url
stringlengths 30
33
| date
stringlengths 16
16
| title
stringlengths 2
170
| body_text
stringlengths 500
210k
| labels
stringlengths 2
867
|
---|---|---|---|---|
https://prachatai.com/print/79517 | 2018-11-08 17:50 | ชีวิตชายขอบหลังพม่าเปลี่ยนไม่ผ่าน (2): ผู้ลี้ภัยชายแดนไทย-รัฐฉาน |
นับตั้งแต่ได้เอกราชจากอังกฤษ พม่าปกครองโดยเผด็จการทหารมานาน 5 ทศวรรษ จนมีการเปลี่ยนผ่านทางการมืองมาสู่ระบอบประชาธิปไตยมากขึ้นเรื่อยๆ มีการเลือกตั้งในปี 2553 และ 2558 การสู้รบกับชนกลุ่มน้อยกลุ่มต่างๆ ที่มีมากถึง 15 กลุ่มก็เริ่มมีข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศ (NCA) ตั้งแต่ปี 2554 สถานการณ์ที่ดูคลี่คลายนี้ทำให้องค์กรให้ความช่วยเหลือระหว่างประเทศเริ่มทยอยลดระดับหรือกระทั่งยุติความช่วยเหลือ
เป็นเวลา 1 ปีเต็มแล้วที่ค่ายผู้ลี้ภัยตามแนวชายแดนไทย-พม่าด้านรัฐฉานถูกตัดความช่วยเหลือโดยเฉพาะด้านอาหาร ปัจจัยพื้นฐานที่สุดในการมีชีวิต ชาวบ้านจำนวนมากเผชิญกับความยากลำบาก แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่พวกเขาจะกลับบ้าน เพราะพวกเขาเห็นว่ารัฐบาลพม่ายังไม่ปฏิรูปประชาธิปไตยอย่างแท้จริง กระบวนการสันติภาพก็ยังไม่ลุล่วง หลายพื้นที่ยังคงมีการสู้รบโดยที่โลกมองไม่เห็น
รายงานชุดนี้พาไปสำรวจชุมชนผู้อพยพจากรัฐฉานทั้งใน ‘กุงจ่อ’-ชุมชนที่อยู่ในเขตจังหวัดเชียงใหม่ และ ‘ดอยดำ’-ชุมชนที่อยู่ฝั่งพม่าในรัฐฉาน
ชีวิตชายขอบหลังพม่าเปลี่ยนไม่ผ่าน (1): แม่ตาวคลินิก ความท้าทายสาธารณสุขชายแดน [1], 1 พ.ย. 2561
ชีวิตชายขอบหลังพม่าเปลี่ยนไม่ผ่าน (2): ผู้ลี้ภัยชายแดนไทย-รัฐฉาน [2], 8 พ.ย. 2561
ชีวิตชายขอบหลังพม่าเปลี่ยนไม่ผ่าน (จบ): ผู้อพยพชาวกะเหรี่ยงในดินแดนตนเอง [3], 14 พ.ย. 2561
- กุงจ่อ -ชุมชนผู้ลี้ภัยชายแดน อ.เวียงแหง
กลางเดือนพฤษภาคม 2561 เราเดินทางมาถึงถนนเล็กๆ แยกออกจากทางหลวงชนบทหมายเลข 1322 คดเคี้ยวไปตามเนินเขาสลับกับหมู่บ้านและไร่ชา ถนนคอนกรีตสิ้นสุดไปตั้งแต่เนินเขาลูกก่อนแล้ว พักหนึ่งคณะของเราหยุดอยู่กลางลานของหมู่บ้านเล็กๆ ในพื้นที่ชายแดน ที่นี่คือหมู่บ้าน 'กุงจ่อ' ชุมชนของผู้ลี้ภัยจากรัฐฉาน ตั้งอยู่ที่อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่
ลุงจายแลง หัวหน้าชุมชนผู้อพยพกุงจ่อ แสดงตัวอย่างงานทอผ้าของกลุ่มแม่บ้านในชุมชน
เก้าอี้นั่งพลาสติกและกาน้ำชาถูกจัดแจง บทสนทนาเริ่มขึ้น "ลุงจายแลง" ชายผมสีดอกเลาในวัย 60 ปีเศษเป็นหัวหน้าชุมชนผู้ลี้ภัยกุงจ่อตั้งแต่แรกก่อตั้งเมื่อ 19 ปีที่แล้ว
ค่ายผู้ลี้ภัยสงครามจากรัฐฉานนั้นมีทั้งหมด 6 แห่ง มีประชากรรวม 6,185 คน กุงจ่อเป็นค่ายผู้ลี้ภัยจากรัฐฉานเพียงแห่งเดียวเท่านั้นที่อยู่ในฝั่งไทย ปัจจุบันมี 90 ครัวเรือน ประชากร 402 คน เป็นชาย 192 คน หญิง 210 คน
ขณะที่ค่ายผู้ลี้ภัยอีก 5 แห่งที่เหลืออยู่ในฝั่งรัฐฉาน ผู้ลี้ภัยในฝั่งรัฐฉานถือเป็นผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ (Internally Displaced Person - IDPs) ตามคำนิยามของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติหมายถึงผู้อพยพที่แสวงหาที่พักพิงปลอดภัยอยู่ภายในประเทศของตนโดยไม่สามารถข้ามพรมแดนเข้ามาในประเทศอื่นได้ (ดูล้อมกรอบด้านล่างเรื่องค่ายผู้อพยพภายในประเทศ)
กราฟฟิกโดย กิตติยา อรอินทร์
ยุทธการ ‘ตัด 4’ ปฐมบท (บังคับ) อพยพในรัฐฉาน
คำถามพื้นฐานสำคัญสำหรับผู้ที่สนใจเรื่องนี้ก็คือ ทำไมจึงเกิดการอพยพขึ้น?
ข้อมูลของมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนไทใหญ่ (SHRF) พบว่าค่ายผู้อพยพจากรัฐฉานทั้งที่อยู่ในรัฐฉานและฝั่งไทยเกิดขึ้นมากว่า 19 ปีแล้ว เป็นผลมาจากการกวาดล้างครั้งใหญ่ของกองทัพพม่าซึ่งเกิดขึ้นในพื้นที่ตอนกลางของรัฐฉานระหว่างปี 2539-2541
ย้อนกลับไปในช่วงปี 2538 กองทัพเมิงไต (Mong Tai Army - MTA) นำโดยขุนส่าประกาศวางอาวุธกับรัฐบาลทหารพม่า ทำให้ทหารไทใหญ่กลุ่มที่ไม่ยอมวางอาวุธนำโดยเจ้ายอดศึกตั้งกลุ่มเรียกร้องเอกราชกลุ่มใหม่ในนามสภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน (Restoration Council of Shan State) และมีองค์กรทางการทหารคือกองทัพรัฐฉาน (Shan State Army) หรือ RCSS/SSA เกิดขึ้นในปี 2539
ในรายงาน ‘ผู้ถูกช่วงชิง’ (Dispossessed) ของ SHRF ระบุว่า ระหว่างปี 2539 - 2540 กองทัพพม่าได้ใช้ยุทธการ ‘ตัด 4’ (‘Four Cuts’ operation) ได้แก่ เสบียง, ทุน, การข่าว, กำลังคน เพื่อตัดการสนับสนุนกองทัพรัฐฉาน โดยบังคับโยกย้ายชุมชนในพื้นที่ 11 อำเภอของรัฐฉานตอนใต้ให้เข้าไปอยู่ในตัวเมือง ส่งผลให้หมู่บ้านกว่า 1,478 แห่งต้องกลายเป็นหมู่บ้านร้าง มีการประเมินว่าชาวบ้านราว 300,000 แสนคนถูกบังคับให้ทิ้งถิ่นฐานบ้านเรือน คนที่ต่อต้านหรือถูกจับได้ว่าหลบหนีกลับไปทำกินในที่ดินของตนเองจะถูกยิงเสียชีวิตหรือถูกทหารพม่านำตัวไปทรมาน
แผนที่แสดงการบังคับอพยพชาวบ้าน 1,478 หมู่บ้านใน 11 อำเภอของรัฐฉานช่วงปี 2539–2541 ทำให้ชาวบ้านกว่า 3 แสนคนไร้ที่อยู่(ที่มา: รายงาน ผู้ถูกช่วงชิง, มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนไทใหญ่ (SHRF), เมษายน 2541)
ช่วงเวลานั้น SHRF เก็บข้อมูลการสังหารพลเรือนได้ 600 กรณี รวมทั้งการสังหารหมู่ชาวบ้าน 56 คนที่เมืองกุ๋นฮิงในปี 2540 ต่อมาปี 2545 SHRF ร่วมกับเครือข่ายปฏิบัติงานสตรีไทใหญ่ (SWAN) เผยแพร่รายงาน ‘ใบอนุญาตข่มขืน’ (License to Rape) รวบรวมข้อมูลที่กองทัพพม่าใช้วิธีการข่มขืนและความรุนแรงทางเพศในรูปแบบอื่นๆ ต่อผู้หญิงและเด็กผู้หญิงในรัฐฉานซึ่งนับเป็นสัดส่วน 1 ใน 4 ของเหยื่อถูกสังหาร โดยมีการนำเสนอข้อมูลถึง 625 กรณี
กล่าวโดยสรุปได้ว่าตั้งแต่ปี 2539 มีพลเรือนจากรัฐฉานหนีเข้าสู่ภาคเหนือของประเทศไทยจำนวนมาก ประมาณการว่าปี 2541 ชาวบ้านอย่างน้อย 80,000 คนหลบหนีจากพื้นที่บังคับอพยพเข้าสู่ประเทศไทยโดยกระจายตัวทำงานตามพื้นที่เกษตรหรือทำงานก่อสร้างในเชียงใหม่
อย่างไรก็ตามทางการไทยไม่ยอมให้มีการจัดตั้งค่ายผู้อพยพจากรัฐฉาน ซึ่งแตกต่างจากกรณีค่ายผู้อพยพจากรัฐกะเหรี่ยงและรัฐคะเรนนีตามแนวชายแดนไทย-พม่าที่ได้ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) โดยเจ้าหน้าที่ไทยถือว่าการอพยพของชาวไทใหญ่จากรัฐฉานเป็นเพียง "ผู้อพยพตามฤดูกาล"
นอกจากนี้สถานการณ์บริเวณตอนใต้ของรัฐฉานยิ่งสลับซับซ้อนมากขึ้นในปี 2542 เมื่อรัฐบาลทหารพม่าให้อำนาจกองทัพสหรัฐว้า (United Wa State Army-UWSA) ซึ่งมีข้อตกลงหยุดยิงกับกองทัพพม่า นำประชากรชาวว้ากว่า 126,000 คนจากพื้นตอนเหนือของรัฐฉานติดกับชายแดนจีนลงมาอาศัยทางตอนใต้ของรัฐฉานที่ติดชายแดนไทย ได้แก่ ท่าขี้เหล็ก เมืองสาด เมืองโต๋นการอพยพเข้ามาอยู่ใหม่ดังกล่าวส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อหมู่บ้านที่เป็นพื้นที่รองรับซึ่งส่วนใหญ่เป็นชุมชนชาวไทใหญ่ ลาหู่ และอาข่า โดยทหารพม่าเข้าทำการยึดบ้าน ที่ดินทำกิน พืชผลการเกษตรจากชาวบ้านกลุ่มเดิม อีกทั้งกองทัพสหรัฐว้ายังเก็บภาษีและเกณฑ์ชาวบ้านในพื้นที่ไปใช้แรงงานด้วย ดังนั้น ชาวบ้านหลายพันคนที่ทนการกดขี่ปราบปรามไม่ไหวจึงหลบหนีไปยังพื้นที่อื่นของรัฐฉานหรือเข้ามาในประเทศไทย
ค่ายผู้อพยพรัฐฉานแห่งเดียวในไทย
วัดฟ้าเวียงอินทร์ ฝั่งที่อยู่ในพื้นที่รัฐฉานปัจจุบันถูกใช้เป็นค่ายทหารพม่า มีการขุดสนามเพลาะและวางบังเกอร์เป็นแนวป้องกันโดยรอบ ในพื้นที่ตั้งแต่ชายแดนไท-พม่าที่ด่านหลักแต่ง/เปียงหลวง ไปจนถึงเมืองโต๋น เมืองทา มีการเสริมกำลังและวางเครือข่ายป้อมค่ายทางการทหารของกองทัพพม่าและกองทัพสหรัฐว้า UWSA อยู่โดยตลอด
ภาพถ่ายจากดาวเทียมแสดงให้เห็นป้อมค่ายและเครือข่ายทางการทหารของกองทัพพม่า ในพื้นที่ซึ่งแต่เดิมเคยเป็นที่อยู่ของผู้อพยพที่ชุมชนกุงจ่อ(ที่มา: Google Maps)
เดิมทีกุงจ่อเป็นที่ดินส่วนหนึ่งของวัดฟ้าเวียงอินทร์ วัดศูนย์รวมจิตใจชุมชนชาวไทใหญ่ที่สร้างคร่อมดินแดนไทย อำเภอเวียงแหงกับรัฐฉาน ต่อมาในปี 2545 หลังเกิดการสู้รบครั้งใหญ่ระหว่างกองทัพพม่ากับกองทัพรัฐฉาน กองทัพพม่าสงสัยว่าชาวบ้านซึ่งอาศัยอยู่ใกล้กับพรมแดนให้การสนับสนุนทหารไทใหญ่ จึงได้ยิงโจมตีหมู่บ้านเหล่านั้น พลเรือนถูกสังหาร 6 ราย บาดเจ็บ 12 ราย บางส่วนถูกจับกุมและซ้อมทรมาน ทำให้ชาวบ้านใน 4 หมู่บ้านที่อยู่ใกล้ชายแดน ได้แก่ บ้านห้วยยาว, บ้านป๋างฮอก, บ้านปางใหม่สูง, บ้านปางก้ำก่อ ตัดสินใจหลบหนีเข้าสู่ประเทศไทย
เริ่มแรกผู้ลี้ภัย 4 หมู่บ้านพักอาศัยอยู่ในวัดต่างๆ ของอำเภอเวียงแหง ต่อมาในปี 2546 ได้ย้ายไปรวมอาศัยอยู่ในที่ดินของวัดฟ้าเวียงอินทร์
ทางการไทยอนุญาตให้ตั้งค่ายที่พักพิงชั่วคราวขึ้นมาเรียกว่า “ค่ายอพยพกุงจ่อ” พวกเขาได้รับความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมจากองค์กรระหว่างประเทศหลายหน่วยงาน แต่ทาง UNHCR ไม่อนุญาตให้ขึ้นทะเบียนผู้ลี้ภัยเหล่านี้ ด้วยเหตุดังกล่าว ผู้ลี้ภัยที่ค่ายกุงจ่อจึงไม่มีสิทธิไปตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศที่สาม ซึ่งแตกต่างจากผู้ลี้ภัยจากรัฐกะเหรี่ยง คะเรนนีและมอญที่อาศัยอยู่ในพื้นที่พักพิงชั่วคราวผู้หนีภัยการสู้รบทั้ง 9 แห่งตามชายแดนไทย-พม่า
โอกาสและการดำรงชีวิตในพื้นที่ชายแดน
พี่ชายช่วยแม่อาบน้ำให้น้องคนเล็ก ในช่วงกลางวันจะมีสมาชิกส่วนหนึ่งออกไปทำงานนอกชุมชน หน้าที่ดูแลครัวเรือนที่เหลือจึงตกเป็นของแม่บ้าน
พื้นที่ส่วนกลางของชุมชนผู้อพยพกุงจ่อ ลานกว้างใช้เป็นสนามเด็กเล่นแบ่งบางส่วนสำหรับเป็นลานซักล้างและห้องน้ำส่วนกลาง
ค่ายผู้อพยพจากรัฐฉานแห่งนี้อยู่ได้ด้วยความสนับสนุนจากผู้บริจาคระหว่างประเทศซึ่งสนับสนุนจัดหาอาหารขั้นพื้นฐานให้กับผู้ลี้ภัยเหล่านี้ในช่วง 18 ปีที่ผ่านมา ก่อนจะตัดการช่วยเหลือไปเมื่อปลายปี 2560
ปัจจุบันสมาชิกของชุมชนก็พยายามช่วยเหลือตัวเองให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ มีการจัดครูอาสาสมัครสอนภาษาอังกฤษเสริมให้กับเด็กนักเรียนเกือบ 100 คนภายในค่ายทุกเย็นวันจันทร์ถึงศุกร์ เด็กนักเรียนในชุมชนจะเรียนชั้นประถมที่โรงเรียนบ้านหลักแต่งซึ่งได้ความช่วยเหลือเรื่องรถโรงเรียนจากเครือข่ายปฏิบัติงานสตรีไทใหญ่ ส่วนระดับมัธยมศึกษาขึ้นไปพ่อแม่ต้องออกค่าใช้จ่ายเอง ปี 2561 มีนักเรียน 4-5 คนที่สามารถเรียนถึงระดับมัธยมปลาย ที่ผ่านมาในชุมชนมีเด็กเรียนจนจบปริญญาตรีด้านคอมพิวเตอร์ 1 คน
ส่วนองค์กรการกุศลจากนิวซีแลนด์ The Branch Foundation หรือ TBF เริ่มทำงานกับค่ายผู้อพยพกุงจ่อมาตั้งแต่ปี 2552 เน้นงานฝึกอาชีพผ่านการตั้งศูนย์ทอผ้า 2 แห่งภายในค่าย และร่วมกับองค์กรเยสุอิตสงเคราะห์ผู้ลี้ภัย (JRS) แจกเชื้อเห็ดและสาธิตการเพาะเห็ด นอกจากนี้ TBF ยังสนับสนุนแนวคิดของหัวหน้าชุมชนผู้ลี้ภัยที่มีไอเดียทำบ่อหมักก๊าซชีวภาพภายในค่ายเพื่อให้สมาชิกของชุมชนมีแก๊สสำหรับปรุงอาหาร รวมถึงสนับสนุนโซลาร์เซลล์เพื่อให้ภายในค่ายมีไฟฟ้าพื้นฐานใช้ (อ่านรายงาน) [4]
การดิ้นรนหลังถูกตัดความช่วยเหลือ
เมื่อความช่วยเหลือด้านอาหารยุติลงหลังกระบวนการสันติภาพในพม่า โดยองค์กรผู้บริจาคเดิมหลายแห่งย้ายการจัดสรรความช่วยเหลือออกจากพื้นที่ชายแดนตั้งแต่เดือนตุลาคม 2560
ลุงจายแลงให้ข้อมูลว่า ที่ค่ายกุงจ่อ ตอนแรกๆ เคยได้รับปันส่วนข้าวสารจากองค์กรผู้บริจาคแห่งหนึ่ง 16 ก.ก. ต่อคนต่อเดือน ต่อมาลดลงเหลือ 11 ก.ก.ต่อคนต่อเดือน ส่วนน้ำมันพืชเคยได้ 1 ลิตรต่อคนต่อเดือน ต่อมาลดลงเหลือครึ่งลิตรต่อคนต่อเดือน
นับตั้งแต่ความช่วยเหลือถูกตัดทั้งหมดตั้งแต่เดือนตุลาคม 2560 เป็นต้นมา มีการหาความช่วยเหลือฉุกเฉินให้กับค่ายแห่งนี้ โดยได้รับความช่วยเหลือฉุกเฉินจาก "Philanthropy Connections Foundation" หรือ PCF (อ่านรายงาน) [5] จัดหาอาหารพื้นฐานให้กับผู้ลี้ภัยโดยได้รับการปันส่วนข้าวสาร 12 ก.ก. ต่อคนต่อเดือน และได้รับน้ำมันพืช 1 ก.ก ต่อคนต่อเดือน โดย PCF ระบุในรายงานขององค์กรว่าจะให้ความช่วยเหลือจนกว่าสถานการณ์ช่วยเหลือจะถูกฟื้นฟู
ความช่วยเหลือที่ถูกตัดยังกระทบกับสถานการณ์ด้านการศึกษาภายในค่ายผู้ลี้ภัยด้วย เพราะมีการตัดค่าใช้จ่ายสนับสนุนชั้นเรียนภาษาอังกฤษของค่ายผู้ลี้ภัย อย่างไรก็ตามตั้งแต่ปลายปี 2560 PCF และ Magical Light Foundation จากสิงคโปร์ได้เข้ามาสนับสนุนเบี้ยเลี้ยงสำหรับครูสอนภาษาอังกฤษในค่ายผู้ลี้ภัยแห่งนี้แทน
กระเสือกกระสนเลี้ยงชีพในพื้นที่ชายแดน
เมื่อความช่วยเหลือพื้นฐานถูกจำกัดมากขึ้นเรื่อยๆ ชาวบ้านในค่ายผู้อพยพกุงจ่อที่อยู่ในวัยแรงงานมักจะออกไปทำงานรับจ้างตามพื้นที่เกษตรที่อยู่รอบๆ ชุมชน โดยเป็นงานรับจ้างตามฤดูกาล เช่น รับจ้างเก็บกระเทียม พริก ในช่วงฤดูเก็บเกี่ยว ปีหนึ่งๆ จะมีวันที่ออกไปรับจ้าง 90 วัน ไม่เกิน 100 วันเท่านั้น โดยการจ่ายค่าตอบแทน เจ้าของสวนมักไม่ได้จ่ายเป็นค่าจ้างรายวัน แต่จ่ายตามปริมาณงาน
"ไม่ใช่จ้างรายวันนะ เอาแรงเข้าว่า อย่างเช่นเก็บพริก ถ้าราคาสูง สมมติพริกราคากิโลกรัมละ 10 บาท (เจ้าของสวน) เขาก็จ้างเก็บกิโลกรัมละ 3 บาทบ้าง 5 บาทบ้าง บางปีพริกไม่มีราคา เขาก็แบ่งผลผลิตให้ 50-50 ก็มี" ลุงจายแลงอธิบาย หากเจ้าของสวนใช้วิธีแบ่งผลผลิตที่เก็บได้ บางคนก็เอาไปขาย บางคนก็เก็บเอามาตากแห้งเก็บไว้กินในครัวเรือน
ส่วนกระเทียม ปีหนึ่งๆ มีงานเพียงไม่กี่วัน เช่น จ้างปลูกกระเทียม จ้างคลุมฟางที่ไร่กระเทียม จ้างเก็บกระเทียม โดยเจ้าของสวนจ่ายค่าตอบแทนรายวัน ค่าตอบแทนขึ้นอยู่กับความต้องการใช้แรงงาน ถ้ามีเจ้าของสวนรายเดียวและมีลูกจ้างหลายคนก็อาจเหลือจ้างวันละ 240 บาท แต่ถ้าต้องการใช้แรงงานมากก็อาจจ้างถึงวันละ 300 บาท
ส่วนแรงงานก่อสร้าง แม้จะมีรายได้เยอะกว่า แต่ในชุมชนกุงจ่อก็มีคนออกไปรับจ้างไม่มาก ประมาณ 25-30 คนเท่านั้น เพราะเป็นงานใช้ทักษะ
"ช่างอ่อน (ช่างใหม่) ได้วันละ 250-300 บาท ช่างใหญ่วันละ 350 บาท แต่งานก่อสร้างตามบ้านนอกไม่เหมือนในเมือง เดือนสองเดือนก็สร้างเสร็จไม่มีงาน หน้าฝนจะไม่มีงานก่อสร้างเลย" ลุงจายแลงพูดถึงหน้างานก่อสร้าง
เพื่อให้อยู่รอดได้ หลายครอบครัวในชุมชนผู้อพยพกุงจ่อจำเป็นต้องออกไปหางานทำต่างพื้นที่ เช่นครอบครัวของป้าขิ่นกับลุงเอ (นามสมมติ) คู่ผัวเมียในวัย 50 ปีเศษ พวกเขามีลูก 4 คน ลูกชายคนโตอายุ 32 ปี ลูกสาวคนรองอายุ 22 ปี ลูกชายคนที่สามอายุ 17 ปี และลูกสาวคนสุดท้องอายุ 6 ปี และยังมีแม่ของป้าขิ่นวัย 90 ปี ลูกเขยซึ่งเป็นสามีของลูกสาวคนรอง ทั้งคู่เพิ่งมีลูกสาววัย 2 ปี รวมทั้งบ้านมีสมาชิก 9 คน
ครอบครัวของป้าขิ่นไม่ได้อยู่พร้อมหน้าพร้อมตา ลูกชายคนโตเป็นคนพิการหูหนวกแต่กำเนิด ต้องไปอาศัยอยู่กับญาติที่ตัวเมืองเชียงใหม่ ลูกชายคนที่สามเรียนชั้นมัธยมที่โรงเรียนชายแดนแห่งหนึ่ง ส่วนลูกสาวคนสุดท้องอายุ 6 ปี เรียนอยู่ที่โรงเรียนภายในค่ายผู้อพยพ ลูกสาวคนรองและลูกเขย ช่วงกลางวันจะออกไปรับจ้างที่สวนกระเทียมเช่นเดียวกับลุงเอ ส่วนป้าขิ่นซึ่งขาขวาไม่ดี ออกไปรับจ้างทำงานลำบาก จะรับเป็นผู้ดูแลหลานสาววัย 2 ปี และแม่เฒ่าวัย 90 ปี
ป้าขิ่นกล่าวว่า ก่อนที่ความช่วยเหลือผู้อพยพจะถูกตัด ลูกสาวคนสุดท้องที่ไปเรียนที่โรงเรียนในค่ายผู้อพยพยังพอมีค่าขนมบ้าง ปัจจุบันเป็นไปได้ยากเพราะในครัวเรือนมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ป้าขิ่นหวังว่าความช่วยเหลือเรื่องการศึกษาสำหรับเยาวชนและเรื่องอาหารจะยังคงพอมีอยู่ ส่วนในอนาคตก็ยังคิดว่าจะอยู่ที่หมู่บ้านกุงจ่อ เพราะเธอรู้สึกปลอดภัยกว่าการกลับไปบ้านเกิด อีกทั้งลูกหลานยังมีโอกาสได้เรียนหนังสืออีกด้วย
อนาคตที่ไม่ชัดเจน บนเส้นทางเจรจาสันติภาพ
นอกจากสภาพความเป็นอยู่ของผู้ลี้ภัยที่ค่ายกุงจ่อจะลำบากขึ้นเพราะต้องดิ้นรนพึ่งพาตัวเองแล้ว สถานการณ์ในรัฐฉานเองก็เปลี่ยนแปลงด้วย หลังพม่าจัดการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนพฤศจิกายนปี 2553 และตั้งรัฐบาลกึ่งทหารกึ่งพลเรือนของประธานาธิบดีเต็งเส่ง มีการเจรจาหยุดยิง 2 ฝ่ายระหว่างกองทัพรัฐฉานกับรัฐบาลพม่าเริ่มมาตั้งแต่ 19 พฤศจิกายน 2554
ต่อมาในเดือนตุลาคม 2558 กองทัพรัฐฉานได้ร่วมลงนามในข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศ (National Ceasefire Agreement - NCA) ซึ่งเป็นการเจรจาหยุดยิงแบบพหุภาคีระหว่างกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์และรัฐบาลพม่า ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนพฤศจิกายน 2558 ทำให้ได้รัฐบาลพลเรือนของพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD)
อย่างไรก็ตามการเจรจาสันติภาพหลังการเจรจาหยุดยิงทั้ง 2 ระดับก็ไม่มีความคืบหน้า กองทัพรัฐฉานยังไม่สามารถตกลงกับรัฐบาลพม่าได้ในประเด็นสำคัญ เช่น พื้นที่ปกครองตนเอง กองทัพรัฐฉานเสนอขอพื้นที่ปกครองตนเอง 2 แห่ง คือเมืองเต๊าะ (หัวเมือง) และเมืองทา อย่างไรก็ตามยังไม่มีความคืบหน้าจากฝ่ายรัฐบาลพม่า (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง) [6] ขณะเดียวกันยังคงมีการรายงานการปะทะกันระหว่างกองทัพรัฐฉาน และกองทัพพม่าอยู่เป็นระยะ
สำหรับคำถามที่ว่ารัฐบาลพม่ามีการชวนผู้อพยพตามแนวชายแดนให้กลับไปตั้งถิ่นฐานหรือไม่ จายแลงกล่าวว่า ผ่านมาไม่เคยมีตัวแทนจากรัฐบาลพม่าเข้ามาคุยกับผู้ลี้ภัยที่ชุมชนกุงจ่อเลย
"รัฐบาลพม่าว่าเราไม่ใช่คนประเทศพม่า เพราะไม่พูดภาษาพม่า"
แผนที่แสดงพื้นที่ซึ่งถูกกำหนดเป็นที่ตั้งถิ่นฐานใหม่ของผู้อพยพกุงจ่อฐานทัพของกองทัพพม่าและกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ที่มา: SHRF
ก่อนหน้านี้ในเดือนสิงหาคมปี 2555 สภาผู้อพยพนอร์เวย์ (Norwegian Refugee Council) ได้เข้ามาสำรวจความเห็นของผู้อพยพในค่ายผู้อพยพกุงจ่อว่ายินดีกลับไปตั้งถิ่นฐานที่เมืองทา ภายในรัฐฉานหรือไม่ พวกเขาให้คำตอบว่า ยังไม่อยากกลับไปในพื้นที่เมืองทา เพราะยังไม่ปลอดภัยจากทหารพม่าและกลุ่มอาสาสมัครที่อยู่ฝ่ายรัฐบาล พื้นที่ยังเต็มไปด้วยกับระเบิด และผู้อพยพในชุมชนยังอพยพมาจากพื้นที่ต่างๆ ในภาคกลางของรัฐฉาน (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง) [7]
ด้านองค์กรชุมชนไทใหญ่ได้ออกแถลงการณ์ชี้แจงว่า สภาพพื้นที่ซึ่งจัดเตรียมไว้สำหรับผู้อพยพกลับไปนั้น "แทบจะเป็นหมู่บ้านร้าง" นอกจากนี้ยังมีการสู้รบระหว่างทหารไทใหญ่กับพม่าในหลายพื้นที่ รวมทั้งพื้นที่เมืองทาด้วย
จายแลงให้ข้อมูลว่า ในพื้นที่ดังกล่าวนอกจากเป็นพื้นที่เคลื่อนไหวของกองทัพรัฐฉานแล้ว ยังเป็นที่ตั้งฐานทัพของทหารพม่า ทหารกองทัพสหรัฐว้า นอกจากนี้ยังมี อส.มูเซอร์ หรือทหารอาสาสมัครลาหู่ด้วย
"ถ้ามี 4 กลุ่มก็ไม่อยู่ แต่ถ้ามีทหารไทใหญ่กลุ่มเดียวก็จะไป"
"ทหารว้าก็มี อส.มูเซอร์ ทหารไทใหญ่ก็มี ทหารพม่าก็อยู่ โดยเฉพาะทหารว้าเจรจายาก ถ้าในพื้นที่มีแต่ทหารไทใหญ่ฝ่ายเดียวก็อยู่ได้ แต่พอมีหลายฝ่ายชาวบ้านไม่มีความมั่นใจในการดำรงชีวิต นอกจากนี้ในรัฐฉานก็ยังมีการยิงกันอยู่ ไม่ได้สงบสุข เกิดสันติภาพกันจริงๆ อย่างที่หลายคนเข้าใจ" จายแลงกล่าว
- ดอยดำ -ชีวิตผู้พลัดถิ่นภายในประเทศที่ชายแดนรัฐฉาน
ค่ายผู้อพยพดอยดำ ชายแดนรัฐฉานตรงข้าม อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่
ภาพถ่ายจากดาวเทียมแสดงให้เห็นเครือข่ายและป้อมค่ายทางการทหารของกองทัพสหรัฐว้า UWSA ในพื้นที่ใกล้ค่ายผู้อพยพดอยดำ (ที่มา: Google Maps)
ทหารกองทัพรัฐฉาน RCSS/SSA ให้ความคุ้มครองชาวบ้านในชุมชนผู้อพยพดอยดำ
ไม่เพียงแค่ชุมชนผู้อพยพที่กุงจ่อเท่านั้น แต่ตามแนวชายแดนไทย-พม่าตรงข้าม จ.แม่ฮ่องสอน จ.เชียงใหม่ จนถึง จ.เชียงราย ยังมีค่ายอพยพอยู่ในพื้นที่รัฐฉานอีก 5 แห่ง พวกเขาถือเป็นผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ (Internally Displaced Person - IDPs) ตามคำนิยามของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติซึ่งหมายถึงผู้อพยพที่แสวงหาที่พักพิงปลอดภัยอยู่ภายในประเทศของตน โดยไม่สามารถข้ามพรมแดนเข้ามาในประเทศอื่นได้
หนึ่งในนั้น คือ ค่ายผู้อพยพดอยดำ ปลายสุดของตำบลเมืองทา อำเภอเมืองโต๋น รัฐฉาน ไม่ไกลจากชายแดนไทย-พม่าด้าอำเภอเวียงแหง เป็นค่ายอพยพซึ่งมีประชากร 289 คน รวม 62 ครัวเรือน ตั้งอยู่บนภูเขาสูง 1,500 เมตรจากระดับน้ำทะเล และมีค่ายของทหารกองทัพรัฐฉานให้ความคุ้มครองอยู่ในพื้นที่
ลุงจิ่ง ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านดอยดำเล่าให้ฟังว่า ชาวบ้านในพื้นที่รัฐฉานตอนใต้โดยเฉพาะจากเมืองนายหลบหนีจากยุทธการ ‘ตัด 4’ ของพม่าในช่วงปี 2543-2544 ไปซ่อนตัวในป่าเขา แล้วค่อยๆ มารวมกันที่ดอยดำ
ลุงออ ผู้ใหญ่บ้านของชุมชนผู้อพยพแห่งนี้เล่าว่า แต่เดิมเขาเคยอาศัยอยู่ที่เมืองทา แต่เมื่ออยู่ไม่ได้จึงอพยพมาที่ดอยดำ และตอนนี้ค่ายผู้อพยพดอยดำไม่ได้รับความช่วยเหลือจากองค์กรบรรเทาทุกข์มาตั้งแต่เดือนตุลาคมปี 2560
ก่อนหน้านี้ชาวบ้านเคยได้รับความช่วยเหลือเป็นข้าวสารเฉลี่ย 13 กิโลกรัมต่อคนต่อเดือน ช่วงแรกๆ ได้รับถั่วเหลืองกับมันฝรั่ง ส่วนน้ำมัน พริก และเกลือได้รับบริจาคเป็นบางปี พวกพืชผักอาหารอย่างอื่นก็พยายามหาเอง โดยหลังจากมีข่าวไม่ได้รับความช่วยเหลือจากองค์กรบรรเทาทุกข์มาตั้งแต่เดือนตุลาคมปี 2560 ทำให้ปัจจุบันมีกลุ่มชาวไทใหญ่ที่อาศัยและทำงานในประเทศไทยรวมกลุ่มกันขึ้นเพื่อระดมการบริจาคให้ความช่วยเหลือด้านอาหารกับค่ายแห่งนี้เป็นระยะ
ชีวิตต้องสู้ เมื่อเมล็ดพันธุ์หว่านแล้วไม่ได้ผล
ลุงออเล่าให้ฟังด้วยว่า ที่ผ่านมาชาวบ้านที่ดอยดำพยายามเพาะปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์เพื่อพึ่งพาตัวเองด้านอาหารให้ได้มากที่สุด โดยพยายามปลูกในที่ดินผืนเล็กๆ ใกล้ๆ หมู่บ้าน เช่น ผักกาด ฟักทอง ผักชี ต้นหอม หอมแดง มะเขือเครือหรือฟักแม้ว มะระ กล้วย ฯลฯ รวมทั้งเลี้ยงไก่ หมู และวัว
ลุงออ ผู้ใหญ่บ้านของชุมชนผู้อพยพดอยดำกับผลมันฝรั่งผลเล็กแกร็นที่ปลูกไม่ได้ผลบนดอยดำ
ผลแตงกวาที่เก็บเกี่ยวได้บนดอยดำ
กระเทียมกลีบเล็กที่ชาวบ้านบางรายพยายามปลูกบนดอยดำ
พืชหลายชนิดเมื่อปลูกแล้วกลับไม่ได้ผลดี ลุงออหยิบผลมันฝรั่งขนาดเท่าหัวแม่มือที่ปลูกได้ 3 เดือนแต่ไม่ทันจะเก็บเกี่ยวต้นก็ตายเสียก่อน นอกจากนี้ชาวบ้านเคยหาพันธุ์ไก่และหมูของบรรษัทด้านการเกษตรมาเลี้ยง แต่ไก่และหมูตายเพราะทนสภาพอากาศไม่ได้ ปัจจุบันชาวบ้านจึงเลี้ยงไก่และหมูพื้นเมืองแทน ขณะที่มีชาวบ้านอยู่ 5-6 ครัวเรือนที่รับจ้างเลี้ยงวัว โดยมีชาวบ้านจากฝั่งไทยเอาวัวคู่ตัวผู้-ตัวเมียมาให้เลี้ยง ถ้าวัวออกลูกก็แบ่งจำนวนกันคนละครึ่งหรือจะขายลูกวัวคืนให้คนที่นำมาฝากเลี้ยงก็ได้ วิธีนี้เหมือนฝากเงินก้อนกับธนาคาร ครัวเรือนที่เลี้ยงวัวจะเลี้ยงราว 7-8 ตัว วัวที่โตจนอายุ 4-5 ปีจะมีคนรับซื้อตัวละ 30,000 บาท
ส่วนการเลี้ยงหมูเมื่อหมูโตเต็มที่ก็จะขายได้ตัวละ 2,000-3,000 บาท แต่ชาวบ้านก็ประสบปัญหาไม่สามารถเลี้ยงส่งขายได้สม่ำเสมอ เพราะคู่แข่งอย่างหมูพันธุ์จากบรรษัทด้านการเกษตรมีคุณภาพเนื้อดีกว่า ทำให้บ่อยครั้งถูกกดราคาเหลือตัวละ 1,500 บาท หากราคาต่ำกว่านั้นก็ต้องยอมเชือดกินเองในหมู่บ้าน สำหรับการเลี้ยงไก่พื้นเมือง ชาวบ้านที่เวียงแหงรับซื้อกิโลกรัมละ 150 บาท หากขายในชุมชนก็ได้ราคาต่ำลงอีกหน่อย
ลุงออบอกว่าชาวบ้านพบพื้นที่เพาะปลูกแห่งใหม่ที่มีสภาพดินอุดมสมบูรณ์แต่พื้นที่นั้นก็อยู่ห่างจากหมู่บ้านถึง 5 กิโลเมตรและมีสภาพไม่ปลอดภัย ถ้าเพาะปลูกในที่ดินไกลๆ ก็ต้องลงทุนเฝ้าไม่ให้สัตว์ป่าเข้ามาในไร่ ทำให้ชาวบ้านเลือกเพาะปลูกในพื้นที่ใกล้ๆ หมู่บ้านที่พอจะเอาตัวรอดดูแลพืชผลเองได้
ด้วยสภาพความเป็นอยู่ที่ลำบาก ทำให้มีชาวบ้านบางส่วนลงไปรับจ้างตามฤดูกาลที่ชายแดนใกล้อำเภอเวียงแหง เมื่อได้ค่าจ้างก็จะนำไปซื้อข้าวของกลับมาที่หมู่บ้าน บางคนก็รับจ้างรายวันเป็นครั้งคราวกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ที่ชายแดนไทยทั้งการปลูกป่าและทำแนวป้องกันไฟป่า
ขณะที่หมอจิ่ง แพทย์อนามัยวัย 48 ปีที่ประจำอยู่ที่ชุมชนผู้อพยพดอยดำ เล่าให้ฟังว่า ความช่วยเหลือด้านเวชภัณฑ์ในปัจจุบันได้มาจากประชาชนไทใหญ่ที่รวบรวมกันบริจาค ส่วนโรคที่พบประจำในชุมชนได้แก่ มาลาเรีย ปวดไส้ติ่ง นอกจากนี้ยังพบการขาดสารอาหารในชาวบ้านและเด็กหลายราย ผู้สูงอายุในชุมชนก็มักเป็นโรคความดันโลหิตสูง ส่วนโรคภัยที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ชายแดน ล่าสุดในปี 2558 มีชาวบ้านถูกกับระเบิดบาดเจ็บ 3 ราย
การเสริมกำลังทางทหารเข้าใกล้ชุมชนผู้อพยพ
ระหว่างปี 2548-2549 ช่วงที่มีการตั้งค่ายผู้อพยพที่ดอยดำ กองทัพสหรัฐว้าเคยเสริมกำลังเข้ามาในพื้นที่ในช่วงที่กองทัพสหรัฐว้าสนธิกำลังกับกองทัพพม่าบุกดอยไตแลง แต่หลังจากนั้นมาก็ไม่เกิดเหตุปะทะกันหนักๆ อีก อย่างไรก็ตามแม้กองทัพรัฐฉานจะลงนามหยุดยิงแล้ว แต่การเสริมกำลังทางทหารของกองทัพพม่ายังคงเกิดขึ้นในพื้นที่ มูลนิธิสิทธิมนุษยชนไทใหญ่ [8] (SHRF) เปิดเผยล่าสุดว่าเมื่อวันที่ 16 และ 23 กันยายน 2561 กองทัพพม่าส่งอากาศยานไร้คนขับหรือโดรนขึ้นบินเหนือพื้นที่ซึ่งอยู่ในความดูแลของกองทัพรัฐฉาน สร้างความหวาดกลัวให้กับผู้อพยพว่าจะเกิดการโจมตีรอบใหม่
ที่ผ่านมากองทัพพม่า และกองทัพสหรัฐว้า เสริมกำลังทหารในพื้นที่ชายแดนใกล้ดอยดำแห่งนี้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของตำบลเมืองทา อำเภอเมืองโต๋น โดยกองทัพสหรัฐว้าตั้งฐานทัพ 40 แห่งตรึงแนวชายแดนตลอด 40 กม. จากด้าน ต.เปียงหลวง/หลักแต่ง อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ ไปจนถึง อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน
ขณะที่กองทัพพม่าสร้างถนนยุทธศาสตร์เพื่อเชื่อมเมืองทากับเมืองปั่น หวังใช้เป็นเส้นทางลำเลียงกำลังพลและยุทธภัณฑ์เพื่อต่อสู้กับฐานที่มั่นของกองทัพรัฐฉาน และยังเป็นแนวป้องกันสำหรับการลงทุนก่อสร้างเขื่อนเมืองโต๋นในแม่น้ำสาละวินที่บริษัท Three Gorges Corporation เข้ามาสำรวจอย่างลับๆ ตั้งแต่ปี 2561 โดยเขื่อนเมืองโต๋นจะเป็นการร่วมทุนระหว่างไทยกับจีน 90% ของไฟฟ้าที่ผลิตได้จะส่งออกไปยังประเทศไทย เป็นเขื่อนใหญ่ที่สุดในจำนวน 3 เขื่อนที่จะก่อสร้างกั้นแม่น้ำสาละวินในพื้นที่รัฐฉาน
จำนวนและประชากรค่ายผู้อพยพชายแดนไทย-รัฐฉาน
ที่มา: มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนไทใหญ่ (SHRF), สิงหาคม 2560
1. ค่ายผู้อพยพกองมุ่งเมือง (ก่อตั้ง 2550)ประชากร 246 คน (ชาย 119 หญิง 127) เยาวชนอายุไม่เกิน 18 ปี 41%ที่ตั้ง รัฐฉาน ตรงข้ามบ้านหมอกจำแป๋ อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน
2. ค่ายผู้อพยพดอยไตแลง (ก่อตั้ง 2542)ประชากร 2,309 คน (ชาย 1,130 หญิง 1,179) เยาวชนอายุไม่เกิน 18 ปี 52%ที่ตั้ง รัฐฉาน ตรงข้าม อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน
3. ค่ายผู้อพยพดอยดำ (ก่อตั้ง 2549)ประชากร 238 คน (ชาย 121 หญิง 117) เยาวชนอายุไม่เกิน 18 ปี 37%ที่ตั้ง รัฐฉาน ตรงข้าม อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่
4. ค่ายผู้อพยพกุงจ่อ (ก่อตั้ง 2545)ประชากร 402 คน (ชาย 192 คน หญิง 210 คน) เยาวชนอายุไม่เกิน 18 ปี 40%ที่ตั้ง อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่
5. ค่ายผู้อพยพดอยสามสิบ (ก่อตั้ง 2549)ประชากร 356 คน (ชาย 208 หญิง 148) เยาวชนอายุไม่เกิน 18 ปี 32%ที่ตั้ง รัฐฉาน ตรงข้าม อ.ฝาง จ.เชียงใหม่
6. ค่ายผู้อพยพดอยก่อวัน (ก่อตั้ง 2544)ประชากร 2,634คน (ชาย 1,246 หญิง 1,388) เยาวชนอายุไม่เกิน 18 ปี 34%ที่ตั้ง รัฐฉาน ตรงข้าม อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
จำนวนรวม 6,185 คน (ชาย 3,016 หญิง 3,169) เยาวชนอายุไม่เกิน 18 ปี 39%
อ้างอิง
DISPOSSESSED [9], A report on forced relocation and extrajudicial killingsin Shan State, Burma. the Shan Human Rights Foundation (SHRF), April 1998
จดหมายข่าวมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนไทใหญ่, SHRF [10], 30 ส.ค. 2560
ข่าวสารรัฐฉาน: ทหารพม่าจี้ย้ายอีกนับสิบหมู่บ้านในรัฐฉาน หลังเผาวอด 3 หมู่บ้าน (สำนักข่าวฉาน), ประชาไท [11], 7 สิงหาคม 2552
| ['ข่าว', 'สังคม', 'สิทธิมนุษยชน', 'คุณภาพชีวิต', 'ต่างประเทศ', 'พม่า', 'กองทัพพม่า', 'การปฏิรูปในพม่า', 'การเจรจาสันติภาพ', 'รัฐฉาน', 'ผู้ลี้ภัย', 'ผู้อพยพ', 'IDPs', 'ดอยดำ', 'กุงจ่อ', 'เวียงแหง', 'ชายแดนไทย-พม่า', 'เมืองโต๋น', 'ตัดสี่', 'ความมั่นคงทางอาหาร', 'มูลนิธิสิทธิมนุษยชนไทใหญ่', 'ไทใหญ่', 'SHRF'] |
https://prachatai.com/print/79519 | 2018-11-08 20:21 | ประมวล 'หนุน-ต้าน' ประกาศ ป.ป.ช. ให้ผู้บริหาร-บอร์ด มหา'ลัย ยื่นบัญชีทรัพย์สิน | สนช. ค้าน เผย กก.สภามหา'ลัยหลายคนเปรยๆ จะลาออก โดย 'สกอ.-ทปอ.' สรุป กก.สภามหา'ลัยไม่ควรต้องยื่น จ่อส่ง ป.ป.ช.ทบทวน ด้าน ปธ.ป.ป.ช. ชี้ในอนาคตเจตนารมย์ กม. อนาคตข้าราชการเจ้าหน้าที่รัฐทุกคน ต้องยื่นทั้งหมดเป็นล้านคน ขีดเส้นสัปดาห์หน้าได้ข้อยุติ ยันพร้อมรับฟังความเห็นจากทุกฝ่าย ‘สารี’ หนุน กก.องค์กรอิสระ-สภามหา'ลัยแสดงบัญชีทรัพย์สิน เพื่อความโปร่งใส คุมทุจริต
8 พ.ย.2561 ภายหลังจากเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เรื่องกําหนดตําแหน่งของผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตามมาตรา 102 พ.ศ. 2561 ซึ่งกำหนดให้นายกสภามหาวิทยาลัย กรรมการสภามหาวิทยาลัย และอธิการบดี มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินด้วยนั้น
สนช. ค้าน เผย กก.สภามหา'ลัยหลายคนเปรยๆ จะลาออก
วันนี้ (8 พ.ย.61) เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในฐานะรองประธานกรรมาธิการการศึกษาและกีฬา สนช. และอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับประกาศ ป.ป.ช. ที่ให้กรรมการสภามหาวิทยาลัยยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สิน และหนี้สินต่อ ป.ป.ช.เพราะ กรรมการสภามหาวิทยาลัยมีอำนาจอนุมัติเกี่ยวกับการเงินน้อยมาก จะประชุมงบประมาณเพียงแค่ปีละครั้งเท่านั้น สภามหาวิทยาลัยจึงไม่มีความเกี่ยวข้อง หรือสามารถไปล้วงลูกการจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นหน้าที่ของฝ่ายบริหารมหาวิทยาลัยได้
อำนาจหน้าที่ของสภามหาวิทยาลัย จึงไม่ตอบสนองต่อหลักคิดเรื่องการยื่นบัญชีทรัพย์สินของป.ป.ช. หากกรรมการสภามหาวิทยาลัยต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินจริง จะมีคนเก่ง คนดี ที่มหาวิทยาลัยเชิญมาช่วยงานมหาวิทยาลัย ลาออกจำนวนมาก เพียงพอที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อมหาวิทยาลัยได้ การที่กรรมการมหาวิทยาลัยไม่อยากยื่นบัญชีทรัพย์สินไม่ได้เป็นเพราะกลัว ทุกคนไม่กลัว แต่เห็นว่า เป็นการเพิ่มภาระหน้าที่ โดยไม่สมเหตุผลกับตำแหน่งหน้าที่ ส่วนกมธ.ศึกษาและกีฬาของสนช. คงไม่เข้าไปตรวจสอบเรื่องนี้ เพราะขณะนี้ทั้งรัฐบาล และที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยต่างๆ ก็เคลื่อนไหว เพื่อหาทางออกเรื่องร่วมกับป.ป.ช.อยู่แล้ว
วุฒิศักดิ์ ลาภเจริญทรัพย์ สมาชิกสนช. และอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง กล่าวว่า ประกาศ ป.ป.ช.ที่ให้กรรมการสภามหาวิทยาลัยยื่นบัญชีทรัพย์สินเป็นปัญหามาก เพราะบุคคลที่มหาวิทยาลัยเชิญมาเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ส่วนใหญ่เป็นนักธุรกิจ ทำให้เกิดความกังวล หากจะต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน เพราะหากยื่นผิดจะมีความผิดทางกฎหมาย จึงอยากให้ป.ป.ช.ทบทวนเรื่องนี้ คำว่ากรรมการสภามหาวิทยาลัย ที่ระบุอยู่ในกฎหมายลูกให้ยื่นบัญชีทรัพย์สินนั้น ไม่ควรรวมถึงกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
เพราะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นนักธุรกิจเหล่านี้ มีมุมมองประสบการณ์ ให้คำแนะนำด้านการบริหารงานที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนามหาวิทยาลัยมากมาย คนเหล่านี้ไม่มีเงินเดือน มีแค่เบี้ยประชุมเท่านั้น อย่างสภามหาวิทยาลัยรามคำแหงขณะนี้ ก็มีกรรมการสภามหาวิทยาลัยหลายคนเปรยๆ จะลาออก หากต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน รวมถึงกรรมการสภามหาวิทยาลัย สายที่เป็นอาจารย์ก็อยากยื่นลาออกด้วย ประกาศป.ป.ช.ฉบับนี้ครอบคลุมกว้างมาก แม้กระทั่งมหาวิทยาลัยสงฆ์ ก็อยู่ในข่ายต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน รวมถึงกรรมการสำนักงานราชบัณฑิตสภาเอง ก็อยู่ในข่ายต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินเช่นกัน ทั้งที่หน้าที่มีหน้าที่ส่งเสริมเกี่ยวกับการใช้ภาษาไทย ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับตำแหน่งต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินเลย
(ที่มา ข่าวสดออนไลน์ [1])
'สกอ.-ทปอ.' สรุป กก.สภามหา'ลัยไม่ควรต้องยื่น จ่อส่งป.ป.ช.ทบทวน
เช่นเดียวกับวานนี้ (7 พ.ย.61) ที่ห้องประชุมศาสตราจารย์วิจิตร ศรีสอ้าน สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบัน เทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ได้ประชุมหารือถึงประกาศ ป.ป.ช.ดังกล่าว ร่วมกับ ตัวแทนที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (ทปอ.มรภ.) ที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (ทปอ.มทร.) และอธิการบดีมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐ
สุชัชวีร์ กล่าวว่า ซึ่งที่ประชุมเห็นด้วยในหลักการป้องกันและตรวจสอบไม่ให้มีการทุจริตในภาครัฐ ดังนั้นผู้บริหารระดับสูง ได้แก่ อธิการบดี และรองอธิการบดีจึงควรยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช.ตามที่กำหนดในประกาศ แต่การที่ให้นายกสภาฯ และกรรมการสภาฯ ซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับด้านวิชาการเป็นหลัก ไม่ได้มีอำนาจเกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างในภาครัฐโดยตรง อันจะทำให้เกิดการทุจริตในตำแหน่งหน้าที่ กรรมการสภาฯ ไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียในการบริหาร หรือเป็นผู้บริหารระดับสูงขององค์กร จึงไม่มีความจำเป็นที่จะกำหนดให้กรรมการสภาฯ ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช. ดังนั้นที่ประชุมจึงมีมติเสนอให้ ป.ป.ช.พิจารณาทบทวนประกาศ ดังกล่าวให้มีความเหมาะสมกับการบริหารงานของมหาวิทยาลัย เพราะตอนนี้กรรมการสภาฯ บางแห่งได้ยื่นลาออกแล้วจริงๆ ทำให้เกิดปัญหาและอาจส่งผลกระทบต่อนักศึกษา จากนี้จะทำหนังสือถึง ป.ป.ช.และเตรียมจะเข้าไปหารือกับประธานป.ป.ช.อย่างเป็นทางการต่อไป
"ผลกระทบจากประกาศฉบับนี้ ทำให้นายกสภาฯ และกรรมการสภาฯ บางแห่งไม่ประสงค์จะปฏิบัติหน้าที่ต่อไปเพราะการยื่นบัญชีทรัพย์สินแม้ว่าจะเป็นการแสดงความบริสุทธ์ใจ เพื่อธรรมาภิบาลแต่ก็เป็นการสร้างภาระให้แก่ผู้ที่ต้องยื่นทรัพย์สินมากเกินควร รวมทั้งต้องยื่นทรัพย์สินของคู่สมรสและบุตรด้วย ขณะเดียวกันระยะเวลาที่กำหนดไว้ในประกาศ เพียง 60 วัน ไม่เพียงพอต่อการดำเนินการยื่นบัญชีทรัพย์สินให้ถูกต้องและครบถ้วนได้ ดังนั้นหากยื่นบัญชีผิดพลาด แม้ไม่ได้เจตนาก็อาจมีโทษทางอาญาและถูกศาลพิพากษาจำคุกได้ จึงได้มีนายกสภาฯ และกรรมการสภาฯบางแห่งยื่นใบลาออกจากตำแหน่งแล้ว ส่งผลกระทบให้สภาฯ มีกรรมการสภาฯ ไม่ครบองค์ประชุมไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้ส่งผลเสียต่อการบริหารงานในมหาวิทยาลัยและนิสิต นักศึกษา" ประธาน ทปอ.กล่าว
(ที่มา ไทยโพสต์ [2])
ปธ.ป.ป.ช. ชี้ในอนาคตเจตนารมย์ กม. อนาคตข้าราชการเจ้าหน้าที่รัฐทุกคน ต้องยื่นทั้งหมดเป็นล้านคน
ขณะที่ก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 6 พ.ย.ที่ผ่านมา พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช.กล่าวถึงข้อทักท้วงกรณี ป.ป.ช.ขยายตำแหน่งที่จะต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน ต่อ ป.ป.ช.ครอบคลุมถึงตำแหน่ง กรรมการสภามหาวิทยาลัย และ บุคคลากรในสถาบันอุดมศึกษาว่า เป็นหน้าที่ของ ป.ป.ช.ที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย เนื่องจาก พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต กำหนดให้ ป.ป.ช.ต้องประกาศให้ตำแหน่งระดับสูงในหน่วยงานของรัฐ ต้องแสดงบัญชีทรัพย์สิน ซึ่งตำแหน่งระดับสูงครอบคลุมถึงกรรมการสภามหาวิทยาลัยอยู่แล้ว ป.ป.ช.ไม่สามารถละเว้นตำแหน่งใดได้ เพราะเจตนารมย์ของกฎหมายจริงๆ ในอนาคตข้าราชการเจ้าหน้าที่รัฐทุกคน ต้องยื่นทั้งหมดเป็นล้านคน ดังนั้นหากมีปัญหาว่าจะเป็นการสร้างภาระมากเกินไปก็สามารถเสนอความเห็นมาได้ เพื่อจะได้หาทางออกต่อไป
ขีดเส้นสัปดาห์หน้าได้ข้อยุติ ยันพร้อมรับฟังความเห็นจากทุกฝ่าย
ขณะที่วันนี้ (8 พ.ย.61) พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวถึงประเด็นดังกล่าวอีกว่า ยังไม่ได้ข้อสรุปจะได้ข้อยุติอย่างไร ป.ป.ช.อยู่ระหว่างรอฟังความเห็นจากที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ(ทปอ.) รวมทั้งรอหารือกับ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่กำลังประสานวันเวลากันอยู่ จะพยายามให้ได้ข้อยุติภายในสัปดาห์หน้า เพื่อให้กรรมการสภามหาวิทยาลัยได้มีเวลาตัดสินใจแบบไม่กระชั้นชิด เพราะกฎหมายจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 2 ธ.ค.นี้ สิ่งที่ป.ป.ช.ดำเนินการนั้น เป็นไปตามพ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตที่กำหนดให้ตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงที่ใช้อำนาจปกครองทางบริหารต้องแสดงความโปร่งใส ป.ป.ช.จึงดำเนินการไปตามขั้นตอน
ประธาน ป.ป.ช. กล่าวว่า ป.ป.ช.พร้อมรับฟังความเห็นจากทุกฝ่าย ประกาศที่ออกไปทำไปตามกฎหมาย เราไม่รู้ว่าไปกระทบกับตำแหน่งอะไรบ้าง เมื่อถามว่า นอกจากตำแหน่งกรรมการสภามหาวิทยาลัยแล้ว ยังกระทบถึงมหาวิทยาลัยสงฆ์ที่มีพระเถระผู้ใหญ่เป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัย รวมถึงตำแหน่งคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บอร์ด สปสช.)ที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินด้วย พล.ต.อ.วัชรพลกล่าวว่า ป.ป.ช.กำลังพิจารณาผล กระทบจากประกาศดังกล่าวว่า ส่งผลกระทบกับบุคคลเฉพาะกลุ่ม หรือคนจำนวนมาก เรื่องนี้ต้องดูองค์รวมว่ามีผลกระทบมากน้อยเพียงใด ยืนยันป.ป.ช. พร้อมฟังความเห็นทุกฝ่าย
(ที่มา ช่อง 3 [3]และ ไทยโพสต์ [4])
วิษณุ เผยนัดคุย ป.ป.ช.แล้วหาทางออก
วันเดียวกัน (8 พ.ย.61) วิษณุ ให้สัมภาษณ์กรณีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้ตนไปหารือกับ ป.ป.ช. ถึงกรณีดังกล่าวว่า จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการพูดคุยกับ ป.ป.ช. ได้นัดแล้วแต่ยังไม่ได้พบเพราะทาง ป.ป.ช.ยังไม่สะดวกเพราะต้องเตรียมข้อมูลบางอย่าง ไม่ได้เจาะจงว่าจะต้องพูดคุยกับประธาน ป.ป.ช.เท่านั้น แล้วแต่ว่าจะมอบหมายใครมา และกรณีนี้มีคำถามเยอะประมาณ 10 ข้อ
ผู้สื่อข่าวถามว่ากรณีพระเถระชั้นผู้ใหญ่และองคมนตรีที่เข้าไปเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยจำเป็นต้องยื่นตามประกาศ ป.ป.ช.นี้ด้วยหรือไม่ วิษณุ กล่าวว่า ตามในกฎหมายถ้าดำรงตำแหน่งก็ต้องยื่น เมื่อถามว่าส่วนตัวคิดว่าจะต้องแก้ในส่วนไหนบ้างรองนายกฯ กล่าวว่า ไม่ขอตอบเพราะเป็นอำนาจของ ป.ป.ช.และเรากำลังจะคุยเพื่อหาทางออกร่วมกัน
เมื่อถามว่าส่วนตัวได้หาทางออกไว้แล้วใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า “ได้เตรียมทางเข้า” เมื่อถามอีกว่า มีแนวโน้มที่จะใช้ ม.44 อีกครั้งในการแก้ไขกฎหมายนี้หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่เคยคิดเรื่องนั้น เพราะอยู่ที่ ป.ป.ช.จะมีวิธีการอย่างไร อำนาจอยู่ที่ประธาน ป.ป.ช.จะวินิจฉัย เมื่อถามย้ำว่าสุดท้ายแล้วจะมีทางออกที่ดีสำหรับทุกฝ่ายใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ทราบ ตนไม่กล้าพูด รู้อย่างเดียวตนต้องยื่น
(ที่มา ผู้จัดการออนไลน์ [5])
‘สารี’ หนุนแสดงบัญชีทรัพย์สิน เพื่อความโปร่งใส คุมทุจริต
ด้าน สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และในฐานะ บอร์ด สปสช. สัดส่วนภาคประชาชน กล่าวว่า จากกรณีที่มีผู้ดำรงตำแหน่งกรรมการในองค์กรอิสระหลายคน ทั้งสภามหาวิทยาลัย และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เตรียมลาออกหลายคน ภายหลังจากที่ ป.ป.ช. ได้ออกประกาศให้ต้องยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินนั้น ในส่วนของตนเองมีความเห็นต่อเรื่องนี้ 3 ประเด็น คือ
1.กรรมการระดับสูงของหน่วยงานในประเทศนี้ควรต้องแสดงบัญชีทรัพย์สิน เพราะต้องช่วยกันสนับสนุนการสร้างความโปร่งใส การป้องกันทุจริตและคอรัปชั่น รวมถึงการสร้างธรรมาภิบาล เป็นหนึ่งในความรับผิดชอบ ซึ่งจากการทำงานในบอร์ด สปสช.ที่ผ่านมา หากถามว่ามีอะไรที่ไม่โปร่งใสหรือไม่ ก็คงไม่มี เพราะว่าในการพิจารณาเรื่องใดเรื่องหนึ่ง หากกรรมการท่านใดมีส่วนที่เกี่ยวข้องหรือมีผลประโยชน์ทับซ้อน ก็จะออกการพิจารณาก่อน
2.ความเข้มแข็งของ ป.ป.ช.ในการจริงจังกับการใช้ข้อมูลที่ได้รับหรือกรณีการพบทุจริตที่ต้องดำเนินการอย่างจริงจังให้เห็นผล ซึ่งจะทำให้มีผู้สนับสนุนการแสดงบัญชีทรัพย์สินเพิ่มมากขึ้นเพราะเห็นว่าเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ ซึ่งที่ผ่าน ป.ป.ช.ยังไม่ได้ทำให้เห็นว่ามีความเข้มแข็งและใช้ข้อมูลที่ได้เหล่านี้เพื่อป้องกันและควบคุมการทุจริตอย่างไร
ยกตัวอย่างกรณีการตรวจสอบการแสดงบัญชีทรัพย์สินในรัฐบาลนี้ ก่อนหน้านี้ ป.ป.ช.ได้มีการตรวจสอบพบบางคนมีทรัพย์สินถึง 300 ล้านบาท แต่ก็ไม่มีการตรวจสอบที่มาที่ไปอย่างไร ไม่มีการจัดการอะไร อาจเป็นเหตุทำให้คนไม่ค่อยสนับสนุนได้เพราะดูแล้วว่า เมื่อให้มีการยื่นบัญชีทรัพย์สินไปแล้วก็ไม่เห็นมีประโยชน์หรืออะไรเกิดขึ้น
3.หน่วยงาน และ ป.ป.ช.ต้องมีระบบรายงานที่ง่ายและเป็นมืออาชีพ เพื่อสนับสนุนและคอยอำนวยการทำหน้าที่ในการยื่นบัญชีทรัพย์สินของกรรมการ ซึ่งจากการประกาศลาออกจากกรรมการสภามหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี และมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา ของนายดํารง พุฒตาล อดีตสมาชิกวุฒิสภา จากที่ได้ดูการชี้แจงผ่าน You tube ก็เข้าใจ เพราะตัวเองก็เคยมีประสบการณ์ที่พบปัญหาในการยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินด้วย เนื่องจากเราไม่ใช่ข้าราชการระดับสูง ไม่ใช่นักการเมือง บางครั้งเราก็จำกระบวนการและขั้นตอนช่วงเวลาที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินไม่ได้ เช่น ต้องยื่นหลังพ้นตำแหน่ง 30 วัน 1 ปี หรือ 3 ปี เป็นต้น ดังนั้นจึงต้องมีกลไกที่มาคอยเตือนและสนับสนุน
เช่น ปัจจุบันตนเป็นกรรมการ สปสช. อยู่ ในการแสดงบัญชีทรัพย์สิน ทั้ง ป.ป.ช. และ สปสช.ควรมีไทม์ไลน์ที่คอยเตือนกรรมการ สปสช.ในการยื่นบัญชีทรัพย์สินที่เป็นการสนับสนุนการทำงานของกรรมการ เพื่อไม่ให้ทำผิดกติกา เพราะบางครั้งกรรมการอาจลืมได้ ไม่ได้มีเจตนาปกปิดที่จะไม่รายงาน ซึ่งกรณีของคุณดำรงระบุว่า ได้เคยเปิดบัญชีธนาคารไว้ในต่างจังหวัด แต่ก็ลืมไปจึงไม่ได้รายงาน ไม่ได้เจตนาที่จะไม่รายงาน ดังนั้น ป.ป.ช.เองต้องไม่หยุมหยิมกับประเด็นและรายละเอียดเล็กน้อยหล่านี้ โดยต้องดูจากเจตนาเป็นหลัก นอกจากนี้ควรปรับปรุงระบบเพื่อทำให้ผู้ที่ต้องรายงานบัญชีทรัพย์สินมีความง่ายและสะดวกในการจัดการ
“การลาออกของกรรมการสภามหาวิทยาลัย หรือกรรมการ สปสช.ทั้ง 4 คน เป็นสิทธิของแต่ละคน ซึ่งบางคนไม่อยากยุ่งยากวุ่นวายในการยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินจึงถอนตัว เพราะประกาศฉบับใหม่นี้ครอบคลุมไปถึงครอบครัวและลูกที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ จึงเป็นสิทธิส่วนบุคคล ส่วนการยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินจะเป็นเหตุกระทั่งทำให้คนไม่อยากเข้ามาทำงาน หรือหาคนมาทำหน้าที่ไม่ได้เลยนี้ มองว่าประเทศคงไม่ขาดแคลนขนาดนั้น แต่ในฐานะกรรมการระดับสูงของหน่วยงานต้องสนับสนุนกระบวนการป้องกันการทุจริต ความโปร่งใส และธรรมาภิบาล ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็น” กรรมการ สปสช. กล่าว
(ที่มา : Hfocus.org [6])
| ['ข่าว', 'การเมือง', 'การยื่นบัญชีทรัพย์สิน', 'องค์กรอิสระ', 'กรรมการสภามหาวิทยาลัย', 'สนช.', 'ป.ป.ช.', 'สปสช.'] |
https://prachatai.com/print/79520 | 2018-11-08 21:03 | ป่าตะนาวศรีกลายเป็นที่ปะทะขององค์กรสิ่งแวดล้อมต่างชาติ-ชาวบ้านในพื้นที่ | รายงานในเดอะการ์เดียนระบุถึงปัญหาความขัดแย้งระหว่างเรื่องแนวคิดการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจากภายนอกกับการดูแลพื้นที่ป่าในแบบของชาวบ้านปกาเกอะญอ โดยที่แนวคิดอนุรักษ์จากหน่วยงานการกุศลของอังกฤษเริ่มส่งผลกระทบต่อชาวบ้านที่กลายเป็นผู้พลัดถิ่นจากสงครามในพม่า
ภาพกลุ่มสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) จัดงานรำลึกวันจับอาวุธลุกสู้กับกองทัพพม่า ภาพถ่ายเมื่อปี 2557 (ที่มา: แฟ้มภาพ)
เมื่อ 2 พ.ย. 2561 เดอะการ์เดียนรายงานว่า กลุ่มเฟานาแอนด์ฟลอราอินเตอร์เนชันแนล (FFI) กลุ่มสิ่งแวดล้อมที่ได้รับการสนับสนุนจากโครงการพัฒนาขององค์การสหประชาชาติ (UN) กำลังพยายามดำเนินการคุ้มครองพื้นที่ราว 3,200 ตร.กม. ในเขตตะนาวศรีทางตะวันออกเฉียงใต้ของพม่า แต่โครงการดังกล่าวถูกต่อต้านจากกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอที่ต้องอาศัยพื้นที่ป่าในการดำรงชีวิต พวกเขากลัวว่าถ้าหากมีการทำให้พื้นที่ป่ากลายเป็นเขตป่าสงวนแล้วจะทำให้พวกเขาปลูกพืช, สร้างบ้าน หรือหาอาหารในพื้นที่เหล่านั้นไม่ได้
นอกจากนี้ องค์กรที่่ชื่อสหพันธ์อนุรักษ์แห่งตะนาวศรี (CAT) ซึ่งเป็นองค์กรอนุรักษ์ในท้องถิ่นของพม่ายังระบุอีกว่าการตั้งพื้นที่คุ้มครองของ FFI จะทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ที่พลัดถิ่นเพราะความขัดแย้งหาที่อยู่อาศัยใหม่ไม่ได้ นอกจากนี้ยังเป็นแผนการที่จะไปรบกวนข้อตกลงหยุดยิงเมื่อปี 2555 ระหว่างกลุ่มกบฏสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงหรือเคเอ็นยู (KNU) กับกองทัพพม่า ข้อตกลงดังกล่าวระบุให้พื้นที่ๆ กลุ่มกบฏยึดครองอยู่จะตกไปอยู่ในการควบคุมของรัฐบาลเป็นข้อตกลงที่ถูกมองว่ามีความเปราะบาง
อย่างไรก็ตาม แฟรงค์ มัมเบิร์ก ผู้อำนวยการโครงการของ FFI ในพม่าก็ชี้แจงว่า "มีการตีความผิดๆ และได้รับข้อมูลที่ผิด" เกี่ยวกับโครงการ โดยบอกว่าทาง FFI จะไม่กำหนดให้พื้นที่หมู่บ้านของชาวบ้านกลายเป็นพื้นที่คุ้มครองโดยที่ไม่ได้รับการยินยอมจากชนชาติพันธุ์ แต่ทว่าคนในพื้นที่หลายคนก็ยังคงกังขาและรู้สึกไม่พอใจที่ไม่มีความโปร่งใสในเรื่องนี้ ชาวบ้านบางคนบอกว่าพวกเขาไม่ต้องการโครงการนี้ตั้งแต่แรกและอยากให้ผู้ให้ทุน FFI ในอังกฤษมาดูสถานการณ์ในพื้นที่ด้วยตนเอง
ในแง่ของข้อวิจารณ์เรื่องความโปร่งใสนั้นมีการยกตัวอย่างกรณีหมู่บ้านเฮนไล (Hein Lai) ซึ่งไม่ได้รับข้อมูลทั้งหมดจาก FFI แต่พวกเขารับรู้ข้อมูลวัตถุประสงค์การสำรวจพื้นที่เพื่อจัดวางเขตป่าสงวนจากองค์กร CAT ซึ่งทาง CAT บอกว่าถือเป็น "การละเมิดสิทธิของชาวบ้านอย่างร้ายแรง" ที่ไม่ได้ให้ชาวบ้านมีโอกาสพิจารณาและให้ความยินยอมจากข้อมูลที่ครบถ้วน ทางด้านมาร์ค ไกรนด์ลีย์ จาก FFI ระบุว่าการขอความยินยอมจากชาวบ้านทั้งหมดเป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติภายใต้ระยะเวลาของโครงการ พวกเขาคิดว่านับจากนี้ไปเจ้าหน้าที่ของ FFI จะไม่ได้รับการต้อนรับจากกลุ่ม KNU ให้เข้าไปในพื้นที่
ความขัดแย้งในเรื่องนี้เป็นส่วนหนึ่งของการที่ชุมชนผู้อาศัยอยู่ร่วมกับป่าพยายามต้านทานแนวทางแบบอนุรักษ์ธรรมชาติจากต่างชาติ วิกตอเรีย เทาลี-คอร์ปัซ เจ้าหน้าที่รายงานพิเศษด้านสิทธิของชนพื้นเมืองจาก UN เปิดเผยในรายงานเมื่อเดือน ก.ค. ที่ผ่านมาว่า องค์กรด้านอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมไม่เคารพในสิทธิชนพื้นเมืองเท่าที่ควร จากการสำรวจในช่วงระหว่างปี 2533-2557 มีชนพื้นเมืองราว 250,000 ราย ถูกบีบให้ต้องออกจากบ้านของตัวเอง บางครั้งก็ถูกบังคับด้วยกำลังเพื่อทำให้พื้นที่นั้นๆ เป็นพื้นที่อนุรักษ์
นอกจากนี้ ฝ่ายการป่าไม้ของ KNU ยังวิจารณ์ว่าโครงการของ FFI จะทำให้เกิดการละเมิดข้อตกลงหยุดยิงระหว่างกลุ่มติดอาวุธกับกองทัพพม่าในพื้นที่นั้นๆ ในแง่นี้โครงการอนุรักษ์ธรรมชาติจะยิ่งกลายเป็นการกระตุ้นให้เกิดความขัดแย้งในพื้นที่พิพาทและส่งผลกระทบต่อพลเรือนอย่างใหญ่หลวง
เรียบเรียงจาก
Displaced villagers in Myanmar at odds with UK charity over land conservation, The Guardian [1], Nov. 2, 2018
| ['ข่าว', 'การเมือง', 'ต่างประเทศ', 'สิ่งแวดล้อม', 'ที่ดินทำกิน', 'ป่าชุมชน', 'เคเอ็นยู', 'ปกาเกอะญอ', 'เฟานาแอนด์ฟลอราอินเตอร์เนชันแนล', 'ตะนาวศรี', 'สหพันธ์อนุรักษ์แห่งตะนาวศรี', 'พม่า', 'ป่าสงวน', '\xa0'] |
https://prachatai.com/print/79518 | 2018-11-08 18:32 | เสียงคนรุ่นใหม่-สู่กลไกสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ | เด็กและเยาวชนมีความสำคัญในการกำหนดทิศทางประเทศ แต่จะทำอย่างไรให้มี ‘ช่องทาง’ รับฟังความคิดของพวกเขาและเข้ามาร่วมกำหนดนโยบายสาธารณะที่มีผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของทุกกลุ่มวัย ?
จากคำถามข้างต้น นำมาสู่ที่มาการประชุมเชิงปฏิบัติการ ‘สานพลังภาคีเครือข่ายเยาวชนสู่สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ’ เมื่อเร็วๆ นี้ ที่จัดโดย คณะอนุกรรมการพัฒนาการสร้างเสริมศักยภาพและจัดกลุ่มเครือข่าย ภายใต้ คณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คจ.สช.) ซึ่งได้เชิญแกนนำกลุ่มเครือข่ายเยาวชนทั้งในและนอกสถาบันการศึกษามาร่วมประชุมเชิงปฎิบัติการ อาทิ สภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย สถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์แห่งประเทศไทย สหพันธ์นิสิตนักศึกษาวิศวกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย กลุ่มนิสิตนักศึกษารัฐศาสตร์ กลุ่มนิสิตนักศึกษารัฐศาสตร์ โครงการบัณฑิตอาสาสมัครมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ฯลฯ นับเป็นจุดเริ่มต้นในการให้เด็กๆ รู้จักกระบวนการพัฒนาและขับเคลื่อนประเด็นนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม ที่เรียกว่า สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งจัดขึ้นต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 11 แล้วในปีนี้
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ที่ผ่านมาภาคีเครือข่ายสมาชิกสมัชชาสุขภาพมักเป็นผู้มีอายุเฉลี่ยสูง ขณะที่เด็กเยาวชนยังอยู่ในวัยเรียนมีข้อจำกัดเรื่องเวลา การมาร่วมในกลไกสมัชชาสุขภาพแห่งชาติอาจกระทบต่อการเรียนหนังสือหรือต้องมีผู้ปกครองมาด้วย ส่งผลให้ไม่มีกลุ่มเด็กเยาวชนเข้ามาร่วมกระบวนการนี้อย่างจริงจังในช่วงที่ผ่านมา
นพ.พลเดช ระบุว่า ถึงเวลาต้องดึงกลุ่มนี้เข้ามาร่วมแล้ว ไม่เช่นนั้นจะขาดคนรุ่นหลังรับช่วงต่อ ประกอบกับเด็กเยาวชนอยู่ในยุค Social Media มีประเด็นเกิดขึ้นใหม่ๆ เสมอ เช่น E-Sport หรือการแข่งขันเกมออนไลน์ที่คนรุ่นเก่าอาจไม่เข้าใจมากพอ ต้องอาศัยคนรุ่นใหม่ที่คุ้นเคยกับประเด็นทางสังคมเหล่านี้ มาร่วมขับเคลื่อนประเด็นสาธารณะให้สอดคล้องกับยุคสมัย
บรรยากาศเวที ‘สานพลังภาคีเครือข่ายเยาวชนสู่สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ’ ช่วยให้เยาวชนหลากหลายสาขาวิชา หลายสถาบันการศึกษา และหลายภูมิภาค ได้มาพบปะ เรียนรู้ และร่วมพัฒนาประเด็นที่เห็นว่าสำคัญ ได้แก่ พฤติกรรมการบริโภคที่ไม่เหมาะสม การจัดการขยะในกรุงเทพมหานคร การส่งเสริมความรู้ด้านสุขภาพแก่ประชาชน และการพัฒนาทักษะชีวิตสำหรับเด็กละเยาวชน ซึ่งแต่ละหัวข้อล้วนเป็นประเด็นปัญหาของประเทศเวลานี้
ธนันนันท์ ญาณวัฒนานพกุล สมาพันธ์นิสิตและนักศึกษาทันตแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า การเข้าร่วมเวทีในวันนี้ทำให้ได้รู้ว่าแต่ละเรื่องที่เป็นประเด็นนโยบายสาธารณะต้องผ่านอะไรบ้าง เปิดโอกาสในการแสดงความคิดเห็น และรู้ว่าแต่ละประเด็นต้องสร้างการมีส่วนร่วมจึงจะประสบความสำเร็จ
“ส่วนตัวสนใจเรื่อง ปัญหาขยะ เพราะเคยไปต่างประเทศ เช่น ออสเตรเลีย ที่มีการบริหารจัดการต่างจากเรา แต่ละบ้านคัดแยกขยะและมีตารางเก็บขยะประเภทต่างๆ ในแต่ละวัน จึงอยากให้ประเทศไทยวางระบบแบบนี้บ้าง”
สอดคล้องกับความเห็นของ แวอามีเนาะห์ สุหลง หรือ “น้องแวร์” เยาวชนจากโครงการบัณฑิตอาสา ภายใต้สถาบันวิจัยและพัฒนาสุขภาพภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ที่กล่าวว่า การร่วมเรียนรู้เชิงปฏิบัติการกระบวนการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติในวันนี้ ทำให้ความรู้จับต้องได้ เกิดความสนุก พัฒนาความคิด ทำให้เกิดการซึมซับรับรู้มากกว่าการเรียนในห้องเรียน และทำให้ได้รู้ว่าการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อเสนอไปยังหน่วยงานต่างๆ ต้องผ่านกระบวนการหาข้อมูลและรับฟังความเห็นอย่างรอบด้าน
“เคยร่วมงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติประจำปี แต่ก็เป็นเพียงการเข้าร่วมเฉยๆ ไม่ได้รู้มาก่อนว่าแต่ละวาระที่เข้าสู่สมัชชาสุขภาพแห่งชาติจะต้องผ่านขั้นตอนมากมายอย่างนี้” น้องแวร์ระบุ ก่อนกล่าวต่อไปว่า การเข้าร่วมงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งต่อไปจะมีความเข้าใจและมีส่วนร่วมมากกว่าที่ผ่านมา และจะนำกระบวนการนี้ไปประยุกต์ใช้กับงานพัฒนาศักยภาพเด็กเยาวชนที่ เกาะบุโหลน จ.สตูล ซึ่งเธอทำงานอยู่
วุฒิพงษ์ ชำนาญไพร สภาเด็กและเยาวชน จ.นครสรรค์ เล่าว่า จากประสบการณ์การทำงานในฐานะตัวแทนสภาเด็กมานานกว่า 7 ปี ประเด็นที่สัมผัสมา มักเป็นเรื่องเดิมๆ อาทิ ปัญหาท้องไม่พร้อม โตไปไม่โกง หรืออนามัเจริญพันธุ์ หากการได้มาร่วมเรียนรู้กระบวนการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติทำให้ได้เพื่อนหลากหลาย เรียนรู้ว่ามีปัญหาอื่นๆ ที่ใกล้ตัวเรา ได้แลกเปลี่ยนความคิดความเห็นทำให้มีมุมมองและข้อเรียนรู้ใหม่ๆ เช่น เรื่องของสิทธิตามหลักประกันสุขภาพที่เด็กเยาวชนต่างก็ใช้สิทธินี้ แต่ไม่รู้รายละเอียด ซึ่งตนจะนำเรื่องเหล่านี้ไปเติมเต็มงานที่ทำเพื่อให้เด็กเยาวชนรู้ถึงสิทธิการรักษาพยาบาลของตัวเองมากขึ้น
เช่นเดียวกับ รณฤทธิ์ เรือนทอง จากชมรมเยาวชนดีเด่นแห่งชาติ ที่บอกว่า เดิมคิดว่ามาร่วมกระบวนการนี้จะได้แต่ประเด็นปัญหาสุขภาพ แต่พบว่ามีประเด็นอื่นๆ เช่น เรื่องขยะที่ได้เรียนรู้มุมมองใหม่ในการแก้ปัญหาจากเพื่อน เรื่องสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่เพื่อนซึ่งร่ำเรียนมาทางนี้นำมาเล่าให้ฟัง
“การที่เราอยู่ในวัยใกล้เคียงกันทำให้คุยกันรู้เรื่องแม้จะเพิ่งพบกัน และจะสานต่อเชื่อมโยงความสัมพันธ์ที่ดีต่อไป และผมจะนำกระบวนการที่ได้รับไปถ่ายทอดบอกต่อ”
เมธชนนท์ ประจวบลาภ สถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ประเด็นทางสังคมที่หลากหลายในเวลานี้ เด็กเยาวชนก็มีส่วนได้เสียโดยตรง ยกตัวอย่าง ตนเองป่วยเพราะแพ้อาหาร เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลรัฐตามสิทธิ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า พบว่าหมอฉีดยาที่ตนเองแพ้ให้จนได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง นำมาสู่ความสนใจในเรื่องการพัฒนาคุณภาพของการบริการสุขภาพ หรือประเด็น E-Sport ซึ่งแม้ไม่ใช่คนเล่นเกมโดยตรง แต่ก็เข้าถึงความรู้สึกและความคิดของเด็กเยาวชนซึ่งเป็นกลุ่มที่เล่น E-Sport การได้ร่วมพัฒนาข้อเสนอฯ จะทำให้ประเด็น ‘รอบด้าน’พร้อมสำหรับการนำเสนอยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
แนวความคิดและมุมมองใหม่ๆ ที่ได้จากภาคีเครือข่ายเด็กและเยาวชนจะช่วยมาเติมเต็มประเด็นนโยบายสาธารณะด้านสุขภาพให้รอบคอบและรอบด้านมากกว่าที่เป็นอยู่ เพื่อนำไปสู่การพัฒนากลไกสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่สมบูรณ์แบบได้ดียิ่งขึ้นนั่นเอง
| ['ข่าว', 'คุณภาพชีวิต', 'สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ', 'คนรุ่นใหม่'] |
https://prachatai.com/print/79523 | 2018-11-08 23:48 | กกต. รอคุยกระทรวงต่างประเทศก่อนตัดสินใจให้ EU เข้ามาสังเกตการณ์การเลือกตั้ง | ประธาน กกต. เผยยังไม่ตัดสินใจว่าจะให้ EU เข้ามาสังเกตการณ์การเลือกตั้งหรือไม่ ระบุครั้งนี้ขอมาเยอะ และขอไปสังเกตทุกที่ หวังถ้าได้เขาเข้ามาจะเป็นการสังเกตการณ์อย่างสร้างสรรค์ ไม่ใช่มาจับผิด ทั้งนี้ กกต. จะพิจารณาเรื่องนี้ภายใน 2 สัปดาห์หน้า รอคุยกับกระทรวงต่างประเทศก่อน
อิทธิพร บุญประคอง ภาพจากเว็บไซต์สำนักงาน กกต. [1]
8 พ.ย. 2561 สำนักข่าวไทย [2] รายงานว่า อิทธิพร บุญประคอง ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดเผยว่าตามที่เคยให้ข่าวว่าได้รับการติดต่อจากอียูเรื่องขอส่งผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้งปี 2562 ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณา แต่เนื่องจาก กกต. ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาเรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้ง การพิจารณาเรื่องนี้จึงอาจขยับไปอีกสองสัปดาห์ เพราะ กกต. ต้องหารือหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกระทรวงการต่างประเทศที่อาจจะบันทึกพฤติกรรมผู้ที่เคยมาสังเกตการณ์เชิงความเหมาะสมที่อาจนำข้อสังเกตการณ์ไปทำอะไรที่กระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหรือไม่ เพื่อประกอบการตัดสินใจขั้นสุดท้าย เพราะเราไม่อยากตัดสินใจโดยลำพัง ซึ่งขณะนี้กระทรวงการต่างประเทศกำลังอยู่ระหว่างพิจารณาเอกสารที่อียูส่งมาให้
“ที่ผ่านมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2003 เป็นต้นมาหรือ 15 ปีมาแล้ว ที่ กกต. เคยเปิดให้ผู้สังเกตการณ์จากต่างประเทศ ไม่ว่าประเทศที่ กกต. ไทยเคยไปสังเกตการณ์ในประเทศของเขาหรือประเทศใหม่ๆ ที่สนใจจะมาหรือองค์การระหว่างประเทศ (เอ็นจีโอ) ที่อยากมาสังเกตการณ์ในบ้านเรา สามารถเข้ามาได้ภายใต้โปรแกรมผู้สังเกตการณ์ของ กกต. หรือ Visitor Program ซึ่งมีสาระสำคัญคือต้องปฏิบัติตามกฎหมายไทย และเงื่อนไขที่เราขอร้อง เช่น จะไปไหนต้องแจ้งต้องบอกเรา และในบางพื้นที่ เช่น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องขออนุญาตในบางพื้นที่ที่ล่อแหลมมีความเสี่ยง มาสังเกตการณ์ แต่ไม่ใช่มายุ่มย่ามหรือรบกวนการทำงานของเจ้าหน้าที่ ซึ่งก็มีการเข้ามาสังเกตการณ์โดยเฉพาะอียูเองเคยส่งมา 2 ครั้ง ซึ่งที่ผ่านมาอียูขอมาเป็น Election Expert Mission (EEM) แต่คราวนี้ขอมาแบบ Election Observation Mission (EOM) ซึ่งค่อนข้างใหญ่และซับซ้อนกว่า ซึ่งไม่น่าจะเข้าข่าย Visitor Program ที่เราเปิดกว้างให้อยู่” อิทธิพร
ต่อคำถามว่า กกต. ต้องถามความเห็นจาก คสช. ก่อนตัดสินใจหรือไม่ อิทธิพร กล่าวว่า ยังไม่คิดว่า กกต. จะต้องไปขออนุมัติหรืออนุญาตจาก คสช. เพราะเป็นเรื่องการจัดการเลือกตั้งโดยแท้ และการเข้ามาสังเกตการณ์ไม่น่าจะมีประเด็นกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองโดยตรง แต่หาก คสช. มีความเห็นเบื้องต้นก่อนที่เราจะถามไปเราก็อาจนำประกอบการพิจารณา คือความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่ากระทรวงการต่างประเทศ คณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือแม้แต่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ก็มีความหมาย เราก็จะถามเขาไป ส่วนคสช.ถ้ามีความคิดอย่างไรเราก็รับฟัง
อิทธิพร กล่าวถึงกรณีดอน ปรมัถต์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไม่เห็นด้วยกับการให้องค์กรต่างประเทศมาสังเกตการณ์ ว่า สิ่งที่นายดอนพูดถึงเงื่อนไขของการมาสังเกตการณ์นั้นถูกต้อง คือเมื่อคุณขอมาดูก็ควรจะเป็นการสังเกตการณ์อย่างสร้างสรรค์ คือปฏิบัติตามหลักเกณฑ์กฎหมาย แล้วเสนอแนะด้วยใจที่สร้างสรรค์ ไม่ใช่มาแถลงข่าวติติง มาจับผิด หรือทำตัวเป็นกรรมการตัดสินการเมืองในประเทศอื่น
| ['ข่าว', 'การเมือง', 'กกต.', 'ผู้สังเกตการเลือกตั้ง', 'eu', 'จับตาการเลือกตั้ง', 'อิทธิพร บุญประคอง'] |
https://prachatai.com/print/79522 | 2018-11-08 22:51 | รัฐบาลเวียดนามเพิ่มมาตรการสอดส่องอินเทอร์เน็ต | เวียดนามยกระดับการควบคุมพื้นที่ออนไลน์ผ่านเครื่องมือใหม่ นวัตกรรมจากฝ่ายสารสนเทศและการสื่อสารของรัฐบาล พร้อมควบคุมผู้ให้บริการจัดเก็บข้อมูลการใช้งานภายนอกประเทศ รัฐบาลอ้างเพื่อเป็นการจัดการกับการคุกคามและบิดเบือนในการเผยแพร่ข้อมูลเท็จ
ร้านจำหน่ายอุปกรณ์ไอทีในเวียดนาม ภาพถ่ายปี 2552 (ที่มา: Flickr [1]/Toyohara)
9 พ.ย. 2561 กรณีรัฐบาลเวียดนามจะเพิ่มมาตรการสอดส่องว่างสารในโลกโซเชียลเน็ตเวิร์คนั้น BBC ภาษาเวียดนามรายงานข้อมูลดังกล่าวอ้างอิงต่อมาจากคำแถลงการณ์ของฝ่ายความมั่นคงสาธารณะและเทคโนโลยีสารสนเทศที่ตอบข้อซักถามต่อสภาแห่งชาติของเวียดนาม
รมว.ไอซีทีระบุเตรียมผุดเครื่องมือ "จัดการขยะอินเทอร์เน็ต"
ข้อมูลจากการตอบข้อซักถามต่อสภาแห่งชาติเมื่อวันที่ 31 ต.ค. 61 ที่ผ่านมา เครื่องมือจัดการขยะอินเทอร์เน็ตเป็นของศูนย์ให้คำปรึกษาและดูแลข่าวสารบนอินเทอร์เน็ตแห่งชาติ ในส่วนของข้อมูลจากรัฐมนตรีกระทรวงสารสนเทศและการสื่อสาร เหวียนแหม่งญ์หุ่ง “เครื่องมือจัดการขยะอินเทอร์เน็ต” นี้สามารถอ่าน วิเคราะห์ ประเมิน และจำแนกข่าวสารได้ราว 100 ล้านข่าวในแต่ละวัน
สาเหตุที่ต้องใช้เครื่องมือนี้ เหวียนแหม่งญ์หุ่ง ให้เหตุผลไว้ว่าในปัจจุบันนี้ บนโซเชียลเน็ตเวิร์กมีข่าวสารมากกว่า 100 ล้านข่าวสาร จึงไม่สามารถใช้คนในการตรวจสอบได้ จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาจัดการ ซึ่งเขาเรียกว่า “เครื่องมือจัดการขยะ”
นอกจากนี้ เขายังได้กล่าวต่อว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องนิยามในทางกฎหมายว่าอะไรคือข้อมูลเท็จหรือข่าวโคมลอย ด้วยเหตุนี้จึงจำเป็นที่จะต้องผลักดันกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และจำเป็นต้องมีหลักฐานจากประชาชนผู้เสียหาย
จัดการการหมิ่นประมาทบนพื้นที่ออนไลน์
ในช่วงเดียวกันนั้นเอง รัฐมนตรีกระทรวงความมั่นคงสาธารณะ โตเลิม ให้ข้อมูลผ่านคำตอบของเขาที่ถูกยื่นแก่ผู้แทนของสภาแห่งชาติเหวียนสีเกืองในวันที่ 31 ตค. 61 ว่าได้จัดการคดี “หมิ่นประมาทบนพื้นที่ออนไลน์” ไปจำนวนหนึ่งแล้ว แต่ในขั้นของการยับยั้งนั้น ยังไม่สามารถดำเนินการได้เพราะติดขับอุปสรรคบางประการ
ประการแรกคือเรื่องภูมิศาสตร์ ข้อมูลเชิงจาบจ้วงหรือล่วงละเมิดที่ “ไร้ที่มา” นั้นไม่ได้มาจากแค่ในเวียดนาม แต่มาจากทั่วทุกประเทศ
ประการที่สองคือด้านกฎหมายที่ยังไม่พัฒนา ในการจัดการกับคดีข้อมูลบิดเบือนหรือหมิ่นประมาทนั้นจำเป็นต้องมีหลัดฐาน ซึ่งจำเป็นต้องมีหน่วยงานทำหน้าที่สืบเสาะ แต่เราไม่มี
จากรายงานของเว็บไซต์ Zing.vn เหวียนสีเกืองได้กล่าว่า มีผู้ที่ “ถือตนเป็นที่ตั้ง” คุกคามผู้อื่นบนโซเชียลเน็ตเวิร์คเป็นเวลานานแล้ว เขาได้ยกตัวอย่างว่าหลังการลงมติไว้วางใจในสภาแห่งชาติ ก็มีการแสดงออกในเชิง “หมิ่นประมาทต่อรัฐมนตรี”
ด้วยเหตุนี้เขาจึงต้องการทราบว่า คณะรัฐบาลและกระทรวงความมั่นคงสาธารณะสามารถจัดการกรณีเหล่านี้ได้หรือไม่
โตเลิมเองก็ยอมรับว่าการจัดการกับการ “ใส่ร้าย” “จาบจ้วง” นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะเมื่อผู้ที่ ‘บิดเบือน’ ข้อมูลนั้นกระทำในรูปแบบของบุคคลนิรนาม
เขายังได้กล่าวต่อว่าจะทำการรวบรวมหลักฐานเกี่ยวกับ “การกระทำที่มุ่งโฆษณาชวนเชื่อต่อต้านรัฐบาล” “การกระทำที่คุกคาม บิดเบือน ใส่ร้าย ดูหมิ่นชื่อเสียงบนพื้นที่อินเทอร์เน็ต” เพื่อสะสางจัดการ
ในส่วนของวันที่ 1 พ.ย. นั้น โตเลิมก็ได้ให้ข้อมูลเพิ่มในการตอบคำถามต่อสภาแห่งชาติว่า กระทรวงความมั่นคงสาธารณะกำลังร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ เพื่อตอบโต้พฤติกรรมต่อต้าน จาบจ้วงบิดเบือนบนพื้นที่อินเทอร์เน็ต
กำหนดให้ผู้บริการลบข้อมูลอันเป็นเท็จ
รัฐมนตรีกระทรวงสารสนเทศและการสื่อสารเหวียนแหม่งญ์หุ่ง ได้กล่าวว่า ความท้าทายในปัจจุบันคือการที่โซเชียลเน็ตเวิร์กข้ามพรมแดนได้ ข่าวสารต่างๆ จากภายนอกต่างหลั่งใหลเข้าสู่เวียดนาม
ด้วยเหตุนี้ จึงจำเป็นต้องขอ “ความร่วมมือ ‘อย่างเคร่งครัด’ จากบรรดาผู้ให้บริการ ให้เคารพกฎหมายเวียดนาม โดยเฉพาะในแง่ของการจัดการกับข่าวสารข้อมูล”
เขากล่าวต่อว่า วิธีการนี้สามารถเรียนรู้ได้จากประเทศแถบอียูและอาเซียนที่เคยทำกับเฟซบุ๊คและยูทูบ และจำเป็นที่จะต้องมีการลงโทษผู้ที่เผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จบนอินเทอร์เน็ตเพื่อเป็นการ ‘เคารพกฎหมาย’
กระทรวงความมั่นคงสาธารณะกำลังร่วมมือกับกระทรวงสารสนเทศและการสื่อสารในการขอความร่วมมือจากบรรดาผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตให้ปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์ที่มี “เนื้อหาเลวร้าย” ราว 3,000 หน้าเว็บข้อมูลจาก AFP รายงานว่า กฎหมายความมั่นคงทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งผ่านการอนุมัติในเดือนมิถุนายนปีนี้ และจะมีผลบังคับใช้ในเดือนมกราคม 2562 นั้น ถูกมองว่าเป็นกฎหมายที่ลอกมาจากจีน และสร้างความกังวลแก่สหรัฐอเมริกา ยุโรป รวมถึงกลุ่มเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนระดับนานาชาติ ตามกฤษฎีกาฉบับนี้ ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตต่างประเทศจะถูกบังคับให้ก่อตั้งสำนักงานในเวียดนามและเก็บข้อมูลการใช้อินเทอร์เน็ตของผู้ใช้ภายในประเทศ ซึ่งข้อมูลเหล่านั้นก็จะประกอบไปด้วยข้อมูลตรวจพิสูจน์บุคคล ประวัติการเงิน มุมมองทางการเมือง และด้านศาสนา
ซึ่งร่างกฤษฏีกาผลักดันกฎหมายความมั่นคงทางอินเทอร์เน็ตที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์กันเป็นจำนวนมากจากผู้ใช้อินเทอร์เน็ต
| ['ข่าว', 'ต่างประเทศ', 'เวียดนาม', 'อินเทอร์เน็ต', 'การควบคุมอินเทอร์เน็ต'] |
https://prachatai.com/print/79524 | 2018-11-09 12:33 | ข่าวดี-ข่าวร้าย ของฝ่ายก้าวหน้าและบทเรียนหลังเลือกตั้งกลางเทอมสหรัฐฯ | ศึกเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐฯ มีทั้ง "ข่าวดี" และ "ข่าวร้าย" สำหรับฝ่ายก้าวหน้า และฝ่ายพรรคเดโมแครต บก.นิตยสารฝ่ายซ้ายวิเคราะห์ว่า ในขณะที่เดโมแครตเริ่มตีตื้น ครองพื้นที่ที่เคยเป็นของรีพับลิกันหลายแห่ง แต่ก็ยังไม่ได้รับความเชื่อมั่นมากพอ พรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยก็เริ่มแทรกตัวเข้ามาได้ในระดับท้องถิ่น อะไรกันที่เป็นบทเรียนสำหรับพวกเขาในเรื่องนี้
ภาพผู้คนติดตามผลการนับคะแนนเลือกตั้งกลางเทอมสหรัฐฯ (ที่มา: US Embassy Canada [1])
เมื่อ 7 พ.ย. 2561 นาธาน เจ โรบินสัน บรรณาธิการนิตยสารฝ่ายซ้ายของสหรัฐฯ Current Affairs วิเคราะห์ผลการเลือกตั้งกลางเทอมสหรัฐฯ ที่เพิ่งจบลงเมื่อวันที่ 6 พ.ย. ที่ผ่านมาว่า แม้ฝ่ายพรรคเดโมแครตจะไม่ถึงขั้นพลิกเอาชนะได้อย่างท่วมท้นจนเป็นกระแสคลื่น แต่อย่างน้อยก็สร้างระลอกแรงสะเทือนได้บ้างเล็กน้อย
สำหรับการเลือกตั้งกลางเทอมสหรัฐฯ ที่ผ่านมานั้นเป็นการชิงเก้าอี้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ทั้งหมด 435 ที่นั่ง สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) 35 จากทั้งหมด 100 ที่นั่ง และผู้ว่าการรัฐ 36 จาก 50 ตำแหน่ง ผลนับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการพบว่าพรรคเดโมแครตได้โควตา ส.ส. 225 ที่นั่ง (เพิ่มขึ้น 30) ถือว่าเกินกึ่งหนึ่งของสภาฯ ส่วนวุฒิสภานั้นเป็นพรรครีพับลิกันที่ครองเสียงข้างมากโดยครองที่นั่งในสภาสูงไปทั้งหมด 51 ที่นั่ง (ที่มา:The Guardian [2])
โรบินสันระบุว่าในการเลือกตั้งของสหรัฐฯ นั้นคนที่วางยุทศาสตร์ดีกว่าไม่ใช่ผู้ชนะเสมอไป แต่มีตัวแปรแวดล้อมอื่นอีกมากมายเช่น มีรีพับลิกันอยู่ในทำเนียบขาวหรือไม่ บทความของโรบินสันเรียบเรียงทั้งข่าวดีและข่าวร้ายสำหรับฝ่ายก้าวหน้าในสหรัฐฯ จากผลของการเลือกตั้งกลางเทอมเอาไว้หลายประการดังนี้
ข่าวดีประการแรกคือ ในรัฐฟลอริดามีการคืนสิทธิในการเลือกตั้งให้กับอดีตนักโทษคดีอาญาอุกฉกรรจ์จำนวน 1.4 ล้านคน เมื่อพิจารณาจากผลการเลือกตั้งในรัฐฟลอริดาที่รีพับลิกันชนะไปเพียงฉิวเฉียดแล้ว ก็มีโอกาสที่อีกฝ่ายจะทำได้ดีขึ้นในการเลือกตั้งครั้งหน้า การคืนสิทธิเลือกตั้งนี้ยังถือเป็นชัยชนะครั้งสำคัญของสิทธิพลเมืองขั้นพื้นฐานด้วย
ส่วนข่าวร้ายของฝ่ายก้าวหน้าคือการพ่ายแพ้ในรัฐฟลอริดาของแอนดรูว กิลลัม จากเดโมแครตให้กับรอน เดอซานติส จากพรรครีพับลิกันด้วยคะแนนเฉียดฉิวที่ร้อยละ 49 ต่อร้อยละ 49.7 ทำให้คนที่ใช้โฆษณาทางการเมืองในแบบน่ารังเกียจอย่างเดอซานติสได้เป็นผู้ว่าการรัฐคนล่าสุดในรัฐที่ใหญ่และมีความสำคัญซึ่งทำให้สถานการณ์น่าเป็นห่วง นอกจากนี้ยังมีข่าวร้ายอื่นๆ อย่างผู้สมัครที่เป็นคนดำหัวก้าวหน้าทั้ง 3 คนพ่ายในการเลือกตั้งครั้งนี้ ในหลายรัฐก็ได้ผู้ว่าการคนใหม่เป็นรีพับลิกัน ไม่ว่าจะเป็นนิวแฮมป์เชียร์ เวอร์มอนต์ หรือแมสซาชูเซตส์ บางเขตถึงแม้จะไม่ได้ผู้แทนอนุรักษ์นิยมจัดแต่ก็ได้ผู้แทนสายกลางที่เอาชนะฝ่ายก้าวหน้าแทน
นอกจากนี้ยังมีบางรัฐที่ผู้ชนะเลือกตั้งมีจุดยืนสนับสนุนพลังงานจากซากดึกดำบรรพ์ นอกจากนั้นผู้แทนฝ่ายต่อต้านการทำแท้งก็ได้รับชัยชนะในรัฐเวสต์เวอร์จิเนียและแอละแบมา โดยผลการเลือกตั้งในภาพรวมนั้นฝ่ายเดโมแครตสามารถยึดกุมพื้นที่สภาผู้แทนราษฎรได้ แต่รีพับลิกันเสริมกำลังเข้มแข็งขึ้นในวุฒิสภา
ทั้งนี้ก็มีข่าวดีในแง่การเมืองเรื่องความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจเพราะมี ส.ส. 2 รายที่มาจากพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยได้รับเลือกตั้งซึ่งแทบไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ นอกจากนี้ยังมีผู้แทนในระดับท้องถิ่นจากพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยที่ได้รับชัยชนะในอีกหลายตำแหน่งเช่นในฮาวายและเท็กซัส
ข่าวดีสำหรับฝ่ายก้าวหน้าที่นิยมความหลากหลายทางเพศก็คือ มีผู้หญิงเข้าไปเป็น ส.ส. ในสภาล่างมากเป็นประวัติการณ์สำหรับสหรัฐฯ รวมถึงผู้ว่าการรัฐที่เปิดตัวว่าเป็นเกย์อย่างจาเร็ด โปลิส ก็ได้ตำแหน่งในโคโลราโด ส่วนมิเชลล์ ลูฮัน กริสแฮม ได้เป็นผู้ว่าฯ หญิงชาวฮิสแปนิกคนที่สองของสหรัฐฯ
ข่าวดีอีกเรื่องหนึ่งคือมีผู้แทนฯ พรรคเดโมแครตชนะในรัฐส่วนใหญ่ที่เคยเป็นถิ่นของรีพับลิกันมาก่อนไม่ว่าจะเป็นรัฐแคนซัสที่ ลอรา เคลลีเอาชนะคริส โคแบค คนที่มีแนวคิดต่อต้านผู้อพยพ ในรัฐวิสคอนซินผู้สมัครพรรครีพับลิกันที่ต่อต้านแรงงานก็พ่ายแพ้การเลือกตั้ง โรบินสันตั้งข้อสังเกตว่า ในครั้งนี้พรรคเดโมแครตพลิกโผกลับมาเอาชนะในสายผู้ว่าการรัฐ ซึ่งก่อนหน้านี้เดโมแครตทำได้แย่มาตลอดในระดับการปกครองของรัฐ
บทความของโรบินสันยังระบุอีกว่าบทเรียนในเรื่องนี้คือการใช้ความไม่ชอบโดนัลด์ ทรัมป์ มาเป็นจุดขายอย่างเดียวนั้นไม่พอที่จะทำให้เดโมแครตพลิกกับมาเป็นฝ่ายนำแบบท่วมท้นได้ เพราะแม้แต่คนที่ประจบทรัมป์หนักๆ อย่างเดอซานติสก็ยังคงเอาชนะมาได้ในฟลอริดาซึ่งจะต้องเจอศึกหนักในอีก 2 ปีข้างหน้ากับการเลือกตั้งประธานาธิบดี
อย่างไรก็ตามมีการตั้งข้อสังเกตว่าผู้สมัครพรรคเดโมแครตหลายคนที่ถึงแม้จะแพ้ แต่ก็สามารถกุมคะแนนเสียงไว้ได้ในระดับที่เกือบจะเอาชนะได้ ผู้สมัครเหล่านี้เป็นคนที่มีข้อเสนอแบบฝ่ายซ้ายหรือมีความที่ถูกมองว่า "สุดโต่ง" ในเชิงก้าวหน้า เช่นกิลลัมที่ขาดคะแนนเสียงอีกเพียงราว 52,000 เสียงเท่านั้น ขณะเดียวกันพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยเริ่มแทรกเข้ามากุมพื้นที่การเมืองในระดับท้องถิ่นของสหรัฐฯ ได้อย่างเงียบๆ แม้แต่ในเมืองที่ดูไม่น่าจะยอมรับความคิดแบบก้าวหน้าในทางสังคมได้
ในแง่นี้ โรบินสันเสนอว่าพรรคการเมืองควรสำรวจความผิดพลาดของตัวเองก่อนที่จะให้สัญญาว่าจะสู้ให้หนักขึ้น การที่แนนซี เปโลซี ผู้แทนฯ พรรคเดโมแครตที่ชนะการเลือกตั้ง ส.ส. ในรัฐแคลิฟอร์เนีย และด้วยผลการเลือกตั้งที่เดโมแครตชนะในสภาผู้แทนฯ ทำให้เธอเป็นประธานรัฐสภา ที่ไปสัญญาว่าจะทำงานในเชิงความร่วมมือกับรีพับลิกันนั้นก็ดูเป็นทิศทางที่ไม่ดีในสายตาของโรบินสันและจะกลายเป็นการฉุดให้เดโมแครตตกต่ำลง
โรบินสันมองว่าคนจำพวกเขารู้สึกเบื่อกับการเมืองแบบฝ่ายขวาเต็มทนแล้วและอยากได้ฝ่าย "เสรีนิยม" เข้าไปคัดง้างกับฝ่ายขวาแทนที่จะญาติดีกัน โรบินสันสังเกตจากผลชัยชนะของผู้สมัครฝ่ายก้าวหน้าหลายคนที่ไม่ใช่เดโมแครตว่า เป็นไปได้ว่าผู้คนอยากได้วาระทางการเมืองแบบฝ่ายซ้ายแต่พวกเขาไม่เชื่อมั่นว่าพรรคเดโมแครตจะตอบสนองได้มากพอ
โรบินสันวิเคราะห์ว่าสิ่งที่ทำให้รีพับลิกันชนะได้เพราะฐานการเมืองของรีพับลิกันตั้งอยู่บนโฆษณาชวนเชื่อและเครื่องจักรทางการเมืองที่ต้องพึ่งพาสถาบันต่างๆ ส่วนเดโมแครตนั้นมาจากกระแสต่างๆ ซึ่งแน่นอนว่ารีพับลิกันคงจะไม่อยากร่วมมือกับเดโมแครตเป็นแน่ สิ่งที่ประชาชนผู้สนับสนุนฝ่ายก้าวหน้าต้องการจริงๆ คือสิ่งที่จะมาต่อต้านสถาบันต่างๆ ที่ค้ำชูรีพับลิกันทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นสื่อ ผู้ขายนโยบาย ฝ่ายต่อต้านการผลิตซ้ำวัฒนธรรมฝ่ายขวา และนักคิดด้านเศรษฐศาสตร์ฝ่ายซ้ายที่จะทัดทานกับเศรษฐศาสตร์จากอีกฝ่าย
เรียบเรียงจาก
LESSONS FROM LAST NIGHT, NATHAN J. ROBINSON, Current Affairs [3], Nov. 7, 2018
| ['ข่าว', 'การเมือง', 'ต่างประเทศ', 'การเลือกตั้งกลางเทอมสหรัฐฯ 2561', 'การเลือกตั้ง', 'รีพับลิกัน', 'เดโมแครต', 'พรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยสหรัฐฯ', 'ฝ่ายซ้าย', 'ฝ่ายก้าวหน้า', 'สหรัฐอเมริกา'] |
https://prachatai.com/print/79521 | 2018-11-08 22:17 | โรดแมปเลือกตั้ง 24 ก.พ. 62 วิษณุปัดตอบเรื่องพิธีบรมราชาภิเษก ย้ำไม่มีใครพูดเรื่องนี้แล้ว | วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีแถลงโรดแมปการทำงานของรัฐบาลในช่วงเข้าสู้การเลือกตั้ง เผยเลือกตั้ง 24 ก.พ. 62 ชี้หากมีพรรคการเมืองเสนอชื่อประยุทธ์เป็นแคนดิเดทนายกรัฐมนตรี ก็ไม่จำเป็นต้องลาออก ยันรัฐบาลนี้จะมีอำนาจเต็มไม่กลายสภาพเป็นรัฐบาลรักษาการณ์ และจะสิ้นสุดลงพร้อม คสช. หลัง ครม.ชุดใหม่เข้าถวายสัตย์ปฎิญาณ ปัดตอบเรื่องพีธีบรมราชาภิเษก ย้ำไม่มีใครพูดเรื่องนี้แล้ว
ภาพจากเว็บไซต์รัฐบาลไทย
8 พ.ย. 2561 ที่ทำเนียบรัฐบาล วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี แถลงข่าวถึงการเตรียมการของคณะรัฐมนตรีในการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นว่า ยังคงยืนยันว่าจะมีการจัดการเลือกตั้งในวันที่ 24 ก.พ. 2562 แต่ในทางปฏิบัตินั้นวันเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ กกต. จะเป็นผู้กำหนด ซึ่งจะสามารถดำเนินการได้หลังจากที่ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.) มีผลบังคับในวันที่ 11 ธ.ค. นี้ ซึ่งหลังจากจะต้องมีการออกพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้ง และเมื่อมีการประกาศพระราชกฤษฎีการแล้ว กกต. จะต้องออกประกาศวันเลือกตั้ง วิธีการหาเสียงเลือกตั้ง และประกาศรับสมัครผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ซึ่งทุกอย่างได้เตรียมการไว้ทั้งหมดแล้ว
วิษณุ กล่าวต่อว่า การปลดล็อกทางการเมืองทั้งหมด ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 3 ล็อกคือ ประกาศ คสช. ฉบับที่ 57/2557 คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 และล็อกต่างๆ ภายในกฎหมายการเลือกตั้ง จะถูกปลดในช่วงเวลาหลังจากที่มีการประกาศพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้ง
ช่วงเลือกตั้ง รัฐบาล คสช. ยังมีอำนาจเต็มไม่จำเป็นต้องกลายสภาพเป็นรัฐบาลรักษาการณ์
วิษณุ ระบุด้วยว่า มีการคาดการณ์ว่า สถานภาพของรัฐบาลต่อจากนี้จะกลายเป็นเพียงรัฐบาลรักษาการณ์นั้น ถือเป็นการเข้าใจผิด เพราะการเป็นรัฐบาลรักษาการณ์จะเกิดขึ้นได้ด้วย 4 เหตุผลตามที่รัฐธรรมนูญระบุไว้คือ 1.เมื่อนายกรัฐมนตรีสิ้นสภาพลง เช่น เสียชีวิต ลาออก หรือถูกถอดถอน ในทางกฎหมายเมื่อนายกรัฐมนตรีพ้นจากอำนาจหน้าที่ คณะรัฐมนตรีก็พ้นจากอำนาจหน้าที่ตามไปด้วย 2.คณะรัฐมนตรีพร้อมใจกันลาออก 3.กรณีที่มีการยุบสภา 4.กรณีรัฐบาลอยู่มาจนครบวาระ 4 ปี คณะรัฐมนตรีก็จะสิ้นสุดลง
“แต่ในกรณีของรัฐบาลนี้ ไม่ว่าจะเข้าสู่โหมด หรือช่วงเวลาเลือกตั้ง จนแม้เลือกตั้งเสร็จผ่านพ้นไปแล้ว คณะรัฐมนตรีนี้ก็ยังไม่ใช่คณะรัฐมนตรีรักษาการณ์ ตรงกันข้ามรัฐธรรมนูญ บทเฉพาะกาล กลับเขียนไว้ด้วยซ้ำว่า ให้คณะรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในวันที่รัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ยังคงเป็นรัฐมนตรีต่อไปจนถึงวันที่คณะรัฐมนตรีชุดใหม่เข้าถวายสัตย์ปฏิญาณรับหน้าที่ ซึ่งหมายความว่าจะต้องอยู่ยาวไป และไม่ใช่ยาวแบบรักษาการณ์ แต่ยาวแบบมีอำนาจเต็ม เมื่อคณะรัฐมนตรีชุดใหม่หลังเลือกตั้ง เข้าถวายสัตย์ปฎิญาณ ครม.ชุดนี้ และ คสช. ก็จะสิ้นสุดลงพร้อมกันในวันเดียวกันกับที่ชุดใหม่เข้ารับหน้าที่” วิษณุ กล่าว
ในช่วงตอบคำถามสื่อมวลชนมีผู้สื่อข่าวรายหนึ่งถามว่า ขออนุญาตถามเรื่องพิธีบรมราชาภิเษกได้หรือไม่ วิษณุ ตอบว่า ไม่ได้ เพราะไม่รู้ และทุกวันนี้ก็ไม่มีใครพูดถึงเรื่องนี้แล้ว นายกรัฐมนตรีเคยเรื่องนี้ไว้ครั้งหนึ่งแต่ก็ไม่ได้พูดอีกแล้ว
ขณะที่ผู้สื่อข่าวอีกรายถามว่า ในกรณีที่มีพรรคการเมืองเสนอชื่อ พล.อ. ประยุทธ์ เป็นรายชื่อแคนดิเดทนายกรัฐมนตรีของพรรค พล.อ.ประยุทธ์ จะต้องลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหรือไม่ วิษณุ กล่าวว่า การถูกเสนอชื่อไม่ได้แปลว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทางการเมือง ในการเลือกตั้ง แต่หากมีการเสนอชื่อขึ้นมาจริงๆ พล.อ.ประยุทธ์ จะต้องว่างตัวเป็นกลาง ไม่ใช่อำนาจหน้าที่เอื้อให้เกิดประโยชน์ในทางการเมือง
ไทม์ไลน์การเลือกตั้ง ส.ส. 62 เริ่มต้น ธ.ค. 61 สิ้นสุด มิ.ย. 62
11 ธ.ค. 2561 พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองมีผลบังคับใช้
-จากนั้น ครม. ต้องพิจารณาร่าง พ.ร.ฎ.ให้มีการเลือกตั้ง เพื่อนำขึ้นทูลเกล้า
-เมื่อมีการประกาศ พ.ร.ฎ.ให้มีการเลือกตั้งแล้ว กกต. จะออกประกาศวันเลือกตั้ง วันรับสมัคร และจำนวน ส.ส. เขต ภายใน 5 วันนับจากประกาศ พ.ร.ฏให้มีการเลือกตั้ง (คาดว่า กระบวนการนี้จะแล้วเสร็จวันที่ 5 ม.ค. 2562) และหลังจากมีการประกาศ พ.ร.ฎ.ให้มีการเลือกตั้ง คสช. จะปลดล็อกทางการเมืองให้พรรคดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้
16- 27 ธ.ค. ช่วงเวลาในการคัดเลือก ส.ว. ในส่วนของ กกต.
28 ธ.ค. เป็นวันสุดท้ายที่ สภานิติบัญญัติแห่งชาติจะรับร่าง พ.ร.บ. ต่างๆ เข้าสู่การพิจารณา
2 ม.ค. 2562 วันสุดท้ายที่ กกต. จะต้องส่งรายชื่อ 200 รายชื่อ ให้ คสช. คัดเลือกผู้สมควรดำรงตำแหน่ง ส.ว. ให้เหลือ 50 คน และอีก 50 คน เป็นรายชื่อสำรอง
ช่วงเดือน ม.ค. จะมีการเปิดรับสมัครผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. และ พรรคการเมืองจะต้องยื่นรายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีให้กับ กกต.
9 ก.พ. เป็นวันสุดท้ายที่คณะกรรมการสรรหา ส.ว. ที่ตั้งขึ้นโดย คสช. สามารถส่งรายชื่อผู้ผ่านเข้ารอบมีสิทธิเป็น ส.ว. ทั้งหมด 400 รายชื่อ ให้ คสช. คัดให้เหลือ 194 คน สำรอง 50
15 ก.พ. วันสุดท้ายที่ สนช. จะหยุดพิจารณากฎหมาย แต่ยังคงปฎิบัติหน้าที่อื่นๆ ต่อไป
24 ก.พ. เป็นวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั่วประเทศ ส่วนการเลือกตั้งล่วงหน้าเป็นหน้าที่ และการเลือกตั้งในต่างประเทศ กกต. จะเป็นผู้กำหนด
ช่วงเดือน มี.ค. จะเป็นช่วงเวลาที่ กกต. ดำเนินการนับคะแนนตรวจสอบการเลือกตั้ง ตรวจสอบข้อร้องเรียกต่าง หากจะต้องมีการเลือกใหม่ เลือกตั้งซ่อมก็จะดำเนินการในเดือนนี้
24 เม.ย. จะเป็นวันสุดท้ายที่ กกต.จะประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ (60 วันนับจากการเลือกตั้ง)
27 เม.ย. วันสุดท้ายที่ คสช. จะพิจารณารายชื่อ ส.ว. ให้ครบ 250 คน และนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ
ช่วงเดือน พ.ค. ภายใน 15 วันนับจากมีการประกาศรายชื่อ ส.ส. และมีการโปรดเกล้า ส.ว. แล้ว รัฐบาลชุดปัจุบันจะกราบบังคมทูลเชิญเสด็จพระราชดำเนินเปิดการประชุมการรัฐสภาครั้งแรก โดย สนช. จะสิ้นสุดลง 1 วันก่อนวันเสด็จเปิดประชุมรัฐสภา
-หลังจากเสด็จพระราชดำเนินเปิดารประชุมรัฐสภา ส.ส. จะมีการเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร และ ส.ว. จะเลือกประธานวุฒิสภา จากนั้นจะมีการโปรดเกล้าแต่งตั้ง จากนั้นประธานสภาผู้แทนราษฎรคนใหม่จะนัดประชุมสภาเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี
-เมื่อเลือกได้แล้วจะมีการโปรดเกล้าแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี เมื่อมีนายกรัฐมนตรีแล้ว นายกรัฐมนตรีจะเลือกทีมคณะรัฐมนตรีทั้งหมด 36 คน รวมตัวนายกรัฐมนตรีด้วย จากนั้นให้มีการทูลเกล้าถวายรายชื่อ
-เมื่อทรงโปรดเกล้าแล้ว ถือว่ามีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ซึ่งในวันที่ถวายสัตย์ปฏิญาณนั้น รัฐบาลชุดปัจจุบัน และ คสช. จะสิ้นสุดลง
ช่วงเดือน มิ.ย. ภายใน 15 วันนับแต่วันถวายสัตย์ปฏิญาณคณะรัฐมนตรีชุดใหม่จะต้องแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ถือว่ามีอำนาจเต็มในการบริหารราชการเเผ่นดิน
| ['ข่าว', 'การเมือง', 'โรดแมปเลือกตั้ง', 'จับตาการเลือกตั้ง', 'คสช.', 'พระราชพิธีบรมราชาภิเษก', 'วิษณุ เครืองาม'] |
https://prachatai.com/print/79527 | 2018-11-09 14:00 | รมว.ต่างประเทศ ชี้ EU ขอสังเกตการณ์การเลือกตั้ง 200 คน มากเกินไป ไม่จำเป็น | ดอน ปรมัตถ์วินัย เชื่อไทยพึ่งพาตัวเองได้ EU ขอสังเกตการณ์การเลือกตั้ง 200 มากเกินไป ไม่จำเป็น ย้ำไม่ไม่ใช่เป็นเทศที่มีปัญหา อวดการลงประชามติปี 59 ก็ทำได้ไม่มีปัญหาอะไร แถมต่างชาติยังชื่นชม
9 พ.ย. 2561 สำนักข่าวไทย [1] รายงานว่า ดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์กรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ระบุสหภาพยุโรป (EU) ต้องการจะส่งผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้งเข้ามาในไทย 200 คนว่า ทราบว่าทางอียูได้แจ้งเรื่องดังกล่าวมายังกระทรวงการต่างประเทศเช่นกัน ซึ่งประเด็นดังกล่าวเป็นเรื่องที่ กกต. จะพิจารณา แต่ในฐานะที่เคยมีประสบการณ์ในการดูการเลือกตั้งในต่างประเทศเห็นว่าบ้านเมืองที่มีการเลือกตั้ง และไม่มีใครมาขอสังเกตการณ์เป็นบ้านเมืองที่ไม่มีปัญหา มีความสงบเรียบร้อย สามารถดำเนินกิจการของตนเองได้ โดยปราศจากการแทรกแซงจากภายนอก ซึ่งน่าจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับประเทศไทย
ดอน กล่าวต่อว่า ไทยสามารถพึ่งพาตัวเองได้ เพราะไทยเป็นประเทศที่มีทุนเดิมที่ดีในแง่การจัดการเลือกตั้ง ซึ่งในการจัดการลงประชามติรับรองร่างรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2559 ก็เหมือน กับการเลือกตั้งลักษณะหนึ่ง ก็ประสบผลสำเร็จด้วยดี และได้รับเสียงชื่นชมจากหลายประเทศที่มาดูเสียด้วยซ้ำ จึงมั่นใจในความสามารถของไทยในการจัดการเลือกตั้งว่าไม่ได้มีประเด็นปัญหาอะไร
ดอน กล่าวว่า ในส่วนของต่างประเทศ ไม่ได้ตั้งแง่ต่อต้านหรือปฏิเสธอย่างสิ้นเชิง เพราะสถานทูตของประเทศต่างๆ ในประเทศไทยที่สนใจสามารถส่งผู้แทนเข้าร่วมสังเกตการณ์การเลือกตั้งได้อยู่แล้ว ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลก เป็นการดำเนินการที่ทำได้ตามกฏหมาย และไม่มีข้อห้าม ถือเป็นภารกิจอีกประการหนึ่งของเจ้าหน้าที่ในสถานทูตเสียด้วยซ้ำ แต่การส่งคณะเข้ามาสังเกตการณ์เป็นเรื่องที่ไม่มีความจำเป็น ยิ่งตัวเลขมากถึงหลัก 200 ยิ่งเป็นเรื่องที่ไม่ปกตินัก
นายดอน กล่าวต่อว่า ส่วนตัวเห็นว่าผู้ตรวจสอบที่มีคุณค่าและเป็นประโยชน์ที่สุดคือคนไทยด้วยกันเอง เพราะจะเข้าใจกระบวนการทั้งหมดที่กำลังเกิดขึ้น ขณะเดียวกันรัฐธรรมนูญปี 2560 มีบทบัญญัติในเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการเลือกตั้ง ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งก่อนหน้า ระหว่าง และหลังการเลือกตั้ง ดังนั้นคนไทยสามารถแสดงเจตจำนงที่จะเข้ามาช่วย กกต. ในการตรวจสอบการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น รวมถึงภาคประชาสังคมและองค์กรอิสระของไทยก็น่าจะพิจารณาเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาการเมืองไทย และอาจจะขยายผลโดยการเชิญผู้แทนสถานทูตแต่ละแห่งในไทยเข้ามาอยู่ในกระบวนการเดียวกันด้วย
"สิ่งที่พูดมาจากมุมมองว่าการดำเนินการเช่นไรที่จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติมากที่สุด โดยที่ไม่มีผลข้างเคียงว่าเราเป็นประเทศที่มีปัญหาจึงต้องส่งคนเป็นร้อยเข้ามาดูการเลือกตั้งของไทยซึ่งเป็นเรื่องภายในประเทศไทย" ดอน กล่าว
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า เท่าที่ทราบขณะนี้นอกจากอียูแล้วยังไม่ได้รับรายงานว่ามีประเทศหรือองค์กรระหว่างประเทศใดแสดงความจำนงค์ที่จะเข้ามาสังเกตการณ์การเลือกตั้งในประเทศไทยเพิ่มเติม ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าจะมีการประสานโดยตรงไปยัง กกต. โดยพื้นฐานเป็นเอกสิทธิที่ กกต. จะปรึกษากับหน่วยงานใด แต่เชื่อว่าคงจะมีการหารือกับหลายฝ่าย เพราะสิ่งที่เรากำลังพูดถึงคืออนาคตของประเทศไทยหลังจากนี้ เพื่อให้ไทยเดินหน้าต่อไปได้อย่างสง่าผ่าเผย หากเราดูแลการเลือกตั้งกันได้เองก็จะทำให้เกิดความชื่นชมศรัทธาต่อประเทศไทยและคนไทยด้วย
ผู้สื่อข่าวประชาไท รายงานเพิ่มเติ่มว่า ก่อนหน้านี้ ดอน ได้แสดงความคิดเห็นในลักษณะดังกล่าวไปแล้ว จากครั้งนั้นทำให้ สุนัย ผาสุก ที่ปรึกษาฮิวแมนไรท์วอทช์ ประจำประเทศไทย โต้แย้งว่า ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในไทยที่กำลังอยู่ในสภาาวะไม่ปกติภายใต้ระบอบเผด็จการทหาร ยังคงมีการปิดกั้นเสรีภาพขั้นพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ความไม่ปกติเช่นนี้ จำเป็นอย่างยิ่งต้องให้นานาชาติมาร่วมสังเกตการณ์การเลือกตั้งของไทย
| ['ข่าว', 'การเมือง', 'ต่างประเทศ', 'ดอน ปรมัตถ์วินัย', 'กกต.', 'การเลือกตั้ง', 'ผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้ง', 'eu'] |
https://prachatai.com/print/79528 | 2018-11-09 14:18 | เรียนครู 4 ปี โหด-เร็ว-ดี อย่างไร? : คำถามที่รัฐบาลเผด็จการแย่งสาธารณะคิดและตอบ |
ภาพประกอบจาก https://imgflip.com/i/t2qot [1]
ยุทธศาสตร์แห่งชาติ 20 ปีที่เหล่าคนหวังดีที่มีจิตใจคับแคบทั้งหลายร่วมกันผลักดัน กำลังออกฤทธิ์ผ่านกระบวนการเร่งรัดมัดมือชกในหลายวงการที่เชื่อกันว่า ประเทศนี้มีปัญหาหมักหมม ต้องทำการผ่าตัด แก้ไข หรืออะไรก็แล้วแต่ รัฐบาลเผด็จการใช้เวลาแสนสั้น ใช้อำนาจสั่งการมากกว่าการมีส่วนร่วม เพื่อให้คนต้องทนอยู่ภายใต้แนวคิดที่ดีหรือเปล่าก็ไม่รู้ไปอีก 2 ทศวรรษ บทความนี้ขอยกเรื่องวงการศึกษาว่าด้วยการมัดมือชกให้หลักสูตรครูลดการเรียนการสอนเหลือเพียง 4 ปี ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงนี้ส่งไปถึงคนในวงกว้าง แต่กลับมีคนเพียงหยิบมือที่ "คิดแทน" "ทำแทน" โดยเชื่อว่า ตนเองเป็นผู้รู้ดี แต่อย่าลืมว่า การแก้ไขปัญหาที่ว่ามันซับซ้อนมากกว่าการบริหารคลินิกเล็กๆ
สำหรับคนนอกวงการศึกษา อาจได้ยินข่าวกระเซ็นกระสายมาบ้างแล้วว่า รัฐบาลต้องการปฏิรูปการศึกษา ประเด็นหนึ่งที่ชัดเจนมากก็คือ คุณภาพของครู ไม่ต้องวิจัยอย่างจริงจัง คนทั่วไปก็มักรับรู้ตามข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ หรือสื่อออนไลน์ว่า ครูจำนวนหนึ่งมีปัญหามีพฤติกรรมที่แย่อยู่จริงอย่างปฏิเสธไม่ได้ ไม่ว่าจะเรื่องความรุนแรงในโรงเรียน การละทิ้งห้องเรียน ฯลฯ ส่วนใหญ่จึงละเลยที่จะมองรากฐานที่มาจากโครงสร้างของการเรียนการสอน, ระบบราชการ, ระเบียบพัสดุ ฯลฯ การด่วนตัดสินความผิดมาที่ตัวบุคคล จึงเป็นการมองปัญหาแบบแยกส่วนไปที่ตัวครูเป็นคนๆ ไปดังนั้นเมื่อครูคุณภาพห่วย การเรียนการสอนในโรงเรียนจึงห่วยตามไปด้วย ฉะนั้นคณะครุศาสตร์-ศึกษาศาสตร์ที่เป็นผู้ผลิตบัณฑิตโดยตรงนั้นจึงเป็นเป้าหมายสำคัญที่จะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงอยากหลีกเลี่ยงไม่ได้
พวกเขากำลังไล่กวดอะไร ทำไมถึงต้องรีบขนาดนั้น
การวินิจฉัยที่ไม่ครอบคลุม นำมาซึ่งการรักษา-แก้ปัญหาแบบติดกระดุมเสื้อผิดเม็ดไปเรื่อยๆ
หลักสูตรครู 5 ปีเริ่มต้นในปี 2546 สิบห้าปีของการเปลี่ยนแปลงนั้น ได้รับการประเมินอย่างจริงจังเพียงใด ผู้เขียนยังไม่มีข้อมูล
เค้าลางความเปลี่ยนแปลงเริ่มต้นเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2560 กระทรวงศึกษาธิการได้พยายามให้การบรรจุเป็นข้าราชการในตำแหน่ง "ครูผู้ช่วย" โดยไม่ต้องมีใบประกอบวิชาชีพ หรือภาษาปากเรียกกันว่า "ตั๋วครู"[2] ข้อเสนอดังกล่าวสร้างความตื่นตระหนกให้กับวงการครูระดับอุดมศึกษา จนมีข่าวการล่า 5 หมื่นรายชื่อเพื่อถอดถอนรัฐมนตรี จนต้องยอมถอย และเปลี่ยนท่าทีว่า ไม่ต้องมี "ตั๋วครู" ในสาขาวิชาที่ ขาดแคลนครูในวิชาเหล่านั้น 17 วิชายังไม่มีผู้เรียนจบ และอีก 8 วิชา ไม่มีผู้สมัครหรือสอบผ่านเกณฑ์ขึ้นบัญชีได้น้อยนั่นคือ วิทยาศาสตร์, วิทยาศาสตร์ทั่วไป, ฟิสิกส์, เคมี, ชีววิทยา, คณิตศาสตร์, ภาษาอังกฤษ และภาษาเยอรมัน[3]
มีข้อถกเถียงที่ตามมาเช่นกันว่าการเรียนครู 4 ปี จำเป็นหรือไม่ การที่วิชาชีพครูถูกผลิตอย่างผูกขาดโดยคณะครุศาสตร์-ศึกษาศาสตร์ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของคุรุสภาเป็นคำตอบที่ถูกต้องหรือไม่ จะได้ครูที่มีคุณภาพกว่านี้หรือไม่ถ้าเปิดสอบกว้างขึ้น[4] ความคิดเห็นที่ตั้งคำถามส่วนหนึ่งสอดคล้องกับวิธีคิดของรัฐบาลจึงปฏิเสธไม่ได้ว่าฐานคิดดังกล่าว ไม่ได้เกิดมาจากอากาศธาตุ แต่ประเด็นก็คือ ปัญหาครูในฐานะส่วนหนึ่งของการปฏิรูปการศึกษา มันคือเรื่องที่ต้องคุยถกเถียง โต้แย้งกันด้วยข้อมูล สถิติ กรณีศึกษา ฯลฯ อย่างกว้างขวางจากหลายวงการ ดังที่จะกล่าวต่อไป
อีกเกือบ 4 เดือนต่อมาที่ประชุมคุรุสภามีมติเห็นชอบให้ผลิตครูในหลักสูตร 4 ปีโดยอ้างว่า นักศึกษาครูไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เสียเวลาเรียนเพิ่มอีก 1 ปี และอ้างว่าหลักสูตร 4 ปีก็ทำให้มีคุณภาพได้ โดยชงให้ไปพัฒนาข้อเสนอการผลิตครูทั้งระบบโดยจะรับนิสิต นักศึกษาด้วยหลักสูตรนี้ในปีการศึกษา 2561 นี่คือเรื่องที่เกิดขึ้นต้นเดือนกรกฎาคม 2560[5] อย่างไรก็ตามอีกไม่กี่วันต่อมา การประชุมของกลุ่มคณะที่ผลิตครูในนาม สภาคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย (สคศท.) ได้ถกเรื่องราวดังกล่าว แบ่งเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายแรกคือ เห็นว่าควรเป็นหลักสูตรครู 5 ปี กลุ่มนี้คือ คณะบดีฝั่ง ม.ราชภัฏที่ยึดตามมติอธิการบดี กับอีกฝ่ายเห็นว่าควรเหลือเพียง 4 ปี โดยเหตุผลมุ่งไปที่นักศึกษา[6] มากกว่าผลสัมฤทธิ์ในการสอนและผู้เรียน ความไม่ลงรอยในที่ประชุมนำไปสู่ขั้นต่อไปของนักการเมืองกระทรวงศึกษาธิการ บรรยากาศเช่นนี้แสดงให้เห็นแรงต้านที่ลดลงจากเมื่อ 4 เดือนก่อนมาก
คงมีการใช้กำลังภายในผลักดันอย่างแข็งขันในกระทรวง เมื่ออุดม คชินทร หมออีกคนหนึ่งที่เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการศึกษาธิการในเดือนพฤศจิกายน 2560 คู่กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการอย่างธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ ความชัดเจนของการเลือกตั้งทั่วไปในระดับประเทศที่จะมีขึ้นช่วงปี 2562 คาดว่าทำให้นักการเมืองในกระทรวงศึกษาธิการยิ่งต้องเร่งให้ผลไม้ของตนสุกก่อนที่ตนจะจัดการไม่ได้
เดือนพฤษภาคม 2561 มีการประกาศว่าจะพัฒนาหลักสูตรนำร่องที่เรียกว่า “หลักสูตรครูคุณภาพสูง” (High quality Teacher) และ “คุณภาพเป็นเลิศ” (Premium quality Teacher) 7 สาขาที่จะใช้นำร่องได้แก่ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษ ภาษาไทย สังคมศึกษา ประถมศึกษา และการศึกษาปฐมวัย[7] สอดคล้องกับการที่อุดมก็ออกข่าวว่าจะปรับให้ ม.ราชภัฏซึ่งเป็นฐานสำคัญการผลิตครูมานานตั้งแต่สมัยเป็นวิทยาลัยครู (ทั้งที่ฝ่ายนี้ถือเป็นฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยในการปรับไปใช้หลักสูตรครู 4 ปี) ต้องใช้หลักสูตร 4 ปีเดือนตุลาคม 2561[8] และตอกย้ำข่าวในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2561 ว่า ได้มีการเรียกประชุมคณบดีที่ผลิตครูอีก 17 มหาวิทยาลัยที่ "ไม่ใช่" ตัวแทนจาก ม.ราชภัฏ[9] และใช้ที่ประชุมนี้อ้างว่าต่างก็ยินดีที่จะผลิตครูตามหลักสูตร 4 ปี นำไปสู่การอ้างว่า "ประเด็นไม่ได้อยู่ที่หลักสูตรผลิตครู 4 ปี หรือ 5 ปี แต่อยู่ที่การปรับปรุงกระบวนการผลิต กระบวนการสอนการสอน ซึ่งตนเชื่อว่าทำได้ อีกทั้งคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ต่างยืนยันว่าทำได้หมด"
สำหรับคนในแวดวงการศึกษา ช่วงไม่กี่วันมานี้หลักสูตรครุศาสตร์ในสาขาที่กำลังจะปรับปรุงหลักสูตร 2562 ได้รับข้อเสนอที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ยังไงก็ต้องสอนเพียง 4 ปี หลักสูตรครูคุณภาพสูงหรือหลักสูตรพรีเมียมที่นำร่องไปจะกลายเป็นหลักสูตร 4 ปี สาขาอื่นๆ นอก 7 สาขาวิชาดังกล่าวก็จำต้องไปพัฒนาหลักสูตรตามโจทย์ที่ถูกกำหนดมา ปัญหาใหญ่คือ กระบวนการดังกล่าวฉุกละหุกมากเกินไป เนื่องจากสัมพันธ์กับระยะเวลาหลายเงื่อนไข ไม่ว่าจะเป็น 1) การเปลี่ยนโครงสร้าง 4 ปีจะไปสัมพันธ์กับกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ 1 (มคอ.1) ที่คุมหลักสูตรครุศาสตร์ทั่วประเทศ ที่ต้องเปลี่ยนไปด้วยซึ่งขณะนี้ยังไม่แล้วเสร็จ ตามกำหนดจะต้องมีกระบวนการประชาพิจารณ์ก่อนจะประกาศใช้ช่วงประมาณกุมภาพันธ์ 2562 หลังจากนั้น หลักสูตรถึงจะถูกสร้างขึ้นมาเพื่อล้อกับ มคอ.1 2) การเปิดรับนักศึกษาใหม่ในปีการศึกษา 2562 ที่เริ่มต้นตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม ผู้เขียนไม่เห็นว่าจะมีเหตุผลใดถึงจะต้องไล่กวดเป้าหมายที่ไร้การมีส่วนร่วมของผู้คนในสังคมด้วยการเอาหลักสูตรครุศาสตร์ไปเป็นตัวประกันขนาดนั้น
นอกจากความรีบเร่งในการพัฒนาพื้นฐานการผลิตครูแล้ว ยังพบความเร่งด่วนในโครงการที่เรียกว่า “โครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น” โครงการดังกล่าวเคยรับเป็นโครงการที่รับสมัคตรจากนักศึกษา ชั้นปีที่ 5 แต่ปีการศึกษา 2561 ที่ผ่านมาโครงการดังกล่าวได้ปรับเปลี่ยนใหม่โดยให้ดำเนินการคัดเลือกจากระดับมัธยมศึกษาที่จะสอบเข้ามหาวิทยาลัย และนักศึกษาชั้นปีที่ 1 – 5 รวดเดียวครบทั้งแผง ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมีข้อวิจารณ์ว่า โควต้าที่มหาวิทยาลัยต่างๆ ได้ไปนั้นไม่เป็นธรรม เกณฑ์ไม่เหมาะสม นักเรียนในบางภูมิลำเนาต้องเดินทางข้ามถิ่นเพื่อไปศึกษา[10] ขณะที่ผลการคัดเลือกของนักศึกษาระดับมัธยมศึกษาก็ไม่เข้าเป้านั่นคือได้จำนวน 2,874 คนจากที่ต้องการ 4,156 คนใน 35 สาขาวิชา เพราะนักเรียนไม่แน่ใจเรื่องคุณสมบัติที่เข้มงวดและความไม่แน่นอนต่างๆ[11] เช่นกันผู้มีอำนาจตัดสินใจในการบริหารจะรีบร้อนไปใยกับเรื่องใหญ่ที่จะส่งผลกว้างต่อสังคมเช่นนี้?
อำนาจนิยมกับการมัดมือชกเพื่อเปลี่ยนแปลง
ความรีบร้อนและลนลานของผู้มีอำนาจรัฐ อาจตั้งอยู่บนข้อสันนิษฐานหนึ่งที่ว่า การใช้ยาแรงกับวงการผลิตครูเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และยาแรงนี้รัฐบาลประชาธิปไตยมิอาจทำได้ เพราะจะไปขัดผลประโยชน์กับคนจำนวนมากที่จะเป็นฐานเสียงให้กับพรรคการเมือง ดังที่มีข้อวิจารณ์ว่า จาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการสมัยยิ่งลักษณ์ เคยคิดจะปลดล็อกตั๋วครู แต่ถูกกระแสต่อต้านจากครูในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ข้อวิจารณ์เชื่อว่า ในสมัยรัฐประหารนั้นไม่ต้องพึ่งฐานคะแนน[12] ในสังคมการเมืองไทยตั้งแต่รัฐประหาร 2490 เป็นต้นมา วงจรอุบาทว์ที่ทหารโค่นล้มอำนาจรัฐบาลพลเรือนมีอยู่อย่างสม่ำเสมอจนพบว่า ความพยายามเผด็จอำนาจของฝ่ายทำนโยบายสาธารณะมักใช้โอกาสรัฐบาลรัฐประหาร รัฐบาลเผด็จการครึ่งใบผลักดันวาระของตนอยู่เสมอ
แวดวงการศึกษาเป็นปัญหาหนักอกที่ทุกฝ่ายพ้องกันในภาพรวมว่ามีปัญหาจริง เป็นเรื่องใหญ่ที่ถกเถียงกันมานาน และพยายามอัดนโยบายแก้ปัญหาในหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มเงินเดือนครู การเปลี่ยนหลักสูตร การใส่โปรแกรมพัฒนาครูและโรงเรียน แต่กลายเป็นว่าจนถึงพ.ศ. ปัญหาก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขให้บรรลุผลสำเร็จ กรณีนี้ต้องแยกออกเป็นสองประเด็นคือ หลักการของนโยบายและกระบวนการทางการเมือง แน่นอนว่าไม่มีสูตรสำเร็จในการแก้ไขปัญหาการศึกษาไทย แต่สิ่งที่ขาดอย่างมากก่อนที่จะหาคำตอบ ก็คือ ระดับของการรับฟังปัญหา การแยกแยะ และจัดระบบเพื่อหาทางออกร่วมกัน ผู้เขียนมีโอกาสพบเห็นงานวิจัยการศึกษาจำนวน พบว่าเป็นวิจัยที่มุ่ง "แก้ปัญหา” พร้อมคำตอบที่มีอยู่แล้วอย่างสำเร็จรูป โดยมิได้ให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์สภาพปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างมากพอ ทั้งที่โจทย์วิจัยมิได้มุ่งไปที่ มิติความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา, มานุษยวิทยา-สังคมวิทยาการศึกษาในสถานศึกษา, เศรษฐศาสตร์การเมืองในนโยบายการศึกษา ฯลฯ ที่งานวิจัยควรจะมีลักษณะข้ามศาสตร์ การทำงานร่วมกันระหว่างสายครุศาสตร์-ศึกษาศาสตร์กับสาขาวิชาต่างๆ ผู้เขียนไม่แน่ใจว่า หลักการทางนโยบายมันเกิดจากการวิจัยที่เข้มแข็งมากเท่าใด เมื่องานวิจัยที่รัฐสนับสนุนจำนวนมากเน้นเป้า และผลสัมฤทธิ์ มากกว่าวิจัยไปที่พื้นฐานของปัญหาที่มันเกิดขึ้น
ที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ กระบวนการทางการเมือง หากไร้ซึ่งกระบวนการนี้แล้ว นโยบายที่สวยหรูอาจจะมาจากที่ไหนก็ได้ ใครก็ได้ และยิ่งในบริบทสังคมไทย ช่วงที่สุกงอมที่สุด และเหมาะจะผลักดันความหวังดีที่สุดก็คือ การทำงานภายใต้ระบอบเผด็จการที่ขับเคลื่อนด้วยการทำงานแบบอำนาจนิยมที่ใช้การสั่งการ บังคับบัญชา ชี้นำ มากกว่าจะรับฟังและประนีประนอม อย่างไรก็ตาม อาจกล่าวได้ว่าภายใต้การเปลี่ยนแปลงด้านการศึกษา เรายังไม่มีขบวนการทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นภาคประชาชน หรือพรรคการเมืองที่สร้างการรณรงค์เพื่อความเปลี่ยนแปลง สังคมการศึกษาจึงกลายเป็นเรื่องของเทคโนแครต เจ้ากระทรวง รัฐบาล (ที่อาจไม่ใช่เผด็จการก็ได้) สิ่งที่พรรคไทยรักไทย-เพื่อไทยและรัฐบาลที่ผ่านมาขาดอย่างยิ่งคือ การสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในด้านการศึกษาเพื่อสร้างข้อตกลงร่วมกัน อย่างไรก็ตามการกล่าวเช่นนี้อาจเป็นการไม่ให้เกียรติความพยายามที่ผ่านมาอยู่บ้าง เช่น นโยบายหลักสูตรชุมชน หลักสูตรท้องถิ่นที่เปิดช่องให้ แต่สุดท้ายกลับไม่ประสบความสำเร็จเพราะส่วนน้อยที่ทำจากท้องถิ่นจริงๆ ยังเป็นการสร้างหลักสูตรที่ยึดโยงกับศูนย์กลางอำนาจอยู่และที่แย่กว่านั้นก็คือ ข้อสอบดันเป็้นข้อสอบกลางที่กระทรวงนำมาใช้วัดผลซึ่งเป็นสิ่งที่ขัดกันอยู่ดี
กระนั้นสิ่งที่น่าจะเป็นคือ ความเคลื่อนไหวขนาดใหญ่ในการปฏิรูปหากจินตนาการไม่ออก กรุณานึกถึงขบวนการธงเขียวที่ร่วมกันร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ปี 2540 ขึ้นมา และที่ขาดไม่ได้เลยคือ การดึงเอา “ชุมชน” ที่อยู่ล้อมรอบสถานศึกษา “ชุมชน” ที่เป็นที่ตั้งสถานศึกษาเข้ามามีส่วนได้ส่วนเสียกับนโยบาย ที่ผ่านมาชุมชนเป็นเพียงหน่วยพื้นที่ที่รองรับนโยบายของรัฐทั้งการเมืองการปกครอง และการศึกษา ชุมชนที่อยู่ใกล้ชิดกับโรงเรียนอย่างมากในฐานะกลุ่มผลประโยชน์อย่างสมาคมครูผู้ปกครองที่จะเป็นปากเสียงให้กับนักเรียน ก็กลับเป็นพื้นที่ที่เพิ่มอำนาจให้กับโรงเรียนมากกว่าจะใส่ใจจัดความสัมพันธ์ที่เป็นธรรมให้กับสมาชิกในชุมชน การศึกษาและการปฏิรูปจึงมิใช่เรื่องหยาบๆ ที่คิด และทำกันคนโดยคนไม่กี่คน นอกจากนั้นยังควรควรเปิดโอกาสให้ครูและผู้บริการโรงเรียนได้มีส่วนร่วมวางแผน ดำเนินการและทบทวนความเปลี่ยนแปลงที่เกี่ยวข้องกับแวดวงการศึกษา มากกว่าที่จะให้ครูถูกเลี้ยงให้เชื่องในระบบทำหน้าที่แบบไม่สามารถมีปากมีเสียงได้อย่างเช่นทุกวันนี้ ความจริงที่ว่าครูและผู้บริหารของโรงเรียนเองเป็นกลุ่มคนที่รับรู้ถึงปัญหา เผชิญกับปัญหาโดยตรง แต่ไม่มีเวทีที่จะสามารถถ่ายทอดเรื่องราวได้รวมถึงไม่สามารถที่จะพูดได้โดยตรง[13] แนวทางการปฏิรูปการศึกษายังคงไม่ใจกว้างพอที่จะยอมรับฟังข้อเสนอจากหลายฝ่ายอย่างที่ควรจะกระทำ ไม่มีอัศวินม้าขาวที่จะมาเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาได้ในข้ามคืน
รัฐบาลเผด็จการที่กำลังทำอยู่อาจจะชนะศึกในการเปลี่ยนนโยบายการศึกษาตาม Road Map ที่เขาอยากได้ แต่รัฐบาลเช่นนี้ผู้เขียนขอปรามาสว่าจะไม่สามารถเอาชนะสงครามที่ยิ่งใหญ่กว่าในนาม “ปฏิรูปการศึกษา” ได้.
ลำดับการเถลิงอำนาจปฏิรูปการผลิตครู 4 ปี
2560
มีนาคม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โยนหินเปิดสอบกว้างจากทุกสาขาเพื่อบรรจุเป็นข้าราชการครูในตำแหน่ง “ครูผู้ช่วย” ได้รับแรงต่อต้านอย่างมากในช่วงแรก
กรกฎาคม ที่ประชุมคุรุสภามีมติเห็นชอบให้ผลิตครูในหลักสูตร 4 ปี (ร่วมกับ 5 ปี)
พฤศจิกายน รื้อระบบโครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น จัดทำและรับสมัครอย่างเร่งด่วน2561 2561
พฤศจิกายน รับสมัครนักศึกษาใหม่ TCAS รอบ 1 ปีการศึกษา 2562
(ตามหลักการแล้ว หลักสูตรครุศาสตร์ฯที่จะเปิดรับนักศึกษาจะใช้หลักสูตรที่กำลังปรับปรุงอยู่นี้ตามกำหนดการเดิมก่อนจะถูกบีบให้ปรับเป็นหลักสูตร 4 ปี)
แผนการเถลิงอำนาจปฏิรูปการผลิตครู 4 ปี
2561
ธันวาคม คุรุสภาจะปรับปรุงแก้ไขระเบียบที่เกี่ยวข้องกับหลักสูตร 4 ปี ให้แล้วเสร็จ คณะที่สกอ.จะเป็นผู้จัดทำมคอ.1 หลักสูตรครูศาสตร์ 4 ปี
2562
มกราคม เปิดประชาพิจารณ์ มคอ.1 หลักสูตรครูศาสตร์ 4 ปี
13 กุมภาพันธ์ ประกาศใช้มคอ.1
14 กุมภาพันธ์ หลังจาก มคอ.1 มีผลบังคับใช้แล้ว หลักสูตรทั่วประเทศสามารถประกาศใช้หลักสูตรครู 4 ปี
24 กุมภาพันธ์ การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ตามที่รัฐบาลให้สัมภาษณ์)
[1] บทความนี้ผู้เขียนได้รับข้อมูลและข้อเสนอที่น่าสนใจจากมิตรสหายสายครุศาสตร์อย่างน้อย 3 ท่าน แต่เพื่อความปลอดภัยจากการคุกคามทางการเมืองที่เป็นไปได้จึงขอไม่ระบุชื่อมิตรสหายเหล่านั้นในตอนนี้
[2] โดยการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดการสอบครูผู้ช่วยว่า “ผู้ที่ไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู หรือหลักฐานที่ใช้แสดงในการประกอบวิชาชีพครูก็สามารถสมัครสอบแข่งขันเพื่อเข้าบรรจุและแต่งตั้งเป็นข้าราชการครูและบุคคลทางการศึกษาได้” ดูรายละเอียดจากข่าว เดลินิวส์ออนไลน์. "เปิดรับปริญญาตรีทุกสาขา สอบบรรจุ"ครูผู้ช่วย" ". สืบค้นเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2561 จาก https://www.dailynews.co.th/education/563020 (21 มีนาคม 2560)
[3] ข่าวสดออนไลน์. "ยอมถอย!ศธ.มีมติร่วมเปิดสอบครูให้ 36 สาขาต้องมีใบอนุญาตฯ อีก 25 สาขามี-ไม่มีสอบได้". สืบค้นเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2561 จาก https://www.khaosod.co.th/breaking-news/news_273590 (29 มีนาคม 2560)
[4] ผู้จัดการออนไลน์. "ปลดล็อกตั๋วครู ดีต่อเด็กแต่ครูไม่ชอบ". สืบค้นเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2561 จาก https://mgronline.com/daily/detail/9600000030767 (26 มีนาคม 2560)
[5] คม ชัด ลึก ออนไลน์. "กลับมาผลิตครู4ปีสร้างโอกาสเท่าเทียม". สืบค้นเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2561 จาก http://www.komchadluek.net/news/edu-health/285823 (3 กรกฎาคม 2560)
[6] ไทยรัฐออนไลน์. "ถกเถียงปรับหลักสูตรครู 4 ปี หรือ 5 ปี ยังไม่ลงตัว ส่อ ผลิต 2 ระบบ". สืบค้นเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2561 จาก https://www.thairath.co.th/content/1003870 (13 กรกฎาคม 2560)
[7] เดลินิวส์ออนไลน์. "ราชภัฏเล็งผลิต"ครูพรีเมี่ยม"ปี 62". สืบค้นเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2561 จาก https://www.dailynews.co.th/education/643692 (15 พฤษภาคม 2561)
[8] ข่าวสดออนไลน์. "ศธ.ปรับหลักสูตรครู มหาวิทยาลัยราชภัฏ เหลือ 4 ปี เริ่มปีการศึกษา 2562 นี้". สืบค้นเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2561 จาก https://www.khaosod.co.th/around-thailand/news_1699928 (17 ตุลาคม 2561)
[9] ข่าวสดออนไลน์. " ‘หมออุดม’ ตั้งคณะทำ หลักสูตรครู 4 ปี ราชภัฏ 30 แห่ง เด้งรับ พร้อมสร้าง ‘ครูคุณภาพเป็นเลิศ’ ". สืบค้นเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2561 จาก https://www.khaosod.co.th/special-stories/news_1771300 (2 พฤศจิกายน 2561)
[10] มติชนออนไลน์. "รับครูพัฒนาท้องถิ่น2.7หมื่นคน จบเกรด3.00บรรจุภูมิลำเนาเดิมทันที". สืบค้นเมื่อ 9 พฤศจิกายน 2561 จาก https://www.matichon.co.th/education/news_738661 (21 พฤศจิกายน 2560)
[11] Sangfans.com. ""สรุปจำนวนผู้ที่ได้รับการคัดเลือก! โครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น สำหรับน้องม.6 อาชีวะ และเทียบเท่าปีการศึกษา 2561" ". สืบค้นเมื่อ 9 พฤศจิกายน 2561 จาก https://www.sangfans.com/scholarshipkrum661/ (21 พฤศจิกายน 2560)
[12] ผู้จัดการออนไลน์. "ปลดล็อกตั๋วครู ดีต่อเด็กแต่ครูไม่ชอบ". สืบค้นเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2561 จาก https://mgronline.com/daily/detail/9600000030767 (26 มีนาคม 2560) กรุณาดูข่าวเกี่ยวกับจาตุรนต์และตั๋วครูได้ที่ สทศ. "กลุ่มนิสิตนักศึกษาฯจี้ "จาตุรนต์" เคลียร์กรณี "ตั๋วครู". สืบค้นเมื่อ 9 พฤศจิกายน 2561 จาก http://www.niets.or.th/th/content/view/627 (27 กันยายน 2556)
[13] ประเด็นเรื่องการมีส่วนร่วมของครูนี้ผู้เขียนได้มาจากเพื่อนอาจารย์ท่านหนึ่งที่มีประสบการณ์การสอนและช่วยสะท้อนให้เห็นมุมมองปัญหาในโรงเรียนให้กับผู้เขียนได้กระจ่างในหลายครั้ง
| ['บทความ', 'การเมือง', 'การศึกษา', 'เรียนครู 4 ปี', 'รัฐบาลเผด็จการ', 'ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์'] |
https://prachatai.com/print/79526 | 2018-11-09 13:59 | ใบตองแห้ง: ตู่หน้าบางสังคมโง่ | ลุงตู่ของคนชั้นกลางในเมืองเนี่ย เป็นคนมีเสน่ห์นะ โดยเฉพาะเวลาพูดจา แสดงกิริยาท่าทาง ไม่ว่าตอนอารมณ์ดี หรือหน้านิ่วคิ้วขมวด ยังกะปวดหน่วง ล้วนเรียกเรตติ้งจากทางบ้าน กดไลก์กดแชร์กันกระฉูด คนรักก็จะรู้สึกว่า ที่ท่านบ่นท่านยัวะ เพราะความจริงใจ แบกประเทศไว้หลังอาน คนชังก็สนุกสนาน กดหัวร่อน้ำหูน้ำตาไหล เผด็จการที่ไหนทำได้อย่างนี้มั่ง
เสียดายพูดคืนวันศุกร์ ไม่ค่อยเป็นธรรมชาติ โควตคำพูดคมๆ ลงเฟสบุ๊ค ก็เหมือนไม่ใช่ตัวท่าน มันต้องตอนตอบโต้นักข่าว สัญจรพบชาวบ้าน หรือปราศรัยให้โอวาท ถึงจะมันส์ อย่างที่พูดกับ 500 นักวิจัยเมื่อวันจันทร์ ฟังจากเทปข่าว ก็หัวร่อกันครื้นเครง
ตอนที่ฟังแล้วสะใจสุดๆ คือลุงบ่นสังคมไทยไร้สาระ สนใจเรื่องไม่เป็นเรื่อง แทนที่จะฟังลุงคืนวันศุกร์ ก็มัวดูละครแย่งมรดกพันล้าน เอาใจช่วยพระนาง ทั้งที่ตัวเองไม่มีสักบาท แต่ฟังละครด่ากันแล้วมีความสุข
หรือเฮโลสาระพาตั้งตัวเป็นศาล เป็นอัยการ เป็นหมอ ตัดสินเรื่องนั้นเรื่องนี้ รู้ดีไปหมด ทนายออกทีวีทุกช่อง เช้า กลางวัน เย็น ชี้นำคดี นี่เห็นด้วยจริงๆ นะ ใครถูกใครผิดสมัยนี้ สำคัญที่สร้างกระแส ทนายดังปั่นดราม่าออกสื่อ ดึงสังคมคล้อยตาม พอลูกขุนออนไลน์ตัดสิน ก็ได้เปรียบตั้งแต่ยังไม่ขึ้นศาล แบบลอตเตอรี่ 30 ล้าน เจ๊บ้าบิ่นฟังแล้วซึ้ง มาให้กำลังใจเลย
ลุงตู่บ่นสังคมไทยเหลวไหล ไร้สติ ไม่เหมือนต่างประเทศสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ฟังทีไรสะใจทุกที ผมก็คนรุ่นหลังท่านไม่กี่ปี โตมากับนิตยสารชัยพฤกษ์เหมือนกัน โคตรรำคาญสังคมสมัยนี้ มีแต่เรื่องไร้สาระ เบาปัญญา ขายข่าวคลิกเบตดาราดราม่าท่วมโลกดิจิตอล ไม่สนใจชาติบ้านเมือง สนใจแต่เรื่องคนถูกหวย 90 ล้าน ดาราแย่งผัวหย่าเมีย ไม่งั้นก็เปิดวาร์ป ใส่ชุดว่ายน้ำ ครางชื่อกันทั้งเมือง
สังคมสมัยนี้เบาปัญญาถึงขั้นปล่อยรถติดมาหลายทศวรรษ คิดวิธีแก้ไม่ออก ต้องรอให้ลุงตู่ไปทำพิธีเปิดอุโมงค์ตอน 08.30 เช้าวันจันทร์ กลับมาจึงปิ๊งไอเดียว่าต้องสั่งตำรวจอยู่ในป้อมเท่านั้น อย่าออกมาโบกรถ จึงจะแก้รถติดได้
คนจนสมัยนี้ก็จนเพราะไม่รู้จักพัฒนาตัวเอง ต้องให้สั่งให้สอน ยางพาราสามกิโลร้อยก็ตะบี้ตะบันขายกันอยู่นั่น ไม่รู้จักไปขายดาวอังคาร ไม่รู้จักปลูกหมามุ่ยมั่ง ปลูกมะพร้าวมั่ง ปาล์มน้ำมันก็บริหารจัดการไม่เป็น ราคาตกต่ำ ต้องให้ทหารไปคุมโรงงาน
การที่ลุงบ่นสังคมเบาปัญญาจึงเป็นเรื่องน่าทึ่ง สวนทฤษฎี “เผด็จการวิทยา” เพราะเผด็จการมีแต่อยากให้สังคมโง่ลง เช่นบังคับให้คนท่องอาขยาน เอาทหารมาฝึกวินัย สอนให้รักชาติบ้านเมือง ให้เป็นคนดีมีศีลธรรม โดยไม่รู้จักตั้งคำถาม โต้เถียง คิดต่าง เพื่อสร้างพุทธิปัญญา เผด็จการมีแต่อยากให้คนคิดตาม เชื่อฟัง เพื่อที่ทหารจะปกครองได้ง่ายๆ โดยเฉพาะสังคมตื้นเขิน วูบวาบ ฟูมฟาย อ่อนเหตุผล ยิ่งง่ายต่อการสร้างความนิยม
เพิ่งเห็นลุงตู่นี่แหละ เป็นเผด็จการสวนทฤษฎี อยากให้คนคิดเป็น คิดสร้างสรรค์ บ่นสังคมเบาปัญญา อยากให้คนรุ่นใหม่ นักวิจัย สนใจร่วมกันพัฒนาชาติบ้านเมือง
แต่เอ๊ะ พอคนรุ่นใหม่ออกมาเรียกร้อง “อยากเลือกตั้ง” ไหงโดนจับกุมคุมขัง บ่อนทำลายความมั่นคง ใครวิพากษ์วิจารณ์ ใครเห็นต่าง แค่กดไลก์กดแชร์ก็ยังโดน พ.ร.บ.คอมพ์
ถามจริง สังคมโง่เพราะใคร ทำไมมีแต่สื่อขายข่าวดาราดราม่า ถ้าเชิญนักวิชาการผู้มีสติปัญญามาออกทีวี จะขัดประกาศ คสช.ไหม
ที่ลุงพูดทั้งหมด คืออยากให้คนรุ่นใหม่ ให้นักวิจัย คิดเป็นแบบหุ่นยนต์ เหมือนในแร็พไทยแลนด์ 4.0 ช่วยกันสร้างสรรค์วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี โดยไม่ต้องมีสติปัญญาทางสังคมการเมือง อย่ายุ่งเรื่องอำนาจ ประชาธิปไตย ทำมาหากินใช้ ชีวิตชิกๆ ชิลๆ ไป ภายใต้การนำของเทคโนแครตอำนาจนิยม อย่าสนใจความไร้สติไร้เหตุผลทั้งหลายที่ “ประเทศกูมี”
เพราะถ้าคิดเป็นจริงๆ แล้วมีคนกล้ายกมือถาม มันจะยุ่ง ลุงครับ/คะ ที่ลุงบอกว่าไม่หน้าด้าน ถ้าลุงได้เป็นนายกฯ หลังเลือกตั้ง จากการยกมือของ 250 ส.ว. คสช.ตั้ง จากเสียง ส.ส. พรรคพลังประชารัฐ ของสี่รัฐมนตรี จากการเลือกตั้งใต้ ม.44 ไม่ยอมให้ต่างชาติสังเกตการณ์ อย่างนี้วัฒนธรรมไทยเขาเรียกว่า หน้าบางหรือ
อย่าไปบ่นสังคมเบาปัญญาเลย ถ้าไม่เบาปัญญา รัฐประหารจะอยู่สี่ปีกว่าได้อย่างไร ถ้าสังคมไทยโง่จริง ก็เป็นเรื่องดีกับผู้มีอำนาจ เพียงระวัง สังคมแกล้งโง่เพราะยังแสดงออกไม่ได้เท่านั้นเอง
เผยแพร่ครั้งแรกใน: ข่าวสดออนไลน์ www.khaosod.co.th/hot-topics/news_1794598 [1]
| ["'ใบตองแห้ง' ออนไลน์", 'การเมือง', 'ใบตองแห้ง', 'ประยุทธ์ จันทร์โอชา'] |
https://prachatai.com/print/79529 | 2018-11-09 14:29 | คุยกับ 2 คิวเรเตอร์งาน 'ไข่แมว x กะลาแลนด์' ดุลยภาพของศิลปะ-ล้อเลียน-วิจารณ์ | งาน ‘Khai Maew X: Kalaland’ หรือ ‘ไข่แมว x กะลาแลนด์’ คือนิทรรศการศิลปะครั้งแรกของ ‘ไข่แมว’ เพจการ์ตูนล้อการเมืองชื่อดังที่มีคนติดตามเกิน 300,000 คนในเพจเฟสบุ๊ก ด้วยลายเส้นล้อเลียนบุคคลและสถานการณ์การเมืองอย่างคมคายมีอารมณ์ขันเป็นเอกลักษณ์ด้วยการ์ตูนแก๊ก 4 ช่องจบไร้คำพูด
ซ้าย บัณฑิต, ขวา ลลิตา
แต่กว่าจะออกมาเป็นนิทรรศการได้ นอกจากตัวศิลปินไข่แมวที่ประชาไทสัมภาษณ์ไปก่อนหน้านี้แล้ว ยังมี 2 คิวเรเตอร์ผู้อยู่เบื้องหลังการจัดนิทรรศการ ตั้งแต่ขั้นริเริ่มไอเดีย วางคอนเซปต์ ร่วมคิดงาน ร่วมเลือกผลงาน นั้นคือ บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ลลิตา หาญวงษ์ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
คุยกับ ‘ไข่แมว’ ในงาน 'ไข่แมว x : กะลาแลนด์': “ถ้าถึงวันที่ไม่มีเผด็จการก็อาจไม่มีไข่แมว” [1]
'ไข่แมว' กลับมาแล้ว [2]
ผลโหวตเฟสบุ๊ก 2017 'ไข่แมว' แชมป์ ตามด้วย คาราโอเกะชั้นใต้ดิน, สมศักดิ์ เจียมฯ [3]
ประชาไทชวนคิวเรเตอร์ทั้งสองคนคุยถึงจุดเริ่มต้น ไอเดีย คอนเซปต์ของงาน และคำถามคาใจว่า นอกจากเป็นการ์ตูนล้อเลียนการเมืองที่มีอิทธิพลสูงต่อสังคมโดยเฉพาะโลกโซเชียล การนำไข่แมวออกมาสู่งานนิทรรศการนั้นช่วยสร้างอิมแพคอะไรเพิ่มเติม และลายเส้นน่าเอ็นดูแบบนี้จะทำให้ภาพลักษณ์ของเผด็จการดูน่ารักไปรึเปล่า
มาเป็นคิวเรเตอร์ไข่แมวได้อย่างไร แล้วคอนเซปต์และไอเดียคืออะไร?
บัณฑิต: โปรเจคนี้คิดกันมานานแล้วกับ อ.ลลิตา ผมทำงานเป็นคิวเรเตอร์ให้กับศิลปินหลายคน แต่ก็ไม่ทำเป็นประจำ เพียงแต่รอบหลายปีนี้สถานการณ์การเมืองเปลี่ยนแปลง ในฐานะที่เป็นนักรัฐศาสตร์และคนที่สนใจเรื่องศิลปะ ตัวงานศิลปะของไข่แมวซึ่งเป็นการ์ตูนนั้นมีศักยภาพของการเล่าเรื่องสิ่งที่สัมพันธ์กับการเมืองร่วมสมัย ไข่แมวมีองค์ประกอบบางอย่างที่ทำให้คนหัวเราะได้ ทำให้คนฉุกคิดได้
มีช่วงที่เขาหายไปช่วงหนึ่ง ตอนนั้นก็ขาดการติดต่อ พอเขากลับมาเราก็ได้คุยกันอีกครั้ง ใช้เวลาคุยและพัฒนากันพอสมควร ทั้งคอนเซปต์งาน สถานที่ จะแสดงยังไง มีภาพปริ้นท์ มีหุ่น มีภาพเพ้นท์ใหญ่ มีตุ๊กตา ค่อยๆ พัฒนากันมาตามลำดับ
อันหนึ่งที่ไข่แมวมีคืออารมณ์ขัน เลยทำให้งานมันออกมาสนุก มีของที่ระลึกที่ให้แฟนๆ ไข่แมวได้สัมผัสจริงๆ ไม่ใช่อยู่แค่ในโลกไซเบอร์
ในฐานที่เป็นคิวเรเตอร์ผมคิดว่ามีหลายประเด็นที่ชวนให้คนดูคิดต่อได้ เป็นการดึงเอาบริบทของไข่แมวที่อยู่ในโซเชียลมีเดียออกมาอยู่ในแกลลอรี่ ให้มันมีคุณค่าใหม่ทางศิลปะ
คอนเซปต์กะลาแลนด์ก็ตรงตัว ประตูข้างหน้าทุกคนก็จะเจอกะลาใหญ่ครอบอยู่ การถูกครอบด้วยกะลามันก็มีความหมายว่าเพดานความคิด เพดานการแสดงออกมันถูกจำกัดด้วยอะไรบางอย่าง
ลลิตา: เราเป็นแฟนคลับ เราชอบงานไข่แมว เราชอบความคมคายของเขา มีโอกาสได้รู้จักศิลปินเป็นการส่วนตัว เราก็คุยกับอ.บัณฑิตว่าอยากทำนิทรรศการ เอางานของไข่แมวขึ้นมา เพราะเขาก็เปิดเพจมา 3-4 ปีแล้ว แต่ไข่แมวก็ยังไม่มีนิทรรศการของตัวเอง เราต้องยอมรับว่าไข่แมวมีส่วนในการขับเคลื่อนสังคม เป็นศิลปินที่มีอิมแพคต่อวิถีชีวิตของคนในสังคม คนบางกลุ่ม ค่อนข้างมาก
แล้วตัวศิลปินเองเขาก็เป็นคนทำฟิกเกอร์พวกนี้ขายอยู่แล้ว แล้วเราก็คิดกันว่าอยากให้คอนเซปต์มันมีความสนุกสนาน มีความป๊อป มีความเป็นการ์ตูน ซึ่งคนในรุ่นอายุ 20-30 ปี ก็โตมากับวัฒนธรรมการอ่านการ์ตูน ทั้งญี่ปุ่นทั้งอเมริกา
ไอเดียก็คือทำให้งานไข่แมวเป็นศิลปะ และมีความเป็นการเมืองระดับหนึ่ง ขณะเดียวกันเราก็ทรีตมันว่าเป็นงานศิลปะที่เข้าถึงได้ง่าย เมสเซจบางอันก็แรง แต่ด้วยความน่ารักมุ้งมิ้งของเขามันก็ทำให้งานไข่แมวเข้าถึงคนทุกกลุ่มได้
มันถึงเวลาแล้วที่งานของไข่แมวจะถูกทรีตเป็นงานศิลปะ มาอยู่ในแกลลอรี่ศิลปะอย่างจริงจัง แล้วโดยปกติเราจะเห็นงานไข่แมวทางออนไลน์ แต่พอมันปริ้นต์ออกมา เราจะเห็นงานศิลปะที่สวย
หมายความว่าถ้าไข่แมวอยู่ในแค่โลกโซเชียลจะไม่มีความเป็นศิลปะที่สมบูรณ์?
ลลิตา: ใช่ เวลาเราอยู่ในโลกออนไลน์ คนไม่ค่อยคิดว่าเขาเป็นศิลปิน คิดว่าเขาเป็นเซเลปออนไลน์ เหมือนเพจดังๆ อื่นๆ แต่พอเราเอาไข่แมวออกมาจากออนไลน์ เราจะเห็นตัวตนความเป็นศิลปินของเขาที่เพจอื่นๆ ในเฟสบุ๊กไม่ได้เป็นแบบนี้ เรามองว่ามันคือส่วนหนึ่งของการ์ตูนล้อการเมืองที่คนไทยเสพกันมาหลายสิบปี เพียงแต่ในบริบทสังคมปัจจุบัน การ์ตูนการเมืองแบบเดิมมันไม่เวิร์คแล้ว มันไม่ทำให้คนรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับการเมือง
ลลิตา หาญวงษ์ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
บัณฑิต: อาจพูดได้ว่างานไข่แมวเป็นป๊อปคัลเจอร์ ในโซเชียลมีเดียไข่แมวมีชีวิตทั้งเชิงการเมือง สังคม วัฒนธรรม คนฟอลโล่วหลายแสน แต่ชีวิตของไข่แมวนอกโซเชียลมีเดียก็เป็นการทดลองของพวกเราว่าจะเวิร์คไหม การให้คนได้สัมผัสกับไข่แมวในโลกจริง ไม่ได้มีแค่การ์ตูนสี่ช่อง แต่มีภาพเพ้นท์ขนาดใหญ่ มีหุ่น มีตุ๊กตา ของที่ระลึกที่คนซื้อได้ สัมผัสได้จริง ก็เป็นสิ่งที่อยากทดลองทำ
แล้วชีวิตทางสังคมการเมืองของไข่แมวนั้นมีพื้นที่และช่วงเวลาของเขา ถ้าเลยช่วงเวลานี้ สถานการณ์บ้านเมืองเปลี่ยน ไข่แมวก็อาจจะขยับไปอยู่อีกจุดหนึ่งก็ได้ ตอนนี้จึงอยากให้เขามีพื้นที่นอกโซเชียล แล้วเพจไข่แมวตอนนี้ก็เป็นนอนคอมเมอร์เชียล คือไม่ใช่การพาณิชย์ มีอิสระทางคอนเทนต์ เป็นตัวอย่างที่ดีของการสร้างดุลยภาคระหว่างศิลปะ การล้อเลียน การตั้งคำถาม และเป็นตัวแทนในการวิพากษ์วิจารณ์เผด็จการ
ไข่แมวในมุมของคุณ?
บัณฑิต: ผมคิดว่าตัวไข่แมวเขาอยากจะออกมาสื่อสารบางอย่าง เพียงแต่เขาออกมาในฐานะมนุษย์ไม่ได้ เขายังต้องการเป็นคนที่ไม่เปิดเผยชื่อ อยากอยู่ในโซเชียลมีเดีย อยากเล่าอยากทำงานที่เขารัก ไข่แมวในด้านหนึ่งก็คือคนที่อยากจะใช้ชีวิตปกติแบบพวกเรานี่แหละ เพียงแต่ประเด็นที่เขาเลือกซึ่งเป็นประเด็นเรื่องความเห็นต่างทางการเมืองในท่ามกลางอำนาจที่ยังไม่เป็นของพลเมือง ก็ทำให้ไข่แมวต้องอยู่ในความเป็นโนบอดี้ เป็นแอนอนิมัส สำหรับผมมองว่าในเชิงการ์ตูนการเมือง การวิพากษ์สังคม ไข่แมวก็น่าจะเป็นอันดับต้นๆของประเทศไทย
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ลลิตา: เขาเป็นศิลปินคนหนึ่งที่รักการทำงานศิลปะในแบบที่เขาถนัด และเป็นคนที่เนิร์ดเรื่องการ์ตูนมาก เป็นพหูสูตรคนหนึ่ง เติมโตมากับวัฒนธรรมการอ่านการ์ตูน เราอาจจะคุยงานกับเขาเป็นหลัก ด้านอื่นอาจจะไม่ได้รู้จักเขามาก แต่เรามองว่าเขาเป็นศิลปินร่วมสมัยที่สำคัญมากคนหนึ่งในไทย
การนำเผด็จการมาล้อเลียนทำให้ดูน่ารัก มองอีกมุมหนึ่งมันคือการทำให้เขาไม่น่ากลัวและส่งผลดีต่อเขาแทนหรือไม่?
ลลิตา : สิ่งเดียวที่น่ารักของการ์ตูนลุงตู่คือรูปลักษณ์น่ารัก แต่ถ้าเราดูแมสเซสหรืออ่านสิ่งที่เขาพยายามจะสื่อ เราจะรู้เลยว่ามันมีแมสเซสที่โหดสัส แข็งกร้าว และวิพากษ์วิจารณ์ตัวผู้นำอย่างเผ็ดร้อน แต่การทำให้ท่านผู้นำเอย แจ๊คแม้วเอย กลายเป็นการ์ตูนที่น่ารักมันมีประโยชน์อยู่อย่างคือ เวลาคนเริ่มเสพการ์ตูนไข่แมวเขาจะมีอิมเพรสชั่นที่ เฮ้ย มันดูน่ารัก มันดูเข้าถึงได้ง่าย ในขณะที่ถ้าเป็นลายเส้นของนักวาดการ์ตูนสมัยเก่า เด็กๆ ปัจจุบันก็ไม่สามารถเข้าถึงได้แล้ว นั่นก็เป็นจุดแข็งของเขาอีกอย่างหนึ่ง
บัณฑิต: ผมคิดว่ามันเป็นศิลปะในการนำเสนอ เป็นเทคนิคการนำเสนอที่ทำให้การ์ตูนไข่แมวไม่โดนระดมด่า หรือโดนปิดเพจ หรือการแทรกแซงก็อาจจะน้อยกว่าเพจอื่นที่ตั้งขึ้นมาเพื่อต้านรัฐบาล
ผมคิดว่าในยุคนี้เราไม่สามารถบอกได้ว่านี่คือดำนี่คือขาวได้เต็มที่ตลอดเวลา การสร้างคอมม่อนกราวน์ระหว่างกลุ่มสีเสื้อ กลุ่มอุดมการณ์ทางการเมือง ที่ทำให้มาถึงจุดที่ทุกคนฟอลโล่วไข่แมวได้ โดยไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองถูกและอีกฝั่งผิดอยู่ตลอด
ไข่แมวได้กระตุกตั้งคำถามเรา แน่นอนว่าโน้มเอียงไปทางวิพากษ์วิจารณ์เผด็จการ ซึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าตอนนี้ประเทศเราปกครองด้วยเผด็จการรูปแบบหนึ่ง ที่มีคนประสบผลสะเทือนจากเผด็จการในรอบสี่ปีที่ผ่านมา แต่เราจะเห็นว่าสี่ปีที่ผ่านมาก็มีคนจำนวนไม่น้อยยังสนับสนุนเขาอยู่ การดำรงอยู่ของไข่แมวก็คือการดำรงอยู่ของเสียงสะท้อนและการวิพากษ์วิจารณ์รูปแบบหนึ่งด้วยเทคนนิคการล้อเลียน ซึ่งเผด็จการทุกชาติก็ถูกล้อเลียนหมด ไม่ใช่เรื่องแปลก จุดสำคัญคือมันสร้างบาลานซ์ สร้างความสามารถในการวิจารณ์ได้
อันนี้คือสาเหตุหนึ่งที่ผมมองไข่แมวไม่ใช่แค่การ์ตูนนิสต์ในโลกโซเชียลมีเดีย เขาคือศิลปินคนหนึ่ง เขามีความแยบยลในการนำเสนอ เขามีคอนเซปต์บางอย่างที่เขาต้องการส่งผ่านออกไป แล้วเสน่ห์ของมันก็คือการตีความ
การทำให้เผด็จการดูน่ารัก ในทางกลับกันทำให้กลุ่มผู้ชมก็มากขึ้น คนที่ไม่ชอบเผด็จการก็หัวเราะได้ในหลายๆ แก๊ก นั่นคือความสำเร็จของเขา โดยไม่ได้ข้ามไปสู่การด่าแบบไร้สติ นี่คือสิ่งที่ปรากฎในงานไข่แมวแทบทุกชิ้น และหลายคนก็ต้องไปดูว่ารูปนี้แจ๊คแม้วอยู่ตรงไหน อันนี้ก็เป็นเสน่ห์
ถ้าคุณจะวิจารณ์อย่างเดียว ใช้ความรุนแรงอย่างเดียว คุณอาจจะไม่มีชีวิตรอดให้ทำงานต่อก็ได้ รูปลักษณ์แบบนี้ทำให้เข้าถึงกลุ่มคนได้หลากหลาย อยู่ในจุดที่แชร์กันได้ แต่ถ้ามุ่งสร้างความเป็นอื่นให้กับอีกฝ่าย มันก็ยิ่งผลักทำให้ทุกอย่างวิจารณ์ไม่ได้
มาสคอตขนาดเท่าคนจริง
กะลายักษ์ระหว่างการติดตั้งผลงาน
Khai Maew X : Kalaland
งานผลงานศิลปะครั้งแรกของไข่แมว การ์ตูนนิสต์ชื่อดังที่มีบทบาทในการวิจารณ์สังคมการเมืองและวัฒธรรมไทยในความเงียบสี่ช่องที่มีทั้งความน่ารัก น่าชังและอารมณ์ขันแบบสายดาร์ค
7-22 พ.ย. 61 ที่ ARTIST+RUN [4]
ติดต่อสอบถามผู้จัดงาน บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
โทร 0994545955
รายละเอียดกิจกรรมเพิ่มเติม : Khai Maew X : Kalaland [5]
| ['สัมภาษณ์', 'การเมือง', 'วัฒนธรรม', 'นิทรรศการ', 'ไข่แมว', 'ไข่แมว x : กะลาแลนด์', 'Khai Maew X : Kalaland', 'ลลิตา หาญวงษ์', 'บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ', 'ศิลปะ', 'การ์ตูน'] |
https://prachatai.com/print/79530 | 2018-11-09 16:43 | อัยการสั่งฟ้องเพิ่มอีกเป็นคดีที่สอง 5 คนเครือข่ายเทพาค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน ข้อหา พ.ร.บ.ชุมนุมฯ | อัยการจังหวัดนาทวียื่นฟ้องคดีเพิ่มอีกเป็นคดีที่สอง 5 สมาชิกเครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน ต่อศาลจังหวัดนาทวี ความผิดฐานชุมนุมโดยไม่แจ้งและเคลื่อนย้ายการชุมนุมโดยไม่แจ้ง ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมฯ จากกรณีเดินเท้าไปยื่น จม. ร้องให้ยุติการสร้างโรงไฟฟ้าเทพา ต่อ พล.อ.ประยุทธ์ ระหว่างการประชุมครม.สัญจร เมื่อปี 60
ภาพจาก เฟสบุ๊กแฟนเพจ 'หยุดถ่านหินสงขลา [1]'
9 พ.ย.2561 ความคืบหน้าการดำเนินคดีเครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน ในความผิดฐานชุมนุมโดยไม่แจ้งการชุมนุม และเคลื่อนย้ายการชุมนุมโดยไม่แจ้ง ตามพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ จากกรณีการทำกิจกรรมเดินเท้าไปยื่นหนังสือเรียกร้องให้ยุติการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ระหว่างการประชุมครม.สัญจร เมื่อปี 2560 นั้น
ล่าสุดวานนี้ (8 พ.ย.61) เฟสบุ๊กแฟนเพจ 'หยุดถ่านหินสงขลา [1]' รายงานว่า บ่ายวันดังกล่าว อัยการจังหวัดนาทวียื่นฟ้อง เอกชัย อิสระทะ ดิเรก เหมนคร หมิด ชายเต็ม รอกีเยาะ สะมะแอ และอัยโยบ มุเซะ ในความผิดตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ต่อศาลจังหวัดนาทวี
โดย จำเลยทั้ง 5 คน ได้ยื่นหนังสือขอปล่อยตัวโดยไม่ใช่หลักประกัน ต่อมาในช่วงเย็นวันเดียวกัน ศาลอนุญาตให้ปล่อยตัว แต่ให้ทั้ง 5 คน สาบานตัวมาศาลตามนัด
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน [2] รายงานเพิ่มเติมคดีนี้ว่า เหตุสืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 24 – 27 พ.ย. 2560 เครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน ได้ทำกิจกรรมเดินเท้าจากอำเภอเทพาเพื่อไปยื่นหนังสือต่อพล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งเดินทางมาประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรในตัวอำเภอเมืองสงขลา เพื่อเรียกร้องให้ยุติการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา แต่ในช่วงบ่ายของวันที่ 27 พ.ย. 60 ชาวบ้านผู้ร่วมกิจกรรมได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร และฝ่ายปกครอง ร่วมกันเข้าสกัดกั้นและใช้กำลังเข้าจับกุม จนนำมาสู่การฟ้องร้องดำเนินคดีกับชาวบ้านเครือข่าย จำนวน 17 คน (หนึ่งในจำนวนนี้เป็นเยาวชนอายุ 16 ปี) ในหลายข้อหา ทั้งความผิดตามพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ, ข้อหาร่วมกันทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงาน, ข้อหากีดขวางการจราจร, ข้อหาพกพาอาวุธ (ไม้คันธง) ไปในทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต
คดีนี้ต่อมามีการสั่งฟ้องต่อศาลจังหวัดสงขลา และมีการนัดสืบพยานฝ่ายโจทก์และจำเลย ใช้เวลากว่า 5 เดือน จนเสร็จสิ้นไปเมื่อเดือนตุลาคม 2561 และศาลได้นัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 27 ธ.ค. 2561 เวลา 9.00 น.
อัยการสั่งฟ้อง 16 ผู้ต้องหาเครือข่ายเทพาไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน [3]
114 นักวิชาการใต้ ประณามรัฐสลายการชุมนุมกลุ่มค้านโรงไฟฟ้าเทพา [4]
ระหว่างการถูกดำเนินคดีดังกล่าวอยู่ ในช่วงเดือนตุลาคม 2561 ที่ผ่านมา พนักงานสอบสวนสภ.เทพา ได้มีการออกหมายเรียกผู้ต้องหา 5 ราย ข้างต้น ให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาใหม่อีก โดยสามรายในจำนวนนี้ ได้แก่ เอกชัย ดิเรก และอับโยบ ได้ถูกกล่าวหาดำเนินคดีในคดีแรกที่ศาลจังหวัดสงขลามาแล้ว
สำหรับคดีใหม่นี้ มีพ.ต.อ.วีรวุธ สันนะกิจ ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรเทพาเป็นผู้กล่าวหา ในความผิดฐานร่วมกันจัดการชุมนุมสาธารณะโดยไม่แจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้งก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่ายี่สิบสี่ชั่วโมง และเดินขบวน หรือเคลื่อนย้ายการชุมนุมโดยไม่แจ้งล่วงหน้าต่อหัวหน้าสถานีตำรวจซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบดูแลการชุมนุมสาธารณะ ตามพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558
ในชั้นสอบสวนทั้งห้าคนให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ก่อนที่เมื่อวันที่ 5 พ.ย. 61 พนักงานสอบสวนสภ.เทพา ได้นัดส่งตัวผู้ต้องหาทั้งห้าคนให้อัยการ ผู้ต้องหาทั้งห้าได้ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่ออัยการ โดยขอให้อัยการสอบสวนพยานเพิ่มเติมอีกสี่คน และขอให้พิจารณามีคำสั่งไม่ฟ้องคดี เนื่องจากผู้ต้องหาเป็นผู้ปกป้องชุมชน มิได้กระทำความผิดหรือมีเจตนากระทำผิดตามที่ถูกกล่าวหา การดำเนินการของเจ้าหน้าที่เป็นเพียงเพื่อประสงค์จะปิดกั้นการใช้สิทธิของชุมชน ซึ่งจะเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ ทั้งยังอ้างอิงถึงระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาที่จะไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณะ
หนังสือขอความเป็นธรรมยังระบุว่าคดีนี้มีพฤติการณ์และข้อเท็จจริงเดียวกันกับคดีเทใจให้เทพาคดีแรก ที่กำลังต่อสู้คดีในศาลจังหวัดสงขลา และกำลังรอฟังคำพิพากษาในวันที่ 27 ธ.ค. นี้ จึงเป็นการดำเนินคดีที่ขัดต่อหลักการห้ามดำเนินคดีซ้ำ และยังก่อให้เกิดปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกับการดำเนินคดีอาญาซ้ำในชั้นเจ้าพนักงานตามมาอีกด้วย
แต่หลังจากการส่งสำนวนให้อัยการเพียง 3 วัน พนักงานอัยการก็ได้มีการพิจารณาสั่งฟ้องคดีนี้ต่อศาลจังหวัดนาทวีทันที โดยไม่ได้มีการเรียกพยานฝ่ายผู้ต้องหามาสอบสวนเพิ่มเติม และพิจารณาคำร้องขอความเป็นธรรมดังกล่าว
| ['ข่าว', 'การเมือง', 'สิทธิมนุษยชน', 'คุณภาพชีวิต', 'สิ่งแวดล้อม', 'พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ', 'เครือข่ายเทพาไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน', 'โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา', 'เทใจให้เทพา', 'เอกชัย อิสระทะ', 'ดิเรก เหมนคร', 'หมิด ชายเต็ม', 'รอกีเยาะ สะมะแอ', 'อัยโยบ มุเซะ'] |
https://prachatai.com/print/79532 | 2018-11-09 17:54 | ร้อง พม.เอาผิดสื่อทีวีและเพจดัง เผยแพร่ข่าวสัมภาษณ์เด็ก 4 ขวบ ถูกล่วงละเมิด | ร้อง พม.เอาผิดสื่อทีวีและเพจดัง เผยแพร่ข่าวสัมภาษณ์เด็ก 4 ขวบ ถูกล่วงละเมิดทางเพศ โดยไม่คำนึงถึงความเหมาะสม ผิดกฎหมายคุ้มครองเด็ก จี้เร่งทำความเข้าใจการทำข่าวที่ถูกต้อง ไม่ละเมิดกฎหมาย
9 พ.ย.2561 ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) ทิพย์สุดา สิงห์บุญ ผู้ประสานงานเครือข่ายปกป้องเด็กและเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยงทางสังคม พร้อมด้วย วันชัย พูลช่วย ผู้ประสานงานเครือข่ายนักกฎหมายเพื่อเด็กและเยาวชน และภาคีเครือข่ายฯ กว่า 30 คน ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึง ดร.สมคิด สมศรี อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชนผ่านทางอนุกูล ปีดแก้ว รองอธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน เพื่อขอให้ตรวจสอบกรณีสื่อโทรทัศน์และเพจชื่อดัง เผยแพร่ข่าวการสัมภาษณ์เด็ก 4 ขวบถูกล่วงละเมิดทางเพศผ่านสาธารณะ ถือเป็นการกระทำที่เข้าข่ายผิด พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา โดยนำหลักฐานทั้งหมดมอบให้ทางพม.ตรวจสอบและเอาผิดด้วย
ทิพย์สุดา กล่าวว่าจากกรณีที่สื่อออนไลน์เพจเฟสบุ๊กชื่อดัง และ สื่อโทรทัศน์ช่อง หนึ่ง รวมทั้งสำนักข่าวท้องถิ่นได้เข้าไปทำข่าวเกี่ยวกับเด็กผู้หญิงวัย 4 ขวบ ถูกเด็กผู้ชายวัย 13 ขวบ ล่วงละเมิดทางเพศ ที่จังหวัดอ่างทอง และได้มีการเผยแพร่ ภาพและวีดีโอ เกี่ยวกับข้อมูลของตัวเด็กผู้เสียหาย ทั้งนี้ยังมีการสัมภาษณ์ตัวเด็กผู้เสียหายโดยตรง ไม่ผ่านการประเมินสภาพจิตใจและสภาพแวดล้อมที่สมควรเป็นตามหลักสากลในการคุ้มครองสิทธิเด็ก และบางประเด็นอาจเป็นข้อมูลที่เกี่ยวข้องในคดีความ ซึ่งการซักถามหรือสอบถามจำเป็นต้องเป็นไปตามหลักของสหวิชาชีพ จึงเป็นการละเมิดสิทธิของเด็ก เข้าข่ายผิดตามพ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 มาตรา 22 มาตรา 26(6) มาตรา 40(3) และอาจเข้าข่ายผิดประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา133 ทวิ ด้วย เป็นการผิดต่อจรรยาบรรณและจริยธรรมการนำเสนอข่าว
“กรณีที่เกิดขึ้นเป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิเด็กอย่างชัดเจน แม้จะมีการเบลอหน้า ซึ่งไม่เป็นผลดีใดๆเลยกับตัวเด็กและครอบครัว ซ้ำร้ายอาจกระทบกระเทือนจิตใจเด็กและผู้เสียหาย ให้ลงลึกไปจนยากต่อการฟื้นฟูแก้ไขเยียวยา จึงขอให้ทางกรมกิจการเด็กและเยาวชน พม.เข้าช่วยเหลือเยียวยาในตัวเด็กสองฝ่ายด้วย” ทิพย์สุดา กล่าว
ขณะที่ วันชัย กล่าวว่า เครือข่ายฯ มีความห่วงใยต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับเด็กทั้งสองฝ่าย ที่อาจถูกละเมิดและคุกคามจากสื่อหลายสำนัก ตลอดจนมีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารอย่างแพร่หลายในทุกช่องทาง ตลอดจนอาจมีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเด็กอีกในอนาคต เครือข่ายจึงขอแสดงจุดยืนและมีข้อเสนอต่อกรมกิจการเด็กและเยาวชน พม. ซึ่งเป็นองค์กรหลักที่รับผิดชอบดังนี้
1. ตรวจสอบการกระทำของสื่อสำนักดังกล่าว และเอาผิดกับผู้ที่เกี่ยวข้องตามพ.ร.บ.คุ้มครองเด็กฯ และกฎหมายอื่นเพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่าง เพื่อเป็นการปกป้องคุ้มครองเด็กตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย
2. ขอให้เร่งส่งพนักงานเจ้าหน้าที่ ร่วมกับสหวิชาชีพ ซึ่งมีอำนาจตามกฎหมาย ในการเข้าไปเยียวยาฟื้นฟูสภาพจิตใจของเด็กผู้เสียหายและผู้ถูกกล่าวหา(เด็กชาย)ทั้งสองครอบครัว เพื่อประเมินตามหลักวิชาชีพ โดยยึดประโยชน์ของเด็กสุงสุดเป็นตัวตั้ง และเร่งประชาสัมพันธ์ให้ยุติการส่งต่อหรือเผยแพร่ ทั้งคลิปและภาพเด็กรวมถึงภาพที่ไม่เหมาะสม ซึ่งมีความผิดตามกฎหมายฉบับนี้ รวมทั้งให้เร่งตรวจสอบและเยียวยา เพื่อพิจารณาจากสภาพจิตใจของเด็ก ครอบครัว รวมทั้งสภาพแวดล้อมในชุมชนนั้นๆ ว่าเป็นอย่างไร เพื่อทำความเข้าใจร่วมกันในการฟื้นฟูสภาพจิตใจของเด็กอย่างเป็นระบบ บูรณาการในการทำงานร่วมกับภาคประชาชนให้มีส่วนร่วมเพื่อลดการซ้ำเติมเด็กทั้งสองครอบครัว ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546
และ 3. ขอให้กรมจัดเวทีสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องกับสื่อมวลชน ในการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับเด็ก ที่ไม่ละเมิดกฎหมาย ละเมิดสิทธิเด็ก และขอเรียกร้องให้สื่อทุกสำนักตระหนักถึงและเคารพสิทธิของเด็ก ในการนำเสนอข่าวเพื่อป้องกันมิให้เด็กถูกคุกคาม ละเมิดสิทธิ เพื่อร่วมสร้างสังคมที่ปลอดภัยให้เด็ก
สำหรับ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 มาตรา 22 ระบุว่า การปฏิบัติต่อเด็กไม่ว่ากรณีใด ให้คำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญและไม่ให้มีการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม มาตรา26 ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งกฎหมายอื่น ไม่ว่าเด็กจะยินยอมหรือไม่ ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการ ดังต่อไปนี้ (6) ใช้ จ้าง หรือวานเด็กให้ทำงานหรือกระทำการอันอาจเป็นอันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจมีผลกระทบต่อการ เจริญเติบโต หรือขัดขวางต่อพัฒนาการของเด็ก มาตรา 27 ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาหรือเผยแพร่ทางสื่อมวลชนหรือสื่อสารสนเทศประเภทใด ซึ่งข้อมูลเกี่ยวกับตัวเด็กหรือผู้ปกครอง โดย เจตนาที่จะทำให้เกิดความเสียหายแก่จิตใจ ชื่อเสียง เกียรติคุณ หรือสิทธิประโยชน์อื่นใดของเด็ก หรือเพื่อแสวงหาประโยชน์สำหรับตนเองหรือ ผู้อื่นโดยมิชอบมาตรา 40 เด็กที่พึงได้รับการคุ้มครองสวัสดิภาพได้แก่ (3) เด็กที่อยู่ในสภาพที่จำต้องได้รับการคุ้มครองสวัสดิภาพตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
| ['ข่าว', 'สังคม', 'สิทธิมนุษยชน', 'คุณภาพชีวิต', 'เครือข่ายปกป้องเด็กและเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยงทางสังคม', 'เครือข่ายนักกฎหมายเพื่อเด็กและเยาวชน', 'กรมกิจการเด็กและเยาวชน', 'เฟสบุ๊กแฟนเพจ', 'สื่อมวลชน', 'การล่วงละเมิดทางเพศ', 'พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546', 'เด็ก'] |
https://prachatai.com/print/79533 | 2018-11-09 18:59 | กระแสถอนตัวจากพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม: เมื่อชาติกับพรรคแยกจากกัน | หลังพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามลงโทษ 'จูหาว' ปัญญาชนชื่อดัง อดีต รมช.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ฐานตีพิมพ์หนังสือขัดต่อแนวทางพรรค จนนำมาสู่การประกาศลาออกจากพรรคของจูหาว ตามมาด้วยนักเขียนและแวดวงปัญญาชนอื่นๆ พร้อมวิจารณ์พรรคที่เสื่อมถอยลง แต่การลาออกจากพรรคก็เต็มไปด้วยขั้นตอนซับซ้อนและในความเป็นจริงคำร้องขอลาออกก็มักไม่มีใครเดินเรื่องให้
ธงประจำพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม และธงชาติเวียดนามที่มา: Dragfyre/Wikipedia [1]
ศาสตราจารย์จูหาว (Chu Hảo) อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในรัฐบาลเวียดนาม และผู้ดำเนินการสำนักพิมพ์ชีทึก ที่มา: baogiaothong.vn [2]
ในช่วงปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมาจนถึงต้นเดือนพฤศจิกายน เกิดกระแสการเคลื่อนไหวเชิงต่อต้านต่อพรรคคอมมิวนิสต์ในประเทศเวียดนาม ประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงของไทยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเริ่มจากการลงโทษปัญญาชนชื่อดัง ลุกลามไปสู่ความไม่พอใจในหมู่นักเขียนและปัญญาชนคนอื่นๆ ล่าสุดเกิดเป็นกระแสความสนใจต่อการลาออกจากพรรคในสังคมเวียดนาม รวมถึงการวิพากษ์วิจารณ์ข้อเสียของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามที่เสื่อมถอยลงเรื่อยมา
พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามแล้วยังไงหรือ?
พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามเป็นพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียวที่มีสถานะถูกกฎหมายในประเทศ และเป็นกลุ่มการเมืองกลุ่มเดียวที่กุมอำนาจรัฐในการบริหารและปกครองประเทศ ความสำคัญของพรรคการเมืองนี้ในสายตาของชาวเวียดนามคือพรรคที่คุณูปการอย่างยิ่งต่อชาติเวียดนามของพวกเขา โดยในประวัติศาสตร์ของประเทศเวียดนามยุคเอกราช พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามคือตัวแสดงหลักในการปลดแอกฝั่งเหนือจากฝรั่งเศสและรวมประเทศด้วยการปลดแอกภาคใต้จากอิทธิพลของสหรัฐอเมริกาในเวลาต่อมา
สำหรับวิธีการบริหารและปกครองประเทศของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามภายหลังการรวมประเทศ ในช่วงก่อนปี 1986 เวียดนามรวมศูนย์อำนาจทั้งในด้านการเมืองจากระบบพรรคเดียวและด้านเศรษฐกิจจากระบบวางแผนจากส่วนกลาง แต่เมื่อมาถึงจุดที่เศรษฐกิจแบบวางแผนจากส่วนกลางใช้ไม่ได้ผล ปัญหาอาหารขาดแคลนและความยากจนที่เพิ่มขึ้น รัฐบาลจึงคลายมือด้านเศรษฐกิจด้วยนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจในปี 1986 เปิดเสรีในด้านการค้าขาย ส่วนในด้านการเมืองก็ยังคงมีการกุมอำนาจโดยพรรคคอมมิวนิสต์และปราบปรามผู้ต่อต้านต่อไป
แล้วมันเกิดอะไรขึ้น?
เดิมทีกระแสการแสดงออกในเชิงต่อต้านพรรคมีมาตั้งแต่ก่อนหน้านี้แล้ว ในหลายกรณีผู้ต่อต้านถูกจับกุมและคุมขัง อย่างเช่นในปี 2017 เฉิ่นถิงา ถูกศาลตัดสินจำคุก 9 ปีด้วยข้อหา “โฆษณาชวนเชื่อเพื่อต่อต้านรัฐ” ภายใต้มาตรา 88 หรือกรณีของบล็อกเกอร์เหวียนหงอกพ์ญือกวิ่งญ์ที่ถูกตัดสินจำคุก 10 ปีด้วยข้อหาเดียวกัน โดยที่ต่อมาเธอเพิ่งได้รับการปล่อยตัวออกมาในปีนี้ ก่อนที่จะเดินทางต่อไปยังสหรัฐอเมริกา
อย่างไรก็ตามกระแสความไม่พอใจของประชาชนก็เกิดขึ้นอีกครั้งเมื่อมีประกาศจากหน่วยงานคณะกรรมการตรวจสอบส่วนกลางของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามว่าจะ “ตรวจสอบ” และ “ลงโทษทางวินัย” ต่อศาสตราจารย์ท่านหนึ่งที่ชื่อว่า จูหาว โดยเขาเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และหัวหน้าบรรณาธิการสำนักพิมพ์ชีทึกซึ่งตีพิมพ์หนังสือมากมายที่มีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์แนวคิดสังคมนิยม ประชาชนเวียดนามจำนวนไม่น้อยที่มองว่าเขาเป็นปัญญาชนที่อุทิศตนเพื่อการพัฒนาสังคมของชาติ การประกาศของหน่วยงานรัฐครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นกระแสการถอนตัวจากพรรคระลอกใหม่ที่ผู้คนมากมายหลากหลายรุ่นจะออกมาถอนตัวกันอย่างเปิดเผย
โดยเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 61 ทางบีบีซีได้รายงานว่า คณะกรรมการตรวจสอบส่วนกลางได้ประกาศตรวจสอบและลงโทษทางวินัยต่อศาสตราจารย์จูหาว ด้วยข้อหาที่ฝ่ายทางการกล่าวว่าเป็น “ความผิดร้ายแรง” โดยมีเนื้อหาในประกาศว่า
“ด้วยตำแหน่งหน้าที่หัวหน้ากองบรรณาธิการ สหายจูหาวมีส่วนรับผิดชอบต่อการที่สำนักพิมพ์ชีทึกตีพิมพ์หนังสือจำนวนหนึ่งซึ่งมีเนื้อหาขัดต่อมุมมอง นโยบาย แนวทางของพรรค และรัฐบาล ฝ่าฝืนกฎหมายการพิมพ์ ซึ่งจะถูกทางการควบคุม เรียกคืน และทำลายทิ้ง….”
“ในช่วงที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สหายได้ทำความผิดจากการกระทำการอันสมาชิกพรรคมิพึงกระทำ มีข้อเขียนและการแสดงความคิดเห็นที่มีเนื้อหาขัดต่อแผนแนวทางการเมือง ระเบียบพรรค.... “กระทำโดยพลการ” “ดัดแปลงโดยพลการ” ….ส่งอิทธิพลความคิดที่เลวร้ายต่อสังคม ถึงขั้นที่จะต้องเข้ามาตรวจสอบและลงโทษทางวินัย”
ในเวลาต่อมาหลังจากที่มีการประกาศจากคณะกรรมการดังกล่าว ทางฝ่ายศาสตราจารย์จูหาวก็ได้เขียนจดหมายแสดงความจำนงที่จะถอนตัวออกจากพรรคพร้อมลงชื่อโดยระบุว่าเป็นวันที่ 26 ตุลาคม 61 อย่างไรก็ตามจดหมายดังกล่าวถูกเผยแพร่บนเฟซบุ๊กในอีก 3 วันต่อมา โดยเขาได้แสดงความจำนงขอให้หน่วยงานของพรรคนั้นลบชื่อของตนออกจากรายชื่อสมาชิก ศาสตราจารย์จูหาวยังได้แสดงความคิดเห็นต่อคำประกาศของรัฐครั้งนี้ว่าเป็นการกล่าวหาแต่ฝ่ายเดียวและไม่มีการแจ้งให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทราบล่วงหน้า
และในวันที่ 26 ตุลาคม เช่นเดียวกันที่เริ่มมีบรรดาปัญญาชนชาวเวียดนามออกมาแสดงท่าทีต่อต้านคำประกาศลงโทษศาสตราจารย์จูหาว โดยนักเขียนที่รู้จักกันในชื่อ เวียนหงอกพ์ ได้โพสต์ลงเฟซบุ๊กโดยมีเนื้อหาว่า ขอประกาศถอนตัวออกพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามอย่างเป็นทางการ เขายังได้วิพากษ์วิจารณ์ว่า พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามกำลังเสื่อมถอยลง พรรคกำลังทำร้ายประชาชนและประเทศชาติ และการลงโทษต่อศาสตราจารย์จูหาวก็ยิ่งสะท้อนความพยายามที่จะปิดกั้นการรับรู้ของประชาชน เป็นการเอื้อให้การหาประโยชน์ที่เห็นแก่ตัว และรุกล้ำสิทธิในการใช้ชีวิตและพัฒนาตัวเองของประชาชน
ทางด้าน รศ.ดร.หมากวันชางอาจารย์ประจำสถาบันวิทยาศาสตร์การศึกษาเวียดนาม ก็ได้ประกาศถอนตัวเพื่อแสดงจุดยืนเคียงข้างศาสตราจารย์จูหาว พร้อมทั้งแสดงความคิดเห็นว่า ในหลายปีที่ผ่านมา พรรคคอมมิวนิสต์และสังคมเวียดนามเริ่มเสื่อมถอยลงเรื่อยๆ
นอกจากปัญญาชนชาวเวียดนามทั้ง 2 คนที่ประกาศถอนตัวออกจากพรรคแล้ว ในวันที่ 27 ตุลาคม บนเฟซบุ๊กก็มีผู้ใช้ชาวเวียดนามออกมาประกาศถอนตัวออกจากพรรคอย่างเปิดเผย นายทหารยศพันโทชื่อว่าเฉิ่นนาม ดร. เฉินแทงญ์เตวิ๊น และวิศวกรหว่างเตี๊ยนเกื่อง รวมถึงคนอื่นๆ อีกราว 20 คน ออกมาประกาศถอนตัวออกจากพรรค บางรายได้แสดงความเห็นว่า ตนนั้นออกจากพรรคและไม่สนใจกิจกรรมของพรรคมานานแล้ว แต่ตอนนี้ขอประกาศออกจากพรรคอย่างเป็นทางการ ไม่เกี่ยวข้องกับทางพรรคอีกต่อไป ล่าสุดเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 61 อดีตนักแสดงชื่อดัง กีมจี ประกาศถอนตัวออกจากพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามอย่างเปิดเผยบนเฟซบุ๊ค โดยเธอได้แสดงความคิดเห็นอย่างวิพากษ์วิจารณ์ต่อมาพรรคว่า อันที่จริงนั้นเธอควรจะประกาศถอนตัวออกจากพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามอย่างเป็นทางการตั้งแต่เมื่อ 3 ปีที่แล้ว ตอนที่เหวียนฟู้ฉ่องม์ได้รับเลือกให้เป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามสมัยที่ 2 เพราะเธอมองว่าแนวคิดของเหวียนฟู้ฉ่องม์ที่ยึดมั่นหลักการสังคมนิยมนั้น มืดมนและไร้อนาคต
เธอผิดหวังกับพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามที่ปราบปรามผู้เห็นต่างทางการเมืองกับพรรค เธอพยายามรักษาท่าทีทางการเมืองตามคำแนะนำของคนรอบข้างที่อยากให้เธออยู่ช่วยเหลือคนดีๆ ในพรรค เธอยังเคยหวังว่ากิจกรรมทางสังคมต่างๆ จะช่วยกระตุ้นสามัญสำนึกของผู้มีอำนาจให้ปรับปรุงตัวและเอาใจใส่ประชาชนมากขึ้น ทว่าเธอกลับผิดหวังมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเห็นปัญญาชนและผู้คนทั่วไปประสบปัญหาจากการปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์
เหตุการณ์สำคัญที่ทำให้เธอไม่อาจทนได้อีกต่อไปคือเหตุการณ์ที่ทางการประกาศลงโทษศาสตราจารย์จูหาว เธอมองว่านี่เป็นการใส่ร้ายต่อผู้ที่ทุ่มเทต่อการพัฒนาประเทศ เป็นการใส่ร้ายต่อเสาหลักสำคัญของประเทศที่เธอและปัญญาชนรวมถึงประชาชนคนอื่นต่างให้ความเคารพ ในสายตาของเธอนั้น หลังปี 1975 เหล่าผู้นำในพรรคก็เริ่มมีการทุจริต หย่อนยาน และสร้างความลำบากให้กับผู้คนและประเทศชาติเสียด้วยซ้ำ
แล้วการลาออกจากพรรคยากง่ายเพียงใด?
ข้อมูลจากทางบีบีซีภาคภาษาเวียดนาม ที่เผยแพร่เมื่อ 31 ตุลาคม ระบุว่า ในเชิงหลักการนั้น การออกจากพรรคจะมีกฎเกณฑ์ที่ระบุอยู่ว่าหากละทิ้งหน้าที่หรือไม่จ่ายค่าธรรมเนียมตามเวลาที่กำหนดจะถูกขับออกจากพรรค ส่วนการยื่นหนังสือจะมีการสอบประวัติและส่งหนังสือไปให้เบื้องบนพิจารณาอนุมัติแต่จากปากคำของชาวเวียดนามที่เคยมีประสบการณ์เกี่ยวกับการถอนตัวออกจากพรรคนั้น หลายรายยอมรับว่าเลือกที่จะออกมาเองโดยไม่มีการผ่านกระบวนการใดๆ ด้วยเหตุที่วิธีการออกจากการเป็นสมาชิกพรรคแบบทางการนั้น เต็มไปด้วยขั้นตอนที่ซับซ้อนยุ่งยากรวมไปถึงในความเป็นจริงก็มักจะไม่ได้รับการดำเนินการ
กรณีตัวอย่างของศาสตราจารย์เหวียนดิ่งญ์ก๊งม์ เขาส่งเลือกที่จะส่งหนังสือเพื่อยื่นลาออกจากพรรค และแม้ว่ากระบวนการดังกล่าวจะผ่านการประชุมครั้งแล้วครั้งเล่า กระนั้นตลอดทั้งปีก็ยังไม่มีใครอนุมัติการลาออกของเขา ด้วยความยุ่งยากนี้เอง หลายคนจึงเลือกทางอื่นที่จะออกจากพรรค ในกรณีของ รศ.ดร.หมากวันชางก่อนหน้าที่จะออกมาประกาศถอนตัวอย่างเป็นทางการเพื่อแสดงจุดยืนอยู่ข้างศาสตราจารย์จูหาวที่ถูกพรรคกล่าวหา เขาเองถอนตัวออกมาก่อนแล้ว เป็นการถอนตัวออกมาเฉยๆ โดยไม่ได้ยื่นเอกสารอะไร โดยเขาได้ให้เหตุผลว่าเพื่อไม่เป็นการสร้างความยุ่งยาก
วิธีการออกมาเฉยๆ เป็นวิธีการที่ได้รับความนิยมอย่างมาก อย่างไรก็ตาม บางรายก็แสดงความคิดเห็นว่า ในกรณีของตนนั้น แจ้งกับทางการก็ออกจากพรรคได้ง่ายดายเหมือนกัน โดยร้อยโทเหวียนฮื้วเฮี้ยว ได้ยอมรับว่าหากมองในภาพรวมนั้น การออกจากพรรคดูเป็นเรื่องยาก แต่ก็มีความยากง่ายก็แตกต่างไปตามแต่ละท้องที่ ในช่วงที่เขาปลดประจำการออกจากกองทัพและมีเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นมาชวนให้ทำงานต่อที่พรรคนั้น เขาได้ได้ปฏิเสธไป ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ก็ตกลงทันที
ความคิดเห็นของประชาชนต่อการออกจากพรรค
ตั้งแต่ช่วงที่ยังไม่มีการประกาศถอนตัวออกจากพรรคคอมมิวนิสต์ของศาสตราจารย์จูหาว ความเห็นต่างๆ ที่เห็นอกเห็นใจเขาก็คะยั้นคะยอให้เขาออกจากพรรคพร้อมทั้งวิจารณ์ข้อเสียของพรรคที่พวกเขามองว่ากำลังอยู่ในภาวะเสื่อมถอยและเต็มไปด้วยข้อจำกัด
โห่เบิ๊ตเควิ๊ต นักข่าวชาวเวียดนามได้แสดงความคิดเห็นว่า สิ่งสำคัญสำหรับศาสตราจารย์จูหาวตอนนี้คือ การลาออกจากพรรค โดยเขาได้ให้เหตุผลว่า เดิมทีศาสตราจารย์จูหาวนั้นเป็นปัญญาชน มีหน้าที่จะต้องทุ่มเทให้กับชาติอยู่แล้ว แม้หนังสือที่ตีพิมพ์ออกมาจะมีเนื้อหาขัดต่อหลักการของพรรค แต่ก็มีประโยชน์ต่อสังคม งานของศาสตราจารย์นั้นจำเป็นต้องมีอิสระ ไม่ขึ้นต่อกลุ่มการเมืองใดๆ แต่การอยู่ในพรรคนั้นกลับเป็นสิ่งที่จำกัดอิสรภาพ
ทนายความที่มีชื่อว่า ลฺเวินเล เองก็ได้ให้ความเห็นว่า หากศาสตราจารย์จูหาวออกจากพรรค เขาจะเข้มแข็งขึ้นด้วยแรงสนับสนุนจากประชาชนและไม่ถูกตีกรอบจากพรรคอีกต่อไป และลฺเวินเลก็ได้วิจารณ์พรรคคอมมิวนิสต์ว่า การประกาศลงโทษศาสตราจารย์จูหาวก็มีแต่จะทำให้พรรคคอมมิวนิสต์เสื่อมถอยลงด้านความเห็นของชาวเวียดนามที่มีต่อการถอนตัวออกจากพรรคของกีมจีเพื่อแสดงจุดยืนช่วยเหลือศาสตราจารย์จูหาว ก็หลากหลายมีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย โดยผู้ที่เห็นด้วยก็แสดงความยินดีต่อการตัดสินใจที่กล้าหาญของเธอ ในขณะที่ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยก็มองว่าเธอไม่รักชาติ ทรยศต่อพรรคที่ช่วยปลดแอกเวียดนาม และเอะอะเกินไปที่แสดงออกเช่นนี้
นอกจากนี้การออกจากพรรคของศาสตราจารย์จูหาว ยังก่อให้เกิดกระแสการพูดถึงและตั้งคำถามต่อ “การออกจากพรรค” รวมไปถึงความน่าเชื่อถือของพรรคในแวดวงสื่ออีกด้วย ทาง BBC ภาคภาษาเวียดนามได้เผยแพร่บทความเรื่อง “Bỏ Đảng, bỏ Đoàn sẽ thành phong trào?” โดยมีเนื้อหาสังเกตกระแสการออกจากพรรคของผู้คนว่าจะมีผลต่อสังคมในระดับไหน และเผยแพร่ความคิดเห็นของผู้ที่ออกจากพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม ซึ่งส่วนใหญ่มักมีเหตุจากการที่พวกเขารู้สึกผิดหวังกับพรรค และอีกบทความหนึ่งเรื่อง “ Vụ GS Chu Hảo khiến sách về dân chủ 'cháy hàng'” ซึ่งมีเป็นการสัมภาษณ์ประธานกลุ่มวิชาการกลุ่มหนึ่งในเวียดนามโดยมีเนื้อความกล่าวถึงปัญหาการปิดกั้นการเรียนรู้ในสังคมโดยภาครัฐ
ทางด้านทีมข่าว Dân Làm Báo ซึ่งเป็นสำนักข่าวที่มุ่งวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลคอมมิวนิสต์ ก็ได้เผยแพร่บทความ “Có thể diệt Chu Hảo, nhưng đối thoại thì không” ได้หยิบยกเรื่องราวของศาสตราจารย์จูหาวมาวิพากษ์วิจารณ์การพยายามปราบปรามเสียงคัดค้านโดยพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม และวิจารณ์การปกครองผู้นำคนสำคัญในปัจจุบันอย่างเหวียนฟูจ่องก์ ส่วนอีกบทความหนึ่งที่ชื่อว่า “Từ bỏ và dấn thân” ที่ได้เสนอว่า “พรรคกับประเทศเป็นสองสิ่งที่ต่างกันโดยสิ้นเชิง”อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ยังไม่รายงานว่าทางรัฐบาลจะลงโทษศาสตราจารย์จูหาวอย่างไรหรือเพียงแค่ประกาศเท่านั้น
แปลและเรียบเรียงจาก
BBC News tiếng Việt.(2018). Bỏ Đảng, bỏ Đoàn sẽ thành phong trào?. [Blog Post]. Retrieved from: https://www.bbc.com/vietnamese/vietnam-46014980 [3]BBC News tiếng Việt.(2018). GS Chu Hảo bị đề nghị kỷ luật vì 'tự diễn biến. [Blog Post]. Retrieved from: https://www.bbc.com/vietnamese/vietnam-45983080 [4]BBC News tiếng Việt.(2018). GS Chu Hảo tuyên bố 'từ bỏ' Đảng Cộng sản VN. [Blog Post]. Retrieved from: https://www.bbc.com/vietnamese/vietnam-46021990 [5]BBC News tiếng Việt.(2018). Nghệ sỹ Kim Chi tuyên bố bỏ Đảng Cộng sản. [Blog Post]. Retrieved from: https://www.bbc.com/vietnamese/vietnam-46093522 [6]BBC News tiếng Việt.(2018). Nhà văn Nguyên Ngọc và một số các trí thức 'bỏ Đảng'. [Blog Post]. Retrieved from: https://www.bbc.com/vietnamese/vietnam-46001383 [7]BBC News tiếng Việt.(2018). Vụ GS Chu Hảo khiến sách về dân chủ 'cháy hàng'. [Blog Post]. Retrieved from: https://www.bbc.com/vietnamese/vietnam-46097008 [8]BBC News tiếng Việt.(2018). Xin ra khỏi Đảng CSVN có dễ không?. [Blog Post]. Retrieved from: https://www.bbc.com/vietnamese/46027637 [9]Jasmine Tran. (2018). Vietnamese prisoner of conscience Trần Thị Nga beaten and threatened with death. [Blog Post]. Retrieved from http://danlambaovn.blogspot.com/2018/08/vietnamese-prisoner-of-conscience-tran.html [10]Bùi Quang Vơm. (2018). Có thể diệt Chu Hảo, nhưng đối thoại thì không . [Blog Post]. Retrieved from: http://danlambaovn.blogspot.com/2018/10/co-diet-chu-hao-nhung-oi-thoai-thi-khong.html [11]Huỳnh Anh Tú. (2018). Từ bỏ và dấn thân. [Blog Post]. Retrieved from: http://danlambaovn.blogspot.com/2018/10/tu-bo-va-dan-than.html [12]
| ['ข่าว', 'ต่างประเทศ', 'เวียดนาม', 'พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม', 'จูหาว', 'อินโดจีน', 'Chu Hảo', 'CLMV'] |
https://prachatai.com/print/79535 | 2018-11-09 21:03 | สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี: สามัคคี วิจารณ์ สามัคคี |
ความขัดแย้งในขบวนการประชาธิปไตยมีมานานแล้ว ไม่ใช่เพิ่งเกิดกันวันสองวันนี้ และคงจะเป็นเช่นนี้ไปอีกนานเท่านาน
ช่วงยุค "เดือนตุลา" การวิพากษ์วิจารณ์ก็เผ็ดร้อนเช่นกัน สาดโคลนกันก็ไม่น้อย (ศัพท์ดั้งเดิมใช้คำว่า "สวมหมวก" ให้แก่กัน)
กลุ่มที่มีแนวทางเอียงขวา จะถูกสวมหมวกว่า เป็นพวก "ลัทธิแก้"
กลุ่มที่มีแนวทางซ้ายสุดโต่ง จะถูกสวมหมวกว่า เป็นพวก "ฉวยโอกาสเอียงซ้าย"
แต่อย่าไปสนใจศัพท์พ้นสมัยเหล่านี้เลยครับ ครั้งแรกที่ผมได้ยิน กลืนไม่ลงเช่นกัน
ทางออกของความขัดแย้งที่เพื่อนมิตรยุคนั้นจำนวนหนึ่งใช้กันได้ผลคือ "การศึกษารวมหมู่" (ฟังแล้วมันจะงงๆอีกใช่ไหมครับ)
การศึกษารวมหมู่ เริ่มต้นจากความคิดว่า เราจะเปลี่ยนแปลงโลกได้อย่างไร ถ้าเรายังไม่สามารถเปลี่ยนแปลงตนเอง
ดังนั้นจึงเกิดการรวมกลุ่มเพื่อนกันเล็กๆ ไม่เกิน 10 คน ที่แบ่งปันกันได้ทุกเรื่องราว เพื่อพัฒนาเปลี่ยนแปลงตนเอง
การเปลี่ยนแปลงตนเองดังว่า ครอบคลุมทั้ง โลกทัศน์ (ทัศนะต่อโลกภายนอก เสรีภาพ ประชาธิปไตย ความเป็นธรรม มหาอำนาจ การวิเคราะห์สังคม ภาวะโลกร้อน ฯลฯ) และชีวทัศน์ (ทัศนะต่อการใช้ชีวิต ความเป็นอยู่ วินัยในตนเอง ความอ่อนน้อมถ่อมตน ความอดทน ความเสียสละ ความรัก ฯลฯ)
เครื่องมือที่สำคัญในการศึกษารวมหมู่ คือ การวิจารณ์ตนเอง และ การวิจารณ์รวมหมู่ที่ยึดหลัก "สามัคคี วิจารณ์ สามัคคี"
การวิจารณ์ตนเองอย่างจริงใจ ทำให้เรามีสติ ตรวจสอบตนเองอย่างเข้มข้น สม่ำเสมอ และกล้าเปิดเผย"ปม"ของตนให้เพื่อนรู้ เพื่อลดทอน Ego ลง (ศัพท์เดิมใช้คำว่า "วีรชนเอกชน")
ส่วนการวิจารณ์รวมหมู่ เพื่อนในกลุ่มช่วยสะท้อนจุดอ่อนที่เรามองไม่เห็น หรือคิดเอาเองว่า ไม่เป็นปัญหา
เมื่อรู้ปัญหา เรายอมรับ ไม่แก้ตัว ตั้งใจพัฒนาตนให้ดีขึ้น ความคิดเป็นระบบขึ้น มีวินัยขึ้น เสียสละขึ้น
เพื่อนมิตรที่วิจารณ์เรา ก็ให้กำลังใจ และพร้อมสนับสนุน ด้วยต่างมีจุดหมายเดียวกันคือ เพื่อร่วมมือร่วมใจทำให้โลกนี้ดีขึ้น
เรื่มต้นด้วยความสามัคคี
วิจารณ์อย่างจริงใจ ด้วยมิตรภาพ
รับฟังคำวิจารณ์ด้วยสติ ไม่ดื้อรั้น ไม่เข้าข้างตนเอง
จบลงด้วยความสามัคคี
ความขัดแย้งหลายๆครั้งในยุคนั้น นำไปสู่การพัฒนาตนและงานอย่างก้าวกระโดดด้วยประโยคสั้นๆ
สามัคคี วิจารณ์ สามัคคี
ท่าทีต่อความขัดแย้งจึงสำคัญพังทลายก็ได้ พัฒนาก็ได้
มาถึงวันนี้ โลกก้าวไกล ความขัดแย้งในขบวนการประชาธิปไตยจึงไม่อาจจำกัดวงแคบๆเพียงในองค์กร แต่แพร่กระจายทั้งเครือข่ายทางสังคม
การปรับใช้ท่าทีต่อความขัดแย้งแบบดั้งเดิมอาจทำได้ยากขึ้นอย่างไรก็ตาม แอบหวังว่า คงไม่เกินความพยายาม
| ['บทความ', 'การเมือง', 'วัฒนธรรม', 'สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี', 'สามัคคี วิจารณ์ สามัคคี'] |
https://prachatai.com/print/79536 | 2018-11-09 21:17 | ทำไมคนงานถึงชุมนุมเรียกร้อง? หลัง ก.แรงงานฯ เตือนนัดหยุดงานขอโบนัส เสี่ยงถูกเลิกจ้าง | แรงงาน 101 นักวิชาการชี้ช่วงปลายปีคือฤดูกาลที่สหภาพแรงงานจะมีข้อเรียกร้องทั้งโบนัส ค่าแรงและสวัสดิการ เป็นเรื่องปกติ อีกทั้งกฎหมายก็กำหนดให้ต้องยื่นข้อเรียกร้องก่อนที่อายุข้อตกลงสภาพการจ้างจะหมดลง ไม่ใช่การล้ำเส้นกฎหมาย ส่วนการนัดหยุดงานหลายที่ก็ปฏิบัติตามกฎหมายแรงงานสัมพันธ์
9 พ.ย.2561 จากกรณีวานนี้ (8 พ.ย.61) ไทยรัฐออนไลน์ [1] รายงานว่า วิวัฒน์ ตังหงส์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยถึง สถานการณ์ด้านแรงงานสัมพันธ์ในปี 2561 ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-15 ต.ค.2561 ว่า มีแนวโน้มลดลง โดยมีข้อเรียกร้องของสถานประกอบกิจการในภาคเอกชนและรัฐวิสากิจ จำนวน 480 แห่ง เมื่อเทียบกับปี 2560 ที่มีข้อเรียกร้อง 544 แห่ง พบว่าลดลง 64 แห่ง โดยในช่วงปลายปีของทุกปีจะมีข้อเรียกร้องเพิ่มมากขึ้นกว่าช่วงเวลาปกติ ส่วนใหญ่เป็นการเรียกร้องเรื่องเงินโบนัส ขอขึ้นเงินเดือน และสวัสดิการต่างๆ หากไม่เป็นที่พอใจต่อทั้งสองฝ่าย อาจก่อให้เกิดเป็นข้อพิพาทแรงงานได้ ซึ่งที่ผ่านมาลูกจ้างส่วนใหญ่ใช้วิธีนัดหยุดงานรวมตัวชุมนุมเรียกร้อง จึงอาจทำให้นายจ้างเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยได้ตามกฎหมาย
"ขอเตือนไปยังนายจ้าง ลูกจ้าง ยึดหลักแรงงานสัมพันธ์แบบหุ้นส่วน เจรจากันด้วยเหตุผล นายจ้างควรชี้แจงข้อเท็จจริงถึงผลประกอบกิจการในปีนั้นๆ เพื่อทำความเข้าใจกับลูกจ้างอย่างตรงไปตรงมา และขอให้ทั้งสองฝ่ายคำนึงถึงสิทธิ หน้าที่ภายใต้กรอบของกฎหมาย และการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข" วิวัฒน์ กล่าว
วันนี้ (9 พ.ย.61) ประชาไท สัมภาษณ์ บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์ นักวิชาการสถาบันส่งเสริมภาคประชาสังคม ผู้ติดตามประเด็นสิทธิแรงงานอย่างต่อเนื่อง ถึงประเด็นของรักษาราชการแทนอธิบดีกรมสวัสดิการฯ ดังกล่าว โดย บุษยรัตน์ กล่าวว่า อ่านข่าวนี้แล้วไม่สบายใจอีกทั้งคนที่ออกมาพูดก็คือ ว่าที่อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน น่าจะมีความเข้าใจ กระทั่งความรู้ในคำว่า “พิพาทแรงงาน” ที่เกี่ยวข้องกับการนัดหยุดงานของลูกจ้าง การปิดงานของนายจ้าง ตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ที่น่าจะขยายความสื่อสารได้มากกว่านี้
บุษยรัตน์ ยังข้อสังเกต 5 ประเด็น ดังนี้
(1) ว่าที่อธิบดีน่าจะหมายถึง “การผละงาน” มากกว่า เพราะมีเหตุการณ์เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 61 ที่บริษัท ไทย โตโย เดนโซ อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี ที่มีลูกจ้างกว่า 300 คน “ผละงาน” คือ ออกมาชุมนุมเรียกร้องโดยไม่ผ่านขั้นตอนตามที่กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ ถ้าหากเป็นการนัดหยุดงาน จะมีระเบียบปฏิบัติบอกว่า ต้องทำอะไร อย่างไร ซึ่งสมัยนี้เราพบการนัดหยุดงาน โดยไม่ผ่านขั้นตอนแบบนี้น้อยมากๆ
พูดง่ายๆ คือ เป็นเวลาทำงานในไลน์ผลิต แต่ลูกจ้างออกมาชุมนุมแทน และก็ชุมนุมภายในบริษัทนั้นๆ เนื่องจากไม่พอใจที่บริษัทประกาศจ่ายโบนัสประจำปี 2561 จำนวน 5.5 เดือน แต่ลูกจ้างต้องการให้บริษัทจ่ายเงินบวกเพิ่มพิเศษอีกจำนวน 6,000 บาท และไม่สามารถตกลงกันได้ และส่งผลให้ต้องหยุดกระบวนการผลิต แต่อย่างไรก็ตามในที่สุดก็สามารถตกลงกันได้
(2) ที่ผ่านมากรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน มีงบประมาณจำนวนมากแต่ละปีพอสมควรในการจัดเวทีเสริมสร้างแรงงานสัมพันธ์ที่ดีระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง มีการให้รางวัลสถานประกอบการด้านแรงงานสัมพันธ์ดีเด่นด้วยซ้ำ
คำถามก็คือว่า หากไม่จัดแค่ให้จบๆ ไป แค่ได้จัด ตามที่จัดกันทุกปีอย่างที่เป็นมา และคนก็กลุ่มเดิมๆ ในการเข้าร่วม กรมสวัสดิการฯประเมินไม่ออกเชียวเหรอ ว่าพื้นที่อุตสาหกรรมใดมีแนวโน้มที่จะเกิดความขัดแย้ง พื้นที่ใดจะชุมนุมบ้าง และหาแนวทางวิธีการป้องกันไว้ก่อน
อย่างเช่นสมัยหนึ่งซัก 3-4 ปีมาแล้ว ที่ทาง สสค.ปราจีนบุรี รู้ว่าพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม 304 มีแนวโน้มจะเกิดเหตุการณ์เหล่านี้ ก็ลงมาทำงานกับองค์กรแรงงาน กับสหภาพแรงงาน กับนักจัดตั้งแรงงานในพื้นที่ที่ฝังตัวทำงานอยู่แล้ว และหาแนวทางป้องกัน มากกว่าจะปล่อยให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นมา และมองว่าลูกจ้าง คือ “ตัวปัญหา เรียกร้องไม่มีที่สิ้นสุด”
(3) ในประเทศไทย ฤดูกาลเจรจาข้อเรียกร้องประจำปี ส่วนใหญ่คือ เดือนกันยายน-ธันวาคมและอาจล่วงเลยไปมกราคมในปีถัดไป หากเจรจาไม่ยุติแต่ก็มีไม่มากนัก หากไม่ใช่เข้าสู่กระบวนการพิพาทแรงงาน
ดังนั้นจึงเป็นเรื่องปกติทั่วไปอยู่แล้วที่ “ช่วงปลายปีของทุกปีจะมีข้อเรียกร้องจากสหภาพแรงงานหรือกลุ่มลูกจ้างเพิ่มมากขึ้นกว่าช่วงเวลาปกติ และเกี่ยวข้องกับเรื่องโบนัส เงินขึ้น สวัสดิการ” นี้คือเรื่องพื้นฐาน ไม่ใช่เรื่องที่ต้องมาเน้นย้ำ กล่าวอ้าง และทำให้ดูราวกับว่าลูกจ้างกำลังทำอะไรไม่ถูกกฎหมายเลย
และหากไปอ่านกฎหมายก็จะเห็นว่า กฎหมายเองกำหนดให้สหภาพแรงงานก็ต้องยื่นข้อเรียกร้องก่อนที่อายุข้อตกลงสภาพการจ้างจะหมดลงก่อน 60 วัน และเรื่องอะไรที่ลูกจ้างสามารถยื่นข้อเรียกร้องได้บ้าง กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ก็ระบุชัดเจน นี้จึงไม่ใช่การล้ำเส้นกฎหมายแต่อย่างใด
(4) เอาเข้าจริงแล้ว จากจำนวนสหภาพแรงงานในประเทศไทยปี 2560 มีจำนวน 1,365 แห่ง รวมลูกจ้างที่เป็นสมาชิก 440,000 กว่าคน แต่มีสหภาพแรงงานหรือกลุ่มลูกจ้างยื่นข้อเรียกร้องเพียง 544 แห่ง ตามที่ให้ข่าวมา หรือคิดเป็นเพียง 40% เท่านั้น ยังไม่ถึงครึ่งด้วยซ้ำ
คำถาม คือ แล้วสหภาพแรงงานอื่นๆที่ไม่ยื่นข้อเรียกร้อง คืออะไร สะท้อนอะไรได้บ้าง เช่น ทำข้อตกลง 2-3 ปี, ไม่อยากขัดแย้งหรือมีปัญหากับนายจ้าง, สหภาพแรงงานตายแล้ว หรืออื่นๆ
เหล่านี้เป็นประเด็นที่กรมสวัสดิการควรให้ความสนใจ ถึงศักยภาพ ขีดความสามารถ กระทั่งทำอย่างไรให้สหภาพแรงงานมีความเข้มแข็ง และเป็นปากเป็นเสียงให้ลูกจ้างให้สมาชิกมากกว่ามิใช่เหรอ มากกว่ามาสนใจแค่จำนวนข้อเรียกร้องที่มากขึ้น-ลดลง ซึ่งมันไร้ความหมายต่อการทำให้องค์กรแรงงานแข็งแรงเสียเหลือเกิน
ทั้งๆ ที่สหภาพแรงงาน คือ องค์กรนิติบุคคล คือองค์กรภาคประชาสังคม เป็นหุ้นส่วนรัฐในการพัฒนาประเทศ ที่มีกฎหมายรองรับ ให้อำนาจในการยื่นข้อเรียกร้องต่อนายจ้างเพื่อปรับสภาพการจ้างให้คนงานมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
(5) สำหรับประเด็นการที่นายจ้างจะเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยได้ตามกฎหมาย ดูเหมือนนี้คือคำห่วงใยจากกรมสวัสดิการที่มาถึงลูกจ้าง จริงๆ แล้วหากเราไม่ปิดตาข้างหนึ่งพูด และยอมรับความจริงกันว่า นายจ้าง ลูกจ้าง คือ หุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่ควรได้รับการแบ่งปันผลประโยชน์จากการลงแรงกายมาตลอดทั้งปี
และโบนัส เงินขึ้น สวัสดิการต่างๆ ก็คือ ภาพสะท้อนว่า กฎหมายแรงงานประเทศไทยมันห่วย เพราะมันไม่สามารถทำให้คนงานอยู่ดีกินดีมีสุขภาวะที่ดีได้จริง ค่าแรงขั้นต่ำมันไม่เพียงพอ จนคนงานต้องทำโอที สวัสดิการต่างๆที่กฎหมายกำหนด มันไม่สามารถสร้างคนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้จริง แม้กระทั่งแค่ตัวคนงานเอง ไม่ต้องพูดถึงครอบครัว พ่อแม่ที่บ้านนอกเลยด้วยซ้ำ ดังนั้นโบนัสมันจึงสำคัญ สวัสดิการหลายๆอย่างมันจึงจำเป็น เพราะกฎหมายแรงงานไม่ได้กำหนดหรือบังคับให้นายจ้างต้องจ่าย ต้องเพิ่มตามอัตราค่าครองชีพที่เปลี่ยนไป
"การรวมตัวเพื่อเจรจาต่อรองทั้งในรูปแบบสหภาพแรงงาน การลงลายมือชื่อตามมาตรา 13 ในกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ เพื่อเรียกร้องสิ่งพึงมีพึงได้ตรงนี้จึงจำเป็น แน่นอนดิฉันยอมรับว่า พี่น้องแรงงานบางที่ก็เปรี้ยว บุกตะลุย หัวชนฝา กระทั่งกินเหล้าเมายาในที่ชุมนุม ก็มี ไม่ใช่ไม่มี แต่ดิฉันคิดว่าเราจำเป็นต้องจำแนกแยกแยะ และพิจารณาเป็น case by case มากกว่าเหมารวม และสิ่งที่สำคัญกว่านั้น คือ การป้องกัน การปรึกษาหารือร่วม กระทั่งการมองคนงานเป็นคน ที่มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เท่ากับเรา รู้ร้อนรู้หนาว อยากมีอยากได้อยากเป็น รักโลภโกรธหลง ไม่ต่างจากเราในฐานะข้าราชการ ในฐานะนายจ้างเลย ใครๆ ก็ปรารถนาชีวิตที่ดีทั้งนั้น ไม่ใช่แค่คนงานที่ออกมาเรียกร้องปาวๆ เท่านั้น" บุษยรัตน์ พร้อมกล่าวด้วยว่า นี้คือการช่วยมอง ช่วยขยายความให้มากขึ้น และหวังว่า เราจะมองแรงงานเป็นคนที่มีศักดิ์ศรีและเท่ากับเรา เป็นหุ้นส่วนที่แท้จริงไม่ใช่แค่คำสวยๆ ในกระดาษ ในเวทีเสวนาเท่านั้น
| ['ข่าว', 'เศรษฐกิจ', 'แรงงาน', 'คุณภาพชีวิต', 'ข้อตกลงสภาพการจ้าง', 'การนัดหยุดงาน', 'การชุมนุม', 'คนงาน', 'วิวัฒน์ ตังหงส์', 'กระทรวงแรงงาน', 'บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์'] |
https://prachatai.com/print/79537 | 2018-11-09 21:47 | มรดกที่ไม่ใช่แค่ของในล๊อกเกอร์ของพี่จ๋า |
9 พฤศจิกายน 2561
เราเจอพี่จ๋าครั้งแรกในเช้าวันที่ 2 ของการติดคุก โดยนักโทษการเมืองอีกคนพามาแนะนำ พี่จ๋ายืนหนีบขวดน้ำไว้ใต้รักแร้ข้างขวา แล้วก็เรียกแทนตัวเองว่า “พี่” ทั้งๆ ที่น่าจะแก่กว่าแม่เราแน่ๆ จากนั้นก็เรียกแทนเราว่า “น้อง” ไม่ยอมเรียกชื่อ
คนไรวะ โคตรห้าวเป้งเลย
พี่จ๋าทำการนัดแนะกับเราเรื่องตอนกลางวันและตอนเย็นว่าจะเจอกันที่ไหนยังไง เราไม่รู้ว่าแกมาคดียิงฮอ รู้แต่ว่าแกเป็นเสื้อแดง มารู้อีกทีก็ตอนเย็นที่มีเวลามากหน่อยเลยได้คุยกัน
พอเข้าวันที่ 3 ของการติดคุก พี่จ๋าก็พาตัวเองย้ายมานั่งใกล้ๆ เรา ที่เป็นที่เฉพาะสำหรับคนใหม่ จัดแจงล้อมรั้วไม่ให้ใครเข้ามาใกล้จนเกินไป แถมยังด่าทุกคนที่ขยับมาใกล้ตัวแก แต่ไม่ว่ายังไงแกก็ยังคงกอดขวดน้ำขวดใหญ่ที่เขียนชื่อแกตัวเขื่องไว้อย่างเหนียวแน่น
พอปล่อยแถวแกก็ออกไปหาขวดน้ำเล็กๆ มาให้เรา เป็นขวดเป๊ปซี่ ก่อนจะส่งให้เราเอาไปล้างแล้วเอามากรอกน้ำไว้กิน
“อยู่ในนี้ห้ามให้ใครกินน้ำเรา และอย่าไปกินน้ำใคร โรคมันติดต่อง่าย ต้องดูแลตัวเองเข้าใจไหม”
พี่จ๋าสั่ง ก่อนจะเห็นท่าทางเงอะเงิ้นของเราแล้วยื่นมือมาคว้าขวดที่แกเพิ่งให้เรากลับไปแล้วเดินออกไปจากที่นั่ง หลังจากสำทับว่า
“อย่าให้ใครมานั่งตรงนี้ เฝ้าไว้”
พี่จ๋าเดินไปล้างขวดเป๊ปซี่เล็กๆ นั่นมาให้ พร้อมกับกดน้ำมาเต็มขวด
“คอยฟังชื่อเรียกเยี่ยมญาติ เห้ย ! ไอ้หนู เอ็งชื่ออะไรนะ”
นั่นไง เริ่มไม่เรียกน้องละ เริ่มเป็นไอ้หนู“ชื่อกอฟ” เราตอบ
“กูถามชื่อจริงโว้ย กูจะช่วยมึงฟังชื่อ เวลาเขาเยี่ยมญาติเนี่ย” พี่จ๋าแว๊ดกลับมาพร้อมคำอธิบาย
และ นั่นไง เริ่มกลายเป็นมึง-กู ซะแล้ว 55555
แกเรียกแทนตัวเองว่าพี่สลับกับกู อยู่พักใหญ่ จนสักพักถึงตัดสินใจได้ว่าควรจะใช้ มึง-กู ให้ถนัดปาก
ไม่นานนัก วันนั้นก็มีชื่อเราประกาศให้ออกไปเยี่ยมญาติ แต่ตัวเราเองไม่ได้ยินหรอกนะ พี่จ๋าได้ยินก่อนแต่ไม่แน่ใจให้รอฟังซ้ำ จนแน่ใจแล้วก็เร่งให้เรารีบออกไปเยี่ยมญาติ ก่อนจะแนะว่าเราควรต้องสั่งให้ญาติซื้ออะไรมาให้บ้าง
กว่าเราจะออกไปเยี่ยมญาติได้ก็ทุลักทุเลพอสมควร เพราะเป็นเด็กใหม่
แต่พี่จ๋าก็จะเดินมาส่งที่ประตูเขตอาคารทับทิม และรออยู่หน้าประตูจนกระทั่งเราเดินกลับมาเสมอ ทุกครั้งที่เรากลับมาจากเยี่ยมญาติก็จะเจอแกยืนหนีบขวดน้ำรอรับอยู่ทุกครั้ง ถ้าครั้งไหนโดนห้ามแกก็จะไปนั่งซุกอยู่ที่อาคารทับทิมเพื่อคอยเรียกและส่งสายตาให้กำลังใจมาให้ แล้วถ้าวันไหนเราร้องไห้กลับเข้าแดนแกจะร้อนใจจนต้องรีบหาทางออกมาคุยกันจนได้ แกทำแบบนี้เสมอ จนกระทั้งแกต้องย้ายแดนไป
“กูกลัวเค้าแอบอุ้มมึงออกไปข้างนอก” แกเคยให้เหตุผล เพราะนอกจากเยี่ยมญาติแล้ว เรายังโดนเรียกในกรณีอื่นๆ อีกวันละหลายๆ ครั้ง เรามาเข้าใจตอนหลังว่าที่พี่จ๋ามานั่งใกล้ๆ เราเพราะว่ากลัวว่านักโทษคนอื่นๆ ถ้ารู้เรื่องคดีของเราแล้วจะมาทำร้ายเรา
“คดีมึงมันอันตราย พี่จ่าอยู่นี่ พี่จะดูแลน้องเอง ไม่มีใครกล้ากับพี่หรอก”
หลังจากกลับมาจากเยี่ยมญาติครั้งแรกแล้ว พี่จ๋าที่ยืนรออยู่หน้าประตูเขตอาคารทับทิมก็กวักมือเรียกเราเข้าไปหา
“พอแล้วไม่ต้องร้อง เช็ดน้ำตา เดี๋ยวพี่จ๋าพาไปแนะนำกับคนอื่นๆ ”
แกปลอบใจพร้อมกับกอดคอที่ตกซมของเรา ก่อนจะพาเดินไปด้านหลังเรือนนอนเพชร แล้วแนะนำคนโน้นคนนี้ที่มีบทบาทในเรือนนอน และในแดนให้เรารู้จัก
“ไหว้พี่ๆ เค้า เดี๊ยวเค้าจะได้ช่วยดูแล พวกนี้คนของพี่จ๋าเอง มีอะไรวิ่งไปหาพวกนี้นะ”
เราไหวหลายต่อหลายคนตามที่พี่จ๋าบอก แต่ก็จำชื่อได้แค่บางคน ก่อนที่จะเดินกลับไปร้องไห้ต่ออีกนิด
สิ่งที่พี่จ๋าหวงพอๆ กับขวดน้ำคือแว่นตาและของกิน พี่จ๋ามีแว่นตาอยู่ประมาณ 3 อัน ทั้งๆ ที่เค้าอนุญาตให้มีได้แค่คนละอันเท่านั้น บางอันแกก็ได้มาจากทนาย บางอันแกก็ไปหาซื้อมาแบบเถื่อนๆ จนต้องให้เราซื้อน้ำส้มขวดละ 5 บาทมา 2 ขวด แล้วบังคับให้เรากินให้หมดเพื่อจะเอาขวดน้ำส้มสองขวดไปตัด ตัดแบบเถื่อนๆ ด้วยมีดที่ซุกซ่อนไว้ที่ไหนสักแห่ง
“มึงไม่ต้องรู้หรอก” แกตอบหลังจากที่เราถามเรื่องที่มาของมีด จากนั้นแกก็นั่งประกอบกล่องใส่แว่นที่ทำจากขวดน้ำส้มสองขวดแล้วอวดให้เราดูอย่างภูมิใจ
“แบบนี้จะได้เอาขึ้นห้องได้ ไม่มีใครมาทับแตก แว่นมันหายาก มีไว้เยอะๆ หนะดี”
ส่วนของกินหนะหรอ ที่แกจะกินประจำๆ เลยคือ ขนมปังปอนด์จิ้มนมข้นหวานแล้วโรยน้ำตาลอีกรอบ
“ก็กูเป็นเบาหวาน เดี๋ยวน้ำตาลมันลงแล้วจะยุ่ง” นี่คือเหตุผลสนับสนุนการกินของแกเอง
แกจะเก็บสองอย่างนี้ไว้อย่างมิดชิดเสมอ จะค่อยๆ ถ่ายเทนมข้นหวานจากกระป๋องลงสู่ขวดน้ำส้มขวดละ 5 บาทนั่นแหละ จะได้ปิดฝากันแมลงได้และไม่หกเลอะเทอะเวลาเก็บในลีอกเกอร์ แถมยังพกพาสะดวก
อ่อ ลืมไป อีกอย่างหนึ่งก็คือ ยางวง แกจะเก็บยางวงคล้องไว้รอบๆ คอขวกน้ำของแกอยู่เสมอ ไม่รู้ว่าทำไมแกถึงได้ชอบเก็บยางวง แต่แกว่าถึงเวลาจะใช้มันจะหาไม่ได้ ต้องมีเตรียมพร้อมไว้เสมอ
หลังจากวันนั้นเราก็เป็นตาแดง พี่จ๋าบอกเคล็ดลับเด็ดเพื่อรักษาตาแดงอย่างไวมาให้ แถมยังส่งเสบียงผ่านเส้นสายของแกขึ้นไปให้เราในห้องกักตัวนักโทษตาแดง จนพวกนักโทษอื่นๆ เกรงใจเรา พอหายจากตาแดงแล้ว
กิจกรรมต่อมาที่พี่จ๋าพาไปทำก็คือ “ดูหมอ” แกจะพาเราไปดูหมอแทบทุกหมอในแดนแรกรับที่ว่าแม่น
“พี่ไปดูมาแล้ว แม่นมากๆ ” แกการันตีด้วยตัวเองเสมอ
กิจกรรมตระเวนดูหมอเกิดขึ้นอยู่เกินครึ่งของเวลาในแดนแรกรับ เพราะทันทีที่มีนักโทษรับย้ายมาจากเรือนจำอื่น แกก็จะไปถามคนที่ย้ายมาว่า “มีหมอดูมามั่งไหม” และพี่จ๋าจะเป็นคนแรกๆ เสมอที่ค้นพบหมอดูที่ย้ายมาใหม่
จนบางคนได้ดิบได้ดีมีลูกค้าวันละ 10 ราย เพราะการโฆษณาของพี่จ๋านี่แหละ
แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะชอบแกหรอกนะ เป็นธรรมดาของโลกใบนี้ หลายคนไม่ชอบแก โดยเฉพาะคนแก่ด้วยกัน บ้างก็ว่าแกกร่างบ้าง ปากไม่ดีบ้าง เรื่องมากบ้าง พูดเยอะบ้าง บางคนถึงกับจะวางมวยกันก็มี
แกไม่ใช่คนหาเรื่อง แต่ก็ไม่ยอมให้ใครมารังแกได้ และอย่าได้หวังว่าจะมารังแกคนที่แกเรียกว่า “คนของกู” ได้ด้วย
และเมื่อมีคนเสื้อแดงมาใหม่ แกก็จะพามาแนะนำให้พวกเรารู้จักเพื่อจะจับกลุ่มกันไว้ คอยดูแลกัน แบ่งปันกัน
“มึงมีเยอะ มึงต้องแบ่งพี่น้องเรา พวกเขาไม่มี” พี่จ๋าจะบอกกับเราเสมอว่าการแบ่งปันกันในหมู่พวกเราจะทำให้ไม่มีใครกล้าทำอะไร
แต่อีกนั่นแหละ “พวกเรา” ที่หมายถึงคนเสื้อแดงหนะนะ อยู่รวมกันก็ทะเลาะกันไม่ว่าจะในคุกหรือนอกคุก การมีปากเสียงกับ “พวกเรากันเอง” นั้นเป็นเรื่องปกติในแดนนี้
แต่ก็ไม่ได้แปลว่าเราจะตัดความช่วยเหลือกันและกันได้จริงๆ ยิ่งเมื่อสถานการณ์นำพาให้ “พวกเรา” โดนจับมามากขึ้น ถี่ขึ้น ในจำนวนที่เพิ่มขึ้น
“ไม่ต้องพูดกับใครมาก อย่าไว้ใจใครทั้งนั้น เรื่องคดีไม่ต้องพูดกับใคร” แกกำชับกับทุกๆ คนเสมอเมื่อเข้ามาถึงแดนแรกรับ เพราะไม่มีข้อมูลอะไรปลอดภัยที่นั่น บางครั้งสายตำรวจอาจจะนั่งประกบอยู่ข้างๆ เราก็ได้ใครจะรู้
และแน่นอนว่าถ้า “พวกเรา” คนไหนพูดมาก แกก็จะเข้าไปเตือน ถ้าฟังก็ดีไป แต่ถ้าไม่ฟัง แกก็ให้ทุกคนตีตัวออกห่าง
“เดี๋ยวจะพากันซวย ให้มันซวยคนเดียวพอ พูดมาก เตือนไม่ฟัง” แกว่าอย่างนั้น
แต่ไม่นานนัก พี่จ๋าก็ต้องย้ายแดน ครั้งแรกที่มีชื่อแกย้ายแดน แกไปขอร้อง ผ.บ.แดนว่าจะขอไม่ย้ายไปจนกว่าเราจะไปฟังคำตัดสิน แลกกับการไม่ก่อเรื่องในแดนแรกรับ
แต่พอมีรายชื่อครั้งที่สอง แกก็ไม่อาจจะยื้อเวลาต่อไปอีกได้แกชอบเปรยๆ ขึ้นมาว่าถ้าแกต้องไปจริงๆ พวกเราจะดูแลกันยังไง เราเองก็ไม่ดี้คำตอบอะไรชัดเจนนัก ได้แต่บอกให้แกสบายใจ และยอมย้ายแดนไปอยู่ในแดนของคนที่เด็ดขาดแล้ว
การย้ายแดนทำให้พี่จ๋าซูบผอมไปมาก ไม่เหมือนที่อยู่แดนแรกรับที่แกเปล่งปลั่งและมีพลังล้นเหลือ
“ แดนนอกลำบากชิบหาย แต่กูฝึกไว้ เดี๋ยวต้องออกไปสู้ข้างนอก”
แกตะโกนบอกพวกเราหลังจากที่ถูกทักว่าผอมลง จนพวกเราหัวเราะไปกับความระห่ำของแก
แกทิ้งมรดกในล๊อกเกอร์ไว้ให้พวกเรามากมาย เพราะตัวแกขนไปไม่ไหว และไม่รู้จะเอาไปใช้อะไรในแดนนอก
ทุกๆ ครั้งที่พวกเรามีเรียกชื่อเยี่ยมญาติ แกจะออกมารออยู่หน้าประตูแดนของแก แล้วพยายามทักทายถามไถ่สารทุกข์สุขดิบของเราแต่ละคน เป็นแบบนี้ทุกครั้ง จนแกได้ปล่อยตัวไป
สิ่งที่พี่จ๋าทำกลายเป้นเหมือนต้นแบบอะไรสักอย่างในการอยู่คุกของเรา
ใช่ คนที่เข้ามาใหม่จะไม่รู้อะไรเลยและเรียนรู้ได้ช้า ดังนั้นหน้าที่ของคนอยู่มาก่อนคือทำให้พวกเขาตั้งหลักเร็วขึ้น
เราค่อยๆ ดูแลคนใหม่แบบที่พี่จ๋าดูแลเรา
“แต่มึงต้องเลือกด้วยนะ ไม่ใช่ช่วยทุกคนเหมือนกันหมด มึงไม่ได้มีมากขนาดนั้น เอาแค่เขาตั้งหลักได้ก็พอ อย่าให้เขามาเกาะมึง ไม่งั้นจะพากันตาย”
พี่จ๋าบอกหลังจากที่เห็นเราเริ่มทุกข์เพราะธุระของคนอื่นมากเกินไป
วันที่เราตัดสิน พี่จ๋าไปที่ศาลด้วย พยายามจะร้องเพลงที่เพื่อนๆ ร้องให้เรา แต่ก็ได้แค่อ้อมแอ้ม ทั้งๆ ที่ตอนอยู่ในคุกเราก็ร้องให้แกฟังบ่อยๆ สงสัยเสียงเราจะไม่เข้าหูแกละมั้ง
พอได้มาเจอกันนอกคุก …. พี่จ๋ายังพูดจาหยาบคายและด่าได้อย่างเจ็บแสบเช่นเดิม
แกยังเรียกเราว่าอีชะนีขี้แง ยังคงพยายามช่วยเหลือคนอื่นๆ ที่ออกจากคุก ทั้งๆ ที่ตัวแกเองก็ยังไม่แข็งแรงได้เท่าครึ้งหนึ่งของตอนอยู่ในคุก
เราแปลกใจเสมอว่าพี่จ๋าคนที่อยู่ในคุกนั้นถูกขโมยไปหรือเปล่า แววตาที่เคยภาคภูมิใจในตัวเองของแกหายไปในบางหน แกกลายเป็นแค่ผู้หญิงแก่ๆ ที่ “เคย” มีช่วงหนึ่งของชีวิตที่แสนจะภูมิในในฐานะฮีโร่
แต่ถ้าผลตอบแทนของการเป็น ฮีโร่ของแกจะจบลงที่การขายสมุนไพรและอยู่ในห้องเช่าเล็กๆ เพียงลำพัง แกจะยังอยากเป้นฮีโร่อยู่ไหม เราไม่เคยถาม เพราะถ้าถามก็คงจะโดนด่า ว่าถามห่าอะไรไม่เข้าท่า
หลายต่อหลายครั้งที่เราคิดว่าเราควรจะดูแลคนอื่นๆ ได้ดีกว่าที่เป็นอยู่นี้ แต่ มันก็สายไปเสมอ สายไปตลอดมา เราไม่เคยเข้มแข็งได้ทัน ไม่เคยแข็งแรงได้ทัน ไม่เคยดูแลได้ทัน ไม่เคยทัน
วันสวดศพพี่จ๋าวันแรก คนไปเยอะมากหลากหลาย จนเราแอบยิ้มอิ่มใจว่าพี่จ๋าคงจะดีใจถ้ารู้ว่ามีคนรักและระลึกถึงแกมากขนาดนี้ มารวมตัวกันเพราะศรัทธาในตัวแกมากขนาดนี้
น่าเสียดายที่มันสายไป แกไม่ได้เห็นภาพนี้ ไม่แน่นะ ถ้าแกได้เห็นภาพแบบนี้ก่อนที่จะขาดใจตายไป
แกอาจจะสู้มากกว่านี้ สู้เหมือนตอนที่เดินหาลูกอมเม็ดเดียวไปทั่วแดนแรกรับ เพื่อไม่ให้ตัวเองขาดน้ำตาล สู้เพื่อจะได้น้ำขวดใหญ่ สู้เพื่อจะมีข้าวกินทุกสามมื้อ สู้เพื่อจะดูแลน้องๆ ทุกคน สู้เพื่อให้มีชีวิตรอดออกไปเจอสิ่งที่ดีกว่าข้างนอก
แต่นั่นแหละ มันสายไป
พรุ่งนี้ วันเผาพี่จ๋า เราบอกเล่าให้ทุกคนรู้ความเป็นพี่จ๋า ตอนที่อยู่ในคุกให้ทุกคนรู้ ด้วยการแสดงของเรา
การแสดงที่เราไม่เคยคิดว่าจะเป็นการแสดงแรกหลังออกจากคุกของเรา
แต่เมื่อพี่จ๋าตายอย่างไม่มีแผน การแสดงของเราก็อยู่นอกแผนเช่นกัน คิวแรก บ่าย สองครึ่ง คงจะร้อนตรีนน่าดูเชียว
มีพี่สาว(ที่จริงๆ ก็แก่กว่าแม่) อีกคนหนึ่งรำพึงถามหลังจากรู้เรื่องพี่จ๋าแล้ว
“นี่หรอวะ ผลตอบแทนของคนเสื้อแดงแบบไอ้จ๋า นี่หรอวะผลการตอบแทนของคนที่เสียสละตัวเอง ต้องตายอย่างโดดเดี่ยวในห้องเช่าเล็กๆ นี่หรอวะ”
เราไม่มีคำตอบเรื่องนี้ ทำได้แค่ถามคำถามนี้ต่อไปเรื่อยๆ
เผยแพร่ครั้งแรกใน: Facebook เรื่องของกรอฟฟฟฟ Kolf'story [1]
เกี่ยวกับผู้เขียน: กอล์ฟ ภรณ์ทิพย์ มั่นคง [2] ถูกตัดสินจำคุก 2 ปี 6 เดือนเมื่อวันที่ 23 ก.พ.2558 กอล์ฟถูกจับกุมจากข้อกล่าวหามีส่วนร่วมในละครเจ้าสาวหมาป่า จัดแสดงในงานรำลึก 14 ตุลาคม 2556 เธอถูกจองจำอยู่ที่ทัณฑสถานหญิงกลาง และ ณ สถานที่แห่งนั้น เธอได้มีโอกาสพบกับ จ๋า นฤมล วรุณรุ่งโรจน์ [3] ผู้หญิงยิง ฮ.
| ['บทความ', 'การเมือง', 'วัฒนธรรม', 'สิทธิมนุษยชน', 'นฤมล วรุณรุ่งโรจน์', 'จ๋า ผู้หญิงยิง ฮ.', 'ภรณ์ทิพย์ มั่นคง'] |
https://prachatai.com/print/79538 | 2018-11-09 22:34 | 109 องค์กร ร้อง รบ. ดันนโยบายสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า 0-6 ปี เดือนละ 600 | เครือข่ายการขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า 109 องค์กร + 6,000 รายชื่อ ร้อง รบ. จัดสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า 0-6 ปี เดือนละ 600 บาท ยันระบบคัดกรองทำเด็กตกหล่น ร้อยละ 30 ซึ่งเข้าไม่ถึงสิทธิสวัสดิการ
ที่มาภาพ เพจ Homenet Thailand - มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ [1]
9 พ.ย.2561 วันนี้ ที่ศูนย์บริการประชาชน ทำเนียบรัฐบาล ตัวแทนสมาคมเครือข่ายแรงงานนอกระบบ ตัวแทนมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ ร่วมกับเครือข่ายภาคประชาสังคม 109 องค์กร เข้ายื่นหนังสือพร้อมรายชื่อ 6,000 รายชื่อ ต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ในฐานะนายกรัฐมนตรี เรียกร้องรัฐบาลให้เปลี่ยนนโยบายสนับสนุนเงินอุดหนุนเด็กเล็ก อายุ 0-6 ปี เดือนละ 600 บาท จากการคัดกรองคนจน เป็นการให้แบบถ้วนหน้า เพื่อให้เด็กทุกคนได้รับ สิทธิ สวัสดิการที่ควรได้รับอย่างเสมอภาค เท่าเทียมกัน
ที่มาภาพ เพจ Homenet Thailand - มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ [1]
voicelabour.org [2] รายงานรายละเอียดเพิ่มเติมว่า สุนี ไชยรส ผู้แทนคณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กแบบถ้วนหน้า กล่าวถึงการยื่นหนังสือครั้งนี้ว่า การยื่นหนังสือครั้งนี้มีผู้สนับสนุนเงินอุดหนุนเด็กเล็กแบบถ้วนหน้าจำนวน 109 องค์กร และอีก 6,000 รายชื่อ ซึ่งมีเป็นจการรวบรวมจากนักกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้นายกรัฐมนตรีแน่ใจว่าข้อเสนอดังกล่าวเป็นสิ่งที่ประชาชนต้องการและคลาดหวัง ซึ่งโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด เริ่มเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2558 ดูแลเด็กตั้งแต่0-1 ปีเดือนละ 400 บาท ปี 2559 รัฐบาลขยับขึ้นให้เด็กอายุ 0-3 ปี เพิ่มเป็นเดือนละ 600 บาท แต่มีเงื่อนไขเรื่องระบบคัดกรองและพบว่ามีเด็กตกหล่น เด็กยากจนทุกร้อยคนจะพบว่าตกหล่น 30 คน เพราะการตั้งเงื่อนไขเรื่องรายได้เฉลี่ยของครอบครัวไม่เกิน 3,000 บาทต่อเดือน ในขณะที่ระบบคัดกรองมีความซับซ้อนอย่างมากแม้แต่คนจนจริงๆก็ตกหล่น ซึ่งอยากบอกว่า เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดควรเป็นสิทธิของเด็กถือเป็นสวัสดิการขั้นพื้นฐาน ซึ่งจะทำให้รัฐได้รับประโยชน์สูงสุด และเด็กก็ได้รับประโยชน์สูงสุดด้วยเช่นกัน คือสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้าควรจะได้ตั้งแต่ 0-6 ปี เดือนละ 600 บาท หากยังใช้ระบบคัดกรองต่อไปเด็กจะตกหล่นเข้าไม่ถึงสิทธิอีกจำนวนมาก ซึ่งข้อเสนอดังกล่าวมีงานวิจัยหลายชิ้นที่บอกถึงการตกหล่นของเด็ก และมีจำนวนไม่น้อยที่ควรได้รับเงินตรงนี้โดยถือเป็นสวัสดิการพื้นฐาน
“ปัจจุบันนี้ ผู้สูงอายุ ผู้พิการได้รับสวัสดิการเบี้ยยังชีพเท่ากันโดยถือเป็นสวัสดิการ รวมถึงสิทธิในการเข้าถึงการรักษาพยาบาล การศึกษาฟรีสำหรับเด็กทุกคน แต่ทำไมเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด0-6 ปีจึงเฉพาะเด็กยากจนส่งผลให้มีการคัดกรองและตกหล่นทั้งระบบเลย” สุนี กล่าว
สุนี กล่าวอีกว่า ทำไมถึงยอมให้เรื่องสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด0-6 ปีทำให้เด็กต้องตกหล่นไม่ได้รับสวัสดิการดังกล่าว ต่อให้รัฐบาลมีแนวโน้มขยับให้รายได้เพิ่มสูงกว่า 3,000 บาท ถึงบัตรสวัสดิการของรัฐ 100,000 บาท ต่อปี แต่ยังใช้ระบบคัดกรองเช่นเดิม ใครจะทราบว่าใครมีรายได้เท่าไร และยังคงมีคนที่ตกหล่นจากระบบดังกล่าว ฉะนั้นเครือข่ายฯมีข้อเรียกร้องเสนอให้รัฐบาลมีนโยบายชัดเจนประกาศออกมาในปีนี้ ให้จัดสวัสดิการพื้นฐานเงินอุดหนุนเด็กเล็กแบบถ้วนหน้าอย่างน้อย 0-6 ปี เดือนละ 600 บาท
ด้าน พันธ์ศักดิ์ เจริญ ผู้อำนวยการส่วนประสานมวลชนและองค์กรประชาชน สำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้แทนรับข้อเสนอ และรายชื่อต่าง พร้อมรับปากว่า จะนำข้อเสนอกราบเรียนถึงนายกรัฐมนตรี ภายในวันนี้ และท่านคงมีคำตอบให้กับทางเครือข่ายแน่นอน
| ['ข่าว', 'คุณภาพชีวิต', 'เงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า', 'สุนี ไชยรส', 'นโยบายสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กแบบถ้วนหน้า'] |
https://prachatai.com/print/79539 | 2018-11-09 23:06 | เลื่อนเปิดผลหยั่งเสียงผู้นำประชาธิปัตย์ กกต.ปชป. ระบุขอคุย 3 ผู้ท้าชิงหารือหลังพบข้อร้องเรียน | คณะกรรมการการหยั่งเสียงเลือกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แถลงเลื่อนประกาศผล ระบุการตรวจสอบคะแนน และการประมวลผลล่าช้า ต้องใช้เวลามากเพื่อความถูกต้อง เผยพรุ่งนี้นัด 3 ผู้ท้าชิงเข้าหารือหลังมีข้อร้องเรียน กรณีใดผิดจริงจะไม่นำมาคิดเป็นคะแนน กรณีได้ไม่เป็นประเด็นมาก หาก 3 ฝ่ายยอมรับร่วมกันได้ก็ยุติ
9 พ.ย. 2561 18.20 น. คณะกรรมการการหยั่งเสียงเลือกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (กกต.ปชป.) ได้แถลงข่าว ขอเลื่อนการประกาศผลการหยั่งเสียงเลือกหัวหน้าพรรคออกไปเป็นวันพรุ่งนี้ โดยชุมพล กาญจนะ ประธาน กกต.ปชป. เปิดเผยว่าวันที่ 10 พ.ย. เวลา 09.00 ได้นัดผู้สมัครทั้ง 3 คน เข้าหารือ เพื่อพูดถึงหลักเกณฑ์การตรวจสอบคะแนนมีความซ้ำซ้อน และเมื่อทุกฝ่ายยอมรับในหลักเกณฑ์ก็จะมีการเปิดผลคะแนนทันที
ชุมพล กล่าวด้วยว่า หามีการเปิดผลคะแนนวันนี้ทันทีคาดว่าผลคะแนนที่ออกมาจะไม่มีความชัดเจน เพื่อให้เกิดความรอบคอบ จึงต้องเชิญผู้สมัครทั้ง 3 คนมาคุยกัน เนื่องจากในช่วงของการหยั่งเสียงมีผู้ร้องเรียนปัญหาเข้ามาหลายจุด ซึ่งจะต้องนำเรื่องมาพิจารณา อย่างไรก็ตามกฎกติกาที่วางไว้ก็ไม่ได้เข็มงวดมาก เพราะเป็นการแข่งกันเองในครอบครัว หาก 3 ผู้สมัครยอมรับหลักเกณฑ์การตรวจสอบคะแนน ซึ่งทั้ง 3 ฝ่ายยอมรับเรื่องการเลื่อนการประกาศผลเรียบร้อยแล้ว
ชุมพล กล่าวต่อว่า กรณีเรื่องร้องเรียนที่มีเข้ามา หากตรวจสอบและพบชัดเจนว่า มีการทำผิดเงื่อนไขก็จะตัดคะแนนในหน่วยนั้นออกไปจากการคำนวณทันที แต่ในกรณีที่เป็นประเด็นที่ทุกฝ่ายยอมรับร่วมกันได้ก็จะไม่มีปัญหาอะไร
เจิมมาศ จึงเลิศศิริ เลขานุการ กกต.ปชป. กล่าวเสริมว่า มีการส่งเรื่องร้องเรียนมาหลายช่องทาง แต่ส่วนมากเป็นเรื่องเกี่ยวกับการนำบัตรประชาชนไปวางไว้รวมกัน ซึ่งมีการตรวจสอบเบื้องต้นแล้วพบว่าเจ้าของบัตรประชาชนก็อยู่บริเวณหน่วยลงคะแน แต่รอลงคะแนนนานจึงนำบัตรมาวางไว้ก่อน อีกกรณีเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเปลี่ยนสถานที่ลงคะแนน โดยไม่ได้มีการบอกล่วงหน้า เช่น บางสะพาน ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งประสบปัญหาน้ำท่วมกระทันหัน นอกจากนี้ก็มีเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่ไม่เป็นประเด็นปัญหามาก คาดว่าจะยอมรับร่วมกันได้
เจิมมาศ กล่าวต่อว่า สาเหตุที่ยังไม่สามารถประกาศคะแนนได้ในวันนี้ เพราะหากมีการเปิดคะแนนก็จะสามารถเพียงคะแนนดิบเท่านั้น แต่ในกระบวนการยังต้องเอาคะแนนไปถอดรหัส และนำไปประมวลผล พร้อมทั้งตรวจสอบการลงคะแนนซ้ำ โดยเงือนไขของ กกต.ปชป. คือ หากมีการลงคะแนนผ่านแอปพลิเคชั่น จะต้องมีการลงทะเบียนโดยการถ่ายรูปบัตรประชาชน พร้อมถ่ายรูปเซลฟีส่งเป็นหลักฐานยืนยัน การตรวจสอบข้อมูลในส่วนนี้จะใช้เวลานาน เนื่องจากมีการตรวจสอบอย่างละเอียด
| ['ข่าว', 'การเมือง', 'การหยั่งเสียงเลือกหัวหน้าพรรค', 'พรรคประชาธิปัตย์'] |
https://prachatai.com/print/79540 | 2018-11-10 04:08 | ทหารบุกถึงบ้านอดีต กปปส. หลังวิจารณ์สุเทพ-รบ. เหตุรู้สึกถูกหลอกเป็นเครื่องมือ | อดีต กปปส. ที่ถูกทหารบุกมาพบที่บ้าน หลังโพสต์วิจารณ์สุเทพ-รัฐบาลทหาร เผยสาเหตุที่โพสต์เพราะ เห็นสุเทพกล่าวหาคนต่อต้านการเดินคาราวะแผ่นดินว่าเป็นพวกฝ่ายตรงข้าม ตนเองในฐานะอดีต กปปส. รู้สึกเก็บกดมานาน และต้องการแสดงตัวว่าที่ผ่านมาถูกหลอกใช้เป็นเครื่องมือ
10 พ.ย. 2561 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวานนี้ ผู้ใช้เฟซบุ๊ก ปนิธิ แสนปราญช์ [1] ได้ไลฟ์เฟซบุ๊กแถลงถึงกรณีที่มีเจ้าหน้าที่ทหารในเครืองแบบเดินทางเข้ามาพบที่บ้าน หลังจากที่เขาได้โพสต์เฟซบุ๊ก (เมื่อวันที่ 8 พ.ย.) กล่าวถึงความผิดพลาดของตัวเองที่เคยไปเข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองกับกลุ่ม กปปส. โดยในโพสต์ดังกล่าวเขาได้วิพากษ์วิจารณ์ สุเทพ เทือกสุบรรณ และรัฐบาลทหาร
ปนิธิ ระบุว่า เวลาประมาณ 12.30 น. (9 พ.ย.) มีเจ้าหน้าที่ทหาร 3 นาย เข้ามาพบตนที่บ้านพัก โดยถือวิสาสะเข้ามาภายในบริเวณบ้าน และบริเวณโรงงาน โดยไม่ได้รับอนุญาต แต่หลังจากตนเองได้ถ่ายเฟซบุ๊กไลฟ์เจ้าหน้าที่ทหารทั้ง 3 นาย กลับหลบออกไปจากบริเวณบ้าน ตนเองจึงได้เดินตามออกไป ระหว่างนั้นเจ้าหน้าที่ได้แจ้งกับตนว่า ต้องการมาหาเพื่อพูดคุยเพียงเท่านั้นไม่ได้มาด้วยจุดประสงค์อื่น อย่างก็ตามในเจ้าหน้าที่เข้ามาไปปรึกษากับผู้บังคับบัญชาว่าจะดำเนินการพูดคุยอย่างไรต่อ สุดท้ายเจ้าหน้าที่ทหารได้เดินมาลาเพื่อขอตัวกลับ โดยที่ยังไม่ได้พูดคุยใดๆ ทั้งสิ้น
ปนิธิ ได้เฟซบุ๊กไลฟ์อีกครั้งหลังเหตุการณ์ดังกล่าวผ่านพ้นไป เขาระบุว่า คิดอยู่ก่อนหน้าแล้วว่าจะถูกเจ้าหน้าที่ทหารมาหาที่บ้าน เพียงแต่ไม่คิดว่าจะรวดเร็วขนาดนี้
“ผมรู้แหละว่าทหารมาหาผมเพราะอะไร เป็นเพราะผมโพสต์ ว่าตัวเองเป็น อดีต กปปส. ต่อสู้มาแล้วก็เห็นการดำเนินเรื่องต่างๆ ของแผ่นดิน มันรู้สึกเก็บกดครับ ความเก็บกดมันเลยพรั่งพรูออกมาเยอะ เพราะมันอยู่ในก้นบึ้งของหัวใจ และผมถือว่าบ้านนี้เมืองนี้ต้องพูดเรื่องจริงได้... สาเหตุที่ผมเขียนโพสต์ออกไปก็เป็นคุณสุเทพ ออกไปเดินคาราวะแผ่นดิน แล้วมีคนออกไปต่อต้าน สิ่งที่คุณสุเทพทำคือ ไปบอกว่าคนที่ต่อต้านนั้นเป็นพวกฝั่งตรงข้าม เป็นคนเสียผลประโยชน์ ผมเห็นก็รู้สึกว่าเราต้องทำอะไรสักอย่าง... ผมเพียงออกมาพูดแทนคนอีกหลายคนว่าตัวเองถูกหลอกใช้เป็นเครื่องมือ” ปนิธิ กล่าว
| ['ข่าว', 'การเมือง', 'สิทธิมนุษยชน', 'กปปส.', 'ทหาร', 'ปนิธิ แสนปราญช์', 'สุเทพ เทือกสุบรรณ', 'คสช.'] |
https://prachatai.com/print/79541 | 2018-11-10 08:51 | ใบตองแห้ง: ลมหายใจแดงไม่แพ้ |
มาอีกแล้ว ปฏิทินแม้ว-ปู ภัยความมั่นคงร้ายแรง รับเทศกาลปีใหม่ ถ้าช่วงสงกรานต์ ก็ขันแดงตัวอันตราย ทหารตำรวจยกทัพโยธากวาดล้างขนานใหญ่ จี้เส้นได้ไม่จบสิ้นทุกปี
ก็รู้ดีว่าเอาผิดใครไม่ได้ แม้ว ปู ถูกตัดสินว่าผิด หนีคดี แต่เอาภาพมาทำปฏิทินผิดตรงไหน จอมพลสฤษดิ์ทุจริตถูกยึดทรัพย์ ทหารก็ยังกราบไหว้รูปปั้นกันอยู่ ทำปฏิทินถ้าจะผิดก็คือไม่ขออนุญาตเจ้าตัว ภาพไม่สวยเลย เจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจอะไร ไปจับไปยึด นี่ถ้าไม่มี ม.44 อ.สมลักษณ์ จัดกระบวนพล ก็ชี้ว่าจะมีความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
การไล่จับปฏิทินก็เลยกลายเป็นไวรัล โลกออนไลน์ทำภาพล้อกันครื้นเครง แบบนี้ได้ไหม อย่างนี้ผิดไหม ทำไมเห็นอะไรสีแดงๆ ต้องพุ่งเข้าใส่ มวลชนเสื้อแดงก็ไม่กลัว ยึดปฏิทิน เรียกตัวเข้าค่าย ก็ถ่ายภาพโชว์ลงเฟซ
ทำไมไม่คิดอย่างไพศาล พืชมงคล ว่าเป็นเหยื่อล่อให้กินเบ็ด เป็นการประจาน “ประเทศกูมี” ไทยแลนด์ 4.0 แค่ปฏิทินก็โดนจับ
อันที่จริง คสช.ควรคิดให้รอบคอบกว่านั้นอีก ปกครองประเทศเกือบห้าปี ห้ามโน่นห้ามนี่ทุกอย่าง กระทั่งห้ามใส่เสื้อแดงยังเคย แต่ทำไมคนยังนิยมทักษิณ ทำไมมวลชนไม่ยอมจำนน เสื้อแดงบางคนโดนทหารเยี่ยมบ้านทุกอาทิตย์ ก็ยังเฉย แค่อดทนรอเวลา รอทีข้าบ้างเท่านั้นเอง
คนชั้นกลางอนุรักษนิยมฟังแล้วคงคลั่งใจ พวกงมงายขี้ข้าแม้ว ทั้งที่ความจริงแล้วไม่ใช่ แม้ไม่สามารถแยกกันได้ แต่ก็เพราะเสื้อแดงกับแม้วกลายเป็นผู้ถูกกระทำ ผู้ถูกรัฐประหาร มีหัวอกอันเดียวกันจนแยกไม่ออก
ตั้งแต่ปี 51-53 มันไม่ใช่เรื่องประชานิยม หรือผลประโยชน์ที่ได้จากนโยบายรัฐบาลอีกต่อไป มันกลายเป็นเรื่องที่มวลชน “ไพร่” อันไพศาล ตระหนักว่าตัวเองเป็นเจ้าของอำนาจ เป็นเสียงข้างมากที่เลือกรัฐบาล ไม่ยอมให้ใครอ้างศีลธรรมความดีงามหรือกฎหมาย มาแย่งยึดอำนาจไป เมื่อเห็นว่ารัฐบาลที่ตนเลือก ถูกโค่นอย่างไม่ชอบธรรม จึงแสดงพลังอย่างโกรธแค้น
ม็อบเสื้อแดงปี 53 คือจุดเปลี่ยนการเมืองไทย ภาพคนชนบท คนชั้นกลางระดับล่าง ใส่เสื้อแดงฉาน โทนสีน่า สะพรึง กรีดเลือดสกปรก เดินไปตามถนนเมืองกรุง ที่คนชั้นกลางระดับบนคนมั่งมีมองลงมาจากห้องแอร์ในตึกสูง ท่ามกลางแม่บ้าน ยาม แท็กซี่ คนงาน ฯลฯ แห่ต้อนรับ
มันเป็นภาพประวัติศาสตร์ แห่งการลุกขึ้นตื่นของเสียง ข้างมาก ซึ่งนับจากนั้น ก็ไม่มีวันกลับไปหลับใหล โดยเฉพาะเมื่อเป็นฝ่ายถูกกระทำ และไม่สามารถทวงความยุติธรรม เลือกตั้งชนะถล่มทลายก็ยังถูกรัฐประหารซ้ำ
นี่มันไม่ใช่เรื่องของความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ที่หวังว่าแก้ปัญหาปากท้อง ด้วยประชารัฐ ไทยนิยม แล้วคนจะเลิกทวงอำนาจ บัตรคนจน 11.4 ล้านใบ จะลบ 10.5 ล้านเสียงไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ หรือกดข่มไว้ 4-5 ปี เดี๋ยวก็ยอมจำนน เราคนไทย ฯลฯ
ก็ไม่ได้ฟันธงหรอกว่า เสื้อแดงยังเข้มแข็ง หลังถูกคุมเข้มมาเกือบ 5 ปี พลังเสื้อแดงเพิ่งเติบโต ก็มีทั้งความคิดอิสระและสับสนปนเป แต่อย่างน้อย คนที่ตาสว่างแล้วก็ยากจะหลับใหล โดยเฉพาะคนที่ถูกกระทำก็ยังสู้อยู่ทุกลมหายใจ ไม่ยอมแพ้แม้หมดลมหายใจ เช่น “จ๋า” ผู้หญิงยิง ฮ. ซึ่งเพิ่งจากไป
“ผู้หญิงยิง ฮ.” เป็นประวัติศาสตร์ชาติ เพราะน่าจะมีแต่ประเทศกู ที่แม่ค้าขายผักโดนจับฐานใช้อาวุธสงครามประทับบ่ายิง ฮ.ทหาร ยังดีศาลยกฟ้องเพราะอาวุธเป็นคลังที่อ้างว่าค้นเจอ ไม่มีลายนิ้วมือจำเลย แต่กว่าจะได้ปล่อยตัวก็ติดคุก 1 ปี 4 เดือน หลังจากนั้นยังถูกจำคุก 1 ปีฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังทหารเมื่อปี 52 แม้ไม่ได้ซ้อมทหารตับแตกก็ผิดไง
จากแม่ค้าที่ไม่เคยสนใจการเมือง ไม่พอใจพันธมิตร ไปชุมนุมสนับสนุนรัฐบาลที่จตุจักร หลังปี 49 ชุมนุมกับกลุ่มคนวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการที่สนามหลวง เธอกลายเป็น “เสื้อแดงแถวหน้า” มาตลอดทศวรรษ
นี่คือภาพแทนคนอีกมาก ที่ไม่เกี่ยวข้องอะไรกับนักการเมือง แต่ลุกขึ้นมาสู้เพราะไม่พอใจว่าตัวเองถูกละเมิดสิทธิ ตัวเองก็เป็นเจ้าของอำนาจ ประเทศไม่ใช่ของทหารกับ “พวกผู้ดีชนชั้นกลาง” เท่านั้น
เสื้อแดงแถวหน้าจึงมีคนธรรมดาสามัญจำนวนมาก ไม่ขาดสาย ลุงยิ้ม ตาสว่าง ผู้หญิงยิง ฮ. แดงเสรีชน แดงอุบล อุดร ขอนแก่น เชียงใหม่ ฯลฯ
เพราะคนที่ตื่นขึ้นมาแล้ว ไม่มีวันยอมแพ้ แม้หมดลมหายใจ ถ้าไม่เข้าใจข้อนี้ ก็ไม่มีวันจบ
เผยแพร่ครั้งแรกใน: ข่าวสดออนไลน์ www.khaosod.co.th/hot-topics/news_1803801 [1]
| ["'ใบตองแห้ง' ออนไลน์", 'การเมือง', 'สิทธิมนุษยชน', 'ใบตองแห้ง', 'นฤมล วรุณรุ่งโรจน์', 'จ๋า ผู้หญิงยิง ฮ.', 'คนเสื้อแดง'] |
https://prachatai.com/print/79534 | 2018-11-09 19:21 | กสม. ถกแม่ทัพภาคที่ 4 ขอกองทัพวางมาตรการคุ้มครองสิทธิผู้ถูกควบคุมตัวชายแดนใต้ | กสม. หารือกับแม่ทัพภาคที่ 4 ขอให้กองทัพคำนึงถึงความกังวลและความห่วงใยของญาติและผู้ถูกควบคุมตัวในสถานที่ควบคุมตัว โดยขอให้มีมาตรการหรือแนวทางที่เป็นไปเพื่อคุ้มครองสิทธิในชีวิตและร่างกายของผู้ถูกควบคุมตัว
9 พ.ย.2561 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (สนง.กสม.) รายงานว่า ชาติชาย สุทธิกลม กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เปิดเผยถึงการเข้าพบเพื่อหารือร่วมกับ พล.ท.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ แม่ทัพภาคที่ 4 และผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาค 4 (ผอ.กอ.รมน. ภาค 4) ต่อนโยบายและแนวทางความร่วมมือด้านการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2561 ณ ค่ายเสนาณรงค์ จังหวัดสงขลา ว่า ในการหารือดังกล่าว กสม. ได้ขอให้กองทัพคำนึงถึงความกังวลและความห่วงใยของญาติและผู้ถูกควบคุมตัวในสถานที่ควบคุมตัว โดยขอให้มีมาตรการหรือแนวทางที่เป็นไปเพื่อคุ้มครองสิทธิในชีวิตและร่างกายของผู้ถูกควบคุมตัว ซึ่งหากกองทัพสามารถสร้างความมั่นใจต่อญาติและผู้ถูกควบคุมตัวได้ว่าจะได้รับการปฏิบัติอย่างเหมาะสมตามหลักสิทธิมนุษยชน ก็จะสามารถลดข้อร้องเรียนได้ในระดับหนึ่ง
ส่วนเรื่องร้องเรียนประเด็นสิทธิในกระบวนการยุติธรรมที่รับเป็นคำร้องและเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบของ กสม. นั้น ได้ชี้แจงว่า หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความร่วมมือในการตรวจสอบ ย่อมส่งผลให้รายงานผลการตรวจสอบยุติได้โดยเร็วซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่ายรวมถึงภาพลักษณ์ของประเทศชาติ
ชาติชาย กล่าวต่อว่า ในการหารือครั้งนี้ พล.ท.พรศักดิ์ ยืนยันว่าจะให้ความสำคัญเรื่องการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนต่อประชาชนในพื้นที่ตลอดจนผู้ถูกควบคุมตัว และให้ความร่วมมือกับ กสม. ในการตรวจสอบข้อเท็จจริงจากเรื่องร้องเรียนทุกกรณีอย่างทันเหตุการณ์ โดย กสม. และพนักงานเจ้าหน้าที่สามารถเข้ามาตรวจสอบได้ทุกกรณี
ทนายสิทธิฯ ตั้ง 5 ข้อสังเกต ต่อประกาศ กอ.รมน. ให้ 'หนองจิก' เป็นพื้นที่ควบคุมพิเศษ [1]
คพศ. ขอ ตร.เรียกตัวแทน ม.อ.ปัตตานี ปราม นศ. PerMAS ปมค้านประกาศ 'พื้นที่ควบคุมพิเศษ' [2]
BRN ย้ำตัวบุคคลไม่สำคัญเท่าหลักการเจรจา หลัง รบ.ไทยเปลี่ยนหัวหน้าทีมคุย [3]
ขณะที่เมื่อเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา พล.ท.ปิยวัฒน์ นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 4 ขณะนั้น ได้ประกาศ กอ.รมน. กำหนดให้ผู้ที่อาศัยในพื้นที่ ต.บางเขา และ ต.ท่ากำซำ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี นำอาวุธปืน และเครื่องกระสุนทุกชนิด รถยนต์ รถจักรยานยนต์ และเรือทุกประเภทมาแสดงต่อเจ้าหน้าที่ทหารเพื่อตรวจสอบตั้งแต่วันที่ 17-23 ก.ย.61 ณ ที่ว่าการอำเภอหนองจิก จ.ปัตตานี ภายหลังเกิดเหตุการณ์ซุ่มยิงทหารพรานเสียชีวิต 2 นาย บาดเจ็บอีก 4 นายขณะที่ทั้งหมดกำลังเดินกลับฐานใน อ.หนองจิก เมื่อวันที่ 11 ก.ย. ที่ผ่านมา ทำให้เกิดกระแสต่อต้านประกาศดังกล่าว โดยเฉพาะสหพันธ์นิสิตนักศึกษาเยาวชน นักเรียนปาตานี (PerMAS) รวมทั้ง พูนสุข พูนสุขเจริญ ทนายความสิทธิมนุษยชน ที่ชี้ว่าประกาศดังกล่าวมีปัญหาทั้งความลักลั่นในการบังคับใช้กฎหมายในพื้นที่ และหลักความได้สัดส่วน
| ['ข่าว', 'สิทธิมนุษยชน', 'ความมั่นคง', 'แม่ทัพภาคที่ 4', 'ชายแดนใต้', 'คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ', 'ชาติชาย สุทธิกลม', 'พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์'] |
https://prachatai.com/print/79543 | 2018-11-10 14:20 | 'อภิสิทธิ์' ชนะหยั่งเสียงเลือกหัวหน้าพรรค 'ประชาธิปัตย์' |
10 พ.ย. 2561 ไทยรัฐออนไลน์ [1] รายงานว่าที่ประชุมพรรคประชาธิปัตย์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายแพทย์วรงค์ เดชกิจวิกรม นายอลงกรณ์ พลบุตร เดินทางมาร่วมประชุมกับ กกต. พรรคฯ ก่อนจะเปิดผลคะแนนการหยั่งเสียงเลือกตั้งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์
ล่าสุดเมื่อเวลา 13.00 น. ผลการหยั่งเสียงเลือกตั้งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้ประกาศว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้เป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ด้วยคะแนน 67,505 คะแนน ขณะที่ นายแพทย์วรงค์ เดชกิจวิกรม ได้ 57,689 คะแนน นายอลงกรณ์ พลบุตร ได้ 2,285 คะแนน โดยผู้ลงสมัครฯ ได้ร่วมชูมือแสดงความยินดีกับนายอภิสิทธิ์ที่ได้เป็นหัวหน้าพรรคอีกครั้ง
ด้าน นายอภิสิทธิ์ กล่าวขอบคุณ กกต.พรรค ผู้สมัครชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคที่ร่วมกันทำให้กระบวนการนี้มีความบริสุทธิ์ ยุติธรรม และประชาชนทุกคนที่ฝ่าฝนฝ่าน้ำท่วมไปลงคะแนน ทั้งหมดนี้เป็นกำลังใจให้ผมมีกำลังใจในการทำงานต่อไป
| ['ข่าว', 'การเมือง', 'พรรคประชาธิปัตย์'] |
https://prachatai.com/print/79544 | 2018-11-10 14:39 | 'เภสัชกรชายแดน' เผยเกษตรกรใช้ 'ยาปฏิชีวนะ' ใน 'สวนส้ม' อย่างแพร่หลาย | ทีมงาน 'เภสัชกรชายแดน' ติดตามการนำยาปฏิชีวนะ Amoxycillin ไปใช้ในสวนส้ม พบว่าปัจจุบันเกษตรกรได้ทำกันอย่างแพร่หลาย โดยซื้อยาปฏิชีวนะมาแกะเม็ดแคปซูลออกเอาแต่ผงยาออกมาละลายน้ำค้างไว้ 1 คืน หลังจากนั้นนำมากรองเอาแต่น้ำใส่ขวดแล้วนำมาฉีด 1 ปีจะฉีด 3 ครั้ง ไม่เช่นนั้นส้มจะเหลืองและตาย
ที่มาภาพ: เพจเภสัชกรชายแดน [1]
เมื่อวันที่ 9 พ.ย. 2561 เพจเภสัชกรชายแดน [1] รายงานว่าทีมงานเภสัชกรชายแดน ร่วมกับทีมทำงานในพื้นที่ชายแดนแห่งหนึ่งทางภาคเหนือของประเทศไทย ติดตามการนำยาปฏิชีวนะ Amoxycillin ไปใช้ในสวนส้ม ซึ่งแม้จะมีข้อมูลเผยแพร่มาก่อนหน้านี้ราว 5 ปี ตั้งแต่มีงานวิจัยของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งว่าสามารถใช้ยาปฏิชีวนะฉีดเข้าไปในต้นส้ม ผ่านท่อน้ำเลี้ยง ท่ออาหาร เพื่อกำจัดเชื้อคล้ายแบคทีเรีย Bacteria like ซึ่งเป็นสาเหตุการเกิดโรคกรีนนิ่งในต้นส้มได้ ขณะที่หน่วยงานซึ่งทำหน้าที่กำกับดูแลทางด้านการเกษตรระบุว่ามีการใช้เฉพาะในพื้นที่จำกัด แต่ข้อเท็จจริงในเวลานั้น ได้เริ่มมีเกษตรกรชาวสวนส้ม นำทฤษฎีดังกล่าวมาใช้แล้ว
ทีมงานพบว่าปัจจุบันเกษตรกรได้ทำกันอย่างแพร่หลาย โดยเกษตรกรจะไปซื้อยาปฏิชีวนะ (ยาอันตรายที่ต้องส่งมอบยาโดยเภสัชกร ไม่สามารถซื้อหาได้โดยทั่วไป) มาแกะเม็ดแคปซูลออกเอาแต่ผงยาออกมาละลายน้ำค้างไว้ 1 คืนหลังจากนั้นนำมากรองเอาแต่น้ำ ใส่ขวดแล้วนำมาฉีด โดย 1 ปีจะฉีด 3 ครั้ง ไม่เช่นนั้นส้มจะเหลืองและตาย
ทีมงานฯ พบผง Amoxycillin เกลื่อนพื้นดิน ซึ่งสามารถซึมสู่แหล่งน้ำใต้ดินต่อไปได้ พบชาวสวนเกษตรกรสัมผัสผงยาโดยตรง และแน่นอนว่าผู้บริโภคมีความเสี่ยงอย่างสูงที่จะได้รับยาปฏิชีวนะเกินความจำเป็นจากการตกค้างในผลส้ม นำไปสู่สภาวะเร่งเร้าให้เกิดเชื้อดื้อยาและบางคนอาจแพ้ยาที่ตกค้างในส้ม การที่แพ้ยาอาจจะแพ้ยาถึงขั้นแพ้แบบรุนแรง ทั้งแบบ Steven-Johnson Syndrome และ Toxic Epidermal Necrolysis (TEN) ที่เป็นการแพ้ยาที่มีความรุนแรงมาก อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตจากการที่เซลล์ผิวหนังตาย ผู้ป่วยจะมีไข้ เจ็บคอ อ่อนเพลียอย่างรุนแรง ผู้ป่วยจะเริ่มจากมีการมีแผลในบริเวณช่องปากและที่ริมฝีปาก (อาจเกิดแผลที่บริเวณอวัยวะเพศและที่บริเวณก้นด้วยก็ได้) และเริ่มมีอาการทางผิวหนังคือเกิดผื่นและผิวหนังที่เกิดผื่นจะเกิดการลอกอย่างรุนแรงตามมา
เกษตรกรชาวสวนส้ม เจ้าของสวนส้ม นักวิจัยด้านเกษตร นักวิชาการและข้าราชการด้านส่งเสริมการเกษตร อาจต้องมองให้รอบด้านมากยิ่งขึ้นเพราะทุกวันนี้ พบการปนเปื้อนยาปฏิชีวนะในอาหารจำมากขึ้น กระทั่งในอนาคตมีแนวโน้มว่ามนุษย์จะไม่มียาใช้สำหรับต่อสู้กับเชื้อธรรมดาพื้นฐาน เพราะร่างกายของมนุษย์ดื้อต่อยาต่างๆ ไปเสียแล้ว
| ['ข่าว', 'สังคม', 'คุณภาพชีวิต', 'สิ่งแวดล้อม', 'เกษตรกร', 'สวนส้ม', 'ยาปฏิชีวนะ', 'เภสัชกรชายแดน'] |
https://prachatai.com/print/79545 | 2018-11-10 14:56 | สนช.มีมติให้ ครม.รับร่าง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ไปพิจารณาปลดล็อคกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ | สนช.เห็นชอบให้ ครม.รับร่าง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ฉบับ 'สมชาย แสวงการ' และคณะเสนอไปพิจารณา ช่วยปลดล็อคกัญชาเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ก่อนส่งกลับให้ สนช.พิจารณาวาระรับหลักการใน 30 วัน
ที่มาภาพประกอบ: Thomas Hawk (CC BY-NC 2.0) [1]
เมื่อวันที่ 9 พ.ย. 2561 เว็บไซต์สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา รายงานว่าที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เห็นชอบให้คณะรัฐมนตรีขอรับร่าง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ฉบับที่ นายสมชาย แสวงการ และคณะสมาชิก สนช. รวม 44 คน เข้าชื่อเสนอไปพิจารณา โดยมีนายปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นตัวแทนรัฐบาล พร้อมระบุถึงกระบวนการที่จะนำกลับไปพิจารณาในกรอบเวลา 30 วัน ก่อนส่งกลับมายัง สนช. เพื่อเข้าสู่การพิจารณาในวาระรับหลักการต่อไป สำหรับร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 กำหนดให้สามารถขออนุญาต ผลิต นำเข้าหรือส่งออก ยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ซึ่งประกอบด้วยกัญชา และกระท่อม เป็นการปลดล็อคให้นำกัญชาและพืชกระท่อมไปทำการศึกษาวิจัย เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ และนำไปรักษาภายใต้การดูแลและควบคุมของแพทย์
ทั้งนี้แม้ขณะนี้มีร่างประมวลกฎหมายยาเสพติดอยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นกรรมาธิการของ สนช. แต่ด้วยเนื้อหาที่มีจำนวนมากและต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ซึ่งต้องใช้เวลาพอสมควร อาจพิจารณาไม่ทันวาระของ สนช.ชุดนี้ จึงเสนอแก้ไขเพิ่มเติมประเด็นกัญชาและพืชกระท่อม ซึ่งได้รับการยอมรับแล้วว่ามีประโยชน์ทางการแพทย์และอุตสาหกรรมยา ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศและประชาชน
| ['ข่าว', 'การเมือง', 'สังคม', 'คุณภาพชีวิต', 'พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ', 'การใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์', 'กัญชา', 'สนช.', 'สุขภาพ'] |
https://prachatai.com/print/79546 | 2018-11-10 15:57 | เผย ป.ป.ช.เล็งปรับแก้ 'สังฆราช' ไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน |
10 พ.ย. 2561 เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ [1] รายงานว่านายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการหารือกับตัวแทนคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อหาทางออกเกี่ยวกับประกาศ ป.ป.ช.ฉบับล่าสุด เรื่องการยื่นแสดงบัญชีรายการทรัพย์สินและหนี้สินว่ายังไม่ได้คำตอบ ปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นไม่ใช่มีเพียงกรณีนายกและกรรมการสภามหาวิทยาลัยจะยื่นใบลาออกเท่านั้น แต่ยังมีข้อข้องใจในตำแหน่งอื่นๆ อีก เช่น กรณีที่พ้นจากตำแหน่งไปแล้ว แต่ยังรักษาการอยู่ และตำแหน่งนี้ไม่เคยยื่นบัญชีทรัพย์สินมาก่อน เมื่อมีประกาศ ป.ป.ช.จะต้องยื่นหรือไม่ โดย ป.ป.ช.รับไปพิจารณาให้ ส่วนตำแหน่งที่ตั้งขึ้นมาเพื่อให้ทำหน้าที่รักษาการ อย่างกรณี พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รักษาการอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ตัวแทนจาก ป.ป.ช.ตอบชัดเจนว่าไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน ขณะที่กรณีสมเด็จพระสังฆราชไม่ใช่เพราะเป็นสมเด็จพระสังฆราช แต่ทรงเป็นนายกสภามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ตัวแทนจาก ป.ป.ช.เห็นว่า มีเหตุผลหลายประการที่ไม่จำเป็นต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน จึงขอนำไปพิจารณาแก้ไขต่อไป
นายวิษณุกล่าวว่าทั้งนี้เรื่องการแก้ไขประกาศดังกล่าวเป็นอำนาจของ ประธาน ป.ป.ช.อยู่แล้ว ซึ่งจะปรับปรุงแก้ไขอย่างไรมีหลายวิธี แต่ที่สุดแล้วต้องรอดูว่า ป.ป.ช.จะยอมหรือไม่ เนื่องจากที่ต้องออกประกาศมา เพราะเห็นว่า ผู้ที่จะต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินจะต้องมีคุณลักษณะคือ 1.ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 2.ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง 3.เจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามที่ ป.ป.ช.กำหนด ดังนั้น การยื่นบัญชีทรัพย์สินครั้งนี้จึงได้เหมารวมองค์การมหาชน กรรมการสภามหาวิทยาลัย และบอร์ดต่างๆ ส่วนกรณีที่กรรมการสภามหาวิทยาลัยจะลาออกนั้น ป.ป.ช.ได้รับทราบแล้ว ส่วนจะแก้ไขปัญหาอย่างไรเป็นเรื่อง ป.ป.ช.
เว็บไซต์ข่าวสด [2] ยังรายงานว่านายวิษณุกล่าวว่าทั้งนี้เรื่องการแก้ไขประกาศดังกล่าวเป็นอำนาจของ ประธาน ป.ป.ช.อยู่แล้ว ซึ่งจะปรับปรุงแก้ไขอย่างไรมีหลายวิธี แต่ที่สุดแล้วต้องรอดูว่า ป.ป.ช.จะยอมหรือไม่ เนื่องจากที่ต้องออกประกาศมา เพราะเห็นว่า ผู้ที่จะต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินจะต้องมีคุณลักษณะคือ
1.ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 2.ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง 3.เจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามที่ ป.ป.ช.กำหนด ดังนั้น การยื่นบัญชีทรัพย์สินครั้งนี้จึงได้เหมารวมองค์การมหาชน กรรมการสภามหาวิทยาลัย และบอร์ดต่างๆ ส่วนกรณีที่กรรมการสภามหาวิทยาลัยจะลาออกนั้น ป.ป.ช.ได้รับทราบแล้ว ส่วนจะแก้ไขปัญหาอย่างไรเป็นเรื่อง ป.ป.ช.
“คนที่จะลาออกส่วนหนึ่งเพราะจะครบวาระอยู่แล้ว อย่างเช่นนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ที่จะครบวาระในเดือน ม.ค. 2562 อยู่แล้ว และกลับมาเป็นไม่ได้แล้ว ท่านเห็นว่าประกาศนี้จะมีผลในวันที่ 2 ธ.ค.จึงบอกว่าจะอยู่ไปทำไมให้ครบวาระแล้วก็จะต้องยื่น จึงออกไปเสียแต่ตอนนี้ เพื่อไม่ต้องไปยุ่งกับประกาศที่จะมีผลกระทบในวันที่ 2 ธ.ค.เพราะคนที่คิดอย่างนี้มีเยอะ” นายวิษณุ กล่าว
นายวิษณุ กล่าวว่ากรณีของนายกและกรรมการสภามหาวิทยาลัยที่เกิดขึ้นไม่คิดว่าจะมีปัญหาเกี่ยวกับลับลมคมใน หรือไม่ต้องการเปิดเผย แต่ทุกคนมีปัญหาเดียวคือ ความรำคาญ จุกจิก ยุ่งยาก เหมือนกับที่หลายครั้งตนได้เชิญคนเข้ามาเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) หรือคณะรัฐมนตรีในอดีตเมื่อทราบว่าจะต้องแสดงบัญชีทรัพย์สินด้วยหลายคนจึงปฏิเสธไป ไม่ใช่ว่ากลัวความผิดจากการทุจริต แต่จุกจิก รำคาญ และกลัวผิดพลาด ทั้งยังมีคนจับตาดูอยู่ จึงไม่อยากเข้ามายุ่ง ดังนั้นกรรมการสภามหาวิทยาลัยหลายคนจึงเห็นว่าเป็นเรื่องยุ่งยาก เพราะนอกจากยื่นบัญชีทรัพย์สินตัวเองแล้ว ยังต้องยื่นของคู่สมรสและบุตรด้วย หลายคนจึงคิดว่าลาออกดีกว่า หากจะแลกเบี้ยประชุมแค่ 2,000 บาทต่อครั้ง
นายวิษณุ กล่าวว่าในการหารือกับรองเลขาธิการคณะกรรมการป.ป.ช.พบว่า การที่เขาไม่ค่อยอยากยื่นกันนั้นเพราะเกิดความยุ่งยาก เช่นหากต้องตก อยู่ในฐานะผู้จัดการกองมรดก เพราะบางครั้งแยกไม่ออกว่าอันไหนของตัวเองอันไหนของมรดก อีกทั้งแบบฟอร์มการกรอกของป.ป.ช. ก็ยุ่งยากเหมือนกัน ซึ่งก็ได้ คุยกันว่าป.ป.ช. ควรไปแก้ไขปรับปรุงแบบฟอร์มให้มันง่าย แต่ละเอียด คือให้อ่านแล้วรู้ทันทีว่ากรอกอย่างไร ไม่ใช่เหมือนการกรอกแบบฟอร์มยื่นภาษี ที่หลายคนจะกรอกก็ต้องไปจ้างคนอื่นมากรอกให้ ฉันใดก็ฉันนั้น
ผู้สื่อข่าวถามว่าคิดว่าตำแหน่งนายกและกรรมการสภามหาวิทยาลัย เป็นตำแหน่งให้คุณให้โทษหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องเห็นใจ ป.ป.ช.ด้วย เพราะตำแหน่งนายกและกรรมการสภามหาวิทยาลัยนั้นให้คุณให้โทษ สามารถแต่งตั้งอธิการบดี คณบดี อนุมัติงบประมาณ แม้ในความเป็นจริงการอนุมัติงบประมาณของมหาวิทยาลัยจะไม่สูงถึงขั้นที่สภามหาวิทยาลัยจะต้องพิจารณา เพราะจากประสบการณ์ยังไม่เคยเห็นมหาวิทยาลัยใดอนุมัติงบประมาณถึงพันล้านบาท ดังนั้น เรื่องงบประมาณจึงอยู่ในอำนาจของอธิการบดีทั้งหมด กรรมการสภามหาวิทยาลัยถึงได้บ่นว่าไม่เคยเข้าไปยุ่งอะไรกับเรื่องเหล่านี้ แล้วทำไมจึงต้องมายุ่งกับเขา
นายวิษณุ ยังเปิดเผยด้วยว่า ได้พบและพูดคุยกับ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช.แล้ว โดยประธานป.ป.ช.เข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นอย่างดี จึงได้ส่งรองเลขาธิการ ป.ป.ช.มาหารือกับตนเมื่อวันที่ 9 พ.ย.ที่ผ่านมาเพื่อหาทางออกต่อไป “ได้พบ พูดคุยกันแล้วตัวต่อตัว ซึ่งป.ป.ช.เข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นอย่างดี ส่วนผมเห็นใจท่านเพราะไม่ได้มีทางเลือกสักเท่าไหร่ เพราะกฎหมายบอกเอาไว้ว่าตำแหน่งต่อไปนี้จะต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน นั่นหมายถึง ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่ง ระดับสูง เจ้าหน้าที่ของรัฐอื่นตามที่ป.ป.ช.กำหนด”
| ['ข่าว', 'การเมือง', 'คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ', 'ป.ป.ช.', 'วิษณุ เครืองาม', 'กรรมการสภามหาวิทยาลัย', 'สมเด็จพระสังฆราช'] |
https://prachatai.com/print/79547 | 2018-11-10 16:25 | 'ชนกนันท์' อดีตโฆษกประชาธิปไตยใหม่ ได้รับสถานะผู้ลี้ภัยในเกาหลีใต้แล้ว |
น.ส.ชนกนันท์ รวมทรัพย์ หรือ 'การ์ตูน' อดีตโฆษกขบวนการประชาธิปไตยใหม่ (แฟ้มภาพประชาไท)
10 พ.ย. 2561 มติชนออนไลน์ [1] รายงานว่า น.ส.ชนกนันท์ รวมทรัพย์ หรือ 'การ์ตูน' อดีตโฆษกขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ได้ไลฟ์สดเฟสบุ๊คจากประเทศเกาหลี โดยระบุว่าเวลานี้ ตัวเองได้รับสถานะเป็นผู้ลี้ภัยในเกาหลีเรียบร้อยแล้ว โดยใช้ระยะเวลาในการดำเนินการเพียง 9 เดือนเท่านั้น โดย น.ส.ชนกนันท์ ได้เล่าถึงขั้นตอน การเตรียม เอกสารในการร้องขอต่อรัฐบาลเกาหลีใต้ จนกระทั่งได้รับสถานะเป็นผู้ลี้ภัย ถือเป็นคนแรกของปีนี้ที่ได้รับสถานะโดยไม่ต้องขึ้นศาล สาเหตุสำคัญที่ได้รับสถานะเร็ว น่าจะเป็นเพราะได้รับความช่วยเหลือ จากผู้ขอลี้ภัยคนอื่นๆที่ได้รับสถานะแล้วจากประเทศอื่นๆ ที่สำคัญคืออาจจะเป็นเพราะเคยมีนักข่าวเกาหลีจากนิตยสาร ฉบับหนึ่งที่ค่อนข้างได้รับความนิยมอย่างมาก มาสัมภาษณ์ และตนได้ขึ้นหน้าปก
"ดีใจมากที่ได้รับสถานะผู้ลี้ภัยแล้ว ขอบคุณทุกคนที่ให้ความช่วยเหลือด้วยดีเสมอมา ต่อไปนี้ก็คงไปสมัครเรียนต่อ อยากเรียกมนุษยวิทยา ไม่อยากเรียนรัฐศาสตร์" น.ส.ชนกนันท์ กล่าว
| ['ข่าว', 'การเมือง', 'สิทธิมนุษยชน', 'ชนกนันท์ รวมทรัพย์', 'ผู้ลี้ภัย', 'เกาหลีใต้'] |
https://prachatai.com/print/79548 | 2018-11-10 17:10 | เผยความเห็นขอเพิ่มอัตรากำลังคน รฟท. เตรียมเข้า ครม. แล้ว หลังผลักดันมาตั้งแต่ ก.ย. 2560 | 10 พ.ย. 2561 สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) เปิดเผยว่าเมื่อวันที่ 29 ต.ค.2561 ที่ผ่านมา ความเห็นประกอบเรื่องการขออนุมัติอัตรากำลังพนักงานการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้อยู่ที่สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) แล้ว เพื่อรอนำเสนอเข้าวาระการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) หลังจากก่อนหน้านี้มีการผลักดันของทั้ง การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และ สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.)
สหภาพแรงงานรถไฟพบ รมว.คมนาคม ทวงถามกรณีเพิ่มพนักงานสหภาพแรงงานรถไฟพบ รมว.คมนาคม ทวงถามกรณีเพิ่มพนักงาน [1]รฟท. จ่ายค่า ‘ทำงานวันหยุด-โอที’ กว่าพันล้าน เหตุขาดกำลังคน [2]
โดยลำดับเหตุการณ์การเคลื่อนไหวผลักดันให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาการขาดแคลนอัตรากำลังของการรถไฟแห่งประเทศไทย อันเนื่องมาจาก มติ ครม.เมื่อ 28 ก.ค. 2541 คณะกรรมการบริหาร สร.รฟท. ทั้งส่วนกลางและสาขาภูมิภาค นำโดยนายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธาน สร.รฟท. ได้ถือเอาเรื่องนี้เป็นความสำคัญขั้นสูงสุด เพื่อให้รัฐบาล (ครม.) ยกเลิก มติ ครม.เมื่อ 28 ก.ค. 2541 ให้ รฟท.เปิดรับพนักงานใหม่ทดแทนพนักงานที่ขาดแคลนและเพื่อรองรับแผนการพัฒนาการขนส่งทางรางตามนโยบายของรัฐบาลอีกด้วย การดำเนินการของ สร.รฟท. เริ่มตั้งแต่การเข้ารับหน้าที่ มีดังนี้
21 ก.ย. 2560 ได้เข้าพบนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ซึ่งรัฐมนตรีก็ได้รับทราบปัญหาและอุปสรรคที่ สร.รฟท.เสนอ และยังพบว่าอัตรากำลังที่ได้รับอนุมัติครั้งก่อนเมื่อ ธ.ค. 2553 ยังคงเหลืออีก 109 อัตรา จนเป็นที่มาของการนำเอาอัตราดังกล่าวไปบรรจุให้กับนักเรียน วรฟ.รุ่น 59
20 มี.ค. 2561 ในที่ประชุมคณะกรรมการกิจการสัมพันธ์ สร.รฟท.ได้เสนอเรื่องพิจารณา ขอให้การรถไฟเร่งดำเนินการจัดหาอัตรากำลังพนักงานโดยเร่งด่วน และวางแผนการบริหารเรื่องอัตรากำลังพนักงานให้สอดคล้องกับปริมาณงานที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ฝ่ายทรัพยากรบุคคลรายงานว่ากำลังเร่งรัดดำเนินการ
9 เม.ย. 2561 สร.รฟท.ได้ออกแถลงการณ์เรื่อง ขอให้การรถไฟและรัฐบาลเร่งมาตรการเพิ่มอัตรากำลังพนักงานก่อนวิกฤติ
25 เม.ย. 2561 ได้เข้าพบนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ผู้บริหารกระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย เพื่อติดตามความคืบหน้า ซึ่ง รัฐมนตรี ได้สั่งการให้ รฟท.จัดทำรายละเอียดและข้อมูลความต้องการอัตรากำลังให้ปลัดกระทรวงภายในวันที่ 4 พ.ค. 2561
4 พ.ค. 2561 ฝ่ายทรัพยากรบุคคล การรถไฟฯ ได้ทำหนังสือชี้แจงรายละเอียดความต้องการอัตรากำลังทั้งหมดไปยังปลัดกระทรวงคมนาคม โดยการรถไฟฯ ต้องมีพนักงานทั้งหมด 19,241 อัตรา แยกเป็นพนักงาน 16,660 อัตรา และลูกจ้าง 2,581 อัตรา
8 พ.ค. 2561 สร.รฟท.ได้ออกจดหมายข่าว เรื่อง อัตรากำลัง...สำคัญ...จำเป็นต่อการดำรงอยู่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย
15 มิ.ย. 2561 สร.รฟท. ทำหนังสือถึง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ปลัดกระทรวงคมนาคม และประธานกรรมการรถไฟ เรื่อง ขอการสนับสนุนให้เร่งดำเนินการเรื่องเพิ่มอัตรากำลังของพนักงานการรถไฟแห่งประเทศไทย
21 มิ.ย. 2561 สร.รฟท. เข้าพบ ประธานกรรมการรถไฟฯ กรรมการ และผู้บริหารการรถไฟฯ ประธานกรรมการรถไฟได้แจ้งให้ทราบว่า การรถไฟฯได้ดำเนินการขอเพิ่มอัตรากำลังไปยังกระทรวงแล้ว
27 ส.ค. 2561 ประชุมคณะกรรมการกิจการสัมพันธ์ สร.รฟท.ได้ติดตามเรื่องอัตรากำลัง ได้รับคำชี้แจงจากฝ่ายทรัพยากรบุคคลว่า กระทรวงคมนาคม ได้มีหนังสือถึงการรถไฟฯเมื่อ 21 มิ.ย. 2561 ให้การรถไฟฯชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติม และฝ่ายทรัพยากรบุคคลก็ได้จัดทำรายละเอียดเพิ่มเติมชี้แจงกลับไปแล้ว เมื่อ 3 ส.ค. 2561
17 ก.ย. 2561 สร.รฟท. ได้ไปยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้ทบทวน มติ ครม. 28 ก.ค. 2541 ที่ศูนย์รับเรื่องร้องเรียน ทำเนียบรัฐบาล
26 ก.ย. 2561 ทาง สร.รฟท.ได้เข้าพบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่ห้องประชุม 2 กระทรวงคมนาคม เพื่อติดตามความคืบหน้า ในเรื่องการขอเพิ่มอัตรากำลังของพนักงานการรถไฟแห่งประเทศไทย
26 ต.ค. 2561 ทาง สร.รฟท.ติดตามความคืบหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ได้รับแจ้งว่าทาง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ลงนามเสนอความเห็นในส่วนที่เกี่ยวข้องส่งไปที่ สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) แล้ว
29 ต.ค. 2561 ความเห็นประกอบเรื่องการขออนุมัติอัตรากำลังพนักงานการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) อยู่ที่สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี(สลค.)แล้ว รอนำเสนอเข้าวาระการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)
| ['ข่าว', 'การเมือง', 'เศรษฐกิจ', 'สังคม', 'แรงงาน', 'คุณภาพชีวิต', 'สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย', 'การรถไฟแห่งประเทศไทย', 'รฟท.', 'รถไฟ'] |
https://prachatai.com/print/79549 | 2018-11-10 17:58 | 'พลังประชารัฐ' รับสมัครสมาชิกพรรควันแรก 13 พ.ย.นี้ | 'พลังประชารัฐ' รับสมัครสมาชิกพรรควันแรก 13 พ.ย.นี้ 'กรุง ศรีวิไล' อำลา 'ภูมิใจไทย' เตรียมย้ายซบพลังประชารัฐ โฆษกสามมิตรเชื่อหลังกลุ่มสามมิตรเข้าร่วมพลังประชารัฐจะยิ่งคึกคัก
10 พ.ย. 2561 นายวิเชียร ชวลิต นายทะเบียนพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เปิดเผยว่าหลังจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้รับรองพรรค พปชร. เมื่อวันที่ 7 พ.ย. ที่ผ่านมา นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรค นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรค พร้อมด้วยกรรมการบริหารพรรค ได้ประชุมหารือและได้ทำหนังสือขออนุญาตทำกิจกรรมทางการเมืองจาก กกต. ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 13/2561 เรื่องการดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (เพิ่มเติม) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยพรรค พปชร. จะเริ่มดำเนินการเปิดรับสมัครสมาชิกอย่างเป็นทางการ ณ ที่ทำการพรรค พปชร. อาคารปานศรี เลขที่ 130/1 ถ.รัชดาภิเษก (ซ.รัชดาภิเษก 54) แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กทม. ตั้งแต่วันที่ 13 พ.ย.นี้เป็นต้นไป
“พรรค พปชร. เน้นนโยบายในเรื่องการนำเทคโนโลยีมาอำนวยความสะดวกกับประชาชนและสนับสนุนสร้างเสริมการพัฒนาประเทศ ดังนั้นในการรับสมัครสมาชิกของพรรค จึงได้นำเทคโนโลยีเครื่องอ่านบัตรประชาชนสมาร์ทการ์ดมาใช้ โดยประชาชนที่สนใจเข้าร่วมสมัครเป็นสมาชิกพรรค แค่นำบัตรประชาชนสมาร์ทการ์ดเพียงใบเดียวมาเป็นหลักฐานการยื่นสมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรค พปชร. ได้ ซึ่งพรรคได้วางระบบไอทีเชื่อมโยงข้อมูลประวัติในชิพการ์ดมาใส่ในแบบฟอร์มสมาชิกพรรคได้ทันที ส่วนข้อมูลเพิ่มเติม เช่น ที่อยู่ปัจจุบัน เบอร์โทรศัพท์ สามารถพิมพ์ข้อมูลเพิ่มเข้าไปได้ โดยเสียเวลากับการกรอกแบบฟอร์มเพียงไม่กี่นาทีเท่านั้น” นายวิเชียร กล่าว
นายวิเชียร กล่าวด้วยว่า กระบวนการรับสมัครสมาชิกที่รวดเร็วและถูกต้องจากบัตรประชาชนสมาร์ทการ์ด เป็นการสะท้อนให้เห็นว่า พรรค พปชร. ให้ความสำคัญกับการนำระบบไอทีมาใช้ และในอนาคตพรรค จะสร้างระบบรองรับการสมัครเป็นสมาชิกพรรคแบบออนไลน์ได้จากทั่วทุกมุมโลกอีกด้วย นอกจากนี้จะมีระบบปฏิบัติการเป็นแอปพลิเคชั่นที่สื่อสารแบบ 2 ทาง คือ พรรค พปชร. สามารถส่งข้อมูลข่าวสาร นโยบาย เพื่อสื่อสารกับสมาชิกพรรค ในขณะที่สมาชิกพรรคสามารถส่งข้อมูล ตรวจสอบสถานภาพ สะท้อนปัญหา แสดงความเห็นส่งกลับมาให้พรรคทำการรวบรวม วิเคราะห์ และนำเสนอต่อผู้บริหารพรรค เพื่อกำหนดเป็นนโยบายหรือแนวทางแก้ปัญหาให้กับประชาชนได้ เป็นการตอกย้ำอุดมการณ์ร่วมคิดร่วมทำของพรรค พปชร. เพื่อให้พรรค พปชร. เป็นพรรคของประชาชนคนไทยทุกคนอย่างแท้จริง
ทั้งนี้ในวันที่ 11 พ.ย. เวลา 09.00 น. นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ จะเดินทางมายังที่ทำการพรรค พปชร. อาคารปานศรี เพื่อตรวจความพร้อมการเปิดรับสมัครสมาชิกพรรคและหารือเตรียมความพร้อมการทำกิจกรรมพรรคด้วย
'กรุง ศรีวิไล'อำลา 'ภูมิใจไทย' ทั้งน้ำตาซบ 'พลังประชารัฐ'
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 9 พ.ย. 2561 ที่ผ่านมานายกรุง ศรีวิไล หรือกรุงศรีวิไล สุทินเผือก อดีต ส.ส.สมุทรปราการ พรรคภูมิใจไทย ได้เดินทางไปยัง กกต. เพื่อยื่นหนังสือลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคภูมิใจไทย โดยให้เหตุผลว่า ไม่สามารถทำงานให้พรรคภูมิใจไทยได้อย่างเต็มที่ และไม่สามารถทำตามกฎระเบียบของพรรคคือการช่วยหาสมาชิกพรรคได้ จึงตัดสินใจที่จะลาออกจากพรรคเพราะละอายใจที่ไม่สามารถช่วยงานพรรคได้
“การลาออกครั้งนี้ เป็นการจากันด้วยดี เพราะพรรคก็คัดค้าน อยากให้อยู่ต่อ แต่ผมตัดสินใจแล้วว่าจะออกจากพรรค เพื่อทำงานให้จังหวัดสมุทรปราการได้อย่างเต็มที่ ยอมรับว่าที่ผ่านมาน้อยใจเพราะได้ยินว่าพรรคคาดหวังกับ ส.ส.พื้นที่สมุทรปราการเพียง 1 ที่นั่ง ทั้งที่มี ส.ส.ได้ถึง 7 คน ประเด็นนี้จึงเป็นเหตุผลที่ตัดสินใจลาออกจากพรรค” นายกรุงศรีวิไล กล่าว
นายกรุงศรีวิไล กล่าวว่าหลังจากนี้จะไปสมัครเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ วันที่ 19-20 พ.ย. นี้ ตามที่มีผู้ใหญ่ของพรรคมาทาบทามไปร่วมงานด้วย ยืนยันว่าไม่มีเรื่องเงิน และเรื่องดูดมาเกี่ยวข้อง เป็นเรื่องของศักดิ์ศรีลูกผู้ชาย ที่อยากจะทำงานการเมืองรับใช้ประชาชน เพราะจังหวัดสมุทรปราการยังต้องได้รับการแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะเรื่องปากท้องของประชาชน เมื่อไปพรรคพลังประชารัฐ จะได้ลง ส.ส.สมุทรปราการ จึงต้องมา
“วันนี้ที่มายื่นใบลาออกที่ กกต. เพราไปที่พรรค ก็ไม่มีคนรับเรื่อง มีแต่คนคัดค้าน เพื่อจะให้อยู่กับพรรคต่อ การจากกันครั้งนี้ ไม่มีปัญหาอะไร และเชื่อว่าเมื่อผมร่วมงานกับพรรคพลังประชารัฐ ก็จะมีมีปัญหาเช่นกัน” นายกรุงศรีวิไล กล่าวและว่าการเลือกตั้งครั้งนี้นี้จะเป็นการวัดศักดิ์ศรี เพราะหากหมดการเลือกตั้งครั้งนี้จะวางมือเพราะอายุ 72 ปีแล้ว
อย่างไรก็ตามนายกรุง ศรีวิไล กล่าวว่าการลาออกจากสมาชิกพรรคภูมิใจไทยในครั้งนี้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค และนายเนวิน ชิดชอบ ซึ่งเป็นผู้ใหญ่ของพรรค ยังไม่ทราบ
'อนุทิน' ระบุ 'ภูมิใจไทย' ไม่สนตั้งพรรคสาขา
นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยและนายทรงศักดิ์ ทองศรี รองหัวหน้าพรรคให้การต้อนรับ 2 อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จ.ชัยภูมิ พรรคเพื่อไทย คือนายประสิทธิ์ ชัยวิรัตนะ และ น.ส.สุนทรี ชัยวิรัตนะ หลานสาวประสิทธิ์ที่มาสมัครเป็นสมาชิกพรรคภูมิใจไทย โดยนายประสิทธิ์ กล่าวว่าสาเหตุการย้ายพรรคเพราะเกิดปัญหาทับซ้อนการส่งผู้สมัคร ส.ส.ในพื้นที่ ซึ่งจนถึงขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจน จึงรอไม่ไหว ต้องรีบหาพรรคสังกัดก่อนหมดเวลา โดยตนจะลงสมัคร ส.ส.ชัยภูมิ เขต 1 ส่วน น.ส.สุนทรี จะลงสมัคร ส.ส.ชัยภูมิ เขต 2
“ที่มีข่าวว่าผมไม่พอใจบทบาทของคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย ยืนยันว่าการย้ายพรรคในครั้งนี้ผมและหลานสาวไม่ได้ขัดแย้งกับใคร เชื่อว่าประชาชนจะเข้าใจและเป็นผู้ตัดสินผลการเลือกตั้ง ส่วนสาเหตุที่ย้ายมาอยู่พรรคภูมิใจไทยเพราะมีความเป็นกลางและสามารถเข้าได้กับทุกฝ่าย โดยเฉพาะหัวหน้าพรรคมีความสปอร์ต หากจะให้ผมรับผิดชอบพื้นที่ จ.ชัยภูมิ ก็ยินดี อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีอดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทยหลายคนมาปรับทุกข์ปัญหาการทับซ้อนพื้นที่เช่นเดียวกัน ซึ่งอาจจะย้ายมาพรรคภูมิใจไทย แต่ยังไม่ทราบว่าจะมีใครบ้าง ส่วนจะชนะเลือกตั้งหรือไม่ คงไม่มีใครมั่นใจ แต่คิดว่าทุกคนสู้กันแบบสุดฤทธิ์สุดเดช แต่ไอ้ที่ว่าแน่ๆ ก็สอบตกมาเยอะแล้ว” นายประสิทธิ์ กล่าว
เมื่อถามถึงความเห็นกรณีอดีตส.ส.พรรคเพื่อไทยไปอยู่พรรคไทยรักษาชาติ นายประสิทธิ์ กล่าวว่าปัญหาคือเรื่องความไม่ชัดเจนการส่งผู้สมัคร ส.ส.
นายอนุทิน กล่าวถึงกระแสข่าวนายภราดร และนายกรวีร์ ปริศนานันทกุล อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จ.อ่างทอง พรรคชาติไทยพัฒนาบุตรชายทั้ง 2 ของนายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล อดีตแกนนำพรรค ชทพ. ว่าในทางการเมืองไม่ควรพูดอะไรล่วงหน้า ซึ่งการจะย้ายพรรคมีกำหนดเวลาชัดเจนว่าจะต้องสมัครเป็นสมาชิกไม่เกินวันที่ 26 พ.ย. นี้ ซึ่งทุกคนทราบอยู่แล้ว จึงไม่ขอแสดงความเห็นใดที่จะเป็นการกดดันการตัดสินใจของใคร
ส่วนกรณีพรรคการเมืองบางพรรคถูกมองว่าตั้งสาขาพรรค หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่าพรรคภูมิใจไทยไม่จำเป็นต้องปรับกลยุทธ์ใดๆ ทางการเมืองเพราะทำงานการเมืองตรงไปตรงมามีความเป็นปึกแผ่นและมีมุ้งเดียวคือมุ้งภูมิใจไทย โดยไม่กังวลเรื่องความได้เปรียบเสียเปรียบทางการเมืองใดๆ ทั้งสิ้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าล่าสุด นพ.ไกร ดาบธรรม อดีต ส.ส.เชียงใหม่ พรรครวมชาติพัฒนาได้มาสมัครเป็นสมาชิกพรรคภูมิใจไทยเพื่อลงสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคด้วย และภายในวันที่ 16 พ.ย. นี้นายภราดรและนายกรวีร์จะมาสมัครเป็นสมาชิกพรรคภูมิใจไทยแน่นอนในสัปดาห์หน้า
โฆษกสามมิตรเชื่อหลังกลุ่มสามมิตรเข้าร่วมพลังประชารัฐจะยิ่งคึกคัก
10 พ.ย. 2561 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกกลุ่มสามมิตร กล่าวถึงความเคลื่อนไหวของอดีต ส.ส.ที่ย้ายพรรคจำนวนมากในช่วงนี้ว่า เป็นเรื่องปกติทางการเมือง และการย้ายพรรคนั้นคงเกิดจากหลายปัจจัย สำหรับสมาชิกในกลุ่มสามมิตรที่ย้ายไปอยู่กับพรรคการเมืองอื่นนั้นอาจจะมีบ้าง แต่ถือว่าน้อยมาก และเป็นการย้ายจากกันด้วยดี
ส่วนความนิยมของพรรคพลังประชารัฐที่เริ่มดีขึ้นเรื่อยๆ หลังจากที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต.ประกาศรับรองความเป็นพรรคแล้วนั้น นายธนกร เชื่อว่าเมื่อกลุ่มสามมิตรเข้าร่วมกับพรรคพลังประชารัฐอย่างเป็นทางการในวันที่ 18 พ.ย. พรรคจะยิ่งคึกคักขึ้น เพราะจะเริ่มพบปะพี่น้องประชาชน หาสมาชิกพรรค และจะมีนโยบายต่างๆ ออกมาด้วย โดยเฉพาะการหาเสียงเลือกตั้ง ซึ่งทั้งนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ และนายสมศักดิ์ เทพสุทิน แกนนำกลุ่มสามมิตร เป็นผู้ที่มีประสบการณ์สูงในการหาเสียงเลือกตั้ง ดังนั้น เชื่อว่าประชาชนทั่วประเทศจะให้ความไว้วางใจพรรคพลังประชารัฐ ขณะที่ไทม์ไลน์การเลือกตั้งที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีแถลงข่าวนั้น จากนี้ทุกอย่างคงเป็นไปตามนั้น ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร ทุกพรรคจึงควรเตรียมตัวเลือกตั้งดีกว่าพยายามสร้างเงื่อนไขนำไปสู่ความขัดแย้งอีก
ที่มาเรียบเรียงจากสำนักข่าวไทย [1] [1] [2] [2] [3] [3] [4] [4]
| ['ข่าว', 'การเมือง', 'พรรคพลังประชารัฐ', 'พรรคภูมิใจไทย', 'พรรคเพื่อไทย', 'พรรคชาติไทยพัฒนา'] |
https://prachatai.com/print/79550 | 2018-11-10 19:11 | เสวนา 'ยุทธศาสตร์จีนยุคใหม่ ไทยเตรียมพร้อมอย่างไร' แนะดึงชนชั้นกลางขยายความสัมพันธ์ | สมาคมนักข่าวจัดเสวนา 'ยุทธศาสตร์จีนยุคใหม่ ไทยเตรียมพร้อมอย่างไร' ที่ปรึกษาสถานทูตจีนเผยโอกาสของนานาประเทศใน 15 ปี ข้างหน้า จีนเป็นตลาดนำเข้าสินค้า 30 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ และนำเข้าบริการอีก 10 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ 'อดีตทูต' หนุนไทยปรับตัวรับกระแสอิทธิพลจีน ดึงชนชั้นกลางขยายความสัมพันธ์ประเทศ สื่อมวลชนและนักวิจัยอาวุโสแนะติวภาษาจีนให้แท็กซี่ไทย ใช้สื่อสารช่วยเหลือนักท่องเที่ยว คาดปริมาณนักท่องเที่ยวจีนแห่ทะลักเกิน 10 ล้านคน เร่งชิงความได้เปรียบเหนืออาเซียน รับจีนเปิดประตูเศรษฐกิจประเทศ
10 พ.ย. 2561 เวลา 09.45 น. ที่ห้องเจ้าพระยาบอลรูม โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค ถนนรัชดาภิเษก สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดปาฐกถาพิเศษ เรื่อง "ยุทธศาสตร์จีนยุคใหม่ ไทยต้องเตรียมพร้อมอย่างไร"
ทั้งนี้นางหยางหยาง ที่ปรึกษาการเมืองสถานทูตจีนประจำประเทศไทย กล่าวเปิดการเสวนาว่า มีคำกล่าวว่าไทยจีน ไม่ใช่ใครอื่นไกล แต่เป็นพี่น้องกัน โดยในปี 2018 ครบรอบ 40 ปีของการปฏิรูปจีน โดยความสำเร็จคือการพัฒนาประเทศ การเปิดประเทศ การปฏิรูปอย่างต่อเนื่อง จากนี้จะปฏิรูปประเทศ พัฒนาประเทศ ผ่านการเปิดประเทศให้กว้างขวางยิ่งขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการประชาชน ถือว่าเป็นยุทธศาสตร์จีนในยุคนี้ ขณะเดียวกันในอีก 15 ปีข้างหน้า จีนตั้งเป้าจะนำสินค้ามูลค่ามากกว่า 30 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ และอีก 10 ล้านล้านเหรียญสหรัฐเกี่ยวกับด้านการบริการ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นโอกาสอันดีสำหรับคนไทย
"อย่างที่ทราบกันดี คนจีน ชอบคนไทย อาหารไทย สินค้าไทย สถานที่ท่องเที่ยวในไทย เมื่อเร็วๆนี้ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีจีน เดินทางไปพบนายแจ็ก หม่า ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์อาลีบาบา เพื่อเชิญชวนให้นำสินค้าของเกษตรกรไทย ไปขายบนเว็บไซต์ให้เพิ่มมากขึ้น ถือเป็นโอกาสอันดีสำหรับพี่น้องคนไทยเป็นอย่างมาก" นางหยางหยาง กล่าว
นายวิบูลย์ คูสกุล อดีตเอกอัครราชทูตไทย ประจำสาธารณรัฐประชาชนจีน กล่าวว่า ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงตั้งแต่จีนเริ่มเปิดประเทศมี 3 ยุค 1.ยุคก่อตั้งประเทศ 2.ยุคพัฒนา และ 3.ยุคใหม่ ซึ่งยุคนี้เป็นยุคที่จีนแข็งแรงขึ้นมาแล้ว โดยมิติการพัฒนาที่น่าสนใจนั้น และช่วง 30 ปีแรกช่วงก่อตั้งมีการแก้ปัญหาภายในอย่างมากมาย จากนั้นอีก 10 ปีหลัง เป็นช่วงครบรอบ 40 ปีแห่งการปฏิรูป เป็นยุคแห่งการพัฒนา โดยในยุคแรกเติ้งเสี่ยวผิง ได้สร้างพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ และเปิดประเทศในปี 1978 แต่ในช่วงนั้นยังมีกระแสต่อต้านมากมายเกิดขึ้น แต่สุดท้ายก็เกิดการปฏิรูปมาถึงในยุคนี้ โดยในยุคของนายสี จิน ผิง ประธานาธิบดี ได้สนใจเรื่องต่างๆ มากมายโดยเฉพาะทดลองนวัตกรรมใหม่ๆ เริ่มที่เซียงไฮ้ แต่ขณะนี้ได้มีสงครามการค้ากับสหรัฐอเมริกา
"จีนตอกย้ำจะพัฒนาต่อไป แต่สิ่งที่เป็นปัญหาที่สุดคือการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายเศรษฐกิจอุตสาหกรรม จึงต้องดูว่าปลายเดือนนี้จะมีการพูดคุยในการประชุมจี 20 ระหว่างประธานาธิบดีของสหรัฐฯ และจีนจะเป็นอย่างไรต่อไป" นายวิบูลย์ กล่าว
นายวิบูลย์กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ เชื่อว่าเรื่องความสัมพันธ์ไทยจีนจะมีอย่างยั่งยืน ต้องมีความร่วมมือที่เอื้อประโยชน์และไว้วางใจกันของทั้งสองประเทศ ตั้งแต่อดีตประเทศไทยมีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่ผสมผสานระหว่างอินเดียและจีน โดยเฉพาะเรื่องอาหาร รวมถึงมีการค้าขายผ่านการล่องเรือสำเภา กลายเป็นความร่วมมือในแบบวินวินมาช้านาน ส่วนกระแสอิทธิพลของจีนที่มาแรงนั้น เป็นหน้าที่ของไทยต้องปรับใบเรือให้ได้มุมองศาเพื่อให้เรือได้แล่นฉลุยในจุดสมดุลที่ได้ผลประโยชน์ร่วมกันมากที่สุด
อดีตเอกอัครราชทูตไทย ประจำสาธารณรัฐประชาชนจีน กล่าวด้วยว่า ที่สำคัญต้องมองไปที่คนรุ่นใหม่ของจีน มีประชากรที่ใช้อินเตอร์เนตกว่า 800 ล้านคน แบ่งเป็นชนชั้นกลางกว่า 200 ล้านคน แต่จีนตั้งเป้าให้คนชั้นกลางเป็น 500 ล้านคนให้ได้ ทำให้พบว่าชนชั้นกลางกลุ่มนี้จะเป็นอนาคตของความสัมพันธ์ไทยจีนได้ ดังนั้นจะเป็นโจทย์ใหญ่ของประเทศไทยที่ต้องเตรียมความพร้อม เพราะชนชั้นกลางของจีนสนใจผลไม้ไทย อาหารไทย ละครไทย เรียกว่าสนใจทุกอย่างที่ไม่ใช่เรื่องการเมือง หรือเศรษฐกิจ นอกจากนี้ การเตรีมความพร้อมของไทยมีมติความมั่นคง อาจเกี่ยวกับมิติเศรษฐกิจ เช่นเรื่องการท่องเที่ยว เพราะตั้งแต่มีเหตุที่ภูเก็ตจนเกิดเรื่องใหญ่ในโลกออนไลน์ ต้องทำให้การบังคับใช้กฎหมายของไทยเข้มข้นมากขึ้น เพื่อแก้ปัญหาเรื่องความปลอดภัยให้ได้
"นอกจากนี้เราต้องปรับตัวเรื่องดิจิทัลต้องรีบตามให้ทัน หากต้องการโปรโมทสินค้าจะสามารถทำได้ทันที ทุกอย่างมาจากสิ่งที่นักท่องเที่ยวจีนเข้ามาในไทย ต้องทำให้สินค้าเป็นที่รู้จัก โดยผ่านนักท่องเที่ยวจีนที่เข้ามา ไทยจะต้องตามให้ทันและไม่ปิดกั้นนวัตกรรมดิจิทัลและเก็บเกี่ยวประโยชน์ให้มากที่สุด เพราะเราต้องปรับองศาใบเรือจากจุดของเรา เพราะจีนเมื่อ 40 ที่ปีแล้วไม่เหมือนเดิม ตั้งแต่ผลประโยชน์การค้า หรือการเข้ามาของนักท่องเที่ยว ดังนั้นจุดสมดุลที่จะเกิดขึ้น เราต้องโปรโมทการท่องเที่ยว กระจายรายได้เมืองรอง แต่ต้องรักษาสภาพแวดล้อมให้ได้ เพื่อสร้างจุดสมดุลเชิงคุณภาพและปริมาณให้เพื่อเลี่ยงปัญหาตามมา
นายวิบูลย์ กล่าวด้วยว่า ขณะเดียวกันไทยต้องสร้างมูลค่าเพิ่มจากที่ตั้งยุทธศาสตร์ของประเทศที่ได้เปรียบ ในฐานะเป็นศูนย์กลางของอาเซียน และเป็นประธานอาเซียนตั้งแต่วันที่ 15 พ.ย.2561 ต้องตั้งโจทย์ว่าเราต้องทำอย่างไรเพื่อเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจด้วย
ด้านนายกวี จงกิจถาวร สื่อมวลชนและนักวิจัยอาวุโส สถาบันความมั่นคงนานาชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ความสัมพันธ์ไทย-จีนมีเรื่องทุเรียนเป็นเรื่องหลัก เพราะประเทศไทยส่งออกทุเรียนสดไปจีนได้เป็นสิทธิพิเศษ ทั้งที่ประเทศมาเลเซียพยายามผลักดันทุเรียนของตัวเองเข้าไปจีนแต่กลับทำไม่ได้ สำหรับความสัมพันธ์ไทยจีนเป็นความเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยปีนี้คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวจีนมาไทยประมาณ 11 ล้านคน หรือเฉลี่ย 30,136 คนต่อวัน หรือขณะนี้มีคนจีนมาเรียนหนังสือในไทยจำนวน 3.7 หมื่นคน ส่วนคนไทยไปเรียนที่จีนอีก 2.7 หมื่นคนถือว่ามากที่สุดในอาเซียน โดยความสัมพันธ์ของสองประเทศมีข้างบนและระดับล่าง โดยเฉพาะระดับบนสมเด็จพระเทพฯเสด็จพระราชดำเนินไปจีนแล้ว 44 ครั้ง
"สิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างนักท่องเที่ยวจีน เรายังขาดความเข้าใจของวัฒนธรรมจีนอย่างมาก เช่นที่คนจีนคุยเสียงดังเวลาซื้อของ เพราะคนจีนไม่เคยไปต่างประเทศมาก่อน มาไทยเป็นประเทศแรก หรือไม่เคยไปเมืองใหญ่ในจีนเลย การเสียงดังไม่ใช่การเถียงกัน เขาซื้ออะไรจะซื้อเหมาไปเหมือนกัน ถ้าซื้อของไม่เหมือนกันจะถูกนินทา คนจีนก็จะกลัวเสียหน้ามาก จึงต้องซื้อเหมือนๆกัน ส่วนคนขับแท็กซี่ของไทยนั้นอยากให้คนขับฝึกภาษาจีนให้เพียงพอประมาณ 30 คำ เพราะคนจีนจะกลัวมากหากไม่รู้สุขาอยู่ที่ไหน ดังนั้นเราควรเพิ่มทักษะให้ผู้ที่เจอนักท่องเที่ยวจีนเยอะๆ เพื่อทำให้ความสัมพันธ์ระดับประชาชนดีขึ้น"นายกวี กล่าว
นากวี กล่าวด้วยว่า หากจะเห็นความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนต้องมีความเท่าเทียมในทุกระดับตั้งแต่บน กลาง และล่าง เพราะหากเปรียบเทียบความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น และไทย-สหรัฐฯจะมีลักษณะนี้มากกว่า ขณะเดียวกันความสำคัญของไทยกับจีนที่เพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม ดังนั้นไทยต้องเตรียมพร้อมรับมือเศรษฐกิจ นักท่องเที่ยวและการทูตมากขึ้น ขณะนี้ไทยเป็นประเทศแรกที่มีสถาบันทางวัฒนธรรมของจีน ส่วนไทยก็มีกงสุลในจีนถึง 9 แห่งมากกว่าประเทศอื่นในอาเซียนด้วย ที่สำคัญนโยบายของไทยต้องมีความต่อเนื่องด้วย
ขณะที่ รศ.ดร.นิยม รัฐอมฤต อดีตคณะบดีวิทยาลัยปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กล่าวว่าได้เดินทางไปปักกิ่งเมื่อเดินก.ย.พบว่าเปลี่ยนไปมาก ถึงจะเอาเงินหยวนไปก็ลำบาก เพราะทุกคนใช้จ่ายเงินผ่านมือถือไปหมด เห็นได้ว่าจีนยุคนี้มีการเปลี่ยนแปลงมากมาย ในยุคนี้มีความชัดเจนว่าผู้นำของจีนเป็นผู้มีวิสัยทัศน์ จึงเป็นแรงผลักดันให้จีนไปสู่ชาติที่เจริญรุ่งเรือง โดยเปิดกว้างประเทศให้ทัดเทียมกับประเทศอื่นๆ ได้ โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจ ถึงแม้จะถูกอเมริกาปิดล้อม แต่ก็หาทางออกในเรืองเส้นทางสายไหม โดยมองทุกอย่างเป็นเรื่องความร่วมมือ ปรองดอง และเอื้อประโยชน์ต่อกัน ดังนั้นจีนมีนโยบายเพื่อนบ้านที่ดี เป็นนโยบายใหม่ การขัดแย้งกับอเมริกา จึงพยายามผ่อนหนักเป็นเบาโดยมองเพื่อนบ้านเป็นเป้าหมายหลัก ถ้าไปเน้นตะวันตกอย่างเดียวจะไปด้วยกันไม่ได้
"ส่วนการรับมือคนจีนที่เข้ามา ไทยต้องเตรียมความพร้อมให้เรามีเป้าหมายที่ชัดเจน โดยจีนมีเป้าหมายครบ 100 ปีจัดตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีน ในปี 2020 เขามีเป้าหมายให้คนจีนไม่มีคนยากจนให้น้อยลง จากเดิมที่เน้นเรื่องเศรษฐกิจ ส่วนเป้าหมายครบ 100 ปีในการจัดตั้งประเทศจีนในปี 2049 เขาตั้งเป้าให้จีนเป็นประเทศพัฒนาแล้วมีรายได้ระดับปานกลาง ทำให้จะเห็นจีนพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมอย่างต่อเนื่อง ส่วนจะทำได้แค่ไหนจะต้องดูกันต่อไป" รศ.ดร.นิยม กล่าว
รศ.ดร.นิยม กล่าวด้วยว่า ทั้งนี้ ยังมีคำถามว่าไทยเตรียมความพร้อมทุกอย่างแค่ไหน นอกจากการเปิดประตูให้นักท่องเที่ยวจีนเข้ามากว่า 10 ล้านคน ตั้งแต่การเตรียมความพร้อมตั้งแต่ภาษา สิ่งอำนวยความสะดวก และความเข้าใจของคนจีน มองว่ายังเป็นความอ่อนด้อยของรัฐบาลที่ไม่ได้เตรียมความพร้อมรองรับ ขณะเดียวกันความสัมพันธ์ที่จีนมองไทยนั้น ถือว่ายังดีกว่าประเทศ อื่นๆ เพราะไทยมีเสน่ห์หลายอย่าง ภายหลังมีนักทองเที่ยวจีนเข้ามาในประเทศจำนวนมาก ดังนั้นไทยจึงต้องเตรียมความพร้อมมากกว่านี้
| ['ข่าว', 'เศรษฐกิจ', 'สังคม', 'คุณภาพชีวิต', 'ต่างประเทศ', 'สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย', 'จีน', 'วิบูลย์ คูสกุล', 'กวี จงกิจถาวร', 'นิยม รัฐอมฤต'] |
https://prachatai.com/print/79552 | 2018-11-10 22:00 | กวีประชาไท: บทกวีของพี่จ๋า |
"มึงไม่ต้องมาตามหรอกถ้าจะยิงก็ขอให้บอกให้ใครมาบอกแล้วเดี๋ยวจะเดินออกไปหาจะออกไปยืนให้ยิงมึงจะยิงด้วยอะไรก็ว่ามา”
นี่ล่ะ คือบทสัมภาษณ์พี่จ๋าที่เราอาจจัดวรรคมาเป็นบทกวีมันบอกเราว่าอะไรมันบอกความคับแค้นใจอย่างเหลือที่นักเลงจริงไม่ยิงก่อนถ้ามึงไม่ตีและนักเลงจริงก็เหลืออดเต็มที---กับวิธีลับๆล่อๆ ของพวกคุณ
ฆ่าแล้วก็ไม่กล้ารับว่าฆ่าแก๊สน้ำตายังเต็มตา ทั้งห่ากระสุนพรากชีวิตอิสรภาพอย่างทารุณแล้วถมทับทวงบุญคุณความลำเค็ญ
นักเลงจ๋านักเลงเม้งโผงผางริมถนนถึงบนห้างใครก็เห็นกราดวาจาท้าทายทุกประเด็นไม่ละเว้นแม้ที่ใครไม่อาจท้า
แต่--เสียงดังทั้งอย่างนั้นยังมีอันพ่ายเสียงที่ขี้ขลาดกว่าอ้างขื่อแป ลงแส้ เป็นขื่อคาพิพากษาความเงียบให้แก่เธอ
ดุจเดียวราษฎรสีแดงลั่นแผ่นดินเสียงแข็งใครเสมอแต่สังคมที่หลับใหลเพียงละเมอราษฎรตะโกนเก้อก็เดียวดาย
ไม่มีที่ทางในประวัติศาสตร์เพื่อนร่วมชาติเลือกจดจำเพียงบางสหายคนที่ต้องร้องฝ่ายเดียวไปจนตายลมหายใจสุดท้ายย่อมเงียบงัน
ไม่เป็นไร ไม่เป็นไร ไม่เป็นไรใครไม่จำ ก็ช่างใคร ความจำสั้นนักเลงจริงไม่ฟูมฟายร่ายรำพันไม่มีวันนั่งงอตีนสงสารตัวเอง
นักเลงจ๋าพิสูจน์มาด้วยชีวิตข่มเสียงไม่เคยสนิทแม้ข่มเหวันนี้มิตรสหายมาร่วมบรรเลงประวัติศาสตร์ของเราเองจึงเปล่งดัง
เป็นเสียงดังเสียงเดิมที่เคยสงัดที่สกัดรอสิ่งที่เรียกว่า "การเลือกตั้ง"นับถอยหลังรอออกเสียงให้คุณฟังนับวันรอใช้เสียงอีกครั้งให้จ๋าได้ยิน
เป็นความสงบรำงับที่กำกับไว้กลบคับแค้นในใจไม่รู้สิ้นฟางเส้นสุดท้าย ที่หวังว่าคุณจะได้ยินในวันที่ “จ๋า” สิ้นทุกเสียงแล้ว
หากไม่เช่นนั้นแม้นว่าคุณผิดกติกาบางทีบทกวีจากนักเลงที่ชื่อจ๋า จะยังคงแว่ว--
“มึงไม่ต้องมาตามหรอกถ้าจะยิงก็ขอให้บอกให้ใครมาบอกแล้วเดี๋ยวจะเดินออกไปหาจะออกไปยืนให้ยิงมึงจะยิงด้วยอะไร--ก็ว่ามา!”
ด้วยคารวะสดุดีแด่ “พี่จ๋า - นฤมล วรุณรุ่งโรจน์”
| ['บทความ', 'การเมือง', 'วัฒนธรรม', 'ไอดา ไม่มีนามสกุล', 'นฤมล วรุณรุ่งโรจน์', 'จ๋า ผู้หญิงยิง ฮ.', 'กวีประชาไท'] |
https://prachatai.com/print/79553 | 2018-11-10 22:49 | สุรพศ ทวีศักดิ์: สิทธิสนับสนุนเผด็จการคืออะไร |
สองสามวันมานี้มีการถกเถียงทางเฟซบุ๊คว่า เรามีสิทธิสนับสนุนเผด็จการหรือไม่? หรือ การสนับสนุนเผด็จการเป็นสิทธิหรือไม่? ซึ่งผมคิดว่านี่เป็นข้อดีของการมีสื่อโซเชียลที่ทำให้เราได้ถกเถียงกันในประเด็นปัญหาพื้นฐานที่ยากๆ และซับซ้อนได้ (ในระดับหนึ่ง) ผมอยากนำมาอภิปรายต่อผ่านบทความนี้
ปรัชญาการเมืองเสรีนิยม (liberalism) ฝ่ายที่ยืนยันสิทธิและเสรีภาพคู่กับประชาธิปไตย ย่อมปฏิเสธเด็ดขาดซึ่งอำนาจเผด็จการใดๆ ที่ล้มล้างหรือละเมิดหลักสิทธิและเสรีภาพ ไม่ว่าจะเป็นเผด็จการทรราชโดยบุคคล คณะบุคคล หรือทรราชเสียงข้างมาก โดยเฉพาะสิทธิและเสรีภาพทางความคิดเห็น และการแสดงออก แม้แต่รัฐบาลของประชาชนเองก็ไม่มีสิทธิ์อ้างการใช้อำนาจรัฐที่คล้อยตามความเชื่อ ประเพณี ทัศนะหรือความเห็นของคนส่วนใหญ่ปิดปาก หรือละเมิดสิทธิและเสรีภาพทางความคิดเห็นและการแสดงออกของปัจเจกบุคคลได้
แปลว่า โดยหลักสิทธิและเสรีภาพทางความคิดเห็นและการแสดงออก เราแสดงทัศนะที่แตกต่างได้เต็มที่ แม้แต่ทัศนะที่สังคมมองว่าหรือเชื่อว่าเป็นทัศนะที่ผิดหรืออันตราย ตราบใดที่การแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกนั้นๆ ยังเคารพหรือไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น (เช่นไม่ปลุกระดมให้คนไปตีหัวหรือเผาบ้านใครเป็นต้น)
แต่อย่างไรก็ตาม เราต้องแยกให้ออกระหว่างข้อความว่า “ถึงผมจะรังเกียจสิ่งที่คุณพูดมากเพียงใด แต่ก็จะปกป้องสิทธิที่จะพูดของคุณด้วยชีวิต” ที่เป็นการยืนยันการคงไว้ซึ่งสิทธิที่ละเมิดไม่ได้ กับข้อความว่า “ถึงผมจะรังเกียจเผด็จการที่ละเมิดสิทธิผมมากเพียงใด ผมก็จะปกป้องสิทธิของคุณที่จะสนับสนุนเผด็จการที่ละเมิดสิทธิผมด้วยชีวิต” ที่เป็นการยืนยันการสนับสนุนการละเมิดหรือทำลายสิทธิ
พูดอีกอย่าง การยืนยันว่า “การแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกเป็นสิทธิและเสรีภาพ” แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับการยืนยันว่า “การสนับสนุนเผด็จการเป็นสิทธิและเสรีภาพ” เพราะข้อความแรกเป็นการยืนยันการคงไว้ซึ่งหลักสิทธิและเสรีภาพ หรือเป็นการยืนยันว่าสิทธิและเสรีภาพเป็นสิ่งที่ละเมิดไม่ได้ แต่ข้อความหลังเป็นการยืนยันว่า การล้มหรือละเมิดหลักสิทธิและเสรีภาพเป็นสิ่งที่ทำได้ และควรสนับสนุน
ถ้าคุณยืนยันว่า การแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกเป็นสิทธิและเสรีภาพที่ละเมิดมิได้ พร้อมๆ กับการยืนยันสิทธิในการสนับสนุนอำนาจเผด็จการล้มหรือละเมิดสิทธิและเสรีภาพ คุณก็กำลังยืนยันหลักการสองหลักการที่ขัดแย้งกันเอง แต่ปรัชญาการเมืองที่ยืนยันหลักสิทธิและเสรีภาพคู่กับประชาธิปไตยจะไม่ยืนยันสองหลักการที่ขัดแย้งกัน มีแต่ยืนยันว่าสิทธิและเสรีภาพเป็นสิ่งที่ละเมิดมิได้ และยืนยันว่า ประชาชนมีสิทธิล้มล้างอำนาจเผด็จการใดๆ ที่ทำลายหลักสิทธิและเสรีภาพได้
นอกจากการยืนยันว่า “การสนับสนุนเผด็จการเป็นสิทธิ” จะขัดแย้งกับหลักสิทธิและเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตยเสียเอง การยืนยันดังกล่าวยังใช้ไม่ได้แม้ในระบบเผด็จการอีกด้วย เพราะในระบบเผด็จการไม่ได้ให้หลักประกันสิทธิและเสรีภาพ เช่นในระบบเผด็จการเกาหลีเหนือ ประชาชนก็ไม่ได้มีสิทธิสนับสนุนเผด็จการเลย เพราะอะไรที่เป็น “สิทธิ” ต้อง “เลือกได้” ว่าจะสนับสนุนหรือคัดค้าน แต่ในระบบเผด็จการประชาชนตกอยู่ภายใต้สภาพบังคับให้แสดงความคิดเห็นและแสดงออกในทางสนับสนุนเผด็จการได้ด้านเดียวเท่านั้น แสดงออกด้านตรงข้ามไม่ได้
ดังนั้น การยืนยันว่า “มีสิทธิในการสนับสนุนเผด็จการ” หรือ “การสนับสนุนเผด็จการเป็นสิทธิ” จึงเป็นข้อยืนยันที่แปลกแยกจากหลักสิทธิและเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตย และแปลกแยกแม้กระทั่งจากระบบเผด็จการเอง
จริงที่ว่าในสังคมประชาธิปไตยที่คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพทางความคิดเห็นและการแสดงออก ถือว่าประชาชนมีสิทธิและเสรีภาพแสดงความคิดเห็น แสดงออกซึ่งแนวคิด อุดมการณ์ทางการเมืองแบบเผด็จการ ชื่นชมเผด็จการได้ แต่นี่เป็นการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกภายใต้กรอบ หรือ “ขอบเขต” ของหลักสิทธิและเสรีภาพทางความคิดเห็นและการแสดงออกที่ต้องอยู่บนพื้นฐานของการ “เคารพหรือไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของคนอื่น” เสมอ หลักแห่งสิทธิและเสรีภาพปฏิเสธการใช้กำลังหรืออำนาจเผด็จการรูปแบบใดๆ ล้มล้างหรือละเมิดสิทธิและเสรีภาพของพลเมือง สังคมประชาธิปไตยที่เชิดชูหลักสิทธิและเสรีภาพไว้สูงสุดจึงไม่ได้ยืนยันว่า ประชาชน “มีสิทธิสนับสนุนเผด็จการที่ล้มล้างหรือละเมิดสิทธิและเสรีภาพ” หรือยืนยันว่า “การสนับสนุนเผด็จการที่ล้มล้างหรือละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนเองเป็นสิทธิ” แบบหนึ่ง
ดังนั้น การยืนยันสิทธิและเสรีภาพทางความคิดเห็นและการแสดงออก จึงไม่ได้เท่ากับหรือครอบคลุมถึงการยืนยันว่า ประชาชนชนมีสิทธิสนับสนุนอำนาจเผด็จการล้มล้างหรือละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนเอง
สำหรับ “การสนับสนุนเผด็จการ” ที่เกิดขึ้นจริงในบ้านเราก็ครอบคลุมการกระทำต่างๆ ที่กว้างมาก ตั้งแต่พูด เขียนเชียร์ ชุมนุมเรียกร้องรัฐประหาร ล้มเลือกตั้ง สร้างเงื่อนไขให้เกิดรัฐประหาร เข้าไปร่วมงานกับรัฐบาลเผด็จการ ประชาสัมพันธ์ผลงาน และการแสดงออกอย่างปิดเผย (และโดยลับๆ) ด้วยวิธีการใดๆ ที่สนับสนุนให้อำนาจเผด็จการที่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนคงอยู่ หรืออยู่ยาว
ถามว่า การสนับสนุนเผด็จการดังกล่าวนั้น เป็นการใช้ “สิทธิและเสรีภาพทางความคิดเห็นและการแสดงออก” ไหม? ก็ต้องย้อนไปที่ตัวหลักการว่าอะไรที่เป็นสิทธิและเสรีภาพต้อง “เลือกได้” ว่าจะสนับสนุนหรือคัดค้าน เช่นสิทธิและเสรีภาพในการสนับสนุนรัฐบาลประชาธิปไตย ย่อมหมายถึงประชาชนทุกคนเลือกได้อย่างเท่าเทียมว่าจะสนับสนุนหรือคัดค้านรัฐบาล แต่ภายใต้อำนาจเผด็จการ สื่อ นักวิชาการ เนติบริกร นักเขียน กวี ศิลปิน พระ ดารา นักร้อง มวลมหาประชาชน เอ็นจีโอ ฯลฯ แสดงออกในทางเชียร์ สนับสนุน หรือร่วมงานกับเผด็จการได้เต็มที่ ทว่าฝ่ายที่คัดค้านกลับถูกดำเนินคดี ติดคุก อยู่ในประเทศไม่ได้ (ชูป้าย “มหาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร” ก็ผิด มีปฏิทินสีแดงก็ไม่ได้-ฮาไม่ออก) และถูกข่มขู่คุกคามสารพัด ดังนั้นภายใต้อำนาจเผด็จการมันจึงไม่มีสิทธิและเสรีภาพทางความคิดเห็นและการแสดงออกอยู่จริง
ภายใต้ภาวะเช่นนี้ การสนับสนุนเผด็จการจึงไม่ถือเป็นสิทธิและเสรีภาพ แต่เป็นการ “สนับสนุนอำนาจที่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพให้คงอยู่” บรรดาผู้สนับสนุนจึงไม่ได้ใช้สิทธิและเสรีภาพ แต่เป็นการใช้ “อภิสิทธิ์” บนกติกาที่ไม่ฟรีและแฟร์ที่ฝ่ายต้านเผด็จการถูกไล่ล่า ส่วนฝ่ายสนับสนุนนอกจากจะแสดงออกถึงการสนับสนุนด้วยวิธีต่างๆ ได้เต็มที่แล้ว ยังช่วยเผด็จการชี้เป้าไล่ล่าฝ่ายตรงข้ามได้อีกด้วย
นึกถึงภาพในคลิปล้อมปราบนักศึกษาธรรมศาสตร์ในเหตุการณ์ 6 ตุลา ฝ่ายสนับสนุนเผด็จการนอกจากจะปรบมือเชียร์ สร้างวาทกรรม “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป” แล้วยังมีอาวุธปืน ถือปืนช่วยเจ้าหน้าที่รัฐยิงนักศึกษาได้ด้วย ไม่ต้องพูดถึงการเอาเก้าอี้ฟาดศพต่อหน้าสาธารณ์ ถ้ายืนยันว่า “การสนับสนุนเผด็จการเป็นสิทธิ” ความเลวร้ายเหล่านี้ก็ย่อมเป็นสิทธิที่ทำได้ทั้งหมด (เพราะกฎหมายเผด็จการยุคนั้นก็ไม่เอาผิดอยู่แล้ว เขาคงถือว่าเป็น “สิทธิ” หรืออะไรไม่ทราบ ไม่ใช่สิ่งที่เข้าใจได้)
ปัญหาสำคัญที่ควรตั้งคำถามคือ เรากำลังต่อสู้ทางการเมืองบนการอ้าง “สิทธิที่ผิดเพี้ยน” กันอยู่หรือไม่? จำได้ไหมครับช่วงชุมนุมขวางเลือกตั้ง มีการปราศรัยบนเวที กปปส.ว่า “พวกเสื้อแดงเลือกนักการเมืองเข้ามาแล้วปล่อยให้นักการเมืองโกง ไม่ตรวจสอบ ก็เท่ากับละเมิดสิทธิของพวกเราเหมือนกัน” ดังนั้นมวลมหาประชาชนจึงออกมาทวงสิทธิของตนเอง และดูเหมือนพวกเขาจะเชื่อว่า การล้มเลือกตั้ง เรียกร้องรัฐประหารขจัดนักการเมืองโกง ฉลองที่ทำรัฐประหารสำเร็จ การเข้าร่วมงานกับรัฐบาลทหาร และสนับสนุนด้วยวิธีการใดๆ เพื่อให้รัฐบาลทหารอยู่ยาวก็เป็น “สิทธิสนับสนุนเผด็จการ” ทั้งนั้น
แล้ววันนี้ฝ่ายที่สู้เพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตยยังออกมายืนยันว่าพวกเขาเหล่านั้น “มีสิทธิสนับสนุนเผด็จการ” หรือ “การสนับสนุนเผด็จการเป็นสิทธิ” อีก ยืนยันว่าการสนับสนุนให้อำนาจเผด็จการที่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนคงอยู่เป็นการใช้ “สิทธิและเสรีภาพทางความคิดเห็นและการแสดงออก” มันก็เท่ากับคุณกำลังยืนยันว่าภายใต้อำนาจเผด็จการก็มีสิทธิและเสรีภาพอยู่แล้ว(?)
ปัญหาสำคัญที่ตามมาก็คือ ถ้ายืนยันว่า ฝ่ายสนับสนุนเผด็จการกำลังใช้สิทธิและเสรีภาพทางความคิดเห็นและการแสดงออกในการสนับสนุนอำนาจเผด็จการให้คงอยู่ เราจะสู้เพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตยไปทำไม เพราะเท่ากับกำลังยืนยันว่า ภายใต้อำนาจเผด็จการมันมีสิทธิและเสรีภาพอยู่แล้ว การต่อสู้ทางการเมืองก็จะมีความหมายเพียงแค่ “สู้เพื่อเปลี่ยนแปลงกลุ่มบุคคลเข้ามาใช้อำนาจปกครอง” (สู้เพื่อได้ “คนดี” มีคุณธรรมมาปกครอง?) เท่านั้น ไม่มีความหมายใดๆ ต่อการสร้างเสรีภาพและประชาธิปไตยให้เป็นจริงเลย
พูดอีกอย่างว่า ถ้ายืนยันสิทธิในการสนับสนุนอำนาจเผด็จการที่ล้มล้างหรือละเมิดสิทธิและเสรีภาพ การยืนยันว่า “สิทธิและเสรีภาพเป็นสิ่งที่ละเมิดไม่ได้” เป็นหลักการทั่วไปที่ทุกคนยึดถือร่วมกัน ก็ย่อมไร้ความหมาย
| ['บทความ', 'การเมือง', 'วัฒนธรรม', 'สิทธิมนุษยชน', 'สุรพศ ทวีศักดิ์', 'สิทธิสนับสนุนเผด็จการ'] |
https://prachatai.com/print/79554 | 2018-11-11 09:00 | สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 5-11 พ.ย. 2561 | อัพเกรด 3 แสน ‘ข้าราชการ’ สู่ยุคดิจิทัล ก.พ.แจก 500 ทุน ดึงคนรุ่นใหม่/พยาบาลควงเวรกว่า 40 ชม. จ่อเสนอ สธ.แก้ 3 ปม คนทำงานไม่พอ ความปลอดภัย สวัสดิการ/กลุ่มแรงงานสตรีถูกเลือกปฏิบัติจากนายจ้างร้อง พม./สธ.ชง ครม.เพิ่มค่าปรับ นศ.แพทย์ผิดสัญญาใช้ทุน จาก 4 เเสน เป็น 2.5 ล้าน/กสร. เตือนลูกจ้างร้องเงินโบนัสให้ยึดกฎหมาย/ผลสำรวจพบบุคลากรสาธารณสุขติดเชื้อวัณโรคแฝง 31.41%/เผย 'โบนัส' คือสวัสดิการที่คนทำงานต้องการมากที่สุด
รมว.แรงงาน ยืนยัน ผลสอบกรณีถูกร้องเรียนทุจริตเงินคนพิการ ไม่พบเจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงานกระทำความผิด พร้อมส่งหนังสือแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบความคืบหน้าแล้ว
เมื่อวันที่ 11 พ.ย. 2561 พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงกรณีที่นายปรีดา ลิ้มนนทกุล ประธานเครือข่ายพิทักษ์สิทธิคนพิการ จะเจรจากับผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงานในกลางเดือน พ.ย.นี้ว่าจะดำเนินการต่อเจ้าหน้าที่ในสังกัดที่มีส่วนเกี่ยวข้องปัญหาการร้องเรียนกรณีการทุจริตเงินคนพิการอย่างไร ซึ่งหากไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจนก็จะยกระดับการเคลื่อนไหวต่อไป และคาดว่าจะมีคนพิการและเครือข่ายนับหมื่นคนทั่วประเทศตบเท้าออกมาเรียกร้องสิทธิและความเป็นธรรมถึงสำนักนายกรัฐมนตรี นั้น ในเรื่องนี้กระทรวงแรงงานขอชี้แจงข้อเท็จจริงว่า กรมการจัดหางานได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว ซึ่งในเบื้องต้นไม่พบเจ้าหน้าที่กรมการจัดหางานกระทำความผิดหรือทุจริตตามที่ร้องเรียน และได้มีหนังสือแจ้งให้กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องตามอำนาจหน้าที่ ซึ่งในส่วนของกระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางานได้ดำเนินการส่งเสริมการมีงานทำให้คนพิการตามมาตรา 33 และมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2556 จำนวนทั้งสิ้น 9 เรื่อง ประกอบด้วย ประเด็นตามมาตรา 33 จำนวน 2 เรื่อง ประเด็นตามมาตรา 35 จำนวน 6 เรื่อง และประเด็นตามมาตรา 33 และมาตรา 35 จำนวน 1 เรื่อง ซึ่งเป็นเรื่องที่เคยร้องเรียนเมื่อปี 2559 – 2560 จำนวน 6 เรื่อง และในปี 2561 จำนวน 3 เรื่อง
พล.ต.อ.อดุลย์ฯ ยังกล่าวถึงกรณีการร้องเรียนของคนพิการในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ว่า กรมการจัดหางานได้ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีผู้ดูแลคนพิการการร้องเรียนว่าได้รับสิทธิไม่ครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด และจากการตรวจสอบการให้สิทธิตามมาตรา 35 ดังกล่าว พบว่า คนพิการไม่ได้รับเงินค่าจ้างเหมาช่วงงานหรือจ้างเหมาบริการตามที่ได้ตกลงไว้ในสัญญา ในเบื้องต้นไม่พบเจ้าหน้าที่กระทำความผิดหรือทุจริต ทั้งนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงอีกทางหนึ่ง และกรมการจัดหางานได้สรุปข้อเท็จจริงดังกล่าวนำเรียนผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงานรับทราบแล้ว รวมทั้งได้มีหนังสือแจ้งไปยังกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ และผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ เพื่อพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ อย่างไรก็ตาม กระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางานได้ติดตามความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง และได้รายงานข้อเท็จจริงให้ผู้บริหารระดับสูงรับทราบเป็นระยะด้วยแล้ว เพื่อป้องกันปัญหาไม่ให้เกิดเหตุซ้ำอีก
ที่มา: กระทรวงแรงงาน, 11/11/2561 [1]
เผย 'โบนัส' คือสวัสดิการที่คนทำงานต้องการมากที่สุด
จ๊อบไทยเผยผลสำรวจความคิดเห็นของคนทำงานทั่วประเทศจำนวน 7,420 คนเรื่องสวัสดิการ พบ โบนัส มาเป็นอันดับแรก ระบุสวัสดิการด้านสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นประกันสุขภาพ ค่ารักษาพยาบาลคนในครอบครัว ประกันชีวิต ฯลฯ เป็นสวัสดิการที่พนักงานยุคใหม่ต้องการนอกเหนือจากเรื่องรายได้ แต่กลับไม่ได้ถูกนำมาเป็นสวัสดิการ
ผู้ร่วมก่อตั้งและหัวหน้าผู้บริหารด้านปฏิบัติการของจ๊อบไทย (JobThai) แสงเดือน ตั้งธรรมสถิตย์ เผยว่า ปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจทำงานกับองค์กรใดองค์กรหนึ่งนอกเหนือจากเรื่องผลตอบแทนแล้ว ปัจจัยสำคัญที่คนทำงานให้ความสำคัญรองลงมาก็คือ สวัสดิการ โดยจากการสำรวจของจ๊อบไทยต่อความคิดเห็นของคนทำงานทั่วประเทศ จำนวน 7,420 คน เรื่อง "สวัสดิการที่คนทำงานต้องการจากองค์กร" พบว่า 10 สวัสดิการแรกที่คนทำงานต้องการมากที่สุด ได้แก่ 1. โบนัส, 2.วันหยุด-วันลาตามกฎหมาย, 3.ประกันสังคม, 4.ประกันสุขภาพ, 5.ค่าล่วงเวลา, 6.เงินออมพิเศษ เช่น สหกรณ์ออมทรัพย์ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, 7.ค่ารักษาพยาบาลบุคคลในครอบครัวของพนักงาน , 8.เวลาทำงานที่ยืดหยุ่นได้, 9.ประกันชีวิต และ 10.เบี้ยขยัน
นอกจากนี้ จ๊อบไทยได้ทำการสำรวจฝ่ายบุคคล ในหัวข้อ "สวัสดิการที่องค์กรจัดสรรให้กับพนักงาน" จำนวน 457 คน ทั่วประเทศ พบว่า 10 สวัสดิการที่องค์กรจัดสรรให้กับพนักงานมากที่สุด ได้แก่ 1.วันหยุด-วันลาตามกฎหมาย ,2.ประกันสังคม, 3.โบนัส, 4.ค่าล่วงเวลา, 5.กิจกรรมสันทนาการ, 6.ชุดทำงาน, 7.ตรวจสุขภาพประจำปี, 8.เบี้ยขยัน, 9.เงินสนับสนุน เช่น งานแต่งงาน งานอุปสมบท และ 10.ประกันอุบัติเหตุ
หากเปรียบเทียบสวัสดิการที่องค์กรให้พนักงานกับสวัสดิการที่พนักงานต้องการ พบว่ามีสวัสดิการที่ตรงกัน 5 สวัสดิการ ได้แก่ โบนัส, วันหยุด-วันลาตามกฎหมาย, ประกันสังคม, ค่าล่วงเวลา และเบี้ยขยัน ส่วนสวัสดิการที่คนทำงานยุคใหม่ต้องการนอกเหนือจากเรื่องรายได้ คือ สวัสดิการด้านสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็น ประกันสุขภาพ ค่ารักษาพยาบาลบุคคลในครอบครัวของพนักงาน ประกันชีวิต ฯลฯ กลับไม่ได้ถูกนำมาเป็นสวัสดิการที่องค์กรมอบให้แก่พนักงานใน 10 สวัสดิการแรก ทั้งนี้ นอกจากสวัสดิการตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว องค์กรยังสามารถจัดสรรสวัสดิการแปลกใหม่ตามความเหมาะสมเพื่อช่วยดึงดูดให้คนอยากมาร่วมงาน และมีส่วนช่วยในการรักษาพนักงานไว้กับองค์กรได้เป็นอย่างดี สำหรับข้อมูลข้างต้นจะเป็นประโยชน์สำหรับองค์กรที่จะนำไปประยุกต์ใช้ในการบริหารพนักงาน เป็นการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อผลลัพธ์ที่ดีขึ้นขององค์กร ตลอดจนเป็นการแสดงถึงความใส่ใจที่องค์กรมีต่อพนักงาน โดยเฉพาะในยุคที่เรื่องสวัสดิการของพนักงานมีผลต่อการตัดสินใจเข้าทำงานมากขึ้น ดังนั้นสวัสดิการจึงเป็นเรื่องที่ฝ่ายบริหารทรัพยากรบุคคล และผู้บริหารต้องหันมาให้ความสำคัญไม่แพ้เรื่องอื่นๆ
ที่มา: คมชัดลึก, 10/11/2561 [2]
เผยผลสำรวจพบบุคลากรสาธารณสุขติดเชื้อวัณโรคแฝง 31.41%
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า วัณโรคยังเป็นปัญหาด้านสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทย และเป็นประเด็นปัญหาสำคัญที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร และปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ให้กำหนดเป็นเป้าหมายสำคัญในการลดปัญหาของประชาชน กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จึงได้ร่วมสนับสนุนแผนยุทธศาสตร์วัณโรคระดับชาติ พ.ศ. 2560-2564 ของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อยุติวัณโรคโดยควบคุมและลดอุบัติการณ์วัณโรคให้ได้ตามเป้าหมาย โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง 7 กลุ่มสำคัญ
ซึ่งรวมถึงกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ด้วย เพราะเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อวัณโรคระหว่างการปฏิบัติงานจากการสัมผัสผู้ป่วย ผู้ที่ติดเชื้อวัณโรคหากร่างกายแข็งแรงมีภูมิต้านทานที่ดี จะติดเชื้อแบบไม่มีอาการป่วย เรียกว่า “วัณโรคแฝง” ซึ่งไม่สามารถแพร่เชื้อสู่บุคคลอื่นได้ แต่ผู้ที่มีเชื้อวัณโรคแฝงมีโอกาสที่จะพัฒนาเป็นผู้ป่วยวัณโรคได้ร้อยละ 5 ถึงร้อยละ 10 เมื่อภูมิต้านทานของร่างกายลดต่ำลง
องค์การอนามัยโลกคาดการณ์ว่า 1 ใน 3 ของประชากรทั่วไปมีการติดเชื้อวัณโรคแฝง และในจำนวนนี้ มีประชากรบางกลุ่มมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดวัณโรค โดยเฉพาะในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีที่มีผู้ป่วยวัณโรคร่วมบ้าน และผู้ติดเชื้อเอชไอวี สำหรับในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ ควรมีการตรวจคัดกรองหาวัณโรค ซึ่งส่วนใหญ่ตรวจด้วยการเอกซเรย์ทรวงอก และควรตรวจเป็นประจำ พร้อมทั้งแนะนำให้ตรวจหาการติดเชื้อวัณโรคแฝงร่วมด้วยโดยเฉพาะผู้ที่สัมผัสผู้ป่วยวัณโรค โดยปัจจุบันนี้สามารถตรวจการติดเชื้อแบบไม่มีอาการป่วยที่เรียกว่าวัณโรคแฝงได้ โดยการตรวจตัวอย่างเลือด
นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า จากการสำรวจการติดเชื้อวัณโรคแฝงในบุคลากรทางการแพทย์ที่มีการสัมผัสผู้ป่วยวัณโรคที่ปฏิบัติงานด้านต่างๆ และในบุคลากรที่เข้าปฏิบัติงานใหม่ ด้วยวิธี IGRA ตรวจสารอินเตอร์เฟอรอนแกมมาที่จำเพาะต่อเชื้อวัณโรค โดยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข ที่โรงพยาบาล จำนวน 4 แห่ง พบอัตราการติดเชื้อวัณโรคเฉลี่ยร้อยละ 31.41 ซึ่งอยู่ในอัตราเดียวกับบุคคลทั่วไปที่องค์การอนามัยโลกประมาณการ
ปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์โดยทั่วไป ได้แก่ มีอายุมาก อายุงานนาน ลักษณะงานที่ปฏิบัติ และการใช้อุปกรณ์ป้องกันที่ไม่เหมาะสม ผลการตรวจช่วยสร้างความตระหนักรู้ในการใส่ใจสุขภาพ ระมัดระวังป้องกันการติดเชื้อและเฝ้าระวังโรค นอกจากนี้ผู้ที่มีผลตรวจเป็นบวกยังได้รับคำแนะนำในการปฏิบัติตน หากตรวจแล้วยังไม่พบอาการป่วยเป็นวัณโรคแต่เป็นวัณโรคแฝง ก็อาจพิจารณาให้ยาป้องกันตามความเหมาะสมเฉพาะราย
“โรงพยาบาลจะต้องมีระบบป้องกันที่ดีและควบคุมการติดเชื้อในโรงพยาบาลที่มีมาตรฐานหรือการจัดการที่ดี บุคลากรทางการแพทย์ควรมีความรู้เกี่ยวกับวัณโรคและวิธีการป้องกันการติดต่อของโรค ใช้อุปกรณ์ป้องกันที่เหมาะสม เพื่อลดการติดเชื้อ รวมทั้งควรตรวจสุขภาพและตรวจคัดกรองวัณโรคเป็นประจำทุกปี สำหรับประชาชนทั่วไปก็ควรดูแลและป้องกันตนเองจากเชื้อวัณโรค โดยฉีดวัคซีนป้องกันวัณโรค (BCG) ตามที่แพทย์แนะนำ หลีกเลี่ยงการคลุกคลีกับผู้ป่วย โดยเฉพาะเด็กเล็กและผู้ที่มีโรคประจำตัว ผู้ป่วยที่มีอาการทางเดินหายใจ หากมีอาการไอจาม ให้ใช้ผ้าเช็ดหน้าปิดปาก จมูก เวลาไอจาม หรือใส่หน้ากากอนามัย และหากมีอาการไอเรื้อรังเกิน 2 สัปดาห์ ไม่ทราบสาเหตุ ให้พบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุต่อไป” อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าว
ที่มา: Hfocus, 7/11/2561 [3]
กสร. เตือนลูกจ้างร้องเงินโบนัสให้ยึดกฎหมาย
นายวิวัฒน์ ตังหงส์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยว่า สถานการณ์ด้านแรงงานสัมพันธ์ในปี 2561 ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 15 ต.ค. 2561 มีแนวโน้มลดลง โดยมีข้อเรียกร้องของสถานประกอบกิจการในภาคเอกชนและรัฐวิสากิจ จำนวน 480 แห่ง เมื่อเทียบกับปี 2560 ที่มีข้อเรียกร้อง 544 แห่ง พบว่าลดลง 64 แห่ง อย่างไรก็ตาม ในช่วงปลายปีของทุกปีที่ใกล้จะถึงนี้จะมีข้อเรียกร้องเพิ่มมากขึ้นกว่าช่วงเวลาปกติ ส่วนใหญ่เป็นการเรียกร้องเรื่องเงินโบนัส ขอขึ้นเงินเดือน และสวัสดิการต่าง ๆ ซึ่งหากไม่เป็นที่พอใจต่อทั้งสองฝ่ายก็อาจก่อให้เกิดเป็นข้อพิพาทแรงงานได้ ซึ่งที่ผ่านมาลูกจ้างส่วนใหญ่ใช้วิธี นัดหยุดงานรวมตัวชุมนุมเรียกร้องจึงอาจทำให้นายจ้างเลิกจ้างโดยและไม่จ่ายค่าชดเชยได้ตามกฎหมาย จึงขอเตือนไปยังนายจ้าง ลูกจ้างยึดหลักแรงงานสัมพันธ์แบบหุ้นส่วนเจรจากันด้วยเหตุผล นายจ้างควรชี้แจงข้อเท็จจริงถึง ผลประกอบกิจการในปีนั้น ๆ เพื่อทำความเข้าใจกับลูกจ้างอย่างตรงไปตรงมาและขอให้ ทั้งสองฝ่ายคำนึงถึงสิทธิ หน้าที่ภายใต้กรอบของกฎหมายและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข
นายวิวัฒน์ กล่าวต่อว่าทั้งนี้ได้สั่งการให้พนักงานตรวจแรงงานทั่วประเทศ เข้าไปแนะนำ ให้ความรู้ แก่นายจ้าง ลูกจ้างเกี่ยวกับระบบแรงงานสัมพันธ์ และเฝ้าระวังปัญหาข้อพิพาทแรงงานที่อาจเกิดขึ้นได้ หากพบว่ามีหากพบว่ามีสัญญาณที่อาจก่อให้เกิดข้อพิพาทแรงงานจะเร่งส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปทำความเข้าใจและช่วยไกล่เกลี่ยให้ได้ข้อยุติในพื้นที่โดยเร็วที่สุด
ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 8/11/2561 [4]
สธ.ชง ครม.เพิ่มค่าปรับ นศ.แพทย์ผิดสัญญาใช้ทุน จาก 4 เเสน เป็น 2.5 ล้าน
จากกรณีเมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2561 กระทรวงสาธารณสุขได้มีการเสนอขอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 เม.ย. 2516 เพื่อขอเพิ่มค่าปรับนักศึกษาแพทย์ผู้ผิดสัญญาการเป็นนักศึกษาวิชาแพทยศาสตร์ จากจำนวน 400,000 บาท เป็น 2,500,000 บาท โดยขอให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปีการศึกษา 2562 เป็นต้นไป โดยมอบให้กระทรวงสาธารณสุขทำหน้าที่ประสานกับสถาบันการผลิตนักศึกษาแพทยศาสตร์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนั้น
เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2561 สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้ส่งร่างสัญญาการเป็นนักศึกษาเพื่อศึกษาวิชาแพทยศาสตร์ มาให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจพิจารณา โดยนายธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด พนักงานอัยการเจ้าของสำนวน ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2516 ที่กำหนดจำนวนค่าปรับชดใช้ทุนของนักศึกษาแพทย์ ผู้ผิดสัญญาการเป็นนักศึกษาเพื่อศึกษาวิชาแพทย์ศาสตร์ จำนวน 400,000 บาท นั้น เป็นจำนวนค่าปรับที่ถูกกำหนดไว้ตั้งแต่ปี 2516 ซึ่งเป็นระยะเวลานานมากแล้ว จึงมีความไม่เหมาะสม และจึงได้แจ้งสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขว่าควรพิจารณาทบทวนจำนวนค่าปรับชดใช้ทุนของนักศึกษาแพทย์ที่ผิดสัญญาที่กำหนดไว้จำนวน 400,000 บาท โดยควรพิจารณาถึงค่าครองชีพ อัตราเงินเฟ้อ จำนวนนักศึกษาแพทย์ที่ไม่เข้ารับราชการหรือทำงานตามที่กำหนดไว้ในสัญญาว่ามีมากน้อยพียงใด
สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขจึงได้ขอถอนร่างสัญญาการเป็นนักศึกษาเพื่อศึกษาวิชาแพทยศาสตร์จากการพิจารณาของสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อนำมาพิจารณาปรับปรุงแก้ไข และต่อมาเมื่อวันที่ 26 ก.ค. 2561 กระทรวงสาธารณสุขโดยคณะกรรมการพิจารณาจัดสรรนักศึกษาแพทย์ผู้ทำสัญญาการเป็นนักศึกษาแพทย์ ซึ่งมีนายเจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานคณะกรรมการ ได้พิจารณาเห็นชอบและอนุมัติให้กำหนดค่าปรับชดใช้ทุนของนักศึกษาแพทย์ผู้ผิดสัญญาเป็นจำนวน 2,500,000 บาท โดยใช้หลักการการคิดอัตราเงินเฟ้อ และค่าปรับคิดจากการลงทุนโครงการ CPIRD/โครงการปกติ ปีละ 300,000 บาท ต่อคนต่อปี จำนวน 6 ปี เท่ากับ 1,800,000 บาท และงบลงทุนที่สนับสนุนให้กับคณะแพทยศาสตร์ จำนวน 700,000 บาท ซึ่งในขณะนี้เรื่องเพิ่มค่าปรับนักศึกษาแพทย์ ผู้ผิดสัญญาอยู่ระหว่างการรอบรรจุวาระเข้าพิจารณาในคณะรัฐมนตรีต่อไป
ที่มา: มติชนออนไลน์, 8/11/2561 [5]
กลุ่มแรงงานสตรีถูกเลือกปฏิบัติจากนายจ้างร้อง พม.
ที่กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว(สค.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) นายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว รับมอบหนังสือจากคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และกลุ่มแรงงานสตรีที่ประสบปัญหาจากจังหวัดชลบุรี จำนวน 27 คน เข้ามายื่นหนังสือกรณีถูกเลือกปฏิบัติจากนายจ้าง
นายเลิศปัญญา กล่าวว่า วันนี้คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และกลุ่มแรงงานสตรีที่ประสบปัญหาจากจังหวัดชลบุรี จำนวน 27 คน เข้ามายื่นหนังสือกรณีถูกเลือกปฏิบัติจากนายจ้าง ขอให้ สค. ช่วยแก้ไขปัญหากรณีกลุ่มแรงงานสตรีที่ได้รับคำสั่งให้ไม่ต้องกลับเข้าทำงานจากโรงงานที่เป็นลูกจ้าง เนื่องจากลุ่มแรงงานสตรีเหล่านี้เป็นกลุ่มผู้แทนฝ่ายลูกจ้างที่ยื่นข้อเสนอเพื่อเจรจาเรียกร้องสภาพการจ้างและสวัสดิการประจำปี โดยได้มีการเจรจาต่อรองมาตั้งแต่เดือนกันยายน 2560 และยุติข้อตกลงเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2561 โดยโรงงานได้เรียกลูกจ้างบางส่วนกลับเข้าทำงาน ยกเว้นกลุ่มผู้แทนเจรจาฝ่ายลูกจ้าง ทำให้กลุ่มแรงงานสตรีดังกล่าวประสบปัญหาทั้งทางเศรษฐกิจ ปัญหาครอบครัว และสภาพจิตใจ
นายเลิศปัญญา กล่าวต่อว่า กลุ่มแรงงานสตรีนี้ เคยไปยื่นข้อร้องเรียนต่อหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องแล้ว แต่ยังไม่มีความคืบหน้า จึงมายื่นเรื่องต่อกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) ในฐานะที่เป็นหน่วยงาน ที่มีภารกิจเกี่ยวกับการดูแลสตรีในประเทศไทยและประสงค์จะยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ (วลพ.) ภายใต้ พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ.2558 เพื่อจะขอความช่วยเหลือให้พิจารณาในกรณีที่ถูกเลือกปฏิบัติจากนายจ้างที่ไม่เรียกกลับเข้าทำงาน
“สค.ยินดีให้ความช่วยเหลือแก่กลุ่มแรงงานสตรี ไม่ว่าจะเป็นการให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นเพื่อสงเคราะห์ครอบครัว การฝึกอาชีพให้แก่แรงงานสตรีระหว่างที่ยังไม่ได้กลับเข้าทำงาน โดยศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัวเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพฯ 36 พรรษา จังหวัดชลบุรี ตลอดจนประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆเพื่อผลักดันให้มีการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นโดยเร็ว และคำร้องที่กลุ่มแรงงานสตรีประสงค์จะยื่นต่อคณะกรรมการ วลพ.นั้น สค.จะมอบให้ประธานคณะกรรมการ วลพ. โดยเร็ว” นายเลิศปัญญา กล่าว
ที่มา: สำนักข่าวไทย, 8/11/2561 [6]
ประกันสังคม อัพเกรดบริการรับชำระเงินสมทบผู้ประกันตน เตรียมจับมือสรรพากรเชื่อมโยงข้อมูลเข้าระบบฐานจัดเก็บภาษี
นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ รักษาการเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน กล่าวว่าตามที่รัฐบาลมีนโยบายไทยแลนด์ 4.0 และพลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบสารสนเทศ เพื่อการบริหารงานในองค์กร รวมทั้งรองรับการทำงานในยุคดิจิทัลและเชื่อมโยงข้อมูลเข้ากับระบบงานบริการภาครัฐเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกันตน/ลูกจ้าง โดยสำนักงานประกันสังคมได้พัฒนาองค์กรให้ก้าวเข้าสู่ไทยแลนด์ 4.0 อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งสำนักงานประกันสังคมได้พัฒนาระบบการให้บริการรับ-จ่ายเงินหลากหลายช่องทาง เช่น การให้บริการรับชำระเงินสมทบผ่านเคาน์เตอร์ธนาคาร/หน่วยบริการ การหักบัญชีเงินฝากธนาคาร การให้บริการรับชำระเงินจากนายจ้างผ่านระบบ e-Payment การขอรับสิทธิประโยชน์โอนผ่านธนาคารโดยทุกช่องทาง การชำระเงินสมทบฟรีค่าธรรมเนียม รวมทั้งการพัฒนาระบบใบเสร็จรับเงินอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้นายจ้างและผู้ประกันตนได้รับความสะดวก รวดเร็ว สามารถพิมพ์ใบเสร็จรับเงินได้ทุกที่ ทุกเวลา
นายอนันต์ชัย กล่าวต่อไปว่าส่วนเรื่องใบเสร็จรับเงินที่ธนาคารจัดส่งให้ทางไปรษณีย์ไม่ถึงมือผู้ประกันตนหรือใบเสร็จรับเงินที่ผู้ประกันตนได้รับสูญหายนั้น ระบบใบเสร็จรับเงินอิเล็กทรอนิกส์จะช่วยให้ผู้ประกันตนสามารถพิมพ์หรือบันทึกใบเสร็จรับเงินไว้ได้ด้วย ทั้งนี้ในเบื้องต้นผู้ประกันตนสามารถตรวจสอบการชำระเงินจากสมุดบัญชีเงินฝากที่ธนาคารหักเงินไว้ นอกจากนี้สำนักงานประกันสังคมจะส่งข้อความ (SMS) แจ้งผลการชำระเงินทางโทรศัพท์มือถือ และทุกสิ้นปีผู้ประกันตนจะได้รับใบแจ้งยอดการชำระเงินสมทบประจำปีที่ผ่านมา เพื่อใช้ในการยื่นหักลดหย่อนภาษีแทนใบเสร็จรับเงินได้
"สำนักงานประกันสังคมอยู่ระหว่างการเชื่อมโยงข้อมูลการชำระเงินกรมสรรพากร (Big data) เพื่อลดภาระการยื่นเอกสารของประชาชน ดังนั้นขอให้ผู้ประกันตนแจ้งหมายเลขโทรศัพท์มือถือและแจ้งที่อยู่ให้เป็นปัจจุบันอยู่เสมอ เพื่อจะได้รับข้อมูลข่าวสารจากสำนักงานประกันสังคม"
สำหรับวิธีการพิมพ์ใบเสร็จรับเงินง่ายๆ เพียงผู้ประกันตน สมัครใช้บริการที่เว็บไซด์สำนักงานประกันสังคม www.sso.go.th ระบบจะกำหนด User และ password ให้ทันที ผู้ประกันตน Login และดาวน์โหลดคู่มือการใช้งานเพื่อพิมพ์ใบเสร็จรับเงิน นอกจากการตรวจสอบข้อมูลใบเสร็จรับเงินแล้ว ยังสามารถใช้บริการสอบถามข้อมูลการใช้สิทธิการรักษาพยาบาล ตรวจสอบข้อมูลการส่งเงินสมทบ ประวัติการเปลี่ยนแปลงสถานพยาบาล การคำนวณเงินบำนาญชราภาพ และรับทราบข่าวประชาสัมพันธ์ต่างๆ ของสำนักงานประกันสังคมได้อีกด้วย สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ทั้ง 12 แห่ง สำนักงานประกันสังคมจังหวัด/สาขา/ที่ท่านสะดวก หรือโทร 1506 ตลอด 24 ชั่วโมงสมทบกับ
ที่มา: ไทยโพสต์, 8/11/2561 [7]
กสร. ติวเข้มพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงาน
นายวิวัฒน์ ตังหงส์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยว่า กสร. ได้จัดอบรมพัฒนาศักยภาพพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงาน เพื่อเพิ่มทักษะและยกระดับความรู้ ความสามารถและเทคนิคในการปฏิบัติงานด้านการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทแรงงานและข้อขัดแย้งระหว่างนายจ้าง ลูกจ้างให้ยุติลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ และส่งเสริมให้นายจ้าง ลูกจ้างสามารถทำงานร่วมกันได้ โดยมีพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ซึ่งเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนงานด้านแรงงานสัมพันธ์ในพื้นที่เข้ารับการอบรม รวม 30 คน ซึ่งการอบรมครั้งนี้รองรับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และนโยบายของพลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่ขับเคลื่อนมาอย่างต่อเนื่อง ในการมุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานให้หลุดพ้นความยากจน ตลอดจนลดความเหลื่อมล้ำ ลดความขัดแย้งในสังคม และนำพาประเทศชาติไปสู่ ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน
นายวิวัฒน์ กล่าวต่อไปว่า การอบรมดังกล่าวจัดขึ้นระหว่างวันที่ 6-9 พ.ย. 2561 รวม 4 วัน โดยมีหัวข้อการบรรยายครอบคลุมทุกมิติของการปฏิบัติงานด้านแรงงานสัมพันธ์ อาทิ จิตวิทยาเพื่อการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งแรงงาน เทคนิคการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทแรงงาน การติดตามความเคลื่อนไหวและประเมินสถานการณ์ด้านแรงงาน เป็นต้น ซึ่งผู้ผ่านการอบรมจะสามารถนำความรู้และเทคนิคไปใช้ในการปฏิบัติจริง ในการเป็นตัวกลางเจรจาไกล่เกลี่ยข้อพิพาทแรงงานและข้อขัดแย้งระหว่างนายจ้างลูกจ้าง และสามารถส่งเสริมระบบแรงงานสัมพันธ์ที่ดีให้แก่สถานประกอบกิจการเพื่อให้ทำงานร่วมกันได้อย่างสันติสุขต่อไป
ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 8/11/2561 [8]
บัณฑิตหางานระวังถูกหลอก ไปทำงานเกาหลี-ออสเตรเลีย
อัตราการว่างงานของผู้สำเร็จการศึกษา ระดับปริญญาตรี ล่าสุด น่าตกใจ เพราะข้อมูลผู้จบออกมาแต่ละปีจะมีเกือบ 2 แสนคน สาเหตุที่ว่างงานนั้น หลักๆคือเลือกงานทำให้ผู้ตกงาน 7-8 หมื่นคน สะสมเพิ่มในปีต่อๆไป ในขณะที่กลุ่มระดับ ปวช.และปวส.มีอัตราการว่างงานน้อยมาก เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน ที่ผ่านๆมากระแสความนิยม เดินทางไปทำงานต่างประเทศ โดยเฉพาะเกาหลี และออสเตรเลีย เป็นที่นิยมในกลุ่มแรงงานไทย
ขณะนี้มาตรการผ่อนปรนเพิ่มระยะเวลาวีซ่านักท่องเที่ยว ที่มาทำงานในออสเตรเลียหรือ วีซ่า เวิร์คกิ้ง ฮอลิเดย์ เมคเกอร์ จากเดิมอนุญาตให้อยู่ 1 ปี ขยายเป็น 3 ปี หากทำงานในภาคอุตสาหกรรมการเกษตร เนื่องจากที่นั่นขาดแคลนแรงงานในกลุ่มนี้ ทำให้มีนักเรียน นักศึกษาไทยจำนวนหนึ่ง สนใจไปหางานทำด้วยอัตราค่าแรงชั่วโมงละ 18 เหรียญออสเตรเลีย (1 เหรียญเท่ากับ 23.80 บาท) ล่อใจ
นายนุกูล (ขอสงวนนามสกุล) นักศึกษาไทยชาว อ.ป่าซาง จ.ลำพูน ซึงเดินทางกลับมาเยี่ยมบ้าน เล่าให้ฟังว่า ปกติแล้ว กลุ่มนักเรียนไทย ที่ใช้เวลาว่างทำงานนอกเวลา จะเหมาจ่าย 50-80 บาท ไม่เกิน 6 ชั่วโมง ตามร้านอาหาร ถ้าทำงานในฟาร์ม ในสวนเกษตร ที่มีโรงงานแปร รูปผลผลิต หรือเก็บผลผลิต อัตราจะมาตรฐาน ทำให้กลายเป็นสวรรค์ของบัณฑิตไทยที่สน ใจไปเรียน ไปเที่ยวแล้วหางานทำกันในขณะนี้
“กลับมาบ้าน มีเพื่อนๆบัณฑิตสนใจจะไปที่นั่นหลายสิบคน ก็ต้องแนะนำว่า ค่อยๆคิด ไปติดต่อตามที่แนะนำกับหน่วยงานของรัฐฯ เพื่อตรวจสอบก่อนเดินทางไปออสเตรเลีย “
ด้านหน่วยงานแรงงาน ระบุว่า การไปออสเตรเลียยังเป็นประเด็นใหม่ แต่การไปทำงานเกาหลีนั้น ไม่ได้สวยหรูอย่างที่คิด เนื่องจากปัญหาแรงงานไทย ลักลอบทำงานมีมากกว่า 1.2 แสนคน จากผลสำรวจของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องฝ่ายไทยและเกาหลี
ในส่วนแรงงานที่เดินทางไปทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย จะมีประมาณ 4 แสนกว่าคน สร้างรายได้ปีละ 1.2 แสนล้านบาท จึงเป็นประเทศที่รัฐบาลไทย ให้ความสำคัญกับการสร้างพันธสัญญาตลาดแรงงานที่ถูกต้องตามกฎหมาย เพราะปัญหาการลักลอบเข้าไปหางานทำของแรงงานไทย กลายเป็นภาระเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นของเกาหลี ที่ต้องดำเนินการ ประกอบกับมีแก๊งคนไทยร่วมมือกับโรงงาน ผู้ประกอบการ ชักชวนแรงงานไทยลอบเข้าไปทำงานแล้ว ไม่ยอมจ่ายค่าแรง ด้วยแรงงานเหล่านี้ไม่กล้าแจ้งความ ทำให้เสียค่านายหน้า ถูกหลอกทำงานฟรี บางรายมีการกู้ยืมเงินลงทุนเดินทางไป ในฐานะนักท่องเที่ยว แล้วหลบหนีเข้าเมืองไปทำงานตามที่ถูกชักชวน
ขณะนี้พบมีกลุ่มนายหน้า เดินสายหลอกลวง แรงงาน ในหลายพื้นที่ ในภาคอีสานและภาคเหนือ โดยกลุ่มจังหวัดที่มีผู้ตกเป็นเหยื่อจะพบใน จ.ลำปาง ลำพูน น่าน เชียงราย เชียงใหม่ เป็นงานในโรงงานพลาสติกและงานในฟาร์มเกษตร
ทั้งนี้หน่วยงานจัดหางาน ก.แรงงาน ยืนยันว่ากำลังเร่งดำเนินการเจรจาให้เป็นระบบการจ้างงานระหว่างรัฐต่อรัฐ เพื่อให้เป็นมาตรฐาน ด้วยแรงานไทยที่ประสบผลสำเร็จ สร้างชื่อเสียงนั้นจะเป็นกลุ่มโรงงานผลิต ประกอบอุปกรณ์ ทั้งยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมแปรรูป
ด้านนายนิรันดร์ (ขอสงวนนามสกุล) อายุ 42 ปี ชาว จ. ลำพูน กล่าวว่า ไปทำงานที่เกาหลี เป็นรอบที่ 2 ในแผนกประกอบอะไหล่รถยนต์รอบแรกอยู่ 4 ปี เก็บเงินได้กว่า 3 ล้านบาท อยากฝากไปถึงผู้ที่อยากมาทำงานที่เกาหลี ให้ผ่านระบบมาอย่างถูกต้อง จะได้สิทธิตามกฎหมาย
ผู้นำชุมชน ในเขตเมือง ลำพูน ยอมรับว่า กรณีที่แรงงานไทย บางส่วนถูกหลอก เพราะความคุ้นเคยกันในโรงงานแห่งหนึ่งในเขตนิคมฯ และ ผจก.ที่เคยไปเป็นผู้ประสานงานที่เกาหลี อาศัยช่องว่างหลอกคนงานไป ต้องเสียค่านายหน้า หลายหมื่น แล้วปล่อยลอยแพที่นั่น แม้จะถูกจับกุมได้ ปัญหาที่ตามมาคือ แรงงานที่เป็นเหยื่อหลายคน ต้องแบกรับภาระหนี้สิน คนที่ก่อความผิดก็แค่ชดเชยกรรมในคุก หมดหนี้ไป กลุ่มใหม่ๆก็โผล่มา ตราบใดที่ รายได้ ค่าตอบแทนที่สูงๆยังเป็นเหยื่อล่อได้
ทั้งๆที่รู้ว่า เดินทางไปทำงานแบบหลบๆซ่อนๆ อาจถูกนายจ้างเอาเปรียบ ไม่จ่ายค่าจ้าง ประกาศเสียงตามสาย แนะนำ ตักเตือนทุกวัน ก็ยังไม่เชื่อ ยังพูดคุยบอกต่อกันว่า โรงงานที่นั่น ที่นี่หรืองานนวดมีรายได้ดี ไม่มีปัญหา อยากวิงวอนหน่วยงานที่ดูแลเรื่องนี้ สอดส่อง อย่างใกล้ชิด เพราะกว่าจะรู้ว่ามีคนในชุมชนไปทำงานต่างประเทศ ก็เมื่อมีเรื่องเกิดขึ้นทั้งนั้น
ที่มา: เชียงใหม่นิวส์, 6/11/2561 [9]
พยาบาลควงเวรกว่า 40 ชม. จ่อเสนอ สธ.แก้ 3 ปม คนทำงานไม่พอ ความปลอดภัย สวัสดิการ
น.ส.กฤษดา แสวงดี ผู้แทนนายกสภาการพยาบาล กล่าวว่า การทำงานของพยาบาลทุกวันนี้พบเกิน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์มาตลอด ซึ่งมีทั้งความสมัครใจของพยาบาลเอง และบังคับสมัครใจแบบให้โอที แต่ส่วนใหญ่เป็นแบบบังคับสมัครใจ เนื่องจากปริมาณคนไข้จำนวนมาก และอัตรากำลังของพยาบาลสัดส่วนไม่เพียงพอ เพราะปัจจุบันมีอัตรากำลังในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ร้อยละ 60 แต่ก็ไม่พออยู่ดี ซึ่งจริงๆ การทำงานที่เหมาะสมต้องเป็นเช้า 8 ชั่วโมง และบ่าย 8 ชั่วโมง โดยมี 1 ชั่วโมงพัก แต่ความเป็นจริงบางคนควงกะเช้าบ่ายมากถึง 16 ชั่วโมง ทั้งที่งานวิจัยพบว่าต้องทำงานต่อเนื่องไม่ควรเกิน 12 ชั่วโมง เพราะจะส่งผลต่อการปฏิบัติงานและจะส่งผลต่อการให้บริการคนไข้ เหมือนกรณีที่เกิดอุบัติเหตุรถพยาบาล ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น แต่ก็เกิดขึ้น
น.ส.กฤษดา กล่าวว่า ขณะนี้รอเรียกจากทางปลัด สธ.เพื่อเข้าหารือเรื่องนี้ โดยสภาการพยาบาลเตรียมเสนอ ดังนี้ 1. ควรมีการกระจายอัตรากำลังในสัดส่วนที่เหมาะสม ไม่กระจุกตัวเหมือนปัจจุบัน ที่แออัดในตัวเมือง อย่างกรุงเทพฯ และ 2. ภาระงานบางอย่างไม่จำเป็น ไม่ควรให้ทำ เช่น การปูเตียง เช็ดตัว สามารถให้ผู้ช่วยพยาบาลทำได้ และงานเอกสารก็ควรให้ธุรการทำ เพื่อให้การทำงานไม่เป็นภาระงานจนเกินไป อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญ พยาบาลไม่ควรทำงานแบบควงเวรติดต่อกันเกิน 3 วันต่อสัปดาห์ เพราะจะส่งผลต่อการบริการได้
ด้าน นางประภัสสร พงศ์พันธุ์พิศาล กรรมการและผู้ช่วยเลขาธิการสภาการพยาบาล กล่าวว่า ขณะนี้สภาการพยาบาลอยู่ระหว่างรอการหารือร่วมกับ นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ถึงการกำหนดชั่วโมงภาระงานของพยาบาล ซึ่งทางสภาการพยาบาลได้เตรียมข้อมูลไว้หมดแล้ว โดยสิ่งที่จะเสนอมีอยู่ 3 ประเด็น คือ 1.เรื่องของชั่วโมงการทำงาน ซึ่งปัจจุบันพยาบาลมีภาระงานที่หนักมาก ทำงานเกินกว่า 30-40 เวร ส่งผลให้คุณภาพชีวิตแย่ลง คุณภาพการบริการก็ด้อยลงด้วย เนื่องจากอัตรากำลังของพยาบาลไม่สัมพันธ์กับจำนวนคนไข้ เมื่อคนไข้มากก็ปฏิเสธการรับคนไข้ไม่ได้ การทำงานของพยาบาลก็จะยาวออกเหมือนกับของแพทย์เช่นกัน และบางทีเราต้องอยู่เวร 24 ชั่วโมงด้วย
นางประภัสสร กล่าวว่า 2.เรื่องของความปลอดภัย จะเห็นว่ารถพยาบาลเกิดอุบัติเหตุพลิกคว่ำบ่อยครั้ง เมื่อเวลาออกไปก็มักเป็นชั่วโมงที่เกินจากการทำงานปกติแล้ว ตัวคนทำงานก็มีภาวะเหนื่อยล้า พอส่งคนไข้เสร็จแล้วบ่อยครั้งต้องรับคนไข้ที่อาการดีขึ้นกลับมา เช่น กรณีที่ รถพยาบาล รพ.อมก๋อย เป็นต้น ชั่วโมงของการพักรถ พยาบาล และพนักงานขับรถ ทำให้ไม่เกิดความปลอดภัย และ 3.เรื่องสวัสดิการค่าตอบแทนและความก้าวหน้าต่างๆ เช่น บ้านพักพยาบาล การดูแลเมื่อเจ็บป่วยจากการทำงาน เช่น เกิดอุบัติเหตุขณะออกไปส่งคนไข้ ตรงนี้ต้องดูแลด้วย ซึ่งปัจจุบันเราดูแลกันเอง
"ประเด็นต่างๆ เหล่านี้ คือ สิ่งที่สภาการพยาบาลจะเสนอต่อท่านปลัด สธ. ซึ่งทั้งจะต้องแก้กันเป็นแพ็กเกจเดียวกัน อย่างเรื่องภาระงานที่มาก คนทำงานไม่พอกับงานหรือผู้ป่วย ต่อให้ผลิตแพทย์หรือพยาบาลเพิ่มมากเท่าไร แต่เรื่องของความปลอดภัย สิทธิสวัสดิการต่างๆ ต้องดูแลด้วย จึงจะสามารถคงคนเอาไว้ในระบบ หากไม่แก้ปัญหาเหล่านี้ คนก็จะไหลออกจากระบบไปอีก คนก็จะไม่เพียงพอต่อไป" นางประภัสสร กล่าว
นางประภัสสร กล่าวว่า ข้อเสนอของสภาการพยาบาลคือ 1.อัตรากำลังคนต้องเพียงพอกับภาระงาน จะช่วยเรื่องของชั่วโมงการทำงานได้ด้วย ซึ่งเรามีข้อมูลอยู่ว่า การดูแลในช่วงฉุกเฉิน หรือการดูแลช่วงปกติอัตรากำลังควรเป็นเท่าไร และชั่วโมงการทำงานควรเป็นอย่างไร 2.กำหนดเวลาพักเวลาทำงานให้ชัดเจน โดยเฉพาะเรื่องของการส่งต่อผู้ป่วย ต้องมีมาตรฐานที่ชัดเจนแบบที่กรมการขนส่งดำเนินการ เช่น มาส่งแล้วต้องมีเวลาพัก ไม่ใช่รับกลับทันที พนักงานขับรถและพยาบาลต้องมีเวลาพักผ่อนที่เพียงพอ ซึ่งจะช่วยลดอุบัติเหตุได้ 3.จัดประเภทและภาระงานของโรงพยาบาลให้ชัดเจน ทั้ง รพ.ศูนย์ รพ.ทั่วไป รพ.ชุมชน ให้ทำงานในสเกลของโรงพยาบาล รวมถึงการส่งต่อแบบไร้รอยต่อ จะช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ 4.ต้องส่งเสริมเรื่องการดูแลสุขภาพป้องกันโรค เพื่อลดจำนวนคนไข้มาโรงพยาบาล รวมถึงชุมชนมีส่วนร่วมในการดูแลด้วย และ 5.สวัสดิการและค่าตอบแทนต่างๆ ต้องมีความเหมาะสม
ด้าน นพ.โมลี วนิชสุวรรณ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมุทรสาคร และประธานชมรมโรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไป (รพศ./รพท.) กล่าวว่า ในวันที่ 7 พ.ย.นี้ ทางชมรมฯ จะประชุมหารือกันเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว เนื่องจากภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์เป็นปัญหามานาน แต่ละแห่งก็จะต้องหาทางแก้ปัญหากัน เพราะโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงฯมีความแตกต่าง มีทั้งโรงพยาบาลเล็ก โรงพยาบาลใหญ่ หลายแห่งมีหมอเยอะ หลายแห่งหมอน้อย การบริหารจัดการก็ต้องดำเนินการตามบริบทของพื้นที่นั้นๆ แต่ภาพรวมปัญหาภาระงานมีหมด และมีมานานจริงๆ แต่ก็ต้องเห็นใจ กระทรวงสาธารณสุข เพราะเป็นเหมือนบ่อ อย่างคนไข้มาก็ต้องรับหมด ไม่สามารถมากำหนดเกณฑ์ได้ว่า ถ้าส่งต่อมาจะรับได้เท่านี้ๆ
“โรงพยาบาลต้องทำงานตลอด 24 ชั่วโมง การจะหาทางออกเพื่อลดภาระงานแพทย์ ก็ต้องไม่กระทบการให้บริการตรงนี้ ซึ่งในวันที่ 7 พฤศจิกายน จะหารือถึงทางออก ทั้งการกระจายแพทย์ให้เหมาะสม การพัฒนาระบบส่งต่อคนไข้ เจ้าหน้าที่ปลอดภัย ซึ่งตรงนี้กระทรวงฯ มีการพัฒนามาตลอด แต่ก็คงต้องมาหารือว่ายังมีจุดที่ต้องพัฒนาอย่างไรต่อไป” นพ.โมลี กล่าว
ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 5/11/2561 [10]
อัพเกรด 3 แสน ‘ข้าราชการ’ สู่ยุคดิจิทัล ก.พ.แจก 500 ทุน ดึงคนรุ่นใหม่
นางเมธินี เทพมณี เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เปิดเผยถึงแนวทางในการพัฒนาข้าราชการพลเรือนของประเทศ ผ่านยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ในด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ ว่า ขณะนี้สำนักงาน ก.พ.เตรียมความพร้อมในการพัฒนากำลังคนภาครัฐตามแผนกำลังคนของส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐเชิงยุทธศาสตร์ ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค
โดยขณะนี้สำนักงาน ก.พ. ร่วมกับสมาคมนักเรียนทุนรัฐบาลจัดสัมมนานักเรียนทุนดีเด่น เพื่อรวบรวมสาขาวิชาสำคัญที่ควรจัดสรรทุนของรัฐบาล เช่น พลังงาน Biotechnology Data Science Machine Learning Management Science & Finance และร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดประชุม Thailand 4.0 R&I Open Forum เรื่องการปฏิรูปทุนการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ ซึ่ง สวทน. ระบุสาขาวิชาสำคัญด้านวิทยาศาสตร์ เช่น ด้าน Cyber-Physical (เทคโนโลยี Advance Analytics, เทคโนโลยีอัตโนมัติและปัญญาประดิษฐ์, เทคโนโลยี Cryptograghy, เทคโนโลยี Smart Sensor) ด้าน Bio-Digital (เทคโนโลยี DNA Sequencing เทคโนโลยี Gene editing) เป็นต้น
“ได้วางรากฐานให้ข้าราชการพลเรือนที่มีอยู่กว่า 3 แสนคน ปรับตัวเพื่อก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัล รวมถึงการสรรหาข้าราชการรุ่นใหม่เข้ามาทดแทนข้าราชการพลเรือนที่เกษียณอายุเป็นจำนวนมาก ซึ่งปัจจุบันการสรรหาบุคคลเข้ารับราชการเป็นเรื่องที่ท้าทายสำหรับส่วนราชการ เนื่องจากปัจจัยหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นตลาดแรงงานที่มีการแข่งขันสูง ทักษะและรูปแบบการทำงานที่ท้าทายของหน่วยงานอื่น ๆ และค่านิยมรูปแบบการทำงานของคนรุ่นใหม่ ดังนั้นการสรรหาบุคคลเข้ารับราชการไม่เพียงพิจารณาจากความเก่ง ฉลาดเท่านั้น แต่ต้องเป็นคนที่มีคุณธรรมและมีใจรักที่จะพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้าอีกด้วย” เลขาธิการ ก.พ. กล่าว
เลขาธิการ ก.พ. กล่าวอีกว่า กำลังคนภาครัฐหรือข้าราชการเป็นกลไกหนึ่งที่สำคัญในการช่วยนำพาประเทศไปสู่การเติบโต ซึ่งในอนาคตอาจจะกลายเป็นผู้กำหนดนโยบายหรือทิศทางของประเทศ ดังนั้นการสรรหาและเลือกสรรบุคคลเข้ารับราชการเป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็น สำนักงาน ก.พ. ได้พัฒนารูปแบบการสรรหาและเลือกสรรข้าราชการรูปแบบใหม่ ด้วยการสรรหาเชิงรุก โดยเป็นการชักชวนให้นิสิต นักศึกษา หรือบัณฑิตจบใหม่ที่มีคุณสมบัติตรงตามความต้องการของหน่วยงานราชการ เพื่อเข้ามาทดสอบความสามารถ ความมุ่งมั่นในการพัฒนาประเทศร่วมกัน
ทั้งนี้เมื่อผ่านการทดสอบต่างๆแล้ว ได้รับทุนการศึกษา พร้อมการบรรจุเข้ารับราชการหลังจากสำเร็จการศึกษา พร้อมด้วยการสนับสนุนทุนการศึกษาในระดับที่สูงขึ้น แล้วจึงกลับมารับราชการหรือทำงานในหน่วยงานของรัฐตามระยะเวลาที่กำหนด นอกจากนี้ สำนักงาน ก.พ. ยังได้ร่วมกับหน่วยงานแหล่งทุนในการจัดสรรทุนในสาขาวิชาที่ประเทศไทยยังขาดแคลนทรัพยากรบุคคล อาทิ ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อให้เพียงพอกับความต้องการของประเทศด้วย ” นางเมธินี กล่าว
นางเมธินี กล่าวต่อว่า สำนักงาน ก.พ. มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนและพัฒนาการศึกษาข้าราชการพลเรือน ให้เป็นตัวจักรสำคัญในการพัฒนาประเทศ การพัฒนาทรัพยากรบุคคลโดยให้ทุนรัฐบาลไปศึกษาต่อต่างประเทศจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ดังนั้นในทุกๆปี สำนักงาน ก.พ. จึงได้จัดให้ทุนการศึกษาในสาขาวิชาชีพที่หลากหลาย ให้กับผู้ที่สนใจเข้าทำงานราชการ โดยปี 2561 สำนักงาน ก.พ. ได้เข้าร่วมการจัดมหกรรมการศึกษาต่อต่างประเทศ ครั้งที่ 15 (OCSC International Education Expo 2018) ภายใต้แนวคิด “Transforming Lives Through Education” โดยการศึกษาที่ดีจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงชีวิตที่งดงาม โดยงานจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 10-11 พ.ย. 2561 ณ รอยัล พารากอน ฮอลล์ ชั้น 5 ศูนย์การค้าสยามพารากอน
ที่สำคัญภายในงานนี้ สำนักงาน ก.พ. จะมีการประกาศทุนรัฐบาลและเปิดรับสมัครทุนรัฐบาล จำนวน 500 ทุน พร้อมทั้งจะได้ฟังคำแนะนำจากรุ่นพี่ที่ได้รับทุนรัฐบาล จากสำนักงาน ก.พ. รวมถึงรับคำปรึกษาด้านการเงินในการไปเรียนต่อต่างประเทศ และจะได้ทดลองทำแนวข้อสอบทุนรัฐบาลและทดลองสอบเข้ารับราชการ เป็นต้น
นอกจากนี้ภายในงานยังมีการจัดกิจกรรมทดสอบความถนัดด้านอาชีพจากกระทรวงแรงงาน กิจกรรมสอบ IQ, EQ จากกรมสุขภาพจิต ทั้งนี้ ในงานจะมีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารในการศึกษาต่อต่างประเทศแบบบริการแบบจุดเดียวเบ็ดเสร็จ หรือ One Stop Service ให้กับนักเรียน นักศึกษา ผู้ปกครองและผู้ที่สนใจทั่วไปได้พบปะพูดคุย แลกเปลี่ยนข้อมูลกับผู้แทนสถาบันการศึกษาชั้นนำทั่วโลกกว่า 370 สถาบันจาก 25 ประเทศ และการให้คำปรึกษาตัวต่อตัวในการไปศึกษาต่อที่จีนและการขอทุนจากประเทศต่างๆ รวมถึงสามารถทดลองสอบ TOEFL& IEL TS mock tests ได้ฟรีอีกด้วย
ที่มา: แนวหน้า, 5/11/2561 [11]
ทช.ลุยแก้ประมงผิดกฎหมายปลดใบเหลือง IUU พอใจผลงานปี 2561
นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า ปัจจุบันกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเป็นหน่วยงานภายใต้ศูนย์ประสานการปฏิบัติในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล หรือ ศรชล. ซึ่ง ศรชล. ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้เป็นหน่วยงานหลักที่จะต้องเร่งดำเนินการแก้ไขการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม ตามคำสั่ง คสช. ให้จัดตั้งศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมายหรือ ศปมผ.
นายจตุพร กล่าวต่อว่า การจัดตั้ง ศปมผ. ไม่ใช่แค่เพียงการแก้ปัญหาประมงผิดกฎหมาย หรือ IUU Fishing จากมาตรการแจ้งเตือนสถานะใบเหลืองโดยสหภาพยุโรป (EU) เพียงอย่างเดียว แต่สิ่งสำคัญคือการรักษาทรัพยากรทางทะเลให้สมบูรณ์และยั่งยืนสืบต่อไปสู่รุ่นลูกรุ่นหลาน ซึ่งได้กำชับให้หน่วยงานในระดับพื้นที่ คือสำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 1-10 เร่งดำเนินการตามข้อสั่งการและนโยบายของรัฐบาลอย่างจริงจัง
นายจตุพร กล่าวอีกว่า ด้วยการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเต็มรูปแบบยิ่งขึ้น เนื่องจากหลายหน่วยงานที่เข้ามาบูรณาการทำงานร่วมกันนั้น ต่างก็มีกฎหมายเฉพาะที่แตกต่างกัน แต่หากบูรณาการร่วมกันก็จะทำให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น
“โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตรวจเรือประมงไร้สัญชาติ การตรวจความถูกต้องของเครื่องมือประมง การตรวจการเข้า – ออก ของเรือประมง (PORT IN / PORT OUT) การตรวจอุปกรณ์เครื่องมือในระบบติดตามเรือ (VMS) กับเรือที่มีขนาด 30 ตันกรอสขึ้นไป การตรวจใบอนุญาตแรงงานชาวต่างด้าว รวมถึงการสอดส่องเรื่องการค้ามนุษย์ซึ่งเป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญสำหรับประเทศไทย ซึ่งภารกิจของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ในการป้องกันและปราบปรามการทำการประมงผิดกฎหมายในภาพรวมของปีนี้ หวังว่าจะช่วยส่งผลให้ไทยหลุดพ้นจากการให้ใบเหลืองของ EU ได้ในที่สุด” นายจตุพร กล่าวย้ำ
ด้าน นายโสภณ ทองดี รองอธิบดี ทช. กล่าวว่า ตนได้รับมอบหมายให้เป็นผู้กำกับภารกิจในด้านงานป้องกันและปราบปรามการทำประมงผิดกฎหมายนี้ ซึ่งได้มอบแนวทางการปฏิบัติงานให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติ ว่าให้เป็นไปตามนโยบายของ พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในการที่ทช.จะต้องเป็นหน่วยงานสนับสนุนในการตรวจปราบปรามผู้กระทำผิดกฎหมาย เพื่อช่วยผลักดันให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากการให้ใบเหลืองของ EU ให้ได้โดยเร็วที่สุด
นายโสภณ กล่าวต่อว่า โดยในปีงบประมาณ 2561 นี้ ทช.มีผลการปฏิบัติงานในด้านดังกล่าวเป็นที่น่าพอใจ สามารถดำเนินการตรวจเรือประมง ตั้งแต่เดือน ต.ค. 2560 – 30 ก.ย. 2561 ได้ถึง 4,101 ลำ แรงงานประมง จำนวน 42,985 คน สามารถดำเนินคดีการทำการประมงผิดกฎหมายได้จำนวน 92 คดี และจับกุมผู้ต้องหาได้ 45 คน โดยคดีส่วนใหญ่เป็นการใช้เครื่องมือประมงประเภทลอบพับ ตลอดจนมีเครื่องมือประมงที่ใช้กระทำผิดในชนิดอื่นๆ อีกเช่น อวนรุน อวนลาก อวนล้อม คราดหอย โพงพาง อวนติดตา เป็นต้น
รองอธิบดี ทช. ระบุว่า กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เป็นหน่วยงานราชการหน่วยหนึ่งซึ่งมีหน้าที่บริหารจัดการทรัพยากรทางทะเล ซึ่งเป็นสมบัติอันมีค่ายิ่งของชาติ สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศปีละหลายแสนล้านบาท ทั้งจากการท่องเที่ยวและการประมงทะเล ดังนั้นปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย ดังกล่าว กรม ทช. และหน่วยงานราชการอื่นๆ เช่น กรมประมง หรือกองทัพเรือ
“ซึ่งทุ่มเทการปฏิบัติงานเพื่อแก้ไขปัญหานี้มาเป็นระยะเวลานาน จะไม่สามารถประสบความสำเร็จให้ไทยหลุดพ้นจากใบเหลืองได้ หากพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวประมงไม่ให้ความร่วมมือ ร่วมใจ ช่วยกันแก้ไขปัญหา ซึ่งขณะนี้ แนวโน้มก็เป็นไปในทางที่ดีและหวังว่าจะปะสบความสำเร็จทำให้สหภาพยุโรปเห็นถึงการแก้ไขปัญหา IUU ของไทยที่เป็นรูปธรรมอย่างยิ่ง พิจารณาปลดใบเหลืองให้ไทยในไม่ช้านี้” นายโสภณ กล่าว
ที่มา: ข่าวสด, 5/11/2561 [12]
| ['ข่าว', 'เศรษฐกิจ', 'สังคม', 'แรงงาน', 'คุณภาพชีวิต', 'สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์'] |
https://prachatai.com/print/79551 | 2018-11-10 20:52 | เกษียร เตชะพีระ: ทำไมประเทศกูถึงมี “ลัทธิชังชาติ” | หลังจากศิลปินกลุ่ม RAP AGAINST DICTATORSHIP เผยแพร่ MV เพลงประเทศกูมีหนึ่งในปฎิกริยาโต้กลับที่เกิดขึ้น คือการยัดข้อหาว่า 'ชังชาติ' ทำร้ายประเทศ ประชาไทชวน อาจารย์เดือนตุลาฯ พูดคุยหาแก่นแท้ความเป็นชาติ ลัทธิชังชาติ เป็นมาอย่างไร ทำไมชาติถึงมีศัตรูที่อยู่ภายใน และเราจะเดินต่อไปในความขัดแย้งที่รออยู่ในอนาคตอย่างไร
เพลงประเทศกูมี นับได้ว่าเป็นหนึ่งในปรากฎการณ์ที่เป็นภาพสะท้อนของการเมืองวัฒนธรรม ตลอดระยะเวลา 4 ปีกว่าภายใต้การปกครองโดยรัฐบาลทหาร คสช. ผู้คนต่างเก็บความอัดอั้นตันใจเอาไว้ หลากหลายเรื่องราวที่ต้องการจะพูดถูกทำให้มีราคาที่ต้องจ่าย เมื่อพูดแล้วมีปัญหา การนิ่งเฉยและปล่อยผ่านจึงเป็นทางเลือกที่ดีกว่า ความเงียบ..... จึงกลายเป็นเสียงสะท้อนถึงความกลัวที่โอบคลุมสังคมไทย
ไม่แปลกอะไรนักเมื่อศิลปินกลุ่ม RAP AGAINST DICTATORSHIP เผยแพร่เพลง ประเทศกูมี ซึ่งมีคนพูดถึงและเข้าไปฟังกว่า 30 ล้านครั้ง ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะฝ่ายรัฐตั้งธงว่าจะออกหมายเรียกผู้แต่งเพลงมาสอบสวน แต่ส่วนหนึ่งก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า เนื้อเพลงแต่ละถ้อยคำถูกร้องอยู่ในหัวของคนจำนวนหนึ่งมานานแล้ว เพียงแต่เขาไม่กล้าพูดมันออก และเมื่อมีคนมาพูดแทน พวกเขาก็พร้อมจะที่ฟังมัน และส่งต่อ
เพลงดังกล่าวทำหน้าที่สื่อสารว่า ประเทศนี้มีปัญหาอะไรบ้าง แต่ยังไม่ทันจะนำไปสู่การแก้ไข คนจำนวนหนึ่งในสังคมไทยก็พากันปักป้าย ตีตราให้กับพวกเขาอย่างเบ็ดเสร็จว่า พวกมึงมันชังชาติ ไม่หวังดีต่อบ้านเมือง และมีคนหนุ่นหลังให้มาทำร้ายประเทศตัวเอง จนถึงขั้นขับไล่ให้พวกเขาออกจากประเทศแห่งนี้ไป
ปฎิกริยาโต้กลับลักษณะนี้น่าสนใจอยู่ไม่น้อย แรกสุดทำให้เรานึกถึงการสร้างศัตรูของชาติขึ้นในคำใหม่ว่า ‘ลัทธิชังชาติ’ จากเดิมที่เราเคยได้เห็นมันในคำอื่นมาก่อน พวกคอมมิวนิสต์-พวกขายชาติ-พวกล้มเจ้า-พวกขี้ข้าทักษิณ ความคิดถัดมามันพาเราไปสู่การทำตั้งคำถามง่ายๆ ว่าชาติคืออะไร ทำไมชาติถึงต้องมีศัตรูที่อยู่ภายใน แล้วเราจะเดินกันอย่างไรต่อไปในความขัดแย้งที่รออยู่ในอนาคต เกษียร เตชะพีระ ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คือชื่อหนึ่งที่โดดขึ้นมา เมื่อเราคิดถึงบทสนทนาเรื่องดังกล่าว นั่นอาจเป็นเพราะยังคงจำคำพูดของเขาในคลาสเรียนวิชาการเมืองการปกครองไทยเมื่อหลายปีก่อนได้ดีว่า “ชาติมันสร้างขึ้นในหัวคุณ”
‘ชาติ’ สร้างได้ด้วยการสร้างจินตนาการร่วม แม้สิ่งเหล่านั้นอาจไม่มีอยู่จริง
ก่อนจะตอบคำถามว่า ลัทธิชังชาติคืออะไร คงต้องเดินหลายก้าวหน่อยกว่าจะมาพูดถึงเรื่องชังชาติ เอาเข้าจริงผมได้ยินคำนี้มาตั้งแต่ช่วงกลางปี (2561) เริ่มเห็นคนหยิบคำนี้มาใช้ถ้าจำไม่ผิดคำนี้มาจากปัญญาชนที่แสดงความรักชาติ แสดงความจงรักภักดีจำนวนหนึ่ง แต่ไม่แน่ใจว่าเขาหมายถึงกลุ่มไหนเป็นพิเศษ ให้ผมเดาก็คือ เมื่อมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่อรัฐบาล ต่อสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในสังคมไทยช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ก็พบว่ามีการโต้กลับผู้ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งโดยมากทำโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือปัญญาชนที่เห็นอกเห็นใจรัฐบาล พวกเขาอธิบายว่า สิ่งที่เกิดขึ้นอยู่นี้คือ การทำร้ายประเทศ ทำให้เกิดผลเสียต่อประเทศ และตั้งคำต่อสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ว่า เป็นลัทธิชังชาติหรือไม่
เริ่มต้นกันแบบนี้ ทันทีที่คุณพูดถึง ชาติ คุณพูดถึงชุมชนในจินตนาการ/ชุมชนจินตกรรม (imagined community) คนที่เสนอเรื่องนี้คือครูเบ็น แอนเดอร์สัน ท่านเสนอว่า การจะรวมเป็นชาติมันจะต้องเริ่มจากความรู้สึกว่า เรามีบางอย่างที่ร่วมกัน การจะมีอะไรบางอย่างรวมกันสำหรับคนหลักสิบล้าน หรือเกือบร้อยล้านคนเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยาก เพราะมันมีความแตกต่างหลากหลายมาก คุณนึกภาพดูจากเชียงรายลงไปถึงเบตง ดังนั้นที่สุดแล้วสิ่งที่คนจำนวนมากจะมีร่วมกันจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อคุณมีจินตการถึงบางอย่างร่วมกัน
พูดให้ง่ายคือ เพื่อจะมีชุมชนในจินตกรรม คุณต้องพยายามจินตนาการว่า คนที่อยู่ในพื้นที่นี้มีความร่วมกันบางอย่าง หลักๆ มีอยู่ 3 เรื่อง คือ imagined common past มีอดีตร่วมกัน imagined common place มีพื้นที่ร่วมกัน และมี imagined common tie มีสายสัมพันธ์บางอย่างร่วมกัน ทั้ง 3 สิ่งนี้อยู่ในจินตนาการทั้งสิ้น ดังนั้นมันไม่ใช่อะไรที่คุณสัมผัสจับต้องได้โดยอัตโนมัติในชีวิตประจำวัน
คุณต้องสร้าง imagined common place คือต้องมีสถานที่ร่วมกัน เครื่องมือสำคัญในการทำให้คนจำนวนมากซึ่งอยู่ไกลกัน และชาตินี้อาจไม่เคยเห็นหน้ากันเลยก็ได้ รู้สึกว่า ชิบหายแล้วพวกเราสังกัดอยู่ในสถานที่เดียวกัน เครื่องมือที่ว่านี้คือ แผนที่ เพราะมันทำให้คุณสามารถจินตนาการเห็นว่า เรามีพื้นที่ที่สังกัดอยู่ร่วมกัน
นอกจากแผนที่ คุณต้องจินตนาการได้ว่าคุณมีอดีตร่วมกัน ปกติแล้วคนส่วนใหญ่ไม่ได้มีอดีตร่วมกัน ต่างคนต่างอยู่ มีพื้นเพความเป็นมาไม่เหมือนกัน ดังนั้นคุณต้องสร้างอะไรซักอย่างที่ทำให้เขารู้สึกว่า เขามีอดีตร่วมกัน สามารถสาวกลับไปได้ว่าเรามีทวดของทวดของทวดเรามีความสัมพันธ์อยู่ร่วมกันมาอย่างไร เครื่องมือในการสร้างอดีตที่มีร่วมกัน คือประวัติศาสตร์ ซึ่งคุณจะพบกับคำอธิบายว่า เราแตกยอดมาจากเทือกเขาอัลไตมาถึงสุโขทัย อยุธยา รัตนโกสินทร์จนถึงปัจจุบัน
สุดท้ายคือ imagined common tie คือมีสายสัมพันธ์บางอย่างร่วมกัน พูดถึงที่สุดเราไม่ได้มีสายสัมพันธ์ติดต่อถึงตัวกันจริงๆ ชีวิตเราต่างดำเนินไปตามเงื่อนไขเศรษฐกิจสังคม เราต่างใช้ชีวิตประจำวันของเราไป ผมกับอาจารย์ที่สอนอยู่ที่ ม.เชียงใหม่ กับอาจารย์ที่สอนอยู่ที่ ม.วลัยลักษณ์ อาจจะไม่ได้เคยคุยกันเลยก็ได้ในชั่วชีวิตนี้ แต่เครื่องมือสำคัญในการสร้างจินตนาการว่าเรามีสายสัมพันธ์ร่วมกันคือ การใช้สัญลักษณ์ เช่นธงชาติ เพลงชาติ เครื่องแบบบางอย่าง หรือการแต่งกายบางอย่าง
อันนี้จะเห็นชัดสุดเวลาเราไปเชียร์กีฬา ไม่ว่าจะชกมวยสากล หรือการแข่งขันกีฬาประเภทใดก็ตาม ผมเข้าใจว่าเราจะเห็นดาราตลกคนหนึ่งที่แกชอบใส่ชุดทหารสมัยอยุธยา สวมหมวก ถือธงชาติแล้วก็วิ่งไปวิ่งมา ทันทีที่คุณเห็น คุณก็รู้ว่า เนี่ยแหละไทย เพราะสิ่งเหล่านี้มันคือสัญลักษณ์(symbol) ทั้งนั้น แล้วสัญลักษณ์นี้ทำให้คุณรู้สึกว่าคนที่ชกอยู่ต่อหน้าคุณ คนคนนี้คือพวกเรา เราสามารถจินตนาการถึงสายสัมพันธ์ซึ่งเอาเข้าจริง ไม่ได้มีระหว่างเรากับคนที่ชก หรือคนที่เชียร์
ชาติจึงเป็นชุมชนที่จินตนาการขึ้นมา เพื่อที่จะทำให้มีจุดร่วมกันบางอย่าง คุณต้องสร้างบางอย่างที่ร่วมกันขึ้นมา ซึ่งไม่มีอยู่จริง แต่เป็นการจินตนาการขึ้น มีสถานที่ร่วมกัน ใช้แผนที่ มีอดีตร่วมกัน ใช้ประวัติศาสตร์แห่งชาติ มีสายสัมพันธ์ร่วมกัน ใช้สัญลักษณ์ เวลาเราพูดถึงชาติ เราพูดถึงอะไรที่เราจินตนาการว่ามันมีบางอย่างร่วมกันอยู่
เมื่อมีชาติหนึ่ง ก็มีชาติอื่นด้วย เมื่อมีความเหมือน ก็มีความต่าง แต่ความต่างบางประเภทกลับถูกผลักให้กลายเป็นศัตรู
งานของอาจารย์ธงชัย วินิจจะกุล เรื่อง Siam Mapped ได้อธิบายความสำคัญด้านกลับของชาติไว้ แกบอกว่า การเกิดชาติขึ้นในโลกนี้ มันไม่ได้มีแต่ความเหมือนเท่านั้น มันมีความต่างด้วย เพราะมันไม่มีชาติไหนหรอกที่ครอบครองพื้นที่ทั้งโลก ทันทีที่คุณพูดถึงชาติ ชาติหนึ่ง ชาติไทย คุณกำลังพูดถึงชาติกัมพูชา ชาติพม่า ชาติลาว คือพูดง่ายๆ ทันทีที่พูดถึงชาติ มันเป็นพหูพจน์ (Plural) มันมีหลายชาติในโลก
ทันทีที่เราคิดถึงความเป็นชาติของเรา ก็จะมีความเป็นชาติชาติอื่นด้วย ย่อมมีความเป็นไปได้ของความต่าง ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ระหว่างชาติ ซึ่งจินตนาการถึงความต่าง จะจัดวางความต่างในฐานะมิตรก็ได้ หรือที่จะเป็นศัตรูกันก็ได้ จากจินตนาการนี้เราได้สร้างเงื่อนไขของความเป็นไปได้ที่ หน่วยชาติต่างๆ ในโลกจะเป็นมิตรหรือศัตรูกันก็ได้ และไม่ได้แปลว่าจะต้องเป็นมิตรหรือศัตรูกันตลอดไป แต่ตราบใดที่โลกยังจัดระเบียบกันเป็นชาติต่างๆ อยู่ มันมีความเป็นไปได้ที่จะเป็นมิตรหรือเป็นศัตรูกันตลอดเวลา จนกว่าคุณจะรวมทั้งโลกเป็นชาติเดียวกัน ซึ่งเป็นไปไม่ได้
คราวนี้ทันที่มีชาติหลายชาติ บางชาติอาจเป็นศัตรูของคุณ แต่ศัตรูของชาติไม่ได้มีแต่ข้างนอก ศัตรูของชาติยังเป็นไปได้ว่ามีอยู่ข้างในด้วย เพราะมีการคิดด้วยการเชื่อมโยงคนข้างในกับคนข้างนอก คุณจะเห็นว่ามันการกล่าวหากัน อาจจะจริงหรือไม่จริงก็ได้ เช่น ไอ้นี่มันรับใช้ฝรั่ง ไอ้นี่มันรับใช้จีน ไอ้นี่มันรับใช้ลาว ไอ้นี่มันรับใช้พม่า คุณเชื่อมโยงแล้วคุณก็ได้สร้างศัตรูภายในขึ้นมา เป็นศัตรูซึ่งอยู่ในแผนที่เดียวกันแผนที่ของคุณ เป็นคนซึ่งควรจะมีจินตนาการถึงอดีตแบบเดียวกับคุณ เป็นคนซึ่งควรจะมีสัญลักษณ์ซึ่งผูกสายสัมพันธ์เดียวกันกับคุณ แต่เขากลับเป็นคนอื่นที่อยู่ข้างใน (the others within) คำว่า ’ลัทธิชังชาติ’ มันงอกขึ้นมาบนวิธีคิดแบบนี้แหละ คือการมุ่งเป้าใส่คนข้างใน ซึ่งคุณมองว่าเป็นศัตรู ไม่ใช่พวกเดียวกับคุณ เขาเป็นคนอื่น เป็น the others แต่ดันเป็น the others ซึ่งอยู่ with in the border เป็นคนอื่นที่อยู่ข้างใน
เอาเข้าจริงแล้ว ถ้าคุณไปดูประวัติศาสตร์การกำหนดศัตรูของชาติไทยเรา จะพบว่ามันเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ถ้าคิดคร่าวๆ คือ ในอดีตศัตรูคือพม่า ในยุคต่อมาเราก็ให้ศัตรูของเราเป็นจีนคอมมิวนิสต์ ในยุคถัดมาศัตรูของเราเป็นพวกคอมมิวนิสต์อินโดจีน พอหมดยุคคอมมิวนิสต์แล้ว ศัตรูของเรากลายเป็นพวกค้ายาว้าแดง หรือคิดในบรรยากาศความขัดแย้งทางการเมืองเสื้อสี เสื้อสีแดงอาจจะเป็นศัตรูของชาติ เป็น the others within
แก่นแท้/แก่นสารของชาติ ศัตรูของของชาติ และการควบคุมความคิดคน
การมีศัตรูของชาติ ไม่ต่างจาก imagined common past, imagined common place, imagined common tie เพราะ มันเป็นศัตรูในจินตนาการ มันเป็น imagined common enemy เป็นศัตรูร่วมกันในจินตนาการที่เราคิดขึ้น เพียงแต่เป็นคนข้างใน แล้วเป็นพลเมืองไทย ในทางปฏิบัติมันแปลว่าอะไร ง่ายที่สุดคือ ทันทีที่คุณสร้าง the others within ทันทีคุณสร้าง imagined common enemy ที่อยู่ในพรมแดน คุณกำลังปักป้ายเขตห้ามเข้าทางความคิด คุณกำลังบอกว่า ถ้าเป็นคนไทยอย่าคิดแบบนี้ อย่าเข้าไปในพื้นที่ความคิดแบบนี้ ต้องอยู่ข้างนอก อยู่ฝั่งที่คิดถูกต้อง แต่การปักป้ายศัตรูของชาติที่เป็นคนข้างในจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ในแต่ละยุคสมัย ขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นผู้มีอำนาจมีการประกาศว่าเรามีอดีตร่วมกันอย่างไร พื้นที่ที่เราอยู่ร่วมกันเป็นอย่างไร สายสัมพันธ์เราผูกโยงกันอย่างไร และศัตรูร่วมของเราคืออะไร
แก่นสารของความเป็นชาติมันจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ในยุคของสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แก่นสารของความเป็นชาติคือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ โดยเน้นความสำคัญไปที่สถาบันฯ พอคณะราษฎรขึ้นมากุมอำนาจได้ แก่นสารความเป็นชาติก็เปลี่ยน ตอนแรกเป็นลัทธิรัฐธรรมนูญ ให้ความสำคัญกับรัฐธรรมนูญ แต่เราเริ่มเห็นการเปลี่นแปลงแก่นสารความเป็นชาติได้ชัดก็ตอนที่ พันเอกหลวงพิบูลสงคราม ขึ้นเป็นรัฐมนตรีกลาโหมคนแรก ในคำปราศรัยครั้งแรกของท่าน ในครั้งรับตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหม ท่านนิยามความเป็นชาติไทยใหม่
ท่านบอกว่าสถาบันสำคัญของชาติ หรือสิ่งสำคัญของชาติ มี 4 อย่าง รัฐบาล รัฐสภา พระมหากษัตริย์ และกองทัพ แต่อะไรคือสถาบันสำคัญที่สุดของชาติ และเป็นแก่นสารของชาติ ในความเข้าใจของพันเอกหลวงพิบูลสงครามซึ่งได้อธิบายต่อมาว่า ถ้าเรามาดู 4 สถาบัน รัฐบาลก็พ้นจากตำแหน่งได้ไม่ได้ยั่งยืนถาวร รัฐสภาก็ยุบได้ สถาบันพระมหากษัตริย์ พระมหากษัตริย์ในฐานะที่เป็นบุคคลก็อาจจะเสด็จสวรรคตได้ มีแต่กองทัพเท่านั้นที่ยั่งยืนสถาพร หากกองทัพไม่แล้ว ความเป็นชาติก็ไม่เหลือ
เห็นได้ว่าในช่วงเวลาที่ห่างกันไม่ถึง 30 ปี วิธีนิยามแก่นสารความเป็นชาติมันเปลี่ยนไปตามคณะบุคคลที่ขึ้นมากุมอำนาจซึ่งเห็นว่าสถาบันไหนสำคัญ และผมคิดว่าเกมนี้ดำเนินมาเรื่อยๆ แล้วแต่ว่าคณะบุคคลใด กลุ่มไหนขึ้นมากุมอำนาจก็จะนิยามแก่นสารความเป็นชาติที่เปลี่ยนไปตามฐานผลประโยชน์ ตามฐานอุดมการณ์ของตน
แต่ว่าสิ่งที่แบบเห็นผลทางปฏิบัติมากกว่า คือ imagined common enemy ศัตรูร่วมที่เราจินตนาการขึ้นมาซึ่งส่งผลทันที เพราะมันคือการปักป้ายเขตห้ามเข้าทางความคิด ถึงที่สุดแล้วการสร้างศัตรูของชาติขึ้นมาก็คือ การสร้างกลไกในการควมคุมความคิดคน
ผมไม่แน่ใจว่าคนตั้งลัทธิชังชาติเขาตั้งใจหรือไม่ แต่ในช่วงที่หลวงวิจิตรวาทการนิยามลัทธิชาตินิยม เขาเรียกมันว่า ลัทธิชูชาติ ผมไม่รู้ว่าคนคิดคำว่า ลัทธิชังชาติ ไปเอาคำนี้มาจากไหน หรืออาจจะเห็นว่ามีคำว่า ลัทธิชูชาติ ก็เลยบิดมาใช้เป็น ลัทธิชังชาติ แต่ทั้งหมดมันงอกมาจากคอนเซปต์นี้แหละ มันต้องไล่มาตั้งแต่ชาติเป็นชุมชนในจินตกรรม เรามีบางอย่างร่วมกัน ผ่านแผนที่ ประวัติศาสตร์ และสายสัมพันธ์ แล้วค่อยมาถึงจุดที่จะเห็นมันต่างจากชาติอื่นๆ ซึ่งทำให้มีเงื่อนไขที่ว่าจะเห็นชาติอื่นๆ ที่มีความแตกต่างเป็นมิตรหรือศัตรูก็ได้ ดังนั้นจึงมีโอกาสที่จะสร้างศัตรูที่อยู่ข้างนอกชาติ และศัตรูของชาติที่อยู่ข้างใน และการปักป้ายเขตห้วงห้ามทางความคิด
เป็นไปได้หรือไม่ที่ชาติจะไม่มีศัตรู
ในทางทฤษฎีเป็นไปได้ แต่อย่าลืม ทันทีที่พูดประโยคนี้มันมีเงื่อนไขความเป็นไปได้อยู่เสมอ ที่ในกระบวนการสร้างชาตินั้นจะมีศัตรูของชาติอยู่ นึกออกไหมมันเป็นความเป็นไปได้ที่คุณปฏิเสธไม่ได้ทั้งสองทาง คุณอาจจะบอกว่า เป็นไปได้มั้ยครับ ที่เราจะสร้างชาติโดยไม่ต้องแต่งตั้งผู้ที่ได้รับเกียรติเป็นศัตรูของชาติ ในทางหลักการ ทฤษฎีเป็นไปได้ แต่เข้าใจไหมครับว่าโดยเงื่อนไขความเป็นชาติในโลกปัจจุบันเนี่ยซึ่งต้องมีมากกว่าหนึ่งชาติเสมอเนี่ย มันจึงมีความเป็นไปได้ของการสร้างศัตรูของชาติ และในบางเงื่อนไข บางโอกาส บางสภาวการณ์ มันสร้างศัตรูของชาติได้ง่าย และพอสร้างศัตรูของชาติได้ง่าย คุณก็สร้างเป็นชาติโดยคิดกลับตาลปัตรกันง่าย ถ้าคุณไม่ได้อยู่ในพื้นที่ห้ามเข้าทางความคิด คุณเป็นชาติเดียวกับเรา
ความเป็นไปได้ของการสร้างชาติโดยไม่มีการกำหนดศัตรูของชาติ มันจะผลักพาไปสู่การมีความสัมพันธ์เป็นมิตรกับคนอื่น กับประเทศอื่น มันจะผลักพาไปสู่การรวมตัวระดับภูมิภาคที่ใหญ่กว่าชาติ อันนี้แหละคือที่มาขององค์กรอย่าง สหภาพยุโรป
การเกิดขึ้นของลัทธิชังชาติ สะท้อนให้เห็นถึงนิยามความเป็นชาติที่แตกต่างกัน?
ในเมื่อชาติเป็นชุมชนในจินตกรรม ในพื้นที่รัฐชาติหนึ่งจึงมีจินตนการเกี่ยวกับชาติได้มากกว่าหนึ่งเสมอ ผมคิดว่าน้อยมากที่มันจะเป็นมีจินตนาการเกี่ยวกับชาติที่เป็นเอกพจน์ ดังนั้นการมีจินตนาการเกี่ยวกับชาติที่แตกต่างกันไปหลายแบบ ให้ความสำคัญต่อสถาบันที่เป็นแก่นสารของชาติหลายแบบมันจึงเป็นไปได้เสมอ และจริงๆ เกิดขึ้นในสภาวะปกติธรรมดาด้วย
แต่มันยุ่งตรงที่ว่า ฝั่งหนึ่งซึ่งให้คำนิยามชาติ ได้ขึ้นไปเถลิงอำนาจรัฐ และความจริงที่สำคัญคือ ชาติไม่เพียงแต่เป็นจินตนาการถึงอะไรที่มีร่วมกัน ชาติยังเป็นโปรเจกต์ที่เราจะต้องมีร่วมกันด้วย เพราะเมื่อเราจินตนาการถึงชาติร่วมกัน เราล้วนคิดถึงชาติที่วิ่งไปในอนาคตข้างหน้าเสมอ มันจะมีแผนงาน มีความพยายามผลักพาไปสู่การบรรลุโปรเจกต์บางอย่างเสมอ
ปัญหาเกิดตรงที่ รัฐ อำนาจรัฐคือ เพชรยอดมงกุฎ สำหรับการนำไปการบรรลุโปรเจกต์ชาติ โปรเจกต์ชาติมีได้มากกว่าหนึ่งเสมอ มักจะเป็นพหูพจน์ แต่ว่าเวลาคุณมีโปรเจกต์คุณก็อยากจะทำให้มันเป็นจริง เครื่องมือสำคัญที่สุดในการที่จะทำให้มันเกิดขึ้นจริงอย่างที่จินตนาการไว้ได้คือ คุณต้องมีอำนาจรัฐ
อันนี้มันก็เป็นเรื่องที่ผมไม่รู้จะพูดยังไง แต่ว่า เท่าที่ผมเข้าใจ ตรรกะมันเป็นแบบนี้ ถ้าผมจินตนาการถึงชาติไว้แบบนึง ให้ความสำคัญกับสถาบันจำนวนหนึ่งว่านี่คือแก่นสารของความเป็นชาติ คุณจินตนาการไปอีกแบบ คุณให้แก่นสารของความเป็นชาติไว้อีกแบบ อดีตร่วมของคุณกับอดีตร่วมของผมก็ไม่เหมือนกัน แต่งนิทานกันคนละเรื่อง พื้นที่ร่วมคุณ พื้นที่ร่วมผมก็ไม่แน่ว่าจะเหมือนกันทั้งหมด แต่สมมติว่าร่วมกันก่อน สายสัมพันธ์คุณกับสายสัมพันธ์ผมก็ไม่เหมือนกัน ของคุณใช้เสื้อสีนี้ ของผมใช้เสื้อสีนั้น เพื่อบอกความเป็นพวกเดียวกัน ที่สุดแล้ว นี่คือพูดถึงโปรเจกต์สองโปรเจกต์ และโปรเจกต์ใหญ่ขนาดชาติ ไม่ใช่หมู่บ้าน โรงเรียน คณะ เครื่องสำคัญที่จะบรรลุมันได้คือ อำนาจรัฐ ดังนั้นมันจึงวิ่งมาสู้จุดที่ต้องปะทะกัน
คราวนี้พยายามจะกลับไปที่คำถาม คุณเริ่มตรงที่ว่า เพราะว่าคนเรามีจินตนาการถึงชาติไม่เหมือนกัน โดยเฉพาะที่คุณว่าฝ่ายรัฐกับฝ่ายประชาชนมีจินตาการแตกต่างกัน ผมเห็นด้วยว่า มันได้มากกว่าหนึ่ง มันเป็นพหูพจน์ ที่ยากกว่านั้น ยุ่งกว่านั้นก็คือว่า เส้นแบ่งมันไม่ง่ายขนาดนั้นไง ฝ่ายรัฐกับฝ่ายประชาชน ฝ่ายประชาชนกันเองก็ไม่เหมือนกัน มันมีตั้งหลายจินตนาการ แล้วฝ่ายรัฐเองผมก็ไม่แน่ใจนะว่าเหมือนกันซะทีเดียว
ความแตกต่างหลากหลายอาจจะมีอยู่ได้ ถึงแม้ว่าฝ่ายรัฐจะพยายามจัดแถว ตบแถว ให้คิดแบบเดียวกันกับรัฐบาล ดังนั้นเรามักจะเห็นเส้นแบ่งของผู้มีอำนาจรัฐ ก็ด้วยเหตุที่เขาอยากได้อำนาจรัฐที่จะทำให้เขาบรรลุโปรเจกต์ชาติ กับฝ่ายที่ไม่มีอำนาจรัฐ แต่อย่าไปคิดว่าจะมีเอกภาพในแต่ละฝ่าย ชัดเจนซะทีเดียว มันอาจจะมีได้มากกว่าหนึ่ง ทั้งฝ่ายผู้ไม่มีอำนาจรัฐคือประชาชน กับฝ่ายผู้มีอำนาจรัฐ
คราวนี้ขยับต่อคือ พูดให้ถึงที่สุด คนที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นพวกลัทธิชังชาติ ในความเข้าใจของผม คือพวกเขาเป็นลัทธิรักชาตินี่ล่ะ และเขาอยากจะช่วยเหลือแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงชาติ เพราะเค้าเชื่อว่าชาติดีกว่านี้ได้ คนที่ถูกตราหน้าว่าเป็นลัทธิชังชาติเนี่ยก็คือคนที่วิพากษ์วิจารณ์ความเป็นจริง อย่างที่เห็นและเป็นอยู่ ในสภาพของชาติปัจจุบัน และเขาวิพากษ์วิจารณ์เพื่อเตรียมย้ายไปอยู่ประเทศอื่นหรือ เปล่า เขาวิพากษ์วิจารณ์ภาษาไทยในพื้นที่ประเทศไทย และทำไมเขาทำแบบนั้นทำไมเขาแบบไม่เก็บของแล้วอพยพไปอยู่ที่อื่น เพราะเขารักชาติ เขาอยากจะเปลี่ยนชาติ แก้ไขปัญหาที่เขาเห็นว่าเป็นจุดบกพร่อง เขารู้สึกว่ามันไม่ดี เขาอยากจะให้ประเทศกูไม่มีสิ่งที่ไม่ดีเหล่านี้
ทำไมเขาอุตส่าห์ลงทุนลงแรง ร้องเพลงแร็พ หรือนั่งลำดับว่ามันมีปัญหาอะไรบ้าง เพราะเขาเชื่อว่าชาติดีกว่านี้ได้ ในความหมายหนึ่งเขามีความหวัง เขาอยากจะเห็นชาติที่ดีกว่านี้ และเขาเชื่อว่าเป็นไปได้ คนที่ถูกตราหน้าว่าลัทธิชังชาติ ปัญหาของมันคือมันรักชาติมากเกินไป (หัวเราะ) คือถ้ามึงรักชาติน้อยกว่านี้หน่อยแล้วมึงหุบปาก มันก็ไม่มีปัญหา มึงเสือกรักชาติแล้วมึงพูดออกมา แล้วมึงเสียเวลาพูดออกมา มึงก็รู้ว่ามึงพูดออกมามึงก็โดนเขาด่า โดนเขากล่าวหาว่าชังชาติ มึงพูดมาทำไม เพราะมึงรักชาติเกินไป และมีความหวังว่าชาติจะดีกว่านี้ได้ น่าสงสารเนาะ
คือถ้าไม่รักชาติก็สบาย เสือกรักชาติ ในบทเรียนของผม ผู้ที่รักชาติมากๆ มักจะตายก่อนเพื่อน พอชาติประสบความเดือดร้อนมันจะวิ่งแอ่นอกไปก่อนเพื่อน ตายก่อนเพื่อน คือผมคิดว่า ไอ้สิ่งที่เรียกว่าลัทธิชังชาติ ข้างหลังคืออันนี้ คือเขารักชาติ เขาเลยวิจารณ์ชาติ ในภาษาอังกฤษท่าทีแบบนี้ เรียกว่า erotic irony คือเหมือนกับคุณประชดประเทียด คุณประชดประเทียดเพราะคุณรักมัน แล้วมึงรักมันทำไมมึงประชดประเทียด เพราะมึงคิดว่าสิ่งที่เป็นอยู่นี้มันเป็นปัญหา คุณประชดประเทียดมันเพราะคุณหวังว่ามันจะดีกว่านี้ได้ คือ พูดให้ถึงที่สุด ประเทศกูมี คนทั้งหลายที่ออกมาวิจารณ์ชาติเรื่องสิทธิมนุษยชน เรื่องสิทธิเสรีภาพ เรื่องเศรษฐกิจหรืออะไรก็แล้วแต่ เขาทำไปเพราะเขารักชาติ แต่พอคุณได้ยินคำวิจารณ์ คุณก็หาว่า ไอ้นี้ชังชาติ ไอ้นี่ทำร้ายชาติ อันนี้นี้ทำให้คุยไม่รู้เรื่อง
เกิดอะไรขึ้นกับสังคมไทย ทำไมเราจึงเป็นสังคมที่ไม่อาจรับฟังความแตกต่างที่วางอยู่บนข้อเท็จจริงได้
เท่าที่ผมสามารถเข้าใจได้ผมคิดว่าสังคมไทยถูกออกแบบ และฝึกอบรมมา ให้เปราะบางยิ่งต่อความเห็นต่างบางอย่าง ไม่ใช่ทุกอย่าง เปราะบางถึงขนาดที่ว่า มันไม่สามารถ พูดออกมาได้ หรือยอมรับได้ว่ามันเป็นเรื่องธรรมดาที่คนไทยจะคิดเห็นต่างกันในเรื่องนี้ มันบางมาก พอคนไทยด้วยกันคิดเห็นต่างกันในเรื่องนี้ปั๊บ มันแตกเพล้งเลย และทางเดียวที่มันจะรักษาไม่ให้แตกเพล้งได้ คือบอกว่า มึงไม่ใช่ ถีบแม่งออกไป ไม่รักชาติออกไปจากที่นี่ซะ
แปลกมากเลยนะ เหมือนกับชาติที่เขาจินตนาการออกแบบไว้ แล้วอบรมให้เชื่อกันมาว่าชาติเราเป็นแบบนี้ มันบางเสียจนกระทั่งมันยอมรับให้คนไทยด้วยกันหรือคนที่สังกัดหน่วยเดียวกัน ชุมชนเดียวกัน คิดต่างกันในเรื่องนี้ไม่ได้ การคิดต่างในเรื่องนี้ มันเหมือนกับสิ่งที่มึงสร้างมาทั้งหมดนี่แตกเพล้งเลย มันบ๊างบางว่ะ
นึกออกไหมฮะ บางประเทศที่เขาจะทำลายรัฐชาติกัน บางสังคมต้องมีสงครามกลางเมือง บางสังคมนี่ต้องมีคนที่นับถือศาสนาต่างกันลุกขึ้นมาฆ่าฟันกันชิบหายวายป่วงหมด ซีเรียเป็นประเทศหนึ่งที่แบบกำลังจะหมดความเป็นประเทศ ฆ่ากันด้วยเรื่องที่ใหญ่โตมโหฬารมาก ฆ่าฟันกันเป็นเรื่องเป็นราว คนตายเป็นหลายแสนคน
ส่วนประเทศไทยมันบาง มึงคิดไม่เหมือนกูเรื่องนี้เดี๋ยวชิบหายเลย คือกระทั่งความต่างทางความคิดเห็นบางอย่างก็มิอาจจะปล่อยให้มีอยู่ได้ ระบอบเปราะบางเกินกว่าที่จะยอมรับความต่างแค่เรื่องความคิดเห็น ยังไม่พูดถึงการปฏิบัติด้วยซ้ำ แค่คิดเห็นก็รับไม่ได้แล้ว เห้ย ทำไมมึงบางงี้วะ คือทำให้ผมมีความรู้สึกว่าแบบ อะไรที่มันรองรับจินตนาการถึงชาติ ชุมชนร่วมกันแบบนี้น่ะ มันบางงงงมากเลย ไอห่าคุณกับผมเชียร์ฟุตบอลต่างทีมกัน คุณกับผมชอบดาราต่างคนกัน คุณกับผมชอบอาหารคนละอย่าง นี่เป็นเรื่องธรรมดา แต่บางเรื่องต่างกันไม่ได้ ทันทีที่ต่างปั๊บ พังเลย พื้นแตกเลยอ่ะ แล้วคุณก็ต้องลุกขึ้นมาไล่ฆ่าฟัน หรือไล่เขาไม่ให้อยู่ประเทศเดียวกันกับคุณ มันสะท้อนว่าอะไรที่รองรับเนี่ย มันบางมาก
ความเปราะบางเกิดจากอะไร ทั้งที่มีความพยายามก่อร่างสร้างฐานกันมานาน ทำไมจึงเปราะบาง
เพราะมันถูกกำหนดสร้างจากคนกลุ่มเดียว จากเบื้องบน มันไม่ใช่พื้นฐานความร่วมกันที่มาจากคนส่วนใหญ่ ที่มีสิทธิ ลุกขึ้นมามีส่วนร่วมในการจะบอกว่า ความเป็นไทยคืออะไร เพราะสร้างชาติกันแบบนี้มานานไง ตรงไปตรงมาก็เพราะสร้างโดยชนชั้นนำจำนวนไม่มากที่มีอำนาจปกครอง บอกว่าอันนี้คือพื้นฐานจุดร่วมของความเป็นชาติของเรา ในขณะที่คนส่วนใหญ่ไม่ได้เข้ามามีปากเสียง มีส่วนร่วมในการกำหนดว่า พื้นที่ร่วมของความเป็นชาติของเราว่ามันคืออะไรกันแน่ ได้แต่ถูกนิยามชุดหนึ่งวางกดทับไว้ตลอด
ขณะที่เวลาล่วงเลย และโลกที่หมุนเปลี่ยนไป ความหลากหลายมันเพิ่มขึ้น สังคมไทยมีเศรษฐกิจที่ต่างแบบกันมากขึ้น มีสังคมที่ต่าง เราเปิดรับความหลากหลายจากนานาชาติ จากนานาวัฒนธรรมมากขึ้น แล้วการหวังให้คนไทย ในประเทศที่เคยมีคน 10 ล้านคน 20 ล้านคน ทุกวันนี้ 70 กว่าล้านคน ให้มันมีความหลากหลายน้อยลง มันเป็นไปไม่ได้ มันมีแต่จะหลากหลายมากขึ้น และไอ้พื้นที่เคยที่เคยใช้ครอบพวกเขาไว้ รองรับพวกเขาไว้ทั้งหมดเนี่ย มันยังเป็นพื้นที่ที่ถูกกำหนดจากคนส่วนน้อยเบื้องบนอยู่ดี ซึ่งไม่สามารถรองรับความหลากหลายได้
ดังนั้นเมื่อมันเจอกับหลากหลายนอกเหนือไปจากที่เคยคาดคิดไว้ มันก็สั่น มันก็พร้อมจะแตก มันเปราะบางเกินไป แล้วมันจะไม่ลดความเปราะบางหรอกจนกว่าคุณจะเปิดโอกาสให้คนทั้งหลายมีส่วนเป็นเจ้าของชาติในความหมาย นิยามชาติ กำหนดชาติ บอกขึ้นมาว่าอะไรคือความเป็นไทย ถ้าคุณไม่มีสิทธิเสรีภาพ คุณไม่มีประชาธิปไตย เขาจะมีส่วนร่วมในการนิยามความเป็นไทยได้อย่างไร ไม่ใช่เป็นการนิยามจากบางคนบางกลุ่ม ทุกวันศุกร์ ตอนกลางคืน ความเป็นไทยคือแบบนี้ มี 12 ข้อแล้วให้ถ่องตามๆ กัน
สภาวการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่นี้เรียกได้ว่าเป็นสงครามการช่วงชิงนิยมความเป็นชาติหรือไม่
ตามความเข้าใจผมมันจะเกิดในช่วงสังคมเศรษฐกิจเปลี่ยน คนกลุ่มใหม่โผล่ขึ้นมาในสังคม และเขารู้สึกว่าระเบียบในสังคมที่เป็นอยู่มันไม่เอื้อเฟื้อเท่าที่ควร จุดเริ่มไม่ได้เริ่มต้นจากกระหายอำนาจ แต่มันเริ่มที่สังคมเปลี่ยน เศรษฐกิจเปลี่ยน เขาประกอบอาชีพใหม่ เขาเป็นคนกลุ่มใหม่ เขาเริ่มมีฐานะดีขึ้น มีความมั่งคั่งมีความต้องการทางเศรษฐกิจสังคมแตกต่างไปจากคนที่อยู่เดิม ก่อตัวเป็นก้อนกลุ่มคนใหม่ขึ้นมา ถึงจุดหนึ่งเขาก็จะสังเกตว่าระเบียบอำนาจที่เป็นอยู่ ไม่เอื้อเฟื้อต่อเขา เขาอยากให้ระเบียบอำนาจเปลี่ยนไป
พูดง่ายๆ คือ ขอส่วนแบ่งอำนาจกูมั่ง แบบที่ออกแบบอยู่นี้ กูมีส่วนแบ่งอำนาจน้อยเกินไป หรือไม่มีเลย ถึงจุดที่มีการปะทะต่อสู้กันทางการเมือง ในเรื่องความสัมพันธ์อำนาจแบบเดิมไม่เอื้อเฟื้อ ระเบียบอำนาจไม่เอื้อเฟื้อต่อคนกลุ่มใหม่ เมื่อถึงจุดนั้นความเป็นไทยจะกลายเป็นโจทย์ คนจะตั้งคำถามต่อความเป็นไทย คนจะท้าทายกับระเบียบอำนาจเดิม คนจะท้าทายกับความสัมพันธ์ทางอำนาจเดิม มันก็จะพาคุณไปสู่จุดที่ทำให้คนตั้งคำถามว่าตกลงความเป็นไทยคืออะไร และความเป็นไทยที่ควรจะเป็นคืออะไร และตอนนี้ผมคิดว่าเรากำลังไปสู่จุดนั้น
เราจึงได้เห็นเพลงประเทศกูมี เห็นเพลงไทยแลนด์ 4.0 ไม่แปลกเลย มันเคยเกิดมาแล้วตอนช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 ตอนที่ในหลวงรัชกาลที่ 5 พยายามจะปรับปรุงประเทศให้ทันสมัยก็ต้องทะเลาะกับสยามเก่า มันเคยเกิดขึ้นมาก่อนในปี 2475 ช่วง 2475 ก็คือระหว่างฝ่ายเจ้ากับฝ่ายคณะราษฎร ฝ่ายระบอบเดิมกับฝ่ายระบอบใหม่ เคยเกิดมากช่วง 14 ตุลา มันเคยเกิดมาช่วงคุณทักษิณ ตอนนี้ผมคิดว่ากำลังเกิด ความสงบสันติที่เกิดขึ้นใน 3-4 ปีที่ผ่านมาหลังจากเรามีม็อบแทบไม่หยุดทุกปี มาเป็นเวลาเป็นสิบปี แต่เห็นชัดเลยว่าโจทย์ข้างในยังไม่ได้เคลียร์ ดังนั้นมันแสดงออกมาเป็นแบบรูปแบบการต่อสู้ทางวัฒนธรรม
ผมเรียกอย่างนี้ว่าการเมืองวัฒนธรรม มันไม่ใช่การเมืองม็อบ ก็คุณไม่ให้เขาม็อบ เขาไปรวมตัวกันไม่ถึงกี่สิบคน จับเขาหมด ฟ้องศาลจนไม่เป็นอันทำมาหากิน ไม่เป็นอันเรียนหนังสือ ขึ้นศาลบ่อย (หัวเราะ) คือในแง่กลับกันเนี่ย ถ้าคุณคิดว่ามันหายไป เพราะคุณไปเด็ดยอด ปิดกั้นคน แต่อย่าลืมว่าสังคมเปลี่ยนแล้ว เศรษฐกิจเปลี่ยนแล้ว คนรู้สึกว่าระเบียบอำนาจเดิมไม่เอื้อเฟื้อ ถึงจุดหนึ่งมันจะปะทุออกมาในรูปแบบนี้ ผมคิดว่าล่าสุดคือประเทศกูมีนี่แหละ ลัทธิรักชาติมากเกินไปเสียจนกระทั่งทนปล่อยให้ชาติเป็นอยู่แบบนี้ต่อไปไม่ได้ ก็เลยออกมาพูดความจริงว่าชาติมีปัญหาแบบนี้ เพราะหวังชาติจะดีกว่านี้ได้ กับคนที่บอกว่า It’s OK ไม่มีปัญหาห่าไรเลย ทุกอย่างเรียบร้อยหมด มาร่วมโปรเจกต์เรา โปรเจกต์ตัดถนนไป 4.0
ประเทศกูมี เพลงแห่งการปลดปล่อย และการเดินต่อไปในอนาคตที่ขัดแย้ง
ผมมาคิดย้อนดู 4 ปีที่ผ่านมา คุณอยากพูดความเป็นจริงแต่พูดไม่ได้ เขาไม่ยอมให้คุณพูดอะไรใช่ไหม คนก็อึดอัด คือเราอยากจะพูด ซึ่งไม่ได้อยากพูดอะไรมากหรอก เราอยากจะพูดซักแค่ 6 หรือ 7 เท่านั้นแหละ แต่ในหลายปีที่ผ่านมา แค่พูด 3-4 บางทีก็ยังเชิญไปปรับทัศนคติ แล้วอยู่มาวันดีคืนดีมีคนมาพูดยาวเป็นเพลงแล้วมันพูดไปถึง 13 โอโห้ มันเป็น psychological เป็น cultural liberation มันแบบ อ่าห์ อยากพูดอย่างนี้มาตั้งนานแล้ว แล้วที่คิดว่าจะพูดยังไม่เท่านี้ด้วยซ้ำไป แล้วสิ่งที่เขาพูดมันจริง มันไม่ได้จริงน้อยลงเพราะเราไม่ได้พูดมัน มันไม่ได้จริงน้อยลงแม้แต่นิดเดียว
การที่คุณห้ามถูกคนพูดถึงมัน ตรงกันข้ามคนอยากพูดมันมากขึ้น ถ้าคุณปล่อยให้สังคมมันได้พูดถึงปัญหา และแก้ปัญหา คิดหาทางแก้ปัญหาไปอย่างปกติสุข นี่จะเป็นเพลงแร็พ เพลงหนึ่งในอีกร้อยเพลงเลย ไม่มีความหมายห่าอะไรเลย เพราะคุณทำให้เขาไม่ได้พูดความจริง ที่มันเป็นปัญหามาแล้ว 3-4 ปี พอเขาพูดออกมาคนมันฮือ ดังนั้น เข้าใจตัวท่านเอง (หัวเราะ) นี่เป็นผลจากการใช้อำนาจของท่าน ท่านกำลังเสพผลบั้นปลายจากการใช้อำนาจแบบที่ท่านใช้นั่นแหละ อย่าตกใจไปเลย
อย่างไรก็ตาม ผมพบจากบทเรียนในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาและจากบทเรียนที่ คสช. ขึ้นมาปกครอง ผมคิดว่าสังคมไทยมีเรื่องต้องทะเลาะกันอีกเยอะ ถึงแม้คนทั้งหลายจะบอกว่า ไม่ละ เราถึงเวลาปรองดองแล้ว ไม่ใช่ครับท่าน (หัวเราะ) เรายังมีเรื่องที่จะทะเลาะกันเยอะชิบหาย เรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องแนวทางการพัฒนาประเทศ เรื่องการกระจายความมั่งคั่ง เรื่องความเหลื่อมล้ำทางการแพทย์ เยอะชิบหายหลายเรื่องที่เราจะทะเลาะกัน มีอีกแยะ เพราะในแต่ละเรื่องสำคัญใหญ่ๆ เรามีเดิมพันกันทั้งนั้น ผลประโยชน์ของท่านกับผลประโยชน์ทั้งหลายของสังคมมันไม่แน่หรอกว่าจะตรงกัน ดังนั้นในโอกาสต่อไปข้างหน้า ที่เราเล็งเห็นว่าสังคมไทยยังเรื่องที่ต้องทะเลาะ ที่ต้องคุยกันอีกเยอะไม่ใช่ว่าจะแก้ปัญหาได้ด้วยการมีใครกุมอำนาจซักคนแล้วสั่ง คิดว่านี่จะเป็นทางแก้ปัญหา ไม่ ไม่จบ ในเงื่อนไขแบบนี้เนี่ย ขั้นต่ำสุดที่จะทำให้เราทะเลาะกันโดยไม่ฆ่ากันได้คือ สิทธิมนุษยชน การต่อสู้อย่างสันติ
ผมคิดว่าเจ้าของโจทย์เยอะไปหมด เจ้าของโจทย์ที่เป็นเจ้าของสวนปาล์ม เจ้าของโจทย์ที่เป็นเจ้าของไร่อ้อย เจ้าของโจทย์ที่เอาตัวที่เป็นมะเร็งไปรักษาที่โรงพยาบาลแล้วพบว่า ยาที่ตัวเองมีสิทธิได้เบิก ตอนนี้เบิกไม่ได้แล้ว เจ้าของโจทย์ไม่ใช่คนที่แต่งเพลงประเทศกูมี เพลงประเทศกูมีและคนแต่งมันเพียงแต่ไปฟังสิ่งที่คนทั้งหลายอยากจะพูดเต็มที่ แล้วก็มาร้องให้ฟัง
สิ่งที่ทำให้ผมเศร้าใจมากคือ พื้นที่ที่เราจะพูดความจริงได้อย่างปลอดภัยมันหดแคบลงมาก ภายใต้ระเบียบอำนาจของ คสช. พื้นที่ที่คุณจะพูดความจริงได้อย่างปลอดภัย พูดในสิ่งที่คุณเชื่อ และเห็นต่างจากผู้มีอำนาจได้อย่างปลอดภัยมันหดแคบลงมาก อันนี้คือที่มาของคำถาม ทำไมคนฮือเรื่องประเทศกูมี เพราะคุณไม่ให้พื้นที่เหล่านั้น พอมีคนพูดแบบนี้ ก็ปิดทีวีเขามั่งล่ะ คุณไปปิดเว็บเขามั่งล่ะ แล้วนึกออกไหมคนมันอึดอัด ดังนั้นคืนพื้นที่ คืนการทะเลาะกันโดยปกติของสังคมอารยะให้แก่ผู้คน มันไม่มีสังคมอารยะที่ไหนไม่ทะเลาะกัน
อารยะไม่ได้แปลว่าไม่ทะเลาะ อารยะแปลว่าทะเลาะกันอย่างสันติ เพราะเรายังมีเรื่องอีกเยอะมากที่ยังต้องคิด แล้ววิธีที่จะแก้ปัญหาเหล่านี้คือก็ให้ทุกคนที่เค้ามีเดิมพันเป็นเจ้าของประเทศได้ออกมาแสดงความคิดเห็นแลกเปลี่ยน ถกเถียงกันด้วยเหตุผล ด้วยข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ แล้วเราไม่ได้ทำอย่างนี้มา 3-4 ปี แล้วปัญหาพวกนั้นมันหายไปได้เองหรือ ไม่หายหรอก
คุณบังคับใช้มาตรการบางอย่างซึ่งทำให้คนบางกลุ่มแฮปปี้ คนกลุ่มอื่นไม่แฮปปี้ อะไรที่คุณแก้มา ปัญหาป่าเสื่อมโทรม ปัญหาราคาพืชผล ปัญหาสิทธิเสรีภาพ หรือปัญหาทั้งหลายเนี่ย หาบเร่แผงลอย คุณใช้อำนาจฟันลงไป แล้วคุณคิดว่าสิ่งที่คุณทำเป็นกลาง ไม่เป็นกลางหรอก ในทุกปัญหาที่คุณฟันลงไปมันมีกลุ่มได้ประโยชน์กลุ่มเสียประโยชน์ แล้วคุณไม่ให้เขาพูด คุณทำอย่างนี้กับหลายปัญหามาตลอด 3-4 ที่ผ่านมา คนอัดอั้นตันใจเยอะมาก สิ่งที่คุณควรทำตอนนี้คือ คืนพื้นที่ปกติให้สังคมมีเสรีภาพ มีความปลอดภัย ความมั่นคงที่จะเถียงกัน พูดถึงความจริงของปัญหาได้อย่างปกติ เหมือนคนในโลกเขา เราไม่ใช่มนุษย์ต่างดาว เราเป็นมนุษย์คนหนึ่ง เราต้องการพื้นที่เสรี ปลอดภัย เสมอภาค ในการทะเลาะกันเหมือนคนทั้งหลายในโลกนี่แหละ คืนมาซักทีสิ เราจะได้เป็นผู้เป็นคน
| ['สัมภาษณ์', 'การเมือง', 'วัฒนธรรม', 'สิทธิมนุษยชน', 'การเมืองวัฒนธรรม', 'การสร้างชาติ', 'เกษียร เตชะพีระ', 'ประเทศกูมี', 'ลัทธิชังชาติ', 'ศัตรูของชาติ', 'ความเป็นอื่น'] |
https://prachatai.com/print/79555 | 2018-11-11 09:30 | กรมอุตุฯ ชี้แจงข่าวลือเตือนภัยพายุจากแบบจำลองคอมพิวเตอร์ | กรมอุตุนิยมวิทยาแจงกรณีชาวเน็ตใช้แบบจำลองสภาพอากาศจากคอมพิวเตอร์ระบุว่าจะมีพายุภาคใต้รุนแรงอาจเท่าพายุแฮเรียตที่เคยเข้าแหลมตะลุมพุก ชี้การใช้แบบจำลอง 'มีจุดอ่อน-คลาดเคลื่อน-ไม่แน่นอน' การเกิดพายุหมุนเขตร้อนต้องอาศัยปัจจัยอื่นๆ ในการวิเคราะห์อีกมาก ส่วนการคาดการณ์ของกรมอุตุฯ ช่วงวันที่ 18-19 พ.ย. นี้ภาคใต้จะมีฝนเพิ่มมากขึ้นและมีฝนตกหนักบางพื้นที่เท่านั้น
เมื่อวันที่ 10 พ.ย. 2561 สำนักพยากรณ์อากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ออก ประกาศเรื่อง 'ชี้แจง ข่าวลือเรื่อง เตือนภัยพายุที่จะเข้าสู่อ่าวไทย และภาคใต้' [1] ระบุว่าตามที่ได้มีการแพร่ข่าวเรื่องเตือนภัยพายุที่จะเข้าสู่อ่าวไทย และภาคใต้นั้น ได้มีการนำแบบจำลองสภาพอากาศจากคอมพิวเตอร์ มาคาดการณ์การเกิดพายุหมุนเขตร้อนล่วงหน้า โดยระบุว่าจะมีพายุเกิดขึ้นในบริเวณทะเลจีนใต้แล้วจะเคลื่อนเข้าสู่อ่าวไทยและภาคใต้ แล้วพายุนี้จะมีความรุนแรงอาจเท่าพายุแฮเรียต ที่เคยเข้าแหลมตะลุมพุกนั้น และมีผลกระทบทาให้เกิดฝนตกหนัก ลมแรง และเกิดน้ำท่วม กรมอุตุนิยมวิทยา มีข้อแนะนำแก่ประชาชนและชี้แจงดังนี้ คือ
การเกิดหย่อมความกดอากาศต่ำในช่วงของฤดูหนาวแถวทะเลจีนใต้ตอนล่างใกล้กับเกาะบอเนียวนั้น ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นเป็นประจำ เมื่อมีระลอกของอากาศหนาวหรือบริเวณความกาศสูงกำลังแรงจากประเทศจีนได้แผ่ขยายลงมาปกคลุมประเทศไทย อาจทำให้หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณเกาะบอเนียว ซึ่งอาจจะเคลื่อนตัวเข้าสู่อ่าวไทยและภาคใต้ได้ โดยเป็นแค่หย่อมความกดอากาศต่ำหรือพัฒนาเป็นดีเปรสชัน แต่อย่างไรก็ตามเนื่องจากระยะเวลาการพยากรณ์นั้นนานมาก แบบจำลองจะมีจุดอ่อน มีความคลาดเคลื่อนและความไม่แน่นอนอยู่มาก และการเกิดพายุหมุนเขตร้อนนั้น ยังต้องอาศัยปัจจัยอื่นๆ ในการวิเคราะห์อีกมาก เช่น อุณหภูมิผิวน้ำทะเล ความกดอากาศบริเวณศูนย์กลาง ลมในหลายระดับ เพื่อให้มีความถูกต้องมากที่สุด ซึ่งทางกรมอุตุนิยมวิทยาได้เฝ้าติดตามการเกิดพายุตลอดเวลาไม่ได้นิ่งนอนใจ แต่ต้องปฏิบัติงานให้ถูกต้องบนพื้นฐานหลักวิชาการ และขอให้เชื่อมั่นว่าทางกรมอุตุนิยมวิทยาจะสามารถเตือนภัยได้ทันเหตุการณ์อย่างแน่นอน
จากการคาดการณ์ของกรมอุตุนยมวิทยาในช่วงวันที่ 16-17 พ.ย. 2561 จะมีหย่อมความกดอากาศต่ำเกิดขึ้นในบริเวณทะเลจีนใต้ตอนล่าง และมีแนวโน้มว่าจะเคลื่อนผ่านบริเวณปลายแหลมญวนเข้าสู่อ่าวไทย และภาคใต้ในช่วงวันที่ 18-19 พ.ย. 2561 ทำให้ภาคใต้มีฝนเพิ่มมากขึ้นและมีฝนตกหนักบางพื้นที่
กรมอุตุนิยมวิทยาและหน่วยงานต่างๆ ได้มีการประชุม วิเคราะห์ข้อมูล และติดตามสถานการณ์ร่วมกันอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นจึงขอให้ประชาชน ติดตามข้อมูลการพยากรณ์อากาศและการแจ้งเตือนภัยจากหน่วยราชการเท่านั้น ในการประกาศแจ้งเตือนจะมีรายละเอียด วันและเวลาที่แน่นอน และขอให้อย่าได้ตื่นตะหนกจากข้อมูลที่ไม่ได้มาจากผู้ทางานรับผิดชอบโดยตรง หรือการส่งต่อกันตามสื่อออนไลน์ต่างๆ
| ['ข่าว', 'สังคม', 'คุณภาพชีวิต', 'สิ่งแวดล้อม', 'ไอซีที', 'กรมอุตุนิยมวิทยา', 'พายุ', 'ภัยพิบัติ'] |
https://prachatai.com/print/79556 | 2018-11-11 10:46 | 'ผ่าตัดวันเดียวกลับ' บรรลุเป้า 9 เดือนลดวันนอน รพ. 3.8 พันวัน | สปสช. เผย 'ผ่าตัดวันเดียวกลับ' บรรลุเป้า 9 เดือน ผู้ป่วยรับบริการ 9 กลุ่มโรค 2,176 ราย ผ่าตัดไส้เลื่อนสูงสุด 761 ราย พื้นที่เขต 2 ให้บริการมากสุด 345 ราย เผยผลเปรียบเทียบผ่าตัดปกติต้องนอนใน รพ. ภาพรวมลดวันนอน รพ.ได้ถึง 3,826 วัน ช่วยเพิ่มเตียงว่างดูแลผู้ป่วยโรคอื่น ทั้งลดค่าใช้จ่าย รพ. ทั้งค่าห้อง ค่าอาหาร และค่าใช้จ่ายอื่น พร้อมช่วยลดค่าใช้จ่ายทางอ้อมของผู้ป่วยและญาติ ปี 2562 เตรียมขยายบริการกลุ่มโรคอื่นเพิ่มเติม
11 พ.ย. 2561 นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า การผ่าตัดแบบวันเดียวกลับ (one day surgery : ODS) เป็นการดำเนินตามยุทธศาสตร์รัฐบาล ตามแนวทางการพัฒนาประเทศไทย Thailand 4.0 ด้านการสาธารณสุข โดยในปี 2560 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบให้ สปสช. กรมบัญชีกลาง และสำนักงานประกันสังคม ส่งเสริมการรักษาแบบผ่าตัดวันเดียวกลับ ต่อมากรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข, ราชวิทยาลัยแพทย์, สมาคมและองค์กรวิชาชีพที่เกี่ยวข้องได้ร่วมมือพัฒนาระบบบริการผ่าตัดวันเดียวกลับในการดูแลผู้ป่วย
สปสช.ในฐานะหน่วยงานสนับสนุนได้ทำการปรับหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายชดเชยค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขรักษาพยาบาลเพื่อรองรับและได้ออกเป็นประกาศสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์การเบิกจ่ายบริการผ่าตัดแบบวันเดียวกลับ พ.ศ. 2561
ทั้งนี้ การบริการผ่าตัดวันเดียวกลับประกอบด้วย 12 กลุ่มโรค ได้แก่ 1.โรคไส้เลื่อนขาหนีบ (Inguinal hernia) 2.โรคถุงน้ำอัณฑะ (Hydrocele) 3.โรคริดสีดวงทวาร (Hemorrhoid) 4.ภาวะเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด (Vaginal bleeding) 5.หลอดเลือดดำของหลอดอาหาร กระเพาะอาหารขอด (Esophageal varices, Gastric varices) 6.ภาวะหลอดอาหารตีบ (Esophageal stricture) 7.โรคมะเร็งหลอดอาหารระยะลุกลามที่อุดตัน (Obstructive esophageal cancer/tumor) 8.ติ่งเนื้องอกลำไส้ใหญ่ (Colorectal polyp) 9.นิ่วในท่อน้ำดี (Bile duct stone) 10.นิ่วในท่อตับอ่อน (Pancreatic duct stone) 11.ภาวะท่อน้ำดีตีบ (Bile duct stricture) และ 12.ภาวะท่อตับอ่อนตีบ (Pancreatic duct stricture) โดยมีหน่วยบริการที่สามารถให้บริการได้จำนวน 103 แห่งกระจายอยู่ในทุกเขตทั่วประเทศ
นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่าจากการให้บริการตั้งแต่เดือน ม.ค. – 20 ก.ย. 2561 มีผู้ป่วยเข้ารับบริการผ่าตัดวันเดียวกลับจำนวน 2,176 ครั้ง กลุ่มโรคที่ผู้ป่วยรับบริการผ่าตัดวันเดียวกลับมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ โรคไส้เลื่อนขาหนีบ มีผู้ป่วยรับบริการมากที่สุดจำนวน 761 ราย รองลงมาหลอดเลือดดำของหลอดอาหาร กระเพาะอาหารขอด จำนวน 388 ราย และติ่งเนื้องอกลำไส้ใหญ่ จำนวน 349 ราย ทั้งนี้จาก 12 กลุ่มโรคที่ให้บริการ มี 3 กลุ่มโรค คือ โรคมะเร็งหลอดอาหารระยะลุกลามที่อุดตัน นิ่วในท่อตับอ่อน และภาวะท่อตับอ่อนตีบ ยังไม่มีข้อมูลเบิกจ่ายจากหน่วยบริการ สำหรับในส่วนข้อมูลบริการเมื่อแยกตามพื้นที่พบว่า พื้นที่ เขต 2 มีอัตราบริการผ่าตัดวันเดียวกลับมากที่สุด จำนวน 345 ราย รองลงมาเขต 5 จำนวน 342 ราย และเขต 1 จำนวน 296 ราย
จากข้อมูลจำนวนบริการรักษาผ่าตัดวันเดียวกลับข้างต้นนี้ ได้มีการประมวลผลและเบิกจ่ายแล้ว 22.89 ล้านบาท แต่ผลที่ได้รับสามารถลดวันนอนและลดค่าใช้จ่ายทางอ้อมของญาติได้ รวมทั้งลดค่าใช้จ่ายในการบริการของโรงพยาบาล ทำให้ไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายในส่วนค่าห้อง ค่าอาหาร และค่าบริการอื่นในการนอนโรงพยาบาล
“จากการสอบถามความพึงพอใจผู้รับบริการ ภาพรวมผู้ป่วยให้คะแนนความพึงพอใจบริการผ่าตัดวันเดียวกลับเฉลี่ย 4.58 คะแนน จาก 5 คะแนน ซึ่งการบริการผ่าตัดวันเดียวกลับนี้ได้ลดวันนอนจากการเป็นผู้ป่วยในเพื่อรับการผ่าตัดรักษาจากจำนวน 5,777 วัน เหลือเพียง 1,951 วัน คิดเป็นจำนวนวันนอนที่ลดลงถึง 3,826 วัน ช่วยลดความแออัดของผู้ป่วยในโรงพยาบาล และทำให้มีเตียงว่างเพื่อรองรับบริการผู้ป่วยในโรคอื่นเพิ่มขึ้น พร้อมกันนี้ยังลดค่าใช้จ่ายทั้งของโรงพยาบาลและผู้ป่วยได้ รวมถึงการเพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วย ซึ่งในปี 2562 คาดว่าจะมีการขยายการผ่าตัดวันเดียวกลับไปยังกลุ่มโรคอื่นๆ เพิ่มเติมต่อไป นับเป็นอีกก้าวหนึ่งของความร่วมมือในการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเพื่อดูแลสุขภาพคนไทย” เลขาธิการ สปสช. กล่าว
| ['ข่าว', 'สังคม', 'คุณภาพชีวิต', 'สปสช.', 'สุขภาพ', 'การผ่าตัดแบบวันเดียวกลับ'] |
https://prachatai.com/print/79557 | 2018-11-11 11:41 | พบกากกัมมันตรังสีที่ท่าเรือแหลมฉบัง | เผยท่าเรือแหลมฉบังต้องกำหนดพื้นที่ควบคุมภายในหลังพบสารปนเปื้อนในตู้สินค้าขาออก เริ่มดำเนินการจัดเก็บกากกัมมันตรังสีออกจากพื้นที่ตั้งแต่วันที่ 9 พ.ย ที่ผ่านมา
ที่มาภาพ: แหลมฉบังนิวส์ [1]
Thai PBS [2] รายงานเมื่อวันที่ 10 พ.ย. 2561 ที่ผ่านมาว่าเรือโทยุทธนา โมกขาว รองผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง กล่าวว่าศูนย์เอ็กซเรย์และเทคโนโลยีสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง ตรวจพบสารปนเปื้อนในตู้สินค้าขาออก ของบริษัทอาฟเตอร์เม็ท สแตนเลส สตีล แอน เมทัล รีไซคลิ่ง จำกัด จึงนำมาเก็บไว้ในพื้นที่ควบคุมด้านข้างอาคารแผนกช่างกล ภายในท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี
ก่อนประสานเจ้าหน้าที่สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ เข้าตรวจสอบและจัดเก็บกากกัมมันตรังสีออกจากพื้นที่แล้วตั้งแต่วันที่ 9 พ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งมีกำหนดปฏิบัติการตั้งแต่วันที่ 8-9 พ.ย.นี้ โดยในวันที่ 9 พ.ย.ที่ผ่านมา ทางสถาบันนิวเคลียร์แห่งชาติ ได้เข้ามาดำเนินการตรวจสอบ และเตรียมนำออกจากพื้นที่ แต่ยังไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จ
“ขณะนี้ได้มีการกำหนดเขตปลอดภัย เพื่อป้องกันบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องเข้าไปในบริเวณดังกล่าวแล้ว โดยทีมปฏิบัติงาน เข้าตรวจสอบ และเก็บกากกัมมันตรังสีออกจากพื้นที่ท่าเรือแหลมฉบังจนกว่าจะแล้วเสร็จ”
สำหรับกากกัมตรังสีที่พบคาดว่าจะมีที่มาจากการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์ หรือการใช้งานเทคโนโลยีนิวเคลียร์เช่น การวิจัยนิวเคลียร์และการแพทย์นิวเคลียร์ ซึ่งเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อมซึ่งจะมีการตรวจสอบแหล่งที่มาอย่างละเอียดต่อไป
| ['ข่าว', 'สังคม', 'คุณภาพชีวิต', 'สิ่งแวดล้อม', 'กากกัมมันตรังสี', 'ท่าเรือแหลมฉบัง'] |
https://prachatai.com/print/79559 | 2018-11-11 14:23 | องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ หนุนกำหนดให้เจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินอย่างครบถ้วน | องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ สนับสนุนรัฐบาลกำหนดให้เจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินอย่างครบถ้วนและเคร่งครัด เพื่อสกัดกั้นและป้องกันการทุจริตของเจ้าหน้าที่ระดับสูง
11 พ.ย. 2561 ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าวถึงกรณีกรรมการสภามหาวิทยาลัยต่างๆ เตรียมยื่นใบลาออกจากตำแหน่ง เนื่องจากไม่พอใจประกาศ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ที่ให้กรรมการสภามหาวิทยาลัยต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช. ว่า ยอมรับว่ากรรมการสภามหาวิทยาลัยล้วนเป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จ เก่ง และเป็นคนดี แต่ก็ปรากฎในข่าวสื่อมวลชนบ่อยครั้งว่า มีบางมหาวิทยาลัยที่มีการทุจริต เกื้อหนุนเกื้อกูลระหว่างผู้บริหารในมหาวิทยาลัยร่วมกับกรรมการสภามหาวิทยาลัย โดยเฉพาะตัวนายกสภามหาวิทยาลัย สร้างปัญหาให้กับระบบการศึกษาและงบประมาณของประเทศอยู่เช่นกัน ตรงนี้เป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นว่า การคอร์รัปชันเป็นปัญหาใหญ่ที่สร้างภาระให้กับคนไทยทุกคน ทำให้รัฐบาลนี้ต้องออกกฎหมาย สร้างมาตรการมากมายมาควบคุม ส่งผลให้คนดีได้รับความเดือดร้อนไปด้วย
“มีรายงานของ สกอ. ระบุว่า ปัญหาคอร์รัปชันมีผลกระทบต่อคุณภาพการศึกษาของไทย เริ่มตั้งแต่การซื้อขายตำแหน่ง ข้าราชการ อาจารย์ ที่อยากได้ตำแหน่งทางวิชาการ ต้องวิ่งเต้นเซ่นสาย ผู้บริหารมหาวิทยาลัยอยากได้โครงการ ทางสภามหาวิทยาลัยก็อนุมัติ พอสภามหาวิทยาลัยอยากได้งบประมาณหรือไปดูงานต่างประเทศ ทางผู้บริหารมหาวิทยาลัยก็อนุมัติให้เช่นกัน คือ เรียกได้ว่า ผลัดกันเกาหลัง ประกาศของ ป.ป.ช. ชุดนี้ จึงเป็นสิ่งที่ ป.ป.ช. ต้องทำ และ ป.ป.ช.ได้ทำอย่างถูกต้องเหมาะสมตามกฎหมายแล้ว ดังนั้นคงต้องมาพิจารณาถึงข้อกังวลของแต่ละคนว่าคืออะไร ที่ทำให้ไม่สามารถเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินได้” ดร.มานะ กล่าว
ดร.มานะ กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันมีผู้ที่ต้องยื่นบัญชีอยู่แล้วเกือบ 40,000 คน และตามประกาศ ป.ป.ช. ใหม่ ทำให้มีผู้ต้องยื่นเพิ่มอีก 3,000 คน ที่รวมถึง องค์กรมหาชน รัฐวิสาหกิจ ซึ่งก็มีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นนักธุรกิจเอกชน เป็นพ่อค้า หรือนักวิชาการด้วย แต่ขณะนี้มีเสียงโต้แย้งเฉพาะกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ 81
มหาวิทยาลัยของรัฐ ประมาณ 500 ท่าน ดังนั้นจึงอยากให้ทางกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะเจ้าของกฎหมายและเจ้าของเรื่องทำงานเชิงรุก คือ เดินสายไปชี้แจงและทำความเข้าใจกับผู้บริหารกรรมการสภามหาวิทยาลัยในจังหวัดต่าง ๆ ว่าใครติดขัด ไม่เข้าใจอะไร และทำความเข้าใจกัน อะไรที่คิดว่าเป็นเงื่อนไข เป็นวิธีการ หรือมีเอกสารที่ยุ่งยากเกินไป กรรมการ ป.ป.ช. จะได้รับทราบและแก้ไขทันที
เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าวชี้แจงเพิ่มเติมว่า ประเทศไทยเป็นสมาชิกอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านคอร์รัปชัน ซึ่งเป็นหลักการสากลที่ทุกประเทศสมาชิกพึงกระทำในเรื่องจริยธรรมของข้าราชการที่ต้องมีการเปิดเผยบัญชีทรัพย์สิน เพื่อให้มีการตรวจสอบได้ ซึ่งในรัฐธรรมนูญ และแผนการปฏิรูปประเทศด้านการต่อต้านคอร์รัปชันก็ระบุไว้ด้วย เพราะฉะนั้นใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ และไม่อยากให้ยกเลิกหรือแก้ไขกฎหมายดังกล่าว เพราะจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชนต่อการแก้ปัญหาคอร์รัปชันของประเทศ
“ความพยายามในการต่อต้านคอร์รัปชัน ที่กำหนดมาตรการ เรียกร้องความร่วมมือจากประชาชน ข้าราชการชั้นผู้น้อยที่ทำกันมาตลอดในช่วงหลายปีก็จะสูญเปล่า ประชาชนก็จะเริ่มคิดว่า ชนชั้นสูง คนมีอำนาจ คนร่ำรวย ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย เมื่อออกกติกาแล้ว พอถึงเวลไม่ชอบก็จะไม่ยอมทำ แล้วอย่างนี้จะไปให้ความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชันยังไง อันนี้เป็นสิ่งที่เรากลัว และสิ่งที่จะตามมาก็คือคนรุ่นใหม่ที่เป็นอนาคตของชาติ ก็จะเลือกทำในสิ่งที่เขาคิด เลือกทำในสิ่งที่มีโอกาส ตรงนั้นเป็นเรื่องที่น่ากลัวมาก” เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ ย้ำ
| ['ข่าว', 'การเมือง', 'องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน'] |
https://prachatai.com/print/79560 | 2018-11-11 15:01 | โพลชี้ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ทราบวิธีการกาบัตรเลือกตั้ง ส.ส. | 'นิด้าโพล' ชี้ประชาชนส่วนใหญ่ 77.80% ยังไม่ทราบกาบัตรเลือกตั้งกี่ใบ อีก 82.79% ยังไม่ทราบว่าหมายเลขประจำตัวผู้สมัคร ส.ส. พรรคเดียวกันแต่ต่างเขตเลือกตั้งจะคนละหมายเลขกัน ด้าน 'สวนดุสิตโพล' ระบุพรรคที่โดนใจประชาชนต้องไม่ใส่ร้ายโจมตีหาเรื่องทะเลาะเบาะแว้งกับพรรคคู่แข่ง
11 พ.ย. 2561 ศูนย์สำรวจความคิดเห็น 'นิด้าโพล' สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “ความเข้าใจของคนไทยต่อการเลือกตั้งแบบใหม่ 2562” [1] ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 5 – 7 พ.ย. 2561 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปี ขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,261 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับความเข้าใจของคนไทยต่อ การเลือกตั้งแบบใหม่ ตามรัฐธรรมนูญ 60 การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างด้วยความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” ด้วยวิธีแบบแบ่งชั้นภูมิ (Stratified Random Sampling) โดยแบ่งชั้นภูมิตามภูมิภาค จากนั้นในแต่ละภูมิภาคสุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบอย่างง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ร้อยละ 95.0
จากการสำรวจเมื่อถามถึงการรับทราบของประชาชนเกี่ยวกับการ “กาบัตรลงคะแนน” คนละกี่ใบพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 77.80 ระบุว่า ไม่ทราบ ว่าจะต้อง “กาบัตรลงคะแนน” คนละกี่ใบ และร้อยละ 22.20 ระบุว่า ทราบ ว่าจะต้อง “กาบัตรลงคะแนน” เพียง 1 ใบ
ด้านการรับทราบของประชาชนเกี่ยวกับหมายเลขประจำตัวผู้สมัคร “ส.ส.แบบแบ่งเขต” ของแต่ละพรรคในต่างเขตเลือกตั้ง จะมีหมายเลขเดียวกันหมด หรือ ต่างเขตเลือกตั้งต่างหมายเลข พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 82.79 ระบุว่า ไม่ทราบ ว่าหมายเลขประจำตัวผู้สมัคร “ส.ส.แบบแบ่งเขต” ของแต่ละพรรคในต่างเขตเลือกตั้ง จะมีหมายเลขเดียวกันหมด หรือ ต่างเขตเลือกตั้งต่างหมายเลขและร้อยละ 17.21 ระบุว่า ทราบ ว่าหมายเลขประจำตัวผู้สมัคร “ส.ส.แบบแบ่งเขต” ของแต่ละพรรคจะเป็น “ต่างเขตเลือกตั้งต่างหมายเลข”
สำหรับการรับทราบของประชาชนเกี่ยวกับช่วงเวลาการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 73.51 ระบุว่า ไม่ทราบ รองลงมา ร้อยละ 20.30 ระบุว่า ทราบ ว่าเป็นช่วงเวลา 8.00 – 17.00 น. และร้อยละ 6.19 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ ซึ่งในจำนวนของผู้ที่ระบุว่า “ไม่ทราบ” พบว่า ร้อยละ 75.73 ระบุว่า เป็นช่วงเวลา 8.00 – 15.00 น. และร้อยละ 24.27 ระบุว่า เป็นช่วงเวลา 8.00 – 16.00 น.
ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงการไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งของประชาชน ในการเลือกตั้งวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 62 พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 95.80 ระบุว่า ไปแน่นอน รองลงมา ร้อยละ 2.22 ระบุว่า ไม่ไปแน่นอน เพราะ เลือกไปก็ไม่มีอะไรดีขึ้น ขณะที่บางส่วนระบุว่า ไม่สะดวกในการเดินทางไปลงคะแนนเสียง และร้อยละ 1.98 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
เมื่อสอบถามผู้ที่ระบุว่า จะไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 62 อย่างแน่นอน ว่าจะเลือกผู้สมัคร เลือกพรรค เลือกว่าที่นายกรัฐมนตรีที่พรรคสนับสนุน หรือเลือกนโยบายพรรค พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 47.02 ระบุว่า เลือกนโยบายพรรค รองลงมา ร้อยละ 19.62 ระบุว่า ยังไม่ตัดสินใจ ร้อยละ 14.15 ระบุว่า เลือกพรรค ร้อยละ 13.91 ระบุว่า เลือกผู้สมัคร และร้อยละ 5.30 ระบุว่า เลือกว่าที่นายกรัฐมนตรีที่พรรคสนับสนุน
เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 8.56 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ ร้อยละ 25.85 มีภูมิลำเนาอยู่ปริมณฑลและภาคกลาง ร้อยละ 18.08 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 33.31 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และร้อยละ 14.20 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ ตัวอย่าง ร้อยละ 50.99 เป็นเพศชาย และร้อยละ 49.01 เป็นเพศหญิง ตัวอย่าง ร้อยละ 5.07 มีอายุ 18 – 25 ปี ร้อยละ 15.23 มีอายุ 26 – 35 ปี ร้อยละ 22.84 มีอายุ 36 – 45 ปี ร้อยละ 33.78 มีอายุ 46 – 59 ปี ร้อยละ 21.97 มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และร้อยละ 1.11 ไม่ระบุอายุ
ตัวอย่าง ร้อยละ 93.97 ระบุว่า นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 3.33 ระบุว่า นับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ 0.72 ระบุว่า นับถือศาสนาคริสต์/ฮินดู/ซิกข์/ยิว/ไม่นับถือศาสนาใด ๆ และร้อยละ 1.98 ไม่ระบุศาสนา ตัวอย่าง ร้อยละ 21.57 ระบุว่าสถานภาพโสด ร้อยละ 72.01 สมรสแล้ว ร้อยละ 4.20 หม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ และร้อยละ 2.22 ไม่ระบุสถานภาพการสมรส ตัวอย่าง ร้อยละ 29.90 จบการศึกษาประถมศึกษา หรือต่ำกว่า ร้อยละ 28.78 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 7.22 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 25.69 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ร้อยละ 5.79 จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และร้อยละ 2.62 ไม่ระบุการศึกษา
ตัวอย่าง ร้อยละ 12.77 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 13.56 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 20.14 ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ร้อยละ 16.81 ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง ร้อยละ 16.18 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน ร้อยละ 15.86 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน ร้อยละ 1.90 เป็นนักเรียน/นักศึกษา และร้อยละ 2.78 ไม่ระบุอาชีพ ตัวอย่าง ร้อยละ 10.94 ไม่มีรายได้ ร้อยละ 28.87 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน ไม่เกิน 10,000 บาท ร้อยละ 25.85 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 10,001 – 20,000 บาท ร้อยละ 11.10 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001 – 30,000 บาท ร้อยละ 6.74 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 30,001 – 40,000 บาท ร้อยละ 7.30 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 40,001 บาทขึ้นไป และร้อยละ 9.20 ไม่ระบุรายได้
'สวนดุสิตโพล' ระบุพรรคที่โดนใจประชาชนต้องไม่ใส่ร้ายโจมตีหาเรื่องทะเลาะเบาะแว้งกับพรรคคู่แข่ง
สำนักข่าวไทย [2] รายงานว่าการเลือกตั้ง ส.ส. ที่กำลังจะมีขึ้นในช่วงต้นปี 2562 ส่งผลให้พรรคการเมืองต่างๆ ทั้งพรรคการเมืองเก่าและพรรคการเมืองใหม่ออกมาเคลื่อนไหว แข่งขันกันลงพื้นที่เดินสายหาเสียงกับประชาชนมากขึ้น ในขณะที่ประชาชนต่างก็มีความคาดหวังต่อพรรคการเมือง ซึ่งมีส่วนสำคัญต่อการเลือกตั้งเช่นเดียวกัน เพื่อสะท้อนความคิดเห็นของประชาชนที่สนใจติดตามข่าวการเมือง 'สวนดุสิตโพล' มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ เรื่อง พรรคการเมืองควรทำอย่างไร จึงจะโดนใจประชาชน จำนวนทั้งสิ้น 1,176 คน ระหว่างวันที่ 7-10 พ.ย. 2561 สรุปได้ ดังนี้
1.ประชาชนคิดอย่างไร? กับ “พรรคการเมือง” ที่เป็นข่าวอยู่ในขณะนี้
พลังประชารัฐอันดับ 1 เป็นพรรคที่สนับสนุนรัฐบาลอย่างชัดเจน มีรัฐมนตรีร่วมบริหารพรรค 46.67%อันดับ 2 ถูกจับตามอง มีกลุ่มสามมิตร ดึงนักการเมืองดังๆ เข้าร่วม 32.38%อันดับ 3 มีความได้เปรียบ มีเวลาเตรียมพร้อมมากกว่าพรรคอื่นๆ 20.95%
เพื่อไทยอันดับ 1 ประสบปัญหาทั้งภายในและภายนอก รอดูว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร 50.34%อันดับ 2 มีกระแสข่าวการยุบพรรค และเตรียมจัดตั้งพรรคใหม่ 34.16%อันดับ 3 เป็นพรรคที่คนส่วนใหญ่ยังสนใจติดตามข่าว โดยเฉพาะข่าวอดีตนายกทักษิณ 5.50%
ประชาธิปัตย์อันดับ 1 การชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรค เป็นประเด็นทางการเมืองที่น่าสนใจ 37.53%อันดับ 2 ควรปรับเปลี่ยนอะไรใหม่ๆ เพื่อขยายฐานเสียงให้มากขึ้น 32.65%อันดับ 3 ควรจัดการเรื่องภายในพรรคให้เรียบร้อย เพื่อเตรียมสู้ศึกเลือกตั้ง 29.82%
อนาคตใหม่อันดับ 1 เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ มีนโยบาย แนวคิดทันสมัย น่าสนใจ 38.60%อันดับ 2 ยังไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้าง ไม่มีผลงานทางการเมืองให้เห็น 35.67%อันดับ 3 มีการลงพื้นที่หาเสียง พบเห็นตามสื่อต่างๆ มากขึ้น 25.73%
รวมพลังประชาชาติไทยอันดับ 1 นายสุเทพ เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการหาเสียงของพรรค 50.95%อันดับ 2 จากการลงพื้นที่ที่ผ่านมา มีกระแสต่อต้านมากกว่าตอบรับ 31.56%อันดับ 3 สมาชิกพรรคคนอื่นๆ ยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก 17.49%
2.พรรคการเมืองควรทำอย่างไร? จึงจะโดนใจประชาชน
อันดับ 1 ไม่ใส่ร้าย โจมตี หาเรื่องทะเลาะเบาะแว้งกับพรรคคู่แข่ง 38.76%อันดับ 2 ต้องทำเพื่อส่วนรวมอย่างแท้จริง ไม่มีผลประโยชน์แอบแฝง 34.86%อันดับ 3 มีความสามัคคี ทำงานเป็นทีม คัดเลือกผู้สมัครที่ดี เหมาะสม 33.90%อันดับ 4 ชูนโยบายที่ทำได้จริง เน้นแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ชีวิตความเป็นอยู่ 30.48%อันดับ 5 มีจุดยืน เดินหน้าหาเสียงอย่างบริสุทธิ์ ยุติธรรม 15.52%
3.เหตุผลในการเปลี่ยนใจและไม่เปลี่ยนใจในการเลือกพรรคการเมืองของประชาชน ณ วันนี้ (เปรียบเทียบกับการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา)
อันดับ 1 ไม่เปลี่ยนใจ 45.15% เพราะ ชอบพรรคการเมือง ชอบผู้สมัคร มีผลงานให้เห็น มีคนเก่ง มีประสบการณ์ ช่วยเหลือประชาชนได้ดี อยากให้สานงานต่อ ต้องการสนับสนุนพรรคนี้ต่อไป ฯลฯ อันดับ 2 ยังไม่ตัดสินใจ รอดูก่อน 33.57%อันดับ 3 เปลี่ยนใจ 21.28% เพราะ ผลงานไม่น่าพอใจ ทำไม่ได้ตามที่พูด มีพรรคการเมืองใหม่ๆ ที่น่าสนใจหลายพรรค มีตัวเลือกมากขึ้นผู้สมัครหน้าใหม่หลายคน อยากลองเปิดโอกาสให้พรรคอื่นดูบ้าง ฯลฯ
| ['ข่าว', 'การเมือง', 'โพลชี้ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ทราบวิธีการกาบัตรเลือกตั้ง ส.ส.'] |
https://prachatai.com/print/79561 | 2018-11-11 15:31 | เครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ ประกาศเทคะแนนเลือกพรรคที่รื้อ 'บ้านป่าแหว่ง' | เครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพจัดกิจกรรมปั่นจักรยาน พร้อมเผาโลงศพหน้าศาลอุทธรณ์ภาค 5 จ.เชียงใหม่ เพื่อประกาศเจตนารมณ์คัดค้านจนกว่าจะมีการรื้อสิ่งปลูกสร้างและบ้านพักข้าราชการตุลาการ เพื่อนำพื้นที่กลับมาฟื้นฟูเป็นป่าเหมือนเดิม พร้อมเทคะแนนหนุนพรรคการเมืองที่นโยบายรื้อ 'บ้านป่าแหว่ง'
ที่มาภาพ: เครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ [1]
11 พ.ย.2561 Thai PBS [2] รายงานว่าสมาชิกเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ ปั่นจักรยานไปที่หน้าศาลอุทธรณ์ภาค 5 พร้อมนำโลงศพและพวงหรีด ขึ้นไปไว้บนเชิงเขาใกล้กับบ้านพักข้าราชการตุลาการ จ.เชียงใหม่ โดยให้พระสงฆ์สวดก่อนจุดไฟเผา เพื่อประกาศเจตนารมณ์เดินหน้าคัดค้านโครงการก่อสร้างบ้านพักข้าราชการตุลาการ จ.เชียงใหม่ เพราะผ่านมานานกว่า 7 เดือนแล้ว แต่ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนจากรัฐบาลว่าจะคืนพื้นที่ได้เมื่อใด
นายธีระศักดิ์ รูปสุวรรณ ผู้ประสานงานเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ และชาวเชียงใหม่ ระบุว่า ที่ผ่านมารัฐบาลไม่มีความจริงใจในการแก้ปัญหา เพราะคณะกรรมการระดับ จ.เชียงใหม่ ได้ข้อสรุปร่วมกันแล้วให้รื้อบ้านพักทั้งหมดออกแล้วทำการฟื้นฟู แต่เมื่อส่งเรื่องไปให้กรรมการส่วนกลางกลับล่าช้า จนถึงขณะนี้ยังไม่มีอะไรชัดเจนในการแก้ปัญหา ทางกลุ่มจึงเรียกร้องและจะเคลื่อนไหวต่อไป
สำหรับการออกมาเคลื่อนไหวของเครือข่ายครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังนายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ออกมาระบุว่าการแก้ปัญหาบ้านพักข้าราชการตุลาการ จ.เชียงใหม่ ยังไม่มีข้อสรุป และคนนอกพื้นที่ไม่เห็นด้วยที่จะมีการรื้อบ้านพัก
ขณะที่กลางสัปดาห์ที่ผ่านมา มีผู้นำติดป้ายรายชื่อข้าราชการตุลาการที่เข้าพักอาศัยในบ้านพัก ไปติดตามจุดต่างๆ ทั่วเมืองเชียงใหม่ ก่อนที่เทศบาลนครเชียงใหม่จะเก็บออกไป โดยเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ ยืนยันว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับป้ายดังกล่าว
นอกจากนี้ผู้ จัดการออนไลน์ [3] ยังรายงานว่าผู้ประสานงานเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพได้บอกว่าในช่วงหลังจากนี้เมื่อพรรคการเมืองต่างๆ สามารถทำกิจกรรมทางการเมืองและหาเสียงได้แล้ว หากพรรคการเมืองใดที่มีการประกาศนโยบายชัดเจนว่าจะรื้อย้ายบ้านพัก 45 หลัง และอาคารชุด 9 หลัง ออกจากแนวเขตป่าดั้งเดิม แล้วทำการฟื้นฟูสภาพป่าให้กลับมาสมบูรณ์ ทางเครือข่ายและคนเชียงใหม่พร้อมที่จะเทคะแนนเสียงให้เลยทันทีในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น ส่วนกรณีที่ผู้นำป้ายที่มีการเปิดเผยรายชื่อข้าราชการที่ยังคงพักอาศัยอยู่ในอาคารชุดของโครงการไปติดไว้ในตัวเมืองเชียงใหม่ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น ยืนยันว่า ไม่เกี่ยวข้องกับทางเครือข่าย และทางเครือข่ายไม่สนับสนุนการกระทำดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า เป็นไปได้ที่ผู้กระทำอาจจะเกิดความอัดอั้นและไม่พอใจท่าทีของรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กรณีการแก้ไขปัญหา รวมทั้งอาจจะมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดกรณีคล้ายกันนี้อีกหากปัญหายังยืดเยื้อ
| ['ข่าว', 'การเมือง', 'สังคม', 'คุณภาพชีวิต', 'สิ่งแวดล้อม', 'เครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ', 'โครงการบ้านพักข้าราชการศาลอุทธรณ์'] |
https://prachatai.com/print/79558 | 2018-11-11 14:12 | กลุ่มลูกเหรียงเปิดตัวโครงการป้องกันเด็กจมน้ำ ป้องกันเด็กชายแดนใต้จมน้ำช่วงปิดเทอม | สมาคมเด็กและเยาวชนเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ หรือ 'กลุ่มลูกเหรียง' เปิดตัวโครงการป้องกันเด็กจมน้ำในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการจัดสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยรวมทั้งการผลิตสื่อในการป้องกันเด็กจมน้ำพื้นที่ชายแดนใต้
เมื่อวันที่ 10 พ.ย. 2561 ที่สถาบันการพลศึกษา วิทยาเขตยะลา อ.เมือง จ.ยะลา สมาคมเด็กและเยาวชนเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ (กลุ่มลูกเหรียง) ร่วมกับ จังหวัดยะลา, ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้, หน่วยเฉพาะกิจสันติสุข, สมาคมเพื่อช่วยชีวิตทางน้ำ, ชมรมภูเก็ตไลฟ์การ์ด ,ผู้ก่อตั้งโครงการสอนว่ายน้ำเพื่อเด็กด้อยโอกาส, ผู้แทนองค์การช่วยเหลือเด็ก เพื่อส่งเสริมทักษะการว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอดจากอุบัติภัยทางน้ำให้กับกลุ่มเด็กประถมศึกษา รวมทั้งพัฒนาครูสอนว่ายน้ำ และผู้ปกครอง ร่วมแถลงข่าวเปิดตัว “โครงการป้องกันเด็กจมน้ำในจังหวัดชายแดนภาคใต้” เพื่อให้ความรู้ เกี่ยวกับการจัดสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยรวมทั้งการผลิตสื่อในการป้องกันเด็กจมน้ำ โดยกิจกรรมดังกล่าวจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 10-12 พ.ย. 2561
ทั้งนี้ นางสาววรรณกนก เปาะอิแตดาโอะ นายกสมาคมเด็กและเยาวชนเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ (กลุ่มลูกเหรียง) กล่าวว่าจากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขในปี 2560 พบว่ามีเด็กจมน้ำเสียชีวิตถึง 708 คน พบมากสุดช่วงปิดเทอมสามเดือน (ตั้งแต่เดือน มี.ค.-พ.ค.) และเกือบครึ่งเป็นกลุ่มเด็กอายุ 5 – 9 ปี สำหรับในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีเด็กที่มีอายุระหว่าง 0-18 ปี กว่า 660,000 คน คิดเป็นสัดส่วนประชากร ร้อยละ 33 มากกว่าพื้นที่อื่นๆ ของประเทศไทย และจากสถิติปี 2560 มีเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จมน้ำ 66 ราย เสียชีวิต 7 ราย คิดเป็นร้อยละ 14.48 ของประชากรในช่วงอายุดังกล่าว ซึ่งในพื้นที่นี้ มีแหล่งน้ำตามธรรมชาติทั้งทะเลห้วย หนอง คลอง บึง เขื่อน น้ำตก รวมทั้งคูน้ำและแหล่งน้ำบริเวณหน้าบ้านเป็นจำนวนมากประกอบกับเป็นพื้นที่อุทกภัยทุกปี ปัจจัยทั้งหมดเป็นเหตุให้เด็กๆ อยู่ท่ามกลางความเสี่ยงต่อการจมน้ำและเสียชีวิต โดยมีค่าเฉลี่ยสูงกว่าค่ามาตรฐานของประเทศในทุกปี ประเด็นความปลอดภัยทางน้ำจึงถูกผลักดันเป็นหนึ่งในข้อเสนอฉบับเด็กและเยาวชนชายแดนใต้ในงานมหกรรมเสียงเด็ก Chidren + Heroes + Safety = PEACE เมื่อวันที่ 9 ต.ค. 2561 ที่ผ่านมา จึงเป็นที่มาของโครงการ
| ['ข่าว', 'สังคม', 'คุณภาพชีวิต', 'ชายแดนใต้', 'กลุ่มลูกเหรียง', 'เยาวชน', 'เด็ก', 'ว่ายน้ำ'] |
https://prachatai.com/print/79562 | 2018-11-11 16:23 | รองประธานมูลนิธิปรีดี พนมยงค์ เรียกร้องให้ UN ร่วมสังเกตการณ์การเลือกตั้ง | รองประธานมูลนิธิปรีดี พนมยงค์ เรียกร้องยกเลิกข้อจำกัดสิทธิและเสรีภาพทางการเมืองเพื่อให้การเลือกตั้งเสรีและเป็นธรรม เปิดกว้างให้องค์กรต่างๆ ร่วมสังเกตการณ์การเลือกตั้ง รวมทั้งควรให้ UN ร่วมสังเกตการณ์การเลือกตั้ง
ภาพการเลือกตั้งเมื่อปี 2554 จากแฟ้มภาพสำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์
11 พ.ย. 2561 นายอนุสรณ์ ธรรมใจ รองประธานมูลนิธิปรีดี พนมยงค์ กล่าวว่าเนื่องจากการเลือกตั้งครั้งนี้มีความสำคัญมากต่ออนาคตของประเทศ ความสงบเรียบร้อยของสังคม คุณภาพชีวิตและการกินดีอยู่ดีหรือเศรษฐกิจของประชาชน พวกเราประชาชนชาวไทยจึงต้องร่วมกับองค์กรทั้งในประเทศและต่างประเทศเพื่อให้การเลือกตั้งครั้งนี้มีความหมาย เป็นการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม เป็นกลไกที่ให้ทุกฝ่ายยอมรับและสามารถแก้ไขปัญหาวิกฤตการณ์ทางการเมืองที่ผ่านมาได้โดยไม่ก่อให้เกิดวิกฤตการณ์ครั้งใหม่ อุปสรรคและความยากลำบากของประเทศและประชาชนผู้รักประชาธิปไตย ก็คือเรากำลังมีการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญที่ได้สร้างระบอบกึ่งเผด็จการกึ่งประชาธิปไตยขึ้นมาหลังการเลือกตั้ง และภายใต้บรรยากาศที่ไม่เป็นประชาธิปไตย มีการจำกัดสิทธิเสรีภาพทางการเมือง มีการออกแบบระบบการเลือกตั้งที่บิดเบี้ยวและไม่มีที่ใดในโลกซึ่งจะทำให้เสถียรภาพของระบบการเมืองไทยมีปัญหาในอนาคต อย่างไรก็ตามการมีการเลือกตั้งภายใต้บรรยากาศที่ไม่เป็นประชาธิปไตยย่อมดีกว่าการอยู่ภายใต้ระบอบรัฐประหาร
ประชาชนผู้รักชาติรักประชาธิปไตยจึงต้องช่วยกันทำให้ “การเลือกตั้ง” ได้รับการยอมรับให้เป็นกติกากลางของการเข้าสู่อำนาจทางการเมือง ตราบใดที่การเมืองไทยยังไม่สามารถสร้างเงื่อนไขทุกฝ่ายยอมรับกติกาการเลือกตั้ง รัฐประหารจะเกิดอีกเมื่อไรก็ได้ แต่ถ้าการเลือกตั้งกลายเป็นกติกาหลัก ไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นหรือฝ่ายใดขึ้นสู่อำนาจ ไม่ว่าจะมีความเชื่อหรืออุดมการณ์หรือผลประโยชน์แตกต่างหลากหลายกัน อย่างไรก็ตามแต่ทุกคนอยู่บนกติกาอันเดียวกัน คือ ยอมรับผลการเลือกตั้งโดยมีเงื่อนไขว่า ต้องเป็นการเลือกตั้งเสรีและเป็นธรรม ความเสี่ยงในการเกิดรัฐประหารในอนาคตจะลดลงมาก และสังคมไทยจะสามารถหลีกเลี่ยงวิกฤตการณ์ทางการเมืองที่รุนแรงได้ เมื่อประเทศมีประชาธิปไตยที่มั่นคงย่อมเป็นพื้นฐานของความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชน นายอนุสรณ์ ธรรมใจ รองประธานมูลนิธิปรีดี พนมยงค์ กล่าวอีกว่าเพื่อให้การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นเป็นทางออกของประเทศ จึงมีข้อเรียกร้องดังต่อไปนี้ 1.ขอเรียกร้องยกเลิกข้อจำกัดสิทธิและเสรีภาพทางการเมืองเพื่อให้เกิดบรรยากาศประชาธิปไตยก่อนการเลือกตั้ง และหยุดการดำเนินคดีกับผู้เรียกร้องประชาธิปไตยและการเลือกตั้ง ปลดล็อคทางการเมืองให้พรรคการเมืองต่างๆ ได้ชี้แจงนโยบายและรณรงค์การเลือกตั้งอย่างเต็มที่เพื่อให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถใช้สิทธิเลือกตั้งอย่างมีคุณภาพ รวมทั้งเปิดโอกาสให้ประชาชนได้สะท้อนปัญหาและความคิดเห็นเพื่อพรรคการเมืองสามารถรวบรวมข้อมูลเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาโดยกลไกการบริหารประเทศภายใต้ระบอบประชาธิปไตยในอนาคต
2.การเปิดกว้างให้องค์กรต่างๆ ร่วมสังเกตการณ์การเลือกตั้ง รวมทั้งควรให้ องค์กรสหประชาชาติหรือ UN ร่วมสังเกตการณ์การเลือกตั้ง เพื่อให้เกิดความมั่นใจต่อผลการเลือกตั้งและจะเป็นผลดีอย่างยิ่งต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนและเศรษฐกิจของประเทศ การแสดงเจตจำนงของสหภาพยุโรปหรืออียูในการส่งคณะสังเกตการณ์การเลือกตั้งมาไทยเป็นเรื่องที่น่ายินดีและแสดงให้เห็นว่า อียูให้ความสำคัญต่อความเป็นประชาธิปไตยในไทยและการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นในช่วงที่ประเทศไทยอยู่ในระยะเปลี่ยนผ่านจากระบอบรัฐประหารไปสู่ระบอบกึ่งประชาธิปไตย กกต. และ รัฐบาล คสช. ควรเปิดกว้างและต้อนรับคณะสังเกตการณ์เลือกตั้งจากอียูเพื่อให้เกิดความมั่นใจต่อกระบวนการเลือกตั้งในไทย
3.คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ “กกต.” ควรขอให้ คณะรักษาความสงบเรียบร้องแห่งชาติ หรือ “คสช.” ยกเลิกรายการเดินหน้าประเทศไทย (ผ่านทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ) เพื่อเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองต่างๆ ได้ใช้เวทีดังกล่าวในการชี้แจงนโยบายและสื่อสารกับประชาชน เพื่อให้การเลือกตั้งมีความหมายและสะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชนได้อย่างเต็มที่
4.รัฐบาล คสช. กกต. และ องค์กรอิสระทั้งหลายที่ได้รับการแต่งตั้งโดย คสช. ต้องยึดถือปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนได้ถือกำเนิดขึ้นเพื่อประกันสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของปัจเจกชนทั่วทุกแห่งทั่วโลกไม่ว่าจะปกครองด้วยระบอบไหน โดยสิทธิมนุษยชนต้องครอบคลุมสิทธิพื้นฐาน 5 ประเภท คือ สิทธิพลเมือง (Civil Right) สิทธิทางการเมือง (Political Right) สิทธิทางสังคม (Social Right) สิทธิทางเศรษฐกิจ (Economic Right) สิทธิทางวัฒนธรรมและศาสนา (Cultural Right) มนุษย์ทั้งหลายรวมทั้งชาวไทยทุกคนนั้นเกิดมามีอิสระและเสมอภาคกันในเกียรติศักดิ์และสิทธิ ต่างมีเหตุผลและมโนธรรม และควรปฏิบัติต่อกันด้วยเจตนารมณ์แห่งภราดรภาพ ทุกคนย่อมมีสิทธิและอิสรภาพบรรดาที่กำหนดไว้ในปฏิญญานี้ โดยปราศจากความแตกต่างไม่ว่าชนิดใดๆ ดังเช่น เชื้อชาติ ผิว เพศ ภาษา ศาสนา การคิดเห็นทางการเมืองหรือทางอื่น เผ่าพันธุ์แห่งชาติ หรือสังคม ทรัพย์สิน กำเนิด หรือสถานะอื่นๆ
5.ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 ที่ได้วางกติกาและกลไกจำนวนมากเอาไว้เพื่อควบคุมรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง สิทธิเสรีภาพที่ถูกลดทอนอย่างมีนัยสำคัญ พลังการเมืองประชาธิปไตยต่างๆถูกกดปราบภายใต้คำสั่ง คสช. ทุกคนอันหมายถึงคนไทยทุกคนมีสิทธิในการดำรงชีวิต เสรีภาพ และความมั่นคงแห่งตัวตน บุคคลใดๆ จะถูกทรมาน หรือได้รับผลปฏิบัติ หรือการลงโทษที่โหดร้ายผิดมนุษยธรรมหรือต่ำช้าไม่ได้ ทุกคนย่อมเสมอกันตามกฎหมายและมีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองของกฎหมายเท่าเทียมกัน โดยปราศจากการเลือกปฏิบัติใดๆ ทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองเท่าเทียมกันจากการเลือกปฏิบัติใดๆอันเป็นการล่วงละเมิดปฏิญญา และจากการยุยงให้เลือกปฏิบัติดังกล่าว บุคคลใดจะถูกจับกุม กักขัง หรือเนรเทศไปต่างถิ่นโดยพละการไม่ได้ ทุกคนมีสิทธิโดยเสมอภาคเต็มที่ในอันที่จะได้รับการพิจารณาที่เป็นธรรมและเปิดเผย จากศาลที่อิสระและเที่ยงธรรมในการกำหนดสิทธิและหน้าที่ของตนและการกระทำผิดอาชญาใดๆ ที่ตนถูกกล่าวหา
6.ทุกคนมีสิทธิที่จะมีส่วนในรัฐบาลของประเทศตน จะเป็นโดยตรงหรือโดยการผ่านทางผู้แทนซึ่งได้เลือกตั้งโดยอิสระ เจตจำนงของประชาชนจะต้องเป็นมูลฐานแห่งอำนาจของรัฐบาล เจตจำนงนี้จะต้องแสดงออกทางการเลือกตั้งตามกำหนดเวลา และอย่างแท้จริง ซึ่งอาศัยการออกเสียงกันอย่างทั่วไปและเสมอภาค และการลงคะแนนลับ หรือวิธีการลงคะแนนโดยอิสระ ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน การเลือกตั้ง ความเป็นธรรม ภราดรภาพ สันติภาพ การปฏิรูปประเทศ การต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น ความรุ่งเรืองก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ คุณภาพชีวิตของประชาชน ปัจจัยทั้งหมดนี้จะส่งเสริมซึ่งกันและกัน ต้องพัฒนาร่วมกันไปโดยไม่อาจขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่ง
7. “ประชาธิปไตย” มีลักษณะเป็นองค์รวมไม่แยกส่วน ประชาธิปไตยสมบูรณ์จึงประกอบไปด้วย ประชาธิปไตยทางการเมืองการปกครอง ประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ และประชาธิปไตยทางวัฒนธรรม การพัฒนาให้เกิดประชาธิปไตยสมบูรณ์ตามแนวคิดต้องพัฒนาประชาธิปไตยแบบบูรณาการจะพัฒนาเพียงส่วนใดส่วนหนึ่งไม่ได้เช่นเดียวกับการจะปฏิรูป ประเทศของเราจะมีสิทธิเสรีภาพ มีสิทธิมนุษยชน และ ประชาธิปไตย อำนาจของประชาชนในการกำหนดรัฐบาลและการเลือกตั้งจะต้องกลับคืนมาตามกำหนดเวลาซึ่งถูกเลื่อนมาหลายครั้งแล้ว หลังการเลือกตั้งแล้ว สังคมไทยต้องผลักดันแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่เพื่อเปลี่ยนผ่านให้เป็นประชาธิปไตยที่ดีขึ้นกว่าเดิม (Transition to better Democracy) ไม่ใช่เปลี่ยนผ่านสู่ระบอบที่ไม่เป็นประชาธิปไตย (Transition to Non-Democracy) แปด ต้องทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นเครื่องมือในการหยุดยั้งการสืบทอดอำนาจของระบอบอำนาจนิยมและเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบประชาธิปไตย
| ['ข่าว', 'การเมือง', 'อนุสรณ์ ธรรมใจ', 'การเลือกตั้ง'] |
https://prachatai.com/print/79563 | 2018-11-11 16:38 | ที่ประชุม HRDs ชี้ความรุนแรงต่อผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชน ถึง 'จุดวิกฤต' ทั่วโลก | ที่ประชุมเวิร์ลซัมมิทของกลุ่มผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชน (HRDs) ชี้ให้เห็นถึงปัญหาเรื่องการโจมตี คุกคาม และสังหารผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชนที่ต่อสู้เพื่อประชาชนทั่วไป โดยมีการกล่าวเน้นย้ำกว่าการสังหารนักสิทธิฯ เหล่านี้มีมากขึ้นจนถึง 'จุดวิกฤต' และจะส่งผลกระทบเลวร้ายต่อประชาธิปไตย
ที่มาภาพประกอบ: Extrajudicial Killing in the Philippines [1]
11 พ.ย. 2561 ในที่ประชุมเวิร์ลซัมมิทของกลุ่มผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชน (HRDs) ที่มีตัวแทนจากทั่วโลกมาประชุมรวมกันมากกว่า 150 คน ชี้ให้เห็นถึงปัญหาเรื่องคนทำงานด้านสิทธิมนุษยชนถูกโจมตีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนถึง "จุดวิกฤต" ของปัญหานี้
หนึ่งในผู้เข้าร่วมประชุม HRDs คือ มิเชลล์ บาเชเลตต์ ข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนจากสหประชาชาติได้พูดถึงบทบาทสำคัญที่ผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชนมีต่อสังคมว่า เมื่อมีใครถูกล่ามโซตรวน เมื่อมีใครถูกปิดกั้นสิทธิ นักสิทธิมนุษยชนเหล่านี้จะเข้าไปช่วย พวกเขาจะท้าทายความอยุติธรรมและยืนหยัดเพื่อสิทธิของผู้อื่น ทุกๆ ย่างก้าวของความก้าวหน้าในทางความเท่าเทียม ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และสิทธิต่างๆ เป็นไปได้เพราะการต่อสู้และการอุทิศตนของผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชน
การประชุมในครั้งนี้เป็นการประชุมซัมมิทของกลุ่มผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลกเป็นครั้งที่ 2 หลัง และนับเป็นการครบรอบ 20 ปีคำประกาศของสหประชาชาติในเรื่องผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชนซึ่งระบุให้ประชาคมโลกจะต้องให้เสรีภาพในการพูดและเสรีภาพทางความเชื่อต่อทุกคน รวมถึงทำให้ทุกคนเป็นอิสระจากความกลัวและความอยาก แต่ทว่ารัฐบาลทั่วโลกก็ย่อหย่อนต่อการปฏิบัติตามพันธกิจในเรื่องนี้ ทำให้ยังคงมีผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลกยังคงถูกสังหารโดยที่ตัวผู้กระทำผิดยังคงลอยนวล
มิเชล ฟอร์สต์ ผู้รายงานพิเศษด้านสถานการณ์ผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชนของยูเอ็นกล่าวถึงสภาพการณ์น่าเป็นห่วงที่ผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชนต้องเผชิญและสถานการณ์นี้ก็กำลังย่ำแย่ลงทั่วโลก คุมิ ไนดู เลขาธิการของแอมเนสตีอินเตอร์เนชันแนลกล่าวในทำนองเดียวกันว่านักกิจกรรมจากทั่วโลกต้องเผชิญกับอันตรายในระดับที่ถึงขั้นวิกฤต มีคนธรรมดาทั่วไปถูกข่มขู่คุกคาม ถูกทารุณกรรม ถูกจับคุมขัง และถูกสังหารเพียงเพราะพวกเขาเป็นอย่างที่พวกเขาเป็น ไนดูบอกว่ามันถึงเวลาแล้วที่จะต้องต่อสู้กับกระแสการปิดกั้นข่มเหงผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลก
ในรายงานของยูเอ็นระบุว่านับตั้งแต่มีคำประกาศเรื่องนี้มีผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชนถูกสังหารทั่วโลกอย่างน้อย 3,500 ราย แค่ในปี 2560 ปีเดียวก็มีคนทำงานด้านนี้ถูกสังหารมากกว่า 300 รายจาก 27 ประเทศ ซึ่งมากกว่าตัวเลขในปี 2558 ถึงสองเท่า และเกือบร้อยละ 85 ของการฆาตกรรมผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชนเหล่านี้มาจากประเทศละตินอเมริกา 5 ประเทศ คือ โคลอมเบีย, บราซิล, กัวเตมาลา, ฮฮนดูรัส และเม็กซิโก
ประเทศที่เลวร้ายที่สุดสำหรับผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชนคือโคลอมเบียซึ่งมีอัตราการฆาตกรรมคนทำงานด้านนี้สูงขึ้นนับตั้งแต่ปี 2559 ที่มีข้อตกลงสันติภาพระหว่างรัฐบาลกับกลุ่มติดอาวุธ FARC โดยในปี 2560 มีการสำรวจพบว่าผู้นำนักกิจกรรมทางสังคมและสิ่งแวดล้อมถูกสังหารมากกว่า 120 คน จากกองกำลังรูปแบบทหารและจากกลุ่มติดอาวุธไม่ทราบฝ่ายที่ส่วนใหญ่มาจากเขตที่ยังคงมีกองกำลัง FARC หลงเหลืออยู่ โดยผู้ที่ถูกสังหารส่วนหนึ่งเป็นนักกิจกรรมต่อต้านเขื่อนไฟฟ้าพลังงานน้ำและสู้เรื่องที่ดินทำกินให้กับชาวบ้านผู้ที่จะได้รับผลกระทบทางสิทธิมนุษยชนอย่างการพลัดถิ่น
องค์กรฟรอนต์ไลน์ดีเฟนเดอร์ระบุว่าร้อยละ 67 ของคนที่นักสิทธิมนุษยชนผู้ถูกสังหารในช่วงปี 2560 คือคนที่ต่อสู้เพื่อปกป้องผืนดิน สิ่งแวดล้อม และสิทธิของชนพื้นเมือง โดยมักจะมีฝ่ายคู่ขัดแย้งเป็นโครงการขนาดยักษ์ อุตสาหกรรมขุดเจาะทรัพยากร และธุรกิจใหญ่ นอกจากนี้ยังมีการข่มขู่คุกคามจากกลุ่มติดอาวุธรูปแบบทหารอย่าง "อินทรีดำ" ที่ส่งใบปลิวขู่ฆ่าโดยระบุว่าจะกวาดล้างกลุ่มผู้หญิงวายูซึ่งเป็นกลุ่มชนพื้นเมืองพิทักษ์สิ้งแวดล้อม
บาเชเลตต์ กล่าวว่าการโจมตีผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชนทุกคดีถือเป็นการโจมตีสิทธิมนุษยชนเอง ซึ่งเป็นสิทธิของพวกเราทุกคน
อย่างไรก็ตามการที่หลายประเทศล้มเหลวในการสืบสวนสอบสวนและเอาผิดกับผู้อยู่เบื้องหลังจากโจมตีเหล่านี้ยังทำให้กลุ่มสิทธิมนุษยชนในหลายประเทศเรียกร้องให้ศาลอาญาระหว่างประเทศดำเนินการสืบสวนอย่างเป็นทางการในเรื่องเหล่านี้
แต่ถึงแม้ในบางคดีที่มีการนำตัวผู้ก่อเหตุขึ้นศาลได้แต่กระบวนการยุติธรรมก็ยังทำให้ผู้ก่อเหตุไม่ต้องรับผิด เช่นในกัวเตมาลากรณีเจ้าของบริษัทเหมืองแร่สัญชาติแคนาดาฮัดเบย์มิเนอรัลตกเป็นผู้ต้องหาเรื่องก่อเหตุสังหารนักกิจกรรมชนพื้นเมือง อดอลโฟ อิช ชามาน เมื่อปี 2552 อีกทั้งยังมีกรณีที่เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของบริษัทใช้ปืนจี้ข่มขืนผู้หญิง 11 รายในช่วงบังคับไล่ที่ผู้คน แต่เขาก็ได้รับการพิพากษาได้พ้นผิดถึงแม้ว่าจะมีพยานและหลักฐานทางวัตถุ อีกทั้งศาลยังขอให้มีการฟ้องร้องภรรยาของชามานโดยอ้างว่าเธอ "ขัดขวางกระบวนการยุติธรรมและบิดเบือนข้อมูล"
ฟอร์สต์กล่าวว่าการทำให้ผู้ก่อเหตุลอยนวลอย่างเป็นระบบจำนวนมากเช่นนี้เป็นสัญญาณที่ไม่ดีสำหรับผู้ที่ลุกขึ้นต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน รวมถึงส่งสัญญาณแย่ๆ ต่อสิทธิของทุกคนเองในที่สุดรวมถึงทำให้ประชาธิปไตยตกอยู่ในอันตราย
ถึงแม้จะจะมีเรื่องแย่ๆ เหล่านี้ แต่ในช่วงที่ผ่านมาก็มีความก้าวหน้าขึ้นบ้างในเรื่องผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชน เช่น กรณีที่มีการให้รางวัลโนเบลแก่ชาวยาซิดีผู้เคยตกเป็นทาสบำเรอกามต่อกลุ่มก่อการร้ายไอซิสและหมอชาวคองโกผู้ดูแลเยียวยาผู้ถูกล่วงละเมิดทางเพศ โดยที่ทั้งสองคนนับเป็นผู้ที่มีบทบาทในการหยุดใช้ความรุนแรงทางเพศเป็นเครื่องมือทางสงคราม
ในงานประชุมตัวแทนจากยูเอ็นทั้งสองคนยังกล่าวเน้นย้ำความสำคัญของการปกป้องสิทธิมนุษยชนหลังจากที่มีการประกาศปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนครบรอบ 70 ปี (ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน หรือ UDHR ประกาศเมื่อวันที่ 10 ธ.ค. 2491)
"สิ่งที่เหล่าผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชนสอนเราคือพวกเราทุกคนสามารถลุกขึ้นสู้เพื่อสิทธิของพวกเราเองและสิทธิของผู้อื่นได้ ตั้งแต่ระดับคนรอบข้างของพวกเรา ในระดับประเทศของพวกเรา และในระดับทั่วโลก พวกเราสามารถเปลี่ยนโลกได้" บาเชเลตต์กล่าว
เรียบเรียงจากAttacks on Human Rights Defenders are Reaching a Crisis Point Around the Globe, Toward Freedom, 07-11-2018https://towardfreedom.org/archives/globalism/attacks-on-human-rights-defenders-are-reaching-a-crisis-point-around-the-globe/ [2]
| ['ข่าว', 'สิทธิมนุษยชน', 'ต่างประเทศ', 'ประชุมเวิร์ลซัมมิทของกลุ่มผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชน', 'HRDs', 'สหประชาชาติ', 'มิเชลล์ บาเชเลตต์', 'มิเชล ฟอร์สต์', 'ความรุนแรงต่อนักกิจกรรม', 'ฟรอนต์ไลน์ดีเฟนเดอร์'] |
https://prachatai.com/print/79564 | 2018-11-11 17:36 | หมายเหตุประเพทไทย #235 | ออกแบบภูมิสถาปัตย์แก้น้ำท่วมกรุงเทพฯ |
เมื่อกรุงเทพมหานครเปลี่ยนการใช้พื้นที่จากเดิมที่เป็นบ้านเมืองอิงน้ำและระบบคูคลอง ไปสู่การพัฒนาที่ดินตามแนวถนน การขยายเมืองในทิศทางเช่นนี้ทำให้ระบบระบายน้ำแต่เดิมคือคูคลองลดประสิทธิภาพลงจนเกิดน้ำท่วมฉับพลันดังกล่าว อย่างไรก็ตามการออกแบบเชิงภูมิสถาปัตยกรรมรูปแบบต่างๆ ที่ต้องผนึกกำลังทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ยังเป็นอีกทางรอดหนึ่งที่จะช่วยให้กรุงเทพมหานคร และเมืองใหญ่ๆ ในภูมิภาคสามารถรับมือกับปัญหาน้ำท่วม ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศได้ทั้งหมดนี้ติดตามได้ในรายการหมายเหตุประเพทไทย พบกับ คำ ผกา พูดคุยกับ อาสาฬห์ สุวรรณฤทธิ์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ติดตามรายการหมายเหตุประเพทไทยย้อนหลังที่เฟสบุ๊ค https://www.facebook.com/maihetpraphetthai [1]YouTube เพลยลิสต์ หมายเหตุประเพทไทย [2]หรือลงทะเบียนรับชมที่ https://youtube.com/prachatai [3]
| ['ข่าว', 'สังคม', 'วัฒนธรรม', 'คุณภาพชีวิต', 'ที่ดิน', 'น้ำท่วม', 'ผังเมือง', 'ภูมิสถาปัตย์', 'น้ำท่วมกรุงเทพ', 'หมายเหตุประเพทไทย', 'คำ ผกา', 'แก้น้ำท่วม', 'มัลติมีเดีย', 'ภัยพิบัติ', 'โลกร้อน', 'พื้นที่สาธารณะ', 'อาสาฬห์ สุวรรณฤทธิ์'] |
https://prachatai.com/print/79565 | 2018-11-12 11:00 | สิ้นบริษัทเทพพิทักษ์ซีฟูดส์ ฤาชาวปัตตานีจะสิ้นลมหายใจ? | ในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการออนไลน์เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2561 มีข่าวการปิดโรงงานแปรรูปปลาหมึกแช่แข็งรายใหญ่ในจังหวัดปัตตานี แต่ประเด็นของเนื้อหาคงไม่สามารถสู้กับกระแสข่าวเพลงประเทศกูมี การเจรจาสันติภาพและการเลือกตั้ง ที่เป็นสื่อกระแสหลักร้อนแรง ณ ช่วงเวลานี้ได้ แต่เหตุการณ์ปิดโรงงานแปรรูปฯ ดังกล่าวในมุมมองของผู้เขียนและรศ.ดร.ซุกรี หะยีสาแม เราเห็นตรงกันว่าอาจจะมีผลกระทบต่อคนในพื้นที่อย่างมหาศาล โดยที่ยังไม่เห็นช่องทางว่าปัญหาอาจจะเกิดขึ้นกับชาวบ้านในอนาคตข้างหน้าจะมีหนทางในการคลี่คลายไปได้อย่างไร
รายงานข่าวชิ้นนี้มาจากการสนทนาของผู้เขียนและ รศ.ดร.ซุกรี หะยีสาแม ปัจจุบันท่านดำรงตำแหน่งเป็นคณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และยังเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีและการอุตสาหกรรมในมหาวิทยาลัยเดียวกัน ผู้เขียนรู้จัก ดร.ซุกรีมานาน ท่านมักจะแนะนำตัวเองอย่างภาคภูมิใจเป็นลูกของ “ชาวประมง” ในจังหวัดปัตตานีโดยกำเนิด ดังนั้นผู้เขียนจึงคิดว่าน่าจะได้มุมมองที่น่าสนใจเกี่ยวกับการปิดโรงงานแปรรูปปลาหมึกแช่แข็งรายใหญ่ในจังหวัดปัตตานีจากลูกประมงโดยกำเนิดคนนี้ได้
ก่อนจะเข้าเนื้อหาผู้เขียนจะเชื่อมโยงประวัติส่วนตัวของ รศ.ดร.ซุกรี คนนี้กับโรงงานแปรรูปฯ เสียก่อน เพื่อที่จะได้เข้าใจว่า ประสบการณ์ส่วนตัวมีอิทธิพลต่อความคิดเห็นเกี่ยวกับการปิดโรงงานนั้นมีที่มาที่ไปอย่างไร?
ที่มา: https://talung.gimyong.com/index.php?topic=354377.0 [1]
ลูกชาวประมงกับโรงงานปลาหมึก‘งานที่ทำชิ้นแรกหลังจากเรียนจบปริญญาตรีแล้ว ก็คือ คนงานในโรงงงานแปรรูปปลาหมึกแช่แข็งของบริษัทเทพพิทักษ์ซีฟูดส์ นี่แหละ’ รศ.ดร.ซุกรีกล่าว
ปี พ.ศ. 2536 ขณะที่อายุได้ 22 ปี ดร.ซุกรีจบการศึกษาในระดับปริญญาตรี จากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เอกเทคโนโลยีการประมง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (มอ.) งานแรกที่ทำคือ โรงงงานแปรรูปปลาหมึกแช่แข็งของบริษัทเทพพิทักษ์ซีฟูดส์ ในจังหวัดปัตตานี ดังนั้นความสัมพันธ์ระหว่าง ดร.ซุกรีและโรงงาน กับชาวปัตตานีจากมุมมองของ ดร. ซุกรี ในฐานะบุคคลที่เคยเป็นทั้ง ‘คนงาน’ ในโรงงาน และในฐานะ ‘อาจารย์’ สอนในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ทั้งในวัยเด็กชีวิตของ ดร.ซุกรี ยังสัมพันธ์แนบแน่นกับ ‘เถ้าแก่’ นายทุนที่ให้การอุปถัมภ์ครอบครัวชาวประมงยากจนเล็กๆ มาโดยตลอด อาจารย์เล่าว่าขณะนั้นมีคนงานประมาณ 6-700 คน โรงงานมีการนำเข้าทั้งปลาหมึกกล้วย ปลาหมึกสาย ปลาหมึกกระดอง กุ้ง และปลาทรายบางส่วน
โรงงานแปรรูปปลาหมึกกับชุมชนปัตตานี‘สมัยนั้น 50% ของอาหารทะเล โรงงานฯ รับมาจากชาวประมงพื้นบ้านในจังหวัดปัตตานี และอีก 50% จึงรับมาจากข้างนอก คือ จังหวัดสงขลา สตูล และประเทศมาเลเซีย’ ดร. ซุกรีกล่าว
โรงงานแปรรูปปลาหมึกแช่แข็งของบริษัทเทพพิทักษ์ซีฟูดส์ จังหวัดปัตตานี ให้ความสำคัญกับการรับสินค้าจากสะพานปลาปัตตานีและใกล้เคียง ทั้งจากประมงพื้นบ้านและพาณิชย์ นำเข้าโรงงาน 50% โดยจะรับซื้อในราคาสูง ดังนั้นโรงงานแปรรูปฯ จึงเป็นตลาดใหญ่ของชาวบ้านในพื้นที่ จุดสุดท้ายของปลาจึงอยู่ที่โรงงานนั้นเอง
แต่อย่างไรก็ตามในขณะนั้นการตั้งโรงงานอุตสาหกรรมถูกต่อต้านโดยแนวคิด 2 กระแส คือ 1) จากกลุ่มนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่มองว่าการตั้งโรงงานทำลายสิ่งแวดล้อม และ 2) การสร้างโรงงานทำให้ชาวบ้านทิ้งบ้านโดยเฉพาะผู้หญิงและวัฒนธรรมท้องถิ่นมาทำโรงงานปลากระป๋องในโรงงาน
โรงงานแปรรูปปลาหมึกกับสำนึกความรับผิดชอบสิ่งแวดล้อมและสังคมผม (ดร.ซุกรี) เห็นที่ผู้จัดการโพสต์ก่อนปิดโรงงานว่า “หยดสุดท้ายของน้ำในโรงงาน จะต้องไม่ทำลายสิ่งแวดล้อของชุมชน” นอกจากความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างโรงงานปลาหมึกกับชาวประมงพื้นบ้านแล้ว โรงงานแห่งนี้ยังมีความรับผิดชอบต่มอการดูแลสิ่งแวดล้อมสูงมาก ดร.ซุกรี กล่าวว่า ก่อนปิดโรงงานผู้จัดการได้ทำการปรับสภาพน้ำให้ดีก่อนปล่อยออกไป ที่ผ่านมาโรงงานถึงกับใส่ปลาในบ่อเพื่อทดสอบสภาพความสะอาดของน้ำ ‘โรงงานแห่งนี้ไม่ไร้จิตสำนึก มิหนำซ้ำยังเป็นต้นแบบด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้กับโรงงานแห่งอื่นๆ อีกด้วย’ นอกจากนี้บทบาทของโรงงานยังไม่ได้มีบทบาทต่อสำนึกต่อสิ่งแวดล้อม แต่ยังมีความรับผิดชอบต่อสังคม นั้นคือ โรงงานฯ ยังเป็นแหล่งพึ่งพิงทางวิชาการของมหาวิทยาลัยในพื้นที่ ดร.ซุกรีเล่าว่า มหาวิทยาลัยส่งนักศึกษาฝึกงานสาขา เทคโนโลยีการประมง และวิทยาศาสตร์การอาหารและโภชนาการ รวมทั้งสาขาอื่นๆ ในรายวิชาสหกิจศึกษา จากคณะวิทยาศาสตร์ มอ.ปัตตานี ไปฝึกงานที่โรงงานแห่งนี้ และเมื่อนักศึกษาเรียนจบแล้ว โรงงานฯ ยังรับนักศึกษาเข้าทำงานอีกด้วย มหาวิทยาลัยยังได้ผู้จัดการมาบรรยายให้กับนักศึกษา ถ่ายทอดความรู้เป็นประจำทุกปี ในขณะเดียวกันบุคลากรในโรงงานฯ ยังมาใช้บริการจากห้องแล็บของคณะวิทยาศาสตร์ มอ.ปัตตานี เพื่อวิเคราะห์และทดสอบ ดังนั้นแล้วทั้งโรงงานฯ และมหาวิทยาลัยต่างฝ่ายต่างเป็นแหล่งที่พึ่งให้กันและกัน
แต่ตอนนี้แหล่งดูงานและตลาดแรงงานของนักศึกษาที่เรียนจบ ปิดตัวไปแล้ว คำถามใหญ่คือ นักศึกษาเหล่านี้จะไปสมัครงานที่ไหน? มหาวิทยาลัยจะมีแหล่งดูงานชั้นดี และพร้อมต้อนรับอย่างกัลยาณมิตรแบบนี้ได้ที่ไหนบ้าง?
เจ้าของโรงงานแปรรูปให้ความช่วยเหลือโรงเรียนที่ถูกเผา‘กรณีเผาโรงเรียนเมื่อปี พ.ศ. 2536 ผมได้รับมอบหมายจากโรงงานฯ ให้ไปดูว่ามีโรงเรียนไหนเสียหาย มีโรงเรียนไหนที่มีนักเรียนเป็นลูกมาจากคนทำงานในโรงงานบ้าง พอทราบว่ามีที่ไหนบ้างก็ได้ส่งความช่วยเหลือไปให้’ ดร.ซุกรี กล่าว
ในช่วงสถานการณ์ความไม่สงบที่รุนแรงถึงขีดสุด โรงเรียนจำนวน 36 แห่ง ใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ สงขลา ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ถูกลอบวางเพลิงในคืนเดียว เหตุการณ์เผาโรงเรียนดังกล่าว ได้รับความสนใจจากโรงงานแปรรูปแห่งนี้ ได้แสดงความจำนงจะช่วยเหลือโรงเรียนที่ถูกเผา เพราะมีความกังวลและห่วงเป็นใยว่า อาจจะมีลูกหลานของคนงานที่ทำงานในโรงงานแปรรูปเรียนอยู่ในโรงเรียนดังกล่าวด้วยหรือไม่ ด้วยสายสัมพันธ์ที่มีมานาน ดร.ซุกรีจึงได้รับการติดต่อจากโรงงานฯ ให้ทำการสำรวจความเสียหายของโรงเรียนและสำรวจผลกระทบที่อาจมีต่อลูกหลานของคนงานในโรงงาน เมื่อดร.ซุกรีพบว่า รร.ตะโล๊ะกะโปร์ มีนักเรียนที่เป็นลูกของคนงานในโรงงานแปรรูป จึงนำไปสู่การช่วยเหลือโรงเรียนและบุตรหลานของพนักงาน ‘และนี่คือการกระทำที่แสดงถึง “สำนึก” รับผิดชอบต่อสังคมในมุมมองที่ผมรู้จัก’
โรงงานแปรรูปฯ และความขัดแย้งทางวัฒนธรรมในสมัยที่โรงงานแปรรูปจัดตั้งใหม่ๆ มีการจ้างแรงงานผู้หญิงตามหมู่บ้านต่างๆ ให้เข้าทำงานในโรงงาน ขณะนั้นมีกระแสการต่อต้านผู้หญิงที่ทำงานนอกบ้านมากมาย โดยเฉพาะการต่อต้านจากชุมชน ถึงแม้ว่าผู้เป็นพ่อและสามีจะไม่ห้ามการทำงานของภรรยาและลูก เนื่องจากวัฒนธรรมการทำงานและบทบาทการหาเลี้ยงครอบครัวในสมัยนั้นจะต้องเป็นหน้าที่ของผู้ชาย และสายตาความเป็นห่วงจากสังคมที่ไม่ค่อยมีความสุขมากนัก แต่ด้วยสภาวะทางสังคมและการลดลงของทรัพยากรทางทะเล รายได้จากประมงพื้นบ้านโดยการออกเรือหาปลากลับมีข้อจำกัด รายได้ลดลง จึงกลายเป็นปัจจัยผลักสำคัญที่ทำให้ผู้หญิงต้องปรับเปลี่ยนบทบาทจากแม่บ้านออกไปทำงานข้างนอก ดังนั้นผู้ชายจึงรู้สึกว่าตัวเองเสียศักดิ์ศรีเนื่องจากไม่สามารถหาเลี้ยงครอบครัวได้ มิหนำซ้ำยังถูกชุมชนลงโทษทางสังคมกล่าวหาผู้ชายที่ปล่อยให้ผู้หญิงที่เป็นเมียและลูกสาวออกมาทำงานนอกบ้าน
อีกสองประเด็นที่สำคัญที่ ดร.ซุกรี เล่าคือ หนึ่ง ผู้หญิงต้องออกไปทำงานนอกบ้านและออกจากโรงงานตอน 3 ทุ่ม และสองความไม่พอใจที่ผู้หญิงส่วนใหญ่ที่ไปทำงานในโรงงานจะไม่คลุมผม
ดร.ซุกรีกล่าวว่า พวกผู้ชายจะห่วงไปถึงลูกเพราะเวลาทำงานในโรงงานสมัยก่อนจะเข้าไปทำงาน 8 โมงเช้า และกลับออกมา 3 ทุ่ม จึงมีคำถามว่าลูกๆ จะอยู่อย่างไร? ส่วนประเด็นความเป็นห่วงเรื่องชู้สาวไม่มีเลย เพราะกลุ่มผู้หญิงมากันเป็นทีมคันรถและกลับเป็นทีม โรงงานจะทราบว่าในแต่ละวันจะต้องจ้างคนงานกี่คนเพื่อความพอเหมาะในการทำงานในโรงงานฯ แต่ละจุด แต่ละวัน ส่วนประเด็นที่สองเรื่องวัฒนธรรมก็ไม่ใช่สิ่งที่ต้องกังวล เพราะผู้หญิงที่ไม่ได้คลุมผมเมื่ออยู่นอกโรงงานแต่พอเข้ามาทำงานในโรงงานแล้วทุกคนต้องปิดผมมิดชิดไม่ให้เส้นผมแม้แต่เส้นเดียวออกมา เนื่องจากเกี่ยวกับความสะอาดในการทำงานในโรงงาน มีทั้งเสื้อแจ๊คเก็ต เสื้อกาวน์ (เสื้อคลุมสีขาวยาว) ที่สำคัญในโรงงานมีที่ละหมาดด้วย
สิ้นชาญชัย เหล่าเทพพิทักษ์ สิ้นสุดโรงงานบริษัทเทพพิทักษ์ซีฟูดส์ปัตตานี“เงินประมาณ 150-200 ล้านบาท จะหายไป เมื่อโรงงานฯ ปิด ชาวบ้านจำนวน 1,000 กว่าคนจะได้รับผลกระทบ” ดร.ซุกรีปรารภ
ดร.ซุกรี ให้ความเห็นว่าการสูญเสียคุณชาญชัย เหล่าเทพพิทักษ์ เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา น่าจะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้โรงงานแปรรูปปลาหมึกแช่แข็งฯ ต้องปิดตัว และน่าจะมีอิทธิพลมากกว่าปัญหาอื่นๆ ที่ปรากฏเป็นข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ออนไลน์ ได้แก่ วิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ก่อให้เกิดภาวการณ์ขาดทุน การกีดกันทางการค้าของต่างประเทศ การเพิ่มขึ้นของค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท หรือแม้แต่ผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ดร.ซุกรีกล่าวว่า ปัญหาเหล่านี้ไม่น่าจะเป็นสาเหตุที่แท้จริง แต่อาจเป็นความพยายามลดค่าใช้จ่ายลงด้วยการปิดโรงงานฯ ที่ปัตตานี มีมาตลอด ประกอบกับเมื่อโรงงานฯ กลายเป็นบริษัทมหาชน และการเสียชีวิตของคุณชาญชัย ทุกๆปัจจัยส่งผลให้ในท้ายที่สุดโรงงานฯ แห่งนี้จึงปิดตัวลง
หากไล่เรียงปัญหาต่างๆ ที่โรงงานฯ เคยเจอ เช่น สภาวะวิกฤตเศรษฐกิจก็อาจจะไม่ใช่ประเด็นหลัก เพราะโรงงานฯ เจอวิฤตเศรษฐกิจมาตลอดตั้งแต่วิกฤตต้มยำกุ้งปี พ.ศ. 2540 และประสบปัญหาจากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท (เดิมทีจ่าย 100 กว่าบาท) แต่ทุกครั้งโรงงานฯ สามารถฝ่าฟันวิกฤตเหล่านี้มาได้ตลอด ด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การลดจำนวน staff ออกระดับหนึ่งเพื่อนำรายได้มาคงตำแหน่งงานให้กับพนักงานที่เป็นคนงาน นอกจากนี้สถานการณ์การลดลงและปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรทางทะเลที่ป้อนเข้าโรงงาน (เนื่องจากทรัพยากรในอ่าวปัตตานีลดจำนวนลงอย่างรุนแรง) ผลกระทบอาจมีปัญหาการขาดทุน แต่หนึ่งเสียงของคุณชาญชัยในฐานะคณะกรรมการบริหารเมื่อครั้งโรงงานฯ กลายรูปมาเป็นบริษัทมหาชนขณะที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ ก็ยังมีพลังเพียงพอที่จะยับยั้งการปิดตัวของโรงงานฯ และยังคงนโยบายการจ้างงานที่เป็นคนในพื้นที่ 100% (ต่างจากโรงงานอื่นๆ ที่จ้างแรงงานต่างด้าวในราคาถูกกว่า) จึงสามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง โรงงานแห่งนี้จึงเป็นแหล่งรายได้สำคัญของคนในปัตตานีในช่วงทุกสภาวะวิกฤตแม้แต่สถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้
ถ้าปัญหาสถานการณ์ความไม่สงบและปัญหาความมั่นคงที่คนภายนอกกังวลว่าจะส่งผลกระทบทำให้โรงงานปิดตัวนั้น ดร.ซุกรี แสดงทัศนะว่าการมองเช่นนี้เท่ากับเป็นการดูถูกคนในพื้นที่ เพราะจังหวัดปัตตานีสามารถผลิตทรัพยากรบุคคลที่มีความเก่งและความกล้าไว้มากมาย ประกอบกับการจ้างงานที่เป็นคนในพื้นที่จำนวน 100% โรงงานฯ จึงไม่ได้รับผลกระทบใดๆ เลย ไม่เคยถูกข่มขู่หรือการเก็บส่วยจากกลุ่มก่อความไม่สงบ ดังนั้นการกล่าวว่าเพราะสถานการณ์ความไม่สงบทำให้ไม่สามารถหาบุคลากรมาทำงานได้ ไม่น่าจะจริงในความเห็นของท่าน
ส่วนใหญ่คนงานที่ทำงานในโรงงานฯ เป็นผู้หญิงโดยเฉพาะมาจากหมู่บ้านรอบอ่าวปัตตานี เช่น ดาโต๊ะ แหลมโพธิ์ ในช่วงเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา ผู้หญิงรอบอ่าวปัตตานีเป็นผู้นำรายได้หลักหาเลี้ยงครอบครัว มีหน้าที่รับผิดชอบต่อปากท้องอย่างน้อยอีก 5 คนในครอบครัว เพราะฉะนั้นการที่โรงงานฯ ปิดตัว จึงไม่ใช่เพียง 1,000 คนที่ตกงาน (แต่ละคนจะมีรายได้ 300 – 350 บาท) ที่จะไม่มีข้าวกิน แต่นั้นหมายถึงอีก 5,000 – 6,000 กว่าชีวิตซึ่งจะได้รับผลกระทบด้วย ในขณะที่ผู้ชายออกเรือหาปลาไม่สามารถหารายได้เป็นกอบเป็นกำและสม่ำเสมอ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาโดยเฉพาะ 2 ปีที่แล้ว ครอบครัวประมงในจังหวัดปัตตานีไม่สามารถพึ่งพารายได้จากพ่อบ้านได้อีกต่อไป ดร.ซุกรีได้ทำการทดลองสมมติฐานนี้ด้วยตัวเอง คือ ซื้อเรือมา 1 ลำ และให้ชาวบ้านใช้ ปรากฏว่ารายได้จากการทำงานด้วยเรือหาปลา 5 เดือน กลับทำรายได้เพียง 4,000 บาท (ในช่วงเวลา 5 เดือน!) เท่านั้น
ดังนั้นเมื่อผู้หญิงตกงานเนื่องจากโรงงานฯ ปิดตัว ผู้หญิงส่วนหนึ่งจะต้องไปหางานใหม่ในประเทศมาเลยเซีย แต่การทำงานในประเทศเพื่อนบ้าน ณ ปัจจุบันนี้ ก็ไม่ได้สะดวกสบายเหมือนเมื่อก่อนอีกเช่นกัน ช่วงระยะเวลา 3 ปี ที่ผ่านมา รัฐบาลมาเลยเซียมีการกวดขันคนไทยที่เข้าไปขายแรงงานในประเทศมากขึ้น ประกอบกับค่าเงินริกกิตตกเหลือ 7 บาท ต่อ 1 ริงกิต (เดิม 10 บาท ต่อ 1 ริงกิต) นอกจากปัญหาด้านเศรษฐกิจแล้ว ปัญหาทางสังคมอื่นๆ ที่อาจจะมีต่อชุมชนชาวปัตตานี เช่น ถ้าผู้หญิงไปทำงานใครจะดูแลลูก? หรือการรับมือกับปัญหาทางสังคมอื่นๆ ที่ชุมชนมีอยู่เดิมแต่ยังไม่ได้รับการแก้ไขหรือได้รับการแก้ไขน้อยมาก เช่น เด็กไม่ได้ไปโรงเรียน ปัญหายาเสพติด ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ปัญหาทางสุขภาวะจิต ฯลฯ (ดูในรายวิจัยของ Alisa Hasamoh (2017). Trauma and gender in natural disaster and conflict contexts: a comparative study of Aceh, Indonesia and the Deep South of Thailand. PhD thesis, James Cook University.) สังคมไทยจะมีการจัดการอย่างไร?
สรุปบทสนทนาสุดท้าย ดร.ซุกรีเล่าว่า คนงานบางส่วนได้รับความช่วยเหลือจากผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี โดยผู้ว่าฯ ได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อดูแลและพยายามหาแหล่งงานที่ใหม่ โรงงานมีการจ่ายค่าชดเชย แต่คนงานตกงานอีกหลายร้อยคนยังอยู่ในสถานการณ์อันแสนมืดมน และถึงแม้ว่าในพื้นที่จะมีนักวิชาการและ NGOs ที่ให้ความสำคัญกับชาวบ้านในแถบอ่าวปัตตานีและประมงชายฝั่ง แต่เป็นเพราะอุตสาหกรรมประมงมักจะถูกมองเป็นคู่ตรงข้ามกับวิถีประมงพื้นบ้านรวมถึงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด จึงอาจจะทำให้ข่าวการปิดโรงงานแปรรูปปลาหมึกแช่แข็งรายใหญ่ในจังหวัดปัตตานีอาจจะไม่ถูกทำให้กลายเป็นประเด็นสาธารณะมากนัก ความสิ้นหวังอีกด้านหนึ่งคือ จังหวัดปัตตานีเองไม่มีศักยภาพเพียงพอที่จะสร้างอาชีพเพื่อทดแทนเงิน 200 ล้านบาทที่ขาดหายไป อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าความหวังในการให้ความช่วยเหลือแรงงานเหล่านี้ดูเหมือนจะเลือนลางและยากที่จะมองเห็น แต่เราทั้งคู่ในฐานะคนทำงานในพื้นที่ ก็คงต้องทำงานและคาดหวังว่าน่าจะมีหนทางที่ยังพอมีอยู่ในอนาคตและคงต้องหาทางแก้ไขต่อไป
อ้างอิง
ผู้จัดการออนไลน์. (2561, 31 ตุลาคม). ปิดฉาก! โรงงานแปรรูปปลาหมึกแช่แข็งรายใหญ่ปัตตานี เผยต้านวิกฤต ศก.โลกไม่ไหว, จากผู้จัดการออนไลน์ ข่าวภาคใต้. สืบค้นจาก https://mgronline.com/south/detail/9610000108896?fbclid=IwAR3tEYe9CABwEue0usha3IH_zM6BWOZH1EtN-AdHmIm4u8QLcRDUH_O0MAI [2]
ไทยรัฐออนไลน์. (2561, 5 พฤศจิกายน). แร็ป Thailand 4.0 แตะ 1.3 ล้านวิว ส่วนแร็ป ประเทศกูมี ทะลุ 28 ล้านวิว. สืบค้นจาก https://www.thairath.co.th/content/1412305 [3]
Benarnews. (2561, 29 มีนาคม). การเจรจาสันติสุขชายแดนใต้สะดุด เพราะข้อเรียกร้องของกลุ่มก่อความไม่สงบ. สืบค้นจาก https://www.benarnews.org/thai/commentary/TH-pathan-03292018193230.html [4]
BBCNews Thailand. (2562, 13 กันยายน). วันเลือกตั้ง: รัฐบาล-กกต. ยืนยันกำหนดเดิม 24 ก.พ. 2562. สืบค้นจาก https://www.bbc.com/thai/thailand-45493498 [5]
HAJISAMAE, S. (2014). สืบค้นจากhttp://www.mis.sat.psu.ac.th/staff_directory/staff.php?STAFF_ID=0006342 [6]
คม ชัด ลึก. (2560, 1 สิงหาคม). วันนี้ในอดีต 1 ส.ค. 2536 เผา ‘36 โรงเรียนใต้’. สืบค้นจาก http://www.komchadluek.net/news/today-in-history/290182 [7]
Hasamoh, Alisa (2017) Trauma and gender in natural disaster and conflict contexts: a comparative study of Aceh, Indonesia and the Deep South of Thailand. PhD thesis, James Cook University
เกี่ยวกับผู้เขียน: อลิสา หะสาเมาะ เป็นอาจารย์ประจำแผนกวิชาพัฒนาสังคม ภาควิชาสังคมศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และกรรมการมูลนิธิเพื่อการเยียวยาและการสร้างความสมานฉันท์ชายแดนใต้
| ['บทความ', 'สังคม', 'วัฒนธรรม', 'คุณภาพชีวิต', 'อลิสา หะสาเมาะ', 'บริษัทเทพพิทักษ์ซีฟูดส์', 'ปัตตานี', 'ชาญชัย เหล่าเทพพิทักษ์'] |
https://prachatai.com/print/79566 | 2018-11-12 11:22 | กวีประชาไท: ใครเขียนบทตอน น้ำตาตกใน | รู้จักสรุปบทเรียนเปลี่ยนประเทศ จึงรู้เหตุการณ์ที่เกิดประเสริฐไหม
เห็นกงจักรเป็นดอกบัวชั่วบรรลัย ความชื่นใจไม่มาหาประชาชน
อะไรเล่ากินเข้าปากหลากพิษร้าย ตำราหลายได้บ่งไว้ในแห่งหน
สรุปผิดถูกกันของบรรพชน ร่วมปะปนค้นคว้าอารยธรรม
เพราะรู้คิดคัดสรรจึงบรรจบ ได้ประสบสิ่งหมาย ไม่ร้ายร่ำ
มีสติดำริมุ่งรู้สูงต่ำ รู้ผู้นำใครทำไว้ในรอยก้าว
จึงต้องรู้เลือกคนชนที่ชอบ เลือกระบอบที่ตอบโจทย์เลิกโฉดฉาว
คำปราศรัยใครหยาบคายร้ายก้าวร้าว พูดปาวๆ เห็นที่เวทีโจร
เราคนฟังดังห้อยโหนตะโกนสู้ ดังกรอกหูควรรู้คิดผิดผาดโผน
แค่ฟังคำใส่ไคล้จากไมโครโฟน คำหยาบโลนล้นไล่ไปเชือดคอ
นำปราศรัยในน้ำถ้อยถ่อยถูกผิด เคยเป็นมิตรมาดหมายกลายกลับฝ่อ
รับงานต้านประชาธิปไตยเสียให้พอ ประเทศตกนรกต่อหนอคนดี
หลังจากนั้นอันเหตุเกิดประเสริฐไหม อนาธิปไตยให้หมองศรี
ประชาธิปไตยไม่เคยมี ดังเดี๋ยวนี้ที่เป็นอยู่ใครผู้นำ
ใครกำกับละครตอนหมองหม่น ใครคือคนเขียนบทรสนิยมต่ำ
ยุทธศาสตร์ชาติประเทศเหตุจากกรรม ยุคที่น้ำตาประชาไหลไม่ออกเอย
| ['บทความ', 'การเมือง', 'วัฒนธรรม', 'ธุลีดาวหาง', 'กวีประชาไท'] |
https://prachatai.com/print/79567 | 2018-11-12 11:35 | พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์: ตรวจสอบผู้บริหารมหาวิทยาลัยคือเรื่องปกติและมาตรฐานสากล | ทุกอาชีพในอเมริกา ต้องโดนตรวจสอบทรัพย์สิน ไม่เว้นแต่อาชีพตุลาการในระดับต่างๆ ที่ต่างก็ล้วนมีที่มาซึ่งยึดโยงกับประชาชน คือผ่านสนามเลือกตั้งเช่นเดียวกับนักการเมืองทั่วไป
ในระบบอเมริกัน ภาพของความเป็นนักการเมืองกับตัวแทนของวิชาชีพแขนงต่างๆ จึงแยกไม่ออก เพราะนักการเมือง คือประชาชนแม้จะเป็นในนามของตัวแทนก็ตาม
น่าสนใจว่าในอเมริกาเองก็มีการกฎหมายตรวจสอบ หรือแจงบัญชีทรัพย์สินของนักการเมืองอเมริกันเช่นเดียวกันกับกฎหมายของไทย มีการดำเนินการกันก่อนที่กฎหมายการเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินของนักการเมืองในเมืองไทยจะเกิดเสียอีก นักการเมืองอเมริกันจะต้องแจ้งบัญชีทรัพย์สินรายรับ รายจ่าย เพื่อรายงานให้สาธารณะทราบอย่างเปิดเผย
ไม่ต่างจากบุคคลที่เป็นเจ้าหน้าที่ในระดับสูง ที่ทำงานในหลายหน่วยงานของรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่น ที่มีหน้าที่แจ้งทรัพย์สิน หรือไม่ก็บัญชีรายรับ-รายจ่ายให้รัฐและสาธารณะทราบเช่นกัน
รวมถึงองค์กรที่เรียกว่า มหาวิทยาลัย (University, College) ที่กฎหมายของแต่ละรัฐกำหนดให้มีการเปิดเผยรายรับ-รายจ่าย ทั้งในส่วนของบุคคลที่เป็นผู้บริหาร กรรมการสภามหาวิทยาลัย เจ้าหน้าที่ ที่ทำงานในสถาบันการศึกษาและตัวสถาบันการศึกษาเอง สะท้อนถึงความเป็นสากลในแง่การวางระบบเพื่อความโปร่งใสของสถาบันการศึกษาที่จะต้องได้รับความศรัทธาจากผู้เรียน ศิษย์เก่า และผู้สนับสนุนอื่นๆ
แปลว่า ผู้บริหารของมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา เช่น อธิการบดี คณบดี กรรมการสภามหาวิทยาลัย รวมถึงลูกจ้างของมหาวิทยาลัยต้องรายงานหรือแจ้งบัญชีรายรับรายจ่ายต่อรัฐ นอกเหนือไปจากสถาบันการศึกษาหรือมหาวิทยาลัยเองที่จะต้องทำรายงานรายรับ-รายจ่าย บัญชีทรัพย์สินเพื่อส่งให้กับรัฐ ตามกฎหมายบังคับด้วยว่า “การต้องรายงานต่อสาธารณะ”
มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย (UC- University of California) ซึ่งมีพนักงานและลูกจ้างมากกว่า191,000 คน กฎหมายระบุให้ UC ต้องจัดทำรายงานที่ เรียกว่า รายงานค่าใช้จ่ายประจำปี (Annual Report on Employee Compensation) โดยมหาวิทยาลัยต้องเปิดเผยค่าใช้จ่ายต่อสาธารณะเพื่อความโปร่งใส (Annually discloses employee payroll information as part of its commitment to transparency and public accountability.) เพื่อให้ประชาชนทั่วไปสามารถตรวจสอบได้ตลอดเวลา (ดูใน : https://ucannualwage.ucop.edu/wage/)
ความโปร่งใสด้านการเงินของมหาวิทยาลัยในอเมริกา โยงไปถึงจำนวนเงินที่ได้รับบริจาคจากผู้สนับสนุนมหาวิทยาลัยจากภายนอก คือ ยิ่งมหาวิทยาลัยมีความโปร่งใสมากเท่าใด ก็จะยิ่งมีโอกาสได้รับเงินสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ หรือแม้แต่ศิษย์เก่ามากขึ้นเท่านั้น ความโปร่งใสดังกล่าว รวมถึงความโปร่งใสในการกำหนดรายได้ของผู้บริหารมหาวิทยาลัย อย่างเช่น อธิการบดี คณบดี หรือตำแหน่งบริหารระดับสูงอื่นๆ ซึ่งเรื่องนี้มหาวิทยาลัยในอเมริกามีหน้าที่ตามกฎหมายต้องดำเนินการจัดทำรายงานเสนอต่อสาธารณะอย่างเปิดเผย(Public Sector Salary Disclosure Act.)
สำหรับการรายงานสถานะทางการเงินของมหาวิทยาลัยต่อรัฐบาลท้องถิ่นนั้น กฎหมายของแต่ละรัฐกำหนดไว้ไม่เหมือนกัน แต่มีวัตถุประสงค์และวิธีการที่คล้ายคลึงกัน เช่น ในรัฐโอเรกอน มหาวิทยาลัย ต้องเสนอรายงานรายได้ของพนักงานของมหาวิทยาลัย เช่น ผู้บริหาร อาจารย์ และลูกจ้างต่อสำนักบริหารของรัฐโอเรกอน คือ DAS (Oregon Department of Administrative Services) โดยต้องรายงานแม้กระทั่งรายได้นอกเหนือจากที่พนักงานของมหาวิทยาลัยได้รับจากมหาวิทยาลัยโดยตรง ซึ่งก็คือ รายได้จากส่วนอื่นๆ หรือรายได้เสริมของอาจารย์/พนักงานของมหาวิทยาลัย เช่น รับงานสอนพิเศษ งานศึกษาดูงานหรืองานวิจัย เป็นต้น
รัฐโอเรกอนยังกำหนดให้มีการนำเสนอรายงานด้านการเงิน (รายรับ-รายจ่าย) ดังกล่าวต่อสื่อสาธารณะ เช่น ต้องลงในเว็บไซต์ เป็นต้นเพื่อให้สาธารณชนทั่วไปสามารถเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ได้อย่างทั่วถึง
วัตถุประสงค์ของการจัดทำรายงานเกี่ยวกับการเงินของมหาวิทยาลัย คือรายได้ของคณาจารย์ พนักงานมหาวิทยาลัย ก็เพื่อความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ การปฏิบัติในลักษณะนี้ พบว่า มีการปฏิบัติทั่วไปในเกือบทุกประเทศในทวีปอเมริกาเหนือ เพราะมีส่วนต่อความนิยม หรือความเชื่อมั่นต่อมหาวิทยาลัยหรือสถาบันการศึกษาในระดับอุดมศึกษา ที่ถือว่าผู้เข้าเรียนและผู้สนับสนุนมหาวิทยาลัยต้องมีส่วนรับรู้สภาพที่แท้จริงของสถาบันการศึกษานั้นๆ ส่งผลต่อเนื่องถึงการบริจาคและการสนับสนุนสถาบันการศึกษาจากองค์กร และบุคคลจากนอกมหาวิทยาลัย
มหาวิทยาลัย New Brunswick ที่แคนาดากำหนดให้ตัวมหาวิทยาลัยเองต้องรายงานและเปิดเผย รายได้ที่มหาวิทยาลัยต้องจ่ายให้กับอาจารย์และพนักงานของมหาวิทยาลัยอย่างเข้มงวด การเปิดเผยดังกล่าว อาจารย์และพนักงานที่มีรายได้เกิน 60,000 ดอลลาร์ ต่อปี กฎหมายแคนาดาบังคับให้ต้องเปิดเผยรายได้ต่อสาธารณะอย่างชัดเจน
นอกเหนือไปจากค่าใช้จ่ายที่อาจารย์และพนักงานมหาวิทยาลัย ใช้ในการทำกิจกรรมต่างๆ เช่น ค่าการเดินทาง ค่าที่พัก ค่าอาหาร เป็นต้น โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายของผู้บริหารระดับสูง (members of the university's senior staff) มหาวิทยาลัยต้องตรวจสอบว่าเป็นไปอย่างถูกต้องหรือไม่ ก่อนรายงานต่อสาธารณะผ่านช่องทางคือสื่อต่างๆ
การรายงานด้านสถานะการเงินต่อสาธารณะเพื่อความโปร่งใสของบุคลากรในมหาวิทยาลัยในอเมริกา สัมพันธ์กับระบบความโปร่งใสด้านบริหารจัดการ (Voluntary System of Accountability –VSA) ตามระบบอเมริกัน ระบบดังกล่าวถือกำเนิดขึ้นมาเมื่อประมาณ 6-7 ปีที่แล้ว เพื่อแสดงให้สาธารณะเห็นว่าประสิทธิภาพ (performing) ในการบริหารจัดการด้านการศึกษาของในแต่ละมหาวิทยาลัยเป็นอย่างไร แต่ละมหาวิทยาลัยได้ทำอะไรเกี่ยวกับเรื่องความโปร่งใสเพื่อเป็นแบบอย่างให้กับชุมชนทั่วไป
นั่นคือระบบที่ทางมหาวิทยาลัยจะต้องเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการเรียนการสอนต่อสาธารณะแม้กระทั่งวิธีปฏิบัติการ ระบบการเรียนการสอน ผลการเรียนการสอน การประเมินผลการเรียนการสอน เพื่อให้ผู้ปกครองและประชาชนทั่วมีข้อมูลในการตัดสินใจเลือกเรียนในสถาบันนั้นๆ
การแข่งขันเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาของแต่ละสถาบันการศึกษาดังกล่าว ทำให้แต่ละสถาบันการศึกษาแข่งกันพัฒนาคุณภาพด้านการศึกษา เพราะการเปิดเผยข้อมูลการเรียนการสอน ทำให้สาธารณชนได้รับรู้ข้อมูลภายในของแต่ละสถาบันการศึกษาอย่างละเอียด ประชาชนสามารถเลือกตัดสินใจว่าตนเองหรือบุตรหลานจะเรียนกับสถาบันการศึกษาใดดี ที่จะเหมาะสมกับตัวเอง ซึ่งแน่นอนว่าส่วนใหญ่ต้องการสถาบันที่มีคุณภาพ
ย้อนกลับมาที่เมืองไทย เมื่อมองในแง่ของความโปร่งใสของสถาบันการศึกษาทุกระดับแล้วจะเห็นได้ว่า ข้อมูลและการวางระบบการเรียนการสอนของสถาบันการศึกษาของไทยน้อยมากที่ถูกเปิดเผยออกสู่สาธารณะด้วยความเชื่อที่ว่าอย่างไรเสียครูอาจารย์ย่อมไม่มีวันโกง ตรรกะดังกล่าวพิสูจน์แล้วว่าไม่จริง อาจารย์และผู้บริหารมหาวิทยาลัย สามารถคอร์รัปชันได้เช่นเดียวกับบุคคลทั่วไปหรืออาชีพอื่นๆ ที่ผ่านมาก็แสดงให้เห็นว่า อาจารย์และผู้บริหารมหาวิทยาลัยของไทย ใช้กโลบายทำให้ตัวเองได้ผลประโยชน์จากตำแหน่งในมหาวิทยาลัยโดยตรง โดยอ้อมอย่างไรบ้าง และมีให้เห็นโดยทั่วไป
คำถามคือ ทำไมอาจารย์หรือผู้บริหารฯ เหล่านี้ จึงไม่ยอมแสดงบัญชีทรัพย์สินเหมือนมาตรฐานอาจารย์/ผู้บริหารฯ ในต่างประเทศดังกล่าวมา
แสดงให้เห็นว่า การออกแบบและวางระบบการศึกษาของไทยสัมพันธ์กับความเชื่อและค่านิยมอุปถัมภ์ สองมาตรฐาน มากกว่าการวางระบบให้ง่ายต่อการตรวจสอบจากสาธารณะ จากฐานความคิด ฐานันดรแบบเดิมๆ ที่คิดว่ามหาวิทยาลัย เป็นสถาบันของปัญญาชนผู้เป็นสุจริตชนเพียวๆ
การวางระบบการตรวจสอบคือการรายงานบัญชีทรัพย์สินของอาจารย์/ผู้บริหารมหาวิทยาลัยไทยต่อสาธารณชนเพื่อให้แข่งขันกันพัฒนาคุณภาพการศึกษาแบบโปร่งใสจึงไม่เกิดเสียที ส่งผลให้การฉ้อฉลในมหาวิทยาลัยไทยดำรงอยู่ต่อไป ทั้งที่โครงสร้างมหาวิทยาลัยแบบเดิมของไทย กำลังเดินหน้าสู่ความหายนะอยู่รอมร่อนยุค 4.0
| ['บทความ', 'การเมือง', 'การศึกษา', 'ต่างประเทศ', 'พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์', 'การตรวจสอบผู้บริหารมหาวิทยาลัย', 'คอร์รัปชัน'] |
https://prachatai.com/print/79568 | 2018-11-12 13:14 | 'สพฐ.-กสศ.' ปฏิรูประบบเงินอุดหนุนนักเรียนยากจน หวังสร้างระบบโปร่งใส ตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน | สพฐ.จับมือ กสศ.ปฏิรูประบบเงินอุดหนุนนักเรียนยากจน เลขาฯ มั่นใจระบบโปร่งใส ตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน ช่วยเหลือ นร. ตรงปัญหา-ความจำเป็นรายคน
12 พ.ย.2561 วันนี้ เวลา 09.00 น.ที่กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จัดให้มีพิธีการลงนามความร่วมมือกับ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เพื่อดำเนินการโครงการจัดสรรเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนแบบมีเงื่อนไข ในสถานศึกษาสังกัดสพฐ.และประชุมชี้แจงการดำเนินงานการดำเนินงานจัดทำข้อมูลระบบการคัดกรองนักเรียนยากจน ประจำภาคเรียนที่ 2/2561 แก่ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ผู้อำนวยการสถานศึกษา และครูทั่วประเทศ ผ่านระบบ Teleconference
ดร.บุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่าง สพฐ.และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ที่ร่วมพัฒนาโครงการจัดสรรเงินอุดหนุนปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจน ในสถานศึกษาสังกัด สพฐ. ถือว่าทำให้เกิดการปฏิรูปใน 2 เรื่องสำคัญของประเทศ คือ 1.การปฏิรูประบบการจัดสรรทรัพยากรเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาที่ทำให้เงินอุดหนุนถูกจัดสรรไปช่วยเหลือนักเรียนตรงสภาพปัญหาและความจำเป็นรายบุคคล และ 2. การปฏิรูปกลไกการจ่ายเงินอุดหนุนของภาครัฐให้มีประสิทธิภาพ ด้วยการใช้ระบบข้อมูลและเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัย การมีเกณฑ์การคัดกรองนักเรียนยากจนและกลไกตรวจสอบหลายระดับจากการวิจัยพัฒนาและรับฟังความคิดเห็นต่อเนื่องกว่า 3 ปี ถือเป็นมิติใหม่ในการทำงานที่จะช่วยสร้างความเชื่อมั่น ทั้งแก่ นักเรียน ผู้ปกครอง และสังคม ว่าเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษแบบมีเงื่อนไข เป็นโครงการที่มีความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้อย่างแท้จริง นอกจากนี้สถานศึกษาในสังกัดของ สพฐ.ยังสามารถใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลซึ่งเป็น BIG DATA เพื่อพัฒนาคุณภาพนักเรียนได้ในระยะยาวอีกด้วย
“การประชุมเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศผ่าน Teleconference วันนี้ เพื่อชี้แจงการดำเนินงานจัดทำข้อมูลระบบการคัดกรองนักเรียนยากจน ประจำภาคเรียนที่ 2/2561 ให้สถานศึกษา ครู และเขตพื้นที่การศึกษาเข้าใจในขั้นตอนต่างๆ ทั้งการคัดกรอง การตรวจสอบรายชื่อ ก่อนการจัดสรรเงินอุดหนุน เพื่อให้นักเรียนที่เดือดร้อนได้รับการช่วยเหลือตรงปัญหาด้วยกระบวนการที่โปร่งใส” ดร.บุญรักษ์ กล่าว
นพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า ในปีการศึกษา2561 โครงการจัดสรรเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษแบบมีเงื่อนไข ในสถานศึกษาสังกัด สพฐ. โดย กสศ.จะจัดสรรเงินอุดหนุนให้แก่นักเรียนยากจนพิเศษที่กำลังศึกษาอยู่ในชั้นประถมศึกษาปีที่1 – มัธยมศึกษาปีที่ 3 ภายใต้งบประมาณ 800 บาทต่อคนต่อภาคเรียน ให้แก่นักเรียนยากจนพิเศษ 6 แสนกว่าคน ซึ่งอยู่ในกลุ่มนักเรียนยากจนที่สพฐ.ช่วยเหลือเดิมจำนวน1,696,433 คน โดยขั้นตอนแบ่งการจัดสรรเงินออกเป็น 2 ส่วน เท่าๆ กัน คือ1.เป็นเงินอุดหนุนช่วยเหลือค่าครองชีพ ได้แก่ ค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาเรียน และค่าครองชีพระหว่างเรียน2.เป็นเงินอุดหนุนแก่สถานศึกษาเพื่อกิจกรรมการพัฒนานักเรียนยากจนให้มีทักษะชีวิตและทักษะอาชีพรวมถึงค่าอาหารที่ทางสถานศึกษาจัดหาให้เพิ่มเติมในส่วนที่ยังไม่มีงบประมาณสนับสนุนในปัจจุบันซึ่งระหว่างเดือนพฤศจิกายนและต้นเดือนธันวาคมนี้จะเป็นช่วงที่สถานศึกษาส่งรายชื่อนักเรียนที่เข้าเกณฑ์ยากจนพิเศษจากผลการคัดกรองเมื่อเทอม 1/2561 ให้แก่ กสศ. โดย สพฐ. และ กสศ. จะเปิดโอกาสให้สถานศึกษาปรับปรุงรายชื่อให้เป็นปัจจุบัน จากนั้นนักเรียนที่ขอรับการจัดสรรเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษเพิ่มเติมจะเข้าสู่กระบวนการคัดกรอง โดยครูประจำชั้นจะลงพื้นที่ตรวจสอบข้อมูลรายได้ และสถานะความยากจนของเด็กเป็นรายบุคคลระหว่างกระบวนการเยี่ยมบ้านในเทอม 2/2561 ร่วมกับผู้นำชุมชนในพื้นที่จากนั้นคณะกรรมการสถานศึกษาจะพิจารณารับรองความถูกต้องของข้อมูลรายชื่อและผลการคัดกรองทั้งหมดอีกครั้งก่อนส่งข้อมูลให้แก่ กสศ. ทั้งนี้ กสศ.ได้เปิดสายด่วน ให้บริการข้อมูล ให้คำปรึกษาในทุกขั้นตอน รวมถึงปัญหาเชิงเทคนิคในการใช้ระบบต่างๆ โดยสามารถติดต่อได้ที่ โทร 02-079-5475 กด 1 ทุกวัน ตั้งแต่ 07.00 - 20.00 น. หรือที่ Facebook : www.facebook.com/cctthailand [1]
ขณะที่ วีรณัฐ ทนะวัง ครูโรงเรียนบ้านผาเวียง จังหวัดน่าน กล่าวว่า จากประสบการณ์ที่ใช้งานแอพพลิเคชั่นปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจนถือว่าเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์มาก ใช้งานง่ายและสื่อสารข้อมูลได้อย่างรวดเร็วส่งผลให้ต้นทางรับทราบข้อมูลเด็กยากจนได้ทันที สามารถปักหมุดข้อมูลเด็กครอบคลุมทุกพื้นที่ไม่ว่าบ้านของเด็กเหล่านั้นจะอยู่บนดอย บนเกาะ ในพื้นที่ห่างไกลก็สามารถเข้าถึงข้อมูลเด็กแบบรายบุคคล ซึ่งแตกต่างจากที่ผ่านมา ครูต้องจัดทำเป็นเอกสารส่งข้อมูลเด็กไปยังสำนักงานเขตพื้นที่จากนั้นเขตพื้นที่จะต้องส่งเรื่องมาที่ศึกษาธิการจังหวัด และค่อยมาถึงต้นทางคือส่วนกลาง ทำให้กระบวนการล่าช้า แต่เมื่อมีแอพพลิเคชั่นนี้ถือว่าตอบโจทย์ของโรงเรียนไม่ยุ่งยาก ลดภาระงานเอกสาร ช่วยประมวลผลข้อมูลอย่างเป็นระบบมีประโยชน์ต่อครูและโรงเรียนเพื่อช่วยนักเรียนของเราได้ตรงจุด100%
| ['ข่าว', 'การศึกษา', 'กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา', 'โครงการจัดสรรเงินอุดหนุนนักเรียนยากจน'] |
https://prachatai.com/print/79570 | 2018-11-12 19:45 | คำอาลัยจาก ‘ณัฐวุฒิ’ ถึง ‘จ๋า นฤมล’ : ไม่มี ‘ผู้หญิงยิง ฮ.’ มีแต่ ‘ผู้ชายยิงหัว’ ยังลอยนวล | ไม่มี ‘ผู้หญิงยิง ฮ.’ มีแต่ ‘ผู้ชายยิงหัว’ ยังลอยนวลคดีไม่ไปถึงศาล ขณะที่ ‘จ๋า นฤมล’ ติดคุกปีกว่า ก่อนมีคำพิพากษาไม่ผิด ‘ณัฐวุฒิ’ กล่าวคำไว้อาลัยการจากไปของหญิงแกร่งตัวตนชัดเจนในขบวนการประชาธิปไตยกับการต่อสู้ร่วมกันยาวนาน 10 กว่าปี
12 พ.ย.2561 การเสียชีวิตของ นฤมล วรุณรุ่งโรจน์ หรือที่เป็นที่รู้จักกันในชื่อ 'จ๋า ผู้หญิงยิง ฮ.' ซึ่งที่มาของคำนี้มาจากการที่เธอถูกกล่าวหาว่า ในเหตุการณ์การชุมนมของกลุ่มคนเสื้อแดงเมื่อปี 53 ว่าเธอใช้ปืนยิงไปที่เฮลิคอปเตอร์ของทหารขณะที่กำลังโปรยใบปลิวและทิ้งแก็สน้ำตาลงมาใส่ผู้ชุมนุม โดยศาลชั้นต้นยกประโยชน์แห่งความสงสัยแก่จำเลยพิพากษายกฟ้อง แต่ให้ขังจำเลยไว้ระหว่างอุทธรณ์ ต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นยกฟ้องจำเลย และศาลฎีกาไม่รับฎีกาของอัยการโจทก์ในคดีนี้เป็นผลให้คดีนี้ถึงที่สุด โดยที่เธอถูกคุมขังเป็นเวลา 1 ปี 4 เดือน ศาลจึงมีคำสั่งให้ประกันตัว
ในพิธีฌาปนกิจ นฤมล เมื่อวันที่ 10 พ.ย.ที่ผ่านมา ที่วัดเทวสุนทร ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. กล่าวคำไว้อาลัยในพิธีฌาปนกิจดังกล่าว เผยแพร่ในเฟสบุ๊กแฟนเพจ 'นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ' โดยมีรายละเอียดดังนี้
ท่านผู้มีเกียรติที่เคารพครับ ผมอยากจะพูดว่ารู้สึกเป็นเกียรติ แต่ที่อยู่ในใจจริงๆ คือรู้สึกเป็นทุกข์ เพราะว่าเราได้มารวมตัวกันในวาระของการสูญเสียบุคคลสำคัญอย่างยิ่งคนหนึ่งในขบวนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของประชาชน
ถามว่า ถ้าพี่จ๋าคือบุคคลสำคัญอย่างยิ่งคนหนึ่ง แล้วใครคือคนที่สำคัญมากกว่า หรือใครคือคนที่สำคัญน้อยกว่าคุณจ๋า นฤมลคนนี้?
คำตอบคือ ไม่มี เพราะในขบวนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของประชาชน ทุกคนสำคัญเท่ากัน หนึ่งชีวิตหนึ่งอิสรภาพของทุกคนถูกวางไว้เป็นเดิมพันตลอดเส้นทางกว่า 10 ปีที่ผ่านมา แล้วไม่มีหลักประกันว่าจะไม่ถูกวางไว้เป็นเดิมพันต่อเนื่องในสถานการณ์ภายหน้า
ผมได้พบพี่จ๋าครั้งแรกที่ท้องสนามหลวงในคืนวันที่ 23 มี.ค.2550 คราวนั้นเราเปิดเวที PTV ต่อต้านเผด็จการเป็นครั้งแรก ลงมาจากเวที ผมได้ยินเสียงเรียกอย่างสนิทสนมว่า ‘ณัฐวุฒิ สู้นะ ณัฐวุฒิ สู้นะ’ หันมาตามเสียง เจอสุภาพสตรีคนหนึ่งนั่งอยู่บนเบาะมอเตอร์ไซต์ มีสุนัขตัวเล็กๆ ตัวหนึ่งนั่งอยู่ในตะกร้าข้างหน้า ตอบตัวเองได้ทันทีว่า ผมไม่เคยรู้จักผู้หญิงคนนี้มาก่อน
แต่แน่นอนที่สุดครับ คนอย่างเธอ ไม่ยอมเปลืองเวลาแม้เพียงเสี้ยววินาทีที่จะประกาศอย่างองอาจผ่าเผย ว่า ‘นี่พี่จ๋าเอง’ นี่คือ ‘จ๋า’
ผมเห็นว่า ด้วยท่วงทำนองและบุคลิกดังกล่าวของพี่จ๋า มันอธิบายความรู้สึกของประชาชนคนเล็กๆ คนธรรมดาในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก ที่อยากจะประกาศให้ใครก็ตามในบ้านเมืองนี้รู้ว่า
‘นี่ฉันไง ฉันประชาชน นี่ฉันไง ฉันคือคนเท่าๆ กันกับพวกคุณ ตั้งแต่เกิด ดำรงอยู่ และตกตายไป’
ผมจดจำผู้หญิงคนนี้ตั้งแต่วันนั้น แล้วก็พบหน้าต่อเนื่องกันมาต่างกรรมต่างวาระในสถานการณ์ต่อสู้
คืนวันที่ 10 เมษายน ผมเดินทางจากแยกราชประสงค์ ไปที่เวทีผ่านฟ้า เพราะทราบว่าสถานการณ์ที่นั่นลุกลามบานปลายแล้ว ไปถึงก็พยายามเจรจากับฝ่ายผู้มีอำนาจ ให้ยุติปฏิบัติการสลายการชุมนุม ยุติการสูญเสียบาดเจ็บล้มตายของทุกฝ่าย
เหตุการณ์คืนนั้นหนักหนาสาหัสที่สุดในชีวิตผม ผ่านพ้นจากเหตุการณ์ไป มีเรื่องราว มีวาทกรรมมากมาย หนึ่งในวาทกรรมที่เกิดขึ้นจากคืนนั้นก็คือคำว่า ‘ผู้หญิงยิง ฮ.’ ซึ่งหมายถึงคุณจ๋า นฤมล วรุณรุ่งโรจน์
ผมเรียนทุกท่าน ตรงไปตรงมาครับ เหตุการณ์คืนวันที่ 10 เม.ย. 2553 ผมไม่เคยเชื่อและไม่เคยยอมรับว่ามีผู้หญิงยิง ฮ. แต่ผมเชื่อมาตลอดเวลาจนบัดนี้ว่า มีผู้ชายยิงหัว (เสียงปรบมือจากผู้ฟังในงาน)
ภายหลังเหตุการณ์นั้น ‘ผู้หญิงยิง ฮ.’ ติดคุก 1 ปี 4 เดือน ศาลพิพากษาถึงที่สุดว่าไม่มีความผิด
แต่ ‘ผู้ชายยิงหัว’ ยังอยู่ในสถานการณ์บ้านเมืองลอยนวลสบายๆ (ผู้ฟังส่งเสียงโห่และปรบมือ)โดยคดีไม่ไปถึงศาล ติดตามทวงถามก็เสมือนว่า ความตายร่วมร้อยชีวิตเป็นเรื่องว่างเปล่า ไร้ค่า
แต่ท่านเชื่อผมเถอะครับ ไม่มีชีวิตใดเกิดขึ้นเพื่อให้ถูกทำลายอย่างไร้ค่า ตราบเท่าที่เพื่อนร่วมอุดมการณ์ ยังไม่หยุดต่อสู้และเรียกร้องความยุติธรรม
ผมได้ข่าวการจากไปของพี่จ๋า อาลัย ใจหาย ไม่นึกว่า ผู้หญิงที่แกร่งมากๆ คนหนึ่ง จะจากไปเสียง่ายๆ แต่นี่มันเป็นกฎเกณฑ์ของธรรมชาติครับ เป็นเรื่องชีวิต เป็นเรื่องวันเวลา
ผมหวังใจว่า ถ้าพี่จ๋ารับรู้สิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้ ก็จะทำให้การเดินทางของพี่จ๋านับจากวินาทีนี้ไป จะไปที่ไหนๆ ก็ตาม ใครก็ไม่กล้ามองข้าม นฤมล วรุณรุ่งโรจน์ เพราะในวันเวลาที่มีชีวิตอยู่ ได้สร้างความยอมรับ ได้สร้างความนับถือต่อผู้คนมากมายหลายแวดวง จนมารวมตัวกันเช่นวันนี้
ผมคงพูดอะไรได้ไม่ยาว เนื่องจากว่า ความรู้จักความผูกพันระหว่างพวกเรามันยืดยาวเกินกว่าจะอธิบายในระยะเวลาสั้น
ต่อจากนี้ จะไม่มีอีกแล้ว สุภาพสตรีที่คงความเป็นเอกลักษณ์ เป็นแบบฉบับ เป็นตัวตนที่ชัดเจนที่สุดคนหนึ่ง ในขบวนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย
พี่จ๋า เหมือนออกมาจากวรรณกรรมของไม้เมืองเดิม แล้วออกมาเดินอยู่บนถนนการต่อสู้ เมื่อหมดภาระหน้าที่ เธอก็กลับเข้าไปอยู่ในวรรณกรรมเล่มนั้น เล่มที่มีคนอีกหลายคนอยู่ร่วมกัน เช่น ลุงนวมทอง ไพรวัลย์ เช่น วีรชนผู้เสียสละ ผู้สูญเสียอีกมากมาย
วันนี้ นฤมล วรุณรุ่งโรจน์ ได้จดจารบันทึกชีวิตตัวเอง ไว้ในหัวใจของเพื่อนร่วมอุดมการณ์ ไม่มีใคร หรือวันเวลาใดจะลบเลือนเธอไปได้ ถ้าถามผมว่ากล้าที่จะยืนหยัดต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยต่อไปถึงที่สุดหรือไม่ ผมตอบว่ากล้า แต่ถ้าถามว่ากล้าลืมจ๋า นฤมล วรุณรุ่งโรจน์ ไปจากชีวิตหรือไม่ ผมตอบว่า ผมไม่กล้า เพราะเธอยิ่งใหญ่เกินกว่าที่ใครจะลืมได้
ขอดวงวิญญาณของพี่จ๋าสุขสงบ ในสัมปรายภพ ขอดวงวิญญาณของพี่จ๋า หลุดพ้นจากการถูกกดขี่บีฑาในทุกรูปแบบ ทุกกรณี และขอดวงวิญญาณของพี่จ๋า จงเคียงข้างเพื่อนมิตรผู้ร่วมอุดมการณ์ ปกป้องดูแลเป็นกำลังใจให้กันและกัน เพื่อเราจะเดินไปข้างหน้าในวันที่เราหวัง ในวันที่เราเชื่อมั่นร่วมกันต่อไป
‘นฤมล วรุณรุ่งโรจน์’ เธออาจจะไม่รู้จักคำว่าปรองดอง เธออาจจะไม่รู้จักคำว่าปฏิรูป เธออาจจะไม่รู้จักคำพูดสวยงามใดๆ ที่เขาอธิบายกันอยู่วันนี้
แต่เธอยึดมั่นกับคำว่า กูจะสู้มันถึงที่สุด กูจะไม่ยอมมัน ยังไงกูก็ยอมมันไม่ได้ และนี่ล่ะครับ คือเธอที่เราต้องมาร่วมกันคารวะ ขอบคุณครับ"
ลมหายใจที่ไม่แพ้: ทศวรรษแห่งการต่อสู้ของพี่จ๋า กองหน้าเสื้อแดง [1]
'จ๋า-ผู้หญิงยิงฮ.' เสียชีวิตแล้ว ส่งนิติเวช รพ.ตำรวจชันสูตร [2]
สำหรับ นฤมล นั้น เธอถูกตั้งข้อหาใช้ปืนยิงไปที่เฮลิคอปเตอร์ของทหารขณะที่กำลังโปรยใบปลิวและทิ้งแก็สน้ำตาลงมาใส่ผู้ชุมนุม จนทำให้ พ.อ.มานะ ปริญญาศิริ ได้รับบาดเจ็บ เหตุเกิดเมื่อวันที่ 10 เม.ย.2553 โดยที่เธอและจำเลยอีก 2 คนถูกสั่งฟ้องในข้อหา ร่วมกันมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนวัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้ ปลอมเอกสารราชการและใช้เอกสารราชการปลอม โดยมีหลักฐานเป็นปืน AK47 จำนวน 5 กระบอก, ปืนกล M16 จำนวน 1 กระบอก, ระเบิดหลายชนิดเกือบ 20 ลูก, กระสุนปืนแบบต่างๆ เกือบพันลูก ไม่นับตะไล ปืนคาร์ไบน์ ระเบิดเพลิง แต่จากการสืบพยานไม่พบลายนิ้วมือแฝงบนอาวุธ
เธอถูกจับเมื่อวันที่ 3 พ.ค.2553 โดยถูกคุมขังมาจนถึงวันที่ 5 ก.ย.2554 รวมเป็นเวลา 1 ปี 4 เดือน ศาลจึงมีคำสั่งให้ประกันตัว และถึงแม้ว่าศาลจะยกฟ้องในที่สุดแต่นฤมลก็ไม่สามารถเรียกร้องเงินชดเชยได้ เนื่องจากกฎหมายระบุว่าศาลต้องพิพากษาว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ มิใช่การยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย
ต่อมาเธอยังถูกฟ้องคดีทำร้ายร่างกายเจ้าหน้าที่ทหารด้วย เหตุเกิดเมื่อวันที่ 25 ก.พ.52 ในที่ชุมนุมของนปช.โดยศาลชั้นต้นพิพากษาให้นฤมลมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 สั่งจำคุก 1 ปี จากข้อหาหน่วงเหนี่ยวกักขังทำร้ายร่างกายนายทหารนอกเครื่องแบบ หลังพ้นโทษออกจากเรือนจำ เธอใช้ชีวิตระหกระเหินอยู่นานกว่าจะตั้งหลักด้วยการประกอบอาชีพรับจ้างนวดแผนโบราณในเวลากลางวันและทำขนมหวาน ชาสมุนไพรฝากขายและวางขายตามที่ชุมนุมของกลุ่มผู้รักประชาธิปไตย จนกระทั่งเสียชีวิตผ่านมาภายในห้องเช่าหลังห้างสรรพสินค้าอิมพีเรียล ลาดพร้าว โดยไม่ทราบเวลาและสาเหตุการเสียชีวิตที่ชัดเจน เมื่อวันที่ 1 พ.ย.ที่ผ่าน
| ['ข่าว', 'การเมือง', 'สิทธิมนุษยชน', 'ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ', 'นฤมล วรุณรุ่งโรจน์', 'การประกันตัว', 'ผู้หญิงยิง ฮ.'] |
https://prachatai.com/print/79571 | 2018-11-12 21:32 | เกษียร เตชะพีระ : ทำไมประเทศกูถึงมี “ลัทธิชังชาติ” [คลิป] |
“พูดให้ถึงที่สุด คนที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นพวกลัทธิชังชาติ ในความเข้าใจของผม คือพวกเขาเป็นลัทธิรักชาตินี่ล่ะ และเขาอยากจะช่วยเหลือแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงชาติ เพราะเค้าเชื่อว่าชาติดีกว่านี้ได้ คนที่ถูกตราหน้าว่าเป็นลัทธิชังชาติเนี่ยก็คือคนที่วิพากษ์วิจารณ์ความเป็นจริง อย่างที่เห็นและเป็นอยู่ ในสภาพของชาติปัจจุบัน และเขาวิพากษ์วิจารณ์เพื่อเตรียมย้ายไปอยู่ประเทศอื่นหรือ เปล่า เขาวิพากษ์วิจารณ์ภาษาไทยในพื้นที่ประเทศไทย และทำไมเขาทำแบบนั้นทำไมเขาแบบไม่เก็บของแล้วอพยพไปอยู่ที่อื่น เพราะเขารักชาติ เขาอยากจะเปลี่ยนชาติ แก้ไขปัญหาที่เขาเห็นว่าเป็นจุดบกพร่อง เขารู้สึกว่ามันไม่ดี เขาอยากจะให้ประเทศกูไม่มีสิ่งที่ไม่ดีเหล่านี้”
หลังจากศิลปินกลุ่ม RAP AGAINST DICTATORSHIP เผยแพร่ MV เพลงประเทศกูมีหนึ่งในปฎิกริยาที่โต้กลับที่เกิดขึ้น คือการยัดข้อหาว่า 'ชังชาติ' ทำร้ายประเทศ ประชาไทชวนเกษียร เตชะพีระ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พูดคุยหาแก่นแท้ความเป็นชาติ ลัทธิชังชาติ เป็นมาอย่างไร ทำไมชาติถึงมีศัตรูที่อยู่ภายใน และเราจะเดินต่อไปในความขัดแย้งที่รออยู่ในอนาคตอย่างไีร
อ่านบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มที่นี่ https://prachatai.com/journal/2018/11/79551 [1]
| ['ข่าว', 'การเมือง', 'มัลติมีเดีย', 'ประเทศกูมี', 'เกษียร เตชะพีระ', 'ลัทธิชังชาติ', 'Thailand 4.0', 'ความเป็นไทย', 'คสช.', 'รัฐประหาร', 'เพลง', 'ชาตินิยม'] |
https://prachatai.com/print/79574 | 2018-11-12 20:04 | EU แจงพร้อมร่วม หากไทยชวนมาสังเกตการณ์เลือกตั้ง ปัดเตรียมการไว้ก่อน | สหภาพยุโรปยันไม่ได้เตรียมการลงพื้นที่สังเกตการณ์การเลือกตั้ง แต่หากไทยสนใจให้มาร่วมงานก็สามารถที่จะพิจารณาส่งทีมภารกิจการสำรวจ เพื่อมาพบกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของไทย ย้ำยังเคารพต่ออำนาจอธิปไตยของประเทศ
12 พ.ย.2561 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าวานนี้ (11 พ.ย.61) เฟสบุ๊กแฟนเพจคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย (European Union in Thailand) โพสต์ข้อความกรณีความเป็นไปได้ในการส่งคณะสังเกตการณ์การเลือกตั้งของสหภาพยุโรป (EU) มาสังเกตการณ์การเลือกตั้งทั่วไปของไทยที่กำลังจะเกิดนี่ว่า
"สืบเนื่องจากการคาดคะเนในสื่อต่าง ๆ เกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการส่งคณะสังเกตการณ์การเลือกตั้งของสหภาพยุโรป คณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทยมีความประสงค์ที่จะออกคำชี้แจงดังต่อไปนี้:
ตั้งแต่ปี 1993 สหภาพยุโรปได้สังเกตการณ์การเลือกตั้งใน 65 ประเทศเป็นอย่างน้อย ซึ่งรวมไปถึงประเทศในแถบอาเซียน (อินโดนีเซีย กัมพูชา เมียนมาร์) และ ติมอร์-เลสเต
การสังเกตการณ์การเลือกตั้งของสหภาพยุโรป (EOM) นั้น จะสามารถลงพื้นที่ได้ก็ต่อเมื่อได้รับการรับเชิญจากเจ้าหน้าที่ทางการให้มาสังเกตการณ์ นอกเหนือไปจากนั้น การสังเกตการณ์การเลือกตั้งของสหภาพยุโรปยังต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบ ซึ่งมีความสอดคล้องตรงกันกับปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยหลักการในการสังเกตการณ์การเลือกตั้งสากล ซึ่งผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้งของสหภาพยุโรปจะต้องปฏิบัติตาม โดยความเป็นธรรม การไม่แทรกแซง ความเคารพต่อกฎระเบียบและกฎหมายของประเทศ รวมไปถึงการสังเกตการณ์ที่อยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริงและตรวจสอบได้ เป็นพลังในการทำงานการสังเกตการณ์ของสหภาพยุโรป
ในกรณีของประเทศไทย สหภาพยุโรปไม่ได้เตรียมการในการลงพื้นที่สังเกตการณ์การเลือกตั้ง แต่หากประเทศไทยมีความสนใจที่จะให้สหภาพยุโรปมาร่วมงานในด้านนี้ ทางสหภาพยุโรปสามารถที่จะพิจารณาส่งทีมภารกิจการสำรวจ เพื่อมาพบกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของไทย และประเมินว่าการส่งทีมการสังเกตการณ์การเลือกตั้งนั้นจะมีประโยชน์และสามารถทำได้หรือไม่ โดยที่ยังเคารพต่ออำนาจอธิปไตยของประเทศ องค์ประกอบที่สำคัญประการหนึ่งในการประเมินก็คือ ความพร้อมของเจ้าหน้าที่ทางการที่จะส่งจดหมายเชิญให้อียูสามารถดำเนินการสังเกตการณ์การเลือกตั้งได้อย่างทันท่วงที ซึ่งตอนนี้ทางสหภาพยุโรปยังไม่ได้รับจดหมายเชิญ นอกจากนี้ทีมภารกิจการสำรวจยังมีหน้าที่ในการประเมินจำนวนของผู้สังเกตการณ์ที่จะลงพื้นที่อีกด้วย"
| ['ข่าว', 'การเมือง', 'สังเกตการณ์การเลือกตั้ง', 'สหภาพยุโรป', 'การเลือกตั้ง'] |
https://prachatai.com/print/79572 | 2018-11-12 21:38 | องค์กรกลางบริหารทรัพยากรบุคคลภาครัฐมีแต่คณะกรรมการเท่านั้นหรือ ? |
1. องค์กรกลางบริหารทรัพยากรบุคคลภาครัฐ
1.1 พวกเราเคยสงสัยไหมว่า “องค์กรกลางบริหารทรัพยากรบุคคลภาครัฐ” (ต่อจากนี้ไปขอเรียกว่า “ก.กลาง”) คือ อะไร มีบทบาทและหน้าที่อะไร ทำไม ก.กลาง ของไทยจึงต้องเป็นคณะกรรมการเท่านั้น ตัวอย่างเช่น คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.), คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม, คณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม, คณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง, คณะกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง, คณะกรรมการข้าราชการรัฐสภา, คณะกรรมการอัยการ, คณะกรรมการข้าราชการทหาร, คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ, คณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา, คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา, คณะกรรมการมาตรฐานการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น, คณะกรรมการข้าราชการกรุงเทพมหานครและบุคลากรกรุงเทพมหานคร ฯลฯ
1.2 และเมื่อย้อนดูอดีต กฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือน ซึ่งเป็นต้นแบบของกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการประเภทอื่นๆ ทุกฉบับ ตั้งแต่ฉบับแรกจนถึงฉบับปัจจุบัน รวม 10 ฉบับ ก็พบว่า ก.กลาง ของข้าราชการพลเรือน ล้วนอยู่ในรูปคณะกรรมการทั้งสิ้น (พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน, 2471; 2476; 2479; 2482; 2485; 2495; 2497;2518; 2535; 2551) โดย ก.กลาง ที่จัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2471 ชื่อ “กรรมการรักษาพระราชบัญญัติ” และต่อมาในปี 2476 เปลี่ยนชื่อเป็น “คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน” และใช้ชื่อนี้มาจนถึงปัจจุบัน
1.3 วันนี้เราจะมาสืบค้นกันว่าในโลกของการบริหารทรัพยากรบุคคลภาครัฐ ก.กลาง มีกี่รูปแบบ แต่ละรูปแบบมีที่มาที่ไปอย่างไร เหมาะกับบริบทใด และทำไมเราจึงใช้แต่คณะกรรมการรูปแบบเดียว แต่ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจเกี่ยวกับ “ก.กลาง” และ “ค่านิยม” การบริหารทรัพยากรบุคคลภาครัฐ ก่อน
1.4 “องค์กรกลางบริหารทรัพยากรบุคคลภาครัฐ” หมายถึง หน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่เสนอแนะเพื่อกำหนดนโยบายการบริหารทรัพยากรบุคคลภาครัฐในภาพรวม และ/หรือกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการบริหารทรัพยากรบุคคลภาครัฐเพื่อให้ส่วนราชการต่างๆ และ/หรือหน่วยงานอื่นๆ ของรัฐถือปฏิบัติ ตลอดจนกำกับติดตามการบริหารทรัพยากรบุคคลในส่วนราชการและ/หรือหน่วยงานต่างๆ ให้เป็นไปตามนโยบาย หลักเกณฑ์ วิธีการ และ/หรือเงื่อนไขดังกล่าว
2. ค่านิยม บทบาทและรูปแบบของ ก.กลาง
2.1 “ค่านิยม” ที่ส่งผลต่อวิวัฒนาการการบริหารทรัพยากรบุคคลภาครัฐมีจำนวนมาก ดังที่ Robert H. Elliott ระบุว่าเฉพาะค่านิยมหลักมีถึง 14 ประการ (1985, pp.1-19) แต่ในที่นี้จะขอพูดเฉพาะค่านิยมการดำรงอยู่ของ ก.กลาง (Conceptual Value of Existence) ดังนี้
2.1.1“การพิทักษ์ระบบคุณธรรม” (Merit Watchdog) ค่านิยมนี้เชื่อว่าบทบาทหลักของ ก.กลาง คือ “ผู้พิทักษ์ระบบคุณธรรม” ควบคุมการใช้อำนาจของรัฐบาลให้เป็นไปโดยชอบตามหลักการของระบบคุณธรรม ในการบริหารงานภาคเอกชน เนื่องจากกำไรหรือขาดทุนกระทบกับเจ้าของหรือผู้ประกอบการโดยตรง ดังนั้น ผู้ประกอบการหรือเจ้าของกิจการย่อมบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเป็นพนักงานโดยคำนึงถึงความรู้ความสามารถและศักยภาพ และในกรณีที่มีข้อขัดแย้งระหว่างระหว่างผู้ประกอบการกับพนักงาน รัฐบาลก็เป็นคนกลางในการเจรจาไกล่เกลี่ยหรือตัดสินวินิจฉัยข้อพิพาท แต่ในการบริหารงานภาครัฐ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอาจบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเป็นข้าราชการโดยคำนึงถึงฐานเสียงมากกว่าประสิทธิผลและประสิทธิภาพของระบบราชการ และในกรณีที่มีข้อขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับข้าราชการ รัฐบาลก็ไม่อาจเป็นคนกลางได้ เพราะเป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง
ด้วยเหตุผลดังกล่าว ก.กลาง จึงเป็นสิ่งจำเป็นในการบริหารทรัพยากรบุคคลภาครัฐ ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการเล่นพรรคเล่นพวกและการใช้อำนาจโดยมิชอบของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและข้าราชการระดับสูง และเป็นคนกลางระหว่างรัฐบาลกับข้าราชการ เป็นผู้ควบคุมรัฐบาล มีหน้าที่ตรวจสอบการบรรจุ เลื่อน ย้าย โอน และแต่งตั้งข้าราชการ ตลอดจนเพิกถอนคำสั่งแต่งตั้งของรัฐบาลหรือฝ่ายบริหารที่ไม่เป็นตามหลักการของระบบคุณธรรม เพื่อให้ ก.กลาง สามารถป้องกันการแทรกแซงทางการเมืองได้อย่างแท้จริง และไม่เอื้อประโยชน์ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ก.กลาง จึงต้องเป็นคณะกรรมการอิสระ (Commission) ไม่ขึ้นกับฝ่ายบริหาร และ
การแต่งตั้งเป็นอำนาจร่วม โดยฝ่ายบริหารเป็นผู้เสนอชื่อหรือเป็นผู้แต่งตั้งโดยความเห็นชอบจากฝ่ายนิติบัญญัติ และเมื่อได้รับการแต่งตั้งแล้ว จะถูกถอดถอนไม่ได้ เว้นแต่จะครบวาระ เสียชีวิต กระทำความผิดทางอาญา หรือขาดคุณสมบัติตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายเท่านั้น
กรรมการต้องเป็นกลาง ไม่เป็นนักการเมืองหรือข้าราชการ หรือใช้ระบบกรรมการแบบ 2 พรรค (Bipartisan Commission) เพื่อถ่วงดุลกัน เช่น ถ้าคณะกรรมการประกอบด้วยกรรมการจำนวน 3 คน[1] จะกำหนดว่ากรรมการเกินว่าสองคนจะมาจากพรรคการเมืองเดียวกันไม่ได้ หรือกำหนดวาระการดำรงตำแหน่งของกรรมการแต่ละคนเหลื่อมกัน เพื่อไม่เปิดโอกาสให้หัวหน้ารัฐบาลสามารถแต่งตั้งกรรมการทั้งคณะในสมัยเดียวได้ เป็นต้น
2.1.2 “ความเข้มแข็งของฝ่ายบริหาร” ค่านิยมนี้เชื่อว่าบทบาทของ ก.กลาง คือ “ผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรบุคคล” ของรัฐบาล เป็นผู้ช่วยรัฐบาล เพื่อให้รัฐบาลเข้มแข็ง มีประสิทธิผลและประสิทธิภาพ มีหน้าที่เสนอแนะนโยบายหรือเสนอกฎระเบียบหลักเกณฑ์การบริหารทรัพยากรบุคคลภาครัฐ และมีอำนาจกำกับให้ส่วนราชการต่างๆ ปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาล กฎและระเบียบที่กำหนดไว้ เพื่อให้การช่วยรัฐบาลเป็นไปอย่างสะดวก รวดเร็ว และคล่องตัว ก.กลาง ตามค่านิยมนี้จะจัดตั้งในรูป “หน่วยงาน” ที่หัวหน้าหน่วยงานขึ้นตรงกับหัวหน้ารัฐบาลหรือผู้ที่หัวหน้ารัฐบาลมอบหมาย โดยไม่มีคณะกรรมการใดๆ มากำกับหรือขั้นกลาง
2.2 ค่านิยมทั้งสองเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน กล่าวคือ “การปฏิรูปตามหลักคุณธรรม แม้จะแก้ปัญหาบางประการ (ระบบอุปถัมภ์ – ผู้เขียน) แต่ก็สร้างปัญหาอื่นตามมา ที่เด่นชัด คือ ปัญหาแรงจูงใจของข้าราชการ ที่จะปรับปรุงประสิทธิภาพและตอบสนองความต้องการ (ของรัฐบาลหรือสังคม – ผู้เขียน) จะน้อยลง . . . และนำไปสู่ความไม่ยืดหยุ่นในการบริหาร” (Geoffrey Shepherd, p.3) และในทำนองกลับกัน การสร้างรัฐบาลที่เข้มแข็งตามหลักการให้ผู้จัดการมีอิสระในการจัดการ (Let managers manage) แม้จะทำให้การบริหารภาครัฐมีความยืดหยุ่นคล่องตัว มีประสิทธิภาพ แต่กลับเปิดทางให้มีการเล่นพรรคเล่นพวกและนำไปสู่ระบบอุปถัมภ์
2.3 โดยที่พันธกิจของ ก.กลาง มีทั้งการเป็นผู้พิทักษ์ระบบคุณธรรม คอยควบคุมรัฐบาล และเป็นผู้จัดการฝ่ายบุคคลของรัฐบาล คอยช่วยรัฐบาล ดังนั้น การจัดตั้ง ก.กลาง ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการอิสระหรือหน่วยงานขึ้นตรงกับรัฐบาลล้วนต้องเผชิญปัญหาความขัดแย้งของบทบาท (Conflict of Roles) ทั้งสิ้น เช่น ในกรณีที่รัฐบาลต้องการย้ายปลัดกระทรวงหรืออธิบดีไปดำรงตำแหน่งที่มิใช่ตำแหน่งหลัก (Inactive Post) ก.กลาง จะเล่นบทผู้พิทักษ์ระบบคุณธรรมที่ต้องตรวจสอบและทักท้วงในกรณีที่เห็นว่าการย้ายนั้นไม่เป็นไปตามระบบคุณธรรม หรือจะเล่นบทผู้จัดการฝ่ายบุคคลของรัฐบาล ที่ต้องหาช่องทางให้การย้ายเป็นไปโดยสะดวกรวดเร็ว ความขัดแย้งของบทบาทยังครอบคลุมไปถึงประเด็นที่มีผลกระทบกับข้าราชการทุกคน เช่น การพิจารณาปรับบัญชีเงินเดือนข้าราชการ ก.กลาง จะพิจารณาในบทบาทใดระหว่าง เพื่อประโยชน์ของรัฐโดยคำนึงถึงฐานะการเงินการคลังของประเทศและประสิทธิภาพการบริหารภาครัฐ หรือเพื่อประโยชน์ทางการเมืองของรัฐบาลโดยคำนึงถึงจังหวะเวลาการปรับบัญชีฯ มากกว่าเหตุผลความจำเป็นเพื่อคุณภาพชีวิตของข้าราชการ เช่น เลือกปรับบัญชีฯ ก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง เป็นต้น
3. ก.กลาง ในต่างประเทศ
ไทยเราได้นำรูปแบบการบริหารทรัพยากรบุคคลภาครัฐจากต่างประเทศมาใช้ โดยตอนแรก(พ.ศ. 2471) ใช้ระบบของสหราชอาณาจักร ต่อมา (พ.ศ. 2518) ใช้ระบบของสหรัฐอเมริกา ดังนั้น การทำความเข้าใจกับวิวัฒนาการของการบริหารทรัพยากรบุคคลภาครัฐของสองประเทศนี้ และสภาพปัจจุบันของ ก.กลาง ของประเทศต่างๆ จะช่วยทำให้เราเข้าใจระบบของเราได้ดียิ่งขึ้น
3.1 ก.กลาง ของสหราชอาณาจักร
3.1.1 รูปแบบที่ไม่มี ก.กลาง
ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 (ประมาณ พ.ศ. 2343 – 2397) “การบริหารทรัพยากรบุคคลภาครัฐของสหราชอาณาจักรเป็น “ระบบอุปถัมถ์” (Patronage) ปราศจากการตรวจสอบและควบคุมใดๆ ผลที่ตามมาคือการแพร่ขยายของการฉ้อราษฎร์บังหลวงและความไร้ประสิทธิผล” (William Robson, 1922, p.7, as cited in Richard A. Chapman, 2004, p.229) ในยุคนี้ไม่มี ก.กลาง แต่ละส่วนราชการ มีอำนาจบริหารทรัพยากรบุคคลของตนเอง ต่างคนต่างทำ ไม่มีมาตรฐาน การสรรหาบุคคลมาบรรจุแต่งตั้งเป็นข้าราชการขึ้นกับความสัมพันธ์ส่วนตัวและความพึงพอใจของรัฐมนตรีและหัวหน้าส่วนราชการ ไม่ขึ้นอยู่กับความรู้ความสามารถของบุคคล การเลื่อนตำแหน่งไม่ได้พิจารณาจากผลงานหรือความรู้ความสามารถ ถ้าข้าราชการผู้ใดไม่ได้ทำผิดวินัยหรือสร้างความไม่พึงพอใจให้กับรัฐมนตรีหรือหัวหน้าส่วนราชการเป็นการส่วนตัว ข้าราชการผู้นั้นก็จะรับราชการไปเรื่อยๆ จนเกษียณ (Charles Trevelyan and Stafford Northcote, 1854, pp.3-8) ภายใต้ระบบนี้ ข้าราชการอาจได้รับประโยชน์จากรัฐมนตรีโดยการบรรจุและแต่งตั้งลูกหลานของข้าราชการเป็นข้าราชการ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองสามารถแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการโดยไม่มีข้อจำกัด (Richard A. Chapman, 2004, p.11) ในช่วงนี้ระบบอุปถัมภ์และการแทรกแซงทางการเมืองเป็นสาเหตุหลักของความไร้ประสิทธิผลและประสิทธิภาพของระบบราชการ
3.1.2 ก.กลาง ในรูปแบบคณะกรรมการอิสระ
เพื่อแก้ปัญหาระบบอุปถัมภ์ที่เกิดจากนักการเมืองและข้าราชการระดับสูง ในปี ค.ศ. 1854 (พ.ศ. 2398) รัฐบาลจึงได้ปฏิรูประบบราชการตามข้อเสนอของ Charles Trevelyan และ Stafford Northcote (1854, pp.8-23) ที่ให้บริหารราชการโดยยึดระบบคุณธรรม โดย (ก) แบ่งแยกบทบาทระหว่างฝ่ายการเมืองกับฝ่ายประจำ (ฝ่ายการเมืองเป็นผู้กำหนดนโยบาย ฝ่ายประจำเป็นผู้นำนโยบายไปปฏิบัติ) (ข) สร้างระบบราชการให้เป็นหนึ่งเดียว (Unified Civil Service) โดยทุกส่วนราชการมีระบบการบริหารทรัพยากรบุคคลเหมือนกัน (ค) ทำให้การรับราชการเป็นอาชีพที่มั่นคง (ง) จำแนกตำแหน่งออกเป็นชั้น (Class) โดยให้ความสำคัญกับชั้นบริหารจัดการ (Administrative Class) ที่ต้องการความรู้ทั่วไปมากกว่าความรู้เฉพาะ (จ) เปิดรับบุคคลเข้ามาในระดับแรกบรรจุโดยการสอบแข่งขันแบบเปิดกว้าง (ฉ) เลื่อนตำแหน่งตามความรู้ความสามารถ และ (ช) มีคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (Civil Service Commission) ที่เป็นอิสระจากฝ่ายบริหาร เพื่อเป็น ก.กลาง ทำหน้าที่พิทักษ์และส่งเสริมระบบคุณธรรมCSC ที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด (Impartial) ประกอบด้วยกรรมการทำงานเต็มเวลา จำนวน 3 คน ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางในการสรรหาบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเป็นข้าราชการในทุกส่วนราชการ โดยการสอบแข่งขันแบบเปิดกว้าง (Open Competitive Examination) ที่วัดความรู้ทั่วไปสำหรับการทำหน้าที่บริหารจัดการ (Generalist Administrators) ตลอดจนออกใบรับรองคุณสมบัติ[2] (Certification) ของบุคคลและข้าราชการก่อนที่ผู้นั้นจะได้รับการบรรจุ เลื่อนตำแหน่งและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ในส่วนราชการตามหลักการของระบบคุณธรรม[3] และเพื่อให้ CSC สามารถดำเนินการตามบทบาทผู้พิทักษ์ระบบคุณธรรมได้อย่างเต็มที่ CSC จึงเป็นอิสระ (independent) จากฝ่ายบริหาร ไม่มีใครสามารถสั่งให้ CSC มีมติไปในทางหนึ่งทางใด มติ CSC ถือเป็นที่สิ้นสุด ฝ่ายบริหารไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ (Richard A. Chapman, 2004, p.86) พอถึงปี ค.ศ. 1920 (พ.ศ. 2463) ระบบบริหารทรัพยากรบุคคลภาครัฐของสหราช-อาณาจักร ที่มี CSC เป็นเสาหลักในการพิทักษ์ระบบคุณธรรมก็กลายเป็นที่ยอมรับทั้งในและนอกประเทศและกลายเป็นตัวแบบของระบบบริหารทรัพยากรบุคคลภาครัฐทั้งในทวีปยุโรป ทวีปอเมริกา ทวีปอาฟริกา และทวีปเอเซีย (Richard A. Chapman, 2004, p.33) รวมทั้งไทยด้วย
3.1.3 ก.กลาง ในรูปแบบส่วนราชการที่หัวหน้าส่วนราชการขึ้นตรงกับฝ่ายบริหาร
ก.กลาง ในรูปแบบนี้เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1968 (พ.ศ. 2511) ตามข้อเสนอในรายงานของลอร์ดฟูลตัน ที่ให้ยุบรวม CSC กับกองค่าตอบแทนและการบริหาร (Pay and Management Divisions) ของกระทรวงการคลัง มาจัดตั้งเป็นกรมการบริหารราชการพลเรือน หรือ Civil Service Department – CSD (Richard A. Chapman, 2004, p.67) CSC กลายเป็นส่วนหนึ่งของ CSD โดยประธาน CSC เป็นเพียงรองอธิบดี CSD เท่านั้น (Richard A. Chapman, 2004, p.68)
สาเหตุของการยุบรวมนี้ก็เพื่อแก้ปัญหาความล่าช้าในการสรรหาบุคคลมาบรรจุและแต่งตั้ง ความไม่คล่องตัวในการแข่งขันเพื่อสรรหาคนเก่ง การแปลกแยกกับส่วนราชการจน CSC ไม่รู้คุณสมบัติของบุคคลที่ส่วนราชการต้องการอย่างแท้จริง ความไม่ประสานกลมกลืนกันระหว่างการกำหนดอัตรากำลังของกระทรวงการคลัง การสรรหาของ CSC และการฝึกอบรมพัฒนาทางก้าวหน้าในอาชีพ (Career Development) ของส่วนราชการ ในรายงานฉบับนี้ ลอร์ดฟูลตันถึงกับระบุว่า ไม่มีความจำเป็นที่ให้ CSC เป็นอิสระอีกต่อไป เพราะสามารถใช้วิธีการอื่นในการพิทักษ์ระบบคุณธรรม (The Civil Service, 1968, pp.24-26) แม้ต่อมาจะมีการเปลี่ยนโฉม อีกหลายครั้ง ก.กลาง ก็ยังคงรูปแบบของหน่วยงานที่หัวหน้าส่วนราชการขึ้นตรงกับฝ่ายบริหาร ดังเห็นได้จากในสมัยนายกรัฐมนตรี Margaret Thatcher ที่ได้ปรับเปลี่ยน ก.กลาง 2 ครั้ง ครั้งแรก ในปี ค.ศ. 1981 (พ.ศ. 2524) ได้ยุบ CSD และจัดตั้งสำนักงานการจัดการและการเจ้าหน้าที่ (Management and Personnel Office) ภายใต้สำนักงานคณะรัฐมนตรี (Cabinet Office) เพื่อรับผิดชอบงานด้านการจัดองค์กร การบริหารงาน การบริหารคน ตลอดจนงานด้านนโยบาย การสรรหาและพัฒนาบุคลากร พร้อมกับโอนงานด้านอัตรากำลังและค่าตอบแทนกลับไปให้กระทรวงการคลัง และครั้งที่สอง ในปี ค.ศ. 1987 (พ.ศ. 2530) ได้จัดตั้ง Office of the Minister for the Civil Service ซึ่งขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรีเพื่อทำหน้าที่แทน MPO (Public Service Committee, Public Service, HL 55-I 1997-98, para 67; para 70)
3.1.4 ก.กลาง ผสมระหว่างคณะกรรมการอิสระและหน่วยงานขึ้นตรงกับฝ่ายบริหาร
ปัจจุบัน สหราชอาณาจักรมี ก.กลาง 2 คณะ คณะแรกเป็นคณะกรรมการภายใต้ฝ่ายบริหาร คือ คณะกรรมการบริหารราชการพลเรือน (Civil Service Board) ซึ่งมีเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (Cabinet Secretary and Head of the Civil Service) เป็นประธาน และปลัดกระทรวงเป็นกรรมการ รับผิดชอบเสนอแนะนโยบายเกี่ยวกับการพัฒนาราชการพลเรือนในระยะยาวเพื่อการเป็นผู้นำทางยุทธศาสตร์ (https://www.gov.uk/government/organisations/civil-service-board/about [1]) ส่วนการบริหารทรัพยากรบุคคลภายในส่วนราชการ เป็นอำนาจของส่วนราชการ
ส่วนอีกคณะ คือ CSC ซี่งเป็นอิสระจากฝ่ายบริหาร รับผิดชอบกำหนดหลักการการสรรหา (the Constitutional Reform and Governance Act, 2010, sec.11) ตามระบบคุณธรรม และการพิจารณาคำร้องทุกข์ตามประมวลจริยธรรม (Civil Service Code) ในทางปฏิบัติ CSC จะให้ความเห็นชอบหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการสรรหาที่ส่วนราชการกำหนด โดยไม่พิจารณารับรองเป็นรายๆ เหมือนในอดีต เพราะ CSC กำหนดบทบาทตัวเองว่าเป็นผู้พิทักษ์ “หลักการ” ของระบบคุณธรรม มิใช่ผู้พิทักษ์ “กระบวนการ” (http://civilservicecommission.independent.gov.uk/civil-service-recruitment-2/ [2])
การเปลี่ยนแปลงนี้เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งกันระหว่างบทบาท (Conflict of Roles) ของ “ผู้จัดการฝ่ายบุคคลของรัฐบาล” กับ “ผู้พิทักษ์ระบบคุณธรรม” และสอดคล้องกับพัฒนาการทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมของสหราชอาณาจักร ที่ประชาชนมีความเข้าใจในการเมืองระบอบประชาธิปไตยสูง มีความต้องการบริการภาครัฐที่รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ คุ้มค่า และทั่วถึง กลไกการตรวจสอบจากภาคประชาสังคมมีมาก สิทธิในการรับรู้ข่าวสารและวิพากษ์วิจารณ์มีกว้างขวาง รวมทั้งยังเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการปฏิรูประบบราชการตามแนวคิดการบริหารภาครัฐแนวใหม่ (New Public Management) ที่เริ่มมาตั้งแต่รัฐบาลของนายกรัฐมนตรี Margaret Thatcher จนถึงรัฐบาลปัจจุบัน
อนึ่ง บทบาทของ CSC ในปัจจุบันมีน้อยมากจนแม้แต่ OECD ก็ยังจัดให้สหราชอาณาจักรมีองค์กรกลางบริหารทรัพยากรบุคคลเพียงหนึ่งเดียว คือ คณะกรรมการบริหารราชการพลเรือน (OECD, 2005, p.168)
3.2 ก.กลาง ของสหรัฐอเมริกา
3.2.1 รูปแบบที่ไม่มี ก.กลาง
วิวัฒนาการของ ก.กลาง ของสหรัฐอเมริกาใกล้เคียงกับสหราชอาณาจักร กล่าวคือ ก่อนปี ค.ศ. 1883 (พ.ศ. 2426) การบริหารทรัพยากรบุคคลภาครัฐเป็นระบบอุปถัมภ์ ภายใต้หลักการ “ผู้ชนะกินเรียบ” (To the victors belong the spoils) ซึ่งหมายความว่า “หลังการเลือกตั้ง พรรคที่ได้เสียงข้างมากสามารถบรรจุและแต่งตั้งผู้สนับสนุนพรรคของตนในตำแหน่งทางการบริหารจัดการ (Administrative Jobs) ตั้งแต่ระดับล่างสุดจนถึงสูงสุด” (Owen E. Hughes, 2012, p.45)
ระบบอุปถัมภ์ในสหรัฐอเมริกาเริ่มมาตั้งแต่สมัยยังเป็นอาณานิคมของสหราช-อาณาจักร ต่อเนื่องมาถึงการประกาศเอกราช แพร่หลายในสมัยประธานาธิบดี Andrew Jackson (O. Glenn Stahl, 1983, p.36-37) และสิ้นสุดในสมัยประธานาธิบดี James Garfield ซึ่งถูกยิงตายในปี ค.ศ. 1881 (พ.ศ. 2424) โดยคนที่ผิดหวังจากคำมั่นสัญญาว่าจะได้รับการบรรจุเป็นข้ารัฐการหลังการเลือกตั้ง (Owen E. Hughes, 2012, p.47) หลังการตายของประธานาธิบดี รัฐสภาได้ผ่านกฎหมาย Pendleton Act of 1883 เพื่อปฏิรูประบบบริหารภาครัฐ
3.2.2 ก.กลาง ในรูปแบบคณะกรรมการอิสระ
เพื่อป้องกันการแทรกแซงทางการเมืองและส่งเสริมระบบคุณธรรม สหรัฐอเมริกาได้นำรูปแบบคณะกรรมการอิสระ (Civil Service Commission) ของสหราชอาณาจักรมาใช้ โดยจัดตั้งเป็นคณะกรรมการแบบสองพรรค (Bipartisan Commission) กล่าวคือ CSC ประกอบด้วยกรรมการซึ่งแต่งตั้งโดยประธานาธิบดีด้วยความเห็นชอบจากสภาสูง (Senate) จำนวน 3 คน กรรมการเกินกว่า 2 คน จะสังกัดพรรคเดียวกันไม่ได้ (the Pendleton Act, 1883, s.1)[4]
CSC ในสหรัฐฯ ไม่ประสบความสำเร็จตามความคาดหวังเหมือนในสหราชอาณาจักร เนื่องจากการมีกรรมการจากสองพรรคไม่ได้ทำให้เกิดองค์คณะที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด[5] (Bipartisanship does not assure nonpartisanship) กรรมการถูกมองว่าเป็นมือสมัครเล่น และการที่กรรมการมองตนเป็นองค์กรอิสระจากรัฐบาล เลยไม่ผูกพันกับความสำเร็จหรือล้มเหลวในงานของรัฐบาล และกลายเป็นอุปสรรคต่อการได้รับความร่วมมือร่วมใจจากหัวหน้าส่วนราชการ โดยสรุปในความเห็นของ O. Glenn Stahl ไม่มีประจักษ์พยานใดๆ ที่บ่งชี้ว่า CSC เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับระบบคุณธรรม (1983, pp.202-203)
นอกจากปัญหาภายในระบบ CSC เองแล้ว บริบทที่เปลี่ยนไปก็ทำให้ ก.กลาง ในรูปแบบคณะกรรมการอิสระไม่ประสบความสำเร็จ กล่าวคือ ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1939 (พ.ศ. 2482) อำนาจทางการบริหารตกเป็นของประธานาธิบดี หลังจากที่เป็นของรัฐสภา (Congress) ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 และสลับไปมาระหว่างรัฐสภากับประธานาธิบดีในช่วงทศวรรษที่ 1930s (Charles H. Levine and others, 1990, p.224) ประกอบกับการเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่การรวมศูนย์อำนาจที่ประธานาธิบดีกลายเป็นความจำเป็น ยิ่งไปกว่านั้น หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สหรัฐฯ กลายเป็นอภิมหาอำนาจ เป็นตำรวจโลกเสรี ทำให้เกิดกระแสความต้องการฝ่ายบริหารที่เข้มแข็ง ดังนั้น ก.กลาง แบบคณะกรรมการอิสระจึงไม่สอดรับกับบริบทดังกล่าว อย่างไรก็ดี เหตุอื้อฉาวทางการเมืองคดีวอเตอร์เกต (Watergate Scandal) ที่ประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน (Richard Nixon) ใช้เจ้าหน้าที่ FBI, CIA และสรรพากร (Internal Revenue Service) เป็นเครื่องมือทางการเมืองในการดักฟังคู่แข่งทางการเมืองจากพรรคเดโมแครต จนในที่สุดประธานาธิบดีนิกสันก็ต้องลาออกในปี ค.ศ. 1974 (พ.ศ. 2517) ก่อนที่จะถูกสภาผู้แทนราษฎรลงมติปลดออก (Impeachment) ทำให้สังคมเห็นความจำเป็นที่ต้องมีคณะกรรมการอิสระอยู่ แต่ต้องอยู่โดยไม่ทำให้ฝ่ายบริหารอ่อนแอ
3.2.3 ก.กลาง ผสมในรูปแบบที่เป็นอิสระและรูปแบบที่ขึ้นตรงกับฝ่ายบริหาร
ภายใต้บริบทดังกล่าวข้างต้น ประธานาธิบดีจิมมี คาร์เตอร์ (Jimmy Carter) จึงได้ปฏิรูประบบบริหารภาครัฐ โดยยังคงหลักการการสร้างฝ่ายบริหารที่เข้มแข็ง แต่ยังต้องมีระบบการตรวจสอบโดยองค์กรอิสระ ดังนั้น CSC จึงถูกยุบและแตกเป็นหน่วยงานใหม่ 3 หน่วย คือ (Civil Service Reform Act, 1978)
สำนักงานบริหารทรัพยากรบุคคล (Office of Personnel Management) ที่รับผิดชอบด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลของรัฐ โดยมีผู้อำนวยการเป็นผู้บริหารสูงสุดขึ้นตรงกับประธานาธิบดี
คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม (Merit Systems Protection Board - MSPB) เป็นคณะกรรมการอิสระแบบสองพรรค (Bipartisan Committee) ที่ไม่ขึ้นกับฝ่ายบริหาร รับผิดชอบพิจารณา
คำอุทธรณ์และร้องทุกข์ MSPB ประกอบด้วยกรรมการจำนวน 3 คน ซึ่งประธานาธิบดีเป็นผู้แต่งตั้งโดยความเห็นชอบจากสภาสูง (Senate) กรรมการเกินกว่า 2 คน จะสังกัดพรรคเดียวกันไม่ได้ และ
องค์การแรงงานสัมพันธ์ (Federal Labor Relations Authority) เป็นคณะกรรมการอิสระแบบสองพรรค (Bipartisan Committee) ที่ไม่ขึ้นกับฝ่ายบริหาร รับผิดชอบเกี่ยวกับการเจรจาต่อรองระหว่างรัฐบาลกับข้ารัฐการในเรื่องสภาพการจ้าง FLRA มีองค์ประกอบและเงื่อนไขของกรรมการแบบเดียวกับ MSPB
3.3 ญี่ปุ่น
ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1947 (พ.ศ. 2490) ญี่ปุ่นนำรูปแบบคณะกรรมการอิสระที่สหรัฐฯ ใช้ในขณะนั้นมาใช้ National Personnel Authorities (NPA) เป็น ก.กลาง ของญี่ปุ่น ประกอบด้วยกรรมการประจำ 3 คน กรรมการต้องไม่เคยเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองภายในระยะเวลา 5 ปีก่อนวันที่ได้รับการเสนอชื่อ และห้ามผู้พ้นตำแหน่งกรรมการกลับมาดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่ของรัฐในหน่วยงานของรัฐ (ยกเว้นการบรรจุกลับเป็นข้าราชการใน NPA) อีกเป็นระยะเวลา 1 ปีนับแต่วันพ้นตำแหน่งกรรมการ (National Public Service Act, 1947, chap.2)
3.4 ก.กลาง ของประเทศกลุ่ม OECD
ปัจจุบัน ก.กลาง ของประเทศกลุ่ม OECD มี 4 รูปแบบ ดังนี้
รูปแบบ
หน่วยงานที่รับผิดชอบ
ประเทศ
ไม่มีองค์กรกลางบริหารทรัพยากรบุคคลภาครัฐ
-
เบลเยี่ยม, สวีเดน
คณะกรรมการอิสระ
National Personnel Authority
ญี่ปุ่น
หน่วยงานขึ้นตรงกับฝ่ายบริหาร
กระทรวงการคลัง
เดนมาร์ก, ฟินแลนด์, โปรตุเกส, สเปน
ส่วนราชการอื่น
ออสเตรเลีย, ออสเตรีย, ฝรั่งเศส, เยอรมัน
นิวซีแลนด์, นอร์เวย์, เกาหลีใต้[6]
สำนักนายกรัฐมนตรี หรือสำนักงานคณะรัฐมนตรี
สาธารณรัฐเชค, เม็กซิโก, สาธารณรัฐสโลวัก,
ผสม
คกก. อิสระ และกระทรวงการคลัง
แคนาดา, ไอร์แลนด์
คกก. อิสระ และ ส่วนราชการอื่น
สหรัฐอเมริกา, สหราชอาณาจักร, สิงคโปร์
แหล่งข้อมูล: ข้อมูลส่วนใหญ่จาก OECD (2005), Modernising Government: the Way Forward, p. 168 ยกเว้น สหรัฐอเมริกา, สหราชอาณาจักร, เกาหลีใต้, ญี่ปุ่น, สิงคโปร์
3.5 สรุปบทบาทและรูปแบบ ก.กลาง ในต่างประเทศ
เมื่อดูจากวิวัฒนาการของ ก.กลาง ในสหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา และข้อมูลปัจจุบันของประเทศกลุ่ม OECD แล้ว อาจสรุปได้ว่า
3.5.1 ก.กลาง มี 4 รูปแบบ คือ แบบไม่มี ก.กลาง แบบคณะกรรมการอิสระ แบบหน่วยงานขึ้นตรงกับฝ่ายบริหาร และแบบผสม วิวัฒนาการของ ก.กลาง ในแต่ละประเทศ ไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน ขึ้นอยู่บริบทในแต่ละช่วงเวลา ตัวอย่าง เช่น สหราชอาณาจักรวิวัฒนาการครบ 4 รูปแบบตามลำดับ ส่วนสหรัฐฯ เริ่มจากการไม่มี ก.กลาง แล้วมามี ก.กลาง แบบคณะกรรมการอิสระ จากนั้นโดดข้ามมาเป็นแบบผสม ส่วนเบลเยี่ยมกับสวีเดนกระจายการบริหารทรัพยากรบุคคลจนถึงระดับสูงสุดกลับสู่สามัญ คือ การไม่มี ก.กลาง
3.5.2 การปฏิรูประบบราชการในต่างประเทศแต่ละครั้งจะมีการทบทวนความจำเป็นของการดำรงอยู่ของ ก.กลาง เสมอ และถ้ายังมีความจำเป็นต้องคง ก.กลาง ไว้ ก็จะทบทวนว่า ก.กลาง ควรมีบทบาท พันธกิจอะไร และอยู่ในรูปแบบใดจึงจะมีประสิทธิผลและประสิทธิภาพสูงสุดภายใต้บริบททางสังคมในขณะนั้น เนื่องจาก ก.กลาง เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนระบบราชการให้เป็นไปตามนโยบายและแนวทางที่กำหนด
3.5.3 โดยทั่วไปแล้ว ก.กลาง ที่ประสบความสำเร็จจะต้องจัดตั้งในรูปแบบที่สอดคล้องกับบทบาทของตน เช่น คณะกรรมการอิสระจะมีประสิทธิภาพสูงสุดกับบทบาทผู้พิทักษ์ระบบคุณธรรม หน่วยงานขึ้นตรงจะเหมาะกับบทบาทผู้จัดการฝ่ายบุคคลของรัฐบาล ประเทศใดที่มี ก.กลาง เพียงองค์กรเดียวทำหน้าที่ทั้งสองบทบาทที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกัน คือ เป็นทั้งผู้ช่วยรัฐบาล เป็นทั้งผู้ควบคุมรัฐบาล ประเทศนั้นย่อมไม่ประสบความสำเร็จทั้งสองด้าน อย่างไรก็ตาม บริบททางสังคม การเมือง และวัฒนธรรมล้วนมีผลความสำเร็จหรือล้มเหลวของ ก.กลาง ในแต่ละรูปแบบด้วย ตัวอย่างเช่น
(1) คณะกรรมการอิสระแบบสองพรรค (Bipartisan Commission) ในประเทศที่การเมืองเป็นระบบพรรคเดียวครองเสียงข้างมากมาโดยตลอด เช่น สิงคโปร์ หรือมาเลเซีย ก็ยากที่แน่ใจได้ว่า ก.กลาง จะพิทักษ์ระบบคุณธรรมได้เต็มที่ เช่นเดียวกัน การกำหนดวาระดำรงตำแหน่งของกรรมการให้เหลื่อมล้า เพื่อป้องกันมิให้ประธานาธิปดี/นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งกรรมการทั้งชุดในสมัยเดียว ก็ไม่อาจป้องกันประธานาธิบดีหรือนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งเกินหนึ่งสมัยได้
(2) ญี่ปุ่นมี ก.กลาง แบบคณะกรรมการอิสระ แต่ก็สามารถทำงานภายใต้บทบาทที่ขัดแย้งกัน ความสำเร็จนี้อาจมีสาเหตุจากการพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้เกิดความรู้สึกร่วมของคนทั้งประเทศที่ต้องรวมมือร่วมใจกัน ประกอบกับวัฒนธรรมการทำงานที่เน้น “กลุ่ม” มากกว่า “บุคคล” (ญี่ปุ่นไม่มีใบพรรณนาลักษณะงานของบุคคล มีแต่ของกองหรือสำนัก) การแต่งตั้งที่เน้นความอาวุโสและการยอมรับของคนในองค์กร ฯลฯ ดังนั้น แม้ว่ากฎหมายจะให้อำนาจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี แล้วแต่กรณี แต่งตั้งข้าราชการทุกระดับ (National Public Service Act 1947, Art.55) แต่ในทางปฏิบัติ ฝ่ายการเมืองจะแต่งตั้งบุคคลตามรายชื่อที่ได้รับการเสนอเป็นส่วนใหญ่ ญี่ปุ่นจึงไม่มีปัญหาการแทรกแซงทางการเมือง[7] และได้รับการจัดให้เป็นประเทศที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลกสูงเป็นอันดับ 9 จาก 137 ประเทศ โดยมีการการเล่นพรรคเล่นพวกน้อยเป็นอันดับ 15 (WEF, 2017, pp.160-161)
(3) ฟิลิปปินส์ตรงกันข้ามกับญี่ปุ่นที่แม้จะนำรูปแบบคณะกรรมการอิสระ (Civil Service Commission) มาใช้เหมือนกัน ถึงขนาดในรัฐธรรมนูญของประเทศฟิลิปปินส์ มีการรองรับความเป็นอิสระของ CSC มีการกำหนดวาระการดำรงตำแหน่งเหลื่อมกันเพื่อป้องกันมิให้ประธานาธิปดีแต่งตั้งกรรมการทั้งคณะในสมัยเดียว ฯลฯ (The Constitution of the Republic of the Philippines, Art.IX) แต่ CSC ของฟิลิปปินส์กลับไม่ประสบความสำเร็จในการพิทักษ์ระบบคุณธรรมเลย ดังเห็นได้จากรายงาน Global Competitiveness Report 2017-2018 ที่ปรากฎว่าระบบราชการฟิลิปปินส์มีการเล่นพรรคเล่นพวกสูงสุดในกลุ่มประเทศอาเซียน (WEF, 2017, p.73; p.79; p.149; p.175; p.193; p.239; p.263; p.287; p.309) ทั้งนี้ เป็นเพราะบริบททางการเมือง สังคม และวัฒนธรรมที่ต่างไป
3.5.4 ทนายฝ่ายโจทย์และทนายฝ่ายจำเลยไม่อาจเป็นบุคคลเดียวกันได้ฉันใด ผู้ช่วยรัฐบาลและผู้ควบคุมรัฐบาลก็ไม่อาจเป็น ก.กลาง องค์กรเดียวกันได้ฉันนั้น เพราะนอกจากทนายหรือ ก.กลาง จะสับสนในบทบาทของตัวเองแล้ว โจทย์/จำเลย หรือรัฐบาล/สังคม ก็ไม่แน่ใจและไม่วางใจว่า ในท้ายที่สุดทนายหรือ ก.กลาง จะอยู่ฝ่ายใด เพื่อแก้ปัญหา “ความขัดแย้งกันของบทบาท” หลายประเทศจึงมี ก.กลาง” หลายองค์กร แต่ละองค์กรมีรูปแบบเฉพาะที่สอดคล้องกับบทบาทของตน ทำหน้าที่ตรวจสอบและถ่วงดุลซึ่งกันและกัน เป็นระบบผสม เช่น
(1) สหราชอาณาจักร มี ก.พ. (CSC) ที่เป็นอิสระจากรัฐบาลและข้าราชการ ทำหน้าที่ผู้พิทักษ์ระบบคุณธรรมในส่วนการสรรหาบุคคลเพื่อบรรจุเข้ารับราชการ นอกจากนี้ ในแต่ละส่วนราชการยังมีองค์คณะพิจารณาอุทธรณ์ (Civil Service Appeal Board ที่เป็นอิสระประกอบด้วยประธาน 1 คน ผู้แทนส่วนราชการ 1 คน และผู้แทนสหภาพอีก 1 คน)[8] มีหัวหน้าข้าราชการพลเรือน (Head of Home Civil Service) ทำหน้าที่เป็นผู้จัดการฝ่ายบุคคลกลางของนายกรัฐมนตรี และมีสหภาพข้าราชการ (Trade Union) ทำหน้าที่เป็นผู้แทนข้าราชการ
(2) สหรัฐอเมริกา มีคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม (Merit Systems Protection Board) ที่เป็นอิสระจากรัฐบาล ทำหน้าที่ผู้พิทักษ์ระบบคุณธรรม มีผู้อำนวยการสำนักงานบริหารทรัพยากรบุคคล (Office of Personnel Management) ทำหน้าที่ผู้จัดการฝ่ายบุคคลกลางของประธานาธิบดีสหรัฐฯ และมีสหภาพข้ารัฐการทำหน้าที่เป็นผู้แทนเจ้าหน้าที่ของรัฐ[9]
(3) สิงคโปร์ มีคณะกรรมการข้ารัฐการ (Public Service Commission)[10] ทำหน้าที่เป็นผู้พิทักษ์ระบบคุณธรรม มีหัวหน้าสำนักงานข้ารัฐการ (Permanent Secretary of Public Service Division) เป็นผู้จัดการฝ่ายบุคคลของนายกรัฐมนตรี[11] และมีสหภาพข้ารัฐการ (Public Sector Unions) ทำหน้าที่เป็นผู้แทนเจ้าหน้าที่ของรัฐ[12]
(4) มาเลเซีย มีคณะกรรมการข้ารัฐการ (Public Service Commission) ทำหน้าที่พิทักษ์ระบบคุณธรรม[13] มีอธิบดีกรมราชการ (Public Service Department) เป็นผู้จัดการฝ่ายบุคคลของนายกรัฐมนตรี และมีสหภาพข้ารัฐการเป็นผู้แทนเจ้าหน้าที่ของรัฐ[14]
4. ก.กลาง ของไทย
4.1 ก่อนปี พ.ศ. 2471 การบริหารทรัพยากรบุคคลภาครัฐของเรายังไม่มีบรรทัดฐานให้ยึดถือปฏิบัติ ไม่มี ก.กลาง แต่ละส่วนราชการมีระเบียบหรือประเพณีการบรรจุ เลื่อน ย้าย โอน และแต่งตั้ง การรับเงินเดือน วินัย การลงโทษ และการออกจากราชการของตนเอง ดังปรากฎในพระราชกระแสของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวถึงพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระดำรงราชานุภาพที่ทรงเรียบเรียงระเบียบข้าราชการพลเรือนขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายตามรับสั่ง ความตอนหนึ่งว่า (สำนักงาน ก.พ., 2536, น.22)
“อีกประการหนึ่ง การปกครองภายในกระทรวงต่างๆ นั้นไม่มีระเบียบแน่นอนเหมือนกันทุกกระทรวง เห็นว่าควรวางแบบให้คล้ายกันและให้แน่นอนสำหรับข้าราชการพลเรือนทั่วไป เพื่อข้าราชการจะได้รับความยุติธรรมและมีสิทธิหรือหน้าที่ (duty) ต่อราชการเหมือนกันหมดเพื่อให้เปนการสม่ำเสมอ ...”
พระองค์จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2471 โดยยึดหลัก 4 ประการ คือ 1) ให้ข้าราชการพลเรือนอยู่ในระเบียบเดียวกัน (Unified Service) 2) ให้เลือกสรรผู้มีความรู้ความสามารถเข้ารับราชการ 3) ให้ข้าราชการพลเรือนรับราชการเป็นอาชีพ และ 4) ให้ข้าราชการพลเรือนมีวินัย ดังปรากฎในพระราชปรารภในพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว
“โดยที่มีพระราชประสงค์ จะทรงวางระเบียบข้าราชการพลเรือนให้เป็นไปในทางเลือกสรรผู้มีความรู้ความสามารถเข้ารับราชการเป็นอาชีพ ไม่มีกังวลด้วยการแสวงผลประโยชน์ในทางอื่น ส่วนฝ่ายข้างราชการก็ให้ได้รับประโยชน์ยิ่งขึ้น เนื่องจากความสะพรั่งพร้อมด้วยข้าราชการซึ่งมีความสามารถและรอบรู้ในวิถีและอุบายของราชการ กับทั้งหน้าที่และวินัยอันตนพึงรักษาเป็นนิตยกาล”
4.2 แม้พระองค์จะนำแนวทางการปฏิรูประบบราชการพลเรือนของสหราชอาณาจักรมาปรับใช้ แต่โดยที่ประเทศไทยในขณะนั้นอยู่ภายใต้การปกครองระบบสมบูรณาญาสิทธิราช ดังนั้น ก.กลาง ในรูปแบบคณะกรรมการอิสระที่จะทำหน้าที่ผู้พิทักษ์ระบบคุณธรรม ตรวจสอบและถ่วงดุลการใช้อำนาจของพระองค์จึงไม่เหมาะกับสังคมไทยในช่วงเวลาดังกล่าว พระองค์จึงทรงออกแบบ ก.กลาง ให้ทำหน้าที่ของคณะที่ปรึกษา โดยมีองค์ประกอบที่สอดรับกับอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ดังเห็นได้จากรายงานการประชุมกรรมการกลางสำหรับรักษาพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน ครั้งที่ 1 (สำนักงาน ก.พ., น.239-241)
“เมื่อน่าที่ของกรรมการมีลักษณเปน ๒ ประการดังนี้ คณะกรรมการนี้ ก็ควรประกอบขึ้นด้วยกรรมการเปน ๒ จำพวก คือ (๑) จำพวกที่เปนกรรมการโดยตำแหน่ง เช่น (ก) เสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ มีน่าที่รักษาราชการให้ดำเนินไปตามบทบัญญัติที่เกี่ยวด้วยการเงินแผ่นดิน (ข) เสนาบดีกระทรวงธรรมการ มีน่าที่ในการสอบวิชาผู้ที่จะเข้ารับราชการพลเรือน แล กำกับการศึกษาของนักเรียนหลวงในเมืองต่างประเทศ (ค) เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ มีน่าที่ดูแลความสุขทุกข์ของนักเรียนหลวงในเมืองต่างประเทศ แล เปนเจ้าตำราในระเบียบข้าราชการของเมืองต่างประเทศ ศึกษา แล เทียบเคียงระเบียบนั้นๆ เลือกสรรนำมาประกอบดำริห์ที่จะดัดแปลงระเบียบข้าราชการพลเรือน น้อมเข้าหาแบบแผนที่ดียิ่งขึ้นเปนลำดับ (๒) กรรมการอีกจำพวกหนึ่ง คือ ผู้ที่มิได้มีตำแหน่งเปนเจ้าหน้าที่นั้นควรเปนกรรมการสามัญ ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมตั้งขึ้นสำหรับปฤกษา แล ปฏิบัติน่าที่ที่กรรมการทั้งคณะพึงทำ . . .”
ในปี พ.ศ. 2471 “กรรมการรักษาพระราชบัญญัติ” จึงถือกำเนิดขึ้นเป็น ก.กลาง แรกของไทย ซึ่งไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือน เพราะไม่เป็นคณะกรรมการอิสระ แต่เป็นคณะกรรมการที่ปรึกษา (ปฤกษา) ดังคำชี้แจงของพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมพระจันทรบุรีนฤนาถ นายกกรรมการ (ประธาน ก.ร.พ.) ที่มีต่อกรรมการ “การที่จัดดังนี้ย่อมต่างกับ Civil Service Commission ของอังกฤษ โดยที่ว่าของเขากรรมการ ๓ คนนั้น เปนผู้ชำนาญในวิชาบางอย่างซึ่งไม่ได้เปนข้าราชกร เขาตั้งขึ้นจำเพาะสำหรับวางระเบียบการรับคนเข้าทำราชการ . . .” (สำนักงาน ก.พ., น.246)
4.3 นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2471 จนถึงปัจจุบัน เรามีพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนรวมแล้ว 10 ฉบับ แต่มีเพียงฉบับแรกและฉบับเดียวเท่านั้นที่บทบาทของ ก.กลาง ชัดเจน และมีรูปแบบที่สอดคล้องกับบทบาทและบริบทของสังคมไทยในขณะนั้น นอกจากนั้นอีก 9 ฉบับ รวมฉบับปัจจุบันมีความสับสนในบทบาทและความไม่สอดคล้องระหว่างบทบาทและรูปแบบของ ก.กลาง เพราะนับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชมาเป็นระบอบประชาธิปไตยในปี พ.ศ. 2475เป็นต้นมา ก.พ. ในฐานะ ก.กลาง นอกจากมีหน้าที่เป็นที่ปรึกษาและผู้ช่วยของรัฐบาลในด้านบริหารทรัพยากรบุคคลภาครัฐแล้ว ยังมีหน้าที่พิทักษ์ระบบคุณธรรมด้วย การคง ก.พ. ในรูปแบบคณะกรรมการไม่อิสระแบบเดิมจึงสร้างประดักประเดิดหลายประการ เช่น
4.3.1 ความไม่ชัดเจนว่าจะให้ ก.พ. พิทักษ์ระบบคุณธรรม เป็นกลางทางการเมือง ป้องกันการแทรกแซงทางการเมืองหรือไม่? เพราะแม้มีข้อห้ามกรรมการ ก.พ. ผู้ทรงคุณวุฒิดำรงตำแหน่งทางการเมือง แต่กลับให้นายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นข้าราชการการเมือง เป็นประธาน ก.พ. และให้ประธาน ก.พ. เป็นประธานคณะกรรมการคัดเลือกกรรมการ ก.พ. ผู้ทรงคุณวุฒิ (กฎ ก.พ. ว่าด้วยการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อเป็นกรรมการใน ก.พ. พ.ศ. 2551, ข้อ 2) อีกทั้งกรรมการ ก.พ. โดยตำแหน่งล้วนเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรีทั้งสิ้น
4.3.2 ความไม่ชัดเจนว่าจะให้ ก.พ. เป็นผู้จัดการฝ่ายบุคคลของรัฐหรือไม่? เพราะข้อเสนอเชิงนโยบายของ ก.พ. ต้องผ่านคณะรัฐมนตรี ซึ่งสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีจะเวียนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเสนอความเห็นประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีอยู่แล้ว การมีปลัดกระทรวงการคลัง ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ และเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง ไม่มีความจำเป็น เป็นการเพิ่มขั้นตอน ทำให้กระบวนการล่าช้า และเสียค่าเบี้ยประชุมโดยไม่จำเป็น
4.3.3 การให้ ก.พ. เป็นผู้จับผิดตัวเอง (Policing Itself) คือ เป็นทั้งผู้ออกกฎ บังคับใช้กฎ ตีความกฎ ตรวจสอบความถูกต้องเหมาะของกฎ
4.3.4 การกำหนดให้ ก.พ. เป็นองค์คณะพิจารณาการดำเนินทางวินัยและเป็นองค์คณะพิจารณาอุทธรณ์มาโดยตลอดจนถึงปี พ.ศ. 2551 จึงเปลี่ยนเป็นให้คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม (ก.พ.ค.) ซึ่งเป็นอิสระจากฝ่ายบริหาร เป็นผู้พิจารณาอุทธรณ์
4.3.5 การกำเนิด ก.พ.ค. ในปี พ.ศ. 2551 แม้ในหลักการจะเหมาะสม เพราะแยกองค์กรที่มีบทบาทหลักในการพิทักษ์ระบบคุณธรรมออกไปจัดตั้งในรูปคณะกรรมการอิสระ แต่ก็แยกแบบไม่เบ็ดเสร็จเด็ดขาด เพราะยังให้สำนักงาน ก.พ. ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดของฝ่ายบริหาร ทำหน้าที่ฝ่ายธุรการของ ก.พ.ค. อีกทั้งการกำเนิด ก.พ.ค. หลังการจัดตั้งศาลปกครองในปี พ.ศ. 2542 ก็กลายเป็นความซ้ำซ้อนโดยไม่จำเป็น
4.4 ความสับสนในบทบาท และความไม่สอดคล้องต้องกันระหว่างบทบาทกับรูปแบบของก.กลาง ซึ่งเป็นกลจักรสำคัญในการขับเคลื่อนระบบราชการ เป็นสาเหตุหลักหนึ่งของการบริหารทรัพยากรบุคคลภาครัฐที่ไม่ประสบความสำเร็จทั้งในด้านพิทักษ์ระบบคุณธรรมและด้านการสร้างรัฐบาลที่เข็มแข็ง มีระบบราชการที่มีประสิทธิผลและประสิทธิภาพ ดังเห็นได้จาก คะแนนการปลอดจากการเล่นพรรคเล่นพวกของราชการไทยระหว่างปี พ.ศ. 2549-2560 เราเคยสอบผ่านมาเพียงครั้งเดียวในปี พ.ศ. 2550 คือ ได้ 3.55 จากคะแนนเต็ม 7.0 นอกนั้นเราสอบตก และในปีล่าสุด (พ.ศ. 2560) ระบบราชการเราเล่นพรรคเล่นพวกมากกว่าลาวและเวียดนามเสียอีก โดยในกลุ่มอาเซียน ประเทศที่เล่นพรรคเล่นพวกมากสุด คือ ฟิลิปปินส์ กัมพูชา และไทย ตามลำดับ (WEF, 2006; 2007; 2008; 2009; 2010; 2011; 2012; 2013; 2014; 2015; 2016; 2017) จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ปัจจัยที่เป็นปัญหาในการประกอบธุรกิจในประเทศไทย 2 ใน 5 อันดับแรก คือ ความไร้ประสิทธิภาพของระบบราชการและการฉ้อราษฎร์บังหลวง (WEF, 2017, p.286)
4.5 คำถามที่ตามมา คือ แล้วทำไมพัฒนาการของ ก.กลาง ไทย โดยเฉพาะในส่วนของ ก.พ. จึงหยุดนิ่งอยู่ที่ปี พ.ศ. 2471 ทั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมาย เช่น การเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชเป็นระบอบประชาธิปไตยในปี พ.ศ. 2475 การที่พรรคการเมืองเริ่มเข้มแข็งขึ้นจนสามารถจัดตั้งรัฐบาลโดยไม่มีทหารหนุนหลังเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2531 การประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ที่ต้องการสร้างรัฐบาลที่เข้มแข็ง “ระบอบการเมืองมีเสถียรภาพและประสิทธิภาพ”(บวรศักดิ์ อุวรรณโณ, น.33) หรือการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาญาจักรไทย พ.ศ. 2560 ที่ต้องการแก้ปัญหาการมีรัฐบาลเสียงข้างมากเด็ดขาด
คำตอบน่าจะเป็นเพราะปัจจัยหนึ่งใดหรือหลายปัจจัย ดังต่อไปนี้
4.5.1 นับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 ถึง 2517 เรามีรัฐบาลที่จัดตั้งโดยพรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งเพียงครั้งเดียว คือ รัฐบาลของ พล.ร.ต. ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ พรรคแนวรัฐธรรมนูญ[15] แต่ก็เป็นรัฐบาลระยะสั้นๆ ระหว่าง 23 สิงหาคม 2589 ถึง 8 พฤศจิกายน 2490 นอกจากนั้น เป็นรัฐบาลที่จัดตั้งโดยคณะรัฐประหาร เช่น คณะราษฎรและพรรคเฉพาะกิจตัวแทนของทหาร เช่น พรรคเสรีมนังคศิลา พรรคชาติสังคม และพรรคสหประชาไทย (https://th.wikipedia.org/wiki/รายนามนายกรัฐมนตรีไทย [3]) การแทรกแซงการแต่งตั้งข้าราชการประจำโดยฝ่ายการเมืองจึงไม่เด่นชัดและไม่ใช่ปัญหาหลักของราชการไทยในขณะนั้น
4.5.2 พอถึงช่วงปี พ.ศ. 2518 - 2519 ที่เราเริ่มมีรัฐบาลจากการเลือกตั้งที่นำโดย ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช พรรคประชาธิปัตย์ และ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช พรรคกิจสังคม สลับกันเป็นนายกรัฐมนตรี สำนักงาน ก.พ. ก็อยู่ระหว่างการปฏิรูประบบตำแหน่ง โดยเปลี่ยนจากระบบจำแนกตำแหน่งตามชั้นยศ (Rank Classification) เป็นระบบจำแนกตำแหน่งตามหน้าที่ความรับผิดชอบ (Position Classification) ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเป็นไปอย่างราบรื่น ทั้งๆ ที่โดยหลักการ ก.กลาง แบบคณะกรรมการไม่น่าจะขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผลสำเร็จนี้ น่าจะเป็นเพราะบารมีเฉพาะตัว (Charismatic) ของ พ.อ. จินดา ณ สงขลา ซึ่งเป็นเลขาธิการ ก.พ. ในขณะนั้น ซึ่งนอกจากจะมีอาวุโสสูงเพราะดำรงตำแหน่งเลขาธิการ ก.พ. มาต่อเนื่องยาวนานมาถึง 14 ปีกว่าแล้ว ยังเป็นบุตรของมหาอำมาตย์เอก เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ อดีตประธานองคมนตรีด้วย ความสำเร็จของการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทำให้ ก.พ. และสำนักงาน ก.พ. มองไม่เห็นปัญหาของความไม่สอดคล้องระหว่างบทบาทและรูปแบบของ ก.กลาง
4.5.3 ความสำเร็จของการเปลี่ยนแปลงระบบตำแหน่งดังกล่าวกลายเป็นกรงขัง (Prisoner of Its Own Success) ทำให้ ก.พ. และสำนักงาน ก.พ. ติดกับระบบตำแหน่ง และให้ความสำคัญกับการบริหารตำแหน่งมากกว่าการบริหารคน ระบบตำแหน่งมากกว่าระบบบริหารทรัพยากรบุคคลภาครัฐ และมองไม่เห็นปัญหาความสัมพันธ์เชิงปฏิปักษ์ระหว่างบทบาทและรูปแบบของ ก.กลาง
4.5.4 ฝ่ายการเมืองและผู้บริหารสำนักงาน ก.พ. พอใจกับการมี ก.กลาง แบบคณะกรรมการไม่อิสระ เพราะผู้มีอำนาจแต่งตั้ง (นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี และ/หรือปลัดกระทรวง แล้วแต่กรณี) สามารถชักใยอยู่เบื้องหลังและหากมีปัญหาการแต่งตั้งข้าราชการระดับสูงก็ไม่ต้องรับผิดชอบเพราะอ้างได้ว่าเป็นการพิจารณาของคณะกรรมการ ไม่ใช่ของผู้มีอำนาจแต่งตั้งเพียงผู้เดียว ขณะเดียวกัน ผู้บริหารสำนักงาน ก.พ. ก็ชอบที่จะอยู่ภายใต้ร่มเงาของ ก.พ. ซึ่งเป็นเขตปลอดภัยและคุ้นเคยมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2471 เพราะสามารถอ้างเหตุของการไม่สามารถขับเคลื่อนการปฏิรูประบบบริหารทรัพยากรบุคคลภาครัฐได้อย่างมีประสิทธิผลและประสิทธิภาพได้ว่า เพราะสำนักงาน ก.พ. เป็นเพียงฝ่ายเลขานุการ ไม่มีอำนาจในตัวเอง
4.5.5 การจะให้สำนักงาน ก.พ. เสนอ ให้ทบทวนบทบาทและรูปแบบของ ก.พ. โดยต้องเสนอผ่าน ก.พ. ไม่สอดคล้องกับอำนาจหน้าที่และระเบียบแบบแผนของราชการ เพราะสำนักงาน ก.พ. เป็นเพียงฝ่ายเลขานุการของ ก.พ. ผู้มีอำนาจหน้าที่ที่แท้จริงตามกฎหมาย คือ ก.พ.
5. สรุป
5.1 การมีอยู่ของ ก.กลาง สะท้อนพัฒนาการของค่านิยมทางการบริหารทรัพยากรบุคคลภาครัฐในแต่ละยุคสมัยของแต่ละสังคม ก.กลาง มี 4 รูปแบบ คือ ไม่มี ก.กลาง คณะกรรมการที่อิสระและไม่อิสระจากฝ่ายบริหาร หน่วยงานที่หัวหน้าหน่วยงานขึ้นตรงกับฝ่ายบริหาร และแบบผสม
5.2 ก.กลาง จะทำหน้าที่ตามบทบาทหรือพันธกิจได้อย่างมีประสิทธิผลและประสิทธิภาพก็ต่อเมื่อรูปแบบการจัดตั้ง ก.กลาง สอดคล้องกับบทบาทหลักของ ก.กลาง นั้นๆ อย่างไรก็ตาม เงื่อนไขดังกล่าวแม้เป็นสิ่งจำเป็นแต่ไม่เพียงพอ บริบททางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม จะต้องเอื้อต่อการปฏิบัติหน้าที่ของ ก.กลาง ตามบทบาทนั้นๆ ด้วย
5.3 กรรมการรักษาพระราชบัญญัติ เป็น ก.กลาง คณะแรกของไทย แม้จะเป็นคณะกรรมการไม่อิสระ ที่ไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือน แต่ก็สอดคล้องกับบทบาทของตนเองและบริบทของไทยในขณะนั้น แต่การคงรูปแบบเดิมไว้เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน เป็นความผิดพลาดและเป็นสาเหตุหนึ่งของความล้มเหลวของ ก.กลาง ทั้งในบทบาทของผู้พิทักษ์ระบบคุณธรรมและบทบาทของผู้จัดการฝ่ายบุคคลของรัฐบาล
5.4 ปัจจุบัน ระบบราชการไทยเผชิญปัญหาที่ทับซ้อนกันหลายมิติในเวลาเดียวกัน ทั้งมิติของการเล่นพรรคเล่นพวก ฉ้อราษฎร์บังหลวง ไม่เป็นไปตามหลักการคุณธรรม มิติของการไม่มีประสิทธิผล ไม่มีประสิทธิภาพ ไม่ยืดหยุ่นคล่องตัว และไม่คุ้มค่า และมิติของการไม่ตอบสนองความต้องการทางการเมืองและสังคม จึงมีความจำเป็นต้องทบทวนบทบาทและรูปแบบของ ก.กลาง ในปัจจุบัน เพื่อขับเคลื่อนการบริหารทรัพยากรบุคคลภาครัฐให้เกิดความสมดุลในทุกมิติ ก.กลาง รูปแบบเดียวไม่อาจแก้ปัญหาที่ซับซ้อนและทับซ้อนดังกล่าวได้ จำเป็นต้องมี ก.กลาง ในรูปแบบที่หลากหลาย และมีหลาย ก.กลาง โดยแต่ละ ก.กลาง ต้องมีรูปแบบที่สอดคล้องกับบทบาทของตน ทำหน้าที่ตรวจสอบและถ่วงดุลซึ่งกันและกัน
อย่างไรก็ตาม การปรับเปลี่ยน ก.กลาง อย่างเดียวไม่เพียงพอ จำเป็นต้องปฏิรูประบบการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม เพื่อให้เอื้อต่อการพัฒนาระบบบริหารทรัพยากรบุคคลภาครัฐของเราด้วย
----------------
บรรณานุกรม
พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2471
พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2476
พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2479
พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2482
พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2485
พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2495
พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2497
พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2518
พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535
พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551
กฎ ก.พ. ว่าด้วยการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อเป็นกรรมการใน ก.พ. พ.ศ. 2551
บวรศักดิ์ อุวรรณโณ (2544), เจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ (กรุงเทพฯ: สถาบันพระปกเกล้า)
สำนักงาน ก.พ. (2536), พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวกับระบบข้าราชการพลเรือน (กรุงเทพฯ: ประชาชน)
Congress of the Philippines (1987), the Constitution of the Republic of the Philippines
Japanese National Diet (1947), National Public Service Act of 1947
Parliament of Malaysia (1957), Federal Constitution of Malaysia
Parliament of the Republic of Singapore (1965), the Constitution of the Republic of Singapore
Parliament of the Republic of Singapore (1941), Trade Unions Act of 1941
UK Parliament (1854), Report on the Organisation of the Permanent Civil Service (Northcote—Trevelyan Report) (London: HMSO, 1854).
UK Parliament (1968), The Civil Service, Vol. 1 Report of the Committee 1966–68 (Fulton Report), Cmnd. 3638 (London: HMSO, 1968).
UK Parliament (2010), Constitutional Reform and Governance Act of 2010
UK Parliament (2016), United Kingdom Civil Service Management Code
US Congress (1883), The Pendleton Act of 1883
Charles H. Levine and others (1990), Public Administration: Challenges, Choices, Conse-quences, (Illinois: Scott Foresman)
John Wilson (2004), New Management of Public Services: The United Kingdom Experience, Viešoji Politika Ir Administravimas, 2004 (7), 49-59 Special Notes
Geoffrey Shepherd, Civil Service Reform in Developing Countries: Why Is It Going Badly? (2003), in 11th International Anti-Corruption Conference 25-28 May 2003, Seoul, Republic of Korea, Panel: Depoliticizing the Civil Service, Tuesday 27 May, 2003
OECD (2005), “Modernising Government: the Way Forward”, Paris: OECD Publications
Office of the Civil Service Commission (1986), Comparative Studies of ASEAN Civil Services for Joint Efforts, (Bangkok: Teeranusorn Press)
O. Glenn Stahl, Public Personnel Administration, 8th edn (New York: Harper & Row)
Owen E. Hughes (2012), Public Management & Administration: An Introduction, 4th edn (Basingstoke: Palgrave MacMillan)
Richard A. Chapman (2004), the Civil Service Commission 1855 – 1951, London and New York: Routledge
Robert H. Elliott (1985), Public Personnel Administration: A Values Perspective, (Reston: Reston Publishing)
Stephen E. Condrey (2012), ‘Public Human Resource Management: How We Get Where We Are Today’, in Norma M. Riccucci (ed.), Public Personnel Management: Current Concerns, Future Challenges, 5th edn (Longman)
http://civilservicecommission.independent.gov.uk/civil-service-recruitment-2/ [2], retrieved on April 15, 2018
https://www.gov.uk/government/organisations/civil-service-board/about [1], retrieved onApril 15, 2018
http://www.mpm.go.kr/english/ [4], retrieved on April 30, 2018
http://www.mom.gov.sg/employment-practices/trade-unions/Pages/default.aspx [5], retrieved on May 12, 2018
https://www.psd.gov.sg/ [6], retrieved on May 12, 2018
https://th.wikipedia.org/wiki/รายนามนายกรัฐมนตรีไทย [3], retrieved May 18, 2018: 10.30 am
[1] Civil Service Commission ของสหราชอาณาจักรเป็น ก.กลาง ชุดแรกของโลก ได้รับการจัดตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1854(พ.ศ. 2398) มีกรรมการเพียง 3 คน แต่กฎหมายปัจจุบัน (Constitutional Reform and Governance Act of 2010) กำหนดให้มีกรรมการไม่น้อยกว่า 7 คน ซึ่งสมเด็จพระราชินีเป็นผู้โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งตามคำแนะนำของ Minister for the Civil Service (ซึ่งก็คือนายกรัฐมนตรี)
[2] ใบรับรองว่าบุคคลดังกล่าวมีอายุ สุขภาพ บุคลิกภาพ สัญชาติ ตลอดจนความรู้ความสามารถตรงกับคุณสมบัติที่ต้องการสำหรับตำแหน่ง ผู้ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประจำที่มีสิทธิรับบำนาญต้องมีใบรับรองดังกล่าว (Richard A. Chapman, 2004, p.66)
[3] ผู้ไม่มีใบรับรองจะไม่มีสิทธิรับบำนาญ
[4] เป็นที่น่าสังเกตว่า สหรัฐฯ นำแนวทางการปฏิรูปของสหราชอาณาจักรมาใช้เกือบทั้งหมด ทั้งเรื่อง ก.กลาง การสอบแข่งขันเข้ารับราชการ การทดลองงาน เป็นต้น ยกเว้นเรื่องการจำแนกตำแหน่งเป็นชั้นๆ และการจ้างงานตลอดชีพ (Career Based System) ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะไม่สอดคล้องกับวัฒนธรรมคนอเมริกันที่ชอบย้ายถิ่น
[5] สหรัฐฯ ไม่มีสถาบันพระมหากษัตริย์ ให้ยึดถือ กรรมการยังคงรู้สึกผูกพันกับพรรคการเมืองที่ตนสังกัดอยู่
[6] ในช่วงปี ค.ศ. 1998-1999 ก.กลาง ของเกาหลีใต้เป็นแบบคณะกรรมการอิสระ ต่อมาในปี ค.ศ. 2003 จนถึงปัจจุบันเปลี่ยนเป็นแบบหน่วยงานขึ้นตรงฝ่ายบริหาร โดยระยะแรกหน่วยงานขึ้นตรง คือ Ministry of Public Administration and Security ต่อมาในปี ค.ศ. 2014 ก็เปลี่ยนไปให้ Ministry of Personnel Management เป็นผู้รับผิดชอบแทน (http://www.mpm.go.kr/english/ [4] Retrieved on April 30, 2018)
[7] อย่างไรก็ตาม ข้าราชการญี่ปุ่นในปัจจุบันล้วนเกิดหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงไม่มีความรู้สึกร่วมของผู้แพ้สงคราม อีกทั้งในช่วงหลัง มีกรณีอื้อฉาวทั้งเรื่องการรับสินบน การคุมคามทางเพศของข้าราชการระดับสูงอยู่บ่อยครั้ง จึงเกิดการปรับเปลี่ยนกระบวนการให้ฝ่ายการเมืองเข้ามามีบทบาทในการแต่งตั้งข้าราชการระดับสูงมากขึ้น
[8] United Kingdom Civil Service Management Code, Section 12.1.7
[9] สหภาพแรงงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐในสหรัฐฯ มีหลายแห่ง เช่น American Federation of Government Employees และ National Federation of Federal Employees
[10] Constitution of the Republic of Singapore, Part IX The Public Service
[11] https://www.psd.gov.sg/ [6]
[12] แม้ว่ามาตรา 28 (3) ของ Trade Unions Act 1941 (revised edition 2004) จะห้ามเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน แต่มาตรา 28 (4) ก็ให้อำนาจประธานาธิบดีสิงคโปร์ในการยกเว้น ดังกรณีของสหภาพข้ารัฐการ Amalgamated Union of Public Employees และสหภาพข้ารัฐการอื่นอีกจำนวนมาก (http://www.mom.gov.sg/employment-practices/trade-unions/Pages/default.aspx [5])
[13] Federal Constitution of Malaysia, Article 139
[14] 12 มาเลเซียมีสหภาพแรงงานระดับชาติที่มีเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นสมาชิก 2 แห่ง คือ Malaysian Trades Union Congress และ The Congress of Unions of Employees in the Public and Civil Service
[15] ไม่นับรวมรัฐบาลของนายควง อภัยวงศ์ พรรคประชาธิปัตย์ ที่มติคณะทหารแห่งชาติสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรี (https://th.wikipedia.org/wiki/รายนามนายกรัฐมนตรีไทย [3], retrieved May 18, 2018: 10.30 am)
| ['บทความ', 'การเมือง', 'สังคม', 'องค์กรกลางบริหารทรัพยากรบุคคลภาครัฐมี', 'วิสูตร\xa0 ประสิทธิ์ศิริวงศ์'] |
https://prachatai.com/print/79575 | 2018-11-12 21:18 | 'องค์กรแรงงานสากล' ล่าชื่อต้านทำลายสหภาพแรงงานใน บ.มิตซูบิชิฯ ประเทศไทย | อินดัสทรีออลล์ฯ และ เลเบอร์สตาร์ต ออกแคมเปญลงนามต้านละเมิดสิทธิและทำลายสหภาพแรงงานใน บ.มิตซูบิชิฯ ชี้ยังขัดกับนโยบายด้วยความยั่งยืนของการจัดกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิกเกมส์ 2020 ที่เป็นพาร์ทเนอร์ร่วมจัด เผยมีการกดดันให้ร่วมฝึกในค่ายทหาร โดย บ.ให้เหตุผลว่า “ทำไปเพื่อฝึกระเบียบและวินัย” อีกด้วย
ภาพกิจกรรมที่ให้ผู้นำและสมาชิกสหภาพแรงงานเข้าฝึกในค่ายทหาร โดยบริษัทให้เหตุผลว่า “ทำไปเพื่อฝึกระเบียบและวินัย” ; ดูรายละเอียดการล่ารายชื่อ http://www.industriall-union.org/thailand-olympic-2020-partner-mitsubishi-electric-humiliates-workers [1]
12 พ.ย.2561 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า อินดัสทรีออลล์ โกลบอล ยูเนียน (IndustriALL Global Union) สหพันธ์แรงงานสากลซึ่งมีสมาชิก 50 ล้านคน จากกว่า 140 ประเทศ ได้ร่วมกับ เลเบอร์สตาร์ต (LabourStart) ซึ่งเป็นเว็บไซต์ด้านกิจกรรมรณรงค์และการต่อต้านการละเมิดสิทธิแรงงาน ในการออกแคมเปญ[1]เพื่อเชิญชวนให้มีการลงนามต่อต้านการละเมิดสิทธิและการทำลายสหภาพแรงงานไปถึง Norikazu Ishikawa ผู้อำนวยการบริหารและ ประธาน บริษัท มิตซูบิชิ อีเล็คทริค คอนซูมเมอร์ โปรดักส์ (ประเทศไทย) หลังจากเกิดข้อพิพาทแรงงานซึ่งนำมาสู่การปิดงานในช่วงเดือนมกราคม 2561 จนข้อพิพาทสิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 29 มกราคมที่ผ่านมา
แคมเปญระบุด้วยว่า บริษัทฯ ได้ใช้วิธีการต่าง ๆ ในการกดดัน และทำให้ผู้นำรวมทั้งสมาชิกสหภาพ ฯ ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเจรจาข้อเรียกร้องและกิจกรรมของสหภาพ ฯ ในช่วงที่ถูกปิดงาน เกิดความเครียดและอับอายรวมทั้งเกิดความกดดันในการมีส่วนร่วมกับกิจกรรมของสหภาพฯ ซึ่งรวมถึงการบังคับให้ผู้นำและสมาชิกเหล่านี้ต้องทำการฝึกในค่ายทหาร โดยบริษัทให้เหตุผลว่า “ทำไปเพื่อฝึกระเบียบและวินัย”
นายจ้างมิตซูบิชิฯ ปิดงานงดจ้าง หลังเจรจาปรับสภาพการจ้างไม่คืบ คนงานจ่อไปทำเนียบ [2]
เจรจาพิพาทแรงงาน มิตซูบิชิฯ ครั้งที่ 11 ยังไม่คืบนัดใหม่ ผวจ.ชลบุรี นั่งหัวโต๊ะ [3]
'สมานฉันท์แรงงาน' ร้องทุกฝ่ายเร่งหาแนวทางแก้ไขปัญหาข้อพิพาทแรงงานมิตซูบิชิ [4]
เมื่อ 4 ต.ค.ที่ผ่านมา เว็บไซต์ของอินดัสทรีออลล์ได้ลงบทความ[2]พูดถึงประเด็นความขัดแย้งซึ่งนำมาสู่ข้อพิพาท การปิดงาน และการมุ่งทำลายสหภาพฯ หลังการปิดงาน เมื่อปลายปี 2560 ทั้งบริษัท ฯ และสหภาพฯ ได้มีการยื่นข้อเรียกร้องต่อกัน แต่ตกลงกันไม่ได้ โดยข้อเรียกร้องที่เป็นประเด็นปัญหามากที่สุด คือ ข้อที่บริษัทต้องการให้มีการเปลี่ยนโครงสร้างการปรับเงินเดือนจากขึ้นเป็นเปอร์เซ็นต์ กลายเป็นเงินขึ้นอัตราคงที่ปีละ 400 บาท บวกเพิ่มด้วยหลักเกณฑ์ที่ สหภาพฯ เห็นว่าไม่ชัดเจน และการขอเปลี่ยนการทำงานจากสองกะเป็นสามกะ ซึ่งบริษัทอ้างว่าเป็นข้อเรียกร้องที่กำหนดมาจากสำนักงานใหญ่ที่ญี่ปุ่นและไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ต่อมาบริษัทได้ปิดงานสมาชิกสหภาพฯ ร่วม 1800 คน ในวันที่ 29 ธ.ค. 2560 รวมทั้งประกาศงดค่าจ้างและสวัสดิการทั้งหมด อีกทั้งสวัสดิการการรักษาพยาบาลและเงินประกันชีวิต ต่อมาคืนค่าจ้างและสวัสดิการการรักษาพยาบาลให้กับเฉพาะคนงานที่ท้องก่อนที่ทั้งสองฝ่ายจะตกลงกันได้ในวันที่ 29 ม.ค. 2561 โดยทางสหภาพฯ ยอมตามข้อเรียกร้องของบริษัทเกือบทั้งหมด รวมทั้งยอมให้มีเงินขึ้นในอัตราคงที่และเพิ่มกะการทำงานเป็นสามกะ
หลังจากข้อเรียกร้องสิ้นสุด และบริษัทมีพันธะต้องเรียกคนงานทั้งหมดกลับเข้าทำงานตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ 2518 แต่บริษัทกลับประกาศว่าจะทยอยเรียกคนงานที่ถูกปิดงานกลับเข้าทำงาน เนื่องจากบริษัทต้องมีการปรับสภาพความพร้อมในโรงงานก่อนที่จะรับกลับ อย่างไรก็ตามในช่วงนี้บริษัทได้มีการประกาศรับสมัครคนงานใหม่เข้ามาทำงานอยู่เป็นระยะ รวมทั้งสร้างเงื่อนไขให้กับคนงานที่เคยถูกปิดงาน เช่น การเรียกสัมภาษณ์เป็นรายบุคคลและตั้งคำถามชี้นำให้คนงานยอมรับว่าถูกผู้นำสหภาพฯ ยั่วยุเพื่อกล่าวให้ร้ายบริษัทในช่วงที่ถูกปิดงาน การให้พนักงานที่ใช้สิทธิในการเจรจาต่อรองร่วมตามกฎหมายเขียนจดหมายเพื่อขอโทษบริษัท รวมทั้งให้คนงานเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อ "สร้างระเบียบวินัยและปรับทัศนคติ" ไม่ว่าจะเป็น การฝึกที่ค่ายทหาร 4 วัน การถูกฝึกอบรมจากบริษัทด้านการบริหารบุคคลเพื่อให้สำนึกผิดเป็นเวลา 5 วัน การทำความสะอาดบ้านพักคนชรา 1วัน และการเข้าร่วมกิจกรรมที่วัดอีก 3 วัน โดยถึงแม้คนงานที่ไม่ได้กลับเข้าทำงานจะได้รับค่าจ้างที่เป็นเงินเดือน แต่ก็ต้องประสบความยากลำบากในการดำรงชีวิตเนื่องจากไม่ได้รับสวัสดิการและเงินพิเศษต่าง ๆ ซึ่งได้จากการเข้าทำงานในโรงงาน
รายงานยังระบุอีกว่า แม้คนงานที่รอกลับเข้าทำงาน จะยอมเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ เนื่องจากกลัวว่าบริษัทจะใช้เป็นข้ออ้างในการไม่รับกลับ แต่บริษัทก็เลิกจ้างคนงาน 24 คนที่เข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ เหล่านี้ โดยปัจจุบันมีคนงาน 48 คน ซึ่งเป็นกรรมการ หรือ อดีตกรรมการสหภาพฯ หรือเป็นสมาชิกสหภาพฯ ที่มีบทบาทในการเจรจาต่อรองร่วมที่ผ่านมา แต่ยังไม่ได้กลับเข้าทำงาน และบริษัทได้ยื่นข้อเรียกร้องกับคนงานกลุ่มนี้ เพื่อขอให้บริษัทมีอำนาจในการกำหนด ค่าจ้าง สวัสดิการ และสภาพการจ้างเพียงฝ่ายเดียว รวมทั้งมีอำนาจในการสั่งให้คนงานเหล่านี้ไปทำงานที่ไหนก็ได้ในประเทศที่ บริษัท มิตซูบิชิ อิเล็คทริค คอนซูมเมอร์ โปรดักส์ (ประเทศไทย) มีโรงงาน สำนักงาน หรือ มีบริษัทคู่ค้าอยู่ ส่วนคนงานที่ได้กลับเข้าทำงานแล้ว บริษัทใช้วิธียื่นข้อเรียกร้องเป็นรายบุคคล(โดยไม่ผ่านสหภาพฯ) รวมทั้งแจ้งว่า ถ้าพนักงานเหล่านี้เข้าร่วมกิจกรรมกับสหภาพ ฯ ในภายหลัง บริษัทจะเรียกคืน เงินขึ้น โบนัส และสวัสดิการทั้งหมดกลับคืนมา
ทั้งนี้ แคมเปญของ อินดัสทรีออลล์ โกลบอล ยูเนียน และ เลเบอร์สตาร์ต ได้มีการระบุว่า สิ่งที่บริษัทกระทำ เป็นการละเมิดมาตรฐานสากลด้านสิทธิสหภาพแรงงานและเสรีภาพการสมาคมอย่างชัดเจน นอกจากนี้ การละเมิดสิทธิแรงงานรวมทั้งการใช้วิธีกดดันเพื่อให้คนงานเกิดความเครียดและอับอาย ยังเป็นการขัดกับนโยบายด้วยความยั่งยืน ของการจัดกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิกเกมส์ 2020 ซึ่งบริษัท มิตซูบิชิ อิเล็คทริค เป็น พาร์ทเนอร์ร่วมในการจัดอยู่
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม :
[1] http://www.industriall-union.org/thailand-olympic-2020-partner-mitsubishi-electric-humiliates-workers?utm_source=Newsletters+in+english&utm_campaign=f72dc5cbc4-EMAIL_CAMPAIGN_2018_11_08_02_59&utm_medium=email&utm_term=0_65751b77d5-f72dc5cbc4-19096281 [5]
[2] http://www.industriall-union.org/olympic-2020-partner-mitsubishi-electric-humiliates-workers-in-thailand [6]
| ['ข่าว', 'เศรษฐกิจ', 'แรงงาน', 'สิทธิมนุษยชน', 'คุณภาพชีวิต', 'บริษัท มิตซูบิชิ อีเล็คทริค คอนซูมเมอร์ โปรดักส์', 'อินดัสทรีออลล์ โกลบอล ยูเนียน', 'เลเบอร์สตาร์ต', 'สหภาพแรงงาน', 'โอลิมปิก', 'ค่ายทหาร'] |
https://prachatai.com/print/79577 | 2018-11-13 02:09 | นักเขียนการ์ตูนมาเลเซีย 'ซูนาร์' ฟ้องเอาผิดตำรวจยึดผลงานจัดแสดง | นักเขียนการ์ตูนชาวมาเลเซียผู้ใช้นามปากกา "ซูนาร์" ฟ้องร้องเอาผิดตำรวจที่เคยยึดงานศิลปะของเขาจากการจัดนิทรรศการเมื่อ 2 ปีก่อน โดยงานศิลปะที่ถูกยึดไป 10 รูปภาพ เป็นงานที่มีเนื้อหาเชิงเหน็บแนมอดีตนายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัค และภรรยา
ที่มา: Malaysiakini
นักเขียนการ์ตูนมาเลเซีย ซูคิฟลิ อัลวาร์ อุลาฮัค หรือที่รู้จักในนาม "ซูนาร์" ฟ้องร้องกรณีตำรวจมาเลเซียยึดผลงานของเขา 10 ชิ้น ในงานจัดแสดงที่รัฐปีนังเมื่อปี 2559 โดยที่ซูนาร์เรียกร้องให้มีการคืนผลงานให้กับเขาพร้อมเรียกค่าชดเชย 380,000 ริงกิต (ราว 3 ล้านบาท) รวมถึงขอให้ทางตำรวจมีการขอโทษเขาต่อหน้าสาธารณะด้วย
เหตุการณ์ที่กลายเป็นจุดฟ้องร้องในครั้งนี้คือเหตุการณ์บุกจับกุมที่เกิดในงานมหกรรมวรรณกรรมจอร์จทาว์น 2016 ซึ่งจัดขึ้นที่ไอซีทีมอลล์ ที่ปีนัง โดยงานศิลปะที่เขาจัดแสดงเป็นงานที่ส่วนใหญ่มีเนื้อหาเหน็บแนมผู้นำมาเลเซียสมัยนั้นคือ นาจิบ ราซัค และภรรยาของเขา
ซูนาร์ยื่นฟ้องร้องเรื่องนี้ในปีนัง โดยมีทนายความคือเซซิล ราเจนดรา คำฟ้องของซูนาร์ระบุว่าการก่อกวนงานจัดแสดงโดยตำรวจทำให้เขาเกิดความเจ็บปวด อับอาย เป็นทุกข์ และสูญเสียรายได้ นอกจากนี้ยังมีการระบุถึงรายชื่อตำรวจฝ่ายสืบสวนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการยึดรูปของเขาด้วย
ในข้อความฟ้องร้องระบุอีกว่า "การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำด้วยความพยาบาทโดยไม่มีเหตุผลหรือหลักการที่ชอบธรรม ... นอกจากนี้สิ่งที่เป็นเป้าหมายการและสาระสำคัญที่มีอยู่ในงานศิลปะของโจกท์ถูกเปิดเผยออกมาหมดแล้วและถูกตัดสินให้มีความชอบธรรมแล้วนับตั้งแต่ถูกบุกจับในครั้งนั้น"
ในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีกลุ่มสมาชิกยุวชนพรรคอัมโนบุกโจมตีซูนาร์และงานแสดงของเขาก่อนหน้าการบุกจับกุม โดยที่ไม่มีการดำเนินการใดๆ ต่อกลุ่มยุวชนที่ก่อเหตุนี้เลย และไม่นานหลังจากเหตุโจมตีตำรวจก็ยึดงานศิลปะของซูนาร์ไปและจับกุมตัวเขา
ซูนาร์บอกว่าเขาเคยเรียกร้องขอให้ตำรวจคืนงานศิลปะให้กับเขาหลายครั้งแล้ว
เรียบเรียงจาก
Zunar sues police, gov't for raiding his exhibition, Malaysiakini [1], 13-11-2018
| ['ข่าว', 'วัฒนธรรม', 'ต่างประเทศ', 'ซูคิฟลิ อัลวาร์ อุลาฮัค', 'ซูนาร์', 'การฟ้องกลับ', 'การเรียกร้องค่าชดเชย', 'การยึดผลงาน', 'ปีนัง', 'มาเลเซีย'] |
https://prachatai.com/print/79578 | 2018-11-13 12:20 | ใบตองแห้ง: Elite เสื่อมหนีตรวจสอบ | ดูเหมือนผมจะเป็นเสียงข้างน้อยในข้างน้อย ที่เห็นใจกรรมการสภามหาวิทยาลัย กรรมการองค์การมหาชน ชิงลาออกหนีการแจ้งบัญชีทรัพย์สิน ขณะที่กระแสสังคมไล่บี้ ไม่ให้ใช้ ม.44 แก้กฎหมาย หรือชะลอการบังคับใช้ เพื่อให้กรรมการเหล่านี้ได้อยู่ต่อ
ย้ำอีกที การบังคับให้ผู้ดำรงตำแหน่งต้องแจ้งบัญชีทรัพย์สิน ทั้งบุตรและคู่สมรส รวมถึงไม่จดทะเบียน แจ้งผิดอาจติดคุก เป็นมาตรการจู้จี้จุกจิก และเป็นแค่ภาพลวงตา ให้เห็นว่าประเทศนี้มี “ยาแรง” ไว้ปราบโกง (รวมทั้งให้เห็นว่า ป.ป.ช.มีงานทำ) ทั้งที่ความเป็นจริง แทบไม่ช่วยอะไร ที่เอาผิดกันมากมาย โดยเฉพาะนักการเมืองท้องถิ่น ก็แค่ข้อหาแจ้งเท็จ จงใจไม่แจ้ง แต่ไม่ได้พิสูจน์ทุจริตอะไร ในขณะที่คนโกงจำนวนมาก ไม่สามารถจับได้
มันจึงเป็นการเอาเป็นเอาตายกับมาตรการไร้สาระ ที่มือกฎหมายคณะรัฐประหารสร้างขึ้น เพื่อสร้างภาพว่าเห็นไหม เราปราบโกงจริงจังแล้วไง เพิ่มข้อห้ามข้อกำหนดมากมาย เพิ่มอำนาจให้องค์กรเทวดาทั้งหลาย ที่จะมาไล่บี้เอาผิดนักการเมือง โดยสังคมตื้นเขินก็ชอบใจ ไม่ทันคิดว่าเทวดาไม่มีจริง มีแต่พวกที่ตั้งกันเองจากรัฐประหารและคนชั้นนำแล้วอ้างว่าเป็นคนดี
ทัศนะประชาธิปไตยจึงไม่สนับสนุน “ยาแรง” บ้าจี้ เพิ่มอำนาจ สร้างภาพขึงขัง แต่ต้องสร้างมาตรการให้สังคมตรวจสอบ เช่น เปิดเผยข้อมูลข่าวสาร การจัดซื้อจัดจ้าง การให้อนุญาตต่าง ๆ รวมถึงกระจายอำนาจตัดสินใจ ให้ท้องถิ่นหรือระดับล่างถ่วงดุลอำนาจระดับสูงได้
การแจ้งบัญชีทรัพย์สิน ที่จริงควรเป็นแค่ “มารยาท” ของผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญ ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีโทษอาญาก็ได้ เพราะถ้าถูกจับโกหก จะแบกหน้าอยู่ในตำแหน่งได้อย่างไร ถ้าการปกปิดนั้นส่อว่าทุจริต ป.ป.ช.ค่อยไล่บี้ แต่มาตรการที่ใช้อยู่คือกวาดหมด กสทช. กกพ. องค์กรอิสระ มีอำนาจชี้เป็นชี้ตายเงินเดือนหลายแสน กับกรรมการสภามหาวิทยาลัยได้เบี้ยประชุมสองพัน ต้องแจ้งบัญชีเสมอหน้ากัน
อย่างไรก็ตาม การที่สังคมไล่บี้ ไม่ยอมให้มีการผ่อนผัน ก็เข้าใจได้ สังคมไทยมาถึงจุดที่ประชาชนทั่วไปเบื่อหน่าย elite หรืออภิสิทธิ์ชน ทั้งในระบบราชการ องค์กรสถาบันของรัฐ ที่เมื่อก่อนเคยยกย่องกันว่าสูงส่ง
ไม่ว่าจะเป็นสถาบันมหาวิทยาลัย หรือตุลาการ ที่นอกจาก “บ้านพักศาล” ยังจะออกกฎหมายให้ได้เบี้ยประชุม จนเกิดดราม่าว่าเงินเดือนสูง เงินประจำตำแหน่งสูง มีค่าตอบแทนรถประจำตำแหน่ง มีบ้านพักสวย แล้วยังต้องได้เบี้ยประชุมอีกหรือไร
สถาบันมหาวิทยาลัย ในอดีตเคยเป็นที่ยกย่องของสังคม เป็นสถาบันวิชาการ เมื่อก่อนอยู่บนหอคอยงาช้าง ต่อมาก็มีบทบาททางสังคม แต่ระยะหลังก็ตกต่ำในสายตาประชาชน เพราะกลายเป็นแหล่งผลประโยชน์ ทำมาค้าหลักสูตร ขายสัมมนา อบรม รับจ้างทำวิจัยให้เอกชน ฯลฯ ออกนอกระบบก็ตั้งเงินเดือนค่าตอบแทนหลายแสน อธิการบดีบางคนแจ้งบัญชีตอนเป็น สนช.มีรายได้ปีละ 11 ล้าน ชาวบ้านตาค้างไปตาม ๆ กัน
พูดง่าย ๆ คืออธิการบดี คณบดี นายกสภา กรรมการสภามหาวิทยาลัย ในสายตาสังคมเป็น elite พอพวกท่านลาออก “หนีการตรวจสอบ” ไม่ยอมให้ตรวจบัญชีทรัพย์สินเหมือนนายกเทศมนตรีตำบลคอกนา กระแสสังคมก็รับไม่ได้ ไม่ว่าอ้างเหตุผลอย่างไรคนก็ไม่ฟัง
ซ้ำร้าย ผู้เฒ่ามีชัยดันลาออก ทั้งที่เป็นประธาน กรธ. ร่างรัฐธรรมนูญเอง ร่างกฎหมาย ป.ป.ช.เอง กลับมาหนีการตรวจสอบเสียเอง ก็ไม่รู้จะชี้แจงชาวบ้านอย่างไร (อธิบายอย่างผมก็ไม่ได้)
ไม่ว่าวิษณุจะใช้อภินิหารทางกฎหมายอย่างไร ก็โดนด่าอยู่ดี ดาบนี้คืนสนองตัวเอง
เผยแพร่ครั้งแรกใน: ข่าวหุ้นธุรกิจ www.kaohoon.com/content/262037 [1]
| ["'ใบตองแห้ง' ออนไลน์", 'การเมือง', 'ใบตองแห้ง', 'มีชัย ฤชุพันธ์ุ', 'วิษณุ เครืองาม', 'สภามหาวิทยาลัย', 'องค์การมหาชน', 'การแจ้งบัญชีทรัพย์สิน'] |
https://prachatai.com/print/79579 | 2018-11-13 13:08 | 'แอมเนสตี้' เรียกคืนรางวัลทูตแห่งมโนธรรมสำนึกที่เคยให้กับ 'อองซานซูจี' | แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้ประกาศเรียกคืนรางวัลสูงสุดที่เคยให้กับอองซานซูจี คือรางวัลทูตแห่งมโนธรรมสำนึก เมื่อพิจารณาแล้วเห็นถึงการทรยศต่อคุณค่าที่เธอเคยปกป้อง ไม่ใช้อำนาจทางการเมืองและทางศีลธรรมที่มีอยู่เพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชน ความยุติธรรม หรือความเท่าเทียมในเมียนมา เพิกเฉยต่อการทารุณกรรมของกองทัพและการที่รัฐไม่อดทนอดกลั้นต่อการใช้เสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน
13 พ.ย.2561 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย รายงานว่า เมื่อวันที่ 11 พ.ย.ที่ผ่านมา คูมี นายดู เลขาธิการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เขียนจดหมายถึง อองซานซูจี แจ้งให้ทราบว่าทางองค์การได้ยกเลิกรางวัลที่เคยมอบให้เมื่อปี 2552 คูมี แสดงความผิดหวังที่เธอไม่ได้ใช้อำนาจทางการเมืองและทางศีลธรรมที่มีอยู่เพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชน ความยุติธรรม หรือความเท่าเทียมในเมียนมา โดยกล่าวถึงการที่เธอเพิกเฉยต่อการทารุณกรรมของกองทัพเมียนมา และการที่รัฐไม่อดทนอดกลั้นต่อการใช้เสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน ซึ่งทั้งหมดนี้เกิดขึ้นหลังจากที่เธอดำรงตำแหน่งทางการเมืองมาแล้วครึ่งเทอม หรือแปดปีหลังจากได้รับการปล่อยตัวจากการถูกกักบริเวณภายในบ้าน
อองซานซูจีถูกริบรางวัลเสรีภาพออกซฟอร์ด-ล่าชื่อถอนโนเบลได้ 4.3 แสนชื่อแล้ว [1]
มหาธีร์จะไม่สนับสนุน 'อองซานซูจี' หลังผิดหวังเหตุสังหารหมู่โรฮิงญา [2]
ผู้แทนยูเอ็นเผย อองซานซูจีอาจผิดฐาน 'อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ' จากการสังหารหมู่และการเหยียดเชื้อชาติ [3]
คูมี กล่าวไว้ในจดหมายตอนหนึ่งว่า ในฐานะทูตแห่งมโนธรรมสำนึก (Ambassador of Conscience Award) ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เราคาดหวังว่าอองซานซูจีจะยังคงใช้อำนาจทางศีลธรรมที่มีอยู่ เพื่อต่อต้านความอยุติธรรมทุกครั้งที่พบเห็น อย่างน้อยที่สุดภายในเมียนมา
“ทุกวันนี้ เราผิดหวังอย่างยิ่งที่ท่านไม่ได้เป็นสัญลักษณ์ของความหวัง ความกล้าหาญ และการยืนหยัดปกป้องสิทธิมนุษยชนอีกต่อไป แม้จะเสียใจเป็นอย่างยิ่ง แต่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลไม่อาจรับรองสถานะของท่านในฐานะทูตแห่งมโนธรรมสำนึกอีกต่อไป เราจึงขอถอนรางวัลนี้ที่เคยมอบให้กับท่าน”
สนับสนุนการละเมิดสิทธิมนุษยชน
นับแต่อองซานซูจีขึ้นเป็นผู้นำรัฐบาลพลเรือนโดยพฤตินัยของเมียนมาเมื่อเดือนเมษายน 2559 รัฐบาลของเธอมีส่วนร่วมอย่างจริงจังต่อการปฏิบัติหรือสนับสนุนให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนมากมายหลายครั้ง
ที่ผ่านมา แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้วิพากษ์วิจารณ์อองซานซูจีและรัฐบาลของเธอหลายครั้ง เนื่องจากปฏิเสธที่จะพูดถึงปฏิบัติการที่ทารุณโหดร้ายของกองทัพเมียนมาต่อประชากรชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ ซึ่งหลายปีที่ผ่านมา ชาวโรฮิงญาต้องดำรงชีวิตภายใต้ระบบที่มีการแบ่งแยก กีดกันและเลือกปฏิบัติ ระหว่างที่มีปฏิบัติการทางทหารอย่างรุนแรงต่อพวกเขา เมื่อปีที่แล้ว กองกำลังของเมียนมาได้เข่นฆ่าสังหารชาวโรฮิงญาหลายพันคน ข่มขืนผู้หญิงและเด็กผู้หญิง ควบคุมตัว ทรมานผู้ชายและเด็กผู้ชาย รวมถึงเผาทำลายบ้านเรือนอีกหลายร้อยหลัง ชาวโรฮิงญากว่า 720,000 คนต้องหลบหนีไปยังบังกลาเทศ รายงานจากองค์การสหประชาชาติเรียกร้องให้มีการสอบสวนเจ้าหน้าที่ทหารระดับสูง และดำเนินคดีในข้อหาอาชญากรรมฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
แม้ว่ารัฐบาลพลเรือนไม่มีอำนาจควบคุมเหนือกองทัพ แต่ที่ผ่านมาอองซานซูจีและรัฐบาลของเธอได้ปกป้องกองทัพให้พ้นจากความรับผิดชอบ โดยทั้งปฏิเสธ เพิกเฉย หรือไม่ยอมรับข้อกล่าวหาว่าได้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน ทั้งยังขัดขวางการสอบสวนของนานาชาติต่อการปฏิบัติมิชอบในครั้งนี้ รัฐบาลของเธอมีส่วนสำคัญในการสร้างความเกลียดชังต่อชาวโรฮิงญา โดยประณามว่าพวกเขาเป็น “ผู้ก่อการร้าย” กล่าวหาว่าพวกเขาเผาบ้านเรือนของตนเอง ทั้งยังประณามว่ามีการปล่อย “ข่าวการข่มขืนปลอม” ในเวลาเดียวกัน สื่อมวลชนของรัฐได้ตีพิมพ์เผยแพร่บทความในเชิงยั่วยุและลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ โดยกล่าวหาว่าชาวโรฮิงญาเป็น “เห็บมนุษย์ที่น่ารังเกียจ” และเป็น “เสี้ยนหนาม” ซึ่งต้องกำจัดให้หมดไป
คูมี กล่าวเพิ่มเติมว่า การที่อองซานซูจีไม่ออกมาปกป้องชาวโรฮิงญา เป็นเหตุผลอย่างหนึ่งที่เราไม่สามารถยอมรับเธอในฐานะทูตแห่งมโนธรรมสำนึกได้อีกต่อไป
“การที่เธอปฏิเสธถึงระดับความรุนแรงของการกระทำดังกล่าว ถือเป็นการปิดกั้นโอกาสที่จะแก้ไขสถานการณ์เพื่อช่วยเหลือชาวโรฮิงญาหลายแสนคนซึ่งถูกทอดทิ้งอยู่ในบังกลาเทศหรืออีกหลายแสนคนซึ่งยังคงอยู่ในรัฐยะไข่ หากไม่มีการยอมรับว่าได้เกิดอาชญากรรมร้ายแรงต่อชุมชนเหล่านี้ เราย่อมไม่มีโอกาสเห็นรัฐบาลดำเนินการเพื่อปกป้องคุ้มครองพวกเขาจากความทารุณโหดร้ายในอนาคต”
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลยังเน้นให้เห็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในรัฐคะฉิ่นและตอนเหนือของรัฐฉาน ซึ่งอองซานซูจีล้มเหลวในการใช้อิทธิพลและอำนาจทางศีลธรรมเพื่อประณามการปฏิบัติมิชอบของกองทัพ รวมถึงการทำให้กองทัพรับผิดต่ออาชญากรรมสงคราม หรือเพื่อปกป้องพลเรือนชนกลุ่มน้อยที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้ง อีกทั้งรัฐบาลพลเรือนของเธอยังทำให้สถานการณ์แย่ลงโดยการใช้มาตรการจำกัดความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอย่างเข้มงวด ทำให้ความทุกข์ยากมากยิ่งขึ้นต่อประชาชนผู้พลัดถิ่นจากการสู้รบกว่า 100,000 คน
การปราบปรามเสรีภาพในการแสดงความเห็น
แม้กองทัพจะเป็นผู้ถืออำนาจแต่รัฐบาลที่นำโดยพลเรือนก็มีอำนาจหน้าที่มากพอที่จะปฏิรูปเพื่อให้เกิดการคุ้มครองด้านสิทธิมนุษยชนที่ดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเสรีภาพในการแสดงออก การสมาคมและการชุมนุมอย่างสงบ แต่สองปีหลังจากรัฐบาลอองซานซูจีบริหารประเทศ นักปกป้องสิทธิมนุษยชน นักกิจกรรม และผู้สื่อข่าวได้ถูกจับกุมและคุมขัง ในขณะที่คนอื่นๆ ต้องเผชิญกับการข่มขู่ คุกคามและการใช้อิทธิพลกดดันในหน้าที่การงาน
รัฐบาลอองซานซูจีไม่ได้ดำเนินการใดๆ เพื่อยกเลิกกฎหมายเผด็จการ รวมทั้งกฎหมายบางฉบับที่ได้เคยถูกใช้เพื่อควบคุมตัวเธอและบุคคลอื่นๆ ที่เรียกร้องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนในอดีต ในทางตรงข้าม เธอกลับแสดงความเห็นสนับสนุนการใช้กฎหมายเหล่านี้อย่างจริงจัง โดยเฉพาะการตัดสินใจดำเนินคดีและคุมขังผู้สื่อข่าวรอยเตอร์สองคน เนื่องจากการรายงานข้อมูลการสังหารหมู่โดยกองทัพเมียนมา
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้ยกย่องอองซานซูจีในฐานะทูตแห่งมโนธรรมสำนึกเมื่อปี 2552 เนื่องจากการต่อสู้อย่างสงบและไม่ใช้ความรุนแรงของเธอเพื่อประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน โดยในตอนนั้นเธอถูกกักบริเวณในบ้าน และต่อมาได้รับการปล่อยตัวจนครบรอบแปดปีในวันนี้ เมื่อเธอมารับรางวัลนี้ในปี 2556 อองซานซูจีได้ร้องขอต่อแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลว่า “อย่าได้ละสายตาหรือความคิดของท่านจากพวกเรา และโปรดช่วยเหลือให้เราเป็นประเทศที่ความหวังและประวัติศาสตร์เป็นหนึ่งด้วยกัน”
“แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้ยึดมั่นตามคำขอของอองซานซูจีอย่างจริงจัง ดังนั้นเราจึงไม่เคยละสายตาจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในเมียนมา”
“เราจะยังคงต่อสู้เพื่อความยุติธรรมและสิทธิมนุษยชนในเมียนมาต่อไป ไม่ว่าจะด้วยความสนับสนุนของเธอหรือไม่ก็ตาม” คูมี กล่าวทิ้งท้าย
| ['ข่าว', 'สิทธิมนุษยชน', 'ต่างประเทศ', 'อองซานซูจี', 'แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล', 'Ambassador of Conscience Award', 'พม่า', 'เมียนมา'] |
https://prachatai.com/print/79576 | 2018-11-13 01:59 | บราซิลหวั่น 'จาอีร์ บอลซานาโร' จะลิดรอนเสรีภาพหนัก | วงการการศึกษาและฝ่ายซ้ายในบราซิลหวั่นใจว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่จาอีร์ บอลซานาโร จะอ้างใช้กฎหมายหรือกระบวนการศาลในการลิดรอนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น โดยตั้งข้อสังเกตว่ามีการเลือกปฏิบัติต่อฝ่ายซ้าย แล้วส่งเสริมให้ฝ่ายอนุรักษ์นิยมเผยแพร่แนวคิดตัวเองได้ ผู้พิพากษารายหนึ่งในบราซิลพยายามทัดทานเรื่องนี้โดยบอกว่าประชาธิปไตยควรเปิดให้มีการแลกเปลี่ยนทางความคิดแทนการทำให้มีแต่ "ความจริงสัมบูรณ์หนึ่งเดียว"
จาอีร์ บอลซานาโรที่มา: Antonio Cruz [1]/Agência Brasil/Wikipedia (แฟ้มภาพ)
โกลบอลวอยซ์รายงานเมื่อวันที่ 10 พ.ย. 2561 ว่าชาวบราซิลเกิดความกังวลเรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น หลังจากว่าที่ประธานาธิบดีฝ่ายขวาจัดคนใหม่ของบราซิล จาอีร์ บอลซานาโร แสดงความเห็นส่งเสริมการปราบปรามฝ่ายซ้ายในมหาวิทยาลัย นอกจากนี้ยังพยายามกวาดล้างฝ่ายตรงข้ามทางอุดมการณ์นับเป็นการปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในที่สาธารณะ
จาอีร์ บอลซานาโร กลายเป็นว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ของบราซิลหลังการเลือกตั้งรอบ 2 เมื่อวันที่ 28 ต.ค. ที่ผ่านมา เรื่องนี้ทำให้เกิดความกังวลในเรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอย่างมากเนื่องจากเขาออกมาพูดสนับสนุนการที่ตำรวจบุกค้นมหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อทำลายการชุมนุมของฝ่ายซ้าย โดยในวันที่ 26 ต.ค. มีมหาวิทยาลัยในบราซิลราว 30 แห่งถูกตำรวจบุกตรวจค้นหลังจากที่ศาลในท้องที่หลายแห่งให้การอนุมัติ เจ้าหน้าที่ทางการบราซิลทำการบึดป้ายผ้าและธงต่างๆ รวมถึงสั่งห้ามการชุมนุมปกป้องประชาธิปไตยและการชุมนุมต่อต้านฟาสซิสม์ซึ่งศาลตัดสินว่าการชุมนุมเหล่านี้เป็นโฆษณาที่มี "อคติทางการเมือง"
อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่ทางการบราซิลบางส่วนและกลุ่มภาคประชาสังคมบราซิลหลายคนก็บอกว่าการบุกทลายในครั้งนี้เป็นการพยายามปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นโดยใช้อำนาจศาล
โดยในช่วงก่อนวันเลือกตั้ง 1 วัน ผู้พิพากษา คาร์เมน ลูเซีย ประกาศสั่งพักการตัดสินคดีเหล่านี้โดยระบุว่า ภายใต้รัฐธรรมนูญของบราซิลนั้นมีการรับรองเสรีภาพในการเรียนการสอนและการแลกเปลี่ยนความคิดอย่างเสรี รวมถึงควรจะมีสิทธิในการชุมนุม นอกจากนี้ความหลากหลายทางความคิดยังถือเป็นพื้นฐานสำคัญของความเป็นอิสระของมหาวิทยาลัยในฐานะส่วนขยายของประชาธิปไตยบราซิล
"ความจริงสัมบูรณ์หนึ่งเดียวเป็นของสำหรับทรราชย์เท่านั้น สารัตถะของประชาธิปไตยคือความเป็นพหุนิยม และหลักการแบบนี้เองที่การันตีให้เกิดความเท่าเทียมทางสิทธิของแต่ละบุคคลท่ามกลางความหลากหลายของบุคคลเหล่านั้น" ลูเซียระบุในคำประกาศ
โกลบอลวอยซ์ระบุอีกว่าบอลซานาโรยังเป็นคนที่สนับสนุนขบวนการของฝ่ายขวาที่เรียกว่า "สถานศึกษาไร้ฝ่ายทางการเมือง" ซึ่งเป็นขบวนการเรียกร้องให้สิ่งที่พวกเขาเรียกว่าเป็นการ "ปลูกฝังความเชื่อแบบฝ่ายซ้าย" เป็นสิ่งผิดกฎหมายและเสนอให้มีหลักสูตรการสอนแบบอนุรักษ์นิยมของตัวเองแทน เมื่อขบวนการแบบนี้ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ก็จะทำให้เกิดบรรยากาศแห่งความกลัวและการสอดแนมสถานศึกษาต่างๆ รวมถึงสถาบันสาธารณะอื่นๆ
ผู้สนับสนุนแนวทางปราบปรามแนวคิดซ้ายแล้วแทนที่หลักสูตรให้เป็นอนุรักษ์นิยมหลายคนได้รับเลือกเข้าไปสภาทั้งระดับชาติและระดับรัฐ เช่น อนา คัมปาโยโล ครูสอนวิชาประวัติศาสตร์ที่ฟ้องร้องหัวหน้าอาจารย์ระดับปริญญาโทของเธอว่า "กีดกัน" เธอเพราะเธอเป็นคริสต์ อนุรักษ์นิยม และต่อต้านสตรีนิยม ในการตัดสินเบื้องต้นตัดสินให้หัวหน้าอาจารย์ของเธอไม่มีความผิดในเรื่องนี้ แต่คัมปาโยโลก็พยายามอุทธรณ์ขอให้มีการพิจารณารอบที่สอง
นอกจากนี้หลังจากผลการเลือกตั้งล่าสุดคัมปาโยโลก็พยายามระดมพลผ่านเฟสบุ๊คจากผู้ติดตามของเธอมากกว่า 88,000 ราย โดยมีการเรียกร้องให้นักศึกษาของเธอทำการมีการล่าแม่มดฝ่ายซ้ายด้วยการขอให้นักศึกษาของเธอถ่ายวิดีโอที่เธออ้างว่าเป็น "การปลูกฝังความเชื่อ" แบบฝ่ายซ้าย รวมถึงให้ระบุชื่ออาจารย์ ชื่อสถานศึกษา และชื่อเมือง ของคนที่ปรากฏในคลิป โดยให้ส่งวิดีโอเหล่านั้นไปที่เบอร์แอพพลิเคชัน WhatsApp ที่เธอให้ไว้
ศาตราจารย์จากมหาวิทยาลัยแห่งบราซิลเลีย ลูอิซ อราวโจ กล่าวอีกว่ารัฐบาลบราซิลมีความลำเอียงสองมาตรฐานเพราะมีแต่การตั้งเป้าหมายห้ามโฆษณาแต่กับฝ่ายซ้าย ขณะเดียวกันก็ส่งเสริมกำลังให้กับแนวคิดสายอนุรักษ์นิยมจากภายในรัฐบาลซึ่งถือเป็นเรื่องอันตรายมาก
เรียบเรียงจาก
Amid police raids and vigilante threats, Brazilians fear for freedom of expression in public universities, Global Voices [2], 10-11-2018
| ['ข่าว', 'สิทธิมนุษยชน', 'ต่างประเทศ', 'เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น', 'เสรีภาพทางวิชาการ', 'การเลือกปฏิบัติ', 'สองมาตรฐานฅ', 'ฝ่ายซ้าย', 'ขวาจัด', 'จาอีร์ บอลซานาโร', 'บราซิล'] |
https://prachatai.com/print/79583 | 2018-11-13 14:53 | นโยบายสาธารณะที่ไม่มีส่วนร่วม ระวังที่ราบสูงจะลุกฮือ |
หลังจากสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ได้ออกใบอนุญาตให้ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลซึ่งผูกขาดด้วยผู้ประกอบการรายใหญ่ 6 กลุ่ม สามารถตั้งโรงงานน้ำตาลใหม่ หรือย้ายหรือขยายกำลังผลิตไปตั้งยังที่แห่งใหม่ ในปี 2558 บวกกับโรงงานที่ได้รับอนุญาตตามมติ ครม. ปี 2554 รวมแล้วในภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะมีศูนย์กลางอุตสาหกรรมชีวภาพ (Bio Hub) เป็นศูนย์กลางในพื้นที่ฐานการผลิต มีโรงงานน้ำตาลขยายกำลังผลิตและโรงงานน้ำตาลใหม่เพิ่มขึ้น 29 โรงงาน พ่วงด้วยโรงไฟฟ้าชีวมวลทุกโรงงาน
ตามด้วยการปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยอ้อยและน้ำตาลทราย และกฎหมายที่เกี่ยวข้องอีกหลายฉบับให้เอื้อต่อการลงทุนในอุตสาหกรรมชีวภาพอย่างเต็มรูปแบบ ส่วนร่างพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทรายที่จัดทำขึ้นใหม่โดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ยังคลอดไม่ได้ เกิดจากการเจรจาที่ยังไม่ลงตัวเรื่องการแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างตัวแทนชาวไร่อ้อยกับผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาล เพราะตลอด 33 ปีที่ผ่านมา ระบบการแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาล 70:30 คำนวณจากรายได้สุทธิจากการขายน้ำตาลทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ โดยมี “กากน้ำตาล” เป็นผลพลอยได้เท่านั้น แต่ปัจจุบัน “อ้อย” สามารถนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ ได้หลายอย่าง และ “กากอ้อย” ก็สามารถนำไปผลิตเป็นเชื้อเพลิงเพื่อผลิตไฟฟ้าได้ การนำรายได้ของผลิตภัณฑ์ต่างๆ มาคำนวณรายได้ในระบบ จึงเป็นข้อถกเถียงอย่างเข้มข้น โดยฝ่ายโรงงานน้ำตาลยืนยันแบบเดิม ส่วนตัวแทนชาวไร่อ้อยเห็นว่ารายได้ที่เกิดจากอ้อยทั้งหมดต้องมีการแบ่งปันให้เกษตรกรอย่างเป็นธรรม
สภาพการณ์จากปรับตัวของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำทรายขาลง ไปสู่อุตสาหกรรมชีวภาพซึ่งมีแผนการลงทุนเป็นโครงการขนาดใหญ่ ครอบคลุมพื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 13 จังหวัด โดยคาดว่าจะต้องเพิ่มพื้นที่ปลูกอ้อยในภาคอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 14 ล้านไร่ ในขณะที่ชาวไร่อ้อยยังคงยากจน ถูกกดขี่แรงงานบนที่ดินของตนเองภายใต้ระบบเกษตรพันธสัญญา และมีความเสี่ยงสูงกับหนี้สินที่อาจทำให้ที่ดินหลุดมือ[1]การรับรู้ข้อมูลข่าวสารมากขึ้นของชาวไร่อ้อย ทำให้สมาคมชาวไร่อ้อยวางตัวลำบากในฐานะที่จะต้องปกป้องผลประโยชน์ให้ชาวไร่อ้อย และรัฐต้องพยายามอย่างมากในการไกล่เกลี่ยกับนายทุนให้ยอมได้แบบไม่เต็ม หรือเสียบางอย่าง เพื่อให้ตัวแทนชาวไร่อ้อยยอมรับ ร่างพ.ร.บ.อ้อยฯ ป้องกันการประท้วงของของชาวไร่อ้อยซึ่งมีมวลชนที่พร้อมจะออกมาถ้ามีการปลุกกระแส โดยเฉพาะเมื่อมวลชนชาวไร่อ้อยที่แท้จริงไม่เคยเป็นเนื้อเดียวกันกับนายทุนแต่ไหนแต่ไรมา และอาจจะมีการเติมเชื้อด้วยสถานการณ์ทางการเมืองที่กำลังจะมีการเลือกตั้ง ซึ่งอาจจะเป็นการวัดว่าฐานเสียงของรัฐบาลในพื้นที่ที่ราบสูงจะมีน้ำหนักพียงใด
ประกอบกับแรงคัดค้านที่หนักขึ้นของประชาชนในหลายจังหวัดที่มีการเชื่อมร้อยกันในนาม “เครือข่ายประชาชนภาคอีสาน” โดยมีเครือข่ายระดับภาคและระดับพื้นที่เกือบ 30 องค์กร ทั้งนี้เพราะการพัฒนาอุตสาหกรรมรอบใหม่ในภาคอีสาน “อุตสาหกรรมชีวภาพ” กำลังจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ในด้านต่างๆ ที่อาจส่งกระทบต่อระบบนิเวศ ทรัพยากร และวิถีชีวิตของประชาชนอย่างไม่อาจเรียกคืน
นโยบาย-แผน ในรัฐบาลที่ประชาชนไม่มีเสียง ไม่มีส่วนร่วม ทยอยเปิดออกมาเรื่อยๆ และกำลังถูกจับตาโดยภาคประชาชน
แผนพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560 - 2564) มีแนวคิดและทิศทางการพัฒนา คือ การใช้ประโยชน์จากโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งขนาดใหญ่ที่เชื่อมโยงภาคตะวันออกเฉียงเหนือกับโครงข่ายระบบการคมนาคมขนส่งและพื้นที่เศรษฐกิจหลักของประเทศ รวมทั้งการใช้ประโยชน์จากการเชื่อมโยงและข้อตกลงกับประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงที่กำลังมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วมาเสริมสร้างกิจกรรมการพัฒนาใหม่ๆ ให้แก่ภาค มีเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ คือ พัฒนาอีสานให้เป็น “ศูนย์กลางเศรษฐกิจของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง”
แนวทางการพัฒนาที่สำคัญ ได้แก่ การพัฒนาแหล่งน้ำใหม่ในพื้นที่ลุ่มน้ำเลย ชี มูล โดยศึกษา สำรวจ และจัดหาพื้นที่เพื่อพัฒนาแหล่งน้ำ ตลอดจนการผันน้ำระหว่างลุ่มน้ำ แม่น้ำในภาคและระหว่างภาค
โครงการโขง เลย ชี มูล คือส่วนหนึ่งของการจัดหาแหล่งน้ำเพื่อภาคอุตสาหกรรม
การส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) ให้เป็นฐานรายได้ใหม่ที่สำคัญของภาคที่ส่งผลต่อการปฏิรูปภาคเกษตร อาหาร สาธารณสุขและการแพทย์ พลังงาน อุตสาหกรรมเคมี โดยพัฒนาให้นครราชสีมา ขอนแก่น อุบลราชธานี และสกลนคร เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรม เกษตรแปรรูป และอาหารแบบครบวงจร
การส่งเสริมอุตสาหกรรมใหม่และธุรกิจแนวใหม่ในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลางและตอนล่าง ด้วยการพัฒนาต่อยอดจากวัตถุดิบและของเหลือทิ้งทางการเกษตร/อุตสาหกรรม และฐานความหลากหลายทางชีวภาพไปสู่ผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง เช่น เอทานอล พลาสติกชีวภาพ (bio-plastic) สารสกัดจากพืชมูลค่าสูง เอนไซม์/อาหารเสริมสุขภาพจากจุลินทรีย์ เป็นต้น รวมทั้งสร้างความมั่นคงทางพลังงานระดับชุมชน จากการนำวัตถุดิบในชุมชน ของเหลือทิ้งทางการเกษตร ขยะครัวเรือน มาผลิตเป็นพลังงานเพื่อใช้ภายในครัวเรือนหรือชุมชน และส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนในระดับชุมชน
การพัฒนาโครงข่ายคมนาคมขนส่งที่เชื่อมโยงพื้นที่เศรษฐกิจหลักภาคกลางและพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) เพื่อพัฒนาเมือง และพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ๆ ของภาค โดยเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ที่เชื่อมโยงภาคกับพื้นที่เศรษฐกิจหลักภาคกลางและพื้นที่ EEC ให้แล้วเสร็จตามแผน อาทิ แผนการพัฒนารถไฟความเร็วสูง การพัฒนาโครงข่ายรถไฟทางคู่ และโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองตามยุทธศาสตร์แผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ. 2558-2565 (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) การพัฒนารถไฟสายใหม่ (บ้านไผ่-นครพนม) โครงการพัฒนาท่าอากาศยานภายในภาค 6 แห่ง (อุดรธานี อุบลราชธานี บุรีรัมย์ ร้อยเอ็ด นครราชสีมา และขอนแก่น) และขยายถนน 4 ช่องจราจรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพทางหลวง
การพัฒนาเมืองสำคัญ ขอนแก่น นครราชสีมา ให้เป็นเมืองศูนย์กลางการค้าการลงทุน การบริการสุขภาพและศูนย์กลางการศึกษา โดยพัฒนาและปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมโยงกับ แผนพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระบบโครงสร้างพื้นฐานหลักที่เชื่อมโยงระหว่างภาค เร่งรัดพัฒนาระบบขนส่งรางเบาเมืองขอนแก่น พร้อมทั้งส่งเสริมระบบขนส่งสาธารณะในเมืองให้เชื่อมโยงระหว่างเมืองและระบบขนส่งอื่น และ การพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งระบบรางในเมืองที่มีศักยภาพที่สำคัญ อาทิ เมืองขอนแก่น และบริเวณเมืองชายแดนที่มีศักยภาพ รวมทั้งบริเวณใกล้พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน อาทิ เมืองนครพนม เมืองหนองคาย เมืองมุกดาหาร โดยสนับสนุนให้มีการจัดทำโครงการนำร่องที่ใช้แนวทางการจัดรูปที่ดิน การวางผังเมืองควบคู่กับการพัฒนาเมืองแบบประหยัดพลังงาน
การพัฒนาความร่วมมือและใช้ประโยชน์จากข้อตกลงกับประเทศเพื่อนบ้านในการสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจตามแนวชายแดนและแนวระเบียงเศรษฐกิจ โดยการพัฒนาด่านชายแดน โครงสร้างพื้นฐานบริเวณด่านศุลกากร เร่งก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ-ปากซัน) เพื่อเชื่อมโยงโครงข่ายเส้นทางคมนาคมระหว่างไทย ลาว เวียดนาม และจีน และการพัฒนาพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน โดยพัฒนามุกดาหารเป็นพื้นที่นำร่อง เพื่อเสริมสร้างศักยภาพในการลงทุนและสร้างความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในการพัฒนาเศรษฐกิจชายแดน พร้อมทั้งเร่งรัดการดำเนินงานโครงการและมาตรการสำคัญในเขตเศรษฐกิจพิเศษ นครพนม หนองคาย ให้มีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน และบริการ CIQ ที่ได้มาตรฐานสากล
ส่วน แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศไทย ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2560- 2564) วางเป้าหมายให้ประเทศไทยสามารถยกระดับโลจิสติกส์ของประเทศสู่การเป็นศูนย์กลางทางการค้า การบริหาร และ การลงทุนในภูมิภาค โดยการพัฒนาการขนส่งทางราง การพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกและศูนย์บริการโลจิสติกส์ อาทิ ท่าเรือบก ศูนย์รวบรวมและกระจายสินค้า สถานีขนส่งสินค้า คลังสินค้าปลอดอากร ย่านกองเก็บและขนถ่ายตู้สินค้า รวมทั้งจัดหาอุปกรณ์ยกขนตู้สินค้าทางรถไฟ ในแนวเส้นทางยุทธศาสตร์ที่สามารถเชื่อมโยงกับฐานการผลิตอุตสาหกรรม โดยเฉพาะในแนว Economidor Corridor ที่สำคัญ และฐานการผลิตทั้งเกษตรและอุตสาหกรรมของประเทศไปยังประตูการค้าหลักและด่านการค้าสำคัญของประเทศ
17 กรกฎาคม 2561 ครม. มีมติเห็นชอบมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพของไทย ปี พ.ศ. 2561- 2570 ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-CURVE) จำนวน 10 อุตสาหกรรม ตามยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมไทย 4.0 ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560 - 2579) โดยเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) จะเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ในอนาคตที่มีศักยภาพในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ (New S-Curve) โดยเริ่มต้นผลักดันการลงทุนสร้างเศรษฐกิจชีวภาพ ตั้งแต่เดือนมกราคม 2560 ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะเป็นการดำเนินงานต่อเนื่องเพื่อขยายผล Bioeconomy ในพื้นที่ EEC ภาคเหนือตอนล่าง และภาคอีสานตอนกลาง เพื่อเชื่อมภาคเกษตรสู่ภาคอุตสาหกรรม โดยเร่งขจัดอุปสรรคการลงทุนและสร้างปัจจัยสนับสนุนที่จำเป็นต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพ นำร่องขยายผลการพัฒนาพื้นที่ (Local Economy) ด้วยแนวคิดแบบ EEC ต่อเนื่องในภูมิภาคอื่นที่เหมาะสมทั่วประเทศ
ด้าน สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เตรียมพัฒนาโครงการพัฒนาท่าเรือบก (Dry Port) ในพื้นที่ ต.ม่วงหวาน อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น ขนาดพื้นที่ประมาณ 500 - 700 ไร่ ซึ่งมีศักยภาพสามารถพัฒนาเป็นท่าเรือบก และ Logistic Park เพื่อดึงสินค้าส่งผ่าน (Transit Cargo) เข้ามาใช้บริการ และสามารถรองรับสินค้าจากจังหวัดใกล้เคียงโดยรอบ เช่น อุดรธานี กาฬสินธุ์ มุกดาหาร สกลนคร และ หนองคาย เบื้องต้นกลุ่มลูกค้าที่จะใช้บริการใน จ.ขอนแก่น คือ โรงงานน้ำตาล โรงงานเยื่อกระดาษ โดย สนข. ได้เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้อง คือ หอการค้าจังหวัดขอนแก่น และนักธุรกิจในจังหวัดขอนแก่นไปแล้ว 2 ครั้ง ในเดือนกันยายนที่ผ่านมา
ตามด้วย ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง กำหนดพื้นที่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศและมาตรการสนับสนุนการประกอบกิจการโรงงานในพื้นที่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ พ.ศ. 2561 ลงวันที่ 2 พฤศจิกายน 2561 กำหนดให้ ตำบลสีคิ้ว ตำบลลาดบัวขาว ตำบลมิตรภาพ ตำบลกุดน้อย และตำบลหนองหญ้าขาว อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา และ พื้นที่เทศบาลตำบลน้ำพอง เทศบาลตำบลลำน้ำพอง เทศบาลตำบลม่วงหวาน เทศบาลตำบลกุดน้ำใส อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น เป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ หมายความว่าผู้ประกอบการจะได้รับสิทธิประโยชน์อีกมากมาย
ตัวอย่างแผนงานซึ่งเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมเป็นโครงการขนาดใหญ่เหล่านี้ล้วนมีความเชื่อมโยงกัน และถูกผลักดันอย่างเร่งด่วนในรัฐบาลที่ไม่ได้เป็นประชาธิปไตยภายใต้การชี้นำของนายทุนใหญ่ 12 สาขา
นอกจากนั้น อุตสาหกรรมเป้าหมายเหล่านี้หลายอุตสาหกรรมก่อให้เกิดความต้องการใช้แร่ที่เป็นวัตถุดิบชนิดใหม่ๆ หรือวัตถุดิบแร่ที่มีคุณภาพสูงขึ้น เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ และอุตสาหกรรมดิจิทัล ส่วนโครงการก่อสร้างจำนวนมากต้องการใช้หินอุตสาหกรรมอย่างมหาศาล อุตสาหกรรมการเกษตรและอุตสาหกรรมชีวภาพต้องการใช้แร่โปแตชเป็นวัตถุดิบ
เมื่อภาคตะวันออกเฉียงเหนือถูกจัดวางและเตรียมการไว้ให้เกิดนิคมอุตสาหกรรมหรือศูนย์กลางอุตสาหกรรมสำหรับรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมภายในภาคและจากภาคอื่นๆ ในประเทศโดยรัฐบาลทหารที่ไม่ได้ใช้กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตัดสินใจต่อนโยบายสาธารณะที่จะส่งผลกระทบต่อภาคทั้งภาคอย่างกว้างขวาง
ถ้ารัฐบาลคิดว่าผลักดันเดินหน้าได้โดยประชาชนจะไม่ตั้งคำถาม ไม่ลุกฮือขึ้นมาคัดค้าน รัฐบาลอาจจะต้องประเมินใหม่ เพราะแรงบีบคั้นของอำนาจที่ใช้กดทับประชาชนมาตลอด 4 ปี มันอาจจะรอไม่ไหวที่จะเริ่มต้นใหม่กันตอนเลือกตั้ง
[1] 2561.งานวิจัยผลกระทบอีสานจากการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบ. รศ.ดร.สถาพร เริงธรรม, แม้นวาด กุญชร ณ อยุธยา
| ['บทความ', 'สังคม', 'สิทธิมนุษยชน', 'ศูนย์กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม'] |
https://prachatai.com/print/79587 | 2018-11-13 17:09 | อัยการสั่งฟ้องผู้บริหาร 'ผู้จัดการออนไลน์' หลังเผยแพร่ข่าวซ้อมทรมานในค่ายทหารชายแดนใต้ | อัยการสั่งฟ้องผู้บริหารผู้จัดการออนไลน์ หลังเผยแพร่ข่าวการซ้อมทรมานผู้ต้องสงสัยในคดีความมั่นคง ภายในค่ายทหารดังในพื้นที่ จ.ปัตตานี ฐานหมิ่นประมาท และนำข้อมูลอันเป็นเท็จ
13 พ.ย.2561 ความคืบหน้ากรณีที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาคสี่ (กอ.รมน.4) แจ้งความดำเนินคดีต่อบรรณาธิการผู้จัดการออนไลน์และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องที่ได้เปิดเผยข่าว “แฉ อดีตผู้ต้องสงสัยเผยถูกซ้อมทรมานเหมือนตาย ระหว่างถูกคุมตัวในค่ายทหาร” เผยแพร่เมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ในความผิดฐานหมิ่นประมาท และนำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ และเรียกค่าเสียหายจากเว็บไซต์ นั้น
ล่าสุดวานนี้ (12 พ.ย.61) ผู้จัดการออนไลน์ [1] รายงาน บรรยากาศที่สำนักงานอัยการจังหวัดปัตตานี ได้มี 2 ผู้บริหารจากสำนักข่าวผู้จัดการออนไลน์ เดินทางเข้าพบเจ้าหนักงานอัยการจังหวัดปัตตานี พร้อมด้วยทนายความส่วนตัว ก่อนนำตัวทั้ง 2 ไปยังศาลปัตตานี หลังจากที่ทางอัยการจังหวัดปัตตานี มีความเห็นสั่งฟ้องผู้บริหารทั้ง 2 คน ในข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา และทนายความได้ยื่นขอประกันตัวในชั้นศาลเป็นเงินสดคนละ 5 หมื่นบาท
จนกระทั่งเมื่อเวลา 15.00 น. ทั้ง 2 คนก็ได้รับการให้ประกัน โดยศาลมีนัดอีกครั้งภายในวันที่ 28 ม.ค. 2562 ในเวลา 09.00 น. เพื่อได้รับการคุ้มครองสิทธิ ซึ่งก่อนหน้านี้ ทั้ง 2 ได้ดำเนินการร้องขอความเป็นธรรมจากอัยการสูงสุดมาแล้ว จนกระทั่งในที่สุดทางพนักงานอัยการจังหวัดปัตตานี มีความเห็นสั่งฟ้อง อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารสำนักข่าวผู้จัดการออนไลน์ไม่ได้หวั่นวิตกกับการถูกดำเนินคดีตามที่ถูกกล่าวหาในครั้งนี้แต่อย่างใด แถมยังมีสีหน้าที่ยิ้มแย้มแจ่มใส เพราะถือว่าได้ทำตามหน้าที่อย่างดีที่สุดแล้ว
โดยทหารมองสื่อว่า “เป็นการทำเป็นกระบวนการ... ไม่ยอมความ ขอฟ้อง 10 ล้าน ที่ได้เผยแพร่ข่าวผู้ต้องสงสัยเผยถูกซ้อมระหว่างถูกควบคุมตัวในหน่วย 43 เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์นี้” พ.อ.หาญพล กล่าวต่อผู้สื่อข่าว
สำนักข่าวผู้จัดการออนไลน์ ระบุว่า ได้มีการพาดหัวข่าวในครั้งนั้นว่า “แฉ! อดีตผู้ต้องสงสัยเผยถูกซ้อมทรมานเหมือนตาย ระหว่างถูกคุมตัวในค่ายทหาร” ซึ่งเป็นไปตามคำให้การของผู้เสียหายจริงที่ไม่ใช่เพื่อหวังทำลายความน่าเชื่อถือของทหารแต่อย่างใด มีการเผยแพร่ : 5 ก.พ.2561 21.00 โดย : MGR Online
ขณะที่มูลนิธิผสานวัฒนธรรม กลุ่มด้วยใจ และเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี ออกแถลงการณ์ตั้งแต่เดือน ก.พ.ที่ผ่านมา เรียกร้องให้ กอ.รมน. ถอนแจ้งความร้องทุกข์ พร้อมย้ำด้วยว่า การรายงานข่าวไม่ใช่อาชญกรรม โดยนอกจากผู้จัดการออนไลน์แล้ว อิสมาแอ เต๊ะ ผู้ก่อตั้งเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี (HAP) ที่กล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่ทหารซ้อมทรมานผู้ต้องสงสัย ผ่านรายการนโยบาย by ประชาชน ออกอากาศทางช่อง Thai PBS เมื่อวันที่ 5 ก.พ. ที่ผ่านมา ก็ถูก กอ.รมน.ภาค 4 ฟ้องในข้อหาหมิ่นประมาทด้วยเช่นกัน
3 องค์กรสิทธิฯ ขอ 'กอ.รมน.4' ถอนฟ้อง 'ผู้จัดการ' ปมรายงานข่าวชาวบ้านแฉถูกซ้อมทรมาน [2]
ทหารแจงปมฟ้อง 'ผู้จัดการออนไลน์' หลังรายงานซ้อมทรมาน เพื่อรักษาสิทธิของหน่วยทหาร [3]
'ผสานวัฒนธรรม' ขอทหาร ถอนฟ้อง 'อิสมาแอ เต๊ะ-ผู้จัดการออนไลน์ ' หลังแฉปมซ้อมทรมาน [4]
| ['ข่าว', 'การเมือง', 'สิทธิมนุษยชน', 'ความมั่นคง', 'กอ.รมน.4', 'การซ้อมทรมาน', 'ชายแดนใต้', 'ผู้จัดการออนไลน์', 'สื่อมวลชน', 'พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์'] |
https://prachatai.com/print/79584 | 2018-11-13 15:20 | EU ตอบผู้ลี้ภัยไทยในยุโรป ย้ำขอไทยฟื้นฟูประชาธิปไตย จัดเลือกตั้งโปร่งใส-น่าเชื่อถือ | อียูมีหนังสือตอบกลุ่มถึงผู้ลี้ภัยไทยในยุโรป ย้ำเรียกร้องให้ฟื้นคืนประชาธิปไตยอย่างเร่งด่วน พร้อมเคารพสิทธิมนุษยชน หลักนิติรัฐ ปลดล็อคพรรคการเมืองทำกิจกรรม ข้อจำกัดเรื่องเสรีภาพการชุมนุม การแสดงออก
13 พ.ย. 2561 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า เมื่อวันที่ 9 พ.ย. ที่ผ่านมา กระทรวงการต่างประเทศสหภาพยุโรป (European External Action Service) มีหนังสือตอกย้ำถึงความต้องการให้ไทยฟื้นฟูกระบวนการประชาธิปไตยอย่างเร่งด่วน ลงนามท้ายจดหมายโดย เดวิด ดาลี หัวหน้ากองเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กรมเอเชียแปซิฟิก กระทรวงการต่างประเทศสหภาพยุโรป ถึง จรรยา ยิ้มประเสริฐ กลุ่มแอคชั่นเพื่อประชาธิปไตย (Action for People’s Democracy, Thailand)
หนังสือดังกล่าวเป็นหนังสือตอบกลับจดหมายที่เขียนยื่นให้จาก กลุ่มคนไทยที่ลี้ภัยที่ยุโรป ในนามกลุ่มแอคชั่นเพื่อประชาธิปไตย และองค์กรพันธมิตรที่เข้าร่วมประชุมเวทีภาคประชาชนเอเชียยุโรป (ASEM Summit) ที่เมืองเกนท์ ประเทศเบลเยี่ยมระหว่าง 29 ก.ย. - 1 ต.ค. ที่ส่งหนังสือแสดงข้อกังวลเรื่องสถานการณ์ทางการเมืองในไทยถึง โดนัลด์ ทุสค์ ประธานคณะมนตรียุโรป (European Council) เมื่อ 28 ก.ย. ที่ผ่านมา รวมทั้งเข้ายื่นจดหมายยังคณะทำงานด้านประเทศไทยของอียู เมื่อ 2 ต.ค.ที่ผ่านมาสด้วย
ภาพกลุ่มผู้ลี้ภัยในยุโรปยืนประท้วงที่หน้ารัฐสภาอียู เมื่อ 19 ต.ค. 2561 ในช่วงที่ พล.อ.ประยุทธ์ประยุทธ์ จันทร์โอชา เดินทางมาร่วมประชุม ผู้นำเอเชีย-ยุโรป ครั้งที่ 12 (ASEM12) ณ กรุงบรัสเซลส์ เบลเยียม
ใจความของจดหมายตอบกลับจากอียูมีดังนี้
ในเวทีประชุมสมาชิกกลุ่มผู้นำเอเชีย-ยุโรป (ASEM) ครั้งที่ 12 และผู้นำของอียูและอาเซียน
โดนัลด์ ทุสค์ ได้เน้นย้ำความสำคัญเรื่องการรณรงค์และปกป้องหลักการสำคัญต่างๆ เช่น การเคารพในประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน หลักนิติรัฐและภาคประชาสังคมที่เข้มแข็งและเป็นอิสระ
อย่างที่ท่านทราบว่าข้อสรุปที่มีเมื่อ 11 ธ.ค. 2560 กระทรวงการต่างประเทศแห่งสหภาพยุโรปได้เน้นย้ำถึงการเรียกร้องให้ประเทศไทยฟื้นฟูกระบวนการประชาธิปไตยอย่างเร่งด่วนผ่านการเลือกตั้งที่น่าเชื่อถือและครอบคลุม รวมทั้งเคารพในสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน มากไปกว่านั้น ทางสภายังเน้นย้ำว่าจะยังคงความสัมพันธ์กับประเทศไทยภายใต้การทบทวนประเด็นเหล่านี้
การยกเลิกข้อจำกัดด้านเสรีภาพการแสดงออกและเสรีภาพสื่อ รวมทั้งเสรีภาพในการชุมนุม
การยกเลิกข้อจำกัดด้านกิจกรรมของพรรคการเมืองและองค์กรภาคประชาสังคม รวมถึงเคารพและให้การสนับสนุนกิจกรรมของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน
เฟเดริกา โมเกรินี HRVP เน้นย้ำถึงความสำคัญของการกลับคืนสู่การเลือกตั้งและธรรมาภิบาลอย่างประชาธิปไตย และการยกเลิกข้อจำกัดด้านกิจกรรมทางการเมืองเมื่อครั้งที่เธอพบกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไทย ดอน ปรมัตถ์วินัยเมื่อ 5 มี.ค. 2561
ในการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสระหว่างไทยและอียูที่มีขี้นเมื่อ 27 ก.ย. 2561 ทางอียูก็ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการมีการเลือกตั้งที่น่าเชื่อถือ โปร่งใสและครอบคลุม เพื่อเป็นการฟื้นคืนสู่ธรรมาภิบาลอย่างประชาธิปไตย และเน้นย้ำเรื่องความสำคัญของการยกเลิกข้อจำกัดต่อพรรคการเมืองและเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมที่ยังเหลืออยู่
สำหรับ จรรยา กลุ่มแอคชั่นเพื่อประชาธิปไตย นั้นเธอนักกิจกรรมด้านแรงานและด้านการเมือง ปัจจุบันเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมือง มีชีวิตอยู่ในต่างประเทศสืบเนื่องจากคดีตามมาตรา 112
| ['ข่าว', 'การเมือง', 'สิทธิมนุษยชน', 'Action for People’s Democracy', 'สหภาพยุโรป', 'ผู้ลี้ภัย', 'จรรยา ยิ้มประเสริฐ\xa0'] |
https://prachatai.com/print/79585 | 2018-11-13 17:04 | พม่า-บังกลาเทศเตรียมส่งโรฮิงญากลับพฤหัสบดี 2 พันคน UN หวั่นไม่ปลอดภัย | พม่าเตรียมพร้อมรับผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาราว 2,000 คนในบังกลาเทศกลับประเทศ หลังมีข้อตกลงกับบังกลาเทศมาตั้งแต่เดือน ต.ค. ยูเอ็นชี้ ยังไม่ปลอดภัยที่จะกลับไปเพราะยังมีกลุ่มชาวพุทธต่อต้าน บังกลาเทศระบุ การย้ายกลับเป็นไปตามสมัครใจ ผู้สังเกตการณ์วิเคราะห์ ส่งตัวผู้ลี้ภัยออกไปเพื่อคลายแรงต้านทางการเมืองเพื่อเตรียมพร้อมสู่การเลือกตั้งทั่วไปในช่วงสิ้นเดือน ธ.ค. นี้
ภาพชาวโรฮิงญา (ที่มา: Amnesty International)
เมื่อ 11 พ.ย. ที่ผ่านมา รอยเตอร์รายงานว่า เจ้าหน้าที่พม่าได้ระบุว่า พม่าพร้อมจะรับชาวโรฮิงญามากกว่า 2,000 คนที่อาศัยอยู่ในบังกลาเทศ หลังจากเดือนที่แล้วมีการทำข้อตกลงระหว่างพม่าและบังกลาเทศว่าจะส่งชาวโรฮิงญากลับถิ่นฐานเดิมจำนวนทั้งสิ้น 5,000 คน
ทั้งนี้ มีชาวโรฮิงญาที่จะถูกส่งกลับจำนวนมากกว่า 20 คนที่กล่าวกับรอยเตอร์ว่าพวกเขาจะปฏิเสธการเดินทางกลับไปยังตอนเหนือของรัฐยะไข่ ซึ่งบังกลาเทศระบุว่าจะไม่มีการบังคับให้ใครกลับไป ด้านยูเอ็นก็ออกมาระบุว่าชาวโรฮิงญายังไม่มีความปลอดภัยที่จะกลับไป เนื่องจากกลุ่มชาวพุทธพม่ามีการประท้วงข้อตกลงการเดินทางกลับ
หน่วยงานด้านผู้ลี้ภัยของยูเอ็นเรียกร้องให้รัฐบาลพม่าอนุญาตให้ชาวโรฮิงญารับรู้เงื่อนไขในพม่าก่อนที่จะตัดสินใจเดินทางกลับ
วิน เมียต เอย์ รัฐมนตรีด้านสวัสดิการสังคมและการตั้งถิ่นฐานใหม่ของพม่าระบุว่า ชาวโรฮิงญากลุ่มแรกที่ถูกเตรียมให้เดินทางกลับนั้น มี 2,251 คนที่จะเดินทางด้วยเรือในวันพฤหัสบดีที่จะถึงนี้ ส่วนกลุ่มที่สองอีก 2,095 คนจะเดินทางด้วยการขนส่งทางบก หลังจากผ่านกระบวนการแล้ว ชาวโรฮิงญาจะถูกส่งไปยังศูนย์ที่ให้ที่อาหารและที่อยู่อาศัย รวมถึงว่าจ้างให้พวกเขาสร้างบ้าน
ผู้ที่จะเดินทางกลับถิ่นฐานนั้นจะได้รับอนุญาตให้เดินทางอยู่ภายในชุมชนมองดอว หนึ่งในสามพื้นที่ที่พวกเขาถูกขับไล่ออกมา และการเดินทางนั้นจะทำได้ก็ต่อเมื่อพวกเขามีเอกสารยืนยันตัวตนที่ชาวโรฮิงญาปฏิเสธมาตลอด เนื่องจากมองว่าเอกสารดังกล่าวเป็นการตีตราชาวโรฮิงญาเป็นคนต่างชาติ ทั้งนี้ ชาวโรฮิงญาจำนวนมากที่มีสภาวะเป็นคนไร้รัฐจากการถูกกระทำมาเป็นเวลาหลายทศวรรษต่างคัดค้านการเดินทางกลับพม่าหากไม่มีการการันตีเรื่องสัญชาติและเสรีภาพในการเดินทาง
ข้าหลวงผู้ลี้ภัย UN ปัดมีส่วนในข้อตกลง
เมื่อ 31 ต.ค. ที่ผ่านมา คริส เมลเซอร์ เจ้าหน้าที่อาวุโสของสำนักงานข้าหลวงผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ที่ประจำการในคอกบาซาร์ ประเทศบังกลาเทศ ได้เน้นย้ำว่า UNHCR ไม่ได้เป็นภาคีกับข้อตกลงการส่งชาวโรฮิงญากลับไป และเรียกร้องให้การส่งตัวกลับเกิดขึ้นบนการพิจารณาเรื่องความยั่งยืนและไม่เป็นการบังคับ
ชาวโรฮิงญาหลักแสนอาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยที่แออัดในคอกบาซาร์มานานมากกว่าหนึ่งปีแล้ว หลังถูกกองทัพพม่าขับไล่ด้วยความรุนแรงออกมาจากรัฐยะไข่ ทั้งนี้ รัฐบาลพม่าได้มีข้อตกลงกับ UNHCR ในเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมาว่าพวกเขาจะทำงานร่วมกับยูเอ็นในการสร้างเงื่อนไขที่ปลอดภัยและมีศักดิ์ศรีสำหรับชาวโรฮิงญาในการเดินทางกลับรัฐยะไข่ จะการันตีในเรื่องความปลอดภัย เสรีภาพในการย้ายถิ่นและหนทางสู่การมีสถานะเป็นพลเมืองด้วย แต่รัฐบาลพม่าก็ยังไม่สามารถบรรลุเงื่อนไขใดๆ ได้ และ UNHCR ก็ถูกจำกัดการเข้าถึงรัฐยะไข่
ผลประเมินระบุ กรรมการสิทธิฯ อาเซียนเชื่องช้าต่อเหตุการณ์การละเมิด-ไม่โปร่งใส [1]
ศาลอาญาระหว่างประเทศจะสอบสวนพม่ากวาดล้างโรฮิงญา [2]
5 เรื่องควรรู้หลังยูเอ็นจัดหนักพม่าด้วยรายงานที่ดุดันในกรณีโรฮิงญา [3]
สเตฟาน ดูจาริก โฆษกของเลขาธิการยูเอ็น อันโตนิโอ กูเตเรซ กล่าวว่า ขณะนี้รัฐยะไข่ยังไม่นำไปสู่การหวนคืนสู่พม่าของชาวโรฮิงญา “ในเวลาเดียวกัน เรากำลังเห็นผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาเดินทางจากรัฐยะไข่มายังบังกลาเทศอย่างต่อเนื่อง ซึ่งควรเป็นตัวบ่งชี้ถึงเหตุการณ์ในพื้นที่”
ผู้สังเกตการณ์บางคนตั้งข้อสังเกตว่าการส่งตัวชาวโรฮิงญากลับนั้นมีแรงขับดันจากปัจจัยทางการเมืองจากนายกรัฐมนตรีบังกลาเทศ ชีค ฮาซีนา เนื่องจากบังกลาเทศกำลังจะมีการเลือกตั้งทั่วไปช่วงสิ้นเดือน ธ.ค. ที่จะถึงนี้ และนโยบายการรับผู้ลี้ภัยเข้ามาอย่างต่อเนื่องกลายสภาพเป็นแรงกดดัน ทั้งที่จากเดิมนั้นเป็นผลดีในทางการเมืองต่อชีค ฮาซีนาในช่วงแรกๆ
แปลและเรียบเรียงจาก
Myanmar prepares for first Rohingya returnees, but UN warns against rushing, The Strait Times [4], Nov. 12, 2018
UN criticises Rohingya deal between Myanmar and Bangladesh, The Guardian [5], Oct. 31, 2018
| ['ข่าว', 'การเมือง', 'สิทธิมนุษยชน', 'คุณภาพชีวิต', 'ต่างประเทศ', 'โรฮิงญา', 'พม่า', 'บังกลาเทศ'] |
https://prachatai.com/print/79591 | 2018-11-13 20:04 | เลขาฯ กสทช. เผยผู้เชี่ยวชาญ WHO แจงคลื่นความถี่มือถือจากเสาสัญญาณไม่กระทบต่อสุขภาพ | ผู้เชี่ยวชาญองค์การอนามัยโลก ส่งหนังสือแจ้ง เลขาธิการ กสทช. ยันผลการศึกษาระบุการปล่อยคลื่นความถี่โทรศัพท์มือถือจากเสาสัญญาณไม่กระทบต่อสุขภาพ เผยการประชุมที่กรุงปารีส แจงคนไทยยังเป็นกังวล พร้อมเสนอจัดเวทีที่กรุงเทพฯถกหาข้อสรุป
13 พ.ย.2561 สำนักงาน กสทช. รายงานว่า ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) เปิดเผยวันนี้ ว่า ดร.อีมิลี ฟาน เดเวนเตอร์ หัวหน้าคณะรังสีวิทยา องค์การอนามัยโลก (World Health Organization, WHO) ทำหนังสือตอบกลับมาแล้วกรณีสำนักงานกสทช.ได้สอบถามในประเด็นความปลอดภัยจากคลื่นโทรศัพท์เคลื่อนที่ส่งสัญญาณผ่านสถานีฐาน ดร.เดเวนเตอร์ ยืนยันผลการศึกษาช่วงระยะ10ปีระหว่างปี 2539-2549 ระบุไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่สามารถชี้ได้ว่าการส่งสัญญาณในคลื่นความถี่ระหว่าง 0-300 กิกกะเฮิร์ตซ์ จากสถานีฐานและการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่มีผลร้ายแรงต่อสุขภาพ
ฐากร กล่าวว่า ดร.ฟาน เดเวนเตอร์ ยังระบุในจดหมายว่าในปี 2553 คณะนักวิทยาศาสตร์ขององค์การอนามัยโลก ได้ศึกษากรณีการส่งคลื่นสัญญาณเฉพาะโทรศัพท์เคลื่อนที่จากสถานีฐานก็ยังไม่พบหลักฐานว่าคลื่นความถี่มีผลต่อสุขภาพ
เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า หลังจากนั้นองค์การอนามัยโลกยังศึกษาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันถึงความสัมพันธ์ระหว่างสุขภาพร่างกายกับการปล่อยคลื่นความถี่จากอุปกรณ์ไร้สายและสถานีส่งสัญญาณคลื่นโทรศัพท์ ไม่พบว่ามีความสัมพันธ์ใดๆอีกเช่นกัน
“องค์การอนามัยโลกจะจัดประชุมในประเด็นคลื่นความถี่จากโทรศัพท์มือถือกับสุขภาพของผู้คนอีกครั้งในเดือนมิถุนายน ปีหน้าที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ องค์การอนามัยโลกเชิญตัวแทน กสทช.ไปร่วมประชุมด้วย” ฐากร กล่าว
ก่อนหน้านี้ เลขาธิการ กสทช. ได้ทำหนังสือไปยัง ดร.เดเวนเตอร์ ลงวันที่ 9 ต.ค. 2561 ขอคำแนะนำจากองค์การอนามัยโลกกรณีที่ประชาชนยังคงวิตกกังวลการส่งสัญญาณคลื่นความถี่โทรศัพท์มือถือจากสถานีฐานจะมีผลต่อสุขภาพร่างกาย แม้ว่ามีการเผยแพร่ข้อมูลผลการศึกษาทั้งจากองค์การอนามัยโลกและหน่วยงานเกี่ยวข้องกับคลื่นความถี่มาเป็นเวลาหลายปีแล้วยืนยันว่าไม่มีผลต่อสุขภาพ จึงเป็นที่มาของหนังสือตอบกลับจาก ดร.เดเวนเตอร์ ลงวันที่ 6 พ.ย. 2561
ในขณะเดียวกัน ฐากรและผู้เชี่ยวชาญด้านคลื่นความถี่ของสำนักงาน กสทช. เดินทางเข้าร่วมการประชุมความร่วมมือระดับโลกว่าด้วยนโยบายด้านสุขภาพและการวิจัยเกี่ยวกับคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าหรือกลอร์ (Global Coordination of Research and Health Policy on RF Electromagnetic Fields : G L O R E ) ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ระหว่างวันที่ 12-14 พ.ย. 2561
นักวิทยาศาสตร์สหรัฐฯ พบหลักฐานชัด คลื่นมือถือเป็นสาเหตุมะเร็งในหนูทดลอง [1]
ฐากร ได้รายงานสภาพปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการขยายโครงข่ายโทรคมนาคมของประเทศไทยว่ามีปัญหาอุปสรรคอะไรบ้าง โดยเฉพาะความวิตกกังวลเกี่ยวกับผลกระทบด้านสุขภาพจากการตั้งเสาสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ของประชาชนคนไทย อันเนื่องมาจากพัฒนาการที่รวดเร็วของการขยายโครงข่ายการใช้งานคลื่นความถี่แบบไร้สายในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้การร้องเรียนเรื่องสุขภาพมีหลากหลายในแง่ของผลกระทบเช่น ปวดศีรษะ หน้ามืด อ่อนแรง หรือแม้แต่อ้างว่าเป็นมะเร็งเป็นต้น ซึ่งการร้องเรียนต่างๆเหล่านี้ส่งไปยังหลายหน่วยงานทั้งในระดับท้องถิ่น สื่อสาธารณะ หรือแม้แต่ศาลปกครอง
ฐากร กล่าวว่า สำนักงาน กสทช. ไม่ได้นิ่งนอนใจ พยายามหาวิธีแก้ไขป้องกันเพื่อให้ประชาชนปลอดภัย โดยสำนักงาน กสทช. ได้ออกประกาศในปี พ.ศ. 2549 เพื่อบังคับใช้มาตรฐานการส่งสัญญาณคลื่นความถี่ของ 1998 ICNIRP ซึ่งเป็นมาตรฐานสากลในการกำกับการปล่อยคลื่นความถี่ รวมถึงจำกัดความแรงของคลื่นที่สถานีฐานปล่อยออกมา มาตรฐานอันนี้เป็นแนวทางที่หลายๆประเทศรวมถึงสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) และองค์กรอนามัยโลก เลือกใช้
นอกจากนี้ทางสำนักงาน กสทช. มีทีมเจ้าหน้าที่ 25 เขต สุ่มตรวจสอบสถานีฐานทั่วประเทศว่าเป็นไปตามข้อกำหนดของหลักเกณฑ์ดังกล่าวหรือไม่ รวมถึงยังจัดการประชาสัมพันธ์และให้ความรู้แก่ประชาชนร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขในเรื่องของความปลอดภัยของการใช้งานคลื่นความถี่ และให้ทางผู้ประกอบการเอกชนสร้างความรู้และความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ที่มีการติดตั้งสถานีฐานอีกด้วย
“ถึงแม้ว่าทางสำนักงานจะใช้หลักมาตรฐานสากลในการควบคุมการปล่อยคลื่นความถี่ของสถานีฐานและการสร้างความรู้ความเข้าใจกับประชาชน แต่ก็ยังพบข้อร้องเรียนในเรื่องดังกล่าวมาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่ง กสทช. คิดว่าความกังวลของประชาชนในเรื่องนี้จะเป็นอุปสรรคสำคัญของประเทศในการเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัลที่การใช้คลื่นความถี่ในการติดต่อสื่อสารของเทคโนโลยีนั้นมีแต่จะมากขึ้น โดยเฉพาะเทคโนโลยีใหม่ 5G ที่ต้องวางเสาสัญญาณมากกว่าเทคโนโลยี 3G และ 4G ที่ใช้ในปัจจุบัน” เลขาธิการ กสทช. กล่าวในที่ประชุม
ฐากร กล่าวอีกว่า ในการประชุม GLORE 2018 ทาง กสทช. หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะให้ความช่วยเหลือในเรื่องของผลการศึกษาและหลักฐานรวมถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหาความกังวลของประชาชนที่คิดว่าคลื่นความถี่มีอันตรายต่อสุขภาพที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่นี้
เลขาธิการ กสทช. กล่าวในตอนท้ายว่า ทางสำนักงาน กสทช. ได้เสนอต่อที่ประชุมของ GLORE ว่าจะเชิญผู้เชี่ยวชาญขององค์การอนามัยโลก สมาชิกของ GLORE ทั่วโลกเข้าที่ประชุมในประเทศไทย สำนักงาน กสทช.พร้อมจะเป็นเจ้าภาพและหารือในประเด็นต่างๆเกี่ยวข้องระหว่างคลื่นความถี่กับสุขภาพร่างกาย
| ['ข่าว', 'คุณภาพชีวิต', 'ไอซีที', 'ฐากร ตัณฑสิทธิ์', 'WHO', 'องค์การอนามัยโลก', 'กสทช.', 'คลื่นความถี่โทรศัพท์มือถือ', 'เสาสัญญาณ'] |
https://prachatai.com/print/79593 | 2018-11-13 20:36 | ภาคปชช. ค้าน กม.ซุปเปอร์บอร์ดสุขภาพ อัดมาพร้อมโอกาสร่วมจ่าย ณ จุดบริการ | กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพระบุรัฐมองระบบหลักประกันสุขภาพเป็นภาระ ชี้ซุปเปอร์บอร์ดอำนาจล้น-ทับซ้อน รัฐเป็นใหญ่ ขณะที่ภาคประชาชนมีส่วนร่วมของไม่ถึง 10% มองเป็นการทำลายระบบบัตรทอง เครือข่ายผู้ติดเชื้อประกาศหากกฎหมายผ่านจะรวมตัวปกป้องระบบหลักประกันสุขภาพ ‘นิมิตร์’ ชี้ รพ.ขาดแคลนงบประมาณต้องแก้ทั้งระบบ อย่าโทษกันไปมา
13 พ.ย. 2561 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ เวลา 10.00 น. ตัวแทนกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพทั่วประเทศร่วมกันแถลงข่าวคัดค้านการออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติ หรือซุปเปอร์บอร์ดสุขภาพแห่งชาติ ที่โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะที่ห้อง BB206 โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ
‘ซุปเปอร์บอร์ด’ มาได้ไง
กระทรวงสาธารณสุขได้เสนอ ร่าง พ.ร.บ. ซุปเปอร์บอร์ดสุขภาพแห่งชาติ หรือร่าง พ.ร.บ. คณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. .... โดยมีสาระสำคัญของคือการตั้งคณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติ เพื่อทำหน้าที่กำหนดนโยบายสุขภาพของประเทศให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ลดความเหลื่อมล้ำของประชาชนในการเข้าถึงระบบสุขภาพที่ดี ซึ่งนั้นหมายถึงการรวมกองทุน 3 ระบบได้แก่ บัตรทอง, ประกันสังคม, ข้าราชการ มาไว้ในความดูแลของ ซุปเปอร์บอร์ด
ค้านร่าง พ.ร.บ. ซุปเปอร์บอร์ดสุขภาพแห่งชาติ เขาค้านอะไรกัน [1]
ค้านตั้ง 'ซุปเปอร์บอร์ดสุขภาพ' ชี้ขาดส่วนร่วมจาก ปชช. - ผลักบัตรทองกลับไปอยู่ในมือข้าราชการ [2]
ประณามมติ ครม. อนุมัติ กม.ตั้งซุปเปอร์บอร์ดสุขภาพชาติ ชี้กินรวบทำ 30 บาทอนาถา [3]
ซุปเปอร์บอร์ดอำนาจล้น-ทับซ้อน มาพร้อมโอกาสร่วมจ่าย ณ จุดบริการ
นิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ และตัวแทนกลุ่มคนรักหลักฯ กล่าวว่า ตอนนี้ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติ หรือซุปเปอร์บอร์ดสุขภาพแห่งชาติ ผ่าน ครม. ไปแล้ว กำลังอยู่ที่กฤษฎีกา ก่อนจะเข้า สนช. เราพูดกันมาตั้งแต่แรกว่ากฎหมายนี้ไม่จำเป็น ไปทับซ้อนกับกฎหมายอื่น และให้อำนาจที่ไม่จำเป็นที่ชี้หรือกำกับว่าการดำเนินงานของหน่วยงานด้านสุขภาพ มีอำนาจเหนือบอร์ดสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ถ้าคณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติมีมติ มีนโยบายอะไร โดยที่ไปแย้งกับกฎหมายดั้งเดิม กฎหมายดั้งเดิมก็จะตกไป เพราะกฎหมายนี้ใหญ่กว่า จึงเป็นการให้อำนาจกับคนเฉพาะกลุ่มเกินกว่าเหตุ
นอกจากนี้ระบบหลักประกันสุขภาพถูกมองว่าเป็นภาระจากผู้มีอำนาจ จากรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง จึงมีความคิดจะแก้กฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แต่พอพวกเรากลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพแห่งชาติลุกขึ้นมาส่งเสียงว่ากฎหมายถ้าจะแก้แล้วแย่ อย่าแก้ดีกว่า กฎหมายฉบับนี้ ก็ยังค้างเป็นผีดิบ ไม่รู้จะเอาอย่างไร แต่วันดีคืนดีก็ฟื้นคืนชีพแปลงร่างมาเป็นกฎหมายซุปเปอร์บอร์ด
“ถ้ารัฐบาลชุดนี้แก้ให้มีการร่วมจ่าย เราอาจจะเจอเคสแบบโรงพยาบาลพระราม 2 ที่ไปตายกลายทาง เพราะประชาชนพอบอกว่าต้องร่วมจ่ายก็จะคิดเยอะ และพยายามจะจัดการตัวเอง แล้วก็อาจถูกปฏิเสธการรักษาถ้าไม่มีเงินร่วมจ่าย เราจะยอมให้เป็นแบบนี้หรือ ถ้าเราไม่ส่งเสียงแบบนี้ โอกาสที่ประชาชนจะตายทั้งเป็นมีเยอะ โอกาสที่ระบบหลักประกันสุขภาพจะถูกทำให้ตายลงไปเรื่อยๆ และไม่สามารถกำหนดสิทธิประโยชน์เองได้ ถ้ามีเลือกตั้งเราอาจจะต้องถามพรรคการเมืองที่จะเข้ามาว่าเอายังไงกับเรื่องพวกนี้ ถ้าจะมีซุปเปอร์บอร์ด ต้องไม่มีอำนาจมากเกินไป และต้องอยู่ในขอบเขตการวางนโยบาย ไม่มีสิทธิมาล้วง มากำกับ มาสั่งการ ระบบสุขภาพที่มีอยู่” นิมิตร์กล่าว
ซุปเปอร์บอร์ดรัฐเป็นใหญ่-มีส่วนร่วมของภาคประชาชนไม่ถึง 10% ทำลายระบบบัตรทอง
จุฑา สังขชาติ ตัวแทนกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพภาคใต้ กล่าวว่า อยากย้ำประเด็นสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ การกินรวบของกฎหมายฉบับนี้ เห็นได้ชัดจากโครงสร้างคณะกรรมการที่มี 45 คน แต่มีประชาชนแค่ 3 คน ไม่ถึง 10% ของกรรมการทั้งหมด ถือว่าน้อยมาก ที่เหลือเป็นข้าราชการ วิชาชีพทางการแพทย์ และมีแม้กระทั่งสภาอุตสาหกรรมและสภาหอการค้าซึ่งมีตัวแทนจากสมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ หรือพรีม่าอยู่ด้วย ซึ่งน่าจะมีผลประโยชน์ทับซ้อน ถามว่าเอากลุ่มนี้เข้ามา เขาก็ต้องพิทักษ์ผลประโยชน์ของตัวเองและพวกพ้อง ไม่ได้พิทักษ์ผลประโยชน์ของประชาชนส่วนรวม สัดส่วนโครงสร้างแบบนี้จะนำไปสู่การทำลายระบบหลักประกันสุขภาพ
มีนา ดวงราษี ตัวแทนกลุ่มคนรักหลักฯ ภาคอีสาน กล่าวว่า ช่วงนี้เราจะเห็นจากข่าวว่ามีผู้ทรงคุณวุฒิหลายคน ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหลายคนพูดว่าระบบหลักประกันสุขภาพเป็นภาระ ทางเรารู้สึกหนักใจ เพราะส่วนหนึ่งคือภาวะทางเศรษฐกิจตอนนี้ และรู้สึกเรากำลังถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนในการเป็นประชากรในประเทศไทยในเรื่องสิทธิในการเข้าถึงการรักษาพยาบาลซึ่งรัฐต้องจัดสวัสดิการในการดูแล
โดยหลักการของการบริหารโครงสร้างใหญ่ๆ ต้องมีหลักการของประชาธิปไตย ซึ่งมากไปกว่าการถ่วงดุล คือตรวจสอบได้ แต่ซุปเปอร์บอร์ดที่อ้างว่าปฏิรูประบบสุขภาพ ทางอีสานไม่เห็นด้วย ขอยืนยันว่านี่คือการปฏิวัติที่ลงสู่เหว ไม่ได้ทำให้ดีขึ้น
พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปี 2545 นับเป็นกฎหมายฉบับหนึ่งที่ประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุด ในการคิด ออกแบบ ร่วมเป็นกลไก ไม่ใช่เป็นแค่ผู้รับบริการสาธารณสุข แล้วพอเกิดการถ่วงดุลมากขึ้น ผู้เสียอำนาจจึงเริ่มคิดว่าทำอย่างไรจะเรียกอำนาจกลับคืนมา
“เราคิดว่าเรื่องนี้ไม่เป็นธรรม ประชาชนต้องร่วมมือกัน กีดกันไม่ให้ออกเป็นกฎหมายได้ 3 ระบบหลักประกันสุขภาพ บัตรทอง ประกันสังคม ข้าราชการ ยังมีความเหลื่อมล้ำกันอยู่ และซุปเปอร์บอร์ดนี่แหละจะทำให้ระบบเหล่านั้นถ่างออกจากกันมากขึ้น และจะส่งเสริมให้กลุ่มต่างๆ เช่น กลุ่มนักการเมือง กลุ่มบริษัทยา เข้าไปแสวงหาผลประโยชน์บนชีวิตและสุขภาพของประชาชน อยากให้รัฐฟังเสียงของกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ คนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่เป็นรากฐานของระบบหลักประกันสุขภาพ” มีนากล่าว
มีนาให้ข้อสังเกตว่า กฎหมายซุปเปอร์บอร์ดสุขภาพฉบับนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการทำลายระบบ 30 บาทของประชาชน จากหลักการมีส่วนร่วมของกฎหมายเดิม เช่น กฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ออกแบบมาจนสามารถสร้างความรู้สึกร่วมเป็นเจ้าของให้กับประชาชนทุกคน กำลังจะถูกทำลายลง ในขณะที่ อ้างกันว่าจะปฏิรูปประเทศ จะสร้างสังคมที่เป็นธรรม แต่กลับออกกฎหมายด้วยหลักคิดแบบเดิมๆ คือ รัฐเป็นใหญ่เท่านั้น
เครือข่ายผู้ติดเชื้อลั่น หาก กม.ผ่านจะรวมตัวปกป้องระบบหลักประกันสุขภาพ
อภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย ตัวแทนผู้ป่วยเรื้อรัง กล่าวว่า กลุ่มเรามีตั้งแต่ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยมะเร็ง ผู้ป่วยไตวาย ผู้ป่วยจิตเวช ผู้ป่วยโรคหัวใจ ผู้ป่วยความดันเบาหวานทั้งหลาย ซุปเปอร์บอร์ดเกิดขึ้นเมื่อไหร่กลุ่มเหล่านี้จะเป็นผู้ป่วยกลุ่มแรกๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการร่วมจ่าย ณ จุดบริการ เพราะวิธีคิดของรัฐมีปัญหา คือบอกว่าเราพาโรคเหล่านี้มาใส่ตัว ทำให้ทเราต้องรับผิดชอบด้วยในการร่วมจ่าย ผู้ป่วยเรื้อรังทั่วประเทศต้องตื่นตัว และลุกขึ้นมาปกป้องระบบหลักประกันสุขภาพของเราร่วมกัน
“อย่างไรก็ตาม เครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ ทั่วประเทศหลายหมื่นคนจะเตรียมพร้อม และจะรวมพลังกันอีกครั้ง ถ้าเข้า สนช. เมื่อไหร่พวกเราก็พร้อมจะมารวมตัวกัน เพราะนี่คือการฆ่ากันทางอ้อม เพราะพวกเราตายแน่นอนจากการไม่มีสตางค์จ่าย นี่คือซุปเปอร์บอร์ดที่จะนำมาสู่การฆาตกรรมผู้ป่วยเรื้อรังเป็นอันดับแรกๆ” อภิวัฒน์กล่าว
อภิวัฒน์กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ในการประชุมของกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ที่ประชุมยังได้มีความเห็นต่อการยื่นลาออกของบอร์ดหลักประกันสุขภาพทั้ง ๔ คนว่า เป็นเรื่องที่แต่ละคนตัดสินใจได้ ไม่ว่าด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม แต่ภาคประชาชนจะจับตามอง เพราะหากเป็นไปตามข่าวที่ออกมาเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ลาออกเพราะไม่ต้องการยุ่งยากแจกแจงบัญชีทรัพย์สินกับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ก็เห็นว่า คนเหล่านี้คงไม่พร้อมมาเป็นกรรมการฯ ที่ถือว่ามีส่วนสำคัญต่อการกำหนดนโยบายงบประมาณระดับแสนล้าน เนื่องจากคุณสมบัติเรื่องความโปร่งใสต้องเป็นอันดับหนึ่ง โดยกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพเรียกร้องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานบอร์ด เร่งให้มีการจัดสรรหาบอร์ดใหม่เข้ามาทำหน้าที่แทนโดยเร็ว
‘นิมิตร์’ ชี้ รพ.ขาดแคลนงบประมาณต้องแก้ทั้งระบบ อย่าโทษกันไปมา
ภายในการแถลงข่าว มีคำถามเรื่อง รพ. ภาคกลางขาดงบประมาณจากระบบ นิมิตร์ได้ชี้แจงว่า ระบบหลักประกันสุขภาพมีหลักการว่า ใกล้บ้านใกล้ใจ รักษาตามที่ที่เราอยู่ ระบบงบประมาณก็จะแจกไปตามจำนวนประชากรในพื้นที่ หน่วยบริการภาคกลางเกิดปัญหาเรื่องประชากรเบาบาง ทำให้งบประมาณไปแต่ละ รพ. จำกัด เช่น รพ.มีนบุรี มีประชากรหลักหมื่นคน แต่มีเจ้าหน้าเกือบ 500 คน ดังนั้นพอไปเทียบกับงบจำนวนหัวของประชากรที่ได้จึงไม่พอ จนอาจเกิดภาวะขาดทุน ซึ่งเป็นเรื่องที่กระทรวงสาธารณสุขต้องจัดการ
“ตอนนี้กระทรวงสาธารณสุขเล่นง่ายมาก พอ รพ.ไหนขาดทุนก็ของบกลางจากรัฐบาลมาอุดหนุน กรรมการที่เคยดูเรื่องนี้เคยตั้งคำถามว่าจะแก้เรื่องนี้อย่างถาวรได้อย่างไร ตลอด 15 ปีมานี้ รพ.ที่ขาดทุนอันเนื่องจากมีข้าราชการเยอะไม่เคยแก้ปัญหา ไม่มีคนเกษียณหรือไม่มีคนย้ายเลยหรือ ไม่สามารถจัดการทรัพยกรบุคคลในแง่นี้ได้
เราอยากเห็นแผนการชัดเจนในการแก้ปัญหาเรื่องนี้ เช่นการคุมจำนวนบุคคลกร เพิ่มประสิทธิภาพการจัดทำบัญชีรายรับรายจ่ายของ รพ. เพื่อคุมค่าใช้จ่ายได้อย่างไร คุมการรักษาพยาบาลที่สมเหตุสมผลได้อย่างไร เรารู้ว่าโรงพยาบาลขาดทุน รู้ว่าเจ้าหน้าที่ทำงานหนัก แต่เรื่องนี้เราต้องช่วยกันแก้ทั้งระบบ ไม่ใช่โทษกันไปมาแบบนี้” นิมิตร์ กล่าว
มีนา กล่าวเสริมว่า การมีซุปเปอร์บอร์ดก็ไม่ใช่ว่าจะแก้ปัญหาเรื่องขาดแคลนงบได้ มีโอกาสที่ระบบแย่ลงกว่าเดิม เพราะขาดเงื่อนไขที่สำคัญหลายอย่าง เช่น การมีส่วนร่วม และทั้งนี้ระบบหลักประกันก็มีนโยบาย เช่น เงินอุดหนุนแถวชายแดน ผันงบเข้าไปช่วย เครือข่ายประชาชนก็เข้าไปมีส่วนร่วมส่งข้อมูล จึงเห็นว่าควรต้องพัฒนากฎหมายที่ดีอยู่แล้วให้ดียิ่งขึ้น อย่าไปพากฎหมายที่น่าจะสร้างความวุ่นวายเข้ามา
| ['ข่าว', 'การเมือง', 'สังคม', 'คุณภาพชีวิต', 'กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ', 'ระบบหลักประกันสุขภาพ', 'ร่วมจ่าย', 'ซุปเปอร์บอร์ดสุขภาพ', 'พ.ร.บ. คณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติ', 'นิมิตร์ เทียนอุดม', 'เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย'] |
https://prachatai.com/print/79594 | 2018-11-13 20:48 | โลก binary ที่น่าอึดอัด: ภาษานั้นสำคัญไฉน |
(photo credit: from a Facebook page “Drawings of Dogs [1]”)
ในหนังสือ “Tomboy’s Survival Guide” ไอวาน โคโยตี (Ivan Coyote) นักเขียน non-binary ชาวแคนาดาบอกเล่าเรื่องราวชีวิตในฐานะคนที่เกิดมาเป็น “ผู้หญิง” แต่กระนั้นก็ไม่เคยรู้สึกว่าตนเป็นผู้หญิง และไม่รู้สึกว่ากรอบทางเพศในโลก gender binary ที่เชื่อว่าโลกนี้มีแค่หญิงและชายสามารถอธิบายตัวตนและประสบการณ์ของตนได้ “Tomboy Survival Guide” จึงเป็นหนังสือบอกเล่าประสบการณ์การควานหาตัวตนในโลกที่บอกว่าอัตลักษณ์ทางเพศมีแค่ “หญิงและชาย” ผู้เขียนจึงคิดว่า
การแปลหนังสือเล่มนี้จากต้นฉบับภาษาอังกฤษมาเป็นภาษาไทยมีประเด็นน่าสนใจให้เราได้ถกเถียงและแสดงความเห็นกัน เพราะการแปลหนังสือเล่มดังกล่าวต้องอาศัยความเข้าใจต่อการประกอบสร้างของอัตลักษณ์ทางเพศ และการปฏิสัมพันธ์กันระหว่างตัวบุคคลกับโลกที่ไม่มีพื้นที่ให้ตัวตนนอกกรอบเพศ
ตอนที่ไอวานไปออกรายการ On the Coast เพื่อพูดถึง “Tomboy’s Survival Guide” ไอวานกล่าวว่า
"I had a gender identity, it just didn't fit into a gender 'box,'" Coyote told On The Coast host Stephen Quinn. "I never really had words for things, but I never really identified as a girl, either."[1]
“ฉันมีอัตลักษณ์ทางเพศ มันแค่ไม่ได้อยู่ในกรอบ” ไอวาน โคโยตีบอกสตีเฟน ควินน์ผู้เป็นพิธีกร “ตอนนั้นฉันไม่เคยมีคำมาอธิบายสิ่งต่างๆเหล่านี้ แต่ฉันก็ไม่เคยมองว่าตัวเองเป็นเด็กผู้หญิงเช่นกัน”
“ตอนนั้นฉันไม่เคยมีคำมาอธิบายสิ่งต่างๆเหล่านี้” ประโยคที่ไอวานกล่าวสะท้อนประสบการณ์ของคนข้ามเพศและคนเพศชายขอบอื่นๆที่ไม่สามารถหา “คำ” มาอธิบายตัวตนของตัวเองได้ ซึ่งเป็นหัวใจของหนังสือไอวาน ในหลายๆบทของ “Tomboy’s Survival Guide” ผู้เขียนเล่าประสบการณ์ตอนเด็กในลักษณะที่ไม่รู้สึกว่าตัวตนของตัวเองเป็นไปตามขนบของความเป็นเด็กผู้หญิง ในลักษณะที่ “ไม่เคยมีคำมาอธิบายสิ่งต่างๆเหล่านี้ ในบท “ONLY LITTLE GIRL” (เด็กผู้หญิงเพียงคนเดียว) ที่ผู้เขียนซึ่งในขณะนั้นอายุเพียงสิบเอ็ดปีกำลังนั่งดูโทรทัศน์ฉายพิธีอภิเสกสมรสของเจ้าหญิงไดอานาและเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ เมื่อพิธีกรกล่าวว่า “Every little girl in the whole world wants to be just like her [Princess Diana] today. Every little girl in the whole wide world” (วันนี้เด็กผู้หญิงทุกคนบนโลกต้องการเป็นแบบเธอ เด็กผู้หญิงทุกคนบนโลกอันกว้างใหญ่นี้) หลังจากที่ผู้ประกาศข่าวกล่าวดังนั้น ไอวานบรรยายความรู้สึกตอนนั้นว่า
“Those words shot out of the tinny speaker in my grandmother’s old cabinet television and pierced through the skin of my still flat chest like poisoned darts. I didn’t want a dress like that, a dress so long other people had to follow you around and carry it for you. I didn’t want my hair and makeup to be perfect so I could marry some chinless British guy who didn’t even earn his own war medals.”
(ถ้อยคำเหล่านั้นพุ่งออกมาจากลำโพงทีวีในห้องเก่าๆของยายและทิ่มแทงหน้าอกที่ยังแบนราบของฉันราวกับลูกดอกอาบยาพิษ ฉันไม่ได้อยากแต่งตัวแบบนั้น ไม่ได้อยากสวมชุดยาวลากพื้นจนต้องมีคนคอยช่วยถือ ไม่ได้ต้องการแต่งหน้าทำผมเพอร์เฟ็คเลิศเลอเพื่อแต่งงานกับชายอังกฤษคางสั้นที่ไม่ได้ได้เหรียญสงครามมาด้วยตัวเองด้วยซ้ำ)
ประโยคที่ยกมาข้างต้นสะท้อนให้เห็นเป็นอย่างดีเกี่ยวกับประสบการณ์ของคนที่รู้สึกเข้ากันไม่ได้กับตัวตนทางเพศที่โลกมอบให้ ไอวานอธิบายความรู้สึกเข้ากันไม่ได้กับโลก gender binary ได้อย่างรวดร้าวและเห็นภาพ ทั้งที่ผู้ประกาศข่าวบอกว่า เด็กผู้หญิงทุกคนต้องการเป็นอย่างเจ้าหญิงไดอาน่า “เด็กผู้หญิงทุกคนบนโลกอันกว้างใหญ่นี้” ทว่า ชื่อของบทดังกล่าวคือ “THE ONLY LITTLE GIRL” สะท้อนว่าไอวานตอนนั้นมองว่าตนคือ “เด็กผู้หญิงเพียงคนเดียว” ที่ไม่ได้อยากแต่งงานกับเจ้าชาย ความรู้สึกว่าตนเป็นเพียง “เด็กผู้หญิงเพียงคนเดียว” ในโลกใบนี้ที่ไม่ได้รู้สึกเช่นนั้น เป็นส่วนสำคัญของหนังสือที่บอกเล่าประสบการณ์เรื่องเพศ เพราะองค์ประกอบที่สำคัญมากของอัตลักษณ์ทางเพศคือ “ประสบการณ์” โดยเฉพาะอย่างยิ่งประสบการณ์ที่ต้องพุ่งชนกับโลกที่ไม่มีพื้นที่ให้ตน ดังที่ไอวานเองกล่าวในตอนหนึ่งของหนังสือว่า
“It’s not like I thought I was a real boy. I just knew I was not really a girl.”[2]
“ไม่ใช่ว่าฉันคิดว่าฉันเป็นเด็กชายจริงๆ แต่ฉันแค่รู้ว่าฉันไม่ใช่เด็กผู้หญิง”
นี่คือประสบการณ์การประกอบสร้างของอัตลักษณ์ทางเพศที่ไอวานเผชิญ “ไม่ใช่ว่าฉันอยากจะเป็นเด็กชาย แต่ฉันแค่รู้ว่าฉันไม่ใช่เด็กผู้หญิง” ประโยคนี้สะท้อนการควานหาตัวตน สะท้อนการที่ตัวตนทางเพศยังไม่คงที่ การที่ยังไม่ได้ตระหนักว่าตนเป็นใครหรืออัตลักษณ์ทางเพศที่จะอธิบายตัวตนของตนได้คืออะไร ดังนั้นแม้แต่การเลือกใช้ “สรรพนามผู้พูด” ก็ควรใช้คำที่สามารถสะท้อนประสบการณ์และความจำเพาะ (nuances) ดังกล่าวได้ และหากเรามีตัวเลือกดังกล่าวในภาษาไทย เราก็ควรใช้เพื่อให้ภาษาปลายทางสามารถสื่อความจำเพาะนั้น ซึ่งก็น่าจะเป็นคำว่า “ฉัน” ซึ่งมีความเป็นกลางทางเพศมากกว่าคำว่า “ผม” ในภาษาไทยเองก็มีการใช้คำว่า “ฉัน” อย่างหลากหลาย หากเราสังเกตรอบๆตัวเพลงไทยในปัจจุบันไม่ว่าผู้หญิงหรือผู้ชายเป็นคนร้องก็มีการใช้สรรพนาม “ฉัน” แทนตัวคนร้องได้ทั้งนั้น เช่น เพลง “ฉันยังรักเธอ” ของเต้ย อภิวัฒน์ & Night Tingle Ft. ยุ่งยิ่งกนกนัทน์ ที่นักร้องทั้งชายและหญิงใช้สรรพนามว่าฉัน หรือเพลง “โปรดรักฉันรักฉันเถอะนะจะไม่ทำให้เธอเสียใจ” (เพลง PLEASE ของอะตอม ชนกันต์) “ฉันยืนเหม่อมองจนเธอลับห่างไกล” (เพลงช้ำคือเรา ของนิตยา บุญสูงเนิน) เพลงเหล่านี้และอีกมากมายผู้ร้องทั้งหญิงและชายต่างก็ใช้สรรพนาม “ฉัน” แทนตัวเอง
ในต้นฉบับภาษาอังกฤษของ “Tomboy’s Survival Guide” ไอวานบอกเล่าเรื่องราวผ่านสรรพนาม “I” ซึ่งก็แน่นอนว่าเป็นสรรพนามที่มีความเป็นกลางทางเพศ (gender-neutral) อยู่แล้ว เพราะไม่ว่าคนเพศใดก็ใช้สรรพนามคำนี้ได้หมด เช่นเดียวกันในภาษาไทยเราก็มีสรรพนามของผู้พูดที่มีความเป็นกลางทางเพศคือคำว่า “ฉัน” ผู้เขียนจึงเห็นว่าหากเราจะแปลสรรพนามผู้พูดใน “Tomboy’s Survival Guide” เป็น “ผม” คงจะไม่เหมาะนัก หากแปลสรรพนามผู้พูดเป็นคำว่า “ผม” ในบทที่ไอวานยังเป็นเด็กและยังไม่ได้อธิบายตัวเองว่าเป็นผู้ชาย การแปลแบบดังกล่าวก็ดูจะไปลดทอนประสบการณ์ของไอวานที่เติบโตมาในโลกที่บอกว่าตัวตนของไอวานเป็นผู้หญิง และลดทอนมิติการพยายามตามหาและต่อสู้กับโลกที่ไม่มีคำอธิบายให้ตัวตนนอกกรอบเพศ
หากจะกล่าวว่าการใช้สรรพนามผู้พูด “ผม” เหมาะสมกว่าการใช้สรรพนาม “ฉัน” เพราะไอวานเป็นชายข้ามเพศ และเพราะในตอนหนึ่งของหนังสือที่ไอวานสนทนากับคนครัว ไอวานบอกคนครัวที่ในตอนแรกเรียกไอวานว่า “Miss” ว่า "Actually," I say, "I prefer Sir." ว่าเป็นเหตุผลในการใช้คำว่า “ผม” ในแง่หนึ่งก็เป็นไปได้ เราอาจใช้คำว่า “ผม” กับเรื่องเล่าของไอวานในตอนโต เพื่อสะท้อนการตระหนักถึงตัวตนของตัวเองในที่สุด กระนั้นก็ดี ภาษาและเพศเป็นสิ่งเรียบง่ายขนาดนั้นหรือ? เพียงแค่การที่ไอวานรู้สึกว่าตนเองเหมาะกับคำว่า “sir” มากกว่า ก็ไม่ได้หมายความว่าไอวานเลือกใช้สรรพนามผู้พูดที่มีความเฉพาะเจาะจงทางเพศอย่าง ‘ผม’ จะเป็นตัวเลือกที่ดี ไอวานเองกล่าวไว้ในเฟสบุ๊คว่า
“I use the pronoun they. I am used to people using both he and she to refer to me, and I have used both pronouns for myself for different reasons in the past, before I knew about the they pronoun. I make myself be okay with people using either pronoun for me most days, mostly because I don't want how my day goes to be decided by others language too too much.
But I use the pronoun they, and the added respect and feeling "seen" when people get it right feels so good and accurate and true to me. I really appreciate those people who ask, who learn it and then do it, especially when they just do it and don't turn it into a production. Like, I really appreciate it.”[3]
จะเห็นได้ว่าไอวานไม่ได้จุกจิกกับการใช้คำสรรพนามนัก แต่ตัวไอวานเองชอบการใช้สรรพนาม “they” เพราะคำที่เป็นกลางทางเพศดังกล่าวทำให้รู้สึกได้รับการเคารพและได้รับการมองเห็น อีกทั้งเมื่อผู้คนใช้สรรพนามดังกล่าวก็ทำให้รู้สึก “so good and accurate and true” นี่เองเป็นอีกมิติหนึ่งในการใช้ภาษากับเรื่องเพศที่ต้องเคารพตัวตนทางเพศของคน และต้องใช้ภาษาตามที่คนอื่นอาจมองว่าแหวกขนบ แต่การใช้ภาษาแบบดังกล่าวเป็นวิธีการต่อสู้เพื่ออัตลักษณ์ทางเพศ ให้ความหลากหลายทางเพศมีตัวตนขึ้นมาได้ในระบบภาษาที่ไม่มีความเป็นกลางทางเพศและทำให้อัตลักษณ์ทางเพศที่มีความหลากหลายได้รับการยอมรับมากขึ้น
ไม่ใช่เพียงสรรพนาม แต่คำอื่นๆในภาษาก็อาจถูกผูกติดกับกรอบทางเพศได้ การแปลหนังสือที่บอกเล่าประสบการณ์อัตลักษณ์ทางเพศที่ไม่ตรงกับกรอบทางเพศ จึงควรให้ความสนใจกับการใช้คำเล็กๆน้อยๆ (แต่มีความสำคัญ) ซึ่งเป็นความพยายามที่จะทำลายกรอบทางเพศด้วย และควรสนใจประวัติศาสตร์และความจำเพาะของคำบางคำที่หากแปลเป็นภาษาไทยอาจไม่สามารถสะท้อนความจำเพาะ (nuance) ของคำนั้นๆได้ เช่น ประโยคต้นฉบับภาษาอังกฤษที่ว่า “I told him that queer people lined up to give blood and they wouldn't take it” ผู้เขียนมองว่าคำว่า “queer” ควรใช้คำทับศัพท์ไปเลย เพราะคำดังกล่าวจะสามารถสะท้อนความจำเพาะของคำว่าเควียร์ซึ่งเป็นคำที่ในภาษาไทยยังไม่มี คำว่าเควียร์นั้นเต็มไปด้วยประวัติศาสตร์ของการถูกกดขี่และการต่อสู้ โดยที่คำดังกล่าวมักเป็นคำที่ใช้เรียกคนรักร่วมเพศ โดย “Queer was the universally used word, the definition of the oppressor, and the term symbolising the accepted oppression”[4] คือคำว่าเควียร์เคยถูกใช้เป็นคำด่า เป็นคำที่ใช้กดขี่คนรักร่วมเพศ แต่ต่อมาคำๆนี้เองถูกนำมาใช้โดยคนรักร่วมเพศ และผู้คนที่มีอัตลักษณ์ทางเพศแตกต่างหลากหลาย ซึ่งไม่ใช่แค่คนเพศใดเพศหนึ่ง แต่มากไปกว่านั้น และใช้เพื่อเป็นการ “ทวงคืนอัตลักษณ์” ในตั้งแต่ช่วง 1990 โดย gender activist และ gender theorist อย่างกว้างขวาง “Queer activists use the concept ‘queer’ to affirm multiple non-heterosexist identities and varied non- heterosexist experience. They also challenge the construction of a one-dimensional version of lesbian and gay identity which reinforces and sustains heterosexism.” (Anne 76)[5]
หรืออย่างในต้นฉบับภาษาอังกฤษมีบทหนึ่งชื่อว่า “my beautiful boy” ผู้เขียนขอเสนอให้แปลว่า “ชายหนุ่มผู้งดงาม” (หรือใช้คำอื่นๆที่ยังคงไว้ซึ่งลักษณะ “feminine” ของคำว่า “beautiful”) เพราะในเมื่อหนังสือเล่มนี้บอกเล่าการเผชิญกับโลกที่มีกรอบทางเพศ และไอวานเองก็ใช้คำว่า “beautiful” การคงไว้ซึ่งลักษณะ “femininity” ซึ่งนำมาใช้อธิบาย “boy” ดูจะเป็นความพยายามในการออกจากกรอบทางเพศที่ผู้หญิงเท่านั้นสามารถ “beautiful” ได้ อีกทั้งอาจตรงกับจุดยืนของไอวานที่ไม่ต้องการสร้างกรอบทางเพศใดๆให้ผู้คนรู้สึกเป็นอื่น ดังที่ไอวานเองเคยกล่าวไว้ว่า
“I have no desire to create some kind of a box that people can feel alienated by,” explains storyteller and saxophonist Ivan Coyote, ...“My intention is to celebrate people who push the gender norms a little bit.”[6]
อนึ่ง การแปลหนังสือเช่นนี้มีย่อมตัวเลือกที่หลากหลาย เปิดกว้างต่อการตีความของแต่ละบุคคลว่าควรใช้สรรพนามเช่นไร หรือใช้คำศัพท์เช่นไรในบริบทแบบไหนให้ความหมายของต้นฉบับและประสบการณ์ของนักเขียนได้รับการสื่อสารออกมาอย่างดีที่สุด อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยผู้เชี่ยวชาญการแปลท่านหนึ่งก็แสดงความเห็นว่าตัวเลือกในการแปลมีหลากหลาย และตัวเลือกหนึ่งในการแปลคือการใช้คำว่า “ฉัน” เป็นหลัก และใช้คำว่า “ผม” ในบริบทที่เป็นภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกว่าจะใช้คำว่า “sir” หรือ “miss” เป็นต้น อย่างไรก็ดีผู้เขียนรู้สึกดีใจและขอบคุณที่ได้มีโอกาสถกเถียงแลกเปลี่ยนแสดงความคิดเห็น เพราะการถกเถียงนี้เปิดประเด็นการแปลที่น่าสนใจ ที่ในสังคมไทยเราไม่ค่อยได้ถกเถียงกันนัก และการถกเถียงย่อมนำไปสู่การเพิ่มพูนขึ้นของความรู้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่งอย่างแน่นอน
เกี่ยวกับผู้เขียน: เฌอทะเล สุวรรณพานิช เป็นศิษย์เก่าเอกภาษาอังกฤษ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เชิงอรรถ
[1] https://www.cbc.ca/news/canada/british-columbia/ivan-coyote-book-1.3815065
[2] Coyote, Ivan. Tomboy Survival Guide (Kindle Locations 111-112). Arsenal Pulp Press. Kindle Edition.
[3] Coyote, Ivan. On Using Gender-Neutral Pronouns. Facebook, 6 Oct. 2016, www.facebook.com/ivanecoyote/posts/10154435941875726. Accessed 12 November. 2018.
[4] Weeks, Jeffrey (1997) Coming Out: Homosexual Politics in Britain, from the Nineteenth Century to the Present, Quartet, London.
[5] Cranny-Francis, Anne. Gender Studies: Terms and Debates. Palgrave Macmillan, 2011.
[6] https://www.straight.com/arts/435221/verses-festival-words-tomboy-survival-guide-pushes-gender-norms
| ['บทความ', 'สังคม', 'วัฒนธรรม', 'เฌอทะเล สุวรรณพานิช', 'ไอวาน โคโยตี', 'Ivan Coyote', 'Non-binary'] |
https://prachatai.com/print/79595 | 2018-11-13 21:12 | ความกลัว แรงบันดาลใจ และนักยุทธศาสตร์ฝ่ายซ้าย: 60 ปี เกษียร เตชะพีระ |
บทความนี้ปรับปรุงเพิ่มเติมจากการอภิปรายของผู้เขียนในงานเสวนาเนื่องในโอกาสครบรอบ 60 ปี ศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ ในหัวข้อ “รัฐศาสตร์สไตล์เกษียร: ครูกับศิษย์” วันเสาร์ที่ 27 ตุลาคม 2018 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แม้เนื้อหาจะเน้นไปทางความสัมพันธ์ระหว่างผู้เขียนและเกษียร แต่มีบางส่วนที่เห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อผู้สนใจโดยทั่วไป จึงขออนุญาตนำมาเผยแพร่ ณ ที่นี้
ในช่วงหลายปีมานี้ในอาชีพอาจารย์ของผู้เขียน สิ่งหนึ่งที่ทำให้มีชีวิตอยู่ได้ท่ามกลางความยากลำบาก คือ นักศึกษา “นักศึกษาเหมือนยาฝิ่น” ที่คอยระงับความเจ็บปวดและทำให้เพลิดเพลินในบางครั้ง เพื่ออยู่กับความเจ็บปวดนั้นต่อไป
ตลอดเวลาของการเป็นอาจารย์ สิ่งหนึ่งที่พยายามไม่ยอมให้พลาด คือ การรับผิดชอบต่อชั้นเรียน/ผู้เรียนอย่างเต็มที่ ไม่ทิ้งหรืองดชั้นเรียนโดยไม่จำเป็นแบบสุดวิสัย การเตรียมตัวสอน จัดทำเอกสารประกอบ จัดเวลาให้นักศึกษาปรึกษาทั้งเรื่องเรียนและอื่นๆ การอ่านงานที่ตัวเองรับผิดชอบเป็นที่ปรึกษา ซึ่งสิ่งเหล่านี้ สามารถวัดได้อย่างวัตถุวิสัย ส่วนสอนหรือทำได้ดีไหมนั้น เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
แม้จะพยายามอย่างไร ก็ใช่ว่าจะไม่มีข้อผิดพลาด มนุษย์คนหนึ่งล้วนเลวดี ผิดพลาดได้สารพัด มีทั้งคนรักและคนเกลียด ความรักและความเกลียดนั้น เกิดขึ้นได้ทั้งจากสิ่งที่เราทำและไม่ได้ทำ สิ่งที่เราผิดพลาดและไมได้ผิดพลาดอะไร สิ่งที่เราตั้งใจและไม่ตั้งใจ
แต่ทั้งหมดนี้ เป็นหน้าที่ของ “คนอื่น”-ไม่ใช่ “เราเอง”-ในการประเมิน
นี่คือสิ่งแรกที่อยากบอกกับเกษียร เตชะพีระ และผู้เขียนจะเริ่มทำหน้าที่ “คนอื่น” ข้างล่างนี้
การกล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างเรากับคนอื่นมีได้หลายวิธี สำหรับความสัมพันธ์ของผู้เขียนกับเกษียรนั้น คงไม่มีวิธีการอื่นใดดีกว่าผ่านงานวิทยานิพนธ์ การเมืองภาคประชาชน-ถ้าไม่มีเกษียร ก็ไม่มีงานชิ้นนี้ และไม่มีผู้เขียนในวันนี้-ในฐานะ อาจารย์ที่ปรึกษา ที่มีส่วนสำคัญในการผลักดันจนกระทั่งสำเร็จการศึกษาและได้รับการตีพิมพ์ แรงบันดาลใจ ผ่านงานเขียนเก่าๆ และประสบการณ์จริง ด้วยความเป็นนักกิจกรรม 6 ตุลา และมีส่วนสนับสนุนการเคลื่อนไหวของประชาชนในช่วงหลัง และ นักยุทธศาสตร์ฝ่ายซ้าย ที่ให้กรอบการวิเคราะห์การเมืองและข้อเสนอต่อการเคลื่อนไหวในช่วงต่างๆ โดยเฉพาะเมื่อยังเป็นฝ่ายซ้ายอยู่ ทั้งหมดนี้มีส่วนกำหนดวิธีคิด มุมมองของผู้เขียน กลายเป็นจุดยืนของผู้เขียนทั้งในชีวิตจริงและในวิทยานิพนธ์
อาจารย์ที่ปรึกษา “การเมืองภาคประชาชน”
หลังจากเข้ามาใน "ขบวนการ" ได้พักหนึ่งในช่วงชีวิตนักกิจกรรมนักศึกษา พวกเราหลายคนเริ่มตั้งคำถาม เห็นข้อจำกัดกลุ่มคนที่เรียกตนเองว่า “ภาคประชาชน” หรือเฉพาะจงลงไปคือ นักพัฒนาเอกชน/นักกิจกรรมทางการเมือง จึงพยายามศึกษา วิพากษ์วิจารณ์ข้อจำกัด และแสวงหาทางเลือกที่ไม่จำกัดตัวเองไว้ในแวดวงเอ็นจีโอ แต่ขยายตัวออกไปยังที่อื่นๆ อย่างกว้างขวาง ข้อเสนอหนึ่งคือ กลับไปทำ (สาย) อาชีพของตัวเองและเคลื่อนไหวทำการเปลี่ยนแปลงในสังคมการงานของตน ซึ่งจะเปิดโอกาสให้เราไปเจอกับผู้คนที่กว้างขวาง ทำให้การเปลี่ยนแปลงกับชีวิตจริงไปด้วยกันได้ ไม่ใช่มี “อาชีพ” เป็นนักเปลี่ยนแปลงสังคม แบบนี้ต่างหากที่ทำให้การเปลี่ยนแปลงขยายตัวไปได้ ไม่จ่อมจมอยู่กับแวดวงนักกิจกรรมอย่างแคบๆ ที่พึ่งตัวเองไม่ได้
บทสัมภาษณ์ของเกษียร เตชะพีระ ใน วารสารฟ้าเดียวกัน ฉบับปฐมฤกษ์ กลางปี 2546 “การเมืองภาคประชาชน : ผ้าซับน้ำตาโลกาภิวัฒน์ภายใต้พระบรมโพธิสมภาร” ถือได้ว่าเป็นกระแสเดียวกันกับข้อวิพากษ์ของพวกเรา และช่วยให้เห็นถึงเส้นทางและข้อจำกัดของ “การเมืองภาคประชาชน” ได้ชัดเจนขึ้น และเป็นร่องรอยให้กับผู้เขียนในการศึกษา “การเมืองภาคประชาชน” ในเวลาต่อมา
ก่อนหน้านี้ วารสารฟ้าเดียวกัน ถูกคาดหวังจาก “ภาคประชาชน” บางส่วนว่าจะเป็น “Voice of การเมืองภาคประชาชน” และพร้อมกันนั้น “ภาคประชาชน” ก็เป็นเป้าหมายของวารสารเช่นกัน บทสัมภาษณ์ชิ้นแรกพร้อมคำโปรยหน้าปก “การเมืองภาคประชาชนที่จงรักภักดี” สร้างผลสะเทือนไม่น้อย แม้ฉบับแรกนี้จะถูกแจกจ่ายไปยัง “ภาคประชาชน” จำนวนมาก แต่ต่อมายอดสมาชิกจากกลุ่มนี้กลับตรงกันข้าม และที่สำคัญที่สุดนำมาสู่คำถามถึงผู้จัดทำว่า รับใช้ใคร? รับใช้ขบวนหรือไม่ ?
คำถามเหล่านี้เป็นสิ่งที่พวกเราเผชิญหน้าเสมอ เมื่อเริ่มตั้งคำถามหรือวิพากษ์วิจารณ์ “ขบวนการ”
จากจุดนี้เอง พวกเราหลายคนจึงยกเลิกความคิดที่จะเป็นเอ็นจีโอ รวมทั้งผู้เขียนที่ตัดสินใจศึกษาต่อ พร้อมหอบหิวหัวข้อวิทยานิพนธ์ “การเมืองภาคประชาชน” นี้มาที่ธรรมศาสตร์
ที่รัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ผู้เขียนไม่มีโอกาสได้เรียนกับเกษียรโดยตรง แต่หัวข้อนี้ไม่มีใครเหมาะเท่าเกษียร จึงขอนั่งเรียนโดยไม่ลงทะเบียนในวิชาการเมืองเปรียบเทียบเพื่อสร้างความคุ้นเคย หลังจากสอบประมวลความรู้แล้วจึงเริ่มคุยกับเกษียรว่าต้องการให้เป็นที่ปรึกษา แต่จะขอทำเค้าโครงให้เสร็จเพื่อเสนอให้พิจารณาก่อน อีก 6 เดือนต่อมา ผู้เขียนส่งเค้าโครงร่าง 52 หน้า เกษียรมี 1 คำถามให้อธิบายเพิ่มเติม และรับเป็นที่ปรึกษาในที่สุด
ผู้เขียนผ่านการสอบเค้าโครงวันที่ 9 เมษายน 2553 อีกวันถัดมา วันที่กระสุนดินปืนคละคลุ้งถนนราชดำเนิน ผู้เขียนและเพื่อนๆ หลายคนอยู่ที่นั่น ก่อนการปิดฉากการล้อมปราบ “เสื้อแดง” ในวันที่ 19พฤษภาคม 2553 ผู้เขียนอยู่แถวคลองเตย-บ่อนไก่ ผู้เขียนส่งข้อความหาอาจารย์ 2 ท่าน เกษียรเป็นหนึ่งในนั้น เพื่อบอกว่า ยังไม่ชีวิตอยู่ ไม่ต้องห่วง
หลังจากพฤษภา 2553 ผู้เขียนหายไปจากการทำวิทยานิพนธ์ไป 1ปีเต็ม ทั้งด้วยสภาพจิตใจและภารกิจบางอย่างกำหนดให้ตัวเองต้องทำต่อสิ่งที่เกิดขึ้น จนเรียกได้ว่าไม่มีความสัมพันธ์ต่อกันเหลือเลย กรรมการวิทยานิพนธ์อีกท่าน ประภาส ปิ่นตบแต่ง ประสานให้ผู้เขียนกับที่ปรึกษาได้คุยกันอีกครั้งหนึ่ง จนในที่สุดได้กลับมาเริ่มทำวิทยานิพนธ์ใหม่อีกครั้ง โดยได้รับทุนมหาบัณฑิตของ สกว. ภายใต้การเสนอเรื่องของที่ปรึกษา ทำให้พอมีทุนไม่ต้องกัดก้อนเกลือกิน หลุดพ้นจากเป็นกรรมาชีพ (เกือบ) จรจัด ทำงานวันหนึ่ง เพื่อมีชีวิตอยู่ได้วันหนึ่ง
จุดสุดท้ายชี้ขาดชีวิตของผู้เขียนเอง เป็นช่วงต้นปี 2555 ชีวิตกำลังเข้าสู่วิกฤตอีกครั้ง และกำลังจะตัดสินใจเลิกทำวิทยานิพนธ์ แต่เมื่อเริ่มคิดหน้าเกษียรก็ลอยมา จึงบังเกิดความกลัวว่าเกษียรจะโกรธและ “เลิกคบ” ทุกคนที่รู้จักย่อมตระหนักดีกว่าจะเกิดอะไรขึ้น จนกัดฟันเขียนจนจบและสอบผ่านในช่วงสัปดาห์สุดท้ายก่อนเส้นตาย
ในช่วงที่ทำวิทยานิพนธ์ นอกจากบาปกรรมที่ทำให้เกษียรต้องเป็นบรรณาธิการ แก้ไขงานเป็น “ประโยคๆ” ในบทท้ายๆ ที่เร่งรีบเขียนและต้องชดใช้กรรมหลายเท่านักในชีวิตการเป็นอาจารย์แล้ว สิ่งที่ได้รับที่สำคัญสุด คือ ความเข้าใจและให้อภัยต่อความผิดพลาด อ่อนด้อย ที่แปลมาเป็น “โอกาส”-ไม่ใช่โอกาสที่เกิดจากการปล่อยผ่านอย่างไร้คุณภาพ- โอกาสที่จะเริ่มต้นใหม่และประสบความสำเร็จในอนาคต
ไม่เกินไปเลยหากจะพูดว่าไม่มีเกษียรในตอนนั้นก็ไม่มีผู้เขียนในวันนี้
แรงบันดาลใจ
ผู้เขียนได้รู้จักเกษียรตั้งแต่ไม่รู้จักเกษียร ในนามปากกา “อาคม ชนางกูร” ผ่านบทความในหนังสืองานรำลึกเหตุการณ์เก่าๆ ที่กองอยู่ในห้องสำนักงานสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) ชั้น 2 ตึกกิจกรรมนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
บทความเหล่านี้ได้แก่ “ทฤษฎีว่าด้วยรัฐของลัทธิมาร์กซ์กับการพัฒนาของรัฐชนชั้นนายทุนในรอบ 25 ปี” ในหนังสือ คลื่นแห่งทศวรรษ: รวมทัศนะ ความคำนึง และจินตนาการของนักวิชาการ นักการเมืองและนักเขียนร่วมสมัย 2526 , “ยุทธศาสตร์เชิงซ้อนในยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ” (ในนามปากกา ประเสริฐ คงธรรม) ในหนังสือ วิพากษ์ทรรัฐ 2528, วิวาทะว่าด้วยรัฐและยุทธศาสตร์ในยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ ระหว่าง อาคม ชนางกูร VS. ลิขิต อุดมภักดี ใน วารสารเศรษฐศาสตร์การเมือง, และในชื่อจริงของเขาเอง "ประชาธิปไตยของประชาชนต้องเป็นอิสระจากรัฐและทุน,” ในหนังสือ อำนาจชาวบ้าน 2531
เด็ก “ช่างกล” มาเจอหนังสืออย่างนี้ ย่อมตื่นตาตื่นใจ “อ่านฉิบหาย”
ผู้เขียนเริ่มกิจกรรมทางการเมืองในช่วงปี 2540 แต่ได้เหยียบธรรมศาสตร์ครั้งแรกในงานรำลึก 20 ปี 6 ตุลาคม 2519 ในปี 2539 โดยการชักชวนของรุ่นพี่ชมรมอนุรักษ์ฯ และอาสาพัฒนา สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ นั่งเรือมาร่วมงานจากพระราม 7 มายังท่าพระจันทร์
ในฐานะนักกิจกรรมนักศึกษาโนเนม ที่จัดงานรำลึก 14 ตุลา 6 ตุลา โดยเป็นแรงงาน เขียนป้ายผ้า จัดโต๊ะเก้าอี้ แบกโพเดียม มาหลายปี ผู้เขียนชื่นชม เห็นอกเห็นใจ คน 6 ตุลา มากกว่า 14 ตุลา ทั้งด้วยวิถีแห่งการปฏิบัติและอุดมการณ์ (ถึงขณะนี้ หลายอย่างก็ยังรู้สึกเช่นนั้นอยู่)
คน 14 ตุลา: ขบวนการ 14 ตุลา คือ ขบวนการที่ประสบความสำเร็จ จึงมองตัวเองว่ายิ่งใหญ่ และหลายคนในขณะนั้นประสบความสำเร็จในอาชีพ มีหน้ามีตา ดังนั้น ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ คนเหล่านี้มักจะยกวีรกรรมความสามารถของตัวเองในขบวนการนักศึกษามาเป็นตัวอย่างเปรียบเทียบเสมอในวงสนทนา และเรียกร้องกับคนรุ่นหลังอย่างไม่เข้าใจบริบท “สมัยผมนะ.......” แล้วต่อด้วยอะไรที่ยืดยาว เคยคิดตอบโต้คนรุ่นนี้เหมือนกันว่า ให้เอาลูกตัวเองมาจัดงาน ไปเรียกร้อง “จัดตั้ง” ลูกตัวเองซึ่งมีอายุรุ่นราวคราวเดียวกับพวกเราเสียก่อนดีไหม แต่ด้วยต้องพึ่งพาคนกลุ่มนี้ในการจัดงานจึงต้องเก็บไว้ในใจ แต่ไม่ค่อยรู้สึกประทับใจกับคนรุ่นนี้เท่าไหร่นัก
คน 6 ตุลา: ผู้เขียนและเพื่อนหลายคนรู้สึกชอบและประทับใจคน 6 ตุลามากกว่า เพราะ (อุดมการณ์) “ซ้ายกว่า” เท่าที่มีโอกาสได้แลกเปลี่ยนด้วย หลังปี 2540 แล้ว จำนวนมากยังซ้ายและพยายามรักษาอุดมคติของตัวเองไว้ ขณะที่คน 14 ตุลาส่วนใหญ่ไม่ซ้าย และที่สำคัญคือ น่าเห็นใจในฐานะผู้แพ้ ทั้งตอน 6 ตุลา และป่าแตก เพราะแบบนี้หรือเปล่าที่ทำให้คน 6 ตุลา มีท่าทีต่อนักกิจกรรมรุ่นหลังต่างออกไป คนเหล่านี้มักไม่มีชื่อเสียง แต่เห็นอกเห็นใจพวกเรา ไม่อภิปรายแนะนำหรือมีความเห็นมากมายแล้วกลับไป แต่ยินดีช่วยงานทุกอย่าง บางคนคอยซื้อหาอาหาร ข้าวปลาให้ถึงดึกดื่น ลองเอ่ยชื่อคนเหล่านี้ดู นอกจากแวดวงเพื่อนของพวกเขา มีใครรู้จักบ้าง พี่วรรณแฟนพี่สินา พี่เงาะแฟนพี่ผา พี่เจ้าของร้านเช่าหนัง “เฟม วีดีโอ ท่าพระจันทร์” ที่ถึงตอนนี้ผู้เขียนยังไม่รู้จักชื่อเลย
แม้เกษียรจะไม่โนเนม แต่เกษียร เป็น “คน 6 ตุลา”
ผู้เขียนตระหนักดีว่าภาพแบบนี้มีลักษณะเหมารวม คน 14 ตุลา และ 6 ตุลาไม่ได้เป็นอย่างว่าทุกคน แต่คน 2 รุ่นนี้ ที่มีประสบการณ์และความสำเร็จต่างกัน จึงทำให้มีแนวโน้มที่ต่างกันด้วย การเรียกคน 2 รุ่นนี้แบบรวมๆว่า “คนเดือนตุลา” แม้จะช่วยปิดช่องว่างระหว่างรุ่นได้ แต่ได้ปิดบังซ่อนเร้นความแตกต่างซึ่งกลายเป็นอัตลักษณ์ที่สำคัญของพวกเขาเช่นเดียวกัน
การเข้าสู่วงการกิจกรรมนักศึกษา เปิดโอกาสให้ผู้เขียนได้เรียนรู้กับขบวนการประชาชนที่ “เป็นจริง” อย่างสมัชชาคนจน และคนรุ่น 6 ตุลาอย่าง “พี่มด” วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ “พี่ปุ้ม” วัชรี เผ่าเหลืองทอง คนแรกมีบทบาทสำคัญต่อสมัชชาคนจนในพื้นที่สาธารณะ ขณะที่คนหลังอยู่แถวหลังเป็นฝ่ายสนับสนุนมากกว่า
ทุกครั้ง เมื่อวางแผนเพื่อกำหนดการเคลื่อนไหว สิ่งหนึ่งที่สมัชชาคนทำ คือ “เดินสาย” ขอคำปรึกษา แนะนำจากส่วนต่างๆ อย่างอ่อนน้อมถ่อมตน การเข้าพบพูดคุยนี้ มีผลทั้งสองด้าน ด้านหนึ่ง ทำให้ส่วนต่างๆ เข้าใจสถานการณ์ ปัญหาของชาวบ้าน โดยคาดหวังว่าความเข้าใจนี้จะนำไปสู่การสนับสนุนอย่างใดอย่างหนึ่งในการเคลื่อนไหวที่จะเกิดขึ้น และอีกด้านหนึ่ง เพื่อขอคำแนะนำในการเคลื่อนไหวจริงๆ เพื่อการประเมินสถานการณ์ที่กว้างขวางและรอบด้านขึ้น เพื่อปรับยุทธิวิธีให้สอดคล้องเหมาะสม
สถานที่หนึ่งซึ่งมักแวะเวียนมาเสมอ คือ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นอกจากชัยวัฒน์ สถาอานันท์ นักวิชาการด้านสันติวิธี แล้วอีกคนหนึ่ง คือ เกษียร เตชะพีระ ด้วย“พี่มด”ต้องการให้ผู้มาใหม่ได้เรียนรู้การทำงานเคลื่อนไหว จึงชักชวนให้ผู้เขียนติดสอยห้อยตามมาด้วย และนี่เป็นครั้งแรกที่ทำให้ผู้เขียนได้เจอและรู้จัก เกษียร เตชะพีระ ตัวจริง
ทั้งความเป็น “คน 6 ตุลา” ในความหมายที่ว่ามา ซึ่ง(ทึกทักเอาเองว่า) เปรียบเสมือน “รุ่นพี่” ทั้งงานเขียนเก่าๆ ที่กองฝุ่นเกรอะไว้รอรับนักอ่านหน้าใหม่ ในฐานะฝ่ายซ้าย “ผู้พ่ายแพ้” แต่ไม่ยอมจำนน และเมื่อตัวจริงที่ยังยึดโยงกับขบวนการประชาชน คอยทักท้วง เสนอแนะที่เป็นประโยชน์ในการเคลื่อนไหว เกษียรจึงกลายมาเป็นคนหนึ่งในรุ่นนี้ ในฐานะ “แรงบันดาลใจ” ในการเป็นนักกิจกรรมและเปลี่ยนแปลงสังคม
นักยุทธศาสตร์ฝ่ายซ้าย
ช่วงสารภาพบาปทางการเมืองของนักกิจกรรม โดยเฉพาะอดีตผู้นำนักศึกษาสนนท. ที่ไปร่วมขบวนการอนารยะสังคม/ปฏิปักษ์ประชาธิปไตยนั้น มีการอ้างถึงบทความ “ประชาธิปไตยของประชาชนที่เป็นอิสระจากรัฐและทุน” ของเกษียร ราวกับว่าการได้อ่านหรือรับอิทธิพลจากบทความทำให้พวกเขาเป็นอย่างนั้น
แน่นอน ตามข้อเท็จจริง บทความนี้มีอิทธิพลต่อนักศึกษา ใน สนนท.ไม่น้อย ชื่อบทความที่กลายเป็นยุทธศาสตร์ สนนท. ต่อเนื่องนับทศวรรษ (อย่างน้อยจนกระทั่งกลางทศวรรษ 2540) เป็นประจักษ์พยานในเรื่องนี้ดี อย่างไรก็ตาม นักกิจกรรมจำนวนมากเช่นกันไม่เข้าร่วมขบวนการพันธมิตรฯ หรือ กปปส.
ถ้าเป็นไปตามตรรกะนี้ –ได้รับอิทธิพลจากบทความจึงเข้าร่วมขบวนการฯ-ก็น่าเห็นใจพวกเขาอย่างมากเหมือนกัน หรือกล่าวได้ว่า “พวกเขาโชคร้าย” เพราะรู้จักแต่บทความนี้ และตีความอย่างขาดบริบทหรือความเข้าใจในที่มาของทฤษฎี
ในชุดบทความของเกษียรที่กล่าวมาแล้ว “ประชาธิปไตยของประชาชนที่เป็นอิสระจากรัฐและทุน” เป็นบทความที่ถูกเขียนขึ้นหลังสุด เมื่อ “ประชาธิปไตยครึ่งใบ” จบสิ้นลง เพื่อเสนอว่า “ภายใต้สภาวะแบบใหม่ของชนชั้นนายทุน ฝ่ายก้าวหน้าควรต่อสู้ประเด็นอะไรและอย่างไร” โดยเสนอให้มองประชาธิปไตยในแนวใหม่ คือ “ประชาธิปไตยในเมืองไทยเรานั้นมีฐานะเสมือนหนึ่งเครื่องมือทางการเมืองที่กลุ่มชนต่างๆ ในสังคมไทยยึดกุมดัดแปลงเอามาใช้ดำเนินการต่อสู้ทางการเมืองเพื่อประโยชน์ของตนเอง”
ที่ผ่านมามีเพียง 2 กลุ่มที่ครอบงำการนิยามและช่วงชิงอำนาจกัน คือ ระบบราชการและภาคเอกชน ไม่มี “ภาคประชาชน” เข้ามามีเอี่ยวในหุ้นส่วนนี้ ทำให้ประชาธิปไตยฐานไม่แน่น คลอนแคลนง่าย เพราะไม่มีใครยินดีเสี่ยงสละชีวิตปกป้องระบอบการเมืองที่ไม่สามารถจะให้ผลประโยชน์แก่เขาอย่างชัดเจนเป็นรูปธรรมจากนักรัฐประหาร
เกษียรเสนอว่ามีลู่ทางที่พอจะสร้างอำนาจชาวบ้านขึ้นมา ผ่านระบอบประชาธิปไตยนี่แหละ นั่นคือ “การรวมตัวจัดตั้งสถาบันอำนาจของชาวบ้าน” อาศัยการจัดตั้งและเคลื่อนไหวทางการเมืองเป็นฐานกำลังไป “เบียดขับรัฐราชการ ชิงที่มั่นจากทุน” ทำให้ประชาธิปไตยหลุดจากมือรัฐราชการและนายทุนเอกชนแล้วตกเป็นของประชาชน
เหตุผลที่บทความนี้ ได้รับการตอบรับอย่างดีจากนักศึกษา ส่วนหนึ่งเพราะ “ง่าย” ไม่มีการถกเถียงทางทฤษฎีที่ซับซ้อนและเปิดโอกาสให้กับการตีความให้สอดรับกับสถานการณ์ที่พวกเขาเผชิญได้
หากจะเชื่อมโยงกับการกลายพันธุ์มาต่อต้านประชาธิปไตยหรือการเมืองแบบรัฐสภาเสียเองแล้วก็เป็นการตีความในบริบทใหม่ที่รัฐราชการไม่ได้เป็นปัญหาหลักในการวิเคราะห์อีกต่อไป รัฐจึงหมายถึงรัฐบาล ซึ่งนายทุนเข้ามามีอำนาจในการปกครองผ่านการเลือกตั้ง รัฐและนายทุน จึงเป็นเนื้อเดียวกัน ประชาธิปไตยจึงเป็นแค่เครื่องมือของนายทุน หวนกลับไปที่ลัทธิมาร์กซ์แบบคลาสสิกและฝ่ายซ้าย พคท.
การตีความแบบนี้ทำให้ความคิดเรื่องการต่อสู้ในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาและประชาชนสามารถใช้ประชาธิปไตยเป็นเครื่องมือของตนเองได้ ซึ่งจุดเริ่มต้นของข้อเสนอนี้ของเกษียรหายไป และกลายมาเป็นต่อต้าน/ต่อสู้กับประชาธิปไตยรัฐสภาเป็นด้านหลักแทน
พูดอย่างตรงไปตรงมา ท้ายที่สุด การตีความแบบนี้ของนักกิจกรรมยุคหลัง เป็นการตีความที่กลับหัวกลับหาง และกลับมาต่อต้านข้อเสนอหลักของเกษียรเสียเอง
ถ้าการอ่านงานมีผลต่อวิธีคิดโดยตรง พวกเขาจะไม่เป็นเช่นนี้หากได้อ่านต้นทางของข้อถกเถียงก่อนที่จะมาเป็นข้อสรุปในบทความดังกล่าว และนี่อาจเป็นความโชคดีของผู้เขียนเอง และเพื่อนๆ อีกหลายคน ที่ได้อ่านงานของอาคม ชนางกูร ก่อนหน้านี้ที่ให้คำตอบไว้อย่างน่าสนใจ
ข้อถกเถียงนี้คล้ายกับสิ่งที่เกิดขึ้นในหมู่นักกิจกรรมในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา และเป็นประโยชน์อย่างมากกับการเข้าใจหรือกำหนดจุดยืนต่อความขัดแย้งในช่วงนี้
หลังป่าแตกในหมู่ฝ่ายซ้ายไทยที่ยังไม่ล้มเลิกภารกิจปฏิวัติและความคิดสังคมนิยม มีข้อถกเถียง 2 ประเด็นเชื่อมโยงกัน ประเด็นแรก จะกำหนดท่าทีอย่างไรต่อระบอบประชาธิปไตยที่เปิดขึ้น ประเด็นที่สอง ปัญหาเขาควายว่าจะสนับสนุนพรรคการเมืองของชนชั้นนายทุนสู้กับเผด็จการทหาร หรือ สนับสนุนเผด็จการทหารสู้กับชนชั้นนายทุน โดยเกษียรเห็นว่าข้อถกเถียงนี้มาจากความเข้าใจรัฐแบบลัทธิมาร์กซ์ดั้งเดิมว่ารัฐเป็นเครื่องมือของชนชั้นปกครองและถูกกำหนดจากฐานเศรษฐกิจ ดังนั้น ผลที่ตามมาคือ ในทางทฤษฎีทหารขัดกับชนชั้นนายทุนไม่ได้ แต่เหตุการณ์จริงมีความขัดแย้งระหว่างทหารกับนายทุน “ถ้าอย่างนั้นทหารก็ขัดกับนายทุนได้ในขั้นธาตุแท้ ทหารอยู่คนละชนชั้นกับนายทุน และกรรมกรสมควรสามัคคีทหารมาโค่นล้มนายทุน”
ประเด็นแรก บทความ “ทางเลือกของพลังประชาธิปไตย”, ปริทัศน์สาร, ปีที่ 1 ฉบับที่ 7 (มิถุนายน, 2525) ได้วางหลักท่าทีต่อระบอบประชาธิปไตยรัฐสภาไว้อย่างกระชับชัดเจนว่า “เฉพาะหน้านี้ ขบวนการประชาธิปไตยควรจะรวมศูนย์ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยไทยแบบรัฐสภาที่สมบูรณ์” เนื่องจากเป็นรูปแบบการปกครองที่ยอมรับค่านิยมของความขัดแย้ง ไม่ปฏิเสธกดปราบความขัดแย้งของกลุ่มผลประโยชน์หรือชนชั้นต่างๆ ด้วยความรุนแรง แต่มุ่งที่จะวางกรอบกฎเกณฑ์ ระเบียบปฏิบัติที่จะมากำกับความขัดแย้งให้คลี่คลายไปในทิศทางที่ชอบด้วยครรลองของกฎหมายอย่างสันติ เป็นรูปแบบที่ดำรงอยู่มายืนนานและให้เสรีภาพแก่ประชาชนมากที่สุด
หากไม่หันหลังให้กับการต่อสู้ในระบบทุกรูปแบบและปล่อยให้ชนชั้นอื่นพลังอื่นปู้ยี่ปู้ยำการเมืองที่เป็นจริงตามใจชอบแล้ว ประชาธิปไตยแบบรัฐสภาก็ “เป็นทางเลือกเดียวที่จะระดมพลังประชาธิปไตยได้อย่างกว้างไพศาลมากที่สุดในปัจจุบันที่จะมาแทนประชาธิปไตยครึ่งใบอันน่ารังเกียจ” ทั้งนี้ การกระทำเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นการละทิ้งมวลชนขั้นพื้นฐาน แต่เพื่อให้การศึกษาและตระเตรียม รอโอกาสเหมาะสมที่จะช่วงชิงประชาธิปไตยที่แท้จริงของประชาชนในอนาคต เป็นการพลิกแพลงและมีกำลังพอจะทำทั้ง 2 ด้าน
ประเด็นที่สอง บทความ “ทฤษฎีว่าด้วยรัฐของลัทธิมาร์กซ์กับการพัฒนาของรัฐชนชั้นนายทุนไทยในรอบ 25 ปี” เสนอกรอบความเข้าใจใหม่ว่า “รัฐเป็นรัฐของสังคมที่ถูกแบ่งออกเป็นชนชั้น เป็นสิ่งสะท้อนสภาพความเป็นจริงของรูปธรรมทางประวัติศาสตร์ของการต่อสู้ทางชนชั้นในสังคม” ดังนั้น การพิจารณาว่ารัฐเป็นตัวแทนของชนชั้นใดต้องดูว่า “รัฐนั้นเป็นสถาบันผลิตซ้ำแบบวิถีการผลิตและความสัมพันธ์ทางชนชั้นที่เอื้อให้ชนชั้นใดขึ้นมาเป็นชนชั้นหลัก สภาพความเป็นจริงทางภาววิสัยที่รัฐเอื้ออำนวยให้เกิดขึ้นทางเศรษฐกิจและการเมืองอำนวยประโยชน์แก่ชนชั้นใด ชนชั้นนั้นก็เป็นเจ้าของรัฐนั้นเป็นชนชั้นปกครอง” และในสภาพที่ดุลกำลังของชนชั้นในสังคมตรึงถ่วงและล้าเปลี้ย เป็นไปได้ที่จะมีผู้เผด็จการมาปกครอง โดยรัฐอาจทำตัวเป็นปฏิปักษ์กับชนชั้นนายทุนบางกลุ่มแต่จะไม่เป็นปฏิปักษ์กับชนชั้นนายทุนทั่วไป และอำนาจเผด็จการรวมศูนย์นี้เองที่เอื้อต่อการพัฒนาไปข้างหน้าของทุนนิยมและชนชั้นนายทุนได้เช่นกัน
บทความได้เสนอต่อว่า “นักสังคมนิยม” ต้องไม่สนับสนุนการกดขี่ทุกรูปแบบ และ “ต้องวางเป้าหมายหลักแห่งการโจมตีไว้ตรงศัตรูที่คุกคามเราเร่งด่วนและเฉพาะหน้ากว่าอย่างสอดคล้องกับกำลังของเราที่เป็นจริง” ในสภาพที่ยังไม่มีตัวแทนที่เป็นจริงของชนชั้นกรรมกร ไม่สุกงอมพอที่จะเสนอรูปแบบการเมืองของชนชั้นกรรมกร “เราจึงควรร่วมมือกับพลังสังคมที่กว้างขวางที่สุดมาโดดเดี่ยวและโจมตีศัตรูที่ร้ายกาจที่สุด ปฏิกิริยาที่สุดก่อน และนั่นคือเผด็จการทหาร” และในกระบวนการนี้เพื่อชัยชนะระยะยาว ต้องสร้างทฤษฎี อุดมการณ์ทางการเมืองและองค์กรจัดตั้งของชนชั้นกรรมกร คือการสร้างกำลังมวลชนเพื่อตระเตรียมแก่การต่อสู้ระลอกใหม่ในอนาคต
หลังจาก “ทฤษฎีว่าด้วยรัฐฯ” ราวปีกว่า ปรากฏบทความอีกชิ้น “ยุทธศาสตร์เชิงซ้อนในยุคประชาธิปไตยครึ่งใบปัจจุบัน" เสนอคำชี้แนะทางการเมืองคล้ายบทความแรกว่า ในระยะหัวเลี้ยวหัวต่อของรัฐทุนนิยมไทยที่จะก้าวไปสู่ “รัฐประชาธิปไตยรัฐสภา” ภาระหน้าที่ระยะใกล้และไกลอยู่ที่ “การเข้าร่วมในกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองนี้อย่างเป็นฝ่ายกระทำเพื่อตระเตรียมเงื่อนไขแก่การก่อสร้างขบวนการกรรมกรที่เป็นอิสระ เป็นตัวของตัวเองในอนาคต” โดยมี “ยุทธศาสตร์เชิงซ้อน” คือ
ด้านหนึ่ง ขยายการต่อสู้ในประชาสังคม พยายามช่วงชิงครองความเป็นใหญ่เหนือประชาสังคม รักษาที่ทางในประชาสังคมที่เรามีส่วนเอาไว้ ขยายที่ทางนั้นออกไปรวมกับพลังการเมืองทุกกลุ่มทุกฝ่าย ร่วมกันปกป้องพิทักษ์ประชาสังคมจากการโจมตีและพยายามกลับเข้ามาควบคุมของระบบราชการ เสนอคำขวัญว่า ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและการปกครองตามกฎหมายที่เป็นธรรม ต่อต้านทหาร ต่อต้านการคุกคามของระบอบอำนาจนิยม ปกป้องและขยายสิทธิเสรีภาพทางวัฒนธรรม กระจายอำนาจให้ชาวบ้าน
อีกด้านหนึ่ง คือเร่งสร้างขบวนการแรงงานทั้งด้านความคิด การเมือง และการจัดตั้งที่เป็นอิสระและเป็นตัวของตัวเอง ปฏิบัติการนี้ไม่เพียงเพื่อเป็นกำลังคัดค้านการถอยหลังกลับไปสู่เผด็จการทหาร แต่ยังเป็นการตระเตรียมเพื่อก้าวข้ามพ้นมายาจอมปลอมของประชาสังคมกระฎุมพีในอนาคต
แม้ตอนนี้เกษียรจะหย่าร้างอย่างสันติกับสังคมนิยมแล้ว และคนรุ่นเราไม่ได้เป็นนักสังคมนิยมหรือบางคนยังพยายามจะเป็นซ้ายก็ตาม
ในฐานะ “นักยุทธศาสตร์ฝ่ายซ้าย” งานของเกษียรชุดนี้ทำให้เรา-อย่างน้อยก็คือผู้เขียนเอง-มีความเข้าใจรัฐที่ซับซ้อนมากขึ้น มากกว่าคัมภีร์ที่ท่องตามกันมาแต่อดีต รวมทั้งสิ่งที่เรียกว่า “รัฐราชการ” ในการวิเคราะห์สังคม และชี้ทางออกให้กับปัญหาเขาควายได้
งานของชุดนี้ทำให้เห็นความสำคัญและคุณค่าของระบอบประชาธิปไตยที่ไม่ปฏิเสธกดปราบความขัดแย้งของกลุ่มผลประโยชน์หรือชนชั้นต่างๆ ด้วยความรุนแรง และให้เสรีภาพแก่ประชาชน
งานของชุดนี้ให้แนวทางการต่อสู้ที่ “ปกป้อง” ไม่ใช่ “ทำลาย” “ประชาสังคม” ที่เรามีส่วนเอาไว้ ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและการปกครองตามกฎหมายที่เป็นธรรม คัดค้านการถอยหลังกลับไปสู่เผด็จการทหาร ปกป้องและขยายสิทธิเสรีภาพและกระจายอำนาจ
หลักการพวกนี้ ไม่เพียงมีความหมายต่อสถานการณ์ในอดีตเท่านั้นแต่ยังคงสำคัญถึงปัจจุบัน และจะช่วยถ่วงดึงรั้งเราไม่ให้ออกนอกลู่นอกทาง หรือเป็นนักปฏิวัติ “เข้าคลอง” ได้
สุดท้าย หากมีอะไรจะบอกเกษียรได้อีกบ้าง อยากเป็นประโยคนี้ "ชีวิตเราไม่ได้สำคัญอะไรนักหรอก เมื่อเราตายไป แม้กระทั่งคนที่เรารัก ต่อให้เขาไม่ลืม แต่เราก็สำคัญกับเขาน้อยลง ดังนั้น ในฐานะอาจารย์/นักวิชาการ สิ่งที่จะเหลือไว้ คือ ผลงานในรูปแบบของงานเขียนหรืออื่นๆ ที่ทำหน้าที่คล้ายกัน ที่รอผู้มาใหม่ ได้ค้นพบและศึกษาต่อไป"
| ['บทความ', 'การเมือง', 'การศึกษา', 'อุเชนทร์ เชียงเสน', 'เกษียร เตชะพีระ'] |
https://prachatai.com/print/79597 | 2018-11-13 21:30 | กิจกรรมสุดพิเศษสำหรับผู้ที่สนใจประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่ 1 ในชื่อกิจกรรม “Asians in WWI : An Exhibition Tour” | เนื่องด้วยปี 2018 เป็นวาระครบรอบ 100 ปีการสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 1 เพื่อส่งเสริมและบริการวิชาการทางประวัติศาสตร์สู่สังคม ทางภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ จึงได้จัดกิจกรรมสุดพิเศษสำหรับผู้ที่สนใจประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่ 1 ในชื่อกิจกรรม
“Asians in WWI : An Exhibition Tour”
กิจกรรมนี้จะนำผู้ที่สนใจเข้าร่วมพูดคุยและเดิมชมนิทรรศการภาพถ่ายในชุด “Asians in World War One: a Visual History of the Indians, Siamese and Vietnamese at War” ในตลอดการเดินชมนิทรรศการมีนักประวัติศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญทางด้านประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่ 1 มาเป็นผู้นำชมและบรรยาย
กิจกรรมจัดขึ้นเพียงสองครั้งในวันศุกร์ที่ 16 พฤศจิกายน 2561 และ วันศุกร์ที่ 23 พฤศจิกายน 2561 เวลา 16.30 นาฬิกา ณ บริเวณโถงอาคารเฉลิมราชกุมารี 60 พรรษา (อาคารจามจุรี 10) ผู้ที่สนใจสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมกิจกรรมในลิ้งข้างล่างที่ให้ไว้ ทั้งนี้ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ขอจำกัดจำนวนผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมเพียง 20 ท่านในแต่ละครั้ง***
กิจกรรมนี้ไม่มีค่าใช้จ่าย บุคคลทั่วไปสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมงานได้
ลงทะเบียนเข้าร่วมงานวันที่ 16 https://docs.google.com/forms/d/e/1FAIpQLScnpffow4uUCY4ftp_UVDQK-2UwGj8KzFD1Z08uwDwhtb2lcA/viewform?usp=pp_url [1]
ลงทะเบียนเข้าร่วมงานวันที่ 23 https://docs.google.com/forms/d/e/1FAIpQLSeVCM8BiUSys9JbuJv4Vcfx2-yE3d_UBPIAcyFFbAVxKd0fkw/viewform?vc=0&c=0&w=1 [2]
(จำกัดจำนวนที่ 20 คน ในแต่ละครั้ง)
| ['สงครามโลกครั้งที่ 1'] |
https://prachatai.com/print/79596 | 2018-11-13 21:23 | UNHCR จ่อถวายตำแหน่งผู้อุปถัมภ์ด้านสันติภาพฯ แก่ ว.วชิรเมธี เจ้าของวลี 'ฆ่าเวลาบาปกว่าฆ่าคน' | ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ เตรียมถวายตำแหน่ง “ผู้อุปถัมภ์ UNHCR ด้านสันติภาพ และเมตตาธรรม” แด่ ว.วชิรเมธี ชี้เป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับตำแหน่งนี้ในระดับโลก ขณะที่ก่อนสลายชุมนุมเสื้อแดง 53 พบเคยทวีต “ฆ่าเวลาบาปยิ่งกว่าการฆ่าคน” พร้อมถูกวิจารณ์หนักขณะนั้นว่าสร้างความชอบธรรมให้แก่การแก้ปัญหาด้วยความรุนแรง
ภาพซ้าย ถูกทวีตในคืนวันที่ 9 เม.ย. 2553 ก่อนการเข้าสลายการชุมนุมในวันต่อมา (10 เม.ย.2553) จนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บทั้งประชาชนและเจ้าหน้าที่จำนวนมา ซึ่ง วิจักขณ์ พานิช เขียนไว้ในบทความ “ความคมของฆ่าเวลาบาปยิ่งกว่าการฆ่าคน” บทเรียนของพุทธศาสนาในสังคมประชาธิปไตย [1] เมื่อ มิ.ย.2555 ระบุว่า ข้อความดังกล่าวของ ว.วชิรเมธี ถูกลบออกไปในภายหลัง
13 พ.ย.2561 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า วันที่ 19 พ.ย.นี้ที่ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพ สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) จะมีการจัดงานมุทิตาจิตพร้อมสัมภาษณ์พิเศษ พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี (ว.วชิรเมธี) ในโอกาสที่ UNHCR ถวายตำแหน่ง “ผู้อุปถัมภ์ UNHCR ด้านสันติภาพ และเมตตาธรรม” ซึ่งถือเป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับการแต่งตั้งในตำแหน่งนี้ในระดับโลกพร้อม เจ้าหญิงซาร่า ซิด จากประเทศจอร์แดน ซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็น “ผู้อุปถัมภ์ UNHCR ด้านสุขภาพแม่ และทารกแรกเกิด”
รายงานของ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ UNHCR ระบุด้วยว่า ตั้งแต่ปี พ.ศ.2559 ท่าน ว.วชิรเมธี ได้ให้ความกรุณาแก่ UNHCR ในการสร้างการรับรู้ ระดมทุน และสร้างความเชื่อมโยงระหว่างหลักคำสอนทางพุทธศาสนาต่อการช่วยเหลือผู้ลี้ภัย โดยท่ามกลางวิกฤติผู้ลี้ภัยที่เกิดขึ้นทั่วโลก การส่งเสริมความเมตตาปราณีต่อเพื่อนมนุษย์มีความสำคัญมากขึ้น เพื่อเป็นการแสดงความขอบคุณ และเชิดชูความทุ่มเทในการสร้างการรับรู้ และความเปลี่ยนแปลงต่อชีวิตของผู้ลี้ภัยทั่วโลก UNHCR ได้ถวายตำแหน่ง “ผู้อุปถัมภ์ UNHCR ด้านสันติภาพ และเมตตาธรรม” แด่ ท่าน ว.วชิรเมธี โดยเป็นตำแหน่งในระดับโลกที่มอบให้แก่บุคคลที่ได้ทุ่มเทการทำงาน สร้างการเปลี่ยนแปลงในชีวิตของผู้ลี้ภัยในระดับประเทศ ภูมิภาค และนานาชาติ โดยพิธีถวายตำแหน่งจะจัดขึ้นที่สำนักงานใหญ่ UNHCR เมืองเจนีวา ในวันที่ 15 พ.ย.นี้
“ความคมของฆ่าเวลาบาปยิ่งกว่าการฆ่าคน” บทเรียนของพุทธศาสนาในสังคมประชาธิปไตย [1]
วาทกรรมทางการเมืองของพระสงฆ์ จาก 6 ตุลา 19 ถึง เมษา-พฤษภา 53 [2]
ว.วชิรเมธี กับข้อเสนอ “องค์กรเซ็นเซอร์คำเทศนา” [3]
มติชนออนไลน์ [4] รายงานเหตุผลของการมอบรางวัลนี้ ซึ่ง อรุณี อัชชะกุลวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการแผนกส่งเสริมความร่วมมือภาคเอกชน (ประเทศไทย) สำนักข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย กล่าวว่า คัดเลือกผู้ได้รับตำแหน่งจากบุคคลที่มีสถานะในแต่ละประเทศที่ได้ทำงานด้านการช่วยรณรงค์เรื่องผู้ลี้ภัยมาเป็นเวลานาน และยังให้การช่วยเหลือในทุกๆ ด้าน ทั้งการสร้างการรับรู้ การระดมทุน การเปลี่ยนแปลงชีวิตหรือนโยบายที่ทำให้ผู้ลี้ภัยมีชีวิตที่ดีขึ้น โดยแต่ละท่านจะทำงานในสายงานของตัวเอง ซึ่งท่าน ว.วชิรเมธี จะเป็นผุ้อุปถัมภ์ยูเอ็นเอชซีอาร์ด้านสันติภาพและเมตตาธรรม เพราะท่านเชื่อว่าสันติภาพจริงๆ เกิดขึ้นจากตัวเรา วิธีการคือท่านจะเทศน์เกี่ยวกับเรื่อง "โลกทั้งผองเป็นพี่น้องกัน" เพราะฉะนั้น ถ้าเราเป็นแบบนั้น เราก็จะให้ความสนใจผู้ลี้ภัยมากขึ้นในแง่ที่ว่าผู้ลี้ภัยก็เป็นเพื่อนมนุษย์เหมือนกันกับเรา
ด้วยเหตุนี้ ท่าน ว.วชิรเมธีจึงมีความรู้เกี่ยวกับการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์เพื่อให้โลกมีสันติภาพ ในขณะเดียวกัน เจ้าหญิงซาร่า ซิด ดูแลเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพแม่และเด็กของผู้ลี้ภัยมาตลอด โดยจะมอบรางวัลพร้อมกันในวันที่ 15 พฤศจิกายน ที่เมืองเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และในวันที่ 19 พฤศจิกายน จะได้สัมภาษณ์ท่าน ว.วชิรเมธี โดยมีนักแสดงสาว ปู-ไปรยา ลุนด์เบิร์ก ทูตสันถวไมตรีของยูเอ็นเอชซีอาร์ประเทศไทย ร่วมแสดงความยินดี" อรุณี กล่าว
อย่างไรผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ช่วงสถานการณ์ความขัดแย้งและการชุมนุมทางการเมือง รวมทั้งการสลายการชุมนุมกลุ่ม นปช. ปี 2553 ว.วชิรเมธี ถูกหยิบยกเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ เมื่อ ว.วชิรเมธี ทวีตข้อความผ่านทวิตเตอร์ @vajiramedhi ว่า “ฆ่าเวลาบาปยิ่งกว่าการฆ่าคน” ในคืนวันที่ 9 เม.ย. 2553 ก่อนการเข้าสลายการชุมนุมกลุ่ม นปช. ในวันต่อมา (10 เม.ย.2553) จนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บทั้งประชาชนและเจ้าหน้าที่จำนวนมาก ซึ่ง วิจักขณ์ พานิช เขียนไว้ในบทความ “ความคมของฆ่าเวลาบาปยิ่งกว่าการฆ่าคน” บทเรียนของพุทธศาสนาในสังคมประชาธิปไตย [1] เมื่อ มิ.ย.2555 ระบุว่า ข้อความดังกล่าวของ ว.วชิรเมธี ถูกลบออกไปในภายหลัง ทั้งนี้เหตุที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในขณะนั้นเนื่องจากถูกมองว่าเป็นการสนับสนุนหรือสร้างความชอบธรรมให้แก่การแก้ปัญหาด้วยความรุนแรง เนื่องจากข้อความนี้เผยแพร่ช่วงเวลาที่ต่อมามีการเข้าสลายการชุมนุม
สำหรับข้อความนี้ ในหนังสือ "หนึ่งคนตาย ล้านคนตื่น" ของ ว.วชิรเมธี ตีพิมพ์เมื่อปี 2555 หน้า 11 ว.วชิรเมธี ขยายความไว้ว่า "เราเคยได้ยินพระท่านสอนอยู่บ่อยๆ ว่า การฆ่าสัตว์เป็นบาป แต่อาตมาอยากบอกว่า การฆ่าเวลาต่างหากที่เป็นบาปมหันต์ยิ่งกว่า เพราะเมื่อคุณฆ่าสัตว์ หากสำนึกได้ คุณก็อาจจะไปหาสัตว์มาปล่อยเอาบุญ แต่หากคุณฆ่าเวลาด้วยวิธีใดก็ตาม ถึงแม้คุณจะสำนึกผิดกลับมาเห็นคุณค่าของเวลา ทว่าก็ไม่สามารถย้อนเวลาที่ผ่านไปแล้วให้หวนคืนกลับมาได้อีก"
สุรพศ ทวีศักดิ์ นักวิชาการด้านศาสนา โพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊กส่วนตัว [5]ถึงกรณีนี้ด้วยว่า ที่จริงแล้ว ว. วชิรเมธีเคยได้รับวัลสันติภาพกูสซี่ (The GUSI Peace Prize Foundation [6]) มาแล้วเมื่อปี 2554
เหตุผลมีหลายประการ ประการหนึ่งก็คือ "ในฐานะผู้บุกเบิกการนำเสนอธรรมะที่เข้าใจง่ายสู่สาธารณชนผ่านทางเว็บไซต์ สถานีธรรมะ ท่าน ว.วชิรเมธี และเว็บไซต์ โซเชี่ยลเน็ตเวิร์ก อาทิ เฟซบุ๊ก (Facebook) และทวิตเตอร์ (Twitter) เป็นต้น" แต่ที่เราจำได้ดีที่สุดคือ ทวิตข้อความ "ฆ่าเวลาบาปไม่น้อยกว่าฆ่าคน" ช่วงใกล้จะเกิดเหตุการณ์สลายการชุมนุม 10 เม.ย.2553 ที่มีคนตาย 21 คน และในช่วงพฤษภา 2553 ก็เสนอวาทกรรม "กระชับพื้นที่คนเลว ขยายพื้นที่คนดี" พูดถึงเรื่องการบังคับใช้กฎหมายต้องศักดิ์สิทธิ์ตามวาทกรรมรัฐบาลยุคนั้น และหลัง คสช.ยึดอำนาจปี 2557 ว. วชิรเมธีก็เคยออกรายการ "เดินหน้าประเทศไทย" กล่าวว่า "ค่านิยม 12 ประการคล้ายธรรมะในพระพุทธศาสนา" เป็นต้น
| ['ข่าว', 'การเมือง', 'สิทธิมนุษยชน', 'ฆ่าเวลาบาปกว่าฆ่าคน', 'UNHCR', 'ว.วชิรเมธี', 'สันติภาพ', 'เมตตาธรรม', 'สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ'] |
https://prachatai.com/print/79604 | 2018-11-14 13:21 | สั่งสกัดม็อบยางพารา สุราษฎร์ฯ ขอราคามากกว่า 3 โล 100 | รักษาราชการผู้ว่าฯ จ.สุราษฎร์ธานี สั่งทุกอำเภอประสานแกนนำให้ยุติการชุมนุม ระบุรัฐบาลกำลังเร่งรัดแก้ไขปัญหายางพาราให้แล้วเสร็จภายใน 7 วัน
14 พ.ย.2561 จากกรณีที่กลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางเตรียมจัดกิจกรรมเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาแก้ปัญหาราคายางอย่าให้ตกต่ำกว่า 3 โล 100 นั้น
ข่าวสดออนไลน์ [1] รายงานว่า วานนี้ (13 พ.ย.61) สุทธิพงษ์ คล้ายอุดม รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี รักษาราชการผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ลงนามในหนังสือด่วนที่สุดถึงนายอำเภอทุกอำเภอ ใจความว่า ตามที่ปรากฎในข่าว เกษตรกรชาวสวนยางได้รับความเดือดร้อน เนื่องจากยางพาราตกต่ำ และ มีการรวมตัวกัน โดยนำรถยนต์ที่ใช้ประกอบอาชีพทำสวนยาง อาทิ รถบรรทุกขี้ยาง รถติดแท้งค์น้ำยาง รถบรรทุกไม้ยาง รถบรรทุกผลปาล์มน้ำมัน และรถสี่ล้ออื่นๆทุกชนิด ได้ขับเคลื่อนขึ้นถนนเอเชียพร้อมเพรียงกันเพื่อประจานความยากจนที่เกิดขึ้นในรัฐบาลนี้ และมีเป้าหมายถึง สหกรณ์จังหวัดสุราษฎร์ธานี จำกัด (โคออฟ) โดยขบวนจะออกตั้งแต่วันพุธที่ 14 พ.ย. เวลา 12.00 น. จุดสตาร์ท 6 จุด ประกอบด้วย จากแยกควนหนองหงส์ แยกสวนผัก จากหน้าโลตัสทุ่งสง จากแยกหนองดี จากบริเวณยูเทิร์นหน้าตลาดถ้ำพรรณรา และจากแยกเวียงสระตรงข้ามโลตัส
จากสถานการณ์ดังกล่าวขอให้นายอำเภอทุกอำเภอเร่งลงพื้นที่สร้างขวัญกำลังใจและสร้างความเข้าใจแก่พี่น้องเกษตรกรในแนวทางแก้ปัญหายางพาราของรัฐบาล รวมทั้งประสานแกนนำส่งตัวแทนเกษตรกรมายื่นหนังสือไปยังรัฐบาลโดยผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี
พร้อมประสานแกนนำให้ยุติการชุมนุม เพราะรัฐบาลกำลังเร่งรัดแก้ไขปัญหายางพาราให้แล้วเสร็จภายใน 7 วัน และให้อำเภอดำเนินการตามคำสั่งดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง พร้อมรายงานความเคลื่อนไหวของเกษตรกรให้จังหวัดทราบวันที่ 14 พ.ย. เวลา 09.00 น. เป็นต้นไป
ปชป. ร้องรัฐแก้ปัญหาราคายาง-ปาล์ม
โดยเมื่อวันที่ 12 พ.ย.ที่ผ่านมา ช่อง 3 [2] รายงานว่า อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นำทีมอดีต ส.ส.ภาคใต้ แถลงเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาราคายางพารา และปาล์มน้ำมัน ตกต่ำ โดยในส่วนยางพารา มีข้อเสนอเร่งด่วน 3 ข้อ คือ 1.การใช้ยางพาราในประเทศ โดยเฉพาะในภาครัฐเป็นสิ่งที่รัฐบาลรับหลักการมาโดยตลอด แต่ไม่สามารถผลักดันให้เกิดจริงในทางปฏิบัติ มีเพียงท้องถิ่นบางแห่งที่เดินหน้าได้จริงจัง ซึ่งถึงเวลาที่รัฐบาลต้องเปิดเผยว่าจากที่เคยจะใช้แสนตันได้ใช้ไปแล้วกี่ตัน เพราะเท่าที่ตรวจสอบเป็นสัดส่วนน้อยมาก จึงต้องดูว่าเหตุใดหน่วยงานราชการจึงไม่ใช้จริง ติดขัดที่ระเบียบการจัดซื้อจัดจ้าง ขั้นตอนการประมูลหรืออะไร ต้องแก้ปัญหาโดยทันที
2.สภาพราคายางพารา มีความจำเป็นที่ชาวสวนยางต้องมีรายได้เสริม เช่น การปลูกพืชอื่นในสวนยางแม้จะคลายระเบียบกองทุนให้ทำได้ แต่การทำงานยังไม่ได้ทำในเชิงรุกเท่าที่ควร โดยหน่วยงานที่เกี่ยวต้องสนับสนุนการปลูกพืชเสริม และประสานงานในเรื่องตลาด ไม่ให้พืชที่ปลูกเสริมล้นตลาดแล้วมีปัญหาเรื่องราคาอีก จึงต้องมีแผนการตลาดรองรับให้มั่นใจว่าปลูกแล้วมีกำไร
3.การใช้ยางพาราโดยภาคเอกชน ยังมีศักยภาพนำยางพาราไปแปรรูปในชุมชน เช่น ผลิตหมอนยางพารา รองเท้า เพราะมีตลาดในและต่างประเทศรองรับ แต่ปัญหาอยู่ที่การจัดตั้งโรงงานระดับชุมชน มีปัญหาเรื่องผังเมือง ถ้าเร่งรัดอนุญาตจะทำให้ยางพาราแปรรูปได้ต่อไป
อภิสิทธิ์ กล่าวว่า 3 เรื่องเร่งด่วนนี้ ถ้ารัฐบาลมีความจริงใจในการแก้ปัญหา จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนได้ ถ้าเห็นว่าข้อเสนอดังกล่าวยังไม่พอ ควรนำหลักคิดเรื่องประกันรายได้เกษตรกร มาปรับใช้กับชาวสวนยางพาราด้วย นอกจากนี้ ประเทศไทยยังเป็นผู้ผลิต และผู้ส่งออกรายใหญ่ จึงอยู่ในวิสัยเจรจาหาความร่วมมือกับผู้ค้าด้วยกันได้ แต่รัฐบาลต้องมีแผนที่ชัดเจนในการร่วมมือกับประเทศผู้ผลิตเพื่อต่อรองกับผู้ใช้ รวมถึงหาตลาดส่งออกใหม่ๆเพื่อรองรับยางพารา และการแปรรูปที่ใหญ่กว่าระดับชุมชน รวมถึงการผลักดันนิคมอุตสาหกรรมยางพารา ต้องมีกรอบให้ชัดเจนว่า จะผลักดันให้เกิดขึ้นเมื่อใด
สำหรับปัญหาราคาปาล์มตกต่ำนั้น ปัญหาหลัก คือ สต๊อกที่ล้นอยู่ ถ้าสามารถขจัดได้ 3 แสนตัน มั่นใจราคาปาล์มจะขยับทันที จึงเสนอให้นำปาล์มไปใช้ผลิตไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้ากระบี่ ใช้เวลาครึ่งปีเพื่อขจัดสต๊อกที่ล้น ทำให้ราคาขยับทันที ใช้งบประมาณราว 3 พันล้านบาท ที่ผ่านมารัฐบาลเหมือนขยับในเรื่องนี้ แต่กลับไปใช้โรงไฟฟ้าบางปะกง และราชบุรี ทำให้สูญเสียค่าขนส่งโดยเปล่าประโยชน์ 1 บาท/1 ก.ก.และศักยภาพก็ไม่เท่าโรงไฟฟ้ากระบี่ เพราะมีปาล์มในสต๊อกเกิน 3 แสนตัน ทำให้ราคาน้ำมันถูกกดไว้ ทางแก้ปัญหาดีที่สุดคือ ต้องกำจัดออกจากระบบ เพื่อให้ราคาปาล์มเข้าสู่ดุลยภาพ แต่ในขณะนี้รัฐบาลเตรียมทำแค่ 1.6 แสนตัน ด้วยการไปใช้ที่โรงไฟฟ้าราชบุรี บางปะกง ซึ่งไม่สมเหตุสมผล เพราะจะมีเงินสูญเปล่าจากค่าขนส่งถึง 160 ล้านบาทโดยไม่จำเป็น จึงขอให้รัฐบาลกำจัดปาล์มที่ล้นสต๊อกออกจากระบบจำนวน 3 แสนตัน ภายใน 6 เดือน ด้วยการนำไปใช้ในโรงไฟฟ้ากระบี่ ซึ่งจะทำให้ราคาปาล์มขยับจาก 2.80 บาท ไปเป็น 4 บาท
รบ. ทุ่ม 2 หมื่นล้าน จ่ายเงินอุดหนุน ชดเชยส่วนต่างให้ด้วย
เวลา 17.00 น. ข่าวสดออนไลน์ [3] รายงานเพิ่มเติมถึงมาตรการของรัฐบาล กฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการหารือร่วมกับผู้ส่งออกยางพารา 5 ราย ประกอบด้วย บริษัท ไทยฮั้วยางพารา จำกัด (มหาชน) บริษัท วงศ์บัณฑิต จำกัด บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) บริษัทยางไทยปักษ์ใต้ และบริษัท เซาท์แลนด์ รับเบอร์ จำกัด ว่า ได้หารือแนวทางแก้ไขปัญหาราคายางพารา เพื่อกำหนดมาตรการเสนอให้คณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาในวัน 20 พ.ย.นี้
กฤษฎา กล่าวต่อว่า มาตรการจะแยกออกเป็น 2 ส่วนคือ 1.มาตรการเพื่อเสริมความเข้มแข็งชาวสวนยางและพัฒนาอาชีพเกษตรกรชาวสวนยาง ที่ขึ้นทะเบียนไว้กับการยางแห่งประเทศไทย(กยท.) ทั้งเจ้าของสวนยาง และคนกรีดยาง 1.4 แสนครัวเรือน โดยจะเสนอ ครม.ขอใช้งบกลางที่เหลืออยู่ประมาณ 10,000 ล้านบาท เพื่ออุดหนุน ในอัตราที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับการอุดหนุนในปี 60 ที่กำหนดไว้ 15 ไร่ ไร่ละ 1,500 บาท แนวทางนี้ได้ให้ กยท. พิจารณาในรายละเอียดว่าควรจะเพิ่มเป็นเงินให้มากขึ้นกว่าไร่ละ 1,500 บาท หรือเพิ่มจำนวนไร่ให้มากขึ้น เพื่อช่วยเหลือชาวสวนยางให้ได้มากที่สุด 2. มาตรการนี้ได้มอบหมายให้ กยท. ประสานกับภาคเอกชน สถาบันเกษตรกรให้ตั้งจุดรับซื้อยาง 3 ชนิดทั่วประเทศ คือยางก้อนถ้วย น้ำยางสด และยางแผ่นดิบ กรณีที่ราคาต่ำกว่าที่กำหนดคือ ยางก้อนถ้วย ชนิดยางแห้ง100 % กิโลกรัมละ 35 บาท น้ำยางสด กิโลกรัมละ 37 บาท และยางแผ่นดิบกิโลกรัมละ 40 บาท รวมถึงให้ กยท. เข้าไปชดเชยส่วนต่าง โดยใช้เงินกองทุนพัฒนายางพารา คาดว่าจะอยู่ที่กิโลกรัมละ 2-3 บาท ในทุกจุดรับซื้อจะมีเจ้าหน้าที่กยท.ระดับจังหวัดและอำเภอ เข้าไปตรวจสอบการซื้อขายทุกครั้ง กรณีนี้จะใช้เงินประมาณ 10,000 ล้านบาท หากเงินในกองทุนไม่เพียงพอ ก็สามารถขอรับการสนับสนุนจากรัฐบาลได้ อย่างไรก็ตาม หากราคายางสูงกว่าที่กำหนดไว้ก็ไม่จำเป็นต้องเข้าไปชดเชย
| ['ข่าว', 'เศรษฐกิจ', 'สิทธิมนุษยชน', 'ราคายางพารา', 'สุราษฎร์ธานี', 'พรรคประชาธิปัตย์'] |
https://prachatai.com/print/79600 | 2018-11-14 10:28 | นักศึกษาจีนผู้ต่อสู้เพื่อแรงงาน 5 คน ถูกลักพาตัว-ทำร้ายร่างกาย | เดอะการ์เดียนรายงานว่ามีกลุ่มนักกิจกรรมนักศึกษาในจีนผู้สนับสนุนการประท้วงของแรงงานถูกจับกุมตัวอย่างน้อย 10 ราย ในช่วงที่จีนเริ่มมีการปราบปรามขบวนการของนักศึกษาในกำลังเติบโตขึ้นตามมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ
ภาพหนึ่งในกลุ่มนักศึกษาที่ผลักดันประเด็นสิทธิแรงงาน (ที่มา: CLB [1])
เมื่อ 12 พ.ย. 2561 กลุ่มสิทธิแรงงานในจีนระบุว่ามีกลุ่มคนไม่ทราบฝ่ายจับตัวนักกิจกรรมคนรุ่นใหม่จากอย่างน้อย 5 เมืองของจีนในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะในเซี่ยงไฮ้, กวางโจว, ปักกิ่ง, เสิ่นเจิ้น, อู่ฮั่น มีบางคนถูกทุบตีทำร้ายก่อนที่จะถูกนำตัวขึ้นรถ หนึ่งในนั้นคือจางเฉิงเย่ นักศึกษาระดับแนวหน้าจากมหาวิทยาลัยปักกิ่ง เขาถูกลักพาตัวจากในมหาวิทยาลัยปักกิ่ง มีผู้เห็นเหตุการณ์รายหนึ่งเล่าว่าคนที่ลักพาตัวเขาทุบตีเขาอย่างแรงและควบคุมตัวเขาไว้เร็วมาก
จางเฉิงเย่เป็นแกนนำการค้นหานักศึกษาที่หายตัวไปก่อนหน้านี้ 50 รายเมื่อเดือน ส.ค. นักศึกษาเหล่านี้เป็นกลุ่มที่ร่วมแสดงการสนับสนุนการประท้วงของแรงงานจาสิค ผู้เห็นเหตุการณ์การลักพาตัวจางเฉิงเย่เล่าว่าเขาเห็นกลุ่มคนที่ทุบตีจางเฉิงเย่ทำร้ายผู้คนที่เดินผ่านไปมาโดยรอบด้วยและมีการห้ามไม่ให้ถ่ายรูป
50 นักศึกษาจีนหายตัวไป-หลังจนท.จีนบุกจับกรณีสนับสนุนแรงงานตั้งสหภาพ [2]
ดูคอมมิวนิสต์รุ่นใหม่ผู้ฝักใฝ่เศรษฐกิจเท่าเทียมที่ รบ.จีนมองเป็นปฏิปักษ์ [3]
นักกิจกรรมผู้สนับสนุนแรงงานเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาเฉพาะตัวของรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์จีน เพราะนักศึกษาที่ถูกมองว่าเป็นศัตรูของพรรครัฐบาลจีนในปัจจุบันเป็นผู้ที่สนับสนุนแนวคิดของมาร์กซิสต์และเหมาอิสต์โดยการสนับสนุนสิทธิแรงงานและแนวคิดของคอมมิวนิสต์เอง ในมหาวิทยาลัยของจีนมีตัวบังคับเรียนในหลักสูตรสำหรับนักศึกษาทุกคนคือชั้นเรียนแนวคิดมาร์กซิสต์ และแม้กระทั่งประธานาธิบดีสีจิ้นผิงเองก็เคยกล่าวในสุนทรพจน์ครบรอบ 200 ปี คาร์ล มาร์กซ์ ว่าสิ่งที่มาร์กซ์กล่าวไว้ "ถูกต้องโดยทั้งหมด"
สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่รัฐบาลจีนทำตัวย้อนแย้งในตัวเองเพราะทางการจีนกลับพยายามปิดกั้นไม่ให้นักศึกษาส่งสารเรื่องการจัดตั้งสหภาพและการคุ้มครองสิทธิลูกจ้าง โดยที่ในจีนไม่อนุญาตให้จัดตั้งสหภาพที่เป็นอิสระจากรัฐบาลและสหภาพแรงงานทุกองค์กรจะต้องจดทะเบียนกับ 'สหพันธ์แรงงานจีน' (ACFTU) ซึ่งเป็นสหภาพแรงงานที่เชื่อมโยงกับรัฐบาลจีนและเป็นกลุ่มที่มักจะเข้าข้างฝ่ายบริหารของโรงงาน
แพทริก ปูน นักวิจัยจากแอมเนสตีอินเตอร์เนขันแนลในฮ่องกงบอกว่า มันเป็นเรื่องย้อนแย้งในตนเองจากการที่รัฐบาลจีนกวาดต้อนจับกุมนักศึกษาที่เรียนเรื่องมาร์กซิสต์และทำกิจกรรมสนับสนุนแรงงานซึ่งเป็นคุณค่าหลักของมาร์กซิสม์ นักศึกษาเหล่านี้เพียงแค่ใช้เสรีภาพในการแสดงออกของตนเองในการสนับสนุนแรงงานเท่านั้น ปูนเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักศึกษาเหล่านี้ทันที
กล่มสมานฉันท์แรงงานจาสิคซึ่งเป็นกลุ่มที่ทำงานร่วมกับแรงงานจาสิคกล่าวว่าทางมหาวิทยาลัยปักกิ่งเองยอมปล่อยให้มีการลักพาตัวนักศึกษาตัวเองเกิดขึ้นแบบนี้ถือว่าเป็นอาชญากรรมอย่างหนึ่งที่ทางมหาวิทยาลัยกระต่อนักศึกษาหัวก้าวหน้าฝ่ายซ้าย นอกจากกลุ่มนักศึกษาแล้วยังมีสมาชิกกลุ่มเอ็นจีโอสนับสนุนแรงงานในเสิ่นเจิ้นอีก 2 คน รวมถึงกลุ่มนักกิจกรรมแรงงานคนอื่นๆ อีกหลายคนที่ถูกจับกุมตัวในการปราบปรามครั้งนี้
การปราบปรามนักศึกษาในจีนส่งผลให้มหาวิทยาลัยคอร์เนลล์โต้ตอบด้วยการยกเลิกโครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษากับมหาวิทยาลัยเหรินหมินในจีน
เรียบเรียงจาก
Student activists detained in China for supporting workers' rights, The Guardian [4], Nov. 12, 2018
| ['ข่าว', 'แรงงาน', 'สิทธิมนุษยชน', 'ต่างประเทศ', 'จางเฉินเย่', 'การลักพาตัว', 'คนหาย', 'การอุ้มหาย', 'สหภาพแรงงาน', 'นักศึกษา', 'โรงงานจาสิค', 'สิทธิในการชุมนุม', 'สิทธิในการจัดตั้งสหภาพ', 'จีน', 'สังคมนิยม', 'คอมมิวนิสต์', 'มาร์กซิสต์', 'เหมาอิสต์'] |
https://prachatai.com/print/79601 | 2018-11-14 12:33 | รัฐสภาญี่ปุ่นเริ่มพิจารณาแก้ กม. คนเข้าเมือง คาดปีงบฯ หน้ารับแรงงานต่างชาติ 47,000 คน | ที่มาภาพประกอบ: Motivist Japan [1]
เมื่อวันที่ 13 พ.ย. 2561 ที่ผ่านมาสภาผู้แทนราษฎรของญี่ปุ่นได้เริ่มพิจารณาร่างกฎหมายที่จะอนุญาตให้แรงงานต่างชาติเข้ามาในญี่ปุ่นจำนวนมากขึ้น
นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ระบุในการประชุมพรรคร่วมรัฐบาลว่าเขาต้องการเห็นร่างกฎหมายที่อนุญาตให้แรงงานต่างชาติจำนวนมากขึ้นเข้ามาในญี่ปุ่นผ่านการพิจารณาของรัฐสภาในสมัยประชุมปัจจุบัน เขาจะอธิบายอย่างรอบคอบ ถึงความจำเป็นในการแก้ไขกฎหมายควบคุมคนเข้าเมืองต่อรัฐสภา ซึ่งปัจจุบัน ญี่ปุ่นเปิดรับผู้เชี่ยวชาญที่มีทักษะสูงจากต่างประเทศ เช่น อาจารย์มหาวิทยาลัย โดยร่างแก้ไขกฎหมายนี้จะอนุญาตให้ชาวต่างชาติจำนวนมากขึ้นมาทำงานที่ใช้แรงงานเป็นหลักได้
นักการเมืองญี่ปุ่น เห็นต่างร่าง กม.เอื้อให้ต่างชาติเข้ามาทำงานมากขึ้น [2]ครม.ญี่ปุ่น รับรองร่าง กม.เปิดรับแรงงานต่างชาติมากขึ้น เตรียมให้สภาอนุมัติก่อนปิดสมัยประชุม [3]ภาคอุตสาหกรรมญี่ปุ่นต้องการแรงงานต่างชาติทักษะสูงเพิ่ม-ให้อยู่ในประเทศนานขึ้น [4]ญี่ปุ่นเตรียมแก้กฎหมายตรวจคนเข้าเมือง หวังชาวต่างชาติมาทำงานมากขึ้น [5]ประชากรญี่ปุ่นลดลงเป็นปีที่ 7 เตรียมจัดระบบวีซ่าแรงงานต่างชาติใหม่ [6]
อาเบะยังระบุว่าร่างกฎหมายดังกล่าวจะรับมือได้อย่างทันท่วงทีต่อการขาดแคลนแรงงานที่ยืดเยื้อของญี่ปุ่น และเขามุ่งที่จะผ่านร่างกฎหมายดังกล่าวพร้อมกับทำให้สาธารณชนเข้าใจรายละเอียดต่างๆ ได้
ทั้งนี้ฝ่ายรัฐบาลคาดว่าในปีงบประมาณ 2562 ญี่ปุ่นจะขาดแคลนแรงงานกว่า 600,000 คน และว่าหากร่างกฎหมายนี้ผ่านการรับรอง อาจมีการรับแรงงานต่างชาติประมาณ 33,000 ถึง 47,000 คนในช่วงเวลาดังกล่าว และนับจากปีงบประมาณ 2562 ไป 5 ปี เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลญี่ปุ่นคาดว่า ญี่ปุ่นจะขาดแคลนแรงงานระหว่าง 1,300,000 คน และ 1,350,000 คน และจะมีแรงงานต่างชาติเข้ามาในญี่ปุ่นประมาณ 260,000 ถึง 340,000 คน
ที่มาข่าวเรียบเรียงจากJapan may accept 47,000 foreign workers next year (NHK WORLD-JAPAN, 13/11/2018) [7]Lawmakers begin deliberating immigration bill (NHK WORLD-JAPAN, 13/11/2018) [8]
| ['ข่าว', 'แรงงาน', 'ต่างประเทศ', 'แรงงานข้ามชาติ', 'ญี่ปุ่น'] |
https://prachatai.com/print/79602 | 2018-11-14 12:39 | ใบตองแห้ง: ตู่หน้าบางสังคมโง่ | ลุงตู่ของคนชั้นกลางในเมืองเนี่ย เป็นคนมีเสน่ห์นะ โดยเฉพาะเวลาพูดจา แสดงกิริยาท่าทาง ไม่ว่าตอนอารมณ์ดี หรือหน้านิ่วคิ้วขมวด ยังกะปวดหน่วง ล้วนเรียกเรตติ้งจากทางบ้าน กดไลก์กดแชร์กันกระฉูด คนรักก็จะรู้สึกว่า ที่ท่านบ่นท่านยัวะ เพราะความจริงใจ แบกประเทศไว้หลังอาน คนชังก็สนุกสนาน กดหัวร่อน้ำหูน้ำตาไหล เผด็จการที่ไหนทำได้อย่างนี้มั่ง
เสียดายพูดคืนวันศุกร์ ไม่ค่อยเป็นธรรมชาติ โควตคำพูดคมๆ ลงเฟซบุ๊ก ก็เหมือนไม่ใช่ตัวท่าน มันต้องตอนตอบโต้นักข่าว สัญจรพบชาวบ้าน หรือปราศรัยให้โอวาท ถึงจะมันส์ อย่างที่พูดกับ 500 นักวิจัยเมื่อวันจันทร์ ฟังจากเทปข่าว ก็หัวร่อกันครื้นเครง
ตอนที่ฟังแล้วสะใจสุดๆ คือลุงบ่นสังคมไทยไร้สาระ สนใจเรื่องไม่เป็นเรื่อง แทนที่จะฟังลุงคืนวันศุกร์ ก็มัวดูละครแย่งมรดกพันล้าน เอาใจช่วยพระนาง ทั้งที่ตัวเองไม่มีสักบาท แต่ฟังละครด่ากันแล้วมีความสุข
หรือเฮโลสาระพาตั้งตัวเป็นศาล เป็นอัยการ เป็นหมอ ตัดสินเรื่องนั้นเรื่องนี้ รู้ดีไปหมด ทนายออกทีวีทุกช่อง เช้า กลางวัน เย็น ชี้นำคดี นี่เห็นด้วยจริงๆ นะ ใครถูกใครผิดสมัยนี้ สำคัญที่สร้างกระแส ทนายดังปั่นดราม่าออกสื่อ ดึงสังคมคล้อยตาม พอลูกขุนออนไลน์ตัดสิน ก็ได้เปรียบตั้งแต่ยังไม่ขึ้นศาล แบบลอตเตอรี่ 30 ล้าน เจ๊บ้าบิ่นฟังแล้วซึ้ง มาให้กำลังใจเลย
ลุงตู่บ่นสังคมไทยเหลวไหล ไร้สติ ไม่เหมือนต่างประเทศสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ฟังทีไรสะใจทุกที ผมก็คนรุ่นหลังท่านไม่กี่ปี โตมากับนิตยสารชัยพฤกษ์เหมือนกัน โคตรรำคาญสังคมสมัยนี้ มีแต่เรื่องไร้สาระ เบาปัญญา ขายข่าวคลิกเบตดาราดราม่าท่วมโลกดิจิตอล ไม่สนใจชาติบ้านเมือง สนใจแต่เรื่องคนถูกหวย 90 ล้าน ดาราแย่งผัวหย่าเมีย ไม่งั้นก็เปิดวาร์ป ใส่ชุดว่ายน้ำ ครางชื่อกันทั้งเมือง
สังคมสมัยนี้เบาปัญญาถึงขั้นปล่อยรถติดมาหลายทศวรรษ คิดวิธีแก้ไม่ออก ต้องรอให้ลุงตู่ไปทำพิธีเปิดอุโมงค์ตอน 08.30 เช้าวันจันทร์ กลับมาจึงปิ๊งไอเดียว่าต้องสั่งตำรวจอยู่ในป้อมเท่านั้น อย่าออกมาโบกรถ จึงจะแก้รถติดได้
คนจนสมัยนี้ก็จนเพราะไม่รู้จักพัฒนาตัวเอง ต้องให้สั่งให้สอน ยางพาราสามกิโลร้อยก็ตะบี้ตะบันขายกันอยู่นั่น ไม่รู้จักไปขายดาวอังคาร ไม่รู้จักปลูกหมามุ่ยมั่ง ปลูกมะพร้าวมั่ง ปาล์มน้ำมันก็บริหารจัดการไม่เป็น ราคาตกต่ำ ต้องให้ทหารไปคุมโรงงาน
การที่ลุงบ่นสังคมเบาปัญญาจึงเป็นเรื่องน่าทึ่ง สวนทฤษฎี “เผด็จการวิทยา” เพราะเผด็จการมีแต่อยากให้สังคมโง่ลง เช่นบังคับให้คนท่องอาขยาน เอาทหารมาฝึกวินัย สอนให้รักชาติบ้านเมือง ให้เป็นคนดีมีศีลธรรม โดยไม่รู้จักตั้งคำถาม โต้เถียง คิดต่าง เพื่อสร้างพุทธิปัญญา เผด็จการมีแต่อยากให้คนคิดตาม เชื่อฟัง เพื่อที่ทหารจะปกครองได้ง่ายๆ โดยเฉพาะสังคมตื้นเขิน วูบวาบ ฟูมฟาย อ่อนเหตุผล ยิ่งง่ายต่อการสร้างความนิยม
เพิ่งเห็นลุงตู่นี่แหละ เป็นเผด็จการสวนทฤษฎี อยากให้คนคิดเป็น คิดสร้างสรรค์ บ่นสังคมเบาปัญญา อยากให้คนรุ่นใหม่ นักวิจัย สนใจร่วมกันพัฒนาชาติบ้านเมือง
แต่เอ๊ะ พอคนรุ่นใหม่ออกมาเรียกร้อง “อยากเลือกตั้ง” ไหงโดนจับกุมคุมขัง บ่อนทำลายความมั่นคง ใครวิพากษ์วิจารณ์ ใครเห็นต่าง แค่กดไลก์กดแชร์ก็ยังโดน พ.ร.บ.คอมพ์
ถามจริง สังคมโง่เพราะใคร ทำไมมีแต่สื่อขายข่าวดาราดราม่า ถ้าเชิญนักวิชาการผู้มีสติปัญญามาออกทีวี จะขัดประกาศ คสช.ไหม
ที่ลุงพูดทั้งหมด คืออยากให้คนรุ่นใหม่ ให้นักวิจัย คิดเป็นแบบหุ่นยนต์ เหมือนในแร็พไทยแลนด์ 4.0 ช่วยกันสร้างสรรค์วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี โดยไม่ต้องมีสติปัญญาทางสังคมการเมือง อย่ายุ่งเรื่องอำนาจ ประชาธิปไตย ทำมาหากินใช้ ชีวิตชิกๆ ชิลๆ ไป ภายใต้การนำของเทคโนแครตอำนาจนิยม อย่าสนใจความไร้สติไร้เหตุผลทั้งหลายที่ “ประเทศกูมี”
เพราะถ้าคิดเป็นจริงๆ แล้วมีคนกล้ายกมือถาม มันจะยุ่ง ลุงครับ/คะ ที่ลุงบอกว่าไม่หน้าด้าน ถ้าลุงได้เป็นนายกฯ หลังเลือกตั้ง จากการยกมือของ 250 ส.ว. คสช.ตั้ง จากเสียง ส.ส. พรรคพลังประชารัฐ ของสี่รัฐมนตรี จากการเลือกตั้งใต้ ม.44 ไม่ยอมให้ต่างชาติสังเกตการณ์ อย่างนี้วัฒนธรรมไทยเขาเรียกว่า หน้าบางหรือ
อย่าไปบ่นสังคมเบาปัญญาเลย ถ้าไม่เบาปัญญา รัฐประหารจะอยู่สี่ปีกว่าได้อย่างไร ถ้าสังคมไทยโง่จริง ก็เป็นเรื่องดีกับผู้มีอำนาจ เพียงระวัง สังคมแกล้งโง่เพราะยังแสดงออกไม่ได้เท่านั้นเอง
เผยแพร่ครั้งแรกใน: ข่าวสดออนไลน์ www.khaosod.co.th/hot-topics/news_1794598 [1]
| ["'ใบตองแห้ง' ออนไลน์", 'การเมือง', 'ใบตองแห้ง', 'ประยุทธ์ จันทร์โอชา'] |
https://prachatai.com/print/79612 | 2018-11-14 16:06 | กสม.เสนอแก้ กม.กีฬามวย ให้สอดคล้องสิทธิเด็ก หลังนักมวยเด็กโดนชกน็อกเลือดคั่งสมองดับ | กสม. แสดงความเสียใจต่อการสูญเสีย 'เพชรมงคล ป.พีณภัทร' นักกีฬามวยเด็ก ย้ำทุกภาคส่วนต้องไม่นิ่งนอนใจต่ออันตรายจากการชกมวยในวัยเด็ก เสนอแก้ไขกฎหมายกีฬามวย ให้สอดคล้องอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
14 พ.ย. 2561 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ รายงานว่า ฉัตรสุดา จันทร์ดียิ่ง กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะประธานคณะทำงานด้านสิทธิผู้สูงอายุ ผู้พิการ เด็ก การศึกษา และการสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีที่โลกออนไลน์มีการเผยแพร่เรื่องราวสลดที่เกิดขึ้นกับนักมวยเด็กรายหนึ่ง คือ “เพชรมงคล ป.พีณภัทร” (ด.ช.อนุชา ทาสะโก) วัย 13 ปี ซึ่งเสียชีวิตจากอาการเลือดคั่งในสมองจากการขึ้นชกมวยที่อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อเร็ว ๆ นี้ ว่า ตนขอแสดงความเสียใจเป็นอย่างยิ่งต่อครอบครัวของ นักมวยเด็กคนดังกล่าวจากการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักจากการชกมวย เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นถือเป็นกรณีตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นปัญหาของการชกมวยในวัยเด็กที่เสี่ยงต่อการบาดเจ็บ โดยเฉพาะการบาดเจ็บทางสมองที่ก่ออันตรายถึงแก่ชีวิต
ฉัตรสุดา ระบุว่า ความเสี่ยงต่อชีวิตและการได้รับบาดเจ็บทางร่างกายที่นักมวยเด็กต้องเผชิญ เป็นปัญหาที่ทุกภาคส่วนรวมถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในแวดวงกีฬามวยต้องให้ความสำคัญและไม่นิ่งนอนใจ เนื่องจากกีฬามวยเด็กถือว่าขัดต่อหลักการของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child - CRC) ซึ่งระบุว่า เด็กเป็นกลุ่มเปราะบางของสังคม จะต้องได้รับการดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐานให้มีชีวิตรอด และต้องได้รับการปกป้องคุ้มครองจากการถูกทำร้าย การล่วงละเมิด และการแสวงหาประโยชน์ในทุกรูปแบบ นอกจากนี้การชกมวยเด็กที่เป็นลักษณะมวยอาชีพและได้รับค่าตอบแทน ยังขัดต่อพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 มาตรา 26 (6) ที่ระบุว่า ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการใช้ จ้าง หรือวานเด็กให้ทำงาน หรือกระทำการอันอาจเป็นอันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจ มีผลกระทบต่อการเจริญเติบโต หรือขัดขวางต่อพัฒนาการของเด็ก และ (7) ที่ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการบังคับ ขู่เข็ญ ใช้ ชักจูง ยุยง ส่งเสริม หรือยินยอมให้เด็กเล่นกีฬา หรือให้กระทำการใด เพื่อแสวงหาประโยชน์ทางการค้าอันมีลักษณะเป็นการขัดขวางต่อการเจริญเติบโตหรือพัฒนาการของเด็กหรือมีลักษณะเป็นการทารุณกรรมต่อเด็ก
อย่างไรก็ดี เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ตนเห็นว่าการชกมวยของเด็กควรมีการป้องกันการบาดเจ็บบริเวณศีรษะ ทั้งนี้ ขอเสนอให้มีการแก้ไขพระราชบัญญัติกีฬามวย พ.ศ. 2542 ให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 หลักการของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กและอนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ฉบับที่ 138 และ 182) ที่ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันไว้ เพื่อให้เด็กและเยาวชนได้รับความคุ้มครองในชีวิตและร่างกาย มีพัฒนาการการเติบโตที่สมบูรณ์แข็งแรง และไม่ต้องเผชิญกับเหตุการณ์อันน่าสลดเช่นนี้อีก
คนวงการมวยจ่อแถลงจุดยืนค้านแก้ไขพ.ร.บ.มวย
TNN24 [1] รายงานฝ่ายคัดค้านการแก้ไขพ.ร.บ.มวย ด้วย โดยระบุว่า วันนี้ สมาคมนายขนมต้ม ที่มีสมาชิกเป็นอดีตนักมวยไทยชื่อดังอย่าง เจริญทอง เกียรติบ้านช่อง รวมถึงผู้คร่ำวอดในวงการมวยเตรียมแถลงจุดยืนคัดค้านการแก้ไขพ.ร.บ.มวย ที่จะมีการห้ามเยาวชนอายุ 12 ปีขี้นชกมวยไทย เนื่องจากเกรงว่าจะกระทบต่อวงการมวยไทยที่จะฝึกซ้อมนักมวยตั้งแต่เล็กๆ
นักวิจัยชี้เด็กต่ำกว่า 12 ปี ยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่ อาการบาดเจ็บมีผลต่ออนาคต
TNN24 ยังรายงานมุมมองของนักวิจัยเรื่องนี้ด้วยว่า ศ.พญ.จิรพร เหล่าธรรมทัศน์ หัวหน้าโครงการวิจัยและติดตามกลุ่มนักมวยเด็ก เปิดเผยผลการศึกษาสมองนักมวยเด็กที่เสียชีวิต เกิดจากอาการบาดเจ็บรุนแรงแบบเฉียบพลันที่สมอง เพราะเด็กถูกต่อยที่ใบหน้าและศีรษะหลายครั้ง ทำให้สมองมีเลือดออกโดยจะเห็นได้ว่าในเวทีชกมวยนี้ ไม่มีแพทย์สนามเพื่อทำประเมินอาการ เป็นความผิดพลาดของคนดูแล ที่ไม่ตระหนักในเรื่องความปลอดภัยเด็ก
ศ.พญ.จิรพร ทำวิจัยโครงการนี้มาตลอด 8 ปี ระบุว่า ผลกระทบต่ออาการบาดเจ็บสมองของนักมวยเด็ก ส่วนใหญ่จะเกิดในลักษณะอาการบาดเจ็บสะสม มากกว่าการเสียชีวิตแบบเฉียบพลัน และสมองของเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี ยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่จึงเชื่อว่าอาการบาดเจ็บเหล่านี้มีผลต่อการดำรงชีวิตในอนาคต
ทั้งนี้ ศ.พญ. จิรพร ย้ำว่า การฝึกทักษะมวยให้กับเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี สามารถทำได้ แต่ต้องไม่มีแรงกระแทกที่ศีรษะหรือร่างกาย และควรใช้วิทยาศาสตร์ทางการกีฬาเข้ามาช่วยสร้างพัฒนาการได้ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อสมรรถภาพร่ายกายมากกว่า
เมื่อดูจากประวัติการชกของน้องเล็ก เพชรมงคล ตลอด 5 ปีที่ชกมวยจนอายุ 13 ปี ขึ้นชกในสังเวียนมวยเด็กมากกว่า 170 ครั้ง เฉลี่ยชกปีละ 34 ไฟต์ เฉลี่ย 11 วันต่อ 1 ไฟต์ ซึ่งไม่เป็นไปตามกฎของ พ.ร.บ.กีฬามวย 2542 ที่ระบุว่า นักมวยที่แข่งขันครบ 5 ยก จะต้องพัก 21 วัน นักมวยที่ชนะ 3 ยก จะต้องพัก 14 วัน และนักมวยที่แพ้น็อก ต้องพักก่อนการชกครั้งต่อไป 30 -90 วัน สะท้อนให้เห็นถึงกฏหมายที่ยังบังคับใช้ได้ไม่เต็มที่
| ['ข่าว', 'สิทธิมนุษยชน', 'คุณภาพชีวิต', 'กีฬา', 'อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก', 'มวยเด็ก', 'คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ', 'พ.ร.บ.กีฬามวย พ.ศ. 2542'] |
https://prachatai.com/print/79613 | 2018-11-14 16:22 | คณะศึกษาข้อเท็จจริงฯ โรงไฟฟ้าชีวมวล เตรียมยื่นข้อมูล กก.กำกับกิจการพลังงานพรุ่งนี้ | กรณีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ จ.อำนาจเจริญ คณะทำงานศึกษาข้อเท็จจริงฯ และชาวบ้านในพื้นที่ได้รับผลกระทบ เตรียมข้อมูลการศึกษาเพื่อยื่นกับคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) วันที่ 15 พฤศจิกายนนี้
คณะทำงานศึกษาข้อเท็จจริงการมีส่วนร่วม ทรัพยากรและสุขภาพ กรณีการคัดค้านโรงไฟฟ้าชีวมวล ขนาด 61 เมกะวัตต์ ของบริษัท มิตรผล ไบโอ-เพาเวอร์ (อำนาจเจริญ) จำกัด ที่มีที่ตั้งอยู่ที่ ตำบลน้ำปลีก อำเภอเมือง จังหวัดอำนาจเจริญ โดยอยู่ติดกับ ตำบลเชียงเพ็ง อำเภอป่าติ้ว จังหวัดยโสธร ได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลจากแบบสอบถามในประเด็นการมีส่วนร่วมของประชาชน จำนวน 559 ครัวเรือน ในพื้นที่ที่อยู่ในพื้นที่รัศมี 5 กิโลเมตร เฉพาะในเขตจังหวัดยโสธร เพื่อจะนำไปวิเคราะห์และกำหนดทิศทางในกระบวนการการทำงานเพื่อจะส่งข้อมูลให้กับคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2561
กลุ่มค้านโรงไฟฟ้าฯ โต้ ชาวไร่อ้อยอำนาจเจริญ-ยโสธรเดือดร้อนเพราะนายทุน [1]
นิรันดร คำนุ อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม หนึ่งในคณะทำงานในฐานะตัวแทนภาคนักวิชาการได้ลงพื้นที่พูดคุยกับชาวบ้านในตำบลเชียงเพ็ง อำเภอป่าติ้ว จังหวัดยโสธร โดยวัตถุประสงค์การลงพื้นที่เก็บข้อมูลของคณะทำงานในครั้งนี้ เป็นภารกิจที่ได้รับมอบหมายจากมติที่ประชุมของคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ ซึ่งมีการประชุมร่วมกับคณะของ กกพ. เมื่อวันที่ 1 พ.ย.61 เพื่อช่วยในการออกแบบวิธีการศึกษา และดำเนินการศึกษาอย่างเร่งด่วน โดยเน้นเฉพาะกรณีการศึกษาข้อเท็จจริงของกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่รัศมี 5 กิโลเมตร ในเขตพื้นที่จังหวัดยโสธร ทั้งนี้ ข้อมูลดังกล่าวทางคณะทำงานฯ จะนำไปจัดทำรายงานผลการศึกษาฯ เสนอผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร เพื่อส่งต่อข้อมูลให้ทาง กกพ. ใช้เป็นข้อมูลส่วนหนึ่งเพื่อประกอบการพิจารณาของที่ประชุมของ กกพ. ต่อไป
นิรันดร กล่าวอีกว่า คณะทำงานที่ประกอบด้วยตัวแทนจากหลายหน่วยงานได้ให้ความสำคัญกับกระบวนการแก้ไขปัญหา ซึ่งในเบื้องต้นการศึกษาข้อเท็จจริงสามารถดำเนินการได้เพียงความพยายามในการตอบข้อเท็จจริงประเด็นเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ รัศมี 5 กิโลเมตร ของจังหวัดยโสธร ส่วนปัญหาตามข้อร้องเรียนของชาวบ้านในพื้นที่มันคาบเกี่ยวกับขอบเขตพื้นที่สองจังหวัด คือ จังหวัดยโสธร และจังหวัดอำนาจเจริญ ซึ่งมีความจำเป็นที่จะต้องมีการหารือร่วมกันเพื่อหาทางออกในการแก้ไขปัญหาในลักษณะของคณะกรรมการร่วม นอกจากนี้แล้วการศึกษาข้อเท็จจริงในมิติอื่นๆ ก็มีความสำคัญมาก เช่น ผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับระบบนิเวศในพื้นที่ เป็นต้น
ด้านนายสิริศักดิ์ สะดวก คณะทำงานศึกษาข้อเท็จจริงฯ กล่าวว่า การลงพื้นที่ของคณะทำงานฯ ในครั้งนี้เป็นการสอบถามข้อมูลความเป็นจริงของประชาชนในพื้นที่ที่อยู่ในรัศมี 5 กิโลเมตร ของจังหวัดยโสธร การศึกษาข้อเท็จจริงในประเด็นการมีส่วนร่วม ส่วนที่ 1 คือ การมีส่วนร่วมของชุมชนในการรับฟังความคิดเห็น รับรู้ และตัดสินใจถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากการสร้างโรงงานไฟฟ้าชีวมวล ในประเด็นด้าน ทรัพยากร และสุขภาพ ของชุมชนในเขตรัศมี 5 กิโลเมตร เขตพื้นที่จังหวัดยโสธร โดยการมีส่วนร่วมของชุมชนในการรับฟังความคิดเห็น ในที่นี้ หมายถึงการมีส่วนร่วมในการรับฟังความคิดเห็น มีบทบาทของประชาชน/ชุมชน ในเรื่องการได้รับรู้ ทำความเข้าใจเกี่ยวกับการดำเนินการก่อสร้างโรงงานไฟฟ้าชีวมวล ผ่านการชี้แจง จัดเวทีรับฟังความคิดเห็น หรือการประชาพิจารณ์ ส่วนที่ 2 การมีส่วนร่วมการรับรู้การประชาสัมพันธ์โครงการก่อสร้างโรงงานไฟฟ้าชีวมวล ส่วนที่ 3 การมีส่วนร่วมในการร่วมรับฟังความคิดเห็น ในการดำเนินงานก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล ส่วนที่ 4 ความเห็นของประชาชนในการก่อสร้างโรงงานไฟฟ้าชีวมวล เห็นด้วยหรือไม่ เพราะอะไร โดยมีแบบสอบถามที่ชัดเจน
สิริศักดิ์ กล่าวอีกว่า “การลงพื้นที่ใน 5 หมู่บ้าน ที่อยู่ในรัศมี 5 กิโลเมตรของจังหวัดยโสธร เพื่อรับฟังความคิดเห็นของชุมชน และเพื่อจะได้รับรู้ข้อมูลข้อกังวลของชุมชน หลังจากนี้คณะทำงานฯ จะสรุปข้อมูลเพื่อให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) นำไปพิจารณาร่วมด้วยในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2561 นี้ โดยตัวแทนคณะทำงานและชุมชนจะไปยื่นเอกสารด้วยตัวเอง”
| ['นักข่าวพลเมือง', 'การเมือง', 'สังคม', 'คุณภาพชีวิต', 'สิ่งแวดล้อม', 'โรงไฟฟ้าชีวมวลอำนาจเจริญ', 'คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน', 'นิรันดร คำนุ', 'สิริศักดิ์ สะดวก'] |
https://prachatai.com/print/79614 | 2018-11-14 17:53 | ครม.ผ่าน กม.กัญชา คลายล็อกใช้รักษาโรค ป.ป.ส.-สธ.เป็นผู้อนุญาตพื้นที่ปลูก | ครม. ผ่าน ร่าง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....คลายล็อกกัญชาใช้รักษาโรค ให้ป.ป.ส.และ ก.สาธารณสุขเป็นผู้ให้อนุญาตเรื่องพื้นที่ที่สามารถปลูก แต่ไม่ได้หมายความว่าปลูกหลังบ้านก็ได้ ยันควบคุมอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่อิสระ
ที่มาภาพประกอบ: Thomas Hawk (CC BY-NC 2.0)
14 พ.ย.2561 วานนี้ การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมนั้น มีมติหนึ่งที่น่าสนใจหลังจากมีกระบวนการเรียกร้องให้ถอดกัญชาออกจากบัญชียาเสพติด เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์นั้น คือ ครม. รับหลักการร่าง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่เสนอโดยสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และให้ส่งความเห็นของกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ไปเพื่อประกอบการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป และให้ส่งคืน ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวไปยัง สนช. ภายในกำหนดเวลา นอกจากนี้ยังมีมติให้กระทรวงสาธารณสุขรับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปราม ยาเสพติดไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
ทั้งนี้ สนช. เสนอว่า โดยที่ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานานและมีบทบัญญัติบางประการที่ไม่ทันต่อสถานการณ์ปัจจุบัน นอกจากนี้ในปัจจุบัน ในส่วนของกัญชานั้นปรากฏผลวิจัยว่าสารสกัดจากกัญชามีประโยชน์ทางการแพทย์ หลายประเทศทั่วโลกจึงได้มีการผ่อนปรนโดยการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย อนุญาตให้ประชาชนใช้พืชกระท่อมและกัญชาทางการแพทย์หรือเพื่อการนันทนาการได้โดยชอบด้วยกฎหมาย แต่สำหรับประเทศไทย ปัจจุบันพืชกระท่อมและกัญชายังคงเป็นสิ่งเสพติดให้โทษประเภท 5 ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มีการกำหนดโทษทั้งผู้เสพและผู้ครอบครอง ทั้งที่ในสภาพความเป็นจริงพบว่ามีผู้ป่วยบางส่วนลักลอบใช้กัญชาเพื่อรักษาโรคมานานหลายปีแล้ว ทั้งผลิตใช้เองและผลิตในเชิงพาณิชย์ เป็นผลให้มีราคาแพง และอาจไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการแพทย์และตำรับยา สมควรแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 เพื่อเปิดโอกาสให้สามารถนำกัญชาและพืชกระท่อมไปทำการศึกษาวิจัยเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และสามารถนำไปใช้ในการรักษาภายใต้การดูแลและควบคุมของแพทย์ได้ จึงจำเป็นต้องตรา พ.ร.บ.นี้
สนช.มีมติให้ ครม.รับร่าง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ไปพิจารณาปลดล็อคกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ [1]
นักการเมืองมาเลเซียเรียกร้องรื้อคดีประหารคนแจกจ่ายกัญชาเพื่อการแพทย์ [2]
ประวิตร ระบุกำลังคลายล็อก เรื่องนี้ไม่ใช่การปลดล็อค
พล.อ.ประวิตร ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวซึ่งเกี่ยวข้องกับกัญชาว่า เรื่องดังกล่าวกำลังคลายล็อก เรื่องนี้ไม่ใช่การปลดล็อค เพราะกัญชายังเป็นยาเสพติดที่อยู่ในประเภทที่ 5 เพียงแต่จะนำมาใช้ประโยชน์ในการศึกษาในเรื่องของการรักษาโรค ว่าควรจะจำกัดจำนวนเท่าไหร่ในการใช้ ซึ่งจะใช้เป็นบทเฉพาะกาลในระยะเวลา 5 ปี ก่อน ซึ่งจะต้องส่งกลับไปให้ทาง สนช. พิจารณาอีกครั้งหนึ่ง
พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงกรณีนี้เพิ่มเติมว่า สาระสำคัญในการแก้ไขเพิ่มเติม คือ ห้ามมิให้ผลิต นำเข้า หรือส่งออกยาเสพติดประเภท 5 เว้นแต่ได้รับใบอนุญาตจากผู้อนุญาต เฉพาะกรณี จำเป็นเพื่อประโยชน์ของทางราชการ ห้ามมิให้ผู้ใดจำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษประเภท 5 เว้นแต่ได้รับใบอนุญาต และกำหนดให้การมียาเสพติดให้โทษในประเภท5 ไว้ในครอบครอง ไม่เกินจำนวนที่จำเป็น สำหรับการใช้รักษาโรคเฉพาะ หรือสำหรับปฐมพยาบาล ในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉิน และให้ใช้ยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ได้ หากเป็นการรักษาโรคตามคำสั่งของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบโรคศิลป์หรือเพื่อศึกษาวิจัย
นอกจากนี้ กำหนดให้ผู้รับอนุญาตสามารถจำหน่ายยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ได้ ในสถานที่ที่ระบุไว้เท่านั้น ขณะเดียวกัน เพิ่มเติมอำนาจของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด มีอำนาจในการกำหนดเขตพื้นที่ เพื่อทดลองปลูกพืชที่เป็น หรือให้ผลผลิตเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 รวมถึงผลิตและทดสอบยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ได้ตามพื้นที่กำหนด หรือกำหนดเขตพื้นที่ให้เสพกระท่อม หรือครอบครองยาเสพติดประเภท 5 ในปริมาณที่กำหนด
“เนื่องจากที่ผ่านมาไม่สามารถนำเข้าหรือส่งออกยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ได้เลย จึงแก้ให้มีการนำเข้า ส่งออกได้ แต่ต้องนำมาใช้ในการรักษาพยาบาลเท่านั้น และยกเว้นให้มีกัญชา กระท่อมไว้ในครอบครองได้ แต่ว่ามีไว้เฉพาะในการรักษาพยาบาล อย่างเช่นผู้ป่วยก็มีไว้ในครอบครองได้ไม่มีความผิด และการเพิ่มความสามารถในการทำเพื่อรักษาโรค คือ หมอสามารถนำกัญชา หรือสารเสพติดประเภท 5 มาใช้ในการสั่งยาและรักษาโรคได้ และให้สามารถเสพได้ในพื้นที่ที่กำหนด ซึ่งเรื่องนี้ปกติ คนที่จะผลิตหรือจำหน่าย เสพ หรือมีไว้ในครอบครอง มีโทษทั้งหมด และเห็นว่าสิ่งนี้จะปลดล็อกให้ หมอ คนไข้ การพกพาในจำนวนจำกัด ถือว่ายกเว้นให้ว่าไม่มีความผิด ขอเน้นย้ำว่า ทั้งหมดนี้เพื่อสังคมมีความเข้าใจมากขึ้น เพื่อรักษาและใช้ในเชิงการแพทย์เท่านั้น และคณะกรรมการ ป.ป.ส.และกระทรวงสาธารณสุขจะเป็นผู้ให้อนุญาตเรื่องพื้นที่ที่สามารถปลูกได้ ไม่ได้หมายความว่าปลูกหลังบ้านก็ได้ ต้องเป็นพื้นที่ที่เห็นว่าเหมาะสม และการนำไปสู่การผลิต ต้องระบุว่าใครบ้างและต้องมีการควบคุมอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่อิสระ” พุทธิพงษ์ กล่าว
สาระสำคัญของ ร่าง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ดังต่อไปนี้
1. เพิ่มเติมบทบัญญัติ ห้ามมิให้ผลิต นำเข้า หรือส่งออกยาเสพติดประเภท 5 เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากผู้อนุญาตเฉพาะกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์ของทางราชการ (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 16)
2. เพิ่มเติมบทบัญญัติ ห้ามมิให้ผู้ใดจำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษประเภท 5 เว้นแต่ได้รับใบอนุญาต และกำหนดให้การมียาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ไว้ในครอบครองคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ตามจำนวนที่กำหนด ให้สันนิษฐานว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 17)
3. เพิ่มเติมบทบัญญัติ ในกรณีที่ยกเว้นให้มียาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ไว้ในครอบครองไม่เกินจำนวนที่จำเป็นสำหรับใช้รักษาโรคเฉพาะตัว หรือสำหรับใช้ประจำในการปฐมพยาบาล หรือกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินในเรือ เครื่องบิน หรือยานพาหนะอื่นใดที่ใช้ในการขนส่งสาธารณะระหว่างประเทศ (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 18)
4. เพิ่มเติมอำนาจของผู้อนุญาตที่จะอนุญาตให้จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 หรือประเภท 5 (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 19)
5. เพิ่มเติมให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดมีอำนาจกำหนดเขตพื้นที่เพื่อทดลองปลูกพืชที่เป็นหรือให้ผลผลิตเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ผลิตและทดสอบยาเสพติดประเภท 5 หรือกำหนดเขตพื้นที่ให้เสพหรือครอบครองยาเสพติดประเภท 5 ในปริมาณที่กำหนดได้ โดยให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกาและต้องมีมาตรการควบคุมตรวจสอบด้วย (เพิ่มมาตรา 19/1)
6. ตัดยาเสพติดประเภท 5 ออกจากบทบัญญัติห้ามผลิต จำหน่าย นำเข้า ส่งออก และการมีไว้ในครอบครอง รวมถึงการกำหนดปริมาณยาเสพติดประเภท 5 ที่ให้สันนิษฐานว่ามีไว้เพื่อครอบครองจำหน่ายออก โดยใช้เนื้อหาเดียวกันนี้ไปกำหนดเพิ่มเติมในมาตราอื่น (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 26)
7. กำหนดห้ามมิให้ผู้รับอนุญาตตามมาตรา 17 จำหน่ายยาเสพติดให้โทษประเภท 5 นอกสถานที่ที่ระบุไว้ในใบอนุญาต (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 27)
8. เพิ่มเติมหน้าที่ของผู้รับอนุญาต ในการจัดเก็บรักษายาเสพติด และหน้าที่ที่ต้องกระทำเมื่อยาเสพติดถูกโจรกรรม สูญหาย หรือถูกทำลาย (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 28)
9. กำหนดเพิ่มเติมมิให้โฆษณายาเสพติดให้โทษประเภท 5 เว้นแต่เป็นการโฆษณาต่อผู้ประกอบวิชาชีพที่ได้รับอนุญาต และหลักเกณฑ์ในการโฆษณาฉลากหรือเอกสารกำกับยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ที่ภาชนะหรือหีบห่อบรรจุ (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 48)
10. กำหนดให้ผู้รับอนุญาตที่ประสงค์จะจำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดประเภท 5 เกินปริมาณที่กำหนด ให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาต (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 60)
11. กำหนดหน้าที่ของทายาท ผู้ครอบครอง หรือผู้จัดการมรดก และอำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ ในกรณีที่ผู้ได้รับใบอนุญาตจำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดประเภท 5 ตายก่อนใบอนุญาตสิ้นอายุ (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 61)
12. กำหนดโทษกรณีครอบครองยาเสพติดให้โทษประเภท 5 อันฝ่าฝืน พ.ร.บ.นี้ (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 76 และมาตรา 76/1)
สำหรับ ประเภทที่ 5 ยาเสพติดให้โทษที่ไม่เข้าอยู่ในประเภท 1 ถึง 4 ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มี 4 รายการ คือ กัญชา พืชกระท่อม พืชฝิ่น ทุกส่วนของพืชกัญชา ทุกส่วนของพืชกระท่อม และพืชเห็ดขี้ควาย
ที่มา : เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล [3] และข่าวสดออนไลน์ [4]
| ['ข่าว', 'เศรษฐกิจ', 'คุณภาพชีวิต', 'ร่าง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....', 'กัญชา'] |
https://prachatai.com/print/79616 | 2018-11-14 18:26 | สิทธิบัตรกัญชา สะท้อนความล้มเหลวกรมทรัพย์สินฯ ทำบริษัทผูกขาด-นักวิจัยพัฒนาต่อไม่ได้ | ภาคประชาสังคมแถลงกรมทรัพย์สินฯ ผิด พ.ร.บ. สิทธิบัตร ห้ามจดสิทธิบัตรพืช-สิทธิการบำบัดโรค เหตุเปิดช่องบริษัทผูกขาด ผู้ป่วยเดือดร้อน พบ บ.ไทยโอซูก้าผู้ยื่นขอเคยเข้าร่วมโครงการกับ รบ.ไทย ชี้รายละเอียดการขอสิทธิบัตรไม่มีใครได้ดูเป็นอุปสรรคต่อการคัดค้าน หนุนองค์กรเภสัชฯ-ม.รังสิตฟ้องกรมทรัพย์สินฯ เหตุเป็นผู้เสียหายโดยตรง พร้อมเร่งให้กรมทรัพย์สินฯ ยกคำขอฯผิดกม. -แก้ไขฐานข้อมูลสิทธิบัตร
14 พ.ย. 2561 จากกรณีที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ผ่านคำขอสิทธิบัตรกัญชาซึ่งเป็นพืชที่มีสรรพคุณในการรักษาโรคของบริษัทยาข้ามชาติในขั้นของการตรวจสอบเบื้องต้น และไปสู่ขั้นตอนการประกาศโฆษณา และการขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ ทำให้หลายฝ่ายออกมาวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการทำผิด พ.ร.บ. สิทธิบัตรในมาตรา 9 ซึ่งเขียนไว้ชัดเจนว่าห้ามจดสิทธิบัตรพืชหรือสิทธิบัตรการบำบัดโรค และเป็นการเปิดช่องให้เกิดการผูกขาดสิทธิบัตร ทำให้องค์กรหรือบริษัทอื่นไม่สามารถทำวิจัยและพัฒนาต่อได้
กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ออกมาโต้แย้งเมื่อวันที่ 12 พ.ย. ที่ผ่านมา โดยอ้างว่าไม่สามารถยกเลิกคำขอรับสิทธิบัตรกัญชาได้ต้องปล่อยให้เป็นไปตามกระบวนการ แต่ไม่ได้หมายความว่าคำขอเหล่านี้จะได้รับความคุ้มครอง
ล่าสุดวันนี้ ภาคประชาสังคม ประกอบด้วย กรรณิการ์ กิจติเวชกุล รองประธานเอฟทีเอ ว็อทช์ เฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล เจ้าหน้าที่รณรงค์การเข้าถึงการรักษา มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (BioThai) ภญ.อุษาวดี สุตะภักดิ์ อาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยพายัพ ภญ.อัจฉรา เอกแสงศรี นักวิชาการด้านระบบทรัพย์สินทางปัญญาและการเข้าถึงยา ได้แถลงข่าวตอบโต้ข้ออ้างดังกล่าวของกรมทรัพย์สินทางปัญญา
จากซ้ายไปขวา เฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล, กรรณิการ์ กิจติเวชกุล, วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ, อัจฉรา เอกแสงศรี
กรมทรัพย์สินฯ ผิดม. 9 ห้ามจดสิทธิบัตรพืช-สิทธิการบำบัดโรค เปิดช่องบริษัทผูกขาด ผู้ป่วยเดือดร้อน
กรรณิการ์ กิจติเวชกุล รองประธานเอฟทีเอ ว็อทช์ อธิบายว่า ขั้นตอนการรับสิทธิบัตรนั้นเริ่มจากจัดเตรียมคำขอฯ ยื่นคำขอฯ ซึ่งกรมทรัพย์สินทางปัญญาจะทำการตรวจสอบเบื้องต้น ในขั้นตอนนี้หากพบว่าผิด พ.ร.บ. สิทธิบัตร อธิบดีกรมฯ ก็สามารถยกคำขอฯ สิทธิบัตรได้ทันที แต่ถ้าพบว่าถูกต้องเรียบร้อยก็จะไปสู่ขั้นตอนการประกาศโฆษณา และการขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์
เมื่อมีการประกาศโฆษณาแล้วแม้ยังไม่ได้รับสิทธิบัตร บริษัทอื่นที่กำลังทำการวิจัยและพัฒนาจะไม่สามารถดำเนินการได้เพราะถือเป็นการละเมิดคำขอฯ และสิ่งที่บริษัทผู้ขอสิทธิบัตรทำได้อีกอย่างคือการส่ง Notice ไปข่มขู่บริษัทอื่นๆ ที่กำลังวิจัยและพัฒนาตัวยาเดียวกัน และบอกว่าจะฟ้องร้องหากได้รับสิทธิบัตรแล้ว ซึ่งหากได้รับสิทธิบัตรความคุ้มครองจะเริ่มตั้งแต่วันที่ยื่นคำขอฯ ดังนั้นจึงฟ้องร้องเป็นผลย้อนหลังได้ ข้อน่ากังวลคือจะเกิดการผูกขาดของบริษัท
เฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล เจ้าหน้าที่รณรงค์การเข้าถึงการรักษา มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวเสริมว่า การยื่นคำขอฯ แบบกันท่าเช่นนี้ เท่ากับเป็นการกันท่าโดยเอาชีวิตคนป่วยเป็นตัวประกัน นอกจากนี้ระบบที่หย่อนยานในการตรวจสอบและคัดกรองของกรมฯ ยิ่งทำให้เกิดการผูกขาดที่ไม่เป็นธรรมและยาราคาแพง ไม่เพียงแต่ทำให้ประเทศสูญเสียงบประมาณค่ายาแพงเพราะการผูกขาดผ่านสิทธิบัตรยาที่ด้อยคุณภาพ แต่เท่ากับเป็นฆาตกรรมคร่าชีวิตผู้ป่วยทางอ้อมด้วย
กรรณิการ์กล่าวต่อว่า ส่วนในกรณีการขอสิทธิบัตรกัญชาโดยบริษัทต่างชาตินี้ แม้จะพบว่าผิดพ.ร.บ. สิทธิบัตร ตั้งแต่ในขั้นยื่นคำขอฯ โดยผิดในมาตรา 9 (1) สารสกัดจากพืชรับจดสิทธิบัตรไม่ได้ และ มาตรา 9 (4) ห้ามยื่นสิทธิบัตรที่เป็นการถือสิทธิในการใช้บำบัดโรค แต่กรมทรัพย์สินทางปัญญาก็ยังปล่อยคำขอฯนี้ออกมา จนกระทั่งคำขอฯนี้ออกมาเป็นประกาศโฆษณา จึงถือว่ากรมฯเป็นผู้ทำผิดกฎหมายเสียเอง
แม้กรมทรัพย์สินทางปัญญาจะบอกว่าการประกาศโฆษณาไม่ได้แปลว่าได้รับสิทธิบัตร แต่เมื่อใดที่เขาได้รับสิทธิบัตร ความคุ้มครองจะเริ่มตั้งแต่วันที่เขายื่นคำขอฯ ดังนั้นแม้จะบอกว่ายังไม่ได้สิทธิบัตร แต่ก็เหมือนขาข้างหนึ่งอยู่ในสิทธิบัตรแล้ว
นอกจากไม่ยกคำขอฯ ยังให้แก้ไขคำขอฯ เพื่อยืดเวลาการคุ้มครองชั่วคราว
กรรณิการ์เสริมว่า มีคำขอฯ บางฉบับที่พบว่าผิดกฎหมายตั้งแต่แรก นอกจากรมทรัพย์สินทางปัญญาจะไม่ยกคำขอฯ แล้ว ยังยื่นขอให้มีการแก้ไขคำขอฯ หมายความว่าจะยืดระยะเวลาการคุ้มครองชั่วคราวออกไปนั่นเอง ที่สำคัญมีคำพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาสูงสุดว่าการแก้ไขคำขอฯในสาระสำคัญนั้นทำไม่ได้ ดังนั้นถึงมีการแก้ไขแต่คำขอฯ ฉบับนี้จะต้องถูกเพิกถอนในที่สุด แล้วการสู้คดีเรื่องสิทธิบัตรใช้เวลานาน บางบริษัทที่กำลังวิจัยพัฒนาหากสายป่านไม่ยาวพอ เขาอาจยอมถอย ประเทศชาติก็เสียประโยชน์
พบบ.ไทยโอซูก้าผู้ยื่นขอสิทธิบัตรเข้าร่วมโครงการกับรบ.ไทย
วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (BioThai) กล่าวว่า ล่าสุดพบว่ามีสิทธิบัตรเกี่ยวกับกัญชาที่ยื่นขอรับการคุ้มครองทั้งหมด 12 สิทธิบัตร 6 คำขอฯ อยู่ในชั้นประกาศโฆษณาแล้ว อีก 5 คำขอฯ อยู่ในระหว่างยื่นตรวจสอบขั้นตอนการประดิษฐ์ จากการตรวจสอบพบว่ามีหลายคำขอฯสิทธิบัตรที่ขัดต่อ ม.9 ก็แสดงว่ากรมทรัพย์สินทางปัญญาละเมิดกฎหมายเสียเอง และมี 3 คำขอฯซึ่งขณะนี้ได้ยื่นคำขอฯรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์
นอกจากนี้ใน 11 คำขอฯพบว่า 8 คำขอฯที่มาจากบริษัทเดียวกันชื่อ GW Pharmaceuticals ซึ่งบริษัทนี้มีสำนักงานใหญ่ที่อังกฤษ และมีการดำเนินกิจการอยู่ที่อเมริกา มีผลิตภัณฑ์ที่มีสารสกัดจากกัญชาขายแล้วประมาณ 30 ประเทศทั่วโลก เมื่อตรวจสอบผลิตภัณฑ์ที่ทางบริษัทขายในปัจจุบันคือ ซาติแวก (Sativex) ซึ่งมีสารสกัดจากกัญชาคือ Cannabidiol (CBD) และ สาร Tetrahydrocannabinol (THC) ในอัตรา 1 ต่อ 1 ซึ่งเป็นสารที่รักษาโรคลมชัก โรคมะเร็ง ซาติแวกได้รับการอนุมัติแล้วโดย FDA อเมริกา บางส่วนขายในยุโรปและละตินอเมริกา และอีกหลายประเทศ
เมื่อตรวจสอบต่อพบว่าบริษัท GW Pharmaceuticals เป็นบริษัทที่มีการขอสิทธิบัตรสูงมาก โดยเฉพาะสิทธิบัตรกัญชา ในสหรัฐอเมริกาบริษัทนี้มีคำขอฯสิทธิบัตรกัญชามากถึง 51 สิทธิบัตร ในประเทศไทยบริษัทนี้ได้ร่วมมือกับบริษัทไทยโอซูก้า (Thai Otsuka) ซึ่งเป็นบริษัทยาและผลิตภัณฑ์อาหารมีฐานอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่นและเป็นบริษัท 100 อันดับแรกที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น โดยบริษัท GW และโอซูก้ามีความร่วมมือกันในสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ปี 2007
ส่วนในไทย บริษัทไทยโอซูก้ายังอยู่ในโครงการของรัฐบาลที่เรียกว่าเครือข่ายเมืองนวัตกรรมอาหาร หรือ ฟู้ดอินโนโพลิส ซึ่งสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเคยเดินทางเข้าเยี่ยมบริษัทในการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรเมื่อเดือนมี.ค. ที่ผ่านมา (อ่านข่าวได้ที่นี่ [1])
รายละเอียดการขอสิทธิบัตรไม่มีใครได้ดู จะค้านยังไง
วิฑูรย์กล่าวต่อว่า อีกขั้นคือเมื่อมีการประกาศโฆษณาแล้วใน 6 สิทธิบัตร มาตรา 40 เขียนชัดเจนว่าเมื่อมีการประกาศโฆษณาตามมาตรา 28 ถ้าคำขอฯ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย อธิบดีสามารถยกคำขอฯ โดยให้พนักงานทำจดหมายแจ้งไปที่ผู้ยื่นขอ ดังนั้นอำนาจเต็มที่จึงอยู่ในกรมทรัพย์สินทางปัญญา เมื่อกระบวนการยกเลิกไม่ดำเนินไปตามกฎหมาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์จะต้องรับผิดชอบ รวมถึงรัฐบาลต้องดำเนินการเรื่องนี้เพราะเป็นการละเมิดกฎหมาย มีผลกระทบต่อผู้วิจัยพัฒนา ไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะถือเป็นการละเมิดคำขอฯ
วิฑูรย์ยกตัวอย่างในสหรัฐอเมริกาเมื่อมีการขอสิทธิบัตรทุกคนจะมีโอกาสได้เห็นรายละเอียดของสิทธิบัตรและข้อถือสิทธิ ปรากฏชัดเจนในเว็บไซต์ของสำนักงานสิทธิบัตรให้คนได้คัดค้าน แต่ในไทยหากไปดูในเว็บไซต์กรมทรัพย์สินทางปัญญาจะเห็นข้อสรุปเพียงหน้าเดียว ไม่ได้พูดถึงข้อถือสิทธิอย่างละเอียด เช่น การขอสิทธิบัตรกัญชาเพื่อรักษาโรคมะเร็ง มีข้อถือสิทธิอยู่ 61 รายการ ดังนั้นถ้าจะค้านก็ต้องเห็นว่า 61 รายการนี้ขออะไรบ้าง แต่ตอนนี้ไม่มีใครได้เห็นเลยนอกจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา
นอกจากนี้วิฑูรย์ยังชี้ว่า คำขอฯจำนวนครึ่งหนึ่งเป็นคำขอฯที่เรียกว่า สนธิสัญญาความร่วมมือด้านสิทธิบัตร หรือ PCT สนธิสัญญาความร่วมมือด้านสิทธิบัตรระหว่างประเทศ ซึ่งจะเอื้ออำนวยให้มีการตรวจสอบเรื่องสิทธิบัตรโดยง่าย ในอินเดียทำเรื่องสิทธิบัตรอย่างเข้มแข็ง เมื่อใดมีการนำสะเดาหรือขมิ้นชันไปจดสิทธิบัตร เขาสามารถฟ้องร้องได้เลยในต่างประเทศ แต่ของเราแม้แต่ในประเทศยังไม่ได้เลย
“รัฐบาลอ้างว่าจะเดินหน้าไทยแลนด์ 4.0 คุณสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พูดว่า ไทยแลนด์ 4.0 ต้องสร้างจากความเข้มแข็งสองเรื่องคือ ความหลากหลายทางชีวภาพ และภูมิปัญญาท้องถิ่น และต่อยอดสู่การพัฒนาเศรษฐกิจแบบชีวภาพ พัฒนานวัตกรรม แต่ขณะนี้ความรับผิดชอบนอกเหนือกรมทรัพย์สินทางปัญญา ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลก็ต้องรับผิดชอบด้วย ถ้าไทยแลนด์ 4.0 ดำเนินไปข้างหน้า โดยไม่มีการปกป้องให้มีการพัฒนานวัตกรรม ละเลยสิ่งที่เป็นจุดแข็งและกลับมาทำลายประเทศเสียเอง คำว่าไทยแลนด์ 4.0 ก็เป็นเพียงวาทกรรมที่หวังใช้ความรู้ของประเทศให้นักลงทุนต่างประเทศได้ประโยชน์เท่านั้นเอง” วิฑูรย์กล่าว
หนุนองค์กรเภสัชฯ-ม.รังสิตฟ้องกรมทรัพย์สินฯ เพราะเป็นผู้เสียหายโดยตรง
กรรณิการ์กล่าวว่า รัฐบาลต้องแสดงความจริงใจ ไม่ใช่จะใช้ม.44 ปล่อยผีสิทธิบัตรอย่างเดียว ไม่ใช่บอกว่าเห็นด้วยกับไทยแลนด์ 4.0 แต่รัฐบาลก็ไปเห็นดีเห็นงามกับบริษัทข้ามชาติ เราอยากเรียกร้องให้องค์กรเภสัชกรรมและมหาวิทยาลัยรังสิตฟ้องร้องดำเนินคดีกับกรมทรัพย์สินทางปัญญา เพราะเขาคือคนทำวิจัยและจะปล่อยผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาด ถือเป็นผู้เสียหายโดยตรง ฟ้องได้หลายกรณี เช่น ตามมาตรา 157 ฐานะละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ และการทำผิดและละเว้นไม่ปฏิบัติตาม พรบ.สิทธิบัตร และกฎกระทรวงพาณิชย์ ฉบับที่ 22 พ.ศ.2542 โดยภาคประชาสังคมพร้อมสนับสนุนข้อมูลทางวิชาการและความเชี่ยวชาญต่างๆ หรือฟ้องผ่านศาลทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งจะถือเป็นการฟ้องเพื่อทำให้ระบบทรัพย์สินทางปัญญาดีขึ้นและเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติ” กรรณิการ์กล่าว
งานวิจัยพบสิทธิบัตรขัดม.9 จำนวนมากเกินครึ่งเป็นสิทธิบัตรไม่มีวันตาย
ภญ.อุษาวดี สุตะภักดิ์ อาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยพายัพ ชี้ว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญานั้นเริ่มต้นจากหลักคิดที่ผิดเพี้ยนไป สะท้อนจากการให้สัมภาษณ์ของอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาเอง ที่เห็นว่า การยื่นขอรับสิทธิบัตรเป็นสิทธิที่ผู้ประดิษฐ์พึงจะดำเนินการได้ตามกฎหมายสิทธิบัตร แต่กรมทรัพย์ไม่ได้ตระหนักถึงหน้าที่ของตนเองในการคุ้มครองประโยชน์ของสาธารณะ เนื่องจากระบบสิทธิบัตรมีผลกระทบโดยตรงต่อคนทั้งประเทศ
หากกรมฯ ตระหนักถึงหน้าที่ต่อสาธารณะก็จะต้องกลั่นกรองคำขอฯรับสิทธิบัตรในแต่ละขั้นตอนอย่างรอบคอบและใช้วิจารณญาณอย่างเต็มที่ และแม้กฎหมายสิทธิบัตรของไทยอาจไม่สมบูรณ์แบบ แต่ก็ยังมีแนวคิดของการคุ้มครองสาธารณะอยู่ โดยเฉพาะ มาตรา 9 ของกฎหมายสิทธิบัตรนั้นเป็นตะแกรงร่อนเอาคำขอฯรับสิทธิบัตรที่ไม่ได้รับความคุ้มครองออกไปตั้งแต่ต้น
นอกจากนี้อุษาวดียังพบว่าจากงานวิจัย สิทธิบัตรที่กรมฯ ออกให้โดยเฉพาะเรื่องยา กรมฯ ปล่อยให้มีสิทธิบัตรที่ขัดมาตรา 9 ออกมาจำนวนมาก และเกินครึ่ง เป็นสิทธิบัตรไม่มีวันตาย หรือ evergreening patent
สิทธิบัตรไม่มีวันตาย (evergreening patent) คือ สิทธิบัตรที่ไม่มีความใหม่ ไม่มีนวัตกรรมที่สูงขึ้น ส่วนที่มีมากที่สุดคือสิทธิบัตรที่เรียกว่า “การใช้” หรือ “Use Claim” ในสหรัฐอเมริกาอาจปล่อยสิทธิบัตรได้ง่าย แต่ไทยเราเป็นประเทศกำลังพัฒนา เราจึงยังไม่ให้สิทธิบัตรกับ “การใช้”
ข้อเสนอระยะยาว
1. ต้องใช้คู่มือแนวทางการตรวจสอบสิทธิบัตร (patent examination guidelines) ที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้ร่วมพัฒนาขึ้นอย่างจริงจัง และต้องอบรมให้ผู้ตรวจสอบสิทธิบัตรรายใหม่เข้าใจและใช้คู่มือดังกล่าวอย่างจริงจัง
2. พิจารณาใช้คำพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและคำวินิจฉัยอื่นเป็นแนวทางในการอนุมัติสิทธิบัตรที่มีความคล้ายคลึงกัน
3 ต้องมีการตรวจสอบการใช้ประโยชน์ของผู้ทรงสิทธิต่อสิทธิบัตรที่ได้รับอนุมัติไปแล้ว หากเป็นไปเพื่อการผูกขาด ก็ต้องดำเนินการเมื่อไม่มีการใช้ประโยชน์จากสิทธิบัตรนั้นๆอย่างแท้จริง
4. แก้ไข พ.ร.บ. สิทธิบัตรให้คำขอฯสิทธิบัตรแสดงที่มาของทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่น ระหว่างที่ยังไม่มีการแก้ไขกฎหมาย ให้มีประกาศกระทรวงฯกำหนดให้การแสดงรายละเอียดนี้ อยู่ในเงื่อนไขการขอสิทธิบัตรเพื่อตรวจสอบความใหม่ และความเชื่อมโยงกับ พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืชปี 2542
5. เฝ้าระวังการเจรจาการค้า CPTPP ญี่ปุ่นต้องการเข้าถึงทรัพยากรชีวภาพของไทย ต้องการให้คุ้มครองนักลงทุนเพื่อฟ้องรัฐได้ รัฐบาลต้องไม่ยอมประเด็นเหล่านี้
กรมทรัพย์สินฯต้องเร่งยกคำขอฯ ที่ผิดกม. และแก้ไขฐานข้อมูลสิทธิบัตร
ภญ.อัจฉรา เอกแสงศรี นักวิชาการด้านระบบทรัพย์สินทางปัญญาและการเข้าถึงยา ชี้ว่า จากกรณีศึกษาเรื่องสิทธิบัตรกัญชานั้น พบว่าตามขั้นตอนการขอรับสิทธิบัตรประเทศไทย จะมีจุดที่เป็นปัญหาและต้องได้รับการแก้ไขและพัฒนาเพื่อให้เกิดกับประเทศไทยหลายขั้นตอน ได้แก่
ฐานข้อมูลสิทธิบัตร
ตั้งแต่เป็นข่าวสิทธิบัตรกัญชาจะเห็นได้ว่ามีการแถลงพบคำขอฯสิทธิบัตรเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จาก 9 คำขอฯ เป็น 10-12 คำขอฯ แสดงให้เห็นว่า การที่จะค้นหาข้อมูลเรื่องคำขอฯรับสิทธิบัตรจากฐานข้อมูลสิทธิบัตรเป็นเรื่องยากและไม่มีความแน่นอน ซึ่งประเด็นนี้ กรมทรัพย์สินฯ ต้องเปิดเผยมาทั้งหมดว่าจนถึงขณะนี้มีคำขอฯสิทธิบัตรที่เกี่ยวข้องกับกัญชาจริงๆ แล้วกี่คำขอฯ และต้องเปิดเผยทั้งหมดต่อสาธารณะ
ขั้นตอนการตรวจสอบคำขอฯรับสิทธิบัตร
- คำขอฯรับสิทธิบัตรที่ยื่นต่อกรมทรัพย์สินฯ แล้ว แต่ยังไม่ประกาศโฆษณาในหมวดนี้ เนื่องจากคำขอฯ ที่เราสามารถสืบค้นได้จะเป็นเฉพาะคำขอฯ ที่ได้ประกาศโฆษณา (จากวันที่ยื่นคำขอฯรับฯ ถึงวันประกาศโฆษณามีตั้งแต่ 2-5 ปี) ดังนั้นสาธารณชนหรือแม้แต่นักวิชาการที่ติดตามเรื่องนี้ จึงไม่สามารถรู้ได้ว่า ยังมีอีกกี่คำขอฯ ที่ได้ยื่นต่อกรมทรัพย์สินฯ แล้ว แต่ยังไม่ได้ยื่นประกาศโฆษณา ดังนั้นจึงขอให้กรมทรัพย์สินฯ เร่งตรวจสอบคำขอฯ ที่เกี่ยวกับกัญชาทั้งหมดตามมาตรา 28 พรบ. สิทธิบัตร คือ คำขอฯ นั้นไม่ได้รับการคุ้มครองตามมาตรา 9 ให้รีบสั่งยกคำขอฯ นั้น ส่วนคำขอฯ ใดที่เห็นว่าถูกต้องในขั้นตอนนี้ ให้รีบประกาศโฆษณาให้สาธารณชนรับทราบ
- คำขอฯรับสิทธิบัตรที่ได้ประกาศโฆษณาแล้ว ขอให้อธิบดีปฏิบัติตามมาตรา 30 คือ เมื่อประกาศแล้ว ถ้าคำขอฯ ไม่ชอบด้วยมาตรา 5, 9, 10, 11 หรือ 14 ให้อธิบดีสั่งยกคำขอฯสิทธิบัตรนั้น
- คำขอฯรับสิทธิบัตรที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบการประดิษฐ์ ขอให้กรมฯ เร่งดำเนินการตามมาตรา 24, 25 ถ้าคำขอฯ ใดไม่มีความใหม่หรือขั้นตอนการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น หรือไม่สามารถคุ้มครองได้ตามมาตรา 9 ให้เร่งยกคำขอฯ นั้น
การแก้ปัญหาที่ทำได้คือเร่งดำเนินการ ยกคำขอฯที่ผิดกฎหมาย ที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบก็เร่งตรวจสอบ ถ้าไม่ถูกต้องตามม.9 ก็ยกคำขอฯไป ที่ประกาศโฆษณาแล้ว คำขอฯที่ 6 ประกาศมาเกิน 5 ปีแล้ว ถ้าเกิน 5 ปีจะละทิ้งโดยปริยาย แต่ฐานข้อมูลยังไม่ละทิ้งให้
สิทธิบัตรยาผูกขาดทั้งที่กฎหมายระบุขอสิทธิบัตรไม่ได้ เวลายื่นคัดค้านน้อยเกินไป
เฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล เจ้าหน้าที่รณรงค์การเข้าถึงการรักษา มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า กรณีจดสิทธิบัตรกัญชาเป็นเพียงยอดภูเขาของปัญหาของกรมทรัพย์สินทางปัญญา เป็นตัวอย่างความหย่อนยานและหละหลวมของกรมฯ ที่ปล่อยให้มีคำขอฯรับสิทธิบัตรและยอมให้จดสิทธิบัตรในสิ่งที่ไม่สมควรได้
เฉลิมศักดิ์ยกตัวอย่างการใช้ยาชนิดหนึ่งเพื่อรักษาโรคชนิดหนึ่งถูกจดและให้สิทธิบัตรเป็นจำนวนมาก เช่นกรณียาต้านไวรัสเอชไอวีและยารักษาไวรัสตับอักเสบซี ทั้งๆ ที่การใช้ยาเพื่อการรักษาระบุในกฎหมายว่าขอสิทธิบัตรไม่ได้ นอกจากนี้ยาตัวเดียวยังยื่นคำขอฯหลายตัว ซึ่งเวลายื่นจะยื่นเหลื่อมเวลากัน ทำให้ยืดเวลาการผูกขาดไปได้ และขณะที่กฎหมายเปิดให้ยื่นคัดค้านการขอสิทธิบัตรหลังประกาศโฆษณาในระยะเวลาการยื่นคัดค้านเพียง 90 วัน ขณะที่คำขอฯแต่ละฉบับหนามากเป็น 1,000-2,000 หน้า ต้องอ่านทำความเข้าใจและหาประเด็นคัดค้าน
“ระบบฐานข้อมูลและการสืบค้นของกรมฯ มีปัญหาอย่างมาก แม้แต่คนของกรมฯ ที่ดูแลรับผิดชอบเอง ยังต้องใช้เวลาค้นหานานและให้ข้อมูลคาดเคลื่อน กรณีตัวอย่างที่เคยเกิดขึ้น คือ คำขอฯ ยาต้านไวรัสเอชไอวีที่ชื่อย่อว่า TAF มูลนิธิเข้าถึงเอดส์มีจดหมายถามกรมฯ ไปว่ามีการยื่นขอสิทธิบัตรไหม กรมฯ ใช้เวลานานหลายเดือน เท่ากับกินเวลา 90 วันไปแล้ว ก่อนที่จะตอบกลับว่า "ไม่มี" แต่มาพบภายหลังว่ามีและเลยกำหนดที่จะยื่นคัดค้านแล้ว กรณีเช่นนี้สร้างความเสียหายให้กับประเทศ เพราะเปิดช่องให้บริษัทยาผูกขาด โดยอาศัยการยื่นจดสิทธิบัตรที่ด้อยคุณภาพ หรือที่เรียกว่า “สิทธิบัตรไม่มีวันที่สิ้นสุดอายุ” ผ่านระบบการตรวจสอบและคัดกรองที่หย่อนศักยภาพของกรมฯ” เฉลิมศักดิ์กล่าว
ชะลอร่าง พ.ร.บ.สิทธิบัตรฉบับใหม่ ที่ไม่ฟังเสียงภาคประชาสังคม
เฉลิมศักดิ์กล่าวต่อว่า ยิ่งไปกว่านั้น กรมฯ กำลังพยายามแก้ไข พ.ร.บ. สิทธิบัตร โดยที่ไม่รับฟังการท้วงติงและข้อเสนอแนะ ที่ภาคประชาสังคมยื่นผ่านการรับฟังความคิดเห็นออนไลน์ จนออกมาเป็นฉบับสุดท้ายที่จะยื่นสู่ ครม. และ สนช. ซึ่งมีการแก้ไขหลายมาตรา แต่ส่วนมากไม่ได้แก้ไขเรื่องสิทธิบัตรยาที่ไม่ควรได้ให้ลดลงเลย เช่น เรื่องการยื่นคัดค้าน 90 วันก็ยังไม่แก้ไข หลักเกณฑ์ที่จะให้หรือไม่ให้สิทธิบัตรก็ยังไม่ได้แก้ไข จึงอยากเรียกร้องให้ชะลอกายื่นการแก้ไข พ.ร.บ. สิทธิบัตร เพราะสิ่งที่ภาคประชาสังคมเสนอไม่ได้ถูกสะท้อนอยู่ในร่าง พ.ร.บ. ฉบับใหม่นี้ กลับคำนึงถึงบริษัทเอกชน การส่งเสริมให้มีสิทธิบัตรมากขึ้น แต่ไม่มีกลไกรัดกุมมากพอที่จะสกัดกั้นสิทธิบัตรที่ไม่มีคุณภาพ
ภาคประชาสังคมเสนอให้แก้ไขหลักเกณฑ์การพิจารณาสิทธิบัตร โดยเฉพาะยา ให้มีความรัดกุมและเล็งเห็นประโยชน์ของสาธารณะมากขึ้น รวมไปถึงการขยายเวลาการยื่นคัดค้าน และความโปร่งใสในการพิจารณาสิทธิบัตร
เฉลิมศักดิ์ระบุว่า กรมฯ ยังเสนอให้ยกเลิกหน่วยงานรัฐที่มีอำนาจใช้มาตรการซีแอลให้เหลือเพียงกระทรวง แทนที่จะขยายให้หน่วยงานรัฐอื่นๆ เช่น สปสช. ประกาศใช้ซีแอลได้ ตามที่ภาคประชาสังคมเสนอ เพื่อให้เกิดการแข่งขันด้านราคาและทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษา ซึ่งถือเป็นอำนาจบริหารประเทศเพื่อประโยชน์ของประชาชน
นอกจากนี้เฉลิมศักดิ์ชี้ว่า กรมฯ ยังเสนอเพิ่มในร่างกฎหมายให้บริษัทผู้ทรงสิทธิ์ฟ้องร้องต่อศาล ให้มีคำสั่งยกเลิกมาตรการซีแอลได้ในกรณีที่ภาวะวิกฤตหมดไปแล้วหรือไม่มีความจำเป็นแล้ว แต่การเปิดช่องไว้เช่นนี้จะยิ่งทำให้รัฐบาลไม่กล้าตัดสินใจหรือชะลอการนำมาตรการซีแอลมาบังคับใช้
| ['ข่าว', 'การเมือง', 'สังคม', 'คุณภาพชีวิต', 'สิทธิบัตร', 'กัญชา', 'กรมทรัพย์สินทางปัญญา', 'FTA Watch', 'ไบโอไทย'] |
https://prachatai.com/print/79615 | 2018-11-14 18:02 | ชีวิตชายขอบหลังพม่าเปลี่ยนไม่ผ่าน (ตอนจบ): ผู้อพยพชาวกะเหรี่ยงในดินแดนตนเอง | รายงานตอนสุดท้ายที่สะท้อนการเปลี่ยนผ่านในพม่าที่ถดถอยผ่านกระบวนการสันติภาพในรัฐกะเหรี่ยง เมื่อ 12 ชุมชนในพื้นที่ตอนเหนือที่เพิ่งกลับไปฟื้นฟูบ้านเรือนเดิมได้ 2 ปีเศษกลับต้องอพยพอีกครั้ง หลังกองทัพพม่าเสริมกำลังและตัดถนนยุทธศาสตร์เพื่อเชื่อมค่ายทหาร จนเกิดการปะทะและความสูญเสีย ชุมชนเหล่านี้ต้องหนีทหารพม่ากลับไปซ่อนตัวในพื้นที่ป่าเขา อย่างที่เคยเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าในห้วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา ด้านภาคประชาสังคมกะเหรี่ยงชี้ว่าความไว้เนื้อเชื่อใจต่อทหารพม่าจะหมดสิ้นไป หากสถานการณ์ยังคงเป็นเช่นนี้ นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้นานาชาติเฝ้าจับตาพม่า หาไม่แล้วกระบวนการเปลี่ยนผ่านและการเจรจาสันติภาพจะต้องกลับไปเริ่มที่ศูนย์อีกครั้ง
ภาพประกอบโดย: กิตติยา อรอินทร์ที่มาของภาพประกอบ: KPSN
ใบผัดกระทบผืนน้ำ เสียงจากมอเตอร์ของเรือหางยาวทำลายความเงียบในหุบผาของแม่น้ำสาละวินช่วงต้นฤดูฝน โชคไม่ดีสำหรับนักเดินทางเพราะฝนตกมาตลอดทั้งคืนจนถึงเช้า ร้อนถึงผู้โดยสารในเรือหางยาวขนาดเล็กที่ไม่มีหลังคาคลุมต้องยกผ้าพลาสติกกางบังสายฝนตลอดการเดินทาง
ที่นั่งหน้าสุดนั้นคือ ‘หน่อเอ’ (นามสมมติ) นักเรียนชาวกะเหรี่ยงอายุ 23 ปี เธอโดยสารเรือหางยาวพร้อมกับเพื่อนนักเรียนจากหมู่บ้านอื่นๆ ในรัฐกะเหรี่ยง ปลายทางของพวกเธอคือโรงเรียนในระดับวิทยาลัยสำหรับผู้อพยพแห่งหนึ่งที่ชายแดนไทยด้านรัฐกะเหรี่ยง
‘หน่อเอ’ นักเรียนชาวกะเหรี่ยง ผู้อพยพจากหมู่บ้านฮิโกโลเดอ
บ้านเกิดของหน่อเอคือ ฮิโกโลเดอ (He Gho Loh Der) หมู่บ้านเล็กๆ ขนาด 23 ครัวเรือน ในอำเภอลูทอ (Lu Thaw) จังหวัดมูตรอ (Mutraw) รัฐกะเหรี่ยง เธอเพิ่งเรียนจบมัธยมปลายจากโรงเรียนในพื้นที่ปกครองของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Union - KNU)
ชีวิตชายขอบหลังพม่าเปลี่ยนไม่ผ่าน (1): แม่ตาวคลินิก ความท้าทายสาธารณสุขชายแดน [1], 1 พ.ย. 2561
ชีวิตชายขอบหลังพม่าเปลี่ยนไม่ผ่าน (2): ผู้ลี้ภัยชายแดนไทย-รัฐฉาน [2], 8 พ.ย. 2561
ชีวิตชายขอบหลังพม่าเปลี่ยนไม่ผ่าน (ตอนจบ): ผู้อพยพชาวกะเหรี่ยงในดินแดนตนเอง [3], 14 พ.ย. 2561
สาเหตุของการอพยพ
หมู่บ้านฮิโกโลเดอ เป็นหนึ่งในหลายสิบชุมชนในจังหวัดมูตรอ (พม่าเรียกจังหวัดผาปูน) พื้นที่ซึ่งชาวบ้านผู้เคยเป็นผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ (Internally Displaced Person - IDPs) หลบซ่อนตัวอยู่ในป่าได้กลับมาฟื้นฟูซ่อมแซมชุมชนเดิมของตน หลังจากมีข้อตกลงหยุดยิงระหว่างรัฐบาลพม่ากับ KNU รายงาน "การเดินทางกลับพร้อมฝันร้าย" [4] เผยแพร่เมื่อเดือนเมษายน 2561 โดยเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อสันติภาพ (KPSN) ระบุว่า ปฏิบัติการทางทหารของกองทัพพม่าในช่วงปี 2535-2536, 2538-2540 และ 2548-2551 ในพื้นที่จังหวัดมูตรอนั้น กองทัพพม่าถือว่าพื้นที่นี้เป็น "พื้นที่สีดำ" เพราะยังเป็นพื้นที่ควบคุมของกลุ่ม KNU ทำให้กองทัพพม่าปฏิบัติต่อทุกคน ทุกหมู่บ้าน "เสมือนเป้าหมายทางการทหาร" ส่งผลให้เกิดการอพยพโยกย้ายถิ่นฐานของประชากรกว่า 80% ของพื้นที่ซึ่งเคยมี ประชากรมากถึง 107,000 คน (ปี 2546) ชาวบ้านหลายชุมชนในจังหวัดมูตรอต้องหลบซ่อนตัวในป่าเขาหรือในพื้นที่ห่างไกล จำนวนมากอพยพเข้ามาอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยตามแนวชายแดนไทย-พม่า
ข้อมูลในเดือนธันวาคม 2560 ของเดอะบอร์เดอร์คอนซอเตียม [5] (TBC) พบว่า จำนวนประชากรในค่ายผู้อพยพชายแดนไทย-พม่า 10 แห่งรวม 93,337 คนนั้น ในจำนวนนี้มาจากจังหวัดมูตรอของรัฐกะเหรี่ยงถึง 14,672 คน หรือคิดเป็น 15.72% ของประชากรในค่ายผู้อพยพทั้งหมด
หากจะเล่าเรื่องราวความเป็นมาของผู้อพยพจากรัฐกะเหรี่ยง อาจต้องเริ่มทำความเข้าใจว่า แม้กองทัพพม่าจะลดความเข้มข้นของปฏิบัติการทางทหารลงในช่วงสิ้นปี 2551 แต่ในปี 2553 ยังคงมีชาวบ้านกว่า 27,000 คนที่ต้องพลัดพรากจากถิ่นฐานของตนและมีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตหรือบาดเจ็บจากการโจมตีย่อย การลาดตระเวน และการยิงปืนใหญ่มาจากที่ไกล
อย่างไรก็ตามจากการต่อต้านหนักของกองพลน้อยที่ 5 กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNLA) ทำให้ปลายปี 2554 กองทัพพม่าถอนกำลังจากพื้นที่ลาดตระเวนกลับมารวมกำลังอยู่ในค่ายหลัก 2 แห่งในอำเภอลูทอ คือ ที่ตำบลเคพู (Kay Pu) และเลอมูพลอ (Ler Mu Plaw) ต่อมาปี 2555 รัฐบาลพม่ากับสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) ลงนามหยุดยิง 2 ฝ่าย ตามด้วยการลงนามในข้อตกลงหยุดยิงระดับประเทศ (National Ceasefire Agreement - NCA) ระหว่างรัฐบาลพม่ากับองค์กรติดอาวุธกลุ่มชาติพันธุ์ (Ethnic armed organisations - EAOs) 8 กลุ่มในปี 2558 (ปัจจุบันเพิ่มเป็น 10 กลุ่ม)
ออกจากป่ามาฟื้นฟูหมู่บ้านเก่า
สัญญาณความสงบตั้งแต่ปี 2555 ทำให้ชาวบ้านกะเหรี่ยงในพื้นที่เริ่มประชุมกันว่าจะบูรณะชุมชนของพวกเขาอย่างไร พวกเขาเริ่มซ่อมแซมเครือข่ายชลประทาน ถางที่นาของตนซึ่งอยู่ในเขตชลประทานขนาด 2,250 ไร่ที่ถูกละทิ้งไปนับตั้งแต่การโจมตีของพม่าช่วงปี 2540 จนกระทั่งปี 2556 ชาวบ้านกลับมาทำไร่ไถนาอีกครั้งใกล้กับเขตที่ทหารพม่าเคยยึดพื้นที่ระหว่างเคพูและเลอมูพลอ ช่วงแรกพวกเขาใช้วิธีเดินทางมาทำนาเพียงชั่วคราว แล้วกลับไปอาศัยในพื้นที่ห่างไกลปลอดภัยจากฐานทัพและถนนยุทธศาสตร์ของกองทัพพม่า
จนถึงปี 2559 ดูเหมือนการหยุดยิงระดับประเทศมีผลบังคับใช้ ทำให้ชาวบ้านเริ่มฟื้นฟูหมู่บ้านเดิมของตนขึ้นมาในพื้นที่หลายแห่งของอำเภอลูทอรวมทั้งหมู่บ้านฮิโกโลเดอ พวกเขาสร้างโรงเรียนประถมและสถานีอนามัยด้วย
นอกจากนี้ชาวกะเหรี่ยงในจังหวัดมูตรอยังอยู่ระหว่างกระบวนการริเริ่ม "อุทยานสันติภาพสาละวิน" (Salween Peace Park) กินพื้นที่กว่า 5,485 ตารางกิโลเมตร ที่มาของเรื่องนี้เริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2559 ที่ผู้แทนชุมชนทั่วจังหวัดมูตรอเริ่มกระบวนการปรึกษาหารือสาธารณะ ช่วงต้นปี 2561 พวกเขาตั้งเป้าล่ารายชื่อสนับสนุนจากชาวบ้านในพื้นที่ 300 หมู่บ้านทั่วจังหวัดมูตรอเพื่อผลักดันเรื่องนี้
เป้าหมายของอุทยานสันติภาพสาละวินก็เพื่อสะท้อนความฝันของคนในพื้นที่ที่ต้องการเห็นสันติภาพถาวรภายหลังการลงนามหยุดยิงระดับประเทศ รวมทั้งต้องการสิทธิในการกำหนดชะตากรรมของตนเอง อยากคุ้มครองดูแลรักษามรดกทางธรรมชาติและวัฒนธรรมที่มีความโดดเด่นในภูมิภาค ในพื้นที่อุทยานยังกำหนดพื้นที่ "ก่อ" (Kaw) หรือพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อจำนวน 88 แห่งกินพื้นที่ 1.12 ล้านไร่ รวมทั้งประกาศพื้นที่ป่าชุมชน 23 แห่ง
แผนที่แสดงพื้นที่สร้างและซ่อมแซมถนนยุทธศาสตร์เชื่อมฐานทัพพม่าระหว่างหมู่บ้านเคพูและเลอมูพลอ ในอำเภอลูทอ รัฐกะเหรี่ยง และหมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบ (ที่มา: KPSN)
ชุมชนผู้อพยพแห่งหนึ่งในอำเภอลูทอ รัฐกะเหรี่ยง (ที่มา: KPSN)
แผนที่แสดงพื้นที่อพยพ หลังกองทัพพม่าตัดถนนเชื่อมค่ายทหารทางตอนเหนือของรัฐกะเหรี่ยงภาพประกอบโดย: กิตติยา อรอินทร์ ที่มาของภาพประกอบ: KPSN
การอพยพซ้ำแล้วซ้ำเล่า
อย่างไรก็ตามหลังการฟื้นฟูชุมชนได้เพียงไม่กี่ปี อนาคตของชาวบ้านฮิโกโลเดอและผู้คนในอำเภอลูทอกลับต้องผันผวนกลายเป็นผู้อพยพอีกครั้ง เมื่อกองทัพพม่าจากเมืองเญาง์เลบิน (Nyaunglebin) และตองอู (Tuangoo) ในภาคพะโค จำนวน 4 กองพันเสริมกำลังเข้ามาในอำเภอลูทอ รัฐกะเหรี่ยง ตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ 2561 ด้วยข้ออ้างขอซ่อมแซมถนน เพื่อฟื้นฟูถนนยุทธศาสตร์เชื่อมฐานทัพพม่า 2 แห่งระหว่างหมู่บ้านเคพู (Kay Pu) และหมู่บ้านเลอมูพลอ (Ler Mu Plaw)
ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ และ 1 มีนาคม 2561 ทหารพม่ายิงปืนใส่ชาวบ้านกะเหรี่ยงที่กำลังจะข้ามถนนใกล้หมู่บ้านเคพู และในวันที่ 4 มีนาคม ทหารพม่าเริ่มปะทะกับทหารกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง ทำให้ชาวบ้านที่อยู่ใกล้พื้นที่เคลื่อนไหวของทหารพม่าเริ่มหลบหนีออกจากบ้านเรือนเข้าไปหลบซ่อนอยู่ในพื้นที่ป่าที่ห่างไกลออกไป
นับเป็นการเคลื่อนกำลังทหารพม่าครั้งใหญ่ที่สุดในจังหวัดมูตรอ นับตั้งแต่ปี 2551 โดยจนถึงปัจจุบันทหารพม่าเสริมกำลังทหารเข้ามาในพื้นที่มากกว่า 15,000 นาย ยังมีรายงานด้วยว่าผู้อพยพ 3 ครอบครัว จำนวน 16 คน ตัดสินใจเดินทางจากพื้นที่ขัดแย้งข้ามชายแดนเข้ามาฝั่งไทยเพื่อมาขออาศัยกับญาติที่ค่ายผู้อพยพแม่ลามาหลวงใน อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่ไทยปฏิเสธการลี้ภัย (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง) [6] ทำให้ผู้อพยพ 3 ครอบครัวกลับไปอาศัยอยู่ในหมู่บ้านผู้อพยพแห่งหนึ่งในรัฐกะเหรี่ยงแทน
สถานการณ์ในพื้นที่เฉพาะเดือนมีนาคม-เมษายน 2561 มีการปะทะระหว่างกองทัพพม่ากับทหารกะเหรี่ยง KNLA ไม่ต่ำกว่า 39 ครั้ง ชาวบ้านกะเหรี่ยงระบุว่า กองทัพพม่ายิงปืนใส่พลเรือนที่ไม่มีอาวุธและยิงปืนครกใส่พื้นที่ของพลเรือน มีการรบกวนพื้นที่ทำการเกษตรของชาวบ้าน รวมทั้งมีการก่อสร้างถนนรุกล้ำเข้าไปใน "ก่อ" หรือพื้นที่บรรพชนตามความเชื่อของชาวกะเหรี่ยงด้วย
สำหรับหน่อเอและครอบครัว พวกเขากลายเป็น 1 ใน 304 ครอบครัวชาวกะเหรี่ยงใน 12 หมู่บ้าน ( 2,417 คน) ที่อพยพเข้าไปหลบซ่อนกระจายตัวอยู่ในพื้นที่ป่าในตอนบนของอำเภอลูทอ จังหวัดมูตรอ รัฐกะเหรี่ยง นอกจากนี้ยังมีโรงเรียน 5 แห่งที่ต้องหยุดการเรียนการสอน
ด้วยเหตุที่เกิดความขัดแย้งขึ้นในพื้นที่ ทำให้พ่อแม่ของหน่อเอตัดสินใจส่งเธอเข้ารับการศึกษาต่อในพื้นที่ชายแดนไทย คนในชุมชนเองก็มีความหวังว่าเมื่อเธอจบการศึกษาขั้นสูงและสถานการณ์คลี่คลาย เธอจะได้กลับมาทำงานพัฒนาชุมชน
ด้าน ‘ฉ่ามู’ นักวิจัยของเครือข่ายปฏิบัติงานเพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคมกะเหรี่ยง (KESAN) ให้ข้อมูลเพิ่มเติมด้วยว่าพื้นที่อำเภอลูทอก็เหมือนพื้นที่ห่างไกลอื่นๆ ของรัฐกะเหรี่ยงที่เยาวชนไม่ค่อยมีโอกาสศึกษาต่อหลังจบมัธยมศึกษา เพราะไม่มีสถานศึกษาขั้นสูงในพื้นที่ เยาวชนหลายคนถ้าไม่ช่วยทำงานให้องค์กรชุมชนกะเหรี่ยงในพื้นที่ก็จะช่วยครอบครัวทำไร่ทำนา หรือไม่ก็แต่งงานแยกไปจากครอบครัวเดิม กรณีของหน่อเอจึงเป็นไม่กี่กรณีที่ครอบครัวและชุมชนช่วยกันสนับสนุนเพื่อให้เธอมีทางเลือกที่ดีที่สุด
เมื่อทหารพม่าสังหารผู้นำชุมชนกะเหรี่ยง
วันที่ 5 เมษายน 2561 ‘ซอโอ้มู’ ผู้นำชุมชนชาวกะเหรี่ยงวัย 42 ปี หนึ่งในทีมงานให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ชาวกะเหรี่ยงพลัดถิ่นถูกทหารพม่ายิงเสียชีวิตระหว่างเดินทางกลับมาที่หมู่บ้านเลอมูพลอ
การเสียชีวิตของซอโอ้มูเพิ่มความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจต่อทหารพม่าให้สูงยิ่งขึ้นไปอีก เนื่องจากซอโอ้มูเป็นผู้นำชุมชนในพื้นที่อำเภอลูทอ มีบทบาทในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนภูมิปัญญาชาวกะเหรี่ยง ทั้งยังเป็นผู้ผลักดันอุทยานสันติภาพสาละวินคนสำคัญอีกด้วย
ก่อนเสียชีวิตไม่กี่วัน วันที่ 19 มีนาคม 2561 ซอโอ้มูมีบทบาทร่วมกับผู้อพยพ 12 ชุมชน จัดสวดภาวนาและเรียกร้องให้กองทัพพม่าถอนทหารและยกเลิกการสร้างถนน โดยชาวบ้านเชื่อว่านี่เป็นสาเหตุทำให้กองทัพพม่าลอบสังหารเขา
สภาพรถจักรยานยนต์ของซอโอ้มูที่เพื่อนบ้านค้นหาพบ อย่างไรก็ตามทหารพม่ายังไม่ยอมคืนศพให้กับครอบครัวและไม่ระบุสถานที่เสียชีวิตของเขา (เอื้อเฟื้อภาพจาก KPSN)
พิธีทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับซอโอ้มูที่บ้านของเขาในหมู่บ้านเลอมูพลอ ญาติได้นำเสื้อผ้าของซอโอ้มูมาห่อกับเสื่อเสมือนเป็นร่างกายของเขา (เอื้อเฟื้อภาพจาก KESAN)
พิธีทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับซอโอ้มู โดยญาติและเพื่อนบ้านเสี่ยงกลับมาทำพิธีที่หมู่บ้านเลอมูพลอและนำรถจักรยานยนต์ในที่เกิดเหตุมาร่วมประกอบพิธีด้วย พิธีกระทำอย่างย่นย่อเพราะชาวบ้านต้องรีบแยกย้ายสลายตัว เนื่องจากกองทัพพม่ายังเคลื่อนไหวอยู่ใกล้ชุมชน (เอื้อเฟื้อภาพจาก KESAN)
พอลเส่งทวา ผู้อำนวยการ KESAN ในพิธีรำลึก 1 เดือนการเสียชีวิตของซอโอ้มู ที่ชายแดนไทย-พม่า
พอลเส่งทวา ผู้อำนวยการเครือข่ายปฏิบัติงานเพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคมกะเหรี่ยง (KESAN) และเพื่อนร่วมงานของซอโอ้มูบอกว่า การเสียชีวิตของซอโอ้มูเป็นความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของชุมชนและเพื่อนมิตร และเป็นสิ่งที่ไม่มีใครคาดคิด
ทั้งนี้ชุมชนในพื้นที่อำเภอลูทอต้องอพยพไปอาศัยอยู่ในป่าเขาเป็นเวลาติดต่อกันหลายปี และเพิ่งกลับมาฟื้นฟูชุมชนได้เพียง 2 ปีเศษหลังกระบวนการเจรจาสันติภาพเริ่มขึ้น แต่แล้วพวกเขาก็ต้องอพยพอีกครั้ง หลังการเสียชีวิตของซอโอ้มู จึงยิ่งทำให้ชาวบ้านสูญเสียความไว้เนื้อเชื่อใจต่อกองทัพพม่า และตั้งคำถามว่าจะไว้ใจกองทัพพม่า และกระบวนการเจรจาสันติภาพได้หรือไม่
จนถึงขณะนี้ (พฤศจิกายน 2561) เป็นเวลาเกิน 7 เดือนแล้วที่ญาติของซอโอ้มูยังไม่ได้รับศพของเขามาประกอบพิธี เพื่อนบ้านที่ออกตระเวนค้นหาเจอแต่เพียงรถจักรยานยนต์ของเขา นอกจากนี้หลังเกิดเหตุ กองทัพพม่ายังแถลงว่าที่ต้องสังหารเพราะซอโอ้มูเป็นทหารกะเหรี่ยงสวมชุดพลเรือน และจะก่อเหตุวางระเบิด นั่นยิ่งทำให้ภาคประชาชนสังคมกะเหรี่ยงและผู้ที่เคยร่วมงานกับซอโอ้มูไม่พอใจคำอธิบายของกองทัพพม่าเป็นอย่างมาก
ทีมตอบสนองภาวะฉุกเฉินมูตรอ
กว่า 2 ชั่วโมงนับตั้งแต่ออกจากหมู่บ้านริมฝั่งแม่น้ำสาละวิน รถกระบะโยนตัวขึ้นลงตามจังหวะความชันและโค้งของถนนดินแดงข้ามภูเขาในรัฐกะเหรี่ยง เบื้องหน้าคือหมู่บ้านเดอปูนุ ในอำเภอลูทอ ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำโพวหลอโกละ (Pwo Law Kloe) ในภาษากะเหรี่ยง หรือแม่น้ำยุนซะลิน (Yunzalin) ในภาษาพม่า ที่นี่ถือเป็นศูนย์กลางปกครองจังหวัดมูตรอของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง KNU ในขณะที่อีก 25 กม. ไปทางทิศใต้จะเป็นที่ตั้งของตัวเมืองผาปูนที่รัฐบาลพม่าถือเป็นศูนย์กลางบริหารจังหวัด
หมู่บ้านเดอปูนุ ยังนับเป็นศูนย์กลางสำคัญขององค์กรประชาสังคมรัฐกะเหรี่ยงในจังหวัดมูตรอ ในช่วงรณรงค์เรื่องอุทยานสันติภาพสาละวินก็มีการจัดเวทีปรึกษาหารือสาธารณะหลายครั้งที่หมู่บ้านแห่งนี้นับตั้งแต่เกิดการเผชิญหน้าระหว่างทหารพม่าและทหารกะเหรี่ยง KNLA ในพื้นที่จนทำให้มีผู้อพยพกว่า 12 หมู่บ้าน 2,417 คนดังกล่าว องค์กรชุมชนกะเหรี่ยงและกลุ่มประชาสังคมในพื้นที่ได้จัดตั้ง "ทีมตอบสนองภาวะฉุกเฉินมูตรอ" (Mutraw Emergency Assistance Team - MEAT) ขึ้นเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2561 เพื่อให้การช่วยเหลือทางการแพทย์และอาหารแก่ชาวบ้าน
ซอเทนเดอร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดมูตรอ อธิบายพื้นที่เกิดเหตุอพยพ 12 ชุมชน
อาคารไม้หลังเล็กๆ ถูกใช้เป็นสำนักงานของจังหวัดมูตรอ ซอเทนเดอร์ (Saw Tender) ชายสูงวัยชาวกะเหรี่ยงคือผู้ว่าราชการจังหวัดมูตรอ เขาชี้แผนที่ขนาดใหญ่ข้างฝาผนังแสดงพื้นที่เคลื่อนกำลังของทหารพม่า พื้นที่ก่อสร้างถนนยุทธศาสตร์เชื่อมค่ายของกองทัพพม่า และชุมชนชาวกะเหรี่ยงที่ได้รับผลกระทบจนต้องอพยพ
ซอเทนเดอร์ให้สัมภาษณ์ยืนยันว่า กองทัพพม่าไม่มีการขออนุญาตก่อสร้างถนน มีเพียงการแจ้งฝ่ายเดียวว่าจะก่อสร้างถนน ถนนดังกล่าวไม่ใช่เพื่อประโยชน์ด้านพลเรือนแต่เป็นถนนทางการทหาร การเข้ามาในพื้นที่ของกองทัพพม่าจึงเป็นเหมือนการบุกรุก แม้ไม่มีการปล้นสะดมแบบที่เคยเกิดขึ้นในอดีตกับชุมชนชาวกะเหรี่ยง แต่ท่าทีของกองทัพพม่าเหมือนต้องการคุกคามไม่ให้ชาวบ้านอยู่ในพื้นที่ มีรายงานแจ้งเหตุยิงปืนโดนวัวควายสัตว์เลี้ยงของชาวบ้านรวมทั้งยิงปืนเพื่อขู่ชาวบ้าน
ส่วนสภาพของ 12 ชุมชนหลังเกิดการอพยพ ผู้ว่าราชการจังหวัดมูตรอกล่าวว่า เริ่มแรกชาวบ้านนำสิ่งของติดตัวไปเพียงเล็กน้อยเพราะต้องอพยพด้วยความรวดเร็ว อย่างไรก็ตามเมื่อเริ่มตั้งหลักกันได้แล้ว ช่วงกลางคืน คนในชุมชนก็จัดกำลังไปขนสิ่งของที่จำเป็นออกมาจากบ้าน ทั้งอาหารแห้ง พืชผัก สัตว์เลี้ยง ข้าวของเครื่องใช้ที่พอขนได้
ซอเทนเดอร์เปิดเผยด้วยว่า จากการประเมินของแต่ละชุมชนผู้อพยพพบว่า หากสถานการณ์ยืดเยื้อจนถึงสิ้นปี 2561 โดยที่ชุมชนไม่สามารถกลับไปเพาะปลูกในที่ดินของพวกเขาได้ทัน อาหารแห้งที่หลายครอบครัวเก็บไว้อาจจะไม่พอ ด้วยเหตุนี้จึงพยายามให้แต่ละชุมชนตั้งกลุ่มเพื่อออกไปแสวงหาของกินในป่าร่วมกัน นอกจากนี้ทีมตอบสนองภาวะฉุกเฉินมูตรอยังเสนอด้วยว่าการระดมความช่วยเหลือประเภทยารักษาโรคและอาหารก็มีความจำเป็นต่อพื้นที่อย่างมากในระยะยาว
ที่นี่ถือเป็นศูนย์อำนวยการแจ้งข่าวสารผู้ต้องการการช่วยเหลือ ประสานเรื่องข้อมูลกับผู้อพยพในพื้นที่ป่า รับช่วงต่อการบริจาคเพื่อกระจายให้กับชุมชนผู้อพยพ ขณะที่ชุมชนผู้อพยพเองก็จะมีคณะกรรมการระดับหมู่บ้านทำหน้าที่รับสิ่งของช่วยเหลือเพื่อนำกลับไปแจกจ่ายอย่างทั่วถึง ส่วนศูนย์อำนวยการก็จะติดตามว่าสิ่งของช่วยเหลือนั้นไปถึงผู้อพยพหรือไม่ นอกจากนี้ยังเตรียมเจ้าหน้าที่เพื่อให้ความช่วยเหลือด้านข้อมูลให้กับผู้อพยพ รวมทั้งดูแลด้านจิตใจสำหรับผู้อพยพที่ต้องหลบหนีเข้าไปซ่อนในป่า
เส้นทางสันติภาพที่ชะงักงัน
ที่ผ่านมาสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง หรือ KNU พยายามหาทางคลี่คลายความตึงเครียดระหว่างกองทัพพม่าและกองทัพกะเหรี่ยง KNLA ในพื้นที่จังหวัดมูตรอ ผ่านกลไกตามข้อตกลงหยุดยิงระดับประเทศนั่นคือการประชุมของคณะกรรมการตรวจการร่วม (Joint Monitoring Committee - JMC) โดย KNU มีการจัดตั้งทีมเจรจาทางทหาร (Military Affairs Negotiation Team - MANT) อย่างไรก็ตาม กองทัพพม่ายกเลิกการเจรจาที่กำหนดขึ้นในวันที่ 29 มีนาคม 2561 โดยอ้างว่าผู้บัญชาการกองพลน้อยที่ 5 KNLA ไม่ร่วมประชุม
"เราเชิญชวนผู้นำ KNU ทั้ง 7 กองพลน้อยมาหารือแลกเปลี่ยน นำมาสู่การนัดเจรจากับพม่า (29 มีนาคม) ปรากฏว่าพม่าไม่ยอมเจรจา เขาต้องการเฉพาะตัวทหารหัวหน้า ระบุชื่อคนใดคนหนึ่งให้ไปเจรจากับเขา ทั้งที่เราคุยกับผู้นำทั้งที่เป็นผู้นำพลเรือนและทหาร เราส่งตัวแทนจากการประชุมไปเจรจาเขาก็ไม่ยอมเจรจา ที่ผ่านมาเขาต้องการกดดันให้เราถอนทหาร หรือแปรสภาพไปเป็นทหารเขาทั้งหมด เราทำไม่ได้ และไม่จำเป็นต้องทำ" ซอเทนเดอร์กล่าวถึงอุปสรรคในการเจรจา
ทาง KNU จึงออกแถลงการณ์ตอบโต้เมื่อ 2 เมษายน 2561 ย้ำว่าแม้ผู้บัญชาการกองพลน้อยที่ 5 KNLA ไม่ได้ร่วมในทีมเจรจา MANT แต่หน่วยงานนี้ได้รับมอบอำนาจจาก KNU/KNLA ในการเจรจากิจการทหาร และ KNU ยืนยันว่าจะคลี่คลายความขัดแย้งผ่านการเจรจาสันติภาพ
ส่วน พล.ท.บอจ่อแฮ รองผู้บัญชาการ KNLA กล่าวว่า กองทัพพม่าอ้างว่าการซ่อมแซมถนนเส้นนี้ก็เพื่อขนส่งเสบียงอาหารระหว่างค่ายทหาร 2 แห่งและชาวบ้านก็สามารถใช้ได้ถ้าพวกเขาต้องการ อย่างไรก็ตามที่ผ่านมากองทัพพม่าไม่เคยส่งเสบียงอาหารผ่านระหว่างค่ายทหารที่เคพูและเลมูพลอมาก่อน ถนนเส้นที่มีการก่อสร้างนี้เป็นยุทธศาสตร์ทางการทหาร กองทัพพม่าอ้างว่าได้แจ้งกับ KNLA กองพลน้อยที่ 5 หลายครั้งแล้วเรื่องการสร้างถนน แต่พวกเขาแค่แจ้ง พวกเขาไม่เคยได้รับการเห็นชอบให้สร้างถนนเลย ไม่ว่าจากฝ่าย KNLA กองพลน้อยที่ 5 และชาวบ้านในพื้นที่ พวกเขามีแต่ใช้กำลังทางทหารเพื่อแผนการสร้างถนน พล.ท.บอจ่อแฮ ถือว่าเรื่องนี้ละเมิดทั้งสัญญาหยุดยิงระดับประเทศ และระเบียบปฏิบัติของ KNU และ KNLA
ฟื้นฟูชุมชน ท่ามกลางความไม่ไว้ใจ
การหารือระหว่างผู้แทน KNU และ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ผู้บัญชาการกองทัพพม่า นำมาสู่การลดการเผชิญหน้าของกองทัพพม่า อย่างไรก็ตามชาวบ้านยังไม่อพยพกลับพื้นที่เดิมเพราะไม่ไว้ใจในสถานการณ์ (ที่มา: New Light of Myanmar)
สถานการณ์ในพื้นที่อำเภอลูทอยังคงตึงเครียดอยู่จนถึงปัจจุบัน เมื่อ 17 พฤษภาคม 2561 มีการหารืออย่างไม่เป็นทางการระหว่าง พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย (Min Aung Hlaing) ผู้บัญชาการกองทัพพม่า และคณะผู้แทนจากสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงนำโดย พล.อ.มูตูเซพอ (Mutu Say Poe) ประธาน KNU ที่กองบัญชาการกองทัพภาคย่างกุ้ง ในนครย่างกุ้ง ในเพจของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง KNU [7] ระบุว่า กองทัพพม่าตกลงที่จะเลื่อนการเคลื่อนกำลังทางทหารและก่อสร้างถนนในพื้นที่อำเภอลูทอ และเห็นด้วยที่จะหาทางออกเพื่อให้พลเรือนได้กลับคืนชุมชนของพวกเขา
22 พฤษภาคม 2561 ซอกาลาลโด ผู้แทนกองทัพกะเหรี่ยง KNLA แจ้งกับสื่อมวลชนท้องถิ่น [8]ว่า กองทัพพม่าที่อยู่แนวหน้ากว่า 200 นายได้ถอนกำลังออกจากตำบลเลอมูพลอ ในอำเภอลูทอ รวมทั้งถอนยานพาหนะที่ใช้ก่อสร้างถนนด้วย
ข้อมูลจากเครือข่ายปฏิบัติงานเพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคมกะเหรี่ยง (KESAN) เปิดเผยว่า ชาวบ้านทั้งหมดกว่า 304 ครัวเรือนจาก 12 หมู่บ้านยังคงอาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าเขา เนื่องจากยังไม่ไว้ใจต่อสถานการณ์สู้รบและทหารพม่ายังคงกำลังอยู่ที่ค่ายทหาร 2 แห่ง ในจำนวนนี้มีชาวบ้านประมาณ 50 ครัวเรือนคอยสับเปลี่ยนกันไปดูไร่นาผืนเดิมที่พวกเขาได้เตรียมพื้นที่เพาะปลูกไว้ก่อนอพยพ และรอดูสถานการณ์ท่าทีของทหารพม่าต่อไป
ขณะที่ในช่วงต้นฤดูฝนทีมตอบสนองภาวะฉุกเฉินมูตรอเพิ่งจัดส่งอาหารแห้งและยาที่จำเป็นให้กับ 12 ชุมชนผู้อพยพ ส่วนซอเทนเดอร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดมูตรอ ประเมินด้วยว่าหากในระยะยาวทหารพม่าไม่ถอยไปทั้งหมด ชาวบ้านที่อพยพอาจตัดสินใจปักหลักและตั้งชุมชนขึ้นใหม่ในพื้นที่เหล่านี้ โดยในรอบหลายสิบปีก่อนที่มีการสู้รบหนักๆ ชาวบ้านพอมีประสบการณ์ในการอพยพขึ้นมาอยู่พื้นที่เหล่านี้อยู่บ้าน ทำให้พอจะรู้จักสภาพน้ำและดิน ส่วนการจัดการเรียนการสอนให้กับเยาวชนในชุมชน หากจุดไหนมีประชากรอยู่มากที่สุดก็อาจจะพิจารณาสร้างอาคารเรียนขึ้นในพื้นที่นั้น
การเจรจาสันติภาพส่อเค้าวุ่น มีการถอนตัว
เมื่อหันมองภาพใหญ่ การเจรจาสันติภาพระหว่างสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง KNU และรัฐบาลพม่ายิ่งถดถอยมากขึ้นภายหลังการประชุมที่เนปิดอว์ระหว่าง 15-16 ตุลาคม 2561 พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ผู้บัญชาการกองทัพพม่าเสนอให้กลุ่มชาติพันธุ์สละสิทธิการแยกตัวออกจากสหภาพ และให้มีกองทัพพม่าเพียงกองทัพเดียว ทำให้สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง KNU ยื่นหนังสือขอถอนตัวชั่วคราวจากการเจรจาสันติภาพในระดับต่างๆ โดยถือว่า 2 ข้อเสนอดังกล่าวไม่ได้อยู่ในเงื่อนไขการเจรจาหยุดยิงทั่วประเทศ NCA มาก่อน
หลังการประชุมฉุกเฉินของคณะกรรมการกลางสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง KNU เมื่อ 6-10 พฤศจิกายน 2561 ซอทะโดมู เลขาธิการสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง KNU ลงนามในแถลงการณ์ KNU [9] ยืนยันว่าหลักการเจรจาหยุดยิงระดับประเทศ NCA ยังหมายรวมถึงการมีสหพันธรัฐแห่งสหภาพที่มีประชาธิปไตย กลุ่มชาติพันธุ์มีสิทธิในการกำหนดชะตากรรมของตนเองอย่างสมบูรณ์และเท่าเทียมกัน โดย KNU จะระงับการเข้าร่วมการประชุมในระดับทางการเป็นเวลาชั่วคราว อย่างไรก็ตามจะเข้าร่วมการประชุมในระดับไม่เป็นทางการเพื่อหาทางออกต่อไป
เรียกร้องนานาชาติคลี่คลายปัญหาไม่อยากต้องเริ่มต้นใหม่
พอล เซงทวา ผู้อำนวยการ KESAN แสดงความกังวลว่า แม้จะลงนามเจรจาหยุดยิงมาแล้ว แต่กองทัพพม่ายังคงเสริมขยายกำลังทางทหารในพื้นที่เพื่อเตรียมพร้อมทำสงคราม ทั้งการเสริมกำลัง การตัดถนน ก่อสร้างเครือข่ายการทหาร ขับไล่ คุกคามชาวบ้านในพื้นที่ โดยเขายังคงเรียกร้องให้กองทัพพม่าและรัฐบาลพม่าคลี่คลายแก้ไขปัญหาทางการเมืองผ่านกระบวนการเจรจา ไม่ใช้การทหาร
นอกจากนี้ยังเรียกร้องประชาคมระหว่างประเทศด้วยว่า "สำหรับผู้ที่สนับสนุนกระบวนการสร้างสันติภาพพม่า ต้องทบทวนอย่างจริงจังว่าเกิดอะไรขึ้นในพม่า เพราะกระบวนการสันติภาพไม่ได้คืบหน้าไปไหนเลย ควรแสวงหาว่าปัญหาที่แท้จริงคืออะไรเพื่อที่จะแก้ไข เพื่อไม่ให้กระบวนการสันติภาพที่ริเริ่มขึ้นกลับไปเริ่มต้นที่ศูนย์
รายชื่อหมู่บ้านในอำเภอลูทอ จังหวัดมูตรอ รัฐกะเหรี่ยง ที่อพยพออกจากชุมชนของตนหลังปฏิบัติการของทหารพม่าแล้วไปพักอาศัยในวัดหรือในป่า
ที่มา: ข้อมูลของเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อสันติภาพ (KPSN) สำรวจเดือนเมษายน 2561
ตำบลเคพู (Kay Pu)
1. หมู่บ้านทอคูมูเดอ (Taw Koo Mu Der) 35 ครัวเรือน ชาย 134 หญิง 146 รวม 280 คน2. หมู่บ้านทะเมคี (T'May Kee) 10 ครัวเรือน ชาย 48 หญิง 37 รวม 85 คน3. หมู่บ้านเททูคี (Thay Thoo Kee) 38 ครัวเรือน ชาย 152 หญิง 164 รวม 316 คน4. หมู่บ้านโบนาเดอ (Boh Nar Der) 21 ครัวเรือน ชาย 83 หญิง 74 รวม 157 คน5. หมู่บ้านโชเพอโคะ (Sho Per Koh) 48 ครัวเรือน ชาย 168 หญิง 169 รวม 337 คน6. หมู่บ้านทีซีคี (Htee Hsee Kee) 11 ครัวเรือน ชาย 63 หญิง 58 รวม 121 คน
ตำบลซอมูพลอ (Saw Mu Plaw)
7. หมู่บ้านทีลีคาคี (Htee Li Kha Kee) 19 ครัวเรือน ชาย 58 หญิง 88 รวม 146 คน8. หมู่บ้านบีโกะเดอ (Bee Koh Der) 19 ครัวเรือน ชาย 64 หญิง 63 รวม 127 คน9. หมู่บ้านบลอโกะ (Blaw Koh) 13 ครัวเรือน ชาย 40 หญิง 55 รวม 95 คน
ตำบลเลอมูพลอ (Ler Mu Plaw)
10. หมู่บ้านฮิโกโลเดอ (He Gho Loh Der) 23 ครัวเรือน ชาย 107 หญิง 102 รวม 209 คน11. หมู่บ้านเลอมูพลอ (Ler Mu Plaw) 50 ครัวเรือน ชาย 183 หญิง 181 รวม 364 คน12. หมู่บ้านทีแคคี (Htee Khae Kee) 17 ครัวเรือน ชาย 97 หญิง 83 รวม 180 คน
รวม 304 ครัวเรือน ประชากรรวม 2,417 คน
ชุมชนที่เตรียมพร้อมอพยพ
ตำบลเคพู (Kay Pu)
1. หมู่บ้านที-บเวคี (Htee Bway Kee) 15 ครัวเรือน ชาย 51 หญิง 63 รวม 114 คน
ตำบลซอมูพลอ (Saw Mu Plaw)
2. หมู่บ้านเตอะคี (Theh Kee) 29 ครัวเรือน ชาย 81 หญิง 70 รวม 151 คน3. หมู่บ้านเตอะซาคี (Theh Hsar Kee) 18 ครัวเรือน ชาย 79 หญิง 72 รวม 151 คน
ตำบลเลอมูพลอ (Ler Mu Plaw)
4. หมู่บ้านเซอทิ (Hser Hti) 10 ครัวเรือน ชาย 36 หญิง 31 รวม 67 คน
รวม 72 ครัวเรือน ประชากรรวม 483 คน
หมายเหตุ: ผู้รายงานขอขอบคุณ คุณนวพล คีรีรักษ์สกุล และคุณอินสอน ลำแพน สำหรับการแปลบทสัมภาษณ์ภาษากะเหรี่ยงและภาษาไทใหญ่
| ['ข่าว', 'สิทธิมนุษยชน', 'ต่างประเทศ', 'ความมั่นคง', 'ผู้ลี้ภัย', 'รัฐกะเหรี่ยง', 'ผู้อพยพ', 'ผู้อพยพภายในประเทศ', 'พม่า', 'การปฏิรูปในพม่า', 'การเจรจาสันติภาพ', 'มูตรอ', 'IDPs', 'ซอโอ้มู', 'สวนสันติภาพสาละวิน'] |
https://prachatai.com/print/79618 | 2018-11-14 19:48 | ยกฟ้อง ‘สกันต์’ คดี 112 ศาลชี้ข้อความต้องตีความ ไม่ระบุถึงใครชัดเจน | ศาลยกฟ้อง ‘สกันต์’ จำเลยคดี 112 จากเหตุพูดคุยในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ระหว่างติดคุก ศาลชี้แม้ในคดีนี้จำเลยให้การรับสารภาพแต่การกระทำของจำเลยนั้นไม่สามารถยืนยันในข้อเท็จจริงได้ว่าเป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ โดยก่อนหน้านี้เขาถูกขังอยู่ 7 เดือน จนต่อมาได้ประกันตัวด้วยหลักทรัพย์ 5 แสนบาท เจ้าตัวชี้อาจมาจากเหตุเพื่อนร่วมขังไม่พอใจที่เขาได้เป็นผู้ช่วยฝึกผู้ต้องขัง
14 พ.ย. 2561 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน [1] รายงานว่า วันนี้ ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก มีนัดฟังคำพิพากษาคดีของสกันต์ (สงวนนามสกุล) ที่อัยการฟ้องจำเลยในข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์หรือมาตรา 112 เมื่อวันที่ 28 ธ.ค.2560 จากเหตุที่พูดคุยในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ระหว่างจำคุกในคดีที่สืบเนื่องจากเหตุการณ์ทางการเมืองในปี 2552
ศาลมีคำพิพากษายกฟ้องสกันต์ โดยให้เหตุผลว่าข้อความที่อัยการระบุว่าจำเลยได้พูดในเรือนจำฯ นั้นจำเป็นต้องตีความและในข้อความดังกล่าวไม่ได้ระบุว่ากล่าวถึงใครอย่างชัดเจน
ศาลกล่าวต่อว่า แม้ในคดีนี้จำเลยให้การรับสารภาพแต่การกระทำของจำเลยนั้นไม่สามารถยืนยันในข้อเท็จจริงได้ว่าเป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์และพระราชินีตามที่จำเลยถูกกล่าวหา ศาลจึงพิจารณาตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 185 ให้ยกฟ้องจำเลย
ศาลไม่ได้สั่งให้ขังจำเลยระหว่างรออัยการซึ่งเป็นฝ่ายโจทก์ว่าจะมีการอุทธรณ์คดีหรือไม่ จำเลยจึงได้รับการปล่อยตัวกลับหลังศาลพิพากษาเสร็จ
หลังเสร็จสิ้นกระบวนการศาล สกันต์ให้สัมภาษณ์ว่าคดีเกิดขึ้นในระหว่างที่เขาถูกจำคุกอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพ เขาถูกผู้ต้องขังด้วยกันเองแจ้งความดำเนินคดีนี้จนทำให้ตัวเขาเองที่กำลังจะพ้นโทษจำคุกจากคดีแรกในปี 2558 เนื่องจากได้เลื่อนชั้นเป็นนักโทษชั้นดีแล้วและกำลังจะได้รับการอภัยโทษต้องยุติไป
จากเหตุดังกล่าว ทำให้สกันต์ต้องติดคุกเต็มจำนวนโทษที่ศาลพิพากษาเป็นเวลานานถึง 4 ปีกว่า ก่อนจะพ้นโทษออกมาแล้วถูกตำรวจอายัดตัวในคดีที่สองนี้เมื่อวันที่ 11 ต.ค.2560 และเขาถูกขังระหว่างพิจารณาคดีอีก 7 เดือนจนกระทั่งศาลอนุญาตให้ประกันตัวด้วยหลักทรัพย์ 500,000 บาท
สกันต์เล่าถึงสาเหตุที่ทำให้ถูกเพื่อนร่วมคุกแจ้งความอาจจะเป็นเพราะผู้คุมได้ตั้งเขาให้เป็นผู้ช่วยฝึกผู้ต้องขังเนื่องจากเขาเคยเข้ารับการฝึกทางทหารตอนที่ยังเป็นทหารประจำการอยู่มาก่อน ทำให้ผู้ต้องขังคนอื่นๆ ไม่พอใจสถานะของเขา แม้ว่าตัวสกันต์เองจะไม่ได้เต็มใจรับหน้าที่นี้สักเท่าไหร่ก็ตาม
ก่อนที่ศาลจะนัดฟังคำพิพากษาในวันนี้ เมื่อวันที่ 16 ต.ค.2561 หลังจากที่ศาลได้สอบคำให้การสกันต์และตรวจพยานหลักฐานในคดีนี้ไปแล้ว เขาได้ขอให้การใหม่อีกครั้งเป็นการรับสารภาพแทน
อนึ่ง ไอลอว์ [2] รายงาน รายละเอียดเพิ่มเติมของคำฟ้องคดีนี้ ซึ่งระบุว่า จำเลยขณะเป็นผู้ต้องขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ ขณะกำลังชมรายการโทรทัศน์ที่ถ่ายทอดภาพการปฏิบัติพระกรณียกิจของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทางเรือนจำพิเศษกรุงเทพได้เปิดให้ดู จำเลยได้บังอาจพูดจากดูหมิ่น ต่อมาเมื่อวันที่ 5 ธ.ค. 2557 เวลากลางวัน จำเลย ขณะเป็นผู้ต้องขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ ขณะที่ทางเรือนจำจัดพิธีถวายความเคารพเนื่องในวันพ่อแห่งชาติร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีเพื่อถวายความเคารพต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9) ซึ่งเป็นพระมหากษัตริย์ในขณะนั้น และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตติพระบรมราชินีนาถ ขณะผู้ต้องขังกำลังร้องเพลงดังกล่าว จำเลยได้บังอาจพูดจาดูหมิ่น และต้นเดือน ธ.ค. 2557 เวลากลางวัน จำเลยได้บังอาจพูดจาลักษณะดูหมิ่นอีกครั้ง โดยจำเลยไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัวในครั้งแรกและขอต่อสู้คดีที่ศาลอาญา
| ['ข่าว', 'การเมือง', 'สิทธิมนุษยชน', 'สกันต์', 'ม.112', 'หมิ่นประมาทกษัตริย์', 'การประกันตัว', 'กระบวนการยุติธรรม'] |
https://prachatai.com/print/79617 | 2018-11-14 19:01 | ค้นบ้านแกนนำต้านป่าแหว่ง แจ้งข้อหาหมิ่นฯ ปมถ่ายป้ายรายชื่อตุลาการที่พักอาศัยลงโซเชียลฯ | จนท. ค้นบ้านแกนนำต้านป่าแหว่ง แจ้งข้อหาหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา หลังถ่ายป้ายรายชื่อข้าราชการตุลาการที่พักอาศัยลงโซเชียลฯ เครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพกังวล เหตุคดีเข้าสู่การพิจารณาของศาลแล้วผู้พิพากษาก็เป็นผู้พิจารณาตัดสินเอง
ภาพซ้าย ป้ายเปิดเผยรายชื่อของข้าราชการตุลาการที่พักอาศัยอยู่ในอาคารชุด 9 หลัง ขณะที่ภาพขวา เป็นภาพเจ้าหน้าที่เข้าค้นบ้าน ธีระศักดิ์ รูปสุวรรณ ผู้ประสานงานเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ
14 พ.ย.2561 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ เมื่อเวลา 9.53 น. ผู้ใช้เฟสบุ๊ก 'คำศรีดา แป้นไทย [1]' โพสต์ภาพพร้อมข้อความระบุว่า ธีระศักดิ์ รูปสุวรรณ ผู้ประสานงานเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ ซึ่งเป็นแกนนำที่เคลื่อนไหวคัดค้านโครงการบ้านข้าราชการตุลาการศาลอุทธรณ์ภาค 5 หรือ “บ้านป่าแหว่ง” ถูกนำหมายค้นเข้าค้นบ้านเช้านี้และผู้ร่วมคัดค้านอีกหนึ่งรายถูกตั้งข้อหาแล้ว ซึ่งบุคคลที่ คำศรีดา ระบุคือ ต้อม เรืองยศ เขาโพสต์เฟสบุ๊กว่า "เมื่อวาน..เข้าไปรับทราบข้อหาแล้ว ข้อหาหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยได้กระทำโดยการโฆษณา แจ้งข้อหาและสอบบอกคำเพิ่ม จากเที่ยงครึ่งถึงหกโมงเย็นกันเลยที่เดียว มันก้อเหงาๆหน่อย เหมือนตัวคนเดียวเลย"
รายละเอียดเพิ่มเติมนั้น ข่าวสดออนไลน์ [2] รายงานว่า ช่วงเช้าวันนี้ (14 พ.ย.) เจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สภ.เมืองเชียงใหม่ นำหมายเข้าทำการตรวจค้นบ้านพักใน ต.ดอนแก้ว อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ของ ธีระศักดิ์
ประยุทธ์ ชี้ปมบ้านพักศาล หากออกมาค้านก่อนเริ่มโครงการ ก็ไม่ทำให้ต้องสูญงบฯ เช่นนี้ [3]
'คืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ' โพสต์ภาพถาม เป็นที่พักข้าราชการผู้น้อย? [4]
รายงานข่าวระบุว่า การเข้าตรวจค้นครั้งนี้สืบเนื่องจากกรณีที่ช่วงสัปดาห์ที่แล้วมีการพบว่ามีการนำป้ายที่มีการเปิดเผยรายชื่อของข้าราชการตุลาการที่พักอาศัยอยู่ในอาคารชุด 9 หลัง ของโครงการบ้านพักข้าราชการตุลาการศาลอุทธรณ์ภาค 5 ไปติดตั้งไว้ที่บริเวณประตูช้างเผือก และประตูท่าแพ ในตัวเมืองเชียงใหม่ ทั้งนี้ไม่ทราบว่าผู้ใดนำไปติดตั้งไว้และตั้งแต่เมื่อใด อย่างไรก็ตามต่อมามีแนวร่วมของเครือข่ายที่ได้ถ่ายภาพป้ายดังกล่าวนำไปเผยแพร่ในโซเชียลมีเดีย จนถูกตรวจค้นบ้านพักและแจ้งข้อกล่าวหา รวมทั้งนำไปสู่การตรวจค้นบ้านพักของ ธีระศักดิ์ ในครั้งนี้
ที่มาภาพ เฟสบุ๊ก 'คำศรีดา แป้นไทย [1]'
ธีระศักดิ์ เปิดเผยว่า ตรวจค้นบ้านพักดังกล่าว มีการตรวจยึดอุปกรณ์จำนวนหนึ่งด้วย พร้อมถูกแจ้งข้อกล่าวหาหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา จากการที่ถ่ายภาพป้ายดังกล่าวนำไปเผยแพร่ในโซเชียลมีเดีย เนื่องจากมีเจ้าหน้าที่จากศาลอุทธรณ์ภาค 5 ซึ่งเป็นตัวแทนของข้าราชการตุลาการที่มีรายชื่อตามป้ายดังกล่าวเข้าแจ้งความดำเนินคดี โดยในการเข้าตรวจค้นบ้านพักของตัวเองนั้น ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำการตรวจยึดโทรศัพท์มือถือและคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คของตัวเองไปตรวจสอบ แต่ไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหาใดๆ ซึ่งตัวเองให้ความร่วมมืออย่างดีทุกอย่างและเชื่อมั่นว่าจะตรวจสอบไม่พบหลักฐานใดๆ เพราะตัวเองและเครือข่ายไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องและรู้เห็นใดๆ ในเรื่องดังกล่าว
อย่างไรก็ตามเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ บอกว่า รู้สึกว่ากรณีที่เกิดขึ้นนี้เหมือนเป็นความพยายามที่คุกคามประชาชน รวมทั้งเป็นเรื่องขัดแย้งกับหลักคุณธรรมและจริยธรรม จากการที่ผู้พิพากษากลุ่มหนึ่งเข้าแจ้งความดำเนินคดีเอาผิดกับประชาชนในกรณีนี้ทั้งที่มีเพียงการโพสต์เรื่องราวลงในโซเชียลมีเดียเท่านั้นและเรื่องการรุกล้ำพื้นที่ป่าก็เป็นเรื่องจริงที่ผู้คนต่างทราบดี ขณะที่เมื่อคดีเข้าสู่การพิจารณาของศาลแล้วผู้พิพากษาก็เป็นผู้พิจารณาตัดสินเอง ทั้งนี้ยืนยันว่าแม้จะถูกคุกคามในลักษณะดังกล่าวแต่ตัวเองและสมาชิกเครือข่ายทุกคนไม่มีความหวาดกลัว เสียกำลังใจ หรือท้อถอยในการต่อสู้เคลื่อนไหวอย่างแน่นอน โดยจะยังคงเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องต่อไปด้วยเป้าหมายเดียวเท่านั้นคือขอคืนพื้นที่ป่า
| ['ข่าว', 'การเมือง', 'สิทธิมนุษยชน', 'คุณภาพชีวิต', 'สิ่งแวดล้อม', 'ดอยสุเทพ', 'บ้านพักศาล', 'เครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ', 'ศาล', 'ตุลาการ', 'ธีระศักดิ์ รูปสุวรรณ', 'หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา'] |
https://prachatai.com/print/79620 | 2018-11-14 20:50 | ไทยแลนด์ 4.0 : 'อนาคตใหม่' อดขายของออนไลน์ระดมทุน เหตุ กกต.ไม่อนุญาต | พรรคอนาคตใหม่ ระบุไม่สามารถขายในระบบออนไลน์ได้ เหตุ กกต.ไม่อนุญาต ชี้การขายของออนไลน์ ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ไม่ใช่การจำหน่ายจาก “สถานที่จำหน่ายสินค้าหรือบริการ” ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง
14 พ.ย.2561 จากกรณีที่แกนนำพรรคอนาคตใหม่ เปิดเผยว่า คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ระบุห้ามระดมทุนรับบริจาคและขายของที่ระลึกออนไลน์นั้น ทางพรรคอนาคตใหม่ จึงได้ทำหนังสือสอบถามไปยัง กกต.ต่อกรณีการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของพรรคการเมืองและอื่นๆ รวม 32 ข้อ เพื่อให้กกต. มีมติแจ้งออกมาเป็นลายลักษณ์อักษรอย่างเป็นทางการตั้งแต่เมื่อวันที่ 7 ต.ค.นั้น
ล่าสุด ข่าวสดออนไลน์ [1] รายงานว่า เมื่อวันที่ 6 พ.ย. ที่ผ่านมา สำนักงานกกต. ได้ส่งหนังสือด่วนที่สุด ที่ลต.0015/7403 ถึง หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ เพื่อตอบข้อซักถามทั้งหมด 32 ข้อ ที่ผ่านการประชุมจากกกต.ครั้งที่ 55/2561 เมื่อวันที่ 22 ต.ค. และการประชุมครั้งที่ 61/2561 เมื่อวันที่ 2 พ.ย. ด้วยมติเอกฉันท์ มีประเด็นสำคัญดังนี้
ส่วนแรก พรรคอนาคตใหม่ ข้อ 1-6 ถามถึงการตีความ ระเบียบ กกต.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ข้อ 33 คำว่า “สถานที่จำหน่ายสินค้าหรือบริการ” ได้แก่ ที่ตั้งสำนักงานใหญ่พรรคการเมือง ที่ตั้งสำนักงานสาขาพรรคการเมือง บริเวณสถานที่จัดกิจกรรมระดมทุน บริเวณสถานที่จัดประชุมใหญ่ของพรรคประจำปีของพรรคการเมือง สาขาพรรค หรือที่ทำการพรรคการเมืองประจำจังหวัด ซึ่งคำว่า “ได้แก่” เป็นการยกตัวอย่างใช่หรือไม่
ทั้งถามต่อถึง การขายสินค้าบนเว็บไซต์ หรือแอพพลิเคชั่น หรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ว่า เป็นการจำหน่ายจาก “สถานที่จำหน่ายสินค้าหรือบริการ” ใช่หรือไม่ แล้วหากสมาชิกพรรค หรือบุคคลอื่น ขายสินค้าที่มีโลโก้พรรคการเมือง โดยพรรคไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง ย่อมมิใช่การจัดจำหน่ายสินค้า ตามระเบียบกกต.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 หมวด 5 ใช่หรือไม่ แล้ว หากสมาชิกหรือบุคคล นำรายได้จากการจำหน่ายสินค้า มาบริจาค ก็ต้องลงบัญชีรับบริจาคใช่หรือไม่
กกต. ตอบว่า คำว่า “ได้แก่” ไม่ใช่การยกตัวอย่าง การขายของออนไลน์ ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ไม่ใช่การจำหน่ายจาก “สถานที่จำหน่ายสินค้าหรือบริการ” ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 62 และระเบียบกกต.ข้อว่าด้วยพรรคการเมืองข้อ 33 ส่วนการถามถึงสมาชิกหรือบุคคลอื่นเป็นผู้จำหน่ายนั้น กกต.ไม่ตอบเพราะไม่มีการะบุชัดในข้อเท็จจริง แต่หากจะมีการนำรายได้จากสมาชิกหรือบุคคลอื่นที่ขายสินค้า ให้ถือว่า เป็นรายได้พรรคการเมือง
ส่วนถัดมา ข้อ 13-17 พรรคอนาคตใหม่ ถามถึง การหารายได้ ดอกผล จากหลักทรัพย์หรือการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ ตามพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ไม่ว่าจะเป็นการตั้งกองทุนในตลาดหลักทรัพย์ นายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ เป็นตัวแทนประกันชีวิต หรือการตั้งสหกรณ์ นั้น
กกต.ตอบว่า ไม่ใช่ เพราะไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งพรรคการเมือง ตามมาตรา 20 และมาตรา 23 ของพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง
ส่วนสุดท้าย ข้อ 18-20 และข้อที่ 22-26 นั้น อนาคตใหม่ ถามถึง การจัดเก็บฐานข้อมูลสมาชิกในรูป อิเล็กทรอนิกส์ แล้วยังต้องจัดเก็บเป็นรูปของกระดาษ (Hard Copy) อีกหรือไม่ สามารถให้สมาชิกลงลายมือชื่อดิจิทัล (Digital Signature) หรือลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Signature)ตลอดจนการถ่ายภาพใบสมัครสมาชิก บัตรประชาชน ทะเบียนบ้าน พร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง แล้วส่งผ่านระบบคอมพิวเตอร์ อีเมล์หรือสื่อออนไลน์ อย่างแอพไลน์ ถือเป็นหลักฐานการสมัครสมาชิกใช่หรือไม่
กกต.ตอบว่า ถือเป็นการสอบถามตามประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง เรื่อง การรายงานทะเบียนสมาชิกพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 จึงเป็นอำนาจหน้าที่ของนายทะเบียนพรรคการเมือง ซึ่งกกต.ได้มอบหมายให้ นายทะเบียนพรรคการเมืองตอบข้อสอบถามในประเด็นนี้ต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ในหน้าเว็บไซต์พรรคอนาคตใหม่ ระบุหมายเหตุไว้ด้วยว่า "สินค้าอนาคตใหม่ไม่อาจดำเนินการขายในระบบออนไลน์ได้อย่างที่วางแผนไว้แต่แรก เนื่องจากระเบียบ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ไม่อนุญาตให้พรรคการเมืองทำธุรกิจค้าขายทางสื่อออนไลน์ พรรคอนาคตใหม่จึงต้องขออภัยในความไม่สะดวกมา ณ ที่นี้"
| ['ข่าว', 'การเมือง', 'ไอซีที', 'พรรคอนาคตใหม่', 'กกต.', 'ขายของออนไลน์ระดมทุน'] |
https://prachatai.com/print/79619 | 2018-11-14 20:50 | ศาลสูงสุดศรีลังกาคว่ำคำสั่งประธานาธิบดียุบสภา-ถอดถอนนายกฯ | จากที่ก่อนหน้านี้ประธานาธิบดีศรีลังกาสั่งยุบสภาและถอดถอนนายกรัฐมนตรีรานิล วิกรมสิงเห รวมถึงแต่งตั้งอดีตผู้นำที่ถูกมองว่าเป็นปัญหาขึ้นเป็นนายกฯ แทน จนเป็นที่น่าหวาดหวั่นว่าวิกฤตการเมืองจะลุกลาม อย่างไรก็ตามเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (13 พ.ย.) ศาลสูงสุดของศรีลังกาก็ตัดสินระงับคำสั่งของประธานาธิบดีหลังพรรคการเมืองยื่นเรื่องร้องเรียน
กรุงโคลัมโบ เมืองหลวงศรีลังกา (ที่มา:วิกิพีเดีย [1])
เมื่อ 13 พ.ย. ศาลสูงสุดของศรีลังกาสั่งยกเลิกการตัดสินใจยุบสภาของประธานาธิบดีไมตรีพละ ศิริเสนา และสั่งให้ยับยั้งการเตรียมการจัดเลือกตั้งใหม่โดยด่วน หลังจากที่ก่อนหน้านี้ในเดือน ต.ค. เกิดวิกฤตทางการเมืองรอบใหม่ จากกรณีที่ศิริเสนาสั่งยุบสภาปลดนายกรัฐมนตรีรานิล วิกรมสิงเห แล้วแต่งตั้ง มหินทรา ราชปักษา ขึ้นดำรงตำแหน่งแทนโดยที่ราชปักษาเป็นอดีตผู้นำที่เคยถูกมองว่าเป็นปัญหามาก่อน
ประธานาธิบดีศรีลังกาสั่งปลดนายกตั้งผู้นำฝ่ายค้านแทน ส่อเค้าวิกฤตการเมือง [2]
หลังจากการประกาศสั่งปลด วิกรมสิงเหก็ยังไม่ยอมลงจากตำแหน่งโดยยังคงปักหลักอยู่ในทำเนียบรัฐบาลและไม่ยอมลงจากตำแหน่ง โดยตามกำหนดการแล้วในวันที่ 14 พ.ย. นี้จะมีการประชุมสภาด้วยสมาชิก 225 รายเพื่อลงมติว่าเสียงส่วนใหญ่ในสภาจะรับรองราชปักษาหรือไม่ ซึ่งวิกรมสิงเหบอกว่าเขาจะไปที่สภาด้วยเพื่อแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลที่เขาเป็นนายกฯ มีความชอบธรรม
ศิริเสนายังเคยสั่งยุบสภาและวางแผนว่าจะมีการเลือกตั้งโดยด่วนในวันที่ 5 ม.ค. 2562 อย่างไรก็ตาม คำสั่งของศาลออกมาในวันที่ 13 พ.ย. ที่ผ่านมาทำให้แผนการของศิริเสนาถูกระงับไว้ คำสั่งดังกล่าวออกมาหนึ่งวันหลังพรรคการเมืองยื่นเรื่องร้องเรียนต่อศาล ศาลประกาศอีกว่าจะมีการตัดสินข้อร้องเรียนครั้งสุดท้ายในวันที่ 7 ธ.ค. ที่จะถึงนี้ หลังจากมีการเปิดไต่สวนพิจารณาคดี 3 วัน
นักข่าวอัลจาซีรา เบอร์นาร์ด สมิทธ์ ระบุว่าการที่ศาลมีคำสั่งออกมาเช่นนี้แสดงท่าทีว่าศาลมองการกระทำของประธานาธิบดีที่สั่งยุบสภาว่าไม่เป็นไปตามหลักการรัฐธรรมนูญ
สาจิต พรีมาดาซา สมาชิกสภานิติบัญญัติจากพรรคยูเอ็นพีของวิกรมสิงเหชื่นชมคำตัดสินในครั้งนี้ โดยบอกว่า "คณะตุลาการที่มีอิสระและความยุติธรรมนี้ตีความบทเฉพาะกาลและข้อบัญญัติในรัฐธรรมนูญได้ถูกต้อง รวมถึงรวบเอาปทัสถานทางกฎหมายทั้งหมดเพื่อส่งเสริมประชาธิปไตย ความยุติธรรม และความเป็นธรรม"
นอกจากนี้ยังมีการประเมินว่าราชปักษาจะไม่ได้รับการสนับสนุนในสภามากพออยู่ดี เพราะพรรคยูดีพีต่อต้านคำสั่งปลดวิกรมสิงเหโดยที่มีเสียงของพวกเขาอยู่ในสภา 113 เสียง
สำหรับท่าทีของประเทศอื่นๆ ต่อเรื่องนี้ สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป รวมถึงประชาคมโลกอื่นๆ แสดงความเป็นห่วงต่อวิกฤตการเมืองศรีลังกาในครั้งนี้ มีแค่ประเทศจีนเท่านั้นที่ยอมรับการแต่งตั้งราชปักษา เนื่องจากในสมัยที่ราชปักษาเป็นประธานาธิบดีเขาอาศัยพึ่งพาจีนอย่างมากในเรื่องการเงินและการสนับสนุนทางการทูต
เรียบเรียงจาก
Sri Lanka Supreme Court overturns dissolution of parliament, Aljazeera [3], Nov. 13, 2018
| ['ข่าว', 'การเมือง', 'ต่างประเทศ', 'การยุบสภา', 'รานิล วิกรมสิงเห', 'มหินทรา ราชปักษา', 'ไมตรีพละ ศิริเสนา', 'การสั่งปลดนายกรัฐมนตรี', 'วิกฤตรัฐธรรมนูญ', 'กระบวนการยุติธรรม', 'ศรีลังกา'] |
https://prachatai.com/print/79622 | 2018-11-14 23:12 | การทำร้ายศพเมื่อ 6 ตุลา 2519: ใคร อย่างไร ทำไม |
หนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้เหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 เป็นที่รู้จักและอยู่ในความทรงจำของเราคือ พฤติกรรมที่โหดร้ายทารุณอย่างเหลือเชื่อในวันนั้น จนถึงวันนี้ เราคงได้เห็นภาพความโหดร้ายครั้งนั้นพอสมควรแล้ว แต่เรามักเข้าใจผิดว่าการกระทำอันน่ารังเกียจน่าขยะแขยงทั้งหลายเป็นสาเหตุให้คนเหล่านั้นเสียชีวิต
จากการศึกษาข้อมูลอย่างระมัดระวัง เราพบว่ามีเหยื่อเพียงคนเดียวที่เสียชีวิตจากกการถูกรุมประชาทัณฑ์และทรมาน ขณะที่การกระทำอันน่ารังเกียจส่วนใหญ่เกิดขึ้นหลังจากเหยื่อเหล่านั้นเสียชีวิตไปแล้ว เหยื่อหลายคนเสียชีวิตด้วยอาวุธปืนหรือระเบิด แต่ร่างที่ไร้ชีวิตของพวกเขายังต้องเผชิญกับพฤติกรรมอันน่ารังเกียจต่ออีก ภาพที่เราเห็นจึงเป็นภาพที่ฝูงชนกำลังช่วยกันรุมกระทำย่ำยีต่อศพ
ข้อเท็จจริงนี้อาจทำให้เรารู้สึกดีขึ้นมาเพียงเล็กน้อยว่าเหยื่อเหล่านั้น มิได้ทนทุกข์ถูกทรมานอย่างหนักก่อนเสียชีวิต แต่ความจริงข้อนี้กลับทำให้เกิดคำถามใหญ่ตามมา นั่นคือ นี่เป็นการทำร้ายศพอย่างน่าเกลียดในที่สาธารณะต่อหน้าผู้คนนับพัน ต่อหน้าเจ้าหน้าที่รัฐ และต่อหน้าผู้สื่อข่าวทั้งไทยและต่างประเทศจำนวนมาก ทำไมจึงต้องทำอุจาดกับศพถึงขนาดนั้น ทำไมจึงกล้าหรือตั้งใจทำต่อหน้าสาธารณชน ปรากฏการณ์เช่นนี้บอกอะไรเกี่ยวกับสังคมไทย วัฒนธรรมไทยในการปฎิบัติต่อศัตรูที่เราเกลียดชัง ความล้มเหลวของศาสนาและศีลธรรม หรือเป็นไปได้ไหมว่าการกระทำเช่นนี้สะท้อนความเชื่อบางอย่างซึ่งแฝงฝังอยู่ลึก ๆ ของคนไทย ของชาวพุทธ หรือของคนธรรมดาปกติทั่วไปทุกคน ซึ่งพรั่งพรูออกมาภายใต้เงื่อนไขบางอย่างเท่านั้น ถ้าเช่นนั้น ภาวะอะไรในเช้าวันนั้นที่ผิดปกติถึงขนาดไขประตูให้ความอัปลักษณ์ดังกล่าวหลุดออกมา
เราจะเข้าใจปรากฏการณ์ทำร้ายศพในที่สาธารณะในสังคมไทยอย่างไร
ข้อเท็จจริง
เรามาพิจารณาข้อเท็จจริงกันก่อน การทารุณกรรมในเช้าวันที่ 6 ตุลาที่เรารู้จักกันดี ได้แก่
- แขวนคอแล้วใช้มีดทิ่มแทง ใช้ไม้และเก้าอี้ฟาดซ้ำแล้วซ้ำเล่า หรือใช้รองเท้ายัดปากร่างที่ถูกแขวน
- ลากร่างไปตามพี้น โดยเอาผ้าผูกเข้าที่คอ และโดยลากขากางเกง
- เอาร่างผู้เสียชีวิตมานอนเรียงกันแล้วใช้ลิ่มไม้ตอกเข้าที่หน้าอก
- เอาร่างคนมากองสุมกันแล้วเผาจนมอดไหม้ จนไม่รู้กระทั่งว่าเป็นชายหรือหญิง
- ปัสสาวะรดร่างที่นอนนิ่ง
- เปลื้องเสื้อผ้าของหญิงสาวรายหนึ่งที่เสียชีวิต และมีไม้ท่อนใหญ่วางอยู่บนตัวเธอ
จากการตรวจสอบรูปถ่ายจำนวนมากและที่สำคัญคือรายงานการชันสูตรศพ ซึ่งทำโดยแพทย์โรงพยาบาลตำรวจและโรงพยาบาลศิริราช เราพบข้อมูลเกี่ยวกับผู้ที่ถูกกระทำทารุณกรรม ได้แก่ ชื่อ สาเหตุที่ทำให้เขาเสียชีวิต และพฤติกรรมทารุณที่พวกเขาได้รับ ดังข้อมูลข้างล่างนี้
(ภาพที่ 1)
1. วิชิตชัย อมรกุล นิสิตปี 2 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
วิชิตชัยเป็น 1 ใน 5 คนที่ถูกแขวนคอที่สนามหลวง
หลักฐานชันสูตรพลิกศพระบุว่าวิชิตชัยเสียชีวิตเพราะถูกของแข็งมีคมและถูกรัดคอ
ลักษณะการตายที่ “ฟันกัดปลายลิ้น” หรือลิ้นจุกปากตามที่ปรากฎในภาพถ่ายชี้ว่าเขาน่าจะถูกแขวนคอก่อนเสียชีวิต อย่างไรก็ตาม ภาพถ่ายจำนวนมากและข้อมูลในเอกสารชันสูตรชี้ว่าหลังจากเขาเสียชีวิตแล้ว ฝูงชนยังช่วยกันทารุณกรรมต่อร่างที่ไร้ชีวิตของเขาต่อไป ร่างของเขาถูกฝูงชนรุมเตะ-ต่อย ฟาดด้วยเก้าอี้ เอารองเท้าแขวนที่คอและยัดที่ปาก
เขาถูกจับถอดเสื้อแล้วใช้ของมีคมกรีดลงบนร่างของเขา โดยกลางหน้าอกมี “รอยมีดกรีดยาว 4 แห่ง ยาวแห่งละ 24 ซ.ม. และตามขวาง 3 แห่ง ยาวแห่งละ 20 ซ.ม. และมีรอยผิวหนังช้ำทั่ว ๆ ไป และมีรอยถูกของมีคมชายโครงขวา 3x1 ซ.ม. กลางหลังมีรอยมีดกรีดยาว 2 แห่ง ยาว 40 ซ.ม.และ 30 ซ.ม.”
เขายังมีบาดแผลขนาดใหญ่บนใบหน้าหลายแห่ง
บาดแผลบนตัววิชิตชัยมีมากกว่าที่กล่าวมาข้างต้น (ดู https://doct6.com/archives/5639)
(ภาพที่ 2)
2. ปรีชา แซ่เฮีย (หรือ เอีย) นักหนังสือพิมพ์-นักแปลประจำกอง บก.นิตยสาร “เอเชียวิเคราะห์ข่าว”
ปรีชาเป็น 1 ใน 5 คนที่ถูกแขวนคอที่สนามหลวง
รูปถ่ายจำนวน 10 รูปชี้ว่าปรีชาถูกดึงลงมาจากรถเก๋งที่เขาใช้ส่งนิตยสาร เขาถูกฝูงชนรุมทำร้ายขณะยังมีชีวิตอยู่ ลากไปตามฟุตบาท และแขวนคอในที่สุด
ภาพชี้ว่าหลังเขาเสียชีวิตแล้ว การทำร้ายศพยังดำเนินต่อไป
แต่ในรายงานชันสูตรศพระบุว่าเขาเสียชีวิตเพราะกระสุนปืน (น่าสงสัยว่าใครยิง ยิงตอนไหน)
(ภาพที่ 3)
(ภาพที่4)
3. กมล แก้วไกรไทย
กมลเป็น 1 ใน 5 คนที่ถูกแขวนคอที่สนามหลวงเอก
สารชันสูตรฯ ระบุว่ากมลเสียชีวิตด้วย “สะเก็ดระเบิด” ยังมีภาพถ่ายและคลิปวิดีโอที่แสดงว่ากมลเสียชีวิตอยู่บริเวณข้างหอประชุมใหญ่ ธรรมศาสตร์ ก่อนที่ร่างของเขาจะถูกลากออกไปแขวนคอที่สนามหลวง
(ภาพที่ 5)
(ภาพที่ 6)
4-5. ชายไม่ทราบชื่อ 2 คน ถูกแขวนคอภาพชายสองคนที่ถูกแขวนคอหน้าธรรมศาสตร์ ถ่ายโดยนายนีล อูเลวิช ช่างภาพสำนักข่าวเอพี ทั้งภาพและคลิปวิดีโอชี้ว่าร่างของทั้งสองคนเสียชีวิตแล้ว แต่ยังถูกฝูงชนฟาดด้วยเก้าอี้, ท่อนไม้ขนาดใหญ่, กระโดดเตะ-ต่อย
(ภาพที่ 7)
6. วัชรี เพชรสุ่นน.ศ.ชั้นปี 3 คณะวิทยาศาสตร์ ม.รามคำแหง
เอกสารชันสูตรฯ ระบุว่าวัชรีเสียชีวิตด้วยกระสุน 3 นัดที่เข้าด้านหลังตรงกับบริเวณหน้าอก
ร่างของวัชรีถูกจับเปลือย มีไม้หน้าสามวางอยู่บนร่างของเธอ ปลายชี้ไปที่อวัยวะเพศของเธอ ซึ่งทำให้ตีความได้ว่าเธออาจถูกล่วงละเมิดทางเพศหลังจากเสียชีวิตแล้ว แต่เอกสารชันสูตรพลิกศพไม่ระบุว่ามีร่องรอยการถูกทำร้ายเช่นนั้น (ดู https://doct6.com/archives/13421 [1]; https://doct6.com/archives/5682 [2]
(ภาพที่ 8)
7. จารุพงษ์ ทองสินธุ์ น.ศ. ชั้นปี 2 คณะศิลปะศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
เอกสารชันสูตรฯ ระบุว่าจารุพงษ์เสียชีวิตจากกระสุนปืน
ร่างของเขาถูกฝูงชนใช้ผ้าผูกคอลากไปตามสนามฟุตบอลธรรมศาสตร์
(ภาพที่ 9)
(8?) ชายไม่ทราบชื่อ
ภาพจากสื่อมวลชนต่างประเทศภาพหนึ่งแสดงให้เห็นชายคนหนึ่งแน่นิ่งบนพื้น ในขณะที่เด็กผู้ชายกำลังปัสสาวะรดบนร่างของเขา ไม่ชัดเจนว่าเขาคือใคร
(ภาพที่ 10)
(9?) ชายไม่ทราบชื่อ ร่างของชายคนหนึ่งถูกลากไปตามสนามฟุตบอลในธรรมศาสตร์โดยผู้ลากจับขากางเกงของเขาขึ้นลาก และมีชายอีกคนใช้ไม้ไล่ตีร่างนั้น ไม่ชัดเจนว่าเขาคือใคร ไม่ชัดเจนว่าเขาตายแล้วหรือยัง
(ภาพที่ 11)
(10?) ชายไม่ทราบชื่อ ภาพรางวัลอิศราปี 2520 แสดงให้เห็นชายคนหนึ่งกำลังใช้ก้อนอิฐตอกไม้ขนาดยาวลงบนหน้าอกของหนึ่งในร่างที่นอนเสียชีวิตเรียงกัน 5-6 ราย ไม่ชัดเจนพวกเขาคือใครบ้าง ผู้ถูกตอกอกเป็นรายเดียวกับข้างบนนี้หรือไม่ ไม่ปรากฏชัดว่าทุกร่างในภาพนั้นถูกตอกอกหมดหรือไม่
(ภาพที่ 12)
ชายหญิง 4 คน ไม่ทราบชื่อ
ภาพและคลิปวิดีโอชี้ว่าคนที่ถูกเผาทั้ง 4 คนน่าจะเสียชีวิตก่อนถูกนำมาเผากลางถนนบริเวณใกล้แม่พระธรณีบีบมวยผม
ไม่ชัดเจนว่า 4 ร่างนั้นคือใครบ้าง เป็นรายเดียวกับข้างบนนี้หรือไม่
คลิปวิดีโอยังแสดงภาพฝูงชนไชโยโห่ร้องรอบกองศพ บางคนกระทืบศพที่กำลังไหม้ไฟ
จากรายละเอียดข้างบนนี้ ถ้ารายงานการชันสูตรศพเชื่อถือได้ จะเห็นว่าวิชิตชัย อมรกุลเป็นเพียงคนเดียว ที่ถูกทำทารุณจนเสียชีวิต แล้วร่างของเขาถูกทำร้ายอย่างหนักอีกภายหลังเสียชีวิตไปแล้ว แต่คนส่วนมากตายเพราะถูกกระสุนปืนหรือระเบิด แล้วร่างของพวกเขาจึงถูกทารุณด้วยวิธีการต่างๆ รวมทั้งวัชรี เพชรสุ่นก็เสียชีวิตด้วยกระสุนปืน ไม่ได้เสียชีวิตจากถูกข่มขืน แต่ร่างไร้ชีวิตของเธอก็ถูกทำอนาจาร นั่นหมายความว่ากรณีเหล่านี้เป็นทารุณกรรมที่กระทำต่อร่างที่ไร้ชีวิต
ไม่เคยมีการตั้งคำถามถึงการทำร้ายศพในเหตุการณ์ 6 ตุลาคมมาก่อนเลย เข้าใจว่าบทความนี้เป็นครั้งแรกที่พิจารณาประเด็นนี้ บทความนี้ต้องการชี้ให้เห็นประเด็นที่น่าสนใจหลายประการ แม้ว่าในขณะนี้เราอาจไม่สามารถอธิบายปรากฏการณ์นี้ได้อย่างน่าพอใจนัก แต่หวังว่าการศึกษาในเบื้องต้นนี้จะช่วยให้เกิดความสนใจในประเด็นนี้มากขึ้นและมีผู้ศึกษาต่อไป
ในที่นี้เราจะพิจารณาปรากฏการณ์นี้ใน 2 แง่มุมซึ่งแตกต่างแต่เกี่ยวข้องกัน นั่นคือ
1. การทำร้ายศพ
2. การประชาทัณฑ์สาธารณะ
การทำร้ายศพ (abuse of the corpse, corpse desecration)
การทำร้ายหรือทำลายศพ เป็นการกระทำน่ารังเกียจในทุกสังคมทุกศาสนามาแต่โบราณ เพราะมนุษย์มักเคารพต่อผู้เสียชีวิต อยากให้เขาไปสู่สุคติภพหรือไปเกิดใหม่อย่างสวยงามมีเกียรติ การกระทำอุจาดต่อศพที่แทบทุกสังคมรู้จักกันดี คือ การชำเราศพ (necrophilia) สังคมแต่โบราณจนถึงปัจจุบันหลายแห่งจึงมักมีกฎหมายหรือกฎเกณฑ์ทางสังคมเพื่อลงโทษการกระทำผิดต่อศพและการชำเราศพ แต่ไม่ใช่ทุกแห่งที่บัญญัติความผิดนี้เป็นกฎหมาย
บนความเชื่อนี้เองจึงเกิดปัญหามาแต่โบราณว่า แล้วถ้าเป็นศพของคนเลว อาชญากรร้ายแรง พ่อมดหมอผี ผู้ทรยศ หรือเรียกรวมๆว่าเป็นผู้ละเมิดอย่างแรงต่ออำนาจของรัฐ (treason) ต่อความศักดิ์สิทธิ์ของกษัตริย์ (lese majesty) และศาสนา (blasphemy) ศพของพวกเขาพึงได้รับการเคารพหรือการปฏิบัติอย่างสมเกียรติหรือไม่ ในกฎหมายของสังคมโบราณแทบทุกแห่งจึงมีการลงโทษผู้ละเมิดรุนแรงพรรค์นั้นด้วยวิธีการที่โหดเหี้ยมผิดจากที่กระทำต่อมนุษย์ธรรมดา ศพของเขามักถูกทอดทิ้งทำลายหรือถูกกระทำอย่างอัปลักษณ์อุจาด แถมมักนำไปประจานต่อสาธารณชนอีก บ่อยครั้งการประจานยังครอบคลุมถึงครอบครัวของผู้ละเมิดเหล่านั้นด้วย
ในยุคสมัยใหม่ กฎหมายในประเทศต่าง ๆ ยังแตกต่างกันอยู่มากในเรื่องความผิดเกี่ยวกับศพ หลายประเทศมีกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่ยังมีอีกหลายประเทศและนับสิบรัฐในสหรัฐอเมริกาที่ยังไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างชัดเจน (เช่น รัฐวิสคอนซิน) ในกรณีประเทศหรือรัฐที่มีกฎหมายบัญญัติความผิดเกี่ยวกับศพไว้ ก็ยังมีความลักลั่นไม่ได้มีข้อความเป็นมาตรฐาน หรือการตีความหรือการกำหนดโทษความผิดตรงกันเท่าไรนัก ความแตกต่างเริ่มตั้งแต่คำจำกัดความว่าศพมีสถานะเป็นอะไรในทางกฎหมาย เพราะไม่ใช่ชีวิตแน่ ๆ แต่จะถือเป็นเพียงทรัพย์ชนิดหนึ่งเหมือนทรัพย์อื่น ๆ เช่นนั้นหรือ ในบางสังคมเมื่อประมาณ 100-200 ปีก่อนนี่เองยังถือว่า การขโมยเสื้อผ้าจากศพเป็นความผิดต้องลงโทษรุนแรงยิ่งกว่าการขโมยศพ การขโมยสัตว์ที่เป็นทรัพย์สินมีค่า เช่น หมู วัว แกะก็มีบทลงโทษรุนแรงกว่าการขโมยศพของมนุษย์
คำจำกัดความที่แตกต่างกันมีผลต่อการกำหนดว่าอะไรเป็นความผิด อะไรไม่ใช่ความผิดต่อศพ และความผิดต่างๆ กันนั้นถือเป็นความผิดขั้นรุนแรง ทางอาญา หรือเป็นความผิดลหุโทษ และไม่ใช่ความผิดอาญา เป็นต้น ส่วนใหญ่ถือว่าการชำเราศพเป็นเรื่องสำคัญ แต่นอกเหนือไปจากนั้นยังมีความแตกต่างกันอยู่มาก เช่น การหั่นศพเป็นชิ้น การทำลายศพ การซื้อขายอวัยวะ การทำให้ศพเสียรูปโฉมทั้งด้วยความโกรธแค้น ความจงใจ หรือโดยประมาท หรือการปล่อยปละละเลยไม่จัดการกับศพตามประเพณี การเก็บศพไว้ในบ้าน หรืออยู่อาศัยร่วมกับศพ เป็นต้น เหล่านี้ถือเป็นความผิดมากน้อยแค่ไหน แรงหรือเบา อาญาหรือไม่
สำหรับประเทศไทย อาจารย์สาวตรี สุขศรี (คณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์) ได้ให้ความรู้แก่ผู้เขียนว่า ก่อนหน้าปี 2558 ในประมวลกฎหมายอาญาไม่มีหมวดความผิดอาญาเกี่ยวกับศพโดยตรง เพิ่งมีการบัญญัติเป็นครั้งแรกในพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 22) พ.ศ. ปี 2558 นี่เอง หากมีใครทำอะไรกับศพก่อนหน้าปี 2558 จะต้องตีความกันว่า ศพ เป็น "ทรัพย์" หรือไม่ เพื่อจะนำความผิดเกี่ยวกับทรัพย์มาปรับใช้ ซึ่งก็จะมีแนวการตีความแตกต่างกันออกไป เพราะการจะเป็นทรัพย์ได้ต้องมีผู้ยึดถือหรือมีเจตนายึดถือ ครอบครอง หรือมีค่าบางอย่าง บางคนก็ว่าถ้าศพยังมีญาติ ก็น่าจะถือเป็นทรัพย์ แต่ถ้าศพไร้ญาติก็ไม่ถือเป็นทรัพย์ ใครจะทำอะไรกับศพนั้นก็ได้ไม่ผิดอาญา ทั้งทำลาย รวมทั้งชำเรา หรืออนาจาร
แต่ด้วยเหตุที่ในระยะหลังมีคนทำอะไร ๆ กับศพเยอะ ทั้งที่รู้และไม่รู้ว่าเป็นศพไปแล้ว จึงเพิ่มเติมหมวดความผิดนี้เข้าไป ซึ่งเพิ่มเข้ามาหลายฐาน ได้แก่ การกระทำชำเราศพ การกระทำอนาจารแก่ศพ การกระทำให้ศพเสียหาย และการดูหมิ่นเหยียดหยามศพอันเป็นการละเมิดต่อสิทธิของบุคคลในครอบครัว เกียรติยศ และชื่อเสียง ความผิดบางอย่างโทษสูงกว่าทำกับคนเป็นๆ เสียอีก เช่น ดูหมิ่นเหยียดหยามศพโทษสูงกว่าทำกับคนเป็น ๆ ผู้ร่างกฎหมายให้เหตุผลว่า เพราะต้องการ “คุ้มครองศีลธรรมอันดีของประชาชนและสาธารณะ” ไม่ใช่คุ้มครองศพหรือญาติ โทษจึงต้องสูง ในแง่นี้ชี้ว่า ผู้บัญญัติกฎหมายของไทยยุคใหม่ก็เห็นว่าการทำร้ายศพเป็นสิ่งผิดปกติ ไร้ศีลธรรม เป็นพฤติกรรมที่น่ารังเกียจ
การทำร้ายศพหรือการชำเราศพตามที่กล่าวมาและตามที่กฎหมายมุ่งหมายถึง เป็นการกระทำส่วนบุคคลต่อศพ และโดยมากจะทำอย่างลับ ๆ หรือแอบทำ แต่การทำร้ายศพในกรณี 6 ตุลาเป็นการกระทำแบบรวมหมู่ของคนจำนวนมากและกระทำในที่สาธารณะกลางเมืองท่ามกลางสายตาคนนับพัน จึงไม่ใช่การทำร้ายศพในความหมายที่กล่าวมาข้างต้น แต่น่าจะคล้ายคลึงกับปรากฏการณ์ทางสังคมที่เรียกว่าการประชาทัณฑ์สาธารณะมากกว่า
การประชาทัณฑ์สาธารณะ (public lynching)
ไม่ค่อยมีการศึกษาการลงทัณฑ์อย่างทารุณในที่สาธารณะในสังคมไทย อาจเป็นเพราะว่าปรากฏการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นน้อยครั้งในสังคมไทยจนเราคิดว่าเป็นปรากฏการณ์ผิดปกติหรือเป็นข้อยกเว้นพิเศษ การทารุณกรรมสาธารณะในกรณี 6 ตุลาเป็นที่รับรู้กันดี แต่ก็ยังไม่เคยมีความพยายามอธิบายนอกเหนือจากที่พระไพศาล วิสาโลเคยอธิบายไว้ว่าเป็นเพราะความชั่วร้าย (Evil)
การประชาทัณฑ์สาธารณะในเหตุการณ์ 6 ตุลา ชวนให้เราต้องคิดว่าจู่ ๆ ก็มีปรากฏการณ์วิตถารเกิดขึ้นอย่างไม่มีที่มาที่ไปกระนั้นหรือ หรือเอาเข้าจริงมีปรากฏการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น เป็นตัวแบบหรือตัวอย่างที่อยู่ในความรับรู้ของคนไทยมาก่อนหน้านี้แล้ว ครั้นเมื่อสถานการณ์เหตุปัจจัยทั้งหลายลงตัวและสุกงอมในวันที่ 6 ตุลา ความรับรู้ที่ซ่อนอยู่ในสำนึกของผู้คนจึงถูกปลดปล่อย ถูกหยิบขึ้นมาลงมือกระทำอีกครั้งหนึ่ง ถ้าเป็นเช่นนั้นหมายความว่าเรามองข้ามละเลยปรากฏการณ์หรือตัวแบบเช่นนี้ในสังคมไทยมาโดยตลอด
การประชาทัณฑ์ต่อหน้าฝูงชนเป็นปรากฏการณ์ในหลายประเทศที่มีการศึกษากันพอสมควร อาทิ เช่น การแขวนคอคนผิวดำโดยมีประชาชนนับร้อยนับพันเข้าร่วมหลายร้อยกรณีระหว่าง ค.ศ. 1880 ถึง 1940 มีผู้ตกเป็นเหยื่อการประชาทัณฑ์สาธารณะรวมกันหลายพันคน ในอเมริกากลางและอเมริกาใต้หลายประเทศเช่น โบลิเวีย กัวเตมาลา และอื่นๆ ก็พบว่าชุมชนหลายแห่งร่วมมือกันจับอาชญากรลงโทษต่อหน้าสาธารณชนเป็นครั้งคราวเพื่อเป็นบทเรียนให้หวาดกลัว พฤติกรรมนี้ดำเนินเรื่อยมาจนถึงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20 นี่เอง ในเมื่อยังไม่มีการศึกษาปรากฏการณ์เหล่านี้ในสังคมไทย ความรู้ที่ได้จากสังคมอื่นจึงอาจช่วยให้เรามีแนวทางเพื่อคิดทำความเข้าใจกับปรากฏการณ์ในสังคมไทยได้บ้าง
อันที่จริงการประชาทัณฑ์สาธารณะมิได้มีแบบเดียวเหมือนๆ กัน สาเหตุหรือเงื่อนไขที่เอื้อให้เกิดขึ้นก็มีได้หลายอย่าง ลำพังการแขวนคอคนผิวดำต่อหน้าสาธารณชนก็มีผู้ศึกษาแยกแยะประเภทได้ 3-4 อย่าง ตามแต่เหตุผลหรือแรงจูงใจ ขนาดของผู้ลงมือ และทำอย่างเป็นความลับหรือเปิดเผย หากกล่าวโดยสรุป มีการศึกษาให้คำอธิบายปรากฏการณ์ประชาทัณฑ์สาธารณะทั้งหลายนี้อยู่สองแบบหลักๆ ได้แก่
คำอธิบายแบบแรก เป็นการกระทำของคนผิวขาวต่อคนผิวดำ เกิดขึ้นในภาวะที่คนผิวขาวซึ่งถือว่าตัวเองสูงส่งกว่า แต่กลับอยู่ในภาวะไม่มั่นคงแล้ว เพราะระเบียบสังคมแบบเหยียดผิวที่พวกเขายึดถือกำลังเสื่อมลง กำลังถูกท้าทายสั่นคลอน ทำให้พวกเขาหวาดกลัวคนผิวดำ การประชาทัณฑ์สาธารณะจึงเป็นปฏิกิริยารวมหมู่ชนิดหนึ่งของคนผิวขาว เพื่อยืนยันความเชื่อเหยียดผิวและระเบียบสังคมที่แบ่งชั้นคนตามสีผิว (โดยมากด้วยการแขวนคอ แต่มีการทารุณด้วยวิธีอื่นด้วยเช่น คนนับร้อยระดมกระสุนสังหารเป้าเดียวกัน การรุมตี เป็นต้น โดยมากกระทำในลานกลางแจ้ง แต่ก็มีการสังหารทารุณในโรงละครด้วยโดยให้ผู้ซื้อตั๋วเข้าร่วมการลงทัณฑ์ได้) การประชาทัณฑ์สาธารณะมีลักษณะเป็น “พิธีกรรม” แบบรวมหมู่ชนิดหนึ่ง เพื่อพยายามต่ออายุระเบียบสังคมแบบเหยียดผิว
คำอธิบายแบบที่สองใช้สำหรับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในอเมริกากลางและใต้เป็นส่วนมาก แต่ไม่ใข่คนผิวขาวต่อคนผิวดำ กล่าวคือ เกิดจากประชาชนถูกปล่อยปละละเลย เป็นคนชายขอบของสังคม ไม่สามารถเข้าถึงกฎหมาย เจ้าหน้าที่ผู้บังคับกฎหมาย หรือกระบวนการยุติธรรมตามปกติได้ เมื่อเกิดกรณีที่ชุมชนชายขอบเหล่านี้ถูกคุกคามจากอาชญากรร้ายแรงหรือแก๊งอันธพาลจนทนไม่ไหว เจ้าหน้าที่ก็ไม่สามารถช่วยเหลือได้ หรือเจ้าหน้าที่ร่วมมือกับอาชญากรด้วยซ้ำไป พวกเขาจึงต้องหาความยุติธรรมด้วยตนเอง เมื่อพวกเขาสามารถจับกุมอาชญากรได้ จึงลงโทษโดยกระบวนการของตนเอง การลงทัณฑ์สาธารณะเป็นพิธีกรรมแบบหนึ่ง มีลักษณะคล้ายงานเทศกาลของชุมชน (carnival) พิธีกรรมดังกล่าวไม่ใช่การแก้แค้นรวมหมู่ของชุมชนนั้น แต่เป็นการแสดงออกร่วมกันของชุมชนที่ถูกทอดทิ้งและทางการไม่สนใจรับฟังเสียงของพวกเขา พิธีกรรมลงทัณฑ์อย่างรวมหมู่เป็นการส่งเสียงแบบหนึ่ง ให้ทั้งรัฐและอาชญากรรู้ว่าชุมชนนั้นยังต้องการความยุติธรรมและหลักกฎหมาย แต่ในเมื่อไม่สามารถเข้าถึงความยุติธรรมได้ พวกเขาก็มีพลังจะจัดการด้วยตัวเอง การประชาทัณฑ์สาธารณะแบบนี้มิใช่สิ่งทดแทนสถาบันและกระบวนการทางกฎหมายของทางการ แต่ก็มิใช่พิธีกรรมเพื่อรักษาต่ออายุระเบียบสังคมแบบกดขี่ที่กำลังล่มสลายอย่างการประชาทัณฑ์สาธารณะแบบแรก
การประชาทัณฑ์สาธารณะในกรณี 6 ตุลา ไม่ตรงกับคำอธิบายทั้งสองแบบเสียทีเดียว กล่าวคือ ข้อแรก 6 ตุลามิใช่การทารุณกรรมลงโทษผู้ยังมีชีวิตอยู่จนกระทั่งเสียชีวิต แต่เป็นการทำร้ายร่างที่ไร้ชีวิตไปแล้ว เสมือนว่าร่างเหล่านั้นเป็นตัวแทนของความเลวร้ายบางอย่าง ข้อสอง การประชาทัณฑ์สาธารณะมิได้กระทำโดยกลุ่มคนที่ถูกตัดขาดจากกระบวนการยุติธรรมหรือถูกเจ้าหน้าที่ละเลย แต่ตรงข้ามกันอย่างยิ่ง กล่าวคือ เป็นการกระทำต่อหน้าต่อเจ้าหน้าที่ซึ่งปล่อยให้เกิดการทำทารุณกรรมกับร่างเหล่านั้น
อย่างไรก็ตาม คำอธิบายแบบแรกน่าจะช่วยให้เข้าใจการประชาทัณฑ์สาธารณะในกรณี 6 ตุลาได้พอควร แม้ว่ากรณี 6 ตุลาจะไม่ได้เกี่ยวกับการเหยียดผิวเลย แต่ขบวนการนักศึกษาและเหยื่อของการประชาทัณฑ์ถูกกล่าวหาว่ากำลังคุกคามและละเมิดระเบียบสังคมที่สำคัญที่สุด กำลังล้มล้างสถาบันหลักของชาติ เปลี่ยนประเทศไทยให้กลายเป็นคอมมิวนิสต์ และยิ่งปล่อยไว้นานไป พวกเขาก็ยิ่งเติบโตมากขึ้น กลุ่มอำนาจฝ่ายขวาและมวลชนผู้ลงมือประชาทัณฑ์จึงหวาดกลัวว่าระเบียบสังคมที่ตนยึดถือกำลังถูกท้าทาย จึงต้องลงมือจัดการอย่างเด็ดขาดก่อนจะสายเกิน
ลองพิจารณากันอีกสักหน่อยว่าการประชาทัณฑ์สาธารณะตามคำอธิบายแบบแรกจะช่วยให้เราเข้าใจการประชาทัณฑ์สาธารณะต่อศพเมื่อ 6 ตุลาได้อย่างไร
ลักษณะเป็นพิธีกรรม (Ritualistic)
ฟูโก้เคยกล่าวไว้ว่า การทำทารุณเป็นการแสดงพิธีกรรมบางอย่างในรูปแบบหนึ่ง ยิ่งถ้าการทารุณกรรมเป็นส่วนหนึ่งของการลงทัณฑ์แล้วล่ะก็ การลงโทษแบบนั้นมีลักษณะเป็นพิธีกรรมอย่างแน่นอน การประชาทัณฑ์สาธารณะแทบทุกกรณีล้วนแล้วแต่มีลักษณะเป็นพิธีกรรม ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นส่วนหนึ่งของศาสนาเสมอไป หรือต้องมีความสวยสดงดงาม และไม่จำเป็นต้องหมายถึงเทศกาลของชุมชนเสมอไป ความเป็นพิธีกรรมหมายความว่าเป็นการแสดงรวมหมู่ของชุมชนหรือสังคมหนึ่ง ที่มีระเบียบแบบแผนบางอย่าง เพื่อต้องการสื่อความหมายที่แน่นอนและสามารถรับรู้ได้ในสังคมนั้น
ลักษณะเป็นพิธีกรรมจึงมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้
1 มีขนบ (convention) ว่าการกระทำอะไรหมายถึงอะไร
2 ผู้เข้าร่วมมีบทบาทที่รับรู้กันได้ล่วงหน้า
3 ค่อนข้างมีมาตรฐานว่าควรแสดงอะไรบ้าง อะไรยอมให้เสริมแต่งปรับเปลี่ยนได้ อะไรต้องเคร่งครัดตามแบบแผน และ
4 ต้องมีการสื่อสาระหรือความหมายทางสังคมที่ผู้เข้าร่วมสามารถรับรู้ได้
ทั้งหมดนี้หมายความว่าต้องมีการแสดงทำนองนี้มาก่อนแล้ว คงแสดงซ้ำแล้วซ้ำเล่าเสียด้วย จึงก่อเป็นขนบ แบบแผน มาตรฐาน บทบาทที่รู้ล่วงหน้า และสารหรือความหมายที่สื่อแล้วรู้กัน ในกรณีของการประชาทัณฑ์คนผิวดำในอเมริกา ยังมีเกณฑ์การเลือกสถานที่สำหรับการประชาทัณฑ์สาธารณะด้วย
เราอาจคิดว่าการประชาทัณฑ์ไม่เกิดขึ้นในสังคมไทยบ่อยนัก การประชาทัณฑ์ทางการเมืองที่ทำต่อศพในกรณี 6 ตุลาก็ไม่เคยเกิดมาก่อน จึงไม่น่าจะมีแบบแผนการปฏิบัติ ดูเหมือนจะเป็นการระเบิดอารมณ์โกรธแค้นของผู้คนอย่างไม่มีใครคาดฝัน ไม่มีตัวอย่างให้เห็นมาก่อน และเป็นไปอย่างควบคุมไม่ได้ เป็นภาวะเลยเถิดที่ไม่ได้วางแผนมาก่อน บรรยากาศและสถานการณ์พาไปเสียมากกว่า การทารุณกรรมก็ดูเหมือนจะผุดขึ้นโดยฉับพลันในขณะนั้น ลักษณะเป็นพิธีกรรมดูเหมือนจะตรงข้ามกับสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อ 6 ตุลาเป็นอย่างยิ่ง แต่หากเราดูกันต่อไปจะเห็นว่าการกระทำทั้งหลายที่เกิดขึ้นในวันนั้น กลับมีลักษณะบางอย่างร่วมกันและสื่อสารความหมายที่ใกล้เคียงกัน และเป็นสิ่งที่ชุมชนของพวกผู้กระทำสามารถเรียนรู้ได้ล่วงหน้าจากเหตุการณ์อื่น ถึงแม้จะไม่ใช่การประชาทัณฑ์สาธารณะในสังคมไทยเองก็ตาม
ที่แน่ ๆ ก็คือการประชาทัณฑ์สาธารณะทุกกรณีรวมทั้งกรณีที่ทำกับศพเมื่อ 6 ตุลากระตุ้นความเชื่อบางอย่างที่ดำรงอยู่ร่วมกันของชุมชนของผู้กระทำ การกระทำเฉพาะเจาะจงแทบทุกอย่างจงใจให้สื่อความหมายชัด ๆ เห็นกันชัด ๆ และเข้าร่วมได้ชัด ๆ ไม่มีอะไรคลุมเครือเลย แม้กระทั้งอารมณ์ความรู้สึกของปัจเจกชนที่เข้าร่วมการลงทัณฑ์เหล่านั้นก็ชัดเจน หรือแสดงออกค่อนข้างเกินเลยกว่าปกติอย่างชัดแจ้ง
พิธีกรรมยังช่วยสร้างพันธะความผูกพันระหว่างบุคคลในชุมชนของผู้ลงทัณฑ์เหล่านั้น ทำให้พวกเขารู้สึกถึงพลังของฝ่ายเดียวกัน และในเวลาเดียวกันก็รู้จักฝ่ายตรงข้าม แต่ตระหนักในพลังที่เหนือกว่าของตน ไม่ว่าผู้ถูกกระทำหรือเหยื่อคนนั้นๆ จะเป็นผู้กระทำผิดจริงหรือเป็นเพียงแพะรับบาปก็ไม่มีความสำคัญมากนัก เพราะเหยื่อมีบทบาทหน้าที่เป็นเพียงส่วนประกอบของการแสดงประชาทัณฑ์ซึ่งรับใช้ชุมชนของผู้กระทำ หมายความว่าเหยื่อเหล่านั้นสูญเสียความเป็นปัจเจกชนไปแล้ว เขาเป็นเพียง “ร่างทรง” (embodiment) ของความเลวตามความเชื่อของผู้กระทำที่ต้องการเหยื่อเพื่อเป็นเป้าของพิธิกรรมการแสดงของตนเท่านั้น
การเข้าร่วมของคนจำนวนมากในชุมชนนั้นได้ช่วยสร้างความอุ่นใจว่าพวกเขาแต่ละคนจะไม่ตกเป็นเป้าของการลงโทษตามกฎหมาย เพราะบอกไม่ได้ชัด ๆ ว่าใครคนไหนกันแน่ที่ทำให้เหยื่อเสียชีวิต แต่เป็นฝีมือของฝูงชนที่ช่วยกันคนละไม้ละมือ และเมื่อช่วยกันรุมประชาทัณฑ์ก็ไม่ต้องกังวลว่าจะมีใครชี้นิ้วกล่าวโทษใส่กันและกัน การแสดงออกร่วมกันของคนหมู่มากยังเป็นเสมือนการสร้างกฎรวมหมู่ที่ไม่เป็นทางการ หรือ “กฎหมู่” ของชุมชนนั้น ดังนั้นผู้กระทำจึงไม่รู้สึกผิด แม้กระทั่งเวลาผ่านไปอีกนาน ผู้กระทำก็อาจไม่รู้สึกผิด แต่กลับสามารถหาเหตุผลมารองรับการกระทำที่เกิดขึ้นว่าชอบธรรมแล้ว
สื่ออะไร เพื่ออะไร ทำไมต้องโหดเหี้ยมขนาดนั้น
การประชาทัณฑ์สาธารณะโดยมากมีความมุ่งหมายเพื่อสั่งสอน การทารุณกรรมล้วนสื่อความหมายทั้งนั้น
ข้อแรก สื่อให้รับรู้กันทั่วไปว่า เหยื่อเหล่านั้นไร้คุณค่าอย่างถึงที่สุด วิธีการลงทัณฑ์ที่โหดเหี้ยมผิดปกติก็เพื่อสื่อให้ผู้คนรับรู้ชัด ๆ จะ ๆ แจ้ง ๆ ถึงความชั่วร้ายของเหยื่อหรือการละเมิดที่เลวร้ายที่เหยื่อเหล่านั้นกระทำ (จากทัศนะของผู้กระทำซึ่งเชื่อว่าพวกเขาเป็นคนปกติส่วนใหญ่ของสังคม) รูปแบบการลงโทษปกติหรือตามกฎหมายของสังคมสมัยใหม่ย่อมไม่สามารถสื่ออารมณ์ความรู้สึกเช่นนั้นได้ เพราะมันไม่สาสม เบาเกินไป ให้ความเคารพ ให้เกียรติกับเหยื่อและความเลวเหล่านั้นมากเกินไป
ข้อสอง การทำร้ายศพด้วยวิธีที่โหดเหี้ยม คือการทำลายความศักดิ์สิทธิ์ของร่างไร้ชีวิตมนุษย์ที่ทุกสังคมถือว่าควรเคารพ ผู้กระทำเลือกวิธีเช่นนั้นอย่างจงใจ เฉพาะเจาะจง เพื่อปฏิเสธไม่ยอมปฏิบัติต่อเหยื่อในแบบที่มนุษย์ในสังคมอารยะพึงกระทำต่อกัน วิธีที่โหดเหี้ยมสื่อความหมายว่าเหยื่อไม่ใช่คน เป็นการทำลายความเป็นมนุษย์อย่างถึงที่สุดแม้การลงโทษประหารชีวิตตามระบบกฎหมายปัจจุบันก็ยังไม่สามารถปฏิเสธความเป็นมนุษย์ได้ถึงระดับนั้น
ข้อสาม รูปแบบการลงทัณฑ์เหล่านี้ดูเหมือนเป็นแบบโบราณ แต่ไม่ใช่เพราะผู้กระทำยังคงตกอยู่ในความคิดความเชื่อโบราณ ตรงกันข้ามพวกเขายืนอยู่กับปัจจุบัน คิดแบบปัจจุบัน จึงสามารถที่จะหยิบเอาชุดของการกระทำที่ดูโบราณมาใช้ เพื่อสื่อว่าเหยื่อสมควรถูกกระทำในแบบที่มนุษย์ปัจจุบันไม่กระทำต่อกันอีกแล้ว
ข้อสี่ เมื่อการประชาทัณฑ์หรือลงทัณฑ์เหล่านั้นจบสิ้นลง สิ่งที่สาธารณชนเห็นทั้งด้วยสายตาและรูปภาพจะสามารถสื่อสาระที่ต้องการได้อีกหลายสิบปีต่อมา
การประชาทัณฑ์สาธารณะเป็นวิธีการประกาศด้วยเสียงดังกัมปนาทต่อสังคมอย่างโจ่งแจ้งตรงไปตรงมาว่า ความเชื่อในระเบียบสังคมแบบที่พวกเขายึดมั่นเท่านั้นที่ยังมีอำนาจอยู่และพึงได้รับการปกป้องจากการคุกคามของพวกเหยื่อ การประชาทัณฑ์จึงต้องชัดแจ้งไม่คลุมเครือ พฤติกรรมอันโหดเหี้ยมจึงถูกใช้เพื่อรักษาระเบียบสังคมและความเชื่อที่ลงหลักปักฐานอยู่ และทำให้เข้มแข็งมั่นคงยิ่งขึ้นนั่นเอง แน่นอนว่าในทางกลับกัน ปรากฏการณ์เช่นนี้ย่อมแสดงว่าการกระทำและความเชื่อของเหยื่อเหล่านั้น กำลังสั่นคลอนระเบียบสังคมและความเชื่อที่เป็นหลักอย่างแรง เป็นการท้าทายถึงราก ดังนั้นจึงต้องถูกจัดการอย่างเด็ดขาด
เรารู้กันดีว่าเหยื่อ 6 ตุลาถูกให้ร้ายโจมตีว่ากระทำการละเมิดต่อสถาบันกษัตริย์ ทั้งนี้ในภาษาอังกฤษคำว่า lese majesty มิได้หมายความถึงการละเมิดต่อกษัตริย์เท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงการละเมิดคุกคามต่อสิ่งที่เป็นอำนาจหลัก ๆ ของรัฐ ซึ่งเราเรียกกันว่าการทรยศ (treason) และของศาสนาซึ่งเรียกว่า blaspheme ทั้งหมดนี้ถือเป็นการละเมิดที่รุนแรงระดับเป็น “lese majesty” การลงโทษผู้ละเมิดระดับนี้จึงต้องใช่วิธีที่เป็นสัญลักษณ์ของความรุนแรงและความไร้ค่าสุดๆ ของเหยื่อเหล่านั้น
การทารุณศพต่อหน้าสาธารณชนจึงมิใช่เพียงเกิดจากความชั่วร้าย (Evil) หรือภาวะชั่ววูบในจิตใจ ไม่ใช่ผลของการคุมอารมณ์ไม่อยู่ หรือผลของสถานการณ์ที่เลยเถิดควบคุมไม่ได้ แต่เป็นการกระทำที่ผู้กระทำและผู้เข้าร่วมเลือกจะทำ เพื่อแสดงเชิงสัญลักษณ์และสื่อสารกับสังคม เป็นการจารึกรอยแห่งอำนาจบนร่างของเหยื่อ เป็นสัญลักษณ์ที่ประกาศว่า ความเชื่อที่ถูกต้องหรือระเบียบสังคมที่สาธารณชนพึงยึดถือคืออะไร ใครมีอำนาจเหนือใคร ทั้งบนร่างของผู้ถูกกระทำและในความรับรู้ของสังคมในเวลาเดียวกัน
ความหมายและที่มาของรูปแบบการทำร้ายศพเมื่อ 6 ตุลา
การประชาทัณฑ์สาธารณะในสังคมอื่นตามที่ยกตัวอย่างมาข้างต้น ผู้กระทำมีความรู้และจดจำเอาวิธีการมาจากกรณีที่เคยทำกันมาก่อนในสังคมของตน โดยในระยะแรก เข้าใจว่าผู้กระทำเลือกเอามาจากความรู้ทางศาสนาและประวัติศาสตร์ แต่ในกรณี 6 ตุลาล่ะ พวกเขาเอามาจากไหน?
ดูเหมือนเป็นการผสมผสานกันจากหลายแหล่ง ทั้งจากความรู้ความเชื่อว่าอดีตเคยทำเช่นนั้น และจากวัฒนธรรมสาธารณะ เช่น สื่อมวลชน ภาพยนตร์ นิยาย ฯลฯ ที่พวกเขาเคยฟังเคยชมมาก่อน
การลงทัณฑ์ในไทยแบบโบราณ หากเป็นความผิดอุกฉกรรจ์ต่อพระไอยการอาญาหลวงและพระไอยการกระบดศึก จะโดนลงโทษทางร่างกาย หรือที่เรียกในพระไอยการกระบดศึกว่า “กรรมกร 21 สถาน” มีตั้งแต่โทษประหารด้วยการตัดคอ แหกอก หรือเปิดกะโหลกศีรษะ ไปจนถึงการทรมานทางกายไม่ถึงตาย ที่รู้จักกันดีได้แก่ การโบย เฆี่ยน ตี ตัดปาก ตัดหู ตัดนิ้วมือ เป็นต้น แต่การลงทัณฑ์ในไทยแบบโบราณไม่ใช้การแขวนคอ
การลงทัณฑ์สาธารณะและการประจานไม่ใช่สิ่งแปลกใหม่ในสังคมไทยในอดีต เป็นรูปแบบที่ทำกันเป็นปกติสำหรับอาชญากรประเภทอุกฉกรรจ์ เจ้าอนุวงศ์ก็เคยถูกจับใส่กรงแล้วลากประจานไปตามถนนให้ผู้คนรุมทำร้าย การประจานยังเป็นสิ่งที่กระทำกันอยู่เป็นปกติจนกระทั่งถึงปัจจุบัน ทั้งโดยทางการและโดยผู้คนในสังคมทำกันเอง การประจานที่รู้จักกันดีและยังยอมรับกันอยู่ทั่วไปในสังคมไทยคือ การทำแผนประทุษกรรม ไม่มีประเทศไหนในโลกอีกแล้วที่ยอมให้ตำรวจเอาผู้ต้องหามาแสดงต่อสาธารณชนด้วยข้ออ้างว่าเพื่อประกอบการสืบสวน
- การแขวนคอ เราอาจคิดได้ว่าเป็นปฏิกิริยาต่อการแสดงแขวนคอที่ธรรมศาสตร์ไม่กี่วันก่อนหน้านั้น แต่เป็นที่รับรู้กันทั่วไปว่าในหลายสังคม การแขวนคอเป็นการลงโทษและประจานคนร้ายที่เลวมหันต์ การประจานยังเป็นวิธีส่งคำเตือนหรือบทเรียนแก่ฝ่ายตรงข้ามด้วย และความรับรู้เช่นนี้อาจเป็นที่มาของการเลือกใช้การแขวนคอต่อวิชัย เกตุศรีพงษาและชุมพร ทุมไมย พนักงานการไฟฟ้า 2 คนก็ได้ ทั้งที่การประหารแบบโบราณของไทยเองไม่ใช้การแขวนคอ
- การลากร่างไร้ชีวิตไปตามพื้น เป็นการกระทำกับสัตว์ไม่ใช่ทำกับมนุษย์
- การเผาจนเป็นเถ้าถ่าน เป็นการทำลายกระทั่งรูปพรรณของมนุษย์ให้หมดจบสิ้น ตามความเชื่อของสังคมพุทธ การเผาศพเป็นพิธีกรรมส่งผู้ตายไปเกิดใหม่หรือสู่สุคติ แต่การเผาที่ปราศจากพิธีกรรมทางศาสนาที่ถูกต้องเหมาะสมคือการปฏิเสธโอกาสดังกล่าว แม้ตายแล้ว เหยื่อก็ไม่สมควรหลุดพ้นจากความทุกข์ พวกเขาจึงต้องถูกเผาเยี่ยงซากสัตว์
_ การปัสสาวะรดศพสะท้อนว่าเหยื่อรายนั้นไม่ใช่มนุษย์ปกติแต่เป็นเพียงสิ่งรองรับความโสโครกของมนุษย์
- แต่การกระทำที่มาจากต่างประเทศแน่ ๆ คือ การตอกอก เพราะเป็นวิธีการสังหารซาตานหรือปีศาจตามคติความเชื่อของฝรั่ง ไม่ใช่ของไทยแต่อย่างใด แต่คนไทยเรียนรู้และเข้าใจพฤติกรรมนี้จากหนังฮอลลีวู้ดจำนวนมาก ฉะนั้น แม้จะมาจากต่างประเทศ อยู่นอกสามัญสำนึกของคนไทยปกติทั่วไป แต่ทั้งผู้กระทำและผู้ชมเข้าใจสารที่ต้องการสื่อนี้เป็นอย่างดี อีกทั้งวิธีการนี้ต้องการอุปกรณ์ช่วยที่เหมาะสมด้วย สิ่งนี้จึงยิ่งยืนยันว่ามหกรรมทำร้ายศพกรณี 6 ตุลาไม่ใช่อารมณ์ชั่ววูบแล้ว แต่ต้องมีการไตร่ตรองหาวิธีทำร้ายศพอย่างสำนึกรู้ หรืออาจปรึกษาในหมู่พวกเขาเองก่อนลงมือทำด้วยซ้ำ แล้วจึง “เลือก” ที่จะใช้วิธีนี้
วัชรี เพชรสุ่น
การทำร้ายร่างไร้ชีวิตของวัชรี เพชรสุ่นน่าจะเป็นกรณีที่น่าขบคิดที่สุด เพราะเป็นการกระทำที่อุบาทว์อย่างเหลือเชื่อว่าพวกเขาทำเช่นนั้นได้อย่างไร ในเหตุการณ์ 6 ตุลา การบังคับให้ผู้ชุมนุมหญิงที่ถูกจับต้องถอดเสื้อออกเหลือแต่เพียงชุดชั้นใน ด้วยข้ออ้างพล่อย ๆ ว่าป้องกันการซ่อนอาวุธหรือข้ออ้างอะไรก็ตาม ความมุ่งหมายที่แท้จริงคือการเหยียดหยามเยาะเย้ยผู้หญิงที่ถูกจับเหล่านั้น ด้วยวิธีการเฉพาะที่มีผลกระทบต่อผู้หญิงเท่านั้น เพราะการหยามเช่นนี้สามารถทำร้ายผู้หญิงได้ลึกและฝังใจยิ่งกว่าการเตะต่อยอย่างที่ทำกับผู้ชาย ศพของวัชรี เพชรสุ่นก็ถูกกระทำทำนองเดียวกันแต่รุนแรงกว่า กล่าวคือ ร่างที่ไร้ชีวิตไปแล้วเพราะกระสุนปืน ถูกนำมาจัดวาง เปลื้องผ้าของเธอออกหมดต่อหน้าสาธารณชน มีภาพที่แสดงให้เห็นว่าผู้กระทำนั่ง-ยืนล้อมรอบร่างเปลือยด้วยความพอใจ ที่น่าเกลียดที่สุด คือการนำไม้มาจัดวางข้างร่างของเธอ ให้ดูราวกับว่าเธอถูกทำร้ายด้วยไม้ท่อนนั้น ทั้งๆ ที่รายงานชันสูตรชี้ว่าไม่มีร่องรอยการทำร้ายตรงอวัยวะเพศแต่อย่างใด ที่เห็นทั้งหมดนั้นเป็นเพียงการจัดฉากให้เข้าใจไปเช่นนั้น เธอถูกทำลายไม่เพียงความเป็นมนุษย์ปุถุชนที่ศพควรได้รับความเคารพ ไม่ใช่เอามาประจาน แต่ผู้กระทำยังจงใจคิดหาวิธีการเชิงสัญลักษณ์เพื่อการเหยียดหยามความเป็นหญิงของเธออย่างรุนแรง เพื่อความสนุกสนานของผู้กระทำอีกด้วย นี่ไม่ใช่ผลจากอารมณ์ชั่ววูบที่ปล่อย Evil ออกมา แต่เป็นผลงานของการคิดคำนวณหาวิธีทำร้ายศพที่เป็นหญิงอย่างรุนแรงที่สุดเท่าที่จะคิดออก
กรณี 6 ตุลาจึงรวมเอาความรับรู้จากสารพัดแหล่ง สารพัดวิธีการ ทั้งฝรั่ง-ไทย ทั้งที่เชื่อว่าเป็นอดีตและทั้งๆ ที่ยังหลงเหลือในปัจจุบันเข้าด้วยกัน รูปแบบการทำร้ายศพทั้งหมดเพื่อสื่อสารความหมายร่วมกันเพียงอย่างเดียวว่า เหยื่อเหล่านั้นไม่สมควรได้รับการลงโทษหรือการปฏิบัติเยี่ยงมนุษย์กระทำต่อกัน เพราะพวกเขาไม่ใช่มนุษย์อีกต่อไป
ประการสุดท้ายที่อยากฝากไว้ก็คือการประชาทัณฑ์สาธารณะโดยมากไม่ใช่การลงมือกระทำโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งอาจเป็นผู้ให้ความร่วมมือ เปิดทางให้ นิ่งเฉย หรือทำเป็นไม่รู้ไม่เห็น กลไกของรัฐมักมีส่วนสร้างเงื่อนไขหรือก่อสถานการณ์ที่นำไปสู่การประชาทัณฑ์สาธารณะ แต่การกระทำโหดร้ายจำนวนมากนั้นเป็นการกระทำของประชาชนกันเอง การประชาทัณฑ์เช่นนี้เป็นการร่วมมือร่วมใจกันกระทำในสิ่งที่สังคมของพวกเขาเห็นว่าสมควรกับสถานการณ์กับเหยื่อเหล่านั้น ดังนั้น จำนวนไม่น้อยจึงสามารถยิ้มร่าได้ด้วยความพอใจในระหว่างลงมือประชาทัณฑ์ และโดยมากไม่รู้สึกผิดค้างคาใจแต่อย่างใด
หมายเหตุท้ายบท
หลายปีที่ผ่านมา มีข้อวิจารณ์ประการหนึ่งต่อการรำลึก 6 ตุลาว่า มีแต่การพูดเรื่องคนตาย ความตาย ความโหดร้ายทารุณแต่กลับไม่ยอมพูดไปถึงตัวการเบื้องหลังเหตุการณ์ ทำให้การรำลึก 6 ตุลากลายเป็นเรื่องซ้ำซากน่าเบื่อ ข้อวิจารณ์เหล่านี้ต้องการตำหนิคนที่ไม่พูดเรื่องเจ้าและผู้มีอำนาจ และยังกล่าวหาว่าต้องการ “de-radicalize” กรณี 6 ตุลา ข้อวิจารณ์เหล่านี้มีส่วนถูกต้อง และภายใต้สภาวะอันจำกัดของสังคมไทย เราทุกคนก็พยายามกันอย่างเต็มที่เท่าที่เป็นไปได้
แต่คำวิจารณ์เหล่านี้ให้ความสำคัญต่อผู้เสียชีวิตในฐานะปัจเจกบุคคลน้อยไปหน่อย ทำให้ผู้เสียชีวิตมีค่าเป็นแค่เฟืองนิรนามของขบวนการสังคมนิยมที่ยิ่งใหญ่และเป็นค่าเสียหายค้างชำระทางการเมืองเท่านั้น โครงการบันทึก 6 ตุลาเห็นว่าความรู้เรื่องความตาย คนตาย และการกระทำทารุณโหดร้ายจำเป็นต้องได้รับการบันทึกให้แจ่มชัด และควรสืบทอดความรู้นี้ต่อไปอีกเท่าที่จะเป็นได้ นอกเหนือจากการให้เกียรติผู้เสียชีวิตเหล่านั้นแล้ว ที่สำคัญอย่างยิ่งก็คือเป็นการคืนความเป็นมนุษย์ให้กับเขา
บทความนี้ยังชี้ให้เห็นว่า การทำความเข้าใจต่อความตายและความทารุณโหดร้าย มีแง่มุมที่น่าสนใจให้เราศึกษา ทำความเข้าใจเกี่ยวกับสังคมไทยได้อีกมากกว่าที่ข้อวิจารณ์เหล่านั้นดูเบาไว้
เอกสารประกอบการศึกษา
- กรมราชทัณฑ์, ประวัติการราชทัณฑ์ 200 ปี, โรงพิมพ์ราชทัณฑ์, 2525
- พระไพศาล วิสาโล, “อนุสติจาก 6 ตุลา: ความชั่วร้าย ความตาย และชัยชนะ” ใน 6 ตุลาจารึก ความทรงจำ ความหวัง และบทเรียน, มูลนิธิโกมล คีมทอง, 2539
- Brundage, W. Fitzhugh. Lynching in the New South: Georgia and Virginia 1880-1930, U of Illinois Press, 1993
- _____, ed., Under Sentence of Death: Lynching in the South, U of North Carolina Press, 1997
- Elam, and Chase Pielak. Corpse Encounters: An Aesthetics of Death, Lexington Books, 2018
- Garland, David. “Penal Excess and Surplus Meaning: Public Torture Lynchings in Twentieth-Century America”, Law and Society, 39, 4 (2005):793-833
- Godoy, Angelina S. Popular Injustice: Violence, Community, and Law in Latin America, Stanford U Press, 2006.
- Goldstein, Daniel. The Spectacular City: Violence and Performance in Urban Bolivia, Duke U Press, 2004
- Harding, Wendy. “Spectacle Lynching and Textual Responses”, Miranda [Online], 15, 2017. URL: http://miranda.revues.org/10493
หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกใน ฟ้าเดียวกัน. 16:2 (กรกฎาคม-ธันวาคม 2561) และ www.doct6.com/archives/13520 [3]
| ['บทความ', 'การเมือง', 'วัฒนธรรม', 'สิทธิมนุษยชน', 'พวงทอง ภวัครพันธุ์', 'ประวัติศาสตร์', 'ธงชัย วินิจจะกูล', '“บันทึก 6 ตุลา', 'Documentation of October 6', '6 ตุลาตม 2519'] |
https://prachatai.com/print/79623 | 2018-11-15 12:33 | ใบตองแห้ง: แตกแบงก์พันเป็น 1,200 | จำเลยคดีกบฏที่ยังไม่ไปรายงานตัว ชี้ว่าพรรคเพื่อ….. ใช้ยุทธการแตกแบงก์พันเป็นแบงก์ร้อย หวังกวาด ส.ส. 300 คน อาจเข้าข่ายฮั้วทางการเมือง แม้ไม่ผิดกฎหมาย ไม่ผิดรัฐธรรมนูญ
แหม่ ไม่รู้จะ… ทำไม คนฟังก็รู้ว่าหมายถึงเพื่อไทย ซึ่งลูกๆ หลานๆ เพิ่งไปตั้งพรรคใหม่ เมื่อท่านคณบดีรับประกันว่าไม่ผิดรัฐธรรมนูญ เขาก็ย่อมทำได้
จะว่าฉลาดเกมส์โกงไหม ก็ใครล่ะเขียนรัฐธรรมนูญ ให้ คสช.ตั้ง ส.ว.250 คนมาเลือกกันเองเห็นๆ แล้วยังบอกว่าหน้าไม่ด้าน นักการเมืองก็ต้องพลิกแพลงทุกวิถีทาง
ระบบเลือกตั้งมีชัย ให้เอาคะแนนผู้สมัคร ส.ส.ทั้งประเทศ 350 เขตรวมกัน คำนวณสัดส่วนแต่ละพรรคควรได้ สมมติผู้มาใช้สิทธิหักบัตรเสียโหวตโน เหลือ 40 ล้านเสียง เพื่อไทยได้ 16 ล้านเสียง ก็จะได้ ส.ส. 200 คน ถ้าได้ ส.ส.เขตไปแล้ว 197 คนก็จะได้ปาร์ตี้ลิสต์ 3 คน แต่ถ้าได้ ส.ส.เขต 201 คน ก็ไม่ได้ปาร์ตี้ลิสต์เลย
ผู้สันทัดกรณีทั้งในและนอกพรรคคำนวณออกมาตรงกัน เพื่อไทยน่าจะได้ ส.ส.เขตใกล้เคียงกับสัดส่วนที่ควรได้ เพราะเลือกตั้งครั้งนี้แข่งขันสูง แต่ละเขตน่าจะชนะไม่เยอะ อย่างเก่ง 5-60,000 คะแนน
ฉะนั้น สมมตินะ สมมติ เพื่อไทยเอาจริงเอาจัง เฉพาะ 220-240 เขตที่มั่นใจหรือมีลุ้น แล้วสละ 110-130 เขตที่แพ้แหงๆ เปิดทางให้คนเลือกเพื่อไทยหันไปเลือกพรรคอื่นในฝั่งประชาธิปไตย พรรคเหล่านั้นก็จะได้คะแนนเป็นกอบเป็นกำ 2 ล้านกว่าเสียงขึ้นไป คำนวณ ส.ส.ได้ร่วม 30 คน
ถามว่าถ้าทำอย่างนั้นจริงผิดตรงไหน เพราะไม่ได้บังคับประชาชน สั่งซ้ายหันขวาหัน ชาวบ้านก็มีตัวเลือกเยอะไป ไม่เลือกไทยรักษาชาติ เพื่อชาติ เพื่อธรรม อาจเลือกอนาคตใหม่ เสรีรวมไทย พูดง่ายๆ ตลาดเปิด ประชาธิปัตย์ พลังประชารัฐ หรือพรรคขัดขวางเลือกตั้ง อยากช่วงชิงก็ได้
ถ้าตัดสินใจอย่างนี้จริง เพื่อไทยก็เสี่ยงหลายด้าน เช่น ถ้าประเมินผิด กลายเป็นชนะถล่มทลาย ก็น่าเสียดายโอกาสได้ ส.ส.เกินครึ่ง การแตกแบงก์เท่ากับลดทอนพลัง และเครดิตตัวเอง จากพรรคอันดับหนึ่งซึ่งมีทุกอย่างพร้อมพรั่งถ้าประชาชนสับสนก็อาจแพ้ ส.ส.เขต ในจุดที่สูสีกัน
ยิ่งกว่านั้น อย่าลืมนะ แกนนำเพื่อไทยต้องเสียสละ เพราะจะยิ่งไม่ได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ซักคนเดียว แม้แต่แคนดิเดทนายกฯ อย่างเจ๊หน่อย “เรียกแม่ได้ไหม” ถ้าไม่ได้เป็นรัฐบาล เพื่อไทยเป็นฝ่ายค้าน ก็ไม่ได้เข้าสภา ต้องมานั่งแถลงข่าวที่พรรค ปล่อยให้ ส.ส.เขต ประยุทธ์ ศิริพานิชย์, สามารถ แก้วมีชัย ฯลฯ เป็นผู้นำฝ่ายค้าน
อยากแตกแบงก์พันเป็นแบงก์ร้อย แต่ได้เกินเป็น 1,100-1,200 การลงทุนต้องมีความเสี่ยง ก็ยอมรับไป
ว่าที่จริง การตัดสินใจเชิงยุทธศาสตร์แบบนี้ ไม่ใช่เพื่อไทยกำหนด ภายใต้ระบบบัตรใบเดียว ไม่มีบัตรปาร์ตี้ลิสต์ แต่ละขั้วแตกพรรคหลากหลาย ประชาชนต้องตัดสินใจเชิงยุทธศาสตร์อยู่ดี
ยกตัวอย่าง คนอยากเลือกอนาคตใหม่ แต่อยากให้ฝ่ายประชาธิปไตยชนะ ถ้าอยู่ในเขตเพื่อไทยสูสี ก็ตัดสินใจลำบาก สุดท้ายอาจเลือกเพื่อไทย แต่ถ้าอยู่เขตเพื่อไทยชนะห่าง หรือแพ้แหง ก็ตัดสินใจง่าย
เช่นกัน คนอยากเลือกพรรคกำนัน แต่ยังห่วง ปชป. ถ้าเป็น กทม.ก็ต้อง ปชป.ไว้ก่อน แต่ถ้าเป็นภาคใต้ ยังไงๆ ก็เสาไฟฟ้า หรือเหนืออีสาน ยังไงแพ้แหงๆ ลุงกำนันก็ต้องอ้อน เลือกพรรคผมบ้างนะ
สำคัญว่าประชาชนจะเลือกหรือเข็ดหลาบ เท่านั้นเองแตกแบงก์ยังไง ถ้าคนไม่เลือก มีแต่ไล่ ก็ไม่มีกำไรมีแต่ขาดทุน
เผยแพร่ครั้งแรกใน: ข่าวหุ้นธุรกิจ www.kaohoon.com/content/262981 [1]
| ["'ใบตองแห้ง' ออนไลน์", 'การเมือง', 'ใบตองแห้ง', 'การเลือกตั้ง', 'พรรคเพื่อไทย'] |
https://prachatai.com/print/79627 | 2018-11-15 19:24 | 'ต้านคอร์รัปชัน' จี้บินไทยแจงคืบหน้าคดีสินบนโรลส์-รอยซ์ ป.ป.ช.รับช้าต้องพึ่งข้อมูลต่าง ปท. | องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ ส่งหนังสือถึงประธานบอร์ดการบินไทย ทวงถามความคืบหน้าคดีสินบนโรลส์-รอยซ์ การหาผู้กระทำผิดมาลงโทษ ชี้เป็นทุจริตข้ามชาติเกี่ยวโยงรัฐวิสาหกิจชั้นนำของชาติ สังคมยังสนใจต้องเปิดเผยข้อมูลให้กระจ่าง ป.ป.ช. รับคดีล่าช้า เหตุมีข้อจำกัด ต้องพึ่งข้อมูลจากต่างประเทศ
15 พ.ย.2561 มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 13 พ.ย.ที่ผ่านมา ทางองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ได้ส่งหนังสือถึง เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ประธานกรรมการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ขอทราบความคืบหน้าคดีสินบนโรลส์-รอยซ์-การบินไทย หลังจากเวลาผ่านไปกว่า 1 ปี 6 เดือนแล้ว แต่ยังไม่มีความคืบใดๆ ว่าที่ผ่านมาทางบริษัทการบินไทยฯ ได้มีการสอบสวนหาผู้กระทำผิดมาลงโทษและชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้วหรือไม่ อย่างไร รวมทั้งงช่องโหว่ในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างที่ผ่านมา เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาทุจริตได้อีก
โดยเนื้อหาในหนังสือระบุว่า
“จากการที่ บริษัท โรลส์-รอยซ์-จำกัด (Rolls-Royce) ได้ยอมรับต่อทางการประเทศอังกฤษว่าได้จ่ายสินบนให้กับอดีตผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ทางการ และอดีตรัฐมนตรีของไทย จำนวน 3 ครั้ง ระหว่างปี พ.ศ. 2534 -2548 คิดเป็นเงินราว 1,223 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือในการขายเครื่องยนต์ Trent 800 หรือ T800 ของโรลส์ -รอยซ์ ให้กับ บริษัท การบินไทย (มหาชน) เพื่อใช้สำหรับเครื่องบินโบอิ้ง 777 ตามที่ปรากฎเป็นข่าวดังไปทั่วโลกในช่วงต้นปี พ.ศ. 2560 ที่ผ่านมา
เนื่องจากกรณีดังกล่าวเป็นการทุจริตข้ามชาติที่เกี่ยวโยงกับ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) รัฐวิสาหกิจชั้นนำของประเทศ ทำให้เป็นที่สนใจเฝ้าติดตามของสังคมเป็นอย่างมากว่าคดีนี้มีความคืบหน้าในการสอบสวนหาผู้กระทำผิดมาลงโทษและชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างไรบ้าง รวมทั้งกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างที่ผ่านมามีช่องโหว่อย่างไร เพื่อหาทางป้องกันมิให้เกิดการทุจริตขึ้นอีกในอนาคต
องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ขอความกรุณาท่านโปรดชี้แจงต่อสังคมให้กระจ่างชัดว่าที่ผ่านมาบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนหรือไม่ และได้ดำเนินการประการใดบ้าง มีความคืบหน้าหรือข้อติดขัดประการใด เชื่อว่าการเปิดเผยข้อมูลอย่างต่อเนื่องของท่านจะทำให้สังคมเกิดความเชื่อมั่นและสนับสนุนการดำเนินงานบริษัทฯ ด้วยดีต่อไป”
ป.ป.ช.รับคดีล่าช้า เหตุมีข้อจำกัด ต้องพึ่งข้อมูลจากต่างประเทศ
ขณะที่ มติชนออนไลน์ [1] รายงาน คำชี้แจงของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดย พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช. กล่าวถึงกรณีนี้ว่า เรื่องดังกล่าวต้องประสานข้อมูลกับต่างประเทศจึงทำให้มีข้อจำกัดบ้าง เราไม่สามารถทำงานได้เพียงฝ่ายเดียวทั้งที่อยากจะรีบให้เสร็จ แต่จำเป็นต้องขอข้อมูลจากต่างประเทศ อีกทั้งจะต้องพิจารณาประกอบกับกฎหมายของไทยหลายหน่วยงาน และไม่ใช่กระบวนการพิจารณาคดีความอาญา เจ้าหน้าที่กำลังพยายามเร่งรัดอยู่ เราไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยสำนักต่างประเทศของ ป.ป.ช.ทำงานประสานต่างประเทศอย่างเต็มที่ เพื่อนำข้อมูลมาประกอบ กลับข้อมูลที่ขอไปยังหน่วยงานต่างๆ ภายในประเทศ ทั้งนี้เหตุการณ์เรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นมานานพอสมควร ซึ่งความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็เป็นอีกประเด็นหนึ่ง ตนก็ได้กำชับแล้วว่าหากติดขัดเรื่องใดให้รีบรายงานคณะกรรมการ
ประธาน ป.ป.ช. ระบุว่าา ข้อมูลจากต่างประเทศกว่าจะส่งมาให้เรา ก็ใช้เวลานาน อีกทั้งเหตุการณ์เกิดมานานหลายปีแล้วและหากจะต้องตรวจสอบเส้นทางทางการเงินที่เกี่ยวข้อง สถาบันการเงินในต่างประเทศที่เกี่ยวข้อง ซึ่งถือเป็นสถาบันการเงินระหว่างประเทศ จึงต้องอาศัยเรื่องความร่วมมือทางอาญา ทั้งนี้จะเห็นได้ว่ากฎหมาย ป.ป.ช.61 กำหนดไว้ว่าคดีที่ต้องอาศัยข้อมูลระหว่างประเทศนั้น ไม่กำหนดกรอบระยะเวลาเนื่องจากตระหนักดีว่า เราไม่สามารถทำได้ฝ่ายเดียว ป.ป.ช.เร่งรัดดำเนินการเพราะเข้าใจดีว่าเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนรวบรวมพยานหลักฐานของคณะอนุกรรมการไต่สวน แต่แม้ต่างประเทศจะส่งข้อมูลมาให้แล้วก็ต้องใช้เวลาในการตรวจสอบ
| ['ข่าว', 'การเมือง', 'เศรษฐกิจ', 'เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ', 'บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)', 'รัฐวิสาหกิจ', 'คดีสินบนโรลส์-รอยซ์', 'ป.ป.ช.', 'มานะ นิมิตรมงคล', 'องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน'] |
https://prachatai.com/print/79624 | 2018-11-15 12:39 | ชราธิปไตยในสังคมพุทธไทย | พุทธศาสนาเถรวาทมีขนบที่ต้องเคารพคนแก่ เพราะเชื่อว่าเป็นผู้มีกิเลสน้อย ผ่านการอบรมชำระจิตมามาก คนที่ได้รับการแต่งตั้งให้ทำหน้าที่บริหารปกครองจึงมักเป็นคนแก่ หรือคนดีมีจริยธรรมซึ่งสำคัญกว่าคนเก่ง สิ่งนี้ยัง แท้จริงแล้ว แนวคิดผู้มีบารมีแบบไทยแทบไม่จำเป็นต้องอ้างการกลับชาติมาเกิด แต่ต้องเป็นผู้ละกิเลสได้ ภาพลักษณ์ของคนแก่จึงสนองความเป็นผู้มีกิเลสเบาบางได้ดีกว่าคนหนุ่ม และนี่เป็นเหตุผลที่พระแก่เหมาะสมกับตำแหน่งบริหารปกครองของไทย
ผมนำเสนอบทความนี้ที่ในชื่อ Gerontocracy in Thai Buddhism เมืองยอกยาการ์ต้า ประเทศอินโดนีเซีย ในวันที่ 6-9 พฤศจิกายนที่ผ่านมา จัดโดย ICRS (Indonesian Consortium for Religious Studies) โดยการสนับสนุนของกระทรวงการศาสนา ภายใต้ชื่อ “งานประชุมนานาชาติว่าด้วยวิถีทางศาสนา” (International Symposium on Religious Life: ISRL 2018) ในงานมีบทความนำเสนอเกี่ยวกับศาสนาล้วนๆ ราว 70 ชิ้นและลงทะเบียนเข้าร่วมงาน 300 คน ณ โรงแรม Novotel
คนแก่สำคัญไฉน?
ภาพของคนแก่ โดยเฉพาะพระสงฆ์ มักจะไม่สื่อไปในทางบ้ากาม แต่ผ่านการปฏิบัติธรรมชำระกิเลสมามาก สังฆราชของไทย โดยเฉพาะองค์ที่ 19 คือ สมเด็จพระญาณสังวรฯ (เจริญ สุวฑฺฒโน) เข้ารับตำแหน่งสังราชเมื่ออายุ 76 และอยู่ในตำแหน่งจนกระทั่งอายุ 100 ปี ทรงเป็นที่รู้จักในนามพระที่เคร่งครัดในวินัยสงฆ์ ก่อนสวรรคต มีเรื่องเล่าจากโรงพยาบาลมากมาย เช่น ทรงขออย่าให้พระองค์ฉันอาหารหลังเที่ยงวันและอย่าให้หมอ/พยาบาลผู้หญิงสัมผัสพระองค์ เพราะไม่ทรงรับรู้และปลงอาบัติไม่ได้อีกแล้ว เรื่องเช่นนี้ตั้งคำถามได้มาก เช่น เมื่อไม่รับทราบ ก็เท่ากับไม่มีเจตนา การไม่มีเจตนาในกามที่จะสัมผัสสตรีก็ย่อมไม่เป็นอาบัติ ดังนั้นจึงไม่ควรกลัวเป็นต้น แต่เรื่องเช่นนี้ก็ให้ภาพลักษณ์ของพระที่เคร่งครัดและควรแก่การเคารพได้ดี
พระองค์สวรรคตเมื่ออายุได้ 100 ปี แน่นอนว่าช่วงปลายทรงใช้ชีวิตที่โรงพยาบาลเป็นหลัก พระองค์หายไปจากพื้นที่สาธารณะราวทศวรรษ แต่ก็มิได้มีการตั้งสังฆราชใหม่ จะมีแค่เพียงผู้ปฏิบัติหน้าที่แทน เพราะตำแหน่งสังฆราชจะดำรงอยู่จนกระทั่งสวรรคต อย่างน้อยที่สุด การสวรรคตเมื่ออายุ 100 ปีช่วยตอกย้ำภาพลักษณ์ผู้มีบารมีที่หาได้ยากอีกตัวอย่างหนึ่ง
สังฆราชองค์ที่ 20 คือ สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ฯ (อัมพร อมฺพโร) เข้ารับตำแหน่งเมื่ออายุ 90 ปี และภาพลักษณ์ของพระองค์คือ ไม่จับเงิน และไม่มีรถส่วนพระองค์ แม้จะถูกตั้งคำถามมากมายเกี่ยวกับการเป็นพระราชาคณะและรับเงินเดือน แต่ภาพลักษณ์ความสันโดด เป็นศิษย์พระป่าของพระองค์ก็ช่วยให้ผ่านไปได้
ตำแหน่งสังฆราชที่ได้รับเมื่ออายุ 80 จะไม่เป็นปัญหา หากหน้าที่หลักคือเป็นที่เคารพกราบไหว้ของผู้คน แต่ไม่เป็นเช่นนั้น เพราะนี่เป็นตำแหน่งที่ปกครองคณะสงฆ์ทั้งประเทศและออกนโยบายในการบริหารงานเพื่อขับเคลื่อนพุทธศาสนา แต่คนไทยก็ไม่รู้สึกแปลกต่อความเป็นเหตุเป็นผลของอายุและตำแหน่งนี้ เพราะพุทธศาสนาเถรวาทให้ความสำคัญกับคนแก่อยู่แต่เดิมแล้ว ซึ่งผมเรียกว่า “ชราธิปไตยในสังคมพุทธไทย”
เถรวาท แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เชื่อในคำสอนของคนแก่” แม้ เถระ ในที่นี้จะหมายถึง พระอรหันต์ 500 รูปที่ทำสังคายนาครั้งแรกและถ่ายทอดธรรมะกันรุ่นสู่รุ่น แต่การต้องเคารพคนแก่ที่เรียกว่า “ภันเต” ก็ถูกให้ความสำคัญอย่างยิ่งในพระวินัย สิ่งนี้กลายมาเป็นจารีตไทยที่การตั้งคำถามกับครูหรือเถียงผู้ใหญ่ถูกมองว่าหยาบกระด้าง ในวันออกพรรษา พระสงฆ์จะทำสังฆกรรมที่ชื่อ “ปวารณา” คือเปิดโอกาสให้ตักเตือนกันและกัน แต่แน่นอนว่า ในสังคมไทย กิจกรรมนี้ไม่ได้ถูกปฏิบัติ เพราะการวิพากษ์เจ้าอาวาสหรือพระพรรษาสูงกว่าเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ จึงมีแต่เพียงเข้าโบสถ์ไปกล่าวคำบาลีและรับฟังโอวาสจากเจ้าอาวาสตามจารีต อาจแย้งว่า มีลัทธิใหม่เกิดขึ้นมากมาย เช่น ครูบาในภาคเหนือ ซึ่งมีอายุน้อยและเป็นเป็นที่เคารพอย่างมาก ผมจะอธิบายว่า แม้จะเป็นเช่นนั้น ภาพของคนแก่ก็มิได้หายไปไหน พระ-เณรหนุ่มเหล่านั้นยังต้องสวมบทบาทของพระแก่ (ครูบาศรีวิชัย เป็นต้น) บ้างต้องถือไม้เท้า บ้างกินหมาก บ้างแต่งกายแบบพระแก่ และต้องปฏิบัติศาสนกิจเช่นเดียวกับที่ครูบาแก่รุ่นก่อนกระทำ (โปรดดู ครูบาคติใหม่ของ ณัฐพงศ์ ดวงแก้ว 2016) ขณะที่พระหนุ่มบางท่านต้องใช้คำนำหน้าว่า “หลวงปู่”และนอกจากนั้น ยังต้องสะท้อนภาพลักษณ์ผู้เคร่งครัดในการปฏิบัติเช่น เข้าถ้ำ 3 ปี 3 เดือน 3 วัน โดยไม่พบปะผู้คนเป็นต้น โดยสรุปคือ ภาพลักษณ์ความเป็นคนแก่และความเคร่งครัดในการปฏิบัติแบบพิเศษ ยังเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างภาพผู้มีบารมีในสังคมเถรวาท
ใครกันแน่ที่ปกครอง?
เมื่อพระแก่จำนวนมาก นับตั้งแต่เจ้าอาวาส เจ้าคณะตำบล เป็นต้นไปไม่มีเรี่ยวแรงในการบริหารปกครอง การขับเคลื่อนงานจึงอยู่ที่ “พระเลขาฯ” พระเหล่านี้มักเป็นคนหนุ่ม แต่เปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้มาก นอกจากต้องสนองคำสั่งของพระแก่และระบบเก่าอีกเช่นเดิม พระเลขาฯ มีอำนาจมากในระบอบนี้ เพราะท่านเป็นผู้นำผลงานของพระที่ควรจะเลื่อนขั้นไปเสนอพระผู้ใหญ่ จึงมีการพูดกันอย่างชินหูว่า หากหวังการเติบโตในสังคมสงฆ์ นอกจากเข้าหาพระผู้ใหญ่แล้ว ต้องเข้าถึงพระเลขาฯ ด้วย
แนวคิดของระบอบ “ชราธิปไตย” จะมีการเอาคนหนุ่มไปทำงานเช่นกัน แต่จะคัดเฉพาะผู้ที่จงรักภักดี หรือผู้ที่มีแววว่าจะรงรักภักดีในอนาคต (ไม่เน้นที่ความรู้หรือการศึกษา) ซึ่งจะมั่นใจได้ว่าเขาจะรักษาระบอบเดิมต่อไปได้ การเปิดโอกาสให้คนหนุ่มเช่นนี้ จะช่วยลดอำนาจต่อรองหรือการอยากปฏิวัติของกลุ่มคนหนุ่ม เพราะเขาได้ถูกเลือกให้เข้าไปทำงานในระบบแล้ว และแน่นอนว่า คนหนุ่มที่แข็งกร้าวก็จะไม่ถูกเลือก และบ่อยพระหนุ่มมีการศึกษาถูกเลือกให้รับตำแหน่ง แต่เพราะท่านเหล่านั้นทราบดีว่าจะเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้ จึงปฏิเสธและลาสิกขาไป บางส่วนก็ขับเคลื่อนงานของตนอย่างอิสระ
พระสังฆราชและพระสังฆาธฺการระดับอื่น ๆ ไม่ได้มีอำนาจในการปกครองจริง เรื่องเช่นนี้พบได้เมื่อเกิดวิกฤตต่างๆ เช่น กรณีธรรมกาย หรือ พระคึกฤทธิ์เสนอให้สวดปาฏิโมกข์ 150 ข้อ ที่ท่านต้องเฉยหรือแค่เสนอให้ทำบางอย่างไม่ใช่เพราะทุจริตในหน้าที่ แต่เพราะไม่มีอำนาจในการลงโทษผู้อื่น และต่อให้ทำเช่นนั้นจริง ก็จะยิ่งทำลายภาพลักษณ์ของมหาเถรฯ เพราะขัดกับหลักสิทธิมนุษยชนเป็นต้น
ยิ่งบังคับใช้กฎหมายคณะสงฆ์ เช่น กรณีของสันติอโศก พระก็จะออกจากระบบการปกครองของมหาเถรฯ มากขึ้น สุดท้าย เมื่อเขาออกจากการปกครองและไม่มีใครอยากอยู่ใต้อำนาจ มหาเถรฯ ก็จะล่มสลายลงโดยอัตโนมัติ สิ่งนี้จะนำไปสู่การเกิดรัฐโลกวิสัย ที่องค์กรศาสนากลายเป็นเอกชนไม่ขึ้นกับรัฐ ฉะนั้น การที่มหาเถรฯ นิ่งเฉยเมื่อมีพระกระทำผิด จึงถือเป็นเรื่องปกติมาก เพราะนั่นเป็นทางออกที่ดีที่สุดที่จะทำให้พุทธแบบไทยเป็นหนึ่งเดียวภายใต้มหาเถรสมาคมเช่นนี้ได้ กล่าวได้ว่า องค์กรสงฆ์ไม่ได้มีอำนาจใดๆ เพียงแค่เลื่อนขั้นกันไปเรื่อยๆ จึงไม่แปลกหากไม่มีการตีความคำสอนเพื่อรับกับโลกสมัยใหม่
เมื่อเป็นหนึ่งเดียวภายใต้รัฐ พุทธไทยจึงไม่สนใจสิทธิมนุษยชน
มีการต่อต้านการคลุมผมของนักเรียนมุสลิมในโรงเรียนวัด ด้วยเหตุผลว่า ต้องเคารพต่อพื้นที่ของชาวพุทธและไม่สร้างความแตกแยก ความสามัคคีของชาวพุทธจึงหมายถึงการต้องทำสิ่งที่เหมือนกัน (ไม่แปลกเลยที่เราจะสนับสนุนให้ใส่ชุดนักเรียน เพราะมิฉะนั้น นักเรียนก็แต่งตัวอิสระและแตกสามัคคี?) มุสลิมได้ใช้กฎหมายรัฐธรรมนูญเรื่องเสรีภาพในการนับถือศาสนามายัน แต่สุดท้ายก็ต้องแพ้ พ.ร.บ.สงฆ์ ที่ยืนยันว่า เขตวัดเป็นพื้นที่ปกครองของเจ้าอาวาส ฉะนั้นจึงต้องเคารพต่อคำสั่งของท่าน
ชาวพุทธไม่ได้มองว่านี่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน (บังคับให้นักเรียนถอดผ้าคลุม) แต่เป็นชัยชนะที่ป้องกันการเติบโตของศาสนาอิสลาม และไม่มีพระสงฆ์กลุ่มใดออกมาแย้งการละเมิดเช่นนั้น นี่เพราะพระสงฆ์ล้วนอยู่ภายใต้มหาเถรฯ และรัฐบาลไทยซึ่งให้การสนับสนุนหลัก ความคิดที่แตกต่างไม่มีโอกาสได้แสดงออก ชาวพุทธจะออกมาเรียกร้องสิทธิเมื่อพบว่าตนเองไม่ได้สิทธิแบบคนอื่นเท่านั้น
สิ่งนี้ต่างกันมากกับกรณีที่ศาลในเมืองเมดานของอินโดนีเซียตัดสินให้ Ibu Meiliana ต้องจำคุก 18 เดือนข้อหาวิจารณ์ศาสนา (กล่าวว่าเสียงอาซานละหมาดดังรบกวนเธอ) องค์กรมุสลิมที่ใหญ่ที่สุดของอินโดฯ คือ NU และ Muhammadiya ออกประกาศว่าเธอไม่ได้ละเมิดศาสนาแต่ประการใด การปกป้องสิทธิของคนกลุ่มน้อยยังมีให้เห็นในอินโดฯ เพราะศาสนาเป็นองค์กรเอกชนที่ต้องอยู่รอดด้วยตนเอง และวิพากษ์รัฐได้
รัฐสวัสดิการกับแนวคิดพุทธเถรวาท
พุทธศาสนาเถรวาทแทบไม่สนใจประเด็นทางสังคมอื่นๆ เช่น การตีความให้พุทธรับใช้ประชาธิปไตย (ที่พระไทยเป็นเสื้อแดง เพราะหวังให้มีพุทธศาสนาประจำชาติ) รัฐสวัสดิการหรือความเท่าเทียมในการเข้าถึงการศึกษาและการรักษาพยาบาลที่ฟรีเป็นต้น เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำให้เกิด เพราะจะลดทอนคำสอนเรื่องกฎแห่งกรรมในทางศาสนา
หาก A ต้องตายเพราะไม่มีเงินรักษาตัว ก็ถือเป็นเรื่องของกรรมแบบปัจเจก ซึ่ง A อาจไม่ได้บริจาคทานหรือได้ทำร้ายสัตว์ไว้เมื่อชาติที่แล้ว ดังนั้น สิ่งที่ต้องแก้คือ สอนให้คนหมั่นทำบุญรักษาศีล มิใช่มองว่าสิ่งนั้นเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างของสังคม สิ่งนี้โยงไปถึงการสนับสนุนให้ต้องประหารชีวิตคนชั่ว เพราะมองว่าเขาชั่วแบบปัจเจกและต้องกำจัด ต่างกับพุทธศาสนามหายานที่สนใจโครงสร้างสังคม เชื่อว่าคนไม่ได้ชั่วแต่กำเนิด แต่เพราะถูกสภาพแวดล้อมจัดสรร จึงต้องช่วยเขาให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
มหายานเช่น Tzu Chi จึงมีบทบาทอย่างมากในการทำงานเพื่อสังคม เงินบริจาคจะถูกนำมาสร้างโรงเรียน มัสยิด โรงพยาบาลและนำเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยต่างๆ (ดูเหมือนธรรมกายพยายามเลียนแบบกิจกรรมเหล่านี้ แต่ไปไม่ไกล เพราะจำกัดด้วยแนวคิดพระสงฆ์เป็นเนื้อนาบุญ เงินบริจาคจะได้จากการต้องมาทำบุญกับพระสงฆ์ก่อน มิได้เน้นว่าต้องช่วยเหลือสังคมโดยตรง และเงินมหาศาลก็ถูกใช้ในการหล่อพระทองคำ สร้างวัด มากกว่างานสาธารณประโยชน์แบบ Tzu Chi หากยึดตามนี้ ธรรมกายควรถูกจัดอยู่ในเถรวาทมากกว่ามหายาน)
การลดช่องว่างชนชั้นในสังคมและเปิดโอกาสให้ทุกคนรับสวัสดิการของรัฐจึงขัดกับการเปิดโอกาสให้มนุษย์รับกรรมที่เคยทำมา และปิดโอกาสที่คนรวยจะช่วยเหลือคนจนเพื่อสร้างภาพของคนมีจริยธรรม เพราะเงินที่คนรวยจ่ายภาษีให้รัฐ ไม่ได้ให้ภาพการทำบุญสุนทานแบบที่สังคมเถรวาทต้องการ หากอยากช่วยจริงๆ ก็ให้ทำในนามปัจเจกบุคคลเพื่อสะสมบารมีและเป็นตัวอย่างที่ดีเพื่อชาวพุทธเถรวาทจะเอาเป็นแบบอย่าง
สังคมผู้สูงอายุ ก็ไม่นิยมพูดกันในเถรวาท เพราะไม่จำเป็นต้องจัดการเรื่องรัฐสวัสดิการหรือแผนในการดูแลคนแก่ คัมภีร์ของเถรวาท (หลักทิศ 6) ระบุไว้ชัดว่า การดูแลพ่อแม่เป็นหน้าที่ของบุตรและเป็นการตอบแทนคุณ (กตัญญู กตเวทิตา) จะสังเกตได้ว่า คำสอนในเถรวาทมีทางออกให้กับหลายอย่าง แต่เป็นทางออกแบบทางเดียวและไม่รองรับความซับซ้อนของสังคมสมัยใหม่
จริงๆ มีแนวคิดเรื่องความเท่าเทียมที่ปรากฏในโลกของพระศรีอริยเมตไตรด้วย แต่แนวคิดนี้ถูกทำลายไปด้วยความเป็นเถรวาทแท้ซึ่งเน้นไปที่พระสมณะโคดมเท่านั้น และศาสนาของพระองค์จะดำรงอยู่ห้าพันปี กล่าวคือ ปัจจุบันล่วงมาแล้ว 2561 ปี หากจะมีความเท่าเทียมและสุขสบายเช่นที่เชื่อกันในโลกพระศรีอาริย์ฯ ก็ต้องรออีกราว 2,500 ปี
ปัจจัยดังที่กล่าวมา เป็นตัวบั่นทอนพุทธศาสนาแบบไทยไม่ให้พัฒนาเพื่อรับกับโลกสมัยใหม่อย่างเห็นได้ชัด คนพุทธไทยยังอยากได้คนแก่ มีกิเลสน้อยมาบริหาร มากกว่าจะคิดว่าทำอย่างไรให้องค์กรขับเคลื่อนได้อย่างเป็นอิสระ มีผู้นำที่ชาญฉลาดและตรวจสอบได้ เมื่อเรียกหาผู้นำที่น่ายกย่องบูชา และมอบความไว้วางใจทั้งหมดให้ ก็เป็นธรรมดาที่ตำแหน่งเช่นนั้นจะตกเป็นของคนแก่ ซึ่งเชื่อว่ามีจริยธรรม
| ['บทความ', 'การเมือง', 'วัฒนธรรม', 'สิทธิมนุษยชน', 'เจษฎา บัวบาล', 'พุทธศาสนา', 'ศาสนา'] |
https://prachatai.com/print/79626 | 2018-11-15 18:51 | เวทีอาเซียนสนใจสถานการณ์โรฮิงญา บังกลาเทศเลื่อนส่งผู้ลี้ภัยกลับพม่า | ประเด็นวิกฤตชาวโรฮิงญาเป็นที่ถกเถียงในเวทีประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ประยุทธ์เชื่อ อาเซียนมีบทบาทสำคัญในการแก้ปัญหาได้ ทางบังกลาเทศเลื่อนวันส่งตัวผู้ลี้ภัยกลับ จากเดิมเริ่มวันนี้ กลุ่มผู้ลี้ภัยนับร้อยประท้วงต้าน
บ้านชาวโรฮิงญาที่ถูกเผาในรัฐยะไข่ (ที่มา: wikipedia [1])
15 พ.ย. 2561 เดอะเนชั่น รายงานว่า ในเวทีประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ที่จัดขึ้นที่ประเทศสิงคโปร์ช่วงวันที่ 11-15 พ.ย. มีการพูดคุยระหว่างผู้นำในประเด็นปัญหาเรื่องชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ ที่ความรุนแรงจากกองทัพพม่าได้ทำให้ชาวโรฮิงญาจำนวนมากกว่า 700,000 คนลี้ภัยไปยังบังกลาเทศ
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ประเทศไทยและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวกับเพื่อนร่วมสมาชิกคนอื่นว่า ประเทศไทย ในฐานะประธานอาเซียนต่อจากสิงคโปร์ได้มองเห็นศักยภาพของอาเซียนในการเป็นผู้เล่นที่มีบทบาทสำคัญในการแก้ไขสถานการณ์ที่รัฐยะไข่ในแบบที่สร้างสรรค์ จับต้องได้ และยั่งยืน
แหล่งข่าวระบุว่า ประยุทธ์ได้กล่าวว่าอาเซียนควรจะส่งเสริมศูนย์ประสานงานอาเซียนด้านการช่วยเหลือมนุษยธรรมและการจัดการภัยพิบัติ (AHA) เพื่อให้บริการด้านการช่วยเหลือทางมนุษยธรรมแก่ผู้ได้รับผลกระทบ สนับสนุนการส่งผู้ลี้ภัยกลับที่มีความน่าเชื่อถือ มีนัยสำคัญและพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับทุกชุมชนในรัฐยะไข่
ในขณะที่มหาธีร์ โมฮัมหมัด นายกฯ มาเลเซียกลับมีท่าทีที่แข็งกร้าวต่อพม่าในประเด็นโรฮิงญา โดยกล่าวว่าเขาผิดหวังกับสถานการณ์ในรัฐยะไข่ และขอให้อาเซียนมีความพยายามหยุดวิกฤตด้านมนุษยธรรมร่วมกัน ก่อนหน้านี้เขาก็ได้พูดถึงอองซานซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐพม่า ผู้นำรัฐในทางปฏิบัติ ว่าพยายามป้องกันในสิ่งที่ป้องกันไม่ได้
“พวกเขากดปราบประชาชนจนถึงจุดที่สังหารและสังหารหมู่พวกเขา” มหาธีร์กล่าวในวงธุรกิจอาเซียนเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา
ทั้งนี้ แหล่งข่าวระบุว่าอองซานซูจีเองก็พูดระหว่างการประชุมกับประเทศสมาชิกอาเซียนก็ได้บอกว่ารัฐบาลพม่าเข้าใจข้อกังวลของนานาชาติเรื่องรัฐยะไข่ ซึ่งเธอได้ะยายามแก้ไขปัญหาด้วยสันติวิธี เพื่อให้เกิดการปรองดองและเอกภาพภายในประเทศ
ในขณะที่ผู้นำอาเซียนหลายคนใช้คำพูดที่หนักหน่วงเวลาพูดถึงวิกฤตโรฮิงญา หลายคนก็ได้แสดงความสนับสนุนให้รัฐบาลพม่าแก้ปัญหาในรัฐยะไข่ และไมค์ เพนซ์ รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ กล่าวกับอองซานซูจีขณะประชุมกันว่าความรุนแรงที่ทำโดยกองทัพพม่านั้นไม่สามารถหาข้ออ้างได้
ในวันเดียวกัน รอยเตอร์รายงานว่าผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาหลายร้อยคนประท้วงในในเมืองคอกซ์บาซาร์ บังกลาเทศเพื่อต่อต้านการส่งพวกเขากลับไปยังพม่า หลังจากมีข่าวจากทางบังกลาเทศว่ามีการเลื่อนแผนการส่งตัวกลับในวันนี้
การส่งตัวกลับเป็นข้อตกลงที่บังกลาเทศทำร่วมกับพม่าในเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา ท่ามกลางข้อกังขาและการคัดค้านจากองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) และกลุ่มช่วยเหลือต่างๆ ที่กลัวว่าผู้ถูกส่งตัวกลับจะมีปัญหาเรื่องความปลอดภัย
“ไม่ ไม่ พวกเราจะไม่ไป” ผู้ประท้วงชาวโรฮิงญานับร้อยตะโกนในค่ายตอนตะวันออกเฉียงใต้ของบังกลาเทศ ติดชายแดนของพม่า ผู้ประท้วงบางคนยังชูป้าย “เราต้องการความยุติธรรม” และ “เราจะไม่มีทางกลับไปยังพม่าถ้าพวกเราไม่ได้สัญชาติ)
แต่เดิม จำนวนชาวโรฮิงญาที่จะถูกส่งกลับในรอบแรกมีจำนวน 2,200 คน ทั้งนี้บังกลาเทศระบุว่าจะไม่มีการบังคับส่งกลับ และได้ขอให้สำนักงานข้าหลวงใหญ่ด้านผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ตรวจสอบว่าบุคคลในรายชื่อนั้นต้องการเดินทางกลับจริงหรือไม่
ชาวโรฮิงญาหลักแสนอาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยที่แออัดในคอกบาซาร์มานานมากกว่าหนึ่งปีแล้ว หลังถูกกองทัพพม่าขับไล่ด้วยความรุนแรงออกมาจากรัฐยะไข่ ทั้งนี้ รัฐบาลพม่าได้มีข้อตกลงกับ UNHCR ในเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมาว่าพวกเขาจะทำงานร่วมกับยูเอ็นในการสร้างเงื่อนไขที่ปลอดภัยและมีศักดิ์ศรีสำหรับชาวโรฮิงญาในการเดินทางกลับรัฐยะไข่ จะการันตีในเรื่องความปลอดภัย เสรีภาพในการย้ายถิ่นและหนทางสู่การมีสถานะเป็นพลเมืองด้วย แต่รัฐบาลพม่าก็ยังไม่สามารถบรรลุเงื่อนไขใดๆ ได้ และ UNHCR ก็ถูกจำกัดการเข้าถึงรัฐยะไข่
พม่า-บังกลาเทศเตรียมส่งโรฮิงญากลับพฤหัสบดี 2 พันคน UN หวั่นไม่ปลอดภัย [2]
สเตฟาน ดูจาริก โฆษกของเลขาธิการยูเอ็น อันโตนิโอ กูเตเรซ กล่าวว่า ขณะนี้รัฐยะไข่ยังไม่นำไปสู่การหวนคืนสู่พม่าของชาวโรฮิงญา “ในเวลาเดียวกัน เรากำลังเห็นผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาเดินทางจากรัฐยะไข่มายังบังกลาเทศอย่างต่อเนื่อง ซึ่งควรเป็นตัวบ่งชี้ถึงเหตุการณ์ในพื้นที่”
ผู้สังเกตการณ์บางคนตั้งข้อสังเกตว่าการส่งตัวชาวโรฮิงญากลับนั้นมีแรงขับดันจากปัจจัยทางการเมืองจากนายกรัฐมนตรีบังกลาเทศ ชีค ฮาซีนา เนื่องจากบังกลาเทศกำลังจะมีการเลือกตั้งทั่วไปช่วงสิ้นเดือน ธ.ค. ที่จะถึงนี้ และนโยบายการรับผู้ลี้ภัยเข้ามาอย่างต่อเนื่องกลายสภาพเป็นแรงกดดัน ทั้งที่จากเดิมนั้นเป็นผลดีในทางการเมืองต่อชีค ฮาซีนาในช่วงแรกๆ
แปลและเรียบเรียงจาก
Rohingya protest in Bangladesh; launch of repatriation postponed: sources, Reuters [3], Nov. 15, 2018
Thailand ‘seeks delay’ in Asean Summit next year, The Nation [4], Nov. 14, 2018
| ['ข่าว', 'การเมือง', 'สิทธิมนุษยชน', 'ต่างประเทศ', 'โรฮิงญา', 'อาเซียน', 'ประยุทธ์ จันทร์โอชา', 'การส่งตัวกลับ', 'บังกลาเทศ'] |
https://prachatai.com/print/79625 | 2018-11-15 12:47 | ยุติวงจรผลัดกันเกาหลัง ด้วยการยื่นบัญชีทรัพย์สินฯ | จากกรณีที่ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) เรื่อง กำหนดตำแหน่งของผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตามมาตรา 102 ไปเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2561 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 2 ธันวาคม 2561นี้ โดยกำหนดให้นายกสภามหาวิทยาลัย กรรมการสภาและอธิการบดี ของมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ มหาวิทยาลัยสงฆ์ มหาวิทยาลัยของรัฐ มหาวิทยาลัยราชภัฏ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ รวมทั้งตรวจสอบและเปิดเผยผลการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สินของบุคคลดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ
จากประกาศดังกล่าวได้เกิดปฏิกิริยาจากผู้ที่เป็นนายกฯและกรรมการสภาฯ ว่าเป็นการสร้างเงื่อนไขที่จุกจิกกวนใจและอำนาจหน้าที่กรรมการสภาฯไม่ได้มีอะไรมากมาย มีแต่เพียงเบี้ยประชุมครั้งละ 3,000 บาทเท่านั้น และหลายคนก็แสดงความจำนงที่จะลาออกเพื่อไม่ต้องจัดทำรายการทรัพย์สินฯโดยอ้างว่าเป็นภาระเกินสมควร และได้มีความพยายามที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วยการเสนอให้มีการยกเว้นหรือยกเลิกด้วยวิธีการต่างๆ แม้กระทั่งมีบางคนเสนอความเห็นให้ใช้มาตรา 44 ไปเลยก็มี จนทำให้มีการวิพากษ์วิจารณ์และถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง ซึ่งมีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการกระทำเช่นนี้
ฝ่ายที่สนับสนุนให้มีการยื่นบัญชีทรัพย์สินนี้ก็บอกว่าในเมื่อเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐระดับสูงแล้วก็ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินทั้งนั้นน่าจะรวมถึงคณบดีหรือวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร์(วปอ.)ด้วยซ้ำไป ส่วนหนึ่งจึงมีการรณรงค์ใน change.org โดย Suthee Rattanamongkolgul ซึ่งให้เหตุผลว่าปัจจุบัน มหาวิทยาลัยหลายแห่ง เปลี่ยนแปลงสถานภาพไปเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ เพื่อให้มีอิสระในการบริหารกิจการภายในได้เองทุกเรื่อง โดยมีสภามหาวิทยาลัย ที่ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิจากบุคคลภายนอกที่มาจากการสรรหา (ของผู้บริหาร) มาทำหน้าที่กำกับดูแลนโยบายของมหาวิทยาลัย สามารถออกและ/หรือแก้ไขระเบียบข้อบังคับต่างๆ ได้
ดังนั้นการออกนอกระบบ แท้จริงแล้วคือการช่วยให้มหาวิทยาลัยมีอิสระในการดำเนินงานมากกว่าในอดีต ผู้บริหารมีอิสระและอำนาจในการทำงานมากขึ้น กรรมการสภาฯ ก็มีอำนาจมากขึ้นด้วยเช่นกัน ส่วน สกอ.และกระทรวงศึกษาธิการ แทบจะไม่มีอำนาจเข้าไปตรวจสอบใดๆ ได้อีกแล้ว เพราะอำนาจในการกำกับดูแล การตรวจสอบ ลงโทษต่างๆ อยู่ที่สภามหาวิทยาลัยโดยตรง
ที่พบเจอคือ วันนี้ผู้บริหารกับกรรมการสภาฯ เป็นพวกเดียวกันทั้งหมด ทุกอย่างดูราบรื่น ที่มาของกรรมการสภาฯ ตามระเบียบทฤษฎี ก็จะมาจากการสรรหาจากบุคลากรทั้งมหาวิทยาลัยเสนอขึ้นมา แต่ ในทางปฏิบัติ ทั้งหมดก็มาจากการคัดสรรจากผู้บริหารระดับสูงของมหาวิทยาลัยนั่นเอง โดยอาจมีผู้ทรงคุณวุฒิอาวุโสบางคนร่วมอยู่เป็นที่ปรึกษา เพื่อให้ได้กลุ่มเครือข่ายเดียวกัน
มีข้อร้องเรียนจากอาจารย์ในบางสถาบันว่า ถ้ามีเรื่องร้องเรียนที่เกี่ยวกับกรณีที่ส่อว่าจะมีการทุจริต ประพฤติมิชอบ ของผู้บริหารระดับใดก็ตาม (ถ้าเป็นพวกเดียวกัน) ก็จะได้รับการช่วยเหลือกัน จะไม่พบการทุจริตจากการกระทำของผู้บริหารทั้งสิ้น อาจมีบ้างก็จะเป็นระดับเจ้าหน้าที่ พนักงาน บุคลากรทั่วไปเท่านั้น ดังนั้นการบริหารเงินงบประมาณ ปีละสอง สามพันล้านบาทโดยอิสระเสรีแบบนี้จึงเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง เพราะในระบบบริหารงานในปัจจุบันไม่มีกลไกการคานอำนาจระหว่างกันอย่างแท้จริง
ผู้ทรงคุณวุฒิเองก็มีข้อจำกัดที่จะเข้ามาเรียกหาข้อมูลเพราะไม่มีระบบผู้ช่วย ถ้าผู้บริหารระดับสูงของมหาวิทยาลัยปิดบังข้อมูล ผู้ทรงคุณวุฒิก็จะไม่สามารถรู้ได้เลย ดังนั้นในความเป็นจริงคือ ทุกคนจึงมาประชุม อภิปรายแสดงความคิดเห็นกันเฉพาะในระหว่างการประชุมเท่านั้น จึงเป็นจุดอ่อนที่เป็นช่องทางที่จะทำให้เกิดการทุจริตขึ้นได้ง่ายเพราะไม่มีระบบตรวจสอบและไม่มีกลไกการคานอำนาจกัน
เป็นเรื่องน่าประหลาดใจที่แม้ว่ามหาวิทยาลัยจะออกนอกระบบไปแล้ว แต่รัฐบาล (สำนักงบฯ) ก็ยังจัดสรร งบประมาณมาให้เหมือนเดิม โดยเฉพาะงบก่อสร้างและครุภัณฑ์ ไม่ได้ลดลง งบเงินเดือนพนักงานก็ยังให้ตามปกติ พนักงานมหาวิทยาลัยที่ใช้งบเงินรายได้ของคณะหรือส่วนกลางมาก่อน ก็จะได้รับการบรรจุให้เป็นพนักงาน(ประจำ) ใช้งบประมาณแผ่นดินซึ่งจะมีความมั่นคงสูงกว่า แน่นอนว่ากลุ่มที่ได้รับการบรรจุก็คือกลุ่มคนที่เป็นพวกเดียวกันหรือสนับสนุนผู้บริหารเท่านั้น ในอนาคตถ้าจะมีการปลดพนักงานออก ก็จะเป็นพนักงานกลุ่มที่ไม่ได้รับการบรรจุเป็นพนักงานเงินงบประมาณแผ่นดินนั่นเอง
ดังนั้น ในวันนี้ผู้บริหารมหาวิทยาลัย จึงได้ควบคุมอำนาจบริหารจัดการได้อย่างเบ็ดเสร็จในทุกระดับ โดยอยู่ในมือของกลุ่มผู้บริหารระดับสูงกับผู้ทรงคุณวุฒิบางคนที่เป็นหัวเรือใหญ่เครือข่ายเดียวกันเท่านั้น ด้วยสภาพการณ์แบบนี้ จึงมีโอกาสจะเกิดการทุจริตทางนโยบายขึ้นได้ ส่วนในระดับหน่วยงานตามคณะ สาขาวิชาต่างๆ ผู้บริหารส่วนนี้ก็สามารถจะกระทำทุจริตคอรัปชัน เช่น ในการจัดซื้อจัดจ้าง และงานก่อสร้างต่างๆ ได้ง่ายมาก เพราะบุคลากรผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานล้วนเป็นพวกเดียวกันทั้งหมดนั่นเอง ถ้ามีการร้องเรียนขึ้นไป เรื่องก็เงียบ คนร้องเรียนจะอยู่ไม่ได้
ปัจจุบันมหาวิทยาลัยจึงเป็นแหล่งผลประโยชน์ขนาดใหญ่ ที่สามารถจะทุจริตคอรัปชันได้อย่างง่ายดาย เป็นแหล่งผลประโยชน์แหล่งใหญ่ที่สังคมภายนอกมองข้ามไป เพราะอาจจะเห็นว่าเป็นสถาบันการศึกษาระดับสูง เข้าทำนองคนมีการศึกษาจะไม่โกง ที่สำคัญไม่มีใครสามารถเข้าไปตรวจสอบได้เลย
ขอยกตัวอย่างวิธีหาผลประโยชน์ของผู้บริหารและกรรมการสภาฯ เช่น ร่วมกันออกนโยบายเอาทรัพย์สิน รายได้ของมหาวิทยาลัยไปซื้อหุ้นของสถาบันการเงินที่ผู้ทรงฯ เป็นกรรมการ เปิดสัมปทานภายใน เช่น เดินรถให้เอกชนที่มีผู้ทรงฯ บางคนเป็นหุ้นส่วน สร้างโครงการก่อสร้างอาคารต่างๆ ขึ้นมามากมายจนไม่รู้จะเอาไปใช้ประโยชน์อะไร แจกโควตาที่นั่งเด็กนักเรียนสาธิต ให้ผู้ทรงฯ ทุกปี ใครช่วยเหลือเกื้อกูลกันมากก็ให้มาก ล็อกสเป็กซื้อของพรรคพวกตน ขึ้นเงินเดือน ค่าตอบแทนให้พวกกันเอง กันอย่างเต็มที่ เอาเงินไปจ้างที่ปรึกษากฎหมายมืออาชีพปีละหลายล้านบาทไว้ต่อสู้คดีกับบุคลากรของมหาวิทยาลัย เป็นต้น ถ้าเงินงบประมาณไม่พอก็ขึ้นเงินค่าเล่าเรียน
ไม่มีใคร กล้าเข้าไปตรวจสอบ เก็บหลักฐาน เจ้าหน้าที่ทุกคนจะกลัวมาก เพราะอาจถูกประเมินไล่ออกได้ง่ายมาก ดังนั้น การที่ ปปช. ออกประกาศให้ ผู้บริหารมหาวิทยาลัย และกรรมการสภาฯทุกคนยื่นบัญชีแสดงทรัพย์สิน จึงอาจพอช่วยป้องปรามการทุจริตคอรัปชันได้อีกทางหนึ่ง
จากเหตุผลดังกล่าวข้างต้นผมเห็นว่าควรที่จะยังคงประกาศฯนี้ไว้ ใครจะลาออกก็ลาออกไป คนที่เขาอยากทำงานมีเยอะแยะ ที่สำคัญก็คือจะได้หยุดวงจรการผลัดกันเกาหลังกันเองเสียทีน่ะครับ
เผยแพร่ครั้งแรกใน: กรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ 14 พฤศจิกายน 2561
| ['บทความ', 'การเมือง', 'เศรษฐกิจ', 'การยื่นบัญชีทรัพย์สิน', 'ปปช.', 'คอร์รัปชัน', 'ชำนาญ จันทร์เรือง', 'ผู้บริหารมหาวิทยาลัย', 'กรรมการสภามหาวิทยาลัย'] |
https://prachatai.com/print/79628 | 2018-11-15 20:45 | รัฐสวัสดิการ 101 กับ ภาคภูมิ แสงกนกกุล : การจัดวางความสัมพันธ์ใหม่ระหว่างรัฐ-สังคม | ทำความเข้าใจรัฐสวัสดิการแบบ 101 ทั้งความเป็นมา ความหมาย ประเภท และรากฐานความคิด พร้อมวิเคราะห์ไทยอยู่ตรงไหนบนเส้นทางสู่รัฐสวัสดิการ คำตอบที่ฟังดูน่าสนใจกว่าแค่การแจกสวัสดิการอย่างที่เข้าใจกัน แม้ไม่ผิด แต่แก่นของรัฐสวัสดิการคือการจัดวางความสัมพันธ์ใหม่ระหว่างสังคมและรัฐ
รัฐสวัสดิการมีหลากหลาย และไม่ได้เป็นสูตรสำเร็จว่าแบบไหนดีที่สุด แต่ต้องการการตกลงร่วมกันของสังคมและรัฐ
รัฐสวัสดิการเป็นเรื่องสลับซับซ้อน เชื่อมพันกับความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ของแต่ละพื้นที่อย่างมีนัยสำคัญ การบอกว่า “ถ้วนหน้าเท่ากับก้าวหน้า” ออกจะเป็นสูตรสำเร็จมากเกินไป
รัฐสวัสดิการในยุโรปคือประวัติศาสตร์ของการต่อรอง ต่อสู้ และเจรจากันระหว่างสังคมกับรัฐที่ต้องทำการสมดุลอำนาจกัน สังคมอนุญาตให้รัฐเข้าแทรกแซงได้ ขณะเดียวกันสังคมต้องตรวจสอบรัฐได้เช่นเดียวกัน
รัฐสวัสดิการคือการจัดวางความสัมพันธ์ใหม่ระหว่างรัฐกับสังคม
สังคมที่เข้มแข็งและรัฐที่ชอบธรรมคือสิ่งสำคัญที่สุดในการสร้างรัฐสวัสดิการ
นับจากการเกิดนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคในปี 2545 รากแก้วที่ช่วยแผ่ขยายจินตนการ ‘รัฐสวัสดิการ’ ออกไป ปัจจุบัน สังคมไทยก้าวข้ามคำถามว่าควรมีหรือไม่ควรมีไปสู่คำถามใหม่แล้วว่า เราจะสร้างรัฐสวัสดิการรูปแบบไหนและจะสร้างได้อย่างไร
รัฐสวัสดิการคือฟันเฟืองสำคัญชิ้นหนึ่งที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำมหาศาลในประเทศไทย ประเทศที่กฎหมายยืดได้หดได้ยิ่งกว่าแขนของลูฟี่ (จากเพลงประเทศกูมี) หากคุณมีอำนาจมากพอ เอ็นจีโอและภาคประชาชนจึงร่วมมือกันปกป้องรัฐสวัสดิการที่มีอยู่แล้วไม่ให้ถูกทำลาย รวมทั้งผลักดัน เรียกร้อง เสนอแนวทางการก้าวสู่รัฐสวัสดิการที่มากขึ้น
คงฟังดูแปลกอยู่บ้าง หากเราบอกว่าบทสัมภาษณ์ภาคภูมิ แสงกนกกุล ผู้จบปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์สุขภาพ จากมหาวิทยาลัย INALCO ปารีส ประเทศฝรั่งเศส ชิ้นนี้ ไม่ใช่การมองเส้นทางทอดยาวข้างหน้าสู่การเป็นรัฐสวัสดิการ แต่ส่วนใหญ่คือการย้อนมองไปข้างหลัง กลับไปหาความหมาย ความเป็นมา รากฐานความคิดของรัฐสวัสดิการ และส่วนประกอบอันจำเป็นต้องมีของรัฐสวัสดิการ
ในการสนทนาภาคภูมิย้ำมากกว่าหนึ่งครั้งว่า รัฐสวัสดิการเป็นเรื่องสลับซับซ้อน เชื่อมพันกับความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ของแต่ละพื้นที่อย่างมีนัยสำคัญ การที่เอ็นจีโอและภาคประชาชนไทยพยายามทำให้เป็นเรื่องง่าย เช่น ถ้วนหน้าเท่ากับก้าวหน้า ออกจะเป็นสูตรสำเร็จมากเกินไปและลดทอนความซับซ้อนกระทั่งมองไม่เห็นชิ้นส่วนอื่นๆ ที่จะประกอบเป็นรัฐสวัสดิการ
ชีวิตยามเกษียณ 1: แก่ง่ายตายยาก เราไม่ลำบากด้วยบำนาญประกันสังคม? [1]
ชีวิตยามเกษียณ 2 : รักษาฟรี ไม่แน่ว่าจะมีตอนเราแก่ [2]
ชีวิตยามเกษียณ (3): ‘ชีวิตดี’ เกิดจนตาย รัฐสวัสดิการเป็นไปได้ในชาตินี้ [3]
ยามใดที่เอ่ยถึงรัฐสวัสดิการ สิ่งที่คนทั่วไปคิดคำนึงคือการกระจายสวัสดิการลงไปสู่ประชาชน ...ก็ไม่ผิด หากแต่ว่าฐานสำคัญที่ภาคภูมิย้ำเสมอในบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ รัฐสวัสดิการคือการจัดความสัมพันธ์ใหม่ระหว่างรัฐกับสังคม
รัฐสวัสดิการคืออะไร
เราเริ่มต้นด้วยคำถามแบบ 101 ว่ารัฐสวัสดิการคืออะไร ภาคภูมิตอบว่านักวิชาการที่ศึกษาเรื่องนี้คำอธิบายแตกต่างกันไป แต่มีลักษณะร่วมคล้ายกันว่า
“รัฐสวัสดิการคือการที่รัฐหรือสถาบันทำหน้าที่จัดสรรบริการเพื่อตอบสนองความต้องการของสังคมให้กับประชาชนที่ต้องการหรือตามความต้องการหรือความจำเป็นของระบบทุนนิยม รัฐสวัสดิการต้องมีไว้เพื่อระบบทุนนิยมดำรงอยู่ต่อไป
“อีกแนวทางหนึ่งบอกว่ารัฐสวัสดิการคือรูปแบบหนึ่งของการเปลี่ยนผ่านรัฐ (State Transformation) จากรัฐแบบเก่า ยุโรปสมัยก่อน สวัสดิการไม่ใช่หน้าที่ของรัฐ เพราะเป็นสิ่งที่ญาติพี่น้อง ครอบครัว สังคมต้องจัดการเอง จนเมื่อรัฐเข้าสู่รัฐสมัยใหม่มากขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 16 เรียกว่ารัฐผู้ปกป้อง คล้ายกับพวกเจ้าพ่อมาเก็บส่วย คือรัฐทำหน้าที่เก็บภาษีมาใช้ปกป้องความปลอดภัยในชีวิตของเรา ของสังคม ป้องกันสิทธิ เสรีภาพ และกรรมสิทธิ์ ตามอำนาจหน้าที่ที่สังคมให้กับรัฐ แต่รัฐสมัยใหม่หรือผู้ปกป้องแบบนี้ก็ไม่ยุ่งกับเรื่องสวัสดิการของประชาชน อยู่เฉยๆ ทุกอย่างเป็นไปตามกลไกตลาด การจัดสวัสดิการเป็นเรื่องของเอกชน
“แต่หลังจากนั้นก็มีการเปลี่ยนผ่านรัฐอีกรอบหนึ่ง คือหลังจากเศรษฐกิจเสรีเต็มที่ ระบบทุนนิยมไม่ได้ช่วยให้สวัสดิภาพของมนุษย์ดีขึ้นจริง เช่น เด็กเล็กๆ ต้องไปทำงานในโรงงาน ไม่มีการคุ้มครองแรงงาน เกิดปัญหาสังคมตามมา แต่มันกระทบความมั่นคงของรัฐด้วย จะเริ่มเห็นว่ารัฐกับสังคมเริ่มมีความสัมพันธ์กันมากขึ้น จนสังคมโดยรวมคิดว่าสวัสดิการบางอย่างต้องอนุญาตให้รัฐเข้ามาแทรกแซง ขณะเดียวกันรัฐก็คิดว่าต้องเข้ามาแทรกแซงสังคมเหมือนกัน เพื่อให้รัฐมีความเข้มแข็งมากขึ้น เศรษฐกิจเติบโตมากขึ้น”
4 ข้อที่รัฐต้องมีหากจะแทรกแซงสังคม
เวลาพูดถึงการแทรกแซงของรัฐ ประชาชนมีสิทธิที่จะหวาดกลัว ไม่พอใจ ไม่ไว้ใจรัฐ ดังนั้น การที่รัฐจะเข้ามาแทรกแซงเพื่อจัดการความเสี่ยงของสังคม องค์ประกอบสำคัญที่ขาดไม่ได้คือ
1. รัฐต้องได้รับความชอบธรรมจากสังคมที่วางอยู่บนกฎหมายรัฐธรรมนูญ
2. รัฐจะวางแผนแทรกแซงสังคมได้ รัฐต้องมีข้อมูล มีการเก็บสถิติ วิชาสถิติที่พัฒนาในศตวรรษที่ 18 จึงมีไว้เพื่อการนี้ สังคมต้องให้ข้อมูลกับรัฐทุกอย่าง เพื่อให้รัฐวางแผนว่าจะกระจายสวัสดิการอย่างไร ให้กับใคร และจะเก็บภาษีอย่างไร
3. รัฐต้องเป็นวิทยาศาสตร์และอยู่บนฐานของเหตุผล รัฐต้องให้เหตุผลเชิงประจักษ์ได้ว่าทำไมรัฐต้องเข้าแทรกแซงสังคม เพื่อประโยชน์อะไร
4. รัฐมีจุดประสงค์อะไรจึงต้องเข้าแทรกแซงสังคม บอกให้สังคมได้รู้ เพื่อให้การแทรกแซงอยู่ในขอบเขตจำกัด แทรกแซงเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับการจัดการความเสี่ยงทางสังคมของสมาชิก
“รัฐสวัสดิการในยุโรปคือประวัติศาสตร์ของการต่อรอง ต่อสู้ และเจรจากันระหว่างสังคมกับรัฐที่ต้องทำการสมดุลอำนาจกัน สังคมอนุญาตให้รัฐเข้าแทรกแซงได้ ขณะเดียวกันสังคมต้องตรวจสอบรัฐได้เช่นเดียวกัน รัฐก็ต้องมีความแข็งแรงในการแทรกแซงด้วย เช่น การจะแทรกแซงสังคม รัฐต้องให้ทุกคนในสังคมถูก Registered เข้าไปอยู่ในขอบเขตของรัฐ รัฐต้องมีข้อมูลทั้งหมดของประชาชน ถ้าไม่มี การแทรกแซงก็จะไม่มีประสิทธิภาพ”
หมายเหตุประเพทไทย #230 ยกระดับคุณภาพชีวิตผ่านรัฐสวัสดิการ [4]
[คลิป] วงเสวนาตอบคำถาม รัฐสวัสดิการสแกนดิเนเวียสร้างด้วยคุณค่าแบบใด [5]
ฝ่ายก้าวหน้าสหรัฐฯ เรียกชุมนุมคุ้มครองสวัสดิการเด็ก-ผู้อพยพ ตั้งแต่ก่อนปรากฏการณ์ #TrumpShutdown [6]
รัฐสวัสดิการแบบตะวันตก
“ผมคิดว่าตอนนี้สังคมส่วนใหญ่มีความคิดตรงกันว่าต้องการรัฐสวัสดิการ เราผ่านช่วงคำถามว่าจะเอาหรือไม่เอาไปแล้ว เราควรเข้าช่วงต่อไปว่าจะเอารัฐสวัสดิการแบบไหน ถ้าสังคมเลือกว่าอยากได้แบบใดแบบหนึ่ง มันก็มีเงื่อนไขที่ต่างกันว่าจะทำอย่างไรให้สำเร็จ”
ภาคภูมิอ้างอิงหนังสือ The three worlds of welfare capitalism ของ Gøsta Esping-Andersen พิมพ์ปี 1990 งานชิ้นแรกที่แบ่งกลุ่มประเทศรัฐสวัสดิการในตะวันตกที่เป็นประเทศอุตสาหกรรมแล้วเป็น 3 กลุ่ม คือกลุ่ม Liberal ตัวอย่างคือประเทศสหรัฐฯ ที่จะแทรกแซงกลไกตลาดต่ำมาก รัฐมีหน้าที่ช่วยเหลือกลุ่มคนที่ยากลำบากและรัฐจะให้เอกชนเข้ามาช่วย เช่น ระบบการกุศลในอเมริกาซึ่งมีความแข็งแรงมาก
กลุ่ม Conservative ตัวอย่างประเทศยุโรปภาคพื้นทวีป เนื่องจากมีประวัติศาสตร์ที่ศาสนจักรแคทอลิกแข็งแรงมากกระทั่งส่งผลต่อรัฐสวัสดิการในปัจจุบัน คือมีการแทรกแซงระบบตลาดปานกลางและค่อนข้างรักษาชนชั้นไว้ รัฐสวัสดิการมีลักษณะเป็นการประกันวิชาชีพ เหมือนประกันสังคมของไทย คนงานอาชีพใดก็ตั้งกองทุนเอง จ่ายเบี้ยประกัน และช่วยเหลือกันเองภายในกลุ่ม กลุ่มพวกนี้อาศัยความสัมพันธ์ในครอบครัวที่มีส่วนสำคัญในการให้สวัสดิการสมาชิกในสังคมด้วย
กลุ่ม Social Democratic ตัวอย่างคือประเทศสแกนดิเนเวียที่ให้ถ้วนหน้าเป็นหลัก รัฐมีอำนาจแทรกแซงสูงมาก จัดการทุกอย่าง และเก็บภาษีหนัก ชนชั้นทางสังคมจึงน้อยกว่า 2 ระบบแรก ครอบครัวและเอกชนมีบทบาทน้อยในการช่วยเหลือ เพราะจ่ายภาษีให้รัฐหมด แล้วรัฐก็ตอบแทนสังคมกลับมา
“งานชิ้นนี้มีอิทธิพลสูงมากและก็มีคนวิจารณ์มากเช่นกัน เช่น งานนี้นำมาวิเคราะห์รัฐในเอเชียไม่ได้เลย เพราะมีรัฐสวัสดิการที่เป็นเอเชียน เป็นโมเดลที่ต่างกัน”
รัฐสวัสดิการแบบเอเชีย
ภาคภูมิอธิบายเพิ่มเติมว่า ถ้ามองรัฐสวัสดิการคือการเปลี่ยนผ่านรัฐ ดังนั้น ประวัติศาสตร์ของการเกิดเศรษฐกิจ สังคม การเมืองที่ต่างกันย่อมส่งผลให้รัฐสวัสดิการก็ต่างกัน เช่น งานศึกษารัฐสวัสดิการประเทศจีน เกาหลี ญี่ปุ่น พบว่าอิทธิพลความคิดของขงจื๊อทำให้รัฐสวัสดิการมีลักษณะเป็นลำดับขั้น มีกลุ่มคนที่มีอำนาจสูงกว่าต้องมาจัดการหรือช่วยสังคมให้มีความสงบ เรียบร้อย มั่นคง
“ยังมีการศึกษาอีกว่ากลุ่มประเทศเอเชีย เป็นรัฐสวัสดิการที่ Productivism คือมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เศรษฐกิจเติบโต ต่างกับตะวันตกที่รัฐสวัสดิการเกิดจากความขัดแย้งระหว่างสังคมกับรัฐมาตลอด ทำให้รัฐสวัสดิการในตะวันตกเกิดจากข้างล่างขึ้นสู่ข้างบน แต่ในเอเชียนเป็นรัฐอำนาจนิยมเสียส่วนใหญ่ คือเป็นรัฐที่เกิดขึ้นเร็วมากเกิดหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ต้องไล่ตามความเจริญเติบโตให้ทันประเทศตะวันตก การแทรกแซงของรัฐเพื่อเพิ่มสวัสดิการไม่ได้มีเพื่อยกระดับคนจนหรือกระจายความเท่าเทียม แต่ความสำคัญอันดับแรกคือให้สวัสดิการคนเพื่อให้เศรษฐกิจเติบโต จึงมีลักษณะให้เฉพาะกลุ่มที่ส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นหลัก”
เราแทรกคำถามตรงนี้ว่า ถ้าอย่างนั้นจีน ญี่ปุ่น เกาหลี ก็ไม่ได้ให้สวัสดิการแก่ประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียม?
“แรกๆ ไม่ เกาหลีสมัยปักจุงฮีโหดร้ายกับสหภาพแรงงานมาก ไม่ให้ก่อตั้ง รัฐใช้อำนาจเต็มที่ในการทำลายสหภาพแรงงาน และรัฐเป็นคนเลือกว่าจะให้กับใครและให้เท่าไหร่ รัฐพวกนี้ไม่ใช่ว่าจะไม่มีโครงการรัฐสวัสดิการ มี เพียงแต่ว่าให้จำนวนน้อย แล้วก็บอกว่าเพื่อลดความไม่สงบของกลุ่มแรงงาน เพราะจะส่งผลกระทบต่อผลผลิตของประเทศ”
แต่พลันที่เศรษฐกิจเติบโตสูงขึ้น การกระจายสวัสดิการก็มีมากขึ้นตามไปด้วย ภาคภูมิ กล่าวว่า ช่วงทศวรรษ 80 และ 90 เกิดการเปลี่ยนผ่าน ประเทศเอเชียเริ่มเข้าสู่ความเป็นประชาธิปไตย รัฐบาลทหารทั้งหลายเสื่อมอำนาจลง สิทธิ สวัสดิการต่างๆ ขยายตัวมาพร้อมกับประชาธิปไตย รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเริ่มผ่อนคลายนโยบายควบคุมสหภาพแรงงาน เช่นกันกับประเทศไทย รัฐบาลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ถนอม กิตติขจร มีการกดขี่สหภาพแรงงาน แต่เมื่อเริ่มหมดอำนาจ สหภาพแรงงานก็เริ่มมีปากเสียง ภาคประชาสังคมเริ่มพัฒนาขึ้น โดยเฉพาะช่วงทศวรรษ 80 และ 90 ทำให้สิทธิขยายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ประมวลความเห็น: เราจะมีรัฐสวัสดิการได้ยังไง? [7]
‘นิมิตร์’ ชี้ กม.ประชารัฐ ไม่แก้ปัญหายากจนโดยรวม แนะปฏิรูปภาษี เขย่าอำนาจรัฐ จัดรัฐสวัสดิการ [8]
ภาค ปชช.อีสาน เสนอ 'รัฐสวัสดิการ' เป็นนโยบายของพรรคการเมือง [9]
การจัดวางความสัมพันธ์ทางอำนาจใหม่ระหว่างรัฐกับสังคม
เพราะรัฐสวัสดิการมีหลายรูปแบบ อิงกับประวัติศาสตร์สังคมอย่างมีนัยสำคัญ สังคมต้องร่วมกันเลือกก่อนว่าแบบไหนที่สอดคล้องกับบริบทประเทศ แล้วจึงถามต่อว่าเงื่อนไขที่จะทำให้เกิดขึ้นคืออะไร
“ที่ผ่านมากลุ่มคนที่เรียกร้องรัฐสวัสดิการมักทำให้เรื่องซับซ้อนกลายเป็นเรื่องง่าย วงเสวนาต่างๆ ที่จัดขึ้นไม่เคยนั่งคุยกันจริงจังว่าจะเอารัฐสวัสดิการแบบไหน เพราะมันไม่ใช่แค่ว่าแต่ละคนจะได้สวัสดิการอะไร แต่คุณต้องตั้งคำถามว่าจะจัดการอำนาจระหว่างรัฐกับสังคมยังไง จะจัดตำแหน่งแห่งที่ของรัฐกับสังคมยังไง จะให้รัฐมีอำนาจเข้าไปแทรกแซงสังคมตรงไหนบ้าง อำนาจที่มาแทรกแซงจะมาจากไหน สังคมมีอำนาจและความสามารถในการตรวจสอบรัฐได้มากขนาดไหน ต้องวางฐานรากเรื่องนี้ก่อน เสร็จแล้วจึงค่อยมาพูดว่ารัฐควรจะเอาเงินมาจากไหนและควรให้อะไรกับสังคมบ้าง”
คำอธิบายข้างต้นทำให้ต้องถามต่อไปถึงรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เพราะมันผูกโยงกับการจัดวางความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างรัฐกับสังคม ภาคภูมิสารภาพว่ายังไม่ได้ดูรายละเอียดของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แต่เขามีคำตอบในใจว่าถ้ารัฐธรรมนูญไม่ได้เกิดจากความชอบธรรมของประชาชน มันย่อมไม่ใช่รัฐธรรมนูญที่ควรมีอำนาจเข้ามาแทรกแซงสังคม
“ต่อให้รัฐธรรมนูญเขียนว่าสวัสดิการจะดีอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ถ้ารากของมันไม่มีความชอบธรรม ก็ไม่ควรเอามาใช้ตั้งแต่ต้น เพราะสุดท้ายแล้วในอนาคต รัฐอยากแทรกแซงสังคมเมื่อไหร่จะต้องใช้อำนาจนิยมหรือรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารแบบนี้หรือ มันจะสร้างค่านิยมที่ไม่ดีต่อสังคม เพราะรัฐที่มาจากอำนาจนิยม ระบบการตรวจสอบของสังคมต่อรัฐจะเกิดขึ้นได้ยังไง และเราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าสิ่งที่รัฐโฆษณาจะเป็นจริงได้ ดังนั้น รัฐสวัสดิการจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องอยู่บนฐานประชาธิปไตยและนิติรัฐ การแทรกแซงของรัฐถึงจะชอบธรรม”
หาจุดสมดุล
เราซักภาคภูมิต่อว่า โมเดลรัฐสวัสดิการของเขาเป็นอย่างไร เขาตอบในเบื้องต้นว่าเขามีโมเดลในใจ ซึ่งอาจตรงหรือไม่ตรงกับคนอื่น แต่ประเด็นที่สำคัญกว่าคือทำอย่างไรให้ความแตกต่างเหล่านี้มาเจรจาต่อรองกันจนกลายเป็นฉันทามติของสังคม เพราะถ้ายังเห็นไม่ตรงกันการตัดสินใจสุดท้ายก็ไม่เกิด ดังนั้น กระบวนการที่จะนำไปสู่การตัดสินใจสุดท้ายจึงสำคัญกว่า และแต่ละคนต้องสามารถอธิบายข้อดี-ข้อเสียของโมเดลของตนให้ได้ เพราะไม่มีระบบรัฐสวัสดิการที่สมบูรณ์แบบร้อยเปอร์เซ็นต์
ก่อนจะเริ่มเผยแนวคิดรัฐสวัสดิการในความคิดของภาคภูมิ เขาอธิบายว่าเวลานี้รัฐกับสังคมซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ จนเราไม่สามารถย้อนกลับได้แล้วว่า สังคมจะวางอยู่บนกลไกตลาดอย่างเดียวหรือจะมีรัฐสวัสดิการที่รัฐเข้ามาแทรกแซงแทบทุกอย่าง แต่ต้องเป็นส่วนผสมระหว่างรัฐกับสังคม ต้องสร้างความเป็นหุ้นส่วนระหว่างรัฐกับสังคมให้ได้ ไม่ใช่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทำเพียงฝ่ายเดียว
“เราต้องหาจุดสมดุลให้ได้ว่าเราควรจะให้รัฐทำอะไรบ้าง ถ้าจะให้รัฐเข้ามาคุมทุกอย่าง เหมือนรัฐสวัสดิการยุโรปเมื่อสี่สิบห้าสิบปีที่แล้ว ประชากรเราเยอะขึ้น ระบบราชการที่เราเกลียดนักเกลียดหนา ถ้าเราอยากมีรัฐสวัสดิการเต็มรูปแบบ สิ่งที่ตามมาคือต้องมีระบบราชการ แล้วเราจะเอาเหรอ ผมว่าสวัสดิการบางอย่างก็ต้องให้สังคมเป็นคนจัดการ ทุกวันนี้พบยากมากที่จะมีรัฐสวัสดิการที่รัฐมีอำนาจเต็มที่หรือกลไกตลาดมีอำนาจเต็มที่ ไม่มีแล้วสมัยนี้
“รัฐสวัสดิการทุกอย่างมีประโยชน์และมีต้นทุน ถ้าบอกว่าโมเดลแบบสวีเดนหรือนอร์ดิกดีอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ถ้าไม่บอกว่าคุณต้องเสียอะไรบ้าง มันเหมือนการโฆษณาด้านเดียว เช่นบอกว่าโมเดลนอร์ดิกให้สวัสดิการสังคมเยอะ แต่อย่างแรกที่คุณเสียคือเสรีภาพบางส่วน เพราะอย่างแรกเลยคือข้อมูลส่วนตัวหลายอย่าง คุณต้องให้รัฐ ที่สำคัญที่สุดคือข้อมูลการเงิน คุณต้องถูกรัฐตรวจสอบละเอียดยิบว่าคุณเอาเงินมาจากไหน เพราะรัฐสวัสดิการรายได้หลักคือภาษี เพราะฉะนั้นเขาจะไม่ยอมให้ภาษีไปอยู่ในกิจการนอกระบบ
“และที่คุณต้องเสียแน่นอนคือรายได้ ต้องเสียภาษี 50 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป มันก็มีคนทำให้เป็นเรื่องง่ายว่าเราจ่ายภาษีแวท (ภาษีมูลค่าเพิ่ม) ไปแล้ว เพราะฉะนั้นเราควรได้ ซึ่งไม่ใช่ ภาษีแวทเป็นภาษีที่สะท้อนว่ารัฐไม่มีความสามารถในการจัดเก็บภาษี เพราะภาษีแวทเป็นภาษีที่เก็บง่ายที่สุด คนหลีกเลี่ยงได้ยาก แต่ภาษีแวทไม่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ เพราะคนจนกับคนรวยจ่ายเท่ากันหมด”
ว่าด้วยภาษี
ภาคภูมิกล่าวว่า รัฐสวัสดิการส่วนใหญ่ในยุโรป เกินร้อยละ 50 ของรายได้มาจากภาษีเงินได้ ขณะที่ไทยคนที่ยื่นแบบภาษีมีประมาณร้อยละ 50 ของคนที่มีรายได้ หมายความว่าอีกครึ่งหนึ่งไม่ได้จ่ายภาษี อีกทั้งส่วนใหญ่ที่โฆษณาว่าถ้ามีรัฐสวัสดิการเต็มรูปแบบจะได้นั่นได้นี่ แต่ไม่ได้บอกว่าคนที่จะรับภาระหนักสุดคือพวกแรงงาน เพราะแรงงานเหล่านี้เป็นแรงงานถูกกฎหมาย ได้รับเงินเดือน รายได้จะถูกบันทึก ถ้าขยายสวัสดิการมากขึ้น คนกลุ่มนี้ต้องโดนเก็บภาษีมากขึ้นเพื่อนำเงินไปช่วยคนที่ไม่จ่ายภาษีอีกร้อยละ 50 ซึ่งไม่ใช่คนจนเท่านั้น เพราะยังมีคนรวยแต่ไม่ได้เป็นพนักงานกินเงินเดือน ถ้ารัฐยังเก็บเงินจากกลุ่มนี้ไม่ได้ก็เท่ากับผลักภาระให้แรงงาน
“ภาษีทุกวันนี้ก็เป็นอัตราก้าวหน้าแบบขั้นบันได แต่ คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) ปรับลดความก้าวหน้าลง ซึ่งการปรับลดลงผมเข้าใจว่าเพราะถ้าเก็บสูงไป คนรวยก็ไม่จ่าย จากสถิติที่ผมทบทวนมาล่าสุด กลุ่มคนที่มีรายได้เกิน 20 ล้านบาทต่อปีไม่จ่ายภาษี คนรวยมีอำนาจ มีช่องทาง มีความรู้ ก็มีเทคนิคหลีกเลี่ยงภาษีได้มากขึ้น ขณะที่รัฐเห็นว่าเพราะเก็บไม่ได้แล้วยอมลดภาษีอัตราก้าวหน้าลงมาหน่อย ก็อาจเปลี่ยนใจให้คนกลุ่มนี้ยอมจ่ายได้ เพราะการเลี่ยงภาษีก็มีต้นทุน จ่ายภาษีดีก็กว่าเลี่ยงภาษี แต่ถ้าปรับอัตราภาษีสูงเกินไป แต่ความสามารถในการเลี่ยงภาษีมีมาก เขาก็จะตัดสินใจเลี่ยงภาษีดีกว่า”
ในส่วนภาษีทรัพย์สินที่จำเป็นต้องมี ภาคภูมิเห็นด้วย...แต่
“ถ้ามีคนรวย 10 คน เก็บภาษีมรดกได้คนละ 10 ล้าน เท่ากับ 100 ล้าน แต่ถ้าสามารถเก็บภาษีคน 50 ล้านคน คนละ 2 บาท ก็ได้ 100 ล้านเท่ากัน เพราะฉะนั้นรัฐจึงชอบที่จะเก็บภาษีจากคนจำนวนมาก มากกว่าจากคนจำนวนน้อยๆ และสิ่งที่รัฐชอบมากที่สุดคือภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ไม่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำใดๆ จะสร้างความเป็นธรรมต้องมีระบบภาษีที่เป็นธรรมกว่านี้ แต่จะทำได้หรือเปล่า ตราบใดที่รัฐไม่สามารถสร้างค่านิยมในคนไทยว่าทุกคนต้องเสียภาษีเป็นหน้าที่เพื่อให้สังคมไทยอยู่รอด ให้รัฐจัดการสวัสดิการสังคม มันก็ย้อนแย้ง เพราะที่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่อยากจ่ายภาษีเนื่องจากจ่ายไปแล้วไม่ได้รับสวัสดิการที่ดี
“รัฐไม่มีประสิทธิภาพในการให้สวัสดิการที่ดีพอ เพราะเงินไม่พอ เก็บภาษีได้น้อย รัฐจัดการความเสี่ยงได้แย่ ไม่มีความสามารถในการใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม”
โพลล์หนุนเปลี่ยน 'เบี้ยยังชีพ' เป็น 'บำนาญพื้นฐาน' หวังพรรคการเมืองมีนโยบายรักษาฟรี [10]
4 ปีรัฐประหาร: สวัสดิการสังคม สุขภาพ และชีวิตคนจน: ปัญหา ข้อท้าทาย และทางออก [11]
‘รัฐสวัสดิการ’ เรื่องจริงไม่อิงนิยาย ล้างมายาคติ-ลดงบกลาโหม-เก็บภาษีฐานทรัพย์สิน [12]
30 บาทกับความเข้าใจผิดเรื่องเงิน
“ในข่าวให้ตัวเลขว่า 7.5 แสนล้านก็สร้างรัฐสวัสดิการได้แล้ว เนื่องจากไม่ได้บอกว่าตัวเลขนี้คำนวณมาอย่างไร ผมจึงบอกไม่ได้ว่าตัวเลขนี้เพียงพอที่จะสร้างรัฐสวัสดิการหรือเปล่า แต่ผมขอยกตัวอย่างสถิติ ตอนนี้กระทรวงกลาโหมได้งบ 2.2 แสนล้าน ย้อนกลับไปปี 2549 ก่อนรัฐประหาร งบกลาโหมก็ได้ประมาณ 1.1 แสนล้าน ตอนนี้มากกว่าเมื่อก่อนประมาณแสนล้าน สมมติผมเป็นรัฐบาล ใจร้ายมาก ลดงบกลาโหมให้เท่าก่อนเกิดวิกฤตการเมือง ผมก็ได้เงินแค่แสนล้าน แล้วผมจะหาอีก 6 แสนล้านมาจากไหน ส่วนการลดงบมหาดไทย เพิ่มประสิทธิภาพข้าราชการ เก็บภาษีทรัพย์สิน มันก็ต้องดูความเป็นไปได้ทางการเมืองด้วยว่าจะสามารถทำได้หรือไม่”
ภาคภูมิพาดพิงถึงนโยบาย 30 บาทว่าความสำเร็จประการหนึ่งของนโยบายนี้คือการสร้างความคิดใหม่ในสังคมว่าเรามีภาษีพอที่จะสร้างรัฐสวัสดิการ แต่ถ้าย้อนไปศึกษาประวัติศาสตร์ของโครงการนี้ มันคือการยุบโครงการบัตรสวัสดิการรักษาพยาบาลเพื่อคนจนกับบัตรประกันสุขภาพ 500 บาทเข้าด้วยกัน 2 โครงการนี้รัฐใช้เงินประมาณ 4 หมื่นล้านบาท ซึ่งรัฐบาลก่อนๆ เคยทำมาแล้วแต่ไม่ประสบผลสำเร็จ
“แต่หลังจากทีมงานไทยรักไทยวิเคราะห์ความเป็นไปได้ด้านนโยบายการคลังก็พบว่า 30 บาทรักษาทุกโรคเป็นไปได้ด้วยเงิน 7 หมื่นล้านบาท ดังนั้น ถ้ายุบ 2 โครงการนี้รวมกัน ใช้เงินเพิ่มอีกแค่ 3 หมื่นล้านบาท เงินแค่นี้คุณทักษิณทุบโต๊ะเลย หาได้ สบายมาก แล้วรัฐบาลทักษิณใช้นโยบายกึ่งการคลัง คือโยกเงินจากองค์กรของรัฐหรือองค์กรภายในกำกับของรัฐมาที่ 30 บาท ทำให้มันเป็นไปได้โดยไม่ต้องกู้เงินเพิ่ม แต่ถ้าบอกว่าจะเปลี่ยนทั้งระบบแล้วใช้ 7.5 แสนล้านซึ่งเท่ากับ 30-40 เปอร์เซ็นต์ของรายจ่ายรัฐ หมายความคุณต้องไปลดงบประมาณของทุกอันเลย มันเป็นไปได้ทางการเมืองหรือเปล่า เท่าที่ผมดูล่าสุดของสวีเดนปี 2018 เขาใช้เงินประมาณ 2 ล้านล้านบาท ขณะที่ประชากรเขามีประมาณ 10 ล้านคน
“รัฐสวัสดิการเกี่ยวพันกับการเมืองสูง เพราะถ้ามองรัฐสวัสดิการเป็น State Transformation อย่างหนึ่ง มันคือคุณจะเปลี่ยนรัฐ เปลี่ยนความสัมพันธ์ทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมหมดเลย ดังนั้น เวลาพูดเรื่องนี้ทีไร ฝ่ายความมั่นคงไทยจะไม่สบายใจทุกครั้ง”
แฟ้มภาพ จากเว็บไซต์กรมประชาสัมพันธ์
วาทกรรมสังคมสงเคราะห์
ฝ่ายที่สนับสนุนรัฐสวัสดิการไม่พอใจกับนโยบายบัตรคนจน เพราะมันไม่ต่างกับการตีตราและการหยิบยื่นสังคมสงเคราะห์ให้แก่ประชาชน มันเปลี่ยนสถานะของสิทธิอันชอบธรรมของประชาชนไปเป็นผู้แบมือขอจากรัฐผู้เป็นผู้ให้ จุดนี้เป็นประเด็นน่าสนใจที่ภาคภูมิเห็นต่าง
“ผมต้องย้อนประวัติศาสตร์อีกว่าเป็นความสำเร็จของนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคที่ทำให้คนในสังคมเข้าใจว่า การขยายสิทธิสวัสดิการต้องทำแบบถ้วนหน้าอย่างเดียว ซึ่งวิธีการขยายสวัสดิการมันแบ่งได้เป็น 3 อย่างคือสังคมสงเคราะห์หรือให้เฉพาะกลุ่ม สองคือขยายสิทธิสวัสดิการด้วยประกันวิชาชีพ และอย่างที่สามคือถ้วนหน้า ให้ทุกคนเท่ากันหมด แต่ว่ารัฐสวัสดิการทุกวันนี้ไม่มีประเทศไหนที่เลือกใช้วิธีเดียว เขาใช้แบบผสมทุกอย่าง ขึ้นกับว่ารัฐไหนจะเลือกใช้แบบที่ 1, 2 หรือ 3 มากกว่า”
ภาคภูมิยกตัวอย่างฝรั่งเศสที่ใช้ทั้ง 3 แบบ โดยเน้นแบบที่ 1 กับ 2 มากกว่า ขณะที่อังกฤษใช้ระบบถ้วนหน้ามากกว่า ทว่า กลุ่มคนที่เรียกร้องรัฐสวัสดิการมักจะทำคือการลดทอนให้เป็นเรื่องง่าย (Simplify) ทำให้ถ้วนหน้าเท่ากับก้าวหน้า ซึ่งนั่นไม่ใช่สูตรสำเร็จเสมอไป
ตัวอย่างการกระจายรายได้ของประเทศเดนมาร์กที่ใช้ระบบถ้วนหน้า มีค่าสัมประสิทธิ์จีนี่ (ตัวเลขที่ใช้บ่งชี้ความเหลื่อมล้ำและการกระจายรายได้ มีค่าระหว่าง 0-1 ตัวเลขยิ่งต่ำแสดงว่าความเหลื่อมล้ำยิ่งน้อย) ประมาณ 0.28 ขณะที่ประเทศออสเตรเลียที่เน้นใช้ระบบสังคมสงเคราะห์ตัวเลขจีนี่อยู่ 0.3 ซึ่งเห็นตัวเลขห่างกันไม่มากเยอะ
“มันมีทั้งประเทศที่ใช้แบบถ้วนหน้าแล้วล้มเหลวก็มี สำเร็จก็มี ขณะที่ประเทศที่ใช้แบบสังคมสงเคราะห์ล้มเหลวก็มี สำเร็จก็มี มันไม่มีสูตรตายตัวว่าอะไรก้าวหน้ากว่าอะไร ผมยกตัวอย่างรัฐธรรมนูญของเคนย่าในหมวดสิทธิสุขภาพเขียนไว้ชัดเจนกว่าของไทยอีกว่าเป็นแบบถ้วนหน้า ของไทยไม่มีประโยคนี้ในรัฐธรรมนูญตั้งแต่ปี 2541 แล้ว แต่เวลาเคนย่าทำจริง ทำไม่ได้ เพราะเงิน คน ทรัพยากรของเขาไม่พอ มันไม่ควร Simplify ว่าถ้วนหน้าเท่ากับก้าวหน้าหรือทุกอย่างต้องก้าวหน้าหมด
“เราต้องมองลงในรายละเอียดว่า ทำไมเราถึงเลือกถ้วนหน้า ทำไมเราถึงเลือกเฉพาะ เช่นด้านสุขภาพที่เราเลือกถ้วนหน้า ถ้ามองในมุมเศรษฐศาสตร์เพราะมันมีผลกระทบภายนอกสูง สุขภาพของคนหนึ่งส่งผลต่อคนอื่นๆ ในภาพรวมทั้งหมด ฉะนั้นเราลงทุนให้หมดทุกคนจึงคุ้มทุนมากกว่า หรือเรื่องการศึกษาที่เราให้ทุกคนเพราะการศึกษาส่งผลต่อผลิตภาพของประเทศโดยตรง การลงทุนเหล่านี้จึงสร้างผลประโยชน์ต่อประเทศตามมา การจะสร้างรัฐสวัสดิการไม่ใช่ว่าเราโปรยเงินให้ประชาชนอย่างเดียว แต่ต้องคำนึงถึงว่าเมื่อเราให้ไปแล้ว ประชาชนต้องเลื่อนชนชั้นได้ ประชาชนต้องทำงานแล้วส่งคืนภาษีกลับคืนมา”
ดังนั้น สังคมสงเคราะห์หรือถ้วนหน้าไม่ใช่คำตอบตายตัวว่าจะก่อให้เกิดการกระจายและลดความเหลื่อมล้ำได้เสมอไป แต่ต้องดูรายละเอียดหลายอย่าง ภาคภูมิยกตัวอย่างว่า ถ้าเป็นแบบถ้วนหน้า สมมติสังคมมีคน 10 คน คนแรกมีขนมปัง 1 ชิ้น คนที่ 2 มี 2 ชิ้น ไล่ไปเรื่อยๆ รัฐบาลอยากกระจายขนมปังใหม่ให้เกิดความเท่าเทียม จึงเอาขนมปัง 5 ก้อนจากคนที่รวยที่สุดที่มี 10 ก้อน คนคนนี้จะเหลือขนมปัง 5 ก้อน แล้วรัฐนำ 5 ก้อนนี้ให้คนที่มีขนมปัง 2 ก้อนไป 3 ก้อนกับคนที่มีขนมปัง 3 ก้อนไป 2 ก้อน หลังจากเข้าไปแทรกแซงการกระจายขนมปังเฉพาะกลุ่มแบบนี้ หลังการกระจายมีคนที่มีขนมปัง 5 ก้อนอยู่ 4 คน หมายความว่ามีคนที่เท่าเทียมกันถึง 4 คน
“แต่ถ้าผมเลือกวิธีถ้วนหน้าอีกวิธีหนึ่ง ผมเอาขนมปัง 5 ก้อนของคนที่รวยที่สุดมาให้กับทุกคนเท่าๆ กัน ทุกคนก็จะได้คนละครึ่งก้อน หลังจากกระจายแล้วจะมีคนที่ได้ขนมปัง 5.5 ก้อน 2 คน มีคนเท่ากันแค่ 2 คนด้วยการเลือกวิธีการแบบถ้วนหน้าถ้าเราออกแบบระบบการกระจายและการเก็บภาษีที่ไม่ละเอียด มันจึงไม่ได้บอกว่าถ้วนหน้าหรือสังคมสงเคราะห์ดีกว่ากัน แต่ขึ้นกับรายละเอียดด้วย
“สำหรับบัตรคนจน ผมมองว่าข้อดีของมันคือการจัดเก็บฐานข้อมูลของรัฐของกลุ่มประชากรที่อยู่ในกลุ่ม Informal Sector หรือยากจน ซึ่งรัฐเก็บข้อมูลตัวเลขได้ไม่ดีมาตลอด แต่ข้อเสียของนโยบายบัตรคนจนคือมันไปผูกติดกับกลุ่มทุนขนาดใหญ่ เวลาจะซื้อของต้องซื้อกับร้านที่ผูกกับกลุ่มทุนใหญ่ มันเลยเท่ากับว่าคุณเอาเงินก้อนนี้ผ่านมือจากคนจนไปให้กลุ่มทุนใหญ่ แต่ถ้าคุณปรับว่าเงินกลุ่มนี้ให้คนจนไปเลือกใช้เอง ให้เศรษฐกิจท้องถิ่น โชห่วย เอสเอ็มอีเอง มันจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำด้านโครงสร้างเศรษฐกิจได้มากกว่า”
ข้อจำกัดในการไปสู่รัฐสวัสดิการของไทย มุมมองทางเศรษฐศาสตร์การเมือง [13]
'หมอมงคล' ย้ำสวัสดิการรักษาพยาบาลต้องเป็นสิทธิของประชาชนทุกคน [14]
รัฐประหารทำคนจน ภาคประชาชนแนะรัฐหยุดออกนโยบายสงเคราะห์คนจน เพื่อเอื้อนายทุน [15]
สังคมสงเคราะห์ การตีตรา และซ้ายกับขวา
“เรื่องการตีตราคนจน ผมก็เข้าใจ อาจมีบางกรณีจริงๆ ที่เขารู้สึกอย่างนี้ แต่ผมถามว่าการเกิดการตีตราคนจนเป็นเพราะตัวสังคมสงเคราะห์หรือค่านิยมของสังคมเองที่ทำให้เกิด ตัวสังคมสงเคราะห์หรือวิธีการไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อต้องการตีตรา แต่กลายเป็นว่าวัฒนธรรมของสังคมนี่แหละที่ทำให้รู้สึกว่าความจนเป็นความผิด เพราะประเทศไทยไม่มีสิทธิคนจน มันไม่ได้เกิดจากการเคลื่อนไหวของสังคมเลย มันเกิดจากชนชั้นนำคิดมาหมดแล้วว่านี่คือคนจนและต้องได้รับเท่านี้
“ฐานคิดเรื่องสิทธิคนจนจึงไม่ค่อยมี แต่ในประเทศที่มาจากฐานราก สิทธิคนจนจะเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ว่าคนจนมีสิทธิอย่างหนึ่งที่เราต้องได้และเป็นหน้าที่ของคนที่มีมากกว่าต้องช่วยเพื่อให้สังคมทั้งหมดอยู่รอดได้ ไม่ใช่เพื่อใครคนใดคนหนึ่ง ปัญหาของเราคือวัฒนธรรมของไทยไปนิยามคนจนว่าเป็นภาระ แต่ตัวสังคมสงเคราะห์ไม่เกี่ยวเลย มันเป็นแค่วิธีการ”
The Beveridge Report ที่มาภาพ thenewliberty.wordpress.com [16]
ภาคภูมิเล่าวอีกว่า ถ้าได้อ่านงานของลอร์ดวิลเลียม เบเวอริดจ์ ผู้ที่คิดหลักประกันถ้วนหน้าของอังกฤษ จะพบว่าการไม่ใช้ระบบตีตราคนจนหรือระบบสังคมสงเคราะห์ที่พิสูจน์ได้แล้วว่าจน ไม่ใช่เพราะจะทำให้คนจนรู้สึกต่ำต้อย แต่วิธีสังคมสงเคราะห์จะทำให้คนจนจะอยากจนไปเรื่อยๆ จะหาเงินให้มากขึ้นทำไมในเมื่อรัฐให้อยู่แล้ว ขณะที่คนที่อยู่เหนือเส้นยากเล็กน้อยก็อยากกลับมาจนอีก เพราะคนกลุ่มนี้ไม่ได้สวัสดิการ ซ้ำยังต้องจ่ายภาษี เห็นได้ว่าลอร์ดวิลเลียม เบเวอร์ริดจ์ ไม่ได้คิดเรื่องการตีตราคนจนเลย แต่คิดแบบขวาจัดมาก ที่ให้แบบถ้วนหน้าเพราะต้องการให้คนจนทำงาน
“หลังจากผมไปอยู่ฝรั่งเศส” ภาคภูมิเล่าประสบการณ์ตนเอง “มันมีคนที่ไม่ทำงานแล้วรับสวัสดิการอย่างเดียวอยู่จริงหรือทำงานแต่ไม่แจ้งรายได้ ไม่แจ้งภาษี เขาก็จะได้รับเงินสองทาง พวกเด็กรุ่นใหม่ที่เข้าทำงานก็จะรู้สึกว่าไม่เป็นธรรม ทำไมต้องจ่ายเงินให้คนพวกนี้ แล้วก็เอาเงินไปเที่ยวโดยไม่ทำงาน เรื่องตีตราเป็นเรื่องที่สังคมไทยสร้างขึ้นมาเอง”
ภาคภูมิอธิบายต่อว่า ในยุโรปพยายามสร้างระบบที่รัฐให้เงินทุกคนเท่ากันโดยไม่มีเงื่อนไข และเป็นสิ่งที่ทั้งฝ่ายขวาและฝ่ายซ้ายสนับสนุน ฝ่ายขวามองว่าระบบสังคมสงเคราะห์ รัฐต้องเข้ามาแทรกแซงกลไกตลาดมาก ต้องมีระบบราชการใหญ่โต และเสียต้นทุนค่าพิสูจน์มาก ดังนั้น จึงต้องลดต้นทุนเหล่านี้ให้หมด ทำเป็น One Stop Service ทุบสวัสดิการต่างๆ ทิ้ง ให้เงินก้อนเดียวจบ แต่ละคนไปจัดการกันเอง
ขณะที่ฝ่ายซ้ายก็สนับสนุน แต่คิดต่างกัน ฝ่ายซ้ายคิดว่ามนุษย์เกิดมามีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การทำงานไม่ควรทำเพราะความจำเป็น แต่ทำเพราะอยากทำ รัฐจึงให้เงินก้อนนี้เพื่อให้ประชาชนดำรงชีพได้และมีอิสระในการเลือกว่าอยากจะทำอะไร ซึ่งถ้าคิดบนพื้นฐานดังกล่าว เงินก้อนนี้ต้องมากพอให้ประชาชนเลี้ยงดูตัวเองได้โดยไม่ต้องทำงานที่ไม่อยากทำ เพื่อทุกคนจะได้ใช้ศักยภาพได้เต็มที่
สกอตแลนด์นำร่อง 'รายได้ขั้นพื้นฐาน' หวังแก้ปัญหาความยากจน [17]
แนะลงทะเบียนรายได้คนจน-คนรวย เพื่อจัดรัฐสวัสดิการ ลดความเหลื่อมล้ำ [18]
อ่านเค้าโครงการเศรษฐกิจของปรีดี: อนุสรณ์ชี้ถ้าไม่มีประชาธิปไตย ย่อมไม่มีรัฐสวัสดิการ [19]
ไทยอยู่ตรงไหนบนเส้นทางเปลี่ยนผ่านสู่รัฐสวัสดิการ
หากรัฐสวัสดิการคือการเปลี่ยนผ่านรัฐ ก็น่าสนใจว่าประเทศไทยอยู่ตรงไหนบนขั้นบันไดของการเปลี่ยนผ่าน ภาคภูมิบอกว่าในวงวิชาการนิยามรัฐสวัสดิการของไทยว่าเป็นแบบเอเชีย แบบ Productivism เป็นรัฐสวัสดิการที่ให้ความสำคัญกับการเจริญเติบโตด้านเศรษฐกิจมากกว่าเรื่องความเท่าเทียมของประชาชน
“ถ้าเราจะเป็นรัฐสวัสดิการตะวันตกก็ต้องมีเงื่อนไขที่ต่างจากรัฐสวัสดิการตะวันออก อย่างแรกคือสังคมต้องเข้มแข็ง สหภาพแรงงานต้องเข้มแข็ง ภาคประชาสังคมต้องเข้มแข็งเพื่อตรวจสอบรัฐบาลได้ ระบอบประชาธิปไตย นิติรัฐต้องเข้มแข็ง ไม่ใช่รัฐบาลอำนาจนิยมแบบนี้”
ซึ่งประเทศไทยยังไม่มีเลยสักอย่าง?
“ก็ใช่ เอาเข้าจริง ผมคิดว่าไม่มีรัฐสวัสดิการตะวันออกสักประเทศหนึ่งที่เปลี่ยนผ่านเป็นรัฐสวัสดิการแบบตะวันตกได้เลย เพราะมันเป็นเรื่องทางประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจ การเมือง สถาบันที่ต่างกัน ทำให้รัฐสวัสดิการต่างกัน ขณะเดียวกันตะวันตกก็ไม่สามารถทำให้เป็นตะวันออกได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าเราไม่ต้องเรียกร้องให้สวัสดิการเพิ่มขึ้น เรียกร้องได้ แต่มันอาจจะใช้เวลานาน อาจจะสิบปี ร้อยปี ที่จะเป็นแบบตะวันตก แต่ในขณะเดียวกันอีกร้อยปีข้างหน้า ตะวันตกอาจจะอยากเป็นแบบตะวันออกก็ได้ มันเป็นเรื่องที่ซับซ้อน ผมจึงบอกว่าเวลาพูดถึงเรื่องรัฐสวัสดิการอย่าทำให้มันเป็นเรื่องง่ายๆ
“ถ้าอยากได้แบบตะวันตก เราก็ต้องรื้อใหม่หมดเลย รื้อทั้งรัฐเลย ทุกวันนี้ผมจึงไม่ได้เรียกร้องรัฐสวัสดิการ แต่ผมเรียกร้องให้มีสวัสดิการเพิ่มขึ้น เพราะรัฐสวัสดิการมันต้องเปลี่ยนเยอะมาก เปลี่ยนไม่ได้ภายใน 4 ปี เช่น ถ้าอยากเป็นรัฐสวัสดิการแบบตะวันตกคุณก็ต้องมีสหภาพแรงงาน ขั้นต่ำเลยนะ เมืองไทยก็ยังไม่มี”
สังคมเข้มแข็งและรัฐที่ชอบธรรม
แนวคิดหนึ่งที่ถูกจับตาว่าจะทำให้รัฐสวัสดิการของไทยต้องพังครืนคือลัทธิเสรีนิยมใหม่ สำหรับภาคภูมิแล้ว เขาเห็นว่าเป็นข้อเสนอทางวิชาการของประเทศทางตะวันตกอย่างอังกฤษหรืออเมริกา ที่ชัดเจนว่าลัทธิเสรีนิยมใหม่ทำให้สวัสดิการหลายอย่างปรับลดลงจริงๆ แต่เวลากล่าวว่าลัทธิเสรีนิยมใหม่ที่เกิดในอังกฤษ ไม่จำเป็นเสมอไปว่าเป็นเพราะรัฐสวัสดิการทำให้เกิด
“อย่างที่ผมบอกว่าประวัติศาสตร์สถาบันมันต่างกัน ผมคิดว่าอุปสรรคของรัฐสวัสดิการไทยเป็นอุปสรรคเดิมเมื่อห้าสิบหกสิบปีที่แล้ว ผมคิดว่าเสรีนิยมใหม่มีผลกระทบน้อยต่อการทำให้รัฐสวัสดิการไทยไม่เกิดขึ้น เพราะเมื่อสี่สิบห้าสิบปีที่แล้วคำตอบคือระบบอุปถัมภ์ ที่เป็นตัวขัดขวางให้รัฐสวัสดิการไม่เกิด เพราะในเมืองไทยผมคิดว่าเสรีนิยมใหม่ไม่มีอิทธิพลเท่าระบบอุปถัมภ์ ระบบเสรีนิยมใหม่ไม่ใช่แค่เรื่องกลไกตลาดหรือเสรีภาพ มันต้องผูกติดกับปัจเจกชนนิยมด้วย เพราะเสรีนิยมใหม่เชื่อเรื่องการแข่งขันมาก เชื่อในความสามารถของมนุษย์ที่จะแข่งขันและพัฒนาสังคมตลอดเวลา พวกนี้จึงพยายามแข่งขันในทุกๆ เรื่อง แต่การแข่งขันต้องอยู่ในกลไกตลาดที่เป็นธรรม เขาถึงจะมองว่าเป็นการแข่งขันที่เป็นธรรม
“แต่โครงสร้างเศรษฐกิจไทยเป็นโครงสร้างตลาดที่เป็นธรรมหรือเปล่า หรือเป็นระบบอุปถัมภ์ที่ปลาใหญ่กินปลาเล็ก กลไกตลาดทุกวันนี้ไม่ใช่เสรีนะครับ แต่เป็นระบบที่รัฐเข้ามาแทรกแซงบ่อยมากเพื่อให้ปลาใหญ่ ไม่ใช่การแทรกแซงเพื่อให้ตลาดเป็นธรรมมากขึ้น”
ภาคภูมิย้ำว่าถ้าต้องการสร้างรัฐสวัสดิการต้องเปลี่ยนระบบอุปถัมภ์ ต้องสร้างค่านิยมใหม่ ยกตัวอย่างในยุโรปมีค่านิยมเรื่อง Solidarity (การสร้างความสมานฉันท์) ซึ่งเป็นผลผลิตของการต่อสู้ระหว่างฝ่ายสังคมนิยมกับฝ่ายเสรีนิยม สุดท้ายก็ประนีประนอมกันจนได้เป็น Solidarity ที่เชื่อเรื่องกรรมสิทธิ์ เสรีภาพของบุคคล ขณะเดียวกันก็เชื่อว่าเสรีภาของแต่ละคนควรมีจำกัดในบางเรื่องและควรให้ประโยชน์สังคมมากกว่าประโยชน์ส่วนตัวในบางเรื่อง ขณะที่ประเทศไทยไม่เคยมีความคิดเรื่องเหล่านี้มาก่อนว่า รัฐและเอกชนควรมีความสัมพันธ์กันอย่างไร รัฐควรเข้ามายุ่งกับเอกชนแค่ไหนและใช้ความชอบธรรมอะไรในการแทรกแซงสังคม
“สวัสดิการสังคมอะไรที่รัฐต้องให้ ให้ใคร และทำไมต้องให้ เราไม่เคยมีการต่อรองกันเลยระหว่างสังคมกับรัฐบนฐานที่เท่าเทียมกัน แต่เป็นฐานที่รัฐคิดจากบนลงล่างเสมอ”
คำถามสุดท้ายที่เราถามภาคภูมิว่า ประเทศไทยต้องทำอะไรบ้างเพื่อจะไปสู่ความเป็นรัฐสวัสดิการ เขาตอบว่า
“สิ่งที่สำคัญที่สุดของการสร้างรัฐสวัสดิการคือสังคมต้องเข้มแข็ง รัฐต้องชอบธรรม”
| ['สัมภาษณ์', 'การเมือง', 'เศรษฐกิจ', 'แรงงาน', 'คุณภาพชีวิต', 'ภาคภูมิ แสงกนกกุล', 'รัฐสวัสดิการ', 'รัฐสวัสดิการแบบเอเชีย', 'นโยบาย 30 บาท รักษาทุกโรค', 'การสร้างความสมานฉันท์', 'สวัสดิการสังคม', 'Solidarity', 'ความสัมพันธ์ระหว่างสังคมและรัฐ'] |
https://prachatai.com/print/79629 | 2018-11-15 21:34 | ชาวอุยกูร์ในสหรัฐฯ ชุมนุมวันประกาศเอกราช เรียกร้องกดดันจีนกรณี 'ค่ายกักกัน' | สืบเนื่องจากเป็นวันประกาศเอกราชของเตอร์กิสถานตะวันออกซึ่งเป็นสาธารณรัฐอายุสั้นสำหรับชาวอุยกูร์ก่อนจะถูกผนวกรวมกับจีน มีนักกิจกรรมชาวอุยกูร์ในสหรัฐฯ ร่วมแสดงออกด้วยการเดินขบวนประท้วงเรียกร้องให้สหรัฐฯ กดดันให้จีนหยุดรังแกชาวอุยกูร์ด้วยการจับเข้าค่ายกักกัน
ภาพการประท้วงของชาวอุยกูร์หน้าทำเนียบขาวในปี 2552 (ที่มา:วิกิพีเดีย [1])
นักกิจกรรมชาวอุยกูร์ในสหรัฐฯ ร่วมแสดงออกในวันประกาศเอกราชของอดีตสาธารณรัฐอุยกูร์ด้วยการเดินขบวนประท้วงในสหรัฐฯ เมื่อช่วงวันที่ 13 พ.ย. ที่่ผ่านมา
ซึ่งตามประวัติศาสตร์ เมื่อวันที่ 12 พ.ย. เป็นทั้งวันฉลองครบรอบ 74 ปีและ 85 ปี การสถาปนาสาธารณรัฐเตอร์กิสถานตะวันออกสองครั้งที่คงอยู่ได้ไม่นานก่อนจะถูกผนวกรวมเป็นส่วนหนึ่งของจีน
กลุ่มที่จัดการประท้วงในครั้งนี้คือ 'ขบวนการเพื่อการตื่นรู้แห่งชาติเตอร์กิสถานตะวันออก' (East Turkistan National Awakening Movement) มีผู้เข้าร่วมส่วนหนึ่งเป็นชาวอุยกูร์พลัดถิ่นซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีคือ เรบิยา คาเดียร์ อดีตประธานกลุ่มสภาอุยกูร์โลก (World Uyghur Congress) กลุ่มผู้ประท้วงชุมนุมหน้าทำเนียบขาวพร้อมถือธงของสหรัฐฯ และธงเอกราชเตอร์กิสถานตะวันออก พวกเขาเรียกร้องให้สหรัฐฯ กดดันจีนในการหยุดการข่มเหงรังแกชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิม
ถึงแม้ว่าจะมีเรื่องที่ทางการจีนกดขี่ข่มเหงชาวอุยกูร์ในพื้นที่ซินเจียงมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว แต่ในช่วงปีที่ผ่านมามีการปราบปรามชาวอุยกูร์หนักขึ้น โดยที่สหประชาชาติวิจารณ์เรื่องที่จีนคุมขังชาวอุยกูร์ไว้ราว 1 ล้านคนในค่ายกักกันเพื่อทำการปลูกฝังปรับทัศนคติทั้งในทางการเมืองและในทางวัฒนธรรม มีรายงานบางส่วนก็ระบุว่าค่ายกักกันเหล่านี้เคยคุมขังชาวอุยกูร์ไว้มากถึงราว 2 ล้านคน ในค่ายกักกันดังกล่าวทางการจีนบีบให้ชาวอุยกูร์ละทิ้งความเชื่อศาสนาอิสลามของตัวเองรวมถึงละทิ้งวัฒนธรรมอื่นๆ ที่ทำให้พวกเขามีลักษณะเฉพาะตัวต่างออกไปจากชาวจีนเชื้อสายฮั่น นอกจากนี้ยังห้ามการถือศีลอดช่วงรอมฎอนและห้ามไม่ให้มีการเรียนการสอนคัมภีร์อัลกุรอานกับเด็ก
ไอดิน อันวาร์ ชาวอเมริกันเชื้อสายอุยกูร์กล่าวว่าจีนพยายามลบล้างอัตลักษณ์ความเป็นอุยกูร์ทิ้งรวมถึงบีบให้ถือสัตย์ปฏิญาณว่าจะสวามิภักดิ์ต่อรัฐจีน อันวาร์บอกอีกว่าผู้คนที่มาชุมนุมในวันนี้ต่างก็มีญาติพี่น้องของพวกเขาอย่างน้อย 1 คน ถูกคุมขังในค่ายกักกันแทบทั้งสิ้น เช่นลุงเขยของเขาเองก็มีญาติถูกคุมขังอยู่ในนรวมมากกว่า 70 รายและหนึ่งในนั้นก็ถูกสังหารจากการฉีดสารพิษ ชีวิตนอกสถานกักกันก็ไม่ได้ดีไปกว่ากัน พวกเขาถูกห้ามไม่ให้ปฏิบัติตามพิธีกรรมศาสนาอิสลาม ทั้งการถือศีลอด การสวมฮิญาบ การไว้เครา ห้ามแม้กระทั่งไม่ให้ตั้งชื่อลูกด้วยชื่ออิสลาม
โชห์รัต ซากีร์ หัวหน้ารัฐบาลเขตปกครองพิเศษซินเจียงกล่าวว่าการปฏิบัติต่อชาวอุยกูร์เป็นไปตามแนวทางปฏิบัติเรื่อง "สงครามต่อต้านการก่อการร้าย" ของนานาชาติ เขาบอกอีกว่าค่ายกักกันดังกล่าวเป็น "สถาบันฝึกอบรมวิชาชีพ" เพื่อที่จะ "ฝึกอบรมภาษา ความรู้ทางกฎหมาย ทักษะวิชาชีพ และการลดความหัวรุนแรง เป็นเนื้อหาหลักเพื่อให้คนในพื้นที่สามารถหางานได้เป็นแนวทางหลัก"
แต่ในสหรัฐฯ ประเด็นการต่อสู้ของชาวอุยกูร์ก็ได้รับการสนับสนุนจากนักการเมืองอย่างไมค์ เพนซ์ รองประธานาธิบดี และนิคกี ฮาลีย์ อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำสหประชาชาติ ที่กล่าวประณามการกระทำของจีน วุฒิสมาชิกรีพับลิกัน มาร์โค รูบิโอ ก็ล็อบบี้กระทรวงต่างประเทศของสหรัฐฯ ให้มีท่าทีต่อจีน
ทำไมผู้นำประเทศมุสลิมถึงไม่วิจารณ์จีนกรณี 'ค่ายกักกัน' ชาวอุยกูร์ [2]
โอมาร์ สุไลมาน นักปราชญ์มุสลิมชาวอเมริกันกล่าวว่ากลุ่มประเทศมุสลิมหลายประเทศกลับโต้ตอบการกดขี่ของจีนที่กระทำต่ออุยกูร์น้อยมากจนแทบรู้สึกว่าพวกเขาทอดทิ้งชาวอุยกูร์อย่างสิ้นเชิง โดยที่กลุ่มประเทศมุสลิมเหล่านี้มีจีนเข้าไปแผ่ขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจ
"มันเป็นเรื่องย้อนแย้งที่พวกเขาถูกทารุณกรรมจากจีนเพราะเป็นมุสลิมมากเกินไป ในขณะที่โลกมุสลิมเหมือนจะมองว่าพวกเขาเป็นมุสลิมไม่มากพอที่จะสู้เพื่อพวกเขา"
"จีนต้องพึ่งพาในเรื่องการค้า และประเทศต่างๆ รวมถึงสหรัฐฯ ควรจะดำเนินการกดดันทางเศรษฐกิจมากพอเพื่อที่จะหยุดยั้งไม่ให้เกิดการกดขี่เช่นนี้ต่อไปอีก" สุไลมานกล่าว
เรียบเรียงจาก
Uighurs marking 'independence day' call for international help, Aljazeera [3], Nov. 14, 2018
| ['ข่าว', 'สิทธิมนุษยชน', 'ต่างประเทศ', 'อูยกูร์', 'เตอร์กิสถานตะวันออก', 'สภาอุยกูร์โลก', 'ค่ายกักกัน', 'วันประกาศเอกราช', 'จีน', 'ศาสนา', 'อิสลาม', 'ค่ายกักกันปลูกฝังความเชื่อใหม่'] |