url
stringlengths
30
33
date
stringlengths
16
16
title
stringlengths
2
170
body_text
stringlengths
500
210k
labels
stringlengths
2
867
https://prachatai.com/print/242
2004-09-09 23:39
ชูวิจัยไทบ้านราษีไศลนำความจริงสู่สังคม
ประชาไท-9 ก.ย. 47 "สองนักวิจัยไทบ้าน" หวังบอกเล่าปัญหาสู่สังคมผ่านงานวิจัย ระบุการแก้ปัญหาเขื่อนยังไม่คืบหน้า แต่ความสัมพันธ์ของชุมชนกลับคืนมา ด้าน "นักวิชาการมนุษย์ศาสตร์มช." ชี้เป็นงานด้านมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ชิ้นสำคัญ ขณะที่ "นักวิชาการ มมส." แนะขยายสู่ประชาสังคมเป็นหลักสูตรท้องถิ่น นายอภิรักษ์ สุธาวรรณ นักวิจัยไทบ้านด้านระบบนิเวศน์ กล่าวว่าการทำวิจัยในครั้งนี้ถือว่าเป็นการเก็บข้อมูลในส่วนของชาวบ้าน โดยแรงบันดาลใจเกิดจากปัญหาเรื่องเขื่อนราษีไศลที่สะสมมานาน พยายามเรียกร้องให้รัฐแก้ปัญหาแต่ก็เหมือนเดิม ทำให้คิดมาโดยตลอดว่าตนเองจะสามารถทำอะไรได้บ้าง ซึ่งตอนนี้รัฐกำลังรองานวิจัยของมหาวิทยาลัยขอนแก่นและมหาวิทยาลัยมหิดลมาพิจารณาในการตัดสินใจในการดำเนินการเรื่องเขื่อนราษีไศลต่อไปแต่ก็ยังไม่เสร็จ "ภูมิใจในงานวิจัยนี้เพราะถึงแม้ว่าอนาคตเราจะไม่ได้ค่าชดเชยก็ตาม แต่เราอยากให้สังคมรับรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับเรา" นายอภิรักษ์ กล่าว นายพุทธา กมล นักวิจัยไทบ้านด้านเกษตร กล่าวว่าตั้งแต่มีการสร้างเขื่อนชาวบ้านราษีไศลแตกแยกออกเป็นกลุ่มๆจนได้ชื่อเรียกว่า 12 ราศีเพราะมีทั้งคนที่เชื่อรัฐ และไม่เชื่อรัฐ หลังเปิดเขื่อนแล้วป่าทามกลับมาจึงเป็นพื้นที่ให้ชาวบ้านได้พบปะพูดคุยเวลาไปเลี้ยงวัวควาย ทำให้ความสัมพันธ์ดีขึ้น และการทำวิจัยก็ทำให้ชาวบ้านได้มาคุยกัน ไม่ใช่เฉพาะชาวบ้านที่ค้านเขื่อนแต่ คนที่เคยขัดแย้งกัน ผู้ใหญ่บ้าน กำนันที่เมื่อก่อนไม่คิดแม้แต่เผาผีกันก็ได้มาคุยกัน รศ.อรรถจักร สัตยานุรักษ์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่าความรู้ในสังคมไทยทำให้เกิดความยากจนมหาศาลทำให้คน 20% ระดับบนได้ทรัพยากรไป 60%เพราะมองความจริงไม่เห็น ซึ่งสิ่งที่น่ากลัวกว่านั้นคือวิกฤติทางสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์ในปัจจุบันที่เป็นแบบแยกส่วน ปลายท่อเพราะหยิบส่วนเสี้ยวความรู้มาจากต่างประเทศและมาถูกซ้ำเติมด้วยความรู้ด้านเศรษฐกิจ โดยงานวิจัยไทบ้านจะเข้ามาสร้างความรู้ชุดใหม่ให้สังคมไทย จะเห็นได้ว่าวัฒนธรรม ปลา และเกลืออยู่ด้วยกัน ซึ่งนี่คือรากฐานความหมายทุกมิติของชีวิต ถ้าดูที่ปฏิทินการเพาะปลูกของชาวบ้านจะเห็นว่านี่คือปฏิทินของชีวิต มีการแลกเปลี่ยน แบ่งปัน ทำให้เห็นถึงสายใยความสัมพันธ์ทางสังคมที่กว้างไกล โดยสิ่งเหล่านี้คือความรู้มนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ที่สำคัญที่สุด "ความสำคัญของงานวิจัยคือทำให้เกิดความเสมอภาค อ่านแล้วจะทำให้เกิดจินตนาการและเข้าใจในพื้นที่สาธารณะซึ่งเป็นสมบัติร่วมของชุมชน เป็นความรู้ที่ทุกคนสามารถหยิบใช้นำไปสู่การคิดการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน" รศ.อรรถจักร กล่าว ดร.สมชัย ภัทรธนานันท์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวว่าการทำวิจัยไทบ้านถือว่าเป็นการขยายประชาสังคมอย่างหนึ่งเพราะเป็นการนำจุดยืนของชาวบ้านมาสู่สังคม ความจริงเรื่องวิถีชีวิตของชาวบ้านเคยถูกทำให้เป็นเรื่องไม่จริง เป็นเรื่องงมงาย เป็นชีวิตพื้นๆของคนไม่มีการศึกษา แต่วิจัยไทบ้านได้อธิบายถึงชีวิตจากผู้ที่มีประสบการณ์จริง การนำเสนอมีเงื่อนไขที่เอื้อเพราะปัจจุบันมีกระแสชุมชนท้องถิ่นเกิดขึ้น โดยหลักสูตรท้องถิ่นน่าจะเป็นช่องทางหนึ่งในการกระจายออกไป "ต้องทำให้งานวิจัยไทบ้านได้รับการยอมรับในฐานะเป็นความจริงชุดหนึ่ง ยอมรับเหมือนความจริงที่รัฐนำเสนอ เพราะถ้าเปลี่ยนให้มีสถานะเท่ากันจะสามารถปกป้องผลประโยชน์ได้เป็นอย่างดี" ดร.สมชัย กล่าว รายงานโดย : ปิ่นแก้ว อุ่นแก้ว ศูนย์ข่าวประชาไท
['ข่าว', 'สิ่งแวดล้อม']
https://prachatai.com/print/244
2004-09-09 23:45
งานวิจัยกับความหมายทางสังคม
ประชาไท-8 ก.ย. 47 รศ. ศรีศักร วัลลิโภดม กล่าวปาฐกถาว่าตนรู้สึกชิงชังกับคำว่าวิจัยมากว่า 40 ปีนับตั้งแต่ที่ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นำคำนี้มาตั้งเป็นสถาบันใหญ่โตพร้อมกับคำว่าการพัฒนา เพราะเป็นการทำให้สภาพแวดล้อมและสังคมยับเยิน นอกจากนี้ยังไม่เคยมีการทบทวนว่าเป็นการรวมศูนย์ ทำตามฝรั่งอย่างผิดๆ เพราะคิดว่าการวิจัยต้องทำด้วยคนที่ผ่านการเรียนในด้านนี้มา คนที่ไม่ได้เรียนทำวิจัยไม่ได้ ตอนที่ริเริ่มตั้ง สกว. อาจารย์เสน่ห์ จามริก บอกว่าการวิจัยคือกระบวนการเรียนรู้ที่สัมพันธ์กับมนุษย์ ซึ่งธรรมชาติของมนุษย์รู้จักสังเกตและสามารถสร้างเป็นระบบได้ ดังนั้นสิ่งที่นักวิจัยท้องถิ่นทำได้มาหลายร้อยปีคือการเรียนรู้ คนโบราณศึกษาจนรู้ว่าจะสร้างบ้านตรงไหน อาหารอะไรกินได้ กินไม่ได้ มีการถ่ายทอดกันมาซึ่งเป็นการวิจัยอยู่แล้ว แต่นักวิจัยให้องปฏิบัติการปฏิเสธจากการเรียนรู้ถูกผิด ซึ่งกระบวนการเหล่านี้เองที่ไปทำลายศักยภาพตรงนั้น เพราะการวิจัยและการพัฒนาของรัฐเน้นในด้านเศรษฐกิจแบบไม่คิด เป็นการพัฒนาแบบบังคับและนำมาจากข้างนอก กลายเป็นเรื่องการเมืองและผลประโยชน์ วิจัยไทบ้านเป็นวิจัยจากข้างใน ซึ่งเป็นการเติมเต็มการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมให้ถูกต้อง การวิจัยพื้นฐานของสกว.มีอยู่มากมายทำเงินหายไปนับหมื่นล้านบาทแต่เอาไปใช้ไม่ได้เพราะทำโดยคนข้างนอก ดังนั้นถ้าเราจะแก้ก็ต้องเริ่มแก้ที่งานวิจัยพื้นฐานก่อน ต้องแก้ให้เกิดวิจัยในท้องถิ่น ซึ่งญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ทำงานวิจัยพื้นฐานได้ดีที่สุด เพราะสามารถเข้าถึงไม่ใช่กระโจนเข้าไปวิเคราะห์แล้วทำลายแบบบ้านเรา "วิจัยไทบ้านเป็นงานที่ไม่ได้หยุดที่ชุมชนเท่านั้นแต่เห็นบริบทท้องถิ่น ชุมชน และวัฒนธรรม จึงเป็นงานที่ลุ่มลึก เพราะเป็นการนำความรู้มาใช้ในงานพัฒนาได้และคนในท้องถิ่นก็สามารถนำมาใช้ได้จริงไม่ใช่งานวิจัยที่นำใส่ตู้ไว้ ซึ่งเป็นการหักเหที่สำคัญของงานวิจัย" รศ. ศรีศักร กล่าว นอกจากนี้เมื่อพูดถึงงานวิจัยที่มีความหมายต่อสังคม ต้องกลับไปสู่ท้องถิ่น เพราะวิจัยทั่วไปทำจากคนนอกเหมือนนกมอง ไม่เห็นละเอียดลึกซึ้ง เห็นลอยๆ เหมือนที่รัฐมอง แต่งานวิจัยไทบ้านเกิดจากความร่วมมือร่วมใจเหมือนตัวหนอน ดังนั้นนี่คือสิ่งสำคัญในการใช้ต่อรองการรุกล้ำทางการเมืองเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ เป็นการสร้างดุลยภาพ เพราะรัฐบาลไม่มีข้อมูล ไม่เห็นคน ไม่เห็นวัฒนธรรม ซึ่งงานวิจัยไทบ้านจะเป็นตัวนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง รายงานโดย : ปิ่นแก้ว อุ่นแก้ว ศูนย์ข่าวประชาไท
['ข่าว', 'สิ่งแวดล้อม']
https://prachatai.com/print/245
2004-09-10 00:11
สรุปวัคซีนหวัดนก 15ก.ย.
กรุงเทพฯ-9 ก.ย. 47 นายยุคล ลิ้มแหลมทอง อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาสถานการณ์ไข้หวัดนกจะเสนอผลการศึกษาเกี่ยวกับการนำวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดนกมาใช้ในประเทศให้คณะกรรมการฯ ที่มีนายจาตุรนต์ ฉายแสง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน พิจารณาว่าจะอนุญาตให้มีการใช้นำวัคซีนดังกล่าวมาใช้ในประเทศได้หรือไม่ในวันที่ 15 กันยายนนี้ "ถึงแม้ผู้นำเข้าจะยังไม่ห้ามนำเข้าเนื้อไก่ที่ใช้วัคซีน แต่บางประเทศมีข้อตกลงว่าหากประเทศใดที่มีปัญหาโรคไข้หวัดนกและไม่มีการใช้วัคซีนแล้วสามารถแก้ปัญหาไข้หวัดนกได้ หลังจากนั้น 6 เดือนจะสามารถส่งออกไก่ได้ แต่หากมีการใช้วัคซีนจะส่งออกได้เมื่อครบ 3 ปีไปแล้ว" นายยุคล กล่าว นอกจากนี้กรมปศุสัตว์เตรียมที่จะเสนอแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไข้หวัดนก โดยเสนอให้มีการยกเว้นการเก็บภาษีโรงเรือน และค่าไฟฟ้า รายงานโดย : ศูนย์ข่าวประชาไท
['ข่าว', 'สิ่งแวดล้อม']
https://prachatai.com/print/246
2004-09-10 00:17
กก.สิทธิฯลงใต้สอบเหตุยิงผิดตัว
ศูนย์ข่าวภาคใต้-9 ก.ย.47 ญาติเหยื่อทหาร ร้องกก.สิทธิฯ ระบุ ผู้ตายถูกกดหัวยิง รอหมอพรทิพย์ชันสูตร นายสุรสีห์ โกศลนาวิน กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กมส.) เปิดเผย "ประชาไท" ที่ อำเภอหาดใหญ่จังหวัดสงขลา ว่า ในวันพรุ่งนี้(10 กันยายน 2547) ว่า ตนพร้อมด้วยคณะอนุกรรมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ชุดที่ 1 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จะเดินทางไปพบของญาตินายอัสมิน นูรุลอาดิล อายุ 20 ปี ที่ถูกเจ้าหน้าที่ทหารพรานที่ 41 วิสามัญฆาตกรรม ในเขตเทศบาลนครยะลา เหตุเกิดเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2547 ที่ผ่านมา เนื่องจากเข้าใจผิดว่าเป็นคนร้าย เพื่อสอบถามข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคดีที่เกิดขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากมีญาติร้องเรียนมาเมื่อวันที่ 8 กันยายน ว่านายอัสมิน ถูกเจ้าหน้าที่ยิงขณะกดหัวแนบกับพื้น นายสุรสีห์ เปิดเผยว่า หลังจากพบญาติของนายอัสมินแล้ว ทางคณะอนุกรรมการฯ ก็จะไปพบ พล.ท.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี แม่ทัพภาคที่ 4 ที่ค่างสิรินธร อ.ยะรัง จังหวัดปัตตานี เพื่อสอบถามข้อมูลฝ่ายเจ้าหน้าที่ ก่อนจะไปดูที่เกิดเหตุ และจะพบกับนายบุณยสิทธิ์ สุวรรณรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา เพื่อหารือถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น นอกจากนี้จะขอให้แพทย์หญิงคุณหญิง พรทิพย์ โรจนสุนันท์ รองผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์มาช่วยชันสูตรด้วย นายสุรสีห์ กล่าวว่า ถ้าดูว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องเล็ก มันก็มีปัญหา เพราะข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นมันไม่ชัดว่าเป็นการวิสามัญฆาตกรรมหรือไม่ ถ้ามีการกดหัวก่อนยิงจริง ก็แสดงว่าเป็นการฆาตกรรม เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง ก็ต้องไปดูว่าเป็นอย่างไร ทางกรรมการสิทธิฯ จะเป็นคนกลางในการทำความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่ว่า การปฏิบัติตามกฎอัยการศึกนั้น ต้องไม่ใช่ไปสร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านผู้บริสุทธิ์ "เมื่อก่อนมีเรื่องการละเมิดสิทธิเล็กๆน้อยๆ แต่ชาวบ้านไม่กล้าบอก แต่ตอนนี้ชาวบ้านเริ่มกล้าที่จะร้องเรียนมามากขึ้น เราเองก็พยายามที่บอกกับเจ้าหน้าที่ว่าให้ทำตามรัฐธรรมนูญมาตลอด เรื่องนี้แม้จะบอกว่าเป็นการยิงผิดตัวก็ตาม เราก็จะค้นหาความจริงที่เกิดขึ้นต่อไป เพราะบางครั้งความรุนแรงเกิดจากความไม่ยุติธรรม แม้เป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ และชาวบ้านก็ไม่ได้ร้องเรียนมาก็ตาม เจ้าหน้าที่ก็ต้องคำนึงสิทธิของประชาชนด้วย จะใช้อำนาจตามอำเภอใจไม่ได้ ผมก็จะพูดให้เขาฟังด้วยว่า ต้องทำตามรัฐธรรมนูญ เพราะไม่ใช่มัวแต่บอกเจ้าหน้าที่ทำไปเพราะเขารักประเทศชาติคนเดียวโดยไม่ดูแลประชาชนเลย" นายสุรสีห์ กล่าวทิ้งท้าย รายงานโดย : มูฮำหมัด ดือราแม ศูนย์ข่าวภาคใต้
['ข่าว', 'สิ่งแวดล้อม']
https://prachatai.com/print/247
2004-09-10 00:19
"นิธิ" ชี้สังคมไทยช่วยโหมไฟใต้
ศูนย์ข่าวภาคใต้-9 ก.ย.47 คณะกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ สาขารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ สำนักงานกรรมการวิจัยแห่งชาติ ร่วมกับคณะวิทยาการจัดการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จัดการประชุมวิชาการรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ในส่วนภูมิภาค ประจำปี 2547 (ภาคใต้) เรื่องสถานการณ์และทิศทางการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ในยุคปฏิรูป ณ โรงแรมเจ.บี.หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมกว่า 300 คน ศ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กล่าวตอนหนึ่งของการปาฐกถาพิเศษว่า ประเทศไทยมีความรู้เกี่ยวกับท้องถิ่นศึกษา โดยเฉพาะภาคใต้ตอนล่างน้อยมาก ในขณะที่ผู้คนก็ให้ความสนใจในการเรียนน้อยมากเช่นกัน จึงทำให้มีช่องโหว่มาก แม้แต่นักการเมืองก็ไม่มีความรู้ ฉะนั้นการแก้ปัญหาก็ปล่อยให้นักการเมืองจัดการไปตามอำเภอใจ เมื่อไม่มีความรู้เข้าไปจัดการก็จะใช้อำนาจ ใช้ความรุนแรงเข้าไปจัดการ ส่วนสังคมที่ไม่มีความรู้ด้วยก็จะไปสนับหนุนส่งเสริมการใช้อำนาจแก้ปัญหา จึงทำให้ไม่สามารถแก้ปัญหา ดังนั้น สิ่งที่ทำได้ตอนนี้ ก็คือ การให้ความยุติธรรมกับประชาชนจะแก้ปัญหาได้ดีที่สุด นายธีรยุทธ บุญมี อาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กล่าวถึงแนวทางแก้ปัญหาว่า จะต้องเลี่ยงการใช้ความรุนแรง ต้องไม่ใช้อำนาจในการแก้ปัญหา นอกจากปฏิบัติได้เท่าที่จำเป็นและสามารถอธิบายได้ตามกฎหมายเท่านั้น ทั้งอย่าใช้อารมณ์หรือความคิดแบบสุดขั้ว คือมองปัญหาแบบแยกส่วน เพราะการใช้ความคิดสุดขั้วนั้นจะไปบ่มเพาะความคิดสุดขั้วออกไป เปิดพื้นที่เพื่อดึงมวลชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา ขจัดความไม่ยุติธรรมของระบบราชการ และต้องกระจายอำนาจให้กับประชาชน โดยฝึกหัดการใช้อำนาจให้ประชาชน ซึ่งการใช้อำนาจนั้นจะต้องใช้อย่างมีศักดิ์ศรีทางวัฒนธรรมของคนท้องถิ่น ทั้งนี้เพราะจะช่วยเสริมสร้างความสมดุลทางความคิดได้ สามารถดึงคนที่มีความคิดสุดขั้วให้กลับมาพูดคุยเจรจารวิธีแก้ไขปัญหาได้ ปัญญาชนของมุสลิมต้องลุกขึ้นขึ้นมาสร้างพื้นที่สาธารณะให้มากขึ้น เพื่อให้ประชาชนเห็นว่ามีพื้นที่ในหารพูดคุย ปรึกษาหาทางแก้ปัญหาได้ เปิดพื้นที่ทางอำนาจ ประวัติศาสตร์ การเคลื่อนไหว หรือพื้นที่ร่วมกันทั้งของคนมลายูมุสลิม คนส่วนกลาง คนไทยพุทธ เพื่อมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา รายงานโดย : มูฮำหมัด ดือราแม ศูนย์ข่าวภาคใต้
['ข่าว', 'สิ่งแวดล้อม']
https://prachatai.com/print/249
2004-09-10 19:50
ไทยส่งออกข้าวล็อตใหญ่
กรุงเทพฯ-10 ก.ย.47 บริษัทเพรซิเดนท์ อะกริเทรดดิ้ง จำกัด ตัวแทนผู้ส่งออกข้าวไทยลงนามซื้อขายข้าวกับ บริษัท แอสคอดส์ กรุ๊ป ซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายข้าวไทยในตลาดแอฟริกา จำนวน 9 แสนตัน มูลค่ากว่า 1 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้กระทรวงพาณิชย์ซึ่งเป็นสักขีพยานในการลงนามครั้งนี้ระบุว่า เป็นการซื้อขายข้าวครั้งใหญ่ที่สุดที่มีการซื้อขายกันภายใน 1 ครั้ง โดยบริษัทเพรซเดนท์ มีกำหนดส่งมอบข้าวแบ่งราคาออกเป็น 3 ระยะ คือ 300,000 ตันแรก ส่งมอบในราคา 219 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน และ 300,000 ตันต่อไปขายในราคา 223 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน และ 300,000 ตันสุดท้ายขายในราคา 225 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน สำหรับข้าวที่ขายได้ครั้งนี้เป็นข้าวขาวชนิด 20 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ไทยต้องส่งมอบข้าวทั้งหมด 900,000 แสนตัน ให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 6 เดือน โดย 300,000 ตันแรกจะเริ่มส่งมอบภายในสัปดาห์หน้า และต้องส่งมอบก่อนสิ้นปี 2547 นายวัฒนา เมืองสุข รมว.พาณิชย์กล่าวว่า การซื้อขายข้าวในกรณีนี้เป็นสัญญาณว่า ขณะนี้ราคาข้าวของไทยอยู่ในระดับขาขึ้น พร้อมมั่นใจปี 2548 ไทยจะส่งออกข้าวได้ถึง 10 ล้านตัน รายงานโดย : ศูนย์ข่าวประชาไท
['ข่าว', 'สิ่งแวดล้อม']
https://prachatai.com/print/250
2004-09-10 19:51
โภคินมั่นใจไทยปลอดก่อการร้าย
กรุงเทพฯ 10 ก.ย. 47 นายโภคิน พลกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย มั่นใจว่า ไทยไม่ใช่เป้าหมายที่กลุ่มเจมาห์อิสลามิยะห์(เจไอ) ที่จะแฝงตัวเข้ามาก่อความไม่สงบ เนื่องจากไม่มีเงื่อนไขที่ขัดแย้งกับประเทศใด อีกทั้งขณะนี้ทหารไทยที่เดินทางไปประเทศอิรักก็ได้เดินทางกลับหมดแล้ว นอกจากนี้ประเทศมาเลเซียยังให้ความร่วมมือในการต่อต้านกลุ่มก่อการร้ายกับประเทศไทยเป็นอย่างดี และโอกาสที่จะมีการก่อเหตุยังทำได้ยาก แต่รัฐบาลก็ไม่ได้ประมาทโดยได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่คอยติดตามระมัดระวังดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้เกิดกระทบการท่องเที่ยว โดยวันจันทร์นี้( 13 ก.ย.) ไทยจะเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีตรวจจับความร้อนด้วยเรดาห์จากประเทศฝรั่งเศสมาหารือ เพื่อนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้ในพื้นที่ตามแนวชายแดนไทย-มาเลเซีย รวมถึงด่านเข้า-ออกจุดผ่านแดนต่างๆ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ เพื่อตรวจหาผู้ก่อความไม่สงบที่ลักลอบเข้ามาในประเทศไทย ซึ่งหากผลการหารือร่วมกันครั้งนี้ได้ข้อสรุปจะนำเสนอต่อที่ประชุมหน่วยงานด้านความมั่นคง กระทรวงกลาโหม และสภาความมั่นคงแห่งชาติ พิจารณาอีกครั้ง รายงานโดย : ศูนย์ข่าวประชาไท
['ข่าว', 'สิ่งแวดล้อม']
https://prachatai.com/print/248
2004-09-10 19:48
กองทัพฯ ดึงเด็กใต้ทัศนศึกษากทม.
กรุงเทพฯ-10 ก.ย.47 กองทัพได้นำคณะเยาวชนจากจังหวัดภาคใต้ ประกอบด้วยสตูล ปัตตานี ยะลา สงขลา และนราธิวาส จำนวน 240 คน เดินทางมาทัศนศึกษาในกรุงเทพมหานคร และจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ระหว่างวันที่ 10 - 12 กันยายนศกนี้ ทั้งนี้กองทัพ ได้จัดกิจกรรมให้กับเยาวชน โดยหวังว่า จะเป็นการปลูกจิตสำนึกรักแผ่นดินถิ่นเกิด รู้รักสามัคคี สร้างสัมพันธภาพระหว่างเยาวชนต่างภูมิภาค รวมพลังเยาวชนคนรุ่นใหม่สร้างความมั่นคงของชาติ โดยช่วงเช้า(10 ก.ย.) ที่ผ่านมา ได้จัดการแสดงจากนักเรียนนายเรืออากาศ การแสดงท่าอาวุธประกอบดนตรี การแสดงการบินของเครื่องบินขับไล่ไอพ่น เอฟ 16 และในวันพรุ่งนี้จะมีกิจกรรมให้เยาวชนได้ทัศนศึกษาที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และทำกิจกรรมร่วมกัน รายงานโดย : ศูนย์ข่าวประชาไท
['ข่าว', 'สิ่งแวดล้อม']
https://prachatai.com/print/251
2004-09-10 19:53
ครึ่งปี 47 คนไทยใช้ไฟมากขึ้น
กรุงเทพฯ- 10 ก.ย. 47 นายวีระพล จิรประดิษฐกุล รองผู้อำนวยการ สนพ.ในฐานะรองประธานคณะอนุกรรมการการพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้า ระบุว่า ปริมาณใช้ไฟฟ้าในม.ค.-ก.ค.มีทั้งสิ้น 74,089 ล้านหน่วย เพิ่มขึ้นจากงวดปีก่อนที่มี 68,589 ล้านหน่วย โดยส่วนที่เพิ่มมาจากการบริโภคในภาคอุตสาหกรรมส่งออก อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการผลิตเหล็ก ยางสังเคราะห์ ภาคบริการ ส่วนที่บริโภคลดลงได้แก่ ธุรกิจหมวดวัสดุก่อสร้างที่เกี่ยวกับภาคอสังหาริมทรัพย์ และภาคยานยนต์อาทิ รถยนต์ และรถจักรยานยนต์ รวมถึงภาคครัวเรือนซึ่งน่าจะเป็นผลจากนโยบายประหยัดพลังงาน ทั้งนี้ สนพ.คาดว่าทั้งปี 47 การใช้ไฟฟ้าจะอยู่ที่ระดับ 126,811 ล้านหน่วย เพิ่มขึ้น 7% จากปี 46 ที่มี 118,374 ล้านหน่วย รายงานโดย : ศูนย์ข่าวประชาไท
['ข่าว', 'สิ่งแวดล้อม']
https://prachatai.com/print/255
2004-09-10 21:39
แกะรอยมะละกอ(จีเอ็มโอ)เจ้าปัญหา ตอน 1
หากจะสาวไปให้ถึงต้นตอของกระแส "มะละกอจีเอ็มโอ" คงต้องเริ่มนับกันตั้งแต่ครั้งที่ "กรีนพีซ" ปฏิบัติการสอยมะละกอแขกดำท่าพระที่ต้องสงสัยว่าเป็นจีเอ็มโอ ในแปลงทดลองของสถานีทดลองพืชสวนอ.ท่าพระ จ.ขอนแก่น เมื่อราว 2 เดือนก่อน ซึ่งเป็นข่าวโด่งดังด้วย "ชุดอวกาศสีขาว" เตะตา และ "การจู่โจม" ชนิดเจ้าของบ้านตื่นตระหนกตกตะลึง จนถึงขั้นต้องขึ้นโรงขึ้นศาล หลังจากนั้นนายกฯ ก็มีแนวคิดจะเปิดให้มีการทดลองและนำเข้าจีเอ็มโอได้อย่างเสรี ยิ่งหนุนให้กระแส "จีเอ็มโอ" ก็กลายเป็นพลุที่ยากจะดับในสังคม และถกเถียงกันในหลายแง่หลายประเด็นมากขึ้นเรื่อยๆ หากก้าวข้ามข้อถกเถียงเรื่องอันตรายต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ที่ดูเหมือนยังถกไม่ตก ขบไม่แตก คำถามที่ว่าทำไมกรีนพีซจึงเริ่มสงสัย ? เริ่มต้นการตรวจสอบอย่างไร? มะละกอเจ้าปัญหานี้กระจายไปถึงไหนบ้าง? ก็คงยังเป็นเรื่องที่ไม่กระจ่างนัก ซึ่งนั่นทำให้เรื่องเหล่านี้น่าค้นหา โดยเฉพาะเมื่อรัฐปฏิเสธแข็งขันทั้งที่ยังไม่มีการตรวจสอบจริงจัง ................................. การทดลองมะละกอจีเอ็มโอของศูนย์เกษตรท่าพระ (ชื่ออย่างไม่เป็นทางการ) ไม่ใช่เรื่องใหม่ ใครๆ ก็รู้รวมทั้งเอ็นจีโอในภาคอีสานที่เป็นตัวตั้งตัวตีคัดค้านเรื่องนี้ด้วย ทั้งเครือข่ายเกษตรทางเลือก สหพันธ์องค์กรผู้บริโภคฯลฯ แต่ดูเหมือนที่ผ่านมาไม่มีใครเอะใจ กระทั่งเดือนพฤศจิกายน 2546 กรีนพีซรับทราบข้อมูลว่าทางศูนย์ฯ มีการวิจัยในแปลงเปิด (คือ แปลงทดลองที่อยู่ในสภาพแวดล้อมจริงภายนอกโรงเรือน ซึ่งภาครัฐบอกว่ายังไม่ถึงกับเป็นสภาพไร่นา แต่ภาคประชาชนบอกว่ามีค่าเท่ากัน) จึงเข้ามาติดต่อประสานงานกับสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคภาคอีสานให้ช่วยเก็บตัวอย่างมะละกอแขกดำท่าพระของชาวบ้านในพื้นที่ เพื่อนำไปตรวจสอบด้วยเกรงว่าจะปนเปื้อนมะละกอจีเอ็มโอ ด้วยความร่วมมือของเอ็นจีโอและชาวบ้านบางส่วนในพื้นที่ ทำให้กรีนพีซได้ตัวอย่างจากแปลงเกษตรกรไปในเดือนมิถุนายน 2547 พร้อมๆ กับการเข้าไปขอซื้อเมล็ดพันธุ์มะละกอแขกดำท่าพระจากศูนย์ฯ เพื่อนำไปตรวจสอบ นั่นเป็นครั้งแรก ซึ่งผลที่ออกมาทำให้ต้องมีการตรวจสอบเป็นครั้งที่สองในเดือนกรกฎาคม 2547 ก่อนที่จะมีมติลุยปลิดมะละกอในแปลงทดลองเมื่อวันที่ 27 ก.ค.2547 ระหว่างนั้นฝั่งเครือข่ายเกษตรฯ และเครือข่ายผู้บริโภคในพื้นที่ก็เริ่มตื่นตัว ทำกิจกรรมเผยแพร่ความรู้เรื่องจีเอ็มโอให้คนในเมืองและชาวบ้าน โดยผ่านผู้นำท้องถิ่น มีทั้งเวทีสัมมนา และนิทรรศการ โดยเริ่มต้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 23 มกราคมในงานเกษตร ของม.ขอนแก่น เดือนเมษายน 2547 ส่งตัวแทนเข้าไปดูแปลงทดลองของสถานีฯ และถ่ายรูปเก็บไว้ซึ่งในภายหลังได้กลายมาเป็นหลักฐานชั้นสำคัญสำหรับโต้แย้งเรื่องการปรับเปลี่ยนแปลงทดลองอย่างกระทันหัน อย่างไรก็ตาม ในครั้งนั้นผู้อำนวยการสถานีทดลองให้การต้อนรับเป็นอย่างดี เพราะก่อนหน้าที่จีเอ็มโอจะเป็นประเด็นโด่งดัง ศูนย์เกษตรท่าพระเป็นหน่วยงานที่เชี่ยวชาญและมีชื่อเสียงในเรื่องมะละกอจีเอ็มโอ จึงยินดีที่จะให้ผู้นำเกษตรกรต่างๆ เข้าชมงานภายในแปลงทดลอง ความสัมพันธ์มาแตกหักอย่างเป็นทางการ เมื่อกรีนพีซตัดสินใจ "ลุย" สอยมะละกอในแปลงทดลอง ของศูนย์เกษตรท่าพระ อันนำมาซึ่งความตื่นตะลึงและคดีความที่ตอนนี้ยังไม่สิ้นสุด เอ็นจีโอในพื้นที่ถูกเหมารวมด้วยอย่างช่วยไม่ได้ ในฐานะที่ช่วยเหลือกรีนพีซ แม้ไม่ได้มีส่วนรู้เห็นในการบุกครั้งนั้นก็ตาม "แต่เราก็โอเคกับสิ่งที่กรีนพีซทำ มันทำให้มะละกอจีเอ็มโอกลายเป็นประเด็นอย่างรวดเร็ว เพราะทางกรีนพีซมีทั้งทุนและเครื่องมือ ถ้าเป็นพวกเราเคลื่อนไหวกันเองก็คงอีกนานกว่าจะเป็นข่าวกว้างขวาง" เจ้าหน้าที่ประสานงานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคภาคอิสานเล่าให้ฟัง ...................................... ภาพปฏิบัติการของกรีนพีซที่ออกจะรุนแรงครั้งนั้น คงสร้างความแปลกใจให้คนชั้นกลางในเมืองซึ่งเป็นผู้สนับสนุนสำคัญของกรีนพีซอยู่ไม่น้อย แต่กรีนพีซยืนยันว่า ปฏิบัติการนั้นไม่สามารถคำนึงถึงการตลาดได้ เพราะการปนเปื้อนเป็น "อาชญากรรมทางสิ่งแวดล้อม" ที่ไม่สามารถรอช้าและประนีประนอม ซึ่งทั้งหมดอยู่บนความมั่นใจว่า "จีเอ็มโอ" หลุดไปแล้ว !!! และเพียงแค่คำประกาศนี้ก็ทำให้ได้องค์กรพันธมิตรร่วมต้านจีเอ็มโออย่างมากมาย ทั้งเครือข่ายอโศก กลุ่มผู้ส่งออกเกษตรอินทรีย์ กลุ่มจับตาเอฟทีเอ ฯลฯ นอกจาเหนือจากเครือข่ายผู้บริโภคและเกษตรกรรมทางเลือก เลี้ยวกลับมาที่สถานการณ์ในพื้นที่ หลังกรีนพีซบุกไม่นาน วันที่ 31 ก.ค.เครือข่ายเกษตรฯ เคลื่อนไหวขอรายชื่อผู้ที่ซื้อเมล็ดพันธุ์จากศูนย์เกษตรท่าพระ แต่ถูกปฏิเสธห้ามเข้าตั้งแต่ระดับเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย แต่ชาวบ้านก็ไม่ยอมง่ายๆ วันที่ 3 ส.ค.จึงยกขบวนมายื่นหนังสือถึงนายกฯ ผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นกรรมการข้อมูลข่าวสารระดับจังหวัดอีกครั้ง(ตามพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร) เพื่อเรียกร้องให้มีการเปิดเผยรายชื่อดังกล่าว แต่ทุกฝ่ายก็ปฏิเสธว่าไม่มีอำนาจ จนเรื่องต้องวุ่นวายมาถึงนายกฯ สั่งผ่านรมว.เกษตรฯ เพื่อให้รายชื่อ 2,600 รายไปถึงมือคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ช่างเป็นการเดินทางอันยาวไกลของข้อมูลที่ควรจะเปิดเผยต่อสาธารณะมากที่สุดชิ้นหนึ่ง การเคลื่อนไหวให้ความรู้กับประชาชนในพื้นที่ยังไม่หยุดแค่นั้น มีการจัดเวทีสัมมนาทั้งในระดับผู้นำชาวบ้าน นักวิชาการ ส่วนราชาการ อย่างต่อเนื่อง จนล่าสุดมีการแจกซีดีว่าด้วยเรื่องจีเอ็มโอให้ชาวบ้านในพื้นที่แล้ว "กระแสตอบรับยังมีความสับสนอยู่มากว่า ทำไมข้อมูลของกรมวิชาการกับของเครือข่ายเกษตรฯ ถึงไม่เหมือนกัน" เจ้าหน้าที่ประสานงานเครือข่ายเกษตรฯ สรุป ................................................ ความเคลื่อนไหวยังคงดำเนินต่อไป โดยที่มีความพยายามจะติดตามการแพร่กระจายของมะละกอเจ้าปัญหาด้วยในขณะเดียวกัน ..... ดังนั้น.....ต้องติดตามตอนต่อไป. รายงานโดย : มุทิตา เชื้อชั่ง ศูนย์ข่าวประชาไท
['ข่าว', 'สิ่งแวดล้อม']
https://prachatai.com/print/252
2004-09-10 19:54
จิ๋วเรียก 3 ผู้ว่าฯ กำชับดับไฟใต้
ปัตตานี-10 ก.ย.47 บ่ายวันนี้ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกรัฐมนตรี ได้เรียกผู้ว่าราชการและหัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มาร่วมประชุมที่ศาลากลาง จ.ปัตตานี โดยในที่ประชุมมีการติดตามการดำเนินงาน ตามนโยบายรัฐบาลว่าเกิดปัญหาและอุปสรรคอย่างไรบ้าง ซึ่งโดยภาพรวมแล้วไม่มีการรายงานถึงอุปสรรคที่เกิดขึ้นแต่อย่างใด ทั้งนี้พลเอกชวลิตได้กำชับถึงการปฏิบัติหน้าที่ต่อประชาชน ว่าอย่าสร้างเงื่อนไขและปฏิบัติงานด้วยความระมัดระวัง โดยจะต้องดูแลความปลอดภัยของตนเองและประชาชนด้วย และภายหลังการประชุมเสร็จสิ้นรองนายกรัฐมนตรี ได้ เชิญผู้นำศาสนาและเจ้าของรร.ปอเนาะในพื้นที่เข้าพบต่อทันที โดยไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนเข้าไป รายงานโดย : ศูนย์ข่าวประชาไท
['ข่าว', 'สิ่งแวดล้อม']
https://prachatai.com/print/254
2004-09-10 21:15
ป.ป.ง. ตั้งกก.ตรวจทรัพย์สิน " เอกยุทธ"
กรุงเทพฯ-10 ก.ย. 47 พล.ต.ต. พีรพันธุ์ เปรมภูติ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(ป.ป.ง.) แถลงผลการประชุม ป.ป.ง.วันนี้ว่า ป.ป.ง.จะเข้าไปดำเนินการตรวจสอบโดยตั้งเป็นกรรมการ 12 คน เพื่อดูที่มาของทรัพย์สินนายเอกยุทธ อัญชันบุตร และพวกตามความผิดมูลฐานของกฎหมายฉ้อโกงประชาชน "ทางที่ดี นายเอกยุทธควรจะมาพบเรา และชี้แจงว่าทรัพย์สินได้มาจากไหน ก่อนที่เราจะตรวจสอบ" เลขาธิการป.ป.ง.กล่าว ป.ป.ง.ได้รับคำร้องจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่า นายเอกยุทธ ซึ่งเป็นอดีตผู้บริหารของบริษัท ชาร์เตอร์ อินเตอร์เรคชั่น เคยตกเป็น 1 ใน 5 ผู้ต้องหาคดีฉ้อโกงประชาชน เมื่อวันที่ 5 ก.ย.26 โดยพนักงานอัยการสั่งฟ้องผู้ต้องหา 2 คน ส่วนอีก 3 คน หลบหนีการจับกุมจนพ้นอายุความ "(กรณีบริษัทชาร์เตอร์ฯ) แม้จะก่อนการประกาศใช้กฎหมาย ป.ป.ง.2542 ป.ป.ง.ก็สามารถดำเนินการตรวจสอบทรัพย์สินของนายเอกยุทธ กับพวกได้ โดยเทียบเคียงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ" เลขาป.ป.ง.กล่าว ทั้งนี้ป.ป.ง.จะประสานกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้ดำเนินการกับนิติบุคคล หรือบุคคลที่ให้การสนับสนุนช่วยเหลือโอนหรือรับโอนต่อไป พร้อมทั้งขอความร่วมมือจากประชาชนที่ได้รับความเสียหายแจ้งเบาะแส ซึ่งคาดว่า คดีนี้มีผู้เสียหายที่เป็นประชาชนราว 3 พันคน พร้อมกันนั้น จะประสานงานกับป.ป.ง.ทั่วโลก ในการติดตามทรัพย์สินคืนมา รวมทั้งประสานงานกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ กรมสรรพากร และสายลับของป.ป.ง.ให้ช่วยกันแจ้งแหล่งซุกซ่อนทรัพย์สินของนายเอกยุทธและพวกอีกด้วย รายงานโดย : ศูนย์ข่าวประชาไท
['ข่าว', 'สิ่งแวดล้อม']
https://prachatai.com/print/253
2004-09-10 20:48
งานวิจัยไทบ้านป่าทามราษีไศล
งานวิจัยดำเนินการระหว่างต้นปี 2546-2547 โดยไทบ้านจาก 36 ชุมชนประมาณ 200 คน ที่ตั้งถิ่นฐานรอบป่าทามราษีไศลในเขตลุ่มน้ำมูนตอนกลาง โดยมีเจ้าหน้าที่จากเครือข่ายแม่น้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEARIN) เป็นผู้ช่วยนักวิจัย มีขั้นตอนหลักๆ คือ 1. ไทบ้านประชุมกำหนดประเด็นศึกษา 8 ประเด็นคือ ระบบนิเวศป่าทาม พรรณพืชพันธุ์ปลา เครื่องมือหาปลา การต้มเกลือ เกษตรทาม และการเลี้ยงวัว-ควาย 2. ไทบ้านคัดเลือกนักวิจัยไม่ต่ำกว่า 20 คน ต่อประเด็น 3. นักวิจัยและผู้ช่วยแต่ละประเด็นประชุมกลุ่มเพื่อจัดทำข้อมูลพื้นฐาน 4. นักวิจัยและผู้ช่วยลงสำรวจภาคสนาม การสัมภาษณ์แบบเจาะลึก การสังเกตการณ์แบบมีส่วนร่วม และการประชุมกลุ่มย่อย 5. ผู้ช่วยนักวิจัยเขียนรายงานและให้นักวิจัยทั้งหมดตรวจสอบ ผลการศึกษา 1. ระบบนิเวศป่าทามราษีไศล เป็นป่าทามที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของลุ่มน้ำมูนตอนกลางในอีสานใต้ มีระบบนิเวศย่อยถึง 12 ระบบ คือ โนน เลิง หนอง มาบ กุด ฮอง ห้วย หาด วัง บ่อเกลือ น้ำจั้น น้ำซับ ซึ่งส่งผลให้ป่าทามมีความหลากหลายทางชีวภาพสูง ทั้งพรรณพืช สัตว์น้ำ สัตว์ป่า โดยไทบ้านได้พึ่งพาในการทำเกษตรทาม เก็บพืชผัก เห็ด สมุนไพร เลี้ยงสัตว์ ต้มเกลือ และเป็นแหล่งน้ำอุปโภคบริโภคและเพื่อการเกษตร การสร้างเขื่อนได้ทำให้ป่าทามที่อุดมสมบูรณ์จมอยู่ใต้น้ำ การเปิดเขื่อนจึงทำให้ระบบนิเวศได้ฟื้นตัวดีขึ้น แต่ผลกระทบที่ยังมีอยู่คือ การแพร่ขยายของไมยราบยักษ์แทนพืชพื้นถิ่น และพันธุ์สัตว์ต่างถิ่นคือหอยคันและหอยเชอรี่ 2. พรรณพืชป่าทามแม่น้ำมูน เนื่องจากป่าทามเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำซึ่งในช่วงฤดูฝนมีน้ำท่วมหลากทั่วพื้นที่ พัดพาดินตะกอนมาทับถมกันทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์ ป่าบุ่งทามจึงมีความหลากหลายของชนิดพันธุ์ไม้ ในการสร้างเขื่อนไม่ได้มีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมก่อนจึงไม่มีข้อมูลจำนวนชนิดพันธุ์ไม้ก่อนสร้างเขื่อน แต่เมื่อมีการเปิดเขื่อนและได้มีการสำรวจหลังจากเปิดเขื่อน 2 ปี พบพันธุ์พืชที่ชาวบ้านใช้ประโยชน์กลับมา 250 ชนิด มีไม้ยืนต้น 67 ชนิด ไม้พุ่ม 33 ชนิด ไม้เลื้อย 41 ชนิด พืชประเภทกอหรือพืชตระกูลหญ้า 43 ชนิด พืชที่อาศัยในน้ำ 24 ชนิด เห็ด 32 ชนิด ซึ่งสร้างรายได้ให้กับชุมชน เช่น เห็ดทำให้มีรายได้ 500-600 บาท/วัน ผักขี้บ่อ มันแซง และต้นผือ เป็นต้น 3. พันธุ์ปลาป่าทามราษีไศล พบว่าก่อนการสร้างเขื่อนมีปลา 115 ชนิด เป็นปลาธรรมชาติ 112 ชนิด ปลาต่างถิ่น 3 ชนิด โดยปลาธรรมชาติที่อพยพมาจากมาจากแม่น้ำมูนตอนล่างและแม่น้ำโขง 33 ชนิด ซึ่งการสร้างเขื่อนทำให้พันธุ์ปลา 15 ชนิดที่ไม่พบเลยในช่วงการเก็บกักน้ำ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นปลาที่อพยพมาจากแม่น้ำมูนตอนล่างและแม่น้ำโขง และเป็นปลาที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของชาวบ้าน โดยเมื่อมีการเปิดเขื่อนพบว่าชนิดพันธุ์ปลากลับมาถึง 112 ชนิดและมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นแต่ยังน้อยกว่าช่วงก่อนการสร้างเขื่อน การกลับมาของปลาและระบบนิเวศทำให้รายได้และความมั่นคงทางอาหารของชุมชนกลับมาด้วย 4. เครื่องมือหาปลาป่าทามราษีไศล:ความรู้ สิทธิ และวิถีแห่งทาม ความรู้ในการเข้าถึงทรัพยากรปลาที่อุดมสมบูรณ์ที่หลากหลายสะท้อนจากเครื่องมือหาปลาพื้นบ้านที่มีอยู่ถึง 48 ชนิด ซึ่งต้องอาศัยความรู้เกี่ยวกับระบบนิเวศ ฤดูของน้ำ และพฤติกรรมของปลาแต่ละชนิด ซึ่งนอกจากสร้างรายได้ให้ครอบครัวแล้วยังทำให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างชาวบ้านเนื่องจากเครื่องมือหลายชนิดต้องรวมกลุ่มกันหา จากการวิจัยพบว่าการเก็บกักน้ำทำให้ระบบนิเวศที่หลากหลายกลายเป็นอ่างเก็บน้ำที่กว้างใหญ่และมีเครื่องมือถึง 37 ชนิดที่ไม่สามารถใช้ได้ แต่มีเพียงนายทุนที่มีทุนสูงนำเครื่องมือสมัยใหม่ที่ทำลายล้างสูงเข้ามาแทน การเปิดเขื่อนได้ทำให้เครื่องมือหาปลานำกลับมาใช้อีกครั้งถึง 46 ชนิดพร้อมการกลับมาของคนหาปลาที่หายไปเกือบ 10 ปี 5. ป่าทามราษีไศล : แหล่งเกลือโบราณ พบว่าป่าทามมีบ่อเกลือถึง 150 บ่อ กระจายอยู่ทั่วไปก่อนการสร้างเขื่อน โดยชาวบ้านอยู่ร่วมกับบ่อเกลือ มีการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนด้วยการต้มเกลือแบบพื้นบ้านโบราณเพื่อนำมาบริโภคและรักษาสัตว์เลี้ยง และสัตว์เลี้ยงเองก็กินดินเหมือนสัตว์ป่าที่กินดินโป่ง ในด้านเศรษฐกิจของไทบ้านมีการแลกเกลือกับข้าวหรือของใช้ตั้งแต่ในอดีตจนมีการค้าขายในปัจจุบัน การสร้างเขื่อนได้ทำให้บ่อเกลือทั้ง 150 บ่อจมอยู่ใต้น้ำและการกักเก็บน้ำส่งผลให้เกิดการแพร่กระจายของดินเค็มรอบอ่างเก็บน้ำ ไม่สามารถใช้ในการเกษตรได้ ซึ่ง 3 ปีหลังการเปิดเขื่อนมีบ่อเกลือ 47 บ่อที่ไทบ้านสามารถกลับมาต้มได้ 6. เกษตรทามราษีไศล ป่าทามเป็นแหล่งเกษตรกรรมที่สำคัญของชุมชนโดยรอบในฤดูน้ำลด เนื่องจากมีความอุดมสมบูรณ์จากการทับถมของตะกอนในฤดูน้ำหลาก มีการปลูกข้าวไร่ทาม ทำนาทาม ปลูกพืชผักต่างๆรวมถึงพืชเศรษฐกิจ โดยอาศัยแหล่งน้ำในทาม เป็นระบบเกษตรดั้งเดิมที่สอดคล้องกับระบบธรรมชาติ และทำให้มีพันธุ์พืชเกษตรที่หลากหลาย โดยพบว่าก่อนสร้างเขื่อนไทบ้านมีพันธุ์ข้าวดั้งเดิมในทามถึง 15 พันธุ์ และพืชอีก 45 ชนิด นอกจากนี้ยังมีพิธีกรรมทั้งก่อนและหลังการทำนา รวมทั้งยังมีภูมิปัญญาในการพยากรณ์ดินฟ้าอากาศโดยการสังเกตธรรมชาติ ซึ่งการสร้างเขื่อนได้ส่งผลให้พันธุ์ข้าวพื้นเมืองและพืชผักสวนครัวสูญพันธุ์ไปจากชุมชน 7. ความหลากหลายในการจัดการน้ำแบบพื้นบ้าน ป่าทามมีแหล่งน้ำธรรมชาติที่หลากหลายเป็นทั้งแหล่งอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะน้ำจั้นซึ่งเป็นแหล่งน้ำดื่มมีถึง 30 บ่อ ในการใช้น้ำเพื่อการเกษตรนั้นไทบ้านจะทำการเกษตรที่สอดคล้องกับระบบนิเวศน์ของแหล่งน้ำ เช่น การทำนาตามหนอง ปลูกพืชผักทนความเค็มในพื้นที่มีน้ำเค็ม มีการจัดการน้ำแบบผสมผสานโดยการเพาะปลูกพืชตามพื้นที่ลดหลั่นกัน และยังมีการรวมกลุ่มในหมู่เครือญาติขุดเหมือง นำน้ำเข้านา การเก็บกักน้ำของเขื่อนได้ทำให้แหล่งน้ำธรรมชาติจมอยู่ใต้น้ำ ชาวบ้านต้องเปลี่ยนวิถีการผลิตจากเดิมทำให้ต้นทุนสูง การเปิดเขื่อนจึงทำให้ชาวบ้านหันกลับมาสู่วิถีการผลิตตามธรรมชาติแบบเดิมและน้ำจั้นก็กลับมาถึง 20 บ่อ 8. วัว-ควายในป่าทาม การเลี้ยงวัว- ควายเป็นอาชีพที่สำคัญของชุมชนรอบป่าทาม เพราะพื้นที่อุดมไปด้วยพรรณพืชที่เป็นแหล่งอาหารและยังมีแหล่งเกลือธรรมชาติที่เป็นแร่ธาตุเหมาะแก่การเลี้ยงวัว-ควาย ซึ่งสามารถใช้เป็นแรงงานและให้ปุ๋ยชีวภาพตัวละประมาณครึ่งตันในหนึ่งปี การเลี้ยงของชาวบ้านต้นทุนต่ำเนื่องจากเลี้ยงโดยการปล่อยในป่าทาม การเลี้ยงวัว-ควายจึงทำให้ชาวบ้านสามารถพึ่งตนเองได้และสร้างความมั่นคงให้กับครอบครัวและชุมชน การสร้างเขื่อนได้ทำให้ชาวบ้านต้องขายวัวไปในราคาถูกเนื่องจากไม่มีแหล่งเลี้ยงและแหล่งอาหาร ภายหลังการเก็บกักน้ำ 3 ปี จำนวนวัวลดลงร้อยละ 65 และควายลดลงร้อยละ 60 การเปิดประตูเขื่อนได้ทำให้ชาวบ้านหันกลับมาซื้อวัว-ควายเลี้ยงอีกครั้ง ซึ่งหลังเปิดเขื่อน 2 ปีพบว่าจำนวนวัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 131.21และควายเพิ่มขึ้นร้อยละ 121.19 อ่านรายงานฉบับสมบูรณ์ที่ เครือข่ายแม่น้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEARIN) http://www.searin.org [1] รายงานโดย : ปิ่นแก้ว อุ่นแก้ว ศูนย์ข่าวประชาไท
['บทความ']
https://prachatai.com/print/256
2004-09-10 22:24
ผู้ผลิต-ผู้บริโภคจับมือตรวจมะละกอจีเอ็มโอทั่วปท.
ประชาไท - 10 ก.ย. 47 เครือข่ายเกษตรฯ จับมือพันธมิตรทั่วประเทศกว่า 450 องค์กร ร่วมตรวจสอบมะละกอจีเอ็มโอ ไม่เชื่อผลตรวจกระทรวงเกษตรฯ ประเดิมรอบแรกตรวจซ้ำ15 ตัวอย่างจากอำเภอพล "เราไม่ได้มีปัญหากับการตรวจสอบร่วมกับกระทรวงเกษตร แต่เท่าที่ผ่านมามีแต่การบอกจะให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วม โดยไม่เคยทำจดหมายหรือแจ้งมายังหน่วยงานไหนเลย ทั้งที่เรายินดีร่วมด้วย ถึงจะระแวงอยู่บ้างเพราะภาคเกษตรเคยมีประสบการณ์กรณีฝ้ายบีทีมาแล้ว" นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผอ.องค์กรความหลายหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาไทยกล่าว นายวิฑูรย์กล่าวระหว่างการเปิดตัว "โครงการตรวจสอบและติดตามการแพร่ระบาดของมะละกอจีเอ็มโอโดยองค์กรประชาสังคมทั่วประเทศ" โดยมีตัวแทนองค์กรร่วมแถลงข่าวอาทิ องค์กรความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาไทย (ไบโอไทย) สหพันธ์องค์กรเพื่อผู้บริโภค เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคกล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้มีองค์กรต่างๆ ทั่วประเทศต้องการเข้าร่วมโครงการกว่า 450 องค์กร เช่น เครือข่ายเกษตรอินทรีย์อุบลราชธานี สมาคมคนรักท้องถิ่นอำนาจเจริญ เครือข่าวสิ่งแวดล้อม จ.เลย เครือข่ายผู้หญิงรากหญ้าอีสาน เป็นต้น ซึ่งจะมีองค์กรประสานงานหลักอยู่ทุกภูมิภาค "ขณะนี้การปนเปื้อนน่าเป็นห่วงมาก เพราะเราคิดว่ามันคงออกไปนอกพื้นที่จังหวัดขอนแก่น โดยผ่านทางการแจกจ่ายพันธุ์มะละกอจากสถานีวิจัยฯ ท่าพระไปยังแห่งอื่นๆ ทั่วประเทศ นอกเหนือจากที่ได้ข้อมูลว่าที่จังหวัดอุบลฯ มีการนำต้นกล้ามะละกอไปแจกเต็มคันรถเป็นหมื่นๆ ต้น" นางสาวสารีกล่าว เลขาธิการสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคกล่าวต่อว่า จะมีการขอรายชื่อจากคณะกรรมการสิทธิฯ แล้วสำรวจส่วนที่นอกเหนือจากรายชื่อในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา โดยจะเริ่มดำเนินการเก็บตัวอย่างในพื้นที่นำร่อง 7 จังหวัด ได้แก่ อุบลราชธานี ขอนแก่น น่าน ชุมพร ราชบุรี ฉะเชิงเทรา สกลนคร แล้วส่งตัวอย่างไปตรวจในห้องปฏิบัติการที่มีมาตรฐานทางวิชาการคาดว่าภายใน 1 สัปดาห์จะรู้ผล จากนั้นจะเผยแพร่ข้อมูลการตรวจสอบต่อองค์กรภาคประชาสังคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งจัดประชุมระดับพื้นที่และระดับประเทศเพื่อหามาตรการและข้อเสนอต่อรัฐบาลและองค์กรภาคประชาสังคมเอง นางสาวสารีกล่าวเพิ่มเติมว่า อย่างไรก็ตาม โครงการนี้จะดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายใน 1 เดือน เพื่อให้ทันการประชุมว่าด้วยความปลอดภัยด้านอาหาร (Food Safety Reculator) ซึ่งมีตัวแทนผู้ควบคุมความปลอดภัยด้านอาหารจากทั่วโลกมาประชุมกันในประเทศไทยระหว่างวันที่10-14 ต.ค.นี้ โดยภาคประชาชนที่ร่วมโครงการนี้จะจัดเวทีคู่ขนานขึ้นในวันที่ 10 ต.ค. ชาวเมืองพลเก็บตัวอย่างตรวจซ้ำ นอกจากนี้ในการแถลงข่าวยังมีตัวแทนเกษตรกร และผู้นำเครือข่ายเกษตรฯ จากอำเภอพลและภาคอีสานร่วมด้วย โดยมีการเก็บตัวอย่างใบมะละกอจาก15 ต้นในแปลงของเกษตรกร 2 รายในอ.พล มาตรวจสอบยังห้องปฏิบัติการ โดยเกษตรกรรายแรกเป็นรายเดียวกับที่คณะกรรมการสิทธิฯ เคยเก็บตัวอย่างไป ส่วนรายที่สองเป็นเกษตรกรในพื้นที่เดียวกันที่สงสัยว่ามะละกอของตนเองจะเป็นมะละกอจีเอ็มโอ "15 ตัวอย่างนี้ทางเครือข่ายฯ จะส่งตรวจเอง แต่สำหรับตัวอย่างต่อๆ ไป ก็มีความคิดอยู่เหมือนกันว่าอาจจะส่งให้คณะกรรมการสิทธิฯ เป็นผู้ตรวจสอบ เพราะค่าใช้จ่ายค่าห้องทดลองค่อนข้างสูง ประมาณชิ้นละ 1,500-1,600 บาท" เลขาธิการสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคกล่าว รายงานโดย : มุทิตา เชื้อชั่ง ศูนย์ข่าวประชาไท
['ข่าว', 'สิ่งแวดล้อม']
https://prachatai.com/print/257
2004-09-10 22:32
นักวิชาการแม่โจ้หนุนทดลองจีเอ็มโอ
เชียงใหม่-10 ก.ย. 47 ผศ. พาวิน มะโนชัย รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการทางวิชาการ คณะผลิตกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เห็นว่า การทดลองปลูกพืชตัดแต่งพันธุกรรมหรือ GMO ในพื้นที่ที่มีการจำกัดการฟุ้งกระจายของเกสรยังเป็นสิ่งที่น่าจะทำ เพื่อให้ไทยรู้จักเทคโนโลยีทางด้านนี้ แต่ถ้าไม่ทำประเทศไทยก็จะกลายเป็นประเทศที่ล้าหลัง ผศ. พาวิน กล่าวว่า พืชจีเอ็มโอ ก็เหมือนกับเหรียญ 2 ด้าน คือ มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ดังนั้นการที่จะนำมาเผยแพร่สู่สาธารณะต้องมีการศึกษาให้ชัดเจน เพราะขณะนี้แม้แต่ประเทศทางยุโรปและอเมริกา ก็ยังมีการต่อต้านมากกว่าครึ่ง เนื่องจากยังไม่วางใจผลที่จะเกิดขึ้นตามมา รายงานโดย : ศูนย์ข่าวประชาไท
['ข่าว', 'สิ่งแวดล้อม']
https://prachatai.com/print/260
2004-09-10 22:56
อาเหยื่อทหารพรานแฉถูกกดยิง
ศูนย์ข่าวภาคใต้-10ก.ย.47 เมื่อเวลา 11.00 น. นายมูฮัมหัมหมัดรอมลี เจ๊ะแล๊ะ อาของนายอิลมีน นูรุลอาดิล อายุ 20 ปีที่ถูกเจ้าหน้าที่ทหารพรานยิงเสียชีวิตเนื่องจากเข้าใจว่าเป็นผู้ก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้เมื่อวันที่ 6 กันยายนที่ผ่านมา เหตุเกิดในเขตเทศบาลนครยะลา ชี้แจงข้อเท็จจริงต่อ นายสุรสีห์ โกศลนาวิน กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และคณะอนุกรรมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ชุดที่ 1 ที่บ้านเลขที่ 16/1 หมู่ 3 ตำบลเมาะมาวี อ.ยะรัง จ. ปัตตานี ว่า ในขณะที่ตนและนายอิลมิน วิ่งหนีกระสุนปืนของนายอับดุลอาซิ คู่กรณีจนกระทั่งมาพบกับเจ้าหน้าที่ ทหารพรานหลายนายและตะโกนสั่งให้หมอบพร้อมกับได้ยินเสียงปืนดังขึ้นหลายนัด จากนั้นตนและนายอิลมีนได้หมอบลง จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้มาเหยียบคอตนลงกับพื้น และสั่งไม่ให้เงยหน้า ชั่วครู่หนึ่งตนได้ยินเสียงปืนดังขึ้น 1 นัด จากนั้นก็ได้ยินเสียงพูดว่า พอแล้ว ๆ ตนจึงเงยหน้าขึ้น พบว่านายอิลมีนถูกยิงจากข้างหลังเสียชีวิตแล้ว นายอุสมาน บิดาของนายอิลมีน กล่าวว่าคดีนี้เป็นความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ซึ่งแสดงให้เห็นว่าชาวบ้านไม่มีหลักประกันความปลอดภัยเลย ตนจึงอยากให้คดีนี้เป็นตัวอย่างโดยตนจะไม่พึ่งสภาทนายความหรือกฎหมายอิสลาม โดยตนจะฟ้องเจ้าหน้าที่ที่ยิงลูกชายของตนด้วยตัวเอง ในวันจันทร์ที่จะถึงนี้ และจะฟ้องเจ้าหน้าที่ที่ยึดปืนขนาด .22 มม. จากลูกชายของตนไปยิงทิ้ง 2 นัดเพื่อให้เห็นว่าลูกชายของตนยิงต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ก่อนถูกยิงเสียชีวิตทั้งที่จริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น หลังจากคณะกรรมการสิทธิฯ รับฟังข้อมูลเสร็จแล้วก็เดินทางต่อไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร ต. บ่อทอง อ. หนองจิก จ. ปัตตานี เพื่อสอบถามข้อเท็จจริงจากฝ่ายทหารโดยมีพลตรี ไกรฤกษ์ ขันทองคำ ที่ปรึกษาแม่ทัพภาคที่ 4 และนายทหารพระธรรมนูญที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการสอบสวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นผู้ให้ข้อมูลโดยระบุว่าทหารพรานคนดังกล่าวได้ยิงนายอิลมีนเนื่องจากขณะวิ่งไล่ตามจนเกือบจะทันอยู่แล้ว นายอิลมีนได้หันปากกระบอกปืนหมายจะยิงตน และขณะนั้นนายอิลมีนได้วิ่งสะดุดขาตัวเองจนล้มลง ทหารพรานคนดังกล่าวจึงยิงนายอิลมีนเสียชีวิต นอกจากนี้ยังได้แจ้งว่าการที่นายอุสมานจะฟ้องทหารพรานคนดังกล่าวเนื่องจากไม่พอใจที่สื่อมวลชนระบุว่าลูกชายของเขาเป็นผู้ก่อความไม่สงบ ส่วนเรื่องกดหัวแล้วยิงนั้นเป็นข่าวที่ปรากฏขึ้นมาทีหลังซึ่งเป็นการคิดเองของชาวบ้าน รายงานโดย : ศูนย์ข่าวประชาไท
['ข่าว', 'สิ่งแวดล้อม']
https://prachatai.com/print/263
2004-09-10 23:38
กักตัวเฝ้าระวังหวัดนกอีก 3 ราย
กรุงเทพฯ-10 ก.ย.47 สาธารณสุขเฝ้าระวังหวัดนก กักตัวผู้ป่วยจากลพบุรี และลำปาง ดูอาการเพิ่มอีก 3 ราย หลังจากมีผู้ป่วยเสียชีวิตไปแล้ว 1 ราย "ผลการตรวจผู้เข้าข่ายเฝ้าระวังติดเชื้อไข้หวัดนกทั้ง 3 ราย ในเบื้องต้นเห็นว่า ไม่ได้ติดเชื้อไข้หวัดนก เนื่องจากปอดไม่มีการติดเชื้อ โดยในส่วนของผู้ป่วย จ.ปราจีนบุรี ได้มีผลตรวจยืนยันออกมาแล้วเป็นเนกาทีฟ แต่ต้องรอผลตรวจซ้ำยืนยันอีกครั้งจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ในวันพรุ่งนี้ เช่นเดียวกับผู้เข้าข่ายเฝ้าระวังอีก 2 ราย" น.พ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ระบุ สถานการณ์การเฝ้าระวังการติดเชื้อไข้หวัดนกขณะนี้มีผู้ที่อยู่ในข่ายเฝ้าระวังการติดเชื้อไข้หวัดนกในการระบาดรอบที่ 2 แล้ว 51 ราย จากเดิม 49 ราย โดย 47 รายได้ตัดออกจากการเฝ้าระวังการติดเชื้อแล้ว ส่วนที่เหลือ เสียชีวิต 1 ราย คือ นายคมสัน ฟักหอม อายุ 18 ปี อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี และยังอยู่ในข่ายเฝ้าระวังอีก 3 ราย โดยหนึ่งในนั้นเป็นเพื่อนผู้ตาย และเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลกบินทร์บุรี ส่วน 2 รายที่เพิ่มขึ้น เพิ่งนำเข้าสู่ระบบการเฝ้าระวังเมื่อช่วงเช้าวันนี้ (10 ก.ย.) รายแรก เป็นชายอายุ 14 ปี ที่ จ.ลพบุรี มีอาการไอ ปวดหัว ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ มีประวัติสัมผัสไก่ ที่บ้านมีการเลี้ยงไก่ปล่อยใต้ถุนบ้านกว่า 100 ตัว อีกทั้งไก่ยังทยอยตายอย่างต่อเนื่อง ส่วนรายที่สอง เป็นชาย อายุ 84 ปี จ.ลำปาง มีอาการป่วยที่เข้าข่ายต้องสงสัยเช่นกัน และมีไก่ที่บ้านทยอยตายไปแล้ว 40 ตัว ซึ่งผู้ป่วยทั้ง 2 ราย ขณะนี้ได้ถูกนำตัวส่งเข้ารักษาและสังเกตอาการอย่างใกล้ชิดแล้วที่โรงพยาบาล น.พ.คำนวณ กล่าวว่า สำหรับในรายที่เสียชีวิตล่าสุดนั้น ชี้ให้เห็นว่า ในกลุ่มผู้เลี้ยงไก่ชนจะต้องมีความระมัดระวังตัวมากยิ่งขึ้น และควรหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อหวัดนก ทั้งการดูดเสมหะจากคอไก่ หรือการดูดเลือดไก่ที่ได้รับบาดเจ็บระหว่างการตีปาก ทั้งนี้จะมีการหารือกับทางชมรมผู้เลี้ยงไก่ชน ในการเผยแพร่ข้อมูล และในการประชุมเพื่อแก้ไขปัญหาโรคไข้หวัดนกในวันจันทร์นี้ (13 ก.ย.) ที่มีนายจาตุรนต์ ฉายแสง รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อหารือดำเนินมาตรการป้องกัน สำหรับสถานการณ์การระบาดของโรคไข้หวัดนกที่ผ่านมานั้น ในการระบาดรอบแรก ได้มีการสอบสวนโรคทั้งหมด 610 ราย ยืนยันเป็นเชื้อไข้หวัดนก 12 ราย เสียชีวิต 8 ราย ส่วนการระบาดในรอบที่ 2 มีการสอบสวนโรค 51 ราย ยืนยันเป็นเชื้อไข้หวัดนก 1 ราย และเสียชีวิตแล้ว ทั้งนี้ จำนวนยอดผู้ติดเชื้อทั้งหมด 13 ราย จะอยู่ในประเภทการเลี้ยงไก่ 2 กลุ่ม คือ ไก่ประเภทเลี้ยงตามบ้านของชาวบ้าน และไก่ชน ซึ่งง่ายต่อการสัมผัส และในจำนวนผู้ป่วยดังกล่าว กว่าครึ่งหนึ่งเป็นเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 7 ปี รายงานโดย : ศูนย์ข่าวประชาไท
['ข่าว', 'สิ่งแวดล้อม']
https://prachatai.com/print/258
2004-09-10 22:51
ฮูติงปศุสัตว์ปิดข้อมูลหวัดนก
กรุงเทพฯ-10 ก.ย.47 นพ.กุมารา ราย รักษาการณ์ผู้แทนองค์การอนามัยโลก(WHO) ประจำประ เทศไทย แสดงความกังวลกรณีการพบผู้ป่วยหวัดนกที่ จ. ปราจีนบุรีว่า กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งต้องตรวจสอบพื้นที่ที่ระบาดอย่างต่อเนื่องนั้น ไม่ได้รายงานมาก่อนว่าที่ อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี มีการระบาดของไข้หวัดนกในสัตว์ปีกมาก่อน ซึ่งอาจจะเป็นเพราะว่า ผู้ที่เลี้ยงไก่ชนมีความผูกพันกับไก่ที่เลี้ยงมาก จนไม่ยอมให้ข้อมูลก็เป็นได้ นพ.กุมารา กล่าวว่า ขณะนี้ยังคงมีเชื้อไข้หวัดนกอยู่ในสภาพแวดล้อมของไทย และยังคงมีการแพร่ระบาดในสัตว์ปีกอยู่ ซึ่งทั้งองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) องค์การสุขภาพสัตว์แห่งโลก (OIE) และองค์การอนามัยโลก ต่างก็ยังคงให้ความสำคัญกับการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคในสัตว์ปีก แต่การควบคุมโรคนั้นคงไม่ง่ายนัก ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดี ที่กระทรวงเกษตรฯ ของไทยไม่ได้ประกาศว่า ไทยเป็นเขตปลอดเชื้อไข้หวัดนก และมีการควบคุมอย่างต่อเนื่อง "เมื่อยังมีเชื้อไข้หวัดนกอยู่ในสภาพแวดล้อม จึงมีโอกาสที่เชื้อจะเพิ่มความรุนแรงมากขึ้น และอาจจะกลายพันธุ์ได้ ขณะนี้ทั่วโลกยังไม่พร้อมที่จะรับมือกับการอุบัติของโรคเท่าใดนัก เนื่องจากเรายังไม่มีวัคซีนป้องกันไข้หวัดนก และยาทามิฟลู หรือยาต้านไวรัสไข้หวัดนก ก็ยังไม่เพียงพอ ดังนั้นจึงต้องมีการป้องกันการระบาดของโรคในสัตว์ปีกต่อไป เพราะหากมีการควบคุมการระบาดในสัตว์ปีกได้เป็นอย่างดี ก็จะไม่มีโรคนี้ในคน" นพ.กุมารากล่าว รายงานโดย : ศูนย์ข่าวประชาไท
['ข่าว', 'สิ่งแวดล้อม']
https://prachatai.com/print/259
2004-09-10 22:54
ปศุสัตว์ตรวจฟาร์มไก่ทั่วปท.
ประชาไท-10 ก.ย.47 นายยุคล ลิ้มแหลมทอง อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า กรมปศุสัตว์จะนำมาตรการเร่งด่วนในการควบคุมโรคมาใช้ตั้งแต่เดือนตุลาคมนี้เป็นต้นไป โดยจะให้เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์สุ่มตรวจสอบฟาร์มเลี้ยงไก่และสัตว์ปีกทั่วประเทศ และให้ดำเนินการต่อเนื่องกันทุกๆ 2 เดือน นอกจากนี้จะให้อาสาสมัครที่มีอยู่กว่า 30,000 คน คอยเฝ้าระวังโรค นายสุขุมรัฏฐ์ สาริบุตร ผู้ว่าราชการ จ.ปราจีนบุรี พร้อมด้วยสำนักสุขอนามัยที่ 2 ปศุสัตว์ จ.ปราจีนบุรี ได้ระดมกำลังเข้าพื้นที่หมู่ 7 ต.เถาไม้แก้ว เข้าควบคุมพื้นที่ดังกล่าว โดยส่วนหนึ่งได้นำกำลังเจ้าจับไก่เพื่อทำลาย และส่วนหนึ่งเข้าตรวจสอบชาวบ้านที่สงสัยว่าอาจจะมีเชื้อไข้หวัดนก โดยเฉพาะนักเรียนโรงเรียนบ้านเขาด้วนที่มีพฤติกรรมคลุกคลีกับผู้เสียชีวิตในการตีไก่ชน ขณะนี้ได้นำนักเรียนทั้งหมดประมาณ 20 คน เข้าตรวจสุขภาพ และหาเชื้อไข้หวัดนกที่โรงพยาบาลกบินทร์บุรี ส่วนไก่ที่จับคาดว่าจะดำเนินการทำลายที่วัดเขาด้วนในบ่ายวันนี้ นายสถิตย์ สมทรง ปศุสัตว์จังหวัดสระแก้ว กล่าวยืนยันว่า พื้นที่ จ.สระแก้วซึ่งติดกับ จ.ปราจีนบุรียังปลอดจากเชื้อไข้หวัดนก และไม่มีรายงานการตายของไก่ แต่เพื่อไม่ประมาทได้สั่งการและแจ้งผ่านวิทยุกระจายเสียงและหอกระจายข่าวประจำหมู่บ้าน ขอให้ประชาชนที่เลี้ยงไก่พื้นเมือง โดยเฉพาะไก่ชน ห้ามเคลื่อนย้ายไก่ และชนไก่โดยเด็ดขาด โดยเฉพาะจังหวัดสระแก้วยังคงอยู่ในช่วงการประกาศเขตสงสัยว่ามีโรคระบาดสัตวปีกอยู่ ซึ่งมีผลบังคับทางกฏหมาย ที่ จ.พังงา สำนักงานปศุสัตว์จังหวัด ได้จัดทำบัตรประจำตัวให้ไก่ชนที่มีกว่า 3,000 ตัว ในพื้นที่จังหวัดพังงา โดยมีการถ่ายรูปและบันทึกประวัติการตรวจโรคและวัคซีนต่างๆ โดยเฉพาะโรคไข้หวัดนก ทั้งนี้หากยังไม่ผ่านการตรวจ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดพังงา จะตรวจให้ฟรี เพื่อป้องกันการติดเชื้อโรคไข้หวัดนก นอกจากจะดูแลตัวไก่แล้ว สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพังงาจัดส่งเจ้าหน้าที่มาดูแลที่สนามชนไก่ ที่มีประมาณ 2 - 3 แห่ง เพื่อคอยสังเกตและตรวจสุขภาพร่างกายของเจ้าของไก่ชน และผู้ที่มาร่วมชมในสนามด้วย เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดจากไก่มาสู่คน รายงานโดย : ศูนย์ข่าวประชาไท
['ข่าว', 'สิ่งแวดล้อม']
https://prachatai.com/print/261
2004-09-10 23:00
เครือข่ายปชช.ใต้ถกแผนฯ พัฒนารัฐ
ศูนย์ข่าวภาคใต้-10 ก.ย.47 เครือข่ายประชาชนภาคใต้ ประชุมศึกษาแผนพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคใต้ เตรียมพาตัวแทนชาวบ้านดูงานสรุปบทเรียนมาบตาพุด ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ อ.เมือง จ.ตรัง คณะทำงานนโยบายประชาชนภาคใต้ ได้จัดให้มีการประชุมเครือข่ายประชาชนภาคใต้ ในหัวข้อ " การประชุมและจัดการศึกษาแผนพัฒนาภาคใต้" โดยมีผู้เข้าร่วมประกอบด้วย สมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านภาคใต้ มูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพันธุพืชฯ เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคใต้ โครงการสิทธิชุมชนศึกษาภาคใต้ โครงการดับบ้านดับเมือง กลุ่มศึกษาและรณรงค์มลภาวะอุตสาหกรรม(CAIN) กลุ่มอนุรักษ์ป่าสุราษฎร์ธานี เครือข่ายป่าชุมชนภาคใต้ จ.สุราษฏร์ โครงการเสริมสร้างศักยภาพเยาวชน โครงการเสริมสร้างจิตสำนึกนิเวศวิทยา โดยในการประชุมมีการหยิบยกแผนพัฒนาพื้นที่ภาคใต้ มาศึกษาและทำความเข้าใจผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ต่างๆ เช่นยุทธศาสตร์พลังงาน (Strategic Energy Landbridge) โครงการแผนแม่บท 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นต้น นายสอด สุขนาค คณะกรรมการเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคใต้ กล่าวว่า ในส่วนของ จ.สุราษฎร์ธานี และ จ.กระบี่ ตอนนี้ ชาวบ้านทราบว่า จะมีโครงการแลนด์บริดจ์ แต่ทราบเพียงแต่ชื่อ ส่วนใหญ่ไม่ทราบรายละเอียดโครงการว่า เป็นอย่างไรบ้าง ซึ่งเป็นปัญหาของเครือข่ายที่ไม่สามารถทำให้ชาวบ้านเข้าใจ และเข้าร่วมทำงานกับเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคใต้ได้ อย่างไรก็ดีการเข้ามาประชุมในวันนี้ทำให้ทราบรายละเอียดของโครงการฯ มากขึ้น และจะนำรายละเอียดที่ได้ในการประชุมครั้งนี้ไปแจ้งกับชาวบ้าน ให้เข้าใจมากขึ้น ให้เห็นผลกระทบจากโครงการมากกว่าที่เข้าใจอยู่ ด้านนายหมาด โต๊ะสอ คณะกรรมการกลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรประมงพื้นบ้าน บ้านสระบัว อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช กล่าวว่า ที่ผ่านมากลุ่มประมงพื้นบ้านที่หากินด้านชายฝั่งทะเลด้านตะวันออก ของ อ.ท่าศาลา ได้รับผลกระทบจากการปล่อยน้ำหล่อเย็นของโรงไฟฟ้าขนอม พอได้ทราบว่าจะมีโครงการแลนด์บริดจ์ ขึ้นใน อ.สิชล ก็คิดว่า โครงการนี้จะกระทบกับประมงชายฝั่งเป็นอย่างมาก แต่ที่ผ่านมาไม่เคยรับรู้รายละเอียดการก่อสร้างโครงการเลย เนื่องจากข้อมูลของโครงการถูกเก็บอยู่ที่บ้านของกำนันคนหนึ่ง และในการประชุมแต่ละครั้ง ไม่ได้มีการชี้แจงให้ชาวบ้านทราบ การมาร่วมประชุมครั้งนี้ทำให้เห็นภาพชัดเจนขึ้นว่า จะมีการสร้างท่าเรือตรงจุดไหน และท่าน้ำมันจะยาวเท่าไหร่ ซึ่งข้อมูลที่ได้ในวันนี้จะเป็นประโยชน์กับประมงท้องถิ่นเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ในที่ประชุมได้แจ้งว่า จะมีการพาตัวแทนของชาวบ้านในพื้นที่ต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากแผนพัฒนาภาคใต้ คือ อ. สิชล อ.ท่าศาลา กิ่ง อ.นบพิตำ จ.นครศรีธรรมราช อ.กาญจนดิษฐ์ อ.วิภาวดี อ.พนม อ.เคียนซา จ.สุราษฎร์ธานี อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา อ.จะนะ อ.นาหม่อม อ.สะเดา จ.สงขลา อ.สายบุรี อ.บันนาเระ อ.เมือง จ.ปัตตานี และชาวบ้านจากสตูล พื้นที่ละ 2 คน ไปดูงานที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด เพื่อให้เห็นภาพว่า จะมีนิคมอุตสาหรรมเพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น และจะกลับมาพูดคุยเพื่อกำหนดกิจกรรมอีกครั้งหนึ่ง ระหว่างวันที่ 4- 8 ตุลาคม 2547 นี้ หลังจากนั้นคณะทำงานนโยบายประชาชนภาคใต้ จะลงสำรวจพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ในวันที่ 28-30 ตุลาคม ศกนี้ รายงานโดย : ณขจร จันทวงศ์ ศูนย์ข่าวภาคใต้
['ข่าว', 'สิ่งแวดล้อม']
https://prachatai.com/print/262
2004-09-10 23:34
ฮาวายตะลึง ผลตรวจมะละกอจีเอ็มโอครั้งใหม่
เมลานี บอนเดอรา เครือข่ายต้านจีเอ็มโอ ฮาวาย โนลิ โฮเย กลุ่มคาไวอิปลอดจีเอ็มโอ ฮิโล ฮาวาย, 9 กันยายน 2547 ผลการตรวจสอบจากห้องปฎิบัติการอิสระซึ่งเปิดเผยในวันนี้ พบการแพร่กระจายของ เมื่อเวลา 04:00 น. ของวันที่ 10 กันยายน 2547 (ตามเวลาประเทศไทย) เกษตรกร ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ ประชาชน และนักวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยฮาวาย ร่วมกับกลุ่ม "ฮาวายปลอดจีเอ็มโอ" (GMO-Free Hawaii) ประกาศผลการวิจัยที่สร้างความตื่นตะลึงนี้ที่มหาวิทยาลัยฮาวายซึ่งเป็นศูนย์ผลิตและกระจายพันธุ์มะละกอจีเอ็มโอ เกษตรกร ผู้บริโภค และประชาชนที่ปลูกมะละกอไว้ในสวนหลังบ้านหลายสิบคน นำมะละกอที่ปนเปื้อนจีเอ็มโอของพวกเขามาส่งคืนให้กับทางมหาวิทยาลัย เพื่อเรียกร้องให้มหาวิทยาลัยทำแผนกำจัดการปนเปื้อน นอกจากนี้ กลุ่มประชาชนยังเรียกร้องให้มหาวิทยาลัยมีมาตรการชดใช้ค่าเสียหายให้กับผู้ปลูกมะละกอท้องถิ่น พร้อมทั้งป้องกันมิให้ผลิตผลทางการเกษตรชนิดอื่นๆของฮาวายต้องปนเปื้อนจีเอ็มโอไปด้วย กลุ่ม "ฮาวายปลอดจีเอ็มโอ" ส่งตัวอย่างมะละกอเหล่านี้ไปตรวจสอบที่ห้องปฏิบัติการเจเนติกไอดี (Genetic ID) ซึ่งเป็นห้องปฎิบัติการวิทยาศาสตร์ด้านพันธุกรรมชั้นนำแห่งหนึ่งของโลก ผลปรากฎว่า จากเมล็ดมะละกอเกือบ 2 หมื่นเมล็ดที่เก็บรวบรวมมาจากสวนเกษตรอินทรีย์ สวนหลังบ้าน และต้นมะละกอที่ขึ้นเองทั่วเกาะบิ๊กไอส์แลนด์ มีการปนเปื้อนจีเอ็มโอถึงร้อยละ 50 ขณะที่ตัวอย่างมะละกอที่เก็บจากสวนเกษตรอินทรีย์บนเกาะโออาฮู ตรวจพบการปนเปื้อนมากกว่าร้อยละ 5 และยังพบการปนเปื้อนในสวนเกษตรอินทรีย์แห่งหนึ่งบนเกาะ คาไวอิด้วยนอกจากนี้ ทางกลุ่มยังส่งเมล็ดมะละกอพันธุ์ โซโลไวมานาโล (มะละกอพันธุ์ปกติที่ไม่ได้ตัดต่อพันธุกรรม) ซึ่งซื้อจากมหาวิทยาลัยฮาวายไปตรวจ และพบว่ามีการปนเปื้อนจีเอ็มโอเช่นกัน โทอิ ลาห์ติ (Toi lahti) เกษตรกรสวนเกษตรอินทรีย์ และผู้ปลูกมะละกอจากเกาะบิ๊กไอส์แลนด์ กล่าวว่า นับเป็นเรื่องที่รุนแรงมาก ที่มหาวิทยาลัยฮาวาย ขายเมล็ดพันธุ์ปนเปื้อนจีเอ็มโอให้กับเกษตรกรและผู้ปลูกมะละกอท้องถิ่นของเรา เพราะนอกจากเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์เหล่านี้ อาจจะถูกริบใบอนุญาตเพราะปลูกพืชจีเอ็มโอแล้ว พืชเหล่านี้ก็เป็นสิทธิบัตรของบริษัทอย่างมอนซานโตอีกด้วย ทำให้โอกาสที่เกษตรกรจะถูกมอนซานโต้ฟ้องร้องเพราะละเมิดสิทธิบัตรมีความเป็นไปได้สูง แม้ว่าพวกเขาจะปลูกโดยไม่รู้ว่าเป็นมะละกอจีเอ็มโอก็ตาม มาร์ค เควรี่ แห่งกลุ่ม "ฮาวายปลอดจีเอ็มโอ" ระบุว่าผลการตรวจสอบครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่า สต็อกของเมล็ดพันธุ์มะละกอที่ไม่ได้ตัดต่อยีนของมหาวิทยาลัยฮาวายปนเปื้อนจีเอ็มโอ จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า ทางมหาวิทยาลัยต้องรับผิดชอบและเร่งดำเนินการคุ้มครองเกษตรกร ผู้บริโภค และ สิ่งแวดล้อมในทันทีทันใด เพราะการปนเปื้อนมะละกอจีเอ็มโอ เป็นกรณีศึกษาที่ชี้ให้เห็นถึงภัยคุกคามจากการปนเปื้อนจีเอ็มโอที่กำลังรุกคืบเข้าไปในภาคการเกษตรท้องถิ่น ซึ่งแสดงให้เห็นชัดเจนว่า การที่อนุญาตให้ปลูกพืชจีเอ็มโอร่วมกับพืชท้องถิ่น (Coexistence) นั้นเป็นไปไม่ได้ เกษตรกรฮาวายวิตกว่า วิกฤตการปนเปื้อนจีเอ็มโอนี้จะส่งผลกระทบต่อตลาดส่งออกมากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะประเทศที่มีมาตรการเข้มงวดเกี่ยวกับการนำเข้าพืชจีเอ็มโอ เช่น ญี่ปุ่น เมลานี บอนเดอรา (Melanie Bondera) เกษตรกรจากเขตโคนา (Kona) และสมาชิกของเครือข่ายต้านจีเอ็มโอฮาวาย (Hawaii Genetic Engineering Action Network) กล่าวว่าเกาะบิ๊กไอส์แลนด์มีพื้นที่ปลูกมะละกอจีเอ็มโอเพื่อการค้ามากที่สุดของรัฐฮาวาย หากยังคงปลูกพืชจีเอ็มโอต่อไป ภาคการเกษตรของฮาวายจะตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะสูญเสียชื่อเสียงในตลาดส่งออกทั่วโลกอย่างที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น นายแพทย์ลอร์ริน แปง (Dr. Lorrin Pang) ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุข กล่าวถึงความเสี่ยงต่อสุขภาพมนุษย์ที่อาจเกิดขึ้นได้จากการบริโภคมะละกอจีเอ็มโอและอาหารจีเอ็มโออื่นๆ ซึ่งรวมถึงการดื้อยาปฏิชีวนะที่เพิ่มขึ้น และการเกิดอาการภูมิแพ้ที่คาดไม่ถึง "สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงในตัวของมันเองอยู่แล้ว แต่ความเป็นห่วงจะน้อยกว่านี้ ถ้าการกลายพันธุ์จีเอ็มโอไม่ได้ขยายขอบเขตเกินความตั้งใจของเรา แต่ผลการตรวจสอบในวันนี้ชี้ให้เห็นว่า จีเอ็มโอแพร่กระจายไปอย่างควบคุมไม่ได้ ถ้าหากเกิดปัญหาด้านสุขภาพขึ้นเพราะอาหารจีเอ็มโอเป็นต้นเหตุ เราจะไม่สามารถเรียกสิ่งมีชีวิตกลายพันธุ์ที่อันตรายนี้ให้กลับคืนมาได้ เพราะมันถูกปล่อยให้แพร่กระจายออกไปสู่สิ่งแวดล้อมแล้ว" ดร. เฮคเตอร์ วาเลนซูเอลา (Dr.Hector Valenzuela) นักวิทยาศาสตร์ที่เชี่ยวชาญด้านพืชเขตร้อนจากคณะพืชเขตร้อนและวิทยาศาสตร์ดินแห่งมหาวิทยาลัยฮาวายวิทยาเขตมาเนา (Manoa) ยืนยันว่า การสนับสนุนพืชตัดต่อยีนของมหาวิทยาลัยจะทำให้ภาคการเกษตรของฮาวายเดินไปผิดทาง เขากล่าวว่า แทนที่เราจะสนับสนุนเทคโนโลยีที่ยังไม่มีการพิสูจน์อย่างจีเอ็มโอต่อไป มหาวิทยาลัยฮาวายควรหันมาวิจัยและส่งเสริมวิธีการปลอดจีเอ็มโอที่สามารถแก้ปัญหาภาคการเกษตรท้องถิ่นได้ เขายังกล่าวต่ออีกว่า เกษตรกรชาวฮาวายต้องการความก้าวหน้าทางการเกษตรที่สามารถปกป้องไร่นา และเศรษฐกิจการเกษตรของรัฐได้ในระยะยาว เมลานีกล่าวว่า สืบเนื่องจากการตรวจพบการปนเปื้อนจีเอ็มโอครั้งนี้ กลุ่ม "ฮาวายปลอดจีเอ็มโอ" จะเริ่มดำเนินการรณรงค์อย่างต่อเนื่อง "มหาวิทยาลัยฮาวายและกลุ่มอุตสาหกรรมจีเอ็มโอ สร้างภาพให้เห็นว่ามะละกอจีเอ็มโอเป็นความสำเร็จสำหรับผู้ปลูกมะละกอท้องถิ่น แต่ในความเป็นจริงแล้ว สิ่งที่เกษตรกรฮาวายเจอจากมะละกอจีเอ็มโอกลับเป็นเรื่องที่เศร้าสลดเกินกว่าจะบรรยาย" เมลานีกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ทั้งๆ ที่เกษตรกรท้องถิ่นกำลังมีปัญหากับมะละกอจีเอ็มโอ แต่ทางมหาวิทยาลัยฮาวาย ก็ยังคงเดินหน้าตัดต่อพันธุกรรมเผือก สับปะรด กล้วย อ้อย และผลิตผลทางการเกษตรอื่นๆ ของฮาวายอีก " ปัญหาการปนเปื้อนของมะละกอจีเอ็มโอชี้ให้เห็นแล้วว่า ยังมีคำถามอีกมากมายที่ยังไม่มีคำตอบเกี่ยวกับเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร คำถามเหล่านี้มีมากเกินกว่าที่เราจะให้ปล่อยสิ่งมีชีวิตตัดต่อพันธุกรรมที่ยังอยู่ภายใต้การทดลองออกสู่สิ่งแวดล้อม" "เราไม่สนับสนุนให้มีการเผยแพร่พืชจีเอ็มโอชนิดอื่นๆ ออกมาอีก และขอให้มหาวิทยาลัยฮาวายสนับสนุนการวิจัยเกษตรแบบยั่งยืนของท้องถิ่น" เมลานีกล่าวเรียกร้อง หมายเหตุ 1. รายงานเรื่อง "ทำไมไม่เอามะละกอจีเอ็มโอ" และ "มะละกอจีเอ็มโอ พืชผิดธรรมชาติ" ดาวน์โหลดได้จากเว็บไซต์http://www.truefood.org [1] 2. รัฐฮาวายอนุมัติให้ปลูกมะละกอจีเอ็มโอเพื่อการค้ามาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541 3. เมื่อเดือนกรกฎาคม 2546 เกษตรกรฮาวายเคยเดินทางมาประเทศไทย เพื่อเล่าบทเรียนที่เจ็บปวดจากมะละกอจีเอ็มโอให้กับเกษตรกรไทยและประชาสังคมกลุ่มต่างๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับมะละกอฟัง และเตือนว่าเหตุการณ์เดียวกันอาจเกิดขึ้นในประเทศไทย รายงานโดย : ศูนย์ข่าวประชาไท
['ข่าว', 'สิ่งแวดล้อม']
https://prachatai.com/print/264
2004-09-11 19:27
คนต้มเกลือ...การกลับคืนของวัฒนธรรมพื้นถิ่นพร้อมการกลับมาของปลาและป่าทาม
8 กันยายน 2547 งานวิจัยไทบ้านป่าทามราษีไศล ฉบับสมบูรณ์ถูกถ่ายทอดสู่สาธารณะครั้งแรกที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม โดยมีตัวแทนนักวิจัยไทบ้านร่วม 10 คน เป็นผู้มาบอกเล่าเรื่องราวของวิถีชุมชนหลังการเปิดประตูเขื่อนตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา ซึ่งทำให้แม่น้ำมูนได้ไหลเป็นอิสระอีกครั้ง และการกลับมาของป่าบุ่ง ป่าทามซึ่งเป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของลุ่มน้ำมูนตอนกลางในอีสานใต้ ที่มาของวัฒนธรรมการต้มเกลือแบบพื้นบ้านโบราณ ป่าทามราษีไศล นอกจากมีพรรณพืช พันธุ์สัตว์มากมายแล้วยังเป็น แหล่งเกลือโบราณ โดยมีบ่อเกลือถึง 150 บ่อ กระจายอยู่ทั่วไปก่อนการสร้างเขื่อน การต้มเกลือเป็นเสมือนวิถีชีวิตส่วนหนึ่งของชาวบ้านที่นี่ ตั้งแต่สมัยปู่ ย่า ตา ยาย มีการใช้เกลือในการบริโภคในครัวเรือน ใช้แลกข้าว แลกข้าวของเครื่องใช้ แม้กระทั่งซื้อขายในปัจจุบัน ภูมิปัญญาของคนต้มเกลือที่ราษีไศลไม่ใช่แค่การนำเกลือในดินขึ้นมาเท่านั้น แต่คือ การรู้จักอยู่ร่วมกับธรรมชาติ ซึ่งถ่ายทอดมาสู่ลูกหลานให้รู้จักใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน พ่อไมล์ แสงงาม วัย 57 ปี หนึ่งในนักวิจัยไทบ้าน เล่าให้ฟังว่าต้มเกลือมาตั้งแต่บรรพบุรุษ โดยในแต่ละปีต้มมากที่สุดก็เพียง 30 กระสอบปุ๋ย ส่วนใหญ่เก็บไว้กินเอง เป็นของฝากญาติที่มาเยี่ยม หรือถ้ามีคนมาซื้อก็ขาย ราคาขายอยู่ที่กิโลกรัมละ 10 กว่าบาทแต่ถ้าเป็นเกลือที่ต้มไว้ค้างปีแล้วราคาจะสูงขึ้นถึงกิโลกรัมละ 25 บาทเพราะเกลือจะแห้งทำให้น้ำหนักเบาขึ้น โดยก่อนสร้างเขื่อนครอบครัวของพ่อไมล์ต้มเกลือมาทุกปีจนมีการสร้างเขื่อนผืนดินที่เคยมีเกลือต้องจมอยู่ใต้น้ำก็ไม่ได้ต้มอีก จนเมื่อมีการเปิดเขื่อนเข้าสู่ปีที่ 2 จึงมีโอกาสหวนกลับมาต้มเกลืออีกครั้ง ปัจจุบันบ่อเกลือที่สามารถต้มได้มีเพียง 47 บ่อ โดยพ่อไมล์อธิบายว่าเกลือยังขึ้นอ่อนอยู่ ถ้าดูที่หน้าดินจะเห็นเพียงบางๆต้องขึ้นลักษณะเป็นช่อจึงสามารถต้มได้ "เกลือที่อื่นไม่เหมือนกัน มันไม่มีรสชาติ ถ้าเป็นเกลือต้มเองโรยกินกับข้าวหุงร้อนๆ จะเค็มหอมรสชาติมันผิดกัน น้ำปลาไม่ต้องมีเลย" พ่อไมล์เล่าถึงความแตกต่างของเกลือต้มกับซื้อให้ฟัง นอกจากนี้วัฒนธรรมเกลือยังสัมพันธ์กับวัฒนธรรมปลา เนื่องจากเป็นส่วนประกอบสำคัญในการทำปลาร้า อาหารยอดนิยมของชาวอีสาน พ่อสมบูรณ์ ร่มรื่น นักวิจัยไทบ้านที่ชำนาญในการต้มเกลืออีกคนหนึ่ง เล่าว่า "เกลือที่ต้มเองเมื่อใช้ทำปลาร้าจะทำให้มีกลิ่นหอม ไม่เหม็นอับ และยังทำให้เนื้อปลามีสีแดง แต่ถ้าใช้เกลือทะเลจะทำให้มีกลิ่นอับ รวมทั้งทำให้เนื้อปลาเปลี่ยนเป็นสีคล้ำ" ซึ่งเป็นสิ่งที่พ่อสมบูรณ์เรียนรู้จากการทำปลาร้าในช่วงที่ต้องเปลี่ยนมาใช้เกลือทะเลในช่วงที่ไม่ได้ต้มเกลือ ฤดูกาลในการต้มเกลือของชาวบ้านจะเริ่มขึ้นในช่วงมีนาคมเมื่อลมร้อนพัดผ่านมาโดยจะผ่านพ้นไปในเดือนพฤษภาคมก่อนฝนมาเยือน ซึ่งชาวบ้านใช้วิธีต้มเกลือแบบโบราณ โดยวัสดุต่างๆยังคงใช้วัสดุธรรมชาติที่หาได้จากป่าทาม มีเพียงหม้อต้มเกลือที่เปลี่ยนจากหม้อดินเผามาเป็นหม้อที่ดัดแปลงมาจากปี๊บเนื่องจากหาง่ายและให้ความร้อนเร็ว ขั้นตอนการต้มเกลือเริ่มตั้งแต่ไปสำรวจดูบ่อเกลือที่เคยต้มว่าส่าเกลือขึ้นมากพอที่จะต้มได้หรือไม่ โดยสังเกตดูว่าถ้ามีลักษณะเป็น ฟันปลาค้าว หรือเป็นแท่งคล้ายผงชูรสจะต้มได้เกลือมากและเกลือมีคุณภาพดี จากนั้นจึงขูดผิวดิน(บ่อเกลือไม่ได้มีลักษณะเหมือนบ่อน้ำแต่เป็นพื้นดินที่มีเกลือ)หรือ ดินขี้ทามากองรวมกันไว้แล้วคลุมด้วยพลาสติกทิ้งไว้ 1 สัปดาห์เพื่อหมักให้ส่าเกลือที่ยังไม่แก่พอมีคุณภาพและให้ส่าเกลือแก่เสมอกัน ก่อนต้มเกลือต้องผ่านขั้นตอนการหมักในรางหมักซึ่งเป็นรางดินแทนรางไม้ที่เคยใช้ในอดีต โดยขุดดินเป็นรูปสี่เหลี่ยมกว้างยาวประมาณ 1 เมตร นำดินเหนียวย่ำให้ละเอียดราดลงบนรางดิน นำผ้าพลาสติกรองไว้อีกชั้นหนึ่งไม่ให้น้ำซึมออกและขุดดินให้ลึกต่ำกว่ารางหมัก แล้วนำท่อไม้ไผ่ทำเป็นท่อน้ำต่อออกจากรางดิน โดยการหมักต้องปิดท่อไว้ก่อน และนำเศษฟางหรือเศษหญ้ามาวางทับรูพร้อมกับใช้เปลือกหอยปิดพอให้น้ำไหลสะดวก จากนั้นนำดินขี้ทาใส่ลงไปเหลือขอบปากหลุมไว้ 5-10 ซม.ตักน้ำใส่ทิ้งไว้ 1 คืนจึงเปิดท่อให้น้ำเกลือไหลลงภาชนะ จากนั้นไทบ้านจะมีการตรวจสอบคุณภาพน้ำเกลือด้วยการนำครั่งมาต้มหรือเผาให้ละลายแล้วปั้นติดกับเชือกเมื่อนำไปหย่อนลงในถังน้ำเกลือถ้าครั่งลอยอยู่เหนือน้ำแสดงว่ามีความเค็มมาก โดยน้ำกรองครั้งที่สามจะเริ่มมีความเค็มน้อยลง และสามารถใช้ไม้น้ำแดงหรือลูกสีดา(ฝรั่ง)มาตรวจสอบโดยใช้วิธีเดียวกันได้ด้วย การต้มเกลือจะใช้ไม้ฟืนจากป่าทามเป็นเชื้อเพลิงเนื่องจากอยู่บริเวณใกล้ แต่ปัจจุบันการยึดครองพื้นที่โดยไมยราบยักษ์ได้ทำให้แหล่งไม้ฟืนหายไป โดยการต้มจะนำน้ำเกลือที่เค็มจัดและปานกลางผสมเข้าด้วยกัน ส่วนที่มีความเค็มน้อยจะใช้ในการหมักดินขี้ทาต่อไป ระหว่างการต้มให้ปล่อยทิ้งไว้ไม่ควรคนบ่อยเพราะจะทำให้ได้เกลือเม็ดเล็กจนเกินไป เมื่อน้ำงวดปล่อยทิ้งไว้จนเกลือตกผลึกสีขาวจากนั้นตักใส่ตะกร้าไม้ไผ่ทิ้งให้แห้งแล้วตักใส่ถุงปุ๋ย ซึ่งเกลือที่ต้มใหม่สีจะขาวขุ่นเมื่อทิ้งไว้นานๆจึงจะขาว ซึ่งการต้มเกลือนั้นต้องอาศัยทั้งภูมิปัญญาท้องถิ่นและประสบการณ์ที่สั่งสมเรียนรู้จากการปฏิบัติมาจนเชี่ยวชาญเป็นเหมือนวิถีชีวิตที่อยู่คู่กันมาของชุมชนแถบนี้ นอกจากนี้ยังมีพิธีกรรมความเชื่อ สำคัญที่ทำให้การต้มเกลือเป็นไปอย่างเพียงพอและไม่รบกวนธรรมชาติมากจนเกินไป โดยก่อนที่จะมีการต้มเกลือชาวบ้านจะมีการบอกกล่าว พ่อเพียแม่เพีย ซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำบ่อเกลือเหมือนกับที่ชาวนาไหว้แม่โพสพนั่นเอง และหลังจากที่ต้มเกลือจนพอแล้วจะมีการ ปลูกเกลือ โดยการนำเกลือใส่ถุงพลาสติกไปฝังไว้ลึกประมาณ 1 คืบบริเวณบ่อเกลือและบอกกับพ่อเพียแม่เพียเพื่อให้มีเกลือต้มอีกครั้งในฤดูกาลต้มเกลือในปีถัดไป ซึ่งมีความเชื่อว่าหากผู้ใดที่ปลูกเกลือแล้วยังกลับมาต้มอีกในฤดูกาลนั้นจะต้องมีอันเป็นไป จะเห็นได้ว่าความเชื่อเหล่านี้เป็นเหมือนสิ่งที่คอยควบคุมการต้มเกลือของชาวบ้านมาโดยตลอดระยะเวลาอันยาวนาน นั่นแสดงให้เห็นว่าตราบใดที่ความคิดความเชื่อยังคงอยู่กลับชุมชน วิกฤติการที่เคยเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ซึ่งเป็นการต้มเกลือแบบอุตสาหกรรม มีการสูบน้ำเกลือจากใต้ดินจนทำให้เกิดแผ่นดินทรุดตัว หรือความขัดแย้งในกรณีเหมืองโปแตสที่อุดรธานีก็จะไม่เกิดขึ้นหากเราสามารถเรียนรู้การอยู่ร่วมกับธรรมชาติในแบบที่ไม่ใช่ผู้ทำลาย แต่อยู่ร่วมอย่างรู้คุณเช่นเดียวกับคนต้มเกลือราษีไศล เสียงแคนเปิดงานดังประกอบกับหมอลำพื้นบ้านเป็นท่วงทำนองบอกเล่าเรื่องราวการต่อสู้ ท่ามกลางความทุกข์ยากลำบากที่ชุมชนต้องเผชิญมากับการสร้างเขื่อน เสียงแคนจบลงแล้วแต่ท่วงทำนองของจังหวะชีวิตจากนี้คือการส่งเสียงบอกเล่าความจริงสู่สังคม การลุกขึ้นมาทำวิจัยไทบ้านบ่งบอกได้ว่าไม่ยอมฝากความหวังไว้กับงานวิชาการที่ไม่เคยมองเห็นชีวิตของพวกเขาอีกต่อไป แหล่งข้อมูลอ้างอิง : ข้อมูลจากวิจัยไทบ้านป่าทามราศีไศล รายงานโดย : ปิ่นแก้ว อุ่นแก้ว ศูนย์ข่าวประชาไท
['บทความ']
https://prachatai.com/print/265
2004-09-11 19:58
แกะรอยมะละกอ (จีเอ็มโอ) เจ้าปัญหา ตอน 2
อาจเพราะ" เกษตรกรรม" เป็น "ชีวิต" ของผู้คนส่วนใหญ่ในประเทศนี้ เมื่อเกิดประเด็นเรื่องจีเอ็มโอขึ้นมา จึงเกิดความเคลื่อนไหวปกป้อง "ชีวิต" ในหมู่ชาวบ้านอย่างเอาจริงเอาจัง โดยมีการประชุมให้ความรู้กันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน กระทั่งมีการจัดสัมมนาครั้งใหญ่ว่าด้วย ทิศทางการพัฒนาพันธุกรรมพื้นบ้านในสถานการณ์การค้าเสรี เมื่อวันที่ 15 ส.ค.47 ที่อำเภอพล ซึ่งนำไปสู่การเรียกร้องให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติลงพื้นที่มาตรวจสอบการปนเปื้อนของมะละกอจีเอ็มโอ แม้จะเป็นคณะกรรมการสิทธิฯ แต่ก็ใช่ว่าจะมีสิทธิได้รายชื่อผู้ซื้อเมล็ดพันธุ์และต้นกล้ามะละกอแขกดำท่าพระไปตรวจสอบ ดังนั้นคณะทำงานฯ จึงช่วยเหลือตัวเองโดยการสุ่มเก็บตัวอย่างจากพื้นที่อำเภอพล ที่บ้านห้วยค้อ ต.หนองแวงนางเว้า 1 ตัวอย่าง (เป็นแปลงเดียวกับที่กรีนพีซเก็บไป) และที่ ต.โจดหนองแกอีก 2 ตัวอย่าง มะละกอกับ "สระน้ำ" พื้นที่ อ.พลเป็นอำเภอที่ได้รับการตรวจสอบจากทั้งกรีนพีซและคณะกรรมการสิทธิฯ เป็นอำเภอซึ่งห่างจาก ต.ท่าพระ อ.เมือง ที่ตั้งของศูนย์เกษตรฯ ประมาณ 70-80 กิโลเมตร ซึ่งระยะทางเท่านี้มิอาจขวางกั้นการเดินทางของพันธุ์มะละกอต้องสงสัย ชาวบ้านในพื้นที่ตำบลโจดหนองแกรายหนึ่งเล่าให้ฟังว่า พันธุ์มะละกอแขกดำท่าพระนี้มาพร้อมกับ "สระน้ำ" ของสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (สปก.) ซึ่งเป็นโครงการสนับสนุนปัจจัยให้เกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินในจังหวัดขอนแก่น ดำเนินโครงการมาตั้งแต่ปี 2544 ครอบคลุมพื้นที่ 1.3 แสนไร่ ใน 4 อำเภอ คือ อ.พล กิ่งอ.โนนศิลา อ.บ้านไผ่ อ.เปือยน้อย เกษตรกรในพื้นที่เหล่านี้สามารถขอขุดสระน้ำ และพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ได้จากสปก.จังหวัด แม่บุญมา สิงห์เสนา เกษตรกรในพื้นที่ตำบลโจดหนองแก เป็นคนหนึ่งที่ได้สระน้ำ ได้พันธุ์มะละกอแขกดำท่าพระจากโครงการ และเป็นแปลงที่คณะกรรมการสิทธิมาเก็บตัวอย่างไปเล่าว่า คนที่จะได้เมล็ดพันธุ์นี้ต้องเป็นเกษตกรที่ขอขุดสระน้ำเท่านั้น โดยให้ผู้นำชาวบ้านไปรับพันธุ์ไม้มาแจกจ่าย มีทั้งพันธุ์ขนุน พุทรา มะม่วง พันธุ์หญ้า รวมถึงมะละกอด้วย ซึ่งเอาเข้าจริงก็มีการไปขอไปหยิบกันมาจากผู้นำชาวบ้านอย่างไม่เป็นระบบ "ชาวบ้านไม่รู้หรอกว่ามันเป็นมะละกอจีเอ็มโอหรือมะละกออะไร เขาไม่ได้บอก ให้อะไรก็เอาหมด ของฟรีชาวบ้านชอบอยู่แล้ว แต่ถ้าจะต้องให้ซื้อ ก็ไม่มีใครซื้อหรอก ยกเว้นพวกที่ปลูกเป็นพืชเชิงเดี่ยวขาย ส่วนมากแล้วจะขอๆ กัน ถึงอย่างนั้นถ้าไม่ใช่ญาติสนิทกันจริงก็จะไม่ให้ต่อ เพราะได้มาคนละไม่มากนัก" แม่บุญมาเล่า ก่อนหน้านี้ศูนย์เกษตร ฯ เคยแจกพันธุ์มะละกอให้เกษตรกรฟรี แต่เลิกไปตั้งแต่ปี 2546 หากเกษตรกรรายใดอยากได้ก็ต้องซื้อสถานเดียวด้วยสนนราคาขีดละ 200 บาทสำหรับเมล็ดพันธุ์ และต้นกล้าต้นละ 2 บาท อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อยกเว้นสำหรับโครงการสนับสนุนปัจจัยการผลิตของสปก. ซึ่งเริ่มต้นแจกพันธุ์มะละกอให้ชาวบ้านในเดือนพฤษภาคม 2546 มีทั้งที่เป็นเมล็ดและเป็นต้นกล้า โดยในในครั้งแรกชาวบ้านได้เป็นเมล็ดพันธุ์ นำมาเพาะเอง แต่ไม่ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่จะตายหมด แม่บุญมาสันนิษฐานว่า เป็นเพราะผิดดิน ซึ่งเป็นไปได้ว่าระหว่างการเพาะในถุงดำชาวบ้านผสมดินไม่ถูกต้องตามความต้องการของมะละกอ หลังจากนั้นจึงมีการไปขอพันธุ์ใหม่อีกครั้งภายในเดือนเดียวกัน โดยแม่สมควร ศรีวงศ์โชติสกุล ผู้นำเกษตรบ้านห้วยค้อ ต.หนองแวงนางเว้า "ไปขออีกครั้งขอเป็นกล้า เพราะมันจะทนดินเค็มได้ดีกว่าหน่วยมัน แต่เขาก็ไม่ได้ให้ง่ายๆ ต้องให้เสี่ยแต้น ไปรับประกันให้แม่สมควร เพราะเขารู้จักกับผอ.วิไล ที่ศูนย์วิจัยฯ" แม่บุญมาว่า ชาวบ้านแถวนั้นบอกเล่าเพิ่มเติมว่า เสี่ยแต้น เป็นเจ้าของโรงพยาบาลเวชประสิทธิ์ ตลาดพูนผล และมีที่ดินทำการเกษตรผืนใหญ่ในจังหวัดขอนแก่น เคยสั่งกล้ามะละกอ 5,000 ต้นไปปลูกที่อ.ภูเวียง จ.ขอนแก่น แต่ไม่มีใครรู้ชัดว่าได้ไปแล้วหรือไม่อย่างไร อย่างไรก็ตาม ในที่สุดแม่สมควรก็ได้กล้ามะละกอมา 5,000 ต้น โดยแบ่งไว้เอง 2,000 ต้น และแจกจ่ายชาวบ้านไป 3,000 ต้น "ในพื้นที่ตำบลโจดหนองแกนี้ ตอนแรกมีคนที่เอากล้ามาหลายคน แต่ตอนนี้เหลืออยู่ 3 ราย ของคนอื่นส่วนใหญ่มะละกอเป็นโรครากเน่าตายหมด" แม่บุญมาระบุ มะละกอแขกดำท่าพระของแม่บุญมาเองที่ปลูกไว้รอบสระน้ำจากที่รับมาราว 200 ต้น ขณะนี้ก็เหลืออยู่เพียง 20-30 ต้น ในสภาพไม่ค่อยสมประกอบและไม่มีผลผลิตให้ ผิดกับของแม่สมควรที่ตำบลหนองแวงนางเบ้าที่ให้ผลผลิตอย่างเป็นล่ำเป็นสันกว่ามาก ข้อสันนิษฐานเบื้องต้นคือสภาพดินที่แตกต่างกันทำให้ผลผลิตแตกต่างกันลิบลับ "อำเภอพล" พื้นที่แห่งการมองต่างมุม นอกจากผลผลิตจะแตกต่างกันแล้ว ทัศนคติต่อ "จีเอ็มโอ" ของชาวบ้านก็เป็นไปคนละทิศทาง แม่สมควร ซึ่งเป็นผู้นำเกษตรที่ใกล้ชิดกับศูนย์เกษตรท่าพระเคยเล่าให้ฟังว่า ต่อให้มะละกอที่นำไปพิสูจน์เป็นมะละกอจีเอ็มโอ ชาวบ้านที่นั่นก็อยากจะปลูก เพราะที่ผ่านมาไม่เคยได้ผลิตดีมาก่อน "จากการสอบถามชาวบ้านในพื้นที่ส่วนใหญ่บอกว่าต้องการจะปลูกต่อไป เพราะนักวิชาการบอกว่าปลอดภัย แม้จะมีกลุ่มเอ็นจีโอบางกลุ่มที่บอกไม่ปลอดภัยก็ตาม ชาวบ้านก็มองว่ามันเป็นเรื่องการเมือง ที่ต่างก็ใส่ร้ายป้ายสีกัน ส่วนที่กรีนพีซออกมาบอกว่าอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวนั้น ชาวบ้านก็บอกว่า ไม่กลัวโรคแต่กลัวอดมากกว่า ชาวบ้านเขาก็รู้ว่าองค์กรนี้รับจ้างต่างประเทศมาทำม็อบเคลื่อนไหว" แม่สมควรเล่า ในขณะที่อีกด้านหนึ่งในอำเภอเดียวกัน ที่ตำบลโจดหนองแก ชาวบ้านที่นั่นค่อนข้างตื่นตัวกับปัญหาการปนเปื้อนของมะละกอจีเอ็มโอ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเป็นพื้นที่ที่มีเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกทำงานอยู่ และมีชาวบ้านเป็นสมาชิกจำนวนไม่น้อย "พันธุ์ดั้งเดิมก็มีพอได้กิน โรคมันไม่ได้ร้ายแรงขนาดนั้น เพราะชาวบ้านปลูกโน่นปลูกนี่ด้วย ไม่ได้ปลูกอย่างเดียว ปลูกแล้วก็เก็บพันธุ์ไว้เพาะเอง แต่ถ้าเป็นคนที่ทำขายมันคงไม่พอ หน่วยมันก็ไม่สวย ลูกป้อมๆ แต่ต้นใหญ่แข็งแรงกว่าพันธุ์ที่เขาให้มามาก" แม่บุญมาว่าไว้ ส่วนพ่อสมควร โลกาวี ซึ่งเป็นผู้นำเกษตรกรในเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกที่อยู่ต.เพ็กใหญ่ อ.พล กล่าวว่า ในพื้นที่อ.พล ก็มีกลุ่มเกษตรกรรมทางเลือกอยู่ใน ต.หนองแวงโสกพระ ต.โคกสง่า ต.โสกเต็น ต.เก่างิ้ว ต.เพ็กใหญ่ เกษตรกรในพื้นที่เหล่านี้ไม่ค่อยอยากได้จีเอ็มโอ เพราะกระบวนการของเครือข่ายฯ พยายามให้ความรู้กับสมาชิกโดยตลอด "เกษตรกรที่อยากได้จีเอ็มโอในพื้นที่อื่นนั้น น่าจะเป็นเพราะความไม่รู้ว่าจีเอ็มโอคืออะไร พร้อมกับความพยายามของนักวิชาการ นักวิจัย อยากให้จีเอ็มโอกระจายออกนอกพื้นที่" พ่อสมควรว่าไว้ ......................... นี่คือกระแสความคิดหลักๆ ของเกษตรกรในพื้นที่ที่มีต่อมะละกอจีเอ็มโอ ซึ่งอาจจะแตกต่างกันไปขึ้นต่อการเลือกที่จะเชื่อไม่ฝั่งใดก็ฝั่งหนึ่ง กระนั้นก็ตาม จากการสอบถามพูดคุยทำให้แน่ใจว่า ไม่มีกลุ่มไหนที่รู้จักเทคโนโลยีชีวภาพชนิดนี้จริงๆ ทั้งในแง่สุขภาพ สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจการค้า.... ซึ่งก็คงไม่ต่างอะไรกับคนอื่นๆ ในสังคม. รายงานโดย : มุทิตา เชื้อชั่ง ศูนย์ข่าวประชาไท
['ข่าว', 'สิ่งแวดล้อม']
https://prachatai.com/print/266
2004-09-11 20:22
ไฟฟ้าขนอมกระทบประมงท่าศาลา
ศูนย์ข่าวภาคใต้- 11 ก.ย.47 นายหมาด โต๊ะสอ คณะกรรมการกลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรประมงพื้นบ้าน บ้านสระบัว อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช เปิดเผย "ประชาไท" ว่า การหาปลาของกลุ่มผู้ทำประมงพื้นบ้านที่หาปลาตลอดแนวชายฝั่งอ่าวไทย ตั้งแต่ อำเภอท่าศาลา ไปจนถึงอำเภอดอนสัก จังหวัดสุราษฎร์ธานี ในขณะนี้หาปลาได้น้อยมาก หลังจากที่มีโรงไฟฟ้าขนอมเข้ามาตั้งริมชายฝั่ง อำเภอขนอม "โรงไฟฟ้าปล่อยน้ำร้อนลงไปในทะเล ทำให้ปลาไม่เข้ามาวางไข่และหากินบริเวณกองหินริมชายฝั่ง แต่จะไปอาศัยอยู่แถวๆ เกาะหวัง เกาะราบ และเกาะแตน ที่อยู่ไกลออกไปในเขตจังหวัดสุราษฎร์ธานี เราต้องออกไปหาปลาไกลกว่าเดิมมาก ตอนนี้น้ำมันก็แพง ปลาที่หามาได้หักลบค่าน้ำมันแล้ว ก็แค่อยู่ไปได้วันๆ เท่านั้น นี่ยังจะมีโครงการวางท่อน้ำมันในทะเลอีก ต่อไปคงต้องอ้อมไปหาปลาเกือบถึงเกาะสมุย เห็นทีคงจะต้องเลิกอาชีพทำประมง" นายหมาดกล่าวและว่า นอกจากนั้น ชาวประมงพื้นบ้านท่าศาลา ที่มีทั้งหมดประมาณ 500 ลำ ยังได้รับผลกระทบจากเรืออวนลากทั้งขนาดใหญ่และเล็ก ที่เข้ามาลากอวนโดยผิดกฎหมาย ทำให้สัตว์เล็กสัตว์น้อย ที่อาศัยริมฝั่งพลอยติดอวนไปด้วย เนื่องจากเรืออวนลากใช้อวนตาถี่มาก สัตว์ตัวเล็กๆ เช่น ลูกปู ลูกปลา จะถูกคัดทิ้งไปโดยเปล่าประโยชน์ "ที่ผ่านมาทางประมงจังหวัดก้เคยเข้ามาตรวจสอบเรื่องนี้ แต่มาแล้วก็หายไป นานๆ จะมาตรวจสักครั้ง เราอยากให้ราชการเข้ามาเอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้ให้มากกว่าที่เป็นอยู่ เพราะชาวบ้านกำลังได้รับผลกระทบอย่างหนัก" นายหมาดกล่าวและว่า ขณะนี้กลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรประมงพื้นบ้าน บ้านสระบัว ได้ร่วมกันจัดทำโครงการธนาคารปูม้า เพื่อเพิ่มจำนวนปูม้าบริเวณชายฝั่งทะเล โดยการสนับสนุนพันธุ์ปูม้าที่พร้อมจะวางไข่ จากสำนักงานประมงจังหวัด ซึ่งชาวบ้านจะปล่อยพันธุ์ปูม้า ไว้ในกระชังที่ได้เตรียมไว้ แม่ปูม้าหนึ่งตัวจะให้ลูกปูประมาณ 500,000 ตัว "จากจำนวนที่ว่า เราหวังให้ลูกปูม้ารอดชีวิต และเหลืออาศัยอยู่ในธรรมชาติแค่ 300,000 ตัวก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว" นายหมาดกล่าวในที่สุด รายงานโดย : ศูนย์ข่าวภาคใต้
['ข่าว', 'สิ่งแวดล้อม']
https://prachatai.com/print/268
2004-09-11 22:09
เวทีไฟฟ้าสงขลาไร้เงากลุ่มค้านท่อก๊าซฯจะนะ
ศูนย์ข่าวภาคใต้-11 ก.ย.47 เมื่อเวลา 15.00 น. วันนี้ นายณรงค์ศักดิ์ วิเชษฐ์พันธุ์ รองผู้ว่าการอาวุโส กลุ่มพัฒนา การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ตอบข้อซักถามจากชาวบ้านตำบลนาทับ จะโหน่ง คลองเปียะ ป่าชิงและตลิ่งชัน อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา กว่า 150 คน เกี่ยวกับโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมสงขลา ในการจัดสัมมนา รวมคน ร่วมคิด กำหนดทิศโรงไฟฟ้า จัดโดยสถานีวิทยุมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์(มอ.88) ณ ลีลารีสอร์ท อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา โดยไม่มีกลุ่มชาวบ้านที่คัดค้านโครงการโรงแยกก๊าซและท่อส่งก๊าซไทย - มาเลเซีย เข้าร่วมแต่อย่างใด ทั้งนี้ประเด็นข้อซักถามส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวกับผลกระทบจากน้ำหล่อเย็นที่จะปล่อยลงสู่คลองนาทับซึ่งจะส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่และการประกอบอาชีพ ความกังวลต่อโรงงานอุตสาหกรรมที่จะมีขึ้นตามมาหลังจากการก่อสร้างโรงไฟฟ้า วิธีชีวิตที่จะต้องเปลี่ยนแปลงไปเมื่อความเจริญเข้ามา รวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและข้อมูลทั่วไปของโครงการ นายณรงค์ศักดิ์ กล่าวกับ "ประชาไท" หลังการประชุมว่า สิ่งที่ค่อยข้างหนักใจคือ โรงไฟฟ้าใหม่จะก่อสร้างในพื้นที่ที่มีเชื้อความขัดแย้งอยู่แล้วจากโครงการโรงแยกก๊าซและท่อส่งก๊าซไทย - มาเลเซีย และผลกระทบจากโรงงานอุตสาหกรรมที่มีอยู่แล้วในเขตอำเภอจะนะ ซึ่งกฟผ.ก็ต้องพยายามทำความเข้าใจกับชาวบ้านต่อไป นายณรงค์ศักดิ์ กล่าวต่อว่า สำหรับประเด็นเรื่องผลกระทบจากน้ำหล่อเย็นนั้น ขอยืนยันว่า น้ำที่จะปล่อยลงคลองธรรมชาติจะมีอุณหภูมิไม่สูงไปกว่าอุณหภูมิน้ำในคลองในช่วงก่อนสูบเข้าไปแน่นอน เพราะมีเครื่องมือที่ทำได้ ส่วนที่ชาวบ้านเกรงว่าวิถีชิวิตแบบอิสลามจะเปลี่ยนเมื่อความเจริญเข้ามาแล้ว ซึ่งไม่สามารถเลี่ยงได้ ก็อยู่ที่ชาวบ้านเอง ที่จะต้องเลือกว่าสิ่งใดที่ดีก็ต้องรับเอาไว้สิ่งไหนที่ไม่ดีชาวบ้านก็ต้องชายกันป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นในชุมชน เช่น ร้านคาราโอเกะ เป็นต้น ด้านนายบ่าว หมัดหมัน อายุ 50 ปี อดีตผู้ใหญ่บ้านคลองทิง อยู่บ้านเลขที่ 47 หมู่ 11 ตำบลนาทับ กล่าวว่าตนไม่ได้กังวลว่า เมื่อสร้างโรงไฟฟ้าจะทำให้น้ำในคลองนาทับมีอุณหภูมิสูงจนทำลายความอุดมสมบูรณ์ เพราะขณะนี้น้ำในคลองก็เน่าเสียแล้วจากโรงงานอุตสาหกรรมและนากุ้งปล่อยบ้ำเสีย บางครั้งปลากะพงที่ชาวบ้านเลี้ยงไว้ลอยคอตายก็มี จะสร้างโรงไฟฟ้าหรือไม่ก็ตามตนไม่มีปัญหา แต่ถึงตอนนี้ก็คงไม่สามารถเลี่ยงได้อีกแล้ว แต่ถ้าสร้างแล้วก็อย่าสร้างผลเสียมากกว่านี้เลย รายงานโดย : มูฮำหมัด ดือราแม ศูนย์ข่าวภาคใต้
['ข่าว', 'สิ่งแวดล้อม']
https://prachatai.com/print/269
2004-09-12 21:42
กำเนิดพลเมืองเหนือ
ในยุคที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้มีการกระจายอำนาจไปยังท้องถิ่นอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ในยุคที่ประเทศไทย ปฏิรูปการเมืองการบริหาร เข้าสู่กรอบความคิดใหม่ สังคมไทย โดยเฉพาะในพื้นที่ภูมิภาคเปลี่ยนแปลงจากเดิมในแทบทุกมิติ กลายเป็นสังคมแห่งข้อมูลข่าวสาร และข่าวสารที่เป็นที่ต้องการ ต้องมีคุณค่า เสนอแนวคิด ผลักดันสิ่งสร้างสรรค์และพิทักษ์ผลประโยชน์อันดีงามของสังคม หนังสือพิมพ์พลเมืองเหนือรายสัปดาห์ จึงเกิดขึ้นมา เพื่อขอเป็นสื่อสร้างสรรค์ ที่สะท้อนความเป็นจริงสังคมเมืองเหนือในทุกแง่มุม ด้วยความมุ่งมั่นของคนเมืองอย่าง จุมพล ชุติมา สุรชัย เลียวสวัสดิพงศ์ และจุฑาทิพย์ เขียวอุบล พร้อมทีมที่ปรึกษาซึ่งเป็นนักวิชาการ นักเขียนและผู้มีประสบการณ์ด้านสื่อสิ่งพิมพ์มากมายทั่วเมืองเหนือ พลเมืองเหนือรายสัปดาห์ เริ่มรับใช้สังคมใน 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบนฉบับปฐมฤกษ์เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2544 และพัฒนาต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน เป็นที่ยอมรับว่า ได้ทำหน้าที่สะท้อนเหตุการณ์ และเสนอแง่มุมทางความคิดที่หลากหลาย จนเป็นปรากฏการณ์ใหม่ของสังคมเมืองเหนือ และเพียง 1 ปีของการก่อตั้งขึ้น พลเมืองเหนือรายสัปดาห์ ก็ได้รับการยอมรับสูงสุดจากวงการสื่อสารมวลชนระดับประเทศ ด้วยการได้รับรางวัลข่าวยอดเยี่ยมหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น ประจำปี 2545 จากสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และปี 2546 พลเมืองเหนือก็คว้ารางวัลข่าวชมเชยหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นจากสมาคมฯเดียวกันมาอีกครั้ง ก้าวต่อไปของ พลเมืองเหนือรายสัปดาห์ เรามุ่งมั่นจะขยายพื้นที่ของการนำเสนอข้อมูลข่าวสารให้ครอบคลุมทั่วภาคเหนือ และนำผลผลิตแห่งความภาคภูมิใจของชาวเหนือ เสนอต่อสาธารณชนอย่างทั่วถึง พร้อมยืนยันจะธำรงบทบาทและภารกิจของสื่อมวลชนที่สังคมคาดหวังไว้เช่นนี้…ตลอดไป รายงานโดย : ศูนย์ข่าวประชาไท
['บทความ']
https://prachatai.com/print/270
2004-09-12 21:54
เรื่องจากปก พลเมืองเหนือ
กระแสเอเธนส์เกมส์ การันตีอนาคต เจ๊บุษ สว.เชียงใหม่ กระแสฮีโร่โอลิมปิกปีนี้ ไฮไลท์ของสถานการณ์ที่อยู่ที่กีฬายกน้ำหนักที่ไม่เพียงแต่จะสร้าง 4 วีรสตรีให้เป็นประวัติศาสตร์ผลงานทะลุเป้าของสมาคมยกน้ำหนักสมัครเล่นแล้ว ความแรงของเหตุการณ์นี้ยังพิสูจน์ให้เห็นด้วยการพลิกชีวิตอดีตฮีโร่ที่ถูกลืมอย่างสง่า วังคีรีให้ฟื้นกลับมาเกาะเกี่ยวกระแสรับทรัพย์ ได้อีกด้วย และกระแสเดียวกันนี้ อาจพลิกผันให้ผู้หญิงคนที่ชื่อ "บุษบา ยอดบางเตย" เข้าสู่เส้นทางสายสมาชิกวุฒิได้อย่างง่ายดายขึ้น ไม่ต้องเหน็ดเหนื่อยและผิดหวังกับสนามอบจ.ที่ผ่านมามากนัก เพราะชื่อของเธอเกาะเกี่ยวเหนียวแน่นไปกับผลงานการยกลูกเหล็กครั้งนี้ โดยมิใช่เฉพาะสนามเชียงใหม่เท่านั้น แต่ปรากฏต่อสายตาในระดับมวลมนุษยชาติมาที่เอเธนส์เกมส์เลยทีเดียว ********************************************* ภาพของบุษบา ยอดบางเตย อาจถูกตั้งคำถามต่อคนไทยทั้งประเทศ ว่าเธอไปโอบกอด หอมแก้ม ถ่ายภาพและลุ้นสาวจอมพลังทีมยกน้ำหนักจากประเทศไทยเคียงคู่กับโค้ชชาวจีน "จาง เจีย หมิน"ได้อย่างไร แต่เมื่อคำตอบที่ว่าเธอคือผู้จัดการทีมยกน้ำหนักที่ไปทำหน้าที่รับใช้ชาติเหมือนกันคงทำให้สังคมหายสงสัยแม้อีกสถานะหนึ่งเธอจะคือคู่ชีวิตของพลตรีอินทรัตน์ ยอดบางเตย นายกสมาคมยกน้ำหนักฯ คนปัจจุบันก็ตาม บุษบา นอกจากจะถ่ายทอดคำพูดภาษาจีนของโค้ชจาง เจีย หมินออกมาเป็นภาษาไทยได้ชนิดไฟแลบแล้ว เธอผู้นี้คือผู้ทำจิตวิทยากับบรรดานักกีฬาทั้งระหว่างซ้อมและนาทีลงแข่งอย่างต่อเนื่อง "กับน้องอรนี่ต้องประเภทใครท้าไม่ได้ เขาจะไม่ยอม ส่วนปวีณาเห็นอย่างนี้จะอ่อนไหว ต้องคอยดูแลจิตใจเพราะเขากดดันมาก เสธ.เห็นเขาเป็นลูกรักเลยจะโทรมาตลอดว่าไก่เป็นอย่างไรบ้าง ต้องให้สบายใจนะ ส่วนอารีย์นี่พอเขายกไม่ผ่านทีหนึ่ง ก็มาไซโคกับเขาว่า เอ๊ะ เมื่อกี้อารีย์ลืมไหว้แม่ไปหรือเปล่า เอาใหม่นะ ส่วนวันดีนี่เราหวังว่าเขาจะเป็นมวยซุ่ม แต่ได้เหรียญทองแดงอันนี้อยู่ที่วาสนาของเด็ก และเขาก็บาดเจ็บด้วย"บุษบาให้สัมภาษณ์รายการโทรทัศน์รายการหนึ่งบ่งบอกถึงความใกล้ชิดและคลุกวงในของเธอในสมาคมนี้ แต่มิใช่ว่าเธอจะคลุกกับวงการยกน้ำหนักเพียงแค่วันนี้ บุษบาบอกกับ "พลเมืองเหนือ"มาตามสายระหว่างร่วมงานเลี้ยงประวัติศาสตร์ที่วุฒิสภาจัดให้กับทัพนักกีฬาเอเธนส์เกมส์ว่า เธอทำงานด้านกีฬายกน้ำหนักมากว่า 10 ปี และปัจจุบันกำลังปลุกปั้นสมาคมเคียงดาววัลเลย์ อันเป็นสมาคมยกน้ำหนักที่เชียงใหม่ ซึ่งคัดนักกีฬาเยาวชนในนามของจังหวัดเชียงใหม่มาอย่างต่อเนื่อง และแม้แต่กับ สง่า วังคีรี ก็เป็นเธอนี่แหละที่นำสง่า ในวันที่รามือจากวงการยกลูกเหล็ก เข้ามาสู่รั้วเทศบาลนครเชียงใหม่ บุษบา ซึ่งในวันนั้นเธอนั่งอยู่บนเก้าอี้สูงสุดของสภาเจดีย์กิ่ว ด้วยตำแหน่งนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่จากกลุ่มนวรัฐพัฒนา ได้นำสง่ากับวุฒิการศึกษา ป.6 เข้ามาช่วยหยิบจับทำหน้าที่เป็นหน้าห้องฯ ด้วยตำแหน่งลูกจ้างชั่วคราว และเรียนจนได้อนุปริญญา จากสถาบันราชภัฏเชียงใหม่ ในสาขาคหกรรมศาสตร์ไปด้วย ชีวิตของสง่าช่วงนี้ได้ทำให้สังคมรู้ได้ว่า คำว่า "ค่าของคนอยู่ที่คนของใคร" นั้นมิใช่คำกล่าวที่เกินเลย เพราะเมื่อ 2 ปีต่อมาเส้นทางการเมืองของบุษบาพลิกผัน "กลุ่มเชียงใหม่คุณธรรม"ซึ่งยุคนั้นนำทีมโดยปกรณ์ บูรณุปกรณ์ ส.ส.ไทยรักไทยคนปัจจุบัน ได้ก้าวเข้ามาบริหารงานแทน และต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันนี้โดยบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ผู้พี่ นอกจากตำแหน่งงาน ,อัตราเงินเดือน จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงตลอด 7 ปีของการทำงานแล้ว การเซ็นต์สัญญาปีต่อปีของระบบลูกจ้างชั่วคราวยังกดดันเธอในแง่ความมั่นคงของคนอายุ 37 ปี มิหนำซ้ำเสียงร่ำลือในวงการลูกจ้าง - ข้าราชการ ซึ่งเป็นธรรมดาของคนหมู่มากอยู่รวมกัน คำครหาที่บอกว่าสง่ากินเงินเดือนเทศบาลฯ แต่ใช้เวลาวุ่นเรื่องยกน้ำหนักยังได้ยินเข้าหูมาด้วยซ้ำ "พี่เป็นคนพาเขาเข้ามาที่เทศบาลเอง และช่วยเขามาตลอด เพราะวุฒิเขาตอนนั้นสมัครงานที่ไหนก็ลำบาก ก็หวังว่าเขามาเป็นลูกจ้าง พอเรียนได้วุฒิก็จะได้บรรจุเป็นพนักงานประจำ แต่พี่ก็ไม่ได้เป็นผู้บริหารต่อ อีกฝ่ายก็ไม่ได้บรรจุสง่าให้ ทางสมาคมฯ โดยพลตรี อินทรัตน์ ก็พยายามทำเรื่องให้เขาทุกปี ยื่นเรื่องไปที่เทศบาลฯ เขาบอกว่าไม่มีอำนาจให้ยื่นเรื่องต่อไปที่กระทรวงมหาดไทย ก็ทำให้เขาแต่ก็ไม่ได้รับคำตอบกลับมา ไม่ใช่ว่าสมาคมฯ จะไม่ช่วยเหลือเขา ช่วงที่เขาไปออกรายการถึงลูกถึงคนก็ยังโทรศัพท์มาหารือพี่ ยังแนะนำเขาว่าไปออกก็ดี ซึ่งพอไปออกรายการสง่าบอกว่าสง่ามัวแต่ร้องไห้เลยลืมที่จะพูดไปหมด ก็เลยมีที่เขาพูดสับสนอยู่บ้างอย่างสง่าเขาเป็นนักกีฬารุ่นที่ 1 ส่วนเด็กๆ เอเธนส์เกมส์นี้เขารุ่นที่ 4 แล้ว ไม่ทันกันแต่ก็มีมาดูมาตอนซ้อมอยู่บ้าง และเด็กพวกนี้เขารักกัน แต่ก็เครียดไปเหมือนกัน แต่จริงๆแล้วสง่าก็น่าสงสารเขาอยู่ในยุคที่กีฬาประเภทนี้ไม่บูมและยังต้องรับผิดชอบครอบครัว " บุษบามองว่าหลายคนจึงอาจตั้งคำถามว่าสมาคมฯ ไม่ช่วยเหลืออะไรสง่าหรือ ซึ่งเธอขอบอกว่าสมาคมฯ ได้ช่วยเหลือในสิ่งที่ช่วยได้มาโดยตลอด นักกีฬายกน้ำหนักทุกรุ่นยืนยันได้ เพียงแต่ยุคของสง่า เป็นยุคแรกเริ่มที่สมาคมยกน้ำหนักฯ ไม่มีชื่อเสียงหรือผลงานโดดเด่น จะมีก็ยุคของเกษราภรณ์ สุดตา ที่เริ่มได้เข้ารับราชการประกอบกับเกษราภรณ์เรียนจบปริญญาตรีจึงได้บรรจุเป็นทหารเรือเป็นคนแรก บุษบาบอกด้วยว่าทุกวันนี้เธอก็ยังให้สง่าได้มาช่วยเหลือในการทำทีมยกน้ำหนักภายใต้สโมสรเคียงดาวโดยฝึกซ้อมนักกีฬาเยาวชนที่จะเป็นตัวแทนสมาคมยกน้ำหนักของจังหวัดเชียงใหม่ โดยมีเบี้ยเลี้ยงให้แล้วแต่ที่จะเบิก และมองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับสง่าในวันนี้เพราะกระแสของโอลิมปิคที่สมาคมฯได้มีผลงานเป็นที่ยอมรับซึ่งต่างจากยุคแรกที่สง่าได้บุกเบิกไว้ เพราะสมาคมฯยังไม่มีผลงานให้ได้รับความสนใจเหมือนวันนี้ "ตอนนี้เสธฯ ก็ได้ทำหนังสือถึงพล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทย เรื่องการบรรจุให้สง่าเป็นทหาร โดยประสานไปยังกองทัพบกเพื่อให้สง่ารับราชการในจังหวัดเชียงใหม่เพื่อจะได้ดูแลนักกีฬายกน้ำหนักต่อไปด้วย เพราะเราจะต้องให้งานที่เหมาะสมกับเขา เขามีความถนัดด้านนี้" และผลงานของสมาคมยกน้ำหนักด้วยฝีมือของพลตรีอินทรัตน์ ยอดบางเตย นายกสมาคมยกน้ำหนักสมัครเล่นแห่งปรเทศไทยในฐานะ ส.ว.เชียงใหม่สร้างความตื่นเต้นต่อสภาสูงไม่แพ้กันถึงกับเป็นครั้งแรกของการจัดเลี้ยงให้ทัพนักกีฬาเป็นประวัติศาสตร์ การประกาศเชิดชูเกียรติพลตรีอินทรัตน์ ยอดบางเตยด้วยซ้ำ และเสธยอดไม่เคยลืมที่จะเชิดชูบุษบาด้วยเสมอ … เสียงลือกระหึ่มมานานแล้วว่า หลังพลตรีอินทรัตน์พ้นสมัยของสว.คราวนี้ไป บุษบานี่แหละคือตัวตายตัวแทน แม้เธอจะผิดหวังกับสนามอบจ. แต่ไม่เคยบอกว่าจะยุติบทบาท และดูเหมือนสนามส.ว.จะคือเส้นทางที่ทอดมาหาเธอได้โดยไม่มีขวากหนามเหมือนสนามอื่น เธอหัวเราะมาตามสายเมื่อพูดถึงเรื่องนี้ "ที่ทำก็ทุกอย่างก็ทำด้วยความจริงใจ ไม่ได้หวังอะไร บอกตามตรงว่าพี่ไม่มีลูก มีความพร้อมที่จะทำงาน การที่สมัครเล่นการเมืองเพราะเห็นว่าสามารถทำประโยชน์ต่อสังคมได้ มีความรู้ความสามารถจะช่วยเหลือบ้านเมือง แล้วกับการที่ทำงานยกน้ำหนักมาถึง 10 ปี ก็คงจะเห็นแล้วว่าทุ่มเทและทำจริง" แล้วถึงวันนั้น คนเชียงใหม่คงได้พิสูจน์กันได้ว่า กระแสเอเธนส์เกมส์นั้น…แรงพอจะฉุดเธอเข้ามาในตำแหน่ง ส.ว.เชียงใหม่ได้หรือไม่ !? -------------------------------------------------------------------- สง่า วังคีรี ลาที….เทศบาล สง่า วังคีรี…เธอมิได้กล่าวคำนี้เอง และท่าทีแบ่งรับแบ่งสู้เมื่อพูดถึงเรื่องงานเพราะไม่อยากจะกระทบใคร แต่สิ่งที่เธอกำลังถูกหยิบยื่นมาให้ผ่านพลังของสื่อและกระแสของเอเธนส์เกมส์ ก็พอจะคาดเดาได้ว่า เธออาจจะได้โบกมือลาสภาเจดีย์ขาว ที่ที่เธอใช้ชีวิตอยู่ถึง 7 ปี เป็น 7 ปีแห่งความกล้ำกลืน อดทนรอคอยด้วยความคาดหวัง ที่จริง ตำแหน่ง "ลูกจ้างชั่วคราว" กับเงินเดือน "4,100 บาท" มิใช่เพียงเธอลำพังที่เผชิญกับสิ่งนี้ ทั่วทั้งประเทศมีคนนับแสนที่กิน อยู่ และใช้ชีวิตด้วยเงินและสถานะนี้อยู่ หากเธอต่างตรงที่เคยรับใช้ชาติ และเวลาได้หมุนมาให้บรรจบกับกระแสคลั่งฮีโร่โอลิมปิคในวันนี้ ผ่านช่องทางอันทรงพลังอย่าง "สื่อมวลชน" "พลเมืองเหนือ" ได้เคยนำเสนอเรื่องราวของเธอ ในแง่มุมที่ชอกช้ำ และไม่ได้รับความเป็นธรรมจากสังคมมาตั้งแต่เอเธนส์เกมส์ยังไม่เปิดฉาก ด้วยคอลัมน์ "ค้นคนเหนือ" และอีกครั้ง กับเรื่องจากปกฉบับ "เคยสู้เหมือนกันโว้ย !"วันนี้ เรื่องราวของสง่า ได้ถูกตีแผ่ไปทั่วประเทศจากสารพัดสื่อ ชื่อของสง่า วังคีรี ได้เกิดขึ้นมาระดับประเทศอีกครั้ง …แม้ไม่ใช่ในฐานะวีรสตรีผู้สร้างความภาคภูมิใจแก่ประเทศชาติในยุคนี้ แต่เป็นภาพของอดีตนักกีฬาทีมชาติที่ตกอับ มีชีวิตที่พลิกผันจากหน้ามือเป็นหลังมือ เป็นลูกกตัญญู เป็นฮีโร่ที่ถูกลืม เวลานี้คนทั้งประเทศได้แบ่งใจจากน้องๆ หน้าใสเจ้าของเหรียญโอลิมปิกครั้งประวัติศาสตร์ของไทย มาร่วมหลั่งน้ำตาไปกับ ชีวิตรันทดของสง่า วังคีรี นักยกน้ำหนักหญิงรุ่นบุกเบิกไปด้วย วันนี้นอกจากสง่าจะได้เงิน 3 แสนบาทเป็นทุนการศึกษาจากกระทรวงสาธารณสุขผ่านนางสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ จังหวัดเชียงใหม่ได้เรียกตัวสง่าเข้าพบเพื่อให้ข้อมูลและเตรียมที่จะช่วยเหลืออีกระดับหนึ่งแล้ว รวมทั้ง พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทยได้ประสานเรื่องไปยังพลเอกชัยสิทธิ์ ชินวัตร ผู้บัญชาการทหารบก เรื่องการบรรจุให้สง่าเป็นทหารที่เชียงใหม่ด้วย แต่หากย้อนไปก่อนหน้าที่กีฬายกน้ำหนักจะบูมเช่นนี้ ที่นั่งของข้าราชการดูเหมือนไม่ว่างสำหรับเธอมาตลอดทั้ง 7 ปี เวลานี้คนทั้งประเทศได้แบ่งใจจากน้องๆ หน้าใสเจ้าของเหรียญโอลิมปิกครั้งประวัติศาสตร์ของไทย มาร่วมหลั่งน้ำตาไปกับ ชีวิตรันทดของสง่า วังคีรี นักยกน้ำหนักหญิงรุ่นบุกเบิกไปด้วย สิ่งที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วกับสง่า เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าเกิดจากปัจจัยความสำเร็จสูงสุดของวงการกีฬายกน้ำหนักและด้วยพลังของสื่อ แต่สิ่งที่เห็นอาจจะเป็นเพียงบางส่วนของความเป็นจริงเท่านั้น จะเป็นไปได้หรือไม่ หากเราจะยอมรับความเป็นจริงและมองให้รอบด้านว่า เวลาเพียง 2 ชั่วโมงในรายการทอล์คโชว์เชิงข่าว "ถึงลูกถึงคน" กับโอกาสทองที่เธอได้ระบายความอัดอั้นตลอด 7 ปีเต็มของการรอคอยอย่างน้อยใจในโชคชะตาของตัวเอง ย่อมถ่ายทอดได้เพียงบางมุมเป็นแน่ และแน่นอนต้องเป็นมุมบวกสำหรับเธอ แต่อีกมุมย่อมมีบางคำถามที่แทรกขึ้นมาว่าจะเป็นไปได้เชียวหรือ ที่เธอทำมาขนาดนี้แล้ว จะไม่มีใครคอยช่วยเหลือ หรือที่เราได้ฟังมานั้น ไม่ใช่เรื่องราวทั้งหมดที่มีอยู่ และอนาคตของอดีตนักกีฬาทีมชาติที่โชคชะตาล้อเล่นแรงๆ กับเธอนั้น จะเป็นเช่นไร -------------------------------------------------------------------- บุษบา ยอดบางเตย ซึ่งเธอเป็นเสมือนแม่คนที่ 2 ของนักยกลูกเหล็กสาวหลายต่อหลายรุ่นของประเทศ และทั่วโลกได้เห็นเธอโอบกอดให้กำลังใจ 4 วีรสตรีเอเธนส์เกมส์ของไทยทุกครั้งในฐานะผู้จัดการทีมนั้น เธอผู้นี้แหละที่สำหรับสง่าแล้ว เธออาจพูดไม่ได้เต็มปากนักว่า "ลาที….เทศบาลฯ" เพราะหลายอย่างยังไม่มีความชัดเจน แต่แนวโน้มชีวิตของเธอเป็นไปได้สูงมากที่จะได้สัมผัสกับคำว่า "ข้าราชาการ"สมดังใฝ่ฝัน และอาจไม่ใช่ในที่ที่เธอเคยอยู่ เพราะก่อนหน้านี้ ตั้งแต่ยังไม่มีใครสนใจเธอ การนำเสนอข้อมูลของสื่อท้องถิ่นรวมทั้ง "พลเมืองเหนือ"ได้รับรู้จากทั้งผู้บริหารและข้าราชการระดับสูงในสภาเจดีย์ขาวเพียงว่า "กำลังดูๆ ให้อยู่แต่อัตราเต็มแล้ว" แต่ล่าสุด เพราะความแรงของกระแสขณะนี้จังหวัดเชียงใหม่ได้เรียกตัวสง่าเข้าพบเพื่อให้ข้อมูลและเตรียมที่จะช่วยเหลืออีกระดับหนึ่งแล้ว สง่า พบกับ "พลเมืองเหนือ"อีกครั้งและเล่าว่า ทีมงานรายการถึงลูกถึงคนติดต่อมาขณะที่อยู่กรุงเทพพอดี โดยบอกว่าอยากให้ไปออกรายการเพราะเขาทราบข้อมูลจากหนังสือพิมพ์ พลเมืองเหนือ ก็เลยตอบตกลงไป…คงเป็นฟ้าลิขิตให้ได้มาออกรายการนี้ โดยไม่คาดคิดมาก่อน สง่าบอกว่าที่เธอร้องไห้มากมายในรายการนั้น เป็นเพราะสุดกลั้นกับความเก็บกดที่มีมานาน ว่าเราทำเพื่อชาติมามากแต่ทำไมไม่ได้รับการเหลียวแล แต่ที่จริงอยากบอกว่าทางสมาคมยกน้ำหนักฯ ก็พยายามช่วยเหลืออยู่ตลอด ทำหนังสือให้ผู้ใหญ่ระดับชาติช่วยเหลือ และผลักดันให้เราได้รับราชการเรื่อยมา แต่ก็ไม่เป็นผล ก็เลยทำให้รู้สึกน้อยใจอย่างมาก แต่หลังจากออกรายการแล้ว เสียงตอบรับจากประชาชนเป็นไปด้วยดี จนทำให้เธอรู้สึกตื้นตันใจ ที่คนไทยยังไม่ลืม โดยเฉพาะตอนจบรายการ มีคนดูหลายคนก็เข้ามาขอลายเซ็นต์ และบอกว่าเธอพูดได้ดี ทำให้ประทับใจมาก นอกจากนั้นประชาชนทางบ้านก็ให้กำลังใจมาอย่างท่วมท้นเช่นกัน ทั้งทางโทรศัพท์มาและส่งSMS มาในรายการ "ที่สำคัญคือท่านรัฐมนตรีสุดารัตน์ ที่มอบทุนการศึกษาให้ เพราะท่านรู้ว่าสง่าเรียนมาน้อย ท่านเห็นสง่าในรายการและบอกว่า ดูแล้วสงสารจนร้องไห้ตาม หลังจากนั้นจึงติดต่อมาให้ทุนการศึกษา" ในนาทีนี้สง่าบอกว่า "หากต้องขอบคุณใครในตอนนี้ คงต้องขอบคุณทางสมาคมยกน้ำหนักฯที่คอยสนับสนุนมาตลอด และสื่อมวลชนที่เปิดเผยเรื่องราวของตน ให้ประชาชนได้ทราบ รวมทั้งหนังสือพิมพ์พลเมืองเหนือ ที่ช่วยเหลือเปิดประเด็นให้ สำหรับเพื่อนร่วมงานก็คอยให้กำลังใจ และแสดงความยินดีด้วย มีนักข่าวมาติดต่อหลายแห่ง มีคนมาขอลายเซ็นต์ ทำให้นึกถึงตอนที่รุ่งเรือง ตื้นตันใจที่ยังมีคนนึกถึงเราอยู่ ตอนนี้ก็ได้อัดรายการที่ได้ไปออก แจกให้คนอื่นๆ เพื่อเป็นกำลังใจให้ต่อสู้กันต่อไป" สง่ากล่าวในที่สุด ในวันที่เธอพอจะมีสิทธิ์หวังอะไรได้บ้างนั้น สง่ายังยืนยันอยากได้งานที่มั่นคง ซึ่งงานที่เธออยากทำคือสังกัดกรมทหาร โดยยอมที่จะทำทุกอย่าง แม้จะให้เป็นผู้ช่วยกุ๊กในกรม ก็สามารถทำได้ โดยเงินเดือนไม่ต้องมากก็ได้ ,รถกระบะสักคันเพื่อ พานักกีฬาไปแข่ง โดยเธอบอกว่ารถของตัวเองที่มีอยู่ อายุหลายปีแล้ว และต้องซ่อมบ่อย แต่ก็ยังรักรถคันนี้อยู่เพราะได้มาจากน้ำพักน้ำแรงของเรา เคยให้เขาตีราคาได้ 2หมื่นบาท แต่ก็ไม่อยากขายเพราะเสียดาย สำหรับสิ่งสุดท้ายที่อยากขอคืออยากได้สวัสดิการให้เต็มที่เพราะเวลานี้พ่อแม่ ก็แก่มากแล้ว อยากทำตัวเองให้เป็นเสาหลักของครอบครัวได้ สิ่งที่สง่าจะได้รับหลังจากนี้ไป อาจเป็นจำนวนไม่มากเท่ารุ่นน้องที่ได้แชมป์โอลิมปิกกลับมาคราวนี้ แต่คาดว่าเธอคงได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเต็มที่ หรืออย่างน้อย ก็ได้งานหลักที่มั่นคง อย่างที่เธอถวิลหามา ร่วม 7 ปี ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม เราคงต้องยอมรับความจริงที่ว่าเมื่อชื่อเสียงเกิดขึ้นมาที่เมื่อใด ต้องยอมรับวันที่ตกต่ำให้ได้ สง่าเองก็เคยได้สัมผัสกับความรู้สึกทั้งสองด้านมาอย่างลึกซึ้ง การมีชีวิตใหม่ของเธอในวันนี้ คงทำให้เธอได้มองเห็นสัจธรรมของชีวิตได้มากขึ้นว่าวงการนี้มีทั้งขึ้นและลง และเมื่อลงแล้วก็อาจขึ้นได้ หากใครรู้จักประคับประคองตัวเองให้อยู่ในแนวทางที่ดี รู้จักการวางตัวอย่างเหมาะสม แม้ชื่อเสียงจะหมดไป แต่อย่างน้อยก็ยังภาคภูมิใจในศักดิ์ศรีของตัวเองได้อยู่. รายงานโดย : ศูนย์ข่าวประชาไท
['บทความ']
https://prachatai.com/print/271
2004-09-12 22:09
รายงานพิเศษ พลเมืองเหนือ
ภาคเอกชนเชียงใหม่ กะเทาะวิกฤติน้ำมัน หวั่นระยะยาวส่งผลกระทบธุรกิจทั้งระบบ ฉายภาพทางออก-วางแผนตั้งรับหลายมิติ สุธิดา สุวรรณกันธา สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงต่อเนื่อง และมีความผันผวนจากการเก็งกำไร เป็นปัจจัยกดดันการขยายตัวเศรษฐกิจของประเทศอีกครั้ง ทั้งยังมีแนวโน้มว่าจะไม่คลี่คลายในช่วงปี 2547 นี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยและสภาพัฒน์ ยอมรับว่าประเด็นวิกฤตน้ำมันจะส่งผลกระทบต่ออัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจบ้าง ขณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงินได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยพันธบัตร (อาร์พี) ระยะ 14 วัน ร้อยละ 0.25 เนื่องจากราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้อัตราเงินเฟ้อปรับตัวเพิ่มขึ้น จากวิกฤตการณ์ดังกล่าว หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ ได้จัดเสวนาติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจ "วิกฤตน้ำมัน : ผลกระทบและทางออก" เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2547 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมดิเอ็มเพรส จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนในจังหวัดเชียงใหม่ร่วมรับฟังผลกระทบและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเรื่องมาตรการที่รัฐบาลออกมาแก้ปัญหาการปรับตัวของภาคเอกชนจังหวัดเชียงใหม่และประเด็นที่ภาคธุรกิจต้องการความช่วยเหลือจากภาครัฐ ตลาดท่องเที่ยวในประเทศซึม เมล์เขียวกระอัก-ลดจำนวนเที่ยว นายบุญเลิศ เปเรร่า นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ในส่วนของภาคธุรกิจท่องเที่ยว มองเป็น 2 ส่วนคือ ต้นทุนด้านขนส่ง อาจกล่าวได้ว่ายังไม่มีผลกระทบมากนัก เนื่องจากต้นทุนของผู้ประกอบการส่วนใหญ่ใช้น้ำมันดีเซล ซึ่งรัฐบาลยังตรึงราคาในส่วนของน้ำมันดีเซลไว้ จึงยังไม่มีการปรับราคาบริการ แต่อีกส่วนหนึ่งราคาน้ำมันจะมีผลกระทบต่อปริมาณของนักท่องเที่ยวคนไทย ที่ส่วนใหญ่นิยมเดินทางโดยรถส่วนบุคคล ประเด็นนี้อาจจะมีผลต่อการตัดสินใจเดินทางทางไกล และอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงการเดินทางไปสถานที่ที่ใกล้มากกว่าเดิมทำให้ประมาณการได้ว่าการท่องเที่ยว 60% ซึ่งเป็นตลาดคนไทยที่เที่ยวภายในประเทศ จะมีการขยายตัวที่ลดลง เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาที่มีการขยายตัวของนักท่องเที่ยวคนไทยในเชียงใหม่ในสัดส่วนที่สูงมาก เนื่องจาก มีปัจจัยสายการบินราคาถูกและหมีแพนด้า แต่ขณะนี้ทั้งสองปัจจัยไม่ใช่เรื่องใหม่ เมื่อสถานการณ์ราคาน้ำมันเป็นเช่นนี้ จึงยิ่งไม่มีแรงดึงดูดให้คนไทยเดินทางออกมาเที่ยวแน่นอน ส่วนนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศคาดว่าในระยะสั้นจะมีผลกระทบน้อยมาก เนื่องจากระบบการท่องเที่ยวจะทำสัญญาข้ามปี จึงไม่ส่งผลกระทบด้านต้นทุนและมีการจองล่วงหน้าแล้ว จึงคิดว่าช่วงไฮย์ซีซันปีนี้ตลาดต่างประเทศจะไม่กระทบมากนัก นายสมชาย ทองคำคูณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยพัฒนกิจขนส่ง จำกัด สะท้อนว่า รถเมล์เขียวได้รับผลกระทบมาก ในความเป็นจริงราคาน้ำมันดีเซลควรอยู่ที่ระดับ 13.73 บาทต่อลิตร ซึ่งเป็นราคาที่เหมาะสมและอยู่ได้ แต่ปัจจุบันรัฐบาลตรึงราคาไว้ที่ 15.16 บาทต่อลิตร ขณะนี้ทางบริษัทฯ ต้องใช้น้ำมันดีเซลเฉลี่ยประมาณ 700,000 ลิตรต่อเดือน หรือเฉลี่ยประมาณ 1,000,000 บาทต่อเดือน และคาดว่าภายในสิ้นปีนี้จะมีค่าใช้จ่ายรวม 12 ล้านบาท ทั้งหมดคือต้นทุนภาระที่บริษัทฯต้องแบกไว้ ขณะที่เมื่อปีที่ผ่านมา บริษัทฯได้ลงทุนซื้อรถใหม่จำนวน 30 คัน วงเงิน 50 ล้านบาท และภายในปี 2548 จะลงทุนเพิ่มอีก 5,000,000 - 6,000,000 บาทสำหรับการจำหน่ายตั๋วโดยสารออนไลน์ แนวทางแก้ไขปัญหาของบริษัทฯในเบื้องต้นคือ ลดจำนวนเที่ยววิ่งลง ซึ่งมีผู้โดยสารจำนวนหนึ่งเดือดร้อน แต่ก็จำเป็นต้องเลือกทางแก้ไขเช่นนี้เพื่อความอยู่รอดของบริษัทฯ อย่างไรก็ตาม ในอนาคตหากรัฐบาลจะลอยตัวราคาน้ำมันดีเซลก็ควรมีมาตรการในการช่วยเหลือผู้ประกอบการด้วย ขนส่งต่างประเทศครวญกระทบแน่ หนุนรัฐผุดรถไฟรางคู่-Container Yard นางสาวอุดมรัตน์ อัครชิโนเรศ ประธานชมรมผู้ประกอบการขนส่งสินค้าต่างประเทศ ภาคเหนือ กล่าวว่า ปัจจุบันการส่งออกสินค้าไปต่างประเทศใช้การขนส่งใน 3 ส่วนหลักคือ รถ เรือ และเครื่องบิน ซึ่งวันนี้ราคาน้ำมันที่แพงขึ้นมีผลโดยตรงกับการส่งออกสินค้าไปต่างประเทศ เพราะผู้รับภาระขนส่งต่าง ๆ จะมีต้นทุนสูงขึ้นทันที ในส่วนการส่งออกพืชผักผลไม้และหัตถกรรมในพื้นที่จังหวัดลำปาง เชียงราย และเชียงใหม่ ยังไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เนื่องจากรัฐบาลยังคงตรึงราคาน้ำมันอยู่ อย่างไรก็ตาม ในส่วนของผู้ประกอบการขนส่งสินค้าต่างประเทศ ภาคเหนือ ได้เตรียมการแก้ปัญหาไว้แก้ปัญหาเตรียมไว้คือ จะรวมกันขนส่งสินค้าเพื่อลดต้นทุน แม้ในระยะสั้นจะยังไม่มีผลกระทบมากนัก แต่ทางผู้ประกอบการก็เห็นตรงกันว่า ระยะกลาง รัฐบาลควรมีการส่งเสริมการขนส่งทางรถไฟ เช่น รถไฟรางคู่ขนส่งสินค้าเฉพาะจากนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือและส่วนของภาคเหนือ โดยมีโบกี้ขนส่งสินค้าโดยเฉพาะไปท่าเรือแหลมฉบังและที่ลาดกระบังโดยตรง ส่วนในระยะยาวต้องการให้รัฐบาลสร้าง Container Yard สำหรับการส่งสินค้าส่งออกทั้งภาคเหนือเพื่อลดต้นทุนในการขนส่ง ตลาดรถยนต์ยอดขายตก ค้าปลีกร้องรัฐตรึงดีเซล นางสุวรรณา ศิริรัตน์ กรรมการชมรมผู้ค้ายานยนต์จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ผู้ประกอบการค้ายานยนต์ในจังหวัดเชียงใหม่ส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบมาก ยิ่งไตรมาสที่สามราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น ดอกเบี้ยขึ้น ส่งผลต่อการจัดสินใจซื้อรถยนต์ในช่วงนี้ ทำให้ภาพรวมของตลาดยอดขายตกไปประมาณ 20% โดยในช่วงไตรมาสที่สี่หลาย ๆ บริษัทจะกระตุ้นให้บริษัทแม่ออกแคมเปญใหม่ เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อให้กลับคืนมา ซึ่งหากเป็นไปได้อยากเสนอให้รัฐบาลตรึงราคาน้ำมันต่อไป เพื่อที่ว่าต้นทุนจะไม่ขยับไปมากกว่านี้ ขณะเดียวกันรัฐบาลควรชดเชยการตรึงราคาน้ำมันเบนซิน เนื่องจากการเติบโตของรถยนต์ เป็นดัชนีส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจของประเทศ รัฐบาลก็เก็บภาษีสรรพสามิตค่อนข้างสูงอยู่แล้ว ดังนั้น รัฐบาลควรจะชดเชยราคาน้ำมันทั้งสองส่วน นายกิตติ อ๋องประกิต จากห้างคาร์ฟูร์ เชียงใหม่ กล่าวในประเด็นนี้ว่า ได้รับผลกระทบเช่นกัน ในลักษณะของห้างฯ จะบริหารในเรื่องลอจิสติกส์ อนาคตหากภาครัฐไม่สามารถตรึงราคาน้ำมันดีเซลให้อยู่ได้ก็จะกระทบแน่นอน ทั้งนี้ลูกค้าส่วนใหญ่ของห้างฯ ครึ่งหนึ่งเป็นอุปโภคบริโภค หากค่าขนส่งมากขึ้น ก็จะกระทบกับประชาชนในเรื่องการซื้อสินค้า ภาครัฐควรหามาตรการตรึงราคาน้ำมันไว้ต่อไป ด้านนายไพโรจน์ ภัสสรภิญโญสกุล กรรมการผู้จัดการห้างริมปิงซุปเปอร์สโตร์ กล่าวว่า ราคาพลังงานที่แพงจะส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ ค่าใช้จ่าย 60% เป็นสินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งผลกระทบของห้างฯ มี 2 ส่วนคือต้นทุนสินค้าและต้นทุนการดำเนินธุรกิจ เมื่อต้นปีที่ผ่านมาราคาสินค้าเพิ่มขึ้นแล้ว อีกส่วนคือต้นทุนเรื่องเงินเดือนและพลังงานไฟฟ้า การลดพลังงานจะทำให้การทำธุรกิจมีต้นทุนลดลง หวั่นระยะยาวกระทบ เร่งหาพลังงานทดแทน นายจุมพล ชุติมา ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า การแก้ปัญหานี้จำเป็นต้องมองภาพรวมในหลายมิติครบวงจร และความแตกต่างของแต่ละพื้นที่ เช่น การให้ความสำคัญของระบบขนส่งสาธารณะ เพื่อที่จะช่วยลดการใช้รถส่วนตัว ประการสำคัญคือ การเตรียมแผนระยะสั้น ระยะกลางและระยะยาวที่ชัดเจน ทั้งในเรื่องระบบขนส่งมวลชที่มีประสิทธิภาพและการรณรงค์สร้างจิตสำนึกการประหยัดพลังงานอย่างเข้มข้นสม่ำเสมอ นายเฉลิมชาติ นครังกุล รองประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ปัญหาวิกฤตน้ำมันเป็นปัญหาค่อนข้างใหญ่ แม้สถานการณ์จะเกิดขึ้นทั่วโลก ขณะที่ประเทศไทยมีผลกระทบในเรื่องต้นทุนการผลิตสูงขึ้นด้านการเกษตร ประมง เกษตรอุตสาหกรรม โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ มีอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว อุตสาหกรรมการเกษตร คาดว่าจะได้รับผลกระทบระยะยาว ขณะเดียวกันแนวโน้มราคาน้ำมันในตลาดโลกไม่น่าจะลดลง เพราะผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่มีไม่กี่แห่ง ขณะที่มีผู้ใช้น้ำมันเพิ่มขึ้น เป็นสัญญาณอันตราย แม้ว่าผลกระทบต่อการท่องเที่ยวระยะสั้นจะยังไม่มี แต่เชื่อว่าต้นทุนในอนาคตจะสูงขึ้นแน่นอน นายพุทธวรรษ วิลัยหงษ์ รองประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวเสริมว่า อย่างไรก็ตาม จำเป็นที่จะต้องมีมาตรการระยะยาว ควรมีการคิดเรื่องพลังงานทดแทน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ และรณรงค์ประหยัดพลังงาน. รายงานโดย : ศูนย์ข่าวประชาไท
['บทความ']
https://prachatai.com/print/267
2004-09-11 20:24
ล่า 3 พันชื่อรื้อท่าเรือสงขลา
ศูนย์ข่าวภาคใต้-11 ก.ย.47 นางคณิตา ศรีประสม ผู้ประสานงานโครงการสิทธิชุมชนศึกษา กรณีทะเลสาบสงขลา เปิดเผย "ประชาไท" ว่า ขณะนี้การล่าลายเซ็นชาวบ้านเพื่อเสนอกรมเจ้าท่า จังหวัดสงขลา ให้ทำการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชาวประมง กรณีท่าเรือกีดขวางการไหลของกระแสน้ำ และการเข้ามาวางไข่ของสัตว์น้ำ มีความคืบหน้าไปมากแล้ว สามารถรวบรวมรายชื่อผู้ประสงค์จะให้มีการแก้ไขปัญหาดังกล่าวแล้ว จำนวน 3,000 รายชื่อ "ชาวบ้านต้องการให้มีการรื้อ คันกั้นตะกอนบริเวณท่าเรือออก เนื่องจากปกติการสร้างท่าเรือ มีผลกระทบต่อการไหลของกระแสน้ำ และ การเข้ามาวางไข่ของสัตว์ชนิดต่างๆ อยู่แล้ว แต่เมื่อมีการสร้างคันกั้นตะกอนเพิ่มขึ้นมาทำให้ปัญหายิ่งเพิ่มมากขึ้น ชาวบ้านจึงล่ารายชื่อ เพื่อให้แก้ไข ด้วยการเจาะท่าเรือให้น้ำไหลสะดวกขึ้น และให้รื้อคันกั้นตะกอนออกไป" นางคณิตา กล่าวและว่า ในวันที่ 11-12 กันยายน 2547 นี้ สมาพันธ์ชาวประมงทะเลสาบสงขลา จัดให้มีการประชุมในหัวข้อ "ปัญหาในทะเลสาบสงขลา" ขึ้น เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและแนวทางในการแก้ไขปัญหาทะเลสาบสงขลา โดยมีแกนนำชาวประมงในกลุ่มต่างๆ รอบๆ ทะเลสาบสงขลา เข้าร่วมประกอบด้วย ชมรมชาวประมงรักษ์ทะเลน้อย, ชมรมประมงพื้นบางแก้ว, ชมรมประมงปากพยูน, จังหวัดพัทลุง ชมรมชาวประมงสทิงพระ, และ ชมรมชาวประมงทะเลสาบตอนล่าง จังหวัดสงขลา เข้าร่วมประมาณ 30 คน "เรื่องที่จะพูดคุยกันในการประชุมครั้งนี้ ส่วนใหญ่จะเน้นไปที่ ปัญหาที่มีต่อชาวประมงในทะเลสาบสงขลาเป็นหลัก แต่ก็จะมีการหยิบเอาประเด็นผลกระทบจากท่าเรือน้ำลึกสงขลามาพุดคุยกันด้วย เพราะเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องมีการแก้ไขโดยด่วน และ จะมีการจัดเวทีสาธารณะเกี่ยวกับปัญหาท่าเรือน้ำลึก สงขลา อีกครั้ง ในเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้" นางคณิตา กล่าว รายงานโดย : ณขจร จันทวงศ์ ศูนย์ข่าวภาคใต้
['ข่าว', 'สิ่งแวดล้อม']
https://prachatai.com/print/272
2004-09-12 22:16
ปรับใหญ่ตลอดแนวขึ้นพระธาตุ ภูมิทัศน์หน้าวัดไร้ระเบียบ
บรรยายภาพ สภาพเชิงวัดพระธาตุดอยสุเทพที่ต้องรอการจัดระเบียบให้เหมาะสม เตรียมปรับปรุงสองฝั่งทางขึ้นสู่ดอยสุเทพ เผยมีถึง 20 จุดตั้งแต่เชิงดอยจนถึงพระตำหนักภูพิงค์ต้องปรับสภาพให้เรียบร้อยโดยเฉพาะบริเวณร้านค้าหน้าวัดพระบรมธาตุดอยสุเทพที่รกรุงรังไร้ระเบียบ เสนองบ 36 ล้านเร่งจัดการ ขณะที่องค์พระบรมธาตุเดินหน้าบูรณะปลียอดตามรูปแบบรายการก่อนเสนอเฟส 2 ตัดความชื้นตัวการพระธาตุเละใน นอกจากการบูรณะส่วนของปลียอดพระบรมธาตุดอยสุเทพ ที่ได้ข้อสรุปและเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 4 เดือนนี้นั้น ตลอดแนวทางขึ้นสู่พระธาตุฯ ตั้งแต่เชิงดอยสุเทพจนกระทั่งถึงพระตำหนักภูพิงค์ก็กำลังมีโครงการจะปรับปรุงภูมิทัศน์ครั้งใหญ่ แหล่งข่าวจากสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่าโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ดอยสุเทพ กำลังอยู่ระหว่างการสำรวจและออกแบบแนวทางการปรับปรุง โดยคาดว่าจะมีสถานที่ต้องปรับปรุงกว่า 20 จุด เช่นสวนรุกขชาติ ศาลาที่พักริมทาง สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญระหว่างเส้นทาง ไปจนถึงจุดที่สำคัญที่สุดคือบริเวณหน้าวัดพระบรมธาตุดอยสุเทพที่มีร้านค้า และที่จอดรถอันไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย ซึ่งกำลังหารือกันว่าจะให้การจัดระเบียบครั้งนี้ออกมาในทิศทางไหน ทั้งนี้ร้านค้าเชิงวัดพระธาตุดอยสุเทพมีอยู่กว่า 100 ร้านค้า แต่ปะปนกันระหว่างร้านขายของที่ระลึกและร้านอาหาร อาจต้องจัดระเบียบใหม่และกำหนดพื้นที่กิจกรรมประเภทเดียวกันให้อยู่ใกล้กัน จัดระเบียบป้ายโฆษณาที่รกรุงรัง กำหนดแนวระบบบำบัดน้ำเสียและการจัดเก็บขยะให้ชัดเจน โดยขณะนี้ได้สำรวจใกล้จะเสร็จสิ้นแล้ว คาดว่าเร็วๆนี้จะสามารถประชุมสรุปโครงการเพื่อเสนอของบประมาณราว 38 ล้านบาทในเร็วๆนี้ ในส่วนของการบูรณะพระบรมธาตุดอยสุเทพนั้น นายตระกูล หาญทองกูล เจ้าหน้าที่จากสำนักงานศิลาปากรที่ 8 กล่าวว่า มติที่ประชุมคณะกรรมการอำนวยการบูรณะพระบรมธาตุฯ ซึ่งสรุปเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2547 คือให้ดำเนินการตาม TOR ที่กำหนดไว้กับคือตรวจสอบปลียอด ขึ้นนั่งร้าน เปิดทองจังโก เสริมความมั่นคง โบกปูน ยึดทองจังโก และขึงลวดสลิง ทั้งนี้จากข้อสันนิษฐานเดิมที่เห็นผิวทองลอกและมีรอยร้าวนั้น คาดการณ์ว่าเกิดจากภายในมีความชื้น แต่เมื่อขึ้นนั่งร้านแล้วตรวจสอบใกล้ชิดพบว่าในอดีตที่เคยมีการซ่อมแซมผิวทองจังโกมีการนำสีโปะไว้ซึ่งเมื่อเกิดการเซ็ทตัวไม่เท่ากันจึงเป็นรอยร้าวออกมา แต่สิ่งที่พบมากกว่านั้นคือการสั่นคลองและแกว่งตัวของปลียอดจนถึงแกนฉัตร เนื่องจากแท่งแสตนเลสภายในมีลักษณะวัสดุที่เรียบทำให้ปลียอดที่อยู่ได้ขณะนี้อยู่ที่แผ่นทองจังโกกับลวงสลิงเท่านั้น จึงต้องปรับระยะลวงสลิงด้วย นอกจากนั้นการซ่อมแซมส่วนของปลียอดครั้งนี้ ยังจะมีการเปิดทองจังโกเป็นแนวยาวเพื่อตรวจสอบความชื้นอีกครั้งจึงจะสามารถออกแบบการบูรณะระยะที่ 2 ด้วย ทั้งนี้จะต้องแก้ไขปัญหาการปิดทับความชื้นจากหินอ่อนโดยเฉพาะบริเวณติดรั้วสีแดงซึ่งจะต้องรื้ออกและปูดินเผาซึ่งระบายความชื้นได้ดีกว่าแทน นอกจากนั้นกรมศิลปากรยังเตรียมเสนอแผนบูรณะแนวบันใดนาคเป็นการปูดินเผา ติดเกล็ดพญานาคด้วยเซรามิก และจัดทำระบบไฟฟ้ารอบทางเดินด้วย รายงานโดย : ศูนย์ข่าวประชาไท
['บทความ']
https://prachatai.com/print/273
2004-09-12 22:20
เปิดตัวภาคีเพื่อดอยหลวง แฉเงื่อนงำสร้างกระเช้า
เปิดตัวภาคีเพื่อดอยหลวงเชียงดาว แถลงข้อเรียกร้องต่อผู้ว่าซีอีโอเชียงใหม่ให้จังหวัดมีบทบาทต่อการขับเคลื่อน ผู้สื่อข่าว "พลเมืองเหนือ"รายงานว่า กลุ่มบุคคลซึ่งรวมตัวเป็น "ภาคีเพื่อดอยหลวงเชียงดาว" ซึ่งประกอบด้วยบุคคลจากหลากหลายวงการ ไม่จำกัดอยู่เฉพาะแวดวงนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ได้กำหนดเปิดตัวต่อสาธารณะชนในวันจันทร์ที่ 13 กันยายน 2547 ที่ห้องประชุมบ้านธารแก้ว ถนนห้วยแก้ว อ.เมือง จ.เชียงใหม่ โดยระบุว่าจะมีการเปิดข้อเรียกร้องปัญหาโครงการกระเช้าไฟฟ้าขึ้นดอยหลวงเชียงดาว มีการอภิปรายเงื่อนงำกรณีสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นดอยหลวงเชียงดาวในหลายมิติ ทั้งนี้โดยมี ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง อภิปรายในประเด็นปัญหาการบริหารจัดการและหลักการทำนโยบายสาธารณะ น.พ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ ในประเด็นระบบนิเวศวิทยาเทือกเขาหินปูนและสังคมพืชกึ่งอัลไพน์ อัคนี มูลเมฆ เปิดเอกสารปกปิดข้อกำหนดศึกษาความเป็นไปได้โครงการกระเช้าไฟฟ้าและข้อปัญหา วีระวัฒน์ ตันติวิระมานนท์ เปิดประเด็นปัญหาด้านวิศวกรรม และพ่อหลวงสมบูรณ์ คำวันและพ่อหลวงอินทร ใจระวัง เปิดประเด็นการรับรู้ข่าวสารของชุมชนชาวเชียงดาว แหล่งข่าวฝ่ายประชาสัมพันธ์ภาคีเพื่อดอยหลวงเชียงดาว กล่าวว่า บุคคลที่มารวมกันเป็นภาคีนี้มีทั่วประเทศ โดยเฉพาะที่กรุงเทพมหานคร ที่เป็นที่มีชื่อเสียงเช่นสุรชัย จันทิมาธร มงคล อุทก สิงห์สนามหลวง เป็นต้น เนื่องจากมีความห่วงใยต่อแนวคิดสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นดอยหลวงเชียงดาว และโดยเฉพาะอย่างยิ่งรูปแบบการทำงานของโครงการนี้ เนื่องจากภาคีฯเห็นว่าโครงการนี้มีปัญหาการบริหารจัดการคือจังหวัดและประชาคมในพื้นที่ไม่มีส่วนร่วม มีการระบุว่าเป็นดำริของนายกรัฐมนตรี มีการบรรจุเข้าอยู่ในข้อติดตามของคณะทำงานติดตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ขณะเดียวกันก็ได้มีคณะกรรมการระดับจังหวัด โดยคำสั่งแต่งตั้งของนาย สุวัฒน์ ตันติพัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อให้เป็นคณะทำงานพัฒนาดอยหลวงเชียงดาวให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์อย่างยั่งยืนของจังหวัดเชียงใหม่ มีนายปริญญา ปานทอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน แต่ระยะหลังคณะทำงานของจังหวัดถูกลดบทบาทไปและคำให้สัมภาษณ์ล่าสุดของนายปลอดประสพ สุรัสวดี ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีกลับระบุว่าโครงการนี้อยู่ภายใต้การกำกับของคณะกรรมการที่ดูแลการจัดตั้งสวนสัตว์กลางคือ สสค.มาตั้งแต่ต้นเช่นเดียวกับโครงการไนท์ซาฟารี ขณะที่ความเคลื่อนไหวในการศึกษาเพื่อก่อสร้างเคเบิลคาร์โดยบริษัทต่างชาตินั้นภาคีฯระบุว่ามีความคืบหน้ามาโดยตลอดแต่คณะทำงานแจ้งเพียงว่าอยู่ระหว่างการศึกษา ส่วนกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนก็ถูกเพิกเฉยมาตั้งแต่ต้น ภาคีฯ จึงนำเงื่อนงำที่ติดตามโครงการนี้มาเสนอในการเปิดตัวครั้งนี้และแถลงถึงข้อเรียกร้องให้จังหวัดได้มีบทบาทในโครงการนี้มากกว่าที่เป็นอยู่ รายงานโดย : ศูนย์ข่าวประชาไท
['บทความ']
https://prachatai.com/print/275
2004-09-12 22:32
ความเป็นมาของ ARRA
บรรยายภาพ : ภาพเปิดงาน อาร่า เป็นองค์กรด้านศิลปะที่ไม่มุ่งหวังผลกำไร มีจุดประสงค์ในการสนับสนุนและส่งเสริมศิลปะร่วมสมัยเสริม สร้างบริบทที่เอื้ออำนวยต่อพัฒนาการด้านศิลปะ ตลอดจนเผยแพร่แลกเปลี่ยนความรู้ความเข้าใจด้านศิลปะแก่ผู้ชมในวงกว้าง -อาร่า- เริ่มก่อตั้งขึ้นเมื่อปีพ.ศ. 2540 และได้รับการสนับสนุนหลักจากมูลนิธิเกี่ยวกับศิลปะ[about art foundation] และจากหน่วยงาน องค์กรมูลนิธิตลอดจนผู้สนับสนุนรายย่อยสำนักงาน-อาร่า-ชั้น 3 อาคารยิบอินซอยเลขที่ 523 ถ.มหาพฤฒารามบางรักกรุงเทพฯ http://www.yipintsoi.com/~aara [1] พื้นที่จัดแสดงงานของอาร่าได้แก่ 1.AboutStudio/Aboutcafe ตั้งอยู่บนถนนไมตรีจิตต์ ใกล้กับย่านเยาวราช เป็นสถานที่พบปะของผู้คนในแวดวงศิลปะทั้งในประเทศและต่างประเทศ เป็นพื้นที่เปิดกว้างเพื่อการแลกเปลี่ยนทางความคิดด้านศิลปะ นำเสนอผลงานโดยเปิดโอกาสให้กับศิลปินหน้าใหม่ที่มีผลงานมีคุณภาพ อะเบาท์สตูดิโอ ได้จัดทำห้องอ่านหนังสือด้านศิลปะและพิพิธภัณฑ์ที่มีฐานข้อมูลศิลปินไทยเพื่อสร้างพื้นฐานทาง ความรู้ด้านศิลปะและการจัดแสดงแก่เยาวชนและนักศึกษาศิลปะ 2. AboutTV (http://www.superchannel.org [select AboutTV]) นำเสนอรายการทีวีออกอากาศทางอินเทอร์เน็ต เริ่มก่อตั้งขึ้นในกรุงเทพฯ ในปี 2545 ในรูปแบบอินเทอร์เน็ตทีวีสตูดิโอ โดยความร่วมมือระหว่างอาร่า (AARA - About Art Related Activities) และ uperchannel ซึ่งเป็นเครือข่ายอินเทอร์เน็ตทีวีสตูดิโอ ตั้งอยู่ที่เมืองโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก สตูดิโอ About TV ตั้งอยู่ที่ About Studio/About Cafe ประกอบด้วยพื้นที่จัดแสดงงานศิลปะและกิจกรรมต่างๆ ร้านกาแฟ และห้องอ่านหนังสือ ซึ่งเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับศิลปะร่วมสมัย รวมทั้งข้อมูลเกี่ยวกับศิลปินไทยและศิลปินต่างประเทศ 3.สวนศิลป์มีเซียม เป็นสถานที่เก็บรวบรวม และจัดแสดงผลงานประติมากรรมของคุณมีเซียม ยิบอินซอย ศิลปินชั้นเยี่ยม (พ.ศ. 2494 สาขาจิตรกรรม) คนแรกของเมืองไทย ตามเจตนารมณ์ ของ คุณมีเซียม ที่ต้องการให้สวนศิลปฯ แห่งนี้เป็นสถานที่พักผ่อนและชมงานศิลปะ ที่จัดแสดงท่ามกลางธรรมชาติ โดยเฉพาะแก่นักเรียน นักศึกษาศิลปะ รวมทั้งผู้สนใจทั่วไป รายงานโดย : พิณผกา งามสม ศูนย์ข่าวประชาไท
['บทความ']
https://prachatai.com/print/274
2004-09-12 22:23
เร่งเครื่องเติมไบโอดีเซล งบมาแล้วรณรงค์เต็มที่
เร่งเครื่องโครงการไบโอดีเซลเชียงใหม่ หลังให้นายกเปิดตัวแล้วหายจ้อย รถแดงเติมไม่ถึง 20 คัน เผยติดขัดงบประมาณเล็กน้อย แต่ล่าสุดอนุมัติแล้ว เดินหน้าระดมรถของเทศบาลฯ เพิ่ม ตั้งโรงงานที่สันกำแพงแน่ โครงการวิจัยสาธิตการผลิตและใช้ใบโอดีเซลเป็นเชื้อเพลิงในรถยนต์รับจ้างสองแถวในเชียงใหม่ ซึ่งกระทรวงพลังงานได้เปิดตัวอย่างใหญ่โตเมื่อต้นเดือนกรกฎาคม 2547 โดยพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีมาเป็นประธาน คาดหวังจะรณรงค์ให้รถสองแถวในเชียงใหม่กว่า 2,000 คันได้ทดลองเติมไบโอดีเซลในอัตราส่วน 2 % แต่ปรากฏว่า 2 เดือนให้หลังโครงการนี้ยังไม่มีการเคลื่อนไหวเพิ่มเติมใดใด โดยนายสิงห์คำ นันติ ประธานสหกรณ์นครลานนเดินรถ หรือประธานสหกรณ์รถแดงกล่าวว่า เหลือรถสี่ล้อแดงเพียงไม่กี่คันที่เติมน้ำมันไบโอดีเซลนี้ เนื่องจากหลังเปิดตัวแล้วก็ไม่ได้รับการประสานงานอย่างเป็นทางการถึงการตรวจสอบเครื่องยนต์หรือตรวจสอบมลพิษ ทำให้ไม่สามารถประเมินผลหรือเชื่อมั่นในประสิทธิภาพของการใช้ไบโอดีเซลได้ อย่างไรก็ตาม "พลเมืองเหนือ" ได้รับคำชี้แจงจากเจ้าหน้าที่กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานว่า ที่ล่าช้าไป 2 เดือนเนื่องจากการประสานงบประมาณ แต่ขณะนี้ได้รับอนุมัติงบประมาณจำนวน 39 ล้านบาทเรียบร้อยแล้ว คาดว่าในเดือนกันยายนนี้จะเริ่มต้นโครงการรณรงค์เต็มรูปแบบ รวมทั้งการตั้งโรงงานผลิตไบโอดีเซลที่อำเภอสันกำแพงด้วย แหล่งข่าวกล่าวว่า จะได้ให้บริษัทอาร์เอสโปรโมชั่นเข้ามารณรงค์ประชาสัมพันธ์อย่างเต็มรูปแบบ เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายคือรถสองแถวมีความมั่นใจในการเติมน้ำมันไบโอดีเซลในอัตราส่วน 2 % และกำลังอยู่ระหว่างประสานเพิ่มเติมกับเทศบาลนครเชียงใหม่ให้รถของเทศบาลและหน่วยราชการต่างๆได้มาร่วมใช้ไบโอดีเซลด้วย ทั้งนี้จะกำหนดรถที่ทำการทดสอบไว้จำนวน 15 คันที่จะตรวจสอบสภาพเครื่องและระดับมลพิษโดยกรมควบคุมมลพิษไปด้วย อย่างไรก็ตามระยะเวลาที่ล่าช้าไปคาดว่าโครงการนี้จะต้องขยายจาก 8 เดือนเป็น 10 เดือน ส่วนโรงงานที่จะผลิตน้ำมันดีเซลในพื้นที่เชียงใหม่ กำลังอยู่ระหว่างหาสถานที่ที่อำเภอสันกำแพง คาดว่าไม่เกิน 2 เดือนจะเริ่มก่อสร้างได้เพื่อให้เป็นจุดรวบรวมน้ำมันที่ใช้แล้วในเชียงใหม่มาผลิตเป็นไบโอดีเซลใช้เติมรถ เพื่อเป้าหมายของกระทรวงต้องการจะนำไบโอดีเซลมาทดแทนน้ำมันดีเซลประมาณ 150,000 ลิตร/ปีและลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 400 ตันต่อปี ทั้งนี้ความมั่นใจต่อประสิทธิภาพเครื่องยนต์นั้นจากการทดลองของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนเองทที่ทดลองใช้ทั้งดีเซล 100 % และไบโอดีเซลในอัตราส่วนต่างๆ รวมทั้งใบโอดีเซล 100 % ปรากฏว่าไม่พบปัญหาต่อเครื่องยนต์แต่อย่างใด รายงานโดย : ศูนย์ข่าวประชาไท
['บทความ']
https://prachatai.com/print/279
2004-09-13 19:01
หลายพื้นที่ของเชียงรายจมน้ำ
เชียงราย-13 ก.ย. 47 ศูนย์สำรวจอุทกวิทยา จังหวัดเชียงราย ประกาศเตือนราษฎรที่มีบ้านเรือนอยู่ริมฝั่งแม่น้ำหลายสายของจังหวัดเชียงราย หลังจากระดับน้ำในแม่น้ำเพิ่มสูงขึ้นจนอยู่ในขั้นวิกฤต และมีน้ำป่าไหลบ่าเข้าท่วมหลายอำเภอ โดยเฉพาะแม่น้ำลาว มีระดับน้ำสูงถึง 4 เมตร 50 เซนติเมตร และไม่สามารถรองรับน้ำได้อีก ทำให้บ้านเรือนราษฎรที่ตั้งอยู่สองฝั่งแม่น้ำของตำบลท่าสุด ถูกน้ำไหลบ่าเข้าท่วมตลอดแนว ส่วนน้ำในแม่น้ำกก แม่น้ำกรณ์ ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นจนไหลเอ่อเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎรที่บ้านสวนดอก ตำบลแม่กรณ์กว่า 500 หลังคาเรือน และระดับน้ำในแม่น้ำอิงที่ไหลผ่านหลายอำเภอของจังหวัดเชียงราย ขณะนี้ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นกว่า 7 เมตร ทำให้น้ำไหลเข้าท่วมขังบ้านเรือนราษฎร และพื้นที่ทางการเกษตรของอำเภอเทิง อำเภอเชียงของ และอำเภอพญาเม็งราย ทางด้านอำเภอแม่จัน ขณะนี้น้ำยังคงท่วมขังบ้านเรือนราษฎรที่ ต.ศรีค้ำ ตำบลแม่คำ เป็นเวลานานกว่า 3 วันแล้ว ส่วนแม่น้ำโขงนั้น ระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อยู่ที่ระดับ 7 เมตร 95 เซนติเมตร ซึ่งยังสามารถรองรับน้ำได้อีกประมาณ 3 เมตร หากเกินจากนี้ก็จะทำให้เกิดน้ำไหลบ่าเข้าท่วมบริเวณบ้านเรือนราษฎรสองริมฝั่ง ตั้งแต่อำเภอเชียงแสนและอำเภอเชียงของ ทางเจ้าหน้าที่ศูนย์อุทกวิทยาที่ 5 จึงได้ประกาศเตือนราษฎรที่มีบ้านเรือนอยู่ติดกับแม่น้ำทุกสายของจังหวัดเชียงราย ให้เตรียมพร้อมรับน้ำที่อาจจะไหลเข้าท่วมหนักจนไม่สามารถขนย้ายสิ่งของได้ทันเหมือนเมื่อปีที่ผ่านมา ซึ่งทำให้เกิดความเสียหายได้ โดยเฉพาะบ้านเรือนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ราบลุ่ม รายงานโดย : ศูนย์ข่าวประชาไท
['ข่าว', 'สิ่งแวดล้อม']
https://prachatai.com/print/280
2004-09-13 19:02
คมนาคมโอนงานขนส่งให้อปท.
กรุงเทพฯ- 13 ก.ย.47 นายนิกร จำนง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า กรมการขนส่งทางบก พร้อมถ่ายโอนภารกิจด้านสถานีขนส่งผู้โดยสารทั้ง 61 แห่งทั่วประเทศให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวหลังการประชุมชี้แจงและเตรียมความพร้อมในการถ่ายโอนภารกิจสถานีขนส่งผู้โดยสารให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งกรมการขนส่งทางบกจัดขึ้นในวันนี้ (13ก.ย.47) โดยระยะแรกจะโอนระดับอำเภอที่มีกำไร จำนวน 5 สถานี และสถานีขนส่งผู้โดยสารระดับจังหวัดที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือ อปท. มีรายได้เกินกว่า 20 ล้านบาทขึ้นไป รวมจำนวนทั้งสิ้น 26 สถานี ส่วนการบริหารจัดการนั้น จะต้องอยู่ในระดับเดียวกันกับที่กรมการขนส่งทางบกดูแล เช่น อัตราค่าใช้สถานีที่กำหนดราคากลางโดยกรมการขนส่งทางบก ในส่วนของสถานีที่ขาดทุนและไม่ได้มีการโอนไปในกับท้องถิ่นจำเป็นต้องดูแล เนื่องจากเคยได้รับการสนับสนุนจากสถานีขนส่งที่มีกำไร ส่วนเรื่องของงานทะเบียนรถนั้น นายนิกรเห็นว่า ไม่สามารถถ่ายโอนได้ในขณะนี้ เนื่องจากเกี่ยวข้องกับระบบการจัดเก็บข้อมูล โดยเฉพาะปัญหาอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับรถ รายงานโดย : ศูนย์ข่าวประชาไท
['ข่าว', 'สิ่งแวดล้อม']
https://prachatai.com/print/281
2004-09-13 19:04
โอลิมปิกทำกรีกขาดทุนยับ
เอเธนส์- 13 ก.ย. 47 ประเทศกรีกประสบปัญหาภาระหนี้สิ้นอย่างหนักโดยเฉพาะจากค่าใช้จ่ายในการจัดงานกีฬาโอลิมปิก ซึ่งกรีกต้องใช้งบประมาณดำเนินการโดยเฉพาะค่ารักษาความปลอดภัย ซึ่งสืบเนื่องมาจากความหวั่นเกรงภัยก่อการร้ายจากเหตุวินาศกรรมเมื่อวันที่ 11 ก.ย. 3 ปีที่แล้ว ทั้งนี้ประมาณว่า ค่าใช้จ่ายดังกล่าวสูงที่สุดในรอบ 100 ปี และสูงกว่าซิดนียเกมส์ หรือโอลิมปิกปี 2000 ถึง 5 เท่า ซึ่งผลของค่าใช้จ่ายดังกล่าวบวกรวมกับภาระอื่นๆ ทำให้หนี้สินของประเทศสูงถึง 7,000 ล้านยูโรหรือ 357,000 ล้านบาท คิดเป็นการขาดดุลงบประมาณถึง 5.3% ของปี 2004 การขาดดุลงบประมาณที่คาดไว้ว่าจะอยู่ที่ระดับ 5.3% นั้น สูงกว่าเพดานของสหภาพยุโรปที่กำหนดไว้ 3% อยู่ 2 เท่า โดยในแถลงการณ์ด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลกรีกในปีหน้าระบุว่า ยอดหนี้สินประเทศอาจสูงถึง 112% ของผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) หรือ 184 พันล้านยูโร ซึ่งคิดเป็นประมาณ 9,400 พันล้านบาท หรือเฉลี่ยเป็น 50,000 ยูโร (ประมาณ 2.5 ล้านบาท) ต่อครัวเรือน ขณะที่การคาดการณ์ของรัฐบาลสังคมนิยมชุดก่อน ระบุไว้ก่อนการเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาว่า จะมีการขาดดุลราว 1.2% และมียอดหนี้สินรวมไม่เกิน 100% ของจีดีพี รายงานโดย : ศูนย์ข่าวประชาไท
['ข่าว', 'สิ่งแวดล้อม']
https://prachatai.com/print/276
2004-09-12 23:21
ศิลปะไม่มีที่อยู่ - ศิลปะอยู่ในทุกที่
ภาพประกอบ 1 Here&Now ศิลปะที่ไม่รอหอศิลป์ ช่องว่างของตึกขนาด 2 ห้อง แทรกตัวอยู่ระหว่างอาคารพาณิชย์เก่า ริมถนนวงเวียน 22 กรกฎา ถูกบดบังไว้ด้วยหาบเร่และรถเข็นอีกชั้นหนึ่ง มันเคยเป็นส่วนหน้าของโรงแรมวงเวียน 22 :ซึ่งถูกทิ้งร้างไว้นานมา แต่ในระหว่างวันที่ 9 กรกฎาคม-8 กันยายนที่ผ่านมา มันได้ทำหน้าที่นำทางสู่นิทรรศการศิลปะที่ชื่อ Here&Now " ที่นี่ + ตอนนี้ " (Here&Now) เป็นความร่วมมือระหว่างประเทศไทยกับประเทศฝรั่งเศส เริ่มต้นตั้งแต่ ปลายปี พ.ศ. 2545 ในรูปแบบของการแลกเปลี่ยนและการทำการ ค้นคว้า วิจัย ข้อมูลเพื่อสร้างพื้นฐานความเข้าใจในความแตกต่าง ดำเนินต่อเนื่องมาตลอดปี พ.ศ. 2546 และจะจบลงด้วยนิทรรศการศิลปะร่วมสมัยพร้อมกิจกรรมทางด้านวิชาการศิลปะ ตลอดจน กิจกรรมสำหรับผู้ชมทั่วไป นิทรรศการ Here&Now จัดขึ้นภายใต้ความคิดที่ให้ศิลปินเข้าปะทะกับพื้นที่โดยตรง นำเสนอความเป็นไปได้ในการจัดการเพื่อพัฒนาพื้นที่ และ อาคารที่มีอยู่เดิม บนถนนไมตรีจิต รวมทั้งพื้นที่ที่อยู่รายรอบให้เป็น แหล่งศิลปะ วัฒนธรรม และการเรียนรู้ โดยเฉพาะในส่วนของศิลปะและวัฒนธรรมร่วมสมัย สถานที่จัดแสดงและกิจกรรมประกอบด้วย Photography Bar ,About Café ตึกร้างสีฟ้าที่กลุ่มศิลปินผู้จัดงานเรียกว่าตึกฟ้า และตึกร้างที่เคยเป็นโรงแรมวงเวียน 22 โดยอาคารร้างถูกดัดแปลงให้เป็นเสมือนพิพิธภัณฑ์ศิลปะ มีห้องแสดงงาน เวทีการแสดง ห้องทำงานของศิลปิน ฯลฯ สถานที่ทั้งหมดตั้งอยู่บนถนนไมตรีจิตต์มุ่งหน้าไปยังหัวลำโพง วงเวียน 22 "พื้นที่" ในฝัน - ย่านศิลปะ "ตึกไทยวัฒนาพาณิชย์ที่ถูกไฟไหม้ไป เป็นฝันหวานของเรา เพราะมีพื้นที่ถึงกว่า 8,000 ตารางเมตร ซึ่งเป็นขนาดที่เอื้อต่อการทำกิจกรรมเกี่ยวกับศิลปะทุก ๆ อย่าง ตั้งแต่ จัดแสดง ซ่อมงาน ฯลฯ" เกล้ามาศ ยิบอินซอย ผู้อำนวยการ ARRA (ล้อมกรอบ) เล่าถึงความฝันของศิลปินที่เชื่อว่าตึกร้างที่ขาดประโยชน์ทางเศรษฐกิจสามารถเป็นต้นทุนที่ดีในการสร้างงานศิลปะ นอกจากพื้นที่ซึ่งเอื้อต่อการทำกิจกรรมทางศิลปะแล้ว เกล้ามาศอาศัยประสบการณ์กิจกรรมของอะเบาท์คาเฟ่ วิเคราะห์ว่าพื้นที่แถบวงเวียน 22 กรกฎา นี้มีความน่าสนใจมาก เพราะมีความเป็นชุมชนและมีอัตลักษณ์ของตนเองชัดเจน เหมือนใกล้แต่ก็ไกล อยู่ใจกลางเมืองแต่ก็มีความเป็นชายขอบ มีตึกร้างมากมาย ให้ศิลปะได้แทรกตัวเข้าไป "เราฝันไปไกลกว่านั้นเพราะตึกร้างที่แทรกตัวอยู่ตามจุดต่าง ๆของย่านนี้สามารถทำให้วงเวียน 22 กรกฎา เป็นย่านของศิลปะได้" ธนาวิ โชติประดิษฐ์ ศิลปินจากที่เดียวกันกล่าวเสริมว่า "พื้นที่บริเวณวงเวียน 22 เหมือนเป็นชายขอบอยู่ใกล้เยาวราชแต่ไม่ได้อยู่ใจกลางแหล่งค้าขาย ใกล้หัวลำโพงแต่ก็ยังไม่ถึงหัวลำโพงเสียทีเดียว ชุมชนมีความหลากหลาย มีความแปลกต่อกันอยู่แล้ว เช่นศาลเจ้า แหล่งผู้หญิงกลางคืน ร้านขายอาหาร ร้านค้าส่ง ฯลฯ ฉะนั้นศิลปะก็น่าจะอยู่ได้ด้วย" ศิลปะไม่มีที่อยู่ - ศิลปะอยู่ในทุกที่ "ส่วนตัวก็ยังอยากได้พิพิธภัณฑ์ เรายังเชื่อพื้นที่ที่แน่นอน เพื่อสื่อสารให้คนรู้ว่าเข้ายังพื้นที่นี้ได้ แต่ก็ต้องยอมรับว่าศิลปะก็เป็นพื้นที่หนึ่งและยังแคบอยู่มาก เพราะเป็นเรื่องจำกัดเฉพาะกลุ่ม เป็นคนทำงานเฉพาะด้าน ศิลปะร่วมสมัยไม่มีพื้นที่อยู่ในสังคมเลย ระบบการศึกษาหลักก็ไม่เคยมีเรื่องพิพิธภัณฑ์ และไม่มีแนวทางการศึกษาใดที่จะเรียนรู้จากพิพิธภัณฑ์" เกล้ามาศกล่าวในฐานะศิลปินที่ต้องการพื้นที่สำหรับศิลปะ อย่างไรก็ตามเกล้ามาศวิเคราะห์ว่าการจะมีพื้นที่ทางศิลปะแบบถาวรได้นั้นต้องอาศัยการสื่อสารกับฝ่ายการเมืองพอสมควร และสำหรับคนทำงานศิลปะแล้วการเข้าสู่พื้นที่ทางการเมืองก็เป็นเรื่องที่ต้องอาศัยความสามารถเฉพาะทางอยู่เหมือนกัน ด้านธนาวิกล่าวว่า "ศิลปะอาจดูเหมือนไม่มีที่อยู่ที่ยืนที่ชัดเจน แต่ถ้าคิดในมุมกลับ ก็อาจจะหมายความว่า ศิลปะจะอยู่ที่ไหนก็ได้ วงการศิลปะมีประเด็นที่ถกเถียงกันตลอดคือ ไม่มีพื้นที่สำหรับศิลปะ โดยทั่วไปเมื่อนึกถึงตัวอาคาร แต่ถ้าเราไม่ยึดติดกับอาคาร ก็จะขยายไปได้กว้างขึ้น เช่นตึกร้าง ตึกที่ถูกไฟไหม้ หรือแม้แต่บนหน้าหนังสือพิมพ์" นิทรรศการ Here&Now ที่ปิดตัวลงไปเป็นคำบอกเล่าที่ชัดเจนว่าตราบเท่าที่ศิลปินยังคงผลิตงานศิลปะ พื้นที่ของ "ศิลปะ" ย่อมไม่จำกัดอยู่เพียงในอาคารอันที่ถูกกำหนดด้วยชื่อเฉพาะ แม้โครงการหอศิลป์กรุงเทพมหานคร ณ สี่แยกปทุมวัน จะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ภายหลังผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ คนใหม่มีท่าทีว่าจะเห็นความสำคัญ และเห็นด้วยกับกลุ่มศิลปินซึ่งดำเนินการต่อสู้เพื่อพื้นที่ของศิลปะมานาน (อย่างน้อยที่สุด เท่าวาระผู้ว่าฯ ที่เพิ่งพ้นจากตำแหน่งไป) แต่ภายใต้นิยาม "พื้นที่" อันไม่จำกัด ศิลปินย่อมสามารถนำพาศิลปะออกไปไกลกว่าขอบเขตของการรอคอย รายงานโดย : พิณผกา งามสม ศูนย์ข่าวประชาไท
['บทความ']
https://prachatai.com/print/277
2004-09-12 23:47
ตามรอย...สานเจตนารมณ์ที่ปากแจ่ม
กว่า 12 ชั่วโมงที่รถตู้พาพวกเราทั้ง 8 คนเดินทางจากกรุงเทพมุ่งลงใต้สู่ปลายทางที่ตำบลปากแจ่ม อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง ประมาณ 7 โมงเช้าของวันที่ 6 สิงหาคม 2547 เรามาถึงบริเวณจัดงาน "สานเจตนา-ร่วมสู้ :ครบรอบ 2 ปี การคัดค้านสัมปทานเทือกเขาถ้ำแรด(เขาควนเหมียง) " ริมถนนห้วยยอด-น้ำผุด-ตรัง หน้าเทือกเขาถ้ำแรดที่ตั้งตระหง่านอย่างสะดุดตา โดยฝั่งตรงข้ามมองเห็นเทือกเขาบรรทัดทอดตัวยาวสงบนิ่งขนานไปตามแนวถนน อากาศยามเช้าเย็นสบาย มองเห็นหมอกบางๆปกคลุมบนยอดเขา ที่นี่คือพื้นที่หมู่ 1 ตำบลปากแจ่ม ที่ตั้งของเทือกเขาถ้ำแรด ภูเขาหินปูนที่กำลังเป็นชนวนความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านกับนายบุญทิพย์ สุนาเสวีนนท์ แห่งบริษัทโจมทองศิลา บริษัทหินรายใหญ่ของจังหวัดตรังผู้ขอประทานบัตร ซึ่งหากการระเบิดหินเกิดขึ้นจริงคาดว่าจะมีผู้ที่เกี่ยวข้องคือชาวบ้านในพื้นที่หมู่ 1 ราว 130 ครัวเรือน หมู่ 3 ราว 150 ครัวเรือน และหมู่ 5 บางส่วนที่มีสวนยางอยู่ในบริเวณที่จะมีการระเบิดหิน วันนี้คือวันครบรอบ 2 ปีที่ชาวบ้านจากหมู่ 1 ,3 และ 5 ได้รวมตัวกันคัดค้านการระเบิดหินเขาถ้ำแรดในนาม "กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมปากแจ่ม" ตั้งแต่ปี 2545 โดยมีกิจกรรมเชิงอนุรักษ์ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน การจัดกิจกรรมในครั้งนี้จึงเป็นการประกาศเจตนารมณ์ในการยืนหยัดต่อสู้รวมทั้งเชื่อมประสานเครือข่าย เนื่องจากมีโครงการขนาดใหญ่ในพื้นที่ใกล้เคียงที่ต้องจับตาอีก 3 โครงการ คือ กรณีที่ดินเหมืองแร่ดีบุกหมดสัมปทานบ้านท่ามะปราง โครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลลำภูรา และโครงการอ่างเก็บน้ำคลองลำชอน(เขื่อนเขาหลัก ) ประมาณตี 11 หรือ 5 โมงเช้า ชาวบ้านในพื้นที่นำทางพผู้ที่มาร่วมงานกว่า 30 ชีวิตเดินเท้าไปยังบริเวณที่จะมีการสัมปทาน ซึ่งบริเวณรอบๆเทือกเขาถ้ำแรดเป็นพื้นที่ของชาวบ้านที่มีการปลูกสวนยางพาราและผลไม้บางส่วน โดยชุมชนที่อยู่ใกล้ที่สุดห่างออกไปเพียงประมาณ 600 เมตร เราเดินลัดเลาะไปตามร่มเงาของป่ายาง ก่อนจะไปหยุดแวะดูความมหัศจรรย์ของธรรมชาติ ณ ถ้ำหน้าผึ้ง ซึ่งเป็นถ้ำที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน โดยชาวบ้านเล่าว่าแต่ละปีมีผึ้งมาทำรังบริเวณหน้าผาถ้ำดนนอกในฝั่งที่เป็นจุดอับลม ประมาณ 20-30 รัง โดยแต่ละรังให้น้ำผึ้งประมาณ 30 ขวด ราคาขายอยู่ที่ 350-400 บาท/ขวด ในแต่ละปีช่วงเดือนเมษายนจะมีชาวบ้านจากพื้นที่อื่นมาเอาน้ำผึ้ง เนื่องจากเป็นจุดที่มีความสูงและต้องใช้ความชำนาญ แต่ในปีนี้ชาวบ้านไม่ให้มีการเก็บน้ำผึ้งเนื่องจากต้องการอนุรักษ์ไว้ เมื่อเดินตามแนวเขาที่ยาวต่อกันมาเรื่อยๆ จากนั้นเราจึงเดินขึ้นไปบนเขาซึ่งมีลักษณะเป็นเขาหินปูนที่มีความสูงชัน อากาศค่อนข้างเย็นเนื่องจากเป็นป่าดิบชื้นโดยไม้ขนาดใหญ่ที่พบคือ ต้นตะเคียนหิน นอกจากนี้ยังมี ต้นดงพญาเย็น ซึ่งเป็นอาหารของเลียงผาสัตว์ป่าสงวนพบกระจายอยู่ทั่วไป รวมทั้งพืชสมุนไพรอื่นๆที่ชาวบ้านนำไปใช้ประโยชน์ ความสมบูรณ์ของป่าที่เราพบสังเกตได้จากการพบร่องรอยของสัตว์หลายชนิดไม่ว่าจะเป็น เลียงผา หมูป่า นก ลิง และอื่นๆ จุดที่สร้างความสนใจให้กับพวกเราอีกแห่งคือ ถ้ำหินงอกหินย้อย ซึ่งอยู่ในเขาลูกเดียวกันกับเทือกเขาถ้ำแรด เป็นประติมากรรมธรรมชาติที่งดงามซึ่งต้องใช้เวลายาวนานในการก่อกำเนิด เราเดินสำรวจดูความงดงามบริเวณถ้ำโดยมีไฟฉายสองนำทาง ประมาณ 30 นาทีเราจึงทะลุมายังทางออกอีกด้านซึ่งมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของชุมชน โดยเป็นบริเวณที่มีการนำตัวหนังตะลุงที่ไม่ได้ใช้งานแล้วมาไว้ที่นี่นานมาแล้ว ช่วงบ่ายหลังจากพักเหนื่อยเรามุ่งสู่อีกด้านของภูเขาซึ่งเป็นสวนยางและสวนผลไม้เช่นกัน จึงได้พบกับวิธีการที่น่าเศร้าใจ คือ กานไม้ ซึ่งเป็นการขูดรอบต้นไม้ขนาดใหญ่เพื่อตัดเส้นทางลำเลียงอาหารจากรากสู่ลำต้น จนสุดท้ายต้นไม้ก็จะยืนต้นตายอย่างช้าๆ มีเพียงคำอธิบายว่าเป็นวิธีการที่นำมาใช้เพื่อให้ป่าบริเวณเทือกเขาถ้ำแรดกลายสภาพเป็นป่าไม่สมบูรณ์ก่อนที่จะสัมปทาน ส่วนต้นขนาดเล็กลงมาก็ถูกตัดโค่นล้มลงอย่างน่าเสียดาย ประสบการณ์ที่ได้รับรู้ถึงผลกระทบที่เคยเกิดขึ้นจากการระเบิดหินในพื้นที่หมู่ 5 การสูญเสียพื้นที่ทำกิน วิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงความแตกแยกและการล่มสลายของชุมชน คือสิ่งที่ชาวบ้านมองเห็นอยู่ในวันข้างหน้า จึงทำให้มีการลุกขึ้นมารวมตัวตั้งแต่การคัดค้านมติที่ไม่ชอบธรรมของอบต. เมื่อการมีส่วนร่วมของชาวบ้านไม่เคยพูดถึง รวมถึงการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม( EIA)ที่ระบุว่าเป็นพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมโดยอยู่ระหว่างการแก้ไขนั้นจึงเป็นที่จับตาของชุมชน เนื่องจากล้วนขัดแย้งกับสิ่งที่ปรากฏอยู่ จากนั้นเราเดินทางโดยรถยนต์ไปยัง บ้านท่ามะปราง ชุมชนเก่าแก่ที่ตั้งรกรากมากว่า 100 ปี ซึ่งอยู่ห่างจากถ้ำแรดออกไปประมาณ 5 กม.มีประชากรประมาณ 180 หลังคาเรือน เป็นหมู่บ้านเชิงเขาตั้งอยู่ระหว่างเทือกเขาบรรทัดและเทือกเขาน้ำพราย มีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ รวมทั้งเป็นแหล่งแร่ดีบุกและมีภูเขาหินอัคนีด้านติดภูเขาน้ำพราย มีแหล่งน้ำที่มีทรายเหมาะสำหรับใช้ในการก่อสร้าง หลังจากผ่านการสัมปทานเหมืองแร่มาหลายปี ปัจจุบันพื้นที่กว่า 1,092 ไร่จึงถูกทิ้งไว้พร้อมกับร่องรอยการขุดเจาะ การฉีด กลายเป็นพื้นดินที่ไม่เหมาะสมกับการปลูกพืชเนื่องจากเหลือเพียงดินทรายและหลุมน้ำขนาดใหญ่หลายหลุม โดยเมื่อปี 2536 อุทยานแห่งชาติเขาปู่เขาย่าได้ประกาศแนวเขตอุทยานทับพื้นที่การทำเหมืองเดิม จากนั้นชาวบ้านประมาณ 20 ครัวเรือนที่ไม่มีที่ทำกินและอยู่อาศัยได้เข้าไปปักหลักเป็นแหล่งที่พักอาศัย ปัญหาเริ่มเกิดขึ้นเมื่อ บริษัทเหมืองแร่ ลุ่นเส็ง จำกัด ซึ่งเคยเปิดสัมปทานเหมืองแร่ในอดีตมาบอกให้ชาวบ้านทั้ง 20 ครัวเรือนย้ายออกจากจากพื้นที่พร้อมกับอ้างกรรมสิทธิ์เป็นเจ้าของพื้นที่ เมื่อชาวบ้านไม่ย้ายออกจึงใช้วิธีการให้ชาวบ้านทำสัญญาเช่าจากบริษัทซึ่งมีชาวบ้านหลายคนที่ยอมทำ แต่หลายคนไม่เชื่อว่าบริษัทมีสิทธิ์ในพื้นที่ตามกฎหมาย จึงพยายามต่อสู้เพื่อให้ความจริงปรากฎ ปัจจุบันทางบริษัทได้นำหลักปูนพร้อมลวดหนามมาปักแสดงอาณาเขต แบ่งเป็น 16 แปลงและมีการนำต้นไม้มาปลูกเพื่อแสดงความเป็นเจ้าของในพื้นที่ว่างเปล่า มีการคุกคามโดยการข่มขู่ รวมทั้งมีการรื้อถอนบ้านชาวบ้านที่กำลังก่อสร้าง นอกจากนี้ในทางกฎหมายบริษัทได้ทำการร้องขอเพื่อออกเอกสารสิทธิ์ในที่ดินแต่ได้รับการปฏิเสธจากหน่วยงานราชการมาตลอด เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่อยู่ในความดูแลของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม จ.ตรัง(สปก.) ซึ่งล่าสุดทางบริษัทได้ยื่นฟ้องผู้ว่าราชการจังหวัดกับศาลปกครองโดยเรื่องยังอยู่ในชั้นศาล วิโรจน์ เรือนเพ็ชร ชาวบ้านท่ามะปรางเล่าความกังวลใจของชาวบ้านให้ฟังว่า วันนี้ชาวบ้านไม่สามารถไปหาที่อยู่ที่อื่นได้ ซึ่งการอยู่อาศัยที่ผ่านมาก็ไม่เคยเรียกร้องกรรมสิทธิ์ และชาวบ้านอยากพัฒนาฟื้นสภาพให้เป็นที่ส่วนรวม อาจจะใช้เป็นที่เลี้ยงสัตว์ เป็นที่เล่นกีฬาของชุมชน และในส่วนชาวบ้านที่มาอยู่อาศัยก็ต้องมีการหาทางออกร่วมกันต่อไป เย็นย่ำหลังเสร็จสิ้นการลงพื้นที่กิจกรรมบนเวทีจึงเริ่มขึ้น โดยมีการผลัดเปลี่ยนขึ้นพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของชาวบ้านจากหลายพื้นที่ สลับกับการแสดงดนตรี การสรุปบทเรียนผ่านหัวข้อ "ด้วย 2 มือแม่ที่กำสู้" ผ่านแกนนำหญิงจากกลุ่มอนุรักษ์ จ.ตรัง โครงการโรงไฟฟ้าหินกรูด โครงการท่อส่งก๊าซไทย-มาเลย์ และที่ปรึกษาสมัชชาคนจน เพื่อร่วมกันบอกเล่าถึงบทบาทของผู้หญิงในการร่วมต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่ รวมทั้งการแสดงวัฒนธรรมพื้นบ้าน คือ รองเง็ง และลิเกป่า ซึ่งบรรยากาศคึกคักไปด้วยชาวบ้านหลายร้อยชีวิตจนงานล่วงเลยไปกว่าค่อนคืน เช้าวันที่ 7 สิงหาคม เราเดินทางสู่พื้นที่สุดท้ายคือ โครงการอ่างเก็บน้ำคลองลำชอน หรือเขื่อนเขาหลัก ตั้งอยู่ที่ต.น้ำผุด อ.เมือง จ.ตรัง ห่างจากเทือกเขาถ้ำแรด 5 กม. เรานั่งรถผ่านสวนยางไปก่อนที่จะเดินเท้าต่อเข้าสู่ความร่มครึ้มของป่าดิบชื้น สภาพป่าค่อนข้างสมบูรณ์เนื่องจากอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า ป่าควนหินแก้ว ระหว่างทางเราพบต้นสะตอป่า ต้นเหลียง และกล้วยเถื่อน (กล้วยป่า) ซึ่งชาวบ้านได้อาศัยเก็บขายเลี้ยงชีพตลอดปีกว่า 500 ครอบครัว โดยเฉพาะชาวบ้านที่ไม่มีที่ดินทำกินได้เก็บขายเป็นอาชีพหลัก จากนั้นเราเปลี่ยนเส้นทางจากถนนลงสู่ คลองลำชอนซึ่งเป็นลำน้ำขนาดกลางซึ่งมีต้นกำเนิดจากเทือกเขาบรรทัด ไหลเป็นแนวเขตโดยฝั่งหนึ่งคือ "เขาโดลันดา(เขาหินปูน)" อยู่ในเขตต.ปากแจ่ม อ.ห้วยยอด ส่วนอีกฝั่งคือ "สันควนล้อม(ควนดิน)" อยู่ในเขตต.น้ำผุด อ.เมือง ความกว้างของคลองประมาณ 20 เมตร น้ำไม่ลึกแต่มีน้ำไหลตลอดปี ซึ่งการสร้างอ่างเก็บน้ำจะทำให้มีพื้นที่น้ำท่วม 350 ไร่หรือนับจากสันเขื่อนไปด้านบนยาว 7 กิโลเมตร ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าทั้งหมด ชนะ โกษา หนึ่งในกลุ่มรักษ์ป่าต้นน้ำตรัง เล่าเพิ่มเติมว่าเริ่มมีการมาสำรวจพื้นที่ตั้งแต่ปี 2542 ต่อจากนั้นชาวบ้านจึงรวมตัวโดยใช้ช่องทางของพรบ.ข้อมูลข่าวสารในการขอข้อมูล จึงได้รู้ว่าจะมีการสร้างเขื่อนเนื่องจากมีขนาดใหญ่เกินกว่าจะเรียกว่าอ่างเก็บน้ำเท่านั้น ซึ่งถึงแม้ว่าชาวบ้านจะไม่ได้อาศัยอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมโดยตรง แต่ด้านใต้เขื่อนมีหมู่บ้านซึ่งหากเกิดเหตุการณ์เขื่อนพังก็จะส่งผลกับชาวบ้านแน่นอน "อีกเหตุผลหนึ่งที่เราคัดค้านเพราะพื้นที่น้ำท่วมเป็นป่าดิบชื้นสมบูรณ์หากต้องจมอยู่ใต้น้ำก็น่าเสียดาย มีชาวบ้านหลายคนที่หากินกับป่า คลองลำชอนเราก็ได้ใช้จับสัตว์น้ำ แต่พอมีโครงการชาวบ้านไม่ได้รับรู้" ชนะเล่า ส่วนอีกหนี่งโครงการสำคัญที่เป็นตัวเชื่อมร้อยให้เห็นภาพที่ชัดเจน คือ โครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลลำภูรา ตั้งอยู่ที่ต.ลำภูรา อ.ห้วยยอด ห่างจากเทือกเขาถ้ำแรดประมาณ 15 กม. เป็นโครงการของบริษัทกัลฟ์ อิเรคทริค เจนเนอเรชั่น ขนาด 20 เมกกะวัตต์ ซึ่งจะต้องใช้น้ำประมาณ 3 ล้านลิตร/วันเป็นวัตถุหลัก โดยใช้น้ำจากแม่น้ำตรัง จึงสร้างความกังวลกับชาวบ้านว่าปริมาณน้ำที่ต้องใช้มากมายอาจจะส่งผลให้แม่น้ำตรังที่แห้งขอดลงอยู่แล้วเกิดภาวะวิกฤติ รวมทั้งระยะทางเพียง 1 กม.จากแม่น้ำตรังอาจจะทำให้มีการระบายน้ำเสียซึ่งมีส่วนผสมของคลอรีนลงสู่แม่น้ำได้ นอกจากนี้การใช้เชื้อเพลิงจากไม้ยางพารา ซึ่งมีการคำนวณตั้งแต่ 3 ปีที่แล้วว่าจ.ตรังมีไม้ยางพาราจำนวนมาก แต่ปัจจุบันไม้ยางส่วนใหญ่ถูกส่งไปแปรรูปที่จังหวัดกาญจนบุรีทำให้ไม้ยางมีราคาสูงขึ้น จึงเป็นอีกคำถามหนึ่งว่าการได้ไฟฟ้าราคาถูกนั้นจะเป็นจริงได้เพียงใด และข้อห่วงใยที่เกิดขึ้นยังรวมถึงขี้เถ้าที่เหลือกว่าวันละ 16 ตันนั้นอาจจะส่งผลกระทบถึงคนในชุมชนกว่า 5 พันคน ที่อาศัยอยู่ห่างจากรัศมีโรงงานเพียง 3 กม. คำถามต่างๆที่เกิดขึ้นจึงทำให้ชาวบ้านลำภูรายืนหยัดต่อสู้มาโดยตลอด เมื่อนำทุกโครงการมาเชื่อมโยงกันจึงทำให้เห็นอย่างชัดเจนว่าล้วนเอื้อและสัมพันธ์กันอย่างน่าตกใจ การระเบิดหินเทือกเขาถ้ำแรดเพื่อนำไปสร้างเขื่อนเขาหลัก จากนั้นจึงนำน้ำมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้าลำภูรา ซึ่งเป็นที่มาของการจัดสรรผลประโยชน์กันระหว่างนักการเมืองและนายทุนท้องถิ่น การเชื่อมประสานเป็นเครือข่ายของชาวบ้านจึงได้เริ่มขึ้นเช่นกัน เรามาสุดทางที่ ถ้ำเงาะ ถิ่นที่อยู่อาศัยเดิมของเงาะป่าซาไก อีกหนึ่งสถานที่ทางประวัติศาสตร์ที่อาจต้องจมอยู่ใต้ผืนน้ำ พร้อมกับภาพที่ชัดเจนถึงความร่วมมือร่วมใจของชาวบ้านจากหลายสารทิศ หลายพื้นที่ที่พร้อมใจกันมาบอกเล่าเรื่องราวของตนเพื่อร่วมกันเป็นพลังในการดูแลรักษาท้องถิ่น ปกป้องวิถีชิวิตและธรรมชาติที่ไม่อาจแยกขาดจากการดำรงชีวิตของมนุษย์ได้ ซึ่งเป็นการตระหนักรู้ถึงคุณค่าอันยิ่งใหญ่ที่เราควรนำมาเป็นหลักการสำคัญในการพัฒนาหรือการก่อเกิดโครงการใดๆต่อไป รายงานโดย : ปิ่นแก้ว อุ่นแก้ว ศูนย์ข่าวประชาไท
['บทความ']
https://prachatai.com/print/278
2004-09-12 23:53
ชัยอนันต์ยืนยัน "โรงไฟฟ้าจะนะ" ต้องสร้าง
ศูนย์ข่าวภาคใต้--12 ก.ย. 2547 "ชัยอนันต์" ยืนยันการสร้างโรงไฟฟ้าจะนะเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม แต่ต้องอย่างไรก็ต้องสร้างโรงไฟฟ้า ด้านเวทีสาธารณะป่วน ชาวบ้านไม่เชื่อข้อมูลกฟผ. "โรงไฟฟ้าที่ อ.จะนะ จ.สงขลา เปิดรับฟังความคิดเห็นเพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ แต่ไม่ใช่ถามว่าจะเอาโรงไฟฟ้าหรือไม่ เพราะถึงอย่างไรโรงไฟฟ้าก็ต้องเกิดขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศ " นายชัยอนันต์ สมุทวานิช ประธานกรรมการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย. (กฟผ.) ยืนยันโครงการสร้างโรงไฟฟ้าที่ อ. จะนะในการสัมมนา "รวมคน ร่วมคิด กำหนดทิศทางโรงไฟฟ้า" นายชัยอนันต์ ยืนยันว่า กฟผ.มีมาตรการในการดำเนินการเพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้น การคงอยู่ของวิถีชีวิตชาวบ้านในพื้นที่ การป้องกันผลกระทบจากน้ำเสีย และสิ่งแวดล้อม และยังได้อธิบายว่าโครงการสร้างโรงไฟฟ้าที่จังหวัดสงขลาจะเปิดโอกาสให้ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่ก่อนดำเนินโครงการ ระหว่างดำเนินการและภายหลังดำเนินการ จึงจะถือว่าเป็นกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างสมบูรณ์ "โครงการโรงไฟฟ้าที่จังหวัดสงขลาต้องบอกกล่าวว่าจะผลิตไฟฟ้าโดยใช้พลังงานประเภทใด สถานที่ตั้งอยู่ตรงไหน จะเกิดผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่อย่างไรทั้งด้านดีและด้านที่ไม่ดี และจะต้องมีคณะกรรมการร่วมขึ้นมาตรวจสอบตลอดโครงการฯ ว่า โครงการนี้มีผลกระทบเกิดขึ้นอย่างไรหรือไม่" นายชัยอนันต์กล่าว สำหรับบรรยากาศในที่ประชุม ตัวแทนกลุ่มชาวบ้านซึ่งแบ่งออกเป็น 6 กลุ่ม ได้ออกมาซักถามข้องสงสัยต่างจากผู้บริหารของ กฟผ. เห็นได้ชัดเจนว่าทุกกลุ่ม ไม่เชื่อในข้อมูลของ กฟผ.ที่นำมาชี้แจงให้กับประชาชน โดยอ้างถึงหลายโครงการของรัฐที่มีการปกปิดข้อมูล และหลายโครงการได้สร้างผลกระทบไว้มาก นายไพศาล อาหวัง ชาวบ้าน หมู่ 11 ต.นาทับ กล่าวว่า ไม่เชื่อในคำตอบของ กฟผ.เกี่ยวกับผลกระทบจากโครงการ เช่น มลพิษทางน้ำ เป็นต้น ด้านนายชัยอนันต์ ได้กล่าวถึงประเด็นนี้ในตอนท้ายของการประชุมว่า ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมสงขลา สามารถพิสูจน์ได้ทุกอย่างว่า เป็นความจริงหรือไม่และมากน้อยเพียงใด ส่วนในเรื่องผลกระทบจากโครงการที่ไม่สามารถล่วงรู้ได้ก่อนนั้น ก็จะต้องทำการศึกษาข้อมูลต่อไปแต่ก็จะป้องกันให้ดีที่สุด เพราะรู้ว่าเป็นความกังวลของประชาชน นอกจากนี้นายสมพร ใช้บางยาง ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ได้แต่งตั้งนายชบ ยอดแก้ว นายเคล้าแก้วเพชร และนายอัพร ด้วงปาน ปราชญ์ชาวบ้านในอำเอจะนะ เป็นที่ปรึกษาโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมสงขลาด้วย ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในระหว่างการประชุม ได้มีชาวบ้านกลุ่มหนึ่งเดินถืนป้ายผ้าที่มีข้อความว่าสนับสนุนโครงการโรงไฟฟ้าสงขลา แต่ทางผู้จัดงานได้เข้าไปห้ามเอาไว้โดยให้เหตุผลว่าเวทีนี้เป็นเวทีที่เป็นกลาง ไม่ใช่เวทีของใครคนใดคนหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง และเกรงว่าจะเป็นชนวนที่นำไปสู่ความขัดแย้งได้ จนเกิดการเถียงกันเล็กน้อย ในที่สุดชาวบ้านกลุ่มดังกล่าวยอมเลิกการกระทำดังกล่าว การสัมมนาดังกล่าวมีจุดประสงค์เพื่อเป็นเวทีในการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ในพื้นที่เป้าหมายที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการสร้างไฟฟ้าในอำเภอจะนะ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการเลือกสถานที่ตั้งโครงการจากทั้งหมด 4 โดยมีตัวแทนชาวบ้านใน ตำบลนาทับ จะโหน่ง คลองเปียะ ป่าชิงและตลิ่งชัน อำเภอจะนะ และผู้สนใจกว่า 100 คน เข้าร่วมการสัมมนา รายงานโดย : มูฮัมหมัด ดือราแม ศูนย์ข่าวภาคใต้
['ข่าว', 'สิ่งแวดล้อม']
https://prachatai.com/print/283
2004-09-13 19:06
จีนกล่อมเกาหลีเหนือเจรจานิวเคลียร์
เปียงยาง-13 ก.ย.47 สำนักข่าวซินหัวไฟแนนเชียล-เอเชียรายงานว่า ประธานาธิบดีหู จิ่น เทา ของจีนได้ให้สัญญาว่า จะกระชับความสัมพันธ์กับเกาหลีเหนือ หลังจากที่ทูตพิเศษของจีนได้เดินทางกลับจากการเยือนกรุงเปียงยางวันนี้ ท่ามกลางความวุ่นวายของการเมืองระหว่างประเทศ ในการจัดให้มีการประชุม 6 ฝ่ายเรื่องโครงการนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือรอบที่ 4 ในวันที่ 22-23 กันยายนนี้ ข้อความที่ประธานาธิบดีหูได้ส่งผ่านทูตไปยังนายคิม จอง อิล ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือคือ จีนเต็มใจที่จะทำงานร่วมกับเกาหลีเหนือเพื่อกระชับสายสัมพันธ์ฉันท์มิตรอย่างลึกซึ้ง ทั้งนี้ การเยือนเกาหลีเหนือของจีนเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามเพื่อชักชวนเกาหลีเหนือให้เข้าประชุม 6 ฝ่ายร่วมกับสมาชิกอีก 5 ประเทศ ซึ่งประเทศสมาชิกการประชุมส่วนใหญ่พร้อมที่จะร่วมประชุมกันในเดือนนี้ เพื่อแก้ปัญหาเรื่องโครงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ เหลือเพียงแต่เกาหลีเหนือเองที่ยังไม่ได้ให้คำตอบว่าจะร่วมประชุมหรือไม่ เกาหลีเหนือได้แสดงความสงสัยเกี่ยวกับผลประโยชน์จากการเจรจาและยังตั้งคำถามเกี่ยวกับความตั้งใจของสหรัฐฯ ซึ่งการประชุมรอบต่อไปอาจจะตกอยู่ในภาวะที่มีปัญหาจากการที่นักวิทยาศาสตร์เกาหลีใต้ได้ออกมายอมรับว่าทดลองนิวเคลียร์ รายงานโดย : ศูนย์ข่าวประชาไท
['ข่าว', 'สิ่งแวดล้อม']
https://prachatai.com/print/282
2004-09-13 19:05
กองปราบจ่ายค่าถล่มบ้าน 2.5 ล.
กรุงเทพฯ- 13 ก.ย. 47 พล.ต.ต.โกสินทร์ หินเธาว์ ผู้บังคับการกองปราบปราม (ผบก.ป.) กล่าวกรณีวเจ้าหน้าที่ตำรวจกองปราบปรามยิงถล่มบ้านสองตายายใน จ.พระนครศรีอยุธยาว่า ทางกองปราบยินดีรับผิดชอบค่าเสียหายที่เกิดขึ้น2.5 ล้านบาท "ผมในฐานะผู้บังคับบัญชา เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่ จะเรียกประชุมนายตำรวจระดับรองผู้บังคับการและผู้กำกับในสังกัดเพื่อหารือเรื่องการให้การช่วยเหลือตำรวจชั้นผู้น้อยชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าวต่อไป" ผบก.ป.ระบุ สำหรับผลการสอบสวนของคณะกรรมการที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติแต่งตั้งขึ้นนั้น เท่าที่ทราบยังไม่เสร็จสิ้น ส่วนผลการสอบสวนจะเป็นอย่างไรคงต้องสอบถามจากคณะกรรมการที่พิจารณา รายงานโดย : ศูนย์ข่าวประชาไท
['ข่าว', 'สิ่งแวดล้อม']
https://prachatai.com/print/285
2004-09-13 19:12
ปธ.เทสโก้พบ "ทักษิณ"
กรุงเทพฯ-13 ก.ย.47 นายเซอร์ เทรรี ลีไฮ ประธานกรรมการและผู้บริหารสูงสุด บริษัทเทสโก้ โลตัส เข้าเยี่ยมคารวะพ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เนื่องในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทย การเดินทางมาประเทศไทยครั้งนี้ นอกจากเพื่อตรวจความก้าวหน้ากองทุนของบริษัทในประเทศแล้ว ประธานฯ เทสโก้ ยังต้องการหารือกับหน่วยงานต่างๆ ของไทยเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจในไทยด้วย ทั้งนี้ทั้ง2 ฝ่ายได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับมาตรการประหยัดพลังงานของรัฐบาลในการกำหนดเวลาปิด-เปิด ของห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ ซึ่งผู้บริหารเทสโก้ โลตัส พร้อมให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ แต่ขอให้รัฐบาลไทยพิจารณาแก้ไขปัญหาจากการมองสถานการณ์จากปัจจัยต่างๆ อย่างรอบด้าน นอกจากนี้ ยังได้หารือเกี่ยวกับการสนับสนุนการจำหน่ายสินค้าโอทอป เพื่อยกระดับ และพัฒนาคุณภาพสินค้าและความสามารถในการผลิตของไทยสู่ระดับสากล รายงานโดย : ศูนย์ข่าวประชาไท
['ข่าว', 'สิ่งแวดล้อม']
https://prachatai.com/print/286
2004-09-13 21:35
รัฐไม่ตัดสินใจ "ใช้-ไม่ใช้" วัคซีนหวัดนก
กรุงเทพฯ-13 ก.ย. 47 รัฐชะลอการตัดสินใจใช้วัคซีนหวัดนกคุมการแพร่กระจายโรคตามข้อเสนอของผู้เลี้ยงไก่ชน หลังผู้ส่งออกไก่ค้านรัฐเปิดช่องใช้วัคซีนหวัดนกป้องกันการแพร่ระบาด ระบุกระทบตลาดส่งออกไก่ในสหภาพยุโรป "จาตุรนต์" บอกปัด ขอพิจารณาข้อมูลอีก 2 วันก่อนเสนอครม.สัปดาห์หน้า "จากการหารือร่วมกัน นักวิชาการส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยในการใช้วัคซีนโรคไข้หวัดนกในวงกว้าง" นายจาตุรนต์ ฉายแสง รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาโรคไข้หวัดนกกล่าว นายจาตุรนต์กล่าวว่า วันนี้เป็นเพียงเพื่อรับทราบข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆ เพื่อจะสรุปร่วมกันอีกครั้งในวันพุธนี้(15 ก.ย.) ว่า จะมีมาตรการใช้หรือไม่ใช้วัคซีนในสัตว์ปีกชนิดใด และมาตรการต่อไปในการเตรียมรับมือกับโรคไข้หวัดนก เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีในสัปดาห์หน้า นางมนูญศรี โชติเทวัญ ประธานคณะกรรมการบริษัทในเครือสหฟาร์ม ผู้ส่งออกไก่รายใหญ่ของประเทศ กล่าวว่า การนำวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดนกมาใช้ในไก่ต้องคำนึงผลกระทบที่จะตามมา โดยเฉพาะผลกระทบที่จะเกิดกับผู้เลี้ยงไก่และผู้บริโภคที่จะมีความเสี่ยงในการติดเชื้อไข้หวัดนกมากขึ้น นอกจากนี้จะทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับไก่ทั้งระบบเสียหายอย่างหนัก ซึ่งประเมินแล้วว่า หากมีการนำวัคซีนมาใช้จะทำให้ธุรกิจนี้สูญเงินไปกว่า 1 แสนล้านบาท จึงอยากเรียกร้องให้รัฐบาลยังคงมาตรการการห้ามใช้วัคซีนในไก่ต่อไป แต่ให้ใช้มาตรการระยะสั้นและระยะยาวในการป้องกันโรคไข้หวัดนกแทน นางฉวีวรรณ คำพา นายกสมาคมผู้เลี้ยงไก่ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า สหภาพยุโรป ซึ่งเป็นผู้นำเข้าไก่สุกรายใหญ่ของไทย มีปฏิกิริยาต่อการใช้วัคซีนในทันทีที่มีกลุ่มผู้เลี้ยงไก่ชนในประเทศไทย เรียกร้องรัฐบาลอนุญาตให้ใช้วัคซีนในไก่ชน "ทางบรัสเซล มีจดหมายมาเลยว่า ถ้าไทยใช้วัคซีน ก็จะชะลออร์เดอร์ไว้ก่อน ไม่ว่าจะเป็นไก่สุก เขาบอกว่าต้องทบทวนกันใหม่ก่อน"นางฉวีวรรณ กล่าวให้สัมภาษณ์ผ่านสถานีวิทยุแห่งหนึ่ง ทั้งนี้อียูไม่มั่นใจว่าไทยจะควบคุมการใช้วัคซีน ไม่ให้แพร่ไปสู่ไก่เนื้อและไก่ไข่ได้หรือไม่ ทั้งเกรงว่าเชื้อโรคที่สะสมอยู่ในตัวไก่ชน อาจแพร่ไปในสิ่งแวดล้อมแล้วไปสู่ไก่เนื้อได้ สิ่งสำคัญในขณะนี้คือ ต้องทำให้เรื่องไข้หวัดนกอยู่ในภาวะที่นิ่ง เนื่องจากการส่งออกไก่ของไทยกำลังได้รับผลกระทบอย่างหนัก โดยปีนี้คาดว่ายอดส่งออกทั้งหมดจะเหลือเพียง 1 แสนกว่าตัน หรือมีมูลค่า 1 หมื่นกว่าล้านบาทเท่านั้น ส่วนนายเนวิน ชิดชอบ รมช.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า มาเลเซียยังแสดงความกังวลต่อการใช้วัคซีนป้องกันไข้หวัดนก ซึ่งหากไทยอนุญาตให้ใช้วัคซีนได้ไม่ว่าจะเป็นไก่เนื้อหรือไก่ชน ทางมาเลเซียอาจทบทวนนโยบายนำเข้าไก่จากไทย "มาเลเซียอาจทบทวนการนำเข้าไก่จากไทย ถ้าไทยใช้วัคซีนแม้ใช้ในไก่ชน เพราะอาจมีการลับลอบไปใช้ในไก่เนื้อได้ ซึ่งจะมีผลต่อผู้บริโภค"นายเนวิน กล่าวภายหลังหารือกับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและอุตสาหกรรมพื้นฐานของมาเลเซียในวันนี้ รายงานโดย : ศูนย์ข่าวประชาไท
['ข่าว', 'สิ่งแวดล้อม']
https://prachatai.com/print/287
2004-09-13 21:37
พบผู้ป่วยหวัดนกเพิ่มอีก 1 ราย
กรุงเทพฯ-13 ก.ย. 47 รายงานข่าวจากกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ทางการได้รับรายงานว่า อาจจะประชาชนมีการติดเชื้อไข้หวัดนกเพิ่มเป็น 7 ราย ในพื้นที่เขตมีนบุรี กรุงเทพมหานคร ตลอดจน จ.พิษณุโลกและปราจีนบุรี ทั้งนี้คาดว่า จะทราบผลอย่างเป็นทางการในวันพรุ่งนี้(14 ก.ย.) นางนิตยา มหาผล โฆษกกระทรวงสาธารณสุข เผยว่า ขณะนี้พบผู้ป่วยที่สงสัยว่าอาจติดเชื้อไข้หวัดนก(suspect case) จำนวน 1 ราย เป็นเด็กชายวัย 10 เดือน ที่ อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี ซึ่งมีอาการปวดบวม และมีประวัติไก่ที่บ้านตายเป็นจำนวนมาก โฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า เด็กชายรายนี้อยู่ในหมู่บ้านเดียวกับชายวัยรุ่นที่เสียชีวิตด้วยโรคไข้หวัดนกเมื่อสัปดาห์ก่อน โดยคาดว่าอาจได้รับเชื้อจากการที่พ่อแม่สัมผัสไก่ที่ตายไปแล้วมาแพร่เชื้อต่อ โดยผู้ป่วยเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลตั้งแต่วันที่ 30 ส.ค.ที่ผ่านมา และจนถึงขณะนี้อาการปวดบวมไม่ทุเลาลง ขณะที่นายแพทย์จรัล ตฤณวุฒิพงษ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างรอผลการตรวจสอบเชื้อจากตัวอย่างเนื้อเยื่อของผู้ป่วยดังกล่าว คาดว่า จะทราบผลภายใน 2 วัน ทั้งนี้จังหวัดปราจีนบุรีจะเข้าทำลายไก่ในพื้นที่ที่คาดว่ามีการระบาดของ อ.กบินทร์บุรี โดยขณะนี้มีผู้ป่วยต้องสงสัยว่าจะติดเชื้อหวัดนก รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลกบินทร์บุรี 5 คน โดยจะทราบผลตรวจเลือดในพรุ่งนี้(13 ก.ย.) รายางานโดย : ศูนย์ข่าวประชาไท
['ข่าว', 'สิ่งแวดล้อม']
https://prachatai.com/print/288
2004-09-13 21:45
เปิดศูนย์ สตช.ส่วนหน้า จ.ยะลา
ศูนย์ข่าวภาคใต้-13 ก.ย.47 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เปิดศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่วนหน้า จ.ยะลา ขึ้นที่ศูนย์ประสานงานสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ส่วนหน้า โรงเรียนตำรวจภูธร 9 อ.เมือง จ.ยะลา เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2547 พล.ต.ต.วรเทพ เมธาวัฒน์ หัวหน้าศูนย์ประชาสัมพันธ์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า การเปิดศูนย์ประสานงานสำนักงานตำรวจแห่งชาติดังกล่าว เป็นการส่งเสริม สนับสนุนให้การปฏิบัติงานแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีประสิทธิภาพ และไม่เกิดความล่าช้าในการสั่งการ ซึ่งศูนย์ดังกล่าวจะเปิดอย่างเป็นทางการ โดยมี พล.ต.ท.บุญเพ็ญ บำเพ็ญบุญ ว่าที่รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พร้อมด้วย พล.ต.ท.วงกต มณีรินทร์ ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง จะลงมาปฏิบัติหน้าที่ควบคุมดูแลการปฏิบัติงานด้วยตัวเอง สำหรับการเปิดศูนย์ดังกล่าว สืบเนื่องจากความไม่สงบที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ส่งผลกระทบต่อวิถีการดำเนินชีวิตของประชาชนในพื้นที่ ดังนั้นศูนย์ดังกล่าว จะมีส่วนช่วยในการแก้ไขสถานการณ์ต่างๆ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้คลี่คลายลงได้ สำหรับแนวทางการปฏิบัติงานนั้นจะมีอำนาจสั่งการทุกอย่างเหมือนสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่อยู่ในส่วนกลาง เพียงแต่ย่อส่วนการปฏิบัติงานให้เกิดความคล่องตัวเท่านั้น โดยที่ภารกิจในการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจทุกนายที่ลงมาปฏิบัติหน้าที่จะปฏิบัติงานภายใต้แผนการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ และให้มีความสอดคล้องกับศูนย์อำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ของกองทัพภาคที่ 4 ส่วนหน้า รายงานข่าวแจ้งว่า ที่ประชุม กอ.สสส. ที่มี พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้อนุมัติหลักการแผนแม่บทในการแก้ปัญหาภาคใต้แล้ว แต่ยังคงต้องมีการปรับปรุงถ้อยคำบางส่วน จึงเสนอให้ ครม.พิจารณาไม่ทันในวันอังคารนี้ รายงานโดย : มูฮำหมัด ดือราแม ศูนย์ข่าวภาคใต้
['ข่าว', 'สิ่งแวดล้อม']
https://prachatai.com/print/289
2004-09-13 21:49
ชาวบ้านท้วง "ธนาธร" ปิดหนองน้ำสาธารณะ
ศูนย์ข่าวภาคเหนือ-13 ก.ย. 47 "พระนักอนุรักษ์" พร้อมชาวบ้านกว่า 400 คนทวงสิทธิ์หนองน้ำสาธารณะคืน ระบุ "สวนส้มธนาธร" ผิดสัญญาไม่จริงใจในการแก้ปัญหา จากกรณีที่สวนส้มธนาธรได้ปิดกั้นรั้วบริเวณถนนและหนองน้ำ ซึ่งชาวบ้านระบุว่าเป็นที่สาธารณะนั้น ซึ่งในเดือนมีนาคม 2546 ได้มีการเจรจา และทำบันทึกข้อตกลง ว่าบริษัทจะทำการขุดลอกหนองน้ำสาธารณะ พร้อมกับจะทำถนนเข้าสู่หนองน้ำและให้ถือว่าเป็นถนนสาธารณะของหมู่บ้าน แต่ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ ตามข้อตกลงดังกล่าวและต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา ทางสวนส้มธนาธรได้ทำการรื้อรั้วกั้นของชาวบ้านในตอนกลางคืน ล่าสุดชาวบ้านใหม่กองน้อยประมาณ 400 คน ได้สร้างรั้วลวดหนามขึ้นใหม่ พร้อมเรี่ยไรเงินและรวบรวมเงินบริจาคว่าจ้างรถแบ็คโฮมาทำการขุดเจาะถนนให้เป็นหนองน้ำสาธารณะดังเดิม พระเอนก จันทปัญโญ เจ้าอาวาสวัดคลองศิลา เจ้าของรางวัล "ลูกโลกสีเขียว" ปี 2545 กล่าวว่า ที่จำต้องนำชาวบ้านมาทวงสิทธิ์ในครั้งนี้ เนื่องจากสวนส้มธนาธรได้ทำการปิดกั้นรั้วบริเวณถนนและหนองน้ำสาธารณะ ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถเข้าไปใช้ประโยชน์และยังสูบน้ำไปใช้ในสวนส้มจนน้ำแห้งขอด ส่งผลให้ชาวบ้าน 3 หมู่บ้าน กว่า 600 หลังคาเรือน ได้รับความเดือดร้อน นายเกียน หนองหิน ผู้ใหญ่บ้านใหม่คองน้อย กล่าวว่า ชาวบ้านไม่อยากให้มีการกระทบกระทั่ง ให้เกิดความรุนแรง แต่ที่ผ่านมานายทุนเจ้าของสวนส้มไม่เคยมีความจริงใจที่แก้ปัญหาใดๆ เลย แต่กลับพยายามสร้างความขัดแย้งกับชุมชน มีการเอาเปรียบชาวบ้าน และทางอำเภอก็ไม่ได้ลงมาแก้ไขปัญหาให้มันจบสิ้น นางซอน เดชะปัญญา แม่เฒ่าวัย 71 ปี แกนนำกลุ่มอนุรักษ์ป่าต้นน้ำฝาง กล่าวว่า เฮียเป็ง หรือ นายบัณฑูร เจ้าของสวนส้มธนาธรคนนี้ ไม่กล้าสู้ความจริง ไม่ยอมทำตามข้อตกลงที่ให้ไว้ ซึ่งชาวบ้านขอต่อสู้ต่อไป "ความจริงก็คือความจริง หนองเขียวตาคำ หนองก๊อดหอธรรม เป็นหนองน้ำสาธารณะประโยชน์ของชาวบ้านมานาน ถ้าเราไม่ต่อสู้ตรงนี้ ต่อไปลูกหลานเราคงไม่มีแผ่นดินจะอยู่" นางซอน กล่าว ด้านนายขรรค์ชัย คำอุ่ม นายกอบต.เวียง กล่าวว่า ได้ประสานงานระหว่างชาวบ้านและเจ้าของสวนส้มให้มาตกลงร่วมกันแล้วแต่เรื่องยังยืดเยื้อ และพยายามเข้าไปตรวจสอบว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นที่สาธารณะจริงหรือไม่ หากเป็นที่สาธารณะมาก่อน ทางอบต. ก็สามารถเข้าไปดำเนินการได้ โดยในพื้นที่ได้ มีเจ้าหน้าที่ อส. เจ้าหน้าตำรวจ สภ.อ.ฝางเข้ามายืนเฝ้าดูและทำการบันทึกภาพวีดีโอ อยู่ใกล้ๆ บริเวณดังกล่าว รายงานโดย : องอาจ เดชา ศูนย์ข่าวภาคเหนือ
['ข่าว', 'สิ่งแวดล้อม']
https://prachatai.com/print/284
2004-09-13 19:10
ชาวญี่ปุ่นกดดันรัฐปิดฐานทัพอเมริกา
โอกินาวา-13 ก.ย.47 ชาวเมืองญี่ปุ่นในเมืองโอกินาวา สถานที่ตั้งฐานทัพอเมริกันในประเทศญี่ปุ่น ชุมนุมประท้วงต่อต้านทหารอเมริกันครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 10 ปี โดยเรียกร้องให้นายจุนอิชิโร โคอิซูมิ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น นำเรื่องการปิดสนามบินทหารฟุเทมมะของสหรัฐ ในฐานทัพโอกินาวา เจรจากับรัฐบาลสหรัฐในวันที่ 21 ก.ย. ศกนี้ ทั้งนี้การประท้วงเกิดขึ้นหลังจากเมื่อเดือนที่แล้วเครื่องบินขนส่งของกองทัพสหรัฐฯ เกิดอุบัติเหตุและตกลงในมหาวิทยาลัยที่อยู่ใกล้เคียง ความสัมพันธ์ระหว่างชาวเมืองโอกินาวาและทหารอเมริกันในฐานทัพโอกินาวา เริ่มเลวร้ายลงเรื่อยๆ หลังจากระยะจากมีคดีทหารนาวิโยธินอเมริกันข่มขืนเด็กสาวญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น รายงานโดย : ศูนย์ข่าวประชาไท
['ข่าว', 'สิ่งแวดล้อม']
https://prachatai.com/print/290
2004-09-13 21:51
เปิดวิบากกรรม "สวนส้มธนาธร"
เปิดวิบากกรรม "สวนส้มธนาธร" (เรียบเรียงจาก เปิดแฟ้มคดีสวนส้มธนาธร โดยผู้จัดการออนไลน์) สวนส้มธนาธร เป็นกิจการสวนส้มรายใหญ่ที่สุดของประเทศไทย โดยเฉพาะความเป็นผู้บุกเบิกส้มสายน้ำผึ้งให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายและทำให้ เขตลุ่มน้ำฝาง 3 อำเภอตอนเหนือของจังหวัดเชียงใหม่เป็นที่รู้จักกันทั่วไปว่าเป็นฐานการผลิตส้มที่ใหญ่ที่สุด นายบัณฑูร จิระวัฒนากูล หรือที่รู้จักกันในนาม"เป็งฮวด" ได้เข้ามาบุกเบิกปลูกส้มเขียวหวานในพื้นที่อำเภอฝาง เมื่อหลังปี 2519 และเป็นตัวแทนปุ๋ยตราเรือใบไวกิ้งพร้อมกันไปและเริ่มขยายพื้นที่ปลูกไปเรื่อย ๆ การขยายกิจการครั้งใหญ่ที่สุดครั้งแรก ในปี 2527 โดยได้เช่าพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติลุ่มน้ำแม่ฝาง เขตตำบลม่อนปิ่น อำเภอฝางจำนวน 701 ไร่ขยายการปลูกส้ม ช่วงแรกเป็นส้ม เขียวหวาน ต่อมาวิจัยพันธุ์ที่เหมาะสมเพื่อปลูกแทนส้มเขียวหวาน (ผิวทอง) จนที่สุดได้ปรับปรุงพันธุ์ส้มโชกุน ในชื่อ ส้มสายน้ำผึ้งจนมีชื่อเสียงโด่งดัง กลายเป็นส้มที่ได้รับความนิยมสูงมากในปัจจุบัน ที่ดินประมาณ 700 ไร่ ในเขตตำบลม่อนปิน อำเภอฝาง ซึ่งเป็นที่แปลงใหญ่แปลงแรกซึ่งเป็นกระดานหกทำให้ธนาธรกลายเป็นยักษ์ใหญ่อันดับหนึ่งในอีกไม่กี่ปีต่อมาแห่งนี้เองที่สร้างปัญหาให้กับกลุ่ม ธนาธรในวันนี้ เหตุเกิดเมื่อวันที่ 29 เม.ย.2547 - ตำรวจป่าไม้และกองอำนวยการกองอำนวยการร่วมป้องกันและปราบปรามการลักลอบทำลายทรัพยากรป่าไม้และควบคุมไฟป่าภาคเหนือ นำโดย พล.ต.ต.เสวก ปิ่นสินชัย ผู้บังคับการตำรวจป่าไม้ พร้อมเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชรวมกว่า 200 นาย ได้เข้าทำการตรวจสอบพื้นที่ตั้งของสวนส้มธนาธร 2 ในพื้นที่ตำบลม่อนปิ่น อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ หลังจากที่ได้รับเรื่องร้องเรียนว่าสวนส้มดังกล่าวบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติลุ่มน้ำฝาง จากการเข้าตรวจสอบพบหลักฐานชัดเจนว่า มีการบุกพื้นที่ป่าเพื่อทำสวนส้มจริงรวมกว่า 700 ไร่ รวมทั้งยังมีการกักเก็บน้ำจากเขื่อนแม่มาวไว้ใช้ในกิจการสวนส้ม ซึ่งสร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนในพื้นที่เดียวกัน ที่ต้องการใช้น้ำ และมีการใช้แรงงานต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมายจำนวน 122 คน ด้วย ในระหว่างที่กำลังเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบ ไม่พบว่ามีผู้ดูแลสวนส้มร่วมอยู่ด้วยแต่อย่างใด จะมีก็แต่เพียงแรงงานต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมายเท่านั้น ในวันนั้นนายบัณฑูร จิรวัฒนากูล เจ้าของบริษัทเชียงใหม่ธนาธร จำกัด กำลังอยู่ในต่างประเทศเพื่อติดต่อธุระ โดยในเบื้องต้นเจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้แจ้งข้อกล่าวหากับเจ้าของสวนส้มธนาธร 2 ฐานบุกรุกแผ้วถางป่า ยึดครอบครองทำประโยชน์ ในเขตป่าสงวนแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาตให้ที่พักพิงบุคคลต่างด้าวและยึดครองแหล่งน้ำธรรมชาติเป็นสมบัติเพื่อประโยชน์ส่วนตน แม้ว่าทางสวนส้มฯ จะเคยยื่นเรื่องขอเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่แต่เนื่องจากทางอำเภอฝาง เห็นว่า คำขอดังกล่าวขาดเอกสารหลักฐานสำคัญ ทำให้ไม่ผ่านการพิจารณา และนำไปสู่การจับกุมในที่สุด รายงานโดย : ศูนย์ข่าวประชาไท
['ข่าว', 'สิ่งแวดล้อม']
https://prachatai.com/print/291
2004-09-13 21:54
กก.สิทธิเลื่อนยื่นผลตรวจจีเอ็มโอให้นายกฯ
ประชาไท - 13 ก.ย.47 นายบัณฑูรย์ เศรษฐศิโรตน์ อนุกรรมการนโยบายฐานทรัพยากร คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า ผลตรวจสอบตัวอย่างมะละกอแขกดำท่าพระครั้งที่สองจากศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ที่คาดว่าจะมาถึงวันนี้ได้เลื่อนไปเป็นพรุ่งนี้ ดังนั้น คณะกรรมการสิทธิฯ จึงต้องเลื่อนการยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีเป็นวันพรุ่งนี้เช่นกัน และจะมีการแถลงข่าวเรื่องนี้ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิฯ ในวันพุธที่ 15 ก.ย.47 เวลา 13.30 น. ทั้งนี้ คณะกรรมการสิทธิฯ ได้ลงไปตรวจสอบพื้นที่ในอ.พล จ.ขอนแก่น ซึ่งถูกระบุว่ามีการปนเปื้อนของมะละกอจีเอ็มโอเมื่อวันที่ 25 ส.ค.ที่ผ่านมา และเก็บตัวอย่างมะละกอจากแปลงของเกษตรกรที่ได้รับพันธุ์แขกดำท่าพระมาจากสถานีทดลองพืชสวน ต.ท่าพระ จ.ขอนแก่น ส่งไปตรวจสอบที่ห้องปฏิบัติการของมหาวิทยาลัยมหิดล หลังจากได้ผลตรวจแล้วจึงได้ส่งไปตรวจสอบซ้ำอีกครั้งที่ไบโอเทค โดยจะยังไม่เปิดเผยข้อมูลที่ได้รับก่อนส่งให้นายกรัฐมนตรีพิจารณา รายงานโดย : มุทิตา เชื้อชั่ง ศูนย์ข่าวประชาไท
['ข่าว', 'สิ่งแวดล้อม']
https://prachatai.com/print/292
2004-09-13 21:57
พรุ่งนี้ยื่นฟ้องทหารพรานยะลา
ศูนย์ข่าวภาคใต้-13 ก.ย. 47 นายอุสมาน นูรุลอาดิล บิดานายอิลมิน นูรุลอาดิล ที่ถูกอาสาสมัครทหารพรานยิงเสียชีวิตที่จังหวัดยะลา เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2547 ที่ผ่านมา เปิดเผยว่า ตนได้เลื่อนเวลายื่นฟ้อง นายวิชาญ เพชรวงศ์ อาสาสมัครทหารพราน สังกัดกรมทหารพรานที่ 41 จังหวัดยะลา กับพวกรวม 5 คน ร่วมกันฆ่านายอิลมีน ซึ่งเป็นบุตรชายของตน ต่อศาลจังหวัดยะลา ออกไปเป็นเวลา 9.00 น. วันที่ 14 กันยายน 2547 เนื่องจากยังอยู่ในระหว่างการรวบรวมเอกสาร ทั้งนี้ นายอุสมานจะฟ้องร้องนายวิชาญ เพชรวงศ์ กับพวก ในความผิดอาญาฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ แจ้งข้อหาเท็จ หมิ่นประมาท และสร้างพยานหลักฐานเท็จ คดีดังกล่าวเกิดจากนายอิลมีน และนายมูฮำหมัดรอมลี เจ๊ะและ อาของนายอิลมีนไปเจรจากับนายอับดุลอาซิส หะยีดอเลาะ อาจารย์วิทยาลัยเทคนิคยะลา อาจารย์วิทยาลัยเทคนิคยะลา เกี่ยวกับปัญหาชู้สาว แต่ถูกนายอับดุลอาซิส ชักปืนออกมายิง ทั้ง 2 จึงวิ่งหนี แต่นายอิลมีนถูกนายวิชาญ เพชรวงศ์ อาสาสมัครทหารพรานจับกุมโดยเข้าใจว่าเป็นผู้ร้าย และยิงจนเสียชีวิตในที่สุด ด้านพนักงานสอบสวน สภ.อ.เมืองยะลา เจ้าของคดีบอกว่า ได้ทำหนังสือส่งไปยังกรมทหารพรานที่ 41 จังหวัดนราธิวาส เพื่อขอให้ผู้บังคับบัญชาของทหารพรานที่วิสามัญฆาตกรรมนายอิลมีน นูรุลอาดิล เสียชีวิตเมื่อวันที่ 6 ก.ย.ที่ผ่านมา ส่งตัวทหารพรานมาให้พนักงานสอบสวนสอบปากคำดำเนินคดี เพราะว่า หลังจากที่เกิดเหตุพนักงานสอบสวนยังไม่รู้ว่า ใครเป็นคนลงมือ มีเพียงทหารในที่เกิดเหตุให้ข้อมูลเบื้องต้นเท่านั้น สำหรับอาสาสมัครทหารพรานวิชาญ เพชรวงศ์ ทหารสังกัดกรมทหารพรานที่ 41 ซึ่งเวลานี้ได้ถูกทางต้นสังกัด นำกลับมาควบคุมไว้ที่กรมทหารพรานที่ 41 แล้ว และในวันที่เกิดเหตุ มีเพียงจ่าสิบตำรวจเสาธง แก้วสว่าง ทหารสังกัดเดียวกันออกมาให้ข้อมูลในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพียงคนเดียว หลังเกิดเหตุวิสามัญผิดตัว ประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เริ่มออกมาเคลื่อนไหว ด้านนายโภคิน พลกุล รัฐมนตรีมหาดไทย กล่าวว่า ตอนนี้มีกลุ่มชาวบ้านเคลื่อนไหวเป็นระยะ แต่ที่ผ่านมากกระทรวงมหาดไทย พยายามที่จะทำความเข้าใจกับประชาชน ระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่ในพื้นที่มาโดยตลอด คิดว่าเรื่องคงไม่บานปลาย รายงานโดย : มูฮำหมัด ดือราแม ศูนย์ข่าวภาคใต้
['ข่าว', 'สิ่งแวดล้อม']
https://prachatai.com/print/293
2004-09-13 22:01
ชี้เงื่อนงำ TOR กระเช้าดอยหลวงเชียงดาว
ศูนย์ข่าวภาคเหนือ- 13 ก.ย.47 "องค์กรเครือข่าย 40 องค์กร" ทั่วประเทศ เปิดเอกสารลับ ชี้ TOR "รัฐ" งุบงิบ ไม่โปร่งใส ให้ต่างชาติเข้าดำเนินการแต่ไม่มีความคืบหน้า หวั่นธรรมชาติถูกทำลายเพราะศึกษาแค่ผิวเผิน พร้อมจดหมายเปิดผนึกถึง "พ่อเมืองเชียงใหม่" ให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วม ที่บ้านธารแก้ว มหาวิทยาลัยพายัพ กลุ่มภาคีเพื่อดอยหลวงเชียงดาว 40 องค์กร เครือข่ายนักวิชาการ และศิลปินนักคิดนักเขียนจากทั่วประเทศ เปิดแถลงข่าวโดยนายอัคนี มูลเมฆ กลุ่มภาคีเพื่อดอยหลวงเชียงดาว นำเอกสารปกปิด "ลับมาก" มาเปิดเผยกับสื่อมวลชนว่า มีมูลเหตุความเคลือบแคลงหลายประการ คือขณะนี้ได้มีการว่าจ้างบริษัทต่างชาติ คือ บริษัท สวิส แพลนนิ่ง ในวงเงิน 3 ล้านบาท เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ทางวิศกรรมในโครงการสร้างกระเช้า ตั้งแต่ปลายเดือนกรกฏคมที่ผ่านมา แต่ยังไม่มีรายละเอียดการเบิกจ่ายเงินงบประมาณแผ่นดินว่ามาจากส่วนใดที่ชัดเจน ซึ่งอาจเป็นผลเสียต่อเงินงบประมาณแผ่นดินที่เป็นเงินภาษีของประชาชน " ที่สำคัญคือ คณะผู้เชี่ยวชาญที่คณะกรรมการได้เสนอให้ศึกษาผลกระทบทางด้านสังคม ด้านพืชและสัตว์นั้น แผนศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ(TOR) กำหนดให้เพียงรวบรวมข้อมูลเบื้องต้นเท่านั้น ไม่ได้มีการศึกษาผลกระทบผลเสียที่อาจเกิดขึ้นต่อพันธุ์พืชและสัตว์ป่า ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศน์ของดอยเชียงดาวได้ หากมีโครงการขนาดใหญ่นี้เข้ามา " นายอัคนี กล่าว โดยจดหมายเปิดผนึกถึง ผวจ.เชียงใหม่ ระบุว่า การดำเนินงานทั้งหมดอยู่ภายใต้คณะกรรมการชุดเดียวกันกับคณะกรรมการสวนสัตว์กลางคืน หรือไนท์ซาฟารี ที่มีนายปลอดประสพ สุรัสวดี เป็นประธาน ซึ่งเคยให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนหลายแขนงว่า การดำเนินการโครงการกระเช้าไฟฟ้าทั้งหมด ไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับจังหวัดเชียงใหม่ ทั้งที่โครงการนี้ควรอยู่ภายใต้กรอบแนวคิดการกระจายอำนาจ และการมีส่วนร่วมของประชาคมในจังหวัด รวมถึงสาธารณชนทั่วไป ไม่ควรจำกัดให้อยู่ภายใต้การจัดการขององค์กรหรือหน่วยงานเดียว ในปี 2546 นายสุวัฒน์ ตันติพัฒน์ ผวจ.เชียงใหม่ ได้ตั้ง คณะทำงานพัฒนาดอยหลวงเชียงดาว เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์อย่างยั่งยืนของจังหวัดเชียงใหม่ โดยมี นายปริญญา ปานทอง รองผวจ.เชียงใหม่ เป็นประธาน ซึ่งมีตัวแทนทั้งชาวบ้าน ภาคเอกชนและส่วนราชการในจังหวัดเข้าร่วม นายปริญญา ปานทอง รองผวจ.เชียงใหม่ ได้เปิดเผยในช่วงนั้นว่า คณะทำงานมีแนวโน้มจะพัฒนาการท่องเที่ยวดอยหลวงเชียงดาวให้ยั่งยืน โดยเน้นการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ และอาจถึงขั้นเสนอให้เป็นมรดกโลก เนื่องจากดอยหลวงเชียงดาวมีความสมบูรณ์ของระบบนิเวศน์ มีพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์เฉพาะถิ่นและหายาก โดยหยุดชะงักการทำงานทั้งหมดเมื่อนายปลอดประสพ สุรัสวดี ได้ตั้งคณะกรรมการในส่วนกลางเป็นผู้ดำเนินการและว่าจ้างบริษัทต่างชาติดังกล่าว ลงพื้นที่เพื่อทำการศึกษา TOR รายงานโดย : องอาจ เดชา ศูนย์ข่าวภาคเหนือ
['ข่าว', 'สิ่งแวดล้อม']
https://prachatai.com/print/298
2004-09-14 20:54
เสนอ "กอ.สสส.จชต." รวมข่าวกรอง
กรุงเทพฯ-14 ก.ย.47 พลเอกเชษฐา ฐานะจาโร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงข้อมูลของศูนย์ปฏิบัติการตำรวจส่วนหน้า สำนักงานตำรวจแห่งชาติว่า มีนักการเมืองระดับชาติเข้าไปเกี่ยวข้องกับปัญหาความไม่สงบในภาคใต้นั้น เป็นเพียงข้อมูลที่เป็นข่าวสารเบื้องต้นที่ยังไม่มีการประมวลจากหน่วยข่าวกรอง รวมทั้งยังไม่มีการยืนยันถึงแหล่งที่มาของข่าว ดังนั้นจะต้องมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงให้ชัดเจน โดยมอบให้คณะกรรมการกองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขในภาคใต้เป็นผู้กลั่นกรอง หากเป็นเรื่องจริง จะส่งผลกระทบให้เกิดความเสียหาย รมว.กลาโหมยอมรับว่า หน่วยข่าวกรองของรัฐยังขาดความเป็นเอกภาพ แต่ละหน่วยงานก็ประมวลข่าวสารของตัวเอง ทำให้ได้ข้อมูลไม่ตรงกัน ดังนั้นจะต้องนำข่าวข่าวสารของแต่ละหน่วยงานมาให้ศูนย์ปฏิบัติการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นผู้ตรวจสอบเพียงหน่วยงานเดียว รายงานโดย : ศูนย์ข่าวประชาไท
['ข่าว', 'สิ่งแวดล้อม']
https://prachatai.com/print/295
2004-09-13 23:54
ผู้นำโต๊ะครู บอยคอตแม่ทัพภาค 4
ศูนย์ข่าวภาคใต้-13 ก.ย.47 ผู้นำโต๊ครู 5จังหวัดใต้ ประกาศยุติความร่วมมือกับภาค 4 ระบุที่ผ่านมาให้ความช่วยเหลือทางการมาโดยตลอด จนถูกขู่ฆ่า นายนิเดร์ วาบา นายกสมาคมโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เปิดเผยว่า รู้สึกไม่พอใจที่หน่วยเฉพะกิจปัตตานี เข้าตรวจค้นโรงเรียนอิสลามประชานุเคราะห์ อำเภอทุ่งยางแดง จังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2547 และไม่ให้ความร่วมมือกับพล.ท.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี แม่ทัพภาค 4 อีกต่อไป เพราะที่ผ่านได้ให้ความร่วมมือกับทหารมาตลอด ตนคุยกับโต๊ะครูเกือบ 500 คน ใน 3 จังหวัด คือ ปัตตานี ยะลาและนราธิวาสมาแล้วเห็นตรงกันว่า จะไม่ให้ความร่วมมือกับทางทหารอีกต่อไป นายนิเดร์ เปิดเผยต่อไปว่า ตนเป็นผู้แจ้งเบาะแสให้กับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในมาก่อน ช่วยเหลือทางราชการมาตลอด จนตอนนี้มีคนขู่ฆ่าหาว่าเป็นสายลับให้กับราชการ ที่จริงที่ตนทำไปก็เพื่อต้องการช่วยแก้ปัญหาบ้านเมือง คนที่ก่อเหตุร้ายเองไม่รู้เรื่อง ไม่ได้มองว่าตนเข้ามาเพื่อช่วยแก้ปัญหา ที่ผ่านมาโต๊ะครูช่วยเหลือทหารมาตลอด เมื่อเกิดเหตุนี้แล้ว ก็จะไม่ร่วมมืออีกแล้ว "ผมไม่ต้องการให้ศาสนามัวหมอง ไม่ได้มุ่งหวังยศฐาบรรดาศักดิ์ในโลกนี้ แต่ทหารที่ดีกับผมก็มี หลังจากเกิดเหตุก็มีทหารนายหนึ่งโทรศัพท์มาบอกให้ผมไปปรับความเข้าใจกับโต๊ะครู แต่ตอนนี้ไม่เอาแล้ว" นายนิเดร์ เปิดเผยอีกว่า ก่อนหน้านี้มีเจ้าหน้าที่มาคุ้มครองตนอยู่หลายคน ด้านนายอับดุลรอนิง กาหามะ เลขานุการสมาคมโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้และผู้จัดการโรงเรียนอิสลามประประชานุเคราะห์ หนึ่งใน 2 โรงเรียน ที่ถูกทหารหน่วยเฉพาะกิจปัตตานี บุกเข้าตรวจค้น เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2547 เนื่องจากถูกระบุว่ารับเงินจากประเทศซาอุดีอาระเบีย หลายสิบล้านบาท แล้วโอนไปให้แกนนำก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และนำตัวไปสอบสวนที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี ก่อนจะปล่อยกลับ กล่าวว่า ตนไม่ได้ติดใจอะไร เพราะตนไม่ได้รับเงินต่างประเทศมาให้ผู้ก่อความไม่สงบ แต่ยังช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ของรัฐในการแก้ปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้น "ผมเป็นเจ้าหน้าที่พิเศษของสำนักงานตำรวจแห่งชาติช่วยรัฐแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้มาตลอด แต่กลับได้รับผลตอบแทนด้วยการตรวจค้นโรงเรียนของตน มันสมควรแล้วหรือไม่ แต่ผมก็สบายใจ เพราะเขาได้พิสูจน์ออกมาแล้วว่าเราบริสุทธิ์" นายอับดุลรอนิงกล่าวและว่า ตนเคยรับเงินมาจากประเทศซาอุดีอาระเบีย เมื่อ 6 ปีที่แล้ว โดยผ่านวิทยาลัยอิสลามยะลาเพื่อสร้างมัสยิด และจากมูลนิธิอุมมุลกุรอ ของซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเป็นองค์กรการกุศล ปีละไม่เกิน 8 แสนบาท แต่ปัจจุบันไม่ได้รับเงินมา 3 ปี แล้ว ตั้งแต่หลังเหตุการณ์ผู้ร้ายจี้เครื่องบินขับชนตึกเวิร์ล เทรด เซ็นเตอร์ ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2544 นายอับดุลรอนิง กล่าวอีกว่าโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามส่วนใหญ่ ก็ได้ยุติการรับเงินจากต่างประเทศโดยเฉพาะในตะวันออกกลาง หลังจากเหตุการณ์นี้เช่นกัน เพราะว่าไม่สามารถติดต่อกับองค์กรที่สนับสนุนเงินในต่างประเทศได้ ส่วนจะมีโรงเรียนที่รับเงินอยู่อีกหรือไม่นั้น ตนไม่ทราบทั้งนี้เพราะเป็นการดำเนินการของโรงเรียนเอง รายงานโดย : ศูนย์ข่าวประชาไท
['ข่าว', 'สิ่งแวดล้อม']
https://prachatai.com/print/296
2004-09-13 23:57
กลาโหมรับพลาดค้น 2 ปอเนาะ
กรุงเทพฯ-13 ก.ย. 47 รมว.กลาโหม ยอมรับกรณีบุกค้นปอเนอะ อาจจะมีข้อผิดพลาดทางงานข่าวบ้าง แต่จำเป็นต้องทำหากผิดตัวก็ขอโทษกันไป "กรณีบุกค้นโรงเรียนปอเนาะ เป็นเพราะเจ้าหน้าที่ได้ข่าวสารที่มีการซัดทอดกันไปมา จากผู้ที่มามอบตัว มันก็อาจผิดตัวไปนิดหนึ่ง ตรงนี้ต้องประณีตขึ้น ข่าวก็มีถูกบ้างผิดบ้าง ต่อไปนี้ผมกำชับแล้ว" พล.อ.เชษฐา ฐานะจาโร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ระบุ เช้าวันที่ 12 ก.ย. หน่วยเฉพาะกิจ กองทัพภาค 4 ส่วนหน้า พร้อมอาวุธครบมือ บุกค้นโรงเรียนสอนศาสนา(ปอเนาะ) 2 แห่งคือ โรงเรียนอิสลามประชานุเคราะห์ และโรงเรียนปอเนาะซาราฟี ใน จ.ปัตตานี มีการยึดหลักฐานและเอกสารบางส่วน และพร้อมทั้งเชิญตัวผู้จัดการโรงเรียนทั้งสองแห่งมาสอบปากคำที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร พล.อ.เชษฐา กล่าวว่า หากการตรวจค้นสถานที่ใดเกิดความผิดพลาด เจ้าหน้าที่จะต้องขอโทษต่อเจ้าของสถานที่ รมว.กลาโหมยังกล่าวว่า ขณะนี้ทางการมีข้อมูลเกี่ยวกับการรับเงินบริจาคจากต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศแถบตะวันออกกลางที่ให้ความช่วยเหลือมูลนิธิในศาสนาอิสลามหลายแห่ง ซึ่งก็จะตรวจสอบการใช้จ่ายเงินเหล่านี้ว่า ใช้ไปในทางที่ถูกต้องหรือไม่ รายงานโดย : ศูนย์ข่าวประชาไท
['ข่าว', 'สิ่งแวดล้อม']
https://prachatai.com/print/297
2004-09-14 20:36
รายงานสถานการณ์และแนวโน้มประเทศไทย สิงหาคม 2547
นักเรียนตีกัน: การต่อต้านของเยาวชน โครงการข่าวสารทิศทางประเทศไทย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) (www.trf.or.th) สถานการณ์ในประเทศ 1. กรณีนักเรียนตีกันและพฤติกรรมต่อต้านอื่น การที่ผู้ใหญ่บ่นและกังวลถึงพฤติกรรมเยาวชนวัยรุ่นนั้น ปรากฏมานานนับพันปีในนครใหญ่ ปัจจุบัน เมืองได้กลายเป็นการตั้งถิ่นฐานหลักของโลก ปัญหาของเยาวชนดูมีมากและรุนแรงขึ้น ในรอบเดือนสิงหาคม ปรากฏข่าว และการแสดงทัศนะเกี่ยวกับนักเรียนโดยเฉพาะนักเรียนอาชีวศึกษาตีกันหรือลอบทำร้ายกันจนบาดเจ็บล้มตายกันอย่างต่อเนื่องกว้างขวาง ในหลายมิติ การจัดการของภาครัฐมีแนวโน้มไปสู่การจัดระเบียบให้เคร่งครัดขึ้น แต่สภาพความเป็นจริงซับซ้อนกว่านั้น อาจกล่าวได้ว่า พฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ของเยาวชนวัยรุ่นที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง ตามรายงานของกองบัญชาการตำรวจนครบาล ระบุว่าระหว่างเดือนตุลาคม 2546 - สิงหาคม 2547 มีเหตุการณ์ตีกันรวมถึงกว่า 3 พันครั้ง เป็นสิ่งสะท้อนความป่วยไข้บางประการหรือกระทั่งโดยพื้นฐานของสังคม สถานการณ์ แนวโน้มและบทเรียนบางประการ อาจสรุปได้ดังนี้ 1) กรณีเยาวชนวัยรุ่นในวัยเรียนยกพวกตีกันระหว่างสถาบันหรือระหว่างคณะมีมานานแล้ว เมื่อหลายสิบปีก่อน มีการตีกันตั้งแต่ระดับโรงเรียนไปจนถึงมหาวิทยาลัย ปัจจุบันมีมากอยู่แต่ในระดับอาชีวศึกษา เป็นลักษณะเฉพาะที่คงมีเหตุปัจจัยอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่าง สาเหตุตีกันนั้น ในสมัยก่อนมักเนื่องจากการแข่งขันกีฬา ปัจจุบัน โอกาสการชุมนุมรวมกลุ่มในที่สาธารณะมีหลายรูปแบบกว่า การตีกันนั้นมักเนื่องด้วยการเที่ยวเตร่หาความสำราญเป็นสำคัญ เช่นการชมคอนเสิร์ต การแสดง งานตามโรงเรียน หรือตามห้างสรรพสินค้า รวมร้อยละ 78 ที่เนื่องด้วยการกีฬาเหลือเพียงร้อยละ 16 (ผลการสำรวจดุสิตโพลล์ 4 ก.ย. 47) 2) การยกพวกตีกันนี้ แม้ว่าจะมาจากการรวมกลุ่มในเหตุการณ์ที่แตกต่างกัน เมื่อเทียบปัจจุบันกับในอดีต ก็ดูจะมีสาเหตุหลักเหมือนกัน ได้แก่ การรักษาหรือป้องกันศักดิ์ศรีของสถาบัน รวมทั้งของเพื่อนฝูง และจากระบบอาวุโสในสถานศึกษา ซึ่งรวมแล้วเป็นร้อยละ 80 ของสาเหตุทั้งหมด (ผลการสำรวจดุสิตโพลล์, อ้างแล้ว) เป็นที่น่าสนใจว่าเหตุใดในช่วงเวลายาวนานถึง 50 ปี จึงยังคงมีบรรยากาศและค่านิยมนี้ดำรงอยู่ 3) การยกพวกตีกันของนักเรียนระหว่างสถาบัน จัดว่าเป็นลักษณะเฉพาะของความรุนแรงในหมู่เยาวชนวัยรุ่นของไทย มีปัญหาความรุนแรงในหมู่เยาวชนวัยรุ่นทั่วโลก รวมทั้งในประเทศพัฒนาแล้ว สหรัฐเป็นประเทศหนึ่งที่มีปัญหาความรุนแรงในเยาวชนวัยรุ่นสูงมาก มีทั้งการเสพติดและการค้ายาเสพติด การก่ออาชญกรรม การฆ่าคน ความรุนแรงในสถานศึกษา ไปจนถึงการตั้งแก๊งค์ก่อกวนชุมชนสังคม แต่ไม่ปรากฏข่าวการยกพวกตีกันของนักเรียนระหว่างสถาบัน ในประเทศญี่ปุ่นปัญหาความรุนแรงในหมู่เยาวชนก็พุ่งสูงขึ้น สถิติทางการ พบว่าอาชญากรรมวัยรุ่นได้เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 47 ในปี 2003 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา อายุผู้ที่กระทำผิดก็น้อยลง เป็นเหตุให้เมื่อปี 2001 รัฐบาลญี่ปุ่นได้ลดเกณฑ์อายุอาชญากรวัยรุ่นจาก 16 ปีเหลือ 14 ปี วิเคราะห์กันว่า ปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นจากความเครียดของเยาวชนในท่ามกลางการพัฒนา (Jointogether.org. 120804) บ้างวิเคราะห์ว่า เป็นอาการป่วยของสังคมญี่ปุ่นที่มีลักษณะเด่น 3 ประการ ได้แก่ การเสพติด การบังคับเข้มงวด และการทำร้ายตนเอง (Worldpress.org เมษายน 2004) 4) เป็นที่สังเกตว่า กลุ่มนักเรียนอาชีวะเป็นอาณาบริเวณซึ่งชนชั้นนำไทย เคยเข้ามาจัดตั้งเพื่อต่อต้านขบวนการนักเรียน นิสิต นักศึกษา หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ที่ได้มีการเคลื่อนไหวเรียกร้องทางด้านประชาชาติ ประชาธิปไตยและความเป็นธรรมในสังคมมากขึ้น นี่อาจเป็นคำอธิบายอีกข้อหนึ่งว่า เหตุใดความติดยึดในสถาบันการศึกษาและระบบอาวุโส จึงยังคงมีสูงในสถาบันอาชีวศึกษา อนึ่ง เรื่องของสถาบันนี้มักแปรเป็นเชิงสัญลักษณ์ สำหรับในปัจจุบันดูจะ ได้แก่ "เสื้อช็อปและหัวเข็มขัด" ซึ่งก็คือเครื่องแบบ การยึดถือเครื่องแบบและศักดิ์ศรีของเครื่องแบบนี้ ไม่ได้จำกัดอยู่แต่ในนักเรียนอาชีวะเท่านั้น แท้จริงปรากฏทั่วไปโดยเฉพาะในกลุ่มผู้มีอำนาจ เช่นทหาร ตำรวจ จนอาจกล่าวได้ว่า สังคมไทยมีวัฒนธรรมนิยมเครื่องแบบและศักดิ์ศรีเครื่องแบบ แม้มีข้อเสนอเพื่อแก้ปัญหาการตีกันของนักเรียนอาชีวะที่ปรากฏบ่อย ปฏิบัติง่าย เสียค่าใช้จ่ายน้อย และน่าจะมีผลในทางปฏิบัติสูงอยู่ 2 ข้อได้แก่ (1) การยกเลิกเครื่องแบบ (2) การยกเลิกระบบอาวุโส รุ่นพี่สั่งรุ่นน้อง แต่ก็ดูจะปฏิบัติได้ยากในวัฒนธรรมนิยมเครื่องแบบ 5) มีความเป็นไปได้หรือไม่ ที่จะมีการรื้อฟื้นกลุ่มนักเรียนอาชีวะเพื่อต่อต้านขบวนการนักเรียนนักศึกษาอย่างที่เคยเป็นมาก่อน ความเป็นไปได้นี้มีอยู่ แต่แนวโน้มน่าจะเป็นว่า การปฏิบัติทางเครื่องแบบและระบบอาวุโส ที่กระทำมานานได้เผาผลาญตนเอง จนอ่อนแรงลง และเปิดทางให้แก่การจับกลุ่มของหมู่เยาวชนวัยรุ่น และสร้างวัฒนธรรมกลุ่มของตนเข้ามาแทนที่โดยลำดับ ดังที่ได้เริ่มปรากฏขึ้นแล้ว 6) นโยบายการบริหารและความรุนแรงในสถาบันการศึกษา การศึกษาที่รัฐบาลต่างๆจัดขึ้นทั่วโลก รวมทั้งในประเทศไทยมีหน้าที่อยู่อย่างหนึ่ง นั่นคือ การนำเด็กและเยาวชนเข้าสู่สังคมในฐานะพลเมืองดี หรือยอมรับค่านิยมของสังคมโดยดี สำหรับสังคมไทยวิเคราะห์ว่ามีค่านิยมแบบอำนาจนิยม เท่ากับสอนเด็กและเยาวชนให้เป็นคนหัวอ่อน ยอมรับผู้มีอำนาจ กล่าวโดยรวมทำให้เด็กเป็นเด็ก ไม่บรรลุวุฒิภาวะทางอารมณ์อย่างเหมาะสม สภาพเช่นนี้ ขัดแย้งกับภาวะแวดล้อม เช่น ในกรุงเทพฯที่เป็นเมืองใหญ่ มีประชากรอยู่อย่างหนาแน่น มีกิจกรรมต่างๆและสินค้าสำหรับการบริโภคมาก ปรากฏการณ์นี้ก่อให้เกิดความรุนแรงในสถาบันการศึกษา เช่น ครูบังคับขู่เข็ญนักเรียน นักเรียนรังแกกันทั้งแบบปัจเจกและที่สำคัญรวมกันเป็นกลุ่ม การบริหารโรงเรียนหลายแห่งนิยมใช้ระบบอาวุโส เพื่อให้เด็กดูแลกันเอง เป็นการผ่อนภาระของครูอาจารย์ ซึ่งอาจกลายเป็นการส่งเสริมนักเรียนให้จับกลุ่มตีกันได้โดยไม่ได้เจตนา มีข้อเสนอแนะบางประการในการปรับปรุงหรือแก้ไขสภาพดังกล่าว ได้แก่ (1) เปิดประชาธิปไตยในโรงเรียนตามความเหมาะสม เช่นในครั้งก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลาคม นักเรียนได้ร่วมกันก่อตั้งสภานักเรียนขึ้น (2) ส่งเสริมให้นักเรียนนิสิตนักศึกษาทำกิจกรรมสร้างสรรค์ เช่น กิจกรรมทางวิชาการหรือที่ก่อประโยชน์ต่อสาธารณะ (3) การศึกษา เฝ้าระวังและระงับเหตุความรุนแรงตั้งแต่ต้น แลกเปลี่ยนผลการศึกษาและประสบการณ์ในเรื่องนี้อย่างสม่ำเสมอ (4) เพิ่มความสนใจให้แก่การศึกษาระดับนี้ ไม่ปล่อยให้เกิดภาพลักษณ์ว่า เป็นการศึกษาของกลุ่มที่ถูกกีดกันอยู่ภายนอก 7) ความรุนแรงในครอบครัวและสังคม สื่อมวลชน มีผลการศึกษาทั้งของไทยและต่างประเทศตรงกันอยู่ว่า ความรุนแรงในครอบครัวมีสูงกว่าและมีผลกระทบมากกว่าที่คิด หรือที่วาดฝันเรื่องบ้านแสนสุขอย่างมาก ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรง ได้แก่ สตรีและเด็ก ซึ่งทำให้เด็กและเยาวชนคุ้นกับความรุนแรง ในสังคมก็มีแนวโน้มสู่ความรุนแรงเพิ่มขึ้น มีการเผยแพร่วัฒนธรรมความรุนแรงในสื่อมวลชนต่างๆ โดยเฉพาะภาพยนตร์และโทรทัศน์ สิ่งเหล่านี้แก้ไขได้ยาก ความรุนแรงในหมู่เยาวชนวัยรุ่นจึงอาจเป็นเพียงความรุนแรงส่วนเล็กๆ ในสังคมเท่านั้น มันถูกจับผิดและขยายออกมาเพียงเพราะว่าบุคคลเหล่านี้ไม่ได้มีอำนาจในสังคม 8) ในระยะหลัง ปรากฏข่าวพฤติกรรมเยาวชนวัยรุ่นจับกลุ่มเสพสุขก่อเหตุรุนแรงหนาหูขึ้น จนรู้สึกว่ากำลังกลายเป็นปัญหาสังคมใหญ่ พฤติกรรมดังกล่าวคือ (1) การหมกมุ่นในกาม การมีกิจกรรมทางเพศพร่ำเพรื่อ หรือไม่เลือกที่ (2) การเสพและค้ายาเสพติดรวมทั้งของมึนเมาต่างๆ (3) การวิวาททำร้ายกัน บางครั้งถึงชีวิต (4) การก่ออาชญากรรมอื่น เช่นการลักทรัพย์ การตั้งแก๊งค์ก่อกวน (5) การติดของใช้หรูหราและความสนุกสนานฟุ่มเฟือย ถึงขั้นลักขโมยหรือขายตัว พฤติกรรมแบบบริโภคนิยมเสพสุขนี้ มีด้านที่เป็นไปตามกระแสลัทธิผู้บริโภคที่ครอบงำหรือเป็นโครงสร้างทางสังคมปัจจุบัน ในอีกด้านหนึ่งได้เลยเถิดจนกระทั่งกลายเป็นพฤติกรรมต่อต้านสังคม ยึดถือการรักษาหรือการเลื่อนสถานะของตนภายในกลุ่ม อยู่เหนือค่านิยมและประโยชน์ส่วนรวม ดังนั้นพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ของเยาวชนวัยรุ่นจึงยากที่จะแก้ไข ทั้งมีแนวโน้มหนักหน่วงขึ้น เว้นแต่จะมีความพยายามในการลดผลกระทบด้านลบจากลัทธินี้ลงไปให้มากพอสมควร 9) เยาวชนกับความรุนแรงใน 3 จังหวัดภาคใต้ มีข้อเท็จจริงมากพอที่จะสรุปได้ว่า ผู้ปฏิบัติการก่อความไม่สงบรุนแรงใน 3 จังหวัดภาคใต้จำนวนมากเป็นเยาวชน นี่เป็นพฤติกรรมต่อต้านที่รุนแรงน่าหวั่นเกรง เยาวชนเหล่านี้ได้ร่วมกลุ่มที่มีลักษณะปิด ใช้การสร้างความตื่นกลัว เพื่อผลทางการเมือง เป็นเรื่องที่แก้ไขได้ยากอีกเรื่องหนึ่ง 10) มีทฤษฎีในวิชาสังคมวิทยา เสนอเหตุปัจจัยของความขัดแย้งทางสังคม (Social Conflict) ไว้บางประการ ได้แก่ (1) ความไม่เท่าเทียมกัน ความไม่เป็นธรรม เช่นความขัดแย้งระหว่างคนรวยกับคนจน นี้เป็นความขัดแย้งพื้นฐานของความขัดแย้งอื่น กล่าวตามทฤษฎีนี้หากความไม่เท่าเทียมกันหรือช่องว่างทางสังคมขยายตัว ความขัดแย้งและความปั่นป่วนในสังคมก็มีแนวโน้มขยายตัวตามไปด้วย (2)การแข่งขันเพื่อการควบคุม ในสังคมที่มีช่องว่าง กลุ่มต่างๆในสังคมมีแนวโน้มที่จะต่อสู้แข่งขัน เพื่อการควบคุมกลุ่มอื่น การแข่งขันเหล่านี้ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ค่านิยมเก่าสลาย ของใหม่เกิดไม่ทัน ขาดปทัสถานในการวัด ขาดความสำนึกทางประวัติศาสตร์ ยากที่จะสรุปบทเรียนได้ กระทำความผิดซ้ำเดิม การแข่งขันเพื่อการควบคุมระดับสูง เช่น การต่อสู้ทางการเมืองระหว่างกลุ่มฝ่ายในชนชั้นนำของไทยในปัจจุบัน ได้มีความรุนแรงขึ้นจนใกล้จุดเดือด (3) การขัดเกลาทางสังคม (Socialization) เพื่อทำให้สังคมเป็นปึกแผ่น ผู้มีอำนาจจำต้องขัดเกลาทางสังคมที่เป็นพื้นฐาน ได้แก่ เด็กและเยาวชน การขัดเกลาทางสังคมนี้มีเครื่องมือหลักอยู่ 2 อย่าง ได้แก่ ก) เครื่องมือทางจิต ได้แก่ การศึกษา ศาสนา ประเพณี ความเชื่อ เป็นต้น ข) เครื่องมือทางกายภาพ ได้แก่ กฎหมาย การใช้อำนาจทางกฎหมายหรือเหนือกฎหมาย ไปจนถึงการลงโทษระดับต่างๆ การขัดเกลาทางสังคมจำต้องใช้การบังคับเข้มงวด ซึ่งก่อให้เกิดการต่อต้านในตัว ยิ่งหากกระทำในภาวะที่มีการแข่งขันและความไม่แน่นอนสูง ก่อให้เกิดการต่อต้านมากขึ้น 11) สถานการณ์ทั้งหมดดูจะชี้ว่า สถาบันสังคมตั้งแต่ครอบครัว ชุมชน โรงเรียน ศาสนา ไปจนถึงรัฐ ได้อ่อนล้าลง จนไม่สามารถขัดเกลาหรืออบรมสั่งสอนเยาวชนวัยรุ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันเยาวชนวัยรุ่นเองจำนวนไม่น้อยก็อ่อนแอเกินไปที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ถึงพร้อมด้วยวุฒิภาวะ 2. การเลือกตั้งผู้ว่ากทม. 1) ผลการเลือกตั้ง (1) มีผู้ใช้สิทธิลงคะแนนสูงเป็นประวัติการณ์ เนื่องจาก ก) การกระตุ้นของสื่อมวลชน โดยสร้างเรื่องว่าเป็นการยึดกรุงเทพฯและอื่นๆ แสดงถึงบทบาททางการเมืองการเลือกตั้งของสื่อมวลชนไม่น้อย ดังนั้น ย่อมเป็นพื้นที่ในการแย่งชิงอิทธิพลในระดับที่แน่นอน ข) ผู้ลงสมัครมีความหลากหลาย มียุทธวิธีหรือการตลาดทางการเมืองเพื่อสร้างจุดเด่นเรียกความสนใจให้ไปลงคะแนน (2) คะแนนเกือบทั้งหมดลงให้แก่ผู้ที่มีภาพลักษณ์ทางด้านเป็นผู้บริหารสมัยใหม่ หรือสนับสนุนโดยกลุ่มผู้บริหารสมัยใหม่ คะแนนที่ลงให้แก่ผู้สมัครที่ถือว่าเป็นทางเลือกที่สาม ซึ่งคาดว่าจะมีสูงในหมู่คนกรุงเทพฯกลับมีน้อยมาก (3) ผู้ที่มีภาพลักษณ์เป็นแบบสีเทาได้รับคะแนนสูงเป็นอันดับสาม แสดงว่า ก) ผู้ที่อาศัยกิจการสีเทาเพื่อดำรงชีพมีอยู่ไม่น้อยในกรุงเทพฯ ข) กล่าวกันว่ามีเยาวชนวัยรุ่นจำนวนหนึ่ง เลือกเพื่อความสะใจ ค) เวทีการเมืองไทยปัจจุบัน ก็มีนักการเมืองที่มีภาพลักษณ์เป็นสีเทาอยู่ไม่น้อย (4) ดูเหมือนว่าชาวกรุงเทพฯก็ไม่ได้คาดหวังว่าผู้ว่าฯคนใหม่จะสามารถแก้ไขปัญหาให้แก่ กทม. สำเร็จมากน้อยเพียงใด การวิเคราะห์ตามสื่อมวลชน เน้นหนักไปในด้านผลกระทบทางการเมืองใหญ่ เช่นต่อพรรคการเมืองและการเลือกตั้งทั่วไปมากกว่า 2) ปัญหาที่เผชิญหน้า นอกจากปัญหาการจราจรแล้ว กทม.มีปัญหาใหญ่ที่ควรกล่าวถึง ได้แก่ (1) กทม. มีแนวโน้มที่จะบริหารปกครองยากขึ้นทุกที ทั้งนี้มาจากความเจริญของตัวเอง ทั้งจำนวนประชากรและความต้องการเพิ่มขึ้น การขยายตัวของกรุงเทพฯมีแนวโน้มไปกินพื้นที่จังหวัดใกล้เคียงทั้งหมด เป็นภาระหนักในการสนองสาธารณูปโภค เช่นเฉพาะการจราจรขนส่งก็ต้องใช้เงินหลายแสนล้านบาท นอกจากนี้ ต้องมีบริการสาธารณะอื่นอีก การรักษาระบบนิเวศของกรุงเทพฯมีแนวโน้มที่จะใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เป็นภาระใหญ่ (2)ปัญหาความยากจนในเมือง โดยเฉพาะความยากจนอย่างสัมพัทธ์ (Relative Poverty) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แม้ว่ารัฐบาลจะใช้ความพยายามขจัดความยากจน ความยากจนในเมืองก่อให้เกิดเศรษฐกิจใต้ดิน หรือเมืองใต้ดินขึ้นในกรุงเทพฯ ซึ่งมีทั้งด้านบวกและด้านลบของมัน แต่ที่แน่ก็คือมีด้านที่บริหารปกครองได้ยากขึ้น (3) พร้อมกับการเกิดเศรษฐกิจหรือเมืองใต้ดิน ย่อมมีปัญหาทางสังคมอื่น ได้แก่ อาชญากรรม ยาเสพติด ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ผู้มีอิทธิพล โสเภณี พฤติกรรมต่อต้านของเยาวชน เป็นต้น สภาพดังกล่าว ได้ปรากฏขึ้นแล้ว และรัฐบาลดูจะใช้ความพยายามแก้ไขจริงจังกว่าครั้งใด ซึ่งอย่างน้อยมีผลให้ปัญหาดังกล่าวไม่ขยายตัวเร็วจนเกินไป แต่ภาระย่อมหนักขึ้น และน่าจะมีการจัดระเบียบที่เข้มงวดและการต้านการจัดระเบียบปะทุขึ้น 3) การแก้ไข (1) ควรเห็นว่าการแก้ไขปัญหาของกทม.เป็นกระบวนที่ยืดหยุ่นซับซ้อน เช่น ไม่สามารถทำสำเร็จได้ด้วยการออกกฎหมายฉบับเดียวหรือหลายฉบับ (2) การรังสรรค์การบริหารปกครองกทม.ใหม่ โดยมีหลักการสำคัญ ได้แก่ ความกระทัดรัด คล่องตัว ความมีเอกภาพในแผนใหญ่ การมีส่วนร่วมโดยตรงของประชาชน การตรวจสอบได้ และการมีราคาไม่แพง เช่นเดียวกับการพัฒนากรุงเทพฯ ก็ควรหาวิธีที่ถูกที่สุด (3) มีปัญหาพื้นฐานบางอย่างที่ควรให้กทม.มีความรับผิดชอบแก้ไข เช่น ความยากจน เศรษฐกิจใต้ดิน ผู้มีอิทธิพล ที่อยู่อาศัย และโรคเอดส์ การแก้ไขปัญหาของกรุงเทพฯที่มีแนวโน้มซับซ้อนและเป็นภาระหนักขึ้นทุกทีนั้น เป็นการท้าทายอย่างสูง และจำเป็นต้องทำ เพราะว่าอย่างไรเสีย ความมั่นคงของกรุงเทพฯ ก็ยังเป็นสิ่งชี้วัดความมีเสถียรภาพของชาติและคุณภาพชีวิตของประชาชนทั่วไป 3. กรณีพืชจีเอ็มโอ เรื่องนี้ได้เป็นข่าวใหญ่มากขึ้น เมื่อมีการเคลื่อนไหวของคณะรัฐมนตรี ที่จะให้มีการทดลองปลูกพืชจีเอ็มโอในระดับไร่นา ซึ่งก่อให้เกิดกระแสคัดค้านอย่างกว้างขวาง จนมีการระงับไป กรณีพืชจีเอ็มโอนี้มีประเด็นใหญ่ 2 ด้าน ได้แก่ 1) ประเด็นทั่วไป เป็นด้านการกำหนดยุทธศาสตร์ด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีในสังคมไทย ที่ตั้งอยู่บนการศึกษาข้อมูลที่เพียงพอ เช่นผลกระทบด้านต่างๆทั้งระยะสั้นและระยะยาว รวมทั้งด้านจริยธรรม มีการแบ่งเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาในประเทศกำลังพัฒนาไว้ 2 ส่วนใหญ่ได้แก่ (1) เทคโนโลยีทันสมัย ซึ่งมักต้องนำเข้าหรืออยู่ใต้อิทธิพลของบรรษัทในประเทศพัฒนาแล้ว ต้องใช้การไล่กวดอย่างยิ่ง ซึ่งถ้าหากขนาดตลาดของตนเองไม่ใหญ่พอ หรือไม่สามารถรักษาตลาดของตนไม่ให้ถูกครอบงำโดยบรรษัทข้ามชาติแล้ว ก็มักทำไม่สำเร็จ และ (2) เทคโนโลยีที่เหมาะสม ซึ่งอาจเป็นการดัดแปลงเทคโนโลยีขั้นสูงให้เหมาะกับประเทศ หรือการพัฒนาต่อยอดจากภูมิปัญญาพื้นบ้าน หรือเป็นการคิดค้นขึ้นใหม่ให้เหมาะสม ที่เรียกว่าเหมาะก็คือ เหมาะสมกับระดับการพัฒนาทางสังคม หรือทุนทางการเงิน ทุนทางวัฒนธรรมและทุนทางสังคม เหมาะสมกับที่ประชาชนในระดับฐานรากจะนำไปใช้ปฏิบัติหรือผลิตได้ และเหมาะสมกับการถ่ายทอด 2) ประเด็นเฉพาะของพืชจีเอ็มโอ มีสถานการณ์ดังนี้ (1) เทคโนโลยีนี้มีลักษณะผูกขาดโดยบรรษัทข้ามชาติไม่กี่แห่ง บรรษัทเหล่านี้ได้รับการสนับสนุนโดยรัฐบาลของตนโดยเฉพาะสหรัฐ ที่ผลักดันให้เกิดการยอมรับ โดยมีข้ออ้างสำคัญที่เหลืออยู่เพียงประการเดียว ได้แก่ การป้องกันภาวะอดอยากในโลก (ข้ออ้างอื่นเช่นผลดีทางเศรษฐกิจรับฟังไม่ขึ้นแล้ว) (2) เทคโนโลยีนี้น่าจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพ สิ่งแวดล้อมที่แน่นอน แต่ยังไม่อาจยืนยันได้ชัดเจน เนื่องจากต้องการเวลา ขณะนี้ชุมชนระหว่างประเทศยึดหลักป้องกันไว้ก่อน (3) ผลกระทบทางเศรษฐกิจค่อนข้างเห็นได้ง่าย นั่นคือทำให้การเกษตรเป็นแบบอุตสาหกรรม ใช้พลังงานเชื้อเพลิงมาก รวมทั้งสารเคมีต่างๆ และเกิดการรวมศูนย์ขึ้นต่อบรรษัทเกษตรขนาดใหญ่ (4) ผลกระทบทางสังคมที่สำคัญ ได้แก่ การล้มละลายของเกษตรกรขนาดเล็กและขนาดกลาง (5) ผลกระทบด้านการผลิตอาหารมี 3 ด้านได้แก่ ก) ปัญหาความปลอดภัยทางอาหาร ข) ความมั่นคงทางอาหาร ค) ความหลากหลายทางอาหาร (6) กรณีตัวอย่างในอาร์เจนตินาที่เพาะปลูกพืชแบบนี้มาก ในปี 2002 ในจำนวนพื้นที่ที่ใช้ปลูกพืชจีเอ็มโอทั่วโลก 58.7 เฮกตาร์ มีการเพาะปลูกในอาร์เจนตินาถึง 13.5 ล้านเฮกตาร์ กระทรวงเกษตรสหรัฐระบุว่าที่ต้องเร่งปลูกพืชจีเอ็มโอก็เพื่อป้องกันความอดอยาก (ฟูดเฟิร์สต์ 11102003) แต่หลังวิกฤติเศรษฐกิจใหญ่ในอาร์เจนตินา ปี 1999-2002 พบว่าชาวอาร์เจนตินาถึงราวร้อยละ 35 มีอาหารไม่พอกิน (มันธ์ลี่ รีวิว กันยายน 2004) 4. เหตุการณ์ใน 3 จังหวัดภาคใต้ เหตุการณ์ฯยังไม่สงบ ฝ่ายรัฐบาลดูยังไม่มีเอกภาพในการจัดการปัญหานี้ ทั้งในด้านทิศทางนโยบายใหญ่ ไปจนถึงการปฏิบัติรูปธรรม การแก่งแย่งกันเพื่อมีบทบาทหรืออำนาจยังคงมีสูงในระบบราชการ อาจทำให้ค่าใช้จ่ายต้องบานปลายและยืดเยื้อ อนึ่ง ในสภาพที่เกิดความเสียหายรายวัน ย่อมก่อความเครียดอย่างสูงต่อเจ้าพนักงาน รวมทั้งชุมชน เอกภาพทางยุทธศาสตร์จึงมีความสำคัญสูงขึ้น ในการรับมือความเสี่ยงยืดเยื้อของสถานการณ์ สถานการณ์ต่างประเทศ ความแปรปรวนของลมฟ้าอากาศ ในรอบเดือนสิงหาคมซึ่งถือว่าอยู่ในห้วงฤดูใต้ฝุ่นและเฮอร์ริเคนของโลก ในปีนี้ ปรากฏลมพายุดังกล่าว ทั้งจำนวนและความแรงสูงกว่าค่าเฉลี่ย ก่อความเสียหายอย่างหนักแก่ประเทศสหรัฐ จีนและญี่ปุ่น รวมทั้งประเทศไทย คาดว่ากว่าจะสิ้นสุดฤดูพายุใหญ่ในเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน น่าจะก่อความเสียหายเพิ่มขึ้นอีก สำนักข่าวรอยเตอร์ (07082004) รายงานว่า นักวิทยาศาสตร์อังกฤษคาดหมายว่า มนุษย์จะต้องเผชิญกับการแปรปรวนทางลมฟ้าอากาศรุนแรงขึ้น โดยยกตัวอย่างคลื่นความร้อนที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตนับพันคนในยุโรป ซึ่งมีการคาดหมายว่าคลื่นความร้อนนี้จะรุนแรงขึ้นอีกเป็น 10 เท่า ปัญหาโลกร้อน อากาศที่วิปริต น้ำท่วม โคลนถล่ม ฝนแล้ง มลพิษในอากาศ กิจกรรมของมนุษย์ที่เพิ่มขึ้น อย่างเช่นการเดินทางทางอากาศ การสูญเสียโอโซนในชั้นบรรยากาศ เหล่านี้อาจฆ่าคนเป็นจำนวนนับล้านได้ บางคนเห็นว่าความแปรปรวนดังกล่าว สะท้อนให้เห็นถึงความเปราะบางของระบบนิเวศอันเป็นที่อาศัยของมนุษย์ เป็นสัญญาณว่ามนุษย์ไม่อาจใช้ธรรมชาติตามอำเภอใจได้เหมือนเดิม และบ้างเห็นว่าเป็นการตอบโต้ของธรรมชาติที่มีต่อการกระทำของมนุษย์ นักวิทยาศาสตร์เห็นกันว่าการแก้ไขปัญหามลพิษข้างต้น จะต้องกระทำพร้อมกัน ไม่ใช่ทำทีละเรื่อง ------------------------------------------------------------------- (ดาวน์โหลดบทวิเคราะห์ฉบับนี้และฉบับย้อนหลังได้ที่http://ttmp.trf.or.th [1]หรือติดต่อ ประชาสัมพันธ์ สกว.) รายงานโดย : ศูนย์ข่าวประชาไท
['บทความ']
https://prachatai.com/print/294
2004-09-13 22:07
สัมภาษณ์ดร.นเรศ (ไบโอเทค)
ดร.นเรศ ดำรงชัย นักวิจัยจากศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) การเคลื่อนไหวคัดค้านอย่างหนักของภาคประชาชน ทำให้แนวนโยบายจีเอ็มโอที่เปิด "ให้สังคมมีทางเลือก" หรือเปิดให้ทำการค้นคว้าทดลองได้ในสภาพไร่นาและให้มีการนำเข้าพืชและสัตว์จีเอ็มโอได้นั้น มีอันต้องพับเก็บชั่วคราวเพื่อรอให้มีการร่างกฎหมายว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพ (Biosafety Law) รวมทั้งมาตรการประเมินความปลอดภัยด้านต่างๆ ให้เสร็จสิ้นก่อน ถือเป็นความสำเร็จในขั้นต้นของภาคประชาชนที่คัดค้านเรื่องจีเอ็มโอ อย่างไรก็ตาม กฎหมายดูเหมือนจะยังไม่ใช่คำตอบสุดท้าย ที่จะตอบคำถามต่างๆ โดยเฉพาะการควบคุมการปนเปื้อน ในทัศนะของนักวิจัยจากไบโอเทคอย่าง ดร.นเรศ ดำรงชัย ก็เช่นกัน ที่มองว่าการวางแผนบริหารจัดการที่ดีจะเป็นตัวกำหนดให้มีผลเป็นจริงในทางปฏิบัติได้มาก เพราะประสบการณ์ที่ผ่านมาสะท้อนชัดเจนว่า กฎหมายไม่สามารถควบคุมได้ผล กฎหมายอย่างเดียวไม่เพียงพอ "เวลานี้กลุ่มที่ต่อต้านเรียกร้องกฎหมายอย่างเดียวซึ่งไม่พอ เพราะกฎหมายบ้านเรามันอยู่บนกระดาษ โดยคนที่คิดเรื่องกฎหมายจะเป็นคนกลุ่มหนึ่ง อีกกลุ่มคือกลุ่มคนที่ลงมือปฏิบัติ ถ้าเราไม่รวมเอาคนที่ลงมือปฏิบัติมาช่วยกันคิดวิธีการบริหารจัดการให้ดี ต่อให้มีกฎหมายก็ตาม กฎหมายนั้นก็ควบคุมไม่ได้" ดร.นเรศกล่าว ดร.นเรศ ระบุด้วยว่า ประเทศไทยยังไม่มีการเตรียมการบริหารจัดการอย่างเพียงพอ โดยยกกรณีประกาศยกเว้นให้อนุญาตนำเข้า "ถั่วเหลือง" และ "ข้าวโพด" ที่เป็นจีเอ็มโอได้ในพ.ร.บ.กักพืช ฉบับปรับปรุงครั้งที่2 (2542) ทั้งที่ก่อนหน้านี้มันเคยอยู่ใน 40 รายการที่ห้ามมีการนำเข้า "ถามว่าเราทุ่มเทสร้างโครงสร้างพื้นฐานมากพอไหม ห้องแลบพอไหม ทรัพยาการอย่างอื่นพอไหม เหล่านี้มันมีน้อยมาก พอมันเข้ามาจริงก็ตรวจไม่ได้ ถึงเวลาก็ต้องออกมาเป็นประกาศยกเว้น ก็เพราะมันเข้ามาแล้ว ถ้าจะไปห้ามอุตสาหกรรมเราก็อยู่ไม่ได้" เช่นเดียวกับกรณีของฝ้ายบีทีที่มีการหลุดลอดไปสู่ธรรมชาติจนเป็นประเด็นโด่งดังเมื่อปี 2540 ซึ่งก็อยู่ภายใต้พ.ร.บ.กักพืช เพียงแต่มีการขออนุญาตอย่างถูกต้องในการทำการทดลองในระดับไร่นา ซึ่งท้ายที่สุดก็ยังมีการหลุดลอดออกไป ดร.นเรศ กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า การหลุดรอดมีความเป็นไปได้หลายทาง และทางหนึ่งก็คือการลักลอบนำเข้ามาจากประเทศจีนซึ่งมีพื้นที่ปลูกฝ้ายจีเอ็มโอมาก แต่ไม่ว่าจะหลุดรอดโดยวิธีใดก็ผิดกฎหมาย และต้องมีการเอาผิดกับผู้นำเข้าหรือหน่วยงานรัฐ ไม่ใช่เกษตรกร "แต่การเอาผิดกับใครก็ตามมันไม่ได้ช่วยอะไร ไม่ได้ช่วยให้ฝ้ายที่หลุดออกไปกลับมาได้ มันจึงต้องมีการบริหารจัดการและคิดถึงเรื่องนี้อย่างจริงจัง ไม่ว่าประเทศไทยจะอนุญาตหรือไม่อนุญาตเรื่องจีเอ็มโอ" ไม่ฟันธง สารเคมีเพิ่มหรือลด ส่วนประเด็นที่มีการห่วงกันมากคือเรื่องของการใช้สารเคมี ดร.นเรศกล่าวว่า ขณะนี้มีพืชตัดแต่งพันธุกรรมที่ทนต่อยาฆ่าหญ้า แต่ก็จะทนต่อยายี่ห้อเดียวคือราวด์อัพของบริษัทมอนซานโต้ หากมีการแพร่กระจายออกไปปะปนกับพันธุ์พืชสายเดียวกันในสภาพธรรมชาติหรือในป่า ก็คงไม่เกิดปัญหาเพราะเกษตรกรคงไม่นำยาฆ่าหญ้าไปฉีดในป่า และคุณสมบัติทนยาฆ่าหญ้าไม่ได้ทำให้พืชนั้นได้เปรียบในแง่ที่แข็งแรกว่า หรือปรับตัวดีกว่า จึงไม่กระทบต่อการขยายพันธุ์และจะกลมกลืนหายไปในที่สุด "เท่าที่ทราบ ณ วันนี้ การที่ทนต่อยาฆ่าหญ้าแล้วอยู่ในแปลง มันไม่ได้สร้างปัญหาให้กับเกษตรกรที่ปลูกจีเอ็มโอโดยทั่วไป ยังไม่มีกรณีที่ควบคุมไม่ได้ เพราะถ้าเกิดกรณีนี้เขาก็ต้องรีบหามาตรการจัดการแล้วห้ามปลูก และการทนต่อยาฆ่าหญ้าชนิดเดียว ถ้ามันมีปัญหามากก็ใช้ยาฆ่าหญ้าตัวอื่นได้" ส่วนว่าพืชที่ทนยาฆ่าหญ้าช่วยเพิ่มหรือช่วยลดปริมาณการใช้สารเคมีในหมู่เกษตรกรนั้น ดร.นเรศกล่าวว่า ผลการศึกษาวิจัยในต่างประเทศนั้นมีทั้ง 2 ทาง ฝ่ายบริษัทขายยาบอกว่าปริมาณการใช้โดยรวมลดลง เหตุผลก็เพราะเกษตรกรหันไปซื้อยี่ห้อราวด์อัพมาฉีด ทำให้ยี่ห้ออื่นขายไม่ได้ ปริมาณโดยรวมจึงลดลง อีกส่วนหนึ่งระบุว่าปริมาณการใช้ยาฆ่าหญ้าเพิ่มขึ้น นั่นก็เพราะยาฆ่าหญ้าราวด์อัพเป็นยารุ่นใหม่ที่สลายตัวเร็ว อาจมีการฉีดบ่อย แต่ปริมาณการฉีดอาจจะไม่ใช่ปัญหา เพราะเหลือสิ่งตกค้างต่อสิ่งแวดล้อมน้อย "บริษัทถึงกับโฆษณาว่าราวด์อัพเป็นยาฆ่าหญ้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งเราก็ไม่ได้เชื่อเขามาก แต่เราก็รู้ว่ามันถูกปรับปรุงให้ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ปริมาณสารเคมีเพิ่มขึ้นหรือลดลง คำถามนี้ตอบแบบกำปั้นทุบดินไม่ได้ มันขึ้นอยู่กับการระบาด ยาฆ่าหญ้าจะใช้มากถ้าหนอนแมลงระบาด ถ้าไม่ระบาดก็ไม่ต้องใช้ยกเว้นจะฉีดเพื่อป้องกัน" ดร.นเรศให้ข้อมูลเพิ่มเติมด้วยว่า ในต่างประเทศหากเป็นการใช้ยาฆ่าหญ้าแบบเก่า เกษตรการจะใส่ยาลงไปในดินก่อนปลูกพืช เพื่อประกันว่าจะไม่มีวัชพืชขึ้นในแปลงของเขา เพราะหากมีวัชพืชขึ้นแล้ว จะต้องใช้วิธีถอนออกอย่างเดียว ไม่สามารถใส่ยาได้อีกเพราะพืชจะตาย เมื่อมีพืชจีเอ็มโอที่ทนต่อยาฆ่าหญ้า วิธีใช้ยาฆ่าหญ้าก็เปลี่ยนไป โดยจะใส่ก่อนปลูกน้อยลงจาก 10 กิโลกรัม อาจจะเหลือ 3 กิโลกรัม เพราะสามารถใช้ยาฆ่าหญ้าได้เรื่อยๆ โดยไม่ต้องกลัวพืชตาย อย่างไรก็ตาม หากไม่มีการระบาดของวัชพืช เกษตรกรก็ไม่ต้องใช้ยาฆ่าหญ้าเพิ่ม ทำให้ลดปริมาณการใช้ไปได้มาก แต่หากมีการระบาดก็สามารถใส่ได้เรื่อยๆ ซึ่งระบุชัดเจนไม่ได้ว่าแบบไหนจะใช้ปริมาณยาน้อยกว่ากัน เพราะขึ้นต่อปัจจัยของการระบาดของวัชพืชและแมลง "ส่วนข้อสังเกตว่าพอพืชทนต่อยาฆ่าหญ้าแล้ว เกษตรกรจะใส่ยาไม่อั้น เราก็ต้องคิดอีกมุมหนึ่งด้วยว่า เกษตรกรต้องคิดถึงต้นทุนและกำไร ยามันก็ไม่ใช่ถูกๆ ที่จะให้ซื้อมาใส่ไม่อั้น ผมคนหนึ่งที่ไม่เชื่อว่าเกษตรกรจะใส่ไม่อั้น แต่ยอมรับว่าถ้ามีวัชพืชขึ้นมาอีกเขาจะใส่อีก เพราะการไม่มีวัชพืชมันโยงไปถึงการเพิ่มของผลผลิต" เมื่อถามว่าการตัดต่อยีนเพื่อให้พืชสามารถเอาชนะอุปสรรคต่างๆ ได้นั้น อาจเป็นเหตุให้ศัตรูพืชต่างๆ มีการปรับตัวเพื่อจะให้อยู่รอดได้ เป็นการเร่งพัฒนาการของสิ่งมีชีวิตหรือไม่ ดร.นเรศ ตอบว่า อันที่จริงแล้วเทคโนโลยีเกษตรที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันก็ผลักวิวัฒนาการ เช่น การสเปรย์ด้วยยาฆ่าแมลง เราจะพบว่ามันจะมีหนอนแมลงที่รอดตาย ถ้าตัวที่รอดตายกับรอดตายมาผสมกัน มีโอกาสสูงที่ลูกมันจะเป็นแมลงที่ต้านทานยาได้ ผู้ผลิตก็จะผลิตยารุ่นใหม่ออกมาอยู่เรื่อยๆ แต่ประเด็นคือเราอยากจะเลิกยาฉีดพ่น วิธีจีเอ็มโออย่างกรณีของฝ้ายบีที ที่สร้างให้พืชผลิตโปรตีนบีทีที่หนอนกิจเข้าไปแล้วจะตาย จุดประสงค์ไม่ได้ต้องการฆ่า แต่ไม่ต้องการให้แมลงมากิน หากหนอนมากินแล้วตายที่เหลือก็หนีไปที่อื่น ซึ่งก็ต้องมีแปลงที่เป็นเขตกันชนรองรับให้บรรดาหนอนและแมลงมีที่ไป "แต่ถ้าส่งเสริมไปเลยให้เป็นบีทีทั้งหมดก็เป็นวิธีที่ไม่ถูกต้องเพราะหนอนมันไม่มีที่ไป อะไรจะเกิดขึ้นเวลที่หนอนไม่มีที่ไป บางตัวที่กินแล้วไม่ตายมาผสมกัน มีโอกาสสูงที่มีลูกที่ต้านทาน เช่นเดียวกับการใช้ยาฆ่าแมลง เราสเปรย์ยาทั้งพื้นที่ทำให้หนอนไม่มีที่ไป ดังนั้นการใช้ยาจึงเป็นวิธีที่แย่กว่าจีเอ็มโอ" ดร.นเรศ กล่าวเพิ่มเติมว่า เรื่องของแนวกันชน เรื่องระยะห่างระหว่างพืชจีเอ็มโอและพืชปกติ ตลอดจนการโซนนิ่ง หรือการแบ่งเขตพื้นที่ปลูกพืชจีเอ็มโอและพืชปกติอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เป็นระบบการบริหารจัดการที่ยังไม่มีการพูดคุยกันอย่างจริงจัง ซึ่งเป็นเรื่องน่าเป็นห่วง หากวันหนึ่งประเทศจำเป็นต้องปลูกพืชจีเอ็มโอขึ้นมา ไม่ว่าโดยการระบาดหนักของโรคหรือแมลงก็ตาม หนักใจเกษตรอินทรีย์ ในส่วนของเกษตรอินทรีย์นั้น นักวิจัยจากไบโอเทคยอมรับว่าเป็นเรื่องที่ค่อนข้างหนักใจกว่าปกติ เพราะเกษตรอินทรีย์ปฏิเสธจีเอ็มโอในทุกกรณี แม้ในเชิงวิทยาศาสตร์จะเห็นว่าการปลิวมาปนบ้างนิดๆ หน่อยๆ เป็นเรื่องธรรมชาติก็ตาม "มันเป็นเรื่องของค่านิยมของผู้บริโภคที่ต้องการผลผลิตที่ไม่เป็นจีเอ็มโอ ถ้ามีแม้แต่นิดเดียวแม้จะปลอดภัยก็ไม่กิน มันจึงเป็นอีกประเด็นหนึ่งซึ่งวิธีจัดการจะยากกว่ากรณีพืชทั่วไป" ดร.นเรศอธิบายประเด็นการปนเปื้อนในระดับปกติตามธรรมชาติว่า จะไม่ส่งผลกระทบอะไรหากไม่มีการปนเปื้อนมาตั้งแต่บริษัทจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ เพราะส่วนใหญ่เกษตรกรจะซื้อเมล็ดพันธุ์ใหม่ทุกปี นอกจากนี้ยังต้องพิจาณาว่าเป็นการปนเปื้อนในระดับเกสรที่ปลิวมาผสมกัน หรือปลิวมาติดพื้นผิวมะละกอ "ในทางวิทยาศาสตร์ถ้ามันไม่ใช่มะละกอด้วยกัน ไม่ใช่ปัญหาเพราะมันไม่ผสมกัน หรือถ้าเป็นพืชที่ผสมตัวเองก็ไม่ใช่ปัญหา สโคปมันจะเล็กลงๆ เหลือกรณีที่เป็นไปได้อยู่ไม่กี่กรณี และเมื่อผสมแล้วถูกนำไปขยายต่อก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยากถ้าเรามีการจัดการอย่างที่ว่า แต่ถ้าเป็นการขยายพันธุ์โดยเมล็ดอันนี้จะเป็นปัญหา" รายงานโดย : มุทิตา เชื้อชั่ง ศูนย์ข่าวประชาไท
['ข่าว', 'สิ่งแวดล้อม']
https://prachatai.com/print/299
2004-09-14 20:56
กรมวิชาการมั่นใจมะละกอ
เชียงใหม่-14 ก.ย.47 นายประเสริฐ อนุพันธ์ รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตรกล่าวระหว่างการสัมมนาเรื่องเป้าหมาย กลยุทธ์ และผลผลิต ปี 2548 - 2550 โดยสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 1 กล่าวว่า การตัดต่อพันธุกรรมหรือ จีเอ็มโอมะละกอนั้น เป็นงานทดลองในห้องแล็ปมหาวิทยาลัยคอร์แนล สหรัฐอเมริกา แล้วนำไปปลูกในแปลงทดลองวิจัย ที่จังหวัดขอนแก่น ตั้งแต่ปี 2540 เพื่อหาพันธุ์ต้านทานเชื้อใบด่าง และให้ผลผลิตสูง ซึ่งพบว่า มีเพียง 5 ต้นที่ต้านทานโรค และยังอยู่ในสถานีทดลองวิจัยฯ ส่วนขบวนการที่จะนำไปสู่เมล็ดพันธุ์พืชจีเอ็มโอ ต้องใช้เวลาอีกไม่น้อยกว่า 2 ปี ซึ่งทางกรมวิชาการเกษตรก็ได้ศึกษาวิจัยผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ร่วมกับคณะกรรมการอาหารและยาหรือ อย.ควบคู่ไปด้วย ยืนยันว่าไม่มีมะละกอจีเอ็มโอเล็ดลอดออกสู่เกษตรกรหรือผู้บริโภคแน่นอน รายงานโดย : ศูนย์ข่าวประชาไท
['ข่าว', 'สิ่งแวดล้อม']
https://prachatai.com/print/300
2004-09-14 20:58
จีนตั้งเป้าผลิตข้าวเพิ่ม 35 ล.ตัน
สำนักข่าวซินหัวไฟแนนเชียล-เอเชียรายงานว่า จีนตั้งเป้าผลิตข้าวให้ได้ถึง 465 ล้านตันในปีหน้า และ 480 ล้านตันในปี 2549 โดยมีเป้าหมายที่จะพึ่งพาตนเองอย่างเต็มรูปแบบให้ได้ภายในปี 2550 นายจาง ห่งอี้ รัฐมนตรีเกษตรของจีนกล่าวว่า เพื่อให้จีนบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ รัฐบาลจำเป็นต้องปฏิรูปพื้นที่เพาะปลูกที่ให้ผลผลิตต่ำ รวมทั้งส่งเสริมเกษตรกรให้หันมาปลูกข้าวมากขึ้น รวมถึงการมุ่งแผนการเปิดเสรีการค้าในตลาดข้าวในอนาคต เพื่อเปิดโอกาสให้เกษตรหลีกเลี่ยงความเสี่ยงอันอาจจะเกิดขึ้นในยามที่ราคาข้าวผันผวนในตลาดล่วงหน้า ทั้งนี้ที่ผ่านมา การผลิตข้าวของจีนซบเซามาโดยตลอด โดยผลผลิตข้าวเมื่อปีที่แล้วมีปริมาณทั้งสิ้น 430.7 ล้านตัน ลดลง 5.3 % หลังจากที่เคยผลิตได้มากที่สุดเป็นประวัติการณ์ที่ระดับ 99.3 ล้านตันในปี 2539 อย่างไรก็ตาม จีนยังคาดว่าอาจเกิดภาวะขาดแคลนข้าว 25 ล้านตันในปีนี้ เนื่องจากปริมาณความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นได้กดดันให้ปริมาณข้าวสำรองถดถอยลง โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ จีนจำเป็นต้องนำเข้าข้าวถึง 4.1 ล้านตัน หรือมากกว่าปีก่อนหน้านี้ถึง 1.8 เท่า หลังจากที่ปริมาณข้าวในสต็อคปรับตัวลดลงเนื่องจากการเก็บเกี่ยวที่ถดถอยลงตั้งแต่ในปี 2541 รายงานโดย : ศูนย์ข่าวประชาไท
['ข่าว', 'สิ่งแวดล้อม']
https://prachatai.com/print/306
2004-09-14 22:15
โต๊ะครูโต้ทหารค้น 2 ปอเนาะ
ศูนย์ข่าวภาคใต้-14 ก.ย.47 นายอับดุลรอนิง กาหามะ เลขานุการสมาคมโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เปิดเผย "ประชาไท" ว่า ระหว่างการประชุมผู้บริหารโรงเรียนสอนศาสนาอิสลาม และโต๊ะครู เพื่อเตรียมการทัศนะศึกษาที่มาเลเซีย วานนี้ มีการหยิบยกกรณีทหารตรวจค้นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามขึ้นมาหารือ ทั้งนี้ที่ประชุมมีข้อสรุปว่า สมาคมโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และชมรมสถาบันศึกษาปอเนาะจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะออกแถลงการณ์ ในวันที่ 15 ก.ย.นี้ ที่โรงแรมซี.เอส.ปัตตานี เพื่อสอบถามรัฐบาลกรณีทหารจาก ฉก.ปัตตานี เข้าตรวจค้นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม 2 แห่ง ใน อ.ทุ่งยางแดง และปอเนาะ 1 แห่ง ใน อ.ยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 12 ก.ย.ที่ผ่านมาว่า ทำไมโต๊ะครู และครูสอนศาสนา ซึ่งให้ความร่วมมือรัฐบาลแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้มาตลอด จึงได้รับการปฏิบัติเช่นนี้ นายอับดุลรอนิง เปิดเผยอีกว่า จากการตรวจค้นโรงเรียนอิสลามประชานุเคราะห์ ซึ่งเป็นโรงเรียนของตนในวันดังกล่าว เกิดจากความหวาดระแวงของเจ้าหน้าที่ ส่วนข้อกล่าวหาว่า ตนรับเงินจากประเทศซาอุดีอาระเบีย 10 ล้านบาท เพื่อเอาไปให้ผู้ร้ายก่อความไม่สงบในภาคใต้นั้น ไม่เป็นความจริง นายอับดุลรอนิง กล่าวว่า ทั้งนี้เมื่อวันที่ 6 ก.ย. 2547 ที่ผ่านมา ตนเคยขอร้องกับกับ พล.ท.เรวัตร รัตนผ่องใส รองเลขาธิการกองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุข (กอ.สสส.จชต.) 3 ข้อ คือ อย่าออกข่าวว่า มี 22 โรงเรียนพัวพันกับการก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ถ้ามีส่วนจริงขอให้มาพูดกับผู้บริหารโรงเรียนโดยตรง ส่วนข่าวที่ว่าทางการเตรียมจะออกหมายจับครูสอนศาสนา 22 คน ที่พัวพันกับการก่อความไม่สงบนั้น ถ้าผิดจริงให้ดำเนินการจับกุมทันที และการเข้าตรวจค้นไม่ต้องยกกำลังเจ้าหน้าที่ 20 - 30 คันรถไปล้อม เพราะจะทำให้ครูสอนศาสนาและโต๊ะครู สูญเสียความน่าเชื่อถือ ซึ่งทางพล.ท.เรวัตรรับว่า จะนำเข้าพิจารณาในที่ประชุม กอ.สสส.จชต. ในช่วงบ่ายของวันที่ 6 ก.ย. หลังจากนั้นเพียง 6 วัน นายอับดุลอาซิ ยานยา ประธานชมรมสถาบันศึกษาปอเนาะจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า ไม่มีปอเนาะใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รับเงินทุนจากต่างประเทศ ทุกปอเนาะอยู่ได้ด้วยเงินของโต๊ะครู หรือจากชาวบ้านบริจาค ส่วนใหญ่ที่รับเงินต่างประเทศจะเป็นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามมากกว่า เพราะต้องใช้เงินในการบริหารจัดการสูง ด้านพล.ท.เรวัต กล่าวว่า การแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีปัญหาแน่นอน เพราะขาดความร่วมมือจากคนในพื้นที่ รายงานโดย : มูฮำหมัด ดือราแม ศูนย์ข่าวประชาไท
['ข่าว', 'สิ่งแวดล้อม']
https://prachatai.com/print/302
2004-09-14 21:03
อียูกดดันพม่าปล่อยซูจี
14 ก.ย.47 ที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศของสหภาพยุโรป (อียู) ทั้ง 25 ประเทศออกแถลงการณ์วานนี้ โดยยืนยันที่จะเพิ่มมาตรการคว่ำบาตรต่อพม่า หากรัฐบาลพม่าไม่ปรับปรุงการดำเนินการด้านสิทธิมนุษยชนภายในวันที่ 8 ต.ค. ก่อนการประชุมสุดยอดเอเชีย-ยุโรป (อาเซม) เริ่มขึ้นในเวียดนาม ทั้งนี้สหภาพยุโรปเห็นว่า ถ้าพม่าไม่ปล่อยตัวนางซู จี ภายในช่วงเริ่มต้นการประชุมอาเซม และบรรลุข้อเรียกร้องอื่นๆ ที่กำหนดไว้ในเดือนเม.ย. อียูจะเพิ่มมาตรการคว่ำบาตรในการประชุมครั้งถัดไปในวันที่ 11 ต.ค.ศกนี้ แถลงการณ์ยังระบุว่า อียูจะขยายเวลาไม่ออกวีซ่าให้กับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของพม่าให้รวมถึงเจ้าหน้าที่ทหารทั้งหมดที่มียศตั้งแต่นายพลจัตวารวมถึงสมาชิกครอบครัวทั้งหมด นอกจากนี้ ยังรวมถึงการห้ามบริษัทหรือองค์กรที่จดทะเบียนในอียู ไม่ให้ทำธุรกรรมทางการเงิน อาทิ เงินกู้และหุ้น กับทางวิสาหกิจที่รัฐบาลพม่าเป็นเจ้าของด้วย รายงานโดย : ศูนย์ข่าวประชาไท
['ข่าว', 'สิ่งแวดล้อม']
https://prachatai.com/print/303
2004-09-14 21:48
สธ.หวั่นหวัดนกกลายพันธุ์สู่คน
กรุงเทพฯ-14 ก.ย.47 น.พ. จรัล ตฤณวุฒิพงษ์ รักษาการปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยถึง สถานการณ์การแพร่ระบาดของไข้หวัดนกว่า ผู้ป่วยที่อยู่ในข่ายเฝ้าระวังใน จ.ปราจีนบุรีและเขตมีนบุรีทั้งหมด 7 คน ได้ผลพิสูจน์แล้วว่า ไม่ได้ติดเชื้อไข้หวัดนกH5 N1 แต่อย่างใด นอกจากนั้นมีรายงานผู้ป่วยเข้าข่ายเฝ้าระวังใหม่อีก 3 ราย คือ เด็กหญิงอายุ 3 ปี และหญิงอายุ 25 ปี จากอำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี และชายอายุ 19 ปีจาก ลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร แต่ที่น่าเป็นห่วงก็คือในจำนวนนี้มีผู้ป่วยอยู่ในข่ายเฝ้าระวัง 2 คน จาก อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี ที่พบว่า มีเชื้อไข้หวัดใหญ่ในคน H3N2 ซึ่งต้องเฝ้าระวังเป็นกรณีพิเศษ เพราะเกรงว่า อาจจะมีการถ่ายทอดพันธุกรรมของไวรัสข้ามสายพันธุ์ ระหว่างไข้หวัดนกและไข้หวัดในคน กลายเป็นไทยแลนด์ ฟลู (Thailand Flu) ที่สามารถแพร่เชื้อจากคนสู่คนได้ ตามข้อกังวลขององค์การอนามัยโลก(ฮู) รักษาการปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า อย่างไรก็ดีขณะนี้ได้กระจายยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่ไปทุกจังหวัดทั่วประเทศแล้ว และกำชับให้เจ้าหน้าที่ดูแลผู้มีโอกาสสัมผัสไก่เป็นพิเศษ โดยเฉพาะช่วงนี้เป็นฤดูฝน และจะเริ่มเข้าสู่ฤดูหนาว ซึ่งจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสทุกสายพันธุ์ รายงานโดย : ศูนย์ข่าวประชาไท
['ข่าว', 'สิ่งแวดล้อม']
https://prachatai.com/print/304
2004-09-14 21:56
มาเลย์พบหวัดนกนอกพท.คุม
กัวลาลัมเปอร์-14 ก.ย.47 ทางการมาเลเซียตรวจพบการระบาดของไข้หวัดนกในพื้นที่ใหม่ 3 แห่ง ในรัฐกลันตัน โดย 1ใน 3 อยู่นอกเขตกักกันโรครอบหมู่บ้านที่พบการระบาดของเชื้อไวรัสไข้หวัดนกระลอกใหม่ครั้งแรกเมื่อเดือนที่แล้ว การตรวจพบพื้นที่ระบาดครั้งใหม่นี้สร้างความวิตกกังวลแก่เจ้าหน้าที่มาเลเซียอย่างมาก เนื่องจากทางการเคยยืนยันว่า สามารถควบคุมการระบาดให้อยู่ในพื้นที่กักกันโรคได้แล้ว ส่วนพื้นที่ระบาดอีก 2 แห่งอยู่ในหมู่บ้านภายในเขตกักกันที่มีการระบาดของเชื้อไวรัสH 5 N 1 โดยเจ้าหน้าที่ได้นำตัวชายวัย 26 ปี และเด็กหญิงวัย 8 ปี จากหมู่บ้านดังกล่าวเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเพื่อสังเกตอาการแล้ว หลังจากที่บุคคลทั้ง 2 มีอาการคล้ายเป็นไข้หวัด และเคยมีประวัติสัมผัสกับไก่ที่ตายแล้ว ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์มากกว่า 200 รายได้ออกตรวจสอบตลาดสด, ร้านขายสัตว์เลี้ยง หลังจากที่มีการตรวจพบพื้นที่ติดหวัดนกเพิ่มอีก 3 แห่ง ซึ่งเจ้าหน้าที่ของมาเลเซียระบุว่า ไก่ชนที่เป็นพาหะไข้หวัดนกในไทยเป็นตัวนำเชื้อไข้หวัดนกเข้ามาแพร่ระบาดในมาเลเซีย และการลักลอบนำเนื้อไก่เข้าประเทศก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการแพร่ระบาดอีกระลอก รายงานโดย : ศูนย์ข่าวประชาไท
['ข่าว', 'สิ่งแวดล้อม']
https://prachatai.com/print/305
2004-09-14 22:11
ไทยแก้สัญญาก๊าซใต้เลี่ยง take-or-Pay
ประชาไท - 14 ก.ย. 47 ครม.เห็นชอบสัญญาเปลี่ยนวันส่งก๊าซ เลี่ยงจ่าย Take-or-Pay (ไม่ใช้ก็ต้องจ่าย) เจรจายอมลดราคาก๊าซให้แทน นายจักรภพ เพ็ญแข โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเปลี่ยนกำหนดวันเริ่มซื้อขายก๊าซตามสัญญาโครงการท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซีย ใหม่เป็นวันที่ 1 มกราคม 2548 ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ นายจักรภพกล่าวว่า ครม.อนุมัติให้เดินหน้าโครงการต่อไปได้ แต่มีการตกลงกันในเรื่องTake-or-Pay (ไม่ใช้ก็ต้องจ่าย) กับคู่สัญญา โดยไทยมีการลดราคาก๊าซที่ส่งขายแทนการจ่าย Take-or-Pay และตกลงให้ส่วนลดต่างๆ เพิ่มขึ้นจากเดิมที่เคยตกลงไว้กับมาเลเซีย ทั้งนี้ เนื่องจากไทยไม่สามารถก่อสร้างท่อส่งก๊าซธรรมชาติและโรงแยกก๊าซธรรมชาติบริเวณพื้นที่ อ.จะนะ จ.สงขลา เพื่อรับซื้อก๊าซได้ทันตามกำหนดเวลาเดิม คือวันที่ 28 กันยายน 2545 มีผลให้ต้องเสีย Take-or-Pay (ค่าตกลงจะซื้อจะซื้อขาย) ประมาณ 860 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นายจักรภพกล่าวต่อว่า โดยเฉพาะพื้นที่หลุมก๊าซแปลง A-18 ซึ่งก่อนหน้านี้ยังตกลงการแบ่งผลประโยชน์ไม่ได้ ต่อมามีการตกลงการใช้ประโยชน์ร่วมกันคนละครึ่ง ซึ่งทางกระทรวงพลังงานได้เสนอความเห็นชอบในการแก้ไขเพิ่มเติมในสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติแปลง A-18 ระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย กับทางครม. นายจักรภพกล่าวต่อว่า การลงนามในสัญญาดังกล่าวได้ผ่านความเห็นชอบจากสำนักอัยการสูงสุด และหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องการสนับสนุนดำเนินการ ซึ่งทางคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติอนุมัติการแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาซื้อขายก๊าซตามที่กระทรวงพลังงานเสนอความเห็นมา นายจักรภพกล่าวเพิ่มเติมว่า คู่ทำสัญญา ซื้อโดยบริษัทปิโตรนาส ชาริกาลี่และ บริษัท อเมราดาเฮสส์ กับ คู่ทำสัญญาขายโดยบริษัทปตท.จำกัด (มหาชน) และบริษัท ปิโตรนาส พร้อมที่จะรับซื้อก๊าซเพิ่มขึ้นจากผู้ขายทั้งในระยะสองและระยะที่สาม เริ่มซื้อก๊าซ วันที่ 1 มกราคม 2548 ซึ่งมีการตกลงซื้อก๊าซเพิ่มจากเดิมที่กำหนดไว้ในอัตรา 390 ล้านลูกบาศก์ฟุต ต่อวัน เป็นเวลา 20 ปี โดยมีรายละเอียดเพิ่มเติมเป็นสามระยะ คือ ระยะที่ 1 ซื้อก๊าซในอัตรา 390 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เป็นเวลา 20 ปี เริ่มจากวันที่ 1 มกราคม 2548 ระยะที่สองซื้อก๊าซเพิ่มอีก 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันเป็นเวลา 20 ปี เริ่มวันที่ 1 มกราคม 2551 ระยะที่สามเพิ่มอีกในช่วงปี 2553-2555 ในอัตราที่กลุ่มผู้ขายสามารถผลิตได้ ซึ่งในสัญญาได้มีการตกลงจะไม่เรียกร้องภาระมูลค่าก๊าซ Take-or-Pay (ค่าตกลงจะซื้อจะซื้อขาย) จากผู้ซื้อก๊าซธรรมชาติ ทั้งนี้โครงการกำหนดการส่งก๊าซธรรมชาติตามสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติในพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซียแปลง A-18 ได้ดำเนินการก่อสร้างแหล่งผลิตและอุปกรณ์การผลิตก๊าซในทะเลแปลง A-18 เสร็จเรียบร้อยแล้ว พร้อมส่งก๊าซให้ผู้ซื้อตามกำหนด นายจักรภพกล่าว **หมายเหตุ : Take or Pay ข้อผูกพันในการซื้อขายก๊าซซึ่งผู้ซื้อได้ตกลงกับผู้ขายที่จะซื้อและรับก๊าซในปริมาณที่ตกลงไว้ ถ้าผู้ซื้อไม่สามารถรับก๊าซในปริมาณและระยะเวลาที่ตกลงไว้ จะต้องจ่ายมูลค่าก๊าซที่ยังไม่ได้รับไปก่อนแล้วไปรับก๊าซคืนในปีถัดไป รายงานโดย : ศิริรัตน์ อนันต์รัตน์ ศูนย์ข่าวประชาไท
['ข่าว', 'สิ่งแวดล้อม']
https://prachatai.com/print/311
2004-09-14 23:03
ลาวหวังน้ำเทิน 2 พลิกชีวิตประชาชน
โตเกียว-14 ก.ย.47 ธนาคารโลกได้จัดการประชุมเกี่ยวกับโครงการเขื่อนน้ำเทิน 2ขึ้น 4 ครั้งใน 4 ประเทศ คือ ไทย ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และสปป.ลาวตามลำดับเพื่อเป็นข้อมูลในการตัดสินใจว่าจะสนับสนุนโครงการดังกล่าวหรือไม่ การจัดการประชุมที่กรุงโตเกียว ในวันที่ 3 ก.ย. ที่ผ่านมาเป็นการประชุมครั้งที่ 2 โดยธนาคารโลกเป็นเจ้าภาพ มีผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ 100 คน จากภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม วิชาการ และภาคการพัฒนา ร่วมแสดงความเห็น กันในประเด็นการสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังงานน้ำ "น้ำเทิน 2" และจะส่งผลทั้งในด้านการพัฒนาประเทศ และปัญหาที่เกิดจากผลกระทบของโครงการดังกล่าว ตัวแทนจากฝ่ายลาวเปิดการสัมนาด้วยการพรรณนาถึงโอกาสที่เข้ามาลาวและถือเป็นทางเลือกในการพัฒนาเศรษฐกิจของลาว ปัญหาความยากจนเป็นปัญหาที่ลึกซึ้งยาวนานของลาว กว่า 70 เปอร์เซ็นต์ของคนลาวมีรายได้เฉลี่ยต่อวันต่ำกว่า 2 ดอลลาร์สหรัฐ รวมถึงตัวบ่งชี้ทางสังคมอื่น ๆ เป็นต้นว่า ภาวะการตายของทารกแรกเกิด การเข้าถึงการดูแลรักษาสุขภาพ จำนวนคนรู้หนังสือ ซึ่งทั้งหมดเกือบจะอยู่ในระดับต่ำสุดในเอเชียตะวันออก ฯพณฯ สมดี ดวงดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการเงินกล่าวว่า "เราไม่ได้มีทางเลือกมากนัก และไม่มีทางเลือกที่ดีกว่านี้ในการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อลดระดับความยากจน เราพึ่งองค์กรให้ความอนุเคราะห์ค่อนข้างมากซึ่งไม่ควรเป็นเช่นนั้น เราเป็นประเทศ และควรยืนด้วยลำแข้งของตัวเอง กำหนดรายได้ด้วยตัวเอง สร้างแหล่งรายได้ของตนเองและกำหนดทิศทางการพัฒนาของตนเองได้" . ดร.สมบูน มะโนลม ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมและหัตถกรรมซึ่งดูแลด้านพลังงานสะท้อนว่า แม้ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ลาวจะสามาระลดอัตราความยากจนได้ถึง 10% แต่ยังคงเป็นประเทศยากจนโครงการสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าจะช่วยพัฒนาความเป็นอยู่ของประชากรและสิ่งแวดล้อม โครงการนี้จะสร้างรายได้และเพิ่มความสามารถในการลดระดับความยากจนของประชากรลาวอีกทั้งช่วยอุดหนุนการบริการทางสังคม (เช่นด้านสาธารณสุขและการศึกษา) ดร.สมบูน เสนอข้อมูลต่อที่ประชุมว่า คนลาวประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์อยู่ในเขตชนบท 70 เปอร์เซ็นต์ เป็นแรงงานไร้การศึกษาและไม่จบการศึกษาระดับประถม อายุขัยเฉลี่ยของคนลาวเพียง 59 ปีเท่านั้น 1 ใน 10 ของเด็กที่เกิด ตายก่อนอายุ 5 ขวบ และ1 ใน 4 ของผู้ใหญ่ตายก่อนอายุ 40 ปี "เขื่อนน้ำเทิน 2 จะเพิ่มรายได้ให้กับรัฐบาลลาวซึ่งรัฐบาลจะนำไปพัฒนาสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชากรลาวให้ดีขึ้น เราให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรและการพัฒนาอย่างสมดุล เราได้ศึกษาทางเลือกมากมายด้วยความรบคอบอย่างยิ่งและพบว่า โครงการเขื่อนน้ำเทิน 2 เป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด" มิสเตอร์เอียน พอร์เตอร์ ที่ปรึกษารัฐบาลลาวกล่าวว่า การประชุมระดมความเห็นครั้งนี้เพื่อเปิดโอกาสสำหรับความเห็นที่แตกต่างหลากหลาย แต่ต้องวางอยู่บนฐานของการวิเคราะห์วิจัยอย่างมีหลักการ ทั้งกล่าวว่าการแสดงความเห็นไม่ได้อยู่ในขั้นตอนของการศึกษาวิจัย แต่เป็นขั้นตอนสุดท้ายที่จะนำไปสู่การตัดสินใจของธนาคารโลก ซึ่งขณะนี้ธนาคารโลก เอดีบี และสถาบันการเงินระหว่างประเทศ (IFIs)ยังไม่ได้ตัดสินใจ ประเด็นสำคัญที่ผู้เข้าร่วมประชุมชาวญี่ปุ่นหยิบยกขึ้นมาคือ การจัดการรายได้จากเขื่อนน้ำเทิน 2 ซึ่งต้องจัดการอย่างยั่งยืน โปร่งใส ตรวจสอบได้ ขีดความสามารถของรัฐบาลลาวในการจัดการกับโครงการเขื่อนน้ำเทิน 2 และการใช้ปัจจัยทางสังคมและสิ่งแวดล้อมเข้ามามีส่วนในการจัดการ ปัญหาการอพยพของประชากร และปัญหาช่องว่างจากการพัฒนา ผู้เข้าร่วมการประชุมชาวญี่ปุ่นยังได้เรียกร้องต่อคณะที่ปรึกษาโครงการดังกล่าวว่าประชาชนลาวที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนควรได้รับข้อมูลอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ถึงผลกระทบที่ตนจะได้รับ และขอให้รัฐบาลลาวเปิดโอกาสโอกาสให้ชาวบ้านปากมูลของไทยเข้าร่วมประชุมเหมือนครั้งที่จัดประชุมในกรุงเทพฯและเปิดโอกาสให้ชาวบ้านนากายซึ่งเป็นพื้นที่ที่จะสร้างเขื่อนน้ำเทิน 2 ได้เข้าร่วมประชุม และพบปะพูดคุยกับชาวบ้านปากมูลโดยตรง รายงานโดย : พิณผกา งามสม ศูนย์ข่าวประชาไท
['บทความ']
https://prachatai.com/print/309
2004-09-14 22:21
ครม.ไฟเขียว "เอฟทีเอ" นิวซีแลนด์
ประชาไท - 14 ก.ย.47 คณะรัฐมนตรีเห็นชอบท่าทีการเจราจาทำความตกลงการค้าเสรีไทย-นิวซีแลนด์ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ ซึ่งจะมีการเจรจากันในวันที่ 27 - 29 ก.ย.47 ที่ประเทศนิวซีแลนด์ ก่อนจะสรุปผลการเจรจาทั้งหมดกันในเวทีประชุมผู้นำเศรษฐกิจเอเปค ณ ประเทศชิลีในเดือนพฤศจิกายน 2547 ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์จะเป็นหัวหน้าคณะเจราจาร่วมกับหน่วยงานต่างๆ และภาคเอกชน ในกรอบการเปิดตลาดสินค้า บริการ และการลงทุน โดยกำหนดสิทธิและพันธกรณีระหว่างกันทั้งเรื่องพิธีการศุลการกร มาตรการป้องกัน มาตรการสุขอนามัย มาตรฐานสินค้า ทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น ส่วนเรื่องการลดภาษีการค้านั้น กระทรวงพาณิชย์เห็นว่าไม่สามารถนำสินค้านมและผลิตภัณฑ์จากนมออกจากการเจรจา หรือกำหนดระยะเวลาเปิดตลาดนานกว่า 20 ปี ตามที่ผู้ประกอบการโคนมเรียกร้องได้ เพราะจะขัดต่อข้อตกลงภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO) เนื่องจากกนมและผลิตภัณฑ์เป็นสินค้าส่งออกอันดับ 1 ถึงร้อยละ 40 ของนิวซีแลนด์ กระทรวงฯ จึงเสนอให้ลดภาษีภายใน 20 ปี และเปิดโควตาพิเศษให้ปริมาณหนึ่งอย่างน้อยเท่ากับออสเตรเลียหรือมากกว่า สำหรับสินค้า ปกติจะทยอยลดภาษีเหลือ 0 ภายใน 5 ปี เช่น หินแกรนิต หินอ่อน อุตสาหกรรมอาหาร ส่วนสินค้าที่พร้อมจะลดภาษีเป็น 0 ทันที เช่น อุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ ปริโตรเคมีบางรายการ ยานยนต์และชิ้นส่วนบางรายการ ในขณะที่สินค้าที่พร้อมจะลดภาษีเป็น 0 ต่อเมื่อนิวซีแลนด์ลดด้วย (Zero for Zero) ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้า น้ำตาล เฟอร์นิเจอร์ สำหรับสินค้าอ่อนไหวอื่นๆ เช่น นม เนื้อ ไม้อัด เหล็ก ทองแดง นั้นจะให้ระยะเวลา 10-15 ปี เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยมีเวลาปรับตัว ด้านการเปิดตลาดบริการและการลงทุนนั้น จะเปิดอย่างค่อยเป็นค่อยไปเช่นเดียวกับกรณีของออสเตรเลีย ซึ่งกำหนดให้ออสเตรเลียถือหุ้นข้างมากได้ถึงร้อยละ 60 ในธุรกิจที่เป็นการลงทุนทางตรง รายงานโดย : ศูนย์ข่าวประชาไท
['ข่าว', 'สิ่งแวดล้อม']
https://prachatai.com/print/310
2004-09-14 23:00
เกาะติดโครงการเขื่อนน้ำเทิน 2
โครงการเขื่อนน้ำเทิน 2 เป็นโครงการสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่ในประเทศลาวบริเวณป่าอนุรักษ์น้ำเทิน-นากาย ในแขวงคำม่วน มีพื้นที่ประมาณ 400 ตารางกิโลเมตร ดำเนินการโดยบริษัทน้ำเทิน 2 จำกัดซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในประเทศฝรั่งเศส คาดว่าจะผลิตกระแสไฟฟ้าจำนวน 600 เมกกะวัตต์ ต่อวันเพื่อส่งขายให้กับประเทศไทยซึ่งมีการคำนวนความต้องการไฟฟ้าว่าจะสูงขึ้นกว่าตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GDP) โครงการดังกล่าวต้องการการสนับสนุนจากธนาคารโลก และธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB) เพื่อเป็นองค์กรให้หลักประกันกับผู้ลงทุนกับบริษัทน้ำเทิน 2 24 กันยายน ที่จะถึงนี้ จะเป็นครั้งสุดท้ายที่ธนาคารโลกจัดระดมความเห็นเกี่ยวกับโครงการเขื่อนน้ำเทิน 2 ซึ่งจะสร้างในเขตลาวเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าส่งมายังประเทศไทย โดยโครงการดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของธนาคารโลกว่าจะให้การสนับสนุนหรือไม่ การประชุมครั้งสุดท้ายจะจัดขึ้นที่กรุงเวียงจันทร์ โดยรัฐบาลลาวและบริษัทน้ำเทิน 2 จำกัดเป็นเจ้าภาพ การประชุมระดมความเห็นเกิดขึ้นเพื่อรวบรวมข้อมูลและความเห็นเกี่ยวกับโครงการเขื่อนน้ำเทิน ซึ่งธนาคารโลกกำลังอยู่ระหว่างการตัดสินใจสนับสนุนโครงการดังกล่าว ที่ผ่านมาฝ่ายรัฐบาลลาวพยายามนำเสนอผลดีของโครงการน้ำเทิน 2 โดยอธิบายว่าโครงการเขื่อนน้ำเทิน 2 จะเป็นโครงการใหญ่ที่สร้างรายได้ให้กับรัฐบาลลาวอย่างมหาศาล และช่วยให้ลาวสามารถจัดการกับปัญหาความยากจนในประเทศตนเอง ในทางตรงข้าม องค์กรพัฒนาเอกชน (Ngos) ทั้งในประเทศไทยและระดับสากลมีข้อโต้แย้งในประเด็นทรัพยากรธรรมชาติ และชาติพันธุ์ของผู้อาศัยอยู่ในเขตสร้างเขื่อนซึ่งจะได้รับผลกระทบ มีข้อมูลของช้างป่าโขลงใหญ่ และสัตว์ป่าหายากซึ่งแสดงถึงความอุดมสมบูรณ์และหลากหลายของป่าในเขตน้ำเทิน -นากาย การจัดประชุมระดมความเห็นโครงการเขื่อนน้ำเทิน 2 มีกำหนดการทั้งหมด 4 ครั้ง และจัดประชุมผ่านไปแล้ว 3 ครั้ง การประชุมครั้งแรกจัดขึ้นในประเทศไทย เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม ที่ผ่าน ครั้งที่ 2 จัดขึ้นที่โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ในวันที่ 3 กันยายน การประชุมครั้งที่ 3 จัดขึ้น ณ กรุงปารีส ในวันที่ 7กันยายน และล่าสุดคือที่กรุงวอชิงตันดีซี ประเทศสหรัฐอเมริกา ในวันที่ 10 กันยายน โดย 3 ครั้งที่ผ่านมา ธนาคารโลกเป็นเจ้าภาพ "ประชาไท" ได้ติดตามการประชุม ณ กรุงโตเกียว และ วอชิงตัน ดีซี เพื่อรายงานเนื้อหาหลักในการประชุมที่ผ่านมาก่อนจะเข้าสู่โอกาสสุดท้ายของการการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจของธนาคารโลกอย่างเป็นทางการในวันที่ 24 กันยายนนี้ รายงานโดย : พิณผกา งามสม ศูนย์ข่าวประชาไท
['บทความ']
https://prachatai.com/print/315
2004-09-14 23:28
กก.สิทธิฯ ระดมสมองกม.การมีส่วนร่วมฯ
ประชาไท- 14 ก.ย. 47 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติร่วมกับคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดสัมมนารับฟังความคิดเห็นเพื่อจัดทำข้อเสนอในการยกร่างกฎหมายว่าด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยมีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นไปแล้ว 4 ครั้งคือ เชียงใหม่ ขอนแก่น หาดใหญ่ และกทม. โดยแลกเปลี่ยนในประเด็นต่างๆ ซึ่งพิจารณาจากร่างพ.ร.บ.การมีส่วนร่วมของประชาชนฉบับของกฤษฎีกา นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง สว.กทม. กล่าวว่าหลักการกว้างๆ ของการมีส่วนร่วมของประชาชนนั้น ต้องมีในทุกส่วนไม่ใช่แค่การเลือกตั้งเหมือนที่คนทั่วไปเข้าใจ และต้องคิดวิธีการที่มากกว่าการทำประชาพิจารณ์ด้วย เนื่องจากการจัดสัมมนารับฟังความคิดเห็นของคณะกรรมการสิทธิ์ฯยังเน้น เฉพาะการทำประชาพิจารณ์ "วัฒนธรรมแห่งอำนาจของไทยมองประชาชนไม่เท่ากัน เพราะยังมองว่าประชาชนไม่รู้เรื่อง ไม่มีข้อมูลจึงมีส่วนร่วมไม่ได้ แต่ไม่พยายามให้ข้อมูลและไม่เปิดโอกาสให้ การจัดทำกฎหมายจึงสามารถช่วยได้เพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น" นายเจิมศักดิ์ กล่าว นางรัชฎาภรณ์ แก้วสนิท คณะทำงานเครือข่ายผู้หญิงกับรัฐธรรมนูญ กล่าวว่าสิ่งสำคัญคือการสร้างความเข้าใจในการมีส่วนร่วมของประชาชนว่าเป็นยุทธศาสตร์หรือเป็นแค่เพียงวิธีการ ควรมีการฝึกอบรมรณรงค์ส่วนราชการในเรื่องแนวคิดการเคารพประชาชนภายใน 2 ปีเพราะถือว่าเป็นประเด็นเร่งด่วน นอกจากนี้เสนอให้ยกเลิกมาตรา 14 ในร่างพ.ร.บ.ฯฉบับกฤษฎีกาเนื่องจากมีการกำหนดว่าหากเป็นเรื่องเร่งด่วนให้อำนาจรัฐบาลตัดสินใจได้เลย ซึ่งอาจจะเป็นช่องทางในการอ้างเพื่อดำเนินโครงการได้และเป็นการให้อำนาจกับรัฐบาลที่ไม่เคยมีมาก่อนจึงไม่ควรมีข้อยกเว้นไว้ นายจรวย เพชรรัตน์ จากจังหวัดสงขลา กล่าวว่าการตัดสินใจที่ผ่านมาของภาครัฐมักจะละเลยประเด็นทางสังคม ดังนั้นจึงอยากให้มีการส่งเสริมในเรื่องข้อมูล เช่น การทำวิจัย เนื่องจากประสบการณ์จากการทำประชาพิจารณ์จะมีการนำผลการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม(EIA)มาพิจารณาแต่ก็พบกับความล้มเหลวมาโดยตลอด เพราะเจ้าของโครงการสามารถบีบบังคับให้ผลการศึกษาเป็นไปในแนวทางที่ต้องการ ดังนั้นการโต้แย้งจึงควรมีข้อมูลทั้ง 2 ฝ่าย จึงควรมีกองทุนในการสนับสนุนให้มีนักวิชาการและชาวบ้านในการทำข้อมูลออกมาโต้แย้งกันอย่างสมดุล รายงานโดย : ปิ่นแก้ว อุ่นแก้ว ศูนย์ข่าวประชาไท
['ข่าว', 'สิ่งแวดล้อม']
https://prachatai.com/print/312
2004-09-14 23:17
จี้รัฐทำลายทิ้งมะละกอจีเอ็มโอ
ประชาไท - 14 ก.ย.47 พันธมิตรเครือข่ายเกษตรกร-ผู้บริโภค ฟันธงมะละกอจีเอ็มโอกระจายไปสู่แปลงเกษตรกรมากกว่าที่ทางการเปิดข้อมูล ไบโอไทยออกแถลงการณ์เรียกร้องให้เร่งทำลายมะละกอในแปลงทดลองรัฐ-เกษตรกรที่รับพันธุ์ท่าพระไปปลูก "เชื่อว่าข้อมูลการแพร่ระบาดของกระทรวงเกษตรฯ ที่พบเพียง 1 ตัวอย่างจากการตรวจ 239 ตัวอย่างนั้น ต่ำกว่าความเป็นจริง เพราะกรีนพีซสุ่มตรวจ 3 ตัวอย่างพบ 1 ตัวอย่าง คณะกรรมการสิทธิฯ ตรวจ 15 ตัวอย่างพบ 1 ตัวอย่าง" นายวิฑูรย เลี่ยนจำรูญ ผอ.องค์กรความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาไทย (ไบโอไทย) กล่าว น.ส.สายรุ้ง ทองปลอน ผู้จัดการสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคระบุว่า จากข้อมูลของเครือข่ายเกษตรกรซึ่งสนใจเข้าร่วมโครงการตรวจสอบและติดตามการแพร่ระบาดของมะละกอจีเอ็มโอ พบว่า มีเกษตรกรหลายพื้นที่สนใจที่จะเข้าร่วมโครงการฯ เพราะสงสัยว่า เมล็ดพันธุ์มะละกอที่ตนเองได้รับจากสถานีวิจัยพืชในจังหวัดตนนั้น อาทิ ฉะเชิงเทรา ราชบุรี สกลนคร มาจากสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตพื้นที่ 3 อ.ท่าพระ จ.ขอนแก่น โดยศูนย์ฯ ขอนแก่นเป็นผู้กระจายเมล็ดพันธุ์ผ่านมายังสถานีวิจัยในจังหวัดอื่นๆ อีกที นายวิฑูรย์ กล่าวว่า หากจะตรวจสอบการแพร่กระจายอย่างแท้จริงจะต้องตรวจมะละกอทุกต้นในแปลงต้องสงสัย ซึ่งสิ้นเปลืองงบประมาณมหาศาล เพราะค่าตรวจในห้องปฏิบัติการสูงถึง 1,600 บาท/ตัวอย่าง ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดคือ เร่งทำลายมะละกอในแปลงของเกษตรกรทั้ง 2,600 รายแล้วจ่ายค่าชดเชย โดยพิจารณาบนฐานของผลผลิตเดิมที่เกษตรเคยได้รับ นอกจากนี้ผอ.ไบโอไทยยังเรียกร้องให้มีการทำลายมะละกอจีเอ็มโอที่ทดลองปลูกในแปลงทดลองของภาครัฐ 2 แห่งคือ สถานีวิจัยพืชสวนขอนแก่น และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน "ที่ผ่านมามีการบิดเบือนข้อมูล โดยบอกว่าการทดลองแบบแปลงเปิดนั้นเป็นการทดลองที่มีการควบคุมภายในสถานีไม่ใช่ในสภาพไร่นา แต่หลักการโดยทั่วไปทราบกันดีว่า สภาพไร่นาหมายถึงสภาพแปลงแบบเปิด ไม่ว่าจะอยู่ในสถานีวิจัยหรือไร่นาของเกษตรกรก็ตาม" นายวิฑูรย์กล่าว เร่งตรวจจีเอ็มโอทั่วปท. ส่วนความคืบหน้าโครงการตรวจสอบการแพร่กระจายของมะละกอจีเอ็มโอขององค์กรภาคประชาสังคมกว่า 450 องค์กรทั่วประเทศนั้น นายวิฑูรย์กล่าวว่า ขณะนี้มีการทยอยส่งตัวอย่างมาจาก 7 จังหวัดนำร่อง คือ น่าน สกลนคร อุบลราชธานี ขอนแก่น ฉะเชิงเทรา ราชบุรี และชุมพรบ้างแล้ว โดยกำหนดพื้นที่ละ 5 ตัวอย่างและจะมีการรวบรวมส่งตรวจในห้องปฏิบัติการภายในวันศุกร์นี้ (17 ก.ย.) "ตอนนี้เจ้าหน้าที่หลายคนอยู่ในภาคสนามเพื่อประเมินข้อมูลก่อนว่าเกษตรกรในพื้นที่ต่างๆ คนใดบ้างที่รับพันธุ์มะละกอจากศูนย์วิจัยท่าพระ แล้วส่งมาทั้งหมด 35 ตัวอย่างใน 7 พื้นที่ ซึ่งเราต้องลงขันจ่ายค่าตรวจในห้องปฏิบัติการกันเอง และหากพบว่ามีการปนเปื้อนของมะละกอจีเอ็มโออาจจะมีการเรียกร้องค่าตรวจคืนจากกระทรวงเกษตรฯ" ผอ.ไบโอไทยกล่าวและว่า การทำลายมะละกอจำนวน 2,600 แปลงนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อการผลิตมะละกอและการส่งออกโดยรวม รายงานโดย : มุทิตา เชื้อชั่ง ศูนย์ข่าวประชาไท
['ข่าว', 'สิ่งแวดล้อม']
https://prachatai.com/print/313
2004-09-14 23:19
พบมะละกอจีเอ็มโอที่ขอนแก่น
กรุงเทพฯ-14 ก.ย.47 นายบรรพต หงษ์ทอง ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า มะละกอที่ปนเปื้อนจีเอ็มโอที่ จ.ขอนแก่นเป็น 1 ใน 600 ตัวอย่างที่ทางการได้สุ่มตรวจจากแปลงของเกษตรกรในกลุ่มที่ได้รับแจกเมล็ดพันธุ์มะละกอแขกดำท่าพระ ซึ่งขณะนี้ตรวจไปได้ 263 ตัวอย่าง ก่อนหน้านี้นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.เกษตรและสหกรณ์ให้สัมภาษณ์ยอมรับว่า พบการมะละกอจีเอ็มโอจากตัวอย่างที่เก็บจากไร่ของนางสมร นาคคง เกษตรกรบ้านหนองโข่ย ตำบลท่าพระ จ.ขอนแก่น มะละกอจีเอ็มโอที่พบในไร่ของนางสมรนั้น เป็นคนละแปลงกับที่กลุ่มกรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และกรรมการสิทธิฯ เข้าไปเก็บตัวอย่างมาตรวจ ทั้งนี้กรมวิชาการเกษตรจะเก็บตัวอย่างในแปลงดังกล่าวเพิ่มอีก 150 ตัวอย่าง เพื่อนำมาตรวจสอบอย่างละเอียดเพื่อหาดีเอ็นเอว่า เป็นพันธุ์มะละกอแขกดำท่าพระ หรือเป็นพันธุ์แขกนวล นอกจากนั้นกรมวิชาการเกษตรจะทำลายมะละกอในแปลงปลูกทั้งหมด พร้อมทั้งประกาศเขตควบคุมกักกันพืชในรัศมี 450 เมตรรองแปลงเพาะปลูกที่ตรวจพบ เพื่อควบคุมไม่ให้เมล็ดพันธุ์ดังกล่าวแพร่กระจายออกไป สำหรับนางสมรเจ้าของแปลงดังกล่าว กล่าวยืนยันว่า ได้รับเมล็ดพันธุ์จาก สำนักงานวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขต 3 ขอนแก่น อย่างไรก็ดีนายสมรจะถูกดำเนินคดีหรือไม่ ก็ต้องพิสูจน์ข้อเท็จจริงว่ารู้เห็นกับการปลูกมะละกอจีเอ็มโอนี้หรือไม่ นายบรรพต กล่าวอีกว่า การตรวจพบการปนเปื้อนครั้งนี้ ไม่น่ากระทบต่อการส่งออก เพราะประเทศคู่ค้าได้เข้าใจในกระบวนการทำงานของรัฐบาลว่า ไม่ได้สนับสนุนให้มีการใช้มะละกอจีเอ็มโอเกิดขึ้น นายฉกรรจ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ในเบื้องต้นกระทรวงฯ ได้แต่งตั้งนายสมคิด ดิษฐ์สถาพร ผู้เชี่ยวชาญระดับ 10 ของกรมวิชาการเกษตร เป็นประธานคณะกรรมการตรวจสอบสาเหตุการปนเปื้อนของมะละกอจีเอ็มโอแล้ว โดยมุ่งเน้นในด้านวิชาการ และด้านกฎหมายตามพระราชบัญญัติกักพืช รายงานโดย : ศูนย์ข่าวประชาไท
['ข่าว', 'สิ่งแวดล้อม']
https://prachatai.com/print/314
2004-09-14 23:20
ส่งออกพอใจรัฐไม่ปิดผลจีเอ็มโอ
ประชาไท - 14 ก.ย.47 นายวัลลภ พิชญ์พงศ์ศา กรรมการบริษัทท็อบออแกนิกโปรดักส์แอนซัพพลาย กล่าวถึงผลการตรวจพบมะละกอจีเอ็มโอในแปลงเกษตรของกระทรวงเกษตรฯ ว่า การที่ภาครัฐไม่ปิดบังความจริงเป็นเรื่องที่ดี จะได้หามาตรการแก้ไขได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว ซึ่งหากให้ผู้ซื้อตรวจพบเองที่ปลายทางจะได้รับผลกระทบรุนแรงกว่ามาก ส่วนผลกระทบที่ชัดเจนต่อผู้ส่งออกเกษตรอินทรีย์นั้น นายวัลลภกล่าวว่า คงต้องรอดูปฏิกิริยาจากลูกค้าอีกครั้งหลังจากนี้ อย่างไรก็ตาม หลังจากเกิดความเคลือบแคลงสงสัยในการดำเนินนโยบายชีวภาพของไทย ผู้นำเข้าสินค้าก็มีความไม่มั่นใจอยู่แล้ว "ตอนนี้ลูกค้าก็เริ่มระวังและเรียกร้องการรับประกันที่เข้มงวด ลามไปถึงพืชอื่นที่ไม่มีการทำจีเอ็มโออย่างสำปะรังด้วย ซึ่งผู้ส่งออกจะต้องเป็นผู้แบกรับภาระในการส่งตรวจที่ห้องปฏิบัติการ ทั้งที่ก่อนหน้าที่มีเพียงใบรับรองจากกรมวิชาการเกษตรก็ได้" นายวัลลภกล่าว รายงานโดย : มุทิตา เชื้อชั่ง ศูนย์ข่าวประชาไท
['ข่าว', 'สิ่งแวดล้อม']
https://prachatai.com/print/317
2004-09-15 21:57
คนลาวพลัดถิ่นประณามน้ำเทิน-2 ทำลายม้ง
ประชาไท -- 15 ก.ย. 2547 การประชุมระดมความเห็นโครงการเขื่อนน้ำเทิน 2 ที่วอชิงตัน เมื่อ 10 ก.ย.ที่ผ่านมา กลายเป็นประเด็นร้อนเมื่อ รัฐบาลลาวถูกคนลาวในสหรัฐฯ ประณามว่า กำลัง "ทำลายล้างเผ่าพันธุ์ชนกลุ่มน้อย" ขณะที่ธนาคารโลกถูกต่อว่าเหตุเพิกเฉย ความรุนแรงในลาว PRWEB (http://www.prweb.com)สื่ออินเตอร์เน็ตต่างประเทศรายงานการประชุมระดมความเห็นเกี่ยวกับโครงการน้ำเทิน 2 รอบที่ 3 ณ กรุงวอชิงตันดีซี ในวันที่ 10 กันยายน 2547ซึ่งธนาคารโลกและรัฐบาลลาวเป็นเจ้าภาพ ว่า เต็มไปด้วยอคติ ตัดสินใจโดยข้อมูลที่มีช่องโหว่มากมาย และโครงการน้ำเทิน 2 จะส่งผลกระทบต่อชีวิตของชนเผ่าที่อาศัยอยู่ในพื้นที่สร้างเขื่อน การประชุมดังกล่าวได้รับความสนใจจากชาวลาวและชาวม้งซึ่งลี้ภัย และอพยพไปตั้งรกรากอยู่ในสหรัฐอเมริกา และได้รวมตัวกันเป็นองค์กรต่าง ๆ เข้าร่วมประชุมและแสดงความเห็น รายงานข่าวเสนอว่าที่ประชุมมีการเสนอประเด็นรัฐมนตรีกระทรวงป้องกันประเทศของลาวเดินทางออกมาซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์สำหรับกองทัพลาวเป็นจำนวนหลายล้านดอลลาร์ซึ่งอาวุธเหล่านี้อาจถูกนำไปใช้กับชนเผ่า ชาวเขา ซึ่งเป็นคนกลุ่มน้อยของประเทศลาว ขณะที่ธนาคารโลกกลับมีแนวโน้มที่จะให้การสนับสนุนโครงการเขื่อนน้ำเทิน 2 นายเซ็ง ซีออง คณะกรรมการม้งปฏิวัติ ซึ่งเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ได้กล่าวประณามธนาคารโลกซึ่งเพิกเฉยต่อกรณีรัฐบาลลาวใช้กำลังทหารฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ดร. กายสิทธิ์ รัตนวงกต ประธานสมาคมชาวลาว กรุงวอชิงตัน ดีซี ซึ่งต่อต้านเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าชาวม้ง กล่าวว่า ทำไมธนาคารโลกและ กองกำลังปเทดลาว* จึงไม่เชิญ กลุ่มชาวลาวหรือกลุ่มสิทธิมนุษยชนชาวม้งเข้าร่วมประชุม ถ้าเห็นว่าประชาสังคมหรือประชาธิปไตยสำคัญต่อการประชุมโครงการน้ำเทิน 2 ที่กรุงวอชิงตัน จริง ๆ พร้อมตั้งคำถามถึงความปลอดภัยของคนที่จะได้รับผลกระทบหรือฝ่ายที่อยู่ตรงข้ามกับรัฐบาลซึ่งต้องเผชิญหน้ากับรัฐบาลของตนเองในสถานการณ์จริง ด้านนาย กัมพัว เนาวะรังสี ผู้อำนวยการสถาบันลาวเพื่อประชาธิปไตยแสดงความเห็นว่า "รัฐบาลลาวนั้นขึ้นชื่อเรื่องการคอร์รัปชั่น และการใช้ความรุนแรง การใช้กำลังกับชาวลาว และชาวม้งเป็นข้อมูลที่แสดงความยากแค้นของลาวอย่างแท้จริงซึ่งเห็นได้ชัดว่าธนาคารโลกไม่แยแสประเด็นดังกล่าว" ----------------------------------------------------------------------------- * กองกำลังปเทดลาว เป็นชื่อเรียกกองกำลังลาวฝ่ายซ้ายในสมัยที่การเมืองภายในประเทศลาวแตกออกเป็น 3 ขั้ว คือฝ่ายขวา ฝ่ายซ้าย และฝ่ายเป็นกลาง ในภายหลังกองทัพฝ่ายซ้ายเป็นฝ่ายชนะและประเทศลาวได้เปลี่ยนการปกครองเป็นระบอบสังคมนิยม ส่งผลให้ประชาชนจำนวนมากหลบหนีออกนอกประเทศ และกองกำลังฝ่ายขวาต้องลี้ภัยการเมืองไปยังประเทศที่สาม เช่นสหรัฐอเมริกา ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง กองกำลังปเทดลาว ได้สลายตัวไป แต่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดอีกในการประชุมครั้งนี้ รายงานโดย : พิณผกา งามสม ศูนย์ข่าวประชาไท
['บทความ']
https://prachatai.com/print/316
2004-09-15 19:03
"โรคคณาธิปไตย" กับธรรมศาสตร์และการเมือง เรื่อง "ศึก" แย่งชิงพื้นที่"
ผมได้รับอีเมล์จากธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์เรื่องการที่ "อดีต นรม." และ "ปัจจุบันหัวหน้าพรรคการเมือง" หนึ่ง ถูกเอา "ออก" จากกรรมการสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมีการ "โหวตเข้า" เอา "รอง นรม. และ รมต." จากอีกพรรคการเมืองหนึ่ง กับ "อดีตอธิการฯ" เข้ามาแทน และที่น่าตกใจก็คือนักการศึกษาและผู้ทรงคุณวุฒิ ที่มี "คุณสมบัติ" อย่างอาจารย์อัมมาร์ และ อาจารย์ชัยอนันต์ ถูก "สกรีนออก" ไปตั้งแต่รอบแรก ๆ แล้ว ตอบไม่ถูกว่ามีความรู้สึกอย่างไร แต่ใจหายเมื่อนึกถึงสถาบันการศึกษาชั้นสูงอย่างธรรมศาสตร์ของเรา สภามหาวิทยาลัยเป็นองค์กรสูงสุด จะต้องเป็น "หลัก" ของการศึกษาของมหาวิทยาลัยและของชาติ เป็นที่พึ่งของคณาจารย์ นักศึกษา และประชาชนทั่ว ๆ ไป แต่สภามหาวิทยาลัยกลับกลายเป็น "เขตอิทธิพล" ของคนกลุ่มหนึ่ง ของนักการเมือง และของบางพรรค (การเมือง) บางพวก (การเมือง) สภามหาวิทยาลัยกลายเป็น "ฐานที่มั่น" ของกลุ่ม "คณาธิปไตย" ที่ "คนใน" ลาก "คนนอก" เข้ามาประสานผลประโยชน์ ปฏิบัติการเล่นพรรคเล่นพวก มี "ระบบอุปถัมภ์" เป็นที่น่าวิตกยิ่ง ทุกครั้งที่จะมีการเลือก "นายกสภาฯ หรือ กก.สภาฯ หรืออธิการบดี หรือคณบดี และแม้กระทั่งผอ." ก็ "วิ่ง" กันฝุ่นตลบ เป็นที่อิดหนาระอาใจ และน่ารังเกียจของคนจำนวนไม่น้อย ในเดือนสองเดือนข้างหน้า ก็จะหนีไม่พ้น "เกมการเมือง" นี้อีก คือการเลือก "อธิการบดีคนใหม่" ของธรรมศาสตร์ สรุปแล้ว เรา "หนี เสือปะจระเข้" เราหนีจากพรรคการเมืองหนึ่ง แต่กลับมาเจออีกพรรคฯ หนึ่ง อันที่จริงการที่คนของพรรคฯ หนึ่งถูก "โหวตออก" ไม่ได้ต่ออายุก็ "สมควร" อยู่ เพราะเป็นกันมานานนับปี และก็เข้ามาเป็น "มากเกินพอ" บางรายเป็นกรรมการมากว่า 30 ปีก็มี ยืดเยื้อยาวนาน ไม่มีวาระ ไม่มีเทอม นี่คือ "ความล้มเหลว" ที่สุดของธรรมศาสตร์ ที่องค์กร "สูงสุด" ขาดหลักประชาธิปไตย ขาดความโปร่งใส ขาดการมีส่วนร่วม และตรวจสอบไม่ได้ เกิด "คณาธิปไตย" ในท่าพระจันทร์ ประสานผลประโยชน์กันทั้งจาก "คนใน" และ "คนนอก" และเกิด "การเมืองไม่ดี" ขึ้น ขัดกับ "จิตวิญญาณ" ดั้งเดิม "มอญดูดาว" ที่ว่า "ไทยจะเฟื่อง ไทยจะรุ่งเรื่อง ก็เพราะการเมืองดี" โดยสิ้นเชิง ว่าไปแล้ว 'สภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์' นั้น มีผู้ทรงคุณวุฒิระดับ "ชาติ" มากมายอย่างที่ทราบกัน มีทั้ง "อดีต" และ "อนาคต" ผู้นำของชาติที่เป็นทั้ง 'คนในคนนอก' (ที่ทั้งเคยได้เป็นและมีสิทธิ์จะ เป็น ถึง รมต. และ นรม.) ท่านเหล่านี้น่าจะเป็นที่พึ่ง เป็นความหวัง เป็นทางออก แต่ทว่าน่าเสียดายที่ท่านเหล่านี้ ถ้าไม่เข้ามาด้วยระบบ "พรรคพวก" แม้จะมีความบริสุทธิ์ใจในการทำงานให้มหาวิทยาลัย ก็เข้าข่าย 'วังวน' ของความไม่รู้ (เท่าทัน) ความไม่เข้าใจ (กลไก) ความไม่มีเวลา (พอ) ที่จะให้กับธรรมศาสตร์และการศึกษาของชาติ บางท่านมีชื่อเสียงมากเสียจนกระทั่งเป็นกรรมการสภาฯ ในหลาย ๆ มหาวิทยาลัย ถึงเกือบ 10 แห่งก็มี ในงานวิจัยหนึ่ง กล่าวว่า กก. รายหนึ่งของสภาฯ ธรรมศาสตร์นั้น ดำรงตำแหน่งในสภาฯ ในองค์กร และในมูลนิธิฯต่างๆ ถึง 600 กว่า จากการที่สภามหาวิทยาลัยต้องประชุมเป็นประจำทุกเดือน ปีหนึ่งประชุม 12 ครั้ง รายใดเป็นกรรมการแม้เกิน 5มหาวิทยาลัย ก็คงหาเวลาว่างไปประชุมไม่ได้ (เพราะตกเข้าไปตั้ง 60 ครั้งต่อปีเสียแล้ว คือ 12 คูณด้วย 5 แห่ง เท่ากับ 60) แถมยังต้องเดินทางไปประชุมสภามหาวิทยาลัยใน ต่างจังหวัด บางทีต้องค้างคืน รวมแล้วถ้าจะปฏิบัติหน้าที่ให้เต็มภาคภูมิ ก็ต้องใช้เวลาทั้งหมดเกือบ 1 ใน 3 หรือเกือบๆ 100 วันต่อปี ซึ่งน่าจะเกินความสามารถของมนุษย์ธรรมดา ดังนั้น ในรายงานการประชุมของสภามหาวิทยาลัย (ทั้งในพระนครและต่างจังหวัด) เราจะพบข้อความที่ว่า 'ติดราชการ' ไม่สามารถเข้าร่วมประชุมได้เสมอ ๆ ที่ร้ายกาจและรุนแรงยิ่งกว่านั้น คือ กลายเป็นเรื่อง "ปกติธรรมดา" เสียแล้วที่บรรดากรรมการสภาฯ ที่ "งานยุ่งงานเยอะ" จะไม่อ่านเอกสาร ไม่อ่านรายงานการประชุม ไม่เตรียมตัวก่อนเข้าห้องประชุม แถมบางครั้ง หาได้พิจารณา "คุณสมบัติ" ของคนที่ถูก "เสนอชื่อ" หรือแคนดิเดทไม่ แม้แต่เรื่องใน "วาระ" ที่ตนจะต้องตัดสิน เรื่องสำคัญคอขาดบาดตายที่ต้องโหวต "นายกสภาฯ หรือกรรมการสภาฯ หรืออธิการบดี หรือคณบดี หรือแม้แต่ ผอ." ก็เข้าทำนองนี้ การ "โหวต" กลายเป็นเรื่องของการวิ่งเต้น กระซิบ และก็ถือ "โพย" ชื่อของ "พรรคพวกเพื่อนฝูง" หรือ "ท่านขอมา" ตั้งแต่ก่อนออกจากบ้านด้วยซ้ำ บ่อยครั้ง ซ้ำแล้วซ้ำอีก ธรรมศาสตร์ จึงได้ "นายกสภาฯ หรือกรรมการสภาฯ หรืออธิการบดี หรือคณบดี หรือแม้แต่ ผอ." ที่เป็น "พรรคพวก" และ "เพื่อนฝูง" ของ 'คณาธิปไตย" ท่าพระจันทร์ ทั้ง ๆ ที่บุคคลเหล่านั้นขาดความรู้ความสามารถทางวิชาการ ขาดความเข้าใจและขาดประสบการณ์ในการบริหารวิชาการและการศึกษา กลุ่ม "คณาธิปไตย" ท่าพระจันทร์ดังกล่าวอาศัย ความไม่รู้ (เท่าทัน) ความไม่เข้าใจ (กลไก) ความไม่มีเวลา (พอ) และความเบื่อหน่ายของกรรมการบางท่านและของประชาคมธรรมศาสตร์ ดำเนินการบริหารจัดการไปในทิศทางตามอำเภอใจของตน พร้อมทั้งยัง "จัดสรรแบ่งปันตำแหน่ง" ให้กันและกันมาหลายปีดีดัก มติของสภามหาวิทยาลัยที่ถือ "โพย" มาแต่บ้าน ไม่คำนึงถึง "เสียง" และความต้องการของ "ประชาคม" ส่วนใหญ่ และบ้างก็ไม่รู้ (เท่าทัน) ไม่เข้าใจ (กลไก) ไม่มีเวลา (พอ) ที่มีครั้งแล้วครั้งเล่าในทำนองนี้ ได้สร้าง "ความแตกแยกร้าวฉาน" ขึ้นภายในธรรมศาสตร์อย่างไม่เคยมีมาก่อน "คณาธิปไตย" ท่าพระจันทร์ ทำให้ธรรมศาสตร์ขาดความร่วมมือร่วมใจในการทำงาน "วิชาการ" และนี่เป็นสถานการณ์ "ร้ายแรงที่สุด" ในปัจจุบัน นี่เป็นปัญหาของธรรมศาสตร์และการศึกษาของชาติ และก็น่าเชื่อว่าพิษร้าย หรือ "โรคคณาธิปไตย" นี้ ได้แพร่หลายไปสู่มหาวิทยาลัยต่าง ๆ รวมทั้งมหาวิทยาลัยที่เกิดขึ้นใหม่หลายแห่ง หากไม่มีการแก้ไขมหาวิทยาลัยและการศึกษาของเราก็จะตกต่ำลงไปยิ่งกว่านี้ แทนที่ธรรมศาสตร์และหรือมหาวิทยาลัยโดยทั่ว ๆ ไป จะเป็น "สถาบันของการศึกษา เพื่อการศึกษา โดยนักการศึกษา" เราจะเป็นเพียง "ฐานที่มั่นของกลุ่มคน หรือไม่ก็พรรคการเมืองและนักการเมือง กลายเป็นแหล่งของผลประโยชน์ของ "คณาธิปไตย" ของพรรคพวกเพื่อนฝูงเพียงหยิบมือเดียวที่ "คนใน (ลาก) คนนอก เข้ามาผสม ทำการหมุนเวียนเปลี่ยนกันตักตวงผลประโยชน์" สิ่งที่เราน่าจะต้องทำ และผลักดัน "เฉพาะหน้า" ในการขจัด "คณาธิปไตย" ในเวลานี้ให้จงได้ คือ 5 ประการ ดังต่อไปนี้ 1. ปฏิวัติสภามหาวิทยาลัยให้มี "ประชาธิปไตย การมีส่วนร่วมของประชาคม มีความโปร่งใส" มี "การเมืองดี" แทน "คณาธิปไตย ระบบอุปถัมภ์ การเล่นพรรคเล่นพวก" แทนการ "ท๊อปดาวน์" แทน "การแอบ" และแทน "การเมืองไม่ดี" 2. ปฏิรูปสภามหาวิทยาลัย ให้กลายเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่ "นโยบาย" อย่างแท้จริง ตามแบบของนานาอารยะ ที่ มีการประชุมสภาฯ เพียงปีละอย่างน้อย 2 ครั้ง แทนการ "บริหาร" ประจำที่ประชุมปีละถึง 12 ครั้ง หรือทุกเดือน ๆ 3. ห้ามนักการเมืองเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัย และห้ามนายกสภาฯ กรรมการสภาฯอธิการบดี รองอธิการ คณบดี และ ผอ. เป็นฝักเป็นฝ่ายกับนักการเมืองและพรรคการเมือง 4. กำหนดโควต้าและวาระสำหรับการดำรงตำแหน่งนายกสภาฯ กรรมการสภาฯ อธิการบดี รองอธิการบดี คณบดี และ ผอ. ห้ามสืบทอดอำนาจ หรือ "เวียนเทียน" ตำแหน่งเป็นอธิการบดีแล้วโยกย้ายไปเป็น นายกสภาฯ หรือโยกย้าย เป็น ผอ. เป็นคณบดี เป็นรองอธิการบดี เป็นอธิการบดี ซ้ำแล้วซ้ำอีก ไม่รู้จักจบ ทั้งนี้โดยไม่ "ทำงาน" วิชาการ และไม่ให้ความเอาใจใส่ต่อ "การเรียนการสอน" ของนักศึกษา 5. กำหนดให้ "นักศึกษา" เข้าไปมี "ส่วนร่วม" ในการตรวจสอบการทำงานของสภามหาวิทยาลัย ทำให้มหาวิทยาลัยเป็นแหล่งของการศึกษาอย่างแท้จริง เน้น "ความเป็นเลิศ" ในการเรียนการสอน และวิชาการ แทนธุรกิจการค้า หรือธุรกิจการเมือง
['บทความ']
https://prachatai.com/print/320
2004-09-15 22:14
อาจารย์มอ.ไม่เชื่อข่าว6พันคนป่วนใต้
ศูนย์ข่าวภาคใต้-15 ก.ย. 47 นายวรวิทย์ บารู รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) วิทยาเขตปัตตานี กล่าวข่าวกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจขึ้นบัญชีดำผู้ก่อการร้ายในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้กว่า 6 พันคนว่า การขึ้นบัญชีดำถึง 6 พันคนถือเป็นจำนวนที่มาก แต่จะมีหลักฐานที่ชัดเจนหรือไม่ไม่ทราบ เพราะเป็นข่าวที่ออกมาจากฝ่ายเจ้าหน้าที่ฝ่ายเดียว ซึ่งจะไปตรวจสอบก็ไม่ได้ แต่ตนไม่มีความเชื่อมั่นมากนัก ในส่วนของมอ.ปัตตานีนั้น มีการดูแลนักศึกษาที่เข้ามา เรียนที่นี่ตั้ง เริ่มเข้ามาไปจนจบการศึกษา ส่วนจะมีนักศึกษาบางคนมีความสัมพันธ์กับโรงเรียนอื่นมาก่อนนั้น ตนไม่ทราบได้ แต่ทางมหาวิทยาลัยจะดูแลอย่างเต็มที่ เท่าที่มีความสามารถ อย่างไรก็ตามทุกครั้งที่เจ้าหน้าที่ต้องการเข้าตรวจค้นในมหาวิทยาลัย หรือดำเนินการกับนักศึกษาของ มอ. ทางเจ้าหน้าได้รับปากมาแล้วว่าจะแจ้งให้กับมหาวิทยาลัยทราบก่อนทุกครั้ง รายงานโดย : ศูนย์ข่าวประชาไท
['ข่าว', 'สิ่งแวดล้อม']
https://prachatai.com/print/318
2004-09-15 22:09
เสนอเพิ่มสิทธิพิเศษขรก.ใต้
ศูนย์ข่าวภาคใต้-15 ก.ย.47 นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี คณะที่ 8 กล่าวว่า คณะกรรมการได้พิจารณามาตรการสร้างแรงจูงใจให้กับข้าราชการที่ปฏิบัติหน้าที่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเป็นการเพิ่มสิทธิประโยชน์ และประสิทธิภาพในการทำงานตามที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนเสนอ สำหรับสิทธิพิเศษเพิ่มเติมดังกล่าว ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบ ประกอบด้วย การเพิ่มโควต้า 2 ขั้น ให้หน่วยงานที่มีข้าราชการปฏิบัติหน้าที่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพิ่มอีกร้อยละ 1 ซึ่งอยู่กับผู้บังคับบัญชาพิจารณา การเพิ่มอายุราชการเป็นแบบทวีคูณ 2 เท่า รวมทั้งการส่งผลงานแก่ผู้ปฏิบัติหน้าที่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เหลือเพียง 1 ผลงานเท่านั้น ซึ่งหากคณะรัฐมนตรีเห็นชอบก็สามารถเริ่มดำเนินการได้ตั้งแต่วันที่ 5 ม.ค. 2548 และสิ้นสุดลงเมื่อมีการประกาศยกเลิกกฎอัยการศึกในพื้นที่นั้นๆ รายงานโดย : มูฮำหมัด ดือราแม ศูนย์ข่าวภาคใต้
['ข่าว', 'สิ่งแวดล้อม']
https://prachatai.com/print/322
2004-09-15 22:19
ตำรวจภาค 9 วางยุทธศาสตร์ดับไฟใต้
ศูนย์ข่าวภาคใต้-15 ก.ย.47 พล.ต.ท.มาโนช ไกรวงศ์ ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 เปิดเผยว่า ขณะนี้ ได้วางแนวทางแก้ไขปัญหาไว้ 4 ยุทธศาสตร์ เพื่อแก้ปัญหาและยุติปัญหาการก่ออาชญากรรมที่สำคัญๆ ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ มอบหมายให้ ภ.จว.ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส จัดตั้งชุดตำรวจชุมชนในทุกตำบล ยกเว้นตำบลที่มี สภ.อ , สภ.กิ่ง อ.และ สภ.ต. การจัดชุดปฏิบัติการด้านการข่าวเกี่ยวกับความมั่นคง ชุดปฏิบัติการป้องกันการวินาศกรรม การจัดตำรวจประจำชุมชน และให้หัวหน้าชุดตำรวจชุมชนประจำ สถานีตำรวจภูธรเป็นผู้ควบคุมดูแลราษฎรอาสาและรับผิดชอบควบคุมกำกับดูแลทุกสถานียุทธศาสตร์ในพื้นที่รับผิดชอบด้วย สุดท้ายดำเนินการคัดเลือกข้าราชการตำรวจที่ดำรงตำแหน่งในสังกัด ภ.จว.ปัตตานียะลา และนราธิวาส ที่มียศดาบตำรวจ อายุไม่เกิน 55 ปี เพื่อปฏิบัติหน้าที่เป็นหัวหน้าชุดตำรวจชุมชนตำบลประจำตำบลในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 200 นาย คาดจะสามารถช่วยแก้ไขปัญหาการก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ไปได้ในระดับหนึ่ง รายงานโดย : ศูนย์ข่าวภาคใต้
['ข่าว', 'สิ่งแวดล้อม']
https://prachatai.com/print/321
2004-09-15 22:16
โต้ข่าว 6 พันคนร้ายทำแตกแยก
ศูนย์ข่าวภาคใต้-15 ก.ย.47 นายนิเด วาบา นายกสมาคมโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่เชื่อว่าข่าวการขึ้นบัญชีดำผู้ที่เกี่ยวข้องกับความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของศูนย์ปฏิบัติการตำรวจแห่งชาติ ส่วนหน้า จังหวัดยะลา ถึง 6,000 คน เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2547 ที่ผ่านมานั้นเป็นความจริง ทั้งยังเห็นว่า การออกข่าวดังกล่าวนั้น ทำให้บรรดาโต๊ะครูตกใจมาก เพราะเกรงว่าจะมีชื่ออยู่ในจำนวนนั้นด้วย ซึ่งการออกข่าวเช่นนั้นเพื่อจะสร้างความแตกแยกแยกให้เกิดขึ้นมากกว่า "ไม่เชื่อว่าจะเป็นความจริง แต่ก็ไม่ได้หวั่นไหว เพราะตนก็เคยถูกกล่าวหาว่ามีส่วนกับความไม่สงบมาตลอด และยังถูกส่งจดหมายข่มขู่ เรียกค่าคุ้มครองมาตลอดด้วย " ด้านพล.ท.เรวัตร รัตนผ่องใส รองเลขาธิการกองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวเรื่องนี้ว่า เป็นการออกข่าวมั่ว ไม่มีความน่าเชื่อถือ ซึ่งการออกข่าวเช่นนี้จะต้องระวัง เพราะจะทำให้บรรดาผู้นำศาสนา โต๊ะครูตกใจได้ รายงานโดย : ศูนย์ข่าวประชาไท
['ข่าว', 'สิ่งแวดล้อม']
https://prachatai.com/print/319
2004-09-15 22:12
สรุปส่งคดีทหารพรานให้ศาลทหาร
ศูนย์ข่าวภาคใต้-15 ก.ย.47 ศาลยะลาสรุปส่งสำนวนคดีทหารพรานยิงลูกชายนายกฯ อบต.ยะรัง ให้ศาลทหารเป็นผู้วินิจฉัยตัดสิน หลังจากนายอุสมาน นูรุลอาดิล นายกองค์กรบริหารส่วนตำบลเมาะมาวี (อบต.) อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี พร้อมด้วยนางยามีลา นูรุลอาดิล ภรรยา และนายมูฮัมมัดรอมลี เจ๊ะและ ยื่นคำฟ้องคดีที่ศาลจังหวัดยะลา กรณีทหารพรานที่ 41 กับพวกจำนวน 5 คน ร่วมกันยิงนายอัสมิน นูรุลอาดิล บุตรชายเสียชีวิต โดยนายอุสมานเป็นทนายยื่นฟ้องคดีนี้ด้วยตัวเอง เมื่อวันที่ 15 ก.ย.47 ศาล จ.ยะลา แถลงว่า หลังจากที่ศาลได้พิจารณาคำฟ้องที่นายอุสมาน นูรุลอาดิล ยื่นต่อศาลตามคดีหมายเลขดำที่ 699/47 ศาลยะลาได้มีคำสั่งว่าวิเคราะห์คำฟ้องแล้วเห็นว่าจำเลยที่ 1 รับราชการทหาร ส่วนจำเลยที่ 2-5 ตามคำฟ้อง ระบุว่า เป็นลูกจ้างของกรมทหารพรานที่ 41 จึงถือว่าจำเลยที่ 1-5 เป็นบุคคลซึ่งอยู่ในเขตอำนาจศาลทหาร ตามพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหารมาตรา 16 (ศาล) (6) จึงให้ส่งความเห็นไปยังสำนักตุลาการทหารเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ.2542 มาตรา 10 ส่วนกรณีที่ ศาลจังหวัดยะลานายอุสมาน นูรูลอาดิล อดีตสมาชิกสภา จังหวัดปัตตานี เตรียมยื่นอุทธรณ์ต่อศาล จ.ยะลา อีกครั้งในหลังจากที่ศาลศาลไม่รับฟ้องคดีที่บุตรชายถูกทหารพรานยิงเสียชีวิตด้วยความเข้าใจผิดว่าเป็นคนร้าย เพราะต้องการให้ดำเนินคดีในชั้นศาลพลเรือนไม่ใช่ศาลทหาร รายงานโดย : ศูนย์ข่าวประชาไท
['ข่าว', 'สิ่งแวดล้อม']
https://prachatai.com/print/324
2004-09-15 22:23
เครือข่ายสื่อฯ เหนือเสวนากรณีสุภิญญา
ศูนย์ข่าวภาคเหนือ-15 ก.ย. 47 เครือข่ายสื่อภาคประชาชนภาคเหนือ จัดเสวนาในหัวข้อเรื่อง สถานการณ์การปฏิรูปสื่อ : สถานภาพขององค์กรภาคประชาชนในการตรวจสอบอำนาจรัฐ-ทุน การจัดงานสืบเนื่องจากกรณีที่น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) ถูกบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น ฟ้องคดีหมิ่นประมาททางแพ่ง เรียกค่าเสียหาย 400 ล้านบาท โดยมี ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ร่วมวิเคราะห์สถานการณ์การปฏิรูปสื่อภายใต้อำนาจทุน และมีการออกแถลงการณ์ของเครือข่ายฯ เพื่อแสดงท่าทีต่อกรณีดังกล่าวด้วย รายงานโดย : องอาจ เดชา ศูนย์ข่าวภาคเหนือ
['ข่าว', 'สิ่งแวดล้อม']
https://prachatai.com/print/326
2004-09-15 23:04
ร้องรัฐเผยชื่อเกษตรกรรับพันธุ์มะละกอ
ประชาไท - 15 ก.ย.47 น.ส.สารี อ๋องสมหวัง ตัวแทนจาก 450 องค์กรที่เข้าร่วมโครงการตรวจสอบและติดตามการแพร่ระบาดมะละกอจีเอ็มโดยภาคประชาชนทั่วประเทศ ได้ยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการสิทธิฯ เพื่อขอรายชื่อผู้ที่รับพันธุ์มะละกอแขกดำท่าพระจากสถานีวิจัยพืชสวนท่าพระ ซึ่งกรรมการสิทธิฯ ได้รับมาจากกระทรวงเกษตรฯ แต่ได้รับการปฏิเสธ "เราไม่มีหน้าที่มาเปิดเผย เพราะกรมวิชาการเกษตรขู่สำทับมาว่าถ้าเกิดความเสียหายจากากรเปิดเผยรายชื่อ คณะกรรมการสิทธิฯ ต้องรับผิดชอบ ซึ่งเราไม่รู้ว่ามันจะเกิดอะไรขึ้นจึงต้องระวัง ดังนั้นกระทรวงเกษตรต้องทำงานอย่างโปร่งใสและเปิดเผยข้อมูลนี้เอง" ศ.เสน่ห์ จามริก ประธานคณะกรรมการสิทธิฯ ชี้แจง "เราไม่รู้ว่าเปิดรายชื่อไปแล้วจะก่อให้เกิดความขัดแย้งในพื้นที่เพราะความไม่เข้าใจ หรือกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศแค่ไหน เรื่องนี้กรมวิชาการเกษตรเป็นหน่วยงานที่ต้องรับผิดชอบ การปิดบังข้อมูลแล้วให้องค์กรภาคประชาชนมาขอกับคณะกรรมการสิทธิถือเป็นการโยนภาระหน้าที่ให้หน่วยงานอื่น " นายบัณฑูรย์กล่าว อย่างไรก็ดีน.ส.สารี ให้สัมภาษณ์ว่า พรุ่งนี้ (16 ก.ย.) ทางเครือข่ายฯ จะไปยื่นหนังสือต่อนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.เกษตรและสหกรณ์ ให้เปิดเผยรายชื่อผู้รับพันธุ์มะละกอแขกดำท่าพระจากสถานีวิจัยพืชสวนขอนแก่น เพื่อให้ภาคประสังคมสามารถร่วมตรวจสอบได้ด้วย หลังจากเคยขอรายชื่อดังกล่าวสถานีวิจัยฯ แต่ถูกปฏิเสธ โดยหากทางราชการยังไม่ยอมเปิดเผยรายชื่ออีก เครือข่ายฯ ก็จะยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการข้อมูลข่าวสาร "ขณะนี้เกษตรกร 2,600 คนหรือมากกว่านั้นที่รับพันธุ์มะละกอแขกดำท่าพระจากสถานีวิจัยพืชสวนท่าพระไปปลูกแล้วอยากให้มีการตรวจสอบ สามารถแจ้งมาได้ เราจะทำการตรวจสอบให้ เนื่องจากการอุทธรณ์ขอข้อมูลคงต้องใช้เวลาอีกยาวนาน" น.ส.สารี กล่าว รายงานโดย : มุทิตา เชื้อชั่ง ศูนย์ข่าวประชาไท
['ข่าว', 'สิ่งแวดล้อม']
https://prachatai.com/print/325
2004-09-15 23:01
กก.สิทธิฯ ท้วงรัฐปิดข้อมูลจีเอ็มโอ
ประชาไท - กรรมการสิทธิฯ แถลงข่าวผลตรวจมะละกอจีเอ็มโอเป็นทางการ เสนอกระทรวงเกษตรฯ ทำลาย-จ่ายชดเชยเกษตรกร พร้อมเตือนรัฐเร่งคัดค้านอเมริกาขอสิทธิบัตรเหนือมะละกอไทย "ขณะนี้มีการแพร่กระจายของมะละกอตัดแต่งพันธุกรรมในสิ่งแวดล้อมแล้วโดยการปนเปื้อนไปกับมะละกอแขกดำท่าพระ แต่ยังไม่สามารถประเมินขอบเขตพื้นที่การแพร่กระจายที่แน่ชัดได้ เนื่องจากไม่ได้รับความร่วมมือจากกรมวิชาการเกษตรในการเข้าไปเก็บตัวอย่างในสถานีวิจัยฯ และให้ข้อมูลสำคัญที่เกี่ยวข้องอย่างครบถ้วน" ศ.เสน่ห์ จามริก ประธานคณะกรรมการสิทธิมุนษยชนแห่งชาติกล่าว นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ อนุกรรมการฯ กล่าวว่า หลังจากนี้เป็นหน้าที่ของกรมวิชาการเกษตรที่ต้องรับผิดชอบดำเนินการต่อ แต่หากกรมวิชาการเกษตรรู้แล้วแต่ไม่มีมาตรการจัดการที่ชัดเจน ก็ถือเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย จี้รัฐดูแลสิทธิบัตรมะละกอ ศ.เสน่ห์กล่าวว่า รัฐบาลต้องยื่นคัดค้านการขอรับสิทธิบัตรที่เกี่ยวข้องกับมะละกอของไทยในสหรัฐฯ โดยเฉพาะกรณีสิทธิบัตรคุ้มครองยีนไวรัสจุดวงแหวนมะละกอ ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการวิจัยมะละกอต้านทานไวรัสจุดวงแหวนของไทยในอนาคต และสร้างปัญหาด้านการค้าต่อไทย "อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญแต่ไม่ค่อยได้รับการพูดถึงมากนัก คือเรื่องสัญญาความตกลงแบ่งปันผลประโยชน์ (MOU) กับบริษัทมูลนิธิวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยคอแนลล์ ซึ่งกรมวิชาการเกษตรกำลังพิจารณาล่วงหน้า ทั้งที่รัฐบาลประกาศชัดเจนว่ายังไม่มีนโยบายให้ปลูกพืชจีเอ็มโอเชิงพาณิชย์ ดังนั้นควรให้มีการระงับการทำ MOU ดังกล่าว" ศ.เสน่ห์กล่าว นอกจากนั้น ควรจะมีการทำลายมะละกอจีเอ็มโอในแปลงทดลองของสถานีวิจัยพืชสวนท่าพระ และมะละกอในแปลงของเกษตรกรที่อยู่ในบริเวณเสี่ยงทั้งหมดตามหลักวิชาการโดยมีการจ่ายค่าชดเชยให้เกษตรกรด้วย นอกจากนี้ยังควรเร่งสร้างความเข้าใจกับต่างประเทศ พร้อมกับการตั้งคณะกรรมการกลางมาสอบสวนข้อเท็จจริงโดยมีองค์ประกอบจากส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างเหมาะสม รวมทั้งพัฒนาระบบกฎหมายก่อนมีการทดลองในระดับไร่นา ทั้งกฎหมายด้านความปลอดภัยทางชีวภาพ กฎหมายเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค และกฎหมายป้องกันการผูกขาด ในส่วนของข้อเสนอเชิงนโยบายนั้น คณะกรรมการสิทธิฯ เสนอให้มีการกำหนดนโยบายเรื่องการวิจัยและใช้ประโยชน์จากจีเอ็มโออย่างโปร่งใส โดยกระบวนการมีส่วนร่วมจากผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน เนื่องจากเป็นแนวนโยบายที่มีความซับซ้อนในหลายมิติ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม ความตกลงระหว่างประเทศ ซึ่งไม่อาจใช้เฉพาะข้อมูลด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รายงานโดย : มุทิตา เชื้อชั่ง ศูนย์ข่าวประชาไท
['ข่าว', 'สิ่งแวดล้อม']
https://prachatai.com/print/329
2004-09-15 23:31
เฝ้าระวังหวัดนกเพิ่มอีก 9 ราย
กรุงเทพฯ-15 ก.ย.47 นพ.จรัล ตฤณวุฒิพงษ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค รักษาการปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงสถานการณ์ของโรคไข้หวัดนกว่า ได้รับรายงานผู้ป่วยที่อยู่ในข่ายเฝ้าระวังเพิ่มอีก 9 ราย ได้แก่ ที่เชียงราย 1 ราย, อุทัยธานี 1 ราย, ปราจีนบุรี 5 ราย, ราชบุรี 1 ราย และกาฬสินธุ์ 1 ราย โดยรายแรกเป็นหญิง อายุ 56 ปี อยู่ที่ ต.จอมบึง อ.จอมบึง จ.ราชบุรี เริ่มป่วยเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2547, รายที่ 2 เป็นเด็กชาย อายุ 13 ปี อยู่ที่ตำบลแม่คำ อ.แม่จัน จ.เชียงราย เริ่มป่วยเมื่อ 12 กันยายน 2547, รายที่ 3 เป็นชายอายุ 45 ปี อยู่ที่ ต.ตลุกดู่ อ.ทัพทัน จ.อุทัยธานี เริ่มป่วยเมื่อ 12 กันยายน 2547 โดยทั้ง 3 รายล้วนมีประวัติอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีสัตว์ป่วยตายผิดปกติ และรายที่ 4 เป็นเด็กชายอายุ 10 ปี อยู่ที่ตำบลเชียงเครือ อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ เริ่มป่วยเมื่อ 9 กันยายน 2547 กำลังตรวจสอบประวัติการสัมผัส ส่วนอีก 5 รายอยู่ที่จังหวัดปราจีนบุรี อยู่ที่ตำบลท่างาม อ.เมือง 2 ราย, ตำบลท่าตูม อ.ศรีมหาโพธิ 2 ราย และตำบลหนองกี่ อ.กบินทร์บุรี 1 ราย ทั้งหมดเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2547 และขณะนี้ทุกรายอาการดีขึ้น ทั้งนี้ผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่หรือโรคปอดบวมที่อยู่ในข่ายเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกสะสมก่อนหน้านี้มีทั้งหมด 80 ราย จาก 24 จังหวัด ในจำนวนนี้ผู้ป่วยยืนยันโรคไข้หวัดนกยังเท่าเดิม 1 รายที่จังหวัดปราจีนบุรี และมีคนป่วยถูกตัดออกจากบัญชีไปแล้ว 68 ราย รายงานโดย : ศูนย์ข่าวประชาไท
['ข่าว', 'สิ่งแวดล้อม']
https://prachatai.com/print/328
2004-09-15 23:29
รัฐสรุปห้ามใช้วัคซีนป้องกันหวัดนก
กรุงเทพฯ-15 ก.ย.47 รัฐตัดสินใจอุ้มผู้ส่งออกไก่ ประกาศห้ามใช้วัคซีนป้องกันไข้หวัดนก ระบุไม่มั่นใจว่า จะป้องกันได้จริง นายจาตุรนต์ ฉายแสง รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคไข้หวัดนกในประเทศไทย แถลงภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมฯ มีมติไม่อนุญาตให้ใช้วัคซีนไข้หวักนกในสัตว์ปีก 6 ชนิดของประเทศไทยโดยเด็ดขาด ข้อสรุปดังกล่าว เป็นไปตามข้อเสนอของผู้ส่งออกไทยรายใหญ่ของไทย ที่ระบุว่า อาจได้รับผลกระทบในการส่งออกไทยไปขายในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป หากรัฐอนุญาตให้ใช้วัคซีนป้องกันไข้หวัดนกในไก่และสัตว์ปีกบางประเภท นายจาตุรนต์กล่าวว่า อย่างไรก็ดี ยังจะอนุญาตให้มีการทดลองใช้วัคซีนได้ในห้องปฏิบัติการของภาครัฐเท่านั้น เพื่อเป็นการป้องกันปัญหาการแพร่ระบาดรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต ซึ่งจะมีการศึกษาทดลองในพื้นที่ที่จำกัด แต่ในเบื้องต้นจะทดลองกับสัตว์ปีกหายาก ประเภทนกสวยงาม และในไก่ชน ภายใต้การกำกับดูแลจากนักวิชาการอย่างเข้มงวด นายสัตวแพทย์สงคราม เหลืองทองคำ นายกสมาคมสัตวแพทยสภา ให้เหตุผลว่า เป็นเพราะยังไม่มีการสรุปข้อมูลของเชื้อไข้หวัดนกที่ชัดเจนสมบูรณ์ หากนำวัคซีนไข้หวัดนกมาใช้อาจเกิดผลกระทบข้างเคียงได้ ประกอบกับเชื้อไข้หวัดนกในประเทศไทยเป็นเชื้อชนิดที่มีความรุนแรงมากกว่า เชื้อในประเทศที่มีการใช้วัคซีนในขณะนี้ ทำให้คาดว่า การใช้วัคซีนจะไม่สามารถป้องกันโรคได้อย่างสมบูรณ์ ขณะเดียวกันมีข้อมูลสนับสนุนว่า พื้นที่ที่มีการใช้วัคซีนป้องกันไข้หวัดนกจะมีความเสี่ยงของการเกิดโรคไข้หวัดนกสูงกว่าพื้นที่ที่ไม่ได้ใช้วัคซีน จึงเป็นสาเหตุสำคัญของการไม่อนุญาตในครั้งนี้ อย่างไรก็ตามการที่จะทดลองวัคซีนไข้หวัดนกในประเทศไทยได้นั้น รัฐบาลจะต้องมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารอย่างใกล้ชิดกับองค์การระหว่างประเทศและประเทศคู่ค้าเสียก่อน รายงานโดย : ศูนย์ข่าวประชาไท
['ข่าว', 'สิ่งแวดล้อม']
https://prachatai.com/print/327
2004-09-15 23:09
สมศักดิ์สั่งทำลายมะละกอจีเอ็มโอ
กรุงเทพฯ-15 ก.ย. 47 รอยเตอร์รายงานคำให้สัมภาษณ์ของ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ว่า ได้สั่งให้ทำลายแปลงทดลองมะละกอจีเอ็มโอมทั้ง 11 ไร่ ในสถานีวิจัยฯ ท่าพระ จ.ขอนแก่นหมดแล้ว "แต่เราจะไม่เลิกการวิจัยจีเอ็มโอ เพราะเป็นเรื่องวิชาการเป็นการทดลอง เป็นความรู้ที่จะต้องเรียนรู้ และมีผลต่อเศรษฐกิจ" รมว.เกษตรระบุ นายสมศักดิ์ ยอมรับว่า ทางการไม่สามารถรับรองได้ว่า จะไม่เกิดการปนเปื้อนในมะละกอจีเอ็มโออีก เพราะขณะนี้ทางการตรวจสอบได้แค่ 239 ตัวอย่างจาก 2,600 ตัวอย่าง ซึ่งจะต้องตรวจสอบต่อไป อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กระทรวงเกษตรฯ ได้ใช้อำนาจตามพ.ร.บ.กักพืช เพื่อควบคุมพื้นที่ 450 เมตรโดยรอบแปลงที่พบปนเปื้อนพืชจีเอ็มโอ และจะจ่ายค่าชดเชยให้กับเกษตรกรที่ต้องทำลายต้นมะละกอต่อไป ส่วนแปลงทดลองของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์นั้น ยังสามารถดำเนินการทดลองต่อไปได้ เพราะมีระบบควบคุมที่ดีซึ่งรวมทั้งแปลงของเกษตรกรที่ได้รับแจกพันธุ์มะละกอจากกรมวิชาการเกษตรที่ไม่มีปัญหาปนเปื้อน รายงานโดย : ศูนย์ข่าวประชาไท
['ข่าว', 'สิ่งแวดล้อม']
https://prachatai.com/print/323
2004-09-15 22:21
ครึ่งปี47 คนไทยเที่ยวลาว 2แสนคน
กรุงเทพฯ-15 ก.ย.47 ข้อมูลของการท่องเที่ยวแห่งชาติ สปป.ลาวระบุว่า ลาวให้การต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางไปเยือนลาวจากไทยมากที่สุด โดยในช่วง 5 เดือนแรกของปี2547 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางไปลาวทั้งหมด 3.72 แสนคน แยกเป็นนักท่องเที่ยวจากกลุ่มอาเซียน 2.62 แสนคน โดยเป็นคนไทยถึง 2.05 แสนคน ขณะที่ปีที่แล้วมีนักท่องเที่ยวเดินทางไป สปป.ลาว ทั้งหมด 6.36 แสนคน แยกเป็นมาจากกลุ่มอาเซียน 4.3 แสนคน โดยเป็นคนไทย 3.7 แสนคน ทั้งนี้เมื่อวันที่ 1 มิ.ย.ศกนี้ สปป.ลาวยกเว้นวีซ่ากับ 4 ประเทศสมาชิกอาเซียน ได้แก่ เวียดนาม สิงคโปร์ กัมพูชา และมาเลเซีย โดยคนลาวไม่ต้องขอวีซ่าเมื่อเดินทางเข้าประเทศเหล่านี้ และคนจากทั้ง 4ประเทศ ไม่ต้องขอวีซ่าเข้าลาวเช่นกัน รายงานโดย : ศูนย์ข่าวประชา
['ข่าว', 'สิ่งแวดล้อม']
https://prachatai.com/print/330
2004-09-15 23:33
อียูเลื่อนนำเข้าไก่ไทย 3 เดือน
ประชาไท-15ก.ย.47 เจ้าหน้าที่จากกรรมาธิการยุโรป(อียู) แถลงวันนี้(15ก.ย.) ว่า สหภาพยุโรปได้ขยายเวลาการห้ามนำเข้าสัตว์ปีกจากเอเชียต่อไปอีก 3 เดือน อันเนื่องมาจากความไม่แน่นอนเรื่องการควบคุมการระบาดของไข้หวัดนกในเขตภูมิภาคนี้ ทั้งนี้ การห้ามนำเข้าไก่จากเอเชียจะหมดอายุลงในวันที่ 15 ธันวาคมนี้และสหภาพยุโรปจากขยายเวลาห้ามนำเข้าสัตว์ปีกที่รวมถึงผลิตภัณฑ์จากไก่ สัตว์เลี้ยงประเภทนกจาก 9 ประเทศซึ่งได้แก่ ไทย กัมพูชา อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น ลาว มาเลเซีย ปากีสถาน จีน เกาหลีใต้ และเวียดนามไปจนถึงวันที่ 31 มีนาคมปีหน้า ขณะที่มีรายงานข่าวจากมาเลเซียแจ้งวันนี้ว่า มาเลเซียได้ประกาศเขตกักกันโรคไข้หวัดนกในรัฐกลันตันที่อยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศทั้งหมดเพื่อป้องกันการระบาดของโรคไข้หวัดนก ในขณะที่มีชาวบ้านอีก 3 คนได้เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลหลังจากมีอาการที่คล้ายกับจะเป็นโรคดังกล่าว รายงานโดย : ศูนย์ข่าวประชาไท
['ข่าว', 'สิ่งแวดล้อม']
https://prachatai.com/print/331
2004-09-15 23:51
ท่องเที่ยวพังงาเดินหน้าต้านแลนบริดจ์
ศูนย์ข่าวภาคใต้-15 ก.ย.47 นายอนุพงศ์ สงวนนาม นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดพังงา เปิดเผย "ประชาไท" ว่า เมื่อวันที่ 14 ก.ย.ที่ผ่านมา สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดพังงา มประชุมพิจารณาผลกระทบต่อการท่องเที่ยวฝั่งทะเลตะวันตก จากโครงการเส้นทางยุทธศาสตร์พลังงาน Strategic Energy Land Bridge (SELB) โดยที่ประชุมได้แบ่งคณะทำงานออกเป็น 3 ชุด ประกอบด้วย ชุดติดตามศึกษาหาข้อมูลและข่าวสาร ชุดประชาสัมพันธ์ และชุดอำนวยการ "การดำเนินงานต่างๆ เราจะเริ่มในจังหวัดพังงาก่อน เนื่องจากเป็นพื้นที่โครงการโดยตรง โดยจะรวบรวมข้อมูลข่าวสารด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงการ … หลังจากนั้น จะมีการประชาสัมพันธ์เพื่อหาแนวร่วม และเปิดเวทีสัมมนา โดยอาจจะเชิญนักวิชาการที่มีความรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมมาเป็นวิทยากรบรรยายเรื่องผลกระทบ และเชิญประชาชนในพื้นที่มาร่วมรับฟัง" นายอนุพงศ์กล่าว ในวันที่ 16 ก.ย.นี้ คณะทำงานของนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ รองนายกรัฐมนตรี จะมาดูงานการท่องเที่ยวที่จังหวัดพังงา ทางสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดพังงา จะเข้าพบและหารือเรื่องผลกระทบทางด้านการท่องเที่ยว ที่เกิดจากโครงการ SELB เพื่อขอให้มีการทบทวนและหามาตรการมาป้องกันโดยด่วน "ประมาณปลายเดือนกันยายนนี้ นายสุวัจน์จะเดินทางมาจังหวัดพังงา สมาคมฯ จะนำสำเนาหนังสือร้องเรียนที่เคยยื่นให้กับนายกรัฐมนตรี ไปยื่นให้กับนายสุวัจน์ ในฐานะรองนายกรัฐมนตรี กำกับดูแลด้านการท่องเที่ยวด้วย" นายอนุพงศ์กล่าว รายงานโดย : ณขจร จันทวงศ์ ศูนย์ข่าวภาคใต้
['ข่าว', 'สิ่งแวดล้อม']
https://prachatai.com/print/332
2004-09-15 23:55
"สผ." ตีกลับ EIA โรงโม่ตรังรอบสาม
ประชาไท-15 ก.ย.47 ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คณะผู้ชำนาญการด้านเหมืองแร่ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ได้พิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เหมืองหินและโรงโม่หินเทือกเขาถ้ำแรด อ.ห้วยยอด จ.ตรัง ของบริษัท โจมทองศิลา จำกัด เป็นผู้ยื่นขอสัมปทาน ซึ่งศึกษาโดย บ.เอสพีเอส คอนซัลติ้ง จำกัด โดยนางนิศากร โฆษิตรัตน์ รองเลขาธิการ สผ. ในฐานะประธานคณะผู้ชำนาญการด้านเหมิอแงแร่ เป็นประธาน โดยมีตัวแทนชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ปากแจ่ม (เทือกเขาถ้ำแรด) จำนวน 10 คน ขอเข้าร่วมชี้แจงเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย แต่ไม่ได้รับอนุญาต ทั้งนี้ที่ประชุมได้มีมติให้กลับไปศึกษาEIA เพิ่มเติมใน 6 ประเด็น ประกอบด้วย ชนิดของสัตว์ป่า รายละเอียดเกี่ยวกับระบบนิเวศ การบริหารจัดการที่ดิน การใช้เส้นทางขนส่ง ซึ่งจะต้องได้รับอนุญาตจากชุมชน ผลกระทบที่อาจจะเกิดกับถ้ำ ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยว นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ผู้ชำนาญการด้านเหมืองแร่ กล่าวกับ "ประชาไท" ว่า ประเด็นต่างๆ ที่คณะผู้ชำนาญการให้กลับไปศึกษา เป็นประเด็นที่คณะผู้จัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมฉบับนี้ ไม่สามารถให้คำตอบได้ชัดเจน โดยเฉพาะประเด็นสัตว์ป่าที่ชาวบ้านยืนยันว่า บริเวณดังกล่าว เป็นที่อาศัยของเลียงผา ซึ่งเป็นสัตว์หายาก ทั้งนี้ EIA ของบริษัท โจมทองศิลา จำกัด ได้เสนอให้คณะผู้ชำนาญการเรื่องการทำเหมืองแร่ สผ. พิจารณารวมแล้ว 3 ครั้ง นางละมุล เย้าเฉื้อง จากกลุ่มอนุรักษ์ปากแจ่ม (เทือกเขาถ้ำแรด) กล่าวว่า นางนิศากร ได้เข้ามาชี้แจงกับชาวบ้าน ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมว่า สาเหตุที่ไม่ยอมให้ชาวบ้านเข้าไปชี้แจงต่อที่ประชุม เพราะชาวบ้านต้องการถามเรื่องการให้สัมปทานทำเหมืองหิน ในที่ดินของ สปก. ว่าเป็นการใช้ที่ดินผิดประเภทหรือไม่ ซึ่งไม่อยู่ในอำนาจการพิจารณาของกรรมการ นางสาลี โชติรัตน์ อายุ 61 ปี ตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์ปากแจ่มฯ กล่าวว่า รู้สึกเสียใจมากเพราะตั้งใจมาในวันนี้ อยากมาชี้แจงเพื่อให้สามารถพูดคุยทำความเข้าใจกัน หลังจากที่สผ.ลงพื้นที่ไปแล้วไม่ใช่ให้เราแค่รอฟังว่า ผลจะออกมายังไงแต่ชาวบ้านน่าจะได้เข้าชี้แจง "ตามรัฐธรรมนูญก็บอกว่าทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกันและมีสิทธิรับรู้ข้อมูลของราชการ แต่นี่ทำไมให้นายทุนเข้าไปฟังไปชี้แจงไม่ยุติธรรม อย่างนี้รัฐธรรมนูญก็แค่เขียนไว้ดูเล่นเฉยๆ " นางสาลี กล่าว อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 20 ก.ย.นี้ จะเดินทางไปที่สำนักงานอุตสาหกรรมพื้นฐานและการทำเหมืองแร่ และสำนักงานปฏิรูปที่ดิน จังหวัดตรัง เพื่อติดตามความคืบหน้า ตามที่ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อมเอาไว้ หลังจากนั้นจึงจะไปยื่นหนังสือร้องเรียนที่ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดตรังด้วย รายงานโดย : ศูนย์ข่าวประชาไท
['ข่าว', 'สิ่งแวดล้อม']
https://prachatai.com/print/336
2004-09-16 00:55
ความเป็นมา เขื่อนไฟฟ้า "น้ำเทิน2"
ศูนย์ข่าวประชาไท โครงการไฟฟ้าพลังน้ำน้ำเทิน 2 ได้มีการศึกษาความเป็นไปได้ในครั้งแรกในทศวรรษ 1970 โดยสำนักงานเลขาธิการลุ่มน้ำโขง (Mekong Secretariat) ผลจากการศึกษาชี้ให้เห็นว่าพื้นที่บริเวณน้ำเทินมีศักยภาพที่จะพัฒนาเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ในปี 1991 รัฐบาลภายใต้การสนับสนุนของธนาคารโลก และโครงการพัฒนาสหประชาชาติ (UNDP) ได้ว่าจ้างบริษัท Snowy Mountains Engineering (SMEC) ให้ศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำ น้ำเทิน 2 ปี 1994 กลุ่มบริษัทเพื่อการผลิตไฟฟ้าน้ำเทิน 2 (NTEC) เข้ามารับผิดชอบการพัฒนาและออกแบบโครงการ ได้รับการสนับสนุนจากธนาคารพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) ธนาคารโลก รัฐบาลลาว และ Agence Francaise de Devellopement (AfD) 1 มกราคม 2004 โครงการของ NTEC โอนไปสู่ความรับผิดชอบของบริษัทไฟฟ้าน้ำเทิน 2 จำกัด (NTPC) ซึ่งประกอบด้วยผู้ถือหุ้นดังนี้ 1. บริษัทไฟฟ้านานาชาติแห่งประเทศฝรั่งเศส (EdFI) 35% 2. รัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว (EDL) 25 % 3. บริษัทผลิตไฟฟ้า (มหาชน) จำกัด (EGCO) 25 % และ 4. บริษัทอิตาเลียนไทยดีเวล็อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) 15% (ดังภาพประกอบด้านบน) โครงการน้ำเทิน 2 จะสร้างเขื่อนกั้นน้ำเทินซึ่งเป็นลำน้ำสาขาของแม่น้ำโขง เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ขนาดกำลังการผลิต 1,070 เมกกะวัตต์ เพื่อส่งให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (EGAT) 93 % cและรัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว (EDL) 7% โดยคาดหวังว่าโครงการนี้จะสร้างรายได้จำนวน 1.9 พันล้านดอลลาร์ให้กับลาวตลอดระยะเวลาสัมปทานโครงการ 25 ปี ซึ่งจะเป็นแหล่งรายได้ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของรัฐบาลลาวส่งผลต่อการเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) และเป็นส่วนสำคัญของกรอบการพัฒนาประเทศเพื่อบรรเทาปัญหาความยากจน รายงานโดย : พิณผกา งามสม ศูนย์ข่าวประชาไท
['บทความ']
https://prachatai.com/print/333
2004-09-16 00:01
ราษฎรอาวุโสเตือนท่อก๊าซใต้ยังไม่พร้อม
ประชาไท - 15 ก.ย.47 " การไปทำสัญญาในขณะที่เรายังไม่พร้อมที่จะใช้ เป็นการประมาณค่าที่ผิด จะยิ่งทำให้ผิดพลาดมากขึ้น เสียหายมากยิ่งขึ้น " น.พ.อนันต์ บุญโสภณ ราษฎรสงขลาอาวุโสกล่าว น.พ.อนันต์กล่าวว่า จากมติครม.เมื่อวันอังคารที่ผ่านมาที่ตกลงแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติจากพื้นที่ร่วม(JDA) แปลง A-18 ระหว่างไทยกับมาเลเซียนั้นข้อมูลยังถูกเปิดเผยไม่หมด โดยเฉพาะเรื่อง Take-or-pay ที่มีแก้ไขกัน ซึ่งตามสัญญาเดิมจะต้องเริ่มซื้อขายกันตั้งแต่ปี2545 โดยบริษัทอเมราดาเฮสส์และปิโตรนาส ชาริกาลี่ สัญชาติอเมริกันและมาเลเซีย เป็นผู้ขายให้กับ บริษัทปตท.จำกัด(มหาชน) และ บริษัทปิโตรนาส ราษฎรสงขลาอาวุโสกล่าวต่อว่า มติครม.ที่ออกมาในเรื่องนี้เป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าในระดับหนึ่งในเรื่องภาระ Take-or-pay เมื่อเปลี่ยนวันเริ่มรับซื้อก๊าซใหม่จากวันที่ 28 กันยายน 2545 เป็นวันที่ 1มกราคม 2548 "ประเทศไทยมีเวลาประมาณ 3 เดือนในการสร้างโครงการท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซให้ทันตามกำหนด ซึ่งในความเป็นจริงไม่สามารถสร้างให้แล้วเสร็จตามเวลานั่นหมายถึงอีก 3 เดือนยังเสร็จ ไม่สามารถซื้อขายแก๊ซ ไทยก็ต้องจ่าย Take-or-pay ใหม่อีก" นายแพทย์อนันต์กล่าว นายแพทย์อนันต์กล่าวด้วยว่า ข้อมูลแต่ละส่วนเช่นในระยะการซื้อขาย 3 ระยะนั้นก็ยังไม่ชัดเจนว่าเป็นอย่างไร ระยะที่ 3 ของการซื้อขายระบุว่า เพิ่มปริมาณการซื้ออีกในช่วงปี 2553-2555 ในอัตราที่กลุ่มผู้ขายสามารถผลิตได้ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ไม่สามารถบอกได้ว่าหากทางผู้ผลิตผลิตได้เกินกว่าที่ไทยต้องการซื้อ ไทยจะต้องซื้อทั้งหมดที่ผู้ผลิตได้หรือไม่ หรือหากไทยซื้อได้ไม่หมดจะต้องจ่ายเป็น Take-or-par เป็นค่าปรับดอกเบี้ยหรือไม่ "ข้อมูลส่วนนี้ควรมีรายละเอียดเปิดเผยให้มากกว่านี้และเป็นธรรมมากกว่านี้เพราะอาจจะทำให้เข้าใจผิดได้ง่ายและโครงการนี้ยังมีความไม่เป็นธรรมอีกมากมายที่ยังไม่ได้เปิดเผยและหากไทยตัดสินใจทำสัญญาซื้อในขณะที่ยังไม่พร้อม" น.พ.อนันต์ระบุ รายงานโดย : ศิริรัตน์ อนันต์รัตน์ ศูนย์ข่าวประชาไท
['ข่าว', 'สิ่งแวดล้อม']
https://prachatai.com/print/334
2004-09-16 00:09
แรงงานใต้รุกปรับค่าแรงขั้นต่ำ
ศูนย์ข่าวภาคใต้-15 ก.ย.47 นางทิพวรรณ สุวรรณรัตน์ เจ้าหน้าที่นักวิชาการแรงงาน 5 สำนักงานแรงงาน จังหวัดสงขลาเปิดเผย "ประชาไท" ว่า คณะอนุกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำประจำจังหวัดสงขลา ได้เสนอให้ปรับค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มอีก 4 บาท จากอัตราเดิม 135 บาท "ขณะนี้ทางจังหวัดได้ส่งเรื่องไปให้คณะกรรมการอัตราค่าจ้างกลางพิจารณาแล้วและกำลังรอหนังสือคำสั่งอย่างเป็นทางการเพื่อการดำเนินงานต่อไป" นางทิพวรรณกล่าว ทั้งนี้ ในวันที่ 15 กันยายน 2547 นี้ องค์กรแรงงาน และสหภาพแรงงานกว่า 60 จังหวัด จะเข้ายื่นหนังสือต่อปลัดกระทรวงแรงงาน เพื่อเรียกร้องให้ปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 200 บาท ทั่วประเทศ และให้ยกเลิกคณะอนุกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำประจำจังหวัด เนื่องจากวิธีการสรรหา ไม่เอื้อให้ตัวแทนผู้ใช้แรงงานได้รับเลือกเข้าไปเป็นคณะอนุกรรมการชุดนี้ ตัวแทนฝ่ายลูกจ้างในคณะอนุกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำ จังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีการลงทุนด้านอุตสาหกรรมต่างๆ สูงเป็นลำดับต้นๆ ของภาคใต้ทุกชุดที่ผ่านมาประกอบไปด้วย พนักงานระดับผู้บริหารของบริษัทต่างๆ เกือบทั้งสิ้น ทำให้อนุกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำ จังหวัดสงขลา ได้ตั้งข้อสังเกตจากผู้ใช้แรงงานในจังหวัดสงขลาว่า เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้คณะอนุกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำ จังหวัดสงขลา เสนอไม่ขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำมา 2 ปี ติดต่อกัน คือ ในปี 2545 และ 2546 ซึ่งเกือบทุกจังหวัด จะมีปัญหาในลักษณะเดียวกันนี้ ท่องเที่ยวพังงาเดินหน้าต้านแลนบริดจ์ นายอนุพงศ์ สงวนนาม นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดพังงา เปิดเผย "ประชาไทออนไลน์" ว่า เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2547 ที่ผ่านมา สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดพังงา มีการประชุมพิจารณาผลกระทบต่อการท่องเที่ยวฝั่งทะเลตะวันตก จากโครงการเส้นทางยุทธศาสตร์พลังงาน Strategic Energy Land Bridge (SELB) โดยที่ประชุมได้แบ่งคณะทำงานออกเป็น 3 ชุด ประกอบด้วย ชุดติดตามศึกษาหาข้อมูลและข่าวสาร ชุดประชาสัมพันธ์ และชุดอำนวยการ "การดำเนินงานต่างๆ เราจะเริ่มในจังหวัดพังงาก่อน เนื่องจากเป็นพื้นที่โครงการโดยตรง โดยจะรวบรวมข้อมูลข่าวสารด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงการ เพราะเรามีข้อมูลอยู่น้อยมาก เมื่อมีข้อมูลจะทำให้เราเห็นภาพชัดเจนขึ้นว่า โครงการจะออกมาในรูปแบบไหน หลังจากนั้น จะมีการประชาสัมพันธ์เพื่อหาแนวร่วม และเปิดเวทีสัมมนา โดยอาจจะเชิญนักวิชาการที่มีความรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมมาเป็นวิทยากรบรรยายเรื่องผลกระทบ และเชิญประชาชนในพื้นที่มาร่วมรับฟัง" นายอนุพงศ์กล่าวและว่า ในวันที่ 16 กันยายน 2547 คณะทำงานของนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ รองนายกรัฐมนตรี จะมาดูงานการท่องเที่ยวที่จังหวัดพังงา ทางสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดพังงา จะเข้าพบและหารือเรื่องผลกระทบทางด้านการท่องเที่ยว ที่เกิดจากโครงการ SELB เพื่อขอให้มีการทบทวนและหามาตรการมาป้องกันโดยด่วน "ประมาณปลายเดือนกันยายนนี้ นายสุวัจน์จะเดินทางมาจังหวัดพังงา สมาคมฯ จะนำสำเนาหนังสือร้องเรียนที่เคยยื่นให้กับนายกรัฐมนตรี ไปยื่นให้กับนายสุวัจน์ ในฐานะรองนายกรัฐมนตรี กำกับดูแลด้านการท่องเที่ยวด้วย" นายอนุพงศ์กล่าว รายงานโดย : ณขจร จันทวงศ์ ศูนย์ข่าวภาคใต้
['ข่าว', 'สิ่งแวดล้อม']
https://prachatai.com/print/335
2004-09-16 00:13
ประมงเล็กมีสิทธิจัดการหาดนเรศวร
ประชาไท-15 ก.ย.47 "การที่ชาวประมงเรือเล็กใช้หาดนเรศวรเป็นที่จอดเรือ สร้างเพิงพักเป็นที่คัดแยกสัตว์และเก็บอุปกรณ์ประมง มาเป็นเวลากว่า 40 ปี ย่อมสะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตและภูปัญญาของชุมชน ดังนั้นการจัดการ บำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์หาดนเรศวรจึงต้องให้ชุมชนประมงเรือเล็กเข้ามามีส่วนร่วมอย่างจริงจัง" นายวสันต์ พานิช กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกล่าว นายวสันต์กล่าวภายหลังจากการลงไปตรวจสอบกรณีร้องเรียนจากชาวประมงเรือเล็กว่าได้รับความเดือดร้อนจากองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) สั่งให้ออกจากนอกพื้นที่หาดนเรศวร ม. 3 ต.ปากน้ำปราณ อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยไม่เปิดโอกาสให้ชาวประมงมีส่วนร่วมในการจัดการชุมชน ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาจากการชี้แจงของทุกฝ่ายทั้งกลุ่มชาวประมง ตัวแทนอบต. เจ้าหน้าที่ประมงจังหวัดแล้ว กรรมการสิทธิฯ มีความเห็นว่า การจัดการของอบต.ปากน้ำปราณนั้น หากทำโดยลำพัง ปราศจากการการมีส่วนร่วมของประมงเรือเล็ก อาจส่งผลกระทบต่อชุมชนประมงเรือเล็กได้ ข้อมูลในพื้นที่ระบุว่า มีกลุ่มที่บุกรุกชายหาดยังมีถึง 3 กลุ่ม แต่ทางอบต. ดำเนินการกับชาวประมงเรือเล็กเพียงกลุ่มเดียวเท่านั้น ซึ่งอาจมองเป็นการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมได้ รายงานโดย : ศิริรัตน์ อนันต์รัตน์ ศูนย์ข่าวประชาไท
['ข่าว', 'สิ่งแวดล้อม']
https://prachatai.com/print/339
2004-09-16 23:16
ศธ.เสนอใช้สมาร์ทการ์ดแก้เด็กตีกัน
กรุงเทพฯ 16 ก.ย.47 นายอดิศัย โพธารามิก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า อาจจะนำระบบสมาร์ทการ์ดมาใช้แก้ปัญหาเด็กนักเรียนก่อเหตุทะเลาะวิวาท โดยใช้หักคะแนนความประพฤติ และกำหนดบทลงโทษเด็กที่กระทำผิด โดยโรงเรียนจะเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการ นายวีระศักดิ์ วงษ์สมบัติ เลขาธิการคณะกรรมการอาชีวะศึกษา กล่าวว่า มาตรการเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการในการแก้ไขปัญหาเด็กนักเรียนก่อเหตุทะเลาะวิวาท คือ ต้องสกัด นักเรียนที่ยกพวกตีกันเป็นกลุ่มให้ได้และหากเกิดเหตุยกพวกกันไปก่อเหตุเป็นกลุ่มใหญ่ จะต้องใช้มาตรการสั่งปิดโรงเรียน ส่วนกรณีก่อเหตุเป็นรายบุคคลจะต้องใช้ระบบติดตามเฝ้าระวัง ประชาไท รายงาน
['ข่าว', 'สิ่งแวดล้อม']
https://prachatai.com/print/338
2004-09-16 01:02
ผู้นำปอเนาะประกาศตัดสัมพันธ์ทหารนอกแถว
ศูนย์ข่าวภาคใต้-15 ก.ย.47 เมื่อเวลา 12.30 น. นายนิเด วาบา นายกสมาคมโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ อ่านแถลงการณ์ร่วมกับนายอับดุลอาซิส ยานยา ประธานชมรมสถาบันศึกษาปอเนาะจังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่า การตรวจค้นของเจ้าหน้าที่บ้านเมืองดังกล่าวถือว่า ใช้วิธีการที่ไม่เหมาะสม ทั้งนี้การห้ามมิให้นักเรียนออกจากหอพัก โดยเฉพาะนักเรียนหญิง ซึ่งไม่สามารถออกไปประกอบศาสนกิจที่มัสยิดได้ การกระทำดังกล่าวจึงถือว่า ไม่ให้เกียรติซึ่งกันและกัน ทั้งที่เคยพูดและทำความตกลงในที่ประชุมมาก่อนหลายครั้ง ในการตรวจค้นของเจ้าหน้าที่ที่ผ่านมา ทำให้ผู้บริหาร โต๊ะครู ผู้ปกครองและประชาชนต่างไม่พอใจในการกระทำของเจ้าหน้าที่ สมาคมโรงเรียนสอนศาสนาเอกชนอิสลาม และสถาบันศึกษาปอเนาะจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีความเสียใจต่อสิ่งที่เกิดขึ้น และขอวิงวอนอย่าให้เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นซ้ำสอง หากเกิดขึ้นอีกก็จะดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไป นายนิเด กล่าวว่า จะไม่ให้ความร่วมมือกับทหารที่เลวอีกต่อไป ส่วนทหารที่ดีก็จะให้ความร่วมมือเช่นเดิม ส่วนจะมีมาตรการอย่างไรต่อไปนั้น จะหารือกับโต๊ะครูและผู้บริหารโรงเรียนอีกครั้งหนึ่ง "ที่จริงทางโต๊ะครูต้องการให้ดำเนินการทันที แต่ได้มีทหารระดับนายพันมาขอร้องเอาไว้ เนื่องยังอยู่ในระหว่างการแปรพระราชฐานของสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถที่จังหวัดนราธิวาส อย่างไรก็ตาม ตอนนี้กำลังคิดว่าจะจัดอภิปรายเพื่อโจมตีจุดอ่อนของรัฐบาลต่อการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ยังไม่ได้กำหนดว่าจะจัดเมื่อไหร่" นายอับดุลรอนิง กาหามะ เลขานุการสมาคมโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 14 ก.ย. ที่ผ่านมา พ.ท. สาวราชย์ แสงผล ผู้บังคับการกองพัน กรมทหารราบที่ 803 อ.ปานะเระ จ.ปัตตานี ได้มาพบกับตน และนายอายุบ กาหามะ พี่ชายของตน เพื่อขอโทษและปลอบใจถึงกรณีการตรวจค้นโรงเรียนของตนเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา จนทำให้ครูและนักเรียนในโรงเรียนเกิดความตกใจ พ.ท.สาวราชย์ระบุว่า เจ้าหน้าที่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งที่ได้รับมา ซึ่งมีความหนักใจ ซึ่งนายอับดุลรอนิงได้เสนอให้ มีการหารือหน่วยงานในพื้นที่ก่อนการตรวจค้น ไม่ว่า เพื่อจะได้แนะนำวิธีการตรวจค้นที่เหมาะสมได้ ซึ่งพ.ท.สาวราชย์รับที่จะนำไปรายงานเพื่อหารือผู้บังคับบัญชา พล.ท.เรวัต รัตนผ่องใส รองเลขาธิการ กอ.สสส.จชต. กล่าวว่า จะอธิบายและทำความเข้าใจกับโต๊ะครู เพื่อขอให้สานความร่วมมือในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้เหมือนเดิม อย่างไรก็ตามจะนำเรื่องเข้าไปพิจารณาในที่ประชุม กอ.สสส.จชต. ใน 4 ประเด็น คือ ขอให้เจ้าหน้าที่อย่ามองปอเนาะในทางที่ไม่ดี ขอให้ความยุติธรรม ถ้าจะตรวจค้นขอให้มีการคุยกันก่อนโดยเชิญหน่วยงานในพื้นที่ ผู้นำศาสนามาพิจารณาว่า ข่าวที่ได้รับมามีข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ถ้ามีมูลความผิด ก็ขอให้ใช้วิธีที่นุ่มนวล ไม่ยกกำลังไปปิดล้อมอย่างเอิกเกริก และขอให้ระมัดระวังมือที่สาม ที่จะเข้ามาสร้างความแตกแยก ระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐกับประชาชนโดยการแจ้งข่าวลวง อย่างไรก็ตาม พล.ท.เรวัตไม่ได้กล่าวว่า การตรวจค้นโรงเรียนดังกล่าว เกิดจากการสร้างข่าวลวงของมือที่สามแต่อย่างใด รายงานโดย : ศูนย์ข่าวภาคใต้
['ข่าว', 'สิ่งแวดล้อม']
https://prachatai.com/print/337
2004-09-16 00:59
ไทยเซ็นสัญญาพม่าสร้างเขื่อนสาละวิน
กรุงเทพฯ-15 ก.ย.47 ไทย-พม่าเตรียมลงนามMOU โครงการเขื่อนยักษ์สาละวินและเขื่อนพลังน้ำ อื่นๆ อีก 3 แห่ง เดือนหน้า นายวิเศษ จูภิบาล ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน ระบุว่า รัฐบาลไทยและพม่าเตรียมลงนามบันทึกความเข้าใจ( เอ็มโอยู) โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าจากเขื่อนจำนวน 4 โครงการ ปลายเดือนต.ค.นี้ โครงการทั้ง 4 แห่งประกอบด้วย เขื่อนกั้นแม่น้ำสาละวิน รวม 2 เขื่อน กำลังผลิต 4 พันเมกกะวัตต์, เขื่อนตะนาวศรี ขนาด 700 เมกกะวัตต์ และเขื่อนฮัจยีห์ ขนาด 600 เมกะวัตต์ กำลังผลิตรวม 5.3 พันเมกกะวัตต์ รองรับการใช้ไฟฟ้าในอีก 7 ปีข้างหน้า ตามแผนรับซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งไทยได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจซื้อไฟฟ้าจากสปป.ลาวรวม 3,000 เมกะวัตต์ภายในปี 2549 และซื้อจากพม่า 1,500 เมกะวัตต์ ภายในปี 2553 รวมถึงการซื้อไฟฟ้าจากจีน 3,000 เมกะวัตต์ภายในปี 2560 ที่ผ่านมาไทยได้รับซื้อไฟฟ้าจากลาวแล้ว 2 โครงการคือห้วยเฮาะ และเทินหินบุน ประมาณ 304 เมกะวัตต์ และได้ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับโครงการน้ำเทิน 2 อีก 920 เมกะวัตต์ ซึ่งจะเข้าระบบในไทยในปี 2551 ผู้ช่วยรมว.กระทรวงพลังงานกล่าวว่า หากโครงการพัฒนาผลิตไฟฟ้าพลังน้ำในลาวและพม่าเป็นไปตามแผน จะทำให้ไทยมีไฟฟ้าที่ผลิตจากน้ำเพิ่มขึ้นจากสัดส่วน 3% เป็น 10% และมีผลทำให้ค่าไฟฟ้าในประเทศไทยในอนาคตถูกลง เพราะต้นทุนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำมีต้นทุนถูกที่สุด รายงานโดย : ศูนย์ข่าวประชาไท
['ข่าว', 'สิ่งแวดล้อม']
https://prachatai.com/print/341
2004-09-16 23:24
พ่อเหยื่อทหารยื่นอุทธรณ์ส่งศาลทหาร
ศูนย์ข่าวภาคใต้ 16 ก.ย.47 เมื่อเวลา 10.00 น. นางยามีลา นูรุลอาดิล มารดานายอิลมีน นูรุลอาดิล ที่ถูกอาสาสมัครทหารพรานยิงเสียชีวิต พร้อมด้วยญาติ 1 คน ได้เดินทางยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลจังหวัดยะลา เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2547 ที่วิเคราะห์คำฟ้องแล้ว เห็นว่าจำเลยที่ 1 รับราชการทหาร ส่วนจำเลยที่ 2 - 5 ตามคำฟ้อง ระบุว่า เป็นลูกจ้างของกรมทหารพรานที่ 41 จึงถือว่าจำเลยที่ 1 - 5 เป็นบุคคลซึ่งอยู่ในเขตอำนาจศาลทหาร ตามพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหารมาตรา 16 (6) จึงให้ส่งความเห็นไปยังสำนักตุลาการศาลทหารเพื่อดำเนินการต่อไป ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. 2542 มาตรา 10 หลังจากรับคำอุทธรณ์ ศาลจังหวัดยะลาได้แจ้งนางยามีลาทราบว่า จะส่งคำอุทธรณ์ให้ศาลภาค 9 พิจารณาต่อไป นายอุสมาน นูรุลอาดิล บิดานายอัสมิน นูรุลอาดิล กล่าวว่า ถ้าหากศาลอุทธรณ์มีคำสั่งชี้ขาดว่า คดีนี้อยู่ในอำนาจของศาลทหาร ตนจะขอเป็นโจทก์ร่วมพิจารณาคดีนี้ด้วย มูฮำหมัด ดือราแม ศูนย์ข่าวภาคใต้รายงาน
['ข่าว', 'สิ่งแวดล้อม']
https://prachatai.com/print/343
2004-09-16 23:27
มาเลย์ห้ามย้ายไก่สกัดหวัดนก
กัวลาลัมเปอร์-16 ก.ย. 47 ทางการมาเลเซียแถลงวันนี้ว่า มาเลเซียจะลงโทษสถานหนักต่อผู้ที่ลักลอบ นำสัตว์ปีกออกนอกรัฐกลันตันซึ่งเป็นเขตกักกันหลังเกิดการระบาดของโรคไข้หวัดนก เพื่อป้องกันการระบาดของโรค โดยผู้ฝ่าฝืนจะต้องถูกปรับเป็นเงินถึง 5,000 ริงกิต. นายรามลี ราห์มัต ผู้อำนวยการกรมควบคุมโรคกระทรวงสาธารณสุขมาเลเซียกล่าวว่า ขณะนี้มีผู้ป่วยต้องสงสัยติดเชื้อไวรัสไข้หวัดนกเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลอีก 3 คน โดยผู้ป่วยมีอาการไอและมีอาการคล้ายกับไข้หวัด และมีประวัติสัมผัสกับสัตว์ปีกที่ล้มตายก่อนป่วย แต่ผลการเอ็กซเรย์ปอด ปรากฏว่าปกติและยังมีอาการคงที่ แต่เจ้าหน้าที่ต้องกักตัวไว้ดูอาการอีกระยะหนึ่ง ส่งผลให้จนถึงขณะนี้มีผู้ต้องสงสัยติดเชื้อไข้หวัดนกถูกกักตัวไว้ดูอาการรวม 5 คน อย่างไรก็ตาม ทางการมาเลย์มั่นใจว่า ขณะนี้สามารถควบคุมสถานการณ์ในรัฐกลันตันได้แล้ว ประชาไท รายงาน
['ข่าว', 'สิ่งแวดล้อม']
https://prachatai.com/print/344
2004-09-16 23:28
เชื่อไทยไม่เสียเปรียบทำ FTA นิวซีแลนด์
กรุงเทพฯ 16 ก.ย.47 นายณรงค์ชัย อัครเศรณี ประธานคณะทำงานติดตามผลการเจรจาการทำ FTA ไทย-นิวซีแลนด์ กล่าวในงานสัมมนา เขตการค้าเสรีระหว่างไทยกับนิวซิแลนด์ การปรับตัวของสินค้าผลิตภัณฑ์นม โดยเชื่อว่า มีแนวทางที่เหมาะสมที่ทำให้ผู้ผลิตและผู้บริโภคได้รับประโยชน์อย่างเท่าเทียมกันทั้ง 2 ประเทศ ทั้งนี้เกษตรกรผู้ผลิตของไทยก็มีเวลาปรับตัวได้ทัน เพราะจะเริ่มเปิดเสรีสินค้านมในอีก 15-20 ปีข้างหน้า นายณรงค์ชัยกล่าวว่า ผลการศึกษาฯ ระบุว่า นมที่ผลิตในประเทศไทย ไม่พอในการบริโภค แต่ก็มีปริมาณที่เหลืออยู่มาก เพราะราคานมผงต่างประเทศ ถูกกว่าราคานมสดในประเทศ และก็มั่นใจในคุณภาพมากกว่า ดังนั้น หากจะให้นมสดในประเทศมีคุณภาพมาตรฐานทัดเทียมนมผงต่างประเทศ ต้องทำให้ราคาที่ผู้ซื้อทั้งประชาชนและโรงงาน ซื้อได้ในราคาที่ไล่เลี่ยกัน และมีความสะดวกในการซื้อเท่าเทียมกัน เพื่อส่งเสริมให้มีผู้บริโภค-ผู้ซื้อภายในประเทศเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้หากสามารถแก้ไขปัญหาด้านราคาซื้อ คุณภาพ และกระบวนการจัดซื้อ อีกทั้งการส่งเสริมมาตรการรวมสหกรณ์โคนมให้เป็นระบบได้นั้น จะส่งผลให้อุปสรรคทางการค้าลดน้อยลง เกษตรกรไทยในระบบก็จะได้รับประโยชน์ร่วมกัน ภายใต้ยุทธศาสตร์การจัดการผลิตภัณฑ์นมที่มีประสิทธิภาพ นายณรงค์ชัยกล่าวว่า ทางคณะทำงานฯ จะสรุปผลจากการสัมมนานำเสนอรัฐบาล เพื่อผลักดันไปสู่นโยบายเชิงปฏิบัติต่อไป พร้อมทั้งจะนำไปจัดทำมาตรฐานรองรับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากการเจรจา FTA ได้อย่างเหมาะสม น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวถึงความคืบหน้าการเปิดเขตการค้าเสรีหรือ การทำ FTA ไทย-นิวซีแลนด์ว่า การเจรจาจะครอบคลุมถึงเรื่องการเปิดตลาดสินค้า บริการ การลงทุน และความร่วมมือที่เกี่ยวกับการค้า โดยการเจรจาครั้งที่ 3 จะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 27-29 กันยายนนี้ ณ ประเทศนิวซีแลนด์ โดยล่าสุดการเจรจารอบ 2 ได้ส่งเรื่องแลกเปลี่ยนข้อเสนอต่อกันระหว่างไทย -นิวซีแลนด์แล้ว ประชาไท รายงาน
['ข่าว', 'สิ่งแวดล้อม']
https://prachatai.com/print/340
2004-09-16 23:17
รัฐพิจารณาค่าเอฟที 15 ต.ค.นี้
กรุงเทพฯ-16 ก.ย.47 น.พ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ยืนยันว่า จะบริหารจัดการค่าไฟฟ้าโดยคำนึงว่า ไม่ให้เป็นภาระกับประชาชนและต้องใช้ค่าไฟฟ้าที่ถูกที่สุด โดยคณะกรรมการพิจารณาค่าไฟฟ้าอัตโนมัติที่มี นายเชิดพงษ์ สิริวิชช์ ปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน จะพิจารณาการปรับไม่ปรับค่าเอฟทีในวันที่ 15 ต.ค.นี้ สำหรับสถานการณ์ของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงนั้น ได้ใช้เงินไปทั้งสิ้น 31,994.80 ล้านบาท เฉพาะน้ำมันดีเซลอยู่ที่ 24,769 ล้านบาท หรือ 268 ล้านบาทต่อวัน เฉลี่ยการชดเชยที่ลิตรละ 5.16 บาทและอาจจะต้องใช้เงินตรึงราคาถึง 6 บาทต่อลิตร ในอนาคตอันใกล้ ทั้งนี้ กองทุนน้ำมันฯ อาจต้องใช้วงเงินตรึงราคาน้ำมันทั้งหมดจาก 30,000 ล้านบาทในปัจจุบันเป็น 50,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม กระทรวงพลังงานได้กำหนดแนวทางการบริหารเงินในรูปแบบอื่น ๆ ไว้แล้ว นอกเหนือจากการกู้เงินจากสถาบันการเงิน เพื่อแก้ปัญหาเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดที่ชัดเจนได้ ประชาไท รายงาน
['ข่าว', 'สิ่งแวดล้อม']
https://prachatai.com/print/342
2004-09-16 23:26
ญวนทำลายสัตว์ปีกกันหวัดนก
ฮานอย-16 ก.ย.47 ทางการเวียดนามเร่งควบคุมการระบาดของไข้หวัดนกในพื้นที่ที่เกิดการระบาดแห่งใหม่ โดยเจ้าหน้าที่ทางการเวียดนามระบุว่า จากการตรวจสอบฟาร์ม 2 แห่งใกล้กรุงฮานอย พบเชื้อไวรัสไข้หวัดนก เอช 5 ในสัตว์ปีกที่ตายและป่วย ซึ่งประมาณครึ่งหนึ่งเป็นเป็ด ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ได้ฆ่าทำลายเป็ดและไก่ที่ป่วยแล้วประมาณ 600 ตัว และกำลังจะเข้าไปฆ่าทำลายเชื้อในฟาร์มที่พบสัตว์ป่วยเป็นโรคด้วย ที่ผ่านมาทางการเวียดนามยังได้ออกประกาศเตือนให้ประชาชนทราบถึงมาตรการป้องกันการติดเชื้อ แต่ยังไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อในพื้นที่ที่เกิดการระบาด ประชาไท รายงาน
['ข่าว', 'สิ่งแวดล้อม']
https://prachatai.com/print/345
2004-09-16 23:37
เผยขุมกำลัง6หมื่นคนรัฐระดมดับไฟใต้
ศูนย์ข่าวภาคใต้-16 ก.ย. 47 พลโทเรวัตร รัตนผ่องใส รองเลขาธิการกองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ บรรยายหัวข้อ สถานการณ์ความมั่นคงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ต่อโต๊ะครูเจ้าของปอเนาะ ผู้บริหารโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในจังหวัดชายแดนภาคใต้ กว่า 300 คน ที่โรงแรม ซี.เอส.ปัตตานี จังหวัดปัตตานี พลโทเรวัตร กล่าวตอนหนึ่งของการบรรยายว่า ในการแก้ปัญหา 3 จังหวัดหวัดชายแดนภาคใต้ รัฐบาลได้ทุ่มงบ ประมาณในยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงถึง 3 พันล้านบาท และยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอีก 9 พันล้านบาท ทุ่มกำลังเจ้าหน้าที่ทั้งหมดขณะนี้ ถึง 61,000 คน ประกอบด้วย ทหาร ตำรวจ ข้าราชการและอาสาสมัคร ศูนย์ข่าวภาคใต้ รายงาน
['ข่าว', 'สิ่งแวดล้อม']