัล 0.95 เท่าของเงินเดือน ระดับคะแนน 71-80 คะแนน จะได้รับอัตราจัดสรรเงินรางวัล 0.90 เท่าของเงินเดือน ระดับคะแนน 60-70 คะแนน จะได้รับอัตราจัดสรรเงินรางวัล 0.85 เท่าของเงินเดือน ส่วนผลการประเมินต้องปรับปรุง ระดับคะแนน ต่ำกว่า 60 คะแนน จะไม่ได้รับอัตราจัดสรรเงินรางวัล ขณะที่ลูกจ้างชั่วคราว จะได้รับอัตราจัดสรรเงินรางวัล 0.75 เท่าของเงินเดือน เนื่องจากลูกจ้างชั่วคราวมีภาระงานและความรับผิดชอบไม่เท่ากับข้าราชการและลูกจ้างประจำ
ส่วนปีงบประมาณ 2560 กำหนดอัตราการจัดสรรเงินรางวัลในอัตรา 1.5 เท่า ส่วนการได้รับโบนัสระดับบุคคลนั้น ทั้งข้าราชการสามัญและลูกจ้างประจำจะจ่ายตามผลประเมินระดับบุคคลใน 3 ระดับ คือ 1.5 เท่า 1.4 เท่า และ 0.75 เท่าตามลำดับ
ทั้งนี้ เงินโบนัสในปีงบประมาณ 2560 ได้ใช้งบประมาณในการจ่ายโบนัส ประจำปี 2559 จำนวน 1,600 ล้านบาท
ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 24/10/2561 [7]
ขยายเกษียณอายุราชการไป 63 ปี ไม่น่าทันรัฐบาลนี้
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการขยายอายุเกษียณราชการ จาก 60 ปีออกไปเป็น 63 ปี ว่า ยังไม่มีการเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีและเชื่อว่าจะไม่ทันรัฐบาลนี้ เพราะจะต้องแก้ไขกฎหมายหลายฉบับและมีหลายวิธีคิด เพื่อให้ได้รูปแบบที่เหมาะสม รวมถึงอาจจะพิจารณาไปอีกว่าอาจจะไม่ใช่ขยายการเกษียณอายุราชการไปถึงอายุ 63 ปี อาจจะเป็นตัวเลขอื่น
ขณะเดียวกันกำลังพิจารณาดูว่าจะใช้การเกษียณอายุราชการในแบบของศาล หรือตุลาการหรือไม่ โดยในตำแหน่งบริหารนั้น อาจมีข้อเสนอให้สามารถนั่งตำแหน่งบริหารต่อไปได้ หรือให้ไปนั่งในตำแหน่งอื่นแทน
ที่มา: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, 24/10/2561 [8]
การบินไทยเล็ง 'ปรับทัศนคติ' พนักงาน
นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.การบินไทย (THAI) เปิดเผยถึงกรณีเที่ยวบิน TG 971 กรุงเทพ-ซูริก เกิดความล่าช้า ว่า ยอมรับองค์กรการบินไทยมีปัญหาที่ต้องแก้ไขและปฏิรูปเรื่องของคุณภาพบริการ โดยเฉพาะเรื่องจิตใจรักในการบริการ (Service Mind) และความคิดของคนในองค์กร (Mindset) ซึ่งปัญหาดังกล่าวนั้น จะเกี่ยวกันกับแผนในภาพรวม อย่างเรื่องแนวทางฟื้นฟูองค์กร เพราะการเพิ่มรายได้ต้องเพิ่มความประทับใจในงานบริการมากขึ้นด้วย
ดังนั้นในฐานะผู้บริหาร จึงมีแนวคิดที่จะนำนักจิต วิทยาชั้นนำเข้ามาปรับแนวคิดและทัศนคติของบุคลากรในองค์กร รวมถึงบุคลากรที่ต้องดูแลงานบริการและผู้โดยสาร เนื่องจากปัจจุบันยังมีบางฝ่ายยึดความคิดแบบเน้นการผลิต โดยคิดว่าแนวทางบริการหรือวิธีปฏิบัติงานที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนั้นดีมากที่สุด แต่ใน ความเป็นจริงแล้ว ด้วยบริบทสังคมที่เปลี่ยนไป แนวทางการทำงานแบบเดิมอาจไม่ใช่คำตอบในปัจจุบัน
นายสุเมธกล่าวว่า สำ หรับเหตุการณ์ดังกล่าว ต้องเร่งสอบสวนว่าเกิดมาจากสาเหตุใด โดยเฉพาะในสอง ปัจจัยใหญ่ว่ามันมาจากกระ บวนการปฏิบัติ หรือวิธีคิดของพนักงาน
นายดำรงค์ ไวยคณี ประธานสหภาพแรงงานรัฐ วิสาหกิจการบินไทย (สร.กบท.) กล่าวว่า ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นยอมรับว่าส่งผลกระ ทบโดยตรงต่อภาพลักษณ์การบินไทยอย่างมาก และเมื่อผลสอบสวนเสร็จได้ข้อเท็จจริงตามที่นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (THAI) ยืนยันว่าจะเสร็จภายใน 7 วัน หลังจากนั้นสหภาพฯ จะเข้าพบเพื่อสอบถามแนวทางแก้ปัญหาคือประเด็นผู้โดยสารต้องรอ 2 ชั่วโมง เพื่อกู้ภาพลักษณ์ของการบินไทย
ที่มา: ไทยโพสต์, 23/10/2561 [9]
กสร. เผยผลการเลือกตั้ง “สหภาพแรงงานองค์การเภสัช-บริษัทขนส่ง” คว้าเก้าอี้ผู้แทนฝ่ายลูกจ้างเป็นกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์
นายวิวัฒน์ ตังหงส์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2561 ที่ผ่านมา กสร.ได้จัดให้มีการเลือกตั้งกรรมการฝ่ายลูกจ้างเพื่อเป็นคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์แทนกรรมการ 2 คน ที่หมดวาระ ณ ห้องประชุม ศ.นิคม จันทรวิทุร กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ซึ่งผลการเลือกตั้งมีผู้ได้รับการเลือกตั้งเป็นกรรมการฯ ได้แก่ นางอารายา แก้วประดับ สหภาพแรงงานองค์การเภสัช และนายประจักษ์ สุขบัณฑิตย์ สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท ขนส่ง จำกัด
นายวิวัฒน์ กล่าวต่อไปว่า ผู้ที่ได้รับเลือกทั้งสองท่านนี้จะเข้าไปทำหน้าที่ในคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ซึ่งเป็นคณะกรรมการไตรภาคีประกอบด้วยผู้แทนจากภาครัฐ ผู้แทนฝ่ายนายจ้าง และผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง ฝ่ายละ 5 คน โดยมีอำนาจหน้าที่สำคัญ อาทิ 1.กำหนดมาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้าง 2.เสนอคณะรัฐมนตรีกำหนดขอบเขตสภาพการจ้างที่เกี่ยวกับการเงินสำหรับรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งที่รัฐวิสาหกิจนั้นอาจดำเนินการได้เอง 3.พิจารณาให้ความเห็นชอบเกี่ยวกับสภาพการจ้าง และ 4.พิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทแรงงาน เป็นต้น
ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 22/10/2561 [10]
นายจ้างรับมือแรงงานสูงวัย ใช้ 'เออร์ลี่รีไทร์' ลดต้นทุนเงินเดือน
นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภา องค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย เปิดเผยว่าขณะนี้บริษัทที่ดำเนินธุรกิจในไทยมายาวนาน 20-30 ปี กำลังประสบปัญหาพนักงานก้าวสู่แรงงานสูงวัย ซึ่งทำให้ผลิตภาพการผลิต (Productivity) เมื่อเทียบกับอัตราค่าจ้างที่จ่ายเพิ่มขึ้นไม่คุ้มค่าจึงเริ่มทยอยดำเนินโครงการสมัครใจลาออกก่อนเกษียณอายุ หรือเออร์ลี่รีไทร์ คาดว่าแนวโน้มดังกล่าวจะเกิดขึ้นต่อเนื่อง
"ปัญหาตอนนี้บริษัทที่ตั้งมานานแรงงานเองที่โตมาพร้อมกันก็เข้าสู่แรงงานสูงวัยแต่พบว่าตำแหน่งหน้าที่การงานยังไม่ได้ก้าวไปสู่ระดับที่สูงขึ้นนัก เช่น บางคนทำหน้าที่แค่จัดการเอกสารพื้นฐานธรรมดาแต่อยู่นานค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องก็ทำให้เกิดปัญหาเรื่องต้นทุนที่เริ่มไม่คุ้มกับค่าจ้าง นายจ้างกลุ่มนี้จึงเริ่มเอาพนักงานประเภท ดังกล่าวออกเพื่อรับเด็กหนุ่มสาวที่จบใหม่แทนเพื่อลดต้นทุน" นายธนิตกล่าว
ขณะที่แรงงานเองปัจจุบันยอมรับว่าเป็นเด็กรุ่นใหม่ส่วนหนึ่งมักทำงานไม่ยั่งยืนมีการเปลี่ยนแปลงบ่อยและบางส่วนใช้ช่องว่างของสวัสดิการประกันสังคมรับเงินช่วงว่างงาน พอสักพักก็ไปหางานใหม่ทำ ฯลฯ ภาพรวมเหล่านี้จึงสะท้อนให้เห็นถึงตัวเลขผู้ว่างงาน เดือนกันยายน 2561 ที่สำนักงานสถิติ แห่งชาติ รายงานไว้ว่ามี 3.73 แสนคน และพบว่าในจำนวน 1.95 แสนคนนั้น เป็นคน ที่เคยทำงานมาก่อน ส่วน 1.78 แสนคน เป็นผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อน
"ในจำนวนของผู้ที่เคยทำงานมาก่อนว่างงานถึง 1.95 แสนคนนั้นก็ชี้ให้เห็นว่าเป็นคนมีงานทำแล้วออกมา และสาเหตุการออกก็เข้าใจได้ว่า เป็นการลาออกเอง การสมัครใจออก แต่ตัวเลขผู้ว่างงานในเดือนนี้ก็ถือว่าลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน" นายธนิตกล่าว
สำหรับในเดือนกันยายน ปีนี้ พบว่า ไทยมีผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงานจำนวนทั้งสิ้น 38.39 ล้านคน ซึ่งประกอบด้วยผู้มีงานทำ 37.95 ล้านคน ผู้ว่างงาน 3.73 แสนคน และผู้รอฤดูกาล 6.7 หมื่นคน อย่างไรก็ตามแนวโน้มอัตราการว่างงานจะเริ่มสูงขึ้นในช่วงไตรมาสแรกของปี 2562 เพราะจะมีเด็ก จบใหม่เข้ามาสู่ระบบอีกอย่างต่ำ 3.5-4 แสนคน โดยคาดว่าระดับปริญญาตรีที่ไม่ใช่สาขาวิชาชีพก็จะประสบปัญหาว่างงาน เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
ที่มา: แนวหน้า, 22/10/2561 [11]
ชมรมเรือท่องเที่ยวเกาะสิมิลันร้องขอความเป็นธรรม
ที่ทำเนียบรัฐบาล สมาชิกชมรมเรือท่องเที่ยวหมู่เกาะสิมิลัน-สุรินทร์ ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อขอความช่วยเหลือและขอความเป็นธรรม กรณีความเดือดร้อนจากมาตรการกำหนดจำนวนนักท่องเที่ยวในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน ของกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช โดยระบุว่าหลังจากที่กรมอุทยานแห่งชาติมีประกาศดังกล่าวแล้วส่งผลกระทบต่อกลุ่มผู้ประกอบการเรือท่องเที่ยว และประชาชนที่ประกอบอาชีพในบริษัทท่องเที่ยวจำนวนกว่า 636 คน สร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านที่เป็นแรงงานในพื้นที่ถิ่นอย่างมาก จึงขอให้รัฐบาลช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนดังกล่าวโดยขอให้มีมาตรการลดจำนวน นักท่องเที่ยวแบบค่อยเป็นค่อยไปไม่ใช่จู่ๆ ประกาศฉุกเฉินแล้วมีผลในทันทีเช่นนี้ เพราะส่งผลกระทบต่อสังคมและมีความเสียหายในเชิงธุรกิจอย่างสูง จึงขอให้เร่งทำการศึกษาวิจัยใหม่โดยรอบคอบเสียก่อนที่จะกำหนดจำนวนนักท่องเที่ยวว่ามีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรวมไปถึงเศรษฐกิจและสังคมอย่างไรแล้วค่อยออกมาตรการ
ทั้งนี้ น่าจะมีการตั้งคณะกรรมการหรือคณะทำงานร่วมระหว่างกรมอุทยานแห่งชาตินักวิชาการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับผู้ประกอบการและภาคประชาชนขึ้นมาร่วมศึกษาและวิจัยดังกล่าวเพื่อประโยชน์ของทุกฝ่ายอย่างยั่งยืน อย่างไรก็ตามขอให้รัฐบาลทบทวนการประกาศใช้มาตรการดังกล่าวนี้ก่อน เนื่องจากส่งผลกระทบในวงกว้างต่อประชาชนในท้องถิ่น
ที่มา: TNN24, 22/10/2561 [12]
| ['ข่าว', 'เศรษฐกิจ', 'สังคม', 'แรงงาน', 'คุณภาพชีวิต', 'สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์'] |
https://prachatai.com/print/79330 | 2018-10-28 11:08 | เฮลิคอปเตอร์ 'วิชัย ศรีวัฒนประภา' ตกที่อังกฤษ | เฮลิคอปเตอร์ของ 'วิชัย ศรีวัฒนประภา' ตกลงกลางลานจอดรถข้างสนามคิงเพาเวอร์สเตเดี้ยมที่อังกฤษ
28 ต.ค. 2561 บีบีซีไทย [1] รายงานว่าเฮลิคอปเตอร์ของ นายวิชัย ศรีวัฒนประภา ประธานสโมสรฟุตบอลเลสเตอร์ซิตี้ ของอังกฤษ ตกลงกลางลานจอดรถข้างสนามคิงเพาเวอร์สเตเดี้ยมของทีม ไม่นานหลังการแข่งขันของ "จิ้งจอกสยาม" จบลงในบ้านด้วยผลการเสมอกับทีมเยือน เวสต์ แฮม ยูไนเต็ด ไป 1:1
เอียน สตริงเกอร์ ผู้บรรยายฟุตบอลของบีบีซี รายงานว่านายวิชัยมาชมการแข่งขันครั้งนี้ด้วย และได้ทักทายกับนายสตริงเกอร์ขณะเดินไปชั้นที่นั่งของผู้บริหารก่อนการแข่งขันจะเริ่มขึ้น "ผมจำวันที่เจ้าของใหม่มาซื้อกิจการได้ ผมกล่าวทักกับพวกเขา พวกเขาก็ยิ้มรับ ผมสร้างความคุ้นเคยกับพวกเขามาได้สักพักแล้ว เห็นพวกเขาในประเทศไทย ในกรุงเทพฯ ในสภาพแวดล้อมของพวกเขา พวกเขาเป็นคนน่ารักมาก"
"ท่านประธานมองมาที่ผมวันนี้ ขณะเดินไปที่ที่นั่งของผู้บริหาร กล่าวทักทาย เฮลโล และสวัสดีตอนบ่าย"
โฆษกของบริการรถพยาบาลในย่านอีสต์มิดแลนด์ระบุว่า ได้รับรายงานว่าเกิดเหตุเฮลิคอปเตอร์ตก เมื่อเวลา 20:38 น. ของคืนวันเสาร์ ตามเวลาท้องถิ่น หรือ 02:38 น. วันอาทิตย์ ตามเวลาไทย
สโมสรเลสเตอร์ ซิตี้ แถลงว่าทางสโมสรกำลังร่วมมือกับตำรวจและหน่วยฉุกเฉินต่าง ๆ แต่ยังไม่แถลงว่า เฮลิคอปเตอร์ลำดังกล่าวซึ่งปกติใช้ขนส่งนายวิชัยและแขกคนสำคัญของนายวิชัยอยู่ใน ฮ. ขณะตกหรือไม่
นายสตริงเกอร์ รายงานด้วยว่า ฮ.ลำดังกล่าว "หมุนคว้าง"กลางอากาศ และอ้างคำให้การของผู้เห็นเหตุการณ์ว่า "หล่นลงมาเหมือนหินก้อนโต"
"ผมเห็นเจ้าหน้าที่ในห้องของทีมหลักต่างน้ำตานองหน้า พื้นที่รับรองด้านหน้าเงียบสนิท เต็มไปด้วยภาพผู้คนที่ร่ำไห้"
นายแอนดรู โบรดิ รองหัวหน้าหน่วยของแผนกดับเพลิงและกู้ภัยของเมืองเลสเตอร์เชียร์ บรรยายถึงเหตุเครื่องตกว่า "รุนแรงและน่าเศร้าโศกยิ่ง" และเสริมว่า "กรุณาอย่าคาดกันไปต่างๆ นาๆ ถึงสาเหตุ หรือมีใครเกี่ยวข้องบ้าง"
ลีโอ บรูก้า ผู้เห็นเหตุการณ์คนหนึ่งเล่าให้ วิทยุบีบีซี 5 Live ว่า เขาเห็นตำรวจ 2 นาย วิ่งตรงไปที่จุด ฮ. ตก หนึ่งในนั้น พยายามทุบกระจกเข้าไป แต่ "มีเสียงระเบิดดังขึ้น ทำให้เจ้าหน้าที่ทั้งสองต้องล่าถอยออกไป เพราะ เปลวไฟมันร้อนเหลือเกิน"
ปีเตอร์ โซลส์บีย์ นายกเทศมนตรีของนครเลสเตอร์ ทวีตว่า เขาขอส่งกำลังใจ "ให้ทุกคน โดยเฉพาะบรรดาเจ้าของที่สร้างประโยชน์มากมายให้แก่สโมสรและเมืองของเรา"
| ['ข่าว', 'การเมือง', 'ต่างประเทศ', 'วิชัย ศรีวัฒนประภา'] |
https://prachatai.com/print/79333 | 2018-10-28 11:52 | บัตรทองปี 2562 ดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวี เพิ่มตรวจแลปพื้นฐาน-คัดกรองวัณโรคผู้ติดเชื้อรายใหม่ทุกราย | กองทุนบัตรทองปี 2562 ดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวี/ผู้ป่วยเอดส์ต่อเนื่อง รัฐบาลจัดงบหนุนกว่า 3 พันล้านบาท จัดบริการป้องกันติดเชื้อเอชไอวี รักษาผู้รักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ และสนับสนุนส่งเสริมจัดบริการ พร้อมเพิ่มบริการตรวจวินิจฉัยแลปพื้นฐานเอกซเรย์คัดกรองวัณโรคผู้ติดเชื้อรายใหม่ทุกราย ก่อนรับยาต้านไวรัส
28 ต.ค. 2561 นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ประสบความสำเร็จในการดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ให้เข้าถึงการรักษา รวมถึงการป้องกันและลดอัตราผู้ติดเชื้อรายใหม่ โดยรัฐบาลได้ให้ความสำคัญและสนับสนุนผ่านกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติตั้งแต่ปี 2548 มาอย่างต่อเนื่อง และในปีงบประมาณ 2562 นี้รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณจำนวน 3,046.31 ล้านบาท เพื่อเป็นงบบริการผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ ซึ่งคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) โดยมี ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน ได้เห็นชอบให้มีการบริหารจัดสรรงบบริการผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ ดังนี้ 1.บริการดูแลรักษาด้วยยาต้านไวรัสและบริการที่เกี่ยวข้องจำนวน 2,808.315 ล้านบาท 2.บริการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีจำนวน 200 ล้านบาท และ 3.การสนับสนุนและส่งเสริมการจัดบริการสำหรับผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์จำนวน 38 ล้านบาท
นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่าในส่วนของงบบริการดูแลรักษาด้วยยาต้านไวรัสและบริการที่เกี่ยวข้องนั้น บอร์ด สปสช.ได้จัดสิทธิประโยชน์การรักษาและบริการที่จำเป็นอย่างครอบคลุม เพื่อให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ได้รับการดูแลอย่างมีมาตรฐานและมีคุณภาพชีวิตที่ดี ตั้งแต่การรักษาด้วยยาต้านไวรัส ยารักษาภาวะไขมันในเลือดสูงจากการรับประทานยาต้านไวรัส การตรวจชันสูตรทางห้องปฏิบัติการเพื่อวินิจฉัยหรือติดตามการรักษา การให้คำปรึกษาและตรวจหาการติดเชื้อเอชวีโดยสมัครใจ (VCT) บริการดูแลรักษาอย่างเป็นองค์รวม สนับสนุนถุงยางอนามัยสำหรับผู้ที่เข้ารับบริการให้คำปรึกษาและ VCT และการตรวจคัดกรองและการตรวจยืนยันไวรัสตับอักเสบซี เป็นต้น
ส่วนบริการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี บอร์ด สปสช.ได้จัดสรรงบประมาณเป็น 2 ส่วน คือ บริการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี จำนวน 172 ล้านบาท เน้นการดำเนินการเชิงรุก ตั้งแต่การเข้าถึง เข้าสู่บริการ การตรวจเอชไอวี รักษา การคงอยู่ในระบบ (RRTTR: Reach-Recruit-Test-Treat-Retain) และบริการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อเอชไอวีหรืองานศูนย์องค์รวม จำนวน 28 ล้านบาท ขณะที่ในส่วนการสนับสนุนและส่งเสริมการจัดบริการสำหรับผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์นั้น เป็นการจัดงงบประมาณเพื่อพัฒนาคุณภาพระบบการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ อาทิ การติดตามการกินยาต้านไวรัสอย่างต่อเนื่องเพื่อให้สามารถกดปริมาณไวรัสได้และป้องกันการดื้อยา การลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ติดเชื้อเอชไอวีในปีแรกหลังเริ่มรักษาด้วยยาต้านไวรัส เป็นต้น
นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า สำหรับในปีงบประมาณ 2562 นี้ เพื่อเป็นการดูแลและเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ บอร์ด สปสช.ได้เพิ่มสิทธิประโยชน์การตรวจทางห้องปฏิบัติการ โดยผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่จะได้รับการตรวจทางห้องปฏิบัติการพื้นฐาน (แลปพื้นฐาน) และได้รับการตรวจเอกซเรย์คัดกรองวัณโรค ก่อนรับยาต้านไวรัสทุกราย ซึ่งจะทำให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ได้รับการวินิจฉัยโดยละเอียด ในกรณีที่พบอาการป่วยจะเข้าสู่กระบวนการรักษาโดยเร็ว
| ['ข่าว', 'สังคม', 'คุณภาพชีวิต', 'สปสช.', 'สุขภาพ', 'เอชไอวี', 'เอดส์'] |
https://prachatai.com/print/79332 | 2018-10-28 11:43 | ประธานาธิบดีศรีลังกาสั่งปลดนายกตั้งผู้นำฝ่ายค้านแทน ส่อเค้าวิกฤตการเมือง | ประธานาธิบดีศรีลังกา 'ไมตรีพละ ศิริเสนา' สั่งปลดนายกรัฐมนตรี รานิล วิกรมสิงเห เมื่อคืนวันที่ 26 ต.ค. ที่ผ่านมา และแต่งตั้งหัวหน้าพรรคฝ่ายค้าน 'มหินทรา ราชปักษา' ขึ้นดำรงตำแหน่งแทน รวมถึงมีการถอนตัวพรรคของศิริเสนาออกจากพรรคแนวร่วมรัฐบาล เรื่องนี้ทำให้เกิดวิกฤตรัฐธรรมนูญและทำให้พรรคร่วมรัฐบาลศรีลังกาแตกหักครั้งใหญ่
ไมตรีพละ ศิริเสนา ประธานาธิบดีศรีลังกา ที่มาภาพ: United Nations Photo (CC BY-NC-ND 2.0) [1]
28 ต.ค. 2561 สื่ออัลจาซีราระบุว่าศรีลังกาเข้าสู่ภาวะวิกฤตรัฐธรรมนูญหลังจากที่ประธานาธิบดี ไมตรีพละ ศิริเสนา สั่งปลดนายกรัฐมนตรี รานิล วิกรมสิงเห จากนั้นจึงแต่งตั้ง มหินทรา ราชปักษา ขึ้นดำรงตำแหน่งแทน และหลังจากนั้นก็สั่งระงับการเปิดประชุมรัฐสภาศรีลังกาชั่วคราวนับตั้งแต่ตอนเที่ยงวันของวันที่ 27 ต.ค. ไปจนถึงวันที่ 16 พ.ย. 2561
ทางด้านวิกรมสิงเหไม่ยอมรับคำสั่งนี้แล้วประกาศว่าตนยังคงเป็นนายกรัฐมนตรีอยู่และเรียกร้องให้โฆษกเปิดการประชุมสภาในวันอาทิตย์ (28 ต.ค.) นี้เพื่อพิสูจน์ว่าเขายังคงได้รับเสียงข้างมากในสภา
นอกจากนี้รายงานข่าวยังระบุว่ามีกลุ่มผู้สนับสนุนราชปักษาพากันบุกเข้าไปข่มขู่คุกคามคนทำงานสื่อในสื่อหลายสำนักหลังจากที่ราชปักษาสาบานตนเข้ารับตำแหน่งแทนวิกรมสิงเห
การสั่งปลดวิกรมสิงเหในช่วงที่เขากำลังเดินทางเยี่ยมเยียนพื้นที่ทางภาคใต้ของประเทศเป็นสิ่งที่สร้างความประหลาดใจและจุดชนวนให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในศรีลังกา โดยที่ศิริเสนากล่าวหาว่าวิกรมสิงเหและพรรคของเขาแปรรูปทุนของรัฐให้กับต่างชาติและกล่าวหาเรื่องการทุจริตคอร์รัปชันขนานใหญ่ จากข้อสังเกตนี้อัลจาซีราก็ระบุว่าท่าเรือส่วนมากในภาคตะวันออกเฉียงใต้ที่พัฒนาในยุคสมัยของรัฐบาลราชปักษาถูกปล่อยให้บริษัทจีนเช่าในช่วงปี 2560 ที่ผ่านมา
ภายใต้รัฐธรรมนูญศรีลังกา ประธานาธิบดีมีอำนาจในการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีได้ อย่างไรก็ตามวิกรมสิงเหก็อ้างถึงรัฐธรรมนูญของศรีลังกาเช่นกัน โดยกล่าวว่าถ้าเขายังได้รับความเชื่อมั่นจากเสียงส่วนใหญ่ในสภาเขาก็จะยังถือเป็นนายกรัฐมนตรีและการสั่งปลดเขาถือเป็นสิ่งที่ไม่เป็นไปตามกฎหมาย
ศิริเสนาเคยดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขมาก่อนในช่วงรัฐบาลราชปักษาปี 2553-2557 ศิริเสนาร่วมมือกับกับวิกรมสิงเหโค่นล้มราชปักษาในการเลือกตั้งปี 2558 ศิริเสนาได้รับแต่งตั้งเป็นประธานาธิบดีจากการหนุนหลังโดยพรรคยูเอ็นพีของวิกรมสังเห ซึ่งมีที่นั่งในสภา 106 จาก 225 ที่นั่ง แต่เมื่อวันที่ 26 ต.ค. ที่ผ่านมาศิริเสนาก็บอกว่าจะถอนพรรคยูพีเอฟเอของเขาซึ่งมีที่นั่งในสภา 96 ที่นั่งออกจากการเป็นพรรคร่วมรัฐบาล
การถอนตัวพรรคของศิริเสนาในครั้งนี้จะกลายเป็นจุดจบของพรรคร่วมรัฐบาลที่เคยรวมตัวกันด้วยสัญญาว่าจะปฏิรูปเศรษฐกิจและนำตัวผู้กระทำความผิดในช่วงปลายสงครามกลางเมืองศรีลังกาในยุคของราชปักษามาลงดำเนินคดี ซึ่งสงครามกลางเมืองดังกล่าวราชปักษาเป็นหัวหอกในการโค่นล้มกลุ่มกบฏพยักษ์ทมิฬอีแลมลงได้เมื่อ 9 ปีก่อน ทำให้สงครามที่ดำเนินมาเป็นเวลา 26 ปี สิ้นสุดลง
เรียบเรียงจากSri Lanka president suspends parliament amid political crisis, Aljazeera, 27-10-2018https://www.aljazeera.com/news/2018/10/sri-lanka-president-suspends-parliament-political-crisis-181027072445604.html [2]
| ['ข่าว', 'ต่างประเทศ', 'ไมตรีพละ ศิริเสนา', 'รานิล วิกรมสิงเห', 'มหินทรา ราชปักษา', 'การสั่งปลดนายกรัฐมนตรี', 'วิกฤตรัฐธรรมนูญ', 'ศรีลังกา'] |
https://prachatai.com/print/79334 | 2018-10-28 12:41 | นิด้าโพลสำรวจ 50.7% ระบุ 'ประยุทธ์' ไม่ควรทำงานการเมืองต่อหลังเลือกตั้ง | นิด้าโพลเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน 'อนาคตทางการเมืองของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา' 63% คาดจะกลับมาเป็นนายกหลังเลือกตั้ง แต่กว่า 50.7% อยากให้หลังเลือกตั้งไม่ควรทำงานการเมืองต่อ
28 ต.ค. 2561 ศูนย์สำรวจความคิดเห็นนิด้าโพล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “อนาคตทางการเมืองของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 24 - 26 ตุลาคม 2561 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,258 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับอนาคตทางการเมืองของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างด้วยความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” ด้วยวิธีแบบแบ่งชั้นภูมิ (Stratified Random Sampling) โดยแบ่งชั้นภูมิตามภูมิภาค จากนั้นในแต่ละภูมิภาคสุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบอย่างง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ ร้อยละ 95.0
จากการสำรวจเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) ควรทำงานการเมืองต่อหรือไม่ หลังการเลือกตั้งในปีหน้า พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 50.71 ระบุว่าไม่ควรทำงานการเมืองต่อ เพราะอยู่มานานแต่การบริหารงานต่าง ๆ ยังไม่ดีเท่าที่ควร เช่น การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ความเป็นอยู่ของประชาชน บ้านเมืองขาดความเป็นประชาธิปไตย มีการเอื้ออำนวยให้กับราชการด้วยกันเอง ขณะที่บางส่วนระบุว่า อยากเห็นกลุ่มคนรุ่นใหม่เข้ามาบริหารประเทศ พัฒนาบ้านเมืองบ้าง รองลงมา ร้อยละ 48.73 ระบุว่า ควรทำงานการเมืองต่อ เพราะ การบริหารงานดี บ้านเมืองสงบสุข สามารถแก้ไขปัญหาต่าง ๆได้ดี และร้อยละ 0.56 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
ด้านความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ควรทำอย่างไร หากจะทำงานการเมืองต่อ หลังจากการเลือกตั้งในปีหน้า พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 59.22 ระบุว่า เข้าสังกัดพรรคการเมืองและอยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองนั้นจะเสนอให้เป็นนายกรัฐมนตรี รองลงมา ร้อยละ 31.08 ระบุว่า เป็นนายกรัฐมนตรีคนนอกที่ไม่ได้มาจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง ร้อยละ 9.06 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ ไม่ควรกลับมาเล่นการเมืองอีกเลย ขณะที่บางส่วนระบุว่า ให้ปฏิบัติงานในกระทรวง และร้อยละ 0.64 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
โดยผู้ที่ระบุว่าให้เข้าสังกัดพรรคการเมืองและอยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองนั้นจะเสนอให้เป็นนายกรัฐมนตรี พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 52.62 ระบุว่า สังกัดพรรคพลังประชารัฐ (นายอุตตม สาวนายน เป็นหัวหน้าพรรค) รองลงมา ร้อยละ 27.11 ระบุว่า สังกัดพรรคไหนก็ได้ ร้อยละ 11.28 ระบุว่า สังกัดพรรคประชาชนปฏิรูป (นายไพบูลย์ นิติตะวัน เป็นหัวหน้าพรรค) ร้อยละ 8.05 ระบุว่า สังกัดพรรครวมพลังประชาชาติไทย (สนับสนุนโดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ) ร้อยละ 0.94 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ จัดตั้งพรรคใหม่ พรรคประชาธิปัตย์พรรคเพื่อไทย และพรรคตะวันใหม่
สำหรับความคิดเห็นของประชาชนต่อพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าจะกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหรือไม่ หลังการเลือกตั้ง ในปีหน้า พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 63.51 ระบุว่า คิดว่าจะกลับมา รองลงมา ร้อยละ 35.77 ระบุว่า คิดว่าจะไม่กลับมา และร้อยละ 0.72 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อการสนับสนุนให้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหลังการเลือกตั้งในปีหน้า พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 51.74 ระบุว่า ไม่สนับสนุน เพราะ ผลงานที่ผ่านมาไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร ไม่สามารถแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้ ขณะที่บางส่วนระบุว่า อยากได้คนใหม่ที่มีความสามารถในการบริหารมาพัฒนาประเทศ รองลงมา ร้อยละ 47.54 ระบุว่า สนับสนุน เพราะ ชอบแนวทางการทำงาน และมั่นใจในการบริหารงานต่าง ๆ สามารถเป็นคนกลางที่ดีที่ทำให้ประเทศชาติพัฒนา และทำให้บ้านเมืองสงบ และร้อยละ 0.72 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
| ['ข่าว', 'การเมือง', 'ประยุทธ์ จันทร์โอชา', 'นิด้าโพล', 'โพล'] |
https://prachatai.com/print/79335 | 2018-10-28 13:04 | ดีแทค ไตรเน็ต เคาะราคาประมูลคลื่น 900 MHz จำนวน 5 MHz ด้วยราคา 38,064,000,000 บาท |
28 ต.ค. 2561 นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) เปิดเผยว่า วันนี้ (28 ต.ค. 2561) บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด (DTN) ได้เข้าร่วมการประมูลคลื่น 900 MHz (890-895/ 935-940 MHz) และได้คลื่นความถี่ 1 ชุดคลื่นความถี่ ขนาด 2x5 MHz อายุใบอนุญาต 15 ปีไปครอง ในราคา 38,064,000,000 บาท เมื่อรวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% อีก 2,664,480,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 40,728,480,000 บาท และมติที่ประชุม กสทช. ได้ประกาศให้บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด (DTN) เป็นผู้ชนะการประมูลคลื่น 900 MHz (890-895/ 935-940 MHz) โดย ดีแทค ไตรเน็ต ต้องชำระเงินค่าประมูลคลื่นงวดที่ 1 เป็นจำนวนเงิน 4,020,000,000 บาท เมื่อรวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% อีก 281,400,000 บาท รวมเป็นเงินที่ต้องชำระในงวดที่ 1 ทั้งสิ้น 4,301,400,000 บาท ภายในเวลา 90 วัน นับตั้งแต่วันที่ที่ประชุม กสทช. มีมติรับรองผลการประมูล และต้องดำเนินการก่อนการได้รับอนุญาตแล้วเสร็จภายในระยะเวลาดังกล่าวด้วย
สำหรับการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ในครั้งนี้ แบ่งการชำระเงินค่าประมูลคลื่นความถี่ออกเป็น 4 งวด โดยงวดที่ 1 ชำระ 4,020,000,000 บาท งวดที่ 2 ชำระ 2,010,000,000 บาท งวดที่ 3 ชำระ 2,010,000,000 บาท และงวดที่ 4 ชำระเงินค่าประมูลฯ ส่วนที่เหลือทั้งหมด
| ['ข่าว', 'สังคม', 'คุณภาพชีวิต', 'ไอซีที', 'ดีแทค', 'กสทช.', 'บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด', 'คลื่นความถี่ย่าน 900 MHz'] |
https://prachatai.com/print/79337 | 2018-10-28 15:19 | กลุ่มพลังสตรีแห่งประชาชาติ เรียกร้องยุติความรุนแรงต่อสตรี | ทีม “พลังสตรีแห่งประชาชาติ” จากจังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมรณรงค์การยุติความรุนแรงต่อสตรี พร้อมส่งสารแสดงเจตนารมณ์ว่า "การยุติความรุนแรงต่อสตรีต้องแก้ทั้งในระดับโครงสร้าง ระดับวัฒนธรรม ควบคู่ไปกับการส่งเสริมประชาธิปไตย"
27 ตุลาคม 2561 ทีม “พลังสตรีแห่งประชาชาติ” นำโดย นางวรรณะ ระเด่นอาหมัด ว่าที่กรรมการบริหารพรรคประชาชาติ พร้อมด้วยนางรอซีดะห์ ปูซู เครือข่ายผู้หญิงยุติความรุนแรง และนางแยนะ สะแลแม ญาติผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ตากใบ รวมคณะ 20 คน ได้เข้าร่วมกิจกรรมรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อสตรี ณ สวนลุมพินี กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นงานที่จัดโดยมูลนิธิเพื่อนหญิง สหภาพยุโรป และอีกหลายองค์กรเครือข่าย
นางวรรณะ ระเด่นอาหมัด กล่าวว่า เนื่องจากทางมูลนิธิเพื่อนหญิงมีกิจกรรมเดินรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อสตรี ทาง “ประชาชาติ” เห็นว่า สตรีเป็นพลังที่สำคัญในการขับเคลื่อนสังคม จึงได้เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ และเนื่องในโอกาสสำคัญนี้ ทางทีม “พลังสตรีแห่งประชาชาติ” ได้มีสารแสดงเจตนารมณ์ต่อการยุติความรุนแรงต่อสตรีด้วย ดังนี้
สารจาก “พลังสตรีแห่งประชาชาติ” ต่อการยุติความรุนแรงต่อสตรี
เนื่องในโอกาสที่เดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้ ประเทศไทย โดยมติคณะรัฐมนตรี ได้กำหนดให้เป็น "เดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี" สอดรับกับที่องค์การสหประชาชาติได้รับรองให้วันที่ 25 พฤศจิกายนของทุกปีเป็น "วันขจัดความรุนแรงต่อสตรีสากล" ประกอบกับการที่ในวันนี้ “กลุ่มสตรีแห่งประชาชาติ” ได้มาร่วมกิจกรรม Men for Change to End Violence against Women ทีม “พลังสตรีแห่งประชาชาติ” จึงขอแสดงเจตนารมณ์ต่อการยุติความรุนแรงต่อสตรีดังนี้
1) “พลังสตรีแห่งประชาชาติ” เห็นว่า การกระทำความรุนแรงต่อสตรีไม่เพียงแต่จะมีความรุนแรงด้านร่างกาย ด้านจิตใจ และความรุนแรงทางเพศ ซึ่งมักกระทำโดยผู้ชายที่เป็นคนใกล้ชิดในบริบทความสัมพันธ์ ครอบครัว และการแต่งงานเท่านั้น แต่ยังมีการกระทำความรุนแรงในเชิงโครงสร้าง ที่หมายถึง โครงสร้างทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และระบบกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม ที่ทำให้ความเป็นหญิงมีสถานะ บทบาท และอำนาจด้อยกว่าความเป็นชาย เปิดช่องต่อการถูกทำร้ายหรือถูกกระทำความรุนแรง
2) “พลังสตรีแห่งประชาชาติ” มองว่า การที่การกระทำความรุนแรงต่อสตรียังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่องในสังคมไทย ก็เนื่องมาจากการยอมรับว่าสิ่งนี้เป็นความปกติธรมดา ไม่ใช่เรื่องผิด จนกลายเป็น “วัฒนธรรมการกระทำความรุนแรงต่อสตรี” ที่ถูกผลิตซ้ำผ่านสถาบันหลักๆ ของสังคม เช่น สถาบันครอบครัว สถาบันการศึกษา และสื่อมวลชน วัฒนธรรมนี้ทำให้แม้แต่ผู้หญิงก็ยอมรับสถานะที่ด้อยกว่าและยอมรับความรุนแรงที่มีต่อตนเอง
3) “พลังสตรีแห่งประชาชาติ” เห็นว่า สภาพสังคมการเมืองแบบประชาธิปไตยเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะเอื้อให้การยุติความรุนแรงต่อสตรีเกิดขึ้นได้จริง ทั้งนี้ ภายใต้รัฐบาล คสช. การละเมิดสิทธิและคุกคามสตรีโดยรัฐมีเพิ่มขึ้นมาก ไม่ว่าจะเป็นการข่มขู่ คุกคาม การฟ้องร้อง และดำเนินคดีสตรีชาวบ้านในชุมชนที่ต่อสู้กับความไม่ชอบธรรมเรื่องที่ดินและฐานทรัพยากร ตลอดจนการดำเนินคดีเพื่อเอาผิดกับสตรีจำนวนมากที่ออกมารณรงค์เรียกร้องการเลือกตั้ง ทั้งนี้ ยังไม่รวมที่เพิ่งเกิดการรัฐประหาร ที่มีการกวาดล้างเครือข่ายฝ่ายตรงข้ามของ คสช. ที่นำมาสู่การควบคุมตัวสตรีหลายคนไปสอบปากคำในค่ายทหารโดยปราศจากทนาย อันเปิดช่องต่อการกระทำความรุนแรงต่อสตรีเหล่านี้
อนึ่ง “พลังสตรีแห่งประชาชาติ” เป็นกลุ่มสตรีจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ ดินแดนที่ผู้หญิงต้องมีชีวิตอยู่ท่ามกลางสถานการณ์ความไม่สงบ และสตรีจำนวนไม่น้อยถูกกระทำความรุนแรงทางจิตใจจากการสูญเสียคนที่รักจากสถานการณ์ฯ นอกจากนั้นก็มีบางส่วนที่ถูกกระทำความรุนแรงจากคนใกล้ตัว อันเป็นการทำร้ายที่ขัดต่อหลักการทางศาสนาที่ให้เกียรติและกำหนดให้มีการดูแลสตรีเป็นดีอย่างยิ่ง ทั้งนี้ การยุติความรุนแรงต่อสตรีทั้งในภาพรวมของประเทศและพื้นที่ชายแดนใต้ ต้องกระทำทั้งในระดับโครงสร้างและระดับวัฒนธรรม ควบคู่ไปกับการส่งเสริมระบอบประชาธิปไตย “พลังสตรีแห่งประชาชาติ” จะร่วมผลักดันนโยบายผ่านกลไกของพรรคประชาชาติ และร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อยุติความรุนแรงต่อสตรีในทุกรูปแบบ เพื่อสร้างสังคมพหุวัฒนธรรมที่ทุกคนมีความเสมอภาคและเท่าเทียมกัน
ด้วยความเชื่อมั่นในความเสมอภาคและเท่าเทียมของมนุษย์พลังสตรีแห่งประชาชาติ27 ตุลาคม 2561
| ['ข่าว', 'การเมือง', 'สิทธิมนุษยชน', 'กลุ่มพลังสตรีแห่งประชาชาติ', 'วรรณะ ระเด่นอาหมัด', 'พรรคประชาชาติ', 'รอซีดะห์ ปูซู', 'เครือข่ายผู้หญิงยุติความรุนแรง', 'แยนะ สะแลแม', 'ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ตากใบ'] |
https://prachatai.com/print/79336 | 2018-10-28 14:39 | คสช.ยอมรับส่งทหารประกบติด 'พรรคการเมือง-แกนนำ' | โฆษก คสช. ยอมรับส่งทหารประกบติด ‘พรรคการเมือง-แกนนำ’ เพื่อความเรียบร้อย หวั่นปลุกปั่นสร้างความเกลียดชัง 'อนาคตใหม่' พบปะชาวกรุงที่สวนลุม 'รวมพลังประชาชาติไทย' เดินคารวะแผ่นดินที่ย่านเยาวราช 'ไทยศรีวิไลย์' เตรียมบุก ป.ป.ช.เร่งชี้มูลทุจริต GT200 เจ้าหน้าที่รัฐ พร้อมเล็งยื่นตรวจสอบโครงการ DLIT สพฐ.กว่า 7 พันล้าน 'อภิสิทธิ์' ลุย 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ขอเสียงหนุนนั่งต่อหัวหน้าประชาธิปัตย์ต่อ
พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) (แฟ้มภาพ)
28 ต.ค. 2561 พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงกรณีที่มีเจ้าหน้าที่ทหารไปร่วมสังเกตการณ์พรรคการเมืองต่างๆ ที่ออกมาทำกิจกรรมในช่วงนี้ว่าเจ้าหน้าที่ดำเนินการตามแนวทางเพื่อไปดูแลความเรียบร้อยทั่วไป เป็นในลักษณะดูภาพรวมกว้างๆ และเชื่อว่าคงไม่ได้ไปจำกัดสิทธิการดำเนินการอะไร ถ้าการกระทำอยู่ในกรอบกฎหมาย โดยหลักเพื่อให้การดำเนินการต่างๆ เช่น การหาสมาชิกพรรคของกลุ่มหรือบุคคลสามารถดำเนินการไปได้ด้วยความเรียบร้อย และอยู่ในกรอบที่คสช.ผ่อนคลายให้สามารถทำบางกิจกรรมได้ในช่วงนี้ เชื่อว่าในทางปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ยังคงดำเนินการอย่างระมัดระวัง เพื่อไม่กระทบต่อกิจกรรมตามวัตถุประสงค์ของพรรคการเมืองที่ดำเนินการนั้นๆอยู่ในกรอบที่กฎหมายกำหนด ส่วนข้อกังวลในเรื่องสิทธิเสรีภาพ ความจริงเรื่องนี้ไม่ได้กระทบ โดยเฉพาะกับสังคมส่วนใหญ่ในการดำเนินชีวิตทั่วไป ซึ่งมีเพียงบางบุคคล หรือบางกลุ่มนิยมใช้เป็นวาทกรรมยัดเยียดชี้นำสังคม
"คสช.จำเป็นต้องทำให้ทุกกฎหมายโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการปกป้องสิทธิคนส่วนใหญ่สามารถบังคับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และช่วงนี้ยังคงไม่อยากให้มีการดำเนินการใดๆ ที่สุ่มเสี่ยง หรือใช้เวทีนี้ผิดไปจากเจตนารมย์ เช่น การแฝงให้ข้อมูลลักษณะปลุกปั่นสร้างกระแสความเกลียดชังกัน หรือกรณีการใช้เวทีนี้เป็นที่แสดงออกทางอารมณ์เกลียดชังกันจนกระทบภาพบรรยากาศในการเดินหน้าประเทศ อีกทั้งมองว่าในช่วงนี้พรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองส่วนใหญ่เข้าใจการทำงานของเจ้าหน้าที่ในการสร้างและรักษาบรรยากาศที่จะเอื้ออำนวยต่อการเตรียมการเลือกต้ัง" พ.อ.วินธัย กล่าว
'อนาคตใหม่' พบปะชาวกรุงที่สวนลุม
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 27 ต.ค. 2561 ที่ผ่านมานายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ และกรรมการบริหารพรรค นำทีมผู้สนับสนุนพรรคและแคนดิเดต ผู้สมัคร ส.ส.กทม.และปริมณฑล วิ่งออกกำลังกายที่สวนลุมพินี พร้อมทักทายแนะนำตัวกับประชาชนที่มาเดิน-วิ่งออกกำลังกายซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดี นายธนาธรกล่าวว่า ได้รับเชิญมาร่วมงานเดินต่อต้านความรุนแรงต่อผู้หญิง ของมูลนิธิเพื่อนหญิง จึงถือโอกาสชวนสมาชิกพรรคออกกำลังกายร่วมกันในตอนเช้า อีกทั้งสวนลุมพินียังเป็นแหล่งพักผ่อน และพื้นที่สีเขียวที่เป็นสัญลักษณ์ของกรุงเทพฯ จึงเป็นโอกาสดีที่ทีมอนาคตใหม่จะได้ไปแนะนำตัวกับชาวกรุงเทพฯ ในช่วงของการเปิดรับสมัครสมาชิกพรรค
นายธนาธรยังได้เข้าร่วมงานเดินต่อต้านความรุนแรงต่อผู้หญิง ของมูลนิธิเพื่อนหญิง โดยมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และนักแสดงชื่อดังอย่างแคทรียา อิงลิช และปณิตา ธรรมวัฒนะ ร่วมงานด้วย ซึ่งในงาน มีกลุ่มสตรีจากหลากหลายวัย หลายจังหวัด และอาชีพ เข้ามาทักทายและขอถ่ายรูปกับนายธนาธรอย่างคับคั่ง พร้อมทั้งให้กำลังใจการทำงานของพรรคอนาคตใหม่ เช่นเดียวกับเอกอัครราชทูตสวีเดนและภริยา หนึ่งในผู้สนับสนุนหลักของงาน ซึ่งกล่าวกับนายธนาธรว่า “เราสนับสนุนความเปลี่ยนแปลงเสมอ”
'รวมพลังประชาชาติไทย' เดินคารวะแผ่นดินที่ย่านเยาวราช มั่นใจประชาชนตื่นตัวการเลือกตั้งครั้งนี้มากกว่าครั้งก่อนย้ำไม่คิดแย่งฐานเสียงพรรคใด
เมื่อวันที่ 27 ต.ค. 2561 ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล หัวหน้าพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) พร้อมด้วยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานคณะทำงานรณรงค์เชิญชวนประชาชนเป็นสมาชิกพรรค นำคณะผู้จัดตั้งพรรค ปฏิบัติการเดินคารวะแผ่นดินวันที่สามย่านเยาวราช โดยเริ่มต้นเดินเท้าจากซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ หรือ วงเวียนโอเดียน ไปยังศาลเจ้าแม่กวนอิม มูลนิธิเทียนฟ้า เพื่อสักการะเจ้าแม่กวนอิม จากนั้น เดินต่อไปตามถนนเยาวราช สำเพ็ง ท่าน้ำราชวงศ์ วัดเล่งเน่ยยี่ ถนนเจริญกรุง วัดไตรมิตรวราราม ระยะทางรวมประมาณ 4 กิโลเมตร
โดยนายสุเทพ กล่าวว่าที่เลือกมาเดินเยาวราช เพราะได้รับประสบการณ์จากเมื่อครั้งที่เป็นแกนนำ กปปส.เชิญชวนชาวเยาวราชร่วมกันต่อสู้ ซึ่งครั้งนั้นพบว่าพี่น้องเชื้อสายจีนชาวเยาวราช เป็นบุคคลที่มีความจงรักภักดีต่อแผ่นดินสูงมาก หลายคนให้กำลังใจเพราะแผ่นดินไทยให้โอกาสตระกูลชาวจีนได้ผ่านพ้นความทุกข์ยาก ชาวเยาวราชจึงจะสนับสนุนคนที่มุ่งมั่นทำความดีให้กับบ้านเมือง วันนี้ตนจึงได้มาที่นี่ เพื่อให้ชาวเยาวราชทราบว่า รปช.ตั้งใจทำสิ่งที่ดีให้เกิดขึ้น สร้างการเมืองของประชาชน พร้อมกันนี้เชื่อมั่นว่าประชาชนคนไทยทุกคนคำนึงเรื่องที่จะให้ประเทศอยู่รอดต่อไป มากกว่าการยึดติดพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง หากประเทศไม่สงบเรียบร้อยก็จะเดินหน้ากันไม่ได้ ดังนั้นขออย่าคิดว่าจะมาแย่งฐานเสียงจากพรรคใดวันนี้ประชาชนนับหนึ่งใหม่แล้ว
ส่วนเสียงตอบรับจากการเดินย่านสุขุมวิทเมื่อวันที่ 26 ต.ค. เมื่อเปรียบเทียบกับย่านวรจักรในวันที่ 25 ต.ค. นั้นนายสุเทพกล่าวว่าย่านวรจักรมีความอบอุ่นกว่าเพราะเป็นชุมชนเดิม แต่ย่านสุขุมวิทเป็นย่านธุรกิจมากกว่า แต่ก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี
ทั้งนี้จะปรับกลยุทธ์เน้นเข้าหาชุมชนมากกว่าหรือไม่นั้น นายสุเทพกล่าวว่าก็พยายามเดินให้มากที่สุด ให้ทั่วถึงที่สุด เพื่อเชิญชวนคนมาสมัครเป็นเจ้าของพรรค ขณะที่ความเคลื่อนไหวของพรรคการเมืองอื่นๆนั้น ส่วนตัวไม่มีเวลาสนใจพรรคการเมืองอื่น ไม่ใช่ว่าไม่ให้ความสำคัญ แต่ภาระหน้าที่ในพรรคตนเองนั้นหนักหนา ไม่มีเวลาติดตามเบื้องหน้าเบื้องลึกของแต่ละพรรคว่าเป็นอย่างไร
นายสุเทพ กล่าวอีกว่ามั่นใจว่าการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในปีหน้านั้น ประชาชนจะตื่นตัวมาก และมีส่วนร่วมกว่าครั้งก่อนๆ และย้ำว่า รปช.ไม่มีแนวคิดที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ประชาชนลงประชามติเห็นชอบ ไม่ติดใจที่ใครเป็นคนร่าง เช่นเดียวกับยุทธศาสตร์ชาติ ก็ไม่มีแนวคิดที่จะแก้ไขเช่นกัน
'ไทยศรีวิไลย์' เตรียมบุก ป.ป.ช.เร่งชี้มูลทุจริต GT200 เจ้าหน้าที่รัฐ พร้อมเล็งยื่นตรวจสอบโครงการ DLIT สพฐ.กว่า 7 พันล้าน
เมื่อวันที่ 27 ต.ค. 2561 นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ หัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์ กล่าวว่า ตน พร้อม นายณัชพล สุพัฒนะ หรือ มาร์ค พิทบูล รองหัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์ และ คณะ ในวันอังคารที่ 30 ตุลาคม 2561 เวลา 11.00 น. จะเดินทางไปที่ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อยื่นหนังสือถึง พลตำรวจเอก วัชรพล ประสานราชกิจ ประธานคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อเร่งรัดชี้มูลความผิดคดีทุจริต GT200 หลัง กรมราชองครักษ์ เป็นโจทก์ยื่นฟ้องบริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด พร้อมกรรมการ และเจ้าหน้าที่ในบริษัทรวม 5 ราย เป็นจำเลยที่ 1-5 ในคดีการจัดซื้อเครื่องตรวจจับอาวุธวัตถุระเบิด และสารเสพติดรุ่น GT200 รวม 3 ครั้ง เป็นเงิน 9 ล้านบาท เนื่องจากเครื่อง GT200 ไม่สามารถใช้งานได้ โดยศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภค ได้ตัดสินคดีความแพ่งดังกล่าว ไม่รับคำฎีกา เมื่อ 29 ส.ค.61 ของบริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด เรื่อง การขาดอายุความ ถือว่าคดีทางแพ่งถึงที่สุดแล้ว หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ศาลแพ่ง พิพากษาให้บริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด ชำระเงิน 9 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 บาท/ปี นับตั้งแต่วันที่ 26 เม.ย. 2557 ที่ผ่านมา
นายมงคลกิตติ์ กล่าวต่อว่า เมื่อกลางเดือนกันยายน 2561 ศาลเเขวงดอนเมืองได้อ่านคำพิพากษา คดีที่อัยการคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ฟ้อง กลุ่มจำเลย บริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด ซึ่งศาลได้พิพากษาลงโทษจำคุก 10 ปี นายสุทธิวัฒน์ จากการขายเครื่อง GT 200 รวม 12 สัญญา กระทงละ 3 ปี จำนวน 12 กระทง รวม 36 ปี แต่ตามมาตรา 91 (1) แห่งประมวลกฎหมายอาญา กำหนดให้จำคุกได้ไม่เกิน 10 ปี และมีโทษปรับ 72,000 บาท รวมมูลค่า 600 ล้านบาท ซึ่งสำนวนนั้น กองทัพบก เป็นผู้เสียหาย โดยจำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ ขอสู้คดีในขั้นอุทธรณ์ และทราบว่าช่วง ปลาย กันยายน 2651 คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้รับสำเนาคำพิพากษาจำคุก 7 ปี เจ้าของผลิตภัณฑ์ และ เอกสารประกอบจากศาลประเทศอังกฤษ แล้วนั้น ความเสียหายที่เกิดกับหน่วยงานภาครัฐทั้ง 18 หน่วยงาน วงเงิน จัดซื้อเครื่องตรวจระเบิด GT200 และ Alfa6 แพงเกินจริง แล้วทำงานไม่ได้ผล ซึ่งมีการจัดซื้อหลายครั้งจากหลายหน่วยงาน กว่า 1,137 ล้านบาท
นายมงคลกิตติ์ กล่าวว่า ความเสียหายนี้เอกชนจะมีความผิดแต่ฝ่ายเดียวคงไม่ได้ จะต้องมีเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องร่วมกันรับผิดชอบแตกต่างกัน ทั้งทางอาญา-ทางวินัย(อยู่ในราชการ)-ทางละเมิด กับ เจ้าหน้าที่รัฐ ณ ขณะนั้น ปี 2548-2553 อาทิ อดีตเจ้ากระทรวง อดีต ผบ.ทบ.-ผบ.ทอ-ผบ.ทร.-ผบ.ตร. อดีตเจ้ากรม อดีตอธิบดี อดีตผู้ว่าฯ อดีตผู้อำนวยการ เจ้าหน้าที่จัดซื้อจัดจ้าง เจ้าหน้าตรวจรับพัสดุ ว่ามีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 (ฮั้ว) และต้องรับผิดชอบ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 มากน้อยลดหลั่นกันไป คดีนี้ก็คล้ายกับคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย คดีทุจริตรถดับเพลิงเรือดับเพลิง กทม.
“เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้รับเรื่องร้องเรียนอยู่ 2 เรื่อง คือ 1. การอาจจะทุจริตการจัดซื้อจัดจ้างโครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาด้วยเทคโนโลยีการศึกษาทางไกลผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศ (DLIT) ของ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขึ้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ งบประมาณ ปี 2560-2562 งบประมาณกว่า 7 พันล้านบาท 2. ร้องเรียนข้าราชการระดับสูง 2 ราย สังกัด กระทรวงศึกษาธิการ อาจจะพัวพันการกระทำความผิดการปล่อยเงินกู้นอกระบบให้กับครูอัตราดอกเบี้ยสูงเกินกว่ากฎหมายกำหนด ซึ่งถ้าเป็นเรื่องจริงก็จะเข้าข่ายผู้มีอิทธิพล ซึ่ง คสช. กำลังปราบปรามอยู่ในขณะนี้” นายมงคลกิตติ์ กล่าว
นายมงคลกิตติ์ กล่าวต่อว่า ข้อสังเกตการจัดซื้อจัดจ้างโครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาด้วยเทคโนโลยีการศึกษาทางไกลผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศ (DLIT) ในแต่ละ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา-มัธยมศึกษา 1. มีผู้ยื่นราคา 3-4 เจ้า ซ้ำๆ กัน ซื้อของมาจากแหล่งผู้ผลิตแค่ไม่กี่ราย มีการลดราคาแค่หลักร้อยเป็นไปได้อย่างไร ทั้งที่เป็นระบบ อี-บิลดิ้ง น่าจะต้องตรวจสอบ 2. มีการจัดซื้อรวมกันทั้ง ทีวี และ โน้ตบุ๊ก เป็นราคารวมไม่สามารถแยกซื้อได้ 3. มีการล็อกหน้าจอแสดงผลของทีวีในสเปก ให้แสดงผลเป็นของ สพฐ.ป้องกันขโมย ผู้รับจ้างรู้ได้ไงว่าจะได้งานเพราะต้องสั่งผลิตล่วงหน้าหลายเดือนเป็นจำนวนมากๆ 4. ราคากลางอาจสูงเกินจริงกว่าราคาท้องตลาด ซึ่งโครงการดังกล่าวได้เข้ามาแทนที่การดำเนินนโยบายประชานิยมของพรรคเพื่อไทย คือ โครงการแท็บเล็ตพีซีเพื่อการศึกษาไทย ที่ใช้งบกว่า 8,000 ล้านบาท ณ ปัจจุบันพังหมดแล้วกลายเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์ กว่า 3 ล้านกว่าเครื่อง ฉะนั้น ในช่วงสัปดาห์หน้าเป็นต้นไป จะดำเนินการยื่นหนังสือต่อ รมว.ศึกษาธิการ และ คณะกรรมการ ป.ป.ช.ทั้ง 2 เรื่อง ให้ตรวจสอบต่อไปก่อนความเสียหายจะเกิดขึ้น
'อภิสิทธิ์' ลุย 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ขอเสียงหนุนนั่งต่อหัวหน้าประชาธิปัตย์ต่อ
เมื่อวันที่ 27 ต.ค. 2561 นายอภิสิทธ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ในฐานะผู้สมัครแข่งขันเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พบปะสมาชิกพรรคในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ (จชต.) ที่โรงแรมซีเอส ปัตตานี โดยมีสมาชิกพรรคจาก11เขตเลือกตั้งในพื้นที่จชต.มากกว่า 2,000 คน ให้การต้อนรับจนล้นห้องแกรนบอลลูม ออกมาจนต้องตั้งเต้นท์รองรับด้านข้างของพื้นที่โรงแรม โดยมีแกนนำพรรคอาทิ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ นายขำนิ ศักดิเศรษฐ์ รองหัวหร้าพรรค นายนิพนธ์ บุญญามณี นายก อบจ.สงขลา นายกรณ์ จาติกวนิช ฝ่ายยุทธศาสตร์พรรค นายพนิช วิกิตเศรษฐ์ นายสามารถ มะลูลีม อดีตส.ส.กทม. นายศิริโชค โสภา อดีตส.ส.สงขลา นายนริศ ขำนุรักษ์ อดีต ส.ส.พัทลุง นายฮอศารี ม่าเหล็ม อดีตส.ส.สตูล และนายอันวาร์ สาและอดีต ส.ส.ปัตตานี
โดยตอนหนึ่งนายอภิสิทธิ์ กล่าวตอนหนึ่งว่า การหยั่งเสียงหัวหน้าพรรคไม่ใช่ครั้งแรกของพรรคประชาธิปัตย์ แต่เป็นครั้งแรกของประเทศไทย ขอเชิญชวนให้ทุกคนไปลงคะแนนเลือกหัวหน้าพรรคในวันที่ 1-3 พ.ย. นี้ทางโทรศัพท์ หรือหากใครไม่สะดวกก็เดินเข้าคูหาได้ในวันที่ 5 พ.ย. ซึ่งเป็นกำหนดของชาวใต้ ซึ่งหากตนได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรคต่อก็จะต้องเร่งนำทัพสู่การเลือกตั้ง เพราะการเมืองแบบนี้เศรษฐกิจจะดียาก เพราะคนทำงานขาดตัวเชื่อมโยง เศรษฐกิจที่ดีจริงจะต้องสะท้อนผ่านราคาสินค้าเกษตร อาทิ ยางพารา ปาล์ม มะพร้าว และประมง จึงต้องพาประเทศออกจากการเมืองนี้ สิ่งที่เราต้องการ คือ 1.ต้องเป็นประชาธิปไตย ที่รู้ถึงว่าประชาชนต้องการอะไร 2.ต้องเป็นคนที่มีความรู้ความสามารถมีประสบการณ์เพื่อแก้ปัญหา 3.ต้องซื่อสัตย์สุจริต ปัญหาในภาคใต้โดยเฉพาะ ปัญหาการประมงที่ได้รับผลกระทบจากการออกมาตรการที่ไม่เข้าใจปัญหาของรัฐบาลจนสร้างความเดือดร้อนให้ชาวประมงของประเทศ ที่ถูกทำลายไปครึ่งหนึ่งแล้ว ทุกครั้งที่มีส.ส.สหภาพยุโรปมาพบ ตนจะชี้แจงว่า ไทยไม่มีความคิดที่จะค้ามนุษย์ การออกมาตรการเช่นนี้ส่งผลกระทบต่อวิถีของคนไทย สร้างความเดือดร้อนให้ชาวประมง ซึ่งส.ส.สหภาพยุโรปบอกตนว่า เขากดดันเรื่องการค้ามนุษย์จริง แต่การออกมาตรการเป็นเรื่องของรัฐบาลไทยเอง ซึ่งหากตนได้เป็นหัวหน้าพรรคและเป็นรัฐบาล ปัญหาของประชาชน ต้องได้รับการแก้ไขเพราะถือเป็นนโยบายตามคำสั่งของประชาชน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้าพบสมาชิก คณะนายอภิสิทธิ์ได้เดินทางไปสักการะหลวงปู่ทวดวัดช้างให้ สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองจ.ปัตตานี และได้ร่วมลอดใต้ท้องช้าง ซึ่งเชื่อกันว่าจะเป็นศิริมงคล และสมปรารถนาตามที่ขอ
ที่มาเรียบเรียงจาก มติชนออนไลน์ [1] สำนักข่าวไทย [1] [2] [2] [3] ผู้จัดการออนไลน์ [4] กรุงเทพธุรกิจ [5]
| ['ข่าว', 'การเมือง', 'พรรคอนาคตใหม่', 'พรรครวมพลังประชาชาติไทย', 'พรรคไทยศรีวิไลย์', 'พรรคประชาธิปัตย์', 'วินธัย สุวารี', 'คสช.'] |
https://prachatai.com/print/79339 | 2018-10-28 15:30 | ความไร้น้ำยาของผังเมืองไทย | ความนำ
นับเนื่องกว่า 43 ปีการผังเมืองไทยไม่ค่อยมีบทบาทสำคัญในสังคมไทย ผังเมืองไม่เคยชี้นำการพัฒนาอะไรแก่เมืองได้ ภาพปรากฏตามสื่อส่วนใหญ่จะมีแต่เรื่องติดอุปสรรคผังเมือง การขอยกเลิกผังเมือง ยกเว้นข้อบังคับผังเมือง ผังเมืองจึงดูเหมือนกลายเป็นเงื่อนไข เป็นข้อจำกัดที่มนุษย์ไปสร้างขึ้นมา ถามรัฐบาลก็อยากแก้ผังเมือง หันไปถามภาคเอกชนก็ว่าสมควรเร่งแก้ผังเมือง ถามใครต่อใครก็ไม่เห็นว่าจะมีใครชอบ ไม่เห็นมีใครอยากได้ผังเมือง แล้วสังคมไทยยังจำเป็นต้องทนกล้ำกลืนกับผังเมืองกันอีกทำไมกัน
หลายคนบอกว่า อับดุลรู้ อับดุลเห็น รัฐบาลแห่งการปฏิรูปกำลังทำอยู่นี้ไง ปั๊ดโธ่! เริ่มจาก สปช. สปท. ที่องค์คณะส่วนใหญ่ไม่เคยลงมือทำผังเมืองแบบไทยๆ กันเลยสักครั้งในชีวิต แต่ตั้งใจดีจะทำโน่นนี่นั่น ไม่ว่ากัน ทำนองคนเล่นไม่รู้คนดูกลับแจ้ง ทำเสร็จส่งเข้า สนช. ก็เพียงพยักหน้ารับทราบแล้วเงียบเป็นเป่าสาก คิดมาตั้งเยอะ ค่าใช้จ่ายก็โข กลับโยนให้หน่วยงานราชการไปทำกันเองอย่างไรก็ได้ต่อ สุดท้ายก็ไม่พ้นวังวนการมุ่งแก้ไขกฎหมายว่าด้วยการผังเมืองเสียใหม่ และสูตรสำเร็จเดิมคือการเพิ่มอำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง เพิ่มโทษอีกพะเรอเกวียน
จากการทำงานด้านการผังเมืองมากว่า 30 ปี ทั้งจัดการเรียนการสอน การเป็นที่ปรึกษาให้กับการวางและจัดทำผังเมืองของท้องถิ่น และร่วมงานกับส่วนภูมิภาคในฐานะเครือข่ายผังเมือง พบว่ามีประเด็นที่ให้ฉุกคิดว่าทำไมการผังเมืองไทยไปไม่ถึงไหน ไม่ได้เป็นเครื่องมือที่เฉียบคมสำหรับความฝัน ความหวังของเมืองอย่างที่ควรจะเป็น หรืออย่างที่นานาอารยะประเทศอื่นใช้กันเป็นสากล ซึ่งพอสังเขปความดังนี้
ปัญหาของการนิยาม
อาจเป็นเพราะการแปลการวางแผนเมือง Urban Planning เป็นการวางผังเมือง ซึ่งเริ่มต้นจากแผนกเล็กๆ ในกรมโยธาเทศบาล จนแยกเป็นสำนักผังเมือง กรมการผังเมือง ตลอดจนการเรียนการสอนมักอยู่ในภาควิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ก็เป็นได้ เลยทำให้เข้าใจว่าการวางผังเมืองเป็นเรื่องทางกายภาพอย่างเดียว และนั่นคือจุดอ่อนสำคัญที่ทำให้การผังเมืองไทยปรากฏโฉมเพียงแค่กำหนดเขตการใช้ประโยชน์ที่ดินและการวางโครงข่ายถนนเพียงไม่กี่สาย หากวันนี้เมืองหนึ่งเมืองใดประกาศตัวจะเป็น Smart City คำถามก็คือว่า การผังเมืองไทยที่มีเพียงกติกาการใช้ประโยชน์ที่ดินตามข้อกำหนดที่เป็นแบบมาตรฐานนั้นจะทำให้เมืองนี้บรรลุไปถึง Smart City ได้มากน้อยเพียงใด
ตอบฟันธงเลยว่า ผังเมืองลักษณะนี้ไม่ช่วยอะไรกับวิสัยทัศน์เมืองได้เลย หากไม่ทำความเข้าใจเรื่องผังเมืองเสียใหม่ว่า แท้จริงนั้นงานผังเมืองเป็นการวางแผนเมืองที่ต้องครอบคลุมบูรณาการในมิติทุกด้าน เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม กายภาพ การบริหารจัดการ เป็นการวางแผนที่ต้องตอบสนองต่อวิสัยทัศน์ของเมือง ส่งเมืองให้ถึงฝั่งความคาดหวังของชาวเมือง ไม่ใช่เพียงละเลงสีบนกระดาษให้คนเมืองปฏิบัติตามโดยไม่รู้ว่าทำไปทำไม
นิยามคำว่าเมืองก็เช่นกัน อาจดูไม่น่าถาม ฟังแล้วไร้สาระ แต่กลับเป็นเรื่องยากที่จะตอบชัดเพราะการผังเมืองไทยที่ทำเรื่องเมืองมาโดยตลอดนั้น ไม่เคยนิยามคำว่าเมือง แล้วทำการถอดองค์ประกอบสิ่งที่เรียกว่าเมืองออกมาให้เห็นอย่างเป็นระบบ นิยามเมืองของไทยอิงมิติการบริหารการปกครองมาโดยตลอด ซึ่งเมื่อไม่รู้จักเมือง ธาตุแท้ของความเป็นเมือง การวางแผนเกี่ยวกับเมืองย่อมไม่ตรงจุด ตั้งแต่การกำหนดขอบเขตพื้นที่ความเป็นเมือง พื้นที่วางผังเมือง การจัดการกับองค์ประกอบหลัก องค์ประกอบรอง และสิ่งที่แวดล้อมเกี่ยวเนื่อง
ปัญหาองค์ความรู้
ไม่รู้จักเมืองแน่แล้ว ก็ยังไม่รู้จักกระบวนทัศน์เมืองอีกต่างหาก ทำให้การศึกษาเพื่อจัดวางผังเมืองของไทยเป็นไปอย่างสะเปะสะปะ รวบรวมข้อมูลแบบปะติดปะต่อ (copy and paste) ประชากร เศรษฐกิจ สังคม เก็บมาให้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ แต่ไม่รู้เลยว่านำมาเพื่ออะไร เอามาใช้มองเมือง เข้าใจเมืองหรือไม่ เข้าทำนอง 3 ย. ยาก เยอะ และไร้ประโยชน์
เมืองที่ดี เมืองผู้คนเป็นสุขในมุมมองของผังเมืองเป็นอย่างไร ยังไม่เห็นการสร้างองค์ความรู้เช่นนี้กันอย่างจริงจัง แม้แต่องค์กรที่ประกาศตัวเป็นเป็นหน่วยงานแกนนำด้านการผังเมืองของประเทศ การขาดซึ่งความหวัง ความฝันของเมือง ย่อมทำให้การวางผังหรือการวางแผนเป็นไปอย่างเคว้งคว้างไร้ซึ่งจุดหมายและปลายทาง
อาจเป็นได้ที่จะอนุวัตรเมืองในอุดมคติมาจากสำนักอื่นที่โด่งดังและแพร่หลายบนโลกใบนี้ แต่โดยกระบวนการที่นำมาใช้ในงานผังเมืองปัจจุบัน ขาดสาระสำคัญในศาสตร์ของการวางแผนโดยสิ้นเชิง ไม่มีตัวชี้วัด ไม่มีค่าเป้าหมายใดใดที่จะบ่งบอกถึงความสำเร็จหรือแสดงค่าเชิงปริมาณส่วนต่างระหว่างสภาพปัจจุบันและเป้าหมายออกมา การประเมินผลผังเมืองจึงใช้การวัดแบบข้างๆคูๆ ขี่ม้าเลียบค่าย ไม่เคยชี้ชัดอะไรออกมาได้
ปัญหาการบริหารจัดการ
ระบบการพิจารณาผังเมืองยิ่งไม่แน่ชัด การพิจารณาผังเมืองรวมมีหลายลำดับชั้นและขาดการจัดการที่ดี กรรมการยิ่งสูงกลับให้ตัดสินใจในรายละเอียด คณะกรรมการผังเมืองต้องทำตนเหมือนรู้ทุกอย่างทุกเมืองในประเทศไทย ข้อจำกัดในข้อเท็จจริงเช่นนี้กลับไม่ตระหนักในงานผังเมือง โดยให้คณะกรรมการในเชิงนโยบายขลุกกับลักษณะงานการปฏิบัติ ยิ่งไปกว่านั้น ไม่มีการกำหนดมาตรฐานใดเป็นบรรทัดฐานในการพิจารณา ปล่อยให้กรรมการแต่ละคนให้ความเห็นในมุมมองและความรู้สึกนึกคิดส่วนตน กลายเป็นวังวนทำให้เจ้าหน้าที่ต้องกลับไปเสียเวลาทบทวนผังตั้งแต่เริ่มต้น ซึ่งระบบการคัดกรองผังระดับกรมควรทำโดยละเอียด มีมาตรฐานดีแล้ว จนผ่านเข้าสู่คณะกรรมการผังเมืองเพื่อประทับตราความเหมาะสมเท่านั้น
ที่น่าแปลกใจยิ่งกว่าคือกับการยกร่างกฎกระทรวงผังเมืองรวมของเมืองหนึ่งๆ นั้น เป็นกระบวนการที่แสนจะยาวนาน บางเมืองอาจต้องรอถึง 7 ปี 10 ปี การรอคอยอย่างเลื่อนลอยไม่ใช่เป็นเพราะการใช้เวลาเพื่อการออกแบบผังเมืองรวมหรือการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน แต่กลับกลายเป็นขั้นตอนการทำให้เป็นกฎกระทรวง เพราะมีทั้งตัวบทที่กำกับไว้ และการดำเนินการเชิงจารีตประเพณี ผังเมืองรวมส่วนมากจึงอยู่วนเวียนอยู่กับกองนิติการ กรมโยธาธิการและผังเมือง และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ไม่ได้ออกมาใช้ทันกับสภาพการณ์ของเมืองเกือบทุกผัง
ปัญหาการรวมอำนาจ
การผังเมืองของประเทศไทย จึงจำเป็นที่ต้องรื้อร้างสร้างระบบใหม่ทั้งหมด เพราะเมื่อพิจารณาดูให้ถ้วนถี่แล้ว เป็นปัญหาตั้งแต่องค์ความรู้การผังเมืองเอง หน่วยงานที่รับผิดชอบ การจะแก้ไขเพียงตัวบทกฎหมาย เพิ่มองค์ประกอบเพิ่มรายละเอียดของผังไปเท่าไหร่ ก็เชื่อได้ว่าไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่สั่งสมมาได้ เพราะ wrong track มาแต่ต้นแล้ว
หัวใจสำคัญคือการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น งานผังเมืองเป็นภารกิจของท้องถิ่นโดยแท้ หากยังอยู่ในส่วนกลางจะเป็นลักษณะของ Function ซึ่งไม่ใช่ธรรมชาติของผังเมืองที่ต้องบูรณาการไปทุกส่วนทุกมิติ ลักษณะแบบพื้นที่หรือ Area จึงเป็นคำตอบที่ใช่กว่ามาก การกระจายอำนาจที่ทำในปี 2542 ไม่ถือเป็นการกระจายอำนาจที่แท้จริงเพราะให้ไปเพียงหน้าที่ แต่งบประมาณ และอำนาจในการตัดสินใจยังอยู่ในส่วนกลางทั้งสิ้น
องค์กรส่วนกลางและนักวิชาการสิ่งแวดล้อมมองการกระจายอำนาจผังเมืองสู่ท้องถิ่นเป็นเรื่องสุ่มเสี่ยง อาจจะด้วยประสบการณ์ที่ท้องถิ่นมักมองผังเมืองเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาจึงมีแนวโน้มที่จะเลือกการเติบโตทางเศรษฐกิจมากกว่าประเด็นความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมและสังคม แต่นั่นก็เพราะงานผังเมืองปัจจุบันมีแต่ผังสีการใช้ที่ดินเป็นเอกเทศไปจากมิติด้านอื่นๆ อย่างที่กล่าวมาแล้วข้างต้น และหนำซ้ำกระบวนการออกหรือแก้ไขกฎหมายค่อนข้างล่าช้า ทำให้ท้องถิ่นไม่อยากสร้างเงื่อนไขในพื้นที่มากนัก
เมื่อมีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น กระบวนการออกกฎหมายจึงควรทำให้กระชับและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น การพิจารณาใช้ข้อบัญญัติท้องถิ่นเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ การอนุมัติผังควรเบ็ดเสร็จที่จังหวัดไม่ใช่ในส่วนกลาง เว้นแต่มีความขัดแย้งหรือมีความเห็นต่างกันอย่างมากระหว่างส่วนภูมิภาคและท้องถิ่น หรือแม้แต่การวางผังเมืองของส่วนกลางเองอาจต้องพิจารณานำประกาศกระทรวงเข้ามาใช้ มากกว่าการเป็นกฎกระทรวงที่ใช้เวลามากเกินไป
ปัญหาองค์กรบูรณาการ
สำหรับองค์กรด้านการผังเมือง นอกจากคืนอำนาจการวางผังสู่ท้องถิ่นให้เป็นองค์กรขับเคลื่อนหลักด้านผังเมืองโดยแท้แล้ว ควรตั้งสำนักงานการผังเมืองแห่งชาติขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรี เป็นการพัฒนาโมเดลแบบเดียวกับสํานักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ โดยใช้อาคารเดิมกรมการผังเมืองถนนพระรามที่ 9 พร้อมคัดเลือกบุคลากรหัวกะทิเข้ามาจำนวนหนึ่ง เพื่อบูรณาการงานผังเมืองข้ามกระทรวง ทบวง กรม ดูแลผังเชิงนโยบายและสร้างมาตรฐานแกนกลางด้านผังเมืองโดยเฉพาะ
บุคลากรนอกจากนั้นให้อยู่ในกรมโยธาธิการและผังเมืองทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคตามปกติเพื่อปฏิบัติตามนโยบายของสำนักงานการผังเมืองแห่งชาติ และทำหน้าที่พี่เลี้ยงให้กับท้องถิ่นในช่วงเปลี่ยนผ่าน ตลอดจนทำหน้าฝ่ายเลขานุการของจังหวัดในการนำเสนอผังเมืองของท้องถิ่น ซึ่งหากทำเช่นนี้แล้วจะเป็นการบริหารจัดการไม่ให้มีการเพิ่มบุคลากร การก่อสร้างอาคารสถานที่ของภาครัฐโดยไม่จำเป็นอีกด้วย
เริ่มต้นสังคายนากัน
นายกรัฐมนตรีเคยพูดให้ความสำคัญกับการปฏิรูปผังเมืองอย่างมาก เพราะเมืองเป็นเครื่องจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ผังเมืองหรือธรรมนูญเมืองจะทำหน้าที่บูรณาการให้ทุกหน่วยงานมีทิศทางร่วมกัน ทั้งไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ ถนน ขนส่งมวลชน ตรงไหนจะพัฒนา ตรงไหนอนุรักษ์ หรือตรงไหนจะสงวนเก็บรักษาไว้ โดยหากไม่มีการวางผังเมืองอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพแล้ว ปัญหาต่างๆ ย่อมตามมา เช่น น้ำท่วมเพราะปล่อยให้ตั้งถิ่นฐานขวางทางน้ำ มลพิษจากโรงงานในพื้นที่อยู่อาศัย ความขัดแย้งระหว่างชุมชนกับอุตสาหกรรม การจราจรติดขัด ตลอดจนปัญหาด้านการให้บริการสาธารณูปโภค สาธารณูปการต่างๆ ที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชนจากการเติบโตทางเศรษฐกิจ
แต่การผังเมืองไทยโดยตัวเองแล้ว ยังมีเรื่องให้รื้อร้างเปลี่ยนแปลงจำนวนมาก และไม่อาจแก้ไขได้เพียงการปรับปรุงกฎหมายการผังเมืองเท่านั้น งานภายในคือองค์ความรู้ วิธีคิด วิธีวางผังจำเป็นต้องพัฒนาใหม่ทั้งหมด การบริหารจัดการที่ไม่เป็นมืออาชีพ การวางบทบาทหน้าที่ของกรรมการแต่ละชุดแต่ละชั้นไม่ชัดเจน กระบวนการการออกกฎหมายที่ล่าช้าไม่ทันต่อสถานการณ์ และที่สำคัญที่สุดยังหวงแหนอำนาจไว้ที่ส่วนกลางอย่างเสมอต้นเสมอปลาย ซึ่งย่อมนำไปสู่ความล้มเหลวไร้น้ำยาของการผังเมืองไทยไปอีกแสนนาน ด้วยเหตุนี้เพื่อให้การผังเมืองเป็นเสาหลักที่พึ่งด้านคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างที่อารยะชนประเทศที่พัฒนาแล้วใช้กัน จึงควรต้องพิจารณาตั้งมั่นร่วมกันสังคายนานับแต่วันนี้
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ไหนล่ะปฏิรูปผังเมือง? https://prachatai.com/journal/2017/07/72577 [1]
ทวงสัญญานายกฯจะปฏิรูปผังเมือง ติดแท็ก 'ออเจ้าได้โปรดทบทวน' http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/795162 [2]
สปท.เผยส่งข้อเสนอปฏิรูปให้รัฐแล้ว 63 ฉบับ พร้อมชงออก ก.ม. 40 ฉบับ https://www.thairath.co.th/content/640336 [3]
สปท.เห็นชอบรายงานปฏิรูปผังเมือง154:2เสียง https://www.sanook.com/news/2015338/ [4]
เกี่ยวกับผู้เขียน: ผศ.ดร.นิคม บุญญานุสิทธิ์ เป็นรองคณบดีฝ่ายวิชาการและวิจัย คณะศิลปกรรมและออกแบบอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชมงคลอีสาน นครราชสีมา
| ['บทความ', 'เศรษฐกิจ', 'สังคม', 'คุณภาพชีวิต', 'นิคม บุญญานุสิทธิ์', 'การวางผังเมือง'] |
https://prachatai.com/print/79338 | 2018-10-28 15:22 | ประชุมใหญ่ 'เพื่อไทย' มติไม่เปลี่ยน 'หัวหน้า-เลขาธิการพรรค' | ประชุมใหญ่วิสามัญสมาชิกพรรคเพื่อไทย มีมติเลือก 'พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์' เป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทยเหมือนเดิม เช่นเดียวกับ 'ภูมิธรรม เวชยชัย' ยังเป็นเลขาธิการพรรค 'สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์' เป็นประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรค 'น.ต.ศิธา ทิวารี' เป็นผู้อำนวยการพรรค 'ชัชชาติ' ร่วมประชุมแต่ยืนยันไม่รับทุกตำแหน่ง เหตุยังเป็นผู้บริหารเอกชนอยู่
28 ต.ค. 2561 ในการประชุมใหญ่พรรคเพื่อไทย (พท.) สมัยวิสามัญ ครั้งที่ 1 ในวันนี้ มีวาระการเลือกหัวหน้าพรรค และคณะกรรมการบริหารพรรค โดยที่ประชุมใช้วิธีการลงคะแนนโหวตลับ ซึ่งผลปรากฏว่า ที่ประชุมเลือก พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ รักษาการหัวหน้าพรรค ให้เป็นหัวหน้าพรรคเหมือนเดิม ส่วนรองหัวหน้าพรรค 4 คน ประกอบด้วย นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง, นายปลอดประสพ สุรัสวดี, นายเกรียง กัลป์ตินันท์ และ พล.ต.ท.สมศักดิ์ จันทะพิงค์
ขณะที่ตำแหน่งเลขาธิการพรรคยังคงเป็นนายภูมิธรรม เวชชยชัย เช่นเดิม และรองเลขาธิการพรรค 3 คน ประกอบด้วย นายดนุพร ปุณณกันต์, นางสาวอนุตมา อมรสิวัฒน์ และ นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล ส่วนตำแหน่งโฆษกพรรคเป็นของนางลดาวัลย์ วงศ์ศรีวงศ์ ส่วนคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เป็นประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรค และ น.ต.ศิธา ทิวารี เป็นผู้อำนวยการพรรค
'ชัชชาติ' ร่วมประชุมพรรคเพื่อไทยเลือก หน.-กรรมการบริหารพรรค ยืนยันไม่รับทุกตำแหน่ง เหตุยังเป็นผู้บริหารเอกชน
วันเดียวกันนี้ (28 ต.ค.) สำนักข่าวไทย [1] รายงานว่านายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวก่อนเข้าร่วมประชุมเพื่อเลือกหัวหน้าพรรคและคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยชุดใหม่ ว่ามาในฐานะสมาชิกพรรคเพื่อไทยที่ต้องเข้าร่วมประชุมเพื่อใช้สิทธิออกคะแนนเสียง
ส่วนที่ว่าหากที่ประชุมเสนอชื่อให้เข้ารับตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งในคณะกรรมการบริหารพรรคจะรับหรือไม่ นายชัชชาติกล่าวว่าไม่รับตำแหน่งเพราะขณะนี้ยังเป็นผู้บริหารบริษัทเอกชนทำให้ไม่มีเวลาอย่างไรก็ตามพร้อมช่วยงานต่างๆ ของพรรคเต็มที่รวมถึงให้คำแนะนำในข้อกฎหมาย นายชัชชาติกล่าวถึงกระแสข่าวเป็นหนึ่งในแคนดิเดตหัวหน้าพรรคเพื่อไทยและรายชื่อนายกรัฐมนตรีในส่วนของพรรคเพื่อไทยว่าไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ให้ข่าวแต่ยืนยันไม่ได้มาจากตนอย่างแน่นอน และเป็นเรื่องของอนาคต
| ['ข่าว', 'การเมือง', 'พรรคเพื่อไทย'] |
https://prachatai.com/print/79340 | 2018-10-28 15:57 | จุดอ่อนของระบบจัดสรรปันส่วนผสมของไทย | ระบบจัดสรรปันส่วนผสมของไทยที่จะใช้เลือกตั้งปี 2562 นี้ ที่จริง คือ ระบบผสมของเยอรมนีตามกฎหมายเลือกตั้งปี 1949 คือ ใช้คะแนน ส.ส.เขตคำนวณจำนวนเก้าอี้ ส.ส.รวมและ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ แต่ไม่ให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์โดยตรง และให้มีบัตรเลือกตั้ง ส.ส.เขตเพียงใบเดียว ส่วนที่ต่างกันมีเพียงไทยไม่ได้กำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำ 5% แก่พรรคการเมืองที่จะได้เก้าอี้ ส.ส. แต่ทั้งนี้ควรระลึกไว้ด้วยว่ากฎหมายเลือกตั้งปี 1949 นี้เป็นกฎหมายเลือกตั้งชั่วคราวเท่านั้น (หลังจากนั้นเมื่อปี 1953 และ 1956 เยอรมนีก็เปลี่ยนกฎหมายเลือกตั้งเป็นฉบับถาวรและใช้มาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน)
ระบบจัดสรรปันส่วนผสมของไทยมีจุดอ่อนที่สำคัญ 3 ประการ ดังนี้
ประการที่หนึ่ง จุดอ่อนจากการใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว และให้ผู้เลือกตั้งเลือกได้เฉพาะ ส.ส.เขต แต่ไม่ให้เลือก ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ใช้วิธีคำนวณแทน ปัญหาที่จะเกิดจากกรณีนี้ ได้แก่
(1) ส.ส.เขตมีความสำคัญมาก เพราะเป็นตัวชี้ขาดการเลือกตั้ง ทั้งจำนวน ส.ส.เขตที่พรรคการเมืองจะได้ และจำนวน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ซึ่งเกิดจากการนำคะแนน ส.ส.เขตไปคิดคำนวณ ดังปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ คือ ผู้สมัครต่างต้องการลงสมัคร ส.ส.เขต ทำให้พรรคมีปัญหาในการคัดผู้สมัคร เพราะมีผู้สมัคร ส.ส.เขตมากจนล้น
(2) การแข่งขัน ส.ส.เขตจะรุนแรงมาก สืบเนื่องจาก ส.ส.เขตมีความสำคัญมาก ดังนั้น พรรคการเมืองจะทุ่มทุนและทรัพยากรทุกอย่างเข้าสู่สนามการแข่งขัน ส.ส.เขต เช่น ต้องส่งสมัครให้ครบ 350 เขต ต้องคัดคนที่มีความนิยมในพื้นที่ หรือใช้วิธีลัดดึงเอาคนที่ได้รับความนิยมอยู่แล้วเข้าพรรค รวมทั้งวิธีการอื่นๆ ทั้งใต้ดินและบนดิน
(3) วิธีการแข่งขันจะเปลี่ยนไป เนื่องจากการแข่งขัน ส.ส.เขตจะขึ้นอยู่กับความเป็นพรรคพวก (partisanship) สายสัมพันธ์ส่วนตัว และผลงานของผู้สมัคร ส.ส.เขตในพื้นที่ ซึ่งเกี่ยวข้องกับผลงานและนโยบายของพรรคน้อย เพราะไม่ได้เลือกพรรคโดยตรงแบบการเลือกด้วยบัตรสองใบ ผลงานกับนโยบายของพรรคจึงมีผลทางอ้อมหรือเท่ากับลดความสำคัญลง เพื่อแก้ปัญหานี้พรรคการเมืองจะเปลี่ยนไปใช้วิธีการสื่อสารมวลชน เพื่อสร้างการรับรู้แนวกว้างแทน โดยเฉพาะการสร้างพื้นที่ข่าวผ่านทางสื่อ และการสร้าง “จุดต่าง” หรือ “จุดแตกหัก” กับพรรคอื่นหรือฝ่ายตรงกันข้าม
(4) ผู้เลือกตั้งไม่สามารถใช้วิธีการเลือกตั้งเชิงกลยุทธ์ (strategic vote) ได้ วิธีการเลือกตั้งเชิงกลยุทธ์มีหลายแบบ สำหรับกรณีบัตรเลือกตั้งสองใบ ผู้เลือกตั้งสามารถเลือกผู้สมัครพรรคหนึ่ง และเลือกเบอร์พรรคอีกพรรคหนึ่งได้ แต่เมื่อมีบัตรเลือกตั้งใบเดียว ผู้เลือกตั้งจะถูกบังคับให้เลือก ส.ส.เขตอย่างเดียว หรือที่ทางวิชาการเรียกว่า “sincere vote”
(5) ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ลดความสำคัญลง เนื่องจากผู้เลือกตั้งไม่ได้ไปออกเสียงลงคะแนนเลือกพรรค โดยเอาประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง และคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ว่าพรรคใดจะได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์กี่ที่นั่งเหมือนเมื่อก่อน นอกจากนั้น ยังมีเหตุผลมาจากวิธีการคำนวณแบบใหม่ซึ่งยอกย้อน และคาดคะเนได้ยากว่าแต่ละพรรคจะได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์กี่คน
(6) พรรคควบคุม ส.ส.ได้น้อยลง เนื่องจาก ส.ส.เขตจะเน้นตัวบุคคล เมื่อตัวบุคคลในแต่ละเขตมีความสำคัญ พรรคหรือผู้นำพรรคก็ย่อมมีความสำคัญลดลง และกระบวนการสรรหาผู้สมัคร ซึ่งพรรคเคยใช้ควบคุมปาร์ตี้ลิสต์อย่างได้ผลนั้น จะใช้ได้น้อยลง เพราะผู้สมัครปาร์ตี้ลิสต์ในระบบใหม่เป็น “พวกเสี่ยง” ไม่ใช่ “พวกชัวร์” ที่จะได้เก้าอี้เหมือนเมื่อก่อน
ประการที่สอง จุดอ่อนที่เกิดจากวิธีการคำนวณหาเก้าอี้ ส.ส. ระบบจัดสรรปันส่วนใช้วิธีการคำนวณหาเก้าอี้ ส.ส.ใหม่ โดยมีสูตร 3 สูตร และจะเกิดผลที่ตามมา คือ
สูตรที่ 1
เก้าอี้ ส.ส.รวมของพรรค ก. – เก้าอี้ ส.ส.เขตของพรรค ก. = เก้าอี้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ของพรรค
สูตรที่ 2
คะแนนเสียงต่อหนึ่งเก้าอี้ ส.ส. = คะแนนเสียงทั้งหมด / 500
สูตรที่ 3
จำนวนเก้าอี้ ส.ส.รวมของพรรค ก. = คะแนนเสียงของพรรค ก./คะแนนเสียงต่อหนึ่งเก้าอี้ ส.ส.
(1) ความเป็นสัดส่วน (proportionality) หายไป ความเป็นสัดส่วนเป็นเกณฑ์อันหนึ่งของระบบการเลือกตั้งที่มีคุณภาพ เพราะเป็นตัวสะท้อนถึงการกระจายคะแนนไปทั่วทุกกลุ่มมากกว่ากระจุกตัว โดยเฉพาะการเพิ่มโอกาสคนกลุ่มน้อย
นักรัฐศาสตร์สาขาการเลือกตั้งนิยมใช้ดัชนีวัดความไม่เป็นสัดส่วน เพื่อสะท้อนถึง “ความไม่ยุติธรรม” (unfair) ในการเลือกตั้ง เช่น Gallagher Index เป็นต้น ปัญหาที่จะเกิด คือ ระบบจัดสรรปันส่วนของไทยจะสร้างความไม่ยุติธรรมเป็นอย่างมาก เนื่องจากสามารถคงความเป็นสัดส่วนได้เฉพาะตอนเป็นจำนวน ส.ส.รวมของพรรค แต่เมื่อเอา ส.ส.เขตไปหักออก และที่เหลือเป็น ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์แล้ว ความเป็นสัดส่วนของ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ในระบบเดิมจะหายไป เนื่องจาก ส.ส.เขตมาจากระบบเสียงข้างมาก ไม่ใช่ระบบสัดส่วน ดังนั้น พรรคที่ได้คะแนนเสียงมาก อาจได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์น้อยก็เป็นไปได้
(2)เก้าอี้ ส.ส.เขตมีแนวโน้มที่จะผกผันกับเก้าอี้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ เพราะเก้าอี้ ส.ส.เขตเป็นตัวหักออกจากเก้าอี้ ส.ส.รวมของพรรค (ดูสูตรที่หนึ่ง) ยิ่งพรรคได้ ส.ส.เขตมาก ก็ยิ่งมีแนวโน้มที่จะเหลือ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์น้อย แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความแปรปรวนภายในระหว่างพรรคต่างๆ คือ คะแนนเสียงของพรรคเรากับพรรคอื่นด้วย ถ้าคะแนนเสียงของพรรคเราทิ้งขาดจากพรรคอื่นมากๆ เราก็อาจได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์มากด้วย แต่ถ้าพรรคเรากับพรรคอื่นๆ คะแนนไม่ทิ้งกันมาก พรรคอื่นจะเข้ามาเฉลี่ยเก้าอี้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์มาก วิธีการแก้ปัญหานี้จึงมีทางเดียว คือ การสร้างความนิยมถล่มทลายให้เกิดกับพรรคเราให้ได้
(3)จูงใจให้พรรคเกิดใหม่เข้าสู่การเลือกตั้งมาก เมื่อเก้าอี้ ส.ส.คำนวณยาก เพราะจะยังคำนวณไม่ได้จนกว่าจะรู้ตัวแปรอย่างน้อย 3 ตัว คือ (1) คะแนนของพรรคเรา (2) คะแนนของพรรคอื่นๆ ที่เหลือ และ
(3) จำนวนประชาชนที่มาใช้สิทธิเลือกตั้ง การเอาคะแนนเก่ามาคำนวณ เช่น ปี 2554 คำนวณได้ 7 หมื่นคะแนนต่อหนึ่งเก้าอี้ ส.ส. จึงสร้างความ “ฝันหวาน” ให้กับพรรคการเมืองใหม่ๆ เพราะถ้าได้แค่เขตละ 200 คะแนน คูณด้วย 350 เขต ก็ได้ 7 หมื่นคะแนนแล้ว
(4)สร้างความสับสนให้กับผู้เลือกตั้ง เมื่อมีพรรคใหม่เข้าสู่เลือกตั้งมาก เป้าหมายการแบ่งคะแนนและเก้าอี้จะมีมาก การหาเสียงจะซ้ำซ้อนและปนเปกัน จนผู้เลือกตั้งอาจมึนงงไปหมด เช่น คนอาจรู้จักพรรคหรือหัวหน้าพรรคไม่ครบทุกพรรค เว้นแต่พรรคที่เด่นจริงๆ หรือพรรคที่มีผู้เลือกตั้งเป็นกลุ่มแฟนพันธุ์แท้จริงๆ
ประการที่สาม จุดอ่อนจากการหาพันธมิตร (alliance) และการเกิดรัฐบาลผสม (coalition government) ถ้าไม่มีพรรคหนึ่งพรรคใดได้คะแนนเสียงถล่มทลาย ระบบจัดสันปันส่วนนี้จะเป็นเหตุให้ไม่มีพรรคการเมืองใดได้เสียงข้างมาก ทำให้เกิดการหาพันธมิตรและการต่อรองกันอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน และในที่สุดจะได้ “รัฐบาลผสม”
ปัญหาตามมา คือ คนไทย (หรือใครบางคน) จะทนกับการต่อรองและการเป็นรัฐบาลผสมได้นานแค่ไหน!!!!
| ['บทความ', 'การเมือง', 'ระบบจัดสรรปันส่วน', 'การเลือกตั้ง', 'เรืองวิทย์ เกษสุวรรณ'] |
https://prachatai.com/print/79341 | 2018-10-28 16:06 | 'ชาติ ภิรมย์กุล' เสียชีวิตแล้วหลังเข้ารักษาตัวตั้งแต่ต้นเดือน ต.ค. 2561 | 'ชาติ ภิรมย์กุล' นักเขียนชื่อดัง เจ้าของหนังสืออารมณ์ดีหลายเล่ม เสียชีวิตแล้วที่โรงพยาบาลศิริราช หลังจากเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลตั้งแต่เมื่อวันที่ 5 ต.ค. 2561 ด้วยภาวะติดเชื้อที่ปอดและในกระแสเลือด
28 ต.ค. 2561 เว็บไซต์เดลินิวส์ [1] รายงานว่ากลางดึกคืนวันที่ 27 ต.ค. 2561 ที่ผ่านมา 'ชาติ ภิรมย์กุล' นักเขียนชื่อดัง เจ้าของหนังสืออารมณ์ดีหลายเล่ม อาทิ เม้าท์จนจุกสนุกไปกับชาติ, คนเลี้ยงหมา, เมียนอกบ้าน, เป็นมะเร็งแล้วไงต่อ, ปั่นกินปั่นเที่ยว และตามกลิ่นกาแฟ รวมทั้งได้เขียนคอลัมน์ 'วิตามินใจ' ในนิตยสารขวัญเรือน ได้เสียชีวิตลงแล้ว
โดยนายฐิติวัฒน์ ภิรมย์กุล หรือ 'ฟิล์ม' ลูกชายนักเขียนมากประสบการณ์ ได้โพสต์ข้อความแจ้งข่าวร้ายลงใน เพจเฟสบุ๊ค [2] ว่าผู้เป็นบิดาได้เสียชีวิตลงแล้ว ด้วยภาวะติดเชื้อที่ปอดและในกระแสเลือด เมื่อเวลา 20.21 น. ที่โรงพยาบาลศิริราช หลังจากเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลตั้งแต่เมื่อวันที่ 5 ต.ค. 2561 เนื่องจากปอดติดเชื้อขั้นรุนแรง ซึ่งในช่วงปลายปี 2559 ชาติได้รับการวินิจฉัยว่า ป่วยเป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว แต่พยายามใช้ความอารมณ์ดี อารมณ์ขัน ต่อสู้กับโรคร้ายมาโดยตลอด
| ['ข่าว', 'สังคม', 'วัฒนธรรม', 'คุณภาพชีวิต', 'ชาติ ภิรมย์กุล', 'นักเขียน'] |
https://prachatai.com/print/79343 | 2018-10-28 17:15 | ปอท.คาดได้ข้อสรุปสัปดาห์หน้า 'ประเทศกูมี' ผิดหรือไม่ผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ | ปอท.ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ เพลงประเทศกูมีว่าเข้าข่ายความผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ หรือไม่คาดได้ข้อสรุปสัปดาห์หน้า ย้ำยังไม่ได้เรียกตัวหรือจับกุมตัวนักร้องและผู้เกี่ยวข้องมาสอบสวน วันนี้ (28 ต.ค. เวลา 17.00 น.) ยอดคนชม MV ในยูทูปทะลุ 14 ล้านแล้ว 'RAD' เผยได้รับคำแนะนำจากทีมกฎหมายว่าอาจต้องปิดคอมเมนต์ในยูทูป
จากการเข้าถึงเมื่อวันที่ 28 ต.ค. 2561 เวลาประมาณ 17.00 น. พบว่ายอดคนชม MV เพลงประเทศกูมีในยูทูปมากกว่า 14 ล้านครั้งแล้ว
28 ต.ค. 2561 สำนักข่าวไทย [1] รายงานว่าพันตำรวจเอกศิริวัฒน์ ดีพอ รองโฆษกกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) เปิดเผยกรณีเพลงประเทศกูมี ว่ากรณีนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน รักษาราชการแทนผู้บังคับการ ปอท. มีคำสั่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบรายละเอียดของเพลง เพื่อพิจารณาว่าเข้าข่ายความผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์หรือไม่ คาดสัปดาห์หน้าจะได้ข้อสรุปหากเป็นความผิด ปอท.จะออกหมายเรียกนักร้องและผู้เกี่ยวข้องกับเพลงทั้งหมดมาสอบสวน แต่ถ้าไม่เข้าข่ายความผิดก็ไม่ต้องดำเนินการใดๆ พร้อมกับย้ำว่าขณะนี้ ปอท.ยังไม่ได้เรียกตัวหรือไปจับกุมตัวนักร้องและผู้เกี่ยวข้องมาสอบสวน
RAD ยืนยันยังปลอดภัย ไม่มีการเข้าจับกุมจาก จนท.รัฐ ตามข่าวลือ [2]iLaw: 7 เรื่องจริง ที่ประเทศกูมี [3]ใบตองแห้ง: ประเทศ Ku มี [4]ทนายวิญญัติ ชี้ ตร.จ่อใช้ พ.ร.บ.คอมฯ ม.14 เล่นงานแร็ป 'ประเทศกูมี' ผิดเจตนารมณ์ของ กม. [5]‘ประเทศกูมี’ ขึ้นอันดับหนึ่งเทรนด์ทวิตเตอร์ ด้าน ปอท. ชี้อาจเข้าข่ายผิด พ.ร.บ. คอมฯ [6]‘ประเทศกูมี’ แร็ปต้านเผด็จการ สัมภาษณ์กลุ่มแร็ปเปอร์และผู้กำกับมิวสิควิดีโอ [7]มาแล้ว! MV 'ประเทศกูมี' แร็ปสะท้อนสังคมการเมือง กับฉากหลัง 6 ตุลา 19 [8]'ประเทศกูมี' อะไรบ้าง ฟังแร็ปสะท้อนสังคมการเมือง กลุ่ม RAD [9]
ถูกอัพโหลดลงเว็บเก็บไฟล์แบบ decentralized แล้ว
ด้านข่าว สดออนไลน์ [10] รายงานว่าล่าสุดมิวสิควีดีโอเพลงแร็พชื่อดังของ Rap Against Dictatorship อย่างเพลง ‘ประเทศกูมี’ นั้นได้ถูกอัพโหลดลงเว็บเก็บไฟล์แบบ decentralized นาม ipfs.io และนำเอาลิงค์นั้นไปแปะไว้ใน blockchain ของ Zcoin แล้วเรียบร้อย
อ้างอิงจากคุณหนึ่ง ผู้ก่อตั้ง Zcoin และ Satang ซึ่งได้ให้สัมภาษณ์กับทางสยามบล็อกเชนว่ามีคนที่ไม่ทราบชื่อได้ทำการอัพโหลดไฟล์วีดีโอดังกล่าวลงไปในเว็บ ipfs.io หรือเว็บเก็บไฟล์แบบ decentralized ที่จะมีการเก็บไฟล์แบบแยกไว้ทั่วโลก ทำให้ไฟล์ที่ถูกอัพบนเว็บดังกล่าวนั้นไม่สามารถถูกลบได้
อีกทั้งจะยังไม่สามารถถูกบล็อกเพื่อไม่ให้เข้าถึงได้อีกด้วย ที่สำคัญ ลิงค์ของไฟล์ดังกล่าวนั้นยังได้ถูกเก็บไว้บน blockchain ของเหรียญคริปโตด้าน privacy ฝีมือคนไทย ที่จะปกปิดข้อมูลส่วนตัวของผู้ทำธุรกรรมและเส้นทางการทำธุรกรรมอีกด้วย ซึ่งข้อมูลดังกล่าวได้ถูกเก็บไว้บน Block Height ที่ 111089 ของเหรียญ Zcoin โดยคุณหนึ่งกล่าวว่า
“จะไม่รู้ใครเป็นคนโพส ข้อมูลจะไม่หาย และจะไม่โดนบล็อกเพื่อไม่ให้เข้าถึงครับ เพราะด้วย mint spend ของ zcoin จะไม่รู้ว่า link id บน ipfs นี้มาจากไหนครับ แล้วเป็น public blockchain ทำให้ลบ link ไม่ได้ ส่วน ipfs ก็ทำให้ลบวีดีโอไม่ได้ ซึ่งทั้งคู่เป็น distributed เลย block ไม่ได้”
เมื่อถามว่าใครเป็นผู้โพสวีดีโอดังกล่าวลงบนเว็บ เขาได้กล่าวว่า “มีคนทำครับ เราแค่เสนอข่าว ไม่รู้ว่าใคร” และเมื่อถามว่ารู้ได้อย่างไรว่ามีไฟล์ดังกล่าวที่ถูกอัพลง คุณหนึ่งเผยว่าลักษณะคล้ายกับข่าวที่มีคนเอาวีดีโอเปิดเผยรัฐบาลจีนไปโพสลงในเว็บดังกล่าว ซึ่งทำให้เขาสงสัย และเปิดไฟล์ดังกล่าวขึ้นมาดู
เว็บ ipfs.io เป็นเว็บแบบ peer-to-peer hypermedia protocol ที่เมื่อผู้ใช้งานอัพโหลดไฟล์ขึ้นไปแล้ว ไฟล์ดังกล่าวจะถูกนำไป distributed หรือเผยแพร่อยู่บนเครือข่าย blockchain ที่อยู่ทั่วโลก (ประมาณ 4,000 node ทั่วโลก อ้างอิงจากคุณหนึ่ง) ส่งผลทำให้ไม่สามารถถูกลบหรือแก้ไขได้ จนกว่าเครือข่ายทั่วโลกนั้นจะล่มพร้อมกันทั้งหมด 100% และยังไม่สามารถถูก block ให้เข้าถึงไม่ได้อีกด้วย
RAD เผยอาจต้องปิดคอมเมนต์ในยูทูป
28 ต.ค. 2561 แร็ปเปอร์กลุ่ม 'Rap Against Dictatorship' หรือ 'RAD' เจ้าของเพลง 'ประเทศกูมี' โพสต์ผ่าน เฟสบุ๊คแฟนเพจของกลุ่ม [11] เมื่อเวลาประมาณ 14.00 น. ระบุว่ารับคำแนะนำจากทีมกฎหมายอาจต้องปิดคอมเมนต์ของเพลงประเทศกูมีในยูทูป
(English Below)
หลังจากเมื่อวานเราได้คุยกับทีมกฎหมายจาก ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เราได้ทราบถึงข้อควรกังวลบางอย่าง ซึ่งก็คือประเด็น Comments ใน YouTube ที่ตอนนี้สูงถึง เจ็ดหมื่นกว่า Comments ไปแล้ว.ในจำนวนนั้น มีหลายๆความเห็นได้ละเมิดและขัดกับหลักกฎหมายตั้งแต่เล็กน้อย ไปจนถึงร้ายแรง ซึ่งเราเองตามดูแลได้ไม่หมด .เราจึงได้รับคำแนะนำจากทีมกฎหมายว่า ให้ปิดส่วนของช่องแสดงความเห็นออกไปก่อน เพราะไม่เช่นนั้น มันจะเป็นจุดที่เราสามารถถูกใช้โจมตีได้ และไม่เป็นผลดีกับเป้าหมายของกลุ่ม.หวังว่าทุกท่านจะทราบเหตุผลและเข้าใจพวกเรานะครับ
ขอบพระคุณทุกท่านอย่างสูงอีกครั้งครับ
______________________________
After consulted with the legal team from ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน we have some concern about comments in youtube which is now more than 70k comments..In that number, several comments are against and violated not only to petty laws but also to crimial law. .So the legal team suggested us to turn off commenting, otherwise, these risky comments might affect us in the future..We hope you will informed and understand our reason and concern.
Best regards.
#RapAgainstDictatorship#ประเทศกูมี
| ['ข่าว', 'การเมือง', 'สังคม', 'วัฒนธรรม', 'คุณภาพชีวิต', 'เพลงประเทศกูมี', 'พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์', 'ปอท.', 'Rap Against Dictatorship', 'RAD', 'ประเทศกูมี'] |
https://prachatai.com/print/79342 | 2018-10-28 16:40 | คาดสงครามการค้ากระทบภาคส่งออกไทยปี 2562 | คาดสงครามการค้า 'สหรัฐอเมริกา-จีน' ลุกลามสู่การแข่งขันลดค่าเงินมากขึ้น กระทบเศรษฐกิจการค้าโลกและภาคส่งออกไทยปี 2562 ความรุนแรงของสงครามทางการค้าถูกยกระดับขึ้น
28 ต.ค. 2561 ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้กล่าวถึงผลกระทบของสงครามการค้าสหรัฐอเมริกากับจีนได้ลุกลามสู่การแข่งขันการลดค่าเงินว่ากระทรวงการคลังสหรัฐอเมริกาเปิดเผยรายงานนโยบายเศรษฐกิจและอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศ (International Economic and Exchange Rate Policy) ล่าสุดระบุว่า จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เยอรมันและสวิตเซอร์แลนด์ เป็นประเทศที่ถูกจับตามองนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน ขณะที่รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ กล่าวหาว่าจีนยังขาดความโปร่งใสในการดำเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน การที่เงินหยวนอ่อนค่าลงในช่วงที่ผ่านมากว่า 7% เมื่อเทียบกับดอลลาร์ตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2561 สร้างความกังวลให้กับสหรัฐอเมริกาเป็นอย่างมาก การแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์และการอ่อนค่าของสกุลเงินหยวนและสกุลเงินอื่นๆ ที่ถูกจับตาจะส่งผลให้สงครามการค้าถูกยกระดับให้รุนแรงขึ้น เกิดความไม่สมดุลต่อระบบเศรษฐกิจและการค้าโลก อาจจะเกิดการแข่งขันการลดค่าเงินมากขึ้นเพื่อกระตุ้นการส่งออกภายในประเทศ หลังจากผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนเริ่มส่งผลกระทบต่อภาคส่งออกของหลายประเทศชัดเจนขึ้น
ประเทศต่างๆ หันไปใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจภายในประเทศโดยการรักษาค่าเงินอ่อนค่า จีนมีแนวโน้มหันมาใช้อัตราแลกเปลี่ยนในการกระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้นหลังได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า หากประเทศต่างๆ แข่งขันกันลดค่าเงินโดยมีเป้าหมายหลักเพื่อกระตุ้นส่งออกและส่งเสริมการขยายตัวทางเศรษฐกิจภายในประเทศย่อมนำไปสู่ความเสี่ยงในการเกิดสงครามค่าเงินและยกระดับปัญหาสงครามการค้าให้ซับซ้อนขึ้น จากการศึกษาของ Levy-Yeyati, Sturzenegger and Gluzmann พบว่าปริมาณการถือทุนสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างมากแสดงให้เห็นถึงความพยายามของประเทศต่างๆที่ต้องการรักษาค่าเงินของตนให้อยู่ในระดับต่ำ ตลาดการเงินระหว่างประเทศโดยเฉพาะตลาดสินทรัพย์เสี่ยงจะมีมูลค่าลดลง อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นจากกีดกันทางการค้าแต่จะกดดันด้วยการชะลอตัวลงจากอุปสงค์ของตลาดโลก
"หากจีนเลือกตอบโต้สหรัฐฯโดยเทขายพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ จะส่งผลต่อความผันผวนปั่นป่วนในตลาดการเงินโลกไม่น้อยโดยเฉพาะตลาดปริวรรตเงินตราจะมีความผันผัวนสูง ปัจจุบันจีนเป็นประเทศที่ถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ รายใหญ่ที่สุดในโลก คิดเป็นมูลค่า 1.17 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยที่ผ่านมาตัวเลขการถือครองมีการเคลื่อนไหวขึ้นๆ ลงๆ แต่นับจนถึงเดือน ม.ค. 2561 ที่ผ่านมา สัดส่วนการถือครองพันธบัตรสหรัฐฯ โดยรัฐบาลจีนล่าสุดยังคงลดลงต่อเนื่องจีนสามารถเลือกที่จะเทขายสินทรัพย์ในรูปของสกุลเงินดอลลาร์ รวมถึงพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปีขึ้นไป หรือควบคุมค่าเงินหยวนให้อ่อนค่ากว่าความเป็นจริงเพื่อสร้างความได้เปรียบในการส่งออก" ผศ.ดร.อนุสรณ์ ระบุ
ผศ.ดร.อนุสรณ์ ในฐานะอดีตกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย ได้กล่าวถึงข้อเสนอเพื่อลดผลกระทบจากสงครามการค้าสหรัฐฯกับจีนที่อาจนำไปสู่ความเสี่ยงสงครามค่าเงิน ว่าเมื่อเกิดสงครามค่าเงินแล้วไทยไม่ควรเข้าร่วมสงครามค่าเงินด้วยกระโจมเข้าสู่การแข่งขันการลดค่าเงินเพราะไม่ได้ช่วยให้แก้ปัญหาผลกระทบได้ หากจะบริหารจัดการค่าเงินให้อ่อนค่าเพื่อกระตุ้นส่งออกและการเติบโตต้องทำก่อนที่ประเทศอื่นจะดำเนินการและก่อนเกิดสงครามค่าเงิน คาดว่า สงครามค่าเงินเกิดขึ้นแน่และน่าจะทำให้ภาคส่งออกไทยขยายตัวได้ไม่เกิน 3-5% ในปีหน้า (2562) โดยที่ยอดส่งออกและนำเข้าผ่านการสั่งซื้อออนไลน์หรืออีคอมเมิร์ซจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วยและมักจะมีการสำแดงราคาต่ำเพื่อเลี่ยงภาษีกระทบต่อรายได้ของภาครัฐ นอกจากนี้สงครามค่าเงินจะส่งผลทำให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกและระบบการค้าโลกชะลอตัวลงไม่เป็นไปตามการคาดการณ์ล่าสุด
ระบบ Global Supply Chain เครือข่ายการผลิตและการบริหารห่วงโซ่อุปทานแบบโลกาภิวัตน์ไร้พรมแดนจะถูกสั่นคลอนโดยแบ่งแยกออกเป็นสองเครือข่ายใหญ่แทนที่จะเป็นโลกาภิวัตน์หนึ่งเดียว จะแบ่งออกเป็นสองค่าย คือ ค่ายจีนและเครือข่าย กับค่ายสหรัฐฯ และเครือข่าย ไทยต้องวางตำแหน่งทางยุทธศาสตร์เศรษฐกิจระหว่างประเทศให้ดีระหว่างสองเครือข่ายนี้ และควรรักษาดุลยภาพความสัมพันธ์ให้ดีระหว่างสองเครือข่ายด้วย เพราะการตอบโต้ทางเศรษฐกิจในรูปแบบต่างๆจะเกิดขึ้นเรื่อยๆ ประเทศไทยต้องลดผลกระทบด้วยการทำให้เศรษฐกิจภายในมีความเข้มแข็งด้วยการเร่งรัดการลงทุนภาครัฐและสนับสนุนการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชนโดยเฉพาะในส่วนที่จะไปเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและยกระดับผลิตภาพให้สูงขึ้น เพิ่มรายได้ประชาชนกระตุ้นภาคการบริโภคภายในประเทศ ไม่มีความจำเป็นในการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเร็วๆ นี้ และควรเพิ่มสภาพคล่องในระบบการเงิน รวมทั้งต้องทำให้เกิดความมั่นใจต่อกระบวนการเลือกตั้งในประเทศไทยว่าสามารถสะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชนได้อย่างแท้จริงและเป็นไปตามหลักการประชาธิปไตย ผศ.ดร.อนุสรณ์ ทิ้งท้ายว่าสงครามการค้าจะก่อให้เกิดผลเสียต่อเศรษฐกิจการค้าโลกโดยรวม ในระดับประเทศยังไม่มีผลวิจัยที่สรุปได้ชัดเจนว่าการบริหารจัดการให้ค่าเงินอ่อนค่ามากๆจะส่งผลบวกต่อการเติบโตภายในประเทศในระยะยาว การบริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยนและการควบคุมการไหลเข้าไหลออกของเงินทุนจะเป็นมาตรการที่มักใช้ในสงครามค่าเงิน และ ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนนักว่าวิธีการดังกล่าวจะทำให้เกิดผลดีต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ แต่งานวิจัยจำนวนหนึ่งพบว่า การลดลงของรายจ่ายภาครัฐ การเพิ่มขึ้นของระดับการออมและการลดลงของอัตราเงินเฟ้อช่วยทำให้ค่าเงินอ่อนค่าลงและเป็นผลดีต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ แต่ผลดีที่เกิดขึ้นนี้มีขนาดเล็กกว่าผลดีของนโยบายการใช้จ่ายภาครัฐและการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ
| ['ข่าว', 'เศรษฐกิจ', 'ต่างประเทศ', 'อนุสรณ์ ธรรมใจ', 'สงครามการค้า', 'สหรัฐอเมริกา', 'จีน', 'การค้าระหว่างประเทศ'] |
https://prachatai.com/print/79344 | 2018-10-28 19:03 | คิดถึงทนง โพธิอ่าน: จดหมายเปิดผนึกถึงสหภาพการบินไทย |
มหกรรมสหบาทาที่เกิดขึ้นเมื่อสัปดาห์ก่อน คงไม่ได้จำกัดเฉพาะในโลกออนไลน์เท่านั้น ทว่าสหภาพแรงงานเองก็กลัวตกขบวนด้วย หากจะไม่ยื่นเท้าสักเท้าเข้ามาร่วมวงกระทืบนักบินสักป้าบ ก่อนที่จะหมดกระแสไป
การให้สัมภาษณ์ของคุณดำรง ไวยคณี ประธานสหภาพแรงงานฯ [1] ดูเหมือนจะแสดงให้เห็นถึงความไม่เป็นโล้เป็นพายขององค์ความรู้ง่ายๆแบบ Airline 101 และ Labour 101 ซึ่งอาจจะต้องจับเข้าคอร์สเรียนกันใหม่หมด แต่ที่เป็นปัญหามากคือคือสิ่งที่สหภาพแรงงานฯ ควรทำหรือไม่ควรทำ จึงดูเหมือนประธานสหภาพฯ จะแยกบทบาทของตนเองไม่ออก เลยทำให้บทสัมภาษณ์ออกมาราวกับเป็นประธานสมาคมนายจ้างเสียเอง!!!
สหภาพจวกการบินไทยปมที่นั่งนักบิน ลั่นหากต้องการนอนพัก มีห้องแยกแต่ไม่ใช้ [1]
ปธ.สหภาพการบินไทย ย้ำจิตสำนึกกัปตันควรสละที่นั่ง [2]
แถลงการณ์ของสหภาพ เมื่อต้นสัปดาห์ที่บอกว่า
“ถ้าเป็นผมจะเสียสละ ถอยให้ผู้โดยสาร เราได้รับเงินเดือนค่าจ้าง ทุกบาททุกสตางค์จากผู้โดยสาร ไม่ได้บอกว่าเขาทำผิด เขาทำถูกตามระเบียบและสิทธิ์ แต่เขาต้องคิดได้ ต้องมีจิตสำนึกในความเป็นกัปตัน”
อ่านการให้สัมภาษณ์แล้ว ทำให้เกิดคำถามกับประธานสหภาพอยู่ 2 ข้อ
ข้อแรก ท่านกำลังดำรงแหน่งอะไร ระหว่าง นายกสมาคมนายจ้าง หรือ ประธานสหภาพแรงงาน
ข้อสอง ท่านทราบไหมครับว่า “สหภาพแรงงานควรมีบทบาทอย่างไร”
ข้อแรกนั้น ต่อให้เป็นเครื่องไม้เครื่องมือของนายจ้างอย่างฝ่ายประชาสัมพันธ์หรือฝ่ายลูกค้าสัมพันธ์ ก็ยังไม่สามารถตอบคำถามผ่านสื่อในแบบที่ประธานสหภาพฯ ทำได้เลยครับ เพราะสิ่งที่ประธานสหภาพตอบมันหมายถึงความแตกแยกในองค์กรที่สะท้อนว่าแทบจะหาความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันไม่ได้
ข้อที่สอง ประธานสหภาพอาจจะหลงลืมไปว่า สหภาพแรงงานเป็น “องค์กรที่ถูกตั้งขึ้นมาโดยกลุ่มกรรมกร คนงาน หรือพนักงาน (แล้วแต่จะเรียกกันให้สบายใจ แต่สุดท้ายก็คือผู้ใช้แรงงานแลกค่าจ้างจากนายจ้างทั้งหมด) ตามกฎหมายแรงงาน โดยมีการดำเนินการที่เป็นอิสระจากอำนาจรัฐ อำนาจนายจ้าง มีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครอง แสวงหาผลประโยชน์ของลูกจ้างทุกคนที่เแป็นสมาชิก ในเรื่องสภาพการจ้าง เงินเดือน ค่าจ้าง สวัสดิการ สิทธิ ความสะดวกสบาย และความปลอดภัยในการทำงาน อีกทั้งยังมีสิทธิและสามารถมีส่วนร่วมในการบริหารกิจการร่วมกับนายจ้างเพื่อปรับปรุงวิธีการทำงานให้ดีขึ้น เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของคนงาน” นี่คือหัวใจของสหภาพแรงงาน
หน้าที่ของสหภาพแรงงานคือ การกระตุ้นให้พวกเรา (ลูกจ้าง) หันมาช่วยกันปกป้องข้อตกลงตามสภาพการจ้าง รวมไปถึงสิทธิของแรงงานด้วยกันไม่ใช่หรือครับ เพราะไม่ว่าจะเป็นนักบิน ลูกเรือ ช่าง กราวนด์ หรือลูกจ้างแผนกอื่นๆ พวกเราก็ต่างอยู่ในฐานะเดียวกันคือ ‘การเป็นลูกจ้าง / แรงงาน’ ให้กับนายจ้างเหมือนกันไม่ใช่หรือครับ
ครั้งหนึ่งสหภาพแห่งนี้ เคยขึ้นชื่อว่าเป็นกลุ่มสหภาพที่แข็งแกร่งที่สุดไม่ใช่เหรอครับ เคยมีอำนาจต่อรองกับนายจ้างเพื่อกิจกรรมของลูกจ้าง อีกทั้งยังเคยร่วมเรียกร้องให้รัฐบาลรับรองการ สิทธิการรวมตัว สิทธิการเจรจาต่อรอง ตามอนุสัญญาว่าด้วงแรงงานสากลข้อที่ 78, 98 ด้วย ไม่ใช่เหรอครับ
วันนี้เกิดอะไรขึ้นกับสหภาพแรงงานแห่งนี้ครับ การให้สัมภาษณ์ของประธานสหภาพครั้งล่าสุด นอกจากไม่แตะจิตวิญญาณของการจัดตั้งองค์กรลูกจ้างเพื่อลูกจ้างแล้ว ยังแทบไม่มีความใกล้เคียงหรือสอดคล้องตามนิยามความหมาย และวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งสหภาพแรงงานเลย อีกทั้งมันยังสะท้อนว่าประธานสหภาพทำตัวเสมือนเป็นตัวแทนของนายจ้างเสียเองอีกด้วย ผมพูดได้ไหมครับว่า การกระทำครั้งนี้ นอกจากหลงทางแล้ว มันดูเหมือนจะหาทางกลับไปที่หลักเดิมไม่เจออีกด้วย
หรือโดยสภาพแล้ว สหภาพฯ หมดสภาพทางอำนาจที่จะต่อรองกับนายจ้างตามกฎหมายได้ จึงทำให้การสัมภาษณ์ดูออกมาอิหลักอิเหลื่อ โดดออกมายืนยันสิทธิให้ลูกจ้างได้ไม่เต็มตัว หรือแม้กระทั่งการปกป้องสิทธิตามสภาพการจ้างที่กำหนดไว้ในคู่มือของนายจ้างเอง!!! ใช่ไหมครับ
ถ้าเป็นเช่นนั้น แปลว่าเราต้องจำยอมให้ถูกริดรอนสิทธิในการทำงาน ถูกลดสิทธิตามสภาพการจ้างของพวกเราลงไปเรื่อยๆอย่างนั้น ใช่ไหมครับ? ทั้งๆที่ประธานสหภาพก็ทราบดีว่าข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลผูกพันกับลูกจ้างที่ต่างมีสิทธิที่จะได้รับประโยชน์และมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง
มันควรจะเป็นหน้าที่ของสหภาพแรงงานไม่ใช่เหรอครับที่จะลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิตามสภาพการจ้าง มันเป็นหน้าที่ของประธานสหภาพฯ ไม่ใช่เหรอครับว่า “ทุกคนคือลูกจ้างที่สหภาพจะต้องปกป้องสิทธิตามสภาพการจ้างของพวกเขา” พวกเราลูกจ้างทั้งหมด ไม่ว่าจะต่างสาขาอาชีพกันอย่างไร เราก็ควรมีสำนึกของความเป็นลูกจ้างเช่นเดียวกันไม่ใช่เหรอครับ จริงอยู่วันนี้คุณยังไม่ใช่เหยื่อ แต่ในวันหน้าไม่มีอะไรรับรองได้ว่าคุณจะไม่ใช่เหยื่อรายต่อไป หากลูกจ้างไม่สามัคคีกันในวันนี้ หรือองค์กรลูกจ้างทำตัวเป็นนายจ้างเสียเอง ความแตกแยกนี้คงจะทำให้ปัจฉิมบทมาถึงในไม่ช้า
หันกลับมามองบทบาทสหภาพแรงงานไทยทุกวันนี้ ครั้งหนึ่งที่ขบวนการเคลื่อนไหวทางแรงงานมีบทบาทที่สำคัญมาก โดยเฉพาะนายทนง โพธิอ่าน เป็นผู้นำแรงงานที่ได้รับการยอมรับทั้งภายในและระหว่างประเทศเป็นกรรมการสมาพันธ์แรงงานระหว่างประเทศภาคพื้นเอเชียแปซิฟิค (ICFTU) ดังนั้น การเคลื่อนไหวต่างๆของทนงจึงได้รับการตอบรับจากขบวนการแรงงานสากลอย่างกว้างขวาง ในบทบาทฐานะที่เป็นตัวเชื่อมระหว่างขบวนการแรงงานไทยกับขบวนการแรงงานสากล
การเคลื่อนไหวของสหภาพแรงงานในยุคนั้น สร้างแรงกดดันต่อรัฐบาล รสช.มาก จนพลเอกสุจินดาคิดที่จะซื้อใจกลุ่มผู้ใช้แรงงานให้หันมาสนับสนุนคณะรัฐประหารของตน จึงได้กล่าวว่า
"ทุกข์ของกรรมกรถือเป็นทุกข์ของทหาร"
ด้วยอุดมการณ์ ทนง ในฐานะผู้นำทางแรงงานตอบกลับอย่างไม่ไยดีว่า
“เป็นเพียงลมปากที่ไม่อาจเชื่อถือได้”
เมื่อความพยายามของคณะ รสช.ล้มเหลวที่จะดึงมวลชนผู้ใช้แรงงานมาเป็นพวก รัฐบาล รสช. จึงวางแผนที่จะแยกพนักงานรัฐวิสาหกิจออกจากผู้ใช้แรงงานเอกชนเพื่อสร้างความแยกแยกให้เกิดขึ้นระหว่างผู้ใช้แรงงาน โดยการออกกฎหมายแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ 2534 ใหม่ ให้หนึ่งองค์กรมีหนึ่งสหภาพเท่านั้น และออกกฎหมายห้ามผู้ใช้แรงงานรัฐวิสาหกิจให้ความช่วยเหลือผู้ใช้แรงงานเอกชน ซึ่งมีผลทำให้ขบวนการเคลื่อนไหวทางแรงงานในประเทศไทยอ่อนแอมาตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา เอาแค่การทำลายจากอำนาจรัฐ ก็แย่พออยู่แล้วครับ
ประชาไท: 23 ปี ทนง โพธิ์อ่าน ผู้นำแรงงาน ที่หายไป หลังต้านรัฐประหาร รสช. [3]
ซึ่งแน่นอนทนงได้คัดค้านมาตรการดังกล่าว เพราะเขาเห็นว่า รสช. ต้องการแยกสลายพลังขบวนการแรงงานภาคเอกชนและกับแรงงานรัฐวิสาหกิจออกจากกัน ทนงได้ตอบโต้ว่า
"ถ้าคณะ รสช.ยังยืนยันจะดำเนินการในเรื่องนี้ ไม่เฉพาะคนงานในสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจเท่านั้นที่จะเคลื่อนไหว แต่ผู้ใช้แรงงานทุกระดับคงคัดค้านแน่"
นั้นคือความกล้าหาญของผู้นำขบวนการแรงงานเมื่อเกือบสามสิบปีที่แล้ว ที่อาจหาญท้าทายอำนาจรัฐเผด็จการด้วยนะครับ แน่นอนว่าการท้าทายอำนาจรัฐของคุณทนงไม่นำผลดีมาสู่ตัวเขาเอง แม้เขาจะถูกสังหารอย่างทารุณโหดร้าย แต่คุณทนงยังไม่เคยตายไปจากหัวใจผู้ใช้แรงงานทุกคน ทุกวันนี้วีรกรรมของคุณทนงยังถูกพูดถึงเสนอๆ แต่มา มันน่าเสียใจแทนคุณทนง โพธิอ่านไหมครับ ที่ผู้นำแรงงานไทยไม่ปกป้องและยืนยันสิทธิของลูกจ้าง?
| ['บทความ', 'การเมือง', 'แรงงาน', 'สิทธิมนุษยชน', 'ทนง โพธิอ่าน', 'จดหมายเปิดผนึก', 'สหภาพแรงงาน', 'กัปตันปาร์ค ชาตง', 'ดำรง ไวยคณี'] |
https://prachatai.com/print/79345 | 2018-10-28 19:36 | หมายเหตุประเพทไทย #233 พระสงฆ์กับความหลากหลายทางเพศ |
ชานันท์ ยอดหงษ์ สัมภาษณ์ ณัฐพงศ์ ดวงแก้ว พูดถึงประเด็นพระสงฆ์กับความหลากหลายทางเพศ กรณี 'พระตุ๊ดเณรแต๋ว' ซึ่งถูกกดทับ 2 ระดับทั้งจากอคติทางสังคมและข้อบัญญัติทางศาสนาที่ห้ามบวช อย่างไรก็ตามพระสงฆ์กลุ่มนี้ก็พยายามดำรงอยู่ท่ามกลางข้อจำกัดผ่านการสร้างเครือข่าย รวมทั้งต่อรองอำนาจกับคณะสงฆ์และการรับใช้ชุมชน นอกจากนี้ชานันท์ยังให้ข้อสังเกตเพิ่มเติมถึงความนิยมนับถือพระสงฆ์ในสังคมไทย ที่ขยับจากการนับถือพระสงฆ์ที่ภาพลักษณ์แบบแข็งแกร่ง หรือพุทธคุณแบบฟันแทงไม่เข้า คงกระพันชาตรี มาสู่พระสงฆ์ที่มีภาพลักษณ์แบบเมตตามหานิยม ทำให้พระสงฆ์ที่มีความหลากหลายทางเพศจึงพอมีพื้นที่อยู่บ้าง
ติดตามรายการหมายเหตุประเพทไทยย้อนหลังที่เฟสบุ๊ค https://www.facebook.com/maihetpraphetthai [1]YouTube เพลยลิสต์ หมายเหตุประเพทไทย [2]หรือลงทะเบียนรับชมที่ https://youtube.com/prachatai [3]
| ['ข่าว', 'สังคม', 'วัฒนธรรม', 'การศึกษา', 'พระสงฆ์', 'LGBT', 'พระตุ๊ด', 'ชานันท์ ยอดหงษ์', 'เพศสภาพ', 'เพศวิถี', 'ณัฐพงศ์ ดวงแก้ว', 'ครูบาคติใหม่', 'พุทธศาสนา', 'ศาสนา', 'จีวรโอบิ', 'มัลติมีเดีย', 'หมายเหตุประเพทไทย'] |
https://prachatai.com/print/79346 | 2018-10-28 19:51 | ใจ อึ๊งภากรณ์: แรงงานไม่ควรหลงเลือกนายใหม่ในรูปแบบพรรคอนาคตใหม่ |
มันเป็นเรื่องดีมากๆ ที่พรรคอนาคตใหม่เป็นพรรคที่ออกมาวิจารณ์เผด็จการทหารปัจจุบันอย่างเป็นระบบ และเสนอว่าจะร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่ไม่ใช่ของทหาร พร้อมกับรื้อถอนข้อบังคับต่างๆ ของเผด็จการประยุทธ์ที่จำกัดพื้นที่ประชาธิปไตย และเมื่อเปรียบเทียบกับพรรคเพื่อไทยหรือพรรคสามัญชน พรรคอนาคตใหม่พูดชัดเจนกว่าในเรื่องนี้
แต่เราก็ต้องตั้งคำถามว่าจะทำได้อย่างไร เพราะการมีเสียงส่วนใหญ่ในสภา ถ้าเกิดมีจริงในอนาคต จะไม่ทำให้ข้อเสนอเหล่านี้มีพลัง การรื้อถอนยุทธศาสตร์แห่งชาติ 20 ปี การรื้อถอนวุฒิสภาที่ทหารแต่งตั้ง และการรื้อถอนตุลาการที่อยู่ฝ่ายเผด็จการ ต้องอาศัยพลังมวลชนนอกรัฐสภา ซึ่งพรรคอนาคตใหม่ไม่ได้ลงมือสร้างแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม ในเรื่องของการสังกัดหรือสนับสนุนพรรคไหน กรรมาชีพในขบวนการแรงงานควรพิจารณาเรื่องอื่นอีกด้วย เรื่องสำคัญคือเรื่องจุดยืนทางชนชั้น
ผมเคยเขียนเรื่องการละเมิดสิทธิแรงงานของหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่คือ ในรายการสดของ The Standard ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ พูดชัดเจนว่าในอดีตเมื่อสหภาพแรงงานในโรงงานไทยซัมมิทเรียกร้องโบนัสเท่าเทียมกับสำนักงานใหญ่ ธนาธร และบริษัทซัมมิทตัดสินใจปิดโรงงานและไล่คนงานทุกคนออก เพื่อสกัดกั้นไม่ให้มีการนัดหยุดงาน
นอกจากนี้เราทราบจากข่าว “ประชาไท” ว่าบริษัทไทยซัมมิทอีสเทิร์น ซีบอร์ด ออโต้พาร์ท อินดัสตรี ได้สั่งเลิกจ้างคนงาน 50 คนในวันที่ 26 ธันวาคม 2549 เพราะได้ไปสมัครเป็นสมาชิกของสหภาพแรงงานฟอร์ดและมาสด้าประเทศไทย และทางบริษัทเกรงว่าจะทำให้ลูกจ้างมีอำนาจต่อรองกับบริษัทมากขึ้นหากมีสหภาพแรงงานแบบนี้
ในรายการโทรทัศน์หลายครั้ง ธนาธร ออกมาสั่งสอนนักสหภาพแรงงานเหมือนเป็นครูใหญ่และพูดว่าธุรกิจ “ต้อง” ได้กำไรเพิ่มก่อนที่จะเพิ่มค่าจ้างหรือปรับสวัสดิการให้ดีขึ้น พูดง่ายๆ ผลประโยชน์ของนายทุน 1% ของประชากร สำคัญกว่าผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ 99% และเมื่อนายทุนกินอิ่มแล้ว เศษอาหารที่เหลือบนโต้จะเป็นของแรงงาน นอกจากนี้เมื่อไม่นานมานี้ ธนาธร พูดว่าจะ “ปกป้องทุนนิยม” และอ้างว่าทำเพื่อประโยชน์คนส่วนใหญ่ แต่ในรูปธรรมระบบทุนนิยมให้ประโยชน์กับนายทุนเป็นหลัก และระบบกลไกตลาดเสรีทำให้มีการกดค่าแรงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขันเสมอ และการแข่งขันดังกล่าวนำไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจเป็นประจำอีกด้วย
ถ้าคนส่วนใหญ่ถือครองปัจจัยการผลิต โดยไม่มีนายทุน มันไม่จำเป็นต้องมีกำไรที่ตกอยู่ในมือนายทุน แต่ส่วนเกินจากการผลิตจะนำมาลงทุนเพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ โดยคนส่วนใหญ่ในสถานประกอบการและคนในสังคมจะร่วมกันตัดสินใจว่าจะลงทุนในอะไร นั้นคือตัวอย่างของประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ แต่นั้นไม่ใช่เป้าหมายของพรรคอนาคตใหม่
ธนาธร และพรรคอนาคตใหม่พูดว่าอยากจะ “ให้โอกาส” กับทุกคน แต่การให้โอกาสกับประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียมจะเกิดได้ต่อเมื่อทุกคนมีรายได้และทรัพย์สินเท่ากัน ซึ่งไม่ใช่ข้อเสนอของพรรค มีการเสนอแนวคิด Negative Income Tax หรือเงินคืนภาษีให้คนรายได้น้อยกว่า 100,000 บาทต่อปี เพื่อ “แก้ปัญหาความยากจน” แต่การให้เงินคนจนแบบนี้เป็นข้อเสนอของนักเศรษฐศาสตร์ฝ่ายขวา เพราะเงินที่จะให้คนจนมาจากงบประมาณของรัฐ ซึ่งแปลว่ากลุ่มทุนหรือธุรกิจไม่ต้องเพิ่มค่าจ้าง และเงินนี้จะได้จากการเก็บภาษีจากคนทำงานที่รายได้มากกว่าหมื่นบาทต่อเดือน หรือจากภาษีมูลค่าเพิ่ม พูดง่ายๆ มันเป็นการสร้างภาพว่าช่วยคนจนโดยที่กลุ่มทุนไม่ต้องเสียผลประโยชน์เลย นอกจากนี้ในสังคมไทยคนที่จนที่สุดไม่มีงานประจำถาวรและไม่ได้เสียภาษี คำถามคือจะให้เงินกับคนเหล่านี้ได้อย่างไร
ในขณะเดียวกันพรรคอนาคตใหม่ไม่มีข้อเสนอให้รื้อถอนกฏหมายแรงงานที่เป็นอุปสรรคต่อการเคลื่อนไหวของสหภาพแรงงาน และร่างกฏหมายแรงงานใหม่ที่ให้อำนาจกับสหภาพ ไม่มีข้อเสนอให้เก็บภาษีในอัตราสูงจากเศรษฐีหรือกลุ่มทุน ไม่มีข้อเสนอเป็นรูปธรรมว่าจะสร้างรัฐสวัสดิการ และไม่มีการรับข้อเสนอเรื่องการเพิ่มอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในระดับเดียวกันกับคำเรียกร้องของสหภาพต่างๆ
นอกจากนี้ในปัญหาของสังคม พรรคอนาคตใหม่ไม่เสนอให้ยกเลิก 112 ไม่เสนอให้สตรีมีสิทธิทำแท้งเสรี และไม่เสนอให้ชาวปาตานีสามารถกำหนดอนาคตตนเองโดยไม่ต้องพิจารณาความมั่นคงของชาติ
ในแวดวงนักสหภาพแรงงานมักจะมีการตั้งคำถามกันว่า “จะอยู่อย่างเป็นทาส หรือจะร่วมกันต่อสู้?” การที่แรงงานไม่สร้างพรรคของกรรมาชีพเอง และคอยเดินตามก้นพรรคนายทุน ไม่ว่าจะเป็นพรรคนายทุนหน้าเก่าอย่างเพื่อไทย หรือพรรคนายทุนหน้าใหม่อย่างอนาคตใหม่ แปลว่ากรรมาชีพจะอยู่อย่างเป็นทาสและเป็นแค่ “กบเลือกนาย” แรงงานต้องมีศักดิ์ศรีมากกว่านั้น
เผยแพร่ครั้งแรกใน: Turnleft-Thailand [1]
| ['บทความ', 'การเมือง', 'แรงงาน', 'ใจ อึ๊งภากรณ์', 'พรรคอนาคตใหม่', 'บริษัทไทยซัมมิต', 'การเลิกจ้างคนงาน'] |
https://prachatai.com/print/79347 | 2018-10-29 09:13 | กวีประชาไท: เพลงทำลายประเทศ? |
ฟังเสียงสะท้อนร้อนแรงแห่งปฐพีประเทศกูมีที่กำลังฟังแสลงโธ่เอ๋ยหูกูก็มีที่ตะแคงให้มาแย่งกันแยงรูหูกูมีไม่พอใจไสหัวไปให้พ้นบ้านเมืองอารมณ์เคืองเป็นเรื่องเปลืองเนื้อที่โถก็แต่งเพลงสู้ใส่หูกูซีฟังทั้งปีแลกเปลี่ยนเวียนหัวกัน
อย่าถามกระจกวิเศษถึงเหตุเกิดใครงามเลิศในปฐพีสร้างสีสันยอดวิวดูยูทูบแจ๋วก็แล้วกันไปแข่งขันเขียนแข่งแสดงตัวให้เนื้อเพลงโดนใจในทำนองที่พี่น้องต้องการขับขานทั่วชีวิตจริงของผู้คนค้นหม่นมัวที่ถูกคั่วในกระทะทองแดงแห่งสังคม
แข่งกันเอาชีวิตจริงหญิงชายพบที่ประสบสลดมีรสขมในรสชาติดนตรีที่นิยมใครชื่นชมกลมกล่อมย่อมแข่งกันโลกยุคใหม่ให้โอกาสคนปราดเปรื่องใครยังเชื่องเซื่องซึมอยู่ผู้แข่งขันใครไม่เชื่องเซื่องๆ อยู่รู้เท่าทันเวทีนั้นเปิดกว้างสร้างยอดวิว
ผลงานไม่รอขายพวกค่ายเพลงยูทูบเปล่งประกายให้ฉายฉิวยอดวิวสูงโฆษณามาเป็นทิวช่องทางลิ่วกระโดดโลดเต้นเลยฟังเสียงสะท้อนร้อนแรงแห่งประเทศกระจกวิเศษคือปวงชนหม่นหมองเอ๋ยเนื้อเพลงเมื่อโดนใจอย่างไม่เคยแรป RAD เหวยเย้ยด้วยวิวลิ่วสิบล้าน
| ['บทความ', 'การเมือง', 'วัฒนธรรม', 'กวีประชาไท', 'ธุลีดาวหาง', 'Rap Against Dictatorship', 'ประเทศกูมี'] |
https://prachatai.com/print/79348 | 2018-10-29 09:57 | อิสระ ชูศรี: 'ประเทศกูมี' ในแง่ศิลปะ |
เพลง 'ประเทศกูมี' มีอะไรที่น่าสนใจกว่าการวิจารณ์ผู้ครองอำนาจทางการเมืองอยู่หลายแง่ครับ ในแง่ดนตรีนั้นผมขอไม่กล่าวมาก เพราะได้ยินคนพูดถึงมากแล้วว่ามันโดดเด่นที่การแสดงความรู้สึกจากใจผ่านน้ำเสียงที่ดุเดือดและถ้อยคำที่รุนแรง สะท้อนความรู้สึกโกรธเคืองเนื่องจากความอยุติธรรมต่าง ๆ ที่กดทับสังคมอยู่ (ไม่ใช่ความเกลียดชังอย่างที่คนที่ไม่ชอบเพลงนี้พยายามวิจารณ์)
ในแง่ศิลปะ 'ประเทศกูมี' ไม่ได้พรรณนาเฉพาะปัญหาทางสังคม การเมือง และวัฒนธรรมอย่างตรงไปตรงมาอย่างที่หลายคนแสดงความชื่นชม (ก็แร็พนี่ มันควรจะตรงไปตรงมาเหมือนการด่าจากใจ ใช่มั้ย? - ไม่ใช่) แต่มันมากกว่านั้น ผู้ประพันธ์เนื้อแร็พนำเสนอภาวะขัดแย้งต่าง ๆ ในอีกระดับหนึ่งที่เหนือขึ้นมากว่าปัญหาในระดับปรากฏการณ์ หรือนำเสนอปรากฏการณ์ที่แยงย้อนกันเอง ( ปรากฏการณ์ A ขัดแย้งกับ B ในลักษณะที่ไม่น่าจะเกิดร่วมกัน) ผมจะยกตัวอย่างสักสามสี่วรรค
- ประเทศที่พล่ามแต่ศีลธรรม (A) แต่อาชญากรรมสูงกว่าไอเฟิล (B)
- ประเทศที่ตุลาการ (A) มีบ้านพักบนอุทยาน (B)
- ประเทศที่มีกฎหมาย (A) ไว้ให้ตำรวจข่มขู่ (B)
- ประเทศที่เสรี (A1) ไอ่สัสแม่งบอกว่ากูน่ะเลือกได้ (A2) ประเทศที่เลือกนายกต้องให้ทหารมาเลือกให้ (B)
ปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาในระดับ second-order คือเป็นปัญหาที่สะท้อนความไม่สามารถในการแก้ปัญหา หรือกล่าวอีกแง่หนึ่งก็คือความไม่สม่ำเสมอหรือความไม่คงเส้นคงวาของกฏกติกาในสังคม หรือการที่อำนาจและสิทธิธรรมขาดความเที่ยงตรง
การใช้ศิลปะเพื่อวิพากษ์ปัญหาในระดับนามธรรมแบบนี้ย่อมเหนือชั้นกว่าการพยายามแร็พเพื่อสรรเสริญสิ่งสวยงาม ดีงาม หรืออะไรก็ตามที่น่าพึงพอใจ เพราะผู้ที่ศึกษาศิลปะย่อมเล็งเห็นอยู่ว่าศิลปะที่ยั่วให้คิดหรือพิจารณาปรากฏการณ์ระดับผิวให้เห็นความแยงย้อนใต้ผิวลงไป มันมีความเป็นศิลปะที่เหนือชั้นกว่าการนำเสนอความพึงพอใจอันเป็นปกติของชีวิตประจำวัน
ยกตัวอย่าง ศิลปินที่นำเสนอภาพวัดวาอารามที่สวยงามน่าพึงใจกับศิลปินที่นำเสนอภาพสลัมที่สกปรกน่าสังเวชใจ อาจจะต่างกันแค่นำเสนอภาพปรากฏคนละมุมมองกันเพื่อแอพพีลอารมณ์ยินดีและสังเวชของผู้เสพงานศิลป์ แต่ถ้าศิลปินสักคนหนึ่งสามารถนำเสนอภาพของวัดและสลัมซ้อนทับลงบนพื้นที่เดียวกัน หรือสามารถแสดงภาพชีวิตที่สับหลีกกันของผู้อิ่มบุญและผู้หิวข้าวในกาละเทศะเดียวกัน อารมณ์ของผู้เสพงานศิลปะนั้นย่อมต่างออกไป มันจะเป็นอารมณ์น่ากระวนกระวายที่นำไปสู่ความคับข้องโกรธเคือง
'ประเทศกูมี' ทำได้ถึงขั้นนั้น ในขณะที่พวกแร็พวัลลาบี-มาดูกูแร็พ ที่พยายามฉกชิงวิ่งราวประเด็นเอาไปเล่นคำเป็นประเทศกูดี ประเทศเรามี ฯลฯ ป่านนี้พวกนั้นยังไม่รู้เลยมั้งว่าทำไมเพลง 'ประเทศกูมี' ถึงดี ความโกรธเคืองของพวกเขาส่วนหนึ่งมาจากความไม่รู้นี้เอง
| ['บทความ', 'การเมือง', 'วัฒนธรรม', 'ประเทศกูมี', 'คนตรี', 'อิสระ ชูศรี', 'Rap Against Dictatorship'] |
https://prachatai.com/print/79349 | 2018-10-29 11:43 | การเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม: บทเรียนของการลดโลกร้อนจากประเทศเยอรมนี และข้อคิดสำหรับประเทศไทย |
ภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นประเด็นร่วมสมัยที่สำคัญของทุกประเทศทั่วโลก นานาประเทศต่างเห็นพ้องกันว่า จะต้องช่วยกันแก้ไขปัญหาวิกฤตโลกร้อน โดยกำหนดไว้ในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติปี พ.ศ. 2558 และข้อตกลงปารีสว่าด้วยสภาพภูมิอากาศ ปี พ.ศ. 2558 และในส่วนของประเทศไทยได้ให้การสนับสนุนข้อตกลงทั้งสอง และให้ความสำคัญต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยบรรจุไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2555-2559) และมีแผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (พ.ศ. 2558-2593)
เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2561 ที่ผ่านมา คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change: IPCC) ประกอบด้วยนักวิทยาศาสตร์ภายใต้การสนับสนุนของสหประชาชาติ ได้ออกรายงานสำคัญว่า สังคมทั่วโลกจะต้องยอมเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง ทั้งในวิธีการใช้พลังงาน การคมนาคมขนส่ง และการก่อสร้าง เพื่อหลีกหนีให้พ้นผลอันเลวร้ายที่สุดของภาวะโลกร้อน โดยเตือนให้ทั่วโลกช่วยกันปกป้องไม่ให้โลกร้อนขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส จากเดิมที่กำหนดไว้ 2 องศาเซลเซียส หลังจากนั้นไม่กี่ชั่วโมง มีการประกาศรางวัลโนโบลสาขาเศรษฐศาสตร์ประจำปีพ.ศ. 2561 ผลปรากฏว่า วิลเลียม นอร์ดเฮาส์ (William Nordhaus) นักเศรษฐศาสตร์ที่มีผลงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นหนึ่งในสองของผู้ได้รับคัดเลือกให้รับรางวัลดังกล่าว จึงเป็นการตอกย้ำให้เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นเรื่องสำคัญอย่างแท้จริง
ในส่วนของขบวนการแรงงานในระดับสากลได้ตระหนักถึงความสำคัญของการแก้ไขปัญหาโลกร้อน แต่มีความกังวลว่า การเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง ทั้งในวิธีการใช้พลังงาน การคมนาคมขนส่ง และการก่อสร้าง เพื่อหลีกหนีปัญหาโลกร้อนดังกล่าว จะส่งผลกระทบต่อการจ้างงาน จึงได้ร่วมกันพัฒนากรอบแนวคิด “การเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม” หรือ Just transition ขึ้น และประสบความสำเร็จเบื้องต้นในการรณรงค์ให้ข้อตกลงปารีสว่าด้วยสภาพภูมิอากาศ ยอมรับว่า จะต้องคำนึงถึงประเด็นนี้
บทความนี้จึงจะพยายามอธิบายถึงกรอบแนวคิด “การเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม” โดยในส่วนแรกจะได้กล่าวถึงความหมายของแนวคิดดังกล่าว และเพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น ในส่วนที่สองจะได้กล่าวถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศเยอรมนีในประเด็นดังกล่าว ซึ่งเป็นข้อมูลที่ได้จากการไปดูงานที่ประเทศเยอรมนีในระหว่างวันที่ 7-13 ตุลาคม พ.ศ. 2561[1] และในส่วนสุดท้ายจะได้นำเสนอข้อคิดในประเด็นดังกล่าวสำหรับประเทศไทย
ส่วนที่ 1: การเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม (Just transition) คืออะไร
การเปลี่ยนผ่าน (Transition) ในที่นี้ หมายถึง การเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง (Structural change) ทางเศรษฐกิจและสังคม จากโครงสร้างปัจจุบันไปสู่โครงสร้างใหม่ โดยการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอาจเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติหรือจากนโยบายของภาครัฐ เช่น การเปลี่ยนผ่านจากประเทศเกษตรกรรมไปเป็นประเทศอุตสาหกรรม การค้นพบแหล่งก๊าซธรรมชาติในประเทศเนเธอแลนด์เมื่อปีพ.ศ. 2502 ส่งผลให้ภาคพลังงานขยายตัว ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมการผลิตอื่นๆได้หดตัวลงอย่างมาก หรือนโยบายเปิดเสรีทางการค้าหรือโลกาภิวัตน์ทำให้การค้าขายระหว่างประเทศง่ายขึ้น การนำเข้าส่งออกระหว่างประเทศส่งผลให้ภาคการผลิตที่สามารถผลิตสินค้าได้ถูกกว่าคู่แข่งต่างชาติสามารถขยายขนาดการผลิต ในขณะที่ภาคการผลิตที่มีต้นทุนสูงเมื่อเทียบกับคู่แข่งต่างชาติมีขนาดเล็กลง
โดยการเปลี่ยนผ่านในบทความนี้ จะหมายถึง การเปลี่ยนผ่านจากเศรษฐกิจที่ใช้เทคโนโลยีคาร์บอนเข้มข้นมาเป็นคาร์บอนต่ำ หรือการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียวเพื่อแก้ไขปัญหาโลกร้อน สืบเนื่องมาจากการตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของนานาประเทศส่งผลให้ประเทศต่างๆคำนึงถึงผลกระทบของการผลิตและการบริโภคต่อสิ่งแวดล้อม และกำหนดมาตรฐานที่เข้มงวดขึ้นในสินค้าที่ถูกผลิตและส่งออก
วิธีการเปลี่ยนผ่านเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม ได้แก่ การลดการพึ่งพิงการผลิตกระแสไฟฟ้าจากถ่านหินลิกไนต์มาเป็นพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานน้ำ พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ เป็นต้น ซึ่งจะส่งผลให้เหมืองและโรงงานไฟฟ้าถ่านหินต้องปิดตัวลง แรงงานในเหมือง โรงงานไฟฟ้า และอุตสาหกรรมต่อเนื่องต้องตกงานหรือหางานทำใหม่ ในขณะเดียวกันก็จะเกิดโอกาสทางธุรกิจและการจ้างงานขึ้นในภาคพลังงานหมุนเวียน หรือการเปลี่ยนแปลงในภาคการคมนาคมขนส่งมวลชนและรถยนต์ส่วนบุคคลจากที่ใช้น้ำมันมาเป็นรถไฟฟ้า การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว จะส่งผลต่อผู้ผลิตและแรงงานที่ผลิตรถยนต์ที่ใช้น้ำมัน แต่ก็เป็นโอกาสของธุรกิจและการจ้างงานในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า
จะเห็นว่า การเปลี่ยนผ่านจากเศรษฐกิจที่ใช้เทคโนโลยีคาร์บอนเข้มข้นมาเป็นคาร์บอนต่ำเพื่อแก้ไขปัญหาโลกร้อนดังกล่าว มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ช่วยแก้ไขปัญหาโลกร้อนได้ แต่มีผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมเกิดขึ้นด้วย โดยจะมีผู้เสียประโยชน์และผู้ได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ซึ่งส่งผลต่อการกระจายรายได้ ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ และวิถีชีวิตของคนในสังคม การเปลี่ยนผ่านดังกล่าว ในด้านหนึ่งจึงส่งผลดีในแง่สิ่งแวดล้อม เกิดโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆและเป็นโอกาสสำหรับการจ้างงาน แต่ในอีกด้านหนึ่งก็ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมจำนวนมากที่ใช้เทคโนโลยีคาร์บอนเข้มข้น และเป็นแหล่งจ้างงานของแรงงานจำนวนมาก โดยเฉพาะสถานประกอบการขนาดเล็กและกลางและแรงงานที่ยังไม่มีความพร้อมในด้านทักษะแรงงานและการเงินในการพัฒนาไปสู่การผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จะมีความเสี่ยงที่จะว่างงานหรือมีรายได้น้อยลง
ความเป็นธรรม (Justice)
อมาตยา เซน (2011) ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ในปีพ.ศ. 2541 กล่าวว่า การค้นหาความเป็นธรรมที่สมบูรณ์เป็นเรื่องลำบาก ความไม่เป็นธรรมเป็นสิ่งที่ชัดเจนกว่า เราจึงควรค้นหาความไม่เป็นธรรมที่รุนแรง แล้วไปแก้ไขเสีย
คึกฤทธิ์ ปราโมช[2] กล่าวว่า ความเป็นธรรมนั้นเกิดขึ้นได้ยาก หรือเกิดขึ้นไม่ได้เลย เพราะความเป็นธรรมเป็นความเห็นในเรื่องประโยชน์ของตนเอง เป็นประโยชน์ที่เห็นว่าตนพึงมีพึงได้ ซึ่งไม่ตรงกับของคนอื่น เพราะคนอื่นก็ย่อมมีความเห็นในเรื่องประโยชน์ของเขา และเมื่อเกิดความเป็นธรรมสำหรับคนใดคนหนึ่งแล้ว คนอื่นก็อาจต้องเสียประโยชน์ จึงไม่เป็นธรรมสำหรับคนอื่น เมื่อคนมารวมกันอยู่เป็นสังคม และต่างคนต่างถือเอาประโยชน์ของตนเป็นมาตรวัดความเที่ยงธรรมแล้ว ก็จะเกิดกรณีพิพาทระหว่างบุคคล หรือระหว่างกลุ่มขึ้นเสมอ ไม่มีทางจะตกลงกันได้ เช่น นายจ้างก็มีความเห็นอย่างหนึ่ง ลูกจ้างก็มีความเห็นอีกอย่างหนึ่ง จึงต้องหาทางระงับหรือยุติข้อพิพาทให้ได้ จึงเกิดยุติธรรมขึ้น ซึ่งเป็นความเป็นธรรมที่ทำให้ยุติกรณีพิพาท ไม่ใช่ความเป็นธรรมดั่งตราชั่ง ด้วยเหตุนี้ความยุติธรรมจึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับใจแต่ละคน แต่ขึ้นอยู่กับตัวบทกฎหมายทั้งปวงที่กำหนดประโยชน์ที่แต่ละคนพึงมีพึงได้
ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม[3] กล่าวว่า ความเป็นธรรมที่แท้จริงไม่มีในโลกนี้ ความเป็นธรรมเป็นนามธรรม ส่วนความเป็นธรรมที่เป็นรูปธรรมนั้นไม่มีใครตอบได้ สิ่งที่ตอบได้เป็นความเห็นของคนๆหนึ่ง ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงมากที่จะไม่ตรงกับความเห็นของคนอื่น ฉะนั้น ความเป็นธรรมจึงเป็นความเห็น ไม่ใช่ความจริง การค้นหาความเป็นธรรมนั้นยากมาก เช่น ค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศ มีความเป็นธรรมหรือไม่ ลูกจ้างอาจจะเห็นว่าต่ำไปไม่พอกับการยังชีพ ในขณะที่นายจ้างอาจจะเห็นว่าหากสูงกว่านี้ จะมีกำไรลดลงและแข่งขันกับคู่แข่งไม่ได้ ซึ่งไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม มองว่า ความเป็นธรรมหากเกิดขึ้นได้มีหนทางเดียว คือ ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง มาเจรจาหารือ ศึกษาพิจารณาร่วมกัน ในรูปแบบของการสานเสวนา (Dialogue) ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญของระบอบประชาธิปไตยแบบร่วมไตร่ตรอง ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมจัดการ หากคนที่เกี่ยวข้องได้เข้ามาศึกษาพิจารณา แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ปรึกษาหารือกัน จนได้ความคิดเห็นร่วมกันในการกำหนดทิศทาง นโยบาย มาตรการ วิธีการ ระยะเวลา และกลไกกำกับดูแลเพื่อให้เกิดผลจริง จึงจะใกล้เคียงกับความเป็นธรรมที่สุด เพราะผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายเข้าไปมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมทั่วถึง ทุกภาคส่วนเห็นว่าทำแบบนี้จึงจะดี ซึ่งไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม เห็นว่า นอกจากเศรษฐกิจแล้ว ยังมีเรื่องของสังคม เช่น วัฒนธรรม ความเมตตาเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และเรื่องสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ ด้วย โดยการมีส่วนร่วมต้องมีเทคนิค มีประสิทธิภาพ มีธรรมาภิบาล จึงจะสามารถหาความเห็นร่วมกันได้ว่า ประเทศที่พึงปรารถนาควรเป็นอย่างไร แล้วจึงมาร่วมกันคิดว่ายุทธศาสตร์อันจะนำไปสู่ประเทศที่พึงปรารถนาจะเป็นอย่างไร
ดังนั้น การเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม จึงหมายถึง การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างสู่เศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ที่ทุกฝ่าย ทั้งนายจ้าง แรงงาน ผู้บริโภค ประชาชนทั่วไป และภาครัฐ ได้มีส่วนร่วมในการคัดสรรเทคโนโลยี และเจรจาจัดสรรผลประโยชน์ร่วมกัน
ส่วนที่ 2: บทเรียนจากประเทศเยอรมนี
จากการศึกษาดูงานในประเทศเยอรมนี ทั้งในส่วนภาครัฐ ได้แก่ กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม ภาคการเมือง ได้แก่ สมาชิกรัฐสภาของพรรคประชาธิปไตยสังคมแห่งเยอรมนี (Social Democratic Party of Germany: SDP) สถาบันคลังสมอง (Think tank)จำนวน 7 แห่ง ได้แก่ มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท (FES), Spree Academy, Future Lab Lausitz, สถาบัน E3G (สถาบันอิสระด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ), องค์กร Bread for the World, Dena (สำนักงานพลังงานเยอรมัน), Wuppertal Institute for Climate, Environment and Energy สหภาพแรงงาน 3 แห่ง ได้แก่ Ver.di (สหภาพแรงงานด้านบริการ), สมาพันธ์สหภาพแรงงานเยอรมัน (DGB), IG Metal (สหภาพแรงงานคนงานในอุตสาหกรรมโลหะ) และภาคประชาสังคม 2 แห่ง ได้แก่ Lausitzer Perspectives และ หมู่บ้านพลังงานหมุนเวียน Feldheim สรุปสาระสำคัญของการดูงานไว้ 4 ข้อ ดังนี้
2.1 การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานของประเทศเยอรมนี
ประเทศเยอรมนีให้ความสำคัญในเรื่องพลังงานมาตั้งแต่ยุควิกฤตน้ำมันที่เกิดขึ้นในปีค.ศ. 1977 ซึ่งในขณะนั้นเป็นเหตุผลทางด้านเศรษฐกิจที่ต้องการลดภาระการพึ่งพิงน้ำมันที่มีราคาแพง ไม่ใช่เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม ต่อมาในปีค.ศ. 2011 เกิดโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ฟูกูชิมะในประเทศญี่ปุ่นระเบิดขึ้น ประเทศเยอรมนีจึงตัดสินใจที่จะเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน โดยปิดโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ภายในปีค.ศ. 2020 ในขณะที่อุตสาหกรรมเหมืองแร่ถ่านหินมีขนาดและความสำคัญต่อประเทศลดลงมาโดยตลอด เพราะไม่สามารถแข่งขันราคากับต่างประเทศได้ โดยเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกา แม้ในช่วงเริ่มต้นรัฐบาลจะยังพยายามให้การอุดหนุนและมีความหวังว่า อุตสาหกรรมเหมืองแร่ของเยอรมนีจะสามารถกลับมาเจริญเฟื่องฟูได้อีกก็ตาม การเปลี่ยนแปลงในภาคพลังงานถ่านหินจึงเกิดขึ้นจากปัจจัยด้านโลกาภิวัตน์
ต่อมาเมื่อประเทศเยอรมนีได้ตระหนักถึงปัญหาโลกร้อนมากขึ้น จึงได้ดำเนินการตามข้อตกลงปารีสว่าด้วยเรื่องการแก้ไขปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงที่ได้กำหนดเป้าหมายว่าทั่วโลกจะต้องช่วยกันควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียสอย่างจริงจัง โดยตั้งเป้ายุติการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ และยุติการใช้พลังงานถ่านหินลงในที่สุดภายในปีค.ศ. 2050 โดยหันไปผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน และเพิ่มพื้นที่การทำสวนพลังงานหมุนเวียน ปัจจุบันสัดส่วนไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนคิดเป็นร้อยละ 35 และมีเป้าหมายจะเพิ่มสูงขึ้นเป็นร้อยละ 80 ภายในปี 2050 รองลงมาเป็นพลังงานจากถ่านหินลิกไนต์ ร้อยละ 23 โดยลิกไนต์มีปริมาณคงเหลือในปัจจุบัน 6.1 พ้นล้านตัน ซึ่งจะมีพอใช้ไปได้อีกประมาณ 30 ปี
ทั้งนี้ ทัศนคติด้านสิ่งแวดล้อมของคนเยอรมัน มีวิวัฒนาการแบ่งได้เป็น 4 ลำดับ ดังนี้
1. ไม่ยอมรับว่า สิ่งแวดล้อมเป็นปัญหา
2. สิ่งแวดล้อมไม่ใช่ปัญหาหลัก เพราะต้องให้ความสำคัญด้านเศรษฐกิจก่อน
3. ยอมรับว่า เป็นปัญหา แต่แก้ไขอะไรไม่ได้ และ
4. เห็นพ้องกันว่า เป็นปัญหาที่จำเป็นต้องแก้ไข
โดยการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำนั้นเกี่ยวข้องกับทั้งภาคพลังงาน การคมนาคมขนส่ง เกษตรกรรม และก่อสร้าง แต่ภาคที่ประสบความสำเร็จและโดดเด่นมากที่สุดในเยอรมนี ได้แก่ ภาคพลังงาน ในขณะที่ภาคอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การคมนาคมขนส่งยังพัฒนาช้ามากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ รถยนต์ที่ใช้ในประเทศเยอรมนียังคงใช้น้ำมันในการขับเคลื่อนเป็นหลัก
2.2 ประเด็นถกเถียงในเรื่องการคุ้มครองภูมิอากาศและความเป็นธรรม เมื่อ 5 ปีก่อน ประเด็นการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานได้สร้างความกังวลใจเป็นอย่างมากว่าจะทำให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรง ทั้งในเรื่องราคาพลังงานที่จะเพิ่มสูงขึ้น พลังงานจะมีไม่เพียงพอและไม่เสถียร และการจ้างงานจะลดลง แต่ปัจจุบันความกังวลดังกล่าวได้คลี่คลายลงไปอย่างมาก ประเทศเยอรมนีสามารถลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกลงได้ร้อยละ 28 จากเป้าที่ตั้งไว้ร้อยละ 50-95% ภายในปีค.ศ. 2050 ในขณะที่ต้นทุนค่าพลังงานไม่ได้แพงขึ้น เยอรมนีสามารถผลิตพลังงานไว้ใช้ในประเทศได้เพียงพอ และมีเหลือสำหรับส่งออกด้วย จากเดิมที่เคยเป็นประเทศผู้นำเข้า นอกจากนี้ ได้แก้ไขปัญหาความไม่สม่ำเสมอของพลังงานลมและแสงอาทิตย์ ด้วยการใช้แบตตารี่เก็บกักพลังงานไฟฟ้า ซึ่งแม้แบตตารี่จะมีราคาแพง แต่ก็มีความคุ้มค่า การจ้างงานในภาคพลังงานหมุนเวียนได้เพิ่มสูงขึ้นเป็น 330,000 งานในปีค.ศ. 2015 ยกเว้น พลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ที่ยังไม่สามารถแข่งขันราคากับต่างประเทศได้ โดยเฉพาะประเทศจีน นอกจากนี้ พลังงานหมุนเวียนยังทำให้เกิดนวัตกรรม และทำให้จำนวนการจดสิทธิบัตรของเยอรมนีเพิ่มสูงขึ้นอีกด้วย
ภาคพลังงานถ่านหินได้มีบทบาทน้อยลงในภาพรวมระดับประเทศ ทั้งในแง่การเป็นแหล่งรายได้และการจ้างงาน กล่าวคือ แรงงานที่ทำงานอยู่ในโรงงานไฟฟ้าถ่านหินมีจำนวนประมาณ 20,000 คน และในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องอีกประมาณ 36,000 คน รวมเป็น 56,000 คน คิดเป็นเพียงร้อยละ 0.2 ของผู้มีงานทำและอยู่ในระบบประกันสังคม แต่อุตสาหกรรมนี้มีความสำคัญกับภูมิภาคที่เป็นแหล่งผลิตอยู่มากพอควร เพราะเหมืองถ่านหินลิกไนต์ในประเทศเยอรมนีกระจุกตัวอยู่ใน 3 ภูมิภาคเท่านั้น ได้แก่ เลาซิทซ์ ซึ่งมีแรงงานอยู่ในโรงงานไฟฟ้าถ่านหิน 8,300 คน และในกิจกรรมเกี่ยวข้อง 13,000 คน รวมคิดเป็นร้อยละ 17.5 ของผู้มีงานทำในอุตสาหกรรมการผลิตของภูมิภาค ลุ่มแม่น้ำไรน์ ซึ่งมีแรงงานอยู่ในโรงงานไฟฟ้าถ่านหิน 9,300 คน และในกิจกรรมเกี่ยวข้อง 14,000 คน รวมคิดเป็นร้อยละ 10.2 ของผู้มีงานทำในอุตสาหกรรมการผลิตของภูมิภาค และ โคโลญจน์ ซึ่งมีแรงงานอยู่ในโรงงานไฟฟ้าถ่านหิน 2,400 คน และในกิจกรรมเกี่ยวข้อง 4,000 คน รวมคิดเป็นร้อยละ 3.5 ของผู้มีงานทำในอุตสาหกรรมการผลิตของภูมิภาค นอกจากนี้ ภูมิภาคที่ผลิตถ่านหิน 3 แห่งนี้ ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนผ่านพลังงานไม่เหมือนกัน เช่น บางภูมิภาคอาจสามารถปรับตัวได้ง่ายกว่า เพราะมีภาคการผลิตอื่นรองรับ หรืออยู่ใกล้กับเมืองใหญ่ จึงจะได้รับผลกระทบน้อยกว่า
การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานของประเทศเยอรมนีที่ผ่านมาได้ค่อยๆเกิดขึ้นโดยเริ่มต้นจากเหตุผลอื่นที่ไม่ใช่เพื่อแก้ปัญหาโลกร้อน และเกิดขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจของเยอรมนีเข้มแข็ง ส่งผลให้ประชาชนปรับตัวได้ง่ายขึ้นและมีระยะเวลาเพียงพอ อย่างไรก็ดี สำหรับการเปลี่ยนผ่านด้วยเหตุผลด้านสิ่งแวดล้อมครั้งนี้ แม้ว่าประชาชนเกือบทั้งประเทศจะเห็นพ้องต้องกันแล้วว่า พลังงานหมุนเวียนเป็นสิ่งจำเป็น และแม้ไม่มีผลต่อการจ้างงานในเชิงปริมาณ แต่มีผลเชิงคุณภาพของการจ้างงาน และเพื่อให้บรรลุเป้าหมายสิ่งแวดล้อมที่ตั้งไว้สูงมาก การเปลี่ยนผ่านจะต้องครอบคลุมในทุกส่วน ทั้งการคมนาคมขนส่ง การเกษตรและก่อสร้าง ซึ่งจะกระทบคนจำนวนมาก เช่น หากเปลี่ยนจากรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเป็นรถยนต์ไฟฟ้า จะกระทบแรงงานจำนวน 1 ใน 7 ของแรงงานทั้งประเทศ ซึ่งการเปลี่ยนผ่านนี้จำเป็นต้องนำเรื่องความยุติธรรม ทั้งทางด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม เข้ามาร่วมพิจารณาด้วย ซึ่งเครื่องมือสำคัญที่ใช้เพื่อได้มาซึ่งความเป็นธรรมคือ ทุกฝ่ายต้องเข้ามามีส่วนร่วมถกเถียงแสดงความคิดเห็นกัน ซึ่งแม้จะเป็นเรื่องยากที่จะเอาทุกฝ่ายมาพูดคุยและหาทางออกร่วมกัน แต่จำเป็นต้องทำ เพราะถ้าหากไม่ทำอะไรเลย จะเกิดหายนะขึ้นกับโลกได้ และไม่ว่าจะสามารถคิดหานโยบายที่ดีมากเพียงไรก็ตาม ย่อมต้องมีผู้ที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง จึงจำเป็นต้องมีสวัสดิการมารองรับ
ประเทศเยอรมนีได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการว่าด้วยการเจริญเติบโต การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจและการจ้างงาน (Growth, Structural Change and Employment)หรือที่เรียกกันว่า คณะกรรมการถ่านหิน ประกอบด้วย กรรมการจากหลายๆฝ่ายจำนวน 28 คน ในจำนวนนี้มีตัวแทนจาก 4 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงเศรษฐกิจและพลังงาน กระทรวงสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม นักวิชาการด้านต่างๆ และตัวแทนสหภาพแรงงาน 3 คน เป็นคณะกรรมการที่เป็นอิสระจากรัฐบาล มีการถกเถียงกันในประเด็นเรื่องเป้าหมายที่จะลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงในแต่ละปี ราคาพลังงานที่เหมาะสมควรจะเป็นเท่าไร ภาคเศรษฐกิจใหม่จะมีลักษณะอย่างไรในแต่ภูมิภาค ประชาชนจะได้รับผลกระทบอย่างไร จะมีมาตรการหรือสวัสดิการชดเชยผู้ได้รับผลกระทบทางลบและครอบครัวอย่างไรบ้าง ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้ได้เริ่มทำงานตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ปีค.ศ. 2018 และจะได้ข้อสรุปภายในสิ้นเดือนตุลาคม ปีค.ศ. 2018 นี้ นอกจากการจัดตั้งคณะกรรมการถ่านหินแล้ว ยังมีการรวมตัวกันเป็นเครือข่ายพันธมิตรภาคประชาสังคมด้านภูมิอากาศ เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ข้อมูลข่าวสารความคิดเห็น และตรวจสอบการทำงานของภาครัฐ และมีองค์กรคลังสมองหลายแห่งมาช่วยกันศึกษาค้นคว้าวิจัยเพื่อให้ข้อมูลและข้อเท็จจริงอีกด้วย
สำหรับสวัสดิการรองรับกรณีว่างงานเนื่องจากการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานนั้น คาดว่า จะประกอบด้วย เงินจากประกันการว่างงานที่จ่ายร้อยละ 80 ของเงินเดือนที่เคยได้รับเป็นระยะเวลา 1 ปี ซึ่งเป็นเงินที่ได้จากระบบประกันสังคม หลังจาก 1 ปีจะได้รับเงินสงเคราะห์ค่าครองชีพ นอกจากนี้ จะยังมีเงินจากกองทุนที่ได้รับจากสหภาพยุโรป (EU) เงินช่วยเหลือจากภาครัฐกรณีปิดกิจการที่ไม่ได้เกิดจากความผิดพลาดของบริษัทและลูกจ้าง และเงินชดเชยกรณีถูกลดชั่วโมงทำงานลง โดยต้องเพิ่มชั่วโมงฝึกอบรมทดแทน ซึ่งน่าจะมีการจัดตั้งกองทุนใหม่เพื่อใช้สำหรับเรื่องนี้เป็นการเฉพาะต่อไป นอกจากนี้ ยังมีแนวคิดจะแจกเงิน 20,000 ยูโรให้ประชาชนทุกคนได้เอาไปใช้ปรับทักษะและคุณวุฒิด้านการศึกษาเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนผ่านเชิงโครงสร้างอีกด้วย
2.3 บทบาทของสหภาพแรงงานในช่วงการเปลี่ยนผ่านสหภาพแรงงานส่วนใหญ่ในประเทศมีความเห็นตรงกันว่า การคุ้มครองสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องจำเป็น เพราะ “จะไม่มีการจ้างงานบนโลกที่ตายแล้ว”(จูดี้ บอนด์ส) โดยสิ่งแวดล้อมและการจ้างงานไม่จำเป็นต้องขัดแย้งกัน แต่สามารถไปด้วยกันได้ สหภาพแรงงานไม่ได้มองการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในด้านลบ แต่มองเห็นถึงโอกาสที่จะมีการจ้างงานใหม่ๆเกิดขึ้นภายใต้สภาพแวดล้อมที่ดีขึ้น เหมือนเช่นที่เกิดขึ้นในยุคที่มีการนำเครื่องจักรและคอมพิวเตอร์มาใช้มากขึ้น ก็ไม่ได้ทำให้การจ้างงานลดลง เพียงแต่เปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงาน มีคนเข้าไปนั่งทำงานในสำนักงานมากขึ้นและมีเครื่องทุ่นแรงช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น ภาคแรงงานได้เรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนผ่านอย่างเป็นธรรม กล่าวคือ ในขณะที่ต้องคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ก็ต้องลดความเสี่ยงที่จะเกิดกับภาคแรงงานด้วย โดยได้มีการเสนอข้อเรียกร้อง 5 ข้อ ดังนี้
เงื่อนไขการจ้างงานในภาคพลังงานหมุนเวียนจะต้องดีเหมือนภาคพลังงานถ่านหิน
ต้องมีการประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้นก่อน
ต้องมีการสนทนาระหว่างภาครัฐ ภาคส่วนอื่นๆ และจะละเลยภาคแรงงานไม่ได้
ต้องมีการอบรมทักษะใหม่ให้กับแรงงาน
ต้องดูแลสวัสดิการให้กับแรงงานที่ไม่สามารถเปลี่ยนผ่านได้ เช่น แรงงานที่มีอายุมาก
ซึ่งแนวคิดเรื่องความเป็นธรรมนี้ได้รับการตอบรับโดยองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO)ที่ได้มีการกำหนดเป็นข้อแนะนำออกมา และในข้อตกลงปารีสก็ได้มีการนำเอาแนวคิดนี้ไปเป็นประเด็นพูดคุย แนวความคิดเรื่องการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมจึงเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายให้ความสนใจ และร่วมกันเป็นพันธมิตร
สิ่งที่สหภาพแรงงานกำลังประสบในปัจจุบันซึ่งเป็นยุคของการเปลี่ยนผ่านคือ แม้ว่าอัตราการว่างงานจะลดลง แต่สมาชิกสหภาพแรงงานมีจำนวนลดลงตั้งแต่ปีค.ศ. 2000 เป็นต้นมา โดยในปัจจุบันมีจำนวน 6 ล้านคนทั่วประเทศ (คิดเป็นร้อยละ 14 ของแรงงานทั้งหมด) แรงงานในภาคพลังงานหมุนเวียนยังมีสัดส่วนในสหภาพแรงงานน้อยเพียงร้อยละ 5 เท่านั้น นอกจากนี้ แม้จำนวนงานในภาคพลังงานหมุนเวียนจะเพิ่มขึ้น แต่คุณภาพการจ้างงานไม่ดีเท่ากับในภาคเศรษฐกิจเดิม ทั้งในแง่รายได้ การลาพักผ่อน ความมั่นคง สวัสดิการ และการมีส่วนร่วมของแรงงาน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะเป็นภาคเศรษฐกิจใหม่ บริษัทพลังงานหมุนเวียนจำนวนมากมีขนาดเล็กและยังไม่มั่นคง อีกทั้งความรู้ความเข้าใจในเรื่องสหภาพแรงงานของแรงงานยังมีไม่มาก สัญญาการจ้างงานจึงอาจยังไม่ได้มาตรฐาน และการที่แรงงานในภาคพลังงานหมุนเวียนยังมีสัดส่วนในสหภาพแรงงานน้อย ทำให้อำนาจการต่อรองต่ำ ดังจะเห็นว่า แรงงานในภาคถ่านหินที่เลาซิทส์มีอำนาจการต่อรองสูง ปัญหาการปิดเหมืองจึงได้รับความสนใจมาก ในขณะที่แรงงานในกลุ่มพลังงานแสงอาทิตย์ แม้ได้รับผลกระทบที่อุตสาหกรรมไม่สามารถแข่งขันกับคู่แข่งจากประเทศจีนได้ กลับไม่ได้รับความสนใจเท่าไรนัก
2.4 กรณีศึกษา
ภูมิภาคเขตเลาซิทซ์ (Lausitz)เลาซิทซ์ เป็นภูมิภาคเขตตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเบอร์ลิน อยู่ติดกับประเทศโปแลนด์ ใช้เวลาเดินทางโดยรถยนต์ประมาณ 2 ชั่วโมง ปัจจุบันเลาซิทซ์มีประชากรอาศัยอยู่จำนวน 1.3 ล้านคน เดิมทีเคยเป็นเขตเหมืองแร่ถ่านหินลิกไนต์ขนาดใหญ่ที่สุดในเยอรมนีตะวันออก ในราวปีค.ศ. 1850 มีการใช้พลังงานไอน้ำเป็นครั้งแรก ลิกไนต์ในสมัยนั้นจึงเป็นเครื่องหมายของความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ ในช่วงปีค.ศ. 1920-1930 อุตสาหกรรมถ่านหินลิกไนต์จึงได้พัฒนาเฟื่องฟูขึ้นอย่างมาก จนกระทั่งเมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 เหมืองลิกไนต์จึงได้ซบเซาลง ต่อมาเมื่อมีการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาธิปไตยเยอรมนี (เยอรมนีตะวันออก) ขึ้น อุตสาหกรรมถ่านหินลิกไนต์จึงกลับมาเฟื่องฟูขึ้นอีกครั้ง เพราะต้องใช้ในการผลิตไฟฟ้าเพื่อพัฒนาประเทศ เลาซิทซ์จึงกลายเป็นภูมิภาคที่ภาครัฐให้ความสำคัญ มีผู้คนอพยพเข้ามาอยู่เป็นจำนวนมาก เศรษฐกิจของภูมิภาคนี้จึงพึ่งพิงอุตสาหกรรมเหมืองแร่เป็นหลัก และละเลยการพัฒนาภาคการผลิตอื่นๆ
ต่อมาเมื่อเยอรมนีตะวันตกและตะวันออกรวมเป็นประเทศเดียวกันในปีค.ศ. 1990 ส่งผลให้ภูมิภาคเขตเลาซิทซ์สูญเสียความสามารถในการแข่งขัน ด้วยเทคโนโลยีที่ล้าสมัยเทียบไม่ได้กับภูมิภาคเขตอื่นในเยอรมนีตะวันตก ทำให้เหมืองแร่เลาซิทซ์ต้องลดขนาดการผลิตลงอย่างมาก ผู้คนอพยพออกจากพื้นที่เพื่อไปหางานทำที่อื่น เลาซิทซ์จึงมีสภาพเป็นชนบทที่มีเศรษฐกิจอ่อนแอตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ประชาชนที่นี่ซึ่งมีภาษาเป็นของตนเอง จึงมีความรู้สึกว่าเป็นพลเมืองชั้นสองที่ไม่ได้รับประโยชน์อะไรจากการรวมประเทศ การเปลี่ยนผ่านเพื่อควบรวมประเทศในครั้งนี้ไม่ได้การเตรียมการรองรับในเรื่องความเป็นธรรม
นโยบายด้านพลังงานของภาครัฐในปัจจุบันที่ต้องการลดการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากถ่านหินลง จึงจะยิ่งส่งผลซ้ำเติมภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานที่ทำงานในโรงงานไฟฟ้าลิกไนต์ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 7,000-8,000 คน ซึ่งในปัจจุบันผลิตไฟฟ้าร้อยละ 10 ของประเทศ อย่างไรก็ดี มีการประเมินว่า ในปีค.ศ. 2030 จำนวนแรงงานกว่า 2 ใน 3 จะเกษียณอายุ จึงจะเหลือแรงงานที่จะได้รับผลกระทบเพียง 2,000-2,500 คน ที่จำเป็นจะต้องปรับทักษะเพื่อไปทำงานอื่น และมีความพยายามจะสร้างอุตสาหกรรมใหม่ในภูมิภาคนี้ เช่น พลังงานหมุนเวียน การวิจัยและการพัฒนา และการท่องเที่ยว แต่ก็ประสบปัญหาที่สำคัญคือ การขาดแคลนทรัพยากรมนุษย์ หรือ ปัญหาสมองไหล ปัญหาของภูมิภาคเลาซิทซ์จึงไม่ใช่ปัญหาเรื่องไม่มีการจ้างงาน แต่เป็นปัญหาที่ไม่สามารถรักษาทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพไว้ในภูมิภาคได้ ทั้งนี้ สถาบันคลังสมอง Future Lab Lausitz กำลังพยายามค้นหาอัตลักษณ์และนำเสนอสิ่งที่เป็นไปได้สำหรับภูมิภาคนี้ ทั้งในเรื่องความสามารถในการแข่งขันและนวัตกรรม ประสิทธิภาพพลังงาน การคมนาคมและดิจิตัล สิ่งแวดล้อมและการท่องเที่ยว และอนาคตของการพัฒนาภูมิภาคนี้ ในขณะที่ภาคประชาสังคม Lausitzer Perspectives เป็นเวทีให้ประชาชน รวมถึงเด็กและเยาวชน ได้เข้ามามีส่วนร่วมตอบโจทย์ว่า อนาคตของเลาซิทซ์จะเป็นอย่างไร และพิจารณาว่าจะสามารถทำอะไรได้บ้าง โดยประชาชนส่วนใหญ่ของภูมิภาคเห็นด้วยกับการปิดเหมือง แม้สมาชิกบางส่วนของสหภาพแรงงานในภูมิภาคจะไม่เห็นด้วยก็ตาม ซึ่งสัดส่วนของแรงงานในเลาซิทส์ที่จะได้รับผลกระทบจากการปิดเหมืองคิดเป็นเพียงร้อยละ 3.84 ของเท่านั้น
หมู่บ้านพลังงานหมุนเวียนเฟลด์ไฮม (Feldheim)เฟลด์ไฮม เป็นหมู่บ้านเล็กๆมีประชากรเพียง 130 คน ตั้งอยู่ห่างจากเบอร์ลิน 83 กิโลเมตรทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ เป็นหมู่บ้านที่สามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนใช้ได้อย่างเพียงพอภายในหมู่บ้านตั้งแต่ปีค.ศ. 2010 โดยพลังงานหมุนเวียนส่วนใหญ่เป็นพลังงานลม หมู่บ้านมีสวนพลังลมที่มีกังหันลมจำนวน 55 ตัว กังหันลมตัวแรกถูกสร้างขึ้นในปีค.ศ. 1995 นอกจากนี้ ยังมีสวนพลังงานแสงอาทิตย์อีกด้วย โดยชาวบ้าน สหกรณ์การเกษตร บริษัทพลังงานของเอกชน และภาครัฐได้ร่วมกันลงทุนตั้งโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ทั้งลมและแสงอาทิตย์ ภายในหมู่บ้าน นอกจากนี้ ยังมีพลังงานชีวมวล (biogass) ที่ใช้ผลิตความอุ่นเพื่อใช้ในอาคารบ้านเรือน โดยในช่วงปีค.ศ. 2003-2004 ที่ราคาสินค้าเกษตรโดยเฉพาะพืชไร่ตกต่ำ ในขณะที่ราคาไฟฟ้าสูงขึ้นอย่างมาก สหกรณ์การเกษตรได้อาศัยวิกฤตนี้ หันมาผลิตพลังงานชีวมวล จากผลิตผลทางการเกษตร เช่น ข้าวโพด ธัญพืช กิ่งไม้ และมูลสัตว์ โดยร่วมลงทุนกับบริษัทพลังงานของเอกชน ทั้งนี้ การที่หมู่บ้านเฟลด์ไฮมหันมาผลิตไฟฟ้าและความอุ่นด้วยพลังงานหมุนเวียนนี้ ทำให้หมู่บ้านไม่ต้องพึ่งพิงรายได้จากสินค้าเกษตรแต่เพียงอย่างเดียว เกิดการสร้างงานเพิ่มมากขึ้นในหมู่บ้าน สิ่งแวดล้อมสะอาดขึ้น ลดต้นทุนค่าไฟฟ้าและความอุ่นลงมาก และการที่มีบริษัทเอกชนเข้ามาตั้ง ทำให้มีเงินที่ได้จากการจัดเก็บภาษี นำมาใช้สร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานภายในหมู่บ้าน
ส่วนที่ 3: ข้อคิดสำหรับประเทศไทย 9 ประการ
คนไทยต้องตระหนักว่าโลกร้อนเป็นปัญหา และเป็นปัญหาใหญ่ ไม่แก้ไขไม่ได้ และต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน รอช้าไม่ได้ ต้องไม่ห่วงแต่ปัญหาเศรษฐกิจ แต่ต้องตระหนักถึงการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมด้วย และโลกร้อนเป็นภัยคุกคามของโลก ไม่ใช่ของประเทศใดประเทศหนึ่ง ทุกประเทศรวมทั้งประเทศไทยต้องเข้าไปรับผิดชอบและร่วมกันแก้ไข โดยอาศัยโอกาสทางเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อให้ภารกิจกอบกู้รักษาโลกสำเร็จได้อย่างทันเวลา
ภาครัฐต้องแสดงเจตจำนงอันแน่วแน่ ภาครัฐต้องมีความกล้าหาญทางการเมืองที่จะออกนโยบายเพื่อขับเคลื่อนประเทศไปสู่เศรษฐกิจใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีคาร์บอนต่ำอย่างเป็นรูปธรรม ที่ผ่านมา ภาครัฐไทยทำเพียงแค่ส่งเสริมรณรงค์ ยังไม่ได้มีนโยบายที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงใดๆในเชิงโครงสร้าง เช่น มีการรณรงค์รักษาสิ่งแวดล้อมด้วยการลดการใช้ถุงพลาสติก ก็กระทำกันอย่างจำกัด ไม่แพร่หลายในสังคมไทยโดยทั่วไป ยังไม่มีการเก็บภาษีคาร์บอน แม้จะมีการผลิตพลังหมุนเวียนเพิ่มมากขึ้น แต่ยังไม่มีการลดการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน ซ้ำร้ายยังอาจมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่ขึ้นอีก
การเปลี่ยนผ่านต้องเป็นไปอย่างเป็นธรรม เมื่อภาครัฐมีนโยบายลดโลกร้อนอย่างเป็นรูปธรรมที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างแล้ว ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายจำเป็นต้องเข้ามามีส่วนร่วมกำหนดวิธีการเปลี่ยนผ่าน และเจรจาประสานประโยชน์ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมขึ้นในสังคม
การสื่อสารเป็นเรื่องสำคัญ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสื่อสารให้สังคมได้มั่นใจ ไม่หวาดกลัว และเห็นภาพตรงกันว่า การเปลี่ยนผ่านจะนำมาซึ่งเศรษฐกิจใหม่ที่มีลักษณะเป็นอย่างไร ชีวิตของคนในสังคมจะเป็นอย่างไร จะต้องปรับตัวอย่างไรบ้าง และจะได้รับการชดเชยเยียวยาอย่างไรหากต้องได้รับผลกระทบทางลบ
ข้อมูลและงานวิจัยมีความจำเป็น การเปลี่ยนผ่านจะมีผลกระทบแตกต่างกันไปตามพื้นที่ จึงจำเป็นต้องศึกษาหาข้อมูลเฉพาะของแต่ละพื้นที่ เพื่อหาทางออกที่เป็นไปได้และเหมาะสมกับพื้นที่หนึ่งๆ
ภาคประชาสังคมต้องคิดก่อนการณ์ ประชาชนต้องรวมตัวกันสร้างเป็นเครือข่ายด้านภูมิอากาศ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล ข่าวสาร และความรู้ คิดนำคนอื่น คอยตรวจสอบการทำงานของภาครัฐ และประสานผลประโยชน์ของฝ่ายต่างๆ
ความมั่นคงในการจ้างงานและสวัสดิการมีแนวโน้มลดลง มีความเป็นไปได้ว่า การเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจที่ใช้พลังงานหมุนเวียนเข้มข้น จะส่งผลให้การแข่งขันในตลาดเพิ่มสูงขึ้น ผู้ประกอบการในตลาดอาจไม่ใช่ผู้ประกอบการรายใหญ่เพียงไม่กี่รายเหมือนก่อน แต่จะมีผู้ประกอบการรายใหม่ที่มีขนาดเล็กลงและจำนวนมากขึ้นเข้ามามีส่วนแบ่งในตลาด ซึ่งส่งผลดีในแง่การกระจายรายได้ แต่ในขณะเดียวกัน การจ้างงานจะมีความมั่นคงและสวัสดิการน้อยลง โดยเฉพาะในบริษัทใหม่ที่มีขนาดเล็กหรือเป็นบริษัทสตาร์ทอัพ จำนวนสมาชิกของสหภาพแรงงานก็มีแนวโน้มจะลดลงด้วยเช่นกัน
พลังงานหมุนเวียนช่วยลดความจำกัดด้านพลังงาน ในบางพื้นที่ในประเทศไทยที่ไฟฟ้ายังมีไม่พอใช้ เช่น ทางภาคใต้ของไทย หรือยังไม่มีไฟฟ้าใช้ เช่น พื้นที่ห่างไกลบนดอยสูง ถือเป็นโอกาสอันดีที่พลังงานหมุนเวียนจะเข้าไปช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงพลังงานไฟฟ้าได้มากขึ้นด้วยการลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียน แทนที่จะลงทุนสร้างโรงงานไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่
แนวคิดการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในบริบทของการเปลี่ยนผ่านสู่เทคโนโลยี 4.0 รวมถึงการเปลี่ยนแปลงนโยบายต่างๆของรัฐที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง ไม่ว่าจะเป็นแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี หรือโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)เป็นต้น ที่จะมีผู้ได้ประโยชน์และผู้เสียประโยชน์ ซึ่งต้องมาร่วมพูดคุยประสานประโยชน์กันทุกฝ่าย เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านไม่มีใครต้องถูกทิ้งไว้ข้างหลัง
เอกสารอ้างอิง
นิรมล สุธรรมกิจ และ กิริยา กุลกลการ (2560)การเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม: การศึกษาเบื้องต้นถึงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อแรงงานในประเทศไทย. มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท.
Sen Amartya (2011)The Idea of Justice. Belknap Press. United States.
[1] การศึกษาดูงานที่ประเทศเยอรมนีได้รับทุนสนับสนุนจากมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท ทั้งนี้ บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท และคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
[2] วิวาทะระหว่าง พุทธทาสภิกขุ และ มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เรียบเรียงโดย วรทัศน์ วัชรวสี ในหนังสือ คึกฤทธิ์ กับ ศาสนา (2012)
[3] งานสัมมนาประจำปี 2554 คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เกี่ยวกับผู้เขียน: รองศาสตราจารย์ ดร.กิริยา กุลกลการ สอนอยู่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
| ['บทความ', 'สังคม', 'คุณภาพชีวิต', 'ต่างประเทศ', 'สิ่งแวดล้อม', 'การเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม', 'Just transition', 'วิกฤตโลกร้อน', 'กิริยา กุลกลการ'] |
https://prachatai.com/print/79350 | 2018-10-29 11:44 | สนช.ผ่านร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ 3 วาระรวด | สนช. ผ่าน ร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. …. 3 วาระรวด
เมื่อวันที่ 25 ต.ค.ที่ผ่านมา สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org [1] รายงานว่า ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ลงมติในวาระที่ 1 รับหลักการร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. …. ไว้พิจารณาด้วยคะแนนเสียง 194 เสียง ไม่เห็นด้วย ไม่มี งดออกเสียง 3 เสียง และเห็นชอบให้พิจารณาโดยคณะกรรมาธิการ (กมธ.) เต็มสภา
หลังจากนั้นที่ประชุม สนช. ลงมติในวาระที่ 3 เห็นสมควรประกาศใช้ร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. …. เป็นกฎหมาย ด้วยคะแนนเสียง เห็นด้วย 199 เสียง ไม่เห็นด้วย ไม่มี งดออกเสียง 3 เสียง
สำหรับประเด็นนี้อยู่ในวาระเรื่องด่วนสำหรับการประชุม สนช. ครั้งที่ 71/2561 เมื่อวันที่ 25 ต.ค.ที่ผ่านมาด้วย
ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2560 ที่ประชุม สนช. เคยมีมติผ่าน พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ.2560 ไปแล้ว โดยประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 16 ก.ค. 2560
ประกาศใช้ พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2560 [2]
| ['ข่าว', 'การเมือง', 'เศรษฐกิจ', 'ร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. …', 'พระมหากษัตริย์'] |
https://prachatai.com/print/79351 | 2018-10-29 12:29 | เจอต่อว่าโกหก 'สุเทพ' คาดฝ่ายตรงข้ามส่งมา ป่วนปฏิบัติการเดินคารวะแผ่นดิน | ปฏิบัติการเดินคารวะแผ่นดิน วันที่ 4 'สุเทพ' เจอตะโกน 'โกหกแล้ว' กลางสีลม เจ้าตัวอัดเป็นพวกจิตใจคับแคบเรื่องประชาธิปไตย ชี้อาจมีนักการเมืองที่เป็นขั้วตรงข้ามคอยหนุนหลังอยู่ ขณะที่วันก่อน อดีต กปปส. ถาม "ตอนแรกที่บอกว่าจะไม่ลงการเมืองอีกเพราะอะไร"
ภาพจากเฟสบุ๊กแฟนเพจ Suthep Thaugsuban (สุเทพ เทือกสุบรรณ) [1]
29 ต.ค.2561 เข้าสู่วันที่ 4 “ปฏิบัติการเดินคารวะแผ่นดิน” ของพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) ที่นำโดย สุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้ร่วมจัดตั้งพรรคฯ โดยมีเส้นทางตามที่กำหนดไว้คือ ถนนสีลมถึงถนนนราธิวาส เริ่มต้นจากการสักการะ พระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 6 บริเวณลานสวนลุมพินี ก่อนออกเดินถนนสีลม เข้าซอยศาลาแดง ซอยคอนแวนต์ ซอยพิพัฒน์และซอยละลายทรัพย์ จากนั้นเข้าสู่ถนนนราธิวาส จรดถนนสาทร สิ้นสุดที่สกายวอล์คนราธิวาส-ตัดสาทร (สะพานช่องนนทรี)
ข่าวสดออนไลน์ [2] รายงานว่า ทันทีที่เริ่มเดินเข้าสู่ถนนสีลมหนึ่งมีชายคนหนึ่งได้เดินมาสอบถามว่าเป็นพรรคของสุเทพหรือไม่เมื่อทราบว่า เป็นพรรคของสุเทพ ชายคนดังกล่าวก็ตะโกนทันทีด้วยเสียงอันดังว่า “โกหกแล้ว” แล้วเดินหันหลังจากไป ขณะที่ร้านค้าบางร้านก็ระบุไม่ให้เข้าโดยบอกว่าไม่ต้อนรับ
ข่าวสดออนไลน์ รายงานต่อว่า สุเทพ กล่าวว่า จากการเดินคารวะแผ่นดินที่ กทม.มา 3วั น ได้การตอบรับจากคนกทม.เป็นอย่างดี โดยเฉพาะการลงพื้นที่เยาวราชเมื่อวันที่ 27 ต.ค.ที่ผ่านมา ขณะเดียวกันก็พบว่ามีกลุ่มต่อต้านว่าอยากกลับมามีอำนาจ มาขัดขวางก่อกวนการรณรงค์เชิญชวนการสมัครสมาชิกพรรค ทั้งตะโกนด่า รวมถึงโพสต์ด่าในโซเชียล ซึ่งได้กำชับทีมงานขออย่าใส่ใจ อดทนหรือตอบโต้ แต่ให้อยูในความสงบเพราะเป็นการ พบกับประชาชนด้วยหัวใจต้องไม่หวั่นไหวและขอให้ประชาชนติดตามพิจารณา ว่ายังมีขบวนการแบบนี้อยู่
“หลังจากนี้จะทำกิจกรรมต่อในกรุงเทพฯ อีก 3 วัน และจะลงพื้นที่ต่างจังหวัดต่อ แต่ในการทำกิจกรรมระยะนี้ ได้เริ่มมีผู้ก่อกวนการทำกิจกรรม ซึ่งบางรายมีการเดินเข้ามาถามคำถามที่ไม่เหมาะสม หรือ ตะโกนด่าขณะขับรถ เรื่องนี้ส่วนตัวมองว่า กลุ่มคนดังกล่าวมีจิตใจคับแคบเรื่องประชาธิปไตยมากๆ และอาจมีนักการเมืองที่เป็นขั้วตรงข้ามคอยหนุนหลังอยู่ก็ได้” สุเทพ กล่าว
“ล่าสุด มีคนรุ่นใหม่ 2 ถึง 3 รายที่สนใจจะเข้ามาช่วยงานการเมืองกับพรรครวมพลังประชาชาติไทย ขอย้ำว่าแม้จะต้องการคนรุ่นใหม่แต่ก็ไม่ปิดกั้นหากจะมีอดีต ส.ส.เข้ามาร่วมกับพรรค” สุเทพ กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายนงานเพิ่มเติมว่า เมื่อวันที่ 27 ต.ค.ที่ผ่านมา เฟสบุ๊กแฟนเพจ 'สื่อออนไลน์ Online Media' ได้บันทึกการถ่ายทอดสดขณะที่เดินที่ ถนนเยาวราช ตอนหนึ่ง
มีชายคนที่เดินผ่านทางสนทนากับสุเทพว่า "ตอนแรกที่บอกว่าจะไม่ลงการเมืองอีกเพราะอะไร"
สุเทพ ตอบว่า "ผมไม่เอาแล้ว ผมไม่ลงสมัครแล้ว ผมไม่เอาตำแหน่งแล้ว มาช่วยเขาไง ถ้าเราไม่ช่วยแล้วใครจะช่วยบ้านเมือง ใช่ไหมประชาชนทุกคนเราก็ต้องช่วยกัน
ชายที่เดินผ่านทาง "เคยสนับสนุนคุณตอนนั้นนะ แต่ตอนนี้ผมไม่เห็นด้วย"
สุเทพ "โอเคไม่เป็นไร ได้ได้ได้"
เมื่อ 2 ธ.ค.56 กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ [3] รายงานว่า สุเทพ ในฐานะ เลขาธิการ กปปส. กล่าวต่อมวลชนที่เวทีศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ ขณะนั้น ว่า "สื่อจะโกรธจะเกลียดก็ขอโทษเถอะ เพราะจบงานนี้ผมไม่เป็นนักการเมืองอีกแล้ว จะด่าจะเชียร์ผมไม่มีผลต่ออนาคต"
| ['ข่าว', 'การเมือง', 'ปฏิบัติการเดินคารวะแผ่นดิน', 'สุเทพ เทือกสุบรรณ', 'พรรครวมพลังประชาชาติไทย'] |
https://prachatai.com/print/79352 | 2018-10-29 13:00 | สถิติชี้ผู้หญิงอเมริกันยิ่งสูงวัย ช่องว่างรายได้ระหว่างเพศยิ่งห่างมากขึ้น | หากงานตำแหน่งและลักษณะเดียวกันจะต้องได้รับค่าตอบแทนเท่ากันนั้น พบว่าช่องว่างรายได้ระหว่างเพศของผู้หญิงอเมริกันโดยรวมเฉลี่ยอยู่ที่ 80% ของผู้ชาย ช่องว่างแคบสุดช่วงอายุ 20-24 ปี ที่ 90% ของผู้ชาย ห่างสุดอายุ 65 ปีขึ้นไป ที่ 77% อาชีพ ‘ซีอีโอ’ ช่องว่างสูงสุด ส่วนแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร และพยาบาลช่องว่างต่ำสุด จบ ‘สแตนฟอร์ด’ ช่องว่างรายได้กับผู้ชายที่จบสาขาเดียวกันห่างมากที่สุดในบรรดามหาวิทยาลัยชั้นนำ
ที่มาภาพประกอบ: ScoopWhoop [1]
28 ต.ค. 2561 ข้อมูลจากรายงานการศึกษาของของสมาคมสตรีมหาวิทยาลัยอเมริกัน (American Association of University Women: AAUW) หากงานตำแหน่งและลักษณะเดียวกันจะต้องได้รับค่าตอบแทนเท่ากัน พบว่าช่องว่างระหว่างเพศทำให้ผู้หญิงอเมริกันสูญเสียรายได้รวมกันถึง 513 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 16.9 ล้านล้านบาท)
โดยเฉลี่ยแล้วผู้หญิงอเมริกันที่เป็นพนักงานประจำจากข้อมูลเมื่อปี 2560 พบว่าหากทำงานตำแหน่งและลักษณะเดียวกันกับผู้ชาย พวกเธอจะได้รายได้แค่ร้อยละ 80 ของผู้ชาย เมื่อพิจารณาตามช่วงอายุพบว่าผู้หญิงอายุ 20-24 ปี จะได้รับรายได้ร้อยละ 90 ของผู้ชาย (เป็นช่วงอายุที่ช่องว่างรายได้แคบสุด) แต่พออายุถึง 65 ปี ขึ้นไปแล้ว ช่องว่างจะยิ่งสูงขึ้น โดยได้รับรายได้เพียงร้อยละ 77 ของผู้ชาย
แผนภูมิแสดงค่ามัธยฐาน (median) ของช่องว่างรายได้ระหว่างเพศ (gender pay gap) ตามช่วงอายุของพนักงานประจำในสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2560 ที่มา: USA TODAY [2]
CEO หนึ่งในอาชีพที่ช่องว่างสูงสุด
ข้อมูลจากการสำรวจของสำนักงานสำรวจสำมะโนประชากรสหรัฐอเมริกา (U.S. Census Bureau) พบว่าช่องว่างรายได้ระหว่างชายหญิง ยังมีอยู่ในเกือบทุกอาชีพ โดยในปี 2559 เฉลี่ยแล้วผู้หญิงมีรายได้ต่อปีที่ 40,675 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 1.34 ล้านบาท) ส่วนผู้ชายอยู่ที่ 50,741 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 1.68 ล้านบาท)
รายงานระบุว่าผู้บริหารในตำแหน่ง ‘ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร’ หรือ ‘ซีอีโอ’ คืออาชีพที่มีช่องว่างรายได้ระหว่างหญิงกับชายมากที่สุด โดยซีอีโอผู้หญิงมีรายได้เฉลี่ยร้อยละ 73 ของซีอีโอผู้ชาย และอีกอาชีพหนึ่งคือธุรกิจด้านการขายและการเงิน ที่ผู้หญิงได้เงินเดือนราวร้อยละ 70 ของผู้ชาย ส่วนสาขาที่ผู้หญิงกับผู้ชายมีความแตกต่างน้อยเรื่องรายได้ คือ แพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร และพยาบาล ซึ่งผู้หญิงในสาขานี้มีรายได้ราวร้อยละ 97 ของผู้ชาย
และเมื่อพิจารณาในด้านวุฒิการศึกษาและมหาวิทยาลัย พบว่ามีความแตกต่างทางรายได้ในระดับสูงระหว่างบัณฑิตหญิงกับชาย ที่จบจากมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงในสหรัฐฯ โดยผู้หญิงที่จบจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Stanford University) จะมีรายได้ต่อปีน้อยกว่าผู้ชายที่จบจากสาขาเดียวกันที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้ 36,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 1.19 ล้านบาท) ต่อปี ซึ่งถือว่าเป็นช่วงห่างที่มากที่สุดในบรรดามหาวิทยาลัยชั้นนำของสหรัฐฯ รองมาคือ ปรินซ์ตัน (Princeton), ฮาร์เวิร์ด (Harvard), สถาบันเทคโนโลยีรัฐแมสซาชูเสตส์ (MIT) และดุ้ก (Duke)
ที่มาเรียบเรียงจากWomen lose $513 billion a year in wages due to gender pay gap and math is worse for some (usatoday.com, 23/10/2018) [3]Here Are the US Jobs with the Biggest Gender Pay Gaps (Dora Mekouar, VOA, 19/9/2018) [4]
| ['ข่าว', 'แรงงาน', 'ต่างประเทศ', 'ช่องว่างรายได้ระหว่างเพศ', 'สหรัฐอเมริกา'] |
https://prachatai.com/print/79356 | 2018-10-29 14:30 | เครือข่ายสุขภาพ 4 ภาค ยื่นหนังสือจี้ สธ.ยุติการแก้ไข พ.ร.บ.สสส. | เครือข่ายสุขภาพ 4 ภาค ยื่นหนังสือจี้ สธ.ยุติการแก้ไข พ.ร.บ.สสส.ตามหาไอ้โม่งอยู่เบื้องหลัง ทุบทำลาย สสส. เอื้อประโยชน์ทุนสินค้าทำลายสุขภาพ ประเคนให้กระทรวงคลังมีอำนาจ เหนือกรรมการบอร์ด ย้อนยุคกลับไปอยู่ใต้ระบบราชการ เตรียมเข้ายื่น ประยุทธ์ หากยังไร้ความคืบหน้า
29 ต.ค.2561 วันนี้ เวลา 10.00 น. ที่สำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เจกะพันธ์ พรหมมงคล ผู้ประสานงานขบวนการสร้างเสริมสุขภาพภาคประชาชน ภาคใต้ (ขสช.) นำตัวแทนเครือข่าย จาก 4 ภาค กว่า 100 คน ยื่นหนังสือถึงนายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ผ่านทาง สุทธิมา หุ่นดี คณะทำงาน รมว.สธ. เพื่อแสดงจุดยืนขอให้ยุติการแก้ไข พ.ร.บ.กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ.2544 ที่เครือข่ายพบว่ามีเจตนาลดทอนความเข้มแข็งของภาคประชาชน ที่ตื่นตัวลุกขึ้นมาช่วยภาครัฐในการสร้างเสริมสุขภาพของประชาชน ด้วยการจำกัดวงเงินเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนทำลายสุขภาพ ประเคนอำนาจจากกรรมการบอร์ด ให้ต้องนำไปผ่านความเห็นชอบของ กระทรวงการคลัง ทำให้กระบวนการทำงานต่างๆที่เคยคล่องตัว ปิดจุดอ่อนของระบบราชการในการเข้าถึงประชาชน ถอยหลังกลับไปอยู่ใต้ระบบราชการ ขัดแย้งกับกฎบัตรออตตาวา ตลอดจนขัดแย้งกับยุทธศาสตร์ชาติในหลายมิติอย่างชัดเจน ทั้งนี้เครือข่ายฯได้ร่วมกันทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ “หยุดทำลาย หลักการสร้างนำซ่อม”
เจกะพันธ์ กล่าวว่า จากการที่นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ มีบัญชาให้แก้ไขพระราชบัญญัติการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ.2544 เพื่อความยั่งยืน โดยกระทรวงการคลัง กระทรวงยุติธรรม และกระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมดำเนินการแก้ไขพระราชบัญญัติฉบับนี้ สวนทางกับโจทย์ความยั่งยืนตามดำริของนายก ด้วยการกำหนดให้มีการนำระบบราชการเข้ามาบริหารจัดการกองทุน สสส. ตลอดจนการจำกัดเพดานเงิน โดยเร่งรีบให้มีการนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีและสภานิติบัญญัติอย่างมีข้อกังขา
เจกะพันธ์ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ ขสช. ประกอบด้วยกลุ่ม องค์กร บุคคล ในส่วนของภาคประชาชน ด้านเด็ก เยาวชน ครอบครัว สตรี คนพิการ ผู้สูงอายุ แรงงานนอกระบบ ผู้บริโภค คนจนเมืองและชนบท กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มเกษตร ความมั่นคงทางอาหาร ฯลฯ ได้ประชุมร่วมกันทั้ง 4 ภาค ระหว่างวันที่ 8 -26 ตุลาคม 2561 มีความเห็นร่วมกันว่า การแก้ไขกฎหมาย สสส. เพื่อให้การบริหารจัดการกองทุน สสส. อยู่ภายใต้ระบบราชการ จะเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการมีส่วนร่วมของประชาชนและชุมชนในการทำงานสร้างเสริมสุขภาพของประเทศ จึงมีจุดยืนร่วมกันเป็นเอกฉันท์ว่า ไม่เห็นด้วยต่อการแก้ไขกฎหมาย สสส. ครั้งนี้ อีกทั้งเห็นว่า ไม่มีเหตุผลที่รัฐบาลจะต้องเร่งรีบดำเนินการแก้ไขกฎหมายเพื่อให้มีผลบังคับใช้ภายในรัฐบาลชุดนี้ หากจะมีการปรับแก้ไขกฎหมายกองทุน สสส. เพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมมากขึ้น สมควรดำเนินการในขณะที่ประเทศไทยมีสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้ง
“ขสช.พร้อมภาคีเครือข่ายทั้ง4 ภาค มีจุดยืนและข้อเรียกร้องต่อกระทรวงการสาธารณสุข คือ ขอให้ยุติกระบวนการการแก้ไขกฎหมาย สสส. ที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ทั้งหมด โดยขอให้กระทรวงสาธารณสุข ในฐานะเป็นหน่วยงานร่วมแก้กฎหมายฉบับนี้ ส่งข้อเรียกร้องนี้ ไปยังนายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. เพื่อให้ยกเลิกคำสั่งการแก้ไขพระราชบัญญัติกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และขอให้กระทรวงมีคำตอบกลับมายัง ขสช. ภายในวันที่18 พฤศจิกายนนี้ และในระหว่างนี้เครือข่ายทั่วประเทศจะยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีผ่านทางผู้ว่าราชการจังหวัด หรือศูนย์ดำรงธรรมในพื้นที่ด้วย ซึ่งหากไม่มีความคืบหน้าในการยุติการแก้กฎหมายดังกล่าว ทางภาคีเครือข่ายทั้ง 4 ภาคจะร่วมกันยกระดับการขับเคลื่อนเพื่อเรียกร้อง ต่อนายกรัฐมนตรีโดยตรงที่ทำเนียบรัฐบาล ช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนนี้ต่อไป” ผู้ประสานงาน ขสช.ภาคใต้ กล่าว
สมควร งูพิมาย ผู้ประสานงานขบวนการสร้างเสริมสุขภาพประชาชน ภาคอีสาน กล่าวว่าตนในฐานะที่สูญเสียลูกชายจากคนเมาแล้วขับ และได้ลุกขึ้นมาร่วมกับงานภาคีเครือข่ายองค์กรงดเหล้า ได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ทำงานช่วยเหลือเคสที่ได้รับผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เฝ้าระวังการบังคับใช้กฎหมาย จัดกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อเด็ก เยาวชนและชุมชนมากมาย ซึ่งเห็นได้ชัดว่าชุมชนได้รับประโยชน์จากโครงการต่างๆของ สสส. ในการสร้างเสริมสุขภาพของประชาชน ก่อนที่จะต้องไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลจากอาการเจ็บป่วย เห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน จึงรับไม่ได้ที่ทราบว่าจะมีการแก้ไขกฎหมาย สสส.ให้กลับไปอยู่ภายใต้ระบบราชการ ซึ่งเป็นการทุบทำลายเจตนารมณ์ของการเกิดกองทุนนี้อย่างสิ้นเชิง ทุกวันนี้กิจกรรมต่างๆก็มีความยากลำบากอยู่พอสมควรแล้ว งานเอกสาร การตรวจสอบต่างๆก็ไม่น้อย ก็ยังอยู่ในระดับที่รับได้ แต่หากใช้ระบบราชการมาจับ คงไม่มีใครอยากลุกขึ้นมาทำงานสร้างเสริมสุขภาพอีก ในสัปดาห์หน้าตนและเครือข่ายเยาวชน เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากสุรา จะเข้าพบผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เพื่อยื่นหนังสือผ่านไปถึงนายกรัฐมนตรีให้ยุติการแก้ไข พ.ร.บ.สสส. ด้วย
| ['ข่าว', 'การเมือง', 'คุณภาพชีวิต', 'ขบวนการสร้างเสริมสุขภาพภาคประชาชน', 'สสส.', 'พ.ร.บ.กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ', 'เจกะพันธ์ พรหมมงคล'] |
https://prachatai.com/print/79354 | 2018-10-29 13:09 | รอลงอาญา 1 ปี พุทธอิสระ คดีการ์ด กปปส.เวทีแจ้งวัฒนะทำร้ายตำรวจสันติบาลสาหัส | ศาลอาญาพิพากษาจำคุก 'พุทธอิสระ' 3 ปี คดีการ์ด กปปส.เวทีแจ้งวัฒนะทำร้ายตำรวจสาหัส แต่สารภาพ บวกกับไม่เคยต้องโทษอาญามาก่อน จึงให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี เผยเตรียมจะบวชในวันที่ 1 ธ.ค.นี้
29 ต.ค.2561 Banrasdr Photo [1] รายงานว่า วันนี้ เมื่อเวลา 10.00 น ศาลอาญาพิพากษาจำคุก สุวิทย์ ทองประเสริฐ หรืออดีตพระพุทธอิสระ ในคดีอั้งยี่ ซ่องโจร กักขังหน่วงเหนี่ยวทำให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บเป็นโทษหนักจำคุก 3 ปี แต่จำเลยให้การรับสารภาพ จึงลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 ปี 6 เดือน เมื่อศาลสืบเสาะแล้วเห็นว่าจำเลยได้วางเงินชดให้กับผู้เสียหายแล้วเป็นจำนวน 40,000 บาท และผู้เสียหายไม่ติดใจดำเนินคดีต่อ อีกทั้งจำเลยไม่เคยต้องโทษคดีอาญามาก่อน จึงให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี
ภายหลังจากฟังศาลตัดสิน สุวิทย์ หรือพุทธอิสระ กล่าวก่อนเดินทางกลับว่าเป็นความเมตตาของศาล ตนยังมีอาการป่วยอยู่ ส่วนข่าวที่ว่าจะกลับมาบวชอีกครั้งนั้นเป็นความจริง โดยตนเตรียมจะบวชในวันที่ 1 ธ.ค.นี้ แต่ขอไม่ตอบว่าจะบวชวัดใด
จับ หน.การ์ด กปปส.แจ้งวัฒนะคดีแย่งปืนตำรวจ-ทำร้ายทหารย้ายกรวย [2]
ตร.รวบการ์ด กปปส. รุมยำนักบินฝึกหัดขยับกรวยบนโทลล์เวย์ [3]
มารดา พ.อ.วิทวัส ถวายคืนค่าทำขวัญ "พุทธะอิสระ" - นิมนต์ให้ไปชุมนุมที่อื่น [4]
สำหรับคดีดังกล่าว โปลิศนิวส์ [5] รายงานเพิ่มเติมว่า กรณีเมื่อระหว่าง 23 พ.ย.56 - 1 พ.ค. 57 ต่อเนื่องกัน จำเลยกับพวกร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปมีพฤติการณ์เป็งอั้งยี่ซ่องโจร เป็นหัวหน้า ผู้สั่งการกลุ่ม กปปส.เวทีแจ้งวัฒนะ หน้ากรมสอบสวนคดีพิเศษ โดยปลุกระดม ยุยง ชักชวนประชาชน และแนวร่วมเพื่อขับไล่รัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และขัดขวางการเลือกตั้ง ส.ส. เข้ายึดหน่วยงานและสถานที่ราชการหลายแห่งโดยร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขัง ใช้กำลังประทุษร้าย ร.ต.ต.สมคิด เชยกมล, ด.ต.วชิรพงศ์ อุ่นนวลบูรพงศ์ 2 เจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาล ได้รับบาดเจ็บสาหัส และทรัพย์สินรวม 8 รายการมูลค่า 60,900 บาทสูญหาย เหตุเกิดแขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กทม. จำเลยรับสารภาพและได้รับการประกันตัวจากศาล 2 แสนบาท ห้ามออกนอกประเทศ วันนี้ สุวิทย์ ที่อยู่ในชุดนุ่งขาวห่มขาว เดินทางมาฟังคำพิพากษา พร้อมด้วยทนายความและผู้ติดตาม และคณะศิษย์ยานุศิษย์ประมาณ 30 คน
ภายหลังฟังคำพิพากษาแล้วกลุ่มลูกศิษย์ ประมาณ 30 คน ได้พนมมือกล่าวพร้อมกันสาธุ ในห้องพิจารณาคดี
| ['ข่าว', 'การเมือง', 'อั้งยี่ซ่องโจร', 'กปปส.', 'สุวิทย์ ทองประเสริฐ', 'พุทธอิสระ', 'ตำรวจสันติบาล'] |
https://prachatai.com/print/79357 | 2018-10-29 14:43 | ประกวด “Mr Gay World Thailand 2019” | เสียงเพื่อความหลากหลายทางเพศ “เกย์กล้าก้าว”ต้องการพูดอะไร
ในปัจจุบันนี้ กระแสความเคลื่อนไหวของกลุ่มหลากหลายทางเพศ หรือกลุ่ม LGBT ( ย่อมาจาก Lesbian Gay Bisexual Transexual ) มีมากขึ้นเพื่อเป้าหมายด้านสิทธิมนุษยชน ที่กลุ่ม LGBT จะได้รับการยอมรับในศักยภาพ ไม่ถูกรังเกียจ ตีตราหรือไม่เลือกปฏิบัติ รวมทั้งได้รับสิทธิ์รับรองในทางกฎหมายที่จำเป็น เช่น กฎหมายรับรองเพศหรือกฎหมายคู่ชีวิตที่กำลังผลักดันให้มีการตรากฎหมายออกมาบังคับใช้ในประเทศไทยขณะนี้
สิ่งที่สำคัญในการขับเคลื่อน คือ ต้องมีการรวมกลุ่มเพื่อแลกเปลี่ยนความคิด และพื้นที่ในการสื่อสารสู่สังคม องค์กรบางกอกเรนโบว์ ร่วมกับมูลนิธิ AHF หรือ Aids Health care Foundation ได้เปิดพื้นที่นี้โดยการจัดประกวด “Mr Gay World Thailand 2019” ซึ่งเป็นการจัดปีที่ 3 เพื่อมุ่งเป็นพื้นที่สำหรับการสื่อสารนี้ โดยปีนี้ จัดในแก่นเรื่อง dare to shine หรือ “เกย์กล้าก้าว” คือความกล้าที่จะออกมาเพื่อแสดงศักยภาพ และสื่อสารสิ่งที่ต้องการรณรงค์เพื่อสร้างสรรค์สังคม LGBT
ในประเทศไทย เรารับรู้ว่ากลุ่ม LGBT เป็นกลุ่มที่มีเสรีภาพในการใช้ชีวิต แต่อาจเรียกได้ว่าเป็นการ “เปิดเสรี” ยังไม่ใช่การ “เปิดกว้าง” กล่าวคือ ยังมีความไม่ยอมรับในศักยภาพของ LGBT ในบางเรื่อง เช่น การได้รับการสนับสนุนขึ้นสู่ตำแหน่ง การยังตีตรา LGBT หรือยังขาดกฎหมายรับรองสิทธิในบางเรื่องเช่น สิทธิของคู่สมรสเพศเดียวกัน เวทีนี้จึงเปิดโอกาสให้ผู้เข้าประกวดได้พูดถึงสิ่งที่ตัวเองอยากรณรงค์ให้สังคมในมิติของ LGBT ดีขึ้น
โดยบุคลิกที่แตกต่างจากการประกวดเวทีอื่นคือ 1 .ผู้เข้าประกวดจะต้องมีความสนใจในเรื่องการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน LGBT โดยต้องมีการทำแผนรณรงค์ทางสังคม หรือ Social Campaign เพื่อกลุ่ม LGBT ในเรื่องต่างๆ ที่หลากหลาย อาทิ การส่งเสริมให้ภูมิใจในการเปิดเผยเพศสภาพ , การลดการเลือกปฏิบัติต่อกลุ่ม LGBT , การลดการคุกคามกลุ่ม LGBT , สิทธิทางกฎหมายที่ควรได้ , ปัญหาการติดเชื้อ HIV ซึ่งในปีนี้มีผู้เข้าประกวด 31 คนที่เสนอแผนรณรงค์ในเรื่องที่แตกต่างกันไป
2.เวที Mr Gay World Thailand ไม่ได้มุ่งเน้นการประกวดความงาม ผู้เข้าประกวดที่ไม่ได้ต้องการความหล่อดูดี หรือมีบุคลิกเป็นชายแท้เท่านั้น แต่ผู้เข้าประกวดจะเป็นเกย์ในหลายรูปแบบ เพราะเวทีได้ตั้งโจทย์ไว้ว่า “ทุกความหลากหลายคือความงดงามและมีศักยภาพในตัวเอง” และเปิดกว้างสำหรับช่วงอายุผู้เข้าประกวดตั้งแต่ 18-45 ปี เพราะความแตกต่างในแต่ละช่วงอายุ จะมีประสบการณ์และมีมุมมอง ตลอดจนสิ่งที่ต้องการรณรงค์ที่แตกต่างกัน ความเปิดกว้างมีไปถึงว่า ผู้เข้าประกวดปีนี้มีทั้งผู้มีคู่ชีวิตเพศเดียวกันและรับบุตรบุญธรรม ไปจนถึงมีผู้ติดเชื้อ HIV ร่วมประกวด
ผู้เข้าประกวดทั้ง 31 คนมีตั้งใจสร้างสรรค์แผนรณรงค์ทางสังคมของตัวเองอย่างมาก โดยมุ่งหวังไปถึงให้เป็นแผนที่โดนใจ ใช้ได้จริง คณะกรรมการจัดให้ผู้เข้าประกวดได้เสนอแผนรณรงค์ทางสังคมเพื่อ LGBT ของตัวเอง ในวันที่ 3 พฤศจิกายน เวลา 09.00 น.-17.00 น. ที่ห้อง R 805 ชั้น 8 วิทยาลัยการจัดการ กรุงเทพมหานคร ม.พะเยา ( อาคารเวฟเพลส หรือตึกโฮมโปร ข้างสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสเพลินจิต ) ผู้จัดงานขอเรียนเชิญสื่อมวลชนที่สนใจรับฟังเรื่อง “เสียงของเกย์กล้าก้าว ต้องการพูดอะไรกับสังคม” ได้ร่วมรับฟัง ณ วันเวลาและสถานที่ดังกล่าว
การเสนอแผนดังกล่าว เพื่อเป็นการรับทราบถึงความต้องการขับเคลื่อนทางสังคมเพื่อ LGBT ที่ผู้เข้าประกวดได้ใช้โอกาสนี้สะท้อนผ่านกิจกรรมหลักของเวที ซึ่งจะมีการพูดถึงปัญหาที่หลากหลาย และแนวทางที่ต่างก็คิดว่า น่าจะนำมาใช้ได้ในเชิงสร้างสรรค์ เป็นการแข่งขันทางความคิด เพื่อเป้าหมายในการสร้างสรรค์สังคมที่ดีงาม
สำหรับการประกวด Mr Gay World Thailand รอบตัดสิน จะจัดขึ้นที่เมมโบ้ คาบาเรต์คลับ ย่านพระรามสาม ตั้งแต่เวลา 13.00 น.-16.00 น. วันอาทิตย์ที่ 25 พฤศจิกายน 2561 การประกวดมีการจำหน่ายบัตรราคา 350 บาทและ 500 บาท โดยผู้ได้รับเลือกเป็น Mr Gay World Thailand จะเป็นตัวแทนเกย์ไทยไปประกวดเวที Mr Gay World 2019 ที่กรุงเคปทาวน์ ประเทศแอฟริกาใต้ ในช่วงปลายเดือนเมษายน พ.ศ.2562
สามารถติดตามรายละเอียดของการประกวดได้ทางเพจ https://www.facebook.com/mrgaythailand/
| ['Mr Gay World Thailand'] |
https://prachatai.com/print/79358 | 2018-10-29 14:44 | ‘ประเทศกูมี’ ศรีวราห์ชี้ฟัง-ร้อง-แชร์ได้ไม่ผิด ประยุทธ์พ้อเป็นเผด็จการมากเลยเหรอ | ศรีวราห์ ระบุจะส่งทนายร้อง ปอท.กรณีเพลงแร็ปดังกล่าวกล่าวหาตนเองจับกุม ออกหมายเรียก ขุดเรื่องเสือมาวิจารณ์ทั้งที่อยู่ในชั้นศาล ทำสังคมเข้าใจผิดประยุทธ์ชี้อย่าสนใจโลกโซเชียล อย่าอ้างว่ามีเสรีภาพ ไร้ขีดจำกัด แล้วจะทำไรก็ได้ พ้อที่ผ่านมาลำบากขนาดนั้นเชียวหรือ เผด็จการมากเลยเหรอ
วันนี้ (29 ต.ค. 61) เว็บไซต์มติชน [1]รายงานว่า เมื่อเวลา 11.50น. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รองผบ.ตร.) ด้านความมั่นคงและกิจการพิเศษ ได้เรียกตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ที่เกี่ยวข้องการสืบสวนสอบสวนกรณี เพลงแร็ป ‘ประเทศกูมี’ นำโดยพ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รองโฆษกปอท. มาหารือ รับทราบความคืบหน้า ข้อเท็จจริง โดยรองผบ.ตร.ยืนยันให้ ปอท.ตรวจสอบ ส่วนตนเองฟังแต่ท่อนเสือ ระบุว่าไม่มีหมายเรียกใคร ไม่จำเป็นต้องเชิญใครมาในตอนนี้ อย่าให้ราคามาก
พล.ต.อ.ศรีวราห์กล่าวว่า จะส่งทนายร้อง ปอท.กรณีเพลงแร็ปดังกล่าวกล่าวหาตนเองว่าจับกุม ออกหมายเรียก ทั้งที่เป็นเรื่องเท็จ ขุดเรื่องคดีเสือมาวิจารณ์ ทั้งที่อยู่ในชั้นศาล ทำให้ตนเสียหาย สังคมเข้าใจผิด
“ยอมรับว่าในชั้นนี้ยังไม่มีหลักฐานเอาผิดได้ ตอนนี้ฟังได้ ร้องได้ แชร์ได้ ไม่ผิด” พล.ต.อ.ศรีวราห์กล่าว
วันเดียวกัน เว็บไซต์วอยซ์ทีวี [2]ระบุว่า ก่อนการประชุม ครม.สัญจร พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีนำคณะพบประชาชนที่เทศบาลเมืองพะเยา โดยส่วนหนึ่งได้กล่าวถึงกระแสเพลงประเทศกูมีว่า อย่าสนใจโลกโซเชียล ที่มีการโพสต์และแชร์เพลงแร็ปที่กล่าวถึงการทำงานของรัฐบาล จะมีเพลงอะไรออกมาก็ปล่อยไป ยิ่งสนใจ ก็ไปกันใหญ่ ฟังแล้วอย่างไร ฟังแล้วมันใช่หรือไม่ใช่ ไม่ใช่มาอ้างว่ามีเสรีภาพ ไร้ขีดจำกัด แล้วจะทำไรก็ได้ วันหน้าจะเดือนร้อน หากทุกฝ่ายออกมาอ้างแบบนี้ ขออย่าเป็นเครื่องมือคนอื่น ที่ผ่านมามันลำบากขนาดนั้นเชียวหรือ ดังนั้นไม่ต้องไปสนใจ ตนเผด็จการมากเลยเหรอ หากตนเผด็จการคงไม่มาอย่างนี้
ทั้งนี้มิวสิควิดีโอเพลง ‘ประเทศกูมี’ โดยกลุ่ม ของกลุ่มแร็ปเปอร์ 'Rap Against Dictatorship' หรือ RAD ได้ถูกอัพโหลดขึ้นยูทูบเมื่อวันที่ 22 ต.ค. ที่ผ่านมา และเมื่อวันที่ 26 ต.ค. หลังจากที่ พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้ระบุว่ามิวสิควิดีโอนั้นเสี่ยงขัดคำสั่ง คสช. โดยจะให้ตำรวจจากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ตรวจสอบเนื้อหา เชิญคนที่ปรากฎในคลิปมาให้ปากคำ พร้อมเตือนคนทำเพลงอย่าทำสุ่มเสี่ยงจะไม่เป็นผลดีต่อตัวเองและครอบครัว กระแสของเพลงนี้ก็พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว มีการถกเถียงระหว่างฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยในโลกโซเชียล จนทำให้เป็นเทรนด์อันดับหนึ่งในทวิตเตอร์ ยอดดาวน์โหลดอันดับหนึ่งใน iTunes และยอดวิวในยูทูบพุ่งสูงแตะ 10 ล้านวิวในชั่วข้ามคืน และในวันนี้ยอดวิวในยูทูบล่าสุดอยู่ที่เกือบ 19 ล้านวิว
| ['ข่าว', 'การเมือง', 'สังคม', 'วัฒนธรรม', 'สิทธิมนุษยชน', 'ประเทศกูมี', 'Rap Against Dictatorship', 'RAD', 'ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล', 'ประยุทธ์ จันทร์โอชา'] |
https://prachatai.com/print/79353 | 2018-10-29 13:05 | สเวียตลานา อเล็กซิเยวิช – นักเขียนที่ #ประเทศกู(น่าจะ)มีและอ่านกัน: ว่าด้วยช่วงชีวิตที่ถูกเผด็จการปล้นและแทนที่ด้วย “เวลามือสอง” | แหล่งภาพ: https://www.theguardian.com/books/2017/jul/21/svetlana-alexievich-interview [1]
ปฏิกิริยาตอบรับอย่างอบอุ่นและขับไสไล่ส่งอย่างรังเกียจ อีกทั้งความพยายามของทางการที่จะเซ็นเซอร์เพลง “ประเทศกูมี” ซึ่งเป็นเพลง Rap วิพากษ์วิจารณ์สถานการณ์ทางการเมืองและต่อต้านเผด็จการนั้น ได้สะท้อนความจริงประการสำคัญที่เราไม่อาจมองข้าม นั่นคือ ข้อที่ว่าในสังคมโลกที่เผด็จการพยายามควบคุมการแสดงออกทางความคิดทุกรูปแบบและทุกระดับ งานศิลปะที่เปี่ยมด้วยความตระหนักรู้ – อันเป็นงานที่เปิดพื้นที่ให้กับการคิดตีความอันหลากหลายสุดจะคาดเดาและเหนือวิสัยการออกแบบวางโปรแกรมให้เห็นเหมือนและตามกันทุกกระเบียด – ยังมิวายเป็นช่องทางการแสดงออกที่ทรงพลังอย่างหาที่เปรียบมิได้ ด้วยงานศิลปะเป็นที่พึ่งและความหวังสำหรับประชาชน และในขณะเดียวกันก็เป็นที่เกลียดกลัวสำหรับผู้ทรงอำนาจ แต่กระนั้น แม้เราจะตระหนักดีว่างานศิลปะทรงพลังในฐานะอาวุธต่อสู้กับอำนาจนำที่คอยเฝ้าระวังปลดอาวุธทางปัญญาของเราอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ความพยายามบังคับ ระงับ และปราบปรามความคิดความอ่าน อีกทั้งจำกัดสิทธิในการตีความเชิงวิพากษ์ของประชาชนนั้นส่งผลเสียมากกว่าผลดีแน่นอน โดยเฉพาะผลเสียในระยะยาว ด้วยมนุษย์มีคุณสมบัติหนึ่งที่พวกเราย่อมรู้ดี นั่นคือ สามารถปรับตัวให้เข้ากับทุกสถานการณ์ได้ดีมีสิทธิภาพถึงขึ้นที่ว่าสมมติมีตะปูในรองเท้าคู่และเราจำต้องใส่และใช้ชีวิตอยู่กับรองเท้าคู่นั้น เราจะสามารถปรับตัวและหาทางเขย่งตะแคงเท้าเดินต่อไปให้ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ ช่างง่ายเหลือเกินที่ประชาชนจะสามารถปรับตัวให้คุ้นชินและทำใจให้ชินชาไม่รู้สึกรู้สมต่อข้อจำกัดที่ทางการบีบบังคับให้ยอมรับ นานวันเข้าก็จะมองไม่เห็นว่าตนกำลังถูกปล้น สิ่งที่ถูกปล้นไปอย่างโหดเหี้ยมคือช่วงชีวิตอันมีความหมาย ช่วงชีวิตแห่งการเติบโตทางความคิดอย่างเสรีในแสงแดดอันเจิดจ้าแห่งศิลปะที่เสริมสร้างความตระหนักรู้ทางสังคม สิ่งที่เผด็จการพรากไปนั้นจะกลายเป็นเพียงภาพความทรงจำ ด้วยช่วงชีวิตที่ถูกปล้นไปนั้นถูกแทนที่ด้วยช่วงชีวิตจอมปลอมที่มีแต่เปลือก กล่าวคือถูกแทนที่ด้วย “เวลามือสอง” ที่ผ่านการย่อยขย้อนจนไม่เหลือความหมายหรือคุณประโยชน์อันใดที่จะจรรโลงให้เราสามารถใช้ชีวิตที่ทรงคุณค่าและมีเอกลักษณ์สมเป็นปัจเจก
น่าสนใจที่ “เวลามือสอง” นี้เป็นชื่องานเขียนชิ้นสำคัญและมีชื่อเสียงของนักเขียน “ม้ามืด” คนหนึ่งที่ผู้เขียนบทความคิดว่า #ประเทศกู(น่าจะ)มีและอ่านกัน
ขอเริ่มด้วยประเด็นงานศิลปะและความเกลียดกลัวของเผด็จการ
เมื่อ สเวียตลานา อเล็กซิเยวิช (Svetlana Alexievich) นักหนังสือพิมพ์ชาวเบลารุสเชื้อสายยูเครน ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมประจำปีพ.ศ. 2558 และข่าวนั้นได้แว่วมาถึงหูของประธานาธิบดีอเล็กซานเดอร์ ลูกาเชงโกแล้ว ประธานาธิบดีผู้อยู่ในตำแหน่งอย่างคงกระพันตั้งแต่พ.ศ. 2537 คนนี้ก็ประกาศกร้าวด้วยความเกลียดเข้ากระดูกดำทันทีว่านักเขียนรางวัลโนเบลคนนี้ได้โยน “ปฏิกูลเต็มๆ หนึ่งถัง” ไปยังประชาชนชาวเบลารุส คำพูดดังกล่าวมิเพียงรุนแรงและไม่สมเหตุสมผล หากยังชี้ให้เห็นว่าผู้นำของประเทศที่ สเวียตลานา อเล็กซิเยวิช ทำชื่อเสียงให้อย่างใหญ่หลวงนั้น ไม่แม้แต่จะเห็นคุณค่างานเขียนของเธอ ซึ่งเธอเองนั้นก็โต้ตอบคำกล่าวหาว่างานของเธอมุ่งวิพากษ์วิจารณ์ระบอบเผด็จการ ไม่ได้มุ่งโจมตีผู้คนที่ตกอยู่ใต้ระบอบแต่อย่างใด[2] ปฏิกิริยาของนักเขียนผู้ถูกโจมตีไม่ได้ส่อถึงความรู้สึกแปลกใจเลยแม้แต่น้อย เพราะในระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา งานเขียนของเธอถูกระงับพิมพ์และห้ามเผยแพร่ในเบลารุส เมื่อพ.ศ. 2543 เธอทนไม่ได้ จึงตัดสินใจย้ายไปอยู่ประเทศต่างๆ ในยุโรปไม่ว่าจะเป็นฝรั่งเศส เยอรมนี และสวีเดน เธอเพิ่งจะเดินทางกลับมาประเทศบ้านเกิดเมื่อพ.ศ. 2554 เท่านั้น เมื่อกลับมาแล้วถูกเพ่งเล็ง จึงตัดสินใจอยู่และทำงานเงียบๆ สำหรับนักอ่านนอกยุโรปกลางและยุโรปตะวันออกแล้ว เธอคือม้ามืด สำหรับนักอ่านในภูมิภาคดังกล่าว สเวียตลานา อเล็กซิเยวิชได้รางวัลนี้ช้าไปเสียด้วยซ้ำ
ถ้อยแถลงอย่างเป็นทางการของคณะกรรมการรางวัลโนเบลบ่งชี้ว่าสเวียตลานา อเล็กซิเยวิชสมควรได้รับรางวัลเนื่องจากเธอได้ผลิต “งานเขียนแห่งเสียงประสาน” บอกเล่าเรื่องราวหลากเสียง และงานเขียนที่เป็น “อนุสรณ์สถานแห่งความระทมทุกข์และความกล้าหาญแห่งยุคสมัยของเรา” (“for her polyphonic writings, a monument to suffering and courage in our time”)[3]การประกาศผลรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมประจำปีนั้นได้พลิกความคาดหมายของผู้อ่านในบรรณพิภพงานเขียนภาษาอังกฤษหรืองานเขียนที่แปลเป็นภาษาอังกฤษแห่งศตวรรษที่ 21 และโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้อ่านชาวไทยด้วยเหตุผลหลักสองประการ
ประการแรก เมื่อเทียบกับนักเขียน “ตัวเต็ง” คนอื่นๆ ซึ่งผู้อ่านงานวรรณกรรมโลกคุ้นเคยและคอยลุ้นให้ได้รับรางวัล เช่น ฮะรุกิ มุระกะมิ (Haruki Murakami) นักเขียนชาวญี่ปุ่นเจ้าของผลงานชื่อดัง เช่น เรื่อง Kafka on the Shore (ตีพิมพ์เมื่อพ.ศ. 2545) หรือชื่อฉบับแปลภาษาไทยของสำนักพิมพ์กำมะหยี่คือ คาฟกา วิฬาร์ นาคาตะ และเรื่อง 1Q84 (ตีพิมพ์ระหว่างพ.ศ. 2552-2553) หรือชื่อฉบับแปลภาษาไทยของสำนักพิมพ์กำมะหยี่คือ หนึ่งคิวแปดสี่ หรือ กูกี วาธิอองโก (Ngũgĩ wa Thiong'o) นักเขียนชาวเคนยาที่ผู้ศึกษาแนวคิดโพสโคโลเนียล (Postcolonialsm) คุ้นเคย ด้วยเป็นตัวอย่างของนักเขียนที่ตัดสินใจเลือกเขียนภาษาท้องถิ่นแทนภาษาอังกฤษเพื่อแสดงจุดยืนทางความคิดต้านลัทธิอาณานิคม กูกี วาธิอองโกเป็นเจ้าของผลงานนวนิยายหลายเล่ม เช่น A Grain of Wheat หรือ เมล็ดพันธุ์แห่งข้าวสาลี[4] (ตีพิมพ์เมื่อพ.ศ. 2510) และงานเขียนเชิงวิพากษ์ เช่น Decolonising the Mind: The Politics of Language in African Literature หรือ การปลดแอกอาณานิคมแห่งปัญญา: หลักการแห่งการใช้ภาษาในวรรณคดีแอฟริกัน[5] (ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ1986) แล้วกล่าวได้ว่าสเวียตลานา อเล็กซิเยวิช และผลงานของนักเขียนผู้นี้ไม่เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง ทั้งหมดนี้เป็นภาพสะท้อนช่องโหว่ในการเรียนการสอนและการสร้างองค์ความรู้ประวัติศาสตร์โลก ประวัติศาสตร์สงคราม อีกทั้งประวัติศาสตร์แห่งภูมิภาคยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประวัติศาสตร์เบลารุสและยูเครน
ประการที่สอง สเวียตลานา อเล็กซิเยวิชนับเป็นนักเขียนงานสารคดีอิงเรื่องจริง (non-fiction) ในรอบกว่าครึ่งศตวรรษที่ได้รับรางวัลอันทรงเกียรตินี้ นักเขียนส่วนมากที่ได้รับรางวัลอันมีชื่อเสียงระดับโลก เช่น รัดยาร์ด คิปลิง (Rudyard Kipling) กวีชาวอังกฤษเกิดที่อินเดีย วิลเลียม บัตเลอร์ เยตส์ (William Butler Yeats) กวีชาวไอร์แลนด์ และ ที.เอส. เอเลียต (T.S. Eliot) กวีชาวอังกฤษเกิดที่สหรัฐอเมริกา ล้วนเป็นนักเขียนที่มีชื่อเสียงด้านบทกวีหรือบันเทิงคดี (fiction) ทั้งสิ้น ส่วนนักเขียนสารคดีผู้มีชื่อเสียงที่ได้รับรางวัลโนเบลก่อนหน้าสเวียตลานา อเล็กซิเยวิชนั้นได้แก่ เบอร์ทรันด์ รัสเซลล์ (Bertrand Russell) และ วินสตัน เชอร์ชิล (Winston Churchill)[6] สเวียตลานา อเล็กซิเยวิช นอกจากจะเป็นชาวเบลารุสคนแรกที่ได้รับรางวัลโนเบลแล้ว ยังนับเป็นนักหนังสือพิมพ์คนแรกและสตรีลำดับที่ 14 ที่ได้รับรางวัลนี้อีกด้วย[7] ศาสตราจารย์ซารา ดานิอุส (Sara Danius) เลขาธิการแห่งสถาบันวิชาการสวีเดน (The Swedish Academy) กล่าวว่าสเวียตลานา อเล็กซิเยวิชได้ “คิดค้นรูปแบบวรรณกรรมประเภทใหม่”[8] อันทำให้เป็นที่ประจักษ์ว่า “ความสำเร็จทางวรรณกรรมของเธอนั้นสะท้อนทั้งในระดับของเนื้อหาและรูปแบบ”[9] งานเขียนของสเวียตลานา อเล็กซิเยวิชเป็นงานเขียนเชิงสารคดีที่เป็นผลจากการเก็บรวบรวมข้อมูลจากการสัมภาษณ์นับครั้งไม่ถ้วน เป็นผลของการบรรจงเรียงร้อยเรื่องเล่าจากผู้คนที่เผชิญกับสงครามและสถานการณ์ภัยพิบัติที่พลิกผันชีวิต ซึ่งทั้งหมดนี้ทำให้เธอเป็นนักเขียนที่มีสถานะเป็นผู้บันทึกประวัติศาสตร์และเรื่องราวจากโลกแห่งการสูญเสีย แต่ทั้งนี้ การเขียนประเภทดังกล่าวเป็นส่วนผสมของการเปิดเผยข้อเท็จจริงและการเลือกเฟ้น เรียงลำดับและเรียบเรียงทางวรรณศิลป์อย่างเลี่ยงไม่ได้ จากบทสัมภาษณ์หนึ่ง ผู้อ่านได้ทราบว่ารูปแบบวิธีการเขียน “งานวรรณกรรมเชิงสารคดี” ซึ่งเป็นการเขียน “งานเขียนสารคดีเชิงวรรณกรรม/วรรณศิลป์” ในเวลาเดียวกันนั้น สเวียตลานา อเล็กซิเยวิชได้รับแรงบันดาลใจจากวรรณคดีภาษารัสเซียซึ่งมีรากยึดโยงเหนี่ยวแน่นในขนบวรรณคดีมุขปาฐะ: “ขนบการเล่าแบบนี้ กล่าวคือบันทึกเรื่องราวมุขปาฐะ และบันทึกน้ำเสียง/สุรเสียงอันมีชีวิตนั้น ได้ถูกวางรากฐานในวรรณคดีรัสเซียที่เขียนขึ้นก่อนฉัน”[10] นอกจากนี้ นั้น เธอยังล่าวเสริมว่า
ฉันตระหนักว่าชีวิตได้มอบแบบฉบับเรื่องราวและการตีความมากมายหลายแบบเมื่อพินิจเหตุการณ์เดียวกันจนบันเทิงคดีหรือสารคดีเพียงมิติรูปแบบเดียวนั้นมิอาจรองรับความหลากหลายนั้นๆ ได้ ฉันรู้สึกว่าฉันจำต้องหากลวิธีเล่าเรื่องในรูปแบบที่แตกต่างจากเดิม ฉันตัดสินใจรวบรวมเสียงต่างๆ จากท้องถนน เนื้อหาที่เรียงรายรอบตัวฉัน ผู้คนแต่ละคนนั้นมอบตัวบทในแบบฉบับของตน ฉันตระหนักว่าฉันสามารถผลิตหนังสือจากตัวบทต่างๆ เหล่านี้[11]
ผู้อ่านอาจเข้าใจไปว่า สเวียตลานา อเล็กซิเยวิช เป็นเพียง “เครื่องบันทึกเทป” ที่มีหน้าที่เก็บและรวบรวมเรื่องเล่าต่างๆ เท่านั้น ซึ่งไม่น่าจะเป็นคุณสมบัติของผู้ที่คู่ควรกับรางวัลโนเบล อันเป็นรางวัลที่พิจารณาจากผลงานทั้งหมดที่ผลิตมาทั้งชีวิต กรอบวิธีวิเคราะห์เรื่องเล่า (narrative) แนวโพสต์โมเดิร์นนิสม์ (postmodernism) กลับเผยให้เห็นเบื้องหลังแห่งคัดสรรเรื่องราวและจัดเรียงองค์ประกอบต่างๆ ที่รวมกันกลายเป็นเรื่องราวที่ดูจะเป็นเรื่องราวแบบฉบับสัมบูรณ์หนึ่งเดียว ที่เรียกว่า “อภิมหาพรรณนา” (metanarrative/grand narrative) ประเด็นนี้ ฌ็อง-ฟรองซัวส์ เลียวตาร์ (Jean Francoise Lyotard) กล่าวสรุปว่า “นี้อาจเป็นการย่นย่อให้ง่ายจนสุดโต่ง แต่ข้าพเจ้านิยามโพสต์โมเดิร์นว่าความกังขาในอภิมหาพรรณนาต่างๆ”[12] เรื่องเล่าต่างๆ นั้นแม้จะอิงข้อเท็จจริงเพียงใด แต่ในขั้นตอนการถ่ายทอดให้ผู้ฟังหรือผู้อ่านนั้น วรรณศิลป์หรือศิลปะแห่งการบรรยายและพรรณนาให้เห็นภาพนั้นแทบจะแยกออกมาจากเนื้อหามิได้ จึงไม่น่าประหลาดใจที่สเวียตลานา อเล็กซิเยวิชแสดงความตระหนักรู้ถึงการไม่มีอยู่จริงของเรื่องราวอิงข้อเท็จจริงอันบริสุทธิ์สัมบูรณ์ในงานเขียน นี้เองเป็นปัจจัยที่ทำให้งานเขียนของเธอมีเอกลักษณ์และสะท้อนศาสตร์และศิลป์แห่งการคิดค้นรูปแบบวรรณกรรมใหม่ที่ผสมผสานสารคดีและบันเทิงคดีอย่างลงตัว ในประเด็นนี้ เธอได้กล่าวไว้ว่า
บทบาทหน้าที่ของฉันไม่ใช่เป็นแค่หูที่คอยแอบฟังผู้คนพูดคุยกันตามท้องถนน แต่เป็นผู้สังเกตการณ์และนักคิด เมื่อมองจากภายนอกกรรมวิธีดังกล่าวอาจดูจะทำได้ง่ายดาย กล่าวคือผู้คนเล่าเรื่องราวของพวกเขาให้ฉันฟังเฉยๆ เท่านั้น แต่ในความเป็นจริงมันไม่ได้ง่ายเช่นนั้น คำถาม วิธีการถามของผู้ถาม สิ่งที่ผู้ถามได้ยินและองค์ประกอบที่ฉันคัดเลือกจากบทสัมภาษณ์ล้วนสำคัญ ฉันคิดว่าคุณคงไม่สามารถสื่อสะท้อนขอบเขตอันกว้างเหนือกำหนดแห่งชีวิตได้หากปราศจากข้อเท็จจริง หากปราศจากหลักฐานแห่งมนุษย์รองรับ ภาพนั้นคงจะไม่สมบูรณ์[13]
การก่อร่างสร้าง “อนุสรณ์สถานแห่งความระทมทุกข์และความกล้าหาญ” ด้วยปลายปากกาของสเวียตลานา อเล็กซิเยวิชไม่ใช่การจดบันทึกเรื่องราวที่ได้ยินมาอย่างหุ่นยนต์หรือเครื่องยนตร์กลไกไร้ความคิดความรู้สึก หากกว่าจะได้อิฐแต่ละก้อนอันจะนำมาโบกเรียงกันเป็นอนุสรณ์นั้น ผู้เขียนจะต้องเปิดใจรับฟังเรื่องราวที่ไม่ง่ายที่จะรับฟัง เรื่องราวที่เต็มไปด้วยความเจ็บปวดสูญเสีย ครั้นเมื่อรับวัตถุดิบแห่งเรื่องเล่าแล้ว นักเขียนจะต้องนำไปก่อร่างหล่ออิฐที่มีรูปทรงเป็นเอกลักษณ์แตกต่างกันไปตามตัวบทชีวิตที่แตกต่างกันไป นำก้อนอิฐแห่งตัวบทที่ซับซ้อนในตัวทั้งหมดมาคิดวิเคราะห์ วางแผนและจัดเรียงอย่างเป็นศิลปะ โดยไม่ละทิ้งความพยายามที่จะหาสมดุลระหว่างเสียงของตนและเสียงอันเปี่ยมด้วยอารมณ์ความรู้สึกของของมวลชนที่ยากยิ่งที่ระบบสัญญะอันมีแสนยานุภาพและขอบเขตที่จำกัดจะรองรับจับความได้ครบถ้วน สเวียตลานา อเล็กซิเยวิชเป็นมากกว่านักสารคดี หรือนักบันเทิงคดี นอกจากนั้น ยังเป็นมากกว่านักประวัติศาสตร์อีกด้วย เพราะข้อเท็จจริงต่างๆ ของเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์นั้นสำคัญไม่เท่าความเป็นมนุษย์อันละเอียดอ่อนที่สะท้อนในความอดทนอดกลั้นอย่างหาที่สุดไม่ได้ของคนธรรมดาไร้อำนาจ และสะท้อนในความพยายามที่จะมีชีวิตอยู่รอดท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลจากสงคราม ภัยพิบัติ การกดขี่ การทรยศหักหลังและการโกหกหลอกลวงโดยผู้มีอำนาจ หนังสือของสเวียตลานา อเล็กซิเยวิชประสบความสำเร็จในการเปิดโปงความโหดร้ายและไร้หัวจิตหัวใจแห่งระบอบเผด็จการที่งอกงามบนโลงสังกะสีที่จรรโลงลัทธิชาตินิยมอันหลอกลวง หนังสือของเธอประสบความสำเร็จในการพลิกอ่านร่องรอยแห่งความสูญเสียและชีวิตที่ถูกขโมยไปอย่างไม่เป็นธรรมที่จารึกบนบานประตูที่ใช้เป็นฐานวางร่างอันไร้วิญญาณ อันเป็นมรดกตกทอดแห่งครอบครัวหลายยุคสมัยตั้งแต่สงครามโลกจนถึงสงครามทีลวงโลกในวิถีที่น่าอัปยศมากกว่าที่ผ่านมา หนังสือของสเวียตลานา อเล็กซิเยวิชประสบความสำเร็จในการเผยให้เห็นมือที่มองไม่เห็นที่มีส่วนผลักให้ชายและหญิงหลายคนบินเหมือนนกแม้จะได้ลิ้มชิมอิสรภาพเหมือนนกเพียงไม่กี่วินาที ทั้งหลายทั้งมวลนี้ทำให้เธอเป็นนักเขียนที่เป็นภัยต่อระบอบที่มุ่งปิดหูปิดตาประชาชน ในระดับเทียบเท่ากับที่เพลง “ประเทศกูมี” และฉากหลังในมิวสิกวิดีโอของเพลงเป็นภัยในสายตาของกลุ่มอำนาจนำผู้พยายามควบคุมเซ็นเซอร์ความคิดเชิงวิพากษ์ในสังคมไทย
ผลงานอันโดดเด่นของสเวียตลานา อเล็กซิเยวิช ได้แก่
У войны не женское лицо [อู วอยนี เน เชนสกเย ลิตโซ] หรือ “สงครามไซร้ไร้ใบหน้าแห่งสตรี”[14]
แหล่งภาพ: https://books.google.co.th/books/about/The_Unwomanly_Face_of_War.html?id=P5dnDQAAQBAJ&source=kp_cover&redir_esc=y [2]
ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อพ.ศ. 2530 เป็นเรื่องราวชีวิตและประสบการณ์ของผู้หญิงในกองทัพโซเวียตสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ผู้รอดชีวิตและต้องจัดการชีวิตและปรับตัวเข้ากับโลกหลังสงคราม สเวียตลานา อเล็กซิเยวิชย้ำว่าหนังสือเล่มนี้เป็นเรื่องราวของผู้หญิงสามัญชนคนธรรมดาทั้งหลายผู้ผ่านทั้งสมรภูมิรบและสมรภูมิชีวิต ผู้หญิงที่นอกจากจะมีชีวิตอยู่เพื่อตนเองและความสูญเสียในอดีตแล้วยังมีชีวิตอยู่เพื่อผู้อื่นโดยเฉพาะเพื่อครอบครัวที่ตนเองได้สร้างขึ้นหลังผ่านสงครามอันโหดร้ายอีกด้วย:
ส่วนข้อมูลเนื้อหาของหนังสือและหลักการที่เกี่ยวข้องนั้น ฉันจงใจเลี่ยงทหารพลซุ่มยิงที่มีชื่อเสียงหรือนักบินหรือทหารในกองกำลังต่างๆ ที่เป็นที่รู้จัก เพราะมีเขียนเกี่ยวกับพวกเขาแล้วมากมาย “พวกเราเป็นผู้หญิงธรรมดาที่ทำงานในกองทัพ เหมือนหลายๆ คน” ฉันได้ยินประโยคนี้มามากกว่าหนึ่งครั้ง และฉันกำลังเสาะหาผู้คนธรรมดาแบบนี้เพราะความทรงจำของพวกเขานั้นช่วยก่อร่างสร้างคลังแห่งสิ่งที่เราเรียกกันว่าความทรงจำของผู้คน “ถ้าคุณมองสงครามผ่านสายตาของเรา สายตาของผู้หญิง สงครามดูจะเป็นสิ่งที่เลวร้ายที่สุดที่สามารถจินตนาการได้” สิบเอกหญิง อเล็กซานดรา อิโอสิฟอฟนา มิชูตินา สังกัดกรมแพทย์ทหาร นี่คือคำพูดของผู้หญิงคนธรรมดาคนหนึ่งที่ต่อสู้ฟันฝ่าสมรภูมิสงครามมาตลอด หลังสงครามก็แต่งงาน มีลูกสามคนและตอนนี้กำลังช่วยเลี้ยงหลาน คำพูดเหล่านี้สื่อแนวคิดที่อยู่เบื้องหลังหนังสือเล่มนี้[15]
2. Цинковые мальчики [ซินโกเว มัลชิกี] หรือ “เด็กหนุ่มหุ้มสังกะสี”[16]
แหล่งภาพ: https://books.google.co.th/books/about/Boys_in_Zinc.html?id=4fEpDQAAQBAJ&source=kp_cover&redir_esc=y [3]
ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อพ.ศ. 2534 เป็นเรื่องราวชีวิตและประสบการณ์ของทหารและผู้ที่เคยอาศัยและทำงานที่อัฟกานิสถานช่วงสงครามโซเวียตในอัฟกานิสถาน ระหว่างปีพ.ศ. 2522-2532 ซึ่งมีผู้บาดเจ็บและล้มตายถึง 50,000 คน ระบอบโซเวียตได้สั่งการให้สื่อต่างๆ สร้างภาพสงครามว่าดำเนินการไปเพื่อประโยชน์สุขของชาวอัฟกานิสถานโดยทหารนั้นไปช่วยก่อร่างสร้างรัฐสังคมนิยมอันเจริญรุ่งเรือง อีกทั้งได้ล้างสมองและสั่งการให้ทหารและผู้เกี่ยวข้องในสงครามเก็บความลับเกี่ยวกับความเป็นจริงที่ไปประสบที่อัฟกานิสถาน สั่งห้ามเปิดเผยและเปิดโปงความไร้เหตุผลป่าเถื่อนของสงครามนี้ ที่น่าเศร้าที่สุดคือเมื่อเหล่าทหารซึ่งส่วนใหญ่เป็นชายหนุ่มอายุราว 18-20 ปีนั้นเสียชีวิต ทางการจะนำร่างบรรจุไปในโลงสังกะสีและ “ปิดตาย” อันหมายความว่าครอบครัวของผู้เสียชีวิตไม่มีแม้แต่สิทธิที่จะขอเปิดโลงศพเพื่ออำลาบุคคลอันเป็นที่รัก นี้เองเป็นที่มาของชื่อหนังสืออันสื่อนัยความหลอกลวงของโฆษณาชวนเชื่อที่มีส่วนรับผิดชอบการตายและความสูญเสียอันยิ่งใหญ่: “ไม่มีใครอธิบายสาเหตุและรายละเอียดการเสียชีวิต งานศพนั้นจัดตอนกลางคืนเพื่อลดจำนวนฝูงชน และศิลาหลุมฝังศพนั้นจารึกถ้อยคำดังนี้ “เสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่ด้านวิรัชกิจ” ซึ่งกลายเป็นการเกลื่อนคำของความหมายที่แท้จริง นั่นคือ เสียชีวิตระหว่างการรบ[17] ความไม่เป็นธรรมและการกดขี่ข่มเหงประชาชนได้เปลี่ยนชีวิตผู้คนธรรมดาอย่างแม่ของทหารนายหนึ่งโดยสิ้นเชิง ดังนี้:
ครู่แรกที่ฉันรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นคือตอนที่ร้อยเอกคนหนึ่งจากศูนย์บัญชาการเดินทางมาถึง
‘พยายามทำใจดีๆ ไว้ครับ คุณแม่…’ นั่นเป็นคำที่เขาใช้เรียกฉัน
‘ลูกชายของฉันอยู่ที่ไหน’
‘อยู่ที่นี่ ที่มินสก์ พวกเขากำลังพาลูกชายแม่มาตอนนี้’
ฉันทรุดลงไปกับพื้น ‘แสงสว่างน้อยๆ ของฉัน แสงสว่างน้อยๆ ของฉัน’ ฉันลุกยืนและกระโจนไปที่ร้อยเอกคนนั้น ‘ทำไมแกรอด แต่ลูกชายของฉันตาย แกตัวใหญ่แข็งแรง ลูกชายของฉันตัวเล็กนิดเดียว แกเป็นผู้ชายเต็มตัวแต่ลูกชายฉันเป็นแค่เด็กคนหนึ่ง ทำไมแกถึงรอดกลับมา’
มีคนนำหีบศพเข้ามา ฉันโถมตัวลงไปที่โลง ฉันอยากจะนำร่างลูกออกมาจัดนอนแผ่(ให้เห็นกับตา)แต่พวกเขาไม่ยอมให้เราเปิดโลงเพื่อที่จะมองหน้าลูก จับตัวลูก… พวกนั้นได้จัดหาเครื่องแบบที่ขนาดพอดีกับตัวลูกหรือเปล่า[18]
3. Чернобыльская молитва [เชร์โนบิลสกายา มาลิตวา] หรือ “บทภาวนาแห่งเชอร์โนบิล”[19]
แหล่งภาพ: https://books.google.co.th/books/about/Voices_from_Chernobyl.html?id=7D1Mp57Tn8YC&source=kp_cover&redir_esc=y [4]
ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อพ.ศ. 2540 เป็นเรื่องราวชีวิตและประสบการณ์ของผู้ที่ประสบความสูญเสียในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นสุขภาพ บุคคลอันเป็นที่รัก ที่อยู่อาศัยและแม้กระทั่งความทรงจำ อันเป็นผลจากภัยพิบัติเชอร์โนบิลซึ่งเกิดเมื่อวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2529 เรื่องราวในหนังสือเล่มนี้ เช่นเดียวกับเรื่องเด็กหนุ่มหุ้มสังกะสี บ่งชี้ว่าทางการนั้นได้บิดเบือนความจริงในวิถีอันป่าเถื่อนและเลวร้าย เหยื่อของการทรยศหักหลังคือผู้คนธรรมดาไร้อำนาจที่ต้องสูญเสียแทบจะทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิต: “ในช่วงเวลาสิบวันแรกที่สำคัญยิ่ง เมื่อแกนเครื่องปฏิกรณ์นั้นกำลังลุกไหม้และส่งสารกัมมันตภาพรังสีร้ายแรงมายังบริเวณใกล้เคียงอย่างต่อเนื่อง ทางการได้อ้างซ้ำๆ ว่าเข้าควบคุมสถานการณ์ได้เรียบร้อยแล้ว[20] นี้เป็นการโกหกหลอกลวงประชาชนโดยระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จนิยมที่มิเพียงเข้าขั้นก่ออาชญากรรม แต่สะท้อนให้เห็นถึงความไร้มนุษยธรรมและไม่ใส่ใจประชาชนของตน สเวียตลานา อเล็กซิเยวิชใช้เวลากว่าสามปีในการสัมภาษณ์รวบรวมเรื่องราวชีวิตของผู้ที่เป็น “คนธรรมดาสามัญผู้ตอบคำถามที่สำคัญที่สุด[21] คำถามเกี่ยวกับความสูญเสีย ความรัก ความตาย ความสุข ความทุกข์ทั้งหมดนี้เป็นแก่นและหัวใจแห่งมนุษยชาติ เช่นเดียวกับที่เชอร์โนบิลกลายเป็นแก่นแกนหลักแห่งชีวิตของพวกเขาแม้ทางการจะบังคับให้พวกเขาลืมทุกสิ่งทุกอย่างก็ตาม สเวียตลานา อเล็กซิเยวิชเองนั้นก็ประสบกับความสูญเสียและโศกนาฏกรรมอันเป็นผลจากอุบัติภัยเชอร์โนบิลเช่นกัน มารดาของเธอตาบอดและน้องสาวเสียชีวิตเพราะเหตุการณ์ดังกล่าว[22]
ในเรื่องเล่าที่ชื่อว่า “บทพูดเดี่ยวเกี่ยวกับชีวิตทั้งชีวิตที่ลิขิตบนบานประตู”[23] อันเป็นเรื่องราวของพ่อคนหนึ่งที่มิเพียงต้องสูญเสียบ้าน ต้องสูญเสียลูกสาวเพราะพิษกัมมันตรังสี แต่ยังต้องสูญเสียศักดิ์ศรีความเป็นคนโดยหลังจากที่ถูกสั่งให้อพยพแล้ว ผู้คนในเมืองใหม่ที่ตนอาศัยอยู่นั้นมองคนที่มาจากเชอร์โนบิลอย่างตนและครอบครัวอย่างเคลือบแคลงสงสัย นอกจากนี้ เมื่ออพยพออกจากบ้านโดยไม่ได้นำทรัพย์สินอะไรติดตัวไปเลย เขาตั้งใจกลับไป “ขโมย” ทรัพย์สินที่มีค่าที่สุดจากบ้านของตนเอง นั่นคือ บานประตูอันเป็นมรดกตกทอดในครอบครัว:
ประตูของเรา—มันเป็นเครื่องรางของพวกเรา เป็นสมบัติตกทอดของครอบครัว ร่างพ่อของฉันนอนแผ่บนประตู ฉันไม่รู้ว่าธรรมเนียมนี้เป็นของใคร มันไม่เป็นอย่างนี้ไปหมดทุกที่ แต่แม่ของฉันบอกว่าจะต้องวางร่างคนตายไปบนประตูบ้านตัวเอง[24]
ความย้อนแย้งของสถานการณ์สะท้อนในตอนที่เขาถูกตำรวจไล่ล่าราวเป็นหัวขโมยคนหนึ่ง ราวกับว่าบ้านที่เขาไปเยือนนั้นไม่ใช่บ้านของเขาจริงๆ เมื่อได้ประตูบานนั้นมา เขาก็ต้องนำมาใช้ลูกสาวของตัวเองตามขนบของครอบครัว การเล่าเรื่องราวนี้แม้จะเจ็บปวด แม้จะไม่อาจทำให้ลูกสาวฟื้นคืนชีพ แม้จะไม่อาจกู้ชีวิตที่สูญหายไปกับเมืองที่ปิดตาย แม้จะไม่อาจโต้ตอบความโกหกหลอกลวงของทางการ แต่เขาก็ตั้งใจว่าจะขอเป็นส่วนร่วมในการบันทึกเรื่องราวแห่งการสูญเสียเพื่อเป็นสักขีพยานแห่งความรักที่มีต่อลูกสาว อีกทั้งต่อชีวิตที่หายไปและความตายที่ไม่หายไปไหน คอยติดตามเขาและครอบครัวเป็นเงาตามตัว:
ลูกสาวของฉันอายุหกขวบ ฉันกำลังเตรียมให้เธอเข้านอนบนเตียง และเธอกระซิบในหูฉันว่า “พ่อจ๋า หนูอยากมีชีวิตอยู่ หนูยังเล็กนัก” และฉันก็หลงคิดมาตลอดว่าลูกไม่เข้าใจอะไร
…
เราวางร่างลูกไว้บนบานประตู… ประตูที่พ่อของฉันเคยนอน จนพวกเขาเอาโลงศพเล็กๆ ออกมา โลงศพนั้นเล็กเหมือนกล่องที่ไว้ใส่ตุ๊กตายักษ์
ฉันอยากจะให้เรื่องนี้เป็นสักขีพยาน ลูกสาวของฉันตายเพราะเชอร์โนบิล และพวกนั้นอยากให้เราลืมทุกสิ่ง[25]
เรื่องราวที่ฟังดูเหนือจริงแต่แท้จริงนั้นเป็นความจริงอันเจ็บปวดได้รับดัดแปลงเป็นภาพยนตร์สั้น (short film) กำกับโดยฮัวนิตา วิลสัน (Juanita Wilson) ผู้กำกับชาวไอร์แลนด์ ซึ่งได้รับเสนอชื่อเข้ารับรางวัลออสการ์ (Academy Award) ประจำปีพ.ศ. 2553
4. Время секонд хэнд [วรีมยา เซกอนด์ เคนด์] หรือ “เวลามือสอง”[26]
แหล่งภาพ: https://www.penguinrandomhouse.com/books/541184/secondhand-time-by-svetlana-alexievich/9780399588822/ [5]
ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อพ.ศ. 2556 หนังสือเล่มนี้บันทึกเรื่องเล่าของผู้ที่ใช้ชีวิตอยู่ภายใต้ระบอบโซเวียต อีกทั้งนำเสนอบทวิเคราะห์ชีวิตและห้วงคำนึงของผู้คนภายหลังระบอบโซเวียตล่มสลาย:
ฉันสำรวจระบอบสังคมนิยมใน “บ้าน” เพราะแม้ระบอบสังคมนิยมแบบทางการนั้นได้หายไปพร้อมกับพิธีต่างๆ และเสื้อผ้า แต่มันยังอยู่ในเบื้องลึกของมนุษย์ เมื่อยี่สิบถึงยี่สิบห้าปีที่แล้วเราคิดอย่างอาจหาญและไร้เดียงเสียเหลือเกินว่าเราจะอำลาประสบการณ์อันเลวร้ายและแทบจะไร้มนุษยธรรมอย่างง่ายดาย
การณ์กลับเป็นว่า มันไม่ง่ายเลย “มนุษย์สีแดง” ยังมีชีวิตอยู่ในตัวของเรา[27]
ในประเทศที่ยังหนีไม่พ้นเงาเผด็จการและเบ็ดเสร็จนิยมแห่งอดีตอย่างเบลารุส ความเป็น “มนุษย์สีแดง” ผู้จำทนและจำนนต่อความไม่เป็นธรรมและอำนาจกดขี่ยังคงตามหลอกหลอนมิเพียงในรูปแบบระบอบการปกครองของผู้นำเผด็จการในปัจจุบัน แต่ในรูปแบบของความคิดและอารมณ์แห่งห้วงคำนึงเบื้องลึกอีกด้วย สเวียตลานา อเล็กซิเยวิช บันทึกเรื่องราวและวิเคราะห์สภาวะแห่งการเป็น “มนุษย์สีแดง” หรือเรียกอีกนามหนึ่งว่า советский человек “โซเวียตสกี เชโลเว็ก”[28] ซึ่งแปลตรงตัวว่า “มนุษย์โซเวียต” อันได้คนที่นิยามอัตลักษณ์ของตนหรือของกลุ่มโดยอิงกับคุณค่า ลักษณะ มุมมอง วาทกรรมและโฆษณาชวนเชื่อแห่งระบอบคอมมิวนิสต์ อิงแนวโน้มการคิดเชิงวัตถุนิยม (materialism) และลัทธิส่วนรวมนิยมที่เน้นการถือครองกรรมสิทธิ์ร่วมกัน (collectivism) นอกจากนี้ สำหรับประเทศที่เคยเป็นรัฐบริวารของโซเวียตอย่างเป็นทางการ อัตลักษณ์แห่งมนุษย์โซเวียตยังสะท้อนในความรู้สึกโหยหาอดีต (nostalgia) สะท้อนในทัศนคตินั้นเต็มตื้นไปด้วยบรรยากาศช่วงเวลาก่อนที่กำแพงเบอร์ลินจะล่มสลายหรือก่อนที่ระบอบโซเวียตจะล่มสลายอย่างเป็นทางการ บรรดามนุษย์โซเวียตนั้นไม่จำเป็นที่จะต้องเห็นด้วยหรือสนับสนุนระบอบคอมมิวนิสต์ที่ล่มสลายไปเหมือนกันทุกคน แต่เนื่องจากเวลาในห้วงคำนึงซึ่งยึดโยงกับระบอบในอดีตนั้นไม่ตรงกับเวลาในโลกความเป็นจริงแห่งการเปิดประเทศ เปิดพรมแดนเพื่อการค้าเสรี มนุษย์โซเวียตนั้นจะต้องรับมือกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปและต้องพยายามกำหนดนิยามคำต่างๆ เช่น เสรีภาพ ปัจเจกชน ซึ่งล้วนเป็นคำที่ใช้เคยใช้เป็นส่วนหนึ่งของโฆษณาชวนเชื่อทางการเมือง เป็นคำที่ตนไม่เคยมีสิทธิและอำนาจ (agency) ที่จะกำหนดนิยามโดยอิสระเสรีมาก่อนในอดีต
5. Зачарованные смертью [ซาชาโรวานนเย สเมร์ชยู] หรือ “มนตราแห่งมรณา”[29]
ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อพ.ศ. 2536 เป็นเรื่องราวของกลุ่มคนที่รู้จักและเกี่ยวพันกับผู้ที่ตัดสินใจฆ่าตัวตาย สเวียตลานา อเล็กซิเยวิชไม่ได้มุ่งสนใจเหตุการณ์การฆ่าตัวตายหรือเน้นสาเหตุและรายละเอียดการตายมากเท่ากับที่สนใจสำรวจเรื่องราวที่อยู่เบื้องหลังปัจเจกชนผู้เลือกทางแห่งความตาย ทางแห่งการลาและลืมโลกที่ตนเกิดมา อีกทั้งปัจเจกชนที่ต้องรับมือกับความสูญเสีย ดังสะท้อนใน“เรื่องราวของผู้ชายที่บินได้เหมือนนก: อิวาน มาโชเว็ตซ์—นักศึกษาปริญญาบัณฑิตจากภาควิชาปรัชญา” [30] หนังสือเล่มนี้มิเพียงรวบรวมคำบอกเล่าจากพยานและเพื่อนของผู้ที่ฆ่าตัวตาย แต่ยังชี้ให้เห็นว่าในกลวิธีการเล่าเรื่องนั้น ผู้ที่มีชีวิตอยู่จะต้องรับมือกับประสบการณ์ที่มีร่วมกับผู้ตายและสายสัมพันธภาพกับผู้ตายที่ตามหลอกหลอนอย่างไร มีทัศนคติเกี่ยวกับความเป็นความตาย สังคมและค่านิยมในโลกปัจจุบันอย่างไร:
จากคำบอกเล่าของเพื่อนคนหนึ่งชื่อวลาดิมีร์ สตานิยูเควิช นักศึกษาปริญญาบัณฑิตจากภาควิชาปรัชญา:
… เขาอยากจะจากไปโดยที่ไม่มีใครทันสังเกตอยู่แล้ว ตอนนั้นเป็นช่วงหัวค่ำ ช่วงสนธยา แต่นักเรียนหลายๆ คนในหอพักที่อยู่ใกล้เคียงเห็นตอนที่เขากระโดด เขาเปิดอ้าหน้าต่างไว้กว้าง ยืนบนขอบหน้าต่างและมองลงมาข้างล่างอย่างนานสองนาน และแล้วก็หันหลังกลับและถีบตัวลงไปอย่างแรง และเขาก็เริ่มบิน… เขาบินลิ่วลงมาจากชั้นสิบสอง…
ผู้หญิงคนหนึ่งกำลังเดินผ่านพร้อมกับลูกชายตัวน้อย เด็กคนนั้นมองขึ้นมา:
“แม่ ดูสิ ผู้ชายคนนั้นกำลังบินเหมือนนก…”
เขาบินอยู่ประมาณห้าวินาที[31]
เสียงของเพื่อนผุ้ตายนั้นผสานกับเสียงของผู้ตายราวกับว่าผู้ตายกำลังพูดผ่านกระบอกเสียงของผู้ที่มีชีวิตอยู่ ผู้ตายนั้นกลับฟื้นคืนชีพผ่านการเล่าเรื่องและการถ่ายทอดความทรงจำ ในตัวบทที่คัดตอนมาเบื้องล่าง เราจะได้ยินเสียงและเงาตัวตนของอิวาน มาโชเว็ตซ์ แฝงไปในน้ำเสียงของเพื่อน เงาแห่งอดีตนั้นทาบทาประสานเป็นเนื้อเดียวกับเลือดเนื้อแห่งปัจจุบัน:
“ฉันเสนอหัวข้อสารนิพนธ์ใหม่กับอาจารย์ของเรา นั่นคือหัวข้อ ‘สังคมนิยมในฐานะความผิดพลาดทางภูมิปัญญา’ อาจารย์ตอบว่า ‘ไร้สาระ’ ประหนึ่งว่าฉันประสบความสำเร็จในการถอดรหัสพระคัมภีร์หรือปริศนาโลกแตก แต่นะ ไร้สาระทั้งในแง่รูปแบบและความคิดสร้างสรรค์โดยเท่าเทียมกัน… ตาอาจารย์ลุงแก่พิศวงงงงวย นายรู้จักอาจารย์เขาดีนี่—อาจารย์ไม่เหมือนพวกคนหัวโบราณคร่ำครึ แต่สำหรับเขาแล้วทุกอย่างที่เกิดขึ้นนั้นเป็นโศกนาฏกรรมส่วนตัว ฉันจะต้องแก้สารนิพนธ์ แต่เขาจะแก้ชีวิตเขาได้อย่างไร”
คำบอกเล่านี้ไม่ใช่บทอธิบาย คำให้การ หรือข้อพิสูจน์ถึงแรงจูงใจในการฆ่าตัวตายเสมอไป (การที่อิวานตั้งคำถามระบอบอันนำไปสู่ความพยายามเปลี่ยนหัวข้อสารนิพนธ์ที่ไม่เป็นผล) หากเป็นห้วงแห่งมนตร์สะกด หรือการเพ่งสมาธิไปที่ความทรงจำเกี่ยวกับผู้ตาย อันเป็นห้วงที่ความจริงในใจของผู้เล่าและค่านิยมกระแสหลักของสังคมเปิดเผยตัวตนที่แท้จริงออกมา (ผู้ตายอาจไม่มองว่าตนเป็นเหยื่อ แต่กลับมองว่าอาจารย์ซึ่งถูกระบอบล้างสมองนั้นเป็นเหยื่อที่แท้จริง) เมื่อมนุษย์เกี่ยวพันและโยงกันอย่างแทบจะแยกออกจากกันไม่ได้นี่คือหนทางที่เราจะสามารถฟังเสียงและเข้าใจเศษเสี้ยวส่วนหนึ่งของชีวิตผู้ตาย
สเวียตลานา อเล็กซิเยวิชกล่าวทิ้งท้ายว่า "ฉันค้นชีวิตเพื่อหาความเห็นต่างๆ เสาะหานัยและรายละเอียดต่างๆ เนื่องจากฉันสนใจชีวิต ไม่ได้สนใจเหตุการณ์ในตัวของมันเอง ไม่สนใจสงครามในตัวของมันเอง ไม่สนใจเชอร์โนบิลในตัวของมันเอง ไม่สนใจการฆ่าตัวตายในตัวของมันเอง ที่ฉันสนใจคือสิ่งที่เกิดกับมนุษย์ สิ่งที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ในยุคสมัยของเรา[32] และความเข้าใจมนุษย์นี้อาจนำพาไปสู่ความเข้าใจสภาพการณ์และทัศนคติที่ทุกวันนี้ยังคงเป็นโซ่ตรวนที่ทำให้ผู้คนยังคงติดกับและตกเป็นทาสของระบอบเผด็จการ ในบทสัมภาษณ์หนึ่ง เธอตั้งคำถามและยกประเด็นสำคัญที่ดังสะท้อนในงานเขียนของเธอทุกงาน ดังนี้
เรื่องเดียวที่ฉันรู้สึกเจ็บปวดคือเหตุใดเราถึงไม่เรียนรู้จากความทุกข์ทรมานที่ผ่านมา เหตุใดเราไม่ลุกขึ้นมาพูดว่าฉันไม่อยากเป็นทาส(ระบอบ)อีกต่อไป เหตุใดเราต้องทนทุกข์ทรมานครั้งแล้วครั้งเล่า เหตุใดมันถึงกลายเป็นภาระและชะตากรรมของเรา… ฉันไม่มีคำตอบ แต่ฉันอยากให้หนังสือที่ฉันเขียนคอยกระตุ้นและผลักดันให้ผู้อ่านตั้งคำถามเหล่านี้กับตัวเอง (และหาคำตอบด้วยตัวเอง)[33]
เรื่องเล่าจากโลกแห่งการสูญเสียนี้อาจจะช่วยกู้ช่วงเวลาชีวิตที่ถูกปล้นไปและช่วยกู้ศักดิ์ศรีที่เรากำลังจะสูญเสีย อนุสรณ์สถานแห่งบาดแผลและความรุนแรงที่ก่อร่างสร้างด้วยตัวอักษร เสียงและชีวิตของปัจเจกชนหลายๆ คนนั้น ไม่ได้มีไว้เพื่อระลึกถึงเหตุการณ์และผู้คนในอดีตมากเท่าเพื่อเยียวยาและพิทักษ์รักษาความหวังที่ยังพอมีหลงเหลืออยู่ในจิตวิญญาณมนุษย์ที่ผ่านความทุกข์ยากอย่างทรงพลังและน่าอัศจรรย์
ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่นักเขียนรางวัลโนเบล สเวียตลานา อเล็กซิเยวิชจากเบลารุส มอบแด่มวลมนุษยชาติ พ่วงด้วยคำถามที่ว่า
ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะลืมตาตื่นขึ้นมาใช้ชีวิตอย่างแท้จริงอยู่ใน “เวลามือหนึ่ง” แห่งปัจจุบันกาลและลุกขึ้นมาลงมือเปลี่ยนแปลงสังคมให้เป็นไปอย่างที่เราใฝ่ฝันหา?
***
พิเศษ สำหรับผู้ที่สนใจจะทำความรู้จักสเวียตลานา อเล็กซิเยวิช อย่างลึกซึ้งและร่วมอ่านวิเคราะห์งานเขียนของสเวียตลานา อเล็กซิเยวิช กับคนรุ่นใหม่
คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสถานทูตยูเครนประจำประเทศไทย และหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ขอเชิญทุกท่านเข้าร่วมงาน "Ukraine in Focus: History, Tourism, Arts and Culture" ในวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 ณ ห้อง Auditorium ชั้น 5 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
ผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมทางวิชาการ สามารถสแกน QR code บนโปสเตอร์เพื่อลงทะเบียนได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ
รายละเอียดเพิ่มเติมโปรดคลิกที่นี่ https://goo.gl/forms/SPMAu5B6D11Cl4572 [6]
[1] บทความนี้เป็นฉบับย่อ ดัดแปลง และปรับปรุงแก้ไขใหม่ของ วริตตา ศรีรัตนา.“สเวียตลานา อเล็กซิเยวิช และเรื่องเล่าจากโลกแห่งการสูญเสีย”. วารสารยุโรปศึกษา. ปีที่ 22 ฉบับที่ 2 (กรกฎาคม-ธันวาคม), 2557: 159-187. (พิมพ์เมื่อพ.ศ.2559)
[2] Marples, David. “Belarusian Writers and the Soviet Past”. Belarus Digest. 2 November 2015.
http://belarusdigest.com/story/belarusian-writers-and-soviet-past-23621 [7]
[3] “The Nobel Prize in Literature 2015 Press Release”. Nobelprize.org. 8 October 2015. http://www.nobelprize.org/nobel_prizes/literature/laureates/2015/press.html [8] บทแปลภาษาไทยจากตัวบทนี้ทั้งหมดเป็นของผู้เขียนบทความ
[4] สำนวนแปลเป็นของผู้เขียนบทความนี้
[5] Ibid.
[6] Alter, Alexandra. “Svetlana Alexievich, Belarussian Voice of Survivors, Wins Nobel Prize in Literature”. The New York Times. 8 October 2015. http://www.nytimes.com/2015/10/09/books/svetlana-alexievich-nobel-prize-literature.html?_r=0 [9]
[7] Segal, Corinne. “Svetlana Alexievich, investigative journalist from Belarus, wins Nobel Prize in Literature”. PBS.org. 8 October 2015. http://www.pbs.org/newshour/rundown/svetlana-alexievich-investigative-journalist-belarus-wins-nobel-prize-literature/ [10]
[8] Kellogg, Carolyn. “Svetlana Alexievich wins Nobel Prize in Literature”. Los Angeles Times. 8 October 2015. http://www.latimes.com/books/jacketcopy/la-et-jc-nobel-prize-in-literature-svetlana-alexievich-20151007-story.html [11] บทแปลภาษาไทยจากตัวบทนี้ทั้งหมดเป็นของผู้เขียนบทความ
[9] Ibid.
[10] Lucic, Ana. “A Conversation with Svetlana Alexievich”. Dalkey Archive Press. http://www.dalkeyarchive.com/a-conversation-with-svetlana-alexievich-by-ana-lucic/ [12] บทแปลภาษาไทยจากตัวบทนี้ทั้งหมดเป็นของผู้เขียนบทความ
[11] Ibid.
[12] Lyotard, Jean-François. The Postmodern Condition: A Report on Knowledge. Trans. Geoff Bennington and Brian Massumi. Foreword. Fredric Jameson. Theory and History of Literature. Vol. 10 (Manchester: Manchester University Press, 1985), p. xxiv.
[13] Lucic, Ana. “A Conversation with Svetlana Alexievich”. Dalkey Archive Press. http://www.dalkeyarchive.com/a-conversation-with-svetlana-alexievich-by-ana-lucic/ [12]
[14] สำนวนแปลเป็นของผู้เขียนบทความนี้
[15] Alexievich, Svetlana. “Introduction (from War's Unwomanly Face by Svetlana Alexievich)”. Trans. Keith Hammond and Lyudmilla Lezhneva. marxists.org. Transcribed and HTML Markup. Sally Ryan. https://www.marxists.org/subject/women/subject/war/wuf00.htm [13] บทแปลภาษาไทยจากตัวบทนี้ทั้งหมดเป็นของผู้เขียนบทความ
[16] สำนวนแปลเป็นของผู้เขียนบทความนี้
[17] Heinemann, Larry. “Introduction”. Zinky Boys: Soviet Voices from the Afghanistan War. Svetlana Alexievich, Trans. Julia and Robin Whitby. Intro. Larry Heinneman (New York: W.W. Norton & Company, 1992), p. x. บทแปลภาษาไทยจากตัวบทนี้ทั้งหมดเป็นของผู้เขียนบทความ
[18] Alexievich, Svetlana. Zinky Boys: Soviet Voices from the Afghanistan War. Trans. Julia and Robin Whitby. Intro. Larry Heinneman (New York: W.W. Norton & Company, 1992), p. 52. บทแปลภาษาไทยจากตัวบทนี้ทั้งหมดเป็นของผู้เขียนบทความ
[19] สำนวนแปลเป็นของผู้เขียนบทความนี้
[20] Gessen, Keith. “Translator’s Preface”. Voices from Chernobyl: The Oral History of a Nuclear Disaster. Svetlana Alexievich. Trans. and Preface. Keith Gessen (New York: Picador, 2006), p. xi. บทแปลภาษาไทยจากตัวบทนี้ทั้งหมดเป็นของผู้เขียนบทความ
[21] Alexievich, Svetlana. Voices from Chernobyl: The Oral History of a Nuclear Disaster. Trans. and Preface. Keith Gessen (New York: Picador, 2006), p. 236. บทแปลภาษาไทยจากตัวบทนี้ทั้งหมดเป็นของผู้เขียนบทความ
[22] von Nahmen, Alexandra. “Writing for Peace: How Mighty is the Pen?”. In the Interview: The Award-Winning Writer Svetlana Alexievich. Deutsche Welle. 12 October 2013. http://www.dw.com/en/writing-for-peace-how-mighty-is-the-pen/a-17154291 [14]
[23] Alexievich, Svetlana. Voices from Chernobyl: The Oral History of a Nuclear Disaster. Trans. and Preface. Keith Gessen (New York: Picador, 2006), p. 31.
[24] Ibid., p. 32.
[25] Ibid., p. 33.
[26] สำนวนแปลเป็นของผู้เขียนบทความนี้
[27] Yákovleva, Elena. “Saying a long farewell to the inner Red Man”. Russia beyond the Headlines. 14 October 2013. http://rbth.com/literature/2013/10/14/saying_a_long_farewell_to_the_inner_red_man_30791.html [15]
[28] Titarenko, Larissa. “Post-Soviet National Identity: Belarusian Approaches and Paradoxes”. Filosofija. Sociologija. 2007. T. 18. Nr. 4 (Vilnius: Lithuanian Academy of Sciences Publishers, 2007), p. 85.
[29] สำนวนแปลเป็นของผู้เขียนบทความนี้
[30] ผู้อ่านที่สนใจสามารถอ่านบทแปลภาษาอังกฤษของ “เรื่องราวของผู้ชายที่บินได้เหมือนนก: อิวาน มาโชเว็ตซ์—นักศึกษาปริญญาบัณฑิตจากภาควิชาปรัชญา” “The Story of the Man Who Flew Like a Bird: Ivan Mashovets—Graduate Student of the Philosophy Department” ที่คัดตอนจากหนังสือเล่มนี้ได้ที่
http://www.nybooks.com/articles/archives/2015/nov/19/man-who-flew/ [16]
[31] Alexievich, Svetlana. “The Man Who Flew”. Trans. Jamey Gambrell. The New York Review of Books. 19 November 2015. http://www.nybooks.com/articles/archives/2015/nov/19/man-who-flew/ [16]
[32] Alexievich, Svetlana. “A Search for Eternal Man: In Lieu of Biography”. Voices from Big Utopia. 2006. http://alexievich.info/indexEN.html [17] บทแปลภาษาไทยจากตัวบทนี้ทั้งหมดเป็นของผู้เขียนบทความ
[33] von Nahmen, Alexandra. “Writing for Peace: How Mighty is the Pen?”. In the Interview: The Award-Winning Writer Svetlana Alexievich. Deutsche Welle. 12 October 2013. http://www.dw.com/en/writing-for-peace-how-mighty-is-the-pen/a-17154291 [14]
เกี่ยวกับผู้เขียน: ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วริตตา ศรีรัตนา เป็นประธานหลักสูตร PhD in European Studies (PEUS) และอาจารย์ประจำภาควิชาภาษาอังกฤษ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย [email protected]
| ['บทความ', 'การเมือง', 'สังคม', 'วัฒนธรรม', 'ต่างประเทศ', 'วริตตา ศรีรัตนา', 'สเวียตลานา อเล็กซิเยวิช', 'Svetlana Alexievich', 'วรรณกรรม', 'ยูเครน', 'รางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม'] |
https://prachatai.com/print/79361 | 2018-10-29 18:44 | โดมิโนและ 6 ตุลา 'มานีมีแชร์' กลับมาโพสต์อีกครั้งหลังหายไปกว่า 2 ปี | เพจเฟสบุ๊กการ์ตูนล้อเลียนสังคมการเมือง 'มานีมีแชร์' กลับมาโพสต์อีกครั้งหลังหายไปกว่า 2 ปี กับภาพโดมิโนและ 6 ตุลา
29 ต.ค.2561 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ เมื่อเวลา 18.00 น. เฟสบุ๊กการ์ตูนล้อเลียนสังคมการเมืองชื่อ 'มานีมีแชร์' ซึ่งไม่มีการโพสต์ตั้งแต่ 26 ก.ค.59 กลับมาโพสต์อีกครั้งในตอนล่าสุดคือ บทที่ 140 : ประเทศ มานี มี จุด เริ่มต้น [1] เป็นภาพเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 และโดมิโน
เพจมานีฯ มียอดกดถูกใจ 266,097 โพสต์ล่าสุดใช้เวลาครึ่งชั่วโมง ยอดกดไลก์กว่า 4 พัน ขณะที่แชร์กว่า 1 พันแชร์
ทำไม? มานีต้องมีแชร์ หาคำตอบกับแอดมินแฟนเพจ 'มานีมีแชร์' [2]
มาแล้ว! MV 'ประเทศกูมี' แร็ปสะท้อนสังคมการเมือง กับฉากหลัง 6 ตุลา 19 [3]
สำหรับเพจมานีฯ เป็นเพจการ์ตูนล้อเลียนสังคมการเมืองที่ใช้ตัวละครในแบบเรียนภาษาไทยระดับประถมศึกษา ที่ไม่ได้ใช้แล้วเกือบ 20 ปี เริ่มเปิดเพจตั้งแต่กลางปี 56 ก่อนที่ยุติเป็นเวลากว่า 2 ปี กระทั่งล่าสุดมีการโพสต์ดังกล่าว
| ['ข่าว', 'การเมือง', 'วัฒนธรรม', 'ไอซีที', 'มานีมีแชร์', 'เฟสบุ๊กแฟนเพจ', '6 ตุลาคม 2519'] |
https://prachatai.com/print/79362 | 2018-10-29 19:53 | จี้ 'ประยุทธ์' เร่งแก้ปัญหาของผู้ค้าหาบเร่แผงลอย หลังร้องมา 60 วันแล้ว ไร้คืบหน้า | เครือข่ายแผงลอยไทยเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนและนักวิชาการจัดแถลงข่าว “แผงลอยกับเมือง จัดการปัญหา หันหน้าคุยกัน” โวย ร้องประยุทธ์ไปเกือบ 60 วันแล้ว ยังไม่เร่งรัดแก้ปัญหาของผู้ค้าหาบเร่แผงลอยอย่างจริงจัง ลั่นอีก 60 วัน จะเดินขบวนไปยื่นหนังสือร้องทุกข์
29 ต.ค. 2561 เมื่อเวลา 13.00-15.00 น. เครือข่ายวิชาการสร้างเมืองเพื่อทุกคนร่วมกับเครือข่ายแผงลอยไทยเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ได้จัดงานแถลงข่าว “แผงลอยกับเมือง จัดการปัญหา หันหน้าคุยกัน” ณ ห้องประชุมจั๊คส์ อัมโย่ต์ สถาบันวิจัยสังคม ชั้น 4 อาคารวิศิษฐ์ ประจวบเหมาะ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีผู้เข้าร่วมกว่า 70 คน
เรวัตร ชอบธรรม ประธานเครือข่ายแผงลอยไทยเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ได้อ่านแถลงการณ์มีเนื้อหาว่า เมื่อวันที่ 4 ก.ย. 2561 เครือข่ายฯ ได้เดินขบวนไปยื่นหนังสือร้องทุกข์จากการจัดระเบียบหาบเร่แผงลอยของ กทม. แก่นายกรัฐมนตรี ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ สำนักปลัดนายกรัฐมนตรี จากนั้นเมื่อวันที่ 10 ก.ย. 2561 นายกฯ ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการบรรเทาผลกระทบจากการจัดระเบียบสังคม ซึ่งมีพลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา เป็นประธาน เพื่อหามาตรการและวิธีการแก้ไขปัญหาของผู้ค้าหาบเร่แผงลอยอย่างจริงจัง แต่ผ่านมาเกือบ 60 วัน ยังไม่มีการดำเนินการใด ๆ เครือข่ายฯ จึงต้องการจะส่งเสียงไปยังนายกรัฐมนตรี สำนักงานกรุงเทพมหานครฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเร่งรัดให้คณะกรรมการฯ ชุดนี้จัดประชุมอย่างเร่งด่วน
รศ.ดร.นฤมล นิราทร คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า จัดเวทีนี้เพื่อทวงถามว่า รัฐบาลตั้งคณะกรรมการฯ แล้ว ทำไมยังไม่มีอะไรเกิดขึ้น เป็นเพราะรัฐไม่มีปฏิกิริยาต่อความเดือดร้อนของประชาชนหรือไม่ ที่ผ่านมาหาบเร่แผงลอยเป็นจำเลยมาตลอด รัฐควรใช้โอกาสนี้แสดงให้เห็นว่าใส่ใจความทุกข์ยากของประชาชน ทำอย่างไรเพื่อให้ทุกฝ่ายอยู่ร่วมกันได้ ทั้งหาบเร่แผงลอย มอเตอร์ไซค์รับจ้าง พนักงานบริษัท ฯลฯ เราจะเดินไปข้างหน้าอย่างไร 4.0 อยู่ไม่ได้ ถ้า 0.4, 1.0, 2.0, 3.0 อยู่ไม่ได้ ความหลากหลายอยู่ร่วมกันได้ ทุกคนต้องเห็นใจกัน
จิรัฏฐ์ ม้าไว ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UDDC) แสดงทัศนะว่า แผงลอยกับเมืองเป็นประเด็นร้อนในหลายรัฐบาล นโยบายที่ดีไม่ควรไล่ใครออกไป หาบเร่แผงลอยเป็นปากท้องของคนแต่กลับกลายเป็นจำเลย ตอนนี้เป็นก้าวที่ดีว่าจะจัดการอย่างยั่งยืนได้อย่างไร ต้องใช้เวลาในการแก้ไขปัญหา ทางออกจะเกิดจากการพูดคุยกัน
เครือข่ายหาบเร่แผงลอย ร้อง 'ประยุทธ์' ทบทวนนโยบาย 'จัดระเบียบทางเท้า' [1]
พูลทรัพย์ สวนเมือง ตุลาพันธ์ ผู้อำนวยการ มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในระหว่างรอคอยให้คณะกรรมการฯ จัดการประชุม มูลนิธิฯ ได้สนับสนุนให้ผู้ค้ารวมกลุ่มเพื่อเตรียมการจัดระเบียบและควบคุมกันเองให้ได้ รวมทั้งได้ประสานงานกับทีมวิชาการเพื่อรวบรวมข้อมูลของผู้ค้า ผู้ซื้อ และชุมชน เพื่อให้การพูดคุยตั้งอยู่บนข้อมูลที่เป็นจริงและมีทางออกที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ เพราะการหันหน้ามาคุยกันไม่เพียงจะเป็นการไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง แต่จะช่วยให้ทุกคนเดินไปด้วยกันได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน
ทั้งนี้หากครบกำหนดภายใน 60 วันหลังจากที่เครือข่ายฯ ได้เดินขบวนไปยื่นหนังสือร้องทุกข์และยังไม่มีการดำเนินการใด ๆ เครือข่ายฯ จะมีการเคลื่อนไหวต่อไป
| ['ข่าว', 'เศรษฐกิจ', 'คุณภาพชีวิต', 'เครือข่ายหาบเร่แผงลอยไทย', 'หาบเร่แผงลอย', 'การจัดระเบียบทางเท้า'] |
https://prachatai.com/print/79364 | 2018-10-29 20:51 | ตร.ติดตาม 2 นักศึกษา ม.พะเยาถึงบ้าน ก่อนประยุทธ์ลงพื้นที่ ครม.สัญจร ของดวิจารณ์รัฐบาล | ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เผย ตำรวจติดตาม 2 นิสิต ม.พะเยาถึงบ้าน ก่อนประยุทธ์ลงพื้นที่ ครม.สัญจร ของดวิจารณ์รัฐบาล
ภาพ พล.อ.ประยุทธ์ เยี่ยมชมตลาดประชารัฐ และศูนย์ฮอมฮักจังหวัดพะเยา เพื่อดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ป่วยเรื้อรัง ณ ลาดอเนกประสงค์ เทศบาลเมืองพะเยา (ที่มา เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล [1])
29 ต.ค.2561 วันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช. ได้เดินทางลงพื้นที่พบประชาชน จ.พะเยา เพื่อร่วมการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) ครั้งที่ 8/2561 ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ด้วยนั้น
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน [2] รายงานว่า ก่อนหน้าการลงพื้นที่ดังกล่าว ชินภัทร วงค์คม นิสิตคณะรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา เปิดเผยว่าเมื่อวันที่ 23 ต.ค. ที่ผ่านมา เวลาประมาณ 12.00 น. มารดาของชินภัทร ได้โทรศัพท์มาแจ้งกับตนว่าได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบราว 7-8 นาย เข้ามาที่บ้าน เพื่อมาสอบถามว่าชินภัทรอยู่บ้านหรือไม่ และจะมีการเคลื่อนไหวในช่วงที่พ.อ.ประยุทธ์จะเดินทางมาลงพื้นที่จังหวัดพะเยาหรือไม่ มารดาของชินภัทรแจ้งกับเจ้าหน้าที่ว่าไม่ทราบเรื่องดังกล่าวแต่อย่างใด ด้านเจ้าหน้าที่ตำรวจระบุว่าเนื่องจากพล.อ.ประยุทธ์จะเดินทางมาลงพื้นที่ จึงต้องมาสอบถามเป็นการปกติ
จากนั้น ในวันที่ 24 ต.ค. 61 เวลาประมาณ 10.00 น. ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจสภ.แม่กา อ.เมือง จ.พะเยา ระบุว่ามีตำแหน่งเป็นรองสารวัตรสืบสวน โทรศัพท์ติดต่อชินภัทรระบุว่าอยากจะเชิญชินภัทรและเพื่อนไปพูดคุยด้วย และสอบถามว่าชินภัทรอยู่ภายในมหาวิทยาลัยหรือไม่ พร้อมระบุว่าจะเดินทางเข้ามาพบ ชินภัทรจึงได้นัดหมายกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ร้านกาแฟภายในมหาวิทยาลัย
เมื่อ ชินภัทรเดินทางไปตามนัดหมาย ก็ได้พบกับเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบจำนวน 4 นาย ที่แนะนำตัวว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายสืบสวนสภ.แม่กา ได้รับคำสั่งจากกองบังคับการตำรวจภูธรภาค 5 ให้มา “ดูแล” ชินภัทร และมีการสอบถามถึงนักศึกษาปีที่ 1 จากคณะเดียวกับชินภัทรระบุว่าเป็นผู้มีรายชื่อที่ทางเจ้าหน้าที่ต้องติดตามด้วยเช่นกัน ก่อนที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะได้สอบถามชินภัทรว่าในวันที่ 29 ต.ค. ที่พล.อ.ประยุทธ์จะเดินทางมาลงพื้นที่ จ.พะเยา จะมีการจัดกิจกรรมใดหรือไม่ ชินภัทรระบุว่าไม่มีการจัดกิจกรรมใดๆ ในช่วงดังกล่าว
ชินภัทรได้มีการสอบถามด้วยว่าหากตนเองเดินทางไปต้อนรับ พล.อ.ประยุทธ์ จะเกิดอะไรขึ้น ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจระบุว่าจะมีการตักเตือนไม่ให้เกิดความรุนแรงเพียงเท่านั้น โดยระหว่างการพูดคุยเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบคอยถ่ายภาพไว้ตลอด ใช้เวลาในการพูดคุยประมาณ 30 นาที ก่อนเจ้าหน้าที่ตำรวจจะเดินทางกลับไป
ต่อมา วันที่ 27 ต.ค. 61 ชินภัทรระบุว่ายังได้มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบจำนวน 2 นาย เดินทางมาที่บ้านอีก เมื่อพบกับแม่ของตนที่บ้าน ก็ได้ขอถ่ายรูปบ้านและแม่ของชินภัทร ก่อนเดินทางกลับไป และในเวลาประมาณ 18.00 น. ได้มีเจ้าหน้าที่ซึ่งชินภัทรเข้าใจว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจสภ.แม่กา ชุดเดียวกับที่เคยเข้ามาพบกับชินภัทรที่ร้านกาแฟภายในมหาวิทยาลัย โทรศัพท์ติดต่อมาสอบถามว่าวันที่ 29 ต.ค. จะมีการทำกิจกรรมใดหรือไม่ จะเดินทางไปยื่นเอกสารให้กับนายกฯ หรือไม่ ชินภัทรได้ตอบไปว่าไม่ได้ทำกิจกรรมหรือเดินทางไปแต่อย่างใด ตนเองจะไปเรียนตามปกติ ทางเจ้าหน้าที่จึงได้วางสายไป
ในส่วนของชินภัทร ก่อนหน้านี้ในช่วงเดือนเมษายน เคยถูกเจ้าหน้าที่สันติบาลบุกมาเยี่ยมบ้าน ด้วยเหตุที่เคยขึ้นเวทีคนอยากเลือกตั้งที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อเดือน ก.พ. 2561 (รายงานก่อนหน้านี้)
ตร.ตามถึงบ้านนิสิตม.พะเยาอีกหนึ่งราย ของดวิจารณ์รัฐบาล
ศูนย์ทนายความสิทธิฯ ยังรายงานด้วยว่า นิสิตอีกรายหนึ่งซึ่งศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 1 คณะรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา ได้เปิดเผยกับศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ว่าเมื่อวันที่ 23 ต.ค. 61 ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบจำนวน 5 นาย เดินทางไปยังบ้านของตน แต่เจ้าหน้าที่พบเพียงตากับยาย จึงได้ฝากชื่อและเบอร์โทรศัพท์ให้นักศึกษาชั้นปีที่ 1 คนดังกล่าวติดต่อกลับโดยเร็ว
ต่อมา ในวันที่ 25 ต.ค. 61 ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบจำนวน 3 นาย เดินทางไปที่บ้านของนิสิตรายนี้อีกครั้ง โดยรถของตำรวจระบุด้านข้างว่า “งานสืบสวน สภ.เมืองพะเยา” เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าคุยกับนิสิตรายนี้และครอบครัว โดยมีการขอความร่วมมือ ไม่ให้เดินทางไปต้อนรับพล.อ.ประยุทธ์ ที่จะเดินทางมาลงพื้นที่จ.พะเยา ในวันที่ 29 ต.ค. นี้ อีกทั้งขอให้นิสิตงดแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ระบุว่าหากมีปัญหาอะไรเกี่ยวกับรัฐบาลก็ให้ไปร้องเรียนที่ศูนย์ดำรงธรรม ก่อนที่จะขอชื่อ เบอร์โทรศัพท์ รวมทั้งที่อยู่หอพักไป จากนั้นขอถ่ายภาพคู่กับนิสิตคนดังกล่าวและจึงเดินทางกลับไป
นิสิตรายนี้ระบุว่าตนไม่เคยถูกเจ้าหน้าที่ติดตามมาก่อน และไม่เคยร่วมกิจกรรมทางการเมืองมาก่อนแต่อย่างใด เพียงแต่เคยเข้าไปเขียนแสดงความคิดเห็นภายในเฟสบุ๊กของชินภัทร ซึ่งเป็นรุ่นพี่ในคณะ ในโพสต์เกี่ยวกับการลงพื้นที่จังหวัดพะเยาของ พล.อ.ประยุทธ์ โดยเป็นการเขียนข้อความเพียงแค่ว่าจะไปต้อนรับดีหรือไม่
| ['ข่าว', 'การเมือง', 'การศึกษา', 'สิทธิมนุษยชน', 'ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน', 'นักศึกษา', 'ประยุทธ์ จันทร์โอชา', 'ครม.สัญจร', 'ชินภัทร วงค์คม', 'มหาวิทยาลัยพะเยา'] |
https://prachatai.com/print/79365 | 2018-10-29 23:03 | ประชาไทรับสมัคร 2 เพื่อนร่วมงาน ผู้ช่วย บ.ก. ภาษาอังกฤษ และ นักข่าวมัลติมีเดีย | ประชาไทเปิดรับสมัครเพื่อนร่วมงาน 2 ตำแหน่ง คือ ผู้ช่วยบรรณาธิการประชาไทภาคภาษาอังกฤษ (Assistant Editor,Prachatai English) และ นักข่าวมัลติมีเดีย (Multimedia Reporter) สมัครได้จนถึง 25 พฤศจิกายน 2561 ส่งประวัติและผลงานมาที่ [email protected] หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ 02 690 2711
ผู้ช่วยบรรณาธิการประชาไทภาคภาษาอังกฤษ (Assistant Editor,Prachatai English) 1 ตำแหน่ง
คุณสมบัติ
1. สื่อสารได้ดีทั้งภาษาไทยและอังกฤษ โดยอ่านภาษาไทยคล่องและเขียนภาษาอังกฤษได้ดี 2. ไม่จํากัดเชื้อชาติ, เพศ และวัย แต่ต้องมีทัศนะที่เปิดกว้างต่อบุคคลที่แตกต่างทั้งทางความคิด, คุณวุฒิ และวัยวุฒิ 3. มีพื้นฐานความรู้และทักษะ หรือประสบการณ์งานข่าวหรือการสื่อสารสาธารณะ 4. มีทักษะและความเข้าใจเรื่องการใช้โซเชียลมีเดีย 5. มีความสนใจหรือพื้นฐานความเข้าใจด้านสังคมและการเมือง โดยเฉพาะในมิติสิทธิมนุษยชน 6. มีทักษะในการประสานงานและบริหารจัดการ
นักข่าวมัลติมีเดีย (Multimedia Reporter) 1 ตำแหน่ง
คุณสมบัติ
1. รายงานข่าวในรูปแบบวิดีโอพร้อมเขียนรายงานข่าวประกอบ 2. รายงานข่าวในประเด็นการเมือง สิทธิมนุษยชน3. ถ่ายทําและตัดต่อรายการวิดีโอ4. บันทึกวิดีโอและถ่ายทอดสด5. สนใจประเด็นทางสังคม การเมือง โดยเฉพาะมิติด้านสิทธิมนุษยชน 6. มีประสบการณ์ทํางานหรือฝึกงานในประเด็นที่เกี่ยวข้อง
| ['รับสมัครงาน', 'นักข่าว', 'บรรณาธิการ'] |
https://prachatai.com/print/79366 | 2018-10-29 23:35 | เลือกตั้งกลางเทอม : ราชิตา ทลาอิบ ว่าที่ ส.ส.หญิงมุสลิมคนแรกของสหรัฐฯ | ราชิตา ทลาอิบ คือว่าที่ ส.ส.หญิงมุสลิมคนแรกในสหรัฐฯ จากการเป็นตัวแทนของเขต 13 รัฐมิชิแกน เธอให้สัมภาษณ์สื่อพูดถึงพลังที่เธอได้มาจากย่าและยาย พูดถึงนโยบายที่เน้นสวัสดิการสำหรับทุกคน ความเป็นธรรมสำหรับคนจน และการต่อต้านการเหยียด-เลือกปฏิบัติ ขณะเดียวกันก็บอกว่าศาสนาของเธอเป็นสิ่งที่ทำให้เธอ "มีหลักยึด" ในเรื่องพื้นฐานความคิดเรื่องความยุติธรรมมากกว่า โดยไม่ได้เน้นนำมาเป็นแนวทางนโยบายทางการเมืองแต่อย่างใด
United States Capitol ที่ทำการของสภาคองเกรสที่กรุงวอชิงตัน ดีซี สหรัฐอเมริกา (ที่มา: Wikipedia [1])
ในเว็บไซต์เดอะเนชันแนลสัมภาษณ์ ราชิดา ทลาอิบ "ว่าที่ ส.ส." จากพรรคเดโมแครตในเขต 13 ของมิชิแกน ผู้ที่จะกลายเป็นผู้หญิงมุสลิมคนแรกในสภาผู้แทนฯ ของสหรัฐฯ
ทลาอิบได้รับการเสนอชื่อจากพรรคเดโมแครตและชนะลอยในการเลือกตั้งกลางเทอมที่จะมีขึ้นในวันที่ 6 พ.ย. ที่จะถึงนี้เนื่องจากไม่มีใครได้รับการเสนอชื่อมาเป็นคู่แข่งเธอ นอกจากนี้ยังมีความเป็นไปได้ที่ผู้หญิงชาวมุสลิมอีกคนคือ อัลฮาน โอมาร์ อาจจะชนะการเลือกตั้งกลางเทอมในมินนิโซตา ทำให้การเลือกตั้งกลางเทอมในครั้งนี้มีความเป็นไปได้ที่จะมีผู้แทนจากชนกลุ่มน้อยจำนวนมาก ซึ่งจะกลายเป็นการโต้ตอบรัฐบาลของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้ที่กลุ่มชุมชนผู้อพยพจับตามองอย่างระแวดระวัง
ทลาอิบบอกว่าผลกระทบจากทรัมป์เป็นการส่งสัญญาณให้กลายคนออกมาปฏิบัติการซึ่งอาจจะทำให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างกลุ่มชุมชนที่มีคามรู้สึกร่วมกันคือการถูกกีดกัน ทลาอิบเกิดและเติบโตในเมืองดีทรอยต์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในเขต 13 ของมิชิแกน เธอเริ่มได้รับความสนใจในสหรัฐฯ จากตอนที่เธอถูกหิ้วตัวออกไปจากการเดินขบวนเพราะเธอพยายามก่อกวนการปราศรัยของทรัมป์ที่ดีทรอยต์
อย่างไรก็ตามก่อนหน้าเหตุการณ์ในครั้งนั้นเธอได้สร้างฐานการเมืองเอาไว้ในท้องถิ่นด้วยการเป็นสภานิติบัญญัติรัฐมิชิแกนคนแรก เธอเคยถูกขอให้พิสูจน์สัญชาติตัวเองครั้งหนึ่งจากประธานสภาในช่วงที่เธอเสนอโครงการประสานวัฒนธรรม
ชัยชนะที่สำคัญของทลาอิบมาจากตอนที่เธอต่อสู้ชนะสองพี่น้องตระกูลโคชนักอุตสาหกรรมอนุรักษ์นิยมผู้ที่ทิ้งของเสียจากถ่านหินลงในแม่น้ำของดีทรอยต์ เธอชนะด้วยการทำให้โรงงานของสองพี่น้องตระกูลนี้เลิกปล่อยของเสียออกมาได้
เมืองดีทรอยต์เป็นเมืองที่มีประชากรอาศัยอยู่มากเป็นอันดับที่ 4 ของสหรัฐฯ และในตอนนี้กำลังอยู่ภายใต้การฟื้นฟูตัวเองหลังจากการดิ้นรนกับวิกฤตด้านอุตสาหกรรมมาเป็นเวลาหลายปี รวมถึงถูกประกาศให้เป็นเมืองล้มละลายในปี 2556
ทลาอิบมองว่าภายใต้ความมืดมนของรัฐบาลนี้และท่ามกลางความหวาดกลัวอิสลามอย่างไม่มีเหตุผลแพร่กระจายไปทั่ว การที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งยังคงเลือกเธอถือเป็นเรื่องที่น่าทึ่ง ทลาอิบหาเสียงด้วยการเน้นเรื่องสวัสดิการคนรายได้น้อยโดยสนับสนุนแนวคิดหลักประกันสุขภาพสำหรับทุกคนของเบอร์นี แซนเดอร์ส และแสดงตัวว่าเธอเป็นปีกซ้ายจัดในพรรคการเมืองเดโมแครต นอกจากนี้ยังเสนอแนวคิดความยุติธรรมสำหรับทุกคนเพื่อไม่ให้มีการเหยียด กีดกัน หรือเลือกปฏิบัติ ต่อผู้คนที่อยู่ในพื้นที่ชุมชนยากจน
ในการให้สัมภาษณ์ต่อสื่อทลาอิบเน้นพูดถึงเรื่องแนวคิดการเมืองและเล่าถึงครอบครัวตัวเองในเชิงสีสัน เธอไม่ได้เน้นเรื่องการนับถือศาสนาของตัวเองมากนักโดยระบุว่าการนับถือศาสนาเป็นเรื่องส่วนบุคคลมากกว่า มันเป็นสิ่งที่ทำให้เธอ "มีหลักยึด" ในเชิงคุณค่าพื้นฐานบางอย่างมากกว่าจะนำมาเป็นแนวทางในการดำเนินนโยบายแต่อย่างใด เธอบอกว่าการต่อต้านความอยุติธรรมทั้งหลายนั้นเป็นสิ่งที่ยึดแน่นอยู่ในคุณค่าของอิสลาม
ทลาอิบกล่าวต่อสื่อเกี่ยวกับคุณย่าและคุณยายของเธอในแง่ของความที่เป็นคนเข้าแข็งและตรงไปตรงมารวมถึงให้ความช่วยเหลือผู้คนโดยไม่แบ่งแยกสัญชาติว่าจะเป็นชาวอิสราเอลหรือชาวปาเลสไตน์
เรียบเรียงจาก'My faith's not a framework but it keeps me grounded' says first Muslim woman headed to US House, The National [2], 27-10-2018
| ['ข่าว', 'ต่างประเทศ', 'การเลือกตั้ง', 'การเลือกตั้งกลางเทอมสหรัฐอเมริกา', 'สหรัฐอเมริกา', 'ราชิตา ทลาอิบ', 'ศาสนา', 'อิสลาม', 'ดีทรอยต์'] |
https://prachatai.com/print/79368 | 2018-10-30 07:27 | ใบตองแห้ง: ประเทศทำนบแตก | บ่ายวันพฤหัสบดี ยอดวิว MV “ประเทศกูมี” ใน YouTube อยู่ที่ 8 แสน แต่หลังจากเช้าวันศุกร์ ที่ “ศรีวราห์เจ้าเก่า” ออกมาระบุว่าสุ่มเสี่ยง ขัดคำสั่ง คสช. ต้องเชิญมาสอบปากคำ แล้วตำรวจ ปอท.ก็ขานรับว่าเนื้อหาทำร้ายประเทศไทย เข้าข่ายผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฐานนำเข้าข้อมูลเท็จ เกิดความเสียหายต่อประเทศ คนแชร์มีความผิดด้วย
เท่านั้นแหละ ยอดวิว “ประเทศกูมี” พุ่งพรวดพราด จนผู้กำกับออกมาขอบคุณศรีวราห์ เช้าวันเสาร์พุ่งไปถึง 5 ล้าน คืนวันเสาร์ทะลุ 10 ล้าน เช้าวันอาทิตย์ 12 ล้าน โดยมีคนยกนิ้วให้ 554K คนไม่พอใจ 11K นอกจากนี้ ยังขึ้นอันดับหนึ่งใน iTunes Thailand เพราะคนแห่ไปดาวน์โหลดทั้งที่ดูฟรีก็ได้
ทำนบแตก! นี่คือการแสดงออกซึ่งการคัดค้านรัฐประหาร ระบอบเผด็จการ ความเหลื่อมล้ำความอยุติธรรม ที่ประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุด มีความเห็นต่อท้ายถึง 7 หมื่นกว่าความเห็น อ่านไม่หวาดไม่ไหว โดยส่วนใหญ่รู้สึกคล้ายกันคือโดนใจ สะใจ ใช่เลย นี่คือความจริง
“ประเทศที่รัฐบาลไม่มีใครกล้าลบหลู่ ประเทศที่มีกฎหมายไว้ให้ตำรวจข่มขู่” แหม่ มันจะไม่จริงได้ไง พอตำรวจบอกว่าจะเอาผิดฐานแพร่ความเท็จ ก็ถูกย้อนเย้ยว่า ระหว่าง “ประเทศกูมี” กับเพลง “คืนความสุข” เราจะทำตามสัญญา ฯลฯ อันไหนเท็จกันแน่
พอโฆษกรัฐบาล ที่เพิ่งแต่งตั้งหมาดๆ ชี้ว่าทำร้ายประเทศ ก็มีคำถาม อ้าว แล้วพวกปิดเมืองขัดขวางเลือกตั้งไม่ทำประเทศพังพินาศกว่าหรือ
แน่ละ ความเห็นในสังคมยังแบ่งเป็นสองข้าง เมียทหาร ดาราคนดัง พวกที่เคยคาบนกหวีด ออกมาประณาม เป็นพวกชังชาติ ไม่พูดเรื่องดี ๆ สมัยนี้ ไม่พูดเรื่องเลว ๆ สมัยนักการเมืองปกครองประเทศบ้าง ฯลฯ แต่เป็นเสียงข้างน้อยที่ด้อยเหตุผลอย่างเห็นได้ชัด เพราะไม่มีใครด่าประเทศ เขาด่าระบอบการปกครองต่างหาก
ปรากฏการณ์ “ประเทศกูมี” ดูเผิน ๆ เหมือนความขัดแย้งกลับไปซ้ำรอยเดิม เหลือง แดง นกหวีด แต่ความจริงไม่ใช่ นี่คืออารมณ์อัดอั้นของคนรุ่นใหม่ ที่อยู่ภายใต้รัฐบาลทหารมาสี่ปี คนรุ่นใหม่ที่รู้ทันและรังเกียจการอ้างความดี มีศีลธรรม มายึดอำนาจ จำกัดสิทธิเสรีภาพ ออกคำสั่งเป็นกฎหมาย ใช้ควบคุมประเทศอย่างไม่มีหลักเกณฑ์ ไม่มีเหตุผล
พูดอีกอย่าง สี่ปีรัฐประหาร ทำให้คนรุ่นใหม่ ที่เป็นคนชั้นกลางในเมืองนี่เอง อึดอัดไม่พอใจ จนปลุกวิญญาณ “กบฏ” ให้แตกโพละขึ้นมา เพราะถ้าไล่เรียงดู ทีมแรปเปอร์กลุ่ม Rap Against Dictatorship ไม่ใช่คนที่เคยเคลื่อนไหวการเมือง ไม่เกี่ยวข้องเหลืองแดง และตอนเลือกตั้ง ก็คงไม่เลือกพรรคเพื่อไทย
แต่ระบอบ คสช. การใช้อำนาจแบบรัฐทหาร รัฐตำรวจ การปลุกความคิดจารีต อนุรักษ์นิยม มาเป็นข้ออ้างครอบงำสังคม มันขัดแย้งตรงข้ามกับความคิดของคนรุ่นใหม่โดยธรรมชาติ
สี่ปีผ่านไป ระบอบ คสช.ได้เปลี่ยนความขัดแย้งในสังคมเสียใหม่ จากที่มีสองขั้ว ก็เพิ่มคนรุ่นใหม่ที่ไม่เอาเผด็จการ ต่อต้านการจำกัดสิทธิเสรี ความเหลื่อมล้ำ อภิสิทธิ์ชน
ขณะที่คนเสื้อแดงในชนบท ถูกอำนาจรัฐบีบกดจนแสดงออกไม่ได้ แต่ก็ไม่ได้แปลว่าจะสยบยอมไปเสียหมด โดยเฉพาะเมื่อไม่สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ได้แต่แจกบัตรคนจน
ส่วนคนที่เคยเป่านกหวีด แน่ใจนะว่ายังคงเหมือนเดิม เพราะถ้าดูนิด้าโพล ซึ่งผลสำรวจช่วงต้น ๆ นิยมรัฐบาลทหาร ล่าสุด ฝั่งที่ไม่อยากเห็นลุงสืบทอดอำนาจ กลับมีมากกว่า
โป๊ะแตก ทำนบแตก ยังพอว่า ระวังอย่าให้ไปถึงจุดเขื่อนแตกก็แล้วกัน
เผยแพร่ครั้งแรกใน: ข่าวหุ้นธุรกิจ [1]
| ["'ใบตองแห้ง' ออนไลน์", 'การเมือง', 'ใบตองแห้ง', 'ประเทศกูมี', 'Rap Against Dictatorship', 'RAD'] |
https://prachatai.com/print/79367 | 2018-10-30 03:20 | เหตุบุกยิงโบสถ์ชาวยิวที่ 'พิตต์เบิร์ก' ผลร้ายจากการปลุกปั่นชาตินิยมขวาจัด | กรณีคนร้ายกราดยิงที่โบสถ์ชาวยิวเมืองพิตต์เบิร์ก ประเทศสหรัฐฯ สะท้อนให้เห็นผลร้ายของการปลุกปั่นให้เกิดความเกลียดชังทางเชื้อชาติ โดยผู้ต้องสงสัยก่อเหตุเป็นชายคนผิวขาวที่คลุกคลีอยู่กับกลุ่มขวาจัดที่ใส่ร้ายชาวยิวและชาวมุสลิม ก่อเหตุยิงชาวยิวเสียชีวิต 11 ราย ขณะที่เจ้าหน้าที่ทางการเมืองพิตต์เบิร์กก็ระบุว่าเหตุการณ์ในครั้งนี้นับเป็น "อาชญากรรมจากความเกลียดชัง"
แฟ้มภาพ Tree of Life Synagogue ที่เมืองพิตต์สเบิร์ก รัฐเพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา สถานที่เกิดเหตุคนร้ายกราดยิงชาวยิวเมื่อ 27 ต.ค. 2561 (ที่มา: tolols.org [1])
ในวันที่ 27 ต.ค. ที่ผ่านมา คนร้ายใช้อาวุธปืนกราดยิงผู้คนในโบสถ์ชาวยิว ในเมืองพิตต์สเบิร์ก รัฐเพนซิลเวเนีย ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 11 ราย และมีผู้บาดเจ็บอีก 6 ราย เหตุเกิดในช่วงที่กำลังมีพิธีตั้งชื่อให้เด็กทารก สำนักงานสอบสวนกลางของสหรัฐฯ หรือเอฟบีไอควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยก่อเหตุชื่อ โรเบิร์ต บาวเออร์ส อายุ 46 ปี ชายผิวขาวฝ่ายขวาผู้มีแนวคิดต่อต้านชาวยิว
บาวเออร์สยกมือยอมมอบตัวกับเจ้าหน้าที่หน่วยสวาท โดยที่แหล่งข่าวจากตำรวจพิตต์สเบิร์กเปิดเผยว่าคนร้ายเดินเข้าไปในอาคารพร้อมกับอาวุธที่ใช้ก่อเหตุแล้วตะโกนว่า "ยิวทุกคนต้องตาย"
สื่อมาเธอร์โจนส์ระบุว่าเหตุกราดยิงที่เกิดขึ้นในโบสถ์ทรีออฟไลฟ์ของชาวยิวนั้นถือเป็นความรุนแรงในเชิงต่อต้านชาวยิวแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในสหรัฐฯ ฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจระบุว่าเหตุการณ์ในครั้งนี้ถือเป็นอาชญากรรมจากความเกลียดชัง (Hate Crime) เนื่องจากเหยื่อถูกสังหารเพียงเพราะความเชื่อของพวกเขา
ทางการพิตต์เบิร์กเปิดเผยอีกว่าคนร้ายเดินเข้าไปในสถานที่รวมตัวกันของชาวยิวพร้อมทั้งอาวุธปืนไรเฟิลและปืนพก 3 กระบอก เขามีบัญชีผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียของพวกฝ่ายขวาจัดในสหรัฐฯ ที่เรียกว่า Gab โดยที่ในเว็บไซต์ดังกล่าวมีการโพสต์ในเชิงใส่ร้ายป้ายสีและสร้างความเกลียดชังทางศาสนาต่อทั้งชาวยิวและชาวมุสลิม
หนึ่งในโพสต์ล่าสุดมีของบาวเออร์สมีการวิพากษ์วิจารณ์กลุ่มชาวยิวที่สนับสนุนผู้อพยพ HIAS ที่ให้การช่วยเหลือผู้ลี้ภัย โดยโพสต์ข้อความทำนองใส่ไฟว่ากลุ่มผู้ลี้ภัยเป็นพวก "ผู้รุกรานที่จะมาฆ่าประชาชนของเรา" อีกทั้งยังมีข้อความในเชิงที่ว่าเขาต้องปฏิบัติการทำอะไรสักอย่างแล้ว
ทั้งนี้ยังมีผู้คนในโซเชียลมีเดียอย่างทวิตเตอร์วิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้กันอย่างกว้างขวาง ผู้ใช้รายหนึ่งที่ชื่อ Russell Drew โพสต์ในทวิตเตอร์ว่า คาราวานผู้อพยพจากฮอนดูรัส 5,000 คน ไม่ได้เป็นภัยต่อพวกเขาเลย แต่คนที่ทำตัวเป็นภัยคือฆาตกรในหมู่พวกเขาเองที่สังหารชาวยิวไปในเหตุการณ์นี้
ผู้ใช้อีกรายหนึ่งชื่อ Michelle Mars ระบุว่าเหตุการณ์ในครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงเรื่องที่ การเหยียดเชื้อชาติยังคงมีอยู่ในสหรัฐฯ และมันถูกกระตุ้นให้เกิดการก่อเหตุจากการใช้วาจายุยงความเกลียดชังทางเชื้อชาติและมาจากความคิดอ่านแบบชาตินิยมจัด และเธอก็แสดงความเสียใจต่อเหยื่อในเหตุการณ์ที่พิตต์เบิร์ก
เรียบเรียงจากPittsburgh Tragedy Called the “Deadliest Attack on the Jewish Community in the History of the United States”, Mother Jones [2], 27-10-2018
Yet Again: 11 Dead in Mass Shooting At Pittsburgh Synagogue, Common Dreams [3], 27-10-2018
| ['ข่าว', 'สิทธิมนุษยชน', 'ต่างประเทศ', 'การเหยียดเชื้อชาติ', 'การเหยียดชาวยิว', 'ยิว', 'เหตุกราดยิง', 'โรเบิร์ต บาวเออร์ส', 'ขวาจัด', 'อาชญากรรมจากความเกลียดชัง', 'Hate Crime', 'พิตต์เบิร์ก', 'สหรัฐอเมริกา'] |
https://prachatai.com/print/79369 | 2018-10-30 07:54 | นิธิ เอียวศรีวงศ์: รัฐประหารไม่ได้อยู่ที่กองทัพ | แม่ทัพบกคนใหม่คงเข้าใจผิดว่าการรัฐประหารในประเทศไทยเกิดขึ้นจากการตัดสินใจของกองทัพ แท้จริงแล้วไม่เคยมีรัฐประหารครั้งใดเลยที่กองทัพตัดสินใจได้เองโดยอิสระ ยิ่งหลัง 14 ตุลาเป็นต้นมา กองทัพยิ่งกลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองของชนชั้นนำกลุ่มอื่นมากขึ้น ไม่ว่ากองทัพจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม
ก่อนหน้านั้น แม้กองทัพไม่ได้มีอิสรภาพในการตัดสินใจทำรัฐประหารแต่ผู้เดียว แต่กองทัพหรือผู้นำกองทัพเป็นหนึ่งในบรรดาผู้ตัดสินใจหลักๆ ทั้งนี้ นับตั้งแต่การรัฐประหารครั้งแรกคือ รัฐประหารปิดสภาและงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราของพระยามโนปกรณ์นิติธาดา สืบมาจนถึงรัฐประหาร 2501 ของสฤษฎิ์ ธนะรัชต์
ตรงกันข้ามกับความเข้าใจผิดๆ ของแม่ทัพบกด้วยซ้ำ เมื่อไรก็ตามที่กองทัพหรือผู้นำกองทัพตัดสินใจทำรัฐประหารแต่ลำพัง โดยขาดการตัดสินใจร่วมกับชนชั้นนำกลุ่มอื่น หรือขาดการตัดสินใจร่วมของชนชั้นนำอย่างกว้างขวางและถ้วนทั่วพอ ก็จะประสบความล้มเหลว ยกตัวอย่างจากกรณีไม่ไกลนักก็ได้
เช่นการรัฐประหารตนเองของถนอม กิตติขจรใน พ.ศ.2514, ความพยายามทำรัฐประหารซ้อนของพลเอกฉลาด หิรัญศิริ, และ “เมษาฮาวาย” เป็นต้น
ทําไมจึงเป็นเช่นนี้? เหตุผลง่ายๆ ที่เห็นได้ชัดก็คือ กองทัพไทยนั้นไม่อาจนับเป็นส่วนหนึ่งของชนชั้นนำไทยได้อย่างแท้จริง อย่าลืมว่าส่วนใหญ่ของกองกำลังในกองทัพงอกขึ้นมาจาก “ไพร่” หรือคนไม่มีหัวนอนปลายเท้าทั่วประเทศ
หลังการเกณฑ์ทหารเพื่อสร้างกองทัพแห่งชาติขึ้นแทน “ชนชั้นนักรบ” ของเจ้าศักดินาประเภทต่างๆ แล้ว อาจกล่าวได้ว่ากองทัพของทุกชาติในโลกล้วนงอกขึ้นมาจาก “ไพร่” ทั้งนั้น แต่ในบางประเทศจะรักษากำลังระดับนายทหาร โดยเฉพาะชั้นสูงๆ ไว้กับชนชั้น “ผู้ดี” เท่านั้น เช่นในกองทัพของปรัสเซีย-เยอรมัน ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 จะสิ้นสุดลง นายพลใหญ่ๆ ล้วนมาจากตระกูลเจ้าที่ดินในแคว้นตอนเหนือของประเทศ ในแง่หนึ่งแกนกลางของกองทัพอังกฤษก็สืบเชื้อสายทหารมาหลายชั่วโคตร ทั้งนี้ไม่พูดถึงกองทัพของพระเจ้าซาร์แห่งรัสเซีย หรือกองทัพของจักรพรรดิแห่งออสเตรีย-ฮังการี ซึ่งยิ่งรักษาอภิสิทธิ์ของชนชั้นไว้อย่างเหนียวแน่นในกองกำลังบังคับบัญชาของกองทัพเสียยิ่งกว่า
คณะราษฎรอาจไม่สามารถสืบทอดมรดกประชาธิปไตยที่เข้มแข็งยั่งยืนให้แก่ประเทศได้ แต่มรดกที่เข้มแข็งยั่งยืนของคณะราษฎรอยู่ในกองทัพ หลังวันที่ 24 มิถุนายน 2475 กองกำลังนายทหารของกองทัพไทยก็เปิดกว้างแก่ทุกคน (หรือเกือบทุกคน) ซึ่งรวมทั้งลูกตาสีตาสาด้วย ไม่มีคณะราษฎร จอมพลทุกคนของกองทัพไทยหลัง 2475 ไม่มีโอกาสเป็นจอมพลได้สักคน อย่าว่าแต่จอมพลเลย แม้แต่นายพันที่ได้คุมกองกำลังซึ่งมีความสำคัญด้านการรบ ก็คงไม่ได้เป็นด้วย หากลูกข้าราชการระดับล่างหรือลูกตาสียายสาคนใดเก่งนัก ก็ไปเป็นอาจารย์โรงเรียนนายร้อย
“วิชาการ” ไม่ว่าในด้านใด ไม่เคยเป็นคุณสมบัติสำคัญของชนชั้นนำในสังคมใดสักแห่งเดียว ถ้า “นักวิชาการ” อยากงอกเข้าไปในหมู่ชนชั้นนำให้ได้ ก็ไปบวชเสีย แต่นั่นก็ทำให้ไม่อาจสืบทอดสถานะของตนต่อไปในตระกูลได้ เพราะมักจะถูกห้ามไม่ให้มีเมียและด้วยเหตุดังนั้น หลัง 14 ตุลา ผู้นำกองทัพหรือบางส่วนของผู้นำกองทัพซึ่งเคยเป็นหนึ่งในกลุ่มชนชั้นนำที่ร่วมตัดสินใจทำรัฐประหาร จึงมีส่วนแบ่งในการตัดสินใจน้อยลง จนกลายเป็น “เครื่องมือ” ของชนชั้นนำกลุ่มอื่น เพราะนับตั้งแต่หลัง 14 ตุลาเป็นต้นมา นอกจากจะมีคนนอกกลุ่มชนชั้นนำ โดยเฉพาะที่เรียกกันอย่างกว้างๆ ว่า “คนชั้นกลาง” เข้ามามีส่วนร่วมบนเวทีการเมืองเพิ่มขึ้นแล้ว ชนชั้นนำบางกลุ่มยังสามารถผนึกกำลังของตนเองกลายเป็นอำนาจนำ ที่ชนชั้นนำกลุ่มอื่น เช่น กระฎุมพีกับคนชั้นกลางระดับบนๆ พากันสนับสนุน และรวมพลังทางการเมือง เพื่อเคลื่อนไหวกำหนดความเป็นไปในการเมืองไทย รวมทั้งการรัฐประหารด้วย
กองทัพเป็นองค์กรเดียวที่เข้าร่วมสนับสนุนการเมืองที่ชนชั้นนำผูกขาด โดยไม่สามารถจัดการภายในองค์กรของตนเองได้อย่างอิสระ ทุนขนาดใหญ่ยังสามารถสืบทอดอำนาจทุนของตนเองในตระกูลได้ แม้แต่จะเลือกซีอีโอคนนอกมาดำเนินงาน ก็มีอำนาจเป็นอิสระของตนเองที่จะตัดสินใจเลือกใคร คนชั้นกลางยังมีอิสระที่จะเลือกเชื่อแพทย์คนไหน หรือจะสยบยอมหรือไม่ต่อองค์กรของแพทย์เช่นองค์กร “ส” ทั้งหลาย
มีแต่กองทัพเท่านั้น ที่ไม่มีอิสระจะเลือก “นาย” ของตนเอง และยิ่งนับวันการขึ้นเป็นแม่ทัพก็ยิ่งต้องอาศัยอำนาจจากภายนอกมากขึ้นทุกที
ดังนั้น กองทัพจึงเป็นแค่ “เครื่องมือ” มากกว่าเป็นส่วนหนึ่งของชนชั้นนำจริง ในความเป็นจริง แม่ทัพไม่มีอำนาจที่จะตัดสินใจได้หรอกว่า จะยึดอำนาจภายใต้เงื่อนไขอะไร ความปั่นป่วนวุ่นวายระดับไหน และในเรื่องอะไรจึงควรยึดอำนาจ และระดับไหน เรื่องอะไร ให้ถือว่าเป็นระดับที่ยังพอรับได้ การตัดสินใจไม่ได้มาจากกองทัพ แต่มาจากชนชั้นนำที่ล้วนอยู่นอกกองทัพต่างหาก
ตราบเท่าที่การเมืองไทยยังเป็นการแบ่งสรรอำนาจในหมู่ชนชั้นนำ ตราบนั้นการรัฐประหารก็ยังต้องเป็นส่วนหนึ่งของการจัดสรรอำนาจอยู่นั่นเอง เพราะหากชนชั้นนำใช้วิธีอื่นในการจัดสรรแบ่งปันอำนาจกัน ก็หลีกเลี่ยงได้ยากที่จะต้องเปิดให้ชนชั้นอื่นซึ่งไม่อยู่ในอาณัติของตน ได้เข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น (ซึ่งอาจเป็นหรือไม่เป็นประชาธิปไตยก็ได้)
ในแง่นี้ รัฐประหารในการเมืองไทย แม้จะทำความเสียหายแก่บ้านเมืองตลอดมา แต่ก็มีประโยชน์อยู่บ้าง เพราะการแข่งขันอำนาจในหมู่ชนชั้นนำในหลายสังคม เป็นผลให้เกิดการรบราฆ่าฟันกันนองเลือด ซ้ำเมื่อฝ่ายใดได้อำนาจแล้ว การฆ่าฟันก็ยังไม่อาจหยุดได้ เพราะระบอบปกครองดำรงอยู่ได้ด้วยความโหดเหี้ยมรุนแรงเท่านั้น แต่ในการเมืองไทย อย่างน้อยชนชั้นนำได้บรรลุฉันทามติกันมาระดับหนึ่งแล้ว ที่จะแข่งขันอำนาจกันภายใต้กติกาใหม่ที่สถาปนาขึ้นในการรัฐประหาร (เช่น “การพัฒนา” หรือ “ประชารัฐ” เป็นต้น) การฆ่าฟันกันจนนองเลือดกลับทำให้ชนชั้นนำ “ขาดทุน” ทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองด้วยซ้ำ
ถึงไม่ก่อให้เกิดการนองเลือด แต่รัฐประหารทำให้การเมืองไทยวนเวียนซ้ำซากอยู่อย่างเดิมโดยไม่อาจก้าวต่อไปไหนได้ ดึงให้ด้านอื่นๆ ชะงักงันไปหมด ดังนั้น ความพยายามของคนหลายฝ่ายที่จะทำให้การเมืองไทยปลอดพ้นจากการรัฐประหารเสียทีจึงเป็นความพยายามที่ควรได้รับการสนับสนุน
แต่ปัญหาอยู่ที่ว่า จะบรรลุผลสำเร็จได้อย่างไร?
การกำหนดในรัฐธรรมนูญให้เป็นหน้าที่ของพลเมืองในการต่อต้านการรัฐประหาร ซึ่งเริ่มทดลองใช้มาในรัฐธรรมนูญ 2540 พิสูจน์แล้วว่าไม่ได้ผล และคงไม่น่าจะได้ผลในทุกสังคมกระมัง เพราะประชาชนคือฝ่ายที่ขาดการจัดองค์กรหรือการจัดตั้งที่สุดในทุกสังคม ที่ไหนจะสามารถระดมพลังออกมาต่อต้านกองทัพซึ่งมักเป็นองค์กรที่มีการจัดตั้งดีที่สุดในทุกสังคมได้ (ยกเว้นแต่ว่าองค์กรประชาชนสามารถยึดครองพื้นที่สำหรับการจัดองค์กรที่เข้มแข็งได้ เช่น ในป่าหรือในสลัมของเขตเมือง)
ข้อเสนอให้ปฏิรูปกองทัพ เพื่อให้เป็นกองทัพที่ทำงานเฉพาะตามหน้าที่ของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ยอมอยู่ภายใต้การควบคุมของฝ่ายพลเรือนที่ต้องรับผิดชอบต่อคนอื่นอย่างเปิดเผย (คืออาจยังไม่ถึงกับเป็นประชาธิปไตยเต็มร้อย แต่มี “ประชาชน” ที่รัฐบาลต้องรับผิดชอบอย่างเปิดเผยมากพอสมควร) ลดขนาดของกองทัพ, ย้ายทหารออกจากกรุงเทพฯ, มหาวิทยาลัยทหารสอนวิชาการด้านอื่นเป็นหลักเหนือวิชาทหาร, ฯลฯ ล้วนมีประโยชน์และควรทำทั้งนั้น
แต่ดังที่กล่าวแล้วว่า กองทัพไม่ใช่ผู้ก่อให้เกิดรัฐประหาร กองทัพเป็นเพียงเครื่องมือของชนชั้นนำเท่านั้น การระงับมิให้เกิดการรัฐประหารในเมืองไทยจึงต้องมุ่งไปจัดการกับการเมืองของชนชั้นนำเป็นสำคัญก่อนอื่นใด
เป้าหมายคือสร้างเงื่อนไขที่จะทำให้ชนชั้นนำทุกกลุ่มต้องเล่นการเมืองในพื้นที่สาธารณะของรัฐ ทั้งนี้มิใช่ออกกฎหมายที่ “สั่ง” ให้ชนชั้นนำลงมาเล่นการเมืองในพื้นที่นี้ แต่ต้องสร้างเงื่อนไขด้านอื่นๆ ที่ทำให้การเล่นการเมืองในที่ลับทำให้ “ขาดทุน” หรือไม่ให้ผลกำไรคุ้ม (ในทุกทาง)
เช่นหากรัฐเอาจริงเอาจังกับการปกป้องคุ้มครองฝ่ายที่อ่อนแอกว่าทุน เช่นแรงงานหรือเกษตรกรผู้ผลิตวัตถุดิบหรือผู้บริโภค ป้องกันมิให้ฝ่ายทุนเอาเปรียบหรือกดขี่ขูดรีด ทุนย่อมค้นหาวิธีทำกำไรในเงื่อนไขใหม่ ที่ฝ่ายซึ่งถูกเอาเปรียบมาก่อนได้รับการปกป้องคุ้มครองอย่างดี วิธีใหม่ดังกล่าวต้องอยู่ในพื้นที่เปิดเท่านั้น มิฉะนั้นก็ไม่อาจเกิดการแข่งขันได้จริง
ทั้งนี้ มิได้หมายความว่ารัฐต้องทำหน้าที่กำกับควบคุมตลาดไปทุกฝีก้าว แต่หมายถึงการบังคับใช้กฎหมายที่ปกป้องคนอ่อนแออย่างจริงจัง เช่น กฎหมายป้องกันการผูกขาด (ซึ่งแทบไม่เคยใช้บังคับเลยตั้งแต่มีกฎหมายนี้ขึ้น) ควบคุมดูแลว่าสวัสดิการแรงงานซึ่งกฎหมายให้การคุ้มครองไว้ได้รับการปฏิบัติตามอย่างเต็มที่ ไม่ปล่อยให้เกิดการหลบหลีกกฎหมายด้วยวิธีต่างๆ
ในขณะที่ดูแลให้คนทุกคนเข้าถึงสวัสดิการพื้นฐานซึ่งรัฐจัดให้ เช่น การรักษาพยาบาลและการศึกษา ทั้งต้องกวดขันให้คุณภาพของสวัสดิการเหล่านี้ให้เพิ่มพูนขึ้นจนไม่มีความต่างระหว่างคนรวยและคนจน หากโรงเรียนของลูกชาวบ้านมีคุณภาพเท่ากับโรงเรียนสวนกุหลาบ หรือเตรียมอุดมศึกษา ลูกเจ้าสัวจะดิ้นรนเข้าเรียนโรงเรียนดัง ก็เป็นสิทธิของเขา แต่ลูกชาวบ้านก็ไม่เสียเปรียบลูกเจ้าสัวในการแข่งขันด้านการเรียน เพียงแต่เข้าไม่ถึง “เส้นสาย” เท่านั้น ซึ่งรัฐก็ควรสอดส่องมิให้ “เส้นสาย” เป็นประตูสำหรับเข้าถึงทุกอย่างมากเกินอีกต่อไป (เช่น ใช้เพื่อหาผัวหาเมียได้ แต่ใช้เพื่อตำแหน่งงานสาธารณะไม่ได้)
กฎหมายกระจายอำนาจต้องทำให้ท้องถิ่นสามารถบริหารกิจการภายในของตนเองได้เกือบทุกด้าน ไม่เฉพาะแต่เก็บขยะเท่านั้น แต่ต้องรวมถึงการวินิจฉัยการใช้ทรัพยากรท้องถิ่นในรูปต่างๆ และการควบคุมดูแลกิจการที่กระทบต่อชีวิตสาธารณะ และชีวิตส่วนตัวของคนในท้องถิ่นด้วย (เช่นมีอำนาจสั่งปิดโรงงานได้ทันที หากกระทำผิดด้านสิ่งแวดล้อม หรืออาจลดภาษีท้องถิ่นให้ได้บางส่วน หากรับคนท้องถิ่นเข้าทำงานเกินเท่านั้นเท่านี้เปอร์เซ็นต์)
และอื่นๆ อีกมากที่ต้องช่วยกันคิด
จนสามารถทำให้การเมืองที่ให้ผลดีแก่ชนชั้นนำ เหลือพื้นที่สำหรับการดำเนินการได้ในพื้นที่สาธารณะเท่านั้น หากมีกฎหมายใดที่พวกเขาไม่ชอบ เขาอาจเลี่ยงกฎหมายได้ (ซึ่งเป็นความผิดทางกฎหมาย) หรือยกเลิกกฎหมายก็ได้ แต่ต้องทำเป็นสาธารณะ สื่อ, นักวิชาการ, พรรคการเมือง, และประชาชนทั่วไป ย่อมมีสิทธิตรวจสอบถ่วงดุลความประสงค์ของชนชั้นนำได้
ประเด็นสำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ องค์กรและการจัดองค์กรเป็นสิทธิตามธรรมชาติของมนุษย์ในสังคม ซึ่งรัฐไม่ควรได้อำนาจจะแทรกแซงกำกับ เว้นแต่จะกระทบต่อสันติสุขของสังคม ซึ่งต้องพิสูจน์ผลกระทบนั้นอย่างเป็นรูปธรรม (ไม่ใช่วินิจฉัยของ “ผู้ใหญ่”) ทั้งนี้ด้วยความหวังว่าคนไทยจะรู้จักคุ้นเคยกับการจัดองค์กรสมัยใหม่มากขึ้น เพราะนับตั้งแต่องค์กรแบบประเพณีถูกทำลายลง คนทั่วไปในสังคมไทยก็แทบไม่ได้เป็นสมาชิกขององค์กรใดอีกเลย นอกจากองค์กรของรัฐและองค์กรของทุน
หากทำได้ตามนี้ นายทุนไทยจะเลิกควักกระเป๋าอุดหนุนการทำรัฐประหารโดยกองทัพ เพื่อเอาทรัพยากรกลางไปอุดหนุนการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ สู้ใช้เงินนั้นชดเชยเกษตรกรที่ลงทุนปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ด้วยราคารับซื้อที่เป็นธรรมดีกว่า ส่วนจะทำกำไรกับอาหารสัตว์ที่ต้นทุนสูงขึ้นอย่างไร เป็นเรื่องของ “กึ๋น” หากมีไม่พอก็ต้องเปิดทางให้นายทุนรายอื่นเข้ามาผลิตอาหารสัตว์อย่างไม่ผูกขาดแทน
เราจะป้องกันมิให้เกิดรัฐประหารได้ ก็ต่อเมื่อเราต้องช่วยกันคิดหาทางที่จะเข้าไปปรับเปลี่ยนการเมืองของชนชั้นนำ ให้ไม่เหลือทางเลือกอื่นนอกจากเล่นกันบนโต๊ะให้เห็นๆ
เผยแพร่ครั้งแรกใน: มติชนออนไลน์ www.matichon.co.th [1]
| ['บทความ', 'การเมือง', 'นิธิ เอียวศรีวงศ์', 'รัฐประหาร', 'กองทัพ', 'อภิรัชต์ คงสมพงษ์'] |
https://prachatai.com/print/79370 | 2018-10-30 08:12 | การกลบทับด้วยภาพฝันอันสวยงาม กับสะพานพุทธและร่างกายที่ไม่เคยเป็นของเรา: บทวิจารณ์ Homestay | ภาพจาก: ฐานเศรษฐกิจ www.thansettakij.com/content/329074 [1]
!SPOILER ALERT!
ช่วงปี 1940 ที่อเมริกามีการบำบัดผู้ป่วยที่มีภาวะซึมเศร้าโดยใช้ทฤษฎีการปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม หรือ cognitive behavioral therapy อารอน เบ็คและนักทฤษฎีทางด้านความคิดได้จำแนกความคิดบิดเบือน หรือ cognitive distortion เป็น 8 ชนิด หนึ่งในนั้นคือการยึดถือตนเองเป็นหลักหรือ personalization self-reference นักจิตวิทยาเชื่อว่าแนวคิดเหล่านี้จะทำให้เกิดความคิดและอารมรณ์ลบและบิดเบือนจากความเป็นจริง
การยึดถือตนเองเป็นหลักหรือ personalization คือการคิดว่าคำพูด หรือการกระทำของผู้อื่น เป็นผลจากตัวเรา โทษตนเอง ยกตัวอย่างเช่น แม่รู้สึกผิดอย่างมากกับการที่ลูกของตนมีปัญหาที่โรงเรียน เธอมองว่าตนเองเป็นแม่ที่บกพร่อง ซึ่งจริงๆแล้ว สาเหตุอาจจะเป็นอย่างอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องอะไรกับเธอเลยก็ได้
หลังจากการพบกันระหว่างวิญญาณของมินที่ถูกลบความทรงจำ (แต่ยังเหลือพรสวรรค์ในการวาดรูปเอาไว้) กับผู้คุมในรูปของสาวน้อยร่มแดงที่สะพานพุทธ ในภาพยนตร์ Homestay ของ ภาคภูมิ วงศ์ภูมิ คำตอบของเขาหลังจากการได้ย้อนรำลึกร่องรอยเรื่องราวของมิน มินที่ถูกลบความทรงจำ กล่าวว่านี่หรือคือของขวัญ การที่ต้องมาอยู่ในร่างที่ตอนแรกเขาใช้จ่ายชีวิตในร่างของมินอย่างมีความสุข มีเงินใช้สอย มีแฟนสาวหน้าตาดีเรียนเก่ง มีเพื่อนผู้หญิงห้าวที่จริงใจ พอถึงเวลานั้นที่เขาเหลือเวลาอีกสามวัน มินเลือกจะตอบว่าที่มินเลือกที่จะตายเพราะทุกคนที่เข้ามาในชีวิตของเขา
แต่เปล่าเลย คำตอบนั้นไม่ได้ทำให้ทรายสีแดงในนาฬิกาหยุดนิ่ง ภาพยนตร์พยายามชักจูงและนำไปสู่บทสรุปที่อาจคาดเดาได้ตั้งแต่ครึ่งเรื่องว่า สุดท้ายมินจะต้องกลับมาตอบผู้คุมว่าที่เขาฆ่าตัวตายก็เพราะตนเอง ที่ใจร้อน ด่วนสรุป ความตายของเขาเสมือนหนึ่งการทำลายโอกาสที่จะได้พบเจออีกแง่มุมหนึ่งของความจริง แม่ที่เลือกจะทิ้งสามีใหม่มาอยู่กับมิน พี่ชายที่ก่อนหน้านี้สาปแช่งให้เขาตายไปได้จะดี จู่ๆ ก็เข้าใจมินจากมือเป็นหลังมือ หลังจากรู้เรื่องแม่มีครอบครัวใหม่ และเผยว่าเขาทิ้งโอกาสไปเรียนวิศวกรรมที่เยอรมันก็ด้วยตัวเขาเองที่เป็นห่วงน้อง หาใช้คำขอร้องของพ่อแม่ พายที่ยอมให้ครูลวนลามเพื่อแลกกับการจะได้ไปแข่งวิชาการที่จีน เธอกลับกล้าที่จะบอกเรื่องนี้กับครูตามคำแนะของมิน และเดินหน้าคว้าชัยชนะในการแข่งขันโดยมีเขาเป็นกำลังใจสำคัญ ลี้ที่ได้เตือนสติมินว่าถึงแม้เรื่องราวที่เขาเจอจะบัดซบขนาดไหน ก็ยังมีเธอเคียงข้างเสมอ แม้ในใจเธอจะคิดมากกว่าเพื่อน
หลังจากเจอสาวน้อยร่มแดง ภาพยนตร์มีท่าทีสั่งสอนโดยสร้างสถานการณ์ให้มินที่รู้สึกว่าตนเองไม่ต้องเสแสร้งแสดงในร่างมินอีกต่อไปแล้ว เขาสามารถสบถระบายกับคนรอบตัวอย่างไม่ไว้หน้าใครทั้งนั้น เพื่อสุดท้ายเขาจะระลึกได้ถึงแง่งามของชีวิตในอีกด้าน ภาพยนตร์โหมกระหน่ำความรักระหว่างแม่ลูก ภาพความทรงจำในอดีตแบบ The Tree of Life (2011) ของมาลิคที่ฉายแทรกเข้ามา อย่างฉากมินกลับไปที่บ้านแล้วเจอทุเรียนที่ร่างใหม่ชอบเหลือเกิน แม้มินจะพูดทำร้ายจิตใจเธออย่างมากจนเกิดอุบัติเหตุ เธอก็ยังว่าเธอคงเป็นแม่ที่ดีไม่ได้ให้เขา ขอให้มินได้ไปเกิดในครอบครัวอื่นที่พร้อมกว่านี้
หลังจากที่เขาได้เรียนรู้อะไรมากมายจากการคุยกับตัวเองในกระจกแบบ Mirror of Erised ใน Harry Potter and the Sorcerer's Stone (2001) มินคนก่อนได้เดินหายไปในความมืด แถลงกุศโลบายที่เขาสร้างขึ้น ลบความทรงจำในอดีตของวิญญาณมินที่เร่ร่อนเพื่อให้เขาได้เรียนรู้อีกด้านหนึ่งของความจริงที่เขาสร้างกำแพงปิดกั้นการรับรู้ มินในอดีตบอกกับมินที่นอนอยู่ในห้องว่าเขาคงจะได้พบกันใหม่ มินคนใหม่ที่ชนะภารกิจในการตามหาสาเหตุการตายของมินคนก่อน ได้รางวัลเป็นร่างที่พักชั่วคราวแห่งนี้ตลอดไปจนกว่าร่างนี้จะหมดอายุขัย หรือจนกว่าจะมีสถานการณ์ที่ผู้คุมจะเข้ามาสิงอีกครั้ง
เขาบรรยาไม่ถูกว่าตนโชคดีขนาดไหนที่เขาได้กลับมาทบทวนตนเองอีกครั้ง เขาโอบกอดลี้และเอ่ยปากชวนลี้ไปกินบิงซูอย่างไม่เขินอาย ก่อนที่มินจะไปบอกรักแม่อย่างที่ไม่เคยบอกรัก และให้กำลังใจเธอ ครอบครัวที่แตกร้าวของมินกำลังเชื่อมประสาน เช่นเดียวกับความสัมพันธ์ระหว่างเขาและพาย มินแก้บนหลังจากเธอคว้าชัย สะพานพุทธแหล่งชุมนุมของวัยรุ่นชายขอบนอกเหนือจากสยาม ที่ๆ เขาและเธอมอบจูบแรกให้กัน ที่ๆ เธอให้กล้องคาไลโดสโคปกับเขา กล้องที่ทำให้มินได้เห็นพลุทุกวัน พลุสีแดงส่องสว่างกลางท้องฟ้า เพื่อย้ำเตือนในค่ำคืนนั้นที่พวกเขาได้เตร็ดแตร่ในวันลอยกระทง และบนกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของโรงเรียนถึงอนาคตของกันและกัน
ภาพความงดงามของชีวิตหลังจากที่มินได้เจอหญิงสาวร่มแดง ด้วยการที่ทำให้เขามองว่าที่เขาทำร้ายตนเองก็เพราะเขาเองที่ไม่ให้โอกาสตนเอง นั่นคือคำตอบของภารกิจที่มีปัญหาอยู่มากสำหรับเรา จนกระทั่งอาจทำให้เรามองว่าการเลือกให้ตัวละครมีบทสรุปความคิดเช่นนี้อาจเป็นอันตราย เพราะในความเป็นจริงอย่างที่เราได้อ้างถึง การโทษตนเองไม่อาจทำให้มินกลับมาตกตะกอนความคิดเช่นนั้นได้ มิหนำซ้ำจะยิ่งทำให้สถานการณ์แย่ลง ซ้ำเติมผู้มีภาวะซึมเศร้า
กระแสโรคซึมเศร้าเป็นที่พูดถึงในช่วงปีที่ผ่านมานี้ เป็นโอกาสดีเสียด้วยซ้ำที่ GDH จะได้ใช้เป็นวัตถุดิบในการสร้างภาพยนตร์ แต่น่าเสียดายที่ทีมบทยังติดกับข้อเข้าใจผิดเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าอยู่ค่อนข้างมาก แถมการโหมกระพือของภาพฝันโรแมนติกช่วงท้าย ไม่เพียงกลบบทสรุปความคิดที่บิดเบี้ยวของมิน แต่ประเด็นที่น่าสนใจอีกมากกลับเลือนหายไปเหมือนไม่เคยมีอยู่ อย่าง การขายวิญญาณค่านิยมของนักเรียนสายวิทย์ อำนาจนิยมและการทารุณกรรมทางเพศในสถานศึกษาที่จบด้วยพายเผยเรื่องนี้กับครูใหญ่เพียงเท่านั้น ไม่ต่างอะไรจากข่าวที่เราเห็นว่ามีการร้องเรียน ส่วนเรื่องหลังจากนั้นก็เงียบหาย
เอาจริงๆ เราอาจจะมีปัญหากับการที่ภาพยนตร์พยายามใส่ประเด็นหลายสิ่งหลายอย่างเข้ามา แต่ก็ทิ้งมันไว้ตรงนั้น ก่อนจะโหมกระพือนช่วงท้าย มีประเด็นที่น่าสนใจอีกมากมายเช่น ความสัมพันธ์ระหว่างเด็กสายวิทย์กับสายศิลป์คือพายและมิน กรณีของมินที่เกิดมาในครอบครัวสายวิทย์ ส่วนเขามีหัวนอกรีตและรู้สึกแตกต่างโดดเดี่ยว หรือกรณีคนรุ่นมิลเลนเนียลที่ยังกราบไหว้บนบานศาลกล่าว ในขณะเดียวกันก็พร้อมจะล้อเลียนอย่างฉากมินกินน้ำแดง หรือก็จริงจังกับการแก้บนอย่างฉากสุดท้ายที่ลงทุนแก้ผ้าวิ่งบนสะพานพุทธ นอกจากนี้กรีณีพ่อของมินที่น่าจะเป็นอาจารย์ด้านวิทยาศาสตร์ลาออกมาขายสมุนไพร อาหารเสริมไม่มีงานวิจัยรองรับ เราว่ามันมีองค์ประกอบของการปะทะกันระหว่างความเชื่อและวัฒนธรรม กับวิทยาศาสตร์ การย้อนกลับของคนที่เชื่อถืองานวิจัย ทำให้นึกถึง Natureculture ของฮาราเวย์ แต่ภาพยนต์ก็ไม่จริงจังในการสำรวจ ทำหน้าที่เพียงบันทึกช่วงเวลานี้เอาไว้
อีกหนึ่งสิ่งที่น่าสนใจคือวัฒนธรรมการแปรอักษรของนักเรียน ที่ย้อนไปถึงงานพิธีจตุรมิตรสามัคคีของโรงเรียนสวนกุหลาบในปี 2014 ที่ปรากฎใบหน้าของอาจารย์ประวัติศาสตร์ชื่อดัง แต่การแปรอักษรในโรงเรียนที่มีตัวย่อ ป.ท.ญ. นี้ ภาพที่ถูกคัดออกของมิน ได้แก่ภาพเด็กหัวขาด หรือแมลงสาบตัวใหญ่ที่ให้นึกถึงนักเรียนนักศึกษาที่ยังไม่เคยได้เลือกตั้ง หรือพรรคการเมืองบางพรรคที่มีส่วนร่วมในการย้อนพัฒนาการประเทศกลับไปอีกหลาบสิบปี ภาพเหล่านี้ไม่ถูกเลือกไปนำเสนอโดยกลุ่มพาวเวอร์เรนเจอร์ที่อุปมาคล้ายกับบางสิ่ง
ฉากการสั่งให้คนบนอัฒจันทร์โบกอุปกรณ์เชียร์ซ้าย-ขวาก็ทำให้นึกถึงวัฒนธรรมของบางองค์กร ภาพที่ปรากฎล้วนมีแต่ภาพงดงาม วัดวาอาราม โขนที่คนไทยเชื่ออย่างสุดใจว่าเป็นของตนเองในสงครามแย่งชิงโขนกับกัมพูชา นี่จึงไม่ต่างอะไรจากสิ่งที่ชนชั้นนำต้องการให้เรารับรู้และเชื่อ หรือนำเสนออกไปให้คนในชาติกันเองเห็นว่าเรามีแต่สิ่งงดงาม เช่นเดียวกับเรื่องราวในช่วงท้ายของภาพยนตร์หลังจากพบเด็กน้อยร่มแดง คนดูถูกหลอกด้วยคลื่นของภาพที่ถาโถมความสวยงามของชีวิตอย่างไม่บันยะบันยังจนเราไม่ทันตั้งตัว หากมองย้อนไปแล้วก็วิธีการของภาพยนตร์จะคล้ายกับชนชั้นนำไทยที่พยายามตั้งตนว่าเป็นองค์กรที่ดีงามเข้ามาจัดการ และผลักประชาชนให้รู้สึกผิด (personalization) กับการกระทำของตัวเอง
มินคนก่อน คือศิลปินที่ท้าทายขนบการวาดและไม่อาจเป็นที่ยอมรับในวัฒนธรรมป๊อป เขาหายตัวไปในความมืดอีกด้านของกระจกที่ส่องสะท้อนตัวตนคนละด้านของมิน มินคนใหม่ชื่นชมพร้อมกับฉงนสนเท่ห์กับผลงานที่มินคนก่อนเขียนไว้คล้ายกับที่เขาเพิ่งเขียนเสร็จหลังจากถูกหลอกว่าค้นพบความงามของชีวิต ภาพแปรอักษรเป็นรูปพายยืนที่ริมทางเดินบนสะพานพุทธ น่าสนใจที่ตอนนี้สะพานพุทธไม่ได้ถูกจดจำตามวัตถุประสงค์แรกเริ่มในการก่อสร้างอีกต่อไป จากเดิมที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองชนชั้นนำในอดีต ในช่วงที่เกิดวิกฤตทางการเมือง ตอนนี้สะพานพุทธกลายเป็นแหล่งชุมนุมของวัยรุ่น เป็นที่ปลดปล่อยและแสดงอัตลักษณ์ของตนอย่างอิสระ เป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยกว่าบ้านสำหรับพวกเขา
สะพานคือการผ่านมาผ่านไป อาจเป็นเสมือน homestay ของพวกเขา หรือแม้กระทั่งตัวเราเองก็คือ homestay เหมือนมินคนใหม่เองที่ใช้ชีวิตต่อในร่างนี้ มินและพายดีใจกับเหรียญรางวัลของเธอ แต่เอาจริงๆ มันเป็นของเธอจริงหรือเปล่า การศึกษาที่มุ่งผลิตสายวิทย์ มหาวิทยาลัยกลายเป็นโรงผลิตแรงงานสู่ระบบทุนนิยม ในขณะที่สายศิลป์อย่างมินคนก่อน ศิลปะที่ท้าทายประเพณีก็ไม่อาจถูกนับ เหลือเพียงศิลปะที่เน้นความวิจิตรอ่อนช้อยรับใช้อะไรบางอย่าง เช่นเดียวกับการสูญสลายของวิชามนุษยศาสตร์สังคมศาสตร์
Homestay สำหรับเราจึงไม่ได้มีความหมายแบบพุทธที่ว่าร่างกายนี้ไม่ใช่ของเรา และการที่ตระหนักได้ตรงนี้ทำให้เราเห็นแง่งามของชีวิต แต่สำหรับเราแล้ว Homestay คือสภาวะที่ร่างกายนี้ไม่เคยเป็นของเรา เหมือนกับสะพานพุทธที่เป็นพื้นที่เสรีที่สุดของวัยรุ่นก็ยังไม่ใช่พื้นที่ของเขาจริงๆ
ดังนั้นแล้ว Homestay จึงเท่ากับร่างของเราที่เปลือยเปล่าล่อนจ้อน พร้อมให้อะไรมาสิง ครอบครอง และทวงคืนได้ตลอดเวลาอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
Reference- คลินิกสุขภาพจิตนายแพทย์เจษฎา. (2015). 12 รูปแบบความคิดที่ทำให้ชีวิตเป็นทุกข์ - เปรมจิต ไชยลังกา. (2017). ภาวะซึมเศร้า ความคิดอัตโนมัติด้านลบ ทัศนคติบิดเบือนกับความคิดบิดเบือน ของผู้เสพยาบ้าอายุระหว่าง 18-24 ปี- นฤมล กล้าทุกวัน. (2554). การ hang out ของวัยรุ่นสะพานพุทธฯ: อัตลักษณ์ของวัย- ชัยวัฒน์ สถาอานันท์. (2553). ความรุนแรงซ่อน/หาสังคมไทย- Kritdikorn Wongsawangpanich. (2017). 3 คอนเซ็ปต์ กับบุคคลที่มิพึงไปข้องเกี่ยวด้วย
| ['บทความ', 'สังคม', 'วัฒนธรรม', 'กฤตภัทธ์ ฐานสันโดษ', 'ภาพยนตร์', 'Homestay'] |
https://prachatai.com/print/79371 | 2018-10-30 09:56 | พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์: พรรคชนชั้นกรรมกรในศตวรรษที่ 21? | ใจ อึ๊งภากรณ์และสหายเรียกร้องให้กรรมกรตั้ง "พรรคการเมืองของตนเอง" มาโดยตลอด (พูดให้ชัดคือตั้ง "พรรคกรรมกรปฏิวัติ" โค่นล้มทุนนิยม) บริภาษกรรมกรที่ไปร่วมกับพรรคอื่นว่า "เดินตามก้นพรรคนายทุน"!
ใจ อึ๊งภากรณ์: แรงงานไม่ควรหลงเลือกนายใหม่ในรูปแบบพรรคอนาคตใหม่ [1]
"พรรคชนชั้นกรรมกร" นั้นเป็นแนวคิดศตวรรษที่ 19-20 บนฐานของระบบทุนนิยมขณะนั้น ทว่านับแต่ยุค 1990s "พรรคกรรมกร" ทั้งหลายก็ล้มหายตายจากไปหมดหรือ "แปรสภาพ" จนเหลือแต่ป้ายชื่อกรรมกร แต่เนื้อในไม่ใช่อีกต่อไป (เช่น อังกฤษ)
มองไปโลกทุกวันนี้ ยังมี "พรรคชนชั้นกรรมกร" ที่มีนัยสำคัญหลงเหลืออยู่ที่ไหนบ้าง?
นี่ไม่ใช่บังเอิญ ไม่ใช่เพราะ "กรรมกรศตวรรษที่ 21 ห่วยแตก" อย่างที่ใจและสหายบ่น แต่เพราะโครงสร้างทุนนิยมโลกที่เปลี่ยนไป "กรรมกรอุตสาหกรรม" กลายเป็นคนส่วนน้อยของสังคมแม้จะยังมีความขัดแย้งรุนแรงกับนายจ้างอยู่เสมอ ๆ ทุนนิยมตะวันตกเกิดการ de-industrialization ภาคอุตสาหกรรมหดเล็กลง แม้แต่ประเทศอุตสาหกรรมเกิดใหม่อย่างจีน-เอเชียตะวันออกที่มีภาคอุตสาหกรรมใหญ่มาก แต่ประชากรกรรมกรก็ยังเป็นส่วนน้อย
เพราะอย่างนี้ บรรดา "พรรคฝ่ายซ้าย" ที่เคยชนะเลือกตั้งในยุโรป-ละตินอเมริกาช่วง 30 ปีมานี้จึงล้วนไม่ใช่พรรคกรรมกร แต่เป็นพรรคปัญญาชนชั้นกลาง (ที่ภาษาลัทธิมาร์กซเรียกว่า พรรคนายทุนน้อย) และพรรคเอ็นจีโอ ที่น่าขันคือ เวลาพรรคฝ่ายซ้ายพวกนี้ชนะเลือกตั้งในยุโรป-ละตินอเมริกา ซ้ายไทยก็ดีใจกันใหญ่ทั้ง ๆ ที่ไม่ใช่พรรคกรรมกร!
สุดท้าย "พรรคฝ่ายซ้าย" พวกนี้จบลงในสองแบบคือ พอชนะเป็นรัฐบาลก็หันไปเดินนโยบายเศรษฐกิจเสรีนิยมเหมือนพรรคฝ่ายขวาซะงั้น หรือที่ดันทุรังเดินนโยบายสังคมนิยมก็บริหารเศรษฐกิจผิดพลาดจนแพ้เลือกตั้งหรือถูกขับไล่!
ทางออกของกรรมกรศตวรรษที่ 21 จึงไม่ใช่พรรคกรรมกร แต่เป็นการร่วมมือกับผู้คนสาขาอาชีพให้กว้างที่สุดไปสู้ทางการเมืองให้ชนะได้ประชาธิปไตย แล้วแบ่งปันดอกผลกัน
| ['บทความ', 'การเมือง', 'แรงงาน', 'พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์', 'พรรคแรงงาน', 'ใจ อึ๊งภากรณ์'] |
https://prachatai.com/print/79372 | 2018-10-30 12:14 | ภาคอุตสาหกรรมญี่ปุ่นต้องการแรงงานต่างชาติทักษะสูงเพิ่ม-ให้อยู่ในประเทศนานขึ้น |
หลายประเทศที่ส่งแรงงานไปยังญี่ปุ่นจะต้องมีการอบรมฝึกฝีมือแรงงานก่อน ปัจจุบันภาคธุรกิจของญี่ปุ่นต้องการแรงงานต่างชาติที่มีทักษะฝีมือเป็นจำนวนมาก และกำลังมีการผลักดันกฎหมายใหม่ที่อนุญาตให้แรงงานต่างชาติทักษะสูงอยู่ในประเทศได้ยาวนานขึ้น ที่มาภาพ: ILO in Asia and the Pacific (CC BY-NC-ND 2.0) [1]
30 ต.ค. 2561 รัฐบาลญี่ปุ่นเผยว่า 1 ใน 3 ของ 14 อุตสาหกรรมในประเทศมีความต้องการแรงงานต่างชาติที่มีทักษะสูง ที่ได้รับสถานภาพให้สามารถอยู่ในประเทศระยะยาวได้ ซึ่งรัฐบาลญี่ปุ่นมีแผนจะยื่นร่างกฎหมายฉบับใหม่เข้าสู่รัฐสภาสมัยปัจจุบัน เพื่อให้มีการกำหนดสถานภาพพำนักอาศัยสำหรับชาวต่างชาติที่ทำงานในญี่ปุ่นขึ้นใหม่ 2 ประเภท เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานในญี่ปุ่น
จากการสอบถามของรัฐบาลญี่ปุ่นพบว่าทุกอุตสาหกรรมซึ่งรวมถึงอุตสาหกรรมเกษตร อุตสาหกรรมพยาบาลดูแลผู้สูงอายุ และอุตสาหกรรมก่อสร้าง ต้องการแรงงานต่างชาติในสถานภาพประเภทที่ 1 ซึ่งคือผู้ที่ได้รับอนุญาตให้พำนักอาศัยได้นานที่สุดไม่เกิน 5 ปี โดยแรงงานต่างชาติที่ผ่านการรับรองว่ามีทักษะและประสบการณ์ในระดับหนึ่งที่จำเป็นในการทำงานในสาขานั้นๆ จะได้รับสถานภาพนี้
นอกจากนี้ พบว่า 1 ใน 3 ของ 14 อุตสาหกรรมนี้ ต้องการแรงงานที่ได้รับสถานภาพประเภทที่ 2 ซึ่งคือแรงงานต่างชาติที่ผ่านการรับรองว่ามีทักษะที่เกี่ยวข้องในระดับที่สูงกว่าผู้ที่ได้รับประเภทที่ 1 ซึ่งสถานภาพประเภทที่ 2 นี้ จะต้องต่อใหม่ทุกๆ 5 ปี สามารถต่อได้เรื่อยๆ อย่างไม่มีกำหนด และแรงงานต่างชาติประเภทที่ 2 นี้สามารถนำคู่สมรสและบุตรมาอยู่ด้วยกันที่ญี่ปุ่นได้
อนึ่งก่อนหน้านี้เมื่อต้นเดือน ต.ค. 2561 ที่ผ่านมามีการเปิดเผยว่าในญี่ปุ่นมีตำแหน่งงานว่างถึง 163 ตำแหน่งต่อจำนวนคนหางาน 100 คน ทั้งนี้ปี 2560 ญี่ปุ่นมีแรงงานต่างชาติ 1.28 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากทศวรรษก่อนสองเท่า แต่ในจำนวนนั้น 450,000 คน ไม่ใช่คนที่เข้าไปทำงานแต่เป็นชาวต่างชาติที่แต่งงานกับคนญี่ปุ่น หรือไม่ก็เป็นคนญี่ปุ่นเชื้อสายเกาหลีที่มาตั้งรกรากในญี่ปุ่นนานแล้ว รวมถึงเป็นชาวต่างชาติที่มีเชื้อสายญี่ปุ่น ในขณะที่อีก 300,000 คน เป็นนักเรียนนักศึกษาซึ่งรัฐบาลอนุญาตให้ทำงานพาร์ทไทม์ได้ แต่ต้องกลับประเทศทันทีที่เรียนจบ
ญี่ปุ่นเตรียมแก้กฎหมายตรวจคนเข้าเมือง หวังชาวต่างชาติมาทำงานมากขึ้น [2]ประชากรญี่ปุ่นลดลงเป็นปีที่ 7 เตรียมจัดระบบวีซ่าแรงงานต่างชาติใหม่ [3]พบแรงงานฝึกงานเวียดนามในญี่ปุ่นถูกให้ทำงานขจัดสิ่งปนเปื้อนกัมมันตรังสี [4]
จำนวนแรงงานต่างชาติในญี่ปุ่นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ [5]
ญี่ปุ่นเปลี่ยนระบบการทำงานผู้ลี้ภัย [6]
ผลสำรวจ 958 คน 54% ยอมรับแรงงานต่างชาติ
brandinside.asia [7] รายงานอ้างอิงจาก Nikkei Asian Review [8] ระบุว่าTV Tokyo สถานีโทรทัศน์ชื่อดังในประเทศญี่ปุ่นได้จัดทำผลสำรวจความเห็นเกี่ยวกับการที่รัฐบาลวางแผนออกวีซ่า 2 ประเภทใหม่ โดยประเภท 1 จะให้แรงงานมีฝีมือจากต่างประเทศสามารถที่จะพักอาศัยในญี่ปุ่นได้ในระยะยาวได้ ถ้าหากตรงเงื่อนไขที่รัฐบาลญี่ปุ่นวางไว้ ส่วนประเภทที่ 2 คือมีการให้วีซ่ากับแรงงานไร้ฝีมือเป็นเวลา 5 ปี แต่จะหลังจากนั้นจะไม่มีการต่อวีซ่าสำหรับแรงงานเหล่านี้
โดยผลสำรวจกลุ่มประชากรชาวญี่ปุ่น 958 คน ผลสำรวจนั้น ร้อยละ 54 เห็นด้วยกับเรื่องนี้ ส่วนอีกร้อยละ 34 ไม่เห็นด้วย สำหรับกลุ่มอายุที่สนับสนุนในเรื่องนี้ส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่นอายุ 18-29 ปี แต่ขณะเดียวกันกลับกลายเป็นว่าผู้สูงอายุในประเทศญี่ปุ่นส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายนี้ มีเพียงแค่ร้อยละ 34 ของผู้สูงอายุเท่านั้นที่เห็นดีเห็นงามกับนโยบายนี้
ที่มาเรียบเรียงจาก1/3 of industries want highly skilled foreigners (NHK WORLD-JAPAN, 28/10/2018) [9]ผลสำรวจชาวญี่ปุ่นเกิน 50% เริ่มยอมรับแรงงานต่างชาติ รัฐบาลเตรียมผลักดันวีซ่าประเภทใหม่ (brandinside.asia, 29/10/2018 [7])
| ['ข่าว', 'แรงงาน', 'ต่างประเทศ', 'ญี่ปุ่น', 'แรงงานข้ามชาติ'] |
https://prachatai.com/print/79375 | 2018-10-30 17:18 | วิษณุคาด คสช. เตรียมคุยพรรคการเมืองเดือน พ.ย. ด้านกกต. พิจารณา ประชาชาติ เป็นพรรคการเมืองแล้ว | วิษณุคาด คสช. เตรียมพูดคุยกับพรรคการเมืองภายในเดือน พ.ย. เตือนนักการเมืองถ้าจะย้ายพรรคต้องทำให้เสร็จก่อน 26 พ.ย. นี้ ด้านเลขาธิการ กกต. ระบุ พรรคประชาติได้รับการพิจารณาให้เป็นพรรคการเมืองแล้ว เผยตอนนี้มีพรรคการเมืองตามกฎหมายทั้งหมด 81 พรรค
แฟ้มภาพเว็บไซต์รัฐบาลไทย
30 ต.ค. 2561 วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความคืบหน้าการประชุมร่วมระหว่างคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กับพรรคการเมือง ว่า ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจน เพราะเดือนพฤศจิกายนนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. เดินทางไปต่างประเทศ 3 - 4 ครั้ง อย่างไรก็ตาม การประชุมน่าจะเกิดขึ้นในเดือน พ.ย. แต่ต้องเป็นช่วงที่ พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ในประเทศไทย
วิษณุ ยังกล่าวถึง กรณีนักการเมืองย้ายพรรคกันไปมาจำนวนมากในช่วงนี้ว่า ไม่เป็นอะไร บางครั้งก็ไม่เรียกว่าย้ายพรรค เพราะยังไม่รู้ว่าแต่เดิม บุคคลนั้นๆ ยังเป็นสมาชิกอยู่หรือไม่ อาจจะเคยเป็น แต่ขาดสมาชิกภาพไปแล้ว จึงให้มีการอัพเดตข้อมูลสมาชิกให้เป็นปัจจุบัน แล้วใช้ทะเบียนสมาชิกใหม่เป็นหลัก
“ผมไม่มองว่า สิ่งที่เกิดขึ้นขณะนี้ เป็นการย้ายพรรค แต่คนที่จะลงรับสมัคร ส.ส. จะต้องมีสภาพสมาชิกพรรค 90 วันก่อนวันเลือกตั้ง ถ้าวันเลือกตั้งคือ 24 กุมภาพันธ์ 2562 จะต้องเป็นสมาชิกภายในวันที่ 26 พฤศจิกายนนี้ แต่หลังวันดังกล่าว ก็ยังย้ายพรรคได้อยู่ แต่จะลงสมัคร ส.ส.ไม่ได้แล้ว ถ้าพอใจเป็นแค่สมาชิกพรรค ก็ไม่เป็นไร ซึ่งก็มีบางคนที่ไม่ได้จะลงสมัครเป็น ส.ส.” วิษณุ กล่าว
วันเดียวกัน พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง เปิดเผยว่า การประชุม กกต.เมื่อวานนี้ (29 ต.ค.) ที่ประชุมได้พิจารณาคำขอจดทะเบียนจัดตั้งพรรค จำนวน 3 พรรค ประกอบด้วย พรรคแผ่นดินธรรม พรรคประชาชาติ และพรรคพลังชาติไทย ส่วนการประชุม กกต.วันนี้ (30 ต.ค.) ได้พิจารณาคำขอจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองอีกจำนวน 2 พรรค ประกอบด้วย พรรคประชาธรรมไทย และพรรคคลองไทย โดยที่ประชุมพิจารณาคำขอจดทะเบียน เอกสารและหลักฐานของทั้ง 5 พรรคที่ยื่นมานั้น ถูกต้องครบถ้วนตามมาตรา 12 , มาตรา 13 , มาตรา 14 , มาตรา 15 , มาตรา 16 จึงรับจดทะเบียนจัดตั้งพรรคแผ่นดินธรรม , พรรคประชาชาติ , พรรคพลังชาติไทย , พรรคประชาธรรมไทย และพรรคคลองไทย ตามมาตรา 17 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560
เลขาธิการ กกต. กล่าวอีกว่า ที่ประชุม กกต.ได้ประกาศให้พรรคคนไทยสิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมือง ตามมาตรา 91 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 เนื่องจากที่ประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคคนไทย มีมติให้เลิกพรรคคนไทยตามข้อบังคับพรรค อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีพรรคการเมือง จำนวน 81 พรรคการเมือง โดยจดทะเบียนพรรคการเมืองใหม่ จำนวน 16 พรรค และเป็นพรรคการเมืองเดิม จำนวน 65 พรรค.
ที่มาจาก สำนักข่าวไทย 1 [1],2 [2]
| ['ข่าว', 'การเมือง', 'วิษณุ เครืองาม', 'จับตาการเลือกตั้ง', 'พรรคประชาชาติ', 'จรุงวิทย์ ภุมมา', 'คสช.', 'กกต.'] |
https://prachatai.com/print/79373 | 2018-10-30 12:56 | คุก 2 ปี 'จ่าประสิทธิ์' มีเสื้อเกราะโดยไม่ได้รับอนุญาต เม.ย.53 | ศาลพิพากษาจำคุกโดยไม่รอลงอาญา สั่งคุก 2 ปี 'จ่าประสิทธิ์' มีเสื้อเกราะซึ่งสูญหายไปเมื่อวันที่ 10 เม.ย.53 โดยไม่ได้รับอนุญาต เจ้าตัวเตรียมหลักทรัพย์ยื่นประกันตัวสู้คดีในชั้นอุทรณ์ต่อไป ขณะที่ ศาลยกฟ้อง 'อลงกรณ์' คดีแจ้งความเท็จทุจริตเกราะอ่อนปี 46 ระบุไม่มีเหตุกลั่นแกล้ง
ภาพจากเพจ Banrasdr Photo [1]
30 ต.ค.2561 วันนี้ ห้องพิจารณา 714 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาคดีดำ อ.1937/2560 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ฟ้อง จ.ส.ต.ประสิทธิ์ ไชยศรีษะ หรือ จ่าประสิทธิ์ อายุ 53 ปี อดีต ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย และแกนนำแนวร่วมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เป็นจำเลย ฐานกระทำผิด พ.ร.บ.เครื่องยุทธภัณท์ พ.ศ.2530 มาตรา 4, 15, 42 และรับของโจร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357
ศาลพิพากษาจำคุกโดยไม่รอลงอาญา ในความผิดคดีรับของโจร 1 ปี และคดี พ.ร.บ.เครื่องยุทธภัณท์ 1 ปี รวมจำคุก 2 ปี ซึ่งจ่าประสิทธิ์ ได้เตรียมหลักทรัพย์ยื่นประกันตัวสู้คดีในชั้นอุทรณ์ต่อไป
คดีนี้อัยการฝ่ายคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ฟ้อง จ.ส.ต.ประสิทธิ์ ว่ากรณีเมื่อวันที่ 22 เม.ย. 2553 เจ้าหน้าที่ตรวจค้นรถจำเลย พบมีเสื้อเกราะกันกระสุนและหมวกนิรภัยปราบจราจลซึ่งเป็นเครื่องยุทธภัณฑ์โดยมิได้รับอนุญาต ที่สูญหายไปเมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2553 ในเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าทหารปฏิบัติการสลายการชุมนุมกลุ่ม นปช. และขณะที่ ส.อ.ชนะยุทธ คมสาคร สังกัดกองทัพภาค 1 กำลังปฏิบัติหน้าที่ ได้มีคนร้ายมากกว่า 3 คนขึ้นไปร่วมกันใช้คันธงยาว 1 เมตรตีประทุษร้ายและแย่งชิงหมวกนิรภัยปราบจลาจลราคา 3,745 บาท ที่ ส.อ.ชนะยุทธ ครอบครองที่ศีรษะไปโดยทุจริต เป็นเหตุให้ได้รับบาดเจ็บเป็นอันตรายแก่กาย เหตุเกิดที่แขวง เขตดุสิต กทม. และที่อื่นเกี่ยวพันกัน โดยจำเลยให้การปฏิเสธ และได้รับการประกันตัว
ทั้งนี้ศาลพิเคราะห์ พยานโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ทหาร-ตำรวจ เบิกความสอดคล้องกันมีน้ำหนักน่าเชื่อถือ ส่วนที่จำเลยอ้างว่าไม่ทราบว่าของกลางอยู่ในรถของจำเลย เนื่องจากได้นำของกลางไปประกาศหาเจ้าของบนเวทีแล้ว และต่อมาการ์ด นปช. ได้นำของกลางไปใส่ไว้ท้ายรถจำเลย แล้วจำเลยขับออกไปโดยไม่ทราบ เป็นการง่ายต่อการอ้าง และพยานหลักฐานจำเลยยังมีข้อพิรุธ จึงไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานโจทก์ จนมีคำพิพากษาดังกล่าว
ยกฟ้อง 'อลงกรณ์' คดีแจ้งความเท็จทุจริตเกราะอ่อนปี 46
ขณะที่วานนี้ (29 ต.ค.61) ศาลอาญาพิพากษายกฟ้อง อลงกรณ์ พลบุตร ในคดีที่อัยการคดีอาญา 7 เป็นโจทก์ฟ้องในความผิดฐานแจ้งความอันเป็นเท็จ กรณีจัดซื้อเสื้อเกราะปี 46
คดีนี้เกิดขึ้นเมื่อ 11 ส.ค. 2546 จำเลยได้เข้าแจ้งความว่า ผบก.กองการสรรพาวุธ สำนักงานส่งกำลังบำรุง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ ผอ.องค์การสงเคราะห็ทหารผ่านศึก(ในขณะนั้น)ว่าร่วมกันทุจริตในการจัดซื้อเสื้อเกราะอ่อนป้องกันกระสุนว่าราคาแพงเกินจริง
โดยศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่าจำเลยได้รับเบาะแสการทุจริต จึงเข้าแจ้งความในฐานะ ส.ส. และประธานตรวจสอบการทุจริต แม้ในเวลาต่อมา ป.ป.ช.จะไต่สวนแล้วไม่พบว่าผู้เสียหายกระทำความผิด แต่เชื่อว่าจำเลยทำด้วยความบริสุทธ์ใจและเป็นการเรียกร้องประโยชน์ให้กับประเทศ ไม่ได้ทำเพื่อประโยชน์ส่วนตน รวมทั้งไม่รู้จักกับผู้เสียหายทั้งสองเป็นการส่วนตัว จึงไม่มีเหตุกลั่นแกล้ง ศาลจึงพิพากษายกฟ้อง
ที่มา มติชนออนไลน์ [2] และ Banrasdr Photo [1]
| ['ข่าว', 'การเมือง', 'ประสิทธิ์ ไชยศรีษะ', '\xa0จ่าประสิทธิ์', 'พ.ร.บ.เครื่องยุทธภัณท์ พ.ศ.2530', 'เกราะอ่อน', 'อลงกรณ์ พลบุตร'] |
https://prachatai.com/print/79374 | 2018-10-30 14:02 | ‘ษัษฐรัมย์ อนาคตใหม่’ โต้ ‘ใจ’ ปมพรรคนายทุน แจงพรรคมีนโยบายปฏิรูปกฎหมายแรงงานและภาษี | พรรคอนาคตใหม่เปิดตัวปาร์ตี้ลิสต์สายแรงงาน จากภาคสิ่งทอ-ยานยนต์-กระดาษ ‘ษัษฐรัมย์’ โต้ ‘ใจ’ เรื่องพรรคนายทุน ชี้ รัฐสวัสดิการถ้วนหน้าครบวงจร ปฏิรูปกฎหมายแรงงาน ปฏิรูปภาษี อยู่ในนโยบายพรรค แนะเช็คได้ในเว็บไซต์ ยันเข้าใจข้อกังวล ปีกแรงงานต้องขยายสมาชิกและรักษาประเด็นให้เข้มแข็ง
ภาพจากเฟซบุ๊ค Sustarum Thammaboosadee
30 ต.ค. 2561 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 28 ต.ค.ที่ผ่านมา เครือข่ายผู้ใช้แรงงาน พรรคอนาคตใหม่ จัดกิจกรรมรับสมัครสมาชิกพรรค ที่สภาแรงงานยานยนต์ (โรงหนังเก่า) จ.สมุทรปราการ พร้อมเปิดตัวว่าที่ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ปีกแรงงานของพรรค โดยมี ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค, ชำนาญ จันทร์เรือง รองหัวหน้าพรรค, พล.ท.พงศกร รอดชมภู รองหัวหน้าพรรค, พรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรค รวมถึงสุนทร บุญยอด กรรมการบริหารพรรคเครือข่ายผู้ใช้แรงงาน ร่วมกิจกรรมด้วย
ทั้งนี้มีการเปิดตัวว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.เครือข่ายแรงงานในสัดส่วนปาร์ตี้ลิสต์ 6 คน ได้แก่ วรรณวิภา ไม้สน เลขาธิการสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ กรรมการบริหารสหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอแห่งประเทศไทย สุเทพ อู่อ้น ประธานสหภาพแรงงานอีซูซุ และเลขาธิการสภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย ดร.ภูพาน สมาทา ประธานสหภาพแรงงานโตโยต้า สุรินทร์ คำสุข ประธานสหภาพแรงงานสิ่งพิมพ์และบรรจุภัณฑ์แห่งประเทศไทย ประมวล นาราอัสนีกร รองประธานสภาศูนย์กลางแรงงานแห่งประเทศไทย และประธานสหภาพแรงงานชิ้นส่วนยานยนต์แห่งประเทศไทย และเซีย จำปาทอง ประธานสหพันธ์อุตสาหกรรมสิ่งทอฯ
ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี ภาพจากเว็บไซต์ humanonstreet.org [1]
ผู้สื่อข่าวได้สัมภาษณ์ ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี อาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ ถึงแนวทางการเลือกปาร์ตี้ลิสต์จากปีกแรงงาน ษัษฐรัมย์ กล่าวว่า เป็นการเลือกจากตัวสมาชิกจากปีกแรงงานซึ่งมาจากผู้ใช้แรงงานที่ทำงานในโรงงานจริงๆ ซึ่งจะมีการจัดไพรมารี่โหวตของพรรคเพื่อจัดลำดับสมาชิกอีกครั้งในช่วงเดือนหน้า แต่ทางพรรคของก็มีโควตาให้กับกลุ่มคนที่โดนกดในกลุ่มต่างๆ ซึ่งภาคแรงงานก็เป็นหนึ่งในนั้น
นอกจากนี้ผู้สื่อข่าวได้ถามข้อโต้แย้งของ ษัษฐรัมย์ ที่มีต่อบทความของ ใจ อึ๊งภากรณ์ ซึ่งเขียนวิจารณ์พรรคอนาคตใหม่ไว้ก่อนหน้านี้ว่า เป็นเพียงพรรคที่อ้างว่าทำเพื่อประโยชน์คนส่วนใหญ่ แต่ในรูปธรรมระบบทุนนิยมให้ประโยชน์กับนายทุนเป็นหลัก
ใจ อึ๊งภากรณ์: แรงงานไม่ควรหลงเลือกนายใหม่ในรูปแบบพรรคอนาคตใหม่ [2]
ษัษฐรัมย์ ได้โต้แย้งว่า จากบทความที่วิจารณ์พรรคอนาคตใหม่ว่าไม่มีนโยบายรัฐสวัสดิการ ไม่มีนโยบายผู้ใช้แรงงานนั้น อันที่จริงสิ่งเหล่านี้ปรากฎอยู่ชัดเจนมากในเว็บไซต์ของพรรคอนาคตใหม่ เช่น นโยบายเรื่องรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าครบวงจรก็มีอยู่ใน การปฏิรูปกฎหมายแรงงาน การรับอนุสัญญา ILO การลดชั่วโมงการทำงาน อยู่ในนโยบายของพรรค และอยู่ในการสื่อสารกับผู้ใช้แรงงานอยู่ตลอด
ประเด็นถัดมาษัษฐรัมย์ชี้แจงว่า ที่วิจารณ์ว่าคนกลุ่มนี้จะไม่ได้เป็นตัวแทนของผู้ใช้แรงงานอย่างแท้จริง กรณีตัวแทนของปีกแรงงาน คือ สุนทร บุญยอดซึ่งเป็นกรรมการบริหารพรรค ก็ไม่ได้อยู่ใน 6 คนที่จะลงปาร์ตี้ลิสต์ เพราะสุนทรยืนยันว่าคนที่จะมาเป็น สส. ของปีกแรงงานของพรรคอนาคตใหม่ต้องเป็นคนที่ทำงานอยู่ในโรงงานอย่างแท้จริง และใน 6 คนที่จะลงปาร์ตี้ลิสต์นั้นก็เป็นตัวแทนจากสหภาพต่างๆ เช่น สิ่งทอ กระดาษ ยานยนต์
ประเด็นต่อมาคือข้อกังวลที่ว่าผู้ใช้แรงงานกลุ่มนี้จะถูกกดอยู่ภายใต้ธงใหญ่ของพรรค ษัษฐรัมย์อธิบายว่า ถ้าเราดูวันแรกที่พรรครับสมัครสมาชิก 3 วันได้ประมาณ 1,000 กว่าคน ส่วนปีกแรงงานวันแรกที่รับสมัครอย่างเป็นทางการก็มีคนมาสมัครสมาชิกอยู่ประมาณ 500 กว่าคน เพราะฉะนั้นตนคิดว่าการจะทำให้พรรคเป็นของผู้ใช้แรงงาน หากโครงสร้างของพรรคเป็นประชาธิปไตย ผู้ใช้แรงงานก็สามารถผลักนโยบายหรือตัวผู้สมัครได้ ซึ่งมันก็จะขับเคลื่อนสู้กันไป
ษัษฐรัมย์ยกตัวอย่างว่า สมมติถ้าสมาชิกพรรคทั้งประเทศมีอยู่ 10,000 คน ปีกแรงงานมีสมาชิกได้ 2,000-3,000 คน ก็อาจสามารถขับเคลื่อนให้ผู้ใช้แรงงานเข้ามาอยู่ในปาร์ตี้ลิสต์เบอร์ต้น และอยู่ในสัดส่วนที่ทางพรรคประเมินว่าจะได้ สส. ปาร์ตี้ลิสต์เท่าไหร่ เพราะเงื่อนไขสำคัญคือหากปีกแรงงานลงเลือกตั้งแบบแบ่งเขตจะติดเรื่องของการลงคะแนนเสียงที่ให้ลงคะแนนตามภูมิลำเนา จึงทำให้ผู้ใช้แรงงานไปลงสมัคร สส. แบบแบ่งเขตไม่ได้ เพราะฉะนั้นปาร์ตี้ลิสต์จึงเป็นเงื่อนไขที่สำคัญมากสำหรับผู้ใช้แรงงาน และจะเป็นตัวแทนของอุดมการณ์ของผู้ใช้แรงงานด้านการสร้างรัฐสวัสดิการ สังคมประชาธิปไตยให้กลายเป็นอุดมการณ์หลักของพรรค ซึ่งตนคิดว่าจะสามารถผลักดันได้ถ้าปีกแรงงานของพรรคเข้มแข็งพอ เพราะฉะนั้นต้องเป็นการทำงานมวลชนที่ต่อเนื่อง เป็นการแข่งขันภายในพรรคเพื่อสร้างตัวแทนที่เป็นตัวแทนของคนส่วนใหญ่ตั้งแต่ในขั้นโหวตไพรมารี่ตัวแทนปาร์ตี้ลิสต์นั้น
“แต่ผมก็เข้าใจอาจารย์ใจมากที่กล่าวว่าการมีพรรคนายทุนขึ้นมาแล้วผู้ใช้แรงงานเข้าไป พวกเขาจะมีบทบาทแค่ไหน ผมว่าข้อกังวลของอาจารย์ใจก็เป็นสิ่งที่มีค่า และปีกแรงงานก็จะต้องพยายามขยายสมาชิก พยายามรักษาประเด็นของตนเองให้มีความเข้มแข็งไว้ ซึ่งในแพลตฟอร์มของพรรคอนาคตใหม่มันเปิดโอกาสให้เป็นได้” ษัษฐรัมย์กล่าว
นอกจากนี้เรื่อง Negative Income Tax ที่ใจกล่าวว่า เป็นการสร้างภาพว่าช่วยคนจนโดยที่กลุ่มทุนไม่ต้องเสียผลประโยชน์เลย ษัษฐรัมย์มองว่า ส่วน Negative Income Tax เป็นนโยบายส่วนหนึ่งซึ่งเป็นเพียงส่วนเสริมจากนโยบายรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าครบวงจร นโยบายการปฏิรูปภาษี ซึ่งปรากฎชัดเจนในนโยบายพรรค และ Negative Income Tax ไม่ได้เป็นการคืนภาษีหรือลดภาษีคนจน ตัวหลักคิดของมันคือคุณยื่นภาษี แล้วถ้าปรากฎว่าคุณรายได้น้อยกว่าเกณฑ์ คุณก็จะได้สวัสดิการที่มีความเฉพาะจากรัฐเพิ่มเติมจากตัวรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าที่มีให้อยู่แล้ว
“Negative Income Tax คือการวางระบบให้ทุกคนต้องยื่นภาษีไม่ว่าคุณจะมีรายได้เท่าไหร่ และถ้าปรากฎว่ารายได้คุณต่ำกว่าเกณฑ์ รัฐก็จะมีการช่วยเหลือในเงื่อนไขต่างๆ เช่น สมทบประกันสังคมให้ จัดสวัสดิการต่างๆ ให้เพิ่มเติม ไม่จำเป็นต้องไปลงทะเบียนบัตรคนจนซึ่งเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณในเรื่องการบริหารจัดการ
นอกจากนี้เรายังมีนโยบายจะยกเลิกการการงดเว้นภาษีต่างๆ ที่เคยงดเว้นให้กับกลุ่มคนรวย เช่น ภาษี BOI แล้วเราจะนำภาษีส่วนนี้มาจัดการรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า” ษัษฐรัมย์ กล่าว
| ['ข่าว', 'การเมือง', 'สังคม', 'แรงงาน', 'คุณภาพชีวิต', 'ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี', 'รัฐสวัสดิการ', 'พรรคอนาคตใหม่', 'ปฏิรูปภาษี', 'ปฏิรูปกฎหมายแรงงาน', 'ใจ อึ้งภากรณ์', 'ไพรมารี่โหวต', 'ปาร์ตี้ลิสต์'] |
https://prachatai.com/print/79376 | 2018-10-30 20:01 | ACT หนุนรมว.อุตฯ เสนอยกเลิกต่ออายุใบอนุญาต ร.ง.4 ชี้ช่วยแก้คอร์รัปชันที่ต้นตอ | องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ ส่งหนังสือชื่นชมและสนับสนุน รมว.อุตสาหกรรม ที่เตรียมเสนอแก้กฎหมาย ยกเลิกการต่ออายุใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (ร.ง.4 ) ระบุช่วยปิดช่องทางเรียกรับสินบน และเป็นการแก้ปัญหาคอร์รัปชันที่ต้นตอ
30 ต.ค. 2561 องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT รายงาน ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ เปิดเผยว่า วันนี้ทางองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ ได้ทำหนังสือถึง ดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อแสดงความชื่นชมและสนับสนุน กรณีที่เตรียมปรับปรุง พ.ร.บ.โรงงานอุตสาหกรรม พ.ศ. 2535 ยกเลิกให้ภาคเอกชนไม่ต้องขอต่ออายุใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (ร.ง.4) จากเดิมที่ต้องขอต่อทุก 5 ปี เสียค่าธรรมเนียมเฉลี่ย 1,500 - 60,000 บาทต่อใบอนุญาต ขึ้นอยู่กับขนาดแรงม้าของเครื่องจักร โดยจะเปลี่ยนให้ผู้ประกอบการโรงงานรับรองตนเองแทน และมีเจ้าหน้าที่รัฐหรือผู้ตรวจสอบเอกชนที่ขึ้นทะเบียนเจ้าหน้าที่ตรวจโรงงานกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม ตรวจภายหลังพร้อมรับรองความถูกต้องอีกขั้นหนึ่งเพื่อป้องกันการรับรองเท็จ
โดยในหนังสือดังกล่าวได้ ระบุว่า
“ตามที่ท่านได้เปิดเผยต่อสาธารณชนว่า กระทรวงอุตสาหกรรมเตรียมปรับปรุงพระราชบัญญัติโรงงานอุตสาหกรรม พ.ศ. 2535 ให้ยกเลิกการยื่นขอต่ออายุใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (ร.ง.4) จากเดิมที่ต้องขอต่อทุก 5 ปี โดยให้ใช้มาตรการตรวจสอบและควบคุมอื่นที่เหมาะสมกับเทคโนโลยีปัจจุบันแทน
องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ขอแสดงความชื่นชมและสนับสนุนวิสัยทัศน์ดังกล่าว เพราะที่ผ่านมาขั้นตอนการยื่นขอต่อใบอนุญาตที่มีเงื่อนไขยุ่งยาก ซับซ้อน มักเป็นช่องทางให้เกิดการเรียกรับสินบน และส่งผลกระทบในทางลบตามมาอีกมาก การลดขั้นตอนและปรับปรุงการให้บริการของรัฐให้โปร่งใสเช่นนี้ จึงเป็นการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันที่ต้นตอและเป็นแบบอย่างการปฏิรูประบบราชการอย่างแท้จริง”
ดร.มานะ กล่าวด้วยว่า สำหรับปัญหาการต่ออายุใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (ร.ง.4) เป็นหนึ่งในความต้องการของผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมมาโดยตลอด ที่ต้องการให้ภาครัฐแก้ไข และยังเป็นประเด็นที่องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯเรียกร้องให้ คสช.หลังยึดอำนาจไม่นานให้แก้ไขด้วย เพราะว่า เป็นที่มาของการคอร์รัปชันจากการเรียกรับสินบนในการออกใบอนุญาตต่างๆ นอกจากนี้ยังร่วมกับนักวิชาการและภาคี ผลักดันให้เกิด พ.ร.บ.อำนวยความสะดวกในการพิจารณาขออนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 ซึ่งกำหนดให้การบริการประชาชนทุกอย่างต้องสะดวก รวดเร็ว โปร่งใสและสร้างภาระให้กับประชาชนน้อยที่สุด โดยหน่วยงานของรัฐต้องปรับปรุงวิธีการทำงานของตนให้มีขั้นตอน เอกสาร กระบวนการที่ง่ายและมีเท่าที่จำเป็น มีคู่มือบริการที่ชัดเจน เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิรูปคอร์รัปชันที่เกิดจากการใช้ช่องว่างของกฎหมายกระทำการทุจริตต่อประชาชนที่เข้าใช้บริการจากหน่วยงานราชการ
| ['ข่าว', 'การเมือง', 'ร.ง.4', 'องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)', 'มานะ นิมิตรมงคล', 'พ.ร.บ.โรงงานอุตสาหกรรม พ.ศ. 2535'] |
https://prachatai.com/print/79378 | 2018-10-30 21:02 | ครม. ไฟเขียว 5 เมกะโปรเจ็กต์ EEC วงเงิน 6.5 แสนล้าน - 7 โครงการจัดการน้ำ 3.1 หมื่นล้าน | ครม.เห็นชอบเมกะโปรเจ็กต์ 5 โครงการ ศูนย์ซ่อมอากาศยาน สนามบินอู่ตะเภา ท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือมาบตาพุด วงเงินรวม 6.5 แสนล้าน คาดได้ผู้ลงทุนเดือน ก.พ. ปีหน้าเป็นต้นไป พร้อมทั้งอนุมัติ 7 โครงการจัดการน้ำ งบฯกว่า 3.1 หมื่นล้าน
ภาพจากเว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล
30 ต.ค.2561 วันนี้ ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงมติ ครม.สัญจร จ.เชียงราย ว่า ครม. เห็นชอบเมกะโปรเจ็กต์ 5 โครงการ ตามที่กระทรวงคมนาคม คือ ศูนย์ซ่อมอากาศยาน สนามบินอู่ตะเภา ท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือมาบตาพุด รวมทั้งรับทราบผลสรุปโครงการและรายละเอียดขอบเขตการประกวดราคา (TOR) โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) 5 โครงการ วงเงินรวม 6.5 แสนล้านบาท ซึ่งจะได้ผู้ลงทุนเดือน ก.พ. ปีหน้าเป็นต้นไป
"ดังนั้น ตอนนี้โครงการหลัก 5 โครงการของอีอีซีผ่าน ครม. หมดแล้ว ทั้ง 5 โครงการ รัฐบาลจะเป็นผู้ลงทุน 2 แสนล้านบาท มีการประเมินเป็นผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ 8.2 แสนล้านบาท จะมีการสร้างงาน 4 หมื่นคนต่อปี และไม่ว่าจะมีรัฐบาลไหนเข้ามาถือว่ารัฐบาลนี้ได้ตั้งต้นแล้ว" ณัฐพร กล่าว
สำหรับ รายละเอีกยเพิ่มเติมที่ ครม.มีมติอนุมัติตามที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกเสนอมีดังนี้
อนุมัติหลักการโครงการจำนวน 4 โครงการ ได้แก่ โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 และโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ตามที่คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกได้มีมติเห็นชอบ และมอบหมายให้น่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องให้เป็นไปตามกรอบระยะเวลาที่กำหนด ทั้งนี้ ให้ดำเนินการด้วยความถูกต้อง โปร่งใส เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย ระเบียบ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัดด้วย
อนุมัติกรอบวงเงินค่าใช้จ่ายของโครงการซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 และให้การท่าเรือแห่งประเทศไทยร่วมลงทุนกับเอกชนและกู้เงินเพื่อดำเนินโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ตามที่คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกได้มีมติเห็นชอบ
สำหรับโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ในส่วนของขอบเขตงานที่ต้องมีการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ให้กองทัพเรือดำเนินการให้เป็นไปตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ทั้งนี้ ให้เร่งดำเนินการจัดทำรายงานฯ ให้แล้วเสร็จโดยเร็วเพื่อให้สามารถลงนามในสัญญาร่วมลงทุนได้ ภายในระยะเวลาที่กำหนด และให้กองทัพเรือประสานการรถไฟแห่งประเทศไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดเพื่อให้เกิดการบูรณาการและทำให้การดำเนินโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกและโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน มีความสอดคล้อง เชื่อมโยง และเป็นไปในทิศทางเดียวกันต่อไป
ในการดำเนินโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ให้การท่าเรือแห่งประเทศไทยประสานการรถไฟแห่งประเทศไทยเพื่อเตรียมความพร้อมเกี่ยวกับระบบการขนส่งทางรางเพื่อรองรับการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง เช่น การจัดหาหัวรถจักร จัดเตรียมบุคลากรให้เพียงพอ เป็นต้น เพื่อให้การดำเนินโครงการฯ บรรลุตามวัตถุประสงค์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และรองรับการขนส่งตู้สินค้าผ่านทางรถไฟที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอนาคต
ในส่วนของการขยายพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดให้ครอบคลุมพื้นที่โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ให้การนิคมอุตสาหกรรมจัดทำรายละเอียดการดำเนินการเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบตามมาตรา 66 แห่งพระราชบัญัติการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2522 ก่อนที่จะดำเนินโครงการท่าเรือมาบตาพุดฯ ต่อไป
7 โครงการจัดการน้ำ งบกว่า 3.1 หมื่นล้าน
พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง ในฐานะโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุม ครม. ด้วยว่า ที่ประชุมรับทราบผลการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำซึ่งได้รายงานการอนุมัติ 7 โครงการสำคัญเพื่อเร่งดำเนินการต่อไปในเรื่องการบริหารจัดการน้ำอย่างครบวงจร วงเงินงบประมาณ 31,474 ล้านบาท ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 4-6 ปี ตั้งแต่ปี 2562-2567 ได้แก่ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย 1.โครงการอุโมงค์ระบายน้ำคลองทวีวัฒนา กำหนดแล้วเสร็จในระหว่างปี 2562-2565 ใช้งบประมาณราว 2,274 ล้านบาท 2.โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำคลองแสนแสบ ก่อสร้างตั้งแต่ปี 2562-2566 ใช้งบประมาณ 1,751 ล้านบาท ส่วนอีก 4 โครงการเป็นของกรมชลประทาน ประกอบด้วย 1.คลองระบายน้ำบางบาล-บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา ระยะเวลาก่อสร้างตั้งแต่ปี 2562-2566 งบประมาณราว 21,000 ล้านบาท 2.ประตูระบายน้ำลำน้ำพุง-น้ำก่ำ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.สกลนคร งบประมาณ 2,100 ล้านบาท 3.ประตูระบายน้ำบ้านก่อ จ.สกลนคร งบประมาณ 1,249 ล้านบาท ก่อสร้างตั้งแต่ปี 2562-2566 และ 4.โครงการอ่างเก็บน้ำลำสะพุง จ.ชัยภูมิ งบประมาณ 3,100 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้างตั้งแต่ 2562-2567 และ 7.โครงการสำรวจความสูงของภูมิประเทศด้วยแสงเลเซอร์ ระยะที่ 2 ระยะเวลาดำเนินการ 4 ปี (2562 - 2565) โดยให้กรมแผนที่ทหารดำเนินการและเสนอของบประมาณจากรัฐบาลต่อไป
โฆษกรัฐบาลกล่าวต่อว่า นอกจากนี้นายกรัฐมนตรีได้สั่งการด้วยว่าโครงการบริหารจัดการน้ำโครงการขนาดใหญ่ที่มีการผูกพันงบประมาณหลายปีงบประมาณ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปจัดทำงบประมาณในระยะปีแรกที่สามารถดำเนินการได้ก่อน ส่วนที่เหลือนำไปบรรจุไว้ในแผนแม่บทและกำหนดเป้าหมายในแต่ละปีเพื่อไม่ให้เกิดภาระผูกพันงบประมาณมากเกินไป ส่วนโครงการที่มีความสำคัญเร่งด่วน หากไม่สามารถจัดสรรงบประมาณตามปกติได้โดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่ ให้มอบให้สำนักบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง และสำนักงบประมาณพิจารณาแหล่งเงินกู้เพื่อดำเนินการในโครงการตามความเหมาะสม
ที่มา เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล [1] ฐานเศรษฐกิจ [2] และมติชนออนไลน์ [3]
| ['ข่าว', 'การเมือง', 'เศรษฐกิจ', 'อีอีซี', 'ขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก', 'การบริหารจัดการน้ำ'] |
https://prachatai.com/print/79379 | 2018-10-30 21:05 | ประยุทธ์' บอกไม่สน 'ประเทศกูมี' แต่ไป ครม. สัญจรกลับพูดถึงเพลงนี้ถึง 3 ครั้ง | หัวหน้าคณะรัฐประหารบอกไม่สนในเพลง “ประเทศกูมี” ชี้ไร้สาระ แต่ 2 วันที่ผ่านมาพูดถึง 3 ครั้ง พร้อมย้อนถามทุกวันนี้ประเทศมันเป็นเผด็จการขนาดนั้นเลยเหรอ บอกไม่ใช้กฎหมายจัดการ แต่ถ้าวันหน้าลูกหลานหยาบคาย ก็รับผิดชอบกันเอง
30 ต.ค. 2561 ผู้สื่อข่าวประชาไท รายงานว่าในช่วง 2 เวลาที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เดินทางไปยังจังหวัดพะเยา และเชียงราย เพื่อพบปะประชาชน และประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ โดยพลเอกประยุทธ์ ระบุว่าตนเองไม่ได้สนใจเพลงประเทศกูมี แต่ตลอดการเดินทางเพื่อประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรครั้งเขากลับพูดถึงเพลงประเทศกูมีถึง 3 ครั้ง
ทุกวันนี้มันเป็นเผด็จการขนาดนั้นเหรอ
ครั้งแรกที่ลานอเนกประสงค์ เทศบาลเมืองพะเยา วันที่ 29 ตุลาคม พล.อ.ประยุทธ์ ระบุว่า ไม่ได้สนใจเพลงประเทศกูมี พร้อมถามว่าทุกวันนี้ประเทศเป็นเผด็จการขนาดนั้นเลยเหรอ
“ทุกวันนี้ก็เป็นโลกแห่งโซเชียล แต่รัฐบาลไม่หวังจะควบคุมใครทั้งสิ้น หากทุกคนรู้ว่าจะเคารพกฎหมายอย่างไร ก็ไม่อยากจะร่างกฎหมายเพิ่มอยู่แล้ว และไม่มีผลกระทบต่อใคร จะเกิดความเท่าเทียม ไม่เบียดเบียนใคร โลกโซเชียลอ่ะ ไม่สนใจ เพลงเพลิงอะไรอ่ะ ผมไม่สนใจทั้งนั้น สนใจแล้วประเทศได้อะไร วันนี้มันเผด็จการขนาดนั้นเลยหรอ เผด็จการไม่มาหรอกวันนี้” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
อย่าสนใจเรื่องไร้สาระ ชี้หากลูกหลานเป็นคนหยาบคาย ประชาชนรับผิดชอบกันเอง
ครั้งที่สอง ที่บ้านเมืองรวง จังหวัดเชียงราย วันที่ 29 ตุลาคม โดยพลเอกประยุทธ์ ชี้แจงว่ารัฐบาลพยายามแก้ปัญหา และทำโครงการเพื่อให้ประชาชนสานต่อ และได้กล่าวถึงการปรับตัวของประชาชนต่อการกระทำผิด การใช้เทคโนโลยี ว่าประชาชน ต้องปรับตัว โดยเฉพาะ สินค้าออนไลน์ แต่อย่าไปสนับสนุนการโจมตีในสื่อโซเชียล
“อย่าไปดูมันเสียเวลา ถ้าดูออนไลน์ให้ดูเรื่องค้าขาย สนใจทำไมเรื่องไร้สาระ ถ้าสังคมยอมรับได้ก็แล้วไป หากอนาคตจะเป็นยังไงก็แล้วไป หากลูกหลานพูดจาหยาบคายอ้างสิทธิ์ ท่านรับผิดชอบกันเอง อย่าไปสนับสนุนคนเหล่านี้ ผมทำอะไรไม่ได้มากกว่านี้ ใช้กฎหมายก็มีปัญหา แต่เขาก็อยากให้ใช้กฎหมาย ปัญหาจะตามมาทีหลัง ผมไม่ทำอะไรทั้งนั้น แต่ทำอะไรก็ตามอย่าให้ผิดกฏหมายก็แล้วกัน เพราะถ้าบังคับใช้กฎหมายก็หาว่าไปละเมิดสิทธิมนุษยชน แล้วถามว่ามันทำได้หรือไม่ ผิดกฎหมายแล้วหนีไปต่างประเทศได้ไหม แล้วด่าผมโครมๆผมก็ไม่ได้ไปแตะต้อง” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
ชี้วันนี้แร๊พด่าประเทศ วันหน้าถ้าหนักกว่านี้ลูกหลานจะทำอย่างไร
ครั้งที่สาม วันที่ 30 ตุลาคม ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์ถึงข้อห่วงใยที่อาจจะมีพฤติกรรมเลียนแบบกลุ่มแร็พ เพลงประเทศกูมี ภายหลังเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ดำเนินการเอาผิดใดๆ ว่า เรื่องแร็พอะไรต่างๆ ตนไม่สนใจ ไม่ได้ให้ความสำคัญในเรื่องเหล่านี้ อยากแสดงอะไรก็แสดงกันไป ตนจะได้ไม่ถูกกล่าวหาว่าไปปิดกั้น ซึ่งกฎหมายจะเป็นตัวกำหนด ไม่จำเป็นต้องไปสั่งการอะไรกับใครทั้งนั้น คนไหนก็ตามที่ชื่นชมก็ต้องรับผิดชอบด้วยว่าวันหน้าจะเกิดอะไรขึ้นอีกในประเทศไทยจะหนักขึ้นเรื่อย ๆ หรือเปล่า อะไรที่ทำให้เกิดความเสื่อมเสียกับประเทศไทย
“ผมไม่ได้ว่าที่เขามาว่าผม แต่ถ้าเขาว่าประเทศ ผมว่ามันไม่เหมาะสม ผมคิดว่าคนเราควรจะมีวิจารณญาณที่เหมาะสม ไม่ว่าจะเขียนเพลง หรือจะทำอะไร ท่านต้องอย่าไปให้ร้ายประเทศตัวเอง ดังนั้นจะมาปฏิเสธว่าไม่เกี่ยวข้องกับประเทศไทย มันไม่ใช่ เพราะความหมายท่านต้องการอะไรก็รู้กันอยู่ ก็ถือเป็นเรื่องของสังคม ถ้ารับเรื่องแบบนี้ได้ วันหน้าถ้าหนักกว่านี้ เรื่อย ๆ ลูกหลานของท่านจะอยู่กันอย่างไร ผมก็ไม่ทราบเหมือนกัน ก็ฟังกันไปก็แล้วกัน" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
สหรับเพลงประเทศกู ที่ผลิตขึ้นโดยกลุ่ม rap against dictatorship [1] หรือ RAD ถูกเผยแพร่ในยูทูบครั้งแรกเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2561 เวลานั้นผ่านไปสามวันยังมียอดวิวประมาณ 1 แสนเท่านั้น ต่อมาศิลปินกลุ่มดังกล่าวได้เผยแพร่ MV ที่เล่าเรื่องราวของความรุนแรงในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 โดยอัปโหลดลงยูทูบเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม ที่ผ่านมาเวลานั้นยังมียอดวิวไม่ถึงแสน
แต่ต่อมา พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวถึงคลิปวิดีโอเพลง 'ประเทศกูมี' ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ยูทูบ ว่าอาจมีเนื้อหาเข้าข่ายขัดคำสั่ง คสช. ขอให้ตำรวจจากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ตรวจสอบอีกครั้งว่าเนื้อหาเข้าข่ายหรือไม่ สำหรับคนที่ปรากฎในคลิปก็ต้องเชิญตัวมาให้ปากคำ ว่า มีเจตนาที่จะทำให้เกิดความวุ่นวายหรือขัดคำสั่ง คสช. ด้วยหรือเปล่า
จากนั้นยอดวิวของเพลงประเทศกูมีก็พุ่งกระฉูดทะลุ 1 ล้านวิว และขึ้นไปถึง 10 ล้านวิวเพียง 1 คืนจากที่พล.ต.ต.ศรีวราห์บอกว่าจะตรวจสอบ จนถึงเวลานี้ 30 ตุลาคม มียอดผู้เข้าชมมากถึง 22 ล้านวิวแล้ว แม้เมื่อวานนี้ พล.ต.อ.ศรีวราห์ จะเปลี่ยนคำพูดใหม่ว่า ไม่จำเป็นต้องเรียกใครมาสอบปากคำ และเห็นว่าเพลงดังกล่าวไม่จำเป็นต้องให้ราคามาก แต่ก็ไม่อาจควบคุมการเข้าถึงเพลงดังกล่าวได้แล้ว เพราะนอกจากจะมีการพูดถึงเพลงนี้ในสื่อกระหลัก และสื่อโชเชียลมีเดีย แล้ว ยังมีการทำคลิปพูดถือเพลงดังกล่าวโดยชาวต่างชาติจากหลายประเทศพร้อมกับพูดถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นในประเทศด้วยความเป็นห่วงกังวล ขณะที่ชาวต่างชาติบางคนยังตั้งคำถามด้วยความสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้นกับประเทศไทย ทำไมทหารจึงสามารถเข้ามาเลือกนายกรัฐตรีหลังการเลือกตั้งได้ รวมทั้งมีการดัดแปลงเพลงแร๊พให้เข้ากับเพลงแดนซ์ในจังหวะสามช่า และมีการแปลเนื้อเพลงดังกล่าวเป็นภาษาจีนด้วย
เรียบเรียงบางส่วนจาก: สำนักข่าวไทย 1 [2], 2 [3], 3 [4]
| ['ข่าว', 'การเมือง', 'วัฒนธรรม', 'ประเทศกูมี', 'ประยุทธ์ จันทร์โอชา', 'การประชุม ครม.สัญจร', 'คสช.'] |
https://prachatai.com/print/79380 | 2018-10-30 21:08 | ประเทศกูมี: มันแน่นอก |
ถึงแม้ในใจจะรู้อยู่ว่าเส้นแบ่งเขตเมืองไทยนั้นเกิดขึ้นจากการที่ชาติตะวันตกมาตกลงเออออกันเองในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองเป็นเพียงเส้นสมมติที่รวมกลุ่มคนอันหลากหลายเข้าด้วยกัน ถึงแม้จะรู้อยู่กับอกว่าความเป็นชาติไทยนั้นถูกสร้างขึ้นหมาดๆ ในสมัยแปลก พิบูลสงคราม ที่พึงต้องการให้มีความเป็นศิวิไลซ์ไปเทียบกับชาวตะวันตกในยุคอาณานิคม เนื่องจากจนถึงสมัยสฤษดิ์ ธนะรัชต์และถนอม กิตติขจร ที่ต้องการสร้างอัตลักษณ์ความเป็นไทยเพื่อต่อต้านไวรัสของลัทธิคอมมิวนิสต์และแนวคิดต่อต้านความเป็นตะวันตกจากญี่ปุ่นที่คืบคลานเข้ามาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แม้จะมองเห็นกระบวนการการสร้างแนวความคิดวาทกรรมการเป็นชาติที่ถูกจินตนาการขึ้นอย่างชัดเจนเพียงใด แม้บางคนจะมองคนอย่างพวกเราเป็นพวกกบฏเพียงเพราะพูดถึงการสร้างประวัติศาสตร์ที่ถูกปฏิเสธจากหนังสือเรียนของพวกนักข่มขืนทางจริยธรรม1ที่พยายามอย่างไม่ลดละในการสอดใส่ค่านิยมและการเล่าเรื่องที่พวกเขาเห็นว่าถูกต้อง การสร้างประวัติศาสตร์นี้อาจทำให้คนไทยบางคนตากระตุกเพราะไม่สามารถรับความจริงที่ชาติเราไม่ได้ศักดิ์สิทธิ์ แต่เป็นเพียงการสร้างขึ้นจากการพัฒนาแนวความคิดคตินิยมจากหลายปัจจัยและเหตุผล
แม้จะรู้ทั้งรู้ เราเองก็ยังติดกับความเป็นชาตินี้ดิ้นไปไหนไม่ได้ รักบ้านหลังนี้อยู่ดี เพราะภาษาที่พูด ไม่มีภาษาไหนแซ่บกว่าภาษาไทยเวลาเม้าท์ชาวบ้าน ไม่มีภาษาไหนถูกนำมาสร้างคำแสลงน่ารักได้ทุกๆปี อรรถรส! เพราะอาหารที่กินไม่มีอะไรจี๊ดจ๊าดได้ใจเท่าส้มตำปูปลาร้ากับข้าวเหนียวไก่ย่าง ไม่มีก๋วยเตี๋ยวประเทศไหนอร่อยเท่าประเทศไทย เพราะคนไทยที่ไม่ว่าจะอย่างไรก็มีความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกันอยู่ เรามีความหวังว่าพี่น้องชาวไทยจะเปิดใจคุยกันด้วยความไม่อคติ เราอยากเห็นวันที่พี่น้องชาวไทยได้มานั่งล้อมวงกันแล้วคุยถึงความหวังที่บ้านเราจะดีขึ้น เราจะเดินเล่นตามทางได้อย่างสบายใจว่าเนี่ยแหละบ้านที่เราทั้งหมดเป็นเจ้าของ ถึงแม้เราจะมองต่างกัน แต่ก็ไม่ว่ากัน เราพยายามทำความเข้าใจซึ่งกันและกันแล้วพัฒนาแนวคิดไปในทางที่ดีกว่าด้วยกัน มุมมองความคิดที่แตกต่างไม่ได้ทำให้เราผิดใจกันสักนิดว่าเรารักบ้านหลังนี้ของเราน้อยลง
การที่ศิลปิน RAP AGIANST DICTATORSHIP กลุ่มนี้ได้นำเสนอการแสดงออกทางสัญลักษณ์ที่หยิบยื่นการคลี่คลายความอึดอัดแน่นอกต่อบ้านเมืองให้กับหลายๆคนนั้นมาจากความรักประเทศชาติของเราอย่างลึกซึ้งกระทั่งย่อมเสี่ยงติดคุก ยอมเป็นศัตรูกับรัฐบาลที่ไม่มีที่ว่างให้สิทธิมนุษยชน ความกล้าหาญนี้ควรได้รับการยอมรับและรับฟัง เนื้อหาในเพลงไม่ได้เกินเลยจากความเป็นจริง หากเป็นกระจกสะท้อนความเหลวแหลกที่เกิดขึ้นในสังคม จริงอยู่ที่เพลงนี้ไม่ได้สร้างมาเพื่อการเยียวยา เพราะบ้านเรายังไปไม่ถึงจุดนั้น สิ่งที่เราต้องการคือการจัดการต่อความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นแล้วจึงจะมุ่งหน้าสู่หนทางการเยียวยาได้
บางคนวิจารณ์ว่าศิลปินกลุ่มนี้ออกมาด่าประเทศทำไม ทำให้ประเทศเสียหาย เราคิดว่าถึงเวลาแล้วที่คนไทยควรยอมรับว่าบ้านนี้เมืองนี้ไม่ใช่เมืองพุทธที่ไร้มลทินอีกต่อไป ประเทศเราเป็นเพียงประเทศหนึ่งในโลกกว้างใบนี้ที่มีทั้งดีและเลว เหตุการณ์การสังหารหมู่อันไร้หัวใจที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าตั้งแต่ 14 ตุลา(2516) พฤษภาทมิฬ (2519) 6 ตุลา (2535) ตากใบ (2547) เมษาโหด (2553) ที่เกิดขึ้นเพียงเพราะพี่น้องเหล่านั้นเรียกร้องเสรีภาพ สิทธิที่มนุษย์พึงมี เพียงเพราะพวกเขาเห็นต่างจากกลุ่มคนที่มีกระบอกปืน พวกเขาสมควรตายเชียวหรือ พวกเขาควรถูกเอาร่างไร้ชีวิตมาแขวนและตีด้วยเก้าอี้ซ้ำแล้วซ้ำอีกไม่ต่างกับสิ่งของอย่างนั้นหรือ พวกเขาไม่ใช่เพื่อนมนุษย์ที่มีหัวใจ มีความหวัง ความฝัน ความรักอย่างพวกคุณหรอกหรือ ทำไมพี่น้องชาวไทยบางคนถึงยอมให้ผลประโยชน์ ความสุขสบาย หรือแม้แต่แนวคิดชาตินิยมที่สร้างขึ้นมาบิดเบือนความเป็นมนุษย์ที่อยู่ตรงหน้าไปได้ คำถามนี้เป็นคำถามที่เราทุกคนควรตรึกตรองอย่างลึกซึ้งว่าทำไมผู้อยู่เบื้องหลังคำสั่งเปิดทางให้กระบอกปืนได้ถูกใช้เพื่อละเลงเลือดพี่น้องชาวไทยด้วยกันลงบนผืนแผ่นดินไทยยังคงลอยนวลจากการตัดสินบนพื้นฐานของความยุติธรรมไปจนถึงทุกวันนี้ได้อย่างไร
ความอึดอัดคับข้องใจเกินบรรยายจากความไร้หัวใจของเพื่อนร่วมชาติทำให้ศิลปินผู้กล้าหาญเหล่านี้เลือกใช้เพลงฮิปฮอปในการแสดงออก การสร้างเพลงนี้ขึ้นมามีนัยยะที่ลึกซึ้งเกินกว่าการออกมาด่ารัฐบาลเพียงเพื่อความมันส์สะใจอยู่หลายขุม แนวเพลงฮิปฮอปที่มีการสะท้อนสังคมเริ่มต้นขึ้นที่ประเทศอเมริกาจากกลุ่มแรปที่ชื่อว่า N.W.A. การพัฒนาแนวเพลงนี้เกิดขึ้นมาจากความคับข้องใจต่อสภาวะความกลืนไม่เข้าคลายไม่ออกของสังคมคนดำในอเมริกาที่ถูกทิ้งไว้ชายขอบโดยไม่มีใครรับฟัง2 เพลงประเทศกูมีก็เกิดขึ้นมาในลักษณะเดียวกัน การเลือกนำเสนอเพลงนี้ผ่านแนวเพลงฮิปฮอปเป็นการรำลึกถึงความทรงจำที่เจ็บปวดซ้ำแล้วซ้ำเล่าที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ชาติไทย การสะท้อนสภาวะของการกดขี่ความเป็นมนุษย์ที่เกิดขึ้นในสังคมปัจจุบัน และจุดประกายความหวังให้กับเหล่าพี่น้องชาวไทยที่หัวใจยังสูบฉีดเลือดเพื่อหล่อหลอมชาติในอุดมคติที่เราใฝ่ฝันถึง ไม่ว่าจะในเร็ววันหรือในยุครุ่นลูกหลานต่อไป
หมายเหตุ
1.ยืมแนวคิดนักข่มขืนจริยธรรมจากหนังสือ Genderism โดยโตมร สุขปรีชา
2.เรื่องราวของศิลปินกลุ่มนี้มาจากภาพยนตร์อิงชีวประวัติเรื่อง Straight Outta Campton (2015)
| ['บทความ', 'การเมือง', 'วัฒนธรรม', 'ประเทศกูมี', 'Rap Against Dictatorship', 'ปรีชาญา ชาวกัณหา'] |
https://prachatai.com/print/79381 | 2018-10-30 21:24 | กรอบมาตรฐานคุณวุฒิครูปริญญาตรี 4 ปี ควรเป็นอย่างไร? | การกำหนดกรอบคุณวุฒิตามมาตรฐานสากล (International Qualification Framework) จะอธิบายการเรียนรู้ในระบบ (Formal Learning) ในด้านระดับคุณวุฒิ (level) ผลลัพธ์การเรียนรู้ (Learning outcomes) หน่วยกิต (Credit) มาตรฐานหน่วยกิต (Unit Standard)
ดังนั้น ผู้เขียนจึงขอเสนอแนวคิดกรอบมาตรฐานคุณวุฒิหลักสูตรครูปริญญาตรี 4 ปี ดังนี้
1. ระดับคุณวุฒิ (degree level)
2. ผลลัพธ์การเรียนรู้ (learning outcomes)
3. มาตรฐานหน่วยกิต (unit standard)
4. ความรู้วิชาชีพครู (professional knowledge)
5. กิจกรรมเสริมความเป็นครู (student activities)
6. การรู้เรื่องภาษาอังกฤษ (English Literacy)
กรอบมาตรฐานคุณวุฒิข้างต้น ควรมีการกำหนดแนวคิดบนหลักการของหลักสูตรครูที่มีคุณภาพ เช่น ประเทศฟินแลนด์ และประเทศสิงคโปร์ ดังนี้
1. ระดับคุณวุฒิ (degree level) ควรมีการกำหนดกรอบคุณวุฒิให้ครอบคลุมทั้ง หลักสูตรปริญญาตรี 4 ปี (bachelor degree) หลักสูตรปริญญาโท 2 ปี (master degree) และหลักสูตรปริญญาเอก 3 ปี (doctoral degree)
เหตุผล กรอบมาตรฐานคุณวุฒิ ปัจจุบันมีเฉพาะหลักสูตรปริญญาตรีครุศาสตร์ศึกษาศาสตร์ (หลักสูตรห้าปี)แต่มีการผลิต หลักสูตรปริญญาโท (หลักสูตรสองปี) และหลักสูตรปริญญาเอก (หลักสูตรสามปี) เพื่อขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูด้วย โดยอาศัยเกณฑ์การรับรองปริญญาและประกาศนียบัตรของคุรุสภา และไม่ควรมีการกำหนดกรอบมาตรฐานหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิต ถือเป็นการยกเลิกไม่ให้มีการผลิตหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตอีกต่อไป
2. ผลลัพธ์การเรียนรู้ (learning outcomes) ควรมีเป้าหมายที่ สมรรถนะ (competency) ทักษะ (skill) และอุปนิสัย (character) ของผลผลิตและผลลัพธ์ คือคุณภาพบัณฑิต ที่สอดคล้องกับทักษะคนในศตวรรษที่ 21 ดังนี้
1) สมรรถนะ (competency) ที่สามารถถ่ายทอดทักษะ (skill) ในแต่ละด้านได้อย่างมีประสิทธิภาพ ได้แก่ (1) ด้านความรู้ในเนื้อหา (2) ด้านการจัดการเรียนรู้ (3) ด้านคุณลักษณะความเป็นครู และ (4) ด้านความสัมพันธ์กับชุมชน
2) ทักษะ (skill) แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ (1) ทักษะชีวิตและทักษะอาชีพ และ (2) ทักษะการจัดการ ได้แก่
(1) ทักษะชีวิตและทักษะอาชีพ การรู้จักแก้ปัญหา “9 C" ได้แก่ 1) มีวิจารณญาณ (“C”ritical Thinking), 2) คิดอย่างริเริ่มสร้างสรรค์ (“C”reativity), 3) เข้าใจความแตกต่างทางวัฒนธรรม (“C”ross-cultural Understanding), 4) ทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ (“C”ollaboration), 5) แก้ปัญหาความขัดแย้ง ("C"onflick solving) 6) รู้จักสื่อสารและใช้สื่อเป็นอย่างรู้เท่าทัน(“C”ommunications-Media Literacy), 7) ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเป็น (“C”omputing and ICT Literacy) ทักษะทางวิชาชีพ (“C”areer Skills) 9) วัฒนธรรมการเรียนรู้ตลอดชีวิต ("C"ulture of life-long learning)
(2) ทักษะการจัดการ " 5 “S" ได้แก่ 1) ทักษะการบริหารจัดการบุคคล (Personnel Management "S") 2) ทักษะการมีวุฒิภาวะทางอารมณ์ (Emotional Maturity "S"kill) 3) ทักษะการตัดสินใจ (Decision Making "S"kill) และ 4) ทักษะการเจรจาต่อรอง (Negotiation "S"kill) 5) ทักษะการยืดหยุ่นทางความคิด (Thinking Elasticity “S”kill)
3. มาตรฐานหน่วยกิต (unit standard) และความรู้ (knowledge) ได้แก่ หน่วยกิตรวม ตลอดหลักสูตร (curriculum unit) ซึ่งสามารถศึกษาเปรียบเทียบกับมาตรฐานหน่วยกิตรวมของหลักสูตรครูปริญญาตรีของกลุ่มประเทศในยุโรป ได้แก่
1) หลักสูตรครูปริญญาตรีของประเทศฟินแลนด์ กำหนดให้เรียนทั้งทฤษฎีและปฏิบัติไม่น้อยกว่า 60 หน่วยกิต (ECTS) จากจำนวนหน่วยกิตรวมตลอดหลักสูตรปริญญาโทของหลักสูตรครูประจำชั้นและครูประจำวิชา (300 ECTS) และหลักสูตรปริญญาตรีครูอนุบาล (180 ECTS) ทั้งนี้การฝึกปฏิบัติวิชาครูสำหรับหลักสูตรครูประจำชั้น และครูประจำวิชา จะเป็นการฝึกสอนจำนวน 20 ECTS และ 25 ECTS สำหรับหลักสูตรครูอนุบาล
กลุ่มวิชาชีพครู 60 ECTS มีสัดส่วนเป็น 1/5 ของจำนวนหน่วยกิตรวม 300 หน่วยกิต และการฝึกปฏิบัติ 20 ECTS มีสัดส่วนเป็น 1/3 ของกลุ่มวิชาชีพครู 60 ECTS
จากการคำนวณเทียบเคียงหน่วยกิตของไทย TCTS (Thai Credit Transfer System) กับ ECTS ตามเกณฑ์การเทียบเคียง 7.25 ECTS = 5.25 TCTS โดยหลักสูตร Bachelor Degree 180 ECTS เทียบได้กับ 130.345 TCTS ผู้เขียนจึงเสนอให้กรอบมาตรฐานคุณวุฒิหลักสูตรครูปริญญาตรี 4 ปี มีหน่วยยกิตรวมไม่น้อยกว่า 131 หน่วยกิตของไทย TCTS (Thai Credit Transfer System) ซึ่งเกินกว่าเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตร สกอ. และเกณฑ์คุรุสภา (โดยเทียบเคียงจากหน่วยกิตรวมหลักสูตรปริญญาตรี 5 ปี)
ดังนั้น จึงสามารถกำหนดสัดส่วนหลักสูตรครูปริญญาตรี 4 ปี โดยเทียบเคียงสัดส่วนกับหลักสูตรปริญญาตรีของกลุ่มยุโรป ได้ คือ วิชาชีพครู 1/5 ของ 131 TCTS เท่ากับ 26.2 TCTS และการฝึกปฏิบัติวิชาชีพครู 1/3 ของ 26.2 TCTS เท่ากับ 8.34 TCTS
โครงสร้างหลักสูตรครูปริญญาตรี 4 ปี หน่วยกิตรวมตลอดหลักสูตร 137 หน่วยกิต (หน่วยกิตรวมตลอดหลักสูตรเกินกว่าเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรปริญญาตรี 4 ปีของ สกอ. และ เทียบได้เกินกว่าเกณฑ์หลักสูตรปริญญาตรีของกลุ่มประเทศในยุโรป) ดังนี้
1) หมวดวิชาศึกษาทั่วไป ไม่น้อยกว่า 30 หน่วยกิต
2) หมวดวิชาเฉพาะ/วิชาเอก ไม่น้อยกว่า 69 หน่วยกิต
3) หมวดวิชาชีพครู ไม่น้อยกว่า 32 หน่วยกิต
4) หมวดวิชาเลือกเสรี ไม่น้อยกว่า 6 หน่วยกิต
4. ความรู้วิชาชีพครู (professional knowledge) และหมวดวิชาเอก (major subjects)
4.1 หมวดวิชาชีพครู 32 หน่วยกิต จำแนก ดังนี้
1. ความเป็นครูและนวัตกรรมเทคโนโลยี (Pedagogy &Innovation Teachnology) 12 หน่วยกิต 4 รายวิชา (จิตวิญญาณและคุณค่าความเป็นครู)
2. ศาสตร์การสอน (Didactics) 6 หน่วยกิต 2 รายวิชา (ความชำนาญศาสตร์การสอนวิชาเอก และการสอนในหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน)
3. วิจัยและประกันคุณภาพการศึกษา (Research & Educational Quality Assurance) 3 หน่วยกิต 1 รายวิชา (แสวงหาความรู้ด้วยกระบวนการวิจัยเพื่อการประกันคุณภาพ)
4. การปฏิบัติการวิชาชีพครู (Professional Practice) 11 หน่วยกิต 4 รายวิชา (ฝึกประสบการณ์เพื่อทักษะและสมรรถนะวิชาชีพ) ดังนี้
ปีที่ 1 ฝึกประสบการณ์ในโรงเรียน (Schooling Experience) 1 หน่วยกิต 2 สัปดาห์
ปีที่ 2 ฝึกเป็นผู้ช่วยสอน (Teaching Assistance) 2 หน่วยกิต 4 สัปดาห์
ปีที่ 3 ฝึกปฏิบัติการสอน 1 (Practicum 1) 2 หน่วยกิต 4 สัปดาห์
ปีที่ 4 ฝึกปฏิบัติการสอน 2 (Practicum 2) 6 หน่วยกิต 18 สัปดาห์
4.2 หมวดวิชาเฉพาะ/วิชาเอก 69 หน่วยกิต เรียน 23 รายวิชา (ความรู้นำไปสู่การพัฒนาวิชาชีพ)
5. กิจกรรมเสริมความเป็นครู (student activities)
การสร้างทักษะ (skill) สู่การมีสมรรถนะ (competency) ควรมีกิจกรรม 5 ด้าน ตลอดระยะเวลาการศึกษาทุกปี โดยไม่กำหนดจำนวนครั้ง โดยจัดทำหลักฐานเป็น แฟ้มสะสมงาน (portfolio) ที่มีผู้รับรองการทำกิจกรรมโดยอาจดำเนินการ ดังนี้
ปีที่ 1 การพัฒนาตนสู่ความเป็นครู (กิจกรรม มุ่งพัฒนาตน 3 ด้าน ได้แก่ ด้านสุขภาพ ด้านบุคลิกภาพ และด้านสุนทรียภาพ)
ปีที่ 2 ความเป็นผู้นำเศรษฐกิจพอเพียง (กิจกรรม ศึกษาข้อมูล กระตุ้นตนเองลงมือทำ นำชุมชนด้านเศรษฐกิจพอเพียง)
ปีที่ 3 การมีภูมิคุ้มกัน (กิจกรรม การไม่ข้องเกี่ยวข้องอบายมุข มีความสุข ด้วยคุณธรรม จริยธรรม น้อมนำจิตด้วยหลักศาสนา)
ปีที่ 4 การสร้างสื่อเทคโนโลยีและนวัตกรรม (กิจกรรม รู้เท่าทันเทคโนโลยี มีความติดริเริ่มสร้างสรรค์ สร้างสื่อการเรียนรู้และสื่อเทคโนโลยี)
ปีที่ 1-4 การมีจิตสาธารณะเพื่อสังคม (กิจกรรม ใส่ใจต่อสังคม อุดมด้วยจิตสาธารณะ เสียสละโดยไม่เห็นแก่ตัว)
6. การรู้เรื่องภาษาอังกฤษ (English Literacy)
กำหนดเงื่อนไขการสำเร็จการศึกษา(exit exam) โดยการทดสอบการรู้เรื่องภาษาอังกฤษ (English Literacy) ตามเกณฑ์ ดังนี้
TOEIC
TOEFL
(Paper)
TOEFL
(CBT)
TOEFL
(IBT)
IELTS
CEFR
ปริญญาตรี
505
477
153
53
4.5
B1 (FCE)
ปริญญาโท
600
510
180
64
5.0
B2
ปริญญาเอก
(ตามเกณฑ์การสำเร็จการศึกษาของแต่ละสถาบัน)
นิสิตนักศึกษาที่เรียนหลักสูตรนานาชาติ หลักสูตรภาษาอังกฤษ และวิชาเอกภาษาอังกฤษ ต้องผ่านเกณฑ์ภาษาอังกฤษระดับปริญญาโท
หมายเหตุ การปฏิบัติการวิชาชีพครู ชั้นปีที่ 1-3 สามารถทำได้โดย ภาคการศึกษาที่ 2 ของทุกปี กำหนดปฏิทินการเรียน 20 สัปดาห์ เรียนรายวิชา 15 สัปดาห์ สัปดาห์ที่ 16 สอบปลายภาค สัปดาห์ที่ 17-20 ปฏิบัติการวิชาชีพ โดยการนิเทศออนไลน์ ระบบ e-PLC ส่วนชั้นปีที่4 ฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู 1 ภาคการศึกษา
ข้อเสนอเชิงนโยบาย
โดยที่แนวคิดการสร้างหลักสูตรครูปริญญาตรี4 ปี อาจส่งผลกระทบต่อผู้เรียนหลักสูตรปริญญาตรี 5 ปีในปัจจุบัน จึงเห็นสมควรดำเนินการเชิงนโยบาย ดังนี้
1. ผู้เรียนหลักสูตรครูปริญญาตรี 5 ปี (รหัส 57, 58 และ 59) ต้องเข้าทดสอบข้อสอบเพื่อรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู เพื่อใช้คะแนนเฉลี่ยประเมินคุณภาพการผลิตของสถาบันฝ่ายผลิตในการจัดสรรทุนครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น และให้ถือว่าผู้เข้าทดสอบเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูโดยอัตโนมัติ
2. ในปีการศึกษา 2562 หากนิสิตนักศึกษาที่เรียนหลักสูตรครูปริญญาตรี ที่เข้าเรียนปีการศึกษา 2560 (รหัส 60) ขึ้นเรียนชั้นปีที่ 3 และ ปีการศึกษา 2561 (รหัส 61) ขึ้นเรียนชั้นปีที่ 2 มีความประสงค์จะเทียบโอนหน่วยกิต เพื่อเข้าศึกษาหลักสูตรครูปริญญาตรี 4 ปี ให้สามารถเทียบโอนได้ตามความสมัครใจ
เกี่ยวกับผู้เขียน: รองศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ นพรัก เป็นคณบดีวิทยาลัยการศึกษา มหาวิทยาลัยพะเยา
| ['บทความ', 'การศึกษา', 'มาตรฐานคุณวุฒิครู', 'คุณวุฒิครูปริญญาตรี 4 ปี', 'สมบัติ นพรัก'] |
https://prachatai.com/print/79384 | 2018-10-31 12:10 | กะเหรี่ยง KNU-กองทัพรัฐฉานถอนคุยสันติภาพสะท้อนภาวะย่ำแย่ในวงเจรจา | สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง หนึ่งในสมาชิกเจรจาสันติภาพพม่าขอถอนตัวชั่วคราว เหตุไม่พอใจที่รัฐบาลพม่าเน้นย้ำเรื่องการไม่แยกตัวจากสหภาพ ต่อจากตัวแทนรัฐฉานที่แสดงความไม่พอใจเรื่องหลักการกองทัพเดียวที่พม่าเสนอ นักวิเคราะห์ระบุ วงสันติภาพย่ำแย่ ความเชื่อใจน้อยลงเรื่อยๆ เมื่อสองเรื่องสำคัญปิดกั้นการหารือต่อเนื่องในประเด็นอื่นๆ
ภาพงานรำลึกวันปฏิวัติกะเหรี่ยงปีที่ 65 ของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง เมื่อ 31 ม.ค. 2557 (ที่มา: แฟ้มภาพ)
31 ต.ค. 2561 เมื่อช่วงกลางเดือน ต.ค. ที่ผ่านมาในประเทศพม่ามีการจัดงานประชุมที่พวกเขาเรียกว่า "งานประชุมสุดยอดสันติภาพ (peace summit)" ในกรุงเนปิดอว์ เมืองหลวงของประเทศ ซึ่งมีทั้งตัวแทนจากฝ่ายผู้นำกองทัพพม่า ที่ปรึกษาแห่งรัฐอย่างอองซานซูจี และตัวแทนจากกลุ่มกองกำลังชาติพันธุ์ 10 กลุ่ม โดยมีเป้าหมายต้องการปลดล็อกกระบวนการสันติภาพของพม่า อย่างไรก็ตามมีกลุ่มหนึ่งคือสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงหรือ KNU (KNU) ที่ระงับการเข้าร่วมประชุมสันติภาพชั่วคราว
KNU ได้ถอนตัวออกจากการประชุมสันติภาพชั่วคราวโดยระบุในจดหมายเปิดผนึกเมื่อช่วงวันที่ 27 ต.ค. ที่ผ่านมาว่าเพราะต้องการ "ให้มีการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงในการจัดการกระบวนการสันติภาพ และต้องการเวลามากพอที่จะสร้างการมีส่วนร่วมอย่างเป็นเอกภาพของทั้งองค์กรได้" หนึ่งในผู้นำของ KNU ให้สัมภาษณ์ต่อสื่ออิระวดีว่าการถอนตัวเกิดจาก "กระบวนการสันติภาพไม่เป็นไปอย่างที่คาดไว้"
ซอ มูตูเซโพ (Saw Mutu Say Poe) ประธาน KNU เคยกล่าวไว้ก่อนหน้านี้ว่ารัฐบาลมีมุมมองขัดแย้งกันเองในเรื่องการให้ปกครองตนเองและการไม่แบ่งแยกซึ่งเป็นประเด็นสำคัญในการเจรจาสันติภาพ เขาบอกอีกว่าการจัดตั้งระบบแบบสหพันธรัฐไม่ควรจะถูกทำให้กลายเป็นแค่เรื่องการแบ่งแยกแต่อย่างเดียว ฝ่ายตัวแทนกองกำลังชาติพันธุ์มองว่าการอ้างเรื่อง "การไม่แบ่งแยก" จากรัฐบาลนั้นเป็นคำที่ใช้อ้างให้ใช้อำนาจ "เผด็จการ" ขณะที่ซอว์มูตูเซย์โปเสนอว่าควรจะมีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่เพื่อให้เป็นไปตามหลักการแบบสหพันธรัฐ
KNU ยังมีแผนการจะไม่เข้าร่วมประชุมการวางแนวทางอภิปรายร่วมกับรัฐบาลพม่าในวันที่ 1-3 พ.ย. นี้ด้วย อย่างไรก็ตาม KNU จะยังคงรักษาสัญญาว่าจะอยู่ในกลุ่มลงนามหยุดยิงทั่วประเทศ (NCA) ตามที่ซอมูตูเซโพให้คำมั่นต่อไป
ในการจัดประชุมดังกล่าว พล.อ.มินอ่องหล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของพม่าก็แถลงว่าตามหลักการรัฐธรรมนูญของพม่าเขายืนยันจะไม่ให้มี "การแบ่งแยก" ออกจากสหภาพพม่า ขณะที่อองซานซูจีกล่าวในทำนองว่ารัฐบาลให้สัญญาไว้หลายครั้งแล้วว่าจะดำเนินการตามหลักการประชาธิปไตยและรูปแบบสหพันธรัฐในแบบที่ชนกลุ่มน้อยเรียกร้องไว้
ในปีที่แล้วรัฐบาลพม่าเคยยื่นเงื่อนไขต่อรองว่าถ้าหากกลุ่มกองกำลังชาติพันธุ์ไม่ให้สัญญาว่าจะไม่แบ่งแยก การพูดคุยเรื่องร่างรัฐธรรมนูญที่จะมีเรื่องเกี่ยวกับการปกครองตนเอง หรือสิทธิชนกลุ่มน้อยจะไม่เกิดขึ้น การยื่นเงื่อนไขเช่นนี้ส่งผลให้การเจรจาสันติภาพชะงักงัน
หล้าหม่องส่วย (Hla Maung Shwe) ที่ปรึกษาของคณะกรรมการสันติภาพในพม่าบอกว่าสภาพการณ์เจรจาสันติตอนนี้ถือว่าแย่ ไม่ได้ถึงขั้นเสียกระบวนการแต่ความเชื่อมั่นระหว่างฝ่ายต่างๆ สูญเสียไป รัฐบาลและกองทัพพม่าควรจะทำอะไรให้ฉลาดกว่านี้
สื่ออิระวดีของพม่ารายงานเรื่องนี้ว่าทาง KNU และกองทัพพม่ามีเรื่องบาดหมางกันเกี่ยวกับการรื้อสร้างถนนใหม่ในเขตพื้นที่ของกองกำลัง KNU ด้วย ฝ่าย KNU มองว่าการรื้อสร้างถนนใหม่โดยที่ถนนเดิมยังใช้งานได้เป็นเจตนาของกองทัพพม่ามากกว่าจะเป็นการดำเนินการเพื่อการพัฒนาโดยรัฐบาลท้องถิ่น หล้าหม่องส่วยยังบอกอีกว่าสถานการณ์จะเลวร้ายลงกว่าเดิมมากถ้ารัฐบาลพม่าเดินหน้ากดดันหนักขึ้น
อิระวดีรายงานอีกว่าการสร้างความเชื่อมั่นในกันและกันคือกุญแจสำคัญของกระบวนการสันติภาพที่ไม่เคยสำเร็จเลยถึงทุกวันนี้ เนื่องด้วยความขัดแย้งระหว่างกองกำลังของรัฐบาลและกลุ่มติดอาวุธของชาติพันธุ์ดำเนินมาแล้วกว่า 7 ทศวรรษ และการปฏิบัติตัวของของกองทัพและรัฐบาลพม่าต่อกลุ่มกองกำลังชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มก็ส่งผลต่อความเชื่อใจ
ในเรื่องของการยืนยัน "ไม่ให้มีการแบ่งแยก" จากสหภาพพม่า เป็นข้อโต้แย้งกันมาตั้งแต่สมัยการประชุมสันติภาพสัญญาปางโหลงฉบับใหม่ในปี 2560 แล้ว เพราะนั่นทำให้กองทัพพม่าจะไม่ยอมรับฟังข้อเสนอการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะให้สิทธิในการตัดสินใจเองในท้องถิ่น และในการประชุมครั้งล่าสุดซึ่งถือเป็นครั้งที่ 3 ก็ไม่มีการนำวาระดังกล่าวมาพูดถึงเช่นกัน
ความตึงเครียดเกิดขึ้นหนักมากกับทั้ง KNU และคณะกระบวนการสันติภาพ (PPST) ก่อนหน้าการเปิดประชุมครั้งล่าสุด ทาง KNU โดยเฉพาะปีกหัวแข็งที่อยากขอเลื่อนการเจรจาในครั้งนี้ออกไป โดยอ้างว่าต้องการเวลาเตรียมตัวมากกว่านี้ แต่ก็มีบางส่วนใน KNU ที่อยากเดินหน้าเจรจาสันติภาพต่อและอยากให้มี "การอนุมัติร่วมกัน" กับ PPST
ด้าน PPST เองก็อยากเดินหน้าจัดประชุมต่อไปเพราะอยากปลดล็อกกระบวนการสันติภาพ แต่การจัดประชุมล่าสุดไม่มีผลความคืบหน้าที่เป็นชิ้นเป็นอันอีกทั้งยังกลายเป็นการให้พื้นที่กองทัพพม่าได้ผลักดันข้อตกลงไม่แบ่งแยกด้วย
ทางด้านสภาฟื้นฟูแห่งรัฐฉาน (RCSS) ปีกทางการเมืองของกองทัพรัฐฉาน SSA ก็ประกาศจุดยืนในการประชุมเมื่อวันที่ 27 ต.ค. ที่ผ่านมาว่าพวกเขาจะไม่พิจารณาเรื่องการรวมกองกำลังของตนเองร่วมกับกองทัพพม่า และไม่ยอมยกเลิกสิทธิของตัวเองในการแยกตัวออกจากประเทศพม่าโดยไม่ผ่านการปรึกษาหารือกับชุมชนรัฐฉานก่อน โดยที่ในกระบวนการสันติภาพนั้นมีการกล่าวถึงหลักการทำให้กองกำลังทั้งหมดกลายเป็นกองทัพเดียวแต่ก็เน้นย้ำว่าต้องมีการหารือกันว่าจะควบรวมหลายกองกำลังเป็นหนึ่งเดียวอย่างไร
ในทางหลักการ กลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ยอมรับเรื่องการมีกองทัพเดียว แต่ก็พูดถึงความจำเป็นในการพูดคุยกันต่อในรายละเอียด
นักวิเคราะห์การเมืองและกิจการชาติพันธุ์พม่าบอกว่าท่าทีผิดหวังจากรัฐฉานและ KNU จะกลายเป็นหัวข้อถกเถียงกันอย่างเผ็ดร้อน และกระบวนการสันติภาพจะไม่คืบหน้าไปจนถึงอีก 2 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นปี 2563 ที่ผู้นำทหารพม่าเคยสัญญาไว้ว่าจะดำเนินกระบวนการทางสันติภาพให้ลุล่วงได้
เรียบเรียงจาก
Analysis: Why Did the KNU Temporarily Leave Peace Talks?, The Irrawaddy [1], Oct. 29, 2018
Military Chief Says National Peace Deal Must Guarantee 'Non-Separation', The Irrawaddy [2], Oct. 15, 2018
หมายเหตุ ประชาไทแก้ไขพาดหัวเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องกว่าเดิม และได้แก้ไขชื่อของผู้ปรากฏในข่าวตามการออกเสียง แก้ไขเมื่อ 31 ต.ค. 2561 เวลา 16.00 น.
| ['ข่าว', 'การเมือง', 'ต่างประเทศ', 'ความมั่นคง', 'พม่า', 'สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง', 'KNU', 'สัญญาปางโหลง', 'การเจรจาสันติภาพ', 'มินอ่องหล่าย', 'การกระจายอำนาจ', 'สหพันธรัฐ', 'อาเซียน', 'NCA', 'การปฏิรูปในพม่า'] |
https://prachatai.com/print/79385 | 2018-10-31 14:21 | ใบตองแห้ง: ระบอบตู่ระบอบแม้ว | ยิ่งใกล้เลือกตั้ง ก็ยิ่งปลุกกระแสเกลียดชังทักษิณ โดยเฉพาะเมื่อทักษิณให้สัมภาษณ์ว่า ถ้าพรรคฝ่ายประชาธิปไตยได้เกิน 300 เสียง รัฐบาลทหารก็จะไม่สามารถสืบทอดอำนาจได้
เท่านั้น ก็แค้นคั่งจะให้สั่ง กกต.ยุบพรรคเพื่อไทย ยุบหมดเลยไหม พรรคไหนประกาศไม่เอาคสช.สืบทอดอำนาจ ถือเป็นภัยความมั่นคงของชาติ
พวกที่เคยยึดทำเนียบยึดสนามบินปิดเมืองขัดขวางเลือกตั้ง ออกบัตรเชิญรัฐประหาร 2 ครั้ง ก็ออกมาแหกปาก ทักษิณไม่ใช่ประชาธิปไตย เคยใช้อำนาจในทางที่ผิด ฯลฯ เออ มีใครคิดว่าทักษิณเป็นทรูโด หรือโอบามา? แต่เทียบกับการเอาปืนรถถังยึดอำนาจ ปิดกั้นสิทธิเสรีภาพ บังคับประชาชนให้ทำตามคำสั่ง อะไรเลวร้ายกว่ากันเห็น ๆ
ทั้งหมดก็เป็นแค่การปลุกผี ในสังคมโง่เขลา ยิ่งอยู่ใต้เผด็จการนาน ๆ ยิ่งโง่ลง ยิ่งรับข่าวสารผ่านสื่อสังคมออนไลน์ยิ่งเบาปัญญา เอาแต่ดราม่าฟูมฟาย ปลุกความเกลียดชังทักษิณ เพื่อให้ยอมรับการสืบทอดอำนาจอย่างหนา ๆ ได้ยินคำขู่รัฐประหาร ยังบอกว่าเป็นคำเตือนด้วยความหวังดี ฉะนั้นทุกคนต้องทำตัวดี ๆ อย่าให้ทหารท่านไม่พอใจ
ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 ทักษิณไม่มีทางกลับมาครองอำนาจได้ เพราะพรรคเพื่อไทยไม่มีทางใหญ่กว่าพรรค ส.ว. 250 เสียง แต่นั่นกลับทำให้คนชั้นกลางสมองกลวงดีอกดีใจ ดีแล้วไง ความไม่เป็นประชาธิปไตยช่วยให้สกัดทักษิณได้ รัฐประหารไม่เสียของ ไม่ต้องเป็นประชาธิปไตยไปเลยดีที่สุด เพราะเลือกตั้งทีไรแพ้ทักษิณทุกที ยุบพรรคก็ทำอะไรไม่ได้ ต้องตั้ง ส.ว.มาเลือกกันเองดื้อ ๆ อย่างนี้ แล้วบอกว่าเป็นกติกา
นี่น่าจะเป็นสิ่งที่เรียกว่าความเป็นไทย ศีลธรรมจรรยา หิริโอตตัปปะ คุณสมบัติของคนดี
การปลุกผีทักษิณ มึนชาคนเกลียดชังให้ยอมรับการสืบทอดอำนาจ แบบไม่เอานายกฯ คนนอก แต่ถ้าหัวหน้า คสช.เป็น 1 ใน 3 แคนดิเดทนายกฯ ของพรรคการเมืองไม่เห็นเป็นไร ถือเป็นความชอบธรรม พรรคประชาธิปัตย์ยังยอมรับ
ยิ่งไปกว่านั้น ยังทำให้คนหน้ามืดเห็นแต่ “ระบอบทักษิณ” ไม่เห็น “ระบอบประยุทธ์” ซึ่งสี่ปีผ่านไป ได้สถาปนาระบอบทหารและราชการเป็นใหญ่ ผนึก “ทุนนิยมประชารัฐ” ครอบงำประเทศไทย ประชาชนต้องอยู่ในวินัย เชื่อฟังข้าราชการ ทหาร ตำรวจ ภายใต้กฎระเบียบที่ปั๊มออกมามากมาย พร้อมกับสร้างภาพข้าราชการดี เก่ง เข้มแข็ง บังคับใช้กฎหมายรุนแรง ประชาชนโต้แย้งไม่ได้ ไม่ว่าทำเกินเหตุหรือมีเลศนัย ราชการถูกเสมอ
ซึ่งว่าโดยปรากฏการณ์ คนจำนวนมากก็ไม่ชอบรัฐทหารราชการเป็นใหญ่ เช่นที่ฮือต้านกฎหมายความมั่นคงไซเบอร์ ขึ้นทะเบียนหมาแมว ค่าปรับใบขับขี่ ฯลฯ รวมทั้งไม่พอใจภาพที่รัฐกับกลุ่มทุนผนึกกันแนบแน่น แต่ไม่ยักสำนึกว่านี่คือระบอบที่ คสช.สถาปนาขึ้น ซึ่งถ้าสืบทอดอำนาจได้ ก็จะยิ่งเข้มแข็งไปยาว ๆ กระทั่งสิ่งที่คนเคยคัดค้านเป็นผลในยุคนี้ ก็อาจคัดค้านไม่ได้ เช่นกฎหมายความมั่นคงไซเบอร์ ถ้าผ่าน 3 วาระ ก็อ้างได้ว่ามีเสียงข้างมากในสภา
สิ่งที่ทักษิณพูด ถ้าลบหน้าทักษิณออกไป ถ้าเป็นนักวิชาการนกหวีดกลับใจ เรียกร้องให้พรรคการเมืองผนึกกัน อย่ายอมให้สืบทอดอำนาจ ไม่ให้ตั้งรัฐบาลสำเร็จ บังคับให้ “ติดกับ” จนกว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ เอาอำนาจแต่งตั้งออกไป กระจายอำนาจให้ประชาชน ฯลฯ ผู้คนอาจยอมรับก็ได้
หรือไม่งั้น ก็อาจชี้หน้าว่า นักวิชาการคนนั้นโดนทักษิณซื้อไปแล้ว นี่แหละประเทศไทย
เผยแพร่ครั้งแรกใน: ข่าวหุ้นธุรกิจ www.kaohoon.com/content/258585 [1]
| ["'ใบตองแห้ง' ออนไลน์", 'การเมือง', 'ใบตองแห้ง', 'ทักษิณ ชินว้ตร', 'ประยุทธ์ จันทร์โอชา'] |
https://prachatai.com/print/79386 | 2018-10-31 14:40 | วางดอกไม้ รำลึก 12 ปี 'นวมทอง' ประท้วงรัฐประหาร ตร.คุมเข้ม | ภรรยา แกนนำ นปช. และกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย วางดอกไม้รำลึก 12 ปี ณ จุดที่ 'นวมทอง' ปรากฏร่างเขาผูกคอเสียชีวิต หน้า สนพ. ไทยรัฐ โดยมีจดหมายลาตายระบุว่า ต้องการลบคำสบประมาทของ รองโฆษก คณะรัฐประหาร ที่ว่า “ไม่มีใครมีอุดมการณ์มากขนาดยอมพลีชีพได้”
ภาพจากเพจ Banrasdr Photo [1]
31 ต.ค.2561 เนื่องในวาระครบรอบ 12 ปี นวมทอง ไพรวัลย์ คนขับแท็กซี่ วัย 60 ปี ซึ่งปรากฏร่างเขาผูกคอเสียชีวิต ที่บริเวณบริเวณสะพานลอย หน้า สนพ. ไทยรัฐ โดยมีจดหมายลาตายระบุว่า ต้องการลบคำสบประมาทของ พ.อ.อัคร ทิพโรจน์ รองโฆษกคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปก.) ที่ว่า “ไม่มีใครมีอุดมการณ์มากขนาดยอมพลีชีพได้” นั้น
ช่วงสาย วันนี้(31 ต.ค.61) ที่บริเวณสดมภ์อนุสรณ์นวมทอง ซึ่งเป็นจุดที่พบร่างเขาดังกล่าว ภรรยาของนวมทอง, ณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ เลขาธิการ นปช. ธิดา ถาวรเศรษฐ, นพ.เหวง โตจิราการ, ก่อแก้ว พิกุลทอง พร้อมด้วย สมยศ พฤกษาเกษมสุข แกนนำกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตยและประชาชนจำนวนหนึ่งร่วมวางดอกไม้รำลึก
มติชนออนไลน์ [2] รายงานด้วยว่า บริเวณดังกล่าวมี เจ้าหน้าที่ตำรวจ อยู่ประจำโดยรอบ ซึ่ง พ.ต.ท.ปริญญา กลิ่นเกสร รอง ผกก.ป.สน.บางซื่อ กล่าวถึงสถานการณ์ในช่วงเช้านี้ว่า ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง แต่จะคอยดูแลสถาการณ์อยู่เรื่อยๆ และว่า การชุมนุมมี 2 แบบ คือการชุมนุมเพื่อเรียกร้องทางการเมือง แต่ในวันนี้เป็นเพียงการมาเงียบๆ เพื่อวางดอกไม้ และจุดเทียน หรือมาแสดงความรำลึก การกระทำในลักษณะเช่นนี้ไม่ใช่การชุมนุม
นอกจากนี้ ในช่วงเย็นวันนี้ กลุ่ม 24 มิถุนาฯ ยังเตรียมจัดกิจกรรม 'ถ้อยคำรำลึก 12 ปี นวมทอง ไพรวัลย์' ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ถนนราชดำเนินฯ ด้วย รายละเอียด https://www.facebook.com/events/960575154143277/ [3]
โดยภายในงาน อนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรม ได้กล่าวรำลึกถึงนวมทอง ไพรวัลย์ด้วย โดยระบุว่า หากนวมทองยังมีชีวิตอยู่ในวันนี้ ก็คงกำลังเฝ้ารอการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง และคงเป็นส่วนหนึ่งของสมาชิกกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง เพราะนอกจากเรื่องในทางอดุมการณ์แล้ว นวมทองก็คือคนชั้นล่างในสังคมไทย เมื่อดูสภาวะหลังจากการรัฐประหารเป็นต้นมากลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดไม่ได้หนีไปจากกลุ่มคนระดับล่างเท่าไหร่ แม้ทุกวันนี้รัฐบาลพยายามที่จะบอกว่าเศรษฐกิจเติบโต จีดีพีขยายตัว แต่เอาเข้าจริงแล้วหากเราไปถามชาวบ้านร้านตลาดก็จะทราบว่าชีวิตมันฝึดเคืองขนาดไหน เราจะพบกลุ่มคนที่พยายามดิ้นร้นขวนขวายและหลายรายที่ไม่ประสบความสำเร็จจนตัดสินใจจบชีวิตตัวเองไปก็เกิดขึ้นให้เราเห็นค่อนข้างมากมาย
"จะว่าไปแล้วรัฐประหารที่เกิดขึ้น กลุ่มคนระดับล่างได้รับกระทบอย่างเต็มที่ กลุ่มเกษตรกรก็พบกับราคาพืชผลทางการเกษตรที่ตกต่ำ โดยเฉพาะภาคใต้อาจจะเป็นส่วนใหญ่ของคนที่ส่งบัตรเชิญให้กับคณะรัฐประหารปัจจุบันนี้ก็น่าจะตระหนักแล้วใช่ไหมครับว่าราคาพืชผลทางการเกษตรโดยเฉพาะอย่างยิ่งยางพาราตกต่ำขนาดไหน คนเหล่านี้จำนวนมากก็เฝ้ารอความเปลี่ยน" อนุสรณ์ กล่าว
10 ปี ลุงนวมทองขับแท็กซี่ชนรถถังคณะรัฐประหาร สัญลักษณ์ที่ยังมีชีวิต [4]
รายงาน: 10 ปี ความตายลุงนวมทองพิสูจน์อุดมการณ์ต้านรัฐประหาร [5]
รำลึก 11 ปี ลุงนวมทอง [6]
สำหรับ นวมทอง ไพรวัลย์ เขาคนขับแท็กซี่ อดีตพนักงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย อ.บางกรวย วัย 60 ปี ที่ขับรถแท็กซี่โตโยต้า โคโรลล่า สีม่วง เครื่องมือทำมาหากินของเขาพุ่งชนรถถังของ คมช. ที่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า จนได้รับบาดเจ็บสาหัส จนเป็นภาพข่าวบนหน้าหนังสือพิมพ์ในขณะนั้น โดยที่หลังปฏิบัติการขับรถแท็กซี่ชนรถถังประท้วงรัฐประหารของเขาจนบาทเจ็บสาหัส 1 เดือนหลังจากนั้น ในคืนวันที่ 31 ต.ค. 2549 ปรากฏร่างเขาผูกคอเสียชีวิต ที่บริเวณสะพานลอย หน้า สนพ. ไทยรัฐ โดยมีจดหมายลาตายระบุว่า ต้องการลบคำสบประมาทของ พ.อ.อัคร ทิพโรจน์ รองโฆษกคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปก.) ที่ว่า “ไม่มีใครมีอุดมการณ์มากขนาดยอมพลีชีพได้”
| ['ข่าว', 'การเมือง', 'นวมทอง ไพรวัลย์', 'รัฐประหาร'] |
https://prachatai.com/print/79382 | 2018-10-30 21:57 | ตร.บุกร้าน ‘ช่างตัดแว่นเชียงราย’ หวั่นไปร้อง 'ประยุทธ์' ปมอายัดบัญชี ‘บก.ลายจุด’ | ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เผยเจ้าหน้าที่หวั่น 'สราวุทธิ์ ช่างตัดแว่นเชียงราย’ จะไปยื่นหนังสือร้องเรียนต่อ พล.อ.ประยุทธ์ กรณีออกคำสั่งอายัดบัญชีของ 'บก.ลายจุด' ผู้ก่อตั้ง 'พรรคเกียน' มากกว่า 4 ปี โดยเจ้าหน้าที่ระบุห้ามไม่ได้ แต่ขอความร่วมมือไม่ให้ไปยื่น และให้ไปยื่นที่ศูนย์ดำรงธรรมแทน
ซ้าย ภาพ ประชุม ครม.สัญจร ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย (ที่มาภาพ เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล) ขวา ภาพขณะหน่วยปฏิบัติการพิเศษเดินทางมาที่ร้านตัดแว่นของสราวุทธิ์ (ที่มาภาพ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน)
30 ต.ค.2561 จากกรณีช่วงระหว่างวันที่ 29-30 ต.ค. 2561 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีกำหนดการเดินทางลงพื้นที่ จ.เชียงราย เพื่อร่วมการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) ครั้งที่ 8/2561 ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย พร้อมนำคณะรัฐมนตรีลงพื้นที่ตรวจราชการที่ จ.พะเยา นั้น
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า สราวุทธิ์ กุลมธุรพจน์ ช่างตัดแว่นและอดีตคนเสื้อแดงใน จ.เชียงราย เปิดเผยกับศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ว่าเมื่อช่วงเที่ยงวันที่ 29 ต.ค.ที่ผ่านสมา ได้มีเจ้าหน้าที่ระบุว่าเป็นหน่วยปฏิบัติการพิเศษ แต่งกายชุดสีเขียวคล้ายเจ้าหน้าที่ทหาร จำนวน 4 นาย เดินทางไปยังบ้านของ สราวุทธิ์ ที่ อ.พาน จ.เชียงราย
ขณะนั้นมีแม่ของสราวุทธิ์อยู่บ้านเพียงลำพัง ทางเจ้าหน้าที่ได้เข้าสอบถามถึงสราวุทธิ์ โดยระบุว่าได้รับข้อมูลมาเมื่อ 2-3 วันก่อน ว่าสราวุทธิ์เป็นแกนนำใน จ.เชียงราย ทางเจ้าหน้าที่กลัวว่าจะมีการเดินทางไปร้องเรียน หรือไปพบ พล.อ.ประยุทธ์ ที่จะเดินทางมาลงพื้นที่ จ.ดเชียงราย แม่ของสราวุทธิ์ระบุว่าลูกไม่อยู่บ้านและไม่น่าจะเดินทางไป ทางเจ้าหน้าที่ได้สอบถามชื่อแม่ของสราวุทธิ์ พร้อมจดบ้านเลขที่ และเบอร์โทรศัพท์ของสราวุทธิ์ไป รวมทั้งได้ถ่ายภาพระหว่างการพูดคุยร่วมกับผู้ใหญ่บ้านและเจ้าหน้าที่หน่วยปฏิบัติการพิเศษเอาไว้
จากนั้นเวลาประมาณ 12.30 น. ได้มีเจ้าหน้าที่ระบุว่ามาจากหน่วยปฏิบัติพิเศษ จ.เชียงราย จำนวน 4 นาย เดินทางมาด้วยรถกระบะ ด้านข้างติดป้ายระบุว่า “หน่วยปฏิบัติการพิเศษ” เข้ามาที่ร้านรับตัดแว่นของนายสราวุทธิ์ในตัวเมืองเชียงราย
เจ้าหน้าที่ได้เข้าสอบถามว่าสราวุทธิ์จะเดินทางไปพบพล.อ.ประยุทธ์หรือไม่ สราวุทธิ์ระบุว่าอาจจะเดินทางไปยื่นหนังสือร้องเรียนเรื่องการอายัดบัญชีของ สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ “บก.ลายจุด” ผู้ก่อตั้ง “พรรคเกียน” ซึ่งถูกคสช. ออกคำสั่งอายัดบัญชีมาตั้งแต่หลังรัฐประหาร แต่ยังไม่ยกเลิกคำสั่งมาจนถึงปัจจุบัน แม้คดีไม่ไปรายงานตัวจะสิ้นสุดลงไปแล้ว
ทางเจ้าหน้าที่จึงระบุว่าหากเป็นเรื่องดังกล่าวให้ สราวุทธิ์ไปยื่นเรื่องได้ที่ศูนย์ดำรงธรรม สราวุทธิ์จึงสอบถามว่าหากไปยื่นที่ศูนย์ดำรงธรรมจะยืนยันได้อย่างไรว่าหนังสือดังกล่าวจะถึงพล.อ.ประยุทธ์ ทางเจ้าหน้าที่ไม่ตอบ สราวุทธิ์จึงสอบถามว่าหากไปพบพล.อ.ประยุทธ์ เจ้าหน้าที่จะห้ามหรือไม่ ทางเจ้าหน้าที่ระบุว่าไม่สามารถห้ามได้ แต่จะขอความร่วมมือไม่ให้ไป
เจ้าหน้าที่ใช้เวลาในการพูดคุยประมาณ 30 นาที ส่วนใหญ่เจ้าหน้าที่พยายามเน้นการขอความร่วมมือไม่ให้สราวุทธิ์เดินทางไปพบ พล.อ.ประยุทธ์ ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะขอถ่ายรูป สราวุทธิ์ ขอเบอร์โทรศัพท์ และระบุกับสราวุทธิ์ว่าหากจะเดินทางไปยื่นหนังสือจริงๆ ให้ติดต่อมายังเจ้าหน้าที่ได้ ทางเจ้าหน้าที่จะพาไปยื่นหนังสือดังกล่าว แต่จะไม่ให้เข้าใกล้พล.อ.ประยุทธ์
จากการตรวจสอบ พบว่าหน่วยปฏิบัติการพิเศษ หรือ “นปพ.” เป็นหน่วยของตำรวจ ภายใต้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยเป็นหน่วยสวาท (SWAT) ระดับภาคหรือจังหวัด ทำหน้าที่ดูแลคดีอาชญากรรมพิเศษที่เกิดขึ้นในภาคหรือจังหวัด รวมทั้งสนับสนุนกำลังทางด้านยุทธวิธี และมีการฝึกฝนที่เข้มข้นมากว่าตำรวจปกติ
ศูนย์ทนายความฯ ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมด้วยว่า สำหรับ สราวุทธิ์ อายุ 33 ปี ประกอบอาชีพเปิดร้านตัดแว่น ปัจจุบันยังถูกเจ้าหน้าที่ทหารกล่าวหาดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากกรณีการโพสต์เฟซบุ๊กรูปภาพสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ตั้งแต่เมื่อเดือนกรกฎาคมปี 2559 โดยคดียังอยู่ระหว่างการสืบพยานในศาลทหารเชียงราย หลังการรัฐประหาร สราวุทธิ์เคยถูกเรียกตัวเข้าพูดคุยในค่ายทหารและถูกเจ้าหน้าที่เดินทางไปพบที่บ้านไม่ต่ำกว่า 10 ครั้ง โดยปัจจุบันเขาสนใจจะเข้าร่วมกิจกรรมของพรรคเกียน
ตร.ติดตาม 2 นักศึกษา ม.พะเยาถึงบ้าน ก่อนประยุทธ์ลงพื้นที่ ครม.สัญจร ของดวิจารณ์รัฐบาล [1]
ก่อนหน้านี้ ศูนย์ทนายความฯ เปิดเผยว่า การลงพื้นที่ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ จ.พะเยาและเชียงราย เจ้าหน้าที่ตำรวจยังเข้าติดตามนิสิตมหาวิทยาลัยพะเยาอย่างน้อย 2 ราย โดยมีการเดินทางไปที่บ้าน และเข้าไปพบในมหาวิทยาลัย เพื่อติดตามว่าจะมีการจัดกิจกรรมหรือมีการเดินทางไปพบพล.อ.ประยุทธ์หรือไม่ อย่างไร รวมทั้งขอให้นิสิตงดแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล โดยหากมีปัญหาอะไรเกี่ยวกับรัฐบาลก็ให้ไปร้องเรียนที่ศูนย์ดำรงธรรมแทน
| ['ข่าว', 'การเมือง', 'สิทธิมนุษยชน', 'ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน', 'บก.ลายจุด', 'อายัดบัญชี', 'ครม.สัญจร', 'เชียงราย', 'ประยุทธ์ จันทร์โอชา', 'สราวุทธิ์ กุลมธุรพจน์'] |
https://prachatai.com/print/79383 | 2018-10-30 22:43 | รายได้ยามชราภาพของข้าราชการน้อยไปจริงหรือ ? | 1.เกริ่นนำ
1.1 พวกเราคงได้ยินข่าวข้าราชการบำนาญกลุ่มหนึ่งได้ยื่นหนังสือถึงประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อขอแก้ไขกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการและกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ โดยสาระสำคัญที่ขอแก้ไข คือ เปลี่ยนสูตรบำนาญ ดังนี้ (สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, 2561)
ปัจจุบัน
ข้อเสนอ
เงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย x อายุราชการ
เงินเดือนเดือนสุดท้าย x อายุราชการ
50
30
และข่าวที่สมาคมข้าราชการอาวุโสแห่งประเทศไทยเสนอขอให้รัฐบาลพิจารณานำเงิน “บำเหน็จตกทอด” ที่เหลือของ “ทายาท” 15 เท่ามาจ่ายเป็น “บำเหน็จดำรงชีพ” (2561) ของ “ตน”
1.2 ข่าวข้างต้นสื่อนัยว่า รายได้ยามชราภาพของข้าราชการบำนาญน้อยเกินไป จึงมีการเคลื่อนไหวขอแก้สูตรบำนาญเพื่อให้รายได้ยามชราภาพสูงขึ้น วันนี้เรามาช่วยกันหาข้อเท็จจริงของความนัยดังกล่าว แต่เพื่อประโยชน์ในการหาข้อเท็จจริงและการวิเคราะห์ เรามาทำความเข้าใจร่วมกันก่อนว่า ระบบประกันรายได้ยามชราภาพคืออะไร ทำไมต้องมี เราเริ่มมีตั้งแต่เมื่อใด ปัจจุบันเป็นอย่างไร คำเฉพาะ (Technical Terms) ต่าง ๆ ที่ใช้ในวงการนี้หมายถึงอะไร แล้วจึงมาวิเคราะห์ว่ารายได้ยามชราภาพของข้าราชการบำนาญน้อยไปจนต้องปรับปรุงระบบประกันรายได้ยามชราภาพของข้าราชการจริงหรือ
2. ระบบประกันรายได้ยามชราภาพ กับ รายได้ยามชราภาพของข้าราชการ
2.1 ในทางบริหารรัฐกิจ “ระบบประกันรายได้ยามชราภาพ” (Old Age Income Security) คือ การจัดสวัสดิการทางสังคม (Social Welfare) รูปแบบหนึ่งที่รัฐเป็น “ผู้ดำเนินการ” หรือ “ผู้จัดให้มีการดำเนินการ” ขึ้นเพื่อบรรเทาความยากจนในหมู่ผู้สูงวัย และเป็นหลักประกันการดำรงชีพให้อยู่รอดได้ของผู้สูงวัย โดยวิธีการ
2.1.1 ลดค่าใช้จ่ายเพื่อการบริโภคในวัยทำงาน เพื่อออมไปใช้ในวัยพ้นงานและ/หรือว่างงาน
2.1.2 กระจายรายได้จากผู้มีรายได้สูงไปให้ผู้มีรายได้ต่ำหรือผู้ยากไร้ และ
2.1.3 ประกันความเสี่ยงของความพอเพียงของรายได้ในอนาคตอันเนื่องจากสุขภาพที่ดี (อายุยืนทำให้ระยะเวลาการใช้เงินที่สะสมหรือออมนานขึ้น) และไม่ดี (เจ็บป่วย ทุพพลภาพทำให้ระยะเวลาทำงานสั้นลง) อัตราเงินเฟ้อ ความผันผวนทางเศรษฐกิจ ฯลฯ
แต่ในทางบริหารวิสาหกิจ (กิจการ) “ระบบประกันรายได้ยามชราภาพ” เป็นส่วนหนึ่งของระบบค่าตอบแทน ที่นายจ้างใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารทรัพยากรบุคคลเพื่อดึงดูดและรักษาคนที่ “ใช่” ไว้ในองค์กร สำหรับสัดส่วน (Pay Mix) ของค่าตอบแทนที่เป็นตัวเงิน (เงินเดือน เงินเพิ่ม ฯลฯ) และค่าตอบแทนที่ไม่เป็นตัวเงิน (ค่ารักษาพยาบาล รถประจำตำแหน่ง บำเหน็จบำนาญ ฯลฯ) ที่เหมาะสมขึ้นอยู่กับกลุ่มเป้าหมายของการสรรหาและรักษาไว้
2.2 “รายได้ยามชราภาพของข้าราชการ” หมายถึง รายได้ทั้งที่เป็นตัวเงินและไม่เป็นตัวเงินที่ข้าราชการได้รับเมื่อพ้นจากราชการด้วยเหตุทดแทน เหตุทุพพลภาพ เหตุสูงอายุ และเหตุรับราชการนาน และหมายความรวมถึงบำเหน็จตกทอดและบำนาญตกทอดที่ทายาทได้รับเมื่อข้าราชการหรือผู้รับบำนาญเสียชีวิต ตลอดจนค่ารักษาพยาบาลด้วย
ตัวอย่างของรายได้ที่เป็นตัวเงิน เช่น เบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ บำเหน็จดำรงชีพ บำเหน็จตกทอด บำนาญตกทอด เงินจากกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ เป็นต้น ส่วนตัวอย่างของรายได้ที่ไม่เป็นตัวเงิน เช่น เงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลของผู้รับบำนาญ คู่สมรส และบุตร
2.3 “ระบบประกันรายได้ยามชราภาพของข้าราชการ” ในที่นี้ จึงหมายถึง ระบบบำเหน็จบำนาญข้าราชการและระบบกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ตลอดจนสวัสดิการต่าง ๆ ที่รัฐจัดขึ้นเพื่อเป็นหลักประกันรายได้และการดำรงชีพให้กับผู้พ้นจากราชการด้วยเหตุทดแทนเหตุทุพพลภาพ เหตุสูงอายุ และเหตุรับราชการนาน
2.4 ในการเปรียบเทียบความมากน้อยของรายได้ยามชราภาพของคนในต่างสังคม/ประเทศ เราไม่อาจนำมูลค่า (จำนวนเงินบาท ดอลล่าร์ ยูโร เยน ฯลฯ ) มาเปรียบเทียบกันได้โดยตรง เพราะนอกจากหน่วยของเงินที่ต่างกันแล้ว คนในต่างสังคม/ประเทศมีวิถีชีวิต ค่าครองชีพ ฯลฯ ที่แตกต่างกันด้วย ในทางปฏิบัติ เราจึงเปรียบเทียบความพยายามรักษาวิถีชีวิตของบุคคลคนเดียวกัน แต่ต่างเวลา คือ ก่อนและหลังเกษียณ โดย สัดส่วนของรายได้หลังเกษียณ (ยามชราภาพ) ต่อรายได้ก่อนเกษียณ หรือ “รายได้ทดแทน” (Replacement Rate)
นอกจากนี้ ในการเปรียบเทียบ เรายังใช้ “ตัวคูณบำนาญ” (Accrual Rate) ซึ่งเท่ากับ หนึ่งส่วนตัวหารบำนาญ ด้วย ตามสูตรบำนาญปัจจุบัน ตัวคูณบำนาญเท่ากับ 1/50 หรือ ร้อยละ 2 ของเงินเดือนเฉลี่ยหกสิบเดือนสุดท้ายคูณอายุราชการ แต่มีผู้ขอแก้ไขตัวคูณบำนาญ เป็น 1/30 หรือร้อยละ 3.33 ของเงินเดือน เดือนสุดท้ายคูณอายุราชการ เพื่อให้ได้บำนาญสูงขึ้น
3. เหตุผลที่ต้องมีระบบประกันรายได้ยามชราภาพ
3.1 ในเส้นทางการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของทุกประเทศ ย่อมมีคนกลุ่มหนึ่งที่ก้าวตามคนกลุ่มอื่นไม่ทัน กลายเป็นคนยากจนซ้ำซากหรือยากจนตลอดชีวิต ถ้ารัฐไม่ดูแลช่วยเหลือ คนกลุ่มนั้นก็อาจก่อปัญหาสังคม เช่น อาชญากรรม เพื่อความอยู่รอดของตนและคนที่ตนรัก อารยประเทศจึงถือเป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องสร้างตาข่ายทางสังคม (Social Safety Net) เพื่อรองรับผู้ยากจนซ้ำซาก/ตลอดชีวิต อย่างน้อยพอให้อยู่รอดได้ หลักการนี้เป็นที่ยอมรับของอารยประเทศที่รัฐต้องสร้างสภาพแวดล้อมให้คนอยู่เย็นเป็นสุข กินอิ่มนอนอุ่น ดังปรากฏในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human rights) ของสหประชาชาติ ข้อ 25 (1) “ทุกคนมีสิทธิในมาตรฐานการครองชีพที่เพียงพอสำหรับสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของตนและครอบครัว รวมทั้งอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และการดูแลรักษาโรคและบริการสังคมที่จำเป็น และมีสิทธิในหลักประกันยามว่างงาน เจ็บป่วย พิการ หม้าย วัยชรา หรือกรณีอื่นที่ทำให้ขาดแคลนปัจจัยที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ อันเนื่องจากสภาวะแวดล้อมที่นอกเหนือการควบคุมของตน” (United Nation, 1948)
3.2 ไทยเรารับหลักการดังกล่าวมาดังปรากฏในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 48 วรรคสอง “บุคคลซึ่งมีอายุเกินหกสิบปีและไม่มีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพ และบุคคลผู้ยากไร้ย่อมมีสิทธิได้รับความช่วยเหลือที่เหมาะสมจากรัฐตามที่กฎหมายบัญญัติ” และ มาตรา 74 “รัฐพึงส่งเสริมให้ประชาชนมีความสามารถในการทำงานอย่างเหมาะสมกับศักยภาพและวัยและให้มีงานทำ และพึงคุ้มครองผู้ใช้แรงงานให้ได้รับความปลอดภัยและมีสุขอนามัยที่ดีในการทำงาน ได้รับรายได้ สวัสดิการ การประกันสังคม และสิทธิประโยชน์อื่น ที่เหมาะสมแก่การดำรงชีพ และพึงจัดให้มีหรือส่งเสริมการออมเพื่อการดำรงชีพเมื่อพ้นวัยทำงาน” (โปรดสังเกตการใช้คำที่ต่างกัน “ช่วยเหลือ” กับ “ส่งเสริม” ในมาตรา 48 และ 74)
4.ระบบประกันรายได้ยามชราภาพของข้าราชการ
4.1 ระบบประกันรายได้ยามชราภาพของข้าราชการเริ่มมีขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2444 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พระราชบัญญัติเบี้ยบำนาญ ร.ศ. 120) เรียกว่า ระบบบำเหน็จบำนาญข้าราชการ โดยมีสูตร ดังนี้ (มาตรา 20)
บำเหน็จ = เงินเดือนเดือนหลังที่สุด คูณ จำนวนปีที่รับราชการ
บำนาญ = เงินเดือนปานกลาง (เงินเดือนเฉลี่ย 5 ปีสุดท้าย) คูณ จำนวนปีที่รับราชการ หาร 60
โดยบำนาญที่ได้รับต้องไม่เกินกึ่งหนึ่งของเงินเดือนปานกลาง (มาตรา 21)
ทั้งนี้ การรับบำเหน็จบำนาญเกิดจาก 4 เหตุ (กรณี) คือ เหตุทดแทน เหตุทุพพลภาพ เหตุสูงอายุ และเหตุรับราชการนาน (มาตรา 12) โดยเหตุทดแทนหมายถึงการออกจากราชการด้วยเหตุอันเกิดจากทางราชการ เช่น การยุบเลิกตำแหน่ง (มาตรา 13) เหตุสูงอายุหมายถึงการออกจากราชการของผู้มีอายุ “55” ปีขึ้นไป (มาตรา 16) และเหตุรับราชการนานหมายถึงการออกจากราชการของผู้มีอายุราชการตั้งแต่ “30” ปีขึ้นไป (มาตรา 17) นอกจากนี้ ยังมี “บำนาญพิเศษ” (มาตรา 29) ที่ให้แก่ผู้ทุพพลภาพด้วยเหตุจากการทำราชการ และ “บำนาญตกทอด” ในอัตราไม่เกินกึ่งหนึ่งของเงินเดือนผู้ตาย (มาตรา 31) ตลอดจน “บำเหน็จตกทอด” (มาตรา 34) ที่ให้แก่ทายาทของข้าราชการผู้เสียชีวิตระหว่างรับราชการด้วย
4.2 ปัจจุบัน ระบบประกันรายได้ยามชราภาพของข้าราชการส่วนใหญ่เป็นระบบผสมผสานมีทั้งระบบ กบข. และระบบบำเหน็จบำนาญ โดยในส่วนของระบบ กบข. ผู้พ้นจากราชการจะได้รับเงินสะสม (ไม่น้อยกว่าร้อยละ 3 ของเงินเดือน) เงินสมทบ (ร้อยละ 3 ของเงินเดือน) และดอกผลของเงินสะสมและสมทบจาก กบข.
สำหรับบำเหน็จบำนาญมีสูตร ดังนี้ (พระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2539)
บำเหน็จ = เงินเดือนเดือนสุดท้าย คูณ อายุราชการ (มาตรา 62)
บำนาญ = เงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย คูณอายุราชการ หาร 50 (มาตรา 63)
ทั้งนี้ บำนาญต้องไม่เกินร้อยละ 70 ของเงินเดือนเฉลี่ยดังกล่าว
พระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญ พ.ศ. 2494 ยังคงบัญญัติให้ข้าราชการมีสิทธิรับบำเหน็จบำนาญ4 เหตุ (กรณี) เช่นเดียวกับสมัยรัชกาลที่ 5 คือ เหตุทดแทน เหตุทุพพลภาพ เหตุสูงอายุ และเหตุรับราชการนาน (มาตรา 9) นอกจากนี้ ยังมีบำเหน็จตกทอดและบำนาญพิเศษด้วย โดยทายาทของข้าราชการผู้เสียชีวิตระหว่างรับราชการและทายาทของข้าราชการบำนาญผู้เสียชีวิต จะได้บำเหน็จตกทอด (มาตรา 48 และ 49) ส่วนบำนาญพิเศษนั้น ให้แก่ข้าราชการผู้ได้รับอันตรายจนพิการและไม่สามารถรับราชการต่อไปได้ ทั้งนี้เพราะเหตุปฏิบัติราชการในหน้าที่หรือกระทำการตามหน้าที่ (มาตรา 37) และให้แก่ทายาทของข้าราชการผู้เสียชีวิตเพราะเหตุปฏิบัติราชการในหน้าที่หรือกระทำการตามหน้าที่ (มาตรา 41)
นอกจากเงิน กบข. และบำเหน็จบำนาญแล้ว ข้าราชการบำนาญยังได้รับสวัสดิการจากราชการ เช่น เงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล และเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ เป็นต้น
เป็นที่น่าสังเกตว่า ในขณะที่อายุคาดเฉลี่ยเมื่อแรกเกิดสมัยรัชกาลที่ 5 (พ.ศ. 2452) คือ 37.3 ปี (ปราโมทย์ ประสาทกุล และปัทมา ว่าพัฒนวงศ์, 2553, หน้า 18) น้อยกว่าอายุคาดเฉลี่ยฯ ของชายและหญิงปัจจุบัน คือ 72.2 และ 78.9 ปี (สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล, 2561, หน้า 1) แต่สิทธิการรับบำเหน็จบำนาญในปัจจุบันกลับเกิดเร็วกว่า กล่าวคือ อายุราชการ 25 ปี (เดิม 30 ปี) ก็มีสิทธิแล้ว นอกจากนี้ บำนาญปัจจุบันก็ยังได้มากกว่าด้วย (ตัวคูณบำนาญร้อยละ 2 เดิมร้อยละ 1.67)
5. ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับรายได้ยามชราภาพของข้าราชการ
เพื่อความเป็นธรรมปราศจากอคติ เราจึงควรหาข้อเท็จจริงเชิงเปรียบเทียบจาก 3 แง่มุม คือ(ก) การเปรียบเทียบระหว่างรายได้กับรายจ่ายหลังเกษียณของข้าราชการบำนาญ (ข) มาตรฐานสากลสำหรับคนงานทั่วไป โดยการเปรียบเทียบรายได้ทดแทนของข้าราชการบำนาญไทยกับรายได้ทดแทนขั้นต่ำขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labor Organization – ILO) และ (ค) มาตรฐานสำหรับข้าราชการด้วยกัน โดยการเปรียบเทียบระหว่างรายได้ทดแทนและตัวคูณบำนาญของข้าราชการไทยกับข้าราชการกลุ่มประเทศสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Organization for Economic Cooperation and Development – OECD) ทั้งนี้ เพื่อหาข้อสรุปว่า “น้อย” ไม่พอ หมายถึง น้อยจนไม่พอ “อยู่รอด” “อยู่ได้” “อยู่ดี” หรือ “อยู่สุขสบาย”
5.1 รายได้กับรายจ่ายหลังเกษียณของข้าราชการบำนาญ จากการศึกษาพฤติกรรมการใช้จ่ายของข้าราชการผู้เป็นสมาชิก กบข. (อายุ 55 – 59 ปี) และข้าราชการบำนาญผู้เคยเป็นสมาชิก กบข. (60 ปีขึ้นไป) ของศูนย์บริการวิชาการและฝึกอบรมคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่า โดยเฉลี่ย (มัธยฐาน) รายได้ยามชราภาพรวม (บำนาญและเงิน กบข.) ของข้าราชการทุกกลุ่มอายุเพียงพอต่อการใช้จ่ายหลังเกษียณ (2560, หน้า 14)
5.2 รายได้ทดแทนตามมาตรฐาน ILO เพียงเงินบำนาญ (ไม่รวมเงิน กบข.) ก็สูงกว่ามาตรฐานขั้นต่ำร้อยละ 40 ของ ILO (ILO Social Security (Minimum Standards) Convention 1952, No. 102) กล่าวคือ ผู้ออกจากราชการที่มีอายุราชการ 35 ปี จะได้รับบำนาญประมาณร้อยละ 63 – 65 ของเงินเดือน เดือนสุดท้าย (สมมุติฐาน คือ เงินเดือนแรกบรรจุวุฒิตามวุฒิ ปริญญาโท 17,500 บาท ปริญญาตรี 15,000 บาท ปวส. 11,500 บาท และ ปวช. 9,400 บาท และเงินเดือนขึ้นเฉลี่ยต่อปีร้อยละ 4 ถึง 6)
5.3 รายได้ทดแทนและตัวคูณบำนาญของไทยกับกลุ่มประเทศสมาชิก OECD
5.3.1 รายได้ทดแทน (บำนาญบวกเงิน กบข.*) ของข้าราชการบำนาญไทยผู้มีอายุราชการ35 ปี จะเท่ากับร้อยละ 77 – 85 ของเงินเดือนเดือนสุดท้ายก่อนเกษียณ ซึ่งสูงกว่ารายได้ทดแทนเฉลี่ยร้อยละ 75 ของข้าราชการอีก 15 ประเทศในกลุ่ม OECD (Robert Palacios and Edward Whitehouse, 2006, p. 16)
5.3.2 ตัวคูณบำนาญ (Accrual Rate) ในสูตรบำนาญของไทยเท่ากับ 2.0 สูงเป็นอันดับ 3 เป็นรองเพียงอิตาลีและสหราชอาณาจักรเท่านั้น
เปรียบเทียบตัวคูณบำนาญข้าราชการไทยกับข้าราชการกลุ่มประเทศสมาชิก OECD(หน่วย : ร้อยละ)
ประเทศ
ตัวคูณบำนาญ
ประเทศ
ตัวคูณบำนาญ
อิตาลี @
2.36
กรีซ @
1.714
สหราชอาณาจักร
2.32
เกาหลีใต้ %
1.9 à1.7
โปรตุเกส @
2.0
เบลเยี่ยม
1.67
ไทย
2.0
เดนมาร์ก
1.54
ลักเซมเบิร์ก @ !
1.8 – 2.08
นอร์เวย์
1.5
ไอซ์แลนด์
1.9
ฝรั่งเศส
1.40 + 0.08
ฟินแลนด์ #
1.5 – 4.5
แคนาดา
1.375
เยอรมัน
1.79
สวีเดน
0.95
แหล่งข้อมูล: OECD, 2016, Pension Outlook 2016, p. 162 ยกเว้นข้อมูลตัวคูณบำนาญไทย
@ ตัวคูณบำนาญที่ใช้กับข้าราชการผู้บรรจุก่อนมีการเปลี่ยนแปลงระบบบำนาญข้าราชการ
! ตัวคูณบำนาญลักเซมเบิร์กเฉลี่ย 1.921 สำหรับผู้เริ่มทำงานอายุตั้งแต่อายุ 20 ปีจนถึงเกษียณ Pensions at a Glance 2013: Country Profiles – Luxembourg (https://www.oecd.org/els/public-pensions/PAG2013-profile-Luxembourg.pdf [1] สืบค้นเมื่อ 24 กันยายน 2561)
# ตัวคูณบำนาญฟินแลนด์ตามช่วงอายุ ดังนี้ 18 – 52 ปี คือ 1.5; 53 – 62 ปี คือ 1.9; และ 63 – 67 ปี คือ 4.5 Pensions at a Glance 2013: Country Profiles – Finland (https://www.oecd.org/els/public-pensions/PAG2013-profile-Finland.pdf [2] สืบค้นเมื่อ 24 กันยายน 2561) เฉลี่ย 1.896 สำหรับผู้เริ่มทำงานอายุตั้งแต่อายุ 20 ปี
% ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 ตัวคูณบำนาญของเกาหลีถูกปรับลดจากร้อยละ 1.9 เป็นร้อยละ 1.7
6. การพิจารณาวิเคราะห์
จากข้อเท็จจริงข้างต้น เรามาช่วยกันวิเคราะห์ว่า ถ้าเราอยู่ในสถานะหนึ่งใดของ 4 สถานะนี้ คือ(ก) ข้าราชการบำนาญ (ข) รัฐในฐานะนายจ้าง (ค) รัฐในฐานะรัฐ และ (ง) ประชาชนผู้เสียภาษี เราจะปรับปรุงระบบประกันรายได้ยามชราภาพของข้าราชการหรือไม่ ด้วยเหตุผลใด
6.1 ข้าราชการและข้าราชการบำนาญ (รวมผู้เขียน) ย่อมปรารถนาชีวิตหลังเกษียณที่ดีกว่าหรืออย่างน้อยใกล้เคียงกับชีวิตก่อนเกษียณ และโดยที่กว่าร้อยละ 90 ของรายได้หลังเกษียณมาจากบำนาญ (ศูนย์บริการวิชาการและฝึกอบรมคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี, 2560, หน้า 13) จึงเป็นเรื่องปกติที่ข้าราชการส่วนหนึ่งจะรู้สึกว่าบำนาญน้อยไปและต้องการให้ปรับบำนาญสูงขึ้น แต่จากข้อเท็จจริงข้างต้นจะเห็นได้ว่า การเรียกร้องให้ปรับสูตรบำนาญหรือเปลี่ยนบำเหน็จตกทอดของ “ทายาท”เป็น บำเหน็จดำรงชีพของ “ตน” เป็นการเรียกร้องเพื่อยกระดับรายได้ยามชราภาพของข้าราชการจาก “อยู่ได้” เป็น “อยู่ดี” หรือ “อยู่สุขสบาย” โดยไม่สนใจสิ่งที่เกิดขึ้นกับทายาทหลังตนพ้นโลกไปแล้ว
6.2 รัฐในฐานะ “นายจ้าง” เนื่องจากรายได้ยามชราภาพเป็นส่วนหนึ่งค่าตอบแทน (Pay) ซึ่งรัฐในฐานะ “นายจ้าง” ใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารทรัพยากรบุคคล ดังนั้น ในทัศนะของนายจ้าง “ความพอเพียง” จึงหมายถึง ความพอเพียงของค่าตอบแทน (Total Pay and Pay Mix) ในการดึงดูดและรักษาคนเก่งและดีไว้ในระบบราชการ ในประเด็นนี้ ถ้าพิจารณาจาก
6.2.1 จำนวนผู้สมัครสอบภาคความรู้ความสามารถทั่วไป ประจำปี พ.ศ. 2561 ของสำนักงาน ก.พ. ซึ่งมีจำนวนสูงถึง 449,776 คน (ศูนย์สรรหาและเลือกสรร สำนักงาน ก.พ., 2561)
6.2.2 รายงานผลการศึกษาความสนใจในการประกอบอาชีพของคนรุ่นใหม่ ที่สำนักงาน ก.พ. สำรวจจากนักศึกษาชั้นปีสุดท้ายของมหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชน (ศูนย์สรรหาและเลือกสรร สำนักงาน ก.พ., 2559) พบว่า คนรุ่นใหม่
1) สนใจประกอบธุรกิจส่วนตัวหรืออาชีพอิสระมากสุด คือ ร้อยละ 38.3 รองลงมา คือรับราชการ ร้อยละ 30.5 และทำงานภาคเอกชน ร้อยละ 13.5 และ
2) ปัจจัยที่มีผลต่อการเลือกอาชีพที่สุด 5 อันดับแรก คือ เงินเดือน ความก้าวหน้าในอาชีพ ลักษณะงาน ความมั่นคง และสวัสดิการ
ุ6.2.3 สารนิพนธ์ เรื่อง ทัศนคติของคนรุ่น Gen Y ต่อการทำงานในระบบราชการ ของ พรรณวดี สถิตถาวร และประจวบ เพิ่มสุวรรณ พบว่า คน Gen Y ต้องการงานที่มีเงินเดือนมากที่สุด ต้องการแสดงความสามารถอยางเต็มที่ และชอบทำงานท้าทาย (2010)
แล้ว จะเห็นได้ว่าจำนวนผู้สมัครสอบฯ มีมากกว่าจำนวนตำแหน่งว่างมาก และสัดส่วนผู้สนใจรับราชการร้อยละ 30.5 ก็สูงกว่าสัดส่วนการจ้างงานภาครัฐต่อการจ้างงานในประเทศที่เท่ากับ 9.1 (สำนักงานสถิติแห่งชาติ, 2559, หน้า 13) ดังนั้น เพื่อตอบสนองต่อปัจจัยการเลือกอาชีพของคนรุ่นใหม่ รัฐในฐานะ “นายจ้าง” ควรปรับเพิ่มรายได้ปัจจุบันหรือเงินเดือน ปรับปรุงทางก้าวหน้าในอาชีพและลักษณะงาน มากกว่าปรับเพิ่มรายได้อนาคต (บำนาญ)
6.3 รัฐในฐานะ “รัฐ” รัฐในอุดมคติปรารถนาให้ประชาชนทุกหมู่เหล่ามีความเป็นอยู่ “สุขสบาย” แต่ด้วยข้อจำกัดทางทรัพยากร ประกอบกับค่าใช้จ่ายของรัฐมาจากภาษีอากรที่เก็บจากประชากรทุกคน รัฐจึงไม่สามารถช่วย “ทุกคน” ให้มีความเป็นอยู่ “สุขสบาย” และไม่สามารถช่วย “เฉพาะคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง” ไม่ว่า เด็ก ผู้ใช้แรงงาน สตรีมีครรภ์ คนป่วย คนพิการ หรือคนชรา เพราะถ้าทุ่มให้คนกลุ่มหนึ่งเป็นการเฉพาะ คนกลุ่มอื่นก็จะไม่ได้หรือได้รับความช่วยเหลือน้อยลง อีกทั้งการช่วยเพียงอย่างเดียว เปรียบเสมือน “การให้ปลา โดยไม่สอนให้ตกปลา” เป็นการบ่อนทำลายขีดความสามารถในการแข่งขันในระยะยาวของประเทศ ด้วยเหตุนี้ บทบาทของรัฐที่เกี่ยวกับรายได้ยามชราภาพ คือ การช่วยเหลือพอให้ “อยู่รอด” หรือ “อยู่ได้” ส่วนการ “อยู่ดี” หรือ “อยู่สุขสบาย” เป็นหน้าที่ของแต่ละบุคคล รัฐมีบทบาทเพียงแค่ส่งเสริม ซึ่งสอดคล้องกับเจตนารมณ์ (ถ้อยคำ) ของรัฐธรรมนูญ
6.3.1 จากข้อเท็จจริงข้างต้น รัฐในฐานะ “รัฐ” จึงไม่มีเหตุผลที่นำภาษีอากรที่เก็บจากคนทั้งประเทศมา “ช่วย” ยกระดับรายได้ยามชราภาพของข้าราชการให้สูงขึ้น แต่รัฐควร “ส่งเสริม” ให้ข้าราชการออมระหว่างรับราชการเพื่อการใช้จ่ายหลังเกษียณ
6.3.2 อย่างไรก็ตาม นอกจากมิติด้านความพอเพียงแล้ว รัฐในฐานะ “รัฐ” มีหน้าที่กำกับดูแลระบบรายได้ยามชราภาพในมิติอื่น ๆ ได้แก่ ความครอบคลุม ความยั่งยืน ผลกระทบต่อการจ้างงานและระบบเศรษฐกิจ
1) ความครอบคลุม ถ้ามองในภาพรวมของประเทศ ระบบประกันรายได้ยามชราภาพยังไม่ครอบคลุม เพราะจากการประมาณการของวรเวศม์ สุวรรณระดา และวรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ พบว่ายังมีคนขาดหลักประกันรายได้ยามชราภาพอีกร้อยละ 69 หรือ 25 ล้านคนจากผู้มีงานทำ 36.25 ล้านคน (2553, หน้า 43) ซึ่งเป็นตัวเลขที่ใกล้เคียงกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยที่ประมาณว่า “ร้อยละ 73 ของประชากรยังไม่มีสวัสดิการในด้านหลักประกันรายได้สำหรับการเข้าสู่วัยสูงอายุ” (2558, หน้า 1) และแม้ว่ารัฐบาลจะได้ตั้งกองทุนการออมแห่งชาติสำหรับภาคประชาชน แต่จำนวนสมาชิกก็ยังมีน้อยมากเมื่อเทียบกับผู้ยังขาดหลักประกันฯ 25 ล้านคนข้างต้น โดย ณ 31 ธันวาคม 2559 กองทุนฯ มีสมาชิกเพียง 518,178 คน (กองทุนการออมแห่งชาติ, 2559, หน้า 24)
แต่ถ้าพิจารณาเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ ระบบประกันรายได้ยามชราภาพครอบคลุมเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกประเภท เพียงแต่ยังมีความลักลั่นแตกต่างกันมาก เช่น
ข้าราชการในราชการบริหารส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เป็นระบบแบบผสมผสาน คือ มีทั้งระบบบำเหน็จบำนาญและระบบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ)
ข้าราชการในราชการบริหารส่วนท้องถิ่น เป็นระบบบำเหน็จบำนาญอย่างเดียว
พนักงานราชการ เป็นระบบบำนาญชราภาพของกองทุนประกันสังคม
พนักงานองค์การมหาชน เป็นระบบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
พนักงานรัฐวิสาหกิจ เป็นระบบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เป็นต้น
2) ความยั่งยืน ระบบบำเหน็จบำนาญข้าราชการแม้มีข้อเด่นที่ข้าราชการไม่ต้องรับผิดชอบหาเงินมาจ่ายบำเหน็จบำนาญในส่วนของตน แต่ก็มีข้อด้อยเนื่องจากเป็นระบบที่ไม่มีเงินทุนหนุนหลัง (Unfunded Pension System) รายจ่ายบำเหน็จบำนาญเป็นการตั้งงบประมาณปีต่อปี เป็นระบบที่ผลักภาระค่าใช้จ่ายให้กับคนรุ่นหลัง แม้ว่าข้าราชการรุ่นนี้ไม่ต้องรับผิดชอบรายจ่ายบำเหน็จบำนาญในส่วนของตน แต่ต้องรับผิดชอบบำเหน็จบำนาญของรุ่นพ่อรุ่นปู่ ระบบเช่นนี้จะยั่งยืนได้ต่อเมื่อการขยายตัวของคนวัยทำงาน (ข้าราชการ) สูงกว่าการขยายตัวของคนพ้นวัยทำงาน (ข้าราชการบำนาญ) แต่ภายใต้สังคมสูงวัยและนโยบายควบคุมขนาดกำลังคนภาครัฐในปัจจุบัน ระบบนี้จะไม่สามารถคงอยู่ได้ เว้นแต่อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงมากเป็นพิเศษและสูงอย่างต่อเนื่อง
แนวโน้มของรายจ่ายบำเหน็จบำนาญต่อค่าใช้จ่ายด้านบุคคภาครัฐ (ร้อยละ)
หมายเหตุ: 1. ข้อมูลปี 2537 - 2560 เป็นตัวเลขรายจ่ายที่เบิกจ่ายจริง จาก กรมบัญชีกลาง, สถิติการคลัง พ.ศ. 2541, 2542, 2547, 2548 - 2552, 25602. ข้อมูลปี 2561 - 2575 เป็นตัวเลขประมาณการโดยผู้เขียน
แนวโน้มบำนาญกลืนเงินเดือนได้เกิดขึ้นแล้ว เห็นได้จากอัตราส่วนของบำเหน็จบำนาญต่อค่าใช้จ่ายด้านบุคคลภาครัฐที่เพิ่มจากร้อยละ 7.7 ในปี 2538 เป็น ร้อยละ 22.6 ในปี 2560 (กรมบัญชีกลาง, 2537, . . . 2560) และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เป็นร้อยละ 40 ในอีก 15 ปีข้างหน้า
เมื่อนำรายจ่ายของข้าราชการข้างต้นมารวมกับรายจ่ายสำหรับคนสูงวัยทั้งประเทศพบว่า “ภาระทางการคลังจากการจัดสวัสดิการด้านการชราภาพจะเพิ่มสูงขึ้นจาก 250,875 ล้านบาทในปีงบประมาณ พ.ศ. 2556 เป็น 1,187,824 ล้านบาทในปีงบประมาณ พ.ศ. 2576 และมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 8.1 โดยระบบสวัสดิการที่มีภาระทางการคลังสูงสุด ได้แก่ ระบบบำเหน็จบำนาญของข้าราชการ . . .” (วุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล และคณะ, 2555, หน้า 5-20) และประมาณว่า ระหว่างปี พ.ศ. 2557 – 2576 เศรษฐกิจไทยจะต้องขยายตัวในอัตราที่แท้จริงร้อยละ 4.5 ต่อปี รัฐจึงจะสามารถแบกรับภาระค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการด้านชราภาพ ด้านรักษาพยาบาล และด้านการศึกษาของประเทศได้ (วุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล และคณะ, 2555, หน้า 5-2 – 5-7)
ผลกระทบต่อการจ้างงานและระบบเศรษฐกิจ ระบบประกันรายได้ยามชราภาพของข้าราชการส่งกระทบทางลบต่อการจ้างงานและระบบเศรษฐกิจหลายประการ ดังนี้
ระบบประกันรายได้ยามชราภาพของข้าราชการเป็นอุปสรรคต่อการเคลื่อนย้ายกำลังคนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน เนื่องจากระบบฯ ถูกออกแบบในบริบทของการจ้างงานตลอดชีพ (Lifetime Employment) ระบบการบริหารทรัพยากรบุคคลภาคราชการจึงเป็นระบบปิด (Closed System) โดยกลุ่มเป้าหมายหลักของการสรรหา คือ ผู้สำเร็จการศึกษาใหม่ ไม่ใช่คนวัยกลางคน (Mid-Career) ดังนั้น ระบบประกันรายได้ยามชราภาพของข้าราชการจึงไม่เอื้อต่อการเคลื่อนย้ายกำลังคนระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน การออกจากราชการก่อนเวลาอันควร (อายุราชการ < 25 ปี หรือ อายุ < 50 ปี) จึงถูกลงโทษโดยการไม่ให้สิทธิประโยชน์ยามชราภาพ เช่น ไม่ให้โอนอายุราชการไปนับต่อเป็นระยะเวลาประกันตนในระบบกองทุนประกันสังคม ไม่สามารถโอนเงินบำเหน็จและ/หรือเงินในระบบ กบข. ไปสู่ระบบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของสถานประกอบการภาคเอกชน เป็นต้น ส่วนพนักงานภาคเอกชนที่ประสงค์จะลาออกมารับราชการ ก็ไม่สามารถโอนเวลาทำงานในภาคเอกชนมานับต่อในภาคราชการ และไม่สามารถโอนเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมาเข้าสู่ระบบ กบข. ได้
ผลที่ตามมา คือ การออมเพื่อการใช้จ่ายยามสูงวัยจึงขาดความต่อเนื่อง โดยเฉพาะสำหรับคนที่ประสงค์จะเปลี่ยนงานระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน
ระบบประกันรายได้ยามชราภาพของข้าราชการส่งเสริมให้ข้าราชการออกจากตลาดแรงงานที่เป็นทางการ (Formal Sector) ก่อนวัยอันควรหรือก่อนหมดศักยภาพการทำงาน กล่าวคือ ข้าราชการผู้มีอายุราชการเพียง 25 ปีหรือผู้มีอายุตัว 50 ปีก็มีสิทธิรับบำเหน็จบำนาญแล้ว ทั้ง ๆ ที่ตามประมาณการของ World Health Organization ประชากรไทยยังมีสุขภาพดีและทำงานได้ (Healthy Life Expectancy at Birth) ถึงอายุ 66.8 ปี (2018, p. 66) ซึ่งหมายความว่าเราจูงใจให้ข้าราชการออกจากตลาดแรงงานที่เป็นทางการล่วงหน้าเกือบ 17 ·ปี หรือมากกว่านั้น เพราะ “จากหลักฐานของประเทศที่กำลังพัฒนาทั้งหลาย พบว่า ข้าราชการมีอายุขัยเฉลี่ยยืนยาวกว่าประชากรกลุ่มอื่น ๆ” (Robert Palacios and Edward Whitehouse, 2006, p. 12) การให้สิทธิรับบำเหน็จบำนาญเหตุสูงอายุที่ 50 ปี เท่ากับมาเลเซียและอินโดนีเซีย นับเป็นเกณฑ์อายุรับบำเหน็จบำนาญที่ต่ำสุดในหมู่ข้าราชการของทุกประเทศ (Robert Palacios and Edward Whitehouse, 2006, p. 14 – 15)
การปรับสูตรบำนาญโดยเปลี่ยนตัวหารจาก 50 เป็น 30 ตามข้อเสนอของข้าราชการบำนาญกลุ่มหนึ่ง จะเป็นตัวเร่งให้ข้าราชการออกจากราชการก่อนวัยอันควร เพราะผู้เริ่มรับราชการที่อายุ 20-24 ปี และมีอายุราชการ 30 ปี นอกจากจะได้รับบำนาญเร็วแล้ว ยังได้บำนาญเท่าอัตราเงินเดือนด้วย อันจะส่งผลให้ข้าราชการผู้อยู่ในวัย 50 ต้น ๆ ที่ยังรับราชการอยู่ไม่มีขวัญกำลังใจทำงาน เพราะเพื่อนข้าราชการผู้ออกจากราชการเหตุสูงอายุและไม่ได้ทำงานกลับได้รับบำนาญในมูลค่าที่ใกล้เคียงกับเงินเดือนของตน
ระบบประกันรายได้ยามชราภาพของข้าราชการทำให้เกิดการกระจายรายได้ที่ไม่เป็นธรรม เพราะระบบบำเหน็จบำนาญของไทยให้สิทธิข้าราชการผู้มีอายุราชการ 10 ปีขึ้นไป ที่ออกจากราชการเหตุทดแทน (เลิกจ้าง) มีสิทธิรับบำนาญ การ “เกิด” สิทธิรับบำนาญสำหรับผู้ออกราชการเหตุทดแทนเป็นสิ่งที่ดี แต่ไม่ควร “ให้” สิทธิรับบำนาญทันที ควรแขวนสิทธิรับบำนาญเหตุทดแทน (Suspended Pension) นั้นไว้ รอจนผู้นั้นพ้นวัยทำงานจึงให้รับได้ เช่น ถ้านายบุญมีเริ่มเข้ารับราชการอายุ 20 ปี แล้วต่อมาอีก 10 ปี ออกจากราชการเหตุทดแทนเพื่อไปทำงานในรัฐวิสาหกิจหรือองค์การมหาชนซึ่งมีค่าตอบแทนมากกว่า หลังจากนั้นอีก 1 ปี ก็ไปทำงานภาคเอกชนที่ให้ค่าตอบแทนสูงขึ้นไปอีก เราจะต้องจ่ายบำนาญให้นายบุญมีที่มีรายได้สูงกว่าเพื่อนข้าราชการด้วยกันถึง 48 ปี (บุญมีบุญหายตอนอายุ 78 ปี) ทั้ง ๆ ที่เขารับราชการเพียง 10 ปี เราเอาภาษีที่เก็บจากคนส่วนใหญ่ซึ่งหลายคนเป็นคนจนกว่านายบุญมีมากไปช่วยนายบุญมี
4) ระบบประกันรายได้ยามชราภาพของข้าราชการไม่ส่งเสริมให้เกิดการออมภายในประเทศเท่าที่ควร เนื่องจากระบบประกันรายได้ยามชราภาพของข้าราชการส่วนใหญ่เป็นระบบบำเหน็จบำนาญที่ไม่เงินทุนหนุนหลัง ข้าราชการไม่ต้องรับผิดชอบออมเพื่อความเป็นอยู่หลังเกษียณ ซึ่งต่างจากระบบระบบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ข้าราชการและราชการต้องออมเพื่อการใช้จ่ายหลังเกษียณโดยการหักเงินเพื่อสะสมและสมทบทุกเดือน รัฐจึงควรเพิ่มสัดส่วนของระบบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในระบบประกันรายได้ยามชราภาพของข้าราชการ โดยอาจคงเพดานบำนาญปัจจุบันสำหรับผู้เป็นข้าราชการในปัจจุบัน และลดสัดส่วนบำนาญสำหรับข้าราชการใหม่ ด้วยวิธีการนี้ ข้าราชการที่ต้องการให้รายได้หลังเกษียณสูงขึ้นจน “อยู่ดี” หรือ “อยู่สุขสบาย” ก็สามารถรับผิดชอบตนเองโดยการออมเพิ่มในระหว่างที่รับราชการ
ุ6.4 ประชาชนผู้เสียภาษี เมื่อเทียบข้าราชการบำนาญกับคนกลุ่มอื่นในสังคมที่ “รัฐในฐานะรัฐ” ต้องให้ความช่วยเหลือ เช่น ผู้สูงวัยที่ยากจนและรับ “เบี้ยยังชีพ” ในอัตรา 600 – 1,000 บาท/เดือน แล้ว คนกลุ่มหลังมีความจำเป็นมากกว่า เพราะอัตราดังกล่าวไม่พอ “อยู่รอด” ไม่พอต่อรายจ่ายสำหรับความต้องการพื้นฐานเฉลี่ยที่สูงถึง 1,202 บาท/เดือน (เอกชัย ชัยวงษ์ และ สนธยา ลือประไพ, 2554, หน้า 29) การที่ “รัฐในฐานะรัฐ”นำรายได้จากภาษีอากรไปช่วยคนที่ “อยู่ได้” ให้ “อยู่ดี” หรือ “อยู่สุขสบาย” แทนที่จะไปช่วยคนที่อยู่“ไม่รอด” ให้ “อยู่รอด” รัฐบาลคงเสียคะแนนนิยมของประชาชนในวงกว้าง
7. บทสรุป
7.1 เมื่อพิจารณาจากรายได้กับรายจ่ายของข้าราชการบำนาญและมาตรฐานขั้นต่ำของ ILO รายได้ยามชราภาพของข้าราชการในปัจจุบันเพียงพอสำหรับการดำรงชีพหลังเกษียณในระดับ “อยู่ได้” ขึ้นไป และเมื่อเทียบกับรายได้ทดแทน ตลอดจนตัวคูณบำนาญระหว่างข้าราชการไทยกับข้าราชการกลุ่มประเทศ OECD แล้ว รายได้ยามชราภาพของข้าราชการไทยจัดอยู่ในระดับสูงกว่าหลายประเทศในกลุ่ม OECD
7.2 เพื่อดึงดูดคนรุ่นใหม่ให้เข้ารับราชการ รัฐในฐานะ “นายจ้าง” ควรปรับปรุงระบบค่าตอบแทนโดยเพิ่มสัดส่วนของรายได้ปัจจุบันและลดสัดส่วนของรายได้อนาคต (บำเหน็จบำนาญ) เพื่อให้สอดคล้องกับทัศนคติและวิถีการดำรงชีวิตของคนรุ่นใหม่
7.3 แม้ว่ารัฐในฐานะ “รัฐ” ไม่ควรปรับเพิ่มบำเหน็จบำนาญ แต่เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทของสังคมสูงวัย อายุคาดเฉลี่ยที่ยาวขึ้น สัดส่วนคนในวัยทำงานลดลง การกระจายรายได้ที่เป็นธรรม และเสถียรภาพทางการคลังของประเทศ รัฐในฐานะ “รัฐ” ควรปรับปรุงระบบประกันรายได้ยามชราภาพของเจ้าหน้าที่ของรัฐในหลายๆ ด้าน เช่น (ก) ลดความลักลั่นของรายได้ยามชราภาพระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วยกันเอง (ข) ทยอยเพิ่มเงินในบัญชีเงินสำรองของ กบข. โดยมีเป้าหมายเปลี่ยนระบบบำเหน็จบำนาญจากระบบที่ไม่มีเงินทุนหนุนหลังเป็นระบบที่มีเงินทุนหนุนหลังเต็มจำนวน (ค) เพิ่มสัดส่วนของระบบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและลดสัดส่วนของระบบบำเหน็จบำนาญในระบบประกันรายได้ยามชราภาพ (ง) ส่งเสริมและสนับสนุนให้ข้าราชการออมเพื่อชีวิตหลังเกษียณ (จ) ส่งเสริมการเคลื่อนย้ายกำลังคนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน เช่น การให้โอนเงินในบัญชีของบุคคลระหว่างกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคเอกชนกับกองทุนบำเหน็จบำนาญภาครัฐเมื่อบุคคลนั้นเปลี่ยนงานจากภาครัฐไปภาคเอกชนหรือในทำนองกลับกัน (ฉ) ขยายอายุเกษียณ (ช) นำระบบการแขวนบำนาญมาใช้โดยการแยก “ระยะเวลาที่เริ่มเกิดสิทธิรับบำเหน็จบำนาญ” และ “ระยะเวลาที่เริ่มได้รับบำนาญ” ออกจากกัน การคงมูลค่าบำนาญที่แท้จริงของบำนาญโดยปรับให้สอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อ และการปรับลดมูลค่าบำนาญ (Reduced Pension) สำหรับคนที่มีความจำเป็นอันหลีกเลี่ยงมิได้ (เช่น ทุพพลภาพ) ที่ต้องได้รับบำนาญก่อนเวลาที่กำหนดให้ได้รับจริง
บรรณานุกรม
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
พระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2539
พระราชบัญญัติเบี้ยบำนาญ ร.ศ. 120
พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533
พระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญ พ.ศ. 2494
กรมบัญชีกลาง (2541; 2542), สถิติการคลัง พ.ศ. 2541; 2542, กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์ตำรวจ
กรมบัญชีกลาง (2547; 2552; 2560), สถิติการคลัง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2547; 2552; 2560, นนทบุรี:สหมิตรพริ้นติ้งแอนด์พับลิสชิ่ง
กองทุนการออมแห่งชาติ (2559), รายงานประจำปี 2559
ถาวร สกุลพาณิชย์ และคณะ (2559), โครงการศึกษาแนวทางการจัดสวัสดิการสังคมที่เหมาะสมของประเทศไทย, สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง.
ปราโมทย์ ประสาทกุล และ ปัทมา ว่าพัฒนวงศ์ (2553), “นิยามผู้สูงอายุด้วยช่วงชีวิตข้างหน้า” หน้า 15 – 28 ใน สุชาดา ทวีสิทธิ์ และ สวรัย บุณยมานนท์ (บรรณาธิการ), ประชากรและสังคม 2553: คุณค่าผู้สูงอายุในสายตาสังคมไทย, เอกสารวิชาการสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล หมายเลข 372, พิมพ์ครั้งที่ 1, นครปฐม: สำนักพิมพ์ประชากรและสังคม
พรรณวดี สถิตถาวร และประจวบ เพิ่มสุวรรณ (2010), “ทัศนคติของคนรุ่น Gen Y ต่อการทำงานในระบบราชการ”, ใน BA Academic Review, Vol. 9, Special Issue 1, May 2010
วุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล และคณะ (2555), การศึกษาเพื่อวิเคราะห์แนวโน้มรายจ่ายด้านสวัสดิการสังคมของภาคสาธารณะเมื่อเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ, สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง.
วรเวศม์ สุวรรณระดา และ วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ (2553), สวัสดิการยามชรา บำนาญแห่งชาติ, มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย
ศูนย์บริการวิชาการและฝึกอบรมคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (2560), รายงานฉบับสมบูรณ์ โครงการการทบทวนอัตราสะสมสมทบของสมาชิก กบข., กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ
ศูนย์สรรหาและเลือกสรร สำนักงาน ก.พ, บันทึกเสนอที่ประชุม อ.ก.พ. วิสามัญเกี่ยวกับการสร้างระบบและมาตรฐานการสรรหาทรัพยากรบุคคล ในการประชุมครั้งที่ 6/2559 วันที่ 24 สิงหาคม 2559
ศูนย์สรรหาและเลือกสรร สำนักงาน ก.พ. (2561), บันทึกเสนอที่ประชุม อ.ก.พ. วิสามัญเกี่ยวกับการสรรหาและเลือกสรรบุคคลของราชการ ในการประชุมครั้งที่ 8/2561 วันที่ 26 กันยายน 2561
สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล (2561), สารประชากร, ปีที่ 27, มกราคม 2561
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (2558), การบูรณาการระบบบำนาญแห่งชาติ, เมษายน 2558
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, สผ 14/2565 ลงวันที่ 11 กรกฎาคม 2561
สำนักงานสถิติแห่งชาติ (2559), สรุปผลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากร เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2559,
สมาคมข้าราชการอาวุโสแห่งประเทศไทย (2561), สขอ. /278 ลงวันที่ 25 มิถุนายน 2561
เอกชัย ชัยวงษ์ และ สนธยา ลือประไพ, “การวิเคราะห์ค่าใช้จ่ายเงินสวัสดิการเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ”,หน้า 24 – 31. ใน วารสารการบริหารท้องถิ่น. ปีที่ 4. ฉบับที่ 1 (มกราคม –มีนาคม 2554).
Donghyun Park (2009), “Ageing Asia’s Looming Pension Crisis”, ADB Economics Working Paper Series 165, Asian Development Bank.
ILO Social Security (Minimum Standards) Convention, 1952 (No. 102)
OECD (2016), OECD Pension Outlook 2016, OECD Publishing, Paris.
Robert Holzmann, Richard Hinz, and Bank Team (2005), Old-Age Income Support in the Twenty-First Century: An International Perspective on Pension Systems and Reform, Washington, DC: World Bank (also available in Arabic, Chinese, Russian and Spanish).
Robert Palacios and Edward Whitehouse (2006), Civil-Service Pension Schemes Around the World, Social Protection the World Bank
United Nations (1948), The Universal Declaration of Human Rights
World Health Organization (2018), World Health Statistics 2018: Monitoring Health for the SDGs, Sustainable Development Goals, Geneva: World Health Organization; 2018, License: CC BY-NC-SA 3.0 IGO.
* สมมุติฐานในการคำนวณเช่นเดียวกับข้อข้างต้น แต่มีการนำเงินจาก กบข. (เงินสะสมและเงินสมทบ 6%) ไปซื้อบำนาญ โดยบำนาญที่เพิ่มขึ้นใช้สมมุติฐานอัตราส่วนลด (ดอกผล) ร้อยละ 5 และการรับบำนาญสิ้นสุดที่อายุ 78 ปี
| ['บทความ', 'เศรษฐกิจ', 'คุณภาพชีวิต', 'ข้าราชการ', 'รายได้ยามชราภาพ', 'วิสูตร\xa0\xa0ประสิทธิ์ศิริวงศ์', 'ระบบประกันรายได้ยามชราภาพ'] |
https://prachatai.com/print/79387 | 2018-10-31 15:15 | จดหมายเปิดผนึกถึงอาจารย์วิโรจน์และวอยซ์ทีวี : กัปตันปาร์ค ชาตง | ความสับสนอลหม่านในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาดูเหมือนจะเริ่มคลี่คลายภายหลังการสอบสวน และแถลงการณ์กรณีเที่ยวบิน 971 ที่เผยแพร่เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (29 ต.ค.) ผลการสอบสวนระบุว่า เป็นปัญหาของกระบวนการทำงานและความบกพร่องของทั้งนักบินและนายสถานีฯที่ไม่คำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของผู้โดยสาร และนอกจากนี้ผู้บริหารฯบริษัทกล่าวว่าจะดำเนินการเยียวยาผู้โดยสารในเที่ยวบินดังกล่าวตามมาตรฐานสากล
แถลงการณ์ดังกล่าวเหมือนจะจบลงด้วยดี แต่ทว่ากลับกลายเป็นการเปิดประเด็นใหม่ๆให้สังคมตั้งคำถามต่อยอดอีกมากมาย เช่น การเยียวยาผู้โดยสารในไฟล์ทนั้น จะเยียวยาแค่ไหน อย่างไร มีระเบียบตามมาตรฐานในการเยียวยาหรือไม่ หากเป็นการเยียวยาในกรณีพิเศษเฉพาะกรณี แล้วการดีเลย์ของเที่ยวบินอื่นล่ะ จะทำอย่างไร ผู้โดยสารของเที่ยวบินที่ไม่อยู่ในความสนใจของสาธารณชนจะทำอย่างไร
หรือแม้กระทั่งการจบลงด้วยว่า เป็นการสื่อสารที่ไม่เข้าใจกัน มันคืออะไร อะไรที่ไม่เข้าใจกัน มีการสื่อสารที่ผิดพลาดตรงไหน มีการทำผิดขั้นตอนปฎิบัติหรือไม่ อย่างไร แล้วระเบียบวิธีที่ถูกต้องล่ะ หน้าตาเป็นอย่างไร
การอัพเกรดทำได้แค่ไหน อย่างไร มีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนหรือไม่ แล้วใครบ้างที่สามารถใช้อำนาจดุลยพินิจในการอัพเกรดได้ ผู้โดยสารจะต้องมีคุณสมบัติอย่างไรจึงจะมีสิทธิได้รับการอัพเกรด และการอัพเกรดนั้นได้เผื่อแผ่ไปถึงผู้โดยสารชั้นประหยัดหรือไม่ ถ้าไม่ ถือว่าเป็นการเลือกปฏิบัติหรือไม่ อย่างไร แล้วจะอธิบายผู้โดยสารส่วนมากที่ไม่ได้รับการพิจารณาอัพเกรดอย่างไรในเมื่อจ่ายเงินมาเท่ากัน ฯลฯ
รายการ Tonight Thailand ของวอยซ์ทีวี เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม ได้นำเสนอข้อถกเถียงในเรื่องดังกล่าว ซึ่งมีประเด็นที่ต้องโต้แย้งในเชิงข้อเท็จจริงที่พิธีกร 2 ท่านนำเสนอผิดพลาดไป โดยมีอาจารย์วิโรจน์ อาลี และคุณธีรัตถ์ รัตนเสวี ซึ่งทั้งสองท่านได้ตั้งประเด็นคำถามเกี่ยวกับเที่ยวบิน 971 ไว้ โดยอาจารย์วิโรจน์ตั้งคำถามว่า “การเปลี่ยนเครื่องมาจากเครื่องบินโบอิ้ง777 หากคุณไม่มีการเปลี่ยนเครื่อง นักบินจะนอนอย่างไร” และ “ถ้าในกรณีการอัพเกรด ‘อัตโนมัติ’ ไปแล้ว ทำไมนักบินจะไม่ยอมผู้โดยสารอย่างนั้นเลยหรือ?”
Tonight Thailand - การบินไทยสรุปทีจี 971 ผิดทั้งนายสถานี-นักบิน - Short Clip [1]
ขณะที่คุณธีรรัตถ์ก็ได้เปิดประเด็นว่า “คุณ (ในที่นี่คุณธีรัตถ์หมายถึงนักบิน) ไม่ได้ยึดผู้โดยสารมาเป็นอันดับหนึ่ง ถ้าคุณมองว่าผู้โดยสารมาเป็นอันดับหนึ่งโดยที่คุณไม่ยึดสิทธิของตัวเองก่อนมันก็จะจบอีกแบบ”
ผมอยากขออธิบายเป็นประเด็นๆตามที่อาจารย์วิโรจน์และคุณธีรัตถ์เสนอมาดังนี้นะครับ
1. ถ้าเที่ยวบิน 971 ไม่เปลี่ยนแบบของเครื่องบิน ยังคง Operate ด้วยเครื่องบินแบบโบอิ้ง 777 ตามเดิม ก็จะไม่มี Deadhead ครับ เพราะนักบินชุดเดิมจะเป็นผู้ปฏิบัติการบินกลับสู่กรุงเทพด้วยตนเองและสลับกันพักใน Crew Rest ตามเงื่อนไขที่กำหนด ผู้โดยสารทั้ง 9 คนก็กลับมานั่งชั้น BC ตามตั๋วที่ซื้อไว้ ดราม่านี้ก็จะไม่เกิดขึ้น
2. นักบิน Deadhead นั่งชั้นไหนก็ได้ตามที่คู่มือระบุไว้ครับ ซึ่งคู่มือนี้บริษัทเป็นผู้จัดทำขึ้นมา จึงเป็นสภาพการจ้างตามหลักเกณฑ์ด้านความปลอดภัยและหลักประกันคุณภาพในการทำงาน กำหนดไว้ว่านักบิน Deadhead จะสามารถนั่งชั้น FC ได้ก็ต่อเมื่อ “ไม่มีผู้โดยสารที่ถือตั๋ว FC ตัวจริง“ (และในกรณีนี้ไม่เปิดขาย FC ครับ) และหากต้อง Deadhead ในเครื่องบินที่ไม่มี FC ก็นั่งชั้น BC แทน และในกรณีที่ไม่มีทั้ง FC และ BC มีเฉพาะชั้นประหยัด Deadhead ก็ต้องนั่งในชั้นประหยัดตามคำสั่งของบริษัท ในกรณีที่เกิดความผิดพลาดจากระบบ สามารถแก้ไขได้ก่อนออก Boarding pass เพราะเจ้าหน้าที่จะรู้อยู่แล้วว่า มี Deadhead ทั้งหมดกี่คน และจะต้อง blocked ที่ใดบ้างตามคู่มือ ไม่ใช่ปล่อยให้เหตุการณ์เลยเถิดขึ้นในลักษณะนี้
3. นักบินคำนึงถึงผู้โดยสารมาเป็นอันดับหนึ่งเสมอ ตามนโยบาย Safety and Punctuality ที่ถูกปลูกฝังมา มิฉะนั้นจะต้องมีสถิติอุบัติเหตุและความไม่ตรงต่อเวลาที่สูงมากกว่านี้ ซึ่งโดยภาพรวมตามสถิติ บริษัทสามารถทำ On time performance (OTP) ได้มากกว่า 95% และมีความปลอดภัยสูง ไม่มี Major accident ในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมา ความล่าช้าที่ถูกพูดถึงมีปัญหาเฉพาะเที่ยวบินดังกล่าวเท่านั้น ซึ่งเกิดขึ้นเฉพาะกรณี คุณธีรัตน์จึงไม่ควรเหมารวมว่า นักบินไม่คำนึงถึงผู้โดยสารเป็นอันดับหนึ่ง ซึ่งไม่แฟร์ครับ ในทางกลับกันอยากให้คุณธีรัตน์ลองตั้งคำถามใหม่ว่า เที่ยวบินดังกล่าวใครทำผิดขั้นตอน? อย่างไร? และทำไม?
4. การอัพเกรดในเชิงหลักการไม่สามารถทำได้ครับ เพราะจะทำให้เกิดความวุ่นวายอื่นๆตามมาอีกมากมายเช่น ผู้ที่ไม่ได้รับการอัพเกรดแต่เสียเงินเท่ากันต้องไม่พอใจหรือตั้งคำถาม ผู้โดยสารชั้นประหยัดก็อยากได้รับการอัพเกรดเช่นกัน ซึ่งชั้นธุรกิจไม่สามารถรับการอัพเกรดจากชั้นประหยัดได้ทั้งหมด ชั้น FC ไม่สามารถรองรับผู้โดยสารจากชั้น BC ได้ทั้งหมด หากเลือกปฎิบัติก็จะเกิดปัญหาอื่นอีกตามมาอีกมากมาย
แต่อย่างไรก็ตาม เที่ยวบินนี้ไม่ใช่ไฟล์ทแรกและไฟล์ทเดียวที่นักบินต้องเข้ามาจัดการกับการอัพเกรดผู้โดยสารโดยไม่ทราบล่วงหน้า ไม่ใช่ไฟล์เดียวที่ต้องพยายามแก้ปัญหาและทำทุกอย่างให้ถูกต้องตามคู่มือ ความล่าช้าของเที่ยวบินมาจากปัจจัยหลายอย่าง และนักบินทุกคนพยายามอย่างสุดความสามารถ ดำเนินการทุกวิถีทาง ต่อรอง วางแผน ร่วมตัดสินใจกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกหลายหน่วยงานเพื่อให้เที่ยวบินได้ออกตามเวลาที่กำหนด และถึงจุดหมายปลายทางอย่างตรงเวลาและปลอดภัย เพราะเราตระหนักถึงประโยชน์สูงสุดของผู้โดยสารเสมอ นี่คือข้อเท็จจริงที่นักบินทุกคนยึดถือปฏิบัติอย่างจริงจังมาตลอดครับ
ทั้ง 4 ประเด็นนี้ จึงอยากเรียนเพื่อเป็นข้อมูลกับพิธีกรเพื่อแก้ไขให้ถูกต้องต่อไป
ขอแสดงความนับถือ
| ['บทความ', 'สังคม', 'ธีรัตถ์ รัตนเสวี', 'การบินไทย', 'กัปตันปาร์ค ชาตง', 'วิโรจน์ อาลี'] |
https://prachatai.com/print/79388 | 2018-10-31 15:21 | ธีร์ อันมัย: มหรสพภายใต้ความสงบเรียบร้อย |
ประเทศกูมี
ความนิยมในมหรสพครบงันในงานบุญงานบวชของผู้คนบนดินแดนที่ราบสูงตะวันออกเฉียงเหนือเลื่อนไหลไปตามยุคสมัย
แต่ก่อนถ้าเจ้าภาพมีฐานะยากจนแถมฝนฟ้าไม่ปรานี จะเอาบุญทั้งทีแค่มีหมอลำกลอนหรือหมอลำคู่ก็นับว่าหรูหรา หากร่ำรวยมีหน้ามีตาก็จ้างหมอลำหมู่หรือหมอลำเรื่องต่อกลอน หรือหมอลำเพลินกกขาขาวก็ย่อมได้
ยุคหนึ่งภาพยนตร์จอผ่าโลกพร้อมหนังชนโรงได้เข้ามาเบียดชิงพื้นที่หมอลำ เจ้าภาพไหนจ้างบริการใหญ่จอผ่าโลกแถมนักพากย์ชื่อดังมาได้ก็ยิ่งสะท้อนหน้าตาและสถานะทางเศรษฐกิจของเจ้าภาพงาน
กลางทศวรรษที่ 1990 วัฒนธรรมป๊อปอย่างเพลงสตริงหรือวงสตริงคอมโบ ดิสโก้เธคเคลื่อนที่ได้มามีพื้นที่เป็นทางเลือกของเจ้าภาพในงานสมโภช
การมาถึงของเพลงสตริงเป็นช่วงปรับตัวครั้งใหญ่ของหมอลำกลอนและหมอลำเพลินและได้จุดลงตัวที่หมอลำซิ่ง เครื่องดนตรีนอกจากแคนแล้ว หมอลำซิ่งคือหมอลำคู่ที่มีกลอง เบส กีตาร์และแดนเซอร์เพิ่มเข้ามา จากนั้น เด้อนางเดอ เด้อเด้อนางเดอก็ทำงาน
ห้วงเวลาเดียวกันนี้ กันตรึมของขะแมร์เลอแถวสุรินทร์ บุรีรัมย์เองก็ปรับตัว จากที่มีแต่คนร้องชาย หญิง ดนตรีที่มีแต่ซอ กลองและฉิ่งฉาบก็เพิ่มเครื่องดนตรีสากลและแดนเซอร์เข้าไปด้วย เราจึงได้รู้จัก กันตรึมร็อค ดาร์กี้กันตรึมร็อค ร็อคคงคย-หยีหนอ
สังคมเปลี่ยน เทคโนโลยีเปลี่ยน ผู้คนปรับตัว ในยุคทีวีครองห้องนั่งเล่นหรือที่ที่ดีที่สุดของครอบครัว หนังเร่ บริการภาพยนตร์ทยอยล้มหายตายจาก ที่ยืนหยัดได้ต้องปรับตัวหลายตลบกว่าจะพบวิถีที่พออยู่ได้
ในยุคสื่อออนไลน์ใครๆก็สื่อสารได้เราพบว่า คณะหมอลำหมู่หรือหมอลำเรื่องต่อกลอนมีคิวงานยาวเหยียด มีแฟนคลับ มีแฟนเพจที่มีคนติดตามแน่นหนา สนนราคาค่าจ้างเรือนแสน ส่วนหมอลำซิ่งก็ไม่ยอมน้อยหน้า อยู่ได้และยังมาด้วยวิธีเดียวกัน
มีงานวิจัยออกมาด้วยว่า กลุ่มแฟนคลับที่เหนียวแน่นของหมอลำหมู่นั้น นอกจากแม่ยกของดาราชูโรงของคณะแล้ว ก็มีกลุ่มเกย์ที่มีคู่รักเป็นแดนเซอร์ที่เหนียวแน่นมั่นแก่นยิ่งนัก ส่วนหมอลำซิ่งมีกลุ่มกะเทยหน้าฮ้านกระโดดเด้าเก้าชั้นกันผู้บ่าวไทบ้านที่เคยยึดหน้าฮ้านตีกันออกไปได้พอสมควร
ท่ามกลางการปรับตัวของหมอลำ บริการภาพยนตร์ที่มีสายป่านยาวก็พบหนทางใหม่คือการเพิ่มระบบแสงสีเสียง ให้ภาพยนตร์บวกกับดิสโกเธคในบริการเดียวกันก็พอประคับประคองเอาตัวรอดไปได้
แต่ยังมี “รถแห่” ความบันเทิงล่าสุดบนดินแดนที่ราบสูงตะวันออกเฉียงเหนือ ค่าจ้างเรือนหมื่น บนรถแห่มีนักดนตรี นักร้อง รอบคันรถคือลำโพงมหาศาลระบบเสียงสะท้านสะเทือนรอบทิศทาง
รถแห่มีดีที่เล่นดนตรีสด นักร้องก็ร้องสดระบบเสียงสุดสะเด่า เจ้าภาพไม่ต้องจ่ายแพง และรถแห่บางคณะก็มีแฟนคลับคอยติดตาม คอยตั้งตารอจะไปจ้วดจ้าดวาดลวดลายหน้ารถแห่
แต่ว่า ในยุคที่ความสงบเรียบร้อยเป็นสินค้า มันก็มีราคาที่เจ้าภาพต้องจ่ายเรื่องความเรียบร้อย บางงานมีตำรวจและอาสาสมัครป้องกันภัยพลเรือนก็ยังไม่พอ ต้องมี ท.ทหารอดทนมาถือปืนยืมคุมรถแห่ สนนราคาเป็นกันเอง กะละ 400 บาท เช่น แห่บ่ายโมงถึงสี่โมงเย็น จ่ายสี่ร้อย ช่วงกลางคืน หัวค่ำถึงเที่ยงคืนจ่ายอีกสี่ร้อย รับเนื้อๆไปวันหนึ่งคนละแปดร้อยบาท
อย่างล่าสุด ผมไปสังเกตการณ์รถแห่ในงานบวชกลางทุ่งกุลา เจ้าภาพบ่นอุบว่า รถแห่ไม่แพง แต่ค่าจ้างทหารที่มาเป็นเซ็ต 15 คนนั้น เงิน 12,000 บาทพร้อมข้าวปลาอาหารแบบอิ่มหนำทำเอาเจ้าภาพหน้าเหี่ยวไปถนัดตา
| ['บทความ', 'การเมือง', 'สังคม', 'วัฒนธรรม', 'ธีร์ อันมัย', 'รถแห่'] |
https://prachatai.com/print/79389 | 2018-10-31 15:30 | ชำนาญ จันทร์เรือง: ประเทศกูมี |
ในขณะที่เขียนบทความนี้ยอดคนเข้าชมหรือviewsวิดีโอเพลงดัง “ประเทศกูมี”ของกลุ่ม Rap Against Dictatorship (RAD) มากกว่า 18 ล้านเข้าไปแล้ว และเชื่อว่าคงจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นไปเรื่อยๆและเพิ่มอย่างก้าวกระโดดในแต่ละคราวที่มีเจ้าหน้าที่ของรัฐระดับสูงออกมาให้ข่าวว่าจะดำเนินการตามกฎหมายหรือมีคนดังออกมาให้ข่าวตำหนิติเตียน (โดยบางรายถึงกับขับไล่ให้ออกนอกประเทศไปโน่น) เพราะคนยิ่งอยากรู้อยากเห็นเพิ่มมากขึ้นว่าด้วยเหตุอะไรหรือว่ามันเป็นอย่างไรกันแน่
แน่นอนว่าในสังคมสุดขั้วอย่างสังคมไทยย่อมมีทั้งคนชอบและคนไม่ชอบ ที่ไม่ชอบก็บอกว่าเป็นการใช้ถ้อยคำที่หยาบคาย เช่น คำว่า “กู” เป็นต้น หรือเป็นการก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ปั่นป่วน ขึ้นในสังคม ทำให้คนเกลียดชังรัฐบาล ฯลฯ ส่วนเจ้าหน้าที่รัฐก็อ้างว่าผิดพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯจะต้องดำเนินการทางกฎหมายให้ได้
ส่วนคนที่ชอบ ซึ่งผมเป็นหนึ่งในนั้น ก็เห็นว่าสนุกดี เนื้อหาก็ตรงใจ เพราะเป็นการแสดงออกตามสิทธิขั้นพื้นฐานที่ผู้คนรู้สึกอัดอั้นตันใจที่ซ่อนอยู่ในส่วนลึกและเป็นด้านมืดของสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผมซึ่งอยู่ในกลุ่มคนที่มีอายุผ่านช่วง 6 ตุลา 19 ที่มีคนตายมากมายเมื่อ 40 ปีก่อน แต่ยังไม่ได้รับการแก้ไขหรือความกระจ่างอะไรเลยจนบัดนี้
วิดีโอเพลงชิ้นนี้เป็นการเปรียบเทียบถึงสิ่งที่เคยเกิดขึ้นและเกิดขึ้นจริงในปัจจุบัน เหมือนเอาคนดูมายืนอยู่ในเหตุการณ์ ภาพเหตุการณ์ที่มีการเอาเก้าอี้มาฟาดศพโดยมีผู้คนห้อมล้อมจำนวนมากและหนึ่งในนั้นมีเด็กชายที่ยืนยิ้มแป้นดูการทำร้ายศพอยู่ วิดีโอเพลงชิ้นนี้เป็นเหมือนปากเสียงที่พูดแทนความรู้สึก การพูดถึงเรื่องเสือดำ เป็นการพูดถึงว่ามันมีความไม่เป็นธรรมเกิดขึ้น เพราะคนผิดไม่ได้รับการลงโทษ ซึ่งเป็นเรื่องที่แสลงหูผู้มีอำนาจ การพูดถึงเรื่องป่าแหว่งซึ่งเป็นเรื่องที่อ้างว่าถูกกฎหมายแต่ไม่ได้ดูถึงความเหมาะสมและจิตใจของผู้คนที่ต้องการพิทักษ์ปกป้องผืนป่าและความศักดิ์สิทธ์ของสิ่งที่ตนเคารพนับถืออันที่จริงแล้วเพลงที่สะท้อนการเมืองมีมากมายไม่ว่าในไทยเราเองเช่นในยุคของคำรณ สัมบุณณานนท์ในอดีต และในยุคไม่นานมานี้ก็ได้แก่เพลงเพื่อชีวิตทั้งหลาย (ซึ่งเดี๋ยวนี้เงียบเชียบ หลายคนกลายเป็น เซเลปไปเสียแล้ว) ส่วนในต่างประเทศก็มีมากมายที่สะท้อนถึงความคับแค้นของการถูกกดขี่ข่มเหง เช่นเพลง BlueหรือเพลงSoulของคนผิวดำในสหรัฐอเมริกา เป็นต้น
ในส่วนของเพลงแร็ป (Rap) ที่มีทำนองสนุกสนานแต่มีเนื้อหาที่สะเทือนใจในสหรัฐอเมริกาในปัจจุบันซึ่งได้รับความนิยมอย่างสูงกว่าสี่ร้อยล้านviews (มากกว่าประชากรของสหรัฐอเมริกาเสียอีก) ในปัจจุบันก็คือเพลง This is America เพลงแนวHip HopผสมกับSoul ร้องโดยแร็ปเปอร์และนักแสดงตลก Donald Glover (Childish Gambino) ทีสะท้อนถึงการไม่ได้รับความเป็นธรรมของคนผิวสีในสหรัฐอเมริกา ส่วนเพลงแร็ปของไทยเรานั้นไม่ได้มีเฉพาะกลุ่มRAD นี้เท่านั้น กลุ่มแร็ปของไทยเรามีมากมาย เพียงแต่ไม่ได้โด่งดังทะลุฟ้าเช่นวิดีโอชิ้นนี้เท่านั้นเอง
วัฒนธรรมของเพลงแร็ปไทยถือเป็นวัฒนธรรมของคนรุ่นใหม่ที่ไม่มีวิถีทางในการแสดงออก ดังนั้น การร้องเพลงแร็ปจึงเป็นการแสดงออกถึงความไม่พอใจในสังคมของคนเหล่านี้โดยไม่ว่าใครจะเป็นรัฐบาลก็ตาม หากเราพิจารณาดุให้ดีจะเห็นว่าในแต่ละท่อนของเพลงนี้ จะเห็นได้ว่าไม่ได้เป็นเรื่องของคนอ่อนหัดหรือเด็กที่ไม่มีวุฒิภาวะ ตรงกันข้ามกลับเปี่ยมไปด้วยวุฒิภาวะอย่างล้นเหลือ ตัวอย่างที่เห็นชัดคือกรณี 6 ตุลา 19 นั่นเอง แน่นอนว่าอาจมีคำหยาบ (ในสายตาของบางคน) อยู่บ้าง ซึ่งก็ถือว่าเป็น “วัฒนธรรมแร็ป” หนึ่งในคำหยาบที่ว่า เช่น คำว่า “กู”เป็นต้น ซึ่งผมเห็นว่าจะมีคนไทยเราไม่ว่าผู้หญิงผู้ชายสักกี่คนเชียวที่ไม่เคยใช้คำว่า “กู” และใช้มานานแล้วด้วยถ้านับจากอายุของศิลาจารึกฯ (จะจริงหรือปลอมไม่ใช่ประเด็นน่ะครับ) น่ะครับ
เพลงแร็ป “ประเทศกูมี”นี้คืออำนาจแบบอ่อน (soft power) ที่ถูกทำขึ้นเพื่อต่อต้านการใช้อำนาจเผด็จการซึ่งถือว่าเป็นอำนาจแบบแข็ง (hard power) ที่ใช้ปืนหนุนหลังซึ่งแน่นอนว่าศิลปินหรือคนธรรมดาย่อมไม่มีทางที่ลุกขึ้นมาสู้กับปืนได้อย่างแน่นนอน จึงใช้เพลงเป็นเครื่องมือแทน
ผมไม่แปลกใจที่ผู้ที่ถือกุมอำนาจรัฐด้วยวิธีการที่ไม่ชอบด้วยระบอบประชาธิปไตยย่อมไม่พอใจอย่างแน่นอน ทั้งๆที่เนื้อหาในเพลงก็เป็นเรื่องที่พูดกันอยู่แล้วในบ้านเมือง ซึ่งเมื่อถามว่าผิดกฎหมายหรือไม่ ผิดพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯหรือไม่นั้น เมื่อพิจารณาจากเนื้อหาหรือถ้อยคำในเพลงแล้วผมเห็นว่าเป็นสิทธิเสรีภาพของประชาชนทั่วที่จะแสดงความคิดเห็นได้โดยสุจริต แม้ว่าความเห็นนั้นอาจจะสวนทางกับผู้มีอำนาจทางการเมืองก็ตาม แต่ไม่ใช่เรื่องที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐแต่อย่างใดแต่อาจสะเทือนต่อความมั่นคงของผู้มีอำนาจเท่านั้น และยิ่งจะนำเอาพ.ร.บ.คอมฯมาใช้ว่านำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จยิ่งไปกันใหญ่ เพราะจะต้องพิสูจน์ให้ได้ว่ามันเป็นเท็จอย่างไร ไม่ใช่ตั้งข้อหาไปสุ่มสี่สุ่มห้า ดีไม่ดีคนที่ตั้งข้อหานั่นแหละอาจจะต้องรับผลร้ายนั้นเสียเองในที่สุด
แทนที่จะไปตั้งข้อหาหรือแสดงความไม่พอใจ ผู้มีอำนาจน่าจะนำไปวิเคราะห์ว่าเหตุใดผู้คนถึงให้ความนิยมอย่างถล่มทลายเช่นนี้ แล้วหาทางปรับปรุงแก้ไขจนในที่สุดคือการคืนสิทธิเสรีภาพให้แก่ประชาชน เพราะผู้มีอำนาจไม่ว่าจะมาโดยวิธีการใดก็ตาม มาจากการเลือกตั้งหรือวิธีพิเศษหากประชาชนไม่เอาด้วยย่อมอยู่ยาก ขนาดมีเสียงค่อนสภาก็ยังไปไม่รอด แล้วนี่มาโดยการใช้อำนาจพิเศษยิ่งอยู่ยากขึ้นไปอีกมากมายหลายเท่า
คุณจะเอาคนเป็นหลายสิบล้านที่ชื่นชอบเพลงนี้ไปไว้ไหน คุณจะใช้ปืนกี่ล้านกระบอกถึงจะบังคับคนหลายสืบล้านนี้ได้ คุณจะไล่คนหลายสิบล้านให้ออกนอกประเทศได้อย่างไร เพราะประเทศนี้ก็เป็นของเขาเหมือนกัน บ้านช่องห้องหอที่ดินที่อยู่อาศัยก็ซื้อหรือเช่าหรือด้วยเงินของเขาเอง เขาย่อมมีสิทธิที่จะอยู่ใน “ประเทศกูมี” นี้เหมือนกัน (โย่ว)
เผยแพร่ครั้งแรกใน: กรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ 31 ตุลาคม 2561
| ['บทความ', 'การเมือง', 'วัฒนธรรม', 'เพลงแร็ป', 'Rap', 'ชำนาญ จันทร์เรือง', 'Rap Against Dictatorship', 'ประเทศกูมี'] |
https://prachatai.com/print/79390 | 2018-10-31 16:36 | สุรพศ ทวีศักดิ์: แร็พ ‘ประเทศกูมี’ พูดความจริงไม่รอบด้าน(?) |
ที่มาภาพ Rap Against Dictatorship [1]
กระแสความแรงของ MV เพลงแร็พ “ประเทศกูมี” โดยกลุ่มศิลปิน Rap Against Dictatorship [1] หรือ RAD ที่มีเนื้อหาพูดถึงความจริงของปัญหาการเมืองและสังคมไทย เพียง 8 วัน มียอดผู้เข้าชมทะลุ 21 ล้านวิว ปฏิกิริยาจากผู้ชมมีทั้งเห็นด้วยและไม่เป็นด้วย
ผู้ที่ไม่เห็นด้วยมีตั้งแต่เจ้าหน้าที่รัฐ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ไปจนถึงประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในรัฐบาลเผด็จการทหาร รวมทั้งนักวิชาการ ดารา ผู้สื่อข่าว ศิลปิน กระทั่งกวีซีไรท์ คนเหล่านี้มองว่า เพลงประเทศกูมีด่าประเทศ ดูถูกประเทศ ทำร้ายประเทศ ดูถูกแผ่นดินเกิด ล้างสมองประชาชน บ้างก็ถามนำว่าเป็นภัยความมั่นคงหรือไม่ ผิด พ.ร.บ.คอมฯ หรือไม่ เป็นต้น
มีบางความเห็นที่มองแร็พประเทศกูมีอย่างวิพากษ์ เช่นในบทสัมภาษณ์ “ตกลงเราด่าประเทศได้ไหม? ฟัง ‘ประเทศกูมี’ ผ่านโสตประสาทและสายตาของไชยันต์ ไชยพร”[[1]] โดยไชยันต์มองว่าเนื้อหาของเพลง “ส่วนใหญ่ก็เป็นข้อเท็จจริงในมุมหนึ่งซึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีอย่างนี้จริงๆ เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องที่เป็นข้อเท็จจริง คือไม่ได้เป็นเรื่องเสกสรรปั้นแต่งอะไร จึงไม่น่าจะต้องตระหนกอะไรกันมาก”
นอกจากไชยันต์จะมองว่า เพลงประเทศกูมีเป็นเรื่องของศิลปะ ที่มุ่งเร้าอารมณ์ความรู้สึก และควรจะมีพื้นที่เสรีภาพในการนำเสนอเหมือนกับเพลง “คืนความสุข” และเพลงอื่นๆ ของรัฐบาล หรือค่ายเพลงทั่วไปแล้ว เขายังชี้ให้เห็นว่าโดยข้อจำกัดของการทำเพลงมันไม่อาจอธิบาย “ความจริงรอบด้าน” ได้เหมือนงานวิชาการ ในบทสัมภาษณ์ดังกล่าว เมื่อถูกถามว่า "ถ้ามีการกดดันตัวศิลปินถึงขั้นจะแจ้งจับจริงๆ อาจารย์คิดว่าจะวางท่าทีต่อเรื่องนี้อย่างไร" เขาตอบว่า
“อ้าว ผมก็จะยืนยันอย่างที่พูดว่า มันเป็นเสรีภาพในการแสดงออก แต่มันคงไม่ใช่เสรีภาพทางวิชาการ เพราะผมไม่ได้คิดว่ามันมีเนื้อหาที่เป็นวิชาการ แล้วผมก็ยืนยันว่า เสรีภาพในทางวิชาการก็ไม่ได้ถูกผูกขาดโดยนักวิชาการ หมายความว่าประชาชนธรรมดาที่นำเสนออะไรที่เป็นเหตุเป็นผลพยายามมองอย่างรอบด้านก็เป็นวิชาการได้ ทีนี้จุดยืนของผมก็เห็นว่ามันไม่ได้เสียหายอะไร...”
ที่ผมอยากร่วมอภิปรายต่อคือประเด็นที่ไชยันต์บอกว่า เพลงประเทศกูมีมันเป็นเรื่องของ “เสรีภาพในการแสดงออก” แต่ “มันคงไม่ใช่เสรีภาพทางวิชาการ เพราะผมไม่ได้คิดว่ามันมีเนื้อหาที่เป็นวิชาการ” ตรงนี้ผมแปลกใจเล็กน้อยว่า ทำไมไชยันต์จึงพยายาม “เน้น” (เพราะเขาพูดเรื่องนี้หลายครั้ง) ว่า เพลงไม่ได้มี “เนื้อหาที่เป็นวิชาการ” เพราะคนทั่วไปที่ฟังเพลงก็รู้ๆ กันอยู่แล้วว่าหน้าที่ของบทเพลงไม่ใช่นำเสนอเนื้อหาแบบงานวิชาการ เพราะเพลงเป็นงานศิลปะแบบหนึ่ง สิ่งที่เพลงนำเสนอก็คือความงามทางศิลปะ
อย่างไรก็ตาม งานวิชาการก็ไม่ใช่สิ่งที่ผูกขาดการนำเสนอความจริง เพราะความจริงอาจถูกนำเสนอได้หลายรูปแบบ ในแง่หนึ่งแร็พประเทศกูมีมันคืองานศิลปะแต่เป็นงานศิลปะที่สะท้อนความจริง และความความจริงนั้นไชยันต์ก็ยืนยันว่า “ไม่ใช่สิ่งที่เสกสรรปั้นแต่ง” ขึ้นมาลอยๆ แต่มันคือความจริงที่มาจากการศึกษาสืบค้นในทางวิชาการแล้วแปรความจริงออกมาในรูปของศิลปะเพลงแร็พ[[2]]
ขณะเดียวกันความจริงที่นำเสนอผ่านบทเพลง มันก็ถูกนำไปสืบค้นว่าเรื่องนั้นๆ มีที่มาที่ไปอย่างไร ดังเช่น iLaw ได้อ้างถึง “7 เรื่องจริงที่ประเทศกูมี”[[3]] จากเนื้อเพลงไปอธิบายให้เห็นว่า
“ประเทศที่เสือดำหน้าคะมำเพราะ rifle, ประเทศที่นาฬิกา รมต.เป็นของศพ, ประเทศที่มีสภาเป็นห้องนั่งเล่นของนักรบ, ประเทศที่เขียนรัฐธรรมนูญให้กองทัพใช้ตีนลบ, ประเทศที่ 4 ปีแล้ว ไอ้สัส แม่งยังไม่เลือกตั้ง, ประเทศที่มีความสามารถเสกกฎหมายกลายเป็นข้ออ้าง, ประเทศที่รัฐบาลไม่มีใครกล้าลบหลู่”
เหล่านี้มันมีที่มาที่ไปอย่างไร
พลังของบทเพลงมันจึงไม่ใช่การนำเสนอแบบงานวิชาการ แต่มันคือการนำปัญหาสำคัญๆ ดังกล่าวมาร้อยเรียงและนำเสนออย่างมีศิลปะที่กระทบต่ออารมณ์ความรู้สึกและกระตุ้นให้คนคิด ซึ่งพลังเช่นนี้งานวิชาการไม่สามารถทำให้เกิดได้ โดยเราก็ไม่ควรลืมไปว่าความจริงที่นำเสนอผ่านบทเพลงประเทศกูมี มันคือความจริงที่มีหลักฐานและคำอธิบายทางวิชาการรองรับอยู่ก่อนแล้ว
ประเด็นต่อมาคือ “เพลงไม่อธิบายความจริงรอบด้านเหมือนงานวิชาการ” อันนี้พูดอีกก็ถูกอีก เพราะมันไม่มีเพลงไหนๆ จะอธิบายความจริงรอบด้านได้อยู่แล้ว เพลง “ไอ้หน้าเหลี่ยม” เพลง “คืนความสุข” ฯลฯ มันก็ให้ความจริง (เท็จ) เฉพาะด้านที่ตัวเองต้องการเสนอทั้งนั้น โดยเฉพาะบางคนที่ไม่พอใจเพลงประเทศกูมีบอกว่า “ทำไมไม่พูดถึงปัญหาในยุคทักษิณ-ยิ่งลักษณ์บ้าง” อ้าว ปัญหานี้อีกฝ่ายก็พูดกันมายาวนานกว่าทศวรรษแล้ว พูดกันได้ทุกช่องทาง ทั้งฟรีทีวี รายการคืนความสุข และอื่นๆ มีช่องทางให้พูดได้อย่างปลอดภัยมากกว่าการพูดถึงปัญหาของรัฐบาลเผด็จการทหารอย่างเทียบกันไม่ได้อยู่แล้ว
อย่างไรก็ตาม มุมมองที่ว่า “เพลงประเทศกูมีพูดความจริงไม่รอบด้าน” ส่วน “งานวิชาการพูดความจริงรอบด้าน” ที่จริงแล้วก็เป็นมุมมองที่สร้าง “มายา” อยู่มาก
ประเด็นแรก มันเป็นปัญหาในทางญาณวิทยาว่า เราสามารถเสนอความจริงได้ครบถ้วนสมบูรณ์ทุกด้านหรือไม่ เพราะเราต่างมีข้อจำกัดในการรู้และเข้าใจความจริง อีกอย่างการเสนอความจริงทางวิชาการก็มักเป็นการเสนอผ่านกรอบแนวคิดหรือทฤษฎีหนึ่งๆ ที่ไม่อาจครอบคลุมความจริงทั้งหมด หรือมันอาจจะเป็นเรื่องเคยชินของมนุษย์เราที่มักจะพูดหรือเสนอความจริงเฉพาะส่วนที่ตนเองต้องการนำเสนอ เป็นต้น
(นี่จึงเป็นเหตุผลว่าเราจำเป็นต้องมี “เสรีภาพ” ให้การเสนอความจริงหลากหลายแง่มุมจากทุกคน ทุกฝ่ายที่เห็นต่าง คิดต่างเป็นไปได้มากที่สุด เพื่อที่เราจะได้รู้ความจริงครบถ้วนมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้)
บางคนที่อ่านหนังสือ “ตาสว่างกับรัชกาลที่ 4”[[4]] ของไชยันต์ อาจเห็นด้วยกับข้อเสนอของเขาที่ว่า ร.4 คือผู้ริเริ่มความคิดแบบยุคแสงสว่างทางปัญญา (The Age of Enlightenment) ที่เกิดขึ้นในยุโรปช่วงศตวรรษที่ 17-18 แต่บางคนอาจตั้งคำถามว่า “แก่นกลาง” ของยุคแสงสว่างทางปัญญามันคือการยืนยัน “เสรีภาพ” ในการใช้เหตุผลตั้งคำถามวิพากษ์วิจารณ์ ยืนยันความเป็น “คนเท่ากัน” หรือความเป็นปัจเจกบุคคล (individuality) ที่มีสิทธิและอำนาจเป็นของตัวเองในทางศีลธรรมและทางการเมือง ยืนยันเสรีภาพทางศาสนา การแยกศาสนจักรจากรัฐ เป็นต้น แล้ว ร.4 เสนอความคิดเรื่องพวกนี้ด้วยหรือ?
ประเด็นที่สอง ไชยันต์ย่อมจะ “รู้แจ้ง” อยู่แล้วว่า มันไม่ใช่แต่เพลงประเทศกูมีเท่านั้นดอกที่พูดความจริงรอบด้านไม่ได้ แม้แต่งานวิชาการก็พูด “ความจริงรอบด้าน” อย่างแท้จริงไม่ได้ดอก เพราะเงื่อนไขของความเป็นไปได้ (condition of possibility) ของการพูดความจริงได้รอบด้านคือ “เสรีภาพ” (freedom) ซึ่งประเทศกู เอ๊ย ประเทศไทยไม่ได้มีเสรีภาพที่จะพูดความจริงของปัญหาการเมืองได้รอบด้านหรือได้ทั้งหมด “ทุกเรื่อง” จริงๆ
เวลาพูดถึงเสรีภาพ ย่อมหมายถึง “เสรีภาพที่ทุกคนมี” มันไม่ใช่อย่างที่รัฐบาล คสช.ส่งทหารไปติดตามนักการเมืองแม้กระทั่งเวลาเข้าห้องน้ำ อ้างว่า “สังคมไทยก็ยังมีเสรีภาพ เพราะคนส่วนใหญ่ก็ยังดำเนินชีวิตปกติ” มันไม่ใช่อย่างนั้นเลยครับ เพราะยังมีบางคนติดคุกเพราะแชร์ข่าว เพราะพูดความจริง มีหลายคนต้องลี้ภัยการเมืองในต่างประเทศ เพราะคิดต่าง มีอุดมการณ์แตกต่างจากฝ่ายกุมอำนาจรัฐ ถ้ามี “เสรีภาพ” จริงๆ ก็คือรัฐต้องมีกฎหมายเป็นหลักประกันว่า จะไม่มีใครแม้แต่คนเดียวต้องติดคุกหรือต้องหนีออกนอกประเทศเพียงเพราะการแสดงความคิดเห็น ตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องใดๆ
ประเด็นสุดท้าย สิ่งที่เพลงประเทศกูมีทำได้มากกว่านักวิชาการคือ การพยายามพูดความจริงที่เสี่ยงต่อการถูกอำนาจรัฐบาลเผด็จการทหารหาเรื่องเอาผิดทางกฎมาย ซึ่งนี่คือการต่อสู้เพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตยผ่านงานศิลปะการทำเพลง ที่ส่งผลกระทบชัดเจนในระดับที่แน่นอนหนึ่ง อีกอย่าง ปัญหาจริงๆ มันอาจจะซับซ้อนกว่าที่ไชยันต์ให้สัมภาษณ์ว่า
“ขณะเดียวกันการเลือกตั้งที่รอคอยอยู่ ที่ทุกคนจะออกมาเคลื่อนไหวประท้วงรัฐบาล ก็จะประท้วงเพื่ออะไร ในเมื่อมันจะเลือกตั้งอยู่แล้ว คุณจะใช้ความพอใจไม่พอใจใครผ่านการกาบัตรก็ทำได้ พรรคการเมืองที่น่าจะมีจุดยืนใกล้เคียงกับกลุ่มแร็พนี้ก็มี เพราะฉะนั้นก็เป็นช่องทางที่จะไปตรงนั้นได้ “
เพราะเอาเข้าจริง กำหนดวันเลือกตั้งก็ยังไม่มีความแน่นอน พรรคการเมืองฟากตรงข้ามกับ คสช.และพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคอื่นๆ ที่หนุน คสช.ก็ไม่มีความแน่นอนว่าจะถูกยุบหรือไม่ กติกาการเลือกตั้งก็ห่างไกลมากกับสิ่งที่เรียกว่า “เสรีและเป็นธรรม” และอาจมีปัจจัยแทรกซ้อนอื่นๆ ที่เราคาดไม่ถึง มันจึงไม่ใช่เรื่องเรียบง่ายแบบ “จะใช้ความพอใจไม่พอใจใครผ่านการกาบัตร” ก็ได้ เหมือนการเลือกตั้งในภาวะปกติ
ดังนั้น ปรากฏการณ์ของแร็พประเทศกูมีในภาวะที่ยังไม่ปกติ มันจึงมีความหมายต่อการกระตุ้นเตือนสังคมและผู้มีอำนาจรัฐให้ตระหนักร่วมกันว่า การกลับไปสู่วิถีของเสรีภาพและประชาธิปไตยเท่านั้น คือคำตอบของการหลุดพ้นจากความขัดแย้งและปัญหาต่างๆ ที่พูดถึงในเพลงประเทศกูมี
อ้างอิง
[[1]] “ตกลงเราด่าประเทศได้ไหม? ฟัง ‘ประเทศกูมี’ ผ่านโสตประสาทและสายตาของไชยันต์ ไชยพร” https://waymagazine.org/which-is-my-country-chaiyan-chaiyaporn/?fbclid=IwAR0of8qzARvDXt5bHzyWdO0qHcTHOaUwFCkcn9-pYUlbijZhj6PeOdwN8k4 (เข้าถึงเมื่อ 30 ตุลาคม 2561)
[[2]] ดู‘ประเทศกูมี’ แร็ปต้านเผด็จการ สัมภาษณ์กลุ่มแร็ปเปอร์และผู้กำกับมิวสิควิดีโอ [2] https://prachatai.com/journal/2018/10/79297 [3] (เข้าถึงเมื่อ 30 ตุลาคม 2561)
[[3]] 7 เรื่องจริงที่ “ประเทศกูมี” https://www.ilaw.or.th/node/4984 [4] (เข้าถึงเมื่อ 30 ตุลาคม 2561)
[[4]] ไชยันต์ ไชยพร, ตาสว่างกับรัชกาลที่ 4, (กรุงเทพฯ: มติชน, 2560)
| ['บทความ', 'การเมือง', 'วัฒนธรรม', 'สุรพศ ทวีศักดิ์', 'ประเทศกูมี', 'Rap Against Dictatorship', 'ไชยันต์ ไชยพร'] |
https://prachatai.com/print/79391 | 2018-10-31 20:04 | กสม. ชี้กักตัวเด็กที่ติดตามครอบครัวผู้แสวงหาที่พักพิงร่วมกับผู้ใหญ่ เป็นการละเมิดสิทธิฯ | กสม. มีมติชี้การกักตัวเด็กที่ติดตามครอบครัวผู้แสวงหาที่พักพิงร่วมกับผู้ใหญ่ขัดต่อมาตรฐานสากล ถือเป็นการละเมิดสิทธิฯ แนะรัฐบาลหาทางเลือกอื่นแทนการกักตัว
31 ต.ค. 2561 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (สนง.กสม.) รายงานว่า อังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะดูแลด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ครั้งที่ 33/2561 เมื่อวันที่ 3 ต.ค. ที่ผ่านมา ได้มีมติรับรองรายงานการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน กรณีเด็กหญิงชาวโรฮิงญา อายุ 16 ปี ถูกเจ้าหน้าที่จับกุมในการปราบปรามการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญาในพื้นที่ภาคใต้ และถูกควบคุมตัวไว้ที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองแห่งหนึ่งตั้งแต่ปี 2558 โดยเด็กหญิงไม่ได้ถูกจำแนกว่าเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ กระทั่งเด็กหญิงคนดังกล่าวล้มป่วยและเสียชีวิตเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2560 ผู้ร้องจึงร้องเรียนเพื่อขอให้ กสม. ตรวจสอบการเสียชีวิต รวมถึงขั้นตอนในการดูแลรักษาพยาบาล และแนวทางในการปฏิบัติของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองในการกักตัวผู้แสวงหาที่พักพิงชาวโรฮิงญาทั้งกรณีผู้ใหญ่และเด็ก
กสม. พิจารณาคำร้องดังกล่าว โดยมีความเห็นในแต่ละประเด็น ดังนี้
ประเด็นที่ 1. กรณีขั้นตอนในการดูแลและการรักษาพยาบาลเด็กหญิง อายุ 16 ปี ก่อนเสียชีวิต พิจารณาแล้วเห็นว่า ตามข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำของการปฏิบัติต่อนักโทษ (Standard Minimum Rules for the Treatment of Prisoner : Mandala Rules, 1995) ได้กำหนดให้ผู้ต้องขังมีสิทธิเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้โดยพลัน และปราศจากการเลือกปฏิบัติ กรณีดังกล่าวปรากฏข้อเท็จจริงว่า ตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดได้นำตัวเด็กหญิงคนดังกล่าวส่งโรงพยาบาลหลังพบว่ามีอาการปวดท้องอย่างรุนแรง โดยแพทย์วินิจฉัยว่าเด็กมีอาการเกล็ดเลือดต่ำและรับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาลประมาณ 10 วัน ต่อมาได้อนุญาตให้ออกจากโรงพยาบาลและนัดมาพบแพทย์เพื่อรับการรักษา หลังกลับจากโรงพยาบาลประมาณ 4 วัน เด็กหญิงมีอาการอ่อนเพลียรับประทานอาหารไม่ได้ ตรวจคนเข้าเมืองจึงนำเด็กส่งโรงพยาบาลอีกครั้ง และต่อมาเด็กหญิงได้เสียชีวิตจากอาการเลือดออกในสมอง โดยหลังการชันสูตรศพ เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองได้ส่งศพไปดำเนินการตามพิธีกรรมทางศาสนาอิสลาม กรณีดังกล่าวจึงถือได้ว่าตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดได้ดำเนินการในการดูแลและรักษาพยาบาลเป็นไปตามมาตรฐานสากล ข้อเท็จจริงจึงไม่อาจรับฟังได้ว่ามีการกระทำหรือการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
ในส่วนการรักษาพยาบาล กสม. เห็นว่าแพทย์ผู้ที่เกี่ยวข้องได้ให้การช่วยเหลือรักษาพยาบาลผู้ป่วยตามข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม โดยไม่ปรากฏว่ามีการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุที่ผู้เสียหายเป็นชาวโรฮิงญาแต่อย่างใด
ประเด็นที่ 2. การควบคุมกักขังผู้แสวงหาที่พักพิงชาวโรฮิงญา กรณีที่เป็นเด็ก กสม. พิจารณาแล้วเห็นว่า เด็กหญิงคนดังกล่าว มีอายุ 16 ปี ซึ่งถือว่าเป็นเด็กตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 การปฏิบัติต่อเด็กไม่ว่ากรณีใด ให้คำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญและไม่ให้มีการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม ตามมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 อย่างไรก็ดี พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 ได้นิยาม “คนเข้าเมือง” ว่า เป็นคนต่างด้าวซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักร โดยมิได้ระบุถึงสถานะความเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ไว้ และการตีความเรื่องอายุเด็กยังคงเป็นไปตามประมวลกฎหมายอาญา จึงเห็นได้ว่า ประเทศไทยยังไม่มีแนวทางในการดูแลเด็กที่ติดตามครอบครัวของคนต่างด้าวที่แสวงหาที่พักพิง ดังนั้นเมื่อผู้ปกครองถูกจับกุม เด็กจึงถูกส่งตัวเข้ากักด้วย กรณีเช่นนี้จึงถือเป็นการขัดต่อกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กที่ให้การรับรองไว้ว่า เด็กทุกคนที่ถูกลิดรอนเสรีภาพจะได้รับการปฏิบัติด้วยมนุษยธรรมและด้วยความเคารพในศักดิ์ศรี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กทุกคนที่ถูกลิดรอนเสรีภาพจะต้องถูกแยกต่างหากจากผู้ใหญ่ ดังนั้น การควบคุมกักขังเด็กที่ติดตามครอบครัวชาวโรฮิงญาเพื่อแสวงหาที่พักพิง จึงขัดต่อข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำของการปฏิบัติต่อนักโทษ และยังไม่เป็นไปตามแนวทางตามข้อกำหนดของสหประชาชาติว่าด้วยการคุ้มครองเด็กและเยาวชนซึ่งถูกลิดรอนเสรีภาพ(United Nations Rules for the Protection of Juveniles Deprived of their Liberty) และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กที่กำหนดไว้ว่าจะต้องมีการแยกขังหรือกักกันตัวเด็กจากผู้ต้องขังผู้ใหญ่ โดยจะต้องคำนึงถึงสิทธิของเด็กที่จะไม่แยกออกจากสมาชิกของครอบครัวด้วย กรณีนี้จึงถือได้ว่าเป็นการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
ต่อกรณีดังกล่าว กสม. จึงมีข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชน ตลอดจนการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
1. กระทรวงมหาดไทย สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ควรพิจารณาทางเลือกแทนการกักตัวเด็กที่ติดตามผู้ปกครองเพื่อแสวงหาที่พักพิงในระหว่างรอการส่งกลับประเทศต้นทาง หรือเพื่อเดินทางต่อไปยังประเทศที่สาม โดยให้เด็กได้มีโอกาสอยู่ร่วมกับผู้ปกครองในสถานที่ที่เหมาะสม เพื่อให้เด็กมีโอกาสได้รับการศึกษา การพัฒนาตามวัย และได้รับการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546
2. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ควรเร่งจัดทำบันทึกความเข้าใจ เรื่อง การดำเนินงานระหว่างหน่วยงานภาครัฐ องค์การระหว่างประเทศ และองค์กรเอกชน กรณีการกำหนดมาตรการและแนวทางแทนการกักตัวเด็กไว้ในสถานกักกันตัวคนต่างด้าวเพื่อรอการส่งกลับ พ.ศ. 2560 ให้เกิดผลในทางปฏิบัติโดยเร็ว
3. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ และสำนักงานอัยการสูงสุด ควรเร่งจัดทำระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารจัดการคนเข้าเมืองผิดกฎหมายและผู้ลี้ภัย พ.ศ. .... ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2560
4. สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ควรพิจารณาปรับปรุงคำนิยาม “เด็ก” โดยใช้หลักเกณฑ์ที่สอดคล้องกับพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญ
| ['ข่าว', 'สิทธิมนุษยชน', 'คุณภาพชีวิต', 'ผู้แสวงหาที่พักพิง', 'เด็ก', 'อังคณา นีละไพจิตร', '\xa0คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ', 'โรฮิงญา'] |
https://prachatai.com/print/79392 | 2018-10-31 20:39 | 19 ชุมชนริมรถไฟทางคู่ขอผู้ว่าฯ ประจวบฯ เร่งหาที่อยู่ใหม่ก่อนถูกไล่รื้อ พ.ย. นี้ | ตัวแทนชาวชุมชน 19 ชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการรถไฟทางคู่เส้นทางนครปฐม-หัวหิน พบผู้ว่าฯ ประจวบคีรีขันธ์ ตามความคืบหน้าขอใช้พื้นที่ทุ่งเลี้ยงสัตว์ หลังไม่ได้คำตอบเรื่องที่อยู่ใหม่มาตั้งแต่เดือน เม.ย. เพราะถูกการรถไฟ อิตาเลียนไทย ซิโน-ไทย แจ้งรื้อภายใน พ.ย. นี้ กระทบชาวบ้าน 4 พันคน
ตัวแทนผู้เดือดร้อนยื่นหนังสือให้รองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์
31 ต.ค. 2561 ที่ศาลากลาง จ.ประจวบคีรีขันธ์ ตัวแทนชาวชุมชน 19 ชุมชนผู้เดือดร้อนจากโครงการรถไฟทางคู่เส้นทางนครปฐม-หัวหิน เข้าพบผู้ว่าราชการ จ. ประจวบคีรีขันธ์ เพื่อยื่นหนังสือขอความอนุเคราะห์ขอใช้ที่ดินสาธารณะ
หนังสือระบุว่า โครงการรถไฟทางคู่มีผลกระทบกับประชาชนริมทางรถไฟ 19 ชุมชน มีผู้เดือดร้อนประมาณ 1,200 หลังคาเรือน ประมาณ 4,000 คน ที่กำลังถูกเวนคืนที่ และไล่รื้อบ้านภายในเดือน พ.ย. 2561 จะเป็นผลให้ผู้อยู่อาศัยในที่รางรถไฟมานานต้องย้ายออก ไร้ที่อยู่ ซึ่งจะกระทบต่อชีวิต การงาน การศึกษา
เอกสารที่ยื่นให้กับทางจังหวัด (ดูภาพขนาดใหญ่ที่นี่ [1])
นอกจากนั้น การแก้ไขปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยภายใต้คณะกรรมการแก้ไขปัญหารถไฟทางคู่เมืองหัวหินระดับจังหวัดมีกระบวนการที่ล่าช้า ติดเงื่อนไขราชการในการขอใช้ที่ดินสาธารณะประโยชน์ (ทุ่งเลี้ยงสัตว์) ต.ทับใต้ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ และชาวบ้านยังถูกบีบคั้น กดดันจากการรถไฟแห่งประเทศไทยที่เป็นเจ้าของพื้นที่ ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัดและ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) สองบริษัทผู้รับเหมาที่แจ้งว่าจะต้องทำการรื้อถอนในเดือน พ.ย. ปีนี้ แต่ชาวบ้านยังไม่มีที่ดินรองรับ จึงขอให้ทางผู้ว่าฯ แก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน โดยต่อมารองผู้ว่าฯ สองคนได้ออกมารับหนังสือจากตัวแทนชาวบ้าน
พงษ์ศักดิ์ คำทรัพย์ คณะกรรมการการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย จ.ประจวบคีรีขันธ์กล่าวว่า ปัญหาของผู้เดือดร้อนตอนนี้คือถูกกดดันจากการไล่รื้อที่มีสี่ชุมชนต้องออกจากพื้นที่ในเดือน พ.ย. นี้ แต่หน่วยงานรัฐล่าช้ามาตั้งแต่เดือน เม.ย. ไม่มีคำตอบให้ชาวบ้าน ซึ่งคิดว่าน่าจะติดขัดหน่วยงานรัฐในพื้นที่ที่จะขอใช้ ผู้เดือดร้อนจึงมาหาผู้ว่าฯ
พงษ์ศักดิ์กล่าวอีกว่า แนวคิดเดิมที่อดีตปลัด อ.หัวหิน สมพร ปัจฉิมเพชร วางไว้คือให้หน่วยงานรัฐหาที่อยู่ใหม่ แล้วให้ชาวบ้านย้ายไปอยู่เลย แล้วขั้นตอนขอใช้พื้นที่ก็ให้ทางราชการจัดการไปควบคู่กัน ทั้งนี้ หน่วยงานรัฐได้ไปสำรวจที่ดินสาธารณะประโยชน์ได้มาสี่พื้นที่ แต่อีกสามพื้นที่เป็นพื้นที่ทหารและพื้นที่ป่า ก็เหลือพื้นที่ทุ่งเลี้ยงสัตว์ที่เงื่อนไขการขอใช้นั้นง่ายกว่าที่ของทหาร
พงษ์ศักดิ์กล่าวว่า ชาวบ้านอาศัยอยู่ในพื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทยมานานกว่า 30-40 ปีแล้ว ปัจจุบันชาวบ้าน 19 ชุมชนถูกยกเลิกสัญญาเช่าจากการรถไฟแห่งประเทศไทยทั้งหมดเมื่อห้าปีที่แล้ว ตอนนี้อยู่กันแบบบุกรุกตามอัตภาพ
“ขอให้หน่วยงานของรัฐ ภายใต้นโยบายรัฐที่มีผลกระทบต่อชุมชนและสังคมให้มีแผนรองรับไว้เลย ที่ผ่านมาเร่งด่วน แล้วตอนนี้ที่ทำได้อย่างเดียวคือรัฐต้องช่วยเหลือผู้เดือดร้อนโดยอนุญาตให้ใช้ที่ดินโดยด่วน ไม่เช่นนั้นจะเป็นการทิ้งภาระให้กับผู้เดือดร้อน และเป้นปัญหาสังคมที่ไม่ได้รับการแก้ไข ชาวบ้านก็ต้องไปบุกรุกที่อื่นอยู่ หรืออาจมีปัญหาเรื่องยาเสพติด ผู้พิการ” พงษ์ศักดิ์กล่าว
วิทยา สุดสาคร ตัวแทนผู้เดือดร้อนที่เข้ายื่นหนังสือให้ข้อมูลว่า พื้นที่ทุ่งเลี้ยงสัตว์มีเนื้อที่ราว 2,600 ไร่ ในพื้นที่ดังกล่าวก็มีโรงพยาบาล และวิทยาลัยในพื้นที่ได้ขอใช้ส่วนหนึ่ง แต่ก็ยังมีพื้นที่เหลืออยู่
'ซิโน-ไทย' จ่ายชดเชยชาวหัวหินกระทบรถไฟทางคู่ ผู้แทนชุมชนหวั่นไม่แฟร์-ยังไม่มีที่ไป [2]
โครงการรถไฟทางคู่ช่วงนครปฐม-หัวหิน เป็นรถไฟทางคู่ช่วงสายใต้ ระยะทางราว 170 กม. มีสถานีจำนวน 28 สถานี โดยก่อสร้างทางรถไฟเพิ่มหนึ่งทางขนานไปกับทางรถไฟที่มีอยู่เดิมไปตลอดสายทาง รางกว้าง 1 เมตร เป็นแบบใช้หินโรยทาง ติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณโทรคมนาคมสำหรับทางคู่ เริ่มต้นที่สถานีนครปฐม จ.นครปฐม สิ้นสุดที่สถานีหนองแก จ.ประจวบคีรีขันธ์มีงบประมาณ 20,145.59 ล้านบาท มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งทางรถไฟ ลดระยะเวลาเดินทาง เพิ่มทางเลือกในการเดินทาง กระจายความเจริญสู่ภูมิภาค
เส้นทางรถไฟทางคู่ ช่วงนครปฐม-หัวหิน (ที่มา: ร.ฟ.ท. [3])
โครงการดังกล่าวรับดำเนินการโดยบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัดและ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ระยะเวลาก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. 2561 – 31 ม.ค. 2564 รวม 36 เดือน ที่ผ่านมามีการจ่ายค่าชดเชยในบางชุมชนไปแล้ว เมื่อ 18 ก.ย. ที่ผ่านมาก็มีเจ้าหน้าที่บริษัทซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ตั้งโต๊ะจ่ายเงินผู้ได้รับผลกระทบในส่วนของชาวบ้านชุมชนหนองแกตะวันออก
| ['ข่าว', 'สังคม', 'สิทธิมนุษยชน', 'ความมั่นคงทางที่อยู่', 'รถไฟทางคู่ นครปฐม-หัวหิน', 'ซิโน-ไทย', 'อิตาเลียนไทย', 'การรถไฟแห่งประเทศไทย', 'ร.ฟ.ท.', 'หัวหิน', 'ประจวบคีรีขันธ์', 'พงษ์ศักดิ์ คำทรัพย์', 'วิทยา สุดสาคร'] |
https://prachatai.com/print/79394 | 2018-11-01 11:29 | 'ดอน' ชี้ให้สากลมาสังเกตเลือกตั้ง 'ไม่เป็นมงคล' ระบุคนไม่เห็นด้วยกับ ม.112 มีแค่หยิบมือเดียว | ศาล รธน. มีมติเสียงข้างมาก วินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐมนตรีของ 'ดอน ปรมัตถ์วินัย' รมว.กต. 'ไม่สิ้นสุดลง' เหตุภรรยาโอนหุ้นที่เกินให้คนอื่นตามกำหนดเวลาที่รธน.กำหนด ขณะที่เจ้าตัวชี้ให้ต่างประเทศมาสังเกตการณ์เลือกตั้ง 'ไม่เป็นมงคล' ย้ำรัฐบาลปัจจุบันต่างจากรัฐประหารทั่วโลก เหตุไม่มีการห้าม ลิดรอนสิทธิความเป็นอยู่ ชี้คนไม่เห็นด้วยกับ ม.112 มีแค่หยิบมือเดียว
เมื่อวันที่ 31 ต.ค.ที่ผ่านมา ข่าวสดออนไลน์ [1]และ Workpoint News [2] รายงานตรงกันว่า ดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ กล่าวถึงการ เลือกตั้ง และบทบาททางการเมืองในอนาคต ว่า ยืนยันว่าจะไม่ไปสังกัดพรรคใด และไม่สมัครสมาชิกพรรคใด หลังเลือกตั้งจะไม่ขอรับตำแหน่งใดๆในทางการเมือง แต่ถ้าจะมานั่งพูดคุยปรึกษาหารือในเรื่องการต่างประเทศ ซึ่งตนมีความถนัดก็พร้อมให้ความช่วยเหลือ และยอมรับว่าเหตุผลมาจากปัญหาด้านสุขภาพ ที่มีอาการไอมานาน 6 เดือนยังไม่หาย
ต่อกรณีคำถามถึงข้อเรียกร้องให้มีองค์กรต่างประเทศเข้ามาสังเกตการณ์การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นนั้น ดอนกล่าวว่า มองว่าการเลือกตั้งเป็นกิจการภายในของประเทศ แต่ละประเทศดำเนินการได้โดยไม่ต้องให้ต่างชาติเข้ามาจับตามอง ประชาชนแต่ละประเทศมีความสำคัญและจำเป็นมากกว่า สามารถสังเกตการณ์การเลือกตั้งได้ดีกว่าคนต่างชาติ นอกจากนี้การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นถือเป็นการนับหนึ่งใหม่ การดูแลปกครองตัวเองที่ยังต้องให้ต่างชาติเข้ามาสังเกตการณ์ จึงไม่เป็นมงคลของการเริ่มต้นใหม่ ที่ผ่านมาการเลือกตั้งที่ถูกต่างประเทศเข้ามาสังเกตการณ์จะเกิดกับประเทศที่มีปัญหาไม่ดี สำหรับไทยเป็นประเทศที่มีศักดิ์ศรี คงไม่อยากถูกมองว่าเป็นประเทศที่มีปัญหา
“รัฐบาลปัจจุบันมาจากรัฐประหารที่แตกต่างจากรัฐประหารทั่วโลก เพราะไม่มีการห้าม ลิดรอนสิทธิความเป็นอยู่และไม่ได้ทำอะไรเกินเลยจนกระทบความเป็นอยู่ของประชาชนส่วนใหญ่ มีทูตบางประเทศมาคุยกับผม ยกมาตรา 112 มาถามว่าทำไมต้องมีกฎหมายลิดรอนการแสดงความเห็น ผมถามกลับว่าประเทศของเขาไม่มีมาตรการหรือข้อบังคับเฉพาะเรื่องหรืออย่างไร ในไทยมาตรา 112 นั้นคนไทยรับรู้กันดี หากลองนับจำนวนคนที่ไม่เห็นด้วย จะพบว่ามีแค่หยิบมือเดียว แล้วจะเป็นปัญหาได้อย่างไร เมื่อคนส่วนใหญ่ไม่มองว่าเป็นปัญหา ส่วนมาตรการพิเศษต่างๆ ที่ออกมาทำเพื่อประโยชน์บ้านเมืองสงบเรียบร้อย ข้อห้ามชุมนุมทางการเมือง ก็เพื่อให้บ้านเมืองเดินต่อไปได้ ในเรื่องความคิดความเห็นสามารถแสดงออกผ่านสื่อต่างๆ ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาไม่ได้มีข้อห้าม” ดอน กล่าว
ศาล รธน.วินิจฉัย ความเป็น รมต.ของ 'ดอน' ไม่สิ้นสุดลง เหตุเมียโอนหุ้นตามเวลาที่รธน.กำหนด
ทั้งนี้ PPTV [3] รายงานด้วยว่า วันเดียวกัน (31 ต.ค.61) องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้นัดออกนั่งบัลลังก์ไต่สวนคำร้องที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ว่าความเป็นรัฐมนตรี ของ ดอน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ จากกรณีที่ กกต.ตรวจสอบพบว่า นรีรัตน์ ปรมัตถ์วินัย ภรรยาของดอน ถือครองหุ้นเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด และไม่ได้มีการแจ้งต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. โดยก่อนหน้านี้ กกต. มีมติชี้ว่า ดอน ขาดคุณสมบัติดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี กรณีภรรยาถือครองหุ้นขัดกฎหมายเนื่องจากมีหุ้นในธุรกิจเกินกว่า 5% แล้วไม่แจ้ง ป.ป.ช. ภายในเวลาที่กำหนด จึงเข้าข่าวลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ
ล่าสุด ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเสียงข้างมาก วินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐมนตรีของ "ดอน ปรมัตถ์วินัย" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ "ไม่สิ้นสุดลง" เพราะ การภรรยาโอนหุ้นที่เกินให้คนอื่นตามกำหนดเวลาที่รธน.กำหนด
ดอน ระบุว่า หลังจากนี้จะกลับไปทำงานตามหน้าที่ ยอมรับว่าที่ผ่านมาเสียสมาธิกับงานเพราะต้องทำเอกสารต่างๆส่งให้ศาลเพื่อวินิจฉัยคดี โดยยืนยันว่าหลังการเลือกตั้งจะไม่รับตำแหน่งทางการเมืองใดใด รวมถึงจะไม่สมัครเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใด แต่หากมีผู้เสนอให้เป็นที่ปรึกษางานด้านต่างประเทศ พร้อมดำเนินการ เนื่องจากเป็นงานที่ถนัดและทำมาตลอด
| ['ข่าว', 'การเมือง', 'สิทธิมนุษยชน', 'ดอน ปรมัตถ์วินัย', 'การสังเกตการณ์การเลือกตั้ง', 'ม.112', 'รัฐประหาร', 'ศาลรัฐธรรมนูญ', 'นรีรัตน์ ปรมัตถ์วินัย', 'การถือครองหุ้นเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด'] |
https://prachatai.com/print/79393 | 2018-10-31 21:29 | แผ่นดินใหม่ของผู้ลี้ภัยทางวรรณกรรม | ปี 2014 ประเทศไทยโหมโรง “ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)” กันยกใหญ่ตลอดปี ก่อนที่ประชาคมนั้นจะเกิดขึ้นอย่างเป็นทางการในเดือนมกราคม 2015 ราวกับว่า AEC เป็นหมุดหมายสำคัญของการก้าวไปข้างหน้าของประเทศชาติ สถานที่ราชการแทบทุกแห่งมีธงชาติของรัฐสมาชิกอาเซียนประดับ
ภาพธงชาติเรียงแถวทำนองนี้สอดคล้องกันกับแนวการวางตัวและวิธีการทำงานของสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยในเวทีนานาชาติ นั่นก็คือเป็นสถาบันประจำชาติ มีอำนาจตัดสินภายในเขตแดนรัฐ และมีหน้าที่ติดต่อพัวพันกับตัวแทนประจำชาติอื่นๆ ทำนองเดียวกับภาพจากที่ประชุมสุดยอดอาเซียน ที่ผู้แทนประเทศแต่งตัวภูมิฐานยืนยิ้มเรียงแถวไขว้มือแบบ “อาเซียนแฮนด์เช้ค”
สถาบันศูนย์กลางทางวรรณกรรมของประเทศไทยเกาะกระแส AEC โดยชี้ชวนให้เห็นว่าประชาคมด้านเศรษฐกิจเป็นเพียงหนึ่งในสามเสาหลักของประชาคมอาเซียนเท่านั้น ด้านสังคม-วัฒนธรรมนั้นก็สำคัญไม่แพ้กัน และงานของสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยนี่แหละ ที่จะทำหน้าที่ค้ำจุนประชาคมอาเซียนในด้านวัฒนธรรม
ประเด็นของบทความนี้มีสองระดับ ระดับแรกคือการชี้ปัญหาของการตีกรอบทำงานวรรณกรรมระดับนานาชาติแบบ “อาเซียนแฮนด์เช้ค” ซึ่งส่งผลให้การทำงานข้ามชาติไปไม่ถึงจุดหมายของการยอมรับความหลากหลายและความเท่าเทียมแห่งนานาประเทศอย่างแท้จริง ระดับที่สองคือการชี้ปัญหาที่ซ้อนอยู่ด้านล่าง นั่นก็คือ “ระบบอุปถัมภ์วรรณกรรมแห่งประเทศไทย” อันเป็นภัยต่อพลังสร้างสรรค์ของนักเขียนรุ่นใหม่และนักเขียนจากชายขอบของอุดมการณ์ที่ครองอำนาจรัฐ
ในโอกาสที่ สมาพันธ์วรรณกรรมแม่น้ำของ เพิ่งเปิดตัวอย่างเป็นทางการ ฉันคาดหวังว่าสมาพันธ์ฯ จะสามารถสร้างพื้นที่วรรณกรรมข้ามชาติอีกแบบขึ้นมาได้ พื้นที่ที่นักเขียนไม่ต้องวางตนเป็นทูตสันถวไมตรีของรัฐชาติ หากวางตนเป็นผู้ลี้ภัยทางวรรณกรรมแทน
แม่โขงแต่เพียงนาม
รางวัลวรรณกรรมแม่น้ำโขง (Mekong River Literature Awards - MERLA) ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2007 ด้วยดำริของสมาคมนักเขียนเวียดนาม ลาว และกัมปูเจีย เพื่อส่งเสริมสัมพันธไมตรีและความร่วมมือกันระหว่างนักเขียนในภูมิภาค จนกระทั่งปี 2012 สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยจึงได้เข้าร่วมสังเกตการณ์พิธีมอบรางวัลฯ และต่อมาก็เข้าร่วมเป็นภาคีอย่างเป็นทางการ
ปัจจุบันนี้ยังมีประเทศสหภาพเมียนมา และสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นภาคีด้วย
เกณฑ์การตัดสินผู้ได้รับรางวัลแตกต่างกันไปแต่ละประเทศ ของประเทศไทยเป็นการให้รางวัลแก่ตัวนักเขียนที่ทำผลงานโดดเด่นมายาวนาน ส่วนประเทศอื่นๆ ฉันไม่ทราบรายละเอียดมากนัก แต่เท่าที่สืบค้นดูของประเทศลาว พบว่าเป็นการตัดสินผู้ชนะตามบทประพันธ์ที่ส่งประกวดเพื่อการนี้โดยเฉพาะ บทประพันธ์ที่ชนะส่วนใหญ่ไม่เห็นว่าเกี่ยวข้องกับแม่น้ำโขงโดยตรง แต่ก็มีบ้างที่ชื่อรางวัลพ้องกับตัวงาน เช่นบทกวี “ອາລິຍະທຳລຸ່ມນ້ຳຂອງ” ซึ่งได้คะแนนสูงสุดในปี 2015 ประพันธ์โดยนักกวีหนุ่มพระไพวัน มาลาวง เจ้าของนามปากกา “ລູກດອນກະເດັນ”
ตั้งแต่ปี 2014 เป็นต้นมา ผู้ทรงคุณวุฒิในแวดวงสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยเป็นผู้พิจารณาคัดเลือก (แต่ละปีคณะกรรมการตัดสินคงแตกต่างกันไปบ้าง แต่สำหรับปี 2016 มีประธานคือ บูรพา อารัมภีร และกรรมการร่วมคือ ขจรฤทธิ์ รักษา, กนกวลี กันไทยราษฎร์, จตุพล บุญพรัด, จรูญพร ปรปักษ์ประลัย, และ พินิจ นิลรัตน์) มีนักเขียนสัญชาติไทยได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้รับรางวัลแม่โขงอวอร์ด ดังต่อไปนี้คือ
ปี 2014 เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ กฤษณา อโศกสิน และธีรภาพ โลหิตกุล จัดงานมอบรางวัลที่เมืองเสียมเรียบ ประเทศกัมพูชา
ปี 2015 ศักดิ์สิริ มีสมสืบ และสาคร พูลสุข จัดงานมอบรางวัลที่นครหลวงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
ปี 2016 พิบูลย์ศักดิ์ ละครพล และไพฑูรย์ ธัญญา จัดงานมอบรางวัลที่เมืองคุนหมิง มณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน
ปี 2017 เรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์ และวีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง จัดงานมอบรางวัลที่กรุงเทพมหานคร ราชอาณาจักรไทย
ในบทความ “วรรณกรรมแม่น้ำโขง: สายสัมพันธ์เพื่อนบ้านผ่านตัวหนังสือ” จากหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ หน้าจุดประกายวรรณกรรม วันอาทิตย์ที่ 25 พฤษภาคม 2557 อุมมีสาลาม อุมาร ได้กล่าวถึงผู้ชนะรางวัลแม่น้ำโขงอวอร์ดชุดแรกจากประเทศไทยไว้ว่า
“นักเขียนทั้งสามล้วนเขียนเรื่องราวที่มีแก่นแกนของชีวิตและผู้คนในลุ่มน้ำโขง อย่าง “เขียนแผ่นดิน” ของเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ “จำหลักไว้ในแผ่นดิน” และ “เสียงหัวเราะและน้ำตาในศิลานคร” ของกฤษณา อโศกสิน และ “ชายชรากับบ่วงกรรมและคำสาป” ของธีรภาพ โลหิตกุล ซึ่งไม่ต้องบอกก็ทราบกันดีว่าผลงานของนักเขียนทั้งสามล้วนเป็นงานแนวหน้าของวงการวรรณกรรมไทย”
ในรายงานชิ้นนี้ มีการให้เหตุผลและรายละเอียดที่ชัดเจน ว่านักเขียนทั้งสามมีผลงานเกี่ยวโยงกับประเทศแถบลุ่มน้ำโขงอย่างไร ซึ่งงานที่ถูกกล่าวถึงของทั้งสามคน มีจุดร่วมที่สำคัญคือผลงานที่ผุดมาจากประสบการณ์การท่องเที่ยว ซึ่งความลุ่มลึกก็แตกต่างกัน เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ สัญจรไปทุกที่เพื่อ “เขียนแผ่นดิน” สดๆ เป็นร้อยกรองอย่างปฏิภาณกวี ส่วนกฤษณา อโศกสิน ก็นำความสะเทือนใจจากการได้ไปเยือน “ทุ่งสังหาร” ตวลสเลง และค่ายเจืองเอ็ก กลับมานั่งเขียนเป็นสารคดีท่องเที่ยวในหน้านิตยสารรายสัปดาห์ และยังต่อยอดเป็นนวนิยายเชิงประวัติศาสตร์ระหว่างชายแดนไทย-กัมพูชา ในขณะที่ธีรภาพ โลหิตกุล เน้นศึกษาค้นคว้าทั้งจากเอกสารและภาคสนามเป็นเวลายาวนาน เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวของสายน้ำและผู้คน ดังเช่นเรื่องของ พอล พต ใน “ชายชรากับบ่วงกรรมและคำสาป” และเรื่องของชุมชนตลอดเส้นทางลุ่มน้ำโขงใน “โขงนทีสีทันดร”
ทว่าตั้งแต่ปี 2015 เป็นต้นมา เกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกผู้ได้รับรางวัล “แม่น้ำโขงอวอร์ด” ก็ดูจะเลิกสนใจว่าผลงานของนักเขียนเชื่อมโยงกับแม่น้ำโขงอย่างไรไปเสียอย่างนั้น กนกวลี (พจนปกรณ์) กันไทยราษฎร์ นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์ไว้เมื่อต้นปี 2017 ว่า
“หลักเกณฑ์ในการคัดเลือกผู้ได้รับรางวัล ซึ่งเป็นหลักการที่ใช้พิจารณาร่วมกันในทั้ง6ประเทศ คือนักเขียนต้องทำงานวรรณกรรมที่มีคุณค่าทางศิลปะ ให้เกียรติแก่มนุษยชาติ มีความรักความศรัทธาในการเชื่อมโยงวัฒนธรรมชุมชนกับโลก”
“แม่น้ำโขงอวอร์ด” กลายเป็นเพียงอีกหนึ่งรางวัลที่มอบให้แก่ผู้ที่สมควรได้รับรางวัล จากมุมมองของคณะกรรรมการผู้ทรงคุณวุฒิระดับชาติ จุดต่างอย่างเดียวของรางวัลนี้จริงๆ ก็มีเพียงป้ายประทับ “ระดับนานาชาติ” คล้ายๆ กับรางวัล “ซีไรต์” ซึ่งมีฉลากนานาชาติ แต่กระบวนการพิจารณาถูกรวบอำนาจเบ็ดเสร็จโดยสถาบันส่วนกลางของรัฐชาติ
ยังมิต้องกล่าวว่า ในบรรดาผู้รับรางวัลแม่น้ำโขงอวอร์ดนั้น ไม่มีผู้ใดเลยที่มีภูมิลำเนาจากชุมชนลุ่มน้ำโขง หรือเล่าถึงชุมชนลุ่มน้ำโขงในฐานะ “คนใน” ที่นับว่าตนมีเทือกเถาเหล่ากอ มีเครือญาติชาติพันธุ์เป็นส่วนหนึ่งของเรื่องที่ตัวเองเล่า
แน่นอนว่าการเล่นพรรคพวกเป็นปัญหาใหญ่ ผ่านมาหลายต่อหลายปีแล้ว กลับไม่มีผู้รับรางวัล “แม่น้ำโขงอวอร์ด” สัญชาติไทยคนไหนเลยที่มีพื้นเพมาจากชุมชนลุ่มน้ำโขง
แต่ประเด็นไม่ใช่การประท้วงการละเลยนักเขียนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง จากภูมิภาคใดภูมิภาคหนึ่ง ปัญหาที่ลึกไปกว่าก็คือการยอมรับรัฐชาติว่าเป็นเวทีในการที่จะสานสัมพันธไมตรีทางวัฒนธรรมระหว่างคนหลายเชื้อชาติหลายภาษา ซึ่งควบคู่ไปกับการมองตนว่าเป็นทูตสันถวไมตรีประจำรัฐชาติหนึ่งๆ ที่ต้องเป็นตัวแทนที่เชิดหน้าชูตารัฐชาติที่ตัวเองสังกัดและสานสัมพันธ์อันดีกับรัฐอื่น
ความรู้สึกดีๆ ของทูตสันถวไมตรีของรัฐ
กฤษณา อโศกสิน แสดงทรรศนะว่าด้วยหน้าที่ของนักเขียนในฐานะทูตสันถวไมตรีระหว่างประเทศ (ในกรณีนี้คือการไปเรียนรู้เรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของเขมรแดงที่กัมพูชา) ไว้ในรายงาน “วรรณกรรมแม่น้ำโขง: สายสัมพันธ์เพื่อนบ้านผ่านตัวหนังสือ” ว่า
“คนอื่นๆ ในดินแดนเหล่านี้เขาก็เป็นคนเช่นเดียวกับเรา มีคนดีคนไม่ดี ไปครั้งนี้ได้พบเห็นคนดีๆ เยอะ ก็เลยคิดว่าความสัมพันธ์ระหว่างประเทศนี้เราจะต้องต้องรักษา เวลาที่เขียนหนังสือดิฉันรู้สึกว่าตัวเองจะมีหน้าที่อยู่อย่างหนึ่งว่าจะต้องเขียนในฐานะทูตสันถวไมตรี ดิฉันจะไม่เขียนอะไรที่ทำร้ายความเป็นมิตรระหว่างประเทศ ไม่ว่าเขาจะมีเรื่องส่วนตัวเลวร้ายที่สะเทือนใจเพียงใด เช่น ไปเห็นเรื่องความสยดสยองอย่างที่เล่ามาก็คิดว่ามันเป็นเรื่องของเขา เราไม่เกี่ยว ไม่ต้องไปเกลียดหรือไปรักมาก เราคิดถึงส่วนรวมของประเทศต่อประเทศว่าควรจะเป็นมิตรกัน เพราะเราก็เห็นแล้วว่าความขัดแย้งระหว่างประเทศมันนำความทุกข์ยากมาให้กับประชาคมโลกอย่างที่คาดไม่ถึงเหมือนกัน”
การคำนึงถึงมิตรภาพระหว่างประเทศในการสร้างงานศิลปะเป็นเรื่องไม่เสียหาย แต่สำหรับคุณกฤษณา มีเส้นแบ่งระหว่าง “เรื่องของเรา” กับ “เรื่องของเขา” ที่ชัดเจนตายตัว ไม่เปิดช่องชี้ให้เห็นว่าชะตากรรมของคนในประเทศเพื่อนบ้านนั้นเกี่ยวร้อยกันกับชะตากรรมของคนในประเทศของเราอย่างไร
ออกจะประหลาดเมื่อขยายตรรกะทำนอง “ไฟในอย่านำออก ไฟนอกอย่านำเข้า” มาใช้ในระดับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เพราะประเทศไม่ใช่ครอบครัว “เรื่องส่วนตัว” ของประเทศเพื่อนบ้านไม่ใช่เรื่องที่เรา “ห้ามเสือก”
การจะคิดได้ทำนองนี้ ต้องคิดไปก่อนแล้วว่าแต่ละรัฐชาติมีเรื่องราวที่เป็นเอกเทศ นักเขียนมีสังกัดของรัฐชาติที่ชัดเจน และนักเขียนมีหน้าที่คือต้องคิดถึงภาพลักษณ์ของประเทศที่ตนเขียนถึง
ถึงกระนั้น คุณกฤษณาเองก็มีผลงานนวนิยายเชิงประวัติศาสตร์ที่เล่าถึงบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา ซึ่งผู้เขียนบทความได้อรรถาธิบายไว้ว่า “นวนิยายเรื่องนี้เป็นเสมือนตัวเชื่อมความสัมพันธ์ที่จะทำให้ผู้อ่านเกิดความรู้สึกดี เห็นอกเห็นใจในชะตากรรมของประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งพบเจอกับสิ่งเลวร้ายหลายต่อหลายครั้ง” เมื่อพิจารณาดูแล้ว “ความรู้สึกดี” ของผู้อ่านที่ว่านี้ ดูจะวางอยู่บนความสัมพันธ์ที่ไม่เท่าเทียมนัก เพราะฝ่ายหนึ่งคือประเทศที่พบเจอสิ่งเลวร้าย ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งคือฝ่ายผู้ที่มารับรู้และเห็นอกเห็นใจ
คำว่า “ส่วนรวม” ในการ “คิดถึงส่วนรวมของประเทศต่อประเทศ” ของคุณกฤษณา ในอีกแง่หนึ่งจึงเป็นมุมมองแบบ “ภาพรวม” จาก “ศูนย์กลางอำนาจรัฐ” เป็นการละเลยการมีอยู่ของนักเขียนที่ไม่ได้มีสำนึกที่แยกขาดว่าตนเป็นตัวแทนของรัฐใด และละเลยความหลากหลายของแนวคิดและประสบการณ์ของผู้คน ซึ่งสังกัดรัฐชาติอาจไม่ได้เป็นตัวกำหนดสำคัญ
พันธกิจของการเป็นทูตสันถวไมตรีทำนองนี้ ไม่ได้มีแต่กฤษณา อโศกสินที่ยึดถือ นักเขียนสัญชาติไทยทุกคนที่ได้รับรางวัล “แม่น้ำโขงอวอร์ด” ก็พูดถึงบทบาทวรรณกรรมในเวทีระหว่างประเทศไม่มากก็น้อย ฉันเห็นว่าหลายๆ คน ตีความบทบาทของวรรณกรรมในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้ดีกว่า แต่ถึงอย่างไรก็ยังไม่มีใครพูดจากจุดยืนที่ไม่ได้เป็นตัวแทนของรัฐชาติจริงๆ
ผู้ชนะรางวัลปี 2017 เรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์ ให้สัมภาษณ์ คม ชัด ลึก ไว้ว่า
“ผมมองว่างานวรรณกรรมก็คือการชำระประวัติศาสตร์กระแสหลัก ประวัติศาสตร์ที่บิดเบือน ประวัติศาสตร์ที่ก่อให้เกิดบาดแผลและความบาดหมางระหว่างประเทศร่วมภูมิภาค ดังนั้น รางวัลอาจทำให้เราสามารถเปลี่ยนแปรแก้ไขความผิดพลาดต่างๆ นานาที่เกิดขึ้นในอดีตได้ และยังส่งเสียงสะท้อนไปถึงประเทศที่มีอำนาจเหนือกว่า ในกรณีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติร่วมกันอย่างเอาเปรียบ เช่น แม่น้ำ เป็นต้น”
ถึงแม้ฉันจะไม่มีข้อติใดๆ ต่อทัศนคติที่น่านับถือของเรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์ ก็ยังอยากตั้งข้อสังเกตว่า ตำแหน่งแห่งที่ของนักเขียนสัญชาติไทยที่ได้รับ “คัดเลือก” ให้ได้รางวัลแม่น้ำโขงอวอร์ดทั้งหลาย ก็ยังอยู่ในปริมณฑลของศูนย์กลางของอำนาจรัฐอยู่นั่นเอง แม้จะผิดแผกจากประวัติศาสตร์กระแสหลัก แม้จะมุ่งสื่อสารไปยังประเทศที่มีอำนาจเหนือกว่าก็ตาม
ข้อวิพากษ์วิจารณ์ที่กล่าวมานี้อาจจะใช้ได้กับสถาบันทางวรรณกรรมและสมาคมนักเขียนอื่นๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นระดับชาติ ระดับภาค หรือระดับท้องถิ่น ตัวอย่างอันดีตัวอย่างหนึ่งคือสุนทรพจน์ของ Mr. Ladwintha Saw Chit ประธานสมาคมนักเขียนเมียนมา ที่กล่าวต่อคณะผู้แทนสมาคมนักเขียนประเทศไทย ในโอกาสที่นักเขียนของสองประเทศมาเซ็น MOU เพื่อทำงานแปลและแลกเปลี่ยนผลงานวรรณกรรมระหว่างกัน (แปลเป็นภาษาไทยโดย อ.ขวัญข้าว สังขพันธานนท์ และเผยแพร่ในหน้าเพจเฟซบุ๊กของสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยในเดือนพฤศจิกายนปี 2015) ต่อไปนี้เป็นส่วนหนึ่งของสุนทรพจน์
“ข้าพเจ้ามีความยินดีที่ได้ต้อนรับทุกท่านด้วยมิตรภาพและความอบอุ่น ข้าพเจ้าพูดภาษาไทยได้แค่คำเดียวเท่านั้นคือ สวัสดี
ข้าพเจ้ารู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ทุกท่านให้เกียรติเดินทางมาที่สมาคมนักเขียนเมียนมา กรรมการของสมาคมนักเขียนเมียนมาก็รู้สึกเป็นเกียรติที่ได้มาร่วมต้อนรับคณะของท่าน
ประเทศไทยกับประเทศเมียนมาก็เป็นเพื่อนบ้านกันมายาวนาน เป็นมิตรที่ดีต่อกันอย่างยั่งยืน เรามีวัฒนธรรมและประเพณีที่คล้ายคลึงกัน เรามีศาสนาเดียวกัน มีพิธีกรรมทางศาสนาหลายอย่างที่เหมือน ๆ กัน
เมื่อครั้งที่ข้าพเจ้าไปเดินทางไปร่วมประชุมกับนักเขียนจากหลายประเทศในอาเชียนที่ภูเก็ต ก็เห็นว่าแม้แต่การแต่งกาย อาหารการกิน เราก็มีความคล้ายคลึงกัน ผู้คนก็มีหน้าตาคล้ายกัน มีคนมาทักทายข้าพเจ้าว่า คุณมาจากเชียงใหม่ใช่ไหม ข้าพเจ้าตอบว่าไม่ใช่ ข้าพเจ้าเดินทางมาจากพม่า เขาจึงพูดว่า มิงกะลาบา
ข้าพเจ้าสังเกตว่า มีขนมหลายอย่างที่เหมือนกัน เช่น ขนมครก ของไทยกับของพม่ารสชาติก็ไม่ได้แตกต่าง และยังอร่อยเหมือนกันอีก
ในโอกาสที่เราซึ่งเป็นนักเขียนด้วยกัน สมาคมนักเขียนของทั้งสองประเทศได้มาเซ็น MOU ทำงานเกี่ยวกับวรรณกรรมแลกเปลี่ยนของทั้งสองประเทศ ข้าพเจ้าก็มีความหวังว่า เราจะต้องมีความสนิทสนมแน่นแฟ้นขึ้นกว่าเดิม
สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ได้จัดทำวรรณกรรมไทย-มาเลเซีย ไทย-กัมพูชา ไทย-เวียดนาม ไทย-ลาว ไทย-อินโดนีเซีย จึงทำให้ข้าพเจ้ามีความหวังว่า คงจะได้เห็นวรรณกรรมไทย-เมียนมา ขึ้นในเร็ว ๆ นี้ ทางสมาคมนักเขียนพม่าจะรีบดำเนินการคัดเลือกทั้งเรื่องสั้นและบทกวี และจะพยายามทำให้ให้ทุกขั้นตอนเป็นไปอย่างรวดเร็วที่สุด
โลกปัจจุบันนี้ เราไม่ได้คิดแต่จะแปลผลงานวรรณกรรมของชาติอื่นมาเป็นภาษาพม่า แต่เราก็มีความหวังว่า งานวรรณกรรมของพม่าจะได้ต้องรับการแปลไปสู่ภาษาอื่น และประเทศอื่นด้วย
ข้าพเจ้าคิดว่า เมื่อทุกคนได้อ่านงานเขียนที่ดี สังคมของมนุษยชาติก็จะมีความเห็นอกเห็นใจ เข้าใจและมีความใกล้ชิดสนิทสนมแน่นแฟ้นขึ้น และเมื่อได้อ่านมากๆ เราก็จะรู้สึกว่า เราเป็นสังคมเดียวกัน”
หากอ่านอย่างวิพากษ์ วาทะของคุณ Ladwintha Saw Chit สามารถชี้ให้เห็นถึงปัญหาของการให้สถาบันศูนย์กลางทางวรรณกรรมเป็นผู้กำกับงานการสร้างสำนึกเป็นปึกแผ่นระหว่างประเทศ -- นั่นคือสร้างความเป็นปึกแผ่นด้วยการลบเลือนความหลากหลายภายในประเทศทั้งสองฝ่าย เพื่อสร้างความรู้สึกดีๆ ที่ทั้งไทยและเมียนมา “มีศาสนาเดียวกัน” (พุทธศาสนา?) ไปจนกระทั่งให้ความสำคัญกับภาษามาตรฐานประจำชาติเหนือกว่าภาษาถิ่น ความหลากหลายแห่งมนุษยชาติถูกลดทอนเป็นทิวแถวธงของรัฐชาติหลากสีสัน แต่ความหลากหลายภายในถูกกดทับไว้ ความรู้สึกดีๆ ที่ว่า “เรา[มนุษยชาติ]เป็นสังคมเดียวกัน” อาจตื้นเขินกว่าที่ควรเป็น
ฉันไม่ได้หวังสูงว่า ผลงานจากเมียนมาที่ทางสมาคมนักเขียนแห่งสหภาพเมียนมาคัดเลือก จะเป็นผลงานที่ชิดใกล้กับสภาพความเป็นจริงทั้งหลายของชายขอบประเทศ และยิ่งหวังน้อยลงไปอีกว่าสมาคมนักเขียนแห่งสหภาพเมียนมาจะผลักดันส่งเสริมช่างวรรณกรรมผู้มีพื้นเพจากชายขอบและมีมุมมองทางการเมืองต่อต้านอำนาจรัฐศูนย์กลาง
ระบบอุปถัมภ์วรรณกรรมแห่งประเทศไทย
ฉันไม่ปฏิเสธว่าการพยายามช่วงชิงพื้นที่และอิทธิพล ณ ศูนย์กลางอำนาจรัฐเป็นเรื่องไม่เสียหาย และไม่ปฏิเสธอีกเช่นกันว่าเพื่อความอยู่รอด นักเขียนมีสิทธิโดยชอบธรรมที่จะแสวงประโยชน์จากระบบอุปถัมภ์วรรณกรรมแห่งชาติ แต่เมื่อย้อนกลับมามองที่ตัวฉัน ซึ่งยังคงเสาะหาที่ทางให้ตัวเองอยู่ในบรรณพิภพ ฉันเห็นว่าจะเป็นการดีกว่าหากเส้นทางวรรณกรรมของฉันเลาะเลียบอยู่รอบนอกวงการอุปถัมภ์วรรณกรรมแห่งชาติ
ตั้งแต่เรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษา ฉันพยายามแสวงหาโอกาสฝึกฝนเขียนและแสดงผลงาน ตอนอยู่ม.ต้นฉันรวบรวมบทกวีเป็นแฟ้มผลงานส่งไปประกวดรายการ ยุวกวี ของสมาคมนักกลอนแห่งประเทศไทย ชิงรางวัลพระราชทานพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ตอนอยู่ ม.ปลาย นอกจากส่งกลอนไป โครงการประกวดร้อยกรองออนไลน์ แล้ว ฉันได้สมัครไปเข้าร่วมอบรมโครงการ กล้าวรรณกรรม ที่สนับสนุนโดยบริษัทซี พี ออลล์ จนได้อบรมต่อยอด ยอดกล้า ฉันไปแข่งขันความรู้ด้านภาษาไทยในเวที เพชรยอดมงกุฎ ชิงถ้วยรางวัลพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี พร้อมทุนการศึกษาพระธรรมภาวนาวิกรม ฯลฯ
การได้เข้าร่วมงานเหล่านี้ ทำให้ฉันได้ไปเรียนรู้จากประสบการณ์และทรรศนะของกวีนักเขียนผู้ทรงคุณวุฒิหลายคนในวงการวรรณกรรมไทย ไม่ว่าจะเป็น ชมัยภร แสงกระจ่าง วัฒน์ วรรยางกูร (สมัยนั้นการเมืองเสื้อเหลือง-เสื้อแดงยังไม่ถึงจุดวิกฤต) ไพวรินทร์ ขาวงาม อดุล จันทรศักดิ์ กนกวลี พจนปกรณ์ อรสม สุทธิสาคร ฯลฯ
แต่ที่สำคัญกว่านั้น คือฉันได้รู้จักกับเพื่อนพี่น้องรุ่นไล่ๆ กัน ที่สนใจการเขียนวรรณกรรม หรือกระทั่งใฝ่ฝันอยากยึดการเขียนเป็นอาชีพ เกิดเป็นความสัมพันธ์ที่ทอดยาวเกินวัยเรียน จนต่างคนต่างเรียนจบและหางานทำ และพบว่าการเขียนเพื่อเลี้ยงตน ไม่ง่ายเลย
ในช่วงที่การเมืองเสื้อเหลือง-เสื้อแดงปะทุใหญ่ ฉันและมิตรสหายวรรณกรรมได้เห็นการแตกหักภายในวงการนักเขียนไทย อดไม่ได้ที่พวกเราหลายคนจะเอนเอียงไปทางข้างใดข้างหนึ่ง ฉันเริ่มเอียนกับขนบการเขียนงานให้ถูกตาต้องใจกรรมการชุดเดิมๆ ที่เวียนไปตัดสินทุกเวทีประกวดวรรณกรรมที่พากันผุดขึ้นมาล่อใจพวกเรา
ฉันเริ่มตั้งคำถามอย่างจริงจังกับโครงสร้างเชิงอุปถัมภ์เหล่านี้ ที่ดูเผินๆ เหมือนมีเพื่อสนับสนุนการสร้างสรรค์งานศิลปะ และการเจริญเติบโตทางปัญญา แต่ผลที่เกิดขึ้นกลับเป็นภัยโดยการตีกรอบอุดมการณ์และจำกัดนวัตกรรมการสร้างสรรค์ของนักเขียนใหม่อย่างพวกเราเสียเอง
ภาวะการถูกหล่อเลี้ยงโดยอุปถัมภกผู้ร่ำรวยและทรงอำนาจ ย่อมมีอิทธิพลต่อการสร้างงานของนักเขียนอย่างเลี่ยงไม่ได้ งานแปลกๆ แหกขนบที่ออกมาจากชายขอบ ที่สามารถผลักดันเพื่อพัฒนาให้สุดขีดศักยภาพ ก็อาจถูกเมินไม่ให้การสนับสนุนที่จำเป็น งานที่ซ้ำซาก ไม่น่าจะสร้างต่อไปแล้วในตลาดวรรณกรรม ก็กลับถูกต่ออายุโดยกรอบของรสนิยมผู้ถืออำนาจศูนย์กลาง
หากจะมีวิวัฒนาการของกรอบรูปแบบและเนื้อหาไปบ้าง มันก็เคลื่อนไปช้าเกินกว่าจะหนุนพัฒนาการทางศิลปะของพวกเรา ระบบอุปถัมภ์นี้รังแต่จะถ่วงเราไม่ให้ค้นพบวิธีการเขียนที่ดีกว่า ที่เข้าใกล้ความเป็นจริงของสังคมร่วมสมัยมากกว่า
คนแรกๆ ที่ฉันตั้งคำถามด้วยก็คือมิตรสหายคนหนึ่งจากค่าย กล้าวรรณกรรม ผู้พากเพียรเขียนกวีนิพนธ์เพื่อรวมเล่มทำมือส่งประกวด เซเว่นบุ๊คอวอร์ด ทุกปีๆ เขาส่งต้นฉบับมาให้ฉันอ่าน และฉันจะตั้งคำถามกับเขาอู่เสมอว่า ทำไมเขาจึงต้องขึ้นเล่มด้วยบท “อาเศียรวาท”? ทำไมเนื้อหาบทกวีส่วนใหญ่ของเขาจึงว่ายวนอยู่กับประเด็น “เพื่อชีวิต” ที่นำเสนอแบบเดิมๆ หวังให้ผู้อ่านสะเทือนใจต่อวิถีชีวิตชนชั้นล่าง?
คำตอบหนึ่งของมิตรสหายท่านนี้ที่ฉันเถียงต่อไม่ได้ ก็คือถ้าไม่ให้เข้าร่วมการประกวดทำนองนี้ (ที่ฉันอ้างว่าคับแคบเกินไป) แล้วเขาจะหารายได้จากการเขียนได้อย่างไร งานประจำของเขาคือการเป็นครูฝึกสอน ก็ไม่ได้มีรายได้มากนัก
คำตอบนี้ชวนให้นึกถึงเรื่องสั้นเรื่องหนึ่งของอุทิศ เหมะมูล ในเล่ม สามานย์ สามัญ ที่เนื้อหาเป็นปาฐกถานักเขียนผู้ได้รับรางวัลทางวรรณกรรมอันทรงเกียรติ แต่ปาฐกถานี้ไม่ได้ดำเนินไปอย่างไพเราะรื่นหูอย่างสุนทรพจน์นักเขียนรางวัลซีไรต์ที่โรงแรมโอเรียนเต็ล หากเป็นถ้อยคำประณามระบบอุปถัมภ์วรรณกรรมโดยบริษัทเกษตรรายใหญ่ที่ทำฟาร์มบนหลังคน ซึ่งรวมไปถึงแม่ของนักเขียนในเรื่องด้วย การมารับรางวัลที่สนับสนุนโดยบริษัทเดียวกันนั้นจึงเป็นเรื่องตลกร้าย เจ็บแสบ ขมขื่น ความเป็นอยู่ที่สูญเสียไปของผู้เป็นแม่นั้นไม่อาจกู้กลับมาได้ด้วยรางวัลทางวรรณกรรม ถ้อยคำเป็นอาวุธเดียวที่นักเขียนมีเหลือเพื่อตอบโต้
เมื่อปีที่แล้ว ปีสุดท้ายที่ฉันเข้าข่ายเป็น “นักเขียนรุ่นเยาว์” ในเวทีประกวดวรรณกรรมที่มีจัดประกวดศิลปินนักเขียนอายุไม่เกิน 25 ปีออกมาต่างหาก ไม่ว่าจะเป็นเซเว่นบุ๊คอวอร์ด หรือยังไทยอาร์ทิสต์อวอร์ดของเครือปูนซีเมนต์ไทย ฉันไม่ได้ส่งผลงานอะไรไปประกวดแล้ว ถึงแม้ใจหนึ่งก็อยากจะได้เงินหมื่นเงินแสนกับเขาอยู่
ถ้าเกิดฉันมาจากครอบครัวที่ไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจและไม่ได้มีรายได้เพียงพอ ฉันก็คงส่งประกวดเหมือนกันนั่นแหละ
ที่ได้กล่าวไปแล้วนี้มีจุดมุ่งหมายอะไร ชี้ทางอะไรข้างหน้าสำหรับนักสร้างสรรค์วรรณกรรมผู้รวมกลุ่มกันเป็นสมาคมในนาม สมาพันธ์วรรณกรรมแม่น้ำของ? สมาคมนักเขียนที่ใช้แม่น้ำโขงเป็นชื่อเรียกตัว แต่ “แม่โขง” ไม่ได้เป็นเพียงนาม?
อิสรภาพอย่างใหม่ของผู้ลี้ภัยการเมือง
“ประชาคมอาเซียน” ที่ประโคมข่าวกันเป็นวาระแห่งชาติในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ทุกวันนี้ทิ้งร่องรอยไว้ในสถานที่ราชการ ธงประจำชาติอาเซียนซีดเก่าขาดคาเสา ในร้านเช่าชุดประจำชาติหญิง-ชาย ไว้ในป้ายไวนิลสอนคำทักทาย ซินจ่าว เซลามัต ดาตัง สะบายดี อยู่ในหนังสือรายงานความยั่งยืนประจำปีของบริษัทไทยเบฟ ที่ได้สนับสนุนวงดนตรีพื้นบ้านจากสิบประเทศอาเซียน C asean Consonant ให้ไปสู่เวทีสากล สะท้อนในภาพแสดงความสัมพันธ์อันดีระหว่างในหลวงภูมิพลกับรัฐบาลคอมมิวนิสต์เวียดนามในพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์โฮจิมินห์
หากไม่ตั้งตนเป็นทูตสันถวไมตรีผู้เป็นหน้าเป็นตาให้ประเทศชาติ ไม่เป็นตัวแทนผู้มีอุปถัมภกหล่อเลี้ยงอุ้มชูแล้ว มีบทบาทอะไรอีกบ้างที่ผู้สร้างสรรค์วรรณกรรมข้ามชาติจะเปรียบตนเข้าได้?
ในยุค AEC ฐานการผลิตของบริษัทใหญ่ทั้งไทยเทศข้ามพรมแดนได้อย่างเสรีและเขตเศรษฐกิจพิเศษแพร่ลามเหมือนเชื้อร้าย ในยุค AEC โลมาแม่น้ำโขงในประเทศลาวได้สูญพันธุ์ไปแล้วโดยปริยาย ในยุค AEC ผู้คนยังคงดิ้นรนหาหนทางข้ามทั้งเส้นพรมแดนบนแผนที่และเส้นแบ่งที่ถูกขีดไว้ภายใน ครูชาวคาเมรูนสอนภาษาอังกฤษในโรงเรียนน้ำพองศึกษา ครูชาวฟิลิปปินส์ที่กลายเป็นแดร็กควีนในบาร์เกย์กรุงเทพ แม่หญิงลาวข้ามฝั่งโขงมาทำงานรับจ้างทางการเกษตรตามฤดูกาล ดิจิตอลโนแมดสัญชาติสหรัฐอเมริกามาตั้งหลักแหล่งในเชียงใหม่เพื่อค่าครองชีพถูกๆ ที่แพงขึ้นเป็นลำดับสำหรับคนที่อยู่มาก่อน ในยุค AEC คนไทยทำทีเป็นนักท่องเที่ยวบินไปเกาหลีใต้แต่แล้วถูกส่งตัวกลับตั้งแต่ที่สนามบิน วัยรุ่นยุโรปเชื้อสายอีสานกลายมาเป็นดาราในวงการบันเทิงไทย นักเรียนนอกไปแล้วไม่กลับแต่ก็เชื่อว่าตนกำลังทำหน้าที่ตอบแทนสังคมในฐานะพลเมืองโลก เด็กชาวปกาเกอะญอจากพม่าข้ามพรมแดนเพื่อโอกาสทางการศึกษาที่พอมีในค่ายผู้ลี้ภัย...
ความคิดของฉันมาสะดุดอยู่กับผู้ลี้ภัยทางการเมือง ฉันคิดถึงการ์ตูน ชนกนันท์ รวมทรัพย์ ที่ตัดสินใจหนีออกนอกประเทศทันทีที่เธอตระหนักว่าถ้าเธอไปตามหมายเรียก เธออาจกลายเป็น “ไผ่ ดาวดิน” คนใหม่ ฉันคิดถึงพล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์ ผู้ขอลี้ภัยในออสเตรเลียเพราะเกรงถูกหมายเอาชีวิตเพราะสืบไปเจอ “ตอ” ในขบวนการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญา -- คนที่เลือกหนีจากประเทศที่ไม่เห็นค่าพวกเขา หนีไปเพื่อรักษาชีวิตของตนเอง
ฉันคิดถึงหนุ่ม เรดนนท์ ที่เคยเขียนเล่าถึงชีวิตที่ต้องพลัดพรากจากครอบครัวมาอยู่ต่างประเทศ กับการพยายามเป็นผู้ประกอบการขายลูกชิ้นหาเลี้ยงชีพ ฉันคิดถึงวัฒน์ วรรลยางกูร ที่ระหกระเหินไปตั้งแต่เกิดรัฐประหารปี 2014 แต่ก็ยังส่งเสียงกลับมาอยู่เรื่อยๆ ตลอดเวลาที่ผ่านมา -- คนที่อยู่กับการรอคอย เก็บหอมรอมริบเงินและงานไปด้วยความหวังและศรัทธาอย่างเงียบๆ
ฉันคิดถึงสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ที่ตั้งแต่ย้ายไปอยู่ที่ปารีส ท่วงท่าและเนื้อหาที่แสดงออกผ่านสื่อสังคมออนไลน์ก็เป็นอิสระมากขึ้นจากที่เคยระวังการตีความทุกคำทุกประโยค ฉันคิดถึงอั้ม เนโกะ ผู้ใช้สิทธิเสรีภาพการแสดงออกอย่างเต็มที่ในปารีสจนคนในประเทศที่เคยเห็นใจเธอถึงกับหันมาด่าเธอ -- คนที่ค้นพบอิสรภาพอย่างใหม่ในแผ่นดินอื่น ขยายเสียงความคิดความเชื่อของตนขึ้นอย่างไม่เกรงอำนาจ
ฉันคิดถึงจรรยา ยิ้มประเสริฐ ผู้ตั้งหลักลี้ภัยที่ฟินแลนด์ แล้วได้เขียนหนังสือเล่าเรื่องชีวิตรัก เปลื้องผ้าและไม่ไทยเลย ขายเป็นอีบุ๊คออนไลน์ ขณะพยายามเรียนภาษาฟินนิชและภาษาอีสาน ฉันคิดถึงเจ้าชายสี่คนในสหรัฐอเมริกาที่เพียรส่งจดหมาย ส.ค.ส. กลับประเทศทุกๆ เทศกาลปีใหม่ แต่ชีวิตพวกเขาก็เดินไปข้างหน้าตามเส้นทางอาชีพที่ตนไขว่คว้ามาได้ -- คนที่สร้างเส้นทางใหม่ในแผ่นดินอื่น พร้อมเปิดรับสิ่งใหม่ๆ โอกาสใหม่ๆ ที่จะมาเยือนชีวิตที่เหมือนจะต้องพลัดถิ่นไปถาวร
หากจะก้าวจากการทำงานวรรณกรรมแบบทูตสันถวไมตรี ไปสู่การทำงานวรรณกรรมข้ามชาติอีกแบบ พวกเราน่าจะลองสวมบทบาทเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมืองบ้าง
ผู้ลี้ภัยทางวรรณกรรมเลือกหลีกหนีจากระบบอุปถัมภ์วรรณกรรมแห่งชาติที่ไม่เห็นค่าพวกเรา หนีไปเพื่อรักษาพลังชีวิตของตนเอง พลังแห่งการสร้างสรรค์ผลงานที่ถือขนบต่างออกไปจากของอำนาจรัฐศูนย์กลาง
ผู้ลี้ภัยทางวรรณกรรมอยู่กับการรอคอยให้แผ่นดินที่ตนจากมาไปสู่จุดที่ดีกว่าเดิม เก็บหอมรอมริบความคิดและผลงานไปด้วยความหวังและศรัทธาอย่างเงียบๆ ไม่คาดหวังสินจ้างรางวัลตอบแทนการบุกบั่นไปตามความปรารถนาของเราเอง
ผู้ลี้ภัยทางวรรณกรรมค้นพบอิสรภาพอย่างใหม่ในแผ่นดินอื่น แผ่นดินที่ไม่มีศูนย์กลางทางรสนิยม ไม่มีการเล่นพรรคพวก ต่างคนต่างสามารถขยายเสียงความคิดความเชื่อของเราได้อย่างไม่เกรงอำนาจ แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้ถือเสียงของตนว่าเป็นเสียงตัวแทนของกลุ่มชนชาติใด ไม่จำเป็นต้องพูดแต่ด้านดีของแผ่นดินของเรา
ผู้ลี้ภัยทางวรรณกรรมสร้างเส้นทางใหม่ในแผ่นดินอื่น พร้อมเปิดรับสิ่งใหม่ๆ โอกาสใหม่ๆ ที่จะมาเยือนเส้นทางวรรณกรรมที่เหมือนจะไม่ได้กลับไปผนวกกับอำนาจศูนย์กลางอย่างถาวร
เมื่อตระหนักแล้วว่าเราตกอยู่ในสภาวะข้ามชาติ คร่อมเส้นพรมแดนอยู่โดยไม่รู้ว่าสุดท้ายเราจะไปลงเอยที่ไหน เราก็น่าจะใช้สภาวะเช่นนี้ให้เป็นประโยชน์ เอามาสร้างผลงานที่แตกต่าง ผลงานที่ไม่อิงอยู่กับสำนึกของความเป็นชาติ ไม่ว่าชาติของเราหรือชาติของเขา ผลงานที่อิงอยู่กับสำนึกของแม่น้ำที่เป็นสัญลักษณ์ของการไหลข้าม สำนึกของแม่น้ำที่เชื่อมแผ่นดินเข้าหากันแทนที่จะเป็นเส้นพรมแดนแบ่งแยกแผ่นดิน สำนึกเป็นปึกแผ่นเดียวกันที่ยอมรับความหลากหลายและความขัดแย้งภายในทุกหนแห่ง ไม่ได้อิงอยู่กับการลบเลือนมันเพื่ออ้างความสมานฉันท์ปรองดอง
ฉันมองว่า สมาพันธ์วรรณกรรมแม่น้ำของ เสนอตัวว่าจะทำหน้าที่สร้าง “แผ่นดินใหม่” นั้นสำหรับผู้ที่ต้องการเปิดพื้นที่วรรณกรรมที่ปฏิเสธผู้ถืออำนาจรัฐ เพื่อสร้างอำนาจให้แก่ผู้อยู่ชายขอบให้ดีดตัวขึ้นมาด้วยความภาคภูมิใจในตนเอง ก้าวสู่ยุคที่ใครๆ ก็สามารถเป็นจุดเชื่อมย่อขนาดย่อมได้โดยไม่ต้องมีสมองส่วนกลางสั่งการ
สำหรับฉันเอง แผ่นดินใหม่นี้อาจมีชื่อว่า สาธารณรัฐลาวล้านช้างฝั่งขวาแม่น้ำของ หรืออาจยังต้องระหกระเหินต่อไปที่อื่น ฉันเองไม่แน่ใจว่าการรอนแรมทางวรรณกรรมของฉันจะมีจุดหมายปลายทางที่ไหน อย่างน้อยที่สุด ในคืนนี้ขอฉันได้แรมทาง.
เผยแพร่ครั้งแรกใน: Fanpage ปลดกระฎุมพีระ :: PEERA'S PUBLIC BEDROOM [1]
| ['บทความ', 'การเมือง', 'วัฒนธรรม', 'พีระ ส่องคืนอธรรม', 'สมาพันธ์วรรณกรรมแม่น้ำของ', 'ผู้ลี้ภัยการเมือง', 'วรรณกรรม'] |
https://prachatai.com/print/79396 | 2018-11-01 14:33 | ฎีกายืนยกฟ้อง 'มัลลิกา' ไม่หมิ่น 'ยิ่งลักษณ์' ปม ว.5 โฟร์ซีซั่นส์ ชี้เป็นการตรวจสอบรัฐบาล | ศาลฎีกาพิพากษายืนยกฟ้อง 'มัลลิกา' ระบุไม่หมิ่นประมาท 'ยิ่งลักษณ์' กรณีแถลงข่าวประพฤติผิดจริยธรรม หนีประชุมสภาไป ว.5 โฟร์ซีซั่นส์ ชี้เป็นการตรวจสอบรัฐบาลในฐานะฝ่ายค้านไม่ใช่การใส่ความ
ภาพขวา มัลลิกา ภาพจากเพจ Banrasdr Photo [1]
1 พ.ย.2561 สื่อหลายสำนักรายงานตรงกันว่า วันนี้ ที่ห้องพิจารณา 803 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดฟังคำพิพากษาฎีกา คดีหมายเลขดำ อ.2493/2556 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 8 และ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นโจทก์ร่วมกัน ยื่นฟ้อง มัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ เป็นจำเลยในความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นด้วยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328 จากกรณี ว.5 โฟร์ซีซั่นส์
ศาลฎีกาพิพากษาว่า เมื่อโจทก์ร่วมไม่สามารถเปิดเผยเรื่องเกี่ยวกับการประชุมที่โรงแรมโฟร์ซีซั่นส์ได้ ขณะที่ในช่วงเวลาเดียวกันมีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่โจทก์ร่วมเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มีหน้าที่โดยตรงต้องเข้าประชุม เนื่องจากเป็นการพิจารณากฎหมายซึ่งเป็นประโยชน์ของชาติ จึงย่อมเป็นเหตุให้จำเลยซึ่งมีหน้าที่ติดตามตรวจสอบการทำงานของโจทก์ร่วมและในฐานะประชาชนมีสิทธิ์ตั้งข้อสงสัยพฤติกรรมของโจทก์ร่วมได้ การแสดงความเห็นของจำเลยเป็นลักษณะเชิงตั้งคำถามมากกว่ายืนยันข้อเท็จจริง อีกทั้งเมื่อโจทก์ร่วมเป็นนายกรัฐมนตรี ย่อมเป็นบุคคลที่ประชาชนสามารถตั้งข้อสงสัย ติดตามพฤติกรรมและแสดงความเห็นหรือวิพากษ์วิจารณ์ได้ด้วยความเป็นธรรม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 (3) การกระทำจึงไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องนั้นศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย พิพากษายืนให้ยกฟ้อง
เป็นนายกฯย่อมถูกติชมได้ อุทธรณ์ยกฟ้อง ‘มัลลิกา’ ปม 'ว.5 โฟร์ซีซั่น' ชี้ไม่หมิ่นยิ่งลักษณ์ [2]
ชวนนท์-ศิริโชค-เทพไท ขออภัยยิ่งลักษณ์เรื่อง ว.5 โฟร์ซีซันส์ [3]
จำคุก 3 พิธีกรสายล่อฟ้า 1 ปีรอลงอาญา คดีหมิ่นยิ่งลักษณ์กรณี ว.5 โฟร์ซีซั่นส์ [4]
สำหรับคดีนี้ ตามฟ้องโจทก์ว่า เมื่อระหว่างวันที่ 19-20 ก.พ. 2555 จำเลยได้แถลงข่าวหมิ่นประมาท ยิ่งลักษณ์ นายกรัฐมนตรี ขณะนั้น ว่า มีพฤติการณ์และความประพฤติผิดจริยธรรม ทำให้ ยิ่งลักษณ์ เสียชื่อเสียง โจทก์จึงขอให้ยึดทำลายเอกสารที่มีข้อความดังกล่าว และโฆษณาคำพิพากษาของศาลในหนังสือพิมพ์เป็นเวลา 7 วัน
โดยศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 27 เม.ย. 2556 ให้ยกฟ้อง เนื่องจากคำเบิกความของโจทก์และโจทก์ร่วมแตกต่างกันในเรื่องของห้องที่ใช้ในการประชุมที่โรงแรมโฟรซีซั่นส์ และข้อความที่จำเลยแถลงข่าวนั้นก็ไม่ได้ชี้ชัดว่าเป็นการกล่าวหาโจทก์ร่วมในประเด็นเรื่องที่โจทก์ร่วมผิดจริยธรรมหรือไปเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ทับซ้อนอย่างไรบ้าง การแถลงข่าวของจำเลยจึงเป็นการติชมด้วยความสุจริตเป็นธรรม ไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท
ต่อมาเมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2559 ศาลอุทธรณ์พิพากษาเห็นว่า มีพยานเป็นเจ้าหน้าที่โรงแรมโฟร์ซีซั่นส์ เบิกความว่า ในวันที่ 8 ก.ย. 2555 เข้าเวรปฏิบัติหน้าที่ที่ห้อง Executive Club ตั้งแต่เวลา 14.30-23.00 น. ซึ่งมีลูกค้ามารับประทานอาหารและเครื่องดื่ม แต่พยานจำได้ว่าแต่ละคนเป็นลูกค้าที่มาใช้บริการประจำ ดังนั้น จึงแสดงว่าเรื่องที่ ยิ่งลักษณ์ โจทก์ร่วมเข้าร่วมประชุม น่าจะไม่ใช่เรื่องสำคัญถึงขนาดเป็นการลับที่จำเป็นต้องมาพูดคุยในสถานที่ดังกล่าว จนไม่สามารถเปิดเผยได้
(ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์ [5] ไทยโพสต์ [6]และไทยรัฐออนไลน์ [7])
คดีเกี่ยวกับ ว.5 โฟรซีซั่นส์ มีอีกคดีที่น่าสนใจคือ คดีที่ ยิ่งลักษณ์ ยื่นฟ้อง ชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคประชาธิปัตย์, เทพไท เสนพงศ์ อดีต ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ และ ศิริโชค โสภา อดีต ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ผู้ดำเนินรายการ “สายล่อฟ้า” ทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมบลูสกาย กล่าวทำนองว่าไม่เข้าร่วมภารกิจประชุมของรัฐสภา และน่าจะเดินทางไปกระทำภารกิจ ว.5 ที่โรงแรมโฟร์ซีซั่นส์ เมื่อ ก.พ.2555 ซึ่งศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา ว่าจำเลยทั้งสามกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท โดยการโฆษณาตามฟ้องจริงให้จำคุกจำเลยทั้งสาม คนละ 1 ปี ปรับคนละ 5 หมื่นบาท แต่จำเลยทั้งสามไม่เคยต้องโทษมาก่อน จึงให้รอลงอาญาไว้2ปี ส่วนศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น
และล่าสุดเมื่อวันที่ 19 ต.ค.ที่ผ่านมา ข่าวสดออนไลน์ รายงานว่า นรวิชญ์ หล้าแหล่ง และสมหมาย กู้ทรัพย์ ทนาย ยิ่งลักษณ์ เดินทางมาศาล ส่วนฝ่ายจำเลยมี เทพไท และ ศิริโชค เดินทางมาศาล ส่วน ชวนนท์ ไม่เดินทางมาศาล ซึ่งทนายได้รับมอบอำนาจโจทก์ร่วมเดินทางมายื่นคำร้องขอถอนฎีกา ซึ่งก่อนหน้านี้มีเงื่อนไขอยู่ 2 อย่างคือให้จำเลยยอมรับผิด เเละขอโทษกับการกระทำดังกล่าว
| ['ข่าว', 'การเมือง', 'มัลลิกา บุญมีตระกูล', 'ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร', 'ว.5 โฟร์ซีซั่นส์', 'หมิ่นประมาทผู้อื่นด้วยการโฆษณา', 'โฟร์ซีซั่น'] |
https://prachatai.com/print/79397 | 2018-11-01 14:37 | แอมเนสตี้ฯ ประกาศ!!! ขยายเวลารับผลงานประกวดรางวัล Media Awards ถึง 15 พ.ย.61 | แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ขยายเวลาเปิดรับผลงานเข้าประกวด "รางวัลสื่อมวลชนเพื่อสิทธิมนุษยชน" ประจำปี 2561 (Media Awards 2018)
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ได้ขยายเวลาเปิดรับผลงานเข้าประกวด “รางวัลสื่อมวลชนเพื่อสิทธิมนุษยชน” ประจำปี 2561 (Media Awards 2018) ไปจนถึงวันที่ 15 พฤศจิกายน 2561
ผลงานที่ส่งเข้าประกวดต้องเป็นการใช้สื่อเพื่อนำเสนอข้อมูลข่าวสารในแง่มุมที่คำนึงถึงการเคารพ ปกป้อง และส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เพื่อให้ผู้รับสารได้ตระหนักและเข้าใจสิทธิมนุษยชนทั้งของตนเองและผู้อื่นมากขึ้น ผลงานที่จะส่งเข้าประกวดในปีนี้จะต้องถูกเผยแพร่หรือตีพิมพ์ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2560 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2561 เท่านั้น และสามารถส่งผลงานได้ตั้งแต่วันนี้ ถึง 31 ตุลาคม 2561
โดยแบ่งประเภทการประกวดดังต่อไปนี้
ข่าวและสารคดีเชิงข่าวประเภทสื่อสิ่งพิมพ์
ข่าวและสารคดีเชิงข่าวประเภทสื่อออนไลน์
ข่าวหรือสารคดีเชิงข่าวประเภทสื่อโทรทัศน์ (ความยาวรวมไม่เกิน 20 นาที)
สารคดีหรือสารคดีเชิงข่าวประเภทรายการโทรทัศน์ (ความยาวรวมไม่เกิน 60 นาที)
ส่งผลงานตัวจริงพร้อมสำเนารวม 5 ชุดมาที่
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย
139/21 ลาดพร้าว ซ. 5 ถ.ลาดพร้าว จอมพล จตุจักร กรุงเทพ 10900สอบถามเพิ่มเติม 02-513-8745, 02-513-8754, 089-922-9585อีเมล [email protected]เว็บไซด์ www.amnesty.or.th
| ['แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย', 'รางวัลสื่อมวลชนเพื่อสิทธิมนุษยชน'] |
https://prachatai.com/print/79398 | 2018-11-01 14:59 | 'วีระ' จี้ 'ประยุทธ์' สอบซื้อ ฮ.ทหารแพงกว่า 'เจ้าสัววิชัย' - 'ศรีสุวรรณ' จ่อร้อง สตง. | 'วีระ' จี้ 'ประยุทธ์' สอบซื้อ ฮ.ทหารแพงกว่า 'เจ้าสัววิชัย' พร้อมทวงสัญญาสางทุจริต ขณะที่ 'ศรีสุวรรณ' เตรียมร้อง สตง. พรุ่งนี้ ด้าน ทบ.ยัน ไม่แพง ชี้ มี เครื่องซิมูเลเตอร์ – อุปกรณ์เพิ่มเติม
1 พ.ย.2561 จากกรณีการสูญเสีย วิชัย ศรีวัฒนประภา ประธานสโมสรเลสเตอร์ ซิตี้ และประธานกรรมการ กลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ ในเหตุการณ์เฮลิคอปเตอร์ตกนอกสนามคิง เพาเวอร์ สเตเดียม ประเทศอังกฤษ เมื่อวันที่ 27 ต.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าเฮลิคอปเตอร์คันดังกล่าวเป็น รุ่นออกัสตา เวสต์แลนด์ เอดับเบิลยู 169 (Agusta Westland AW169) สร้างขึ้นในปี 2016 หรือปี 2558 โดย "ลีโอนาร์โด้" บริษัทด้านอุตสาหกรรมการบินและทหารของอิตาลี ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของบริษัท อากัสต้าเวสต์แลนด์ กับฟินเมคคานิก้า เฮลิคอปเตอร์ลำนี้มีเลขทะเบียน G-VSKP มีมูลค่าสูงถึง 6.6 ล้านปอนด์ หรือราว 280 ล้านบาทไทย
'ศรีสุวรรณ' เตรียมร้อง สตง. พรุ่งนี้
วันนี้ (1 พ.ย.61) ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย แจ้งว่า เมื่อการตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างเฮลิคอปเตอร์ยี่ห้อดังกล่าวของ “กรมการขนส่งทหารบก” ได้ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างในรุ่น AW 139 และรุ่น AW 149 จากบริษัท อากัสต้าเวสต์แลนด์ เอส.พี.เอ.ประเทศอิตาลีประมาณ 12 ลำหลายครั้ง พบว่าในปี 2555 ในยุคที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็น ผบ.ทบ. มีการจัดซื้อ AW 139 จำนวน 2 ลำวงเงิน 43,548,387 เหรียญสหรัฐหรือ 1,350 ล้านบาท เฉลี่ยลำละ 675 ล้านบาท ซึ่งรุ่นดังกล่าวมีการประกาศขายเป็นการทั่วไปในราคาเพียง 12 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 396 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งทำให้มองเห็นส่วนต่าง 2 ลำมากถึง 558 ล้านบาท ต่อมาในปี 2557 หลังรัฐประหารมีการจัดซื้อ AW 139 เพิ่มอีก 2 ลำวงเงิน 46,062,500 เหรียญสหรัฐหรือประมาณ 1,474 ล้านบาท เฉลี่ยลำละ 737 ล้านบาท(เพิ่มขึ้นจากครั้งก่อนลำละ 67 ล้านบาท) ซึ่งส่วนจ่างของการจัดซื้อครั้งที่ 2 เท่ากับ 692 ล้านบาท และหลังจากนั้นในปี 2559-2560 ยังมีการจัดซื้อจัดหา AW 139 เพิ่มอีก 6 ลำ ส่วนรุ่น AW 149 ทำการจัดซื้อจัดหามาในปี 2560 จำนวน 2 ลำอีกด้วย ซึ่งเฮลิคอปเตอร์ดังกล่าวปัจจุบันยังคงใช้งานตามปกติ แต่มีจำนวนเกือบครึ่งที่ถูกสั่งให้งดบิน ทำให้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันในสังคมโซเชียลออนไลน์ทั่วไปก่อนหน้านี้
กรณีดังกล่าวเป็นที่น่าสงสัยว่า การจัดซื้อจัดหาเฮลิคอปเตอร์จากบริษัทดังกล่าว ซึ่งเป็นรุ่นล้าหลังกว่ารุ่นของ วิชัย ศรีวัฒนประภา ซึ่งมีราคาเพียง 280 ล้านบาท ทำไมจึงมีราคาและส่วนต่างกันมากมายมหาศาลขนาดนั้น การจัดซื้อจัดหาเป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ มติคณะรัฐมนตรี และแบบแผนการปฏิบัติราชการหรือไม่ และการใช้จ่ายเงินหรือการใช้ประโยชน์นั้นเป็นไปตามวัตถุประสงค์ มีความคุ้มค่า ประหยัด เกิดผลสัมฤทธิ์ และมีประสิทธิภาพหรือไม่
ด้วยเหตุดังกล่าวสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จึงจะนำความไปยื่นร้องเรียนต่อประธาน/คณะกรรมการ/ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เพื่อให้ใช้อำนาจตาม พรป.ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน 2561 ดำเนินการตรวจสอบการจัดซื้อจัดหาเฮลิคอปเตอร์ของกรมการขนส่งทหารบก ว่าเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ หากพบความผิดให้ดำเนินการเอาผิดผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดต่อไป โดยสมาคมฯจะเดินทางไปยื่นคำร้องต่อ สตง.ในวันศุกร์ที่ 2 พ.ย.2561 เวลา 10.00 น. ณ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ซ.อารีย์ ถ.พระราม 6 เขตพญาไท กทม.
'วีระ' จี้ 'ประยุทธ์' สอบซื้อ ฮ.ทหารแพง พร้อมทวงสัญญาสางทุจริต
วีระ สมความคิด เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชั่น (คปต.) โพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊กส่วนตัว [1]ในลักษณะสาธารณะถึงกรณีดังกล่าวด้วยว่า จากข่าวเฮลิคอปเตอร์รุ่น AW 169 ตกที่อังกฤษ (ฮ. ของ คิงส์พาวเวอร์) จากข่าวที่เผยแพร่ ทำให้ทราบว่ามีการซื้อมาในราคา 280 ล้านบาท โดยรุ่นนี้เขาติดป้ายขายอยู่ที่ 8.5 ล้านเหรียญ เอกชนเขาซื้อขายกันตามราคาป้าย ทำให้นึกถึงข่าวที่มีการจัดซื้อเฮลิคอปเตอร์ของสำนักนายกรัฐมนตรี ที่มีการสั่งซื้อทันทีด้วยวิธีพิเศษ(ขอย้ำสั่งซื้อ ด้วยวิธีพิเศษ) หลังการรัฐประหาร จำนวน 2 ลำ จากบริษัท Agusta Westland รุ่น AW 139 ราคาขายขณะนั้น เขาติดป้ายขายราคาเพียง 10 ล้านเหรียญ หรือราว 310-330 ล้านบาท แต่ไทยกลับซื้อมาในราคาแพงกว่าเท่าตัว คือซื้อมา 2 ลำในราคาถึง 1,350 ล้านบาท ที่สำคัญเขาว่ามีหนังสือลับที่เกี่ยวกับการอนุมัติให้ซื้อของ ผบ.ทบ. ในขณะนั้น ซื่อเชื่อว่าน่าจะมีความไม่โปร่งใส หรือน่าจะมีการทุจริตเกิดขึ้น เฮลิคอปเตอร์รุ่นนี้ไทยซื้อมาใช้นับ 10 ลำ แต่ยังใช้การได้เพียงครึ่งเดียว นอกนั้นบินไม่ได้แล้ว นายกฯประยุทธ์ ประกาศแล้วต้องไปลากตัวมาตรวจสอบและลงโทษให้ได้
ยังไม่หมดยังมีกรณีที่ กองทัพบกไทยไปทำการจัดซื้อเฮลิคอปเตอร์จากบริษัทนี้อีกจำนวน 3 ลำ แต่มีปัญหาว่าบินไม่ได้ เฮลิคอปเตอร์รุ่นดังกล่าวที่บอกว่าบินไม่ขึ้น คือ AW 149 ในขณะนั้นติดป้ายขายในราค 12 ล้านเหรียญ หรือราว 350-390 ล้านบาท แต่กองทัพบกไทยต้องซื้อ มาในราคาแพงกว่าราคาจริงกว่าเท่าตัว คือต้องซื้อมาในราคาถึงลำละกว่า 650 ล้าน จริงหรือไม่จริงอ่านข้อมูลจากสำนักข่าวอิศรา ที่มีการนำเปิดเผยเอาเองแล้วกัน
วีระ โพสต์ต่ออีกว่า หลักฐานที่ทำให้น่าเชื่อว่ามีการทุจริตในการจัดซื้อเฮลิคอปเตอร์จากบริษัทนี้ก็คือภายหลังจากมีการทำสัญญาซื้อขายระหว่างบริษัท Augusta Westland กับประเทศไทย (และอีกประเทศ เข้าใจว่าน่าจะเป็นประเทศอินเดีย) ได้ไม่นาน ก็มีข่าวว่าประธานบริษัท Agusta Westland ถูกศาลอิตาลี ตัดสินจำคุกเนื่องจากมีการให้สินบนแก่นายพลประเทศอะไรไม่รู้ เพื่อให้ซื้อเฮลิคอปเตอร์ของบริษัทตนเอง ผู้ใดทราบว่าน่าจะเป็นนายพลประเทศใดช่วยบอกด้วย อย่างนี้ทำให้น่าเชื่อว่ามีการทุจริตในการจัดซื้อเฮลิคอปเตอร์ของกองทัพไทยใช่ไหม? นายกฯประยุทธ์ ไปลากตัวมาลงโทษให้ได้นะ ชัดซะขนาดนี้
ทบ.ยัน ไม่แพง ชี้ มี เครื่องซิมูเลเตอร์ – อุปกรณ์เพิ่มเติม
ต่อมา ข่าวสดออนไลน์ [2] รายงานว่า พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหาร (ผบ.ทบ.) สอบถามไปยังหน่วยที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อ เฮลิคอปเตอร์ทั้ง 2 รุ่น และได้รับคำยืนยันว่า กองทัพบก ไม่ได้ซื้อแพง อย่างที่เป็นข่าว ซึ่ง ศรีสุวรรณ น่าจะเข้าใจผิด ในตัวเลขที่ระบุ นั้นราคาถูกเกินไป เพราะปกติแค่เครื่องเปล่า ราคากว่า 300 ล้านบาทแล้ว แต่ เฮลิคอปเตอร์ ทั้งสองรุ่น ที่กองทัพบก จัดซื้อมีเครื่องซิมูเลเตอร์ หรือเครื่องฝึกบิน และการฝึกบิน สำรองอะไหล่ 2 ปี รวมถึงตัวเครื่องและอุปกรณ์เพิ่มเติม จึงทำให้ราคาสูงกว่าเครื่องปกติ เรามีระบบการส่งกำลังบำรุงเพิ่มเติม ทุกกองทัพก็ซื้อแบบนี้
พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบก กล่าวชี้แจงกรณีว่า หากเปรียบเทียบราคาเฉพาะตัวเครื่อง ซึ่งเบื้องต้นจากการตรวจสอบราคาของกองทัพบก และภาคเอกชน นั้นจะมีราคาที่ใกล้เคียงกัน แต่ในส่วนของกองทัพบก ไม่ได้จัดซื้อเฉพาะตัวเครื่องเพียงอย่างเดียว เหมือนกับของภาคเอกชน ที่ใช้เพียงระบบการจ้างขับ และจ้างซ่อม จากบริษัทภายนอก แต่ในส่วนของกองทัพ เราจัดซื้อจัดจ้างระบบทั้งหมด อย่างไรก็ตามทางหน่วยที่เกี่ยวข้องกำลังดำเนินการ จัดทำรายละเอียดการจัดซื้อ จัดจ้างเพื่อชี้แจงสังคมต่อไป
โฆษกกองทัพบก ยืนยันว่า โครงการจัดซื้อเฮลิคอปเตอร์ของกองทัพบก กับ เอกชน ไม่เหมือนกัน เนื่องกองทัพบก มี ซิมูเมอร์เลเตอร์ การสำรองอะไหล่ การอบรมช่าง ในขณะที่ของเอกชน ใช้ระบบว่าจ้างทั้งหมด ซึ่งตัวเลขที่ ศรีสุวรรณ ระบุ 280 ล้าน เป็นราคาผ่านสื่อ ไม่ได้มาจากทางการ ทั้งนี้ ไม่สามารถเทียบราคาลำต่อลำได้ เพราะคนละรุ่น
| ['ข่าว', 'การเมือง', 'ความมั่นคง', 'วิชัย ศรีวัฒนประภา', 'เฮลิคอปเตอร์', 'เฮลิคอปเตอร์แพง', 'Agusta Westland AW169', 'ศรีสุวรรณ\xa0จรรยา', 'สตง', 'วีระ สมความคิด', 'กองทัพบก'] |
https://prachatai.com/print/79399 | 2018-11-01 16:18 | ‘ประยุทธ์’เมินประเทศกูมี ชมแร็ป ‘Thailand 4.0’ เข้าท่าๆ ย้ำไม่ปิดกั้นใคร |
วันนี้ (1 พ.ย. 61) ข่าวสดออนไลน์ [1] รายงานว่า ที่ทำเนียบรัฐบาล ในงาน “สตาร์ทอัพร่วมกำหนดอนาคตประเทศไทย” ยื่นข้อเสนอเกี่ยวกับพัฒนาธุจกิจสตาร์ทอัพในประเทศไทย ทันทีที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชามาถึงได้มีการเปิดเพลงแร็ป “Thailand 4.0” ต้อนรับ ทำให้พลเอกประยุทธ์อมยิ้มและกล่าวชมเพลงในตอนหลัง
"วันนี้ก็ฟังเพลงแร็ปที่เข้าท่า เข้าท่า เหมือนกันนะ ก็เดี๋ยวให้แก้ไขนิดหน่อยนะ มีทำนองบางอันที่เดี๋ยวต้องไปเปลี่ยนนิดนึงนะ นอกนั้นสาระดีหมดแล้วล่ะนะ เพราะฉะนั้นก็แสดงว่าเออผมเองก็ดีใจอย่างที่เรียกว่าลุงอะนะ จริงๆ ลุงก็เป็นคนใจดีอะนะ คราวนี้มันก็ต้องเห็นอกเห็นใจลุงบ้างเหมือนกัน บางครั้งลุงก็มีหลายเรื่องที่ต้องรับผิดชอบ อะไรต่างๆ ก็ตามที่มันทำให้มีผลกระทบกับจิตใจ บางทีผมก็ต้องการทำงาน ผมก็ต้องเตือนบ้างอะไรบ้างทำนองนี้นะ ไม่ได้หมายความว่าไปปิดกั้นใครหรอก" พลเอกประยุทธ์กล่าว
คลิปพลเอกประยุทธ์พูดถึงเพลงแร็ป Thailand 4.0 ในนาทีที่ 3.40
อนึ่งก่อนหน้านี้ พลเอกประยุทธ์ ได้กล่าวถึงเพลงประเทศกูมีในท่าทีที่ต่างออกไประหว่างที่ไป ครม. สัญจร เช่น วันที่ 29 ตุลาคม ที่เทศบาลเมืองพะเยา พล.อ.ประยุทธ์ ระบุว่า ไม่ได้สนใจเพลงประเทศกูมี พร้อมถามว่าทุกวันนี้ประเทศเป็นเผด็จการขนาดนั้นเลยเหรอ
“ทุกวันนี้ก็เป็นโลกแห่งโซเชียล แต่รัฐบาลไม่หวังจะควบคุมใครทั้งสิ้น หากทุกคนรู้ว่าจะเคารพกฎหมายอย่างไร ก็ไม่อยากจะร่างกฎหมายเพิ่มอยู่แล้ว และไม่มีผลกระทบต่อใคร จะเกิดความเท่าเทียม ไม่เบียดเบียนใคร โลกโซเชียลอ่ะ ไม่สนใจ เพลงเพลิงอะไรอ่ะ ผมไม่สนใจทั้งนั้น สนใจแล้วประเทศได้อะไร วันนี้มันเผด็จการขนาดนั้นเลยหรอ เผด็จการไม่มาหรอกวันนี้” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
หรือวันเดียวกันที่บ้านเมืองรวง จังหวัดเชียงราย พลเอกประยุทธ์ ชี้แจงว่ารัฐบาลพยายามแก้ปัญหา และทำโครงการเพื่อให้ประชาชนสานต่อ และได้กล่าวถึงการปรับตัวของประชาชนต่อการกระทำผิด การใช้เทคโนโลยี ว่าประชาชน ต้องปรับตัว โดยเฉพาะ สินค้าออนไลน์ แต่อย่าไปสนับสนุนการโจมตีในสื่อโซเชียล
“อย่าไปดูมันเสียเวลา ถ้าดูออนไลน์ให้ดูเรื่องค้าขาย สนใจทำไมเรื่องไร้สาระ ถ้าสังคมยอมรับได้ก็แล้วไป หากอนาคตจะเป็นยังไงก็แล้วไป หากลูกหลานพูดจาหยาบคายอ้างสิทธิ์ ท่านรับผิดชอบกันเอง อย่าไปสนับสนุนคนเหล่านี้ ผมทำอะไรไม่ได้มากกว่านี้ ใช้กฎหมายก็มีปัญหา แต่เขาก็อยากให้ใช้กฎหมาย ปัญหาจะตามมาทีหลัง ผมไม่ทำอะไรทั้งนั้น แต่ทำอะไรก็ตามอย่าให้ผิดกฏหมายก็แล้วกัน เพราะถ้าบังคับใช้กฎหมายก็หาว่าไปละเมิดสิทธิมนุษยชน แล้วถามว่ามันทำได้หรือไม่ ผิดกฎหมายแล้วหนีไปต่างประเทศได้ไหม แล้วด่าผมโครมๆผมก็ไม่ได้ไปแตะต้อง” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
วันที่ 30 ตุลาคม ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย พลเอกประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์ถึงข้อห่วงใยที่อาจจะมีพฤติกรรมเลียนแบบกลุ่มแร็พ เพลงประเทศกูมี ภายหลังเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ดำเนินการเอาผิดใดๆ ว่า เรื่องแร็พอะไรต่างๆ ตนไม่สนใจ ไม่ได้ให้ความสำคัญในเรื่องเหล่านี้ อยากแสดงอะไรก็แสดงกันไป ตนจะได้ไม่ถูกกล่าวหาว่าไปปิดกั้น ซึ่งกฎหมายจะเป็นตัวกำหนด ไม่จำเป็นต้องไปสั่งการอะไรกับใครทั้งนั้น คนไหนก็ตามที่ชื่นชมก็ต้องรับผิดชอบด้วยว่าวันหน้าจะเกิดอะไรขึ้นอีกในประเทศไทยจะหนักขึ้นเรื่อย ๆ หรือเปล่า อะไรที่ทำให้เกิดความเสื่อมเสียกับประเทศไทย
“ผมไม่ได้ว่าที่เขามาว่าผม แต่ถ้าเขาว่าประเทศ ผมว่ามันไม่เหมาะสม ผมคิดว่าคนเราควรจะมีวิจารณญาณที่เหมาะสม ไม่ว่าจะเขียนเพลง หรือจะทำอะไร ท่านต้องอย่าไปให้ร้ายประเทศตัวเอง ดังนั้นจะมาปฏิเสธว่าไม่เกี่ยวข้องกับประเทศไทย มันไม่ใช่ เพราะความหมายท่านต้องการอะไรก็รู้กันอยู่ ก็ถือเป็นเรื่องของสังคม ถ้ารับเรื่องแบบนี้ได้ วันหน้าถ้าหนักกว่านี้ เรื่อย ๆ ลูกหลานของท่านจะอยู่กันอย่างไร ผมก็ไม่ทราบเหมือนกัน ก็ฟังกันไปก็แล้วกัน" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
สำหรับเพลงประเทศกูมี ที่ผลิตขึ้นโดยกลุ่ม rap against dictatorship [2] หรือ RAD ถูกเผยแพร่ในยูทูบครั้งแรกเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2561 เวลานั้นผ่านไปสามวันยังมียอดวิวประมาณ 1 แสนเท่านั้น ต่อมาศิลปินกลุ่มดังกล่าวได้เผยแพร่ MV ที่เล่าเรื่องราวของความรุนแรงในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 โดยอัปโหลดลงยูทูบเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม ที่ผ่านมาเวลานั้นยังมียอดวิวไม่ถึงแสน
แต่ต่อมา พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวถึงคลิปวิดีโอเพลง 'ประเทศกูมี' ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ยูทูบ ว่าอาจมีเนื้อหาเข้าข่ายขัดคำสั่ง คสช. ขอให้ตำรวจจากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ตรวจสอบอีกครั้งว่าเนื้อหาเข้าข่ายหรือไม่ สำหรับคนที่ปรากฎในคลิปก็ต้องเชิญตัวมาให้ปากคำ ว่า มีเจตนาที่จะทำให้เกิดความวุ่นวายหรือขัดคำสั่ง คสช. ด้วยหรือเปล่า
จากนั้นยอดวิวของเพลงประเทศกูมีก็พุ่งกระฉูดทะลุ 1 ล้านวิว และขึ้นไปถึง 10 ล้านวิวเพียง 1 คืนจากที่พล.ต.ต.ศรีวราห์บอกว่าจะตรวจสอบ จนถึงวันนี้ 1 พ.ย. มียอดผู้เข้าชมมากกว่า 25 ล้านวิวแล้ว
นอกจากจะมีการพูดถึงเพลงนี้ในสื่อกระหลัก และสื่อโชเชียลมีเดีย แล้ว ยังมีการทำคลิปพูดถือเพลงดังกล่าวโดยชาวต่างชาติจากหลายประเทศพร้อมกับพูดถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นในประเทศด้วยความเป็นห่วงกังวล ขณะที่ชาวต่างชาติบางคนยังตั้งคำถามด้วยความสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้นกับประเทศไทย ทำไมทหารจึงสามารถเข้ามาเลือกนายกรัฐตรีหลังการเลือกตั้งได้ รวมทั้งมีการดัดแปลงเพลงแร๊พให้เข้ากับเพลงแดนซ์ในจังหวะสามช่า และมีการแปลเนื้อเพลงดังกล่าวเป็นภาษาจีนด้วย
| ['ข่าว', 'การเมือง', 'สังคม', 'เพลงแร็ป', 'ประเทศกูมี', 'Thailand 4.0', 'ประยุทธ์ จันทร์โอชา'] |
https://prachatai.com/print/79400 | 2018-11-01 17:01 | รอบโลกแรงงาน ตุลาคม 2018 | สหภาพแรงงานภาคบริการและค้าปลีกเกาหลีเรียกร้อง 'สิทธิ์ในการนั่งพัก'/รัฐบาลญี่ปุ่นวางแผนจ้างงานผู้ทุพพลภาพมากขึ้น/ร้านอาหารไทยทั่วอเมริกากระทบหนักเงือนไขขอวีซ่า ‘พ่อครัวแม่ครัว’ สุดยาก/อันธพาลบุกทำร้ายแรงงานที่ประท้วงโรงงานเสื้อผ้าของจีนในพม่า/ชาวอเมริกันค้นหาอาการ 'โรคเครียด' เป็นอันดับ 1
สหภาพแรงงานภาคบริการและค้าปลีกเกาหลีเรียกร้อง 'สิทธิ์ในการนั่งพัก'
สหภาพแรงงานภาคบริการและค้าปลีก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนทำงานในห้างสรรพสินค้าและร้านค้าปลอดภาษี ออกมาเรียกร้อง 'สิทธิ์ในการนั่งพัก' (right to sit down) ในการทำงานได้ เนื่องจากแรงงานหลายคนประสบปัญหาสุขภาพ โดยเฉพาะพนักงานหญิงที่ต้องยืนอยู่บนรองเท้าส้นสูงเป็นเวลานานมากกว่า 7 ชั่วโมงต่อวัน
ที่มา: koreaherald.com, 4/10/2018 [1]
สถิติผู้ว่างงานในสหรัฐฯ ลดต่ำที่สุดในรอบ 49 ปี
เมื่อเดือน ก.ย. 2018 อัตราการว่างงานในสหรัฐฯ ลดลงจากร้อยละ 3.9 ต์ลงไปอยู่ที่ร้อยละ 3.7 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 49 ปีอย่างไรก็ตาม ผู้จ้างงานนอกภาคการเกษตร (non-farm employers) มีการว่าจ้างแรงงานเพิ่มขึ้นเพียง 134,000 ตำแหน่ง ซึ่งต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้
ที่มา: marketwatch.com, 5/10/2018 [2]
ชาวอเมริกันค้นหาอาการ 'โรคเครียด' เป็นอันดับ 1
ข้อมูลจากบริษัทด้านการแพทย์ Medicare Health Plans ระบุว่า ภาวะเครียด คือสิ่งที่ชาวอเมริกันทั่วประเทศเข้าค้นหาบนโลกออนไลน์มากที่สุด ซึ่ง 10 รัฐในอเมริกาที่ค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับภาวะเครียดมากที่สุด ได้แก่ คอนเนคติคัต, เดลาแวร์, อิลลินอยส์, ไอโอวา, แคนซัส, แมตซาชูเสตส์, มิสซูรี, เพนซิลเวเนีย, โอเรกอน และเวอร์จิเนีย
ทั้งนี้ทาง American Psychological Association สำรวจความเห็นความอเมริกันเมื่อปีที่แล้ว (2017) พบว่าเรื่องเงินและเรื่องงานเป็น 2 สาเหตุหลักของความเครียด
ยิ่งไปกว่านั้น ชาวอเมริกันกว่าครึ่งหนึ่งที่อยู่ในการสำรวจ บอกว่า การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อ 2 ปีก่อน เป็นปัจจัยแห่งความเครียดของพวกเขาด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะวัยผู้ใหญ่ที่ต่างกังวลถึงอนาคตของประเทศหลังการเลือกตั้ง
ไม่เพียงแต่ภาวะเครียดเท่านั้น ตามข้อมูลของ Medicare Health Plans บอกด้วยว่า ชาวอเมริกันให้ความสนใจค้นหาอาการที่เกี่ยวข้องกับไข้หวัด เช่น คัดจมูก เสมหะ และอาการไข้หวัดอื่นๆ ถูกค้นหาโดยชาวอเมริกันในรัฐเท็กซัส, โอกลาโฮมา, ฟลอริดา, นิว เม็กซิโก และ เวอร์มอนต์
ขณะที่ภาวะนอนไม่พอ เป็นปัญหาใหญ่ของผู้คนในรัฐนิวยอร์ก ซึ่งตรงกับที่ถูกขนานนามว่าเป็นเมืองที่ไม่เคยหลับไหล ส่วนผู้คนในรัฐเซาท์ แคโรไลนา และวิสคอนซิน กลับกังวลถึงปัญหาสีของอุจจาระ และชาวอเมริกันในรัฐอะแลสกาค้นหาเรื่องการกรนเป็นส่วนใหญ่
นอกจากนี้ ยังมีการค้นหาอาการแปลกๆ เช่น เหงื่อออกที่ฝ่ามือมากเกินไป และปัญหาเรื่องการไม่ขลิบ เป็นต้น
ที่มา: voathai.com, 6/10/2018 [3]
สหภาพแรงงานในอังกฤษขู่ว่าคนขับ Uber จะหยุดงานประท้วง 24 ชั่วโมง
สหภาพแรงงาน IWGB ของอังกฤษระบุว่าเผยว่าคนขับ Uber ในลอนดอน เบอร์มิงแฮม และนอตติงแฮม เตรียมรวมตัวประท้วงหยุดขับเป็นเวลา 24 ชั่วโมง เมื่อวันที่ 9 ต.ค. 2018 โดยมีข้อเรียกร้องให้บริษัท Uber เพิ่มค่าแรงจาก 1.25 ปอนด์ต่อไมล์เป็น 2 ปอนด์ต่อไมล์ และต้องการลดค่าคอมมิชชั่นลง 10%
ที่มา: independent.co.uk, 9/10/2018 [4]
ร้านอาหารไทยชื่อดังในสหรัฐฯ ถูกปรับคดีค่าแรง
ร้านสนามหลวง คาเฟ่ นอร์ธ ฮอลลีวูด และออร์คิดไทย สาขาอาร์คาเดีย กับบอลวิน ปาร์ค ถูกปรับเป็นเงินรวมกันกว่าล้านดอลลาร์จากการทำผิดกฎหมายแรงงานของแคลิฟอร์เนีย หลังจากที่ใช้เวลาสอบสวนนานนับปี ในที่สุด คณะกรรมาธิการแรงงานของรัฐแคลิฟอร์เนีย ก็ได้สั่งปรับร้านอาหารไทยสามแห่งในรัฐแคลิฟอร์เนีย เป็นเงินรวมกันถึง 1,065,646 ดอลลาร์ จากการละเมิดกฎหมายแรงงานกับพนักงานรวม 22 คน
ร้านอาหารทั้งสามแห่งคือ สนามหลวงคาเฟ่ สาขานอร์ธ ฮอลลีวูด กับร้าน ออร์คิดไทยคูซีน สองสาขา คือสาขาอาร์คาเดีย และบอลวิน ปาร์ค โดยเอกสารข่าวลงวันที่ 3 ต.ค. 2018 ที่ทางสำนักงานแรงงาน ส่งให้กับสยามทาวน์ยูเอส นั้น ระบุว่าพนักงานของร้านอาหารทั้งสามแห่ง ต้องทำงานกะละ 10 ชั่วโมงโดยไม่มีเวลาพัก อีกทั้งยังจ่ายค่าแรงในอัตราเฉลี่ยชั่วโมงละ 5 ดอลลาร์เท่านั้น
ข่าวบอกว่าการยอมความ (settlement) ในคดีฉ้อโกงแรงงานระหว่างสำนักงานแรงงาน และร้านอาหารไทยทั้งสามแห่งดังกล่าวนี้ ถือว่าเป็นคดีใหญ่คดีที่สามของปี 2018 โดยคดีแรกคือร้านชีสเค้กเฟ็กตอรี่ (Cheesecake Factory) ที่มีสาขาในรัฐแคลิฟอร์เนียมากกว่า 30 แห่ง ที่ถูกสั่งให้จ่ายเงินชดเชยมากกว่า 4.5 ล้านดอลลาร์ให้กับพนักงานทำความสะอาด 559 คน และคดีของร้าน Shrimp Lover บนถนนฮอลลีวูด ซึ่งเป็นร้านอาหารของคนไทย ที่ถูกสั่งปรับเป็นเงินประมาณ 5 แสนดอลลาร์เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
โดยในกรณีของร้านสนามหลวงคาเฟ่ สาขานอร์ธ ฮอลลีวูด นั้น คณะกรรมาธิการแรงงานสั่งให้จ่ายค่าปรับเป็นเงินทั้งสิ้น 833,707 ดอลลาร์ โดยเงินก้อนนี้แบ่งเป็นสองส่วน คือเป็นค่าแรงและค่าล่วงเวลาย้อนหลังของพนักงานเก้าคน รวมถึงค่าชดเชยความเสียหาย, ค่าปรับฐานประวิงเวลาการจ่ายค่าแรงหลังการเลิกจ้าง (waiting time penalties) ค่าชดเชยเวลาพักหรือเวลาอาหาร ฯลฯ เป็นเงิน 708,457 ดอลลาร์ ส่วนที่สองเป็นเป็นค่าปรับในคดีแพ่ง ที่ทางร้านจะต้องจ่ายให้กับรัฐอีก 125,250 ดอลลาร์
ร้านออร์คิดไทยคูซีน สาขาอาร์คาเดีย ถูกสั่งปรับเป็นเงิน 407,883 ดอลลาร์ แยกเป็นเงินที่จะต้องจ่ายให้กับพนักงาน 11 คน 307,133 ดอลลาร์ และค่าปรับคดีแพ่งอีก 100,750 ดอลลาร์ ส่วนร้านออร์คิดไทย คูซีน ในเมืองบอลวิน ปาร์ค ถูกสั่งปรับเป็นเงินรวม 85,856 ดอลลาร์ เป็นค่าแรงชดเชยให้กับพนักงานสองคน 50,800 ดอลลาร์ และค่าปรับในคดีแพ่งอีก 35,800 ดอลลาร์
ที่มา: siamtownus.com, 11/10/2018 [5]
ญี่ปุ่นเตรียมแก้กฎหมายรับแรงงานต่างชาติเพิ่ม ชดเชยภาวะแรงงานขาดแคลน
รัฐบาลญี่ปุ่นเปิดเผยแผนการแก้กฎหมายเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในหลายอุตสาหกรรม เช่น การเกษตร การรักษาพยาบาล การก่อสร้าง การโรงแรม และการต่อเรือ โดยภายใต้ร่างกฎหมายใหม่นี้แรงงานต่างชาติที่มีทักษะสำหรับอุตสาหกรรมที่ขาดแแรงงานจะได้รับวีซ่าให้เข้ามาทำงานในญี่ปุ่นได้สูงสุดไม่เกิน 5 ปี นอกจากนี้ หากเป็นแรงงานฝีมือและสอบภาษาญี่ปุ่นผ่านจะสามารถนำครอบครัวมาพำนักด้วยได้และอาจจะได้รับสถานะผู้อยู่อาศัยถาวร
ที่มา: straitstimes.com, 12/10/2018 [6]
อันธพาลบุกทำร้ายแรงงานที่ประท้วงโรงงานเสื้อผ้าของจีนในพม่า
มีรายงานข่าวว่าแรงงานที่กำลังผละงานประท้วงหลายสิบคนได้รับบาดเจ็บเพราะถูกกลุ่มอันธพาลเข้าทำร้าย ในนครย่างกุ้ง ประเทศพม่า โดยก่อนหน้านี้แรงงานหญิงเริ่มปักหลักประท้วงโรงงานของบริษัทจีน Fu Yuen Garment Co.Ltd เป็นเวลาเกือบ 2 เดือน ทั้งนี้การประท้วงหยุดงานเกิดจากการละเมิดสิทธิแรงงานและสภาพการทำงานที่ย่ำแย่ของโรงงานแห่งนี้
ที่มา: channelnewsasia.com, 16/10/2018 [7]
Uber เตรียมเข็น Uber Works แพลตฟอร์มจ้างคนมาช่วยทำงานระยะสั้น
มีรายงานข่าวว่า Uber กำลังทดสอบกลุ่มธุรกิจบริการจัดหาคนทำงานแบบออนดีมานด์ ที่เรียกชื่อกันภายในว่า Uber Works โดยรูปแบบของ Uber Works นั้นให้บริษัทที่เป็นผู้ว่าจ้าง สามารถจ้างคนทำงานระยะสั้น ที่ต้องการคนทำงานจำนวนมาก แต่ให้มาทำงานเฉพาะช่วงเวลาจำกัด เช่น งานรักษาความปลอดภัยหรือพนักงานเสิร์ฟในอีเวนต์ต่าง ๆ เป็นต้น โครงการนี้ Uber ได้เริ่มทดสอบมาระยะหนึ่งแล้วในชิคาโก และเริ่มรับประกาศสมัครพนักงานที่จะมาดูแลฝ่ายนี้
ที่มา: theverge.com, 18/10/2018 [8]
ร้านอาหารไทยทั่วอเมริกากระทบหนักเงือนไขขอวีซ่า ‘พ่อครัวแม่ครัว’ สุดยาก
มีรายงานข่าวว่าผู้ประกอบการร้านอาหารไทยในสหรัฐฯ กำลังประสบปัญหาการขาดแคลน 'พ่อครัวแม่ครัว' ทำอาหารมืออาชีพเข้าไปทำงานในอเมริกา ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปัญหาการขออนุมัติวีซ่าทำงานสำหรับพ่อครัวแม่ครัวจากประเทศไทยมีเงื่อนไขที่ยุ่งยากและข้อจำกัดที่มากขึ้นจากนโยบายตรวจคนเข้าเมืองของรัฐบาลสหรัฐชุดปัจจุบัน
ที่มา: voathai.com, 21/10/2018 [9]
สมาคมอุตสาหกรรมสิ่งทอกัมพูชาเรียกร้อง EU ไม่ระงับสิทธิพิเศษการค้า EBA
สมาคมอุตสาหกรรมสิ่งทอกัมพูชา (GMAC) เรียกร้องสหภาพยุโรป (EU) ไม่ให้ระงับสิทธิพิเศษการค้ากับกัมพูชา โดยระบุว่ามาตรการคว่ำบาตรอาจส่งผลกระทบต่อชีวิตของแรงงานและครอบครัวของแรงงาน ทั้งนี้การเรียกร้องดังกล่าวเกิดขึ้นหลังสหภาพยุโรปเตือนกัมพูชาเมื่อต้นเดือน ต.ค. 2018 ว่าได้เริ่มกระบวนการถอดถอนสิทธิพิเศษทางการค้าชั่วคราวภายใต้โครงการ EBA สำหรับกัมพูชา โดยอ้างถึงความวิตกกังวลต่อสิทธิมนุษยชนและสิทธิแรงงาน
ที่มา: xinhuanet.com, 22/10/2018 [10]
รัฐบาลญี่ปุ่นวางแผนจ้างงานผู้ทุพพลภาพมากขึ้น
รัฐบาลญี่ปุ่นวางแผนว่าจ้างผู้ทุพพลภาพกว่า 4,000 คนภายในสิ้นปีงบประมาณหน้าเพื่อให้สามารถทำได้ตามโควตาที่กฎหมายกำหนดที่ร้อยละ 2.5 ของจำนวนคนทำงานทั้งหมด บรรดาเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องได้ประกาศแผนการนี้ในวันจันทร์ที่ 22 ตุลาคม ประกาศนี้ออกมาหลังคณะทำงานซึ่งประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญได้เผยแพร่รายงานเกี่ยวกับตัวเลขที่เพิ่มขึ้นของเจ้าหน้าที่ที่ทุพพลภาพในกระทรวงและหน่วยงานต่าง ๆ
แผนการนี้เรียกร้องให้หน่วยงานภาครัฐจัดการสอบเข้าทำงานสำหรับผู้ทุพพลภาพร่วมกัน เจ้าหน้าที่ระบุว่าการสอบครั้งแรกจะจัดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า นอกจากนี้ยังวางแผนจัดทำระบบใหม่เพื่อที่ว่าผู้ทุพพลภาพที่ไม่ใช่พนักงานประจำสามารถเป็นพนักงานประจำได้ เจ้าหน้าที่ยังวางแผนขยายความช่วยเหลือไปยังหน่วยราชการท้องถิ่นที่ไม่สามารถทำตามโควตาได้
ที่มา: nhk.or.jp, 22/10/2018 [11]
พนักงานขนถ่ายสัมภาระที่สนามบิน Brussels-Zaventem ประท้วง ต้องยกเลิก 100 เที่ยวบิน
มีรายงานข่าวว่าพนักงานขนถ่ายสัมภาระที่ท่าอากาศยาน Brussels-Zaventem ประเทศเบลเยียมได้ผละงานประท้วงเรียกร้องให้ปรับปรุงสภาพการทำงานและยกระดับสิทธิประโยชน์ให้ดีขึ้น การผละงานครั้งนี้ทำให้ต้องเลื่อนเที่ยวบินราว 100 เที่ยว กระทบผู้โดยสารหลายพันคนช่วงปิดภาคเรียน
ที่มา: france24.com, 26/10/2018 [12]
| ['รายงานพิเศษ', 'แรงงาน', 'ต่างประเทศ', 'รอบโลกแรงงาน'] |
https://prachatai.com/print/79401 | 2018-11-01 18:34 | จั๊ด ธีมะ ยุติ 'ฟ้าทะลายโจร' ช่อง Bluesky หลังวิจารณ์ 'ประเทศกูมี' | หลังคนวิจารณ์เล่าข่าว 'ประเทศกูมี' ดีกรีไม่เหมือนที่จัดกับช่อง one31 ล่าสุดจั๊ด ธีมะ กาญจนไพริน ยุติจัดรายการ พร้อมอำลา Bluesky แต่ยืนยันหลักการเดิมไม่เปลี่ยนแปลงคือ "เล่าเรื่องยากให้ง่าย เล่าเรื่องง่ายให้มีมุมคิด เรื่องคนชั่วต้องโจมตี เรื่องคนดีต้องสรรเสริญ" เผยวาทะเมื่อ 29 ต.ค. ก่อนลาโรง 'ฟ้าทะลายโจร' เตือน คสช. อย่าตั้งตนเป็นปฏิปักษ์กับคนรุ่นใหม่ ถ้าหวังดีต่อชาติต้องเอาเขามาเป็นพวกให้ได้ ขออย่าคิดสั้นๆ ใช้อำนาจเต็มที่ เพราะจะยิ่งสร้างขั้วตรงข้าม
1 พ.ย. 2561 กรณี จั๊ด ธีมะ กาญจนไพริน เล่าข่าวเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม ในรายการ "ข่าวเย็นช่องวัน" ทางช่อง one31 และในรายการ "ฟ้าทะลายโจร" ทางช่อง Bluesky หรือฟ้าวันใหม่ โดยมีเนื้อหาและจุดยืนในบางช่วงแตกต่างกันจนถูกวิจารณ์อย่างหนักนั้น
ล่าสุดเมื่อเวลา 12.25 น. ในเฟสบุ๊คเพจ JudgeJudd [1] เขาได้โพสต์บทความ "อำลา “ฟ้าทะลายโจร”" เปิดเผยว่ายุติการจัดรายการทางสถานีโทรทัศน์ Bluesky แล้ว โดยระบุว่า
"เป็นการตัดสินใจที่ยากลำบากที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิต
ย้อนกลับไปเมื่อเดือนตุลาคมปี พ.ศ.2554 ในวันที่ผมยังเป็นดีเจ พิธีกร รายการบันเทิง หากยังจำกันได้ ช่วงเวลาดังกล่าวชาติเราประสบกับมหาอุทกภัย ไม่ทราบว่าอะไรดลใจให้ผมอัดคลิปโพสต์ลงยูทูบ วิพากษ์วิจารณ์การบริหารจัดการภัยพิบัติของรัฐบาลขณะนั้นว่าไร้ประสิทธิภาพ
ส่งผลให้หลังจากนั้นไม่กี่วัน งานที่มีทั้งหมดถูกระงับ เป็นการตกงานอย่างสมบูรณ์แบบครั้งแรกนับตั้งแต่เริ่มทำงานในฐานะดีเจเมื่อครั้งยังเป็นนิสิตปีสามเมื่อปี พ.ศ.2546
เคว้งคว้างอยู่เดือนกว่าๆ พฤศจิกายน 2554 ผมได้รับโทรศัพท์จากเบอร์ที่ไม่รู้จัก ติดต่อทาบทามให้ไปจัดรายการที่สถานีโทรทัศน์ดาวเทียมที่เพิ่งตั้งขึ้นใหม่ชื่อ “บลูสกายชาแนล” ผู้ที่โทรหาผมในตอนนั้นคือคุณเถกิง อดีต ผอ.บลูสกาย ผ่านการแนะนำของคุณกรณ์ จาติกวณิช
ในฐานะคนตกงาน ผมตกลงรับงานทันที
จากวันนั้นถึงวันนี้ นับเวลาได้เจ็ดปี “ฟ้าทะลายโจร” ถือเป็นรายการที่ผมทำหน้าที่พิธีกรต่อเนื่องยาวนานที่สุดในชีวิต และเป็นหนึ่งในรายการที่ผมรักมากเป็นอันดับสองรองจากรายการป๊อปอัพไลฟ์ซึ่งเป็นรายการทีวีรายการแรกที่ผมจัด...
เจ็ดปีที่ว่านั้นทรงคุณค่า เป็นช่วงเวลาที่หล่อหลอมให้ผมกลายเป็นคนข่าว สร้างเสริมประสบการณ์การประกาศและวิเคราะห์ข่าว เพิ่มพูนความรู้รอบตัวมากมายที่เกี่ยวเนื่องกับข่าว มากไปกว่านั้นยังทำให้ผมได้มีโอกาสสัมผัสกับงานการเมืองในรัฐสภา ในฐานะผู้ช่วย ส.ส.กรณ์ จาติกวณิช และโฆษกผู้นำฝ่ายค้าน อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
หลังยุบสภาเมื่อปลายปี พ.ศ.2556 การเมืองนอกสภาร้อนแรง เกิดการชุมนุมใหญ่ ผมได้มีส่วนร่วมในฐานะผู้ปราศรัย ในมุมของนักสื่อสาร การไฮด์ปาร์คท่ามกลางผู้ชมเรือนแสนเรือนล้านถือเป็นประสบการณ์ที่อาจจะไม่อาจหาได้อีกแล้วในชีวิต
เจ็ดปีที่สถานีบลูสกาย หล่อหลอมให้ผมค้นพบสไตล์การจัดรายการที่ผลักดันเอาศักยภาพสูงสุดออกมา พัฒนากลายเป็นเอกลักษณ์ที่ผู้คนจดจำ นั่นคือการจัดรายการสาระผ่านการนำเสนอแบบบันเทิงเชิงเสียดสี...
กาลเวลาผ่านไป สถานการณ์เปลี่ยน บริบทแวดล้อมของชีวิตเปลี่ยน ผมได้รับโอกาสให้จัดรายการข่าวบนสถานีทีวีดิจิทัลและทีวีออนไลน์ การจัดรายการที่บลูสกายกลับกลายเป็นปัญหาที่ทั้งผู้ใหญ่และผู้ชมมากมายต่างตั้งคำถามถึงความน่าเชื่อถือและเป็นกลางในการรายงานข่าว เพราะขาหนึ่งของผู้ประกาศข่าวยังเกาะเกี่ยวกับสถานีข่าวที่ชัดเจนว่าสนับสนุนพรรคและฝั่งฟากทางการเมืองฝั่งหนึ่งเป็นพิเศษ
นอกจากนั้นยังมีเหตุปัจจัยอันละเอียดอ่อนอื่นๆอีกมากมายที่ไม่อาจอธิบายได้หมดจดผ่านช่องทางนี้ แต่ทั้งหมดทั้งปวงประกอบกันส่งผลให้ในท้ายที่สุด ผมจำเป็นต้องตัดสินใจว่าจะขอยุติการจัดรายการ “ฟ้าทะลายโจร” นับตั้งแต่วันพรุ่งนี้เป็นต้นไป
เสียดายและเสียใจอย่างไม่อาจหาคำอธิบายใดๆ มาอุปมาพรรณาให้เห็นภาพได้...
อย่างไรก็ตาม ผมยังยืนยันในความไม่มีอยู่จริงของความเป็นกลางในวงการสื่อสารมวลชน บรรณาธิการ ผู้ประกาศ รวมไปถึงทีมข่าวทุกคนต่างก็มีฝั่งฟากทางการเมืองที่รักในใจ และพร้อมจะใช้ทุกโอกาสที่มีในการสอดแทรกข่าวที่ส่งผลบวกต่อขั้วที่ตัวชอบ และข่าวที่ส่งผลลบต่อขั้วที่ตัวเกลียด...เป็นเช่นนี้ทุกที่ ทุกสถานี
อย่างที่ผมเคยให้สัมภาษณ์ไปหลายต่อหลายครั้งถึงหลักการในการรายงานข่าวว่าต้อง “เล่าเรื่องยากให้ง่าย เล่าเรื่องง่ายให้มีมุมคิด เรื่องคนชั่วต้องโจมตี เรื่องคนดีต้องสรรเสริญ” มาวันนี้หลักการที่ว่ายังคงเดิมไม่เปลี่ยนแปลง
ผมไม่ได้นิยมในพรรคการเมืองหรือระบอบการปกครองแบบใดแบบหนึ่ง หากแต่นิยมในตัวปัจเจกบุคคลมากกว่า...
ผู้ใดเป็นคนดี มีความรู้ความสามารถรอบด้านในการบริหารประเทศ มีอุดมการณ์หนักแน่นไม่โอนอ่อนผ่อนไปตามสถานการณ์ มีนโยบายที่เน้นการสร้างวินัยไม่ใช่ตามใจฐานเสียง มีจิตสาธารณะ ทำงานเพื่อชาติตลอดเวลาแม้ในยามที่ไม่มีอำนาจหรืองบประมาณ ที่สำคัญ ไม่เคยทุจริตงุบงิบงบประมาณสักบาทเข้ากระเป๋า...ผู้นั้นย่อมสมควรได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนให้เป็นผู้นำของรัฐชาติ
ไม่ว่าจะจัดรายการที่ไหน หลักการในย่อหน้าด้านบนจะไม่เปลี่ยนไป ในทางการเมือง ผมจะทำทุกทางเพื่อสนับสนุนให้คนดีได้มีอำนาจ เพื่อควบคุมไม่ให้คนชั่วเข้ามากอบโกย ล้างผลาญ ในทางการสื่อสาร ผมจะนำเสนอข่าวเพื่อประโยชน์สาธารณะ กำจัดขยะในวงการสื่อ ข่าวงมงายไร้สาระจะพยายามตัดออกหรือเล่าผ่านๆ ข่าวดีมีคุณค่าจะถูกขยาย และเชิญชวนให้เกิดการคิดวิเคราะห์ต่อยอด
เหนือสิ่งอื่นใด บลูสกายเป็นสถานีข่าวการเมืองที่ไร้การเมืองภายใน ผมได้รับอิสระในการทำข่าวอย่างเต็มที่ โดยมีทีมงานที่น่ารักรู้ใจและไว้วางใจได้อย่างสนิทใจ ไม่มีวาระซ่อนเร้นให้ต้องขุ่นข้องหมองใจ เป็นเหมือนบ้านหลังที่สองที่ผมใช้ชีวิต ทำงาน กิน นอน ได้อย่างสบายใจ ตัวตนเป็นอย่างไรก็เป็นไปเช่นนั้น
ขอบคุณทุกโอกาส ทุกการสนับสนุน และทุกมิตรภาพอันอบอุ่นจากทุกผู้ทุกคนที่สถานีแห่งนี้
ท้ายที่สุด ขอบพระคุณอย่างที่สุดจากใจสำหรับทุกการติดตาม ทุกการติชม จากคุณผู้ชม ตลอดเจ็ดปีที่ผ่านมา...
จำใจ จำจาก จำลา จนกว่าจะพบกันใหม่ครับ..."
เสียงวิจาณ์เกิดหลังพูดถึง 'ประเทศกูมี' ออกช่อง one31 ดีกรีไม่เท่า "บลูสกาย"
สำหรับการจัดรายการของธีมะเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม ทางช่อง one31 นอกจากเขาจะวิจารณ์เนื้อเพลงแล้วยังพูดในทำนองว่า เป็นสิทธิของบุคคลที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างสุจริต "สิ่งที่ประเทศกูควรต้องมีคือ การเปิดโอกาสให้สังคมนั้นได้วิพากษ์วิจารณ์อย่างสุจริต โดยไม่ไปปิดกั้น หรือเอากฎหมายไปลงโทษเขา ให้เขาวิพากษ์วิจารณ์มา แล้วอะไรที่มันมี น้อมรับไว้แล้วบอกสิว่าจะแก้ไขอย่างไร อะไรที่มันไม่มีก็แก้ให้มันถูกต้องว่าสิ่งที่คุณพูดมันไม่มี แต่ไม่ใช่เอาอำนาจไปอุดปากเขา"
ส่วนการจัดรายการในช่องฟ้าวันใหม่ มีการเพิ่มดีกรีวิจารณ์เนื้อหาเพลงมากขึ้น เนื้อหาส่วนมากคล้ายกับที่จัดทางช่อง one31 แต่มีบางช่วงบางตอนที่ทำให้เขาถูกวิจารณ์เนื่องจากเขากล่าวว่า "นี่ไม่ใช่การทำเพลงของเด็กธรรมดาๆ นะครับ คุณผู้ชมครับ เพราะว่ามันมีทุนหนุนหลัง และมากไปกว่านั้นก็คือเราไม่สามารถลบคลิปนี้ออกได้ละ เพราะว่ามันมีการใส่เข้าไปในเทคโนโลยีบล็อกเชน คลิปนี้จะอยู่ไปถาวร ทางการไทยลบออกไม่ได้ บอกเลยครับ เขามีคนช่วยจากต่างประเทศ และสิ่งที่ผมพูดคือสิ่งที่เป็นจริง เป็นขบวนการ"
ฟัง 'จั๊ด ธีมะ' เตือน คสช. ไม่ควรใช้อำนาจกฎหมายไปจัดการคนแต่งเพลง 'ประเทศกูมี'
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่าทั้งนี้ในช่วงท้ายรายการฟ้าทะลายโจร ทางช่อง Bluesky [2] เมื่อวันที่ 29 ต.ค. นั้น ธีมะเองนอกจากจะกล่าวด้วยว่าการรับสารทางการเมืองต้องฟังแล้วคิดตามแล้ว เขายังแสดงความไม่เห็นด้วยถ้า คสช. จะใช้อำนาจกฎหมายไปเล่นงานคนแต่งเพลง "อย่างไรก็ตามการรับสารทางการเมือง เราต้องถอดตัวเองออกมา ลอยตัวอยู่เหนือสารนั้นแล้วมองลงไปว่า สิ่งไหนถูกสิ่งไหนผิด อย่าตีรวม อย่าตีรวม อย่างเช่น 'ประเทศกูมี' ผมเชื่อว่าหลายคนฟังเอาไปด่าต่อเลยทั้งๆ ที่ฟังแล้วไม่ได้คิดตามว่าเนื้อหาบางประกันนั้นบิดเบือน และไม่ได้เป็นไปตามความเป็นจริง"
"เนื้อหาที่ถูกต้องมีไหม มี สิ่งที่เพลงๆ นี้ดังเพราะคณะรัฐประหารอยู่นานเกินไป และต้องนำประเทศไปสู่การเลือกตั้งได้แล้ว ซึ่งอันนี้ถูก ถูกก็ว่าไปตามถูก ผิดก็ว่าไปตามผิด สิ่งที่สำคัญก็คือ คุณไม่ควรแล้วนะที่จะต้องเอาอำนาจกฎหมายไปจัดการพวกเขา เพราะจะยิ่งทำให้แกนตามของพวกเขาลุกฮือขึ้นมา ก็คือปล่อยไป"
เขากล่าวด้วยว่า "คสช.ต้องพึงตระหนักว่ากระแสตอนนี้ ย่ำแย่ ผมใช้คำนี้นะครับ กระแสของรัฐบาลท่านตอนนี้ย่ำแย่ จะทำอะไรก็ผิดไปเสียหมด ผมกังวลว่าประเทศไทยต่อไปอีก 10-15 ปีนั้นเราจะอยู่กันลำบาก ผมก็คงจะต้องตั้งใจทำงานแล้วก็เก็บตังค์ (หัวเราะ) เผื่อว่าอีกสัก 10-15 ปีไม่รู้เราจะมีที่ยืนกันหรือเปล่า ผมไม่ได้พูดเกินไปนะครับ เพราะผมรู้สึกว่าสิ่งที่ คสช. กำลังพลาดมากตอนนี้คือการทำให้ตัวเองเป็นที่ชื่นชอบของกลุ่มคนรุ่นใหม่ เอาเป็นว่ากลุ่มคนเกิดหลังปี 2540 เป็นต้นไปส่วนใหญ่แล้วไม่เอาท่านเลย ไม่เอาท่านด้วยอะไรก็ไม่รู้ ไม่เอาเลยนะฮะ"
"กลุ่มคนเหล่านี้นั้น เริ่มที่จะกลายเป็นกลุ่มคนที่ขึ้นมารันประเทศในฐานะผู้บริหารชั้นแรก ชั้นต้น ชั้นกลาง และอีกประมาณ 10-15 ปี คนเหล่านี้จะผงาดขึ้นมาเป็นคนรันประเทศ ในขณะที่พวกเรานั้นร่วงโรย แล้วผมเชื่อว่าในช่วงที่ผมอายุสัก 50 ประเทศไทยจะเปลี่ยนแปลงไปมาก เนื่องจากกลุ่มคนที่ชื่นชอบเพลง 'ประเทศกูมี' จะผงาดขึ้นมาบริหารประเทศนี้ ซึ่งตอนนั้นเราอาจจะทำอะไรไม่ได้ นอกเหนือจากใช้ชีวิตอยู่เงียบๆ คุณเห็นด้วยกับผมไหมล่ะ"
"ดังนั้นถ้า คสช. อยากจะวางอะไรยาวๆ เพื่อประเทศนี้ ได้เวลาแล้วครับที่ท่านต้องทำอะไรกับคนรุ่นใหม่ อย่าไปตั้งตนเป็นปฏิปักษ์กับพวกเขา ถ้าท่านหวังดีต่อประเทศนี้ในระยะยาว ท่านต้องเอาเขามาเป็นพวกให้ได้ ผมไม่ทราบว่าทำยังไง แต่ขออย่าให้ท่านคิดสั้นๆ เพียงแค่ช่วงอยู่ในอำนาจเท่านั้น เพราะว่าช่วงที่ท่านอยู่ในอำนาจแล้วใช้เต็มที่อย่างนี้ จะยิ่งสร้างขั้วตรงข้ามที่พวกเขาเหล่านั้นในอนาคตจะขึ้นมาเป็นท่าน แล้วเมื่อถึงตอนนั้นแล้วประเทศเราจะลำบากมากนา ผมไม่อยากให้ประเทศไทยตกไปอยู่ในทศวรรษแห่งการเปลี่ยนแปลงอีกครั้งหนึ่ง บางทีหลีกเลี่ยงไม่พ้นแล้วมั้งเนี่ย เพราะทศวรรษแห่งการเปลี่ยนแปลงนั้นมันจะหยุดนิ่งทางเศรษฐกิจ ทุกอย่างจะไปไม่ได้ เพราะจะไม่มีใครทำอะไร วันๆ แย่งอำนาจกัน" ธีมะกล่าวในรายการเมื่อวันที่ 29 ต.ค.
| ['ข่าว', 'การเมือง', 'สังคม', 'ธีมะ กาญจนไพริน', 'สื่อมวลชน', 'Bluesky', 'ฟ้าทะลายโจร', 'ประเทศกูมี', 'คสช.', 'วัยรุ่น', 'เพลง'] |
https://prachatai.com/print/79403 | 2018-11-01 19:16 | นายกเทศมนตรีไทเปร้องฮิปฮอปบอกให้คน "ทำในสิ่งที่ถูก" | ไทยแลนด์ร้อง #ประเทศกูมี ส่วนที่ไต้หวัน 'เกอเวิ่นเจ้อ' นายกเทศมนตรีกรุงไทเป วาดลวดลายใน MV เพลงฮิปฮอปที่เชื้อชวนให้คนทำในสิ่งที่ถูกต้อง โดยเขาเป็นนักการเมืองวัย 59 ปีที่กำลังมาแรงในหมู่คนรุ่นใหม่ เนื่องจากมีวิธีทำให้คนรุ่นใหม่สนใจ
ภาพจาก 柯文哲 feat. 春艷【Do Things Right】Official Music Videoที่มา: YouTube/柯文哲 [1]
เกอเวิ่นเจ้อ นายกเทศมนตรีกรุงไทเป สาธารณรัฐจีน หรือไต้หวัน ออกมิวสิควิดีโอเพลงแนวแร็ป มีเนื้อหาขอให้คนทำในสิ่งที่ถูกต้อง โดยเพลงดังกล่าวซึ่งเผยแพร่เมื่อ 27 ต.ค. มียอดวิวทะลุ 1.1 ล้านวิวเมื่อไม่กี่วันมานี้
ในมิวสิควิดีโอของเพลงที่ชื่อ "Do Things Right." หรือ "ทำในสิ่งที่ถูก" มีเกอเวิ่นเจ้อ นายกเทศมนตรีกรุงไทเปเป็นคนร่วมแสดงด้วย นายกเทศมนตรีอายุ 59 ปีผู้นี้เคยเป็นศัลยแพทย์มาก่อน ก่อนที่เขาจะเข้าสู่ตำแหน่งจากการเลือกตั้งในปี 2557
ในเอ็มวีเพลงนี้เกอเวิ่นเจ้อแต่งตัวเอาเสื้อใส่ในกางเกง มีปากกาเหน็บอยู่ที่กระเป๋าเสื้อ เดินเข้าหากล้องช้าๆ ในโถงทางเดินสลัวๆ ของสำนักงานเทศบาลพูดซ้ำๆ ว่า "จงทำสิ่งที่ถูกต้อง" ไปตามจังหวะเพลง จากนั้นจึงตัดมาที่ภาพเขานั่งอยู่ในห้องประชุมที่ว่างเปล่า เอามือทุบโต๊ะแล้วร้องแร็พซ้ำๆ ว่า "แปลก! แปลก!" ในเอ็มวียังมีนักร้องแร็พเปอร์จากวงการใต้ดินจองไต้หวันที่ชื่อ Chunyan มาร่วมแร็พด้วย Chunyan ร้องเนื้อหาของเพลงว่าอย่าเกียจคร้านหรือลักเล็กขโมยน้อย
ซิตีแล็บระบุว่าเนื้อหาในเพลงของเกอเวิ่นเจ้อมีลักษณะแบบเดียวกับข้อความจากนายกเทศมนตรีในภาพยนตร์เรื่อง "Do the Right Thing" จากผู้กำกับคนดำที่ชื่อ สไปค์ ลี คือให้ทำตัวดีๆ แล้วก็มุ่งสู่ความเป็นเลิศ แต่ทว่าในเพลงของเกอเวิ่นเจ้อนั้นมีทัศนคติแตกต่างกันไป
มีคนแสดงความคิดเห็นในวิดีโอเพลงใหม่ของเกอเวิ่นเจ้อมากกว่า 4,000 รายภายในไม่ถึงหนึ่งวัน ส่วนมากเป็นคำชมเช่นระบุว่า "น่ารักอ่ะ! นี่แหละนายกเทศมนตรีเมืองเรา!" ในเว็บไซต์ซิตีแล็บระบุว่าเป็นนายกเทศมนตรีที่เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ในไต้หวันถึงขั้นมีคนขอให้เขาลงสมัครแข่งขันชิงตำแหน่งประธานาธิบดี สาเหตุที่เขาเป็นที่นิยมเพราะเขาเข้าใจเล่นกับสื่อโซเชียลมีเดียและรู้วิธีการเอาใจคนรุ่นใหม่ในไต้หวัน เช่น ครั้งหนึ่งเขาเคยแต่งกายเลียนแบบตัวเองการ์ตูนเรื่อง "นารูโตะ นินจาคาถาโอ้โฮเฮะ"
ด้วยการทำให้คนกันมาสนใจได้นี่เองทำให้เมื่อเขาทกวิดีโอที่เกี่ยวกับเรื่องจริงจังอย่างการปรับโครงสร้างทีมบริหารงานเมืองให้รับต่อความต้องการของผู้คนก็มีคนดู 22,000 วิว ภายในสามชั่วโมง
ส่วนเรื่องการหันมาร้องฮิปฮอปนี้เกอเวิ่นเจ้อบอกว่ามันดีที่ได้ลองทำแม้จะเป็นสิ่งที่เขาไม่ค่อยเข้าใจมาก บางคนอาจจะหัวเราะเยาะแต่คนเราก็ต้องกล้าไล่ตามชีวิตของตนเอง เกอเวิ่นเจ้อบอกอีกว่าพอได้ทำความเข้าใจและได้เรียนรู้ท่วงทำนองต่างๆ ของดนตรีแนวนี้แล้วก็ทำให้เขาเข้าใจว่าอุตสาหกรรมเพลงมันไม่ได้ง่ายเหมือนการร้องคาราโอเกะ
เรียบเรียงจาก
Taipei’s Mayor Will Destroy You With His New Rap Video, City Lab, 30-10-2018https://www.citylab.com/life/2018/10/taipei-mayor-trap-music-video-ko-wen-je/574417/
| ['ข่าว', 'วัฒนธรรม', 'ต่างประเทศ', 'เกอเวิ่นเจ้อ', 'ไต้หวัน', 'ไทเป', 'แร็ป', 'เพลง', 'ฮิปฮอป', 'สาธารณรัฐจีน'] |
https://prachatai.com/print/79402 | 2018-11-01 18:59 | กสม. จัดวงถก 'ร่างข้อเสนอแนะเพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้สูงอายุ' จ่อชงรัฐบาลเร่งวางมาตรการ | กสม. จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อ 'ร่างข้อเสนอแนะเพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้สูงอายุ' เตรียมชงรัฐบาลเร่งวางมาตรการ - นโยบายรองรับปัญหาข้อท้าทายในสังคมผู้สูงวัย แนะให้ อปท. เป็นหน่วยงานหลักในการดูแลผู้สูงอายุในระดับชุมชน
ประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
1 พ.ย. 2561 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (สนง.กสม.) รายงานว่า วันนี้ กสม. โดย คณะทำงานจัดทำข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของผู้สูงอายุและคนพิการ จัดการสัมมนาเรื่อง “การรับฟังความคิดเห็นต่อร่างข้อเสนอแนะแนวทางหรือมาตรการเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของผู้สูงอายุ” โดยมีผู้เข้าร่วมสัมมนาจำนวน 150 คน ประกอบด้วย ผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ องค์กรภาคประชาสังคม และสถาบันการศึกษา ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชัน กรุงเทพฯ
วัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชน กล่าวเปิดการสัมมนาว่า ประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมสูงอายุ (Ageing Society) มาตั้งแต่ปี 2548 โดยขณะนั้นมีจำนวนผู้ที่อายุ 60 ปีขึ้นไปคิดเป็นร้อยละ 10 ของประชากรทั้งหมด ขณะที่ปัจจุบันประเทศไทยมีประชากรสูงอายุคิดเป็นร้อยละ 16 หรือ ประมาณ 11 ล้านคน จากประชากรทั้งหมดประมาณ 66 ล้านคน และมีการคาดการณ์ว่าประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ (Aged Society) ในปี 2564 ซึ่งจะมีผู้สูงอายุคิดเป็นร้อยละ 20 ของประชากรทั้งประเทศ จะเห็นได้ว่าประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของประชากรอย่างรวดเร็วเนื่องด้วยจำนวนประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าตัวภายในระยะเวลากว่า 10 ปี ด้วยเหตุผลข้างต้น กสม. จึงได้กำหนดให้เรื่องสิทธิของผู้สูงอายุเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญในยุทธศาสตร์ขององค์กรระหว่างปี 2560 – 2565 โดยได้ดำเนินการรวบรวมข้อมูลสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของผู้สูงอายุอย่างรอบด้านด้วยวิธีการไต่สวนสาธารณะ และจัดทำเป็น “(ร่าง)ข้อเสนอแนะเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของผู้สูงอายุ” และจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากเวทีสาธารณะต่อร่างข้อเสนอแนะฯ ดังกล่าวในครั้งนี้ เพื่อให้การคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิผู้สูงอายุสอดคล้องกับสถานการณ์สิทธิของผู้สูงอายุที่เป็นอยู่จริง
ประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะประธานคณะทำงานจัดทำข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของผู้สูงอายุและคนพิการ นำเสนอร่างข้อเสนอแนะเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของผู้สูงอายุ สรุปว่า กสม. ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาสิทธิของผู้สูงอายุตั้งแต่ปี 2559 โดยมีการตั้งคณะทำงานขึ้นเพื่อดำเนินการเรื่องดังกล่าวเป็นการเฉพาะ สำหรับการศึกษาเพื่อจัดทำ “ร่างข้อเสนอแนะเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของผู้สูงอายุ” นั้น คณะทำงานฯ ได้ใช้วิธีการไต่สวนสาธารณะ (Public Inquiry) ซึ่งเป็นกระบวนการตรวจสอบปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ โดยคณะทำงานฯ ได้ดำเนินการศึกษาข้อมูลจากพยานหลักฐานต่าง ๆ เช่น งานวิชาการ การลงพื้นที่ในภูมิภาคต่าง ๆ เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานของรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) สถาบันการศึกษา องค์กรหรือชมรมผู้สูงอายุ และนักวิจัยที่ดำเนินงานด้านผู้สูงอายุ ตลอดจนการส่งแบบสำรวจเรื่องปัญหาการละเลยทอดทิ้ง การใช้ความรุนแรง การล่วงละเมิดสิทธิผู้สูงอายุ และกลไกการปกป้องคุ้มครอง ไปยังสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์และสำนักงานยุติธรรมจังหวัดทุกจังหวัด เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการจัดทำร่างฯ
โดยร่างข้อเสนอแนะเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของผู้สูงอายุที่ กสม. ได้จัดทำขึ้น ประกอบด้วย ประเด็นข้อเสนอแนะในสิทธิด้านต่าง ๆ ของผู้สูงอายุ 7 ด้าน สรุปได้ดังต่อไปนี้ (1) “สิทธิในที่อยู่อาศัย” รัฐควรรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญในการปรับปรุงสภาพแวดล้อมในที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตของผู้สูงอายุ ตลอดจนให้ความสำคัญกับการดูแลผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยให้มีที่อยู่อาศัยที่มีสภาพเหมาะสม (2) “สิทธิด้านสุขภาพ” รัฐควรจัดให้มีบุคลากร/แผนกด้านการรักษาเฉพาะที่ให้บริการด้านสุขภาพแก่ผู้สูงอายุได้อย่างเพียงพอ และควรมีมาตรการจูงใจให้มีผู้สมัครเป็นผู้จัดการดูแล (Care Manager) และผู้ดูแล (Care Giver) ผู้สูงอายุมากขึ้น เช่น การสนับสนุนค่าตอบแทนที่เหมาะสม
(3) “หลักประกันรายได้” รัฐควรเร่งรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของการวางแผนการออมเงินไว้ใช้จ่ายยามชราภาพ โดยรัฐควรพัฒนารูปแบบการออมภาคบังคับสำหรับแรงงานนอกระบบด้วย ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีระเบียบที่ชัดเจนในการเบิกจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ โดยควรกำหนดให้มีการจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุไม่เกินวันที่ 5 หรือภายในสัปดาห์แรกของเดือน (4) “สิทธิในการมีงานทำ” รัฐควรพิจารณาขยายอายุเกษียณราชการเป็น 65 ปีโดยให้เป็นไปตามความสมัครใจ และควรเร่งพิจารณาจัดทำมาตรฐานการทำงานของผู้สูงอายุ เช่น ชั่วโมงการทำงานและค่าจ้างรายชั่วโมงที่เหมาะสมกับวัย (5) “สิทธิในการศึกษาตลอดชีวิต” อปท. ควรมีหน้าที่ในการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ โดยอาจดำเนินการในรูปแบบศูนย์การศึกษาและฝึกอาชีพผู้สูงอายุ
(6) “การคุ้มครองสิทธิของผู้สูงอายุจากการถูกทอดทิ้งและการแสวงประโยชน์” รัฐควรสร้างจิตสำนึกและปลูกฝังคุณธรรมให้บุตรมีความรับผิดชอบดูแลบิดามารดาเพื่อป้องกันปัญหาการทอดทิ้งผู้สูงอายุ และควรจัดให้มีบริการดูแลผู้สูงอายุแบบไปกลับ (Day Care) ในชุมชนเพื่อช่วยเหลือครอบครัวในการดูแลผู้สูงอายุในช่วงที่สมาชิกอื่นต้องออกไปทำงานระหว่างวัน ทั้งนี้ ควรปรับวงเงินการช่วยเหลือผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยและถูกทอดทิ้งให้มากขึ้นเพียงพอแก่การยังชีพอยู่ได้ และ (7) “การคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุในกรณีภัยพิบัติ” ควรมีการระบุกลุ่มเปราะบางรวมถึงกลุ่มผู้สูงอายุในแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยของแต่ละพื้นที่ และกำหนดแนวทางการให้ความช่วยเหลือผู้สูงอายุอย่างชัดเจน
ประกายรัตน์ กล่าวต่อว่า สำหรับข้อเสนอในภาพรวมของร่างข้อเสนอแนะฯ สรุปว่า รัฐบาลควรให้ อปท. เป็นหน่วยงานหลักในการดูแลผู้สูงอายุในระดับชุมชน โดยให้หน่วยงานส่วนกลางมีหน้าที่กำหนดมาตรฐานและกำกับดูแล โดยรัฐควรกำหนดช่องทางหลักในการร้องเรียนปัญหาเกี่ยวกับสิทธิของผู้สูงอายุเพื่อความสะดวกแก่ผู้สูงอายุในการแจ้งปัญหา และควรมีการทบทวนบทบาทหน้าที่ของอาสาสมัครต่าง ๆ เพื่อให้มีความชัดเจนและลดความซ้ำซ้อนในการดำเนินงาน นอกจากนี้รัฐควรมีนโยบายที่ชัดเจนเพื่อเตรียมรองรับสังคมผู้สูงอายุด้วย
“การก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุของไทยเป็นข้อท้าทายสำคัญในเวลานี้และในอนาคตที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนประเทศที่กำลังจะมีผู้สูงอายุเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ การสัมมนาในครั้งนี้ กสม. จะได้นำข้อมูลความคิดเห็นของทุกฝ่ายไปปรับปรุงแก้ไขร่างข้อเสนอแนะฯ ให้มีความครอบคลุมและเป็นประโยชน์สูงสุดต่อผู้สูงอายุ เพื่อให้ผู้สูงอายุได้รับการดูแลอย่างเหมาะสมและมีคุณภาพชีวิตที่ดี ก่อนนำเสนอต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป” ประกายรัตน์ กล่าว
| ['ข่าว', 'สังคม', 'สิทธิมนุษยชน', 'คุณภาพชีวิต', 'สังคมสูงอายุ', 'คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ', 'ผู้สูงอายุ', 'ประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์', 'องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น'] |
https://prachatai.com/print/79405 | 2018-11-01 19:52 | ชีวิตชายขอบหลังพม่าเปลี่ยนไม่ผ่าน (1): แม่ตาวคลินิก ความท้าทายสาธารณสุขชายแดน | สำรวจรายละเอียดของความไม่สงบและความยากลำบากที่ประชาชนชายขอบจำนวนมากต้องเผชิญหนักหน่วงยิ่งขึ้นเพราะโลกเข้าใจว่าทุกอย่างในพม่าเป็นไปด้วยดี เริ่มต้นที่ ‘แม่ตาวคลินิก’ ก่อตั้งโดยหมอซินเธีย และเป็นที่พึ่งคนยากไร้ชายแดนไทย-พม่าเกือบ 30 ปี ซึ่งเผชิญการถูกตัดงบประมาณจากผู้บริจาคชาติตะวันตก พร้อมมาตรการรับมือทั้งปรับกำลังคน เพิ่มประสิทธิภาพงานสาธารณสุข เริ่มใช้ระบบร่วมจ่าย โดยยังคงรักษาภารกิจสำคัญอย่างการอบรมบุคลากรสาธารณสุขชายแดน และเน้นป้องกันโรค
สถานการณ์ในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา หรือ พม่า ที่เปลี่ยนจากรัฐบาลทหารซึ่งปกครองมาตั้งแต่ปี 2505 มาสู่รัฐบาลพลเรือนนำโดยพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ NLD นับตั้งแต่มีการเลือกตั้งทั่วไปปี 2553 และ 2558 นั้น แม้จะยังไม่ทำให้ประเทศเข้าสู่การปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบเต็มที่เนื่องจากรัฐธรรมนูญปี 2551 ยังสงวนอำนาจทางการเมืองให้กับกองทัพพม่า แต่ก็เพียงพอให้ชาติตะวันตกปรับความสัมพันธ์ต่อพม่า ผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตร เข้ามาลงทุน รวมทั้งบริจาคทุนให้ความช่วยเหลือกับ ‘พม่า’ มากขึ้น
การเมืองภายในของประเทศเพื่อนบ้านแห่งนี้มีความเฉพาะตัวและซับซ้อน กระบวนการเจรจาสันติภาพระหว่างรัฐบาลพม่าและกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ (Ethnic Armed Organizations - EAOs) เริ่มต้นตั้งแต่ปลายปี 2554 นำมาสู่การริเริ่มลงนามเจรจาหยุดยิงทั่วประเทศ (National Ceasefire Agreement - NCA) เมื่อ 15 ตุลาคม 2558 มีกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ 8 กลุ่มจาก 15 กลุ่มร่วมลงนาม และในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 ก็มีเพิ่มอีก 2 กลุ่ม
แต่ถึงแม้จะมีการเจรจาสันติภาพมาตั้งแต่ปี 2554 ก็ตาม ในปัจจุบันขั้นตอนการเจรจาสันติภาพและการเจรจาทางการเมืองก็ยังไม่มีความคืบหน้า ในทางตรงข้ามกองทัพพม่าเองก็ขยายกำลังทางทหาร รวมทั้งเสริมสิ่งอำนวยความสะดวกทางการทหารเข้าไปในพื้นที่ของกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ด้วย นำไปสู่การเผชิญหน้าและการปะทะทางทหารหลายครั้ง ซ้ำยังเลวร้ายลงไปอีกเมื่อกองทัพพม่ากวาดล้างชุมชนมุสลิมโรฮิงญาในเดือนสิงหาคมปี 2560 จนล่าสุดมีผู้อพยพมากกว่า 8 แสนคนที่ชายแดนบังกลาเทศ
สถานการณ์เช่นนี้ส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ด้านมนุษยธรรมในพื้นที่ชายแดนไทย-พม่า เพราะหลังรัฐบาลตะวันตกปรับความสัมพันธ์กับรัฐบาลพม่า ผู้บริจาคจากประเทศตะวันตกทั้งภาครัฐและภาคเอกชนก็เริ่มตัดงบประมาณตามชายแดน หรือย้ายไปให้ความช่วยเหลือภายในพื้นที่ประเทศพม่าแทน
รายงานชุดนี้จะเข้าไปสำรวจรายละเอียดของความไม่สงบในพื้นที่กลุ่มชาติพันธุ์และความยากลำบากที่ประชาชนชายขอบจำนวนมากต้องเผชิญหนักหน่วงยิ่งขึ้นเพราะโลกเข้าใจว่าทุกอย่างในพม่าเป็นไปด้วยดี เริ่มต้นที่ ‘แม่ตาวคลินิก’ สถานพยาบาลหลักของกลุ่มชาติพันธุ์ชายแดนไทย-พม่า ตั้งอยู่ที่อำเภอแม่สอด และดำเนินการมาเกือบ 30 ปี จากนั้นในตอนต่อไปจะสำรวจชุมชนผู้อพยพจากรัฐฉานและรัฐกะเหรี่ยง
ทำความเข้าใจการเมืองพม่าภายใน 1 นาที
1 ปีหลังได้รับเอกราชจากอังกฤษ รัฐบาลกลางก็นำพาพม่าเข้าสู่สงครามกลางเมืองกับกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ที่เรียกร้องอิสรภาพ โดยเฉพาะสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Union – KNU) ตั้งแต่ปี 2492
สถานการณ์ยิ่งสลับซับซ้อน เมื่อนายพลเนวินทำรัฐประหารในปี 2505 พม่าถูกปกครองด้วยรัฐบาลทหารกว่า 5 ทศวรรษ มีการปราบปรามการลุกฮือของประชาชนในเหตุการณ์ ‘8888’ ปี 2531 และไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งที่พรรค NLD ชนะในปี 2533 รวมทั้งปราบปรามการชุมนุมประท้วงการขึ้นราคาค่าเชื้อเพลิงนำโดยพระสงฆ์ซึ่งลุกลามเป็น ‘การปฏิวัติชายจีวร’ ในปี 2550
ต่อมามีการลงประชามติรัฐธรรมนูญในเดือนพฤษภาคม 2551 ซึ่งทำให้กองทัพพม่าหันมาสืบทอดอำนาจผ่านโครงสร้างทางการเมืองต่างๆ และนำมาสู่การเลือกตั้งเป็นครั้งแรกเมื่อ 7 พฤศจิกายน 2553 ทำให้ได้รัฐบาลกึ่งทหารกึ่งพลเรือน นำโดยพรรคสหภาพเพื่อความสามัคคีและการพัฒนา (USDP) ที่ก่อตั้งโดยรัฐบาลทหารพม่า ในนาม สภาสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐ (SPDC)
ภายหลังการสาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดีของเต็งเส่ง อดีตนายทหารในกองทัพพม่าเมื่อ 30 มีนาคม 2554 นำมาสู่การประกาศอย่างเป็นทางการในเดือนสิงหาคม 2554 ว่าต้องการเจรจาสันติภาพกับกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ทั่วประเทศ
ผลจากกระบวนการสันติภาพระหว่างรัฐบาลพม่ากับกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ที่เริ่มต้นตั้งแต่ปลายปี 2554 นำมาสู่การริเริ่มเจรจาหยุดยิงทั่วประเทศ จนกระทั่งเมื่อ 15 ตุลาคม 2558 มีกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ 8 กลุ่มจากทั้งหมด 15 กลุ่มที่ริเริ่มลงนามหยุดยิงทั่วประเทศ (National Ceasefire Agreement - NCA) กับรัฐบาลพม่า
ในจำนวนนี้มีกลุ่มที่สำคัญอย่าง สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) และสภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน/กองทัพรัฐฉาน (RCSS/SSA) ลงนามด้วย ในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 มีอีก 2 กลุ่มร่วมลงนาม คือ สหภาพประชาธิปไตยละหู่ (Lahu Democratic Union - LDU) และพรรครัฐมอญใหม่ (New Mon State Party - NMSP) [1] [1], [2] [2]
ตามมาด้วยการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2558 เปลี่ยนผ่านจากรัฐบาลพรรค USDP ไปสู่รัฐบาลพรรค NLD ที่นำโดยอองซานซูจี ในฐานะที่ปรึกษาแห่งรัฐจนถึงปัจจุบัน แบ่งอำนาจกับกองทัพพม่าที่ยังคงมีโควตาที่นั่ง 1 ใน 4 ของสภาทุกระดับและมีบทบาทสำคัญทั้งในทางการเมืองและความมั่นคงตามที่รัฐธรรมนูญพม่าฉบับปี 2551 กำหนด
รู้จักแม่ตาวคลินิก ที่พึ่งคนยากไร้ชายแดนเกือบ 30 ปี
แพทย์หญิงซินเธีย หม่อง รักษาผู้ป่วยบริเวณชายแดนไทย-พม่า ภาพถ่ายในปี 2532 (ที่มา: แม่ตาวคลินิก)
แพทย์หญิงซินเธีย หม่อง รักษาผู้ป่วยบริเวณชายแดนไทย-พม่า ภาพถ่ายในปี 2533 (ที่มา: แม่ตาวคลินิก)
บัตรบันทึกการได้รับวัคซีนป้องกันโรคในเด็ก แปลเป็นภาษาอังกฤษและพม่า โดยบัตรบันทึกนี้ได้รับการสนับสนุนจากสาธารณสุขจังหวัดตาก
คุณแม่พาเด็กทารกเข้ารับการตรวจสุขภาพและรับวัคซีนป้องกันโรคที่แม่ตาวคลินิก
แพทย์หญิงซินเธีย หม่อง
แผนกเวชระเบียนในช่วงเช้าที่แม่ตาวคลินิก
เจ้าหน้าที่สาธารณสุขของแม่ตาวคลินิกขณะอบรมคุณแม่หลังคลอด เรื่องอนามัยแม่และเด็ก และข้อมูลการฉีดวัคซีน จากสถิติของแม่ตาวคลินิกตลอดปี 2560 มีเด็กที่คลอดและเกิดมีชีพทั้งสิ้น 2,152 ราย (แฟ้มภาพ/มีนาคม 2560)
ไม่ไกลจากตัวเมืองแม่สอดไปทางทิศตะวันตก เป็นที่ตั้งของแม่ตาวคลินิก ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2532 โดยแพทย์หญิงซินเธีย หม่อง หรือคุณหมอซินเธีย รับรักษาคนไข้ยากจนตามแนวชายแดนไทย-พม่า ทั้งประชากรในพื้นที่ชายแดนทั้งสองประเทศ แรงงานข้ามชาติและผู้อพยพ
หมอซินเธีย หม่อง [3] เกิดในครอบครัวชาวกะเหรี่ยงที่ย่างกุ้งในปี 2502 พ่อเป็นผู้ช่วยพยาบาล เธอเติบโตที่มะละแหม่ง รัฐมอญ ต่อมาเข้าเรียนในโรงเรียนแพทย์ช่วงปี 2523 ซึ่งขณะนั้นขบวนการนักศึกษาพม่าเริ่มก่อตัว ปี 2530 หมอซินเธียเริ่มทำงานเป็นครั้งแรกที่หมู่บ้านอินตู (Eain Du) ในรัฐกะเหรี่ยง เมืองที่อยู่ไม่ไกลจากผาอันเมืองหลวงของรัฐกะเหรี่ยงและเป็นเส้นทางเชื่อมต่อกับเมืองเมียวดีที่ชายแดนไทย-พม่า ที่นี่เองคุณหมอได้เห็นการละเมิดของกองทัพพม่า ทั้งการบังคับเก็บภาษี การเกณฑ์แรงงาน การเข้าถึงแพทย์เป็นไปอย่างจำกัดในขณะที่วัณโรคกำลังระบาด
กระทั่งเกิดการลุกฮือประท้วงในย่างกุ้งและลามไปทั่วประเทศในปี 2531 หรือเหตุการณ์ 8888 (วันที่ 8 เดือน 8 ปี 1988) คุณหมอเข้าร่วมเคลื่อนไหวด้วย หลังกองทัพพม่าปราบปรามนักศึกษาในเดือนสิงหาคมนั้น วันที่ 21 กันยายนคุณหมอและเพื่อนอีก 14 คนก็ตัดสินใจเดินเท้าเป็นเวลา 10 คืนจนมาถึงชายแดนไทย
หมอซินเธียรักษาผู้คนที่เจ็บป่วยและบาดเจ็บตามแนวชายแดน จนกระทั่งมีความคิดเปิดแม่ตาวคลินิก [4] ในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2532 เริ่มต้นจากบ้านไม้หลังเล็กๆ ในอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ในสภาพขาดแคลนเวชภัณฑ์ ใช้หม้อหุงข้าวฆ่าเชื้ออุปกรณ์ อีกทั้งเจ้าหน้าที่คนอื่นๆ ก็ไม่ได้ผ่านการฝึกอบรมทางการแพทย์
โดยแม่ตาวคลินิกกำลังจะเข้าสู่ปีที่ 30 ในปี 2562 เป็นสถานพยาบาลที่มีความสำคัญมากของชายแดน แต่ละปีรักษาผู้ป่วยเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 100,000 คน ในจำนวนนี้เป็นการทำคลอดราว 2,300 ราย ที่นี่ยังเป็นศูนย์ฝึกอบรมด้านสาธารณสุขให้กับอาสาสมัครและบุคลากรสาธารณสุขขั้นพื้นฐานมาแล้วมากกว่า 2,000 คน เจ้าหน้าที่เหล่านี้กลับเข้าไปมีบทบาทสำคัญในพื้นที่ห่างไกลทางด้านตะวันออกของพม่าซึ่งเป็นถิ่นฐานของประชากรกลุ่มชาติพันธุ์ ครอบคลุมพื้นที่ รัฐฉาน รัฐกะเรนนี รัฐกะเหรี่ยง และรัฐมอญ ผ่านระบบสร้างเสริมศักยภาพสุขภาพ (Health System Strengthening - HSS) ที่เป็นการร่วมมือกันขององค์กรด้านสาธารณสุขของกลุ่มชาติพันธุ์ 8 องค์กร [5]
อินโฟกราฟฟิกโดย กิตติยา อรอินทร์
สถานการณ์ท้าทายเมื่อแหล่งทุนทยอยยุติความช่วยเหลือ
ผลจากการเจรจาหยุดยิงและกระบวนการสันติภาพที่เริ่มต้นตั้งแต่ปลายปี 2554 จนเจรจาหยุดยิงทั่วประเทศในเดือนตุลาคม 2558 ตามมาด้วยการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2558 ที่เปลี่ยนผ่านไปสู่รัฐบาลพรรค NLD ดูเหมือนพม่าจะเปิดกว้างต่อนานาชาติมากขึ้น แม้จะยังไม่เป็นประชาธิปไตยเต็มที่ แต่เมื่อบรรยากาศทางการเมืองส่วนกลางผ่อนคลายก็ทำให้ความสนับสนุนจากต่างประเทศเริ่มเข้าสู่พม่ามากขึ้น
ทิศทางเช่นนี้ย่อมส่งผลกระทบต่อพื้นที่ชายแดนซึ่งยังคงประสบปัญหาด้านความมั่นคงและสิทธิมนุษยชนจากข้อมูลของมูลนิธิสุวรรณนิมิตซึ่งเป็นองค์กรร่มของแม่ตาวคลินิกเปิดเผยว่า งบประมาณที่แม่ตาวคลินิกได้รับจากองค์กรผู้บริจาคในปี 2561 เพียงพอสำหรับความต้องการใช้จริงๆ เพียง 25% เท่านั้น โดยผู้บริจาคหลัก เช่น UK Aid ของสหราชอาณาจักร และองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งสหรัฐอเมริกา หรือ USAID แจ้งว่าไม่สามารถให้งบประมาณช่วยเหลือสำหรับชายแดนไทย-พม่าได้อีกต่อไป และต้องย้ายไปดำเนินการภายในประเทศพม่าแทน ทำให้แม่ตาวคลินิกต้องหาแหล่งงบประมาณและการบริจาคอื่นมาชดเชย เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานต่อไปให้ได้ มิเช่นนั้นจะต้องตัดงบประมาณด้านสาธารณสุขหลายโครงการรวมทั้งโครงการที่เกี่ยวกับการคุ้มครองเด็ก และจะส่งผลกระทบต่อการป้องกันโรคระบาดตามแนวชายแดน
อย่างไรก็ตามผู้บริจาคเหล่านั้นยังคงพยายามช่วยเหลือด้านการบริการสาธารณสุขชายแดนพม่า โดยร่วมกันสนับสนุนผ่านโครงการและองค์กรพัฒนาเอกชนหลายกลุ่ม ในรอบ 4 ปีมานี้เริ่มเห็นผลว่ามีการปรับปรุงเรื่องการเข้าถึงบริการสาธารณสุขในพื้นที่ชายแดนพม่า อย่างไรก็ตามพื้นที่ชายแดนยังคงเป็นประเด็นละเอียดอ่อนสำหรับรัฐบาลพม่า จึงทำให้แม้แต่คนทำงานด้านสาธารณสุขเองก็ต้องตระหนักถึงข้อจำกัดในเรื่องนี้
"องค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านตะวันออกของพม่าและในพื้นที่รัฐของกลุ่มชาติพันธุ์ก็ต้องระมัดระวังเรื่องความละเอียดอ่อนทางการเมือง การทำงานเพื่อเสริมศักยภาพของระบบสาธารณสุขที่มีอยู่แล้วในพื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์จึงเป็นงานที่ยาก" หมอซินเธียกล่าว
ชีวิตชายขอบหลังพม่าเปลี่ยนไม่ผ่าน (2): ผู้ลี้ภัยชายแดนไทย-รัฐฉาน [6], 8 พ.ย. 2561
ปรับลดกำลังคน เพิ่มประสิทธิภาพบริหารงานสาธารณสุข
สำหรับการปรับตัวในรูปธรรม ในรอบปีที่ผ่านมาแม่ตาวคลินิกมีการลดจำนวนเจ้าหน้าที่ของทุกแผนงานทุกโครงการลงจาก 400 คน เป็น 300 คน รวมทั้งลดเบี้ยเลี้ยงและเงินเดือนลง 20% ด้วย
หมอซินเธียเปิดเผยว่า ที่ผ่านมามีการทบทวนโครงสร้างบุคลากรของแม่ตาวคลินิก มีการวางแผนเรื่องจำนวนบุคลากรให้เหมาะสม มีการปรับปรุงเพื่อให้ดำเนินการด้านสาธารณสุขได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังมีการแสวงหาพันธมิตรและผู้บริจาคร่วมในระดับภูมิภาครายอื่นๆ ทดแทน
เช่น ภาคเอกชนในไทยที่ช่วยสนับสนุนเวชภัณฑ์เป็นครั้งคราว ความช่วยเหลือจากรัฐบาลและภาคเอกชนในเอเชียทั้งความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจแบบให้เปล่าเพื่อพื้นฐานและความมั่นคงของมนุษย์ (GGP) จากรัฐบาลญี่ปุ่น สมาคมชาวญี่ปุ่นเพื่อแม่ตาวคลินิก (JAM) หรือความช่วยเหลือจากสำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ประจำประเทศไทย ฯลฯ
เริ่มใช้ระบบร่วมจ่ายตามกำลังทรัพย์
ในส่วนของค่าใช้จ่ายในการรักษา เริ่มมีการใช้ระบบร่วมจ่ายตามความสมัครใจของผู้ป่วยมาตั้งแต่เดือนตุลาคมปี 2560 แต่ไม่ได้ใช้กับทุกการรักษา โดยยังใช้ระบบร่วมจ่ายกับบริการสาธารณสุขที่ไม่ใช่โรคเจ็บป่วยฉุกเฉิน เช่น การตัดวัดสายตาและตัดแว่น การผ่าตัดและการรักษาประเภทที่ไม่ใช่เหตุเจ็บป่วยฉุกเฉิน
บางกรณีผู้ป่วยอาจสมทบค่ารักษาพยาบาลได้ 25% หากไม่สามารถจ่ายได้ก็อาจลดเงินสมทบลงมาเป็น 10% หรือ 15% หรือขอสมทบเป็นค่ารักษาพยาบาลตามศัยกยภาพของผู้ป่วย เช่น 100 บาท 50 บาท
เจ้าหน้าที่มูลนิธิสุวรรณนิมิตเปิดเผยว่า ผลการประเมินเบื้องต้นหลังใช้ระบบร่วมจ่ายตามความสมัครใจมาแล้วครบ 1 ปี เงินค่ารักษาพยาบาลที่ได้ก็ยังไม่สามารถครอบคลุมค่าใช้จ่ายของคลินิก ทำได้เพียงช่วยต่อลมหายใจให้กับการดำเนินงานเท่านั้น
นอกจากนี้แม่ตาวคลินิกยังส่งเสริมให้แรงงานข้ามชาติในพื้นที่ชายแดนสามารถเข้าถึงการซื้อประกันสุขภาพในราคาที่เหมาะสมด้วย โครงการนี้ได้รับการส่งเสริมโดยเอ็นจีโอด้านสุขภาพ แม้ว่าแรงงานบางคนไม่มีเอกสารประจำตัวก็พยายามหาทางช่วยให้สามารถเข้าถึงการซื้อประกันสุขภาพให้ได้
สาธารณสุขชายแดนเข้าถึงพื้นที่มากขึ้น แต่ติดปัญหารัฐบาลพม่าไม่ยอมรับ
แม้จะมีการเริ่มเจรจาสันติภาพจนนำไปสู่ข้อตกลงขั้นต้นที่จะหยุดยิงทั่วประเทศเมื่อปี 2558 แต่ปัจจุบันการเจรจายังไม่มีความคืบหน้า ข้อตกลงทางการเมืองยังไม่บรรลุผล และบ่อยครั้งก็ยังคงมีการปะทะและมีการเคลื่อนกำลังของทหารรัฐบาลพม่าเข้ามาในพื้นที่รัฐกะเหรี่ยง
หมอซินเธียกล่าวถึงผลจากกระบวนการเจรจาสันติภาพในพื้นที่รัฐกะเหรี่ยงซึ่งส่งผลต่อสถานการณ์สาธารณสุขชายแดนว่า ที่ผ่านมากว่า 50% ของผู้ป่วยที่มารักษาที่แม่ตาวคลินิกจะข้ามมาจากฝั่งพม่า หลังการหยุดยิงตัวเลขของผู้ป่วยในแต่ละปีแม้จะเปลี่ยนแปลงไม่มาก แต่ตัวเลขการเจ็บป่วยบางกรณีก็ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
กรณีมาลาเรีย ตั้งแต่มีการหยุดยิงทำให้อาสาสมัครด้านสาธารณสุขที่ทำงานด้านการป้องกันโรคมาลาเรียทำงานสะดวกมากขึ้น หน่วยวิจัยมาลาเรีย Shoklo Malaria Research Unit หรือ SMRU ที่เป็นความร่วมมือระหว่างมหิดลและออกซฟอร์ดก็สามารถเข้าไปทำงานในพื้นที่รัฐกะเหรี่ยงได้มากขึ้น ส่งผลต่อการลดจำนวนผู้ป่วยโรคมาลาเรียในพื้นที่ชายแดนพม่าด้านตะวันออก อย่างไรก็ตาม ปัญหายังมีอยู่ว่าจนถึงขณะนี้รัฐบาลพม่ายังไม่รับรองบุคลากรสาธารณสุขชายแดน โดยเฉพาะบุคลากรจากกลุ่มชาติพันธุ์และยังไม่มีบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ หรือ MOU ระหว่างกระทรวงสาธารณสุขรัฐบาลพม่ากับองค์กรด้านสาธารณสุขของกลุ่มชาติพันธุ์
"เมื่อรัฐบาลพม่ายังไม่มีนโยบายที่ชัดเจนเพื่อรับรองเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่มาจากกลุ่มชาติพันธุ์ ในทางปฏิบัติก็จะเห็นการทำงานที่ก้าวก่ายคู่ขนานกันไประหว่างเจ้าหน้าที่สาธารณสุขของรัฐบาลพม่ากับกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่แต่ละหมู่บ้าน ที่พอจะเห็นความร่วมมือกันอยู่บ้างก็เช่นการยอมอบรมสาธารณสุข แพทย์ผดุงครรภ์ หรืออบรมการใช้วัคซีนร่วมกัน ในแง่นี้การเข้าถึงพื้นที่อาจมีการปรับปรุงให้ดีขึ้น แต่ในเรื่องของการยอมรับและความร่วมมือระหว่างกันยังคงไม่ชัดเจน" หมอซินเธียกล่าว
นอกจากนี้หลังการหยุดยิงยังมีผลกระทบด้านสาธารณสุขที่คาดไม่ถึงตามมาด้วย นั่นคือ การลงทุนและการพัฒนาในพื้นที่ ทั้งเหมืองแร่ การทำไม้ การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน หมอซินเธียบอกว่า การพัฒนาที่ไม่ผ่านขั้นตอนการปรึกษาหรือทำประชาพิจารณ์กับชุมชนจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคนในชุมชน และยังเกิดปัญหาอพยพย้ายถิ่นของคนในชุมชนอีกด้วย
ความเปลี่ยนแปลงที่คาดไม่ถึงอีกอย่างคือปัญหาของอุบัติเหตุทางถน ปัจจุบัมีการส่งต่อเคสผู้ป่วยอุบัติเหตุทางถนนจากฝั่งพม่ามาที่แม่ตาวคลินิกมากขึ้น ทั้งที่เมื่อก่อนเคสฉุกเฉินมักเป็นกรณีผู้บาดเจ็บจากการสู้รบ หมอซินเธียเห็นว่าต้องมีการวิจัยหาสาเหตุว่าเพราะอะไร อาจมาจากสภาพถนนที่ไม่ปลอดภัยเพราะการก่อสร้างไม่เป็นไปตามมาตรฐาน หรือไม่มีการอบรมเรื่องกฎจราจรหรือฝึกด้านความปลอดภัยบนท้องถนนอย่างเพียงพอ
เดินหน้าอบรมต่อ เน้นยุทธศาสตร์ด้านการป้องกัน
ไม่ว่าสถานการณ์จะเปลี่ยนแปลงอย่างไร ยุทธศาสตร์หนึ่งของแม่ตาวคลินิกที่จะดำเนินการต่อก็คือ การอบรมสร้างบุคลากรที่จะเป็นกำลังสำคัญด้านสาธารณสุข ในพื้นที่กลุ่มชาติพันธุ์ อย่างรัฐกะเหรี่ยง รัฐกะเรนนี และรัฐมอญ โดยเฉพาะการอบรมให้เจ้าหน้าที่อนามัย แพทย์ผดุงครรภ์ เพื่อปรับปรุงการบริการและการเข้าถึงบริการในพื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์ เพราะที่ผ่านมาประมาณ 50% ของคนไข้ที่แม่ตาวคลินิกนั้นข้ามฝั่งมาจากพม่า
"ถ้าเคสผู้ป่วยโรคพื้นฐานที่จะข้ามมาทำการรักษาลดจำนวนลง การใช้จ่ายงบประมาณของแม่ตาวคลินิกก็จะเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ยุทธศาสตร์ด้านการป้องกันโรค ถ้ามีผู้ป่วยมาลาเรีย 4,000 ราย งบประมาณที่ใช้ย่อมต่างจากการรักษาผู้ป่วยมาลาเรีย 400 ราย ดังนั้นยุทธศาสตร์ของแม่ตาวคลินิกจึงคงอบรมบุคลากรสาธารณสุขเพื่อทำให้เครือข่ายมีความเข้มแข็ง"
ความท้าทายก็คือ การทำแผนที่ภาพรวมของการบริการและการสร้างภาคีความร่วมมือระหว่างองค์กรด้านสาธารณสุขของกลุ่มชาติพันธุ์ รัฐบาล และองค์กรพัฒนาเอกชน ยังคงเป็นเรื่องยาก ขาดความไว้เนื้อเชื่อใจและสร้างความร่วมมือที่เท่าเทียมกัน
สร้างระบบการส่งต่อผู้ป่วยอย่างมีประสิทธิภาพ
แม่ตาวคลินิกเริ่มต้นส่งต่อคนไข้ไปยังโรงพยาบาลศูนย์เมียวดีฝั่งพม่านับตั้งแต่ปี 2558 โดยมุ่งหวังจะเสริมศักยภาพให้กับความร่วมมือข้ามพรมแดนระหว่าง 2 รัฐบาลไทย-พม่า หลายปีก่อนแม่ตาวคลินิกเคยส่งต่อคนไข้เอชไอวีและวัณโรคไปยังโรงพยาบาลแม่สอด ช่วงที่รัฐบาลไทยได้รับการสนับสนุนงบสำหรับป้องกันรักษาโรคเอชไอวีและวัณโรคสำหรับประชากรข้ามชาติ จาก Global Fund จนเมื่อ Global Fund ยุติการสนับสนุน แม่ตาวคลินิกก็ไม่ได้ส่งต่อคนไข้ในกรณีนี้อีก
"สำหรับการส่งต่อผู้ป่วย เราจะพิจารณาทั้งศักยภาพของสถานพยาบาลที่จะรับตัวผู้ป่วยและความสะดวกของผู้ป่วย จึงต้องพิจารณารายกรณี ไม่สามารถส่งต่อผู้ป่วยไปที่โรงพยาบาลเมียวดีได้ทันที เพราะบางเคสผู้ป่วยไม่ได้อาศัยอยู่ที่เมืองเมียวดี แต่มาจากพื้นที่อื่นในพม่า ถ้าผู้ป่วยต้องการให้ส่งต่อกลับไปยังภูมิลำเนาก็จะเป็นความท้าทายอย่างหนึ่ง เพราะเราก็จะไม่สามารถติดต่อกับเคสผู้ป่วยได้อีก"
กรณีผู้ป่วยเอชไอวี เป็นโรคทางยุทธศาสตร์หลักที่แม่ตาวคลินิกดูแล จะมีการให้คำปรึกษา ตรวจรักษา ในกรณีที่จะส่งต่อเคสกลับไปรักษาฝั่งพม่าเราก็ยังต้องติดตามผู้ป่วยอยู่ บางครั้งพวกเขายังต้องทำงานในฝั่งแม่สอด เพียงกลับไปรับยา รับการรักษาที่ฝั่งพม่าแล้วกลับมาทำงานฝั่งไทย กรณีนี้จึงจำเป็นต้องสนับสนุนทั้งการรักษาที่บ้าน (Home based cares) รวมทั้งการดูแลโดยผู้นำชุมชน ดังนั้นแม้มีการส่งต่อผู้ป่วย แต่ในภาพรวมทางแม่ตาวคลินิกก็ยังจำเป็นต้องดูแลโครงการเหล่านี้อยู่
เล็งเชื่อมโยงหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าพม่ากับยุทธศาสตร์การแพทย์ชายแดน
"เมื่อเราพิจารณาสถิติด้านสาธารณสุข เราพบว่าความมั่นคงด้านสาธารณสุข และการป้องกันโรคสำหรับเด็กยังคงเป็นข้อท้าทายใหญ่ของเรา"
ที่ชายแดนยังมีกลุ่มประชากรเคลื่อนย้ายซึ่งหมายถึงกลุ่มประชากรที่ไม่มีเอกสารและประชากรไร้รัฐไร้สัญชาติที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้ไม่ว่าจากรัฐบาลไทยและรัฐบาลพม่า ที่สำคัญยังมีเด็กที่ติดตามมากับครอบครัวประชากรเคลื่อนย้ายเหล่านี้นอกจากเข้าไม่ถึงบริการสาธารณสุขแล้ว ยังเข้าไม่ถึงบริการด้านการศึกษาด้วย
ขณะที่โจทย์ของรัฐบาลพม่าตั้งเป้าหมายจะมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้ได้ภายในปี ค.ศ. 2030 (พ.ศ. 2573) หมอซินเธียนำเสนอว่าการพัฒนาแพ็กเกจด้านการรักษาและดูแลสุขภาพเป็นเรื่องที่ท้าทายที่สุด ต้องคิดคำนวณว่าบริการการแพทย์ใดมีความจำเป็นมากที่สุด ใช้จ่ายงบประมาณเท่าไร จะนำมาจากไหน คนไข้จะต้องจ่ายค่ารักษาเท่าไร ในขณะที่ระบบประกันสุขภาพก็ยังไม่เกิดขึ้น
สำหรับรัฐบาลพม่าแล้วหนทางยังอีกไกลกว่าจะพัฒนาระบบประกันสุขภาพ ยังไม่นับว่าบริการสาธารณสุขเหล่านี้จะครอบคลุมได้กี่อำเภอ ปัจจุบันพม่าแบ่งเป็น 330 อำเภอ รัฐบาลพม่าประกาศว่าจะนำร่องระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าใน 50 อำเภอใน 5 ปีแรก(ปี 2017-2021) ซึ่งตอนนี้ก็ยังไม่ครอบคลุมรัฐกะเหรี่ยง
หมอซินเธียกล่าวว่า ความท้าทายในอนาคตก็คือทั้งแม่ตาวคลินิก องค์กรภาคี พยายามที่จะร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับองค์กรชุมชนและภาคประชาสังคมในพื้นที่ชายแดนเพื่อที่จะเสริมสร้างศักยภาพและเครือข่ายระดับท้องถิ่น ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างระบบป้องกันโรคและดูแลสุขภาพที่มีประสิทธิภาพ
"เราถือว่าพันธกิจของเรา ได้ช่วยเหลือประชาชนในจุดที่รัฐบาลยังไม่สามารถเข้าถึงได้ แม่ตาวคลินิกจะเป็นสะพานเชื่อมระหว่าง 2 รัฐ ทำให้ผู้คนชายแดนเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่เหมาะสม ไม่ใช่การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่เป็นการแก้ไขปัญหาระยะยาว" หมอซินเธียกล่าว
| ['ข่าว', 'สังคม', 'สิทธิมนุษยชน', 'คุณภาพชีวิต', 'ต่างประเทศ', 'รัฐกะเหรี่ยง', 'สาธารณสุข', 'สาธารณสุขชายแดน', 'ชายแดนไทย-พม่า', 'ซินเธีย หม่อง', 'การแพทย์', 'การปฏิรูปในพม่า', 'ระบบร่วมจ่าย', 'อาสาสมัครสาธารณสุข', 'แม่ตาวคลินิก', 'พม่า'] |